สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

สมเด็จพระเชษฐภคินี ในรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 – 2 มกราคม พ.ศ. 2551) เป็นพระราชธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นพระโสทรเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นพระปิตุจฉาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
เจ้าฟ้าชั้นโท
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ประสูติ6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466
ลอนดอน สหราชอาณาจักร
สิ้นพระชนม์2 มกราคม พ.ศ. 2551 (84 ปี)
โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พระราชทานเพลิง15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
พระเมรุ ท้องสนามหลวง
พระสวามีอร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ (2487–2493)
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช (2512–2533)
พระบุตรท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม
ราชสกุลมหิดล
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
พระมารดาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ศาสนาพุทธ
ลายพระอภิไธย

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีโครงการในพระอุปถัมภ์หลายร้อยโครงการ ทั้งด้านการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การแพทย์และการสาธารณสุข การต่างประเทศ การศาสนา และอื่น ๆ กับทั้งยังมีพระปรีชาสามารถด้านการเขียน ด้านการกีฬา และด้านการถ่ายภาพ

พระองค์มีพระอาการผิดปกติเกี่ยวกับพระนาภี และได้เข้าประทับรักษาพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช จนกระทั่งวันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 02:54 นาฬิกา สิริพระชันษา 84 ปี

พระประวัติ

พระประสูติกาล

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม 7 ค่ำ เดือน 6 ปีกุน เบญจศก จ.ศ. 1285 ตรงกับวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร[1] เป็นพระราชธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระนามแรกประสูติตามที่โรงพยาบาลตั้งถวายคือ เมย์ สงขลา (อังกฤษ: May Songkla)[2] ซึ่งเป็นเดือนที่พระองค์ประสูติ ต่อมาเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา (คำว่า "วัฒนา" ในพระนาม ทรงตั้งตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หลังจากนั้นต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา[3]

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นการลำลองว่า บี๋[4]

ขณะทรงพระเยาว์

หลังจากประสูติได้ไม่นาน สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงย้ายจากลอนดอนไปประทับที่เมืองเซาท์บอนซึ่งอยู่ทางตะวันออกของอังกฤษ จากนั้นเสด็จไปยังเมืองบอสคัม อยู่ติดชายฝั่งด้านทิศใต้ของอังกฤษ[5] ต่อมาเมื่อพระชันษาได้ 6 เดือน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงตามเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี กลับประเทศไทย

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2468 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ตามเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชนนีไปประทับที่ประเทศเยอรมนี[5] ช่วงเวลานั้นเองที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้เสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก

สมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จกลับประเทศอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2469[5] เพื่อร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และประทับอยู่ร่วมในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่วงเวลานั้น ดร.ฟรานซิส บี แซร์ ชาวอเมริกันผู้เป็นอดีตที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ เล่าถวายสมเด็จพระบรมราชชนก ว่าที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีสถานที่รับเลี้ยงเด็กชื่อ ชองโซเลย (Champ Soleil) มีเจ้าของเป็นแพทย์ ดูแลเด็กอย่างถูกหลักอนามัย[5] สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงนำพระธิดาและพระโอรสไปฝากให้อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้ทรงเริ่มรับสั่งภาษาฝรั่งเศสได้

การศึกษา

ปลายปี พ.ศ. 2469 สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จพร้อมด้วยครอบครัวมหิดลไปยังนครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ เนื่องจากสมเด็จพระบรมราชชนกทรงศึกษาวิชาการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในขณะที่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงศึกษาด้านจิตวิทยา การทำอาหารและโภชนาการที่วิทยาลัยซิมมอนส์[5] ด้านสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเข้าศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนพาร์ก (Park School) หลังจากสมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์แล้ว พ.ศ. 2471 ทรงนำครอบครัวกลับประเทศไทย และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็ทรงเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนราชินี

ภายหลังสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2472 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยังประทับอยู่ในกรุงเทพฯ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทรงนำพระโอรสและพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซาน รัฐโว ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเข้าศึกษาที่ชองโซเลยอีกครั้งเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติม[5] ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จึงทรงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเมียร์มองต์ (Miremont) จนจบระดับประถมศึกษา หลังจากนั้นสมเด็จพระราชชนนีได้ย้ายไปประทับที่เมืองปุยยีซึ่งอยู่ติดกับโลซาน โดยพระราชทานนามสถานที่ประทับว่า “วิลล่าวัฒนา[5] สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสตรีชื่อ École Supérieure de Jeunes Filles de la Ville de Lausanne ณ ที่นั้น พระองค์ได้ทรงศึกษาภาษาเยอรมันและภาษาละตินด้วย ต่อมาทรงย้ายมาเรียนที่ International School of Geneva ณ กรุงเจนีวา ทรงสอบผ่านชั้นสูงสุดของระดับมัธยมศึกษาเป็นที่ 1 ของโรงเรียน และที่ 3 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์

หลังจากนั้น พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาเคมีที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซาน ในระหว่างนั้น พระองค์ก็ทรงศึกษาหลักสูตรของสังคมศาสตร์ Diplôme de Sciences Sociales Pédagogiques อันประกอบด้วยวิชาต่าง ๆ ในสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยาด้วย เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์สาขาเคมีซึ่งพระองค์ทรงได้รับ Diplôme de Chimiste A พระองค์ก็ยังทรงศึกษาวิชาวรรณคดีและปรัชญาต่อไปอีกด้วยความสนพระหฤทัย[6]

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (ปฏิทินสากลคือ พ.ศ. 2478) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้เชิญเสด็จ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันมหิดล ขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์พระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา ในฐานะที่เป็นพระโสทรเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงประกาศเฉลิมพระเกียรติยศขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478[7] [8]

เสกสมรส

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์[9] เพื่อสมรสกับพันเอกอร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เมื่อ พ.ศ. 2487[10][8] พระองค์มีพระธิดาคนเดียว คือ ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม (สกุลเดิม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์; สมรสกับสินธู ศรสงคราม มีบุตรคนเดียว คือ ร้อยเอกจิทัศ ศรสงคราม)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จขึ้นครองราชย์ ด้วยทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงว่า พระพี่นางกัลยาณิวัฒนา เป็นพระโสทรเชษฐภคินีอันสนิทและทรงมีอุปการคุณแด่พระองค์ ดังนั้น จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่ง ให้สถาปนาพระพี่นางกัลยาณิวัฒนา กลับทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ตามเดิมทุกประการ[11]

ต่อมา เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2512 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เสกสมรสอีกครั้งกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช (พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย กับหม่อมระวี ไกยานนท์) [12][13]

ทรงกรม

ในวโรกาสสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาทรงเจริญพระชันษาครบ 6 รอบ ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นพระโสทรเชษฐภคินีของพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์ ด้วยทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์มาโดยลำดับ รวมทั้งทรงเป็นที่รักเทิดทูนของปวงชนชาวไทยทั่วไป[14] จึงมีพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์[15] ซึ่งนับเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์แรกในรัชกาล[16] โดยมีการพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยศักดิ์และบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชันษา 6 รอบ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ภายในพระบรมมหาราชวัง[17]

พระนามกรม "กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์" นั้น เป็นพระนามตามนามเมืองในภาคใต้ สืบเนื่องมาจากการที่พระราชโอรสและพระราชธิดาที่พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ล้วนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ทรงกรมตามนามเมืองทางภาคใต้ทั้งสิ้น[16] ทั้งนี้พระองค์ยังทรงกล่าวเกี่ยวกับการทรงกรมนี้ไว้ตอนหนึ่งความว่า "ชอบมาก เป็นกรมหลวงกำลังเหมาะดี ไม่สูงไปกว่าพ่อ แล้วนราธิวาสก็เหมาะดี เป็นจังหวัดที่ไม่อยู่สูงไปกว่าจังหวัดสงขลา แล้วนครินทร์ก็เหมาะอีก เพราะเป็นชื่อที่พ่อและแม่มีอยู่ในชื่อของฉัน"[18]

