เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาขึ้นในวาระครบรอบ 90 ปีของราชวงศ์จักรี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (อังกฤษ: The Most Illustrious Order of Chula Chom Klao) สถาปนาขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2416 ด้วยทรงเห็นว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทรงอยู่ในราชสมบัติยั่งยืนนานมาเป็นเวลา 90 ปี ก็ด้วยความจงรักภักดีและการปฏิบัติราชการของพระบรมวงศานุวงศ์และบรรดาขุนนางข้าราชการทั้งปวง ทั้งมีพระราชประสงค์จะทรงชุบเลี้ยงบรรดาทายาทของบุคคลเหล่านี้ ให้มีความเจริญรุ่งเรืองในราชการสืบเนื่องต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทายาทของผู้ได้รับพระราชทานสามารถรับพระราชทานตราสืบตระกูลของบิดาได้ โดยพระราชทานนามพระองค์ "จุลจอมเกล้า" เป็นนามของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ พร้อมทรงคิดคำขวัญจารึกบนดวงตราว่า "เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ"

เครื่องราชอิสริยาภรณ์
จุลจอมเกล้า
ดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
มอบโดย

พระมหากษัตริย์ไทย
ประเภทสายสะพายพร้อมสายสร้อยและดารา, สายสะพายพร้อมดารา, ดวงตราพร้อมดารา, ดวงตรา (3 ชั้นสำหรับบุรุษ, 4 ชั้นสำหรับสตรี)
วันสถาปนาฝ่ายหน้า : พ.ศ. 2416
ฝ่ายใน : พ.ศ. 2436
ประเทศไทย ราชอาณาจักรไทย
ภาษิตเราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ
จำนวนสำรับดูรายละเอียดที่ ประเภท ลำดับชั้นตรา และจำนวน
ผู้สมควรได้รับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวง และบรรดาผู้สืบสกุลของบุคคลเหล่านั้น (พระราชทานตามพระราชอัธยาศัย)
มอบเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงอิสริยยศ, ระลึกถึงความดีความชอบของบุคคลซึ่งได้รักษาแผ่นดินมาแต่ก่อน และผู้ที่ได้ทำนุบำรุงแผ่นดินในปัจจุบัน
สถานะยังพระราชทานอยู่
ผู้สถาปนาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
สถิติการมอบ
รายแรกกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
พ.ศ. 2416
รายล่าสุดลาภิต สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
6 สิงหาคม พ.ศ. 2567
ลำดับเกียรติ
สูงกว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์‎
รองมาเครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี
หมายเหตุฝ่ายหน้า : พระราชทานสืบตระกูลได้
ฝ่ายใน : มีคำนำหน้านาม

ประวัติ

แก้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระชันษาครบ 20 พรรษาบริบูรณ์ พระองค์ทรงสละราชสมบัติเพื่อเสด็จออกผนวชตามประเพณีเป็นระยะเวลา 15 วัน เมื่อจะเสด็จคืนครองสิริราชสมบัติจึงโปรดฯ ให้ทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้ พระองค์มีพระราชดำริว่า นับแต่การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ มีพระมหากษัตริย์ครองสิริราชสมบัติมาถึง 5 พระองค์นับระยะเวลารวมได้ประมาณ 90 ปี โดยไม่มีเหตุการแก่งแย่งชิงอำนาจจนเกิดศึกกลางพระนครเมื่อมีการผลัดแผ่นดินดังเช่นสมัยกรุงศรีอยุธยา และถึงแม้พระองค์จะทรงครองสิริราชสมบัติเมื่ออายุยังน้อย พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวงก็มิได้รังเกียจและยังคงรับสนองพระเดชพระคุณเหมือนเช่นที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นความดีความชอบพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งที่ล่วงลับไปแล้วและยังมีชีวิตอยู่ พระองค์จึงมีจิตคิดบำรุงวงศ์ตระกูลของท่านเหล่านี้ ดังนั้น พระองค์จึงทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 โดยพระราชทานนามว่า "เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า" เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงอิสริยยศและเพื่อระลึกถึงความดีความชอบของท่านผู้ใหญ่ที่ได้รักษาแผ่นดินมาแต่ก่อนและผู้ที่ได้ทำนุบำรุงแผ่นดินในปัจจุบัน

