เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์
เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ (ฝรั่งเศส: Ordre national de la Légion d'honneur, ออกเสียง: [ɔʀdʀ nasjɔnal də la leʒjɔ̃ dɔnœʀ]; อังกฤษ: National Order of the Legion of Honour) เป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของประเทศฝรั่งเศส มอบเพื่อเป็นบำเหน็จความชอบแก่ทหารและพลเรือน นโปเลียน โบนาปาร์ต กงสุลเอกแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2345 มีห้าชั้น ได้แก่ กร็อง-ครัว กร็องตอฟีซีเย กอม็องเดอร์ ออฟีซีเย และเชอวาลีเย ตามอันดับ
เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ เครื่องอิสริยาภรณ์ประจำชาติกองทหารเกียรติยศ | |
---|---|
เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นกร็อง-ครัว (แบบปัจจุบัน) | |
ประเภท | อิสริยาภรณ์ห้าชั้น |
วันสถาปนา | 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2345 |
ประเทศ | ประเทศฝรั่งเศส |
ผู้สมควรได้รับ | ผู้ประกอบความชอบตามที่ คณะกรรมการเครื่อง อิสริยาภรณ์กำหนด |
ผู้สถาปนา | นโปเลียน โบนาปาร์ต |
ประธาน | ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส |
สถิติการมอบ | |
รายแรก | เมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2437 |
ทั้งหมด | กร็อง-ครัว 61 ราย กร็องตอฟีซีเย 321 ราย กอม็องเดอร์ 3,626 ราย ออฟีซีเย 22,401 ราย เชอวาลีเย 87,371 ราย |
ลำดับเกียรติ | |
รองมา | เครื่องอิสริยาภรณ์ลีเบราซียง (ฝรั่งเศส: Libération) |
ปัจจุบัน มีประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเป็นประธาน และรักษาไว้ที่ "ตำหนักเลฌียงดอเนอร์" (ฝรั่งเศส: Palais de la Légion D'honneur) ริมฝั่งซ้ายน้ำแซน ณ กรุงปารีส ทั้งนี้ คำว่า "เลฌียงดอเนอร์" มีความหมายว่า "กองพลเกียรติยศ" และคติพจน์แห่งเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ คือ "เกียรติยศและปิตุภูมิ" (ฝรั่งเศส: Honneur et Patrie; อังกฤษ: Honour and Fatherland)
สมาชิกแห่งอิสริยาภรณ์
แก้ปัจจุบัน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นประธานแห่งเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ และนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธานโดยตำแหน่ง โดยมีรัฐมนตรีคนหนึ่งตามที่ประธานแต่งตั้งเป็นเลขาธิการแห่งเครื่องอิสริยาภรณ์ดังกล่าว
ประธานมีอำนาจแต่งตั้งให้บุคคลเป็นสมาชิกตามชั้นสูงต่ำโดยสมควร และเรียกคืนเครื่องอิสริยาภรณ์ ทั้งนี้ ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี
บุคคลผู้มีสัญชาติฝรั่งเศสอาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกแห่งเครื่องอิสริยาภรณ์นี้ เพื่อเป็นบำเหน็จความชอบในการสนองราชการพลเรือนหรือราชการทหาร เป็นต้นว่า ทหารผ่านศึก ซึ่งปรกติมักเริ่มที่ชั้นเชอวาลีเย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้มีการขยายวงผู้อาจได้รับแต่งตั้งไปถึงผู้มีสัญชาติอื่นแต่ได้มีความชอบเกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศสอย่างถึงขนาดด้วย เป็นต้นว่า เซลีน ดิออน นักร้องชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส ได้รับมอบเชอวาลีเยเลฌียงดอเนอร์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ในฐานะที่ได้สนับสนุนให้ภาษาฝรั่งเศสเป็นที่แพร่หลายยิ่งขึ้นไปในสากล[1] กับทั้งประมุขแห่งรัฐต่างประเทศและคู่สมรส ตลอดจนราชวงศ์ต่างประเทศ ก็อาจได้รับมอบเครื่องอิสริยาภรณ์นี้ตามมารยาทในการเจริญสันถวไมตรี
ทั้งนี้ มีข้อห้ามมิให้แต่งตั้งสมาชิกแห่งรัฐสภาเป็นสมาชิกแห่งเครื่องอิสริยาภรณ์นี้ เว้นแต่กรณีที่ผู้นั้นมีความชอบในราชการสงคราม กับทั้งห้ามมิให้คณะรัฐมนตรีเสนอให้ผู้ช่วยปฏิบัติงานส่วนตนได้รับมอบด้วย
เพื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกในชั้นสูงขึ้น ผู้นั้นต้องมีความดีความชอบใหม่นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกแห่งเครื่องอิสริยาภรณ์ในชั้นปัจจุบันเป็นต้นไป