สิ้นพระชนม์

 
พระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีพระอาการผิดปกติเกี่ยวกับพระนาภี (ท้อง) และได้เข้าประทับรักษาพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทย์ได้ถวายการตรวจพระวรกายและเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจพบมะเร็งซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่พระถันที่ทรงเคยได้รับการถวายตรวจรักษาเมื่อ 10 ปีก่อน โดยช่วงเวลาหลังการถวายรักษาครั้งก่อนนั้น ทรงมีสุขภาพดี และในการถวายตรวจติดตามพระสุขภาพจึงได้ตรวจพบมะเร็งเกิดขึ้นใหม่เมื่อ 2 ปีก่อน นอกจากนี้ คณะแพทย์ได้ถวายตรวจพระสมองด้วยเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ พบว่า มีเนื้อสมองด้านซ้ายตายเป็นวงกว้าง จากเส้นเลือดสมองอุดตัน คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาพระอาการอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ[19] สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงพระประชวร ต่อเนื่องเรื่อยมา จากแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ถึงฉบับที่ 38 เป็นฉบับสุดท้าย เมื่อวันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 02.54 น. รวมพระชันษา 84 ปี 241 วัน[20]

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชประเพณี[20] มีพระราชพิธีถวายสรงน้ำพระศพ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระศพลงสู่พระหีบ ประดิษฐานหลังพระแท่นแว่นฟ้าทอง ประกอบพระโกศทองใหญ่ ภายใต้เบญจปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 5 ชั้น) ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง[21]

ต่อมาในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน 7 วันถวายพระศพนั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาพระเกียรติยศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยให้เจ้าพนักงานจัดสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 7 ชั้น) กางกั้นพระโกศพระราชทาน[22]

รัฐบาลไทยได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่งลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 15 วัน และให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์ มีกำหนด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการถวายความอาลัยในการสิ้นพระชนม์ของพระองค์[23]

สำหรับพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รัฐบาลกำหนดวันพระราชพิธีระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง

ที่ประทับ

 
พระตำหนักวิลล่าวัฒนา ประดับผ้าดำ-ขาว เพื่อเป็นการไว้ทุกข์

วังสระปทุม เป็นที่ประทับของสามพี่น้องแห่งราชกุลมหิดลในช่วงทรงพระเยาว์[24] โดยสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้พระราชทานพระตำหนักใหญ่ของวังสระปทุมเป็นที่ประทับ โดยมีพระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตดุล เป็นผู้ถวายการอภิบาล[25]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 พระองค์ทรงย้ายมาประทับที่พระตำหนักเลอดิส ตั้งอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 43 ถนนสุขุมวิท โดยมีพระตำหนักวิลล่าวัฒนา ตั้งอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 47 ซึ่งตั้งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันกับพระตำหนักเลอดิส สร้างแล้วเสร็จเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2540 ใช้เป็นที่ทรงงานหรือเป็นที่รับแขกของพระองค์[26]

และเมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชครินทร์ สิ้นพระชนม์ลง ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระธิดา พร้อมครอบครัว ได้ย้ายเข้ามาอาศัย ณ พระตำหนักเลอดิส และพระตำหนักวิลล่าวัฒนา

พระกรณียกิจ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีโครงการในพระอุปถัมภ์หลายร้อยโครงการ ทั้งด้านการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การแพทย์และการสาธารณสุข การต่างประเทศ การศาสนา และอื่น ๆ

ด้านการศึกษา

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงก่อตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2520 ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเป็นอเนกประการทั้งในด้านการศึกษา สังคมสงเคราะห์ และสาธารณสุขจนเป็นที่ประจักษ์ชัดในวงการศึกษา มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จำนวน 10 กว่าแห่งและองค์การระหว่างประเทศจึงถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และเหรียญสดุดีพระเกียรติคุณแด่พระองค์ และทรงได้รับการเทิดทูนพระเกียรติจากรัฐบาลและองค์กรต่างประเทศหลายแห่ง อาทิ รัฐบาลฝรั่งเศสและองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) [27]

ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในปี พ.ศ. 2529 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับ “กองทุนหมอเจ้าฟ้า” คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไว้ในพระอุปถัมภ์ และมีพระเมตตาพระราชทานเงินจากทุนการกุศลสมเด็จย่าและทุนการศึกษา กว. เพื่อสมทบเข้ากองทุนเป็นประจำทุกปีเสมอมามิได้ขาด สำหรับอาจารย์แพทย์ไปศึกษาฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ และส่วนหนึ่งเป็นทุนอุดหนุนการศึกษาจัดสรรให้นักศึกษาที่เรียนดีแต่ขัดสน สำหรับนักศึกษาแพทย์และนักศึกษา 5 คณะในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ คือ คณะทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ และสัตวแพทยศาสตร์[28]

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[29] โดยเฉพาะที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระองค์เป็นพระอาจารย์ประจำนานถึง 8 ปี โดยทรงเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาต่างประเทศเอง และทรงเป็นผู้ดูแลและจัดทำหลักสูตรการสอนของอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทรงจัดทำหลักสูตรปริญญาตรีสาขาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสสำเร็จ ด้วยการผสมผสานความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีให้เข้ากันอย่างเหมาะสม[30] โดยทรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ศาสตราจารย์พิเศษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2521 [31]

ทั้งยังทรงสนพระทัยโครงการจัดส่งเยาวชนไทยไปร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ถึงปัจจุบัน โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินกองทุนสมเด็จย่าเพื่อช่วยเหลือ ทรงติดตามความเคลื่อนไหวทุกขั้นตอนการแข่งขัน พระราชทานกำลังใจ และทรงแสดงความยินดีแก่เยาวชนไทยที่ได้รับรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณจากการแข่งขันในทุก ๆ ครั้ง[27] ทรงเป็นองค์พระอุปถัมภ์มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทำให้บรรดาเยาวชนไทยได้ค้นพบตัวเองและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยติดต่อกันมายาวนานหลายปี[32] ตั้งแต่ปีแรกที่มีการส่งเยาวชนร่วมแข่งขัน[33]

ด้านการสังคมสงเคราะห์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงอุทิศพระวรกายในการพัฒนาท้องถิ่นชนบทและการศึกษา โดยเฉพาะในพื้นที่ยากจนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[34] ทรงตระหนักถึงปัญหาชุมชนแออัด จึงเสด็จเยี่ยมชุมชนแออัดหลายแห่งในกรุงเทพมหานครเป็นการส่วนพระองค์ ได้แก่ ชุมชนคลองเตย ชุมชนวัดพระยายัง ชุมชนย่านสวนลุมพินี ชุมชนกองขยะซอยอ่อนนุช ชุมชนเพชรเกษม 104 เป็นต้น ทรงห่วงใยเด็กและครอบครัวในชุมชนแออัด โดยทรงรับมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมให้อยู่ในพระอุปถัมภ์[35] มีผลให้เกิดโครงการพัฒนาเด็กเพิ่มขึ้นหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาเด็กในชุมชนและโครงการสาธารณสุขมูลฐานสำหรับแม่และเด็ก กองทุนนมและอาหารเสริม และกองทุนงบฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ยากไร้ในชุมชนแออัดให้พ้นสภาวะขาดสารอาหาร นอกจากนั้นยังช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบอัคคีภัย อุบัติภัย และภัยจากเคมี[36] ทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรด้านสังคม ได้แก่ มูลนิธิส่งเสริมสวัสดิภาพสตรีและเยาวชน มูลนิธิพัฒนาเยาวสตรีภาคเหนือ มูลนิธิชีวิตพัฒนา มูลนิธิโลกสีเขียว สโมสรโรตารีกรุงเทพ-บางลำพู เป็นต้น

ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

พระองค์ทรงเป็นประธานของมูลนิธิต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) หรือ หมอกระเป๋าเขียว รวมทั้งมูลนิธิโรคไต และทรงเป็นประธานมูลนิธิหม่อมเจ้าบุญจิราธร (ชุมพล) จุฑาธุช ซึ่งมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการให้ทุนการศึกษาแพทย์ตามโครงการแพทย์ชนบท ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาพยาบาลที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และให้ทุนการศึกษาสำหรับผู้ที่จะสมัครเป็นอาจารย์วิชาการพยาบาล