เมื่อแรกสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้านั้นสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่ [1]

ซึ่งจะพระราชทานให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้าเท่านั้น เมื่อปี พ.ศ. 2443 พระองค์มีพระราชดำริเห็นสมควรเพิ่มชั้นพิเศษสำหรับชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้าอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้เป็นเกียรติยศและประโยชน์แก่ผู้รับราชการยิ่งขึ้น เรียกว่า ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ และในปี พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นที่ 3 ขึ้นเป็นพิเศษ เรียกว่าตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เพื่อพระราชทานแก่ข้าราชการฝ่ายหน้าเพิ่มขึ้นอีกชั้น[2]

สำหรับฝ่ายในนั้น พระองค์ทรงสร้างกล่องหมาก และหีบหมากเป็นเครื่องยศสำหรับพระราชทานฝ่ายในทำนองเดียวกันกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า ไม่จำกัดจำนวน แต่ไม่ได้พระราชทานโดยทางสืบสกุล สามารถแบ่งเป็น 3 ชั้น 4 ชนิด มีลักษณะดังนี้[3]

  • ชั้นที่ 1 กล่องปฐมจุลจอมเกล้า เป็นกล่องหมากทำด้วยเงินกาไหล่ทองจำหลักเป็นลายชัยพฤกษ์พื้นลงยาสีขาบ ฝากล่องมีดวงดาราปฐมจุลจอมเกล้าอยู่กลางอยู่กลาง มีขอบนอกเป็นอีกษรว่า "การพระราชพิธีบรมราชภิเษก ปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕" มีตลับข้างใน 4 ใบจัดเป็นครึ่งซีกตามรูปกล่อง
  • ชั้นที่ 2 กล่องทุติยจุลจอมเกล้า มีลักษณะเช่นเดียวกับชั้นที่ 1 แต่กลางฝากล่องเป็นดวงดาราวิเศษของตราทุติยจุลจอมเกล้า และมีตลับด้านในเพิ่มเป็นส่วนพิเศษบ้าง
  • ชั้นที่ 3 ชนิดที่ 1 หีบตติยจุลจอมเกล้า เป็นหีบหมากเงินกาไหล่ทองจำหลักเป็นลายชัยพฤกษ์พื้นลงยาสีขาบ ฝาหีบมีอักษรย่อเช่นเดียวกับชั้นที่ 1 ตรงกลางมีรูปดวงตราตติยจุลจอมเกล้าแต่ตรงพระบรมรูปจำหลักเป็นอักษรพระนาม จจจ (จุฬาลงกรณ์จุลจอมเกล้า)ไขว้กันแทน
  • ชั้นที่ 3 ชนิดที่ 2 เป็นหีบหมากเช่นเดียวกับชั้นที่ 3 แต่เป็นเงินล้วน ไม่ได้ลงยากาไหล่ทอง

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2436 พระองค์พระราชดำริสมควรที่จะทรงสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในขึ้น เพื่อให้สมาชิกผู้ได้รับพระราชทานได้ประดับตนเป็นที่แสดงเกียรติยศเพิ่มขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 4 ชั้น

  1. ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า
  2. ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า
  3. ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า
  4. ชั้นที่ 4 จตุตถจุลจอมเกล้า

และเมื่อปี พ.ศ. 2442 ทรงพระราชดำริให้เพิ่มเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสำหรับฝ่ายในในชั้นที่ 2 ขึ้นอีก 1 ชนิด เรียกว่า ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เพื่อให้มีจำนวนชนิด 5 ชนิด (ในขณะนั้น) เช่นเดียวกับสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า[4]

