การลดธงครึ่งเสา
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
การลดธงครึ่งเสา (อังกฤษ: half-staff, half-mast) ชักธงขึ้นที่เสาธงใด ๆ เพียง 1 ใน 3 หรือ 2 ใน 3 ของความยาวเสาธงหรือเสาธงเรือ (ขึ้นอยู่กับกรณีตามที่แต่ละประเทศกำหนด) เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงความเคารพหรือการไว้ทุกข์ ต่อผู้ตาย ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทั้งในและต่างประเทศ
ธรรมเนียมการชักธงเพียงครึ่งเสาเริ่มต้นขึ้นเมื่อหลายศตวรรษก่อน เพื่อให้ธงแห่งความตายที่มองไม่เห็น (the invisible flag of death) ได้ชักอยู่บนยอดเสาธงนั้น อันหมายความถึงพลังอำนาจ การมีอยู่ และการปรากฏของความตาย
สำหรับวิธีการลดธงครึ่งเสานั้น จะต้องเชิญธงขึ้นไปสู่ยอดเสาเสียก่อน จากนั้นจึงลดธงลงมาอยู่ในระดับครึ่งเสา (ตามระเบียบ นร.ได้กำหนดให้ลดลงจากยอดเสาเพียง 1 ใน 3 ของความสูงเสา หรืออีกนัยหนึ่ง ธงจะอยู่ที่ความสูง 2 ใน 3 ส่วน ของความสูงเสาธง) หรือตามระดับอื่นที่กำหนดไว้ในกฎหมาย นอกจากนั้น เมื่อจะมีการเชิญธงจากยอดเสาในเวลาสิ้นสุดของวัน จะต้องเชิญธงกลับขึ้นไปที่ยอดเสาเสียก่อน จึงจะลดธงได้เช่นกัน[1]
การไว้ทุกข์ด้วยธงชาติสำหรับบางประเทศยังอาจมีธรรมเนียมที่ต่างออกไป เช่น ในกรณีของประเทศญี่ปุ่น จะมีการเพิ่มแถบผ้าสีดำไว้เหนือธงชาติ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการไว้ทุกข์
สำหรับธงชาติซาอุดีอาระเบีย ธงชาติโซมาลีแลนด์ ธงชาติอิหร่าน ธงชาติอัฟกานิสถานและธงชาติอิรัก ถือเป็นธงชาติที่จะไม่มีการลดธงครึ่งเสา เนื่องจากข้อความชะฮาดะฮ์ หรือ(และ) ตักบีร์บนธงมีความหมายถึง พระนามของอัลลอฮ์ (พระเจ้า) จึงไม่อาจใช้ธงนี้เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความอาลัยได้
ประเทศไทย
แก้การลดธงครึ่งเสาเพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อการสูญเสียบุคคลสำคัญของประเทศครั้งแรกในสยามเกิดขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อคราวสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีสวรรคต (ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์ สิ้นพระชนม์) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2404 บรรดาฝรั่งลดธงลงครึ่งเสา 3 วัน
ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระยาศรีพิพัฒน์หัวหน้าคณะทูตสยามไปเจริญพระราชไมตรียังประเทศฝรั่งเศส มีข้อความว่า
“แม่เพอยนี้ถึงในกรุงเทพฯ ท่านทั้งปวงว่าเป็นเจ้าเล็กเจ้าน้อยก็ดีแต่ในเมืองที่มาทำสัญญาไมตรีแลลูกค้าพาณิชต่างประเทศเป็นอันมากเขานับถือว่าเป็นคนโตคนใหญ่ ตั้งแต่วันสิ้นชีวิตลงแล้ว กงสุลต่างประเทศ บรรดาที่มีธงเขาก็ลดธงครึ่งเสาให้สามวัน เรือกำปั่นที่จอดทอดอยู่ในแม่น้ำทุกลำ
กงสุลก็ป่าวร้องให้ลดธงแลไขว้เชือกแดงสำแดงให้รู้ว่าเศร้าโศกสามวัน...ก็หนังสือนี้จะมาถึงท่านทั้งปวงเมื่อใดที่ตำบลใดก็ยังไม่ทราบ ถ้าได้หนังสือนี้ที่เรือหรือที่บกควรจะยกธงกึ่งเสาเป็นคำนับสามวันหรือเจ็ดวันอย่างไร ก็จงคิดเป็นเกียรติยศแก่ข้าพเจ้าด้วย
หรืออย่างหนึ่งเมื่อข่าวว่ามารดากวีนวิคตอเรียสิ้นชีพแล้วเข้ามาถึงกรุงเทพฯ พวกกงสุลอังกฤษเขายกธงกึ่งเสาสิบสี่วัน แล้วเขาแต่งด้วยเครื่องดำด้วยสิบสี่วัน แต่รายนี้จะทำสามวันหรือเจ็ดวันก็ควรอยู่แล้ว พวกทูตถ้ามีเครื่องดำแต่ง จะแต่งเครื่องดำด้วยก็ตาม พอให้เป็นเกียรติยศ แต่ถ้าจะสำแดงการอย่างนี้จงประกาศการให้ปรากฏก่อน อย่าให้กิตติศัพท์เลื่องลือผิดกลายเป็นตัวข้าพเจ้าเองไปได้ เพราคนในประเทศเป็นอันมาก แลนอกประเทศบางพวก มันนั่งเร่งนอนเร้าข้าพเจ้าอยู่ ท่านก็จะรู้อยู่แล้ว”[2]
จากประโยคที่ยกมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่าบรรดาชาวต่างชาติในพระราชอาณาจักรสยามเมื่อล่วงรู้ข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระราชเทวีซึ่งเป็นพระมารดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าของพระมหากษัตริย์ต่างแสดงความไว้อาลัยด้วยการป่าวร้องให้ลดธงในสถานกงสุลและบรรดาเรือลดธงลงครึ่งเสา จากนั้นมาธรรมเนียมสากลนี้ถูกนำมาใช้ปฏิบัติต่อเนื่อง แต่ประกาศให้คนทั่วไปได้ทราบข่าวเสียก่อน เพื่อเกรงความเข้าใจผิดพลาด และอาจส่งผลต่อความมั่นคง
สำหรับประเทศไทย การลดธงครึ่งเสา จะมีคำสั่งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นกรณีไป หากเป็นบุคคลสำคัญในประเทศ ก็ให้ลดธงครึ่งเสา เป็นเวลาตามกำหนด ให้สมเกียรติกับฐานันดรศักดิ์ (อย่างในภาพขวาบน โรงเรียนอัสสัมชัญบางรักลดธงครึ่งเสาเพื่อถวายอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเวลา 30 วัน) ส่วนหากเป็นบุคคลสำคัญต่างประเทศ ส่วนมากแล้ว ทางรัฐบาล จะประกาศให้ลดธงครึ่งเสา เป็นเวลา 3 วัน
อ้างอิง
แก้- ↑ "ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ | Dek-D.com". Dek-D.com > Board (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "พระราชหัตถเลขา ร.๔". www.thaiheritage.net.