 
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์ประธานมูลนิธิฯ พระราชทานขาเทียมแก่ผู้พิการ และทอดพระเนตรการใช้งานของขาเทียมดังกล่าวร่วมกับเลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ

ทรงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีซึ่งทรงร่วมกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีก่อตั้งขึ้นมา โดยทรงลงพระนามขอจดทะเบียนด้วยพระองค์เอง และพระราชทานพระราชทรัพย์ประเดิมร่วมกับที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพระราชทานในการก่อตั้งมูลนิธิขาเทียมฯ เพื่อจัดทำขาเทียมและพระราชทานแก่ผู้พิการขาขาดผู้ยากไร้ในชนบทโดยไม่คิดมูลค่า และค้นคว้า วิจัย พัฒนาชิ้นส่วนขาเทียมจากวัสดุภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ อันเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ในประเทศและลดมูลค่าการขาดดุลการค้าลงด้วย

ทรงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิถันยรักษ์ในพระบรมราชูประถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอีกด้วย[37]

นอกจากนี้ ยังได้ทรงรับมูลนิธิและกองทุนการกุศลต่าง ๆ ทางด้านสาธารณสุขไว้ในพระอุปถัมภ์อีกหลายหน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย กองทุนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเพื่อพัฒนาการพยาบาล ศิริราชมูลนิธิ มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิช่วยการสาธารณสุข มูลนิธิส่งเสริมสวัสดิภาพสตรีและเยาวชน มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิช่วยการสาธารณสุข สมาคมพยาบาลสาธารณสุขไทย มูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลราชานุกูล มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มูลนิธิโรงพยาบาลเลิดสิน[38]

ท่านยังมีพระเมตตาโปรดเกล้าฯ ให้คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4 คน ตามเสด็จไปออกหน่วยเคลื่อนที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) เมื่อปี 2545 โดยทรงพระกรุณาให้กลุ่มสัตวแพทย์มีหน้าที่ในการดูแลการเลี้ยงสัตว์และปัญหาโรคสัตว์ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ เชียงราย น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พะเยา และพิษณุโลก[39]

ด้านการต่างประเทศ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้เสด็จเยือนต่างประเทศทั้งตามคำกราบทูลเชิญเสด็จอย่างเป็นทางการและเสด็จเยือนเป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ รวมทั้งยังเป็นโอกาสที่ทรงแนะนำให้ชาวไทยรู้จักประเทศในแง่มุมต่าง ๆ อย่างถ่องแท้ด้วย โดยทรงศึกษาข้อมูล ศิลปวัฒนธรรมของประเทศที่จะเสด็จเยือน รวมถึงเรื่องข่าวสารเสด็จเยือนต่างประเทศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงให้ข้อมูลด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับประเทศนั้นกับผู้จัดทำ อีกทั้งทรงตรวจแก้บทโทรทัศน์ด้วยพระองค์เองก่อนการเสนอข่าวทุกครั้งเพื่อความถูกต้อง[40]

ด้านการศาสนา

 
ตราสัญลักษณ์วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

พระกรณียกิจสำคัญด้านพุทธศาสนา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์การประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับสากล อักษรโรมัน ฉบับแรกของโลก ทั้งยังทรงเป็นองค์ประธานก่อตั้งและองค์ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน เพื่อพระราชทานแด่นานาประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548[41]

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงรับวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ (วัดเขาโคกเผ่น) เป็นวัดในพระองค์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2550 วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ตั้งอยู่ที่บ้านเขาโคกเผ่น ตำบลทำนบ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ มีพระกรุณาคุณบริจาคทุนทรัพย์ร่วมทำบุญพื้นที่สร้างเจดีย์ศรีพุทธคยาที่วัดแห่งนี้เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2549 และทรงรับเป็นประธานงานสร้างเจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2549 เพื่อเป็นเครื่องหมายของการตรัสรู้ การเกิดและดับ เป็นการสืบสานพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไปในประเทศไทยและในโลกครบ 5,000 ปี เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาคุณแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสาวกทุกพระองค์ แด่ผู้มีคุณต่อแผ่นดินไทยทั้งสิ้นทั้งปวง และที่สำคัญเพื่อเป็นการทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550[42]

นอกจากนี้ ยังทรงเจริญพระศรัทธาปสาทะในพระบวรพุทธศาสนา ทรงพระกรุณาเสด็จไปในการพระราชกุศลตามคำกราบทูลเชิญอยู่มิเคยขาด โดยมิได้ทรงเลือกว่าเป็นวัดที่ใหญ่โตหรือวัดเล็ก มีหรือไม่มีชื่อเสียงแต่ประการใด แม้แต่วัดที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารก็ตาม ดังที่ปรากฏเมื่อครั้งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะเยาวชนกลุ่มเยาวชนร่มฉัตรน้อมเกล้าฯ อัญเชิญเครื่องพระกฐินส่วนพระองค์ พร้อมตาลปัตรจารึกอักษรพระนามย่อไปทอดถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ อาวาสวิหารวัดเขาแก้ววิเชียร จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เป็นต้น[43]

ด้านศิลปวัฒนธรรม

 
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ พระราชทานวโรกาสฉายพระรูปกับนักดนตรีทุน 19 คน

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงส่งเสริมงานแสดงด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น ดนตรีคลาสสิก ละครอุปรากร ทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานแสดงประจำปีและวงดนตรี เช่น วงดุริยางค์เยาวชนไทย และเมื่อครั้งวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเจริญพระชันษาครบ 84 ปี แม้ว่าจะทรงมีอาการประชวรแต่ก็เสด็จชมการแสดง "คอนเสิร์ตพระกรุณาธิคุณทุนดนตรีคลาสสิก แสงหนึ่งคือรุ้งงาม" โดย 19 นักเรียนทุนดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ฯ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จัดโดยคณะกรรมการทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ฯ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 โดยมี คุณหญิงวงจันทร์ พินัยนิติศาสตร์ เป็นประธานในการจัดงาน และได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมโดยคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม การแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนี้ถือว่าเป็นการรวมตัวครั้งแรกของนักเรียนทุนดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ฯ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาที่ได้รับพระราชทานความเมตตาสนับสนุนทุนในการศึกษาดนตรี โดยทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอย่างหาที่เปรียบมิได้ที่ทรงช่วยเหลือส่งเสริมนักดนตรีคลาสสิกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา[44]

พระองค์ยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเสด็จทอดพระเนตรการแสดงในหลายโอกาส[45] ทั้งได้พระราชทานชื่อโรงละครโจหลุยส์ว่า “นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก” และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ "มูลนิธินาฏยศาลา หุ่นละครเล็กฯ"[46] อันประกอบด้วยโรงละครและนักแสดงที่สืบทอดปณิธานการแสดงหุ่นละครเล็กจากศิลปินแห่งชาติครูสาคร ยังเขียวสด ซึ่งคณะละครโจหลุยส์ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานพิธีเปิดโรงละครที่สวนลุมไนท์บาซาร์เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2545[47]

พระอัจฉริยภาพ

พระอัจฉริยภาพด้านพระนิพนธ์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มีพระปรีชาสามารถด้านการเขียน ได้ทรงริเริ่มออกวารสาร "รื่นรมย์" โดยได้ชักชวนให้พระสหายในวังสระปทุมเขียนเรื่องตั้งแต่พระชันษาประมาณ 9 ปี ทรงทำหน้าที่บรรณาธิการและทรงเขียนบทความลงวารสารด้วย

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนับสนุนให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงอ่านนิทานภาษาอังกฤษและเรียบเรียงเรื่อง "นิทานสำหรับเด็ก" ซึ่งต่อมาได้จัดพิมพ์แจกในงานวันประสูติของสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2475[48]

พระนิพนธ์ที่มีชื่อเสียง เช่น เวลาเป็นของมีค่า แม่เล่าให้ฟัง เจ้านายเล็ก ๆ ยุวกษัตริย์ จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ มหามงกุฎราชสันตติวงศ์ และพระนิพนธ์สารคดีเชิงท่องเที่ยวเกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ ที่เสด็จประพาส ได้แก่ ยูนนาน ที่ไซบีเรียหนาวไหม จีนตะวันออก ขึ้นเขา ลงทะเลสาบ เข้าวัด จีนอีสานและเสฉวน จากแดนแมนจูสู่ภูง่อไบ๊ เป็นต้น