ประเภท ลำดับชั้นตรา และจำนวน

แก้

กฎหมายได้บัญญัติจำแนกเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทฝ่ายหน้าสำหรับบุรุษ และประเภทฝ่ายในสำหรับสตรี คำว่าฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เรียกตามตำแหน่งที่เคยจัดให้เฝ้าแต่สมัยโบราณ ทั้งยังได้กำหนดจำนวนเครื่องราชฯ ในตระกูลนี้ในแต่ละชั้นตราไว้เป็นการแน่นอน หากชั้นตราใดมีผู้ได้รับพระราชทานเต็มตามจำนวนแล้ว ก็จะไม่พระราชทานชั้นตรานั้นแก่ผู้อื่นอีก ชั้นตราจะว่างก็ต่อเมื่อผู้ได้รับพระราชทานอยู่เดิมสิ้นชีวิตหรือได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นตราสูงขึ้น โดยญาติผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นตราสูงขึ้น ต้องมีหน้าที่ส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นจุลจอมเกล้าที่ได้รับพระราชทานหรือชั้นรองตามกฎหมายแก่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

โดยผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าในแต่ละชั้น จะได้รับพระราชทานเครื่องยศเหมือนขุนนางในสมัยก่อนจึงมีการเปรียบเทียบได้ดังนี้

  • ชั้น ปฐมจุลจอมเกล้า มีบรรดาศักดิ์เสมอ ขุนนางชั้น เจ้าพระยา
  • ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ - ทุติยจุลจอมเกล้า มีบรรดาศักดิ์เสมอ ขุนนางชั้น พระยาพานทอง
  • ชั้น ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ มีบรรดาศักดิ์เสมอ ขุนนางชั้น พระยาโต๊ะทอง
สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า (บุรุษ)
แพรแถบย่อ ชั้น ชื่อ อักษรย่อ ผู้สถาปนา วันสถาปนา จำนวน ลำดับเกียรติ[5]
  ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ ป.จ.ว. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2443 ไม่จำกัดจำนวน ลำดับที่ 4
  ปฐมจุลจอมเกล้า ป.จ. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2416 30 สำรับ ลำดับที่ 6
  ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ท.จ.ว. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2416 200 สำรับ ลำดับที่ 13
  ทุติยจุลจอมเกล้า ท.จ. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2416 250 ดวง ลำดับที่ 18
  ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ต.จ.ว. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2457 250 ดวง ลำดับที่ 21
  ตติยจุลจอมเกล้า ต.จ. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2416 250 ดวง ลำดับที่ 27
  ตติยานุจุลจอมเกล้า ต.อ.จ. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2416 100 ดวง ลำดับที่ 31
สำหรับพระราชทานฝ่ายใน (สตรี)
แพรแถบย่อ ชั้น ชื่อ อักษรย่อ ผู้สถาปนา สถาปนา จำนวน ลำดับเกียรติ[5]
  ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า ป.จ. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2436 20 สำรับ ลำดับที่ 6
  ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ท.จ.ว. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2442 100 ดวง ลำดับที่ 13
  ทุติยจุลจอมเกล้า ท.จ. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2436 100 ดวง ลำดับที่ 18
  ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า ต.จ. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2436 250 ดวง ลำดับที่ 27
  ชั้นที่ 4 จตุตถจุลจอมเกล้า จ.จ. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2436 150 ดวง ลำดับที่ 32

ธรรมเนียมการพระราชทาน

แก้

เมื่อครั้งดั้งเดิม มีพระราชดำริจะพระราชทานแต่เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายขอบเขตการพระราชทานไปยังผู้ทำประโยชน์อื่น ๆ ทั้งในราชการแผ่นดินและในราชการส่วนพระองค์ด้วย เช่น พ่อค้าวาณิช และคู่สมรสของผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง เป็นต้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะพระราชทานในโอกาสพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี

ในการพระราชทานจะพระราชทานชั้นตราเรียงตามลำดับจากชั้นเริ่มต้นไปสู่ชั้นสูงสุดในแต่ละฝ่าย ดังนี้

ฝ่ายหน้า (บุรุษ)

แก้

ทายาทที่รับพระราชทานตราสืบตระกูลจะได้รับตราดังนี้ แล้วแต่กรณี คือ

  1. ตติยานุจุลจอมเกล้า (ต.อ.จ.) (หลานสืบตระกูลปู่)
  2. ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) (บุตรสืบตระกูลบิดา)

สำหรับพระราชทานแก่บุคคลทั่วไป ปกติแล้วจะเริ่มต้นและเรียงไปหาชั้นสูงสุดตามลำดับ ดังนี้

  1. ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.)
  2. ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.)
  3. ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)
  4. ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.)
  5. ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.)

