พระโกศทองใหญ่
พระโกศทองใหญ่ หรือ พระลองทองใหญ่ เป็นพระโกศสำหรับทรงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระศพของพระบรมวงศ์ชั้นสูง สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นับเป็นพระโกศที่มีลำดับยศสูงที่สุด โดยได้ใช้ทรงพระศพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นพระองค์แรก (แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน ระบุว่าพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีสุนทรเทพนั้น ใช้พระโกศไม้สิบสอง และเมื่อเสร็จการพระศพจึงลอกทองที่หุ้มพระโกศไม้สิบสองมาหุ้มทำพระโกศทองใหญ่และทรงพระบรมศพของรัชกาลที่ 1 เป็นพระองค์แรก) พระโกศทองใหญ่ใช้ทรงพระศพของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีเป็นพระองค์ล่าสุด
นอกจากนี้ พระโกศทองใหญ่ยังใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศพระศพสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่บรรจุพระบรมศพและพระศพลงในหีบพระศพแทนการลงพระโกศ เช่น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ประวัติ
แก้พระโกศทองใหญ่สร้างขึ้นเมื่อปีมะโรง จุลศักราช 1170 ตรงกับ พุทธศักราช 2351 โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้รื้อทองที่หุ้มพระโกศกุดั่นมาใช้สำหรับทำพระโกศทองใหญ่เพื่อไว้สำหรับทรงพระบรมศพของพระองค์เอง พระโกศทองใหญ่ทำจากไม้แกะสลัก มีรูปทรงแปดเหลี่ยม หุ้มทองคำตลอดองค์ และมีฝาเป็นยอดมงกุฎ เมื่อการสร้างพระโกศเสร็จสมบูรณ์แล้ว พระองค์โปรดให้นำพระโกศองค์นี้เข้าไปตั้งถวายเพื่อทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ[1]
ในปีเดียวกันนั้นเอง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ลง ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระอาลัยเป็นอันมาก รวมทั้ง พระองค์ทรงใคร่จะทอดพระเนตรพระโกศทองใหญ่เมื่อตั้งพระเบญจาในคราวออกพระเมรุ ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศทองใหญ่ประกอบพระลองในสำหรับบรรจุพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นครั้งแรก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นประเพณีในรัชกาลต่อ ๆ มาที่จะพระราชทานพระโกศทองใหญ่สำหรับทรงพระศพอื่นได้นอกเหนือจากพระบรมศพ[1] แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน ระบุว่าพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีสุนทรเทพนั้น ใช้พระโกศไม้สิบสองทรงพระศพ และเมื่อเสร็จการพระศพจึงลอกทองที่หุ้มพระโกศไม้สิบสองมาหุ้มทำพระโกศทองใหญ่และทรงพระบรมศพของรัชกาลที่ 1 เป็นพระองค์แรก โดยปัจจุบัน นอกจากพระมหากษัตริย์แล้ว พระบรมวงศ์ที่จะได้รับพระราชทานพระโกศทองใหญ่เมื่อสิ้นพระชนม์ ได้แก่ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช สมเด็จพระบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้า ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพิเศษ[2]
นอกจากนี้ ยังมีการพระราชทานเครื่องประดับพระโกศของเจ้านายที่พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระบรมศพหรือพระศพ ลดหลั่นกันไปตามพระอิสริยยศ โดยปกติพระบรมศพนั้นจะพระราชทานดอกไม้เพชร ดอกไม้ไหว เฟื่องและดอกไม้เอวเป็นเครื่องประดับพระโกศ ส่วนพระศพของเจ้าฟ้าที่ไม่ได้สถาปนาเป็นพิเศษ จะเอาดอกไม้เพชรฝาพระโกศกับดอกไม้เอวเพชรออก คงเหลือแต่พุ่มเพชรกับเฟื่องเพชร[3] เป็นต้น ในส่วนการตั้งพระโกศทองใหญ่ที่พระเมรุนั้นให้ตั้งแต่พระเมรุกลางเมืองเท่านั้น ดังนั้น ถ้าหากพระราชทานเพลิงพระศพที่วัดจะพระราชทานพระโกศทองใหญ่เมื่อชักพระศพ[1] รวมทั้ง อาจมีการพระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพเมื่อคราวออกพระเมรุด้วย[4]
ปัจจุบัน พระโกศทองใหญ่มีจำนวนทั้งสิ้น 3 องค์ โดยองค์แรกนั้นสร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ส่วนองค์ที่ 2 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ รองเสนาบดีกระทรวงวังและผู้บัญชาการกรมช่างสิบหมู่สร้างขึ้น เรียกว่า พระโกศทองใหญ่ รัชกาลที่ 5 หรือพระลองทองใหญ่ รัชกาลที่ 5[5] ซึ่งพระโกศทั้ง 2 องค์ข้างต้นนั้น ผ่านการใช้งานจนอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระโกศทองใหญ่องค์ที่ 3 ขึ้น โดยนำมาใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เป็นพระองค์แรก[4]
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
แก้- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าแจ่ม กรมหลวงศรีสุนทรเทพ (ในพระราชพงศาวดารฉบับตัวเขียน ระบุว่าใช้พระโกศไม้สิบสอง)
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
แก้- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
- สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 2
- สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) พระอาจารย์ในรัชกาลที่ 2
- สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
แก้- พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
- สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์
- สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเกศ กรมขุนอิศรานุรักษ์
- สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษณานุคุณ
- สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
- สมเด็จพระศรีสุลาไลย พระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทพพลภักดิ์
- สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แก้- พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สมเด็จพระนางเจ้า โสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ (เมื่อชักพระศพ)
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศร์ (เมื่อชักพระศพ)
- สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระอัครมเหสีพระองค์ที่สองในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะพระราชทานพระโกศทองใหญ่สำหรับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษเทเวศร์ แต่เนื่องจากกรมพระพิทักษเทเวศร์มีพระรูปใหญ่โต จึงทรงพระโกศมณฑปแทน
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แก้ปี | พระนาม | หมายเหตุ |
---|---|---|
2412 | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
2414 | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท | |
2420 | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ | เมื่อชักพระศพ |