พระอัจฉริยภาพด้านการกีฬา

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงมีพลังแห่งการสร้างสรรค์ เมื่อทรงพระเยาว์ทรงสนพระทัยและทรงเล่นกีฬาหลายประเภท อาทิ เล่นสกี กรรเชียงเรือ ตกปลา ขี่จักรยาน เดินภูเขา และทรงม้าผาดโผน ส่วนแบดมินตันนั้น ได้ทรงเล่นตามอย่างสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นอกจากทรงร่วมเล่นแล้ว ยังทรงสนับสนุนนักแบดมินตันหลายคนให้เข้าแข่งขันระดับนานาชาติ อีกทั้งยังทรงสนพระทัยเรื่องการขับรถยนต์ เครื่องยนต์กลไก และรถสามล้อ[27]

มีพระปรีชาสามารถในการขับเครื่องบินปีก 2 ชั้น และทรงขับเฮลิคอปเตอร์ได้อีกด้วย โดยทรงเรียนการบินเป็นนักบินหญิงอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย[49]

พระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงสนพระทัยในการถ่ายภาพอย่างจริงจัง ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้การใช้กล้องบันทึกภาพ ซึ่งมิใช่เพียงเพื่อเก็บภาพไว้ดูเล่นเท่านั้น แต่ทรงบันทึกภาพโดยมีจุดประสงค์ทั้งในแง่ศิลปะและวิชาการ ไม่ว่าจะเสด็จเยือนสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทรงบันทึกภาพที่สนพระทัยด้วยพระองค์เองเสมอ ภาพที่ทรงบันทึกไว้จะเป็นประโยชน์เมื่อทรงจัดทำพระนิพนธ์ในภายหลัง แม้แต่การบันทึกภาพด้วยวีดิทัศน์ของผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ในการทำข่าวเสด็จเยือนสถานที่ต่าง ๆ ก็จะพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้บันทึกภาพ เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์และมีความหมายสอดคล้องกับคำบรรยาย[50]

พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร

พระพุทธรูปประจำพระชนมวารของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สร้างขึ้นตามวันพระประสูติ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2466 เป็นพระพุทธรูปปางถวายเนตร ปางประจำวันอาทิตย์ ใต้ฉัตรปรุ 5 ชั้น ปัจจุบันเชิญออกในวานพระราชพิธีสงกรานต์ และ การพระราชกุศลทักษิณานุปทาน

พระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
 
ธงประจำพระอิสริยยศ
 
ตราประจำพระองค์
 
ธงประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ

  • หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา (6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470)
  • พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา[3] (8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 – 2 มีนาคม พ.ศ. 2478)
  • สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา[7] (2 มีนาคม พ.ศ. 2478 – 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2487)
  • พระพี่นางกัลยาณิวัฒนา[10] (11 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 – 25 มีนาคม พ.ศ. 2493)
  • สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา[11] (25 มีนาคม พ.ศ. 2493 – 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538)
  • สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์[15] (6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 – 2 มกราคม พ.ศ. 2551)

สถาปนาพระเกียรติยศ

 
สัปตปฎลเศวตฉัตร สุมพระเมรุ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีฐานันดรศักดิ์ชั้นเจ้าฟ้า ดังนั้น จึงได้รับพระราชทานเบญจปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 5 ชั้น) กางกั้นพระโกศ เพื่อเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศ[51] ต่อมา ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน 7 วันพระราชทานพระศพนั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมประกาศว่า โดยที่ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินี ที่ทรงเคารพนับถือในฐานะที่ทรงมีอุปการคุณมาแต่หนหลัง อีกทั้งทรงพระคุณแก่บ้านเมืองเป็นอเนกปริยาย เป็นที่ประจักษ์แก่ตาแก่ใจของมหาชนทั่วไป เมื่อเสด็จสิ้นพระชนม์ เป็นเหตุให้พระองค์และประชาชนทุกชนชั้น อาลัยระลึกถึงพระคุณเป็นอันมาก ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์นั้น ทรงพระเกียรติคุณเป็นที่เชิดชูแห่งพระราชวงศ์ ควรได้รับพระเกียรติยศใหญ่ยิ่ง โดยอนุโลมตามโบราณราชประเพณี จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาพระเกียรติยศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยให้เจ้าพนักงานจัดสัปตปฎลเศวตฉัตร(เศวตฉัตร 7 ชั้น) กางกั้นพระโกศ พระราชทานเพื่อเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศสืบไป[52] [53]

เครื่องอิสริยยศราชูปโภค

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชูปโภคสำหรับสมเด็จเจ้าฟ้า ซึ่งสร้างขึ้นมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีรายการดังต่อนี้[54]

  • พานพระศรี (พานใส่หมากพลู) ทองคำลงยา เครื่องพร้อม
  • พระสุพรรณศรี (กระโถนเล็ก) ทองคำลงยา
  • หีบพระศรีทองคำลงยา พร้อมพานรอง
  • พระคนโททองคำลงยา พร้อมพานรอง
  • พานเครื่องพระสำอาง พร้อมพระสางวงเดือนกับพระสางเสนียดสอดในซองเยียรบับ และพระกรัณฑ์ทองคำลงยาสำหรับบรรจุเครื่องพระสำอาง
  • ราวพระภูษาซับพระพักตร์ทองคำลงยารูปพญานาค 2 ตน ขนดหางพันเกลียวเป็นเสาราว ผินเศียรไปทางซ้ายและขวาเป็นราวพาด 2 กิ่ง พร้อมซับพระพักตร์จีบริ้วพาดบนราว 2 องค์
  • พระฉายกรอบทองคำลงยาทำเป็นรูปพญานาคขนดพันกันโดยรอบบานพระฉาย ด้านบนเป็นรูปพระมหามงกุฎเปล่งรัศมี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังต่อไปนี้[55]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้รับการถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญจากประเทศต่าง ๆ อันได้แก่[64]

  • พ.ศ. 2522 -   เครื่องอิสริยาภรณ์คอมมังเดอรี่ เดอ ลอร์เดรอร์เดซาท์ส เอ เด แลตเตรอร์ ชั้นที่ 1[65]

เครื่องอิสริยาภรณ์คอมมังเดอรี่ เดอ ลอร์เดรอร์เดซาท์ส เอ เด แลตเตรอร์ จากประเทศฝรั่งเศส เป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ซึ่งจะมอบให้แก่ผู้มีผลงานโดดเด่นด้านศิลปะและวรรณกรรมโดยการที่ได้แสดงเกียรติคุณของตนให้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนในสาธารณรัฐฝรั่งเศสและทั่วโลก

  • พ.ศ. 2540 -   เครื่องอิสริยาภรณ์เนชั่นดูเมริเต้ ชั้นที่ 1

เครื่องอิสริยาภรณ์เนชั่นดูเมริเต้ จากประเทศฝรั่งเศส เป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ระดับสูงซึ่งจะมอบให้แก่ผู้ได้ประกอบความดีและสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อสาธารณรัฐฝรั่งเศส

เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ จากประเทศฝรั่งเศส เป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ระดับสูงสุดของฝรั่งเศสซึ่งจะมอบให้แก่บุคคลสำคัญระดับประมุขของประเทศที่ทรงคุณธรรม และมีบทบาทกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐฝรั่งเศส และประเทศของตน

พระยศทางทหาร

พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
รับใช้กองทัพบกไทย, กองทัพเรือไทย และกองทัพอากาศไทย
ประจำการ
  •   22 มิถุนายน พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2551
  •   22 มิถุนายน พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2551
  •   22 มิถุนายน พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2551
ชั้นยศ
  •   พลเอกหญิง
  •   พลเรือเอกหญิง
  •   พลอากาศเอกหญิง

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระยศทหารและแต่งตั้งนายทหารชั้นพิเศษเป็นกรณีพิเศษแก่พระองค์ เป็นลำดับมาดังนี้[66]