ฝ่ายใน (สตรี)

แก้
  1. จตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.)
  2. ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.)
  3. ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.)
  4. ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)
  5. ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.)

คำนำนามสำหรับสตรี

แก้

การใช้คำนำหน้าสตรีในอดีตนั้นมีการระบุเกี่ยวพันกับบรรดาศักดิ์ของสามีที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงแม้ว่าในปัจจุบันรัฐบาลจะไม่มีนโยบายขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ข้าราชการแล้ว แต่คำนำหน้าสตรีสำหรับผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ก็ยังสมควรได้รับคำยกย่องอยู่ เนื่องจากประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อเป็นการเทิดทูนองค์พระมหากษัตริย์ ดังนั้น จึงสมควรยกย่องสตรีผู้ได้รับเกียรติจากองค์พระมหากษัตริย์ด้วย โดยอนุโลมไม่ต้องยึดถือบรรดาศักดิ์ของสามีเป็นเกณฑ์[6]

สำหรับคำนำหน้าสตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ปฐมจุลจอมเกล้าและทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษให้ใช้คำว่า "ท่านผู้หญิง" [7] ยกเว้น สตรีในราชสกุลตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปให้ใช้คำนำพระนามตามเดิม[8][6]

ส่วนสตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ทุติยจุลจอมเกล้า ตติยจุลจอมเกล้า และจตุตถจุลจอมเกล้าใช้คำนำหน้าว่า "คุณหญิง" [9] ยกเว้นสตรีในราชสกุลตั้งแต่หม่อมหลวงขึ้นไปให้ใช้คำนำนามตามเดิม[8][6]

สตรีที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ฝ่ายใน ไม่ต้องใช้คำนำหน้านามใดๆ ให้ใช้บรรดาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานตามเดิม

การสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้านั้น แตกต่างจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลอื่นตรงที่สามารถมีการสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ โดยถ้าเป็นบุตรสืบตระกูลบิดา จะได้รับพระราชทาน "ตติยจุลจอมเกล้า" แต่ถ้าเป็นหลานสืบตระกูลปู่ จะได้รับพระราชทาน "ตติยานุจุลจอมเกล้า" ลักษณะการสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีดังต่อไปนี้[10]

  • เมื่อบิดาได้รับพระราชทาน "เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ" บุตรชายได้รับสืบตระกูลตั้งแต่บิดายังมีชีวิตอยู่ และให้รับสืบตลอดไป จนหาตัวผู้สืบสายโลหิตเป็นชายมิได้
  • เมื่อบิดาได้รับพระราชทาน "เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า" บุตรชายได้รับสืบตระกูลตั้งแต่บิดายังมีชีวิตอยู่ แต่การสืบตระกูลจะสิ้นสุดลงเพียงชั้นนี้เท่านั้น
  • เมื่อบิดาได้รับพระราชทาน "ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ" หรือ "ทุติยจุลจอมเกล้า" บุตรชายได้รับสืบตระกูลเมื่อบิดาล่วงลับไปแล้ว และจะสิ้นสุดลงเพียงชั้นนี้เท่านั้น