เมื่อแรกสถาปนาเครื่องอิสริยาภรณ์ มีการจำกัดจำนวนสำหรับแต่ละชั้นไว้ดังต่อไปนี้
- ชั้นสูงสุดกร็อง-ครัวให้มีสมาชิก 75 คน
- ชั้นกร็องตอฟีซีเยให้มีสมาชิก 250 คน
- ชั้นกอม็องเดอร์ให้มีสมาชิก 1,250 คน
- ชั้นออฟีซีเยให้มีสมาชิก 10,000 คน และ
- ชั้นเชอวาลีเยให้มีสมาชิก 113,425 คน
ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา จำนวนดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปดังต่อไปนี้
- ชั้นสูงสุดกร็อง-ครัวให้มี 61 คน
- ชั้นกร็องตอฟีซีเยให้มี 321 คน
- ชั้นกอม็องเดอร์ให้มี 3,626 คน
- ชั้นออฟีซีเยให้มี 22,401 คน และ
- ชั้นเชอวาลีเยให้มี 87,371 คน
ด้วยจำนวนที่มากมายนี้จึงมีเรื่องตลกของประเทศฝรั่งเศสอยู่ว่า ประชาชนกว่าครึ่งประเทศต้องการเป็นสมาชิกเครื่องอิสริยาภรณ์ และกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว
บุคคลผู้ได้รับมอบเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์และได้กระทำความผิดอาญาตามกฎหมายอาจถูกเรียกคืนเครื่องอิสริยาภรณ์ การประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิถือเป็นความผิดอาญา และห้ามมิให้ชาวฝรั่งเศสประดับสายสะพายอิสริยาภรณ์ต่างประเทศซึ่งมีสีแดงเหมือนเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์
ชั้นและเครื่องยศ
แก้เลฌียงดอเนอร์แบ่งเป็นห้าชั้น มีเครื่องยศจากต่ำไปสูงดังต่อไปนี้ :
- เชอวาลีเย (Chevalier) : ดวงตรา แพรแถบกลัดอกแบบไม่มีดุม ตามรูปที่ 1
- ออฟีซีเย (Officier) : ดวงตรา แพรแถบกลัดอกแบบมีดุม ตามรูปที่ 2
- กอม็องเดอร์ (Commandeur) : ดวงตรา แพรแถบสวมคอ ตามรูปที่ 3
- กร็องตอฟีซีเย (Grand Officier) : ดวงตรา แพรแถบกลัดอกแบบมีดุม ดาราเงิน ตามรูปที่ 4
- กร็อง-ครัว (Grand-Croix) : ดวงตรา สายสะพาย ดาราทอง ตามรูปที่ 5 (ในภาพเป็นสำรับบุรุษ)
เครื่องหมายแพรแถบย่อ | ||||
---|---|---|---|---|
เชอวาลีเย (อัศวิน) |
ออฟีซีเย (โยธิน) |
กอม็องเดอร์ (เสนา) |
กร็องตอฟีซีเย (มหาโยธิน) |
กร็อง-ครัว (มหากางเขน) |
สมาชิกเลฌียงดอเนอร์ชาวต่างประเทศที่มีชื่อเสียง
แก้- อิตาลี: วาเลนตีโน การาวานี (Valentino Garavani) นักออกแบบพัสตาภรณ์ ได้รับในเดือนกรกฎาคม 2549
- รัสเซีย: วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดี ได้รับในเดือนกันยายน 2549[2]
- ออสเตรเลีย : พลอากาศเอกแองกัส ฮูสตัน (Angus Houston) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้รับกอม็องเดอร์ใน พ.ศ. 2550
- อินเดีย: อมิตาภ พัจจัน (Amitabh Bachchan) นักแสดง ได้รับออฟีซีเยในเดือนมกราคม 2550 [3]
- สหรัฐ: เดวิด ลินช์ (David Lynch) ผู้กำกับภาพยนตร์ ได้รับเชอวาลีเยในเดือนตุลาคม 2550 [4]
- ฮ่องกง: ศาสตราจารย์ฉูหลี่จื้อ (Lap-Chee Tsui) รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยฮ่องกง ได้รับเชอวาลีเยในเดือนตุลาคม 2550
- ศรีลังกา: มาลิก เปรีส (Malik Peiris) ราชบัณฑิตแห่งสหราชอาณาจักร ได้รับเชอวาลีเยในเดือนตุลาคม 2550
- เกาหลีใต้: อิม คว็อนแต็ก (Im Kwon-taek) ผู้กำกับภาพยนตร์ ได้รับใน พ.ศ. 2550 [5]
- อิสราเอล: ชิมอน เปเรส (Shimon Peres) ประธานาธิบดี ได้รับในเดือนมีนาคม 2551[6]
- ไทย:
- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชั้นกร็อง-ครัว พ.ศ. 2406
- ปรีดี พนมยงค์ ได้รับกร็อง-ครัวใน พ.ศ. 2482
- พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับถวายชั้นกร็อง-ครัว เมื่อพ.ศ. 2503
- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงได้รับถวายกร็องตอฟีซีเย ขณะประชวรและประทับอยู่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550[7] [8]
- ฟ. ฮีแลร์ ชาวฝรั่งเศสที่พัฒนาการศึกษาภาษาไทยในประเทศไทย
- พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และ ประธานองคมนตรี ชั้นกร็อง-ครัว ทรงได้รับ พ.ศ. 2468
- เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ชั้นกร็องตอฟีซีเย รับเมื่อ พ.ศ. 2464
- บอตสวานา: เฟอร์ทัส โมแก (Festus Mogae) ประธานาธิบดี ได้รับในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551[9]
- สหรัฐ: สตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้กำกับภาพยนตร์ ได้รับเชอวาลีเยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551[10]
- แคนาดา: นักร้องเซลีน ดิออน ได้รับเชอวาลีเยจาก นีกอลา ซาร์กอซี ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ณ พระราชวังเอลีเซ (ฝรั่งเศส: Palais de l’Élysée)[1]
นอกจากนั้นมีบุคคลต่างชาติที่ได้รับอิสริยาภรณ์นี้อีก อาทิ คลินท์ อิสต์วู้ด ดาราภาพยนตร์สหรัฐอเมริกา และ พ.ญ. แอนสัน ชาน อธิบดีกรมสาธารณสุขฮ่องกง เป็นต้น
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อCeline1
- ↑ Dailymotion.com. (2006, 13 October). Chirac décore Poutine. [Online]. Available: http://www.dailymotion.com/video/xhvhv_chirac-decore-poutine. (25 May 2008).
- ↑ BBC News. (2006, 12 October). Bollywood star gets French honour. [Online]. Available: http://news.bbc.co.uk/2/hi/entertainment/6044614.stm. (25 May 2008).
- ↑ Global Good News. (2007, October 4). Dr David Lynch awarded highest civilian honour of France, the Legion of Honour, and inspires President Nicolas Sarkozy to bring invincibility to his nation. [Online]. Available: http://www.globalgoodnews.com/world-peace-a.html?art=1191356142257645. (25 May 2008).
- ↑ Lee Hyo-won. (2007, 28 November). France to Award Director Im Kwon-taek. [Online]. Available: http://www.koreatimes.co.kr/www/news/art/2007/12/141_14567.html. (4 December 2007).
- ↑ Ynetnews. (2008, 10 March). Sarkozy tells Peres France is Israel's true friend. [Online]. Available: http://www.ynetnews.com/articles/0,7340,L-3517500,00.html. (25 May 2008).
- ↑ การประดิษฐานพระโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท. (2551, 23 กุมภาพันธ์). เดลินิวส์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.uc.in.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=53315&NewsType=2&Template=1 เก็บถาวร 2009-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (22 พฤษภาคม 2551).
- ↑ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประเทศไทย. (2550, 25 ธันวาคม). พิธีทูลเกล้าฯ ถวายอิสริยาภรณ์ฝรั่งเศสแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.ambafrance-th.org/spip.php?article872 เก็บถาวร 2011-07-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (23 พฤษภาคม 2551).
- ↑ AFP. (2008, 20 March). Sarkozy décore le président du Botswana pour sa bonne gouvernance. [Online]. Available: http://www.jeuneafrique.com/fluxafp/fil_info.asp?reg_id=0&art_cle=43493 เก็บถาวร 2008-04-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (25 May 2008).
- ↑ MSN Celebrity UK. (2008, 21 May). MSN article about Spielberg receiving the honour. [Online]. http://entertainment.uk.msn.com/celebrity/news/Article.aspx?cp-documentid=8350390 เก็บถาวร 2009-02-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (25 May 2008).
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์คณะกรรมการเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ เก็บถาวร 2008-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ฝรั่งเศส)
- บทความเกี่ยวกับเครื่องอิสริยาภรณ์นี้โดยสถานเอกอัครรัฐทูตฝรั่งเศสประจำประเทศแคนาดา เก็บถาวร 2008-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ฝรั่งเศส)