  • 27 มีนาคม พ.ศ. 2527: พันโทหญิง นายทหารพิเศษประจำกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์[67]
  • 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2527: ราชองครักษ์พิเศษ[68]
  • 3 มิถุนายน พ.ศ. 2527: นาวาโทหญิง นาวาอากาศโทหญิง นายทหารพิเศษประจำกองนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ประจำกองบังคับการ กรมทหารราบที่ 3 รักษาพระองค์ กรมนาวิกโยธิน และประจำกองนักเรียนนายเรืออากาศรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ[69]
  • 19 มกราคม พ.ศ. 2532: พลตรีหญิง พลเรือตรีหญิง พลอากาศตรีหญิง[70]
  • 20 เมษายน พ.ศ. 2538: พลโทหญิง พลเรือโทหญิง พลอากาศโทหญิง[71]
  • 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538: นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์[72]
  • 22 มิถุนายน พ.ศ. 2540: พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง นายทหารพิเศษประจำกรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และประจำกองพันทหารอากาศโยธินรักษาพระองค์[73]

ตำแหน่งทางวิชาการ

  • พ.ศ. 2521 : ศาสตราจารย์ (พิเศษ)[31]

พระสมัญญานาม

  • พ.ศ. 2551 : พระกัลยาณมิตราจารย์[74]

การเทิดพระเกียรติ

ในพระนาม

ปูพระพี่นาง

 
ปูพระพี่นาง

ปูพระพี่นาง เป็นปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก มีสีสันที่สวยงาม โดยกระดองมีสีแดงเลือดนก ขอบของกระดอง ขอบเบ้าตา และริมฝีปากเป็นสีแดงส้ม ขาเดินทั้ง 4 คู่ เป็นสีแดงเลือดนก ยกเว้นตรงปลายประมาณ 1 ใน 3 ของก้ามหนีบทั้ง 2 ข้าง เป็นสีขาว กระดองขนาดกว้างประมาณ 4.6 เซนติเมตร ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 โดยนายมงคล วงศ์กาฬสินธุ์ นักวาดรูปนก ณ ตำบลท่าแฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี และได้รับการตรวจสอบสายพันธุ์โดยศาสตราจารย์ไพบูลย์ นัยเนตร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[75]

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือกราบทูลขอพระราชทานพระอนุญาตอัญเชิญพระนามในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นชื่อไทยของปูชนิดใหม่นี้ว่า “ปูพระพี่นาง”[76] เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่พระองค์มีพระกรุณาธิคุณแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นอเนกอนันต์ เนื่องจากพระองค์ทรงเคยเป็นอาจารย์พิเศษสอนนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[77] ปูพระพี่นาง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Potamon galyaniae และมีชื่อสามัญว่า Crimson Crab โดยจะทำการพิมพ์เผยแพร่ปูที่พบใหม่นี้ในวารสารต่างประเทศชื่อ Crustaceana, International Journal of Crustacean Research[77]

ดอกแก้วกัลยา

 
ดอกแก้วกัลยา

ดอกแก้วกัลยาเป็นดอกไม้ในจินตนาการ มาจากดอกไม้ 2 ชนิดตระกูลดอกแก้ว คือ ดอกแก้วเจ้าจอม และดอกแก้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามดอกไม้ประดิษฐ์ซึ่งประดิษฐ์โดยคนพิการในศูนย์ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคนพิการ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ว่า "ดอกแก้วกัลยา" พร้อมทั้งพระราชทานพระอนุญาตให้ใช้เป็นดอกไม้แห่งสัญลักษณ์ของคนพิการทั่วประเทศ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่คนพิการและองค์กรของคนพิการ มีพระดำรัสให้ฝึกอบรมอาชีพคนพิการเพื่อประดิษฐ์ดอกแก้วกัลยา รวมทั้งจัดจำหน่ายเพื่อนำรายได้ไปดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมอาชีพคนพิการในองค์กรคนพิการทั่วประเทศ ดอกแก้วกัลยามีลักษณะผสมผสานของระหว่างดอกของแก้วเจ้าจอมที่เป็นดอกไม้สีม่วงคราม สวยสง่าแต่อ่อนหวาน กับดอกแก้วที่เป็นดอกไม้สีขาว มีกลิ่นหอม[78]

สถานที่ในพระนาม

การฉลองพระชันษาครบ 84 ปี

 
ตราสัญลักษณ์ทรงเจริญพระชันษาครบ 84 ปี

วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชันษาครบ 84 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกุรณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชันษา 84 ปี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

นอกจากนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ได้จัดทำนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน โดยใช้ชื่อนิทรรศการว่า แสงหนึ่งคือรุ้งงาม[79] มีนายกวี พูลทวีเกียรติ์ เป็นผู้ควบคุมการผลิตของนิทรรศการ จุดประสงค์ของงานนี้นั้นสืบเนื่องจากต้องการให้เยาวชนได้เห็นถึงพระกรณียกิจของพระองค์แล้วเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อส่วนรวม[80] ซึ่งนับเป็นนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ภายใต้แนวคิด "แสงหนึ่งคือรุ้งงาม" หรือ The Spectrum ซึ่งนำเสนอเรื่องราวพระประวัติ พระกรณียกิจ พระอัจฉริยภาพ และสะท้อนภาพลักษณ์อันโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

นอกจากนี้ ยังมีการประพันธ์บทเพลงขึ้นมาเนื่องในโอกาสการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติครั้งนี้ด้วย ชื่อบทเพลงว่า "แสงหนึ่ง" ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองโดยบอย โกสิยพงษ์ และขับร้องโดยนภ พรชำนิ[80]

งาน "สถิต ณ ดวงใจ"

งาน “สถิต ณ ดวงใจ” เป็นงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย โดยเป็นงานนิทรรศการเกี่ยวกับพระประวัติ พระกรณียกิจ และโครงการในพระองค์ ตลอดจนพระอัจฉริยภาพด้านต่าง ๆ ซึ่งเปิดให้ประชาชนเข้าชมระหว่างวันที่ 7 มกราคม - 11 เมษายน พ.ศ. 2551 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกับคณะข้าราชการ ลูกจ้างกรุงเทพมหานคร และประชาชน ร่วมกล่าวน้อมรำลึกและถวายความอาลัยหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นอกจากนี้ ยังมีการจัดซุ้มเพื่อให้ประชาชนร่วมลงนามถวายสักการะ และจัดพิมพ์หนังสือ “สถิต ณ ดวงใจ” เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติ 84 ปีเพื่อแจกในงานนี้ด้วย[81]

งานฉลอง 100 ปี วันประสูติ

วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติ และประกาศถวายสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง[82] ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้กำหนดจัดงานฉลองวาระนี้ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2566 ด้วย[83]

เพลงเฉลิมพระเกียรติ

มูลนิธินรารัตน์วันชัยขันติภาวนาบารมี ร่วมกับ โครงการเฉลิมพระเกียรติ 84 ปี กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้จัดทำซีดีเพลงเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในวโรกาสทรงพระเจริญพระชันษา 84 ปี ประกอบด้วยเพลงเฉลิมพระเกียรติ ทั้งบรรเลงและขับร้อง[84] ทั้งหมด 6 เพลง ได้แก่

  1. เจ้าฟ้าสุดบูชา
  2. 84 ปีกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  3. มาร์ชเจ้าฟ้าสุดบูชา
  4. ดนตรีบรรเลงเจ้าฟ้าสุดบูชา
  5. ดนตรีบรรเลงกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  6. ดนตรีบรรเลงมาร์ชเจ้าฟ้าสุดบูชา

และได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเพิ่มเติมเพลงต่อไปนี้เข้าในโครงการฯ ได้แก่

  1. แสงหนึ่ง (คือรุ้งงาม)
  2. ดนตรีบรรเลงแสงหนึ่ง (คือรุ้งงาม)
  3. แสงหนึ่ง (คือรุ้งงาม) - โดย นักเรียนทุนดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์
  4. แสงหนึ่ง (คือรุ้งงาม) - ขับร้องโดย ศิโยน ดาวรัตนหงษ์
  5. แก้วกัลยา
  6. อาลัยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
  7. สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ สุดบูชา (ประสานเสียง)