ผู้สืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น จะเป็นบุตรชายคนโตที่มีชีวิตอยู่ในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม หากบุตรชายคนโตไม่สมควรจะได้รับการพระราชทาน บิดาสามารถขอพระราชทานให้บุตรชายคนรองลงมาก็ได้ แต่การสืบตระกูลจะสิ้นสุดลงเพียงชั้นนี้เท่านั้น นอกจากนี้ ถ้าบุตรชายคนโตวิกลจริตหรือเสียชีวิตลงก่อนได้รับพระราชทาน ก็จะพระราชทานแก่หลานซึ่งเป็นบุตรของบุตรชายคนโตก่อน แต่ถ้าไม่มีหลานซึ่งเป็นบุตรของบุตรชายคนโตก่อนแล้ว ก็จะพระราชทานแก่บุตรชายคนต่อไป

พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้
 
พระราชลัญจกรประจำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายหน้า
 
พระราชลัญจกรประจำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายใน

พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายหน้า

แก้

พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า ลักษณะเป็นตรางารูปกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7.2 เซนติเมตร สูง 9.8 เซนติเมตร ลายภายในเป็นรูปสายสร้อยเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เป็นรูปวงกลม ภายในวงกลมเป็นรูปดาราอยู่เบื้องบน เป็นรูปตราจุลจอมเกล้าทั้งด้านหน้าและด้านหลังอยู่เบื้องล่าง ที่วงขอบมีอักษรว่า "คณาธิบดี ของตรา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าสำหรับตระกูล" พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ใช้สำหรับประทับประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า[11] ในปัจจุบัน พระราชลัญจกรนี้พ้นสมัย และเก็บรักษาอยู่ที่กองประกาศิต สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันจะประทับพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์กำกับพระปรมาภิไธยแทน [12]

พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายใน

แก้

พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน ลักษณะเป็นตรางารูปกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7.2 เซนติเมตร สูง 9.6 เซนติเมตร ลายภายในเป็นรูปสายสร้อยเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เป็นรูปวงกลม ภายในวงกลมเป็นรูปดาราอยู่เบื้องบน เป็นรูปตราจุลจอมเกล้าทั้งด้านหน้าและด้านหลังอยู่เบื้องล่าง ที่วงขอบมีอักษรว่า "มหาสวามินี ของตรา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าสำหรับตระกูล" พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ใช้สำหรับประทับประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน[11] ในปัจจุบัน พระราชลัญจกรนี้พ้นสมัย และเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันจะประทับพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์กำกับพระปรมาภิไธยแทน เช่นเดียวกับฝ่ายหน้า [12]

อ้างอิง

แก้
  1. พระราชบัญญัติเครื่องราชอิศริยยศจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูล ปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเพิ่มเติมเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า พระพุทธศักราช ๒๔๕๗, เล่ม ๓๑, ตอน ๐ก, ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๗, หน้า ๓๘๑
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๒ (ฝ่ายใน), เล่ม ๑๐, ตอน ๓๒, ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๑๘๙๓, หน้า ๓๔๖
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้าฝ่ายในเพิ่มเติม รัตนโกสินทร ศก ๑๑๘, ตอน ๑๖, เล่ม ๓๔, ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๑๘๙๙, หน้า ๔๙๗
  5. 5.0 5.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐, ตอน ๒๙ง ฉบับพิเศษ, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๑
  6. 6.0 6.1 6.2 หนังสือเวียนที่กล่าวถึงการใช้คำนำนามสตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2010-01-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สำนักเลขธิการคณะรัฐมนตรี
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศการใช้คำนำหน้านามสตรีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เล่ม ๑๓๙, ตอนพิเศษ ๕๓ง, ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕, หน้า ๑
  8. 8.0 8.1 เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2007-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศการใช้คำนำหน้านามสตรีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เล่ม ๑๓๙, ตอนพิเศษ ๕๓ง, ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕, หน้า ๑
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า พุทธศักราช ๒๔๘๔, เล่ม ๕๘, ตอน ๐ ก, ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔, หน้า ๑๕๕๓
  11. 11.0 11.1 พระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก 130 มาตรา 11
  12. 12.0 12.1 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. พระราชลัญจกร. กรุงเทพ : อมรินทร์พริ้นติ้ง,, พ.ศ. 2538. 200 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-7771-63-2

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้