2423 | สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2430 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่ และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2430 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2430 | พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2437 | สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร | |
2439 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร | พระราชทานพุ่ม เฟื่องและดอกไม้ไหว แต่งพระโกศ |
2443 | สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่ และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2443 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่ และพระราชทานพุ่ม เฟื่องและดอกไม้ไหว แต่งพระโกศ |
2443 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่ เป็นพระโกศทองน้อยหุ้มทอง และพระราชทานพุ่ม เฟื่องและดอกไม้ไหว แต่งพระโกศ |
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
แก้ปี | พระนาม | หมายเหตุ |
---|---|---|
2453 | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
2456 | พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย |
2456 | พระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่ |
2456 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นน้อย |
2456 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นน้อย |
2459 | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่ |
2459 | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่ |
2463 | สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง | |
2463 | สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2463 | สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2466 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่ และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2466 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2466 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2468 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2468 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่ และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
แก้ปี | พระนาม | หมายเหตุ |
---|---|---|
2468 | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
2469 | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่ |
2471 | สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี | พระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2472 | สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช | |
2472 | สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก | เมื่อชักพระบรมศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2472 | พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2476 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่ และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
แก้ปี | พระนาม | หมายเหตุ |
---|---|---|
2479 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย พระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2480 | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่ |
2484 | สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร |
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
แก้ปี | พระนาม | หมายเหตุ |
---|---|---|
2489 | พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร | |
2490 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ | เมื่อพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 7 วัน พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย พระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2493 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย พระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2495 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย พระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2498 | สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า | |
2501 | สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ | เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย พระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ |
2527 | สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี | |
2538 | สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี | มิได้ทรงพระบรมศพ |
2551 | สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ | มิได้ทรงพระศพ |
2554 | สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี |
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
แก้ปี | พระนาม | หมายเหตุ |
---|---|---|
2559 | พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร | มิได้ทรงพระบรมศพ |
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 กรมพระสมมตอมรพันธ์ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, เรื่องตำนานพระโกษฐ์และหีบศพบันดาศักดิ์, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2468
- ↑ หลักเกณฑ์เทียบเกียรติยศพระราชทานแก่พระศพและศพ เก็บถาวร 2008-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพระราชวัง, เข้าถึงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554
- ↑ จุฑานันท์ บุญทราหาญ, 'พระโกศ' เครื่องประดับพระอิสริยยศ, เดลินิวส์ออนไลน์, วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551
- ↑ 4.0 4.1 4.2 สมาน สุดโต, ตำนานพระโกศและความอลังการพระโกศทองใหญ่องค์ใหม่, หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์, วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551
- ↑ เทวาธิราช ป. มาลากุล, เครื่องราชูปโภคและเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ เก็บถาวร 2016-04-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพระราชวัง, เข้าถึงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554
- ↑ ตำนานพระโกศ (เพิ่มเติมบัญชีรายพระนามที่ทรงพระโกศทองใหญ่)[ลิงก์เสีย], สำนักพระราชวัง, เข้าถึงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554