ส่วนเพลง “แก้วกัลยา” นั้น ประภาส ชลศรานนท์ ได้แต่งขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันประสูติ ครบ 83 ปี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ โดยรายการคุณพระช่วย ได้จัดทำตอนพิเศษ ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ออกอากาศซ้ำภายหลังพระองค์สิ้นพระชนม์ ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2551 โดยมีการขับร้องเพลงนี้ในรายการด้วย[85]

ต่อมา ในช่วงการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำเพลงที่ระลึก ในบทเพลงที่ชื่อว่า “ส่งนางฟ้ากลับสวรรค์” ประพันธ์คำร้องโดย นิติพงษ์ ห่อนาค ประพันธ์ทำนองโดย อภิไชย เย็นพูนสุข ขับร้องโดย ธงไชย แมคอินไตย์ สำหรับไว้ใช้เผยแพร่ก่อนช่วงพระราชพิธีในราวปลายเดือนกันยายน – ตุลาคม พ.ศ. 2551 เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้ร่วมกับรัฐบาลถวายพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนถวายความอาลัย[86]

หนังสือ

หนังสือ "แสงหนึ่งคือรุ้งงาม"

หนังสือ "แสงหนึ่งคือรุ้งงาม" เป็นหนังสือปกอ่อน 2 เล่ม จำนวน 224 หน้า และซีดีรอม 1 แผ่น บรรจุภายในกล่อง ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2550 จัดทำขึ้นเนื่องในการจัดนิทรรศการ “แสงหนึ่งคือรุ้งงาม” ถือเป็นแนวคิดหลักที่อยู่เบื้องหลังการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในโอกาสทรงเจริญพระชันษา 84 ปี เมื่อ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 เพื่อถ่ายทอดความหมายอันหลากหลายลึกซึ้ง ในฐานะเจ้านายชั้นสูงผู้มีพระกรุณาธิคุณต่อประเทศและประชาชนชาวไทยทั้งชาติมาอย่างต่อเนื่อง[87]

หนังสือ "ชื่นเกล้า"

หนังสือ "ชื่นเกล้า" เป็นหนังสือวันเด็กแห่งชาติของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี พ.ศ. 2551 ได้มุ่งเน้นเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยอัญเชิญพระสาทิสลักษณ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ขณะยังทรงพระเยาว์เป็นภาพปก พร้อมเนื้อหาสารคดีเทิดพระเกียรติภายในเล่ม นำเสนอพระจริยวัตร พระอัจฉริยภาพ และพระกรุณาธิคุณที่พระราชทานความช่วยเหลือปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด อาทิ ด้านการศึกษา สังคมสงเคราะห์ การแพทย์และสาธารณสุข ด้านปรัชญาและศาสนา วรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์[88]

หนังสือ "เฉลิมพระเกียรติ 84 ปี 30660"

หนังสือ "เฉลิมพระเกียรติ 84 ปี 30660 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์" จัดทำโดยข้าราชบริพารในพระองค์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวาระที่ พระองค์ทรงเจริญพระชันษา 84 ปี ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 เป็นหนังสือรวมพระฉายาลักษณ์และพระประวัติ โดยชื่อหนังสือ "30660" มาจากจำนวน 365 วันในหนึ่งปี คูณกับพระชันษา 84 ปี ได้เท่ากับ 30660[89]

พระอนุสาวรีย์

อำเภอกัลยาณิวัฒนา

ในวันที่ 27 ตุลาคม 2563 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเปิดพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ ที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นพระอนุสรณ์ที่แสดงถึงความเคารพ ศรัทธา และราลึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุขของประเทศ[90]

สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ เชียงราย

ต่อมาในวันที่ 27 กันยายน 2567 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) เสด็จเป็นประธานในพิธีเททองหล่อพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานตรงข้ามพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ภายในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ เชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย[91]

เหรียญกษาปณ์และตราไปรษณียากรที่ระลึก

เหรียญกษาปณ์

กรมธนารักษ์ออกเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในวโรกาสต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฉลองพระชันษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ด้านหน้าเป็นพระรูปของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฉลองพระองค์ชุดไทย ทรงสายสะพายราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ด้านหลังเป็นตราราชสกุลมหิดล โดยแบ่งเป็นเหรียญกษาปณ์เงินและเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ทั้งชนิดขัดเงาและไม่ขัดเงา[92]
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฉลองพระชันษา 80 ปี เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ด้านหน้าเป็นพระรูปของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฉลองพระองค์ชุดไทย ทรงสายสะพายราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ที่พระอังสาเบื้องซ้ายประดับเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 8 และ 9 ด้านหลังเป็นอักษรพระนามย่อ "กว" ภายใต้จุลมงกุฎ โดยแบ่งเป็นเหรียญกษาปณ์เงิน เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ทั้งชนิดขัดเงาและไม่ขัดเงา และเหรียญกษาปณ์โลหะสองสี (สีขาวและสีทอง) [93]
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฉลองพระชันษา 84 ปี เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ด้านหน้าเป็นพระรูปของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฉลองพระองค์ชุดไทย ทรงสายสะพายราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ที่พระอังสาเบื้องซ้ายประดับเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 8 และ 9 ด้านหลังเป็นอักษรพระนามย่อ "กว" ภายใต้จุลมงกุฎ โดยแบ่งเป็นเหรียญกษาปณ์เงิน และเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ทั้งชนิดขัดเงาและไม่ขัดเงา[94]
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกงาน พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยคาดว่าจะมีรูปแบบเช่นเดียวกับเหรียญที่ระลึกงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และงานพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7[95]

ตราไปรษณียากร ไปรษณียบัตร

การสื่อสารแห่งประเทศไทย (ไปรษณีย์ไทย) ในปัจจุบัน ออกตราไปรษณียากรที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ในวโรกาสต่าง ๆ ดังต่อไปนี้[96]

  • ตราไปรษณียากรที่ระลึก 80 ปี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชันษาครบ 80 ปี วันแรกจำหน่าย 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 - เป็นภาพพระสาทิสลักษณ์ ทรงประทับยืน ฉลองพระองค์เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์
  • ตราไปรษณียากรที่ระลึก 84 ปี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชันษาครบ 84 ปี วันแรกจำหน่าย 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 - เป็นภาพพระสาทิสลักษณ์
  • ตราไปรษณียากรที่ระลึก พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันแรกจำหน่าย 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 - เป็นภาพพระสาทิสลักษณ์ 4 ช่วงพระชันษา ตั้งแต่พระองค์ทรงพระเยาว์ จนถึงปัจจุบัน
  • นอกจากนี้บริษัท ไปรษณีย์ไทย ร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย ชมรมแผ่นดินสยาม บริษัท ปตท.จำกัด (มาหชน) และบริษัท ไทยออลล์ จำกัด น้อมเกล้าฯ เฉลิมพระเกียรติ จัดทำแสตมป์ที่ระลึก และไปรษณียบัตรถวายอาลัย (ส่งโดยไม่ต้องติดแสตมป์) พร้อมสายรัดข้อมือ มี 2 แบบ แบบแรกเป็นสายรัดข้อมือสีขาว และสายรัดข้อมือสีฟ้า (พร้อมทั้งไปรษณียบัตรถวายอาลัย) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงความอาลัยของประชาชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศที่มีต่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯและเป็นการสมทบทุนเพื่อร่วมสนับสนุนการแพทย์เพื่อประชาชนในถิ่นทุรกันดารตามพระปณิธาน อีกทั้งเพื่อสมทบทุนร่วมสนับสนุนการศึกษาแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยในชนบท [97]

สุนัขและสัตว์ทรงเลี้ยง

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงมีความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ที่วังเลอดิสมีสัตว์ทรงเลี้ยงต่าง ๆ เช่น สุนัข เต่า แมว โดยเฉพาะสุนัขทรงเลี้ยงนั้นทรงมีสุนัขหลายพันธุ์ รวมทั้งสิ้น 28 ตัว ได้แก่ เค็ดซัล, ตอลเต็ก, สามพี่น้องตูลูส, อัลบี้, ลียอง, คีรีบูน, หลง, ภาพัน, ต้นคูน, ตระกูลชิทสุ ได้แก่ เจน, ไดมอนด์, มังกร, เท็น/อีเลเว้น, ดาว, แพนด้า, คู่รัก ซิกแซ็ก-เกาลัด กับลูกทั้งสี่ ได้แก่ เฮเซลนัท, เซสท์นัท, พีนัท, วอลนัท นอกจากนั้นยังมี แซนดี้, มน, วันพุธ, บ่อเบี้ย, ไนท์ และหัวหิน

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มีพระเมตตาต่อสุนัขและแมวจรจัดมาก โดยพระราชทานตึกฉุกเฉินที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเสด็จฯ เปิดตึกด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ยังได้พระราชทานเครื่องฟอกเลือด ฟอกไต เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สำหรับสัตว์ ที่สำคัญคือ ดอกผลที่ได้จาก กองทุน "สิบสาม" ได้ช่วยเหลือสุนัขและแมวจำนวนมาก

เมื่อสัตว์ที่พระองค์ทรงเลี้ยงเสียชีวิตลง จะมีสุสานสัตว์ เรียกว่า สุสานสุนัขทรงเลี้ยงของพระพี่นางฯ ในบริเวณตลาดบองมาเช่ ย่านประชานิเวศน์ 1 ซึ่งเป็นตลาดบนที่ดินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ[98] ยกเว้นสุนัขทรงเลี้ยงที่ชื่อ คุณสิบสาม สุนัขพันธุ์บอร์เดอเทอร์เรียที่พระองค์ทรงรักมาก ตอนคุณสิบสามตายก็ตายในอ้อมพระกรของพระองค์ ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สร้างอนุสาวรีย์คุณสิบสามถวายพระองค์ในพระตำหนักเลอดิส สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ นำมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อสัตว์เจ็บป่วยยากไร้ ชื่อ กองทุน "คุณสิบสาม" เพื่อช่วยเหลือสัตว์ยากไร้โดยเฉพาะสุนัขและแมว[99]

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงรับช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง ไว้ในพระอุปถัมภ์ถึง 3 เชือก พร้อมทั้งประทานชื่อแก่ช้างทั้ง 3 เชือก ได้แก่ จุฑานันท์ วนาลี และอลีนา โดยเฉพาะพังอลีนานั้นเกิดวันเดียวกับพระองค์ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า น้องเมย์[100]

พงศาวลี

อ้างอิง

  1. ศาสตราจารย์ ดร.สิทธา พินิจภูวดล, พระอัจฉริยภาพด้านการนิพนธ์[ลิงก์เสีย] นิตยสารสกุลไทยฉบับที่ 2691 ปีที่ 52 ประจำวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม 2549
  2. "Search birth records". findmypast.co.uk. สืบค้นเมื่อ 25 August 2012. SONGKLA May Kensington London 1923
  3. 3.0 3.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า, เล่ม ๔๔, ตอน ๐ก, ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๐, หน้า ๒๕๓
  4. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา, เจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์, ซิลค์เวอร์ม บุคส์, พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2549, 450 หน้า, ISBN 974-7047-55-1
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 กระทรวงวัฒนธรรม, เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในโอกาสมหามงคลเจริญพระชนมายุ ๗ รอบ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐. ISBN 978-974-09-8956-1.
  6. การศึกษา[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  7. 7.0 7.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระเกียรติยศพระราชปิตุจฉา พระเชษฐภคินี และพระอนุชา เก็บถาวร 2011-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๒, ตอน ๐ง, ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘, หน้า ๑๑๗๘
  8. 8.0 8.1 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดา, สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 4, พ.ศ. 2548, 136 หน้า, ISBN 974-221-746-7
  9. ราชกิจจานุเบกษา, กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์, เล่ม ๓๕, ตอน ๐ก, ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑, หน้า ๑๔๖
  10. 10.0 10.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่องลาออกจากถานันดรสักดิ์, เล่ม 61, ตอน 42, 18 กรกดาคม พ.ศ. 2487, หน้า 1411-2
  11. 11.0 11.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา, เล่ม ๖๗, ตอน ๑๘ก, ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๓, หน้า ๓๙๖
  12. "Genealogical Gleanings Thailand, database maintained by Henry Soszynski at ancentry.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-05. สืบค้นเมื่อ 2008-01-06.
  13. 'เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ' พระเจ้าพี่นางเธอฯ กษัตริย์ 2 พระองค์ รัชกาลที่ 8-รัชกาลที่ 9 เก็บถาวร 2008-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์มติชน
  14. การทรงกรม[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  15. 15.0 15.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, เล่ม ๑๑๒, ตอน พิเศษ ๑๔ ง, วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘, หน้า ๑
  16. 16.0 16.1 12 ปี ธ ทรงกรมฯ สง่าศรี 84 พรรษา พระเชษฐภคินี สถาพร[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  17. พระราชพิธีที่สำคัญ สำนักงานส่งเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ
  18. "สมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ และพระราชพิธีพระศพ" (Press release). หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน. 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551. สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2556. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)[ลิงก์เสีย]
  19. แถลงการณ์สำนักพระราชวัง พระอาการพระเจ้าพี่นางฯ[ลิงก์เสีย], จากเว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  20. 20.0 20.1 กรุงเทพธุรกิจ, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯสิ้นพระชนม์ เมื่อ 02.54 น.วันที่ 2 ม.ค. เก็บถาวร 2008-01-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2 มกราคม พ.ศ. 2551
  21. ไทยรัฐออนไลน์, ในหลวง-พระราชินีเสด็จ ถวายสรงน้ำพระศพ เก็บถาวร 2008-01-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2 ม.ค. 51
  22. ผู้จัดการออนไลน์, โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระเกียรติยศ "สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ" เก็บถาวร 2012-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 9 มกราคม 2551 17:28 น.
  23. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์, เล่ม ๑๒๕, ตอน ๑ข, ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑, หน้า ๑
  24. ข่าววันที่ 12 มกราคม 2551 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ ม.ร.ว.ถนัดศรี ร่วมรำลึก สมเด็จพระพี่นางฯ[ลิงก์เสีย]
  25. พระราชทานพระตำหนักใหญ่ของวังสระปทุมเป็นที่ประทับ[ลิงก์เสีย]
  26. สุทธาสินี จิตรกรรมไทย พระตำหนักเลอดิส "บ้าน" ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ[ลิงก์เสีย], มติชน, วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2551, ปีที่ 30, ฉบับที่ 10895
  27. 27.0 27.1 27.2 "84 พระชันษาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-05. สืบค้นเมื่อ 2008-01-02.
  28. เว็บไซต์กองทุนหมอเจ้าฟ้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Link เก็บถาวร 2008-01-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  29. รายงานพิเศษ : พระประวัติ-พระอัจฉริยภาพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เก็บถาวร 2012-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 มกราคม 2551 13:14 น.
  30. พระประวัติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เก็บถาวร 2011-09-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน nationchannel.com
  31. 31.0 31.1 "ทรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ศาสตราจารย์พิเศษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-11. สืบค้นเมื่อ 2010-09-17.
  32. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 6 มกราคม 2551 'แชมป์' เหรียญทองฟิสิกส์โลก มีวันนี้ได้เพราะ 'พระเจ้าพี่นางเธอฯ'
  33. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Link เก็บถาวร 2008-01-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  34. สื่อต่างชาติเสนอข่าว "พระพี่นางเธอฯ" สิ้นพระชนม์ ยกย่องพระกรณียกิจ เก็บถาวร 2012-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 มกราคม 2551 09:04 น.
  35. "พระพี่นางฯ"มีพระอาการไข้ แพทย์ถวายการรักษาใกล้ชิด[ลิงก์เสีย] matichon.co.th
  36. การสังคมสงเคราะห์[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  37. พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เก็บถาวร 2008-01-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
  38. รายชื่อมูลนิธิและสมาคมในพระองค์[ลิงก์เสีย]
  39. หนังสือพิมพ์ ข่าวสด28สุนัขทรงเลี้ยง แห่งวังพระพี่นาง[ลิงก์เสีย]
  40. การสัมพันธไมตรีต่างประเทศ[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  41. พระราชกรณียกิจเผยแผ่พระไตรปิฎกสากลสู่โลก โดย คม ชัด ลึก วัน พุธ ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 00:00 น.
  42. เว็บไซต์ธรรมจักร โดย admin ลานธรรมจักร
  43. พระกฐินส่วนพระองค์[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  44. หนังสือพิมพ์แนวหน้า 25 กรกฎาคม 2550คอนเสิร์ตพระกรุณาธิคุณทุนดนตรีคลาสสิก แสงหนึ่งคือรุ้งงาม เก็บถาวร 2008-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  45. จดหมายข่าว จุฬาสัมพันธ์ 24 ตุลาคม 2548 หน้า 12 Link เก็บถาวร 2006-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  46. ประวัตินาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก เก็บถาวร 2008-02-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก
  47. เว็บไซต์ท่องเที่ยว Thailanddives เสมือนจริง เหนือจินตนาการกับหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ เก็บถาวร 2007-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  48. นิทานสำหรับเด็ก เก็บถาวร 2011-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน school.net.th
  49. พระราชประวัติสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เก็บถาวร 2008-01-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์สยามรัฐ
  50. รายงานพิเศษ : “สมเด็จพระพี่นางฯ”...ของปวงชนชาวไทย เก็บถาวร 2005-05-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการออนไลน์ 6 พฤษภาคม 2548 14:33 น.
  51. คมชัดลึก, "เศวตฉัตร" เครื่องประกอบอิสริยยศ ตามลำดับ "เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน" เก็บถาวร 2008-01-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 14 มกราคม 2551
  52. พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาพระเกียรติยศ จากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา
  53. ไทยรัฐออนไลน์, เล่าขานโบราณราชประเพณี เรื่องการพระราชพิธี พระศพ เก็บถาวร 2008-01-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 13 มกราคม พ.ศ. 2551
  54. คมชัดลึก, การประดิษฐานพระโกศ เก็บถาวร 2017-08-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
  55. เครื่องราชอิสริยาภรณ์[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  56. 56.0 56.1 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ , เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๑๘ ง หน้า ๑๓๔๙, ๒๘ มีนาคม ๒๔๙๓
  57. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2014-12-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๑๐๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑, ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๖
  58. 58.0 58.1 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๖๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๒, ๑๘ เมษายน ๒๕๒๓
  59. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2011-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
  60. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ, เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๑๘๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๒๖ กันยายน ๒๕๓๓
  61. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๑๕ มกราคม ๒๕๑๘
  62. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2011-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๕๘, ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๑
  63. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๖ ง หน้า ๒๓๕, ๒๐ มกราคม ๒๔๙๖
  64. คมชัดลึก, การประดิษฐานพระโกศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เก็บถาวร 2017-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2551
  65. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม 96 ตอนที่ 139 หน้า 2906, 14 สิงหาคม 2522
  66. พระยศทางทหาร[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  67. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหารและแต่งตั้งนายทหารพิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 101 (ตอน 45 ฉบับพิเศษ): หน้า 1. 5 เมษายน 2527. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  68. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชองครักษ์พิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 101 (ตอน 82 ฉบับพิเศษ): หน้า 1. 24 มิถุนายน 2527. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  69. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหารและแต่งตั้งนายทหารพิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 100 (ตอน 79 ฉบับพิเศษ): หน้า 2. 22 มิถุนายน 2527. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  70. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระยศทหาร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 106 (ตอน 20 ง ฉบับพิเศษ): หน้า 1. 6 กุมภาพันธ์ 2532. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  71. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระยศทหาร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 112 (ตอน 6 ข): หน้า 1. 3 พฤษภาคม 2538. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  72. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายทหารพิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 112 (ตอน 45 ง): หน้า 1. 1 ธันวาคม 2538. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  73. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระยศทหารแต่งตั้งนายทหารพิเศษเป็นกรณีพิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 114 (ตอน 17 ข): หน้า 6. 14 กรกฎาคม 2540. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-07-11. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  74. พระสมัญญานาม พระกัลยาณมิตราจารย์
  75. ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ขอให้ประชาชนช่วยกันอนุรักษ์ปูพระพี่นาง เป็นปูน้ำจืดพันธุ์ใหม่ของโลก ซึ่งพบที่อำเภอศรีสวัสดิ์[ลิงก์เสีย] สำนักงานพาณิชย์จังหวัดกาญจนบุรี
  76. "มหัศจรรย์...ปูกางร่ม สัตว์ฉลาด...ใช้ใบไม้ปกป้อง กันภัย 26 มิ.ย. 50 - 00:24". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-28. สืบค้นเมื่อ 2008-01-03.
  77. 77.0 77.1 ปูพระพี่นาง[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  78. "เว็บไซต์มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-01. สืบค้นเมื่อ 2008-01-06.
  79. "แสงหนึ่งคือรุ้งงาม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-15. สืบค้นเมื่อ 2007-05-22.
  80. 80.0 80.1 เว็บไซต์คมชัดลึกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โปรดดนตรีคลาสสิก เก็บถาวร 2008-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  81. ข่าว MCOT News เมื่อ 2008-01-07 18:54:56 กทม.จัดงาน สถิต ณ ดวงใจ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ[ลิงก์เสีย]
  82. หมายกำหนดการ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี วันประสูติ และประกาศถวายสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พุทธศักราช ๒๕๖๖
  83. รัฐบาลเตรียมจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (6 พฤษภาคม 2566) อย่างสมพระเกียรติ
  84. เพลงเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  85. "เว็บไซต์มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-07. สืบค้นเมื่อ 2008-01-06.
  86. "โครงการจัดทำเพลงที่ระลึก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในโอกาสการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-03. สืบค้นเมื่อ 2008-11-13.
  87. เว็บไซต์ศูนย์หนังสือจุฬาฯ [1] เก็บถาวร 2008-01-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  88. หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10891 "ชื่นเกล้า" สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เก็บถาวร 2008-01-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  89. หนังสือเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ
  90. "ข่าวในพระราชสำนัก". สำนักพระราชวัง. 27 ตุลาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2024.
  91. "สร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ประดิษฐานสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์เชียงราย". ไทยรัฐ. 27 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2024.
  92. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ออกใช้เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในวโรกาส สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฉลองพระชนมายุครบ ๖ รอบ พ.ศ. ๒๕๓๘, เล่ม ๑๑๒, ตอน ๓๖ ง, ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘, หน้า ๔
  93. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ออกใช้เหรียญกระษาปณ์ที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธฮเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ลองพระชนมายุ ๘๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๔๖ เก็บถาวร 2011-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐, ตอนพิเศษ ๕๑ ง, ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖, หน้า ๖
  94. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ออกใช้เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฉลองพระชนมายุ ๘๔ พรรษา พ.ศ. ๒๕๕๐, เล่ม ๑๒๔, ตอนพิเศษ ๕๖ ง, ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐, หน้า ๑
  95. ข่าวอะไรที่ไหน, กรมธนารักษ์เตรียมจัดทำเหรียญที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงพระศพพระพี่นางฯ[ลิงก์เสีย],อาทิตย์ที่ 6 มกราคม 2008
  96. ตราไปรษณียากร[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  97. ไปรษณีย์เชิญชวนซื้อสายรัดข้อมือพระพี่นางฯ เก็บถาวร 2012-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 พฤศจิกายน 2551 11:00 น.
  98. มติชน วันที่ 03 มกราคม 2551 เวลา 14:55:23 น.สุสานสุนัขทรงเลี้ยงสมเด็จพระพี่นางฯ 'สุสานที่ไม่เคยขาดรัก...' เก็บถาวร 2008-01-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  99. มติชน วันที่ 03 มกราคม 2551 เวลา 17:21:38 น.'รำลึกพระพี่นางฯ...เมื่อเจ้าของไม่อยู่สัตว์เลี้ยงของพระองค์จะอยู่อย่างไร' เก็บถาวร 2008-01-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  100. ดิเรก ก้อนกลีบ, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ พระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อช้างไทย[ลิงก์เสีย], มติชน, วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2551, ปีที่ 31, ฉบับที่ 10903

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ถัดไป
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี   กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี
(18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 – 2 มกราคม พ.ศ. 2551)
  สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี    
ประธานมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
(18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 – 2 มกราคม พ.ศ. 2551)
  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี