สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[6] หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช[เชิงอรรถ 1] (จีน: 鄭昭; พินอิน: Zhèng Zhāo; แต้จิ๋ว: Dênchao; 17 เมษายน พ.ศ. 2277 – 6 เมษายน พ.ศ. 2325) พระนามเดิม สิน เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธนบุรี และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของอาณาจักรธนบุรี
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี | |||||
---|---|---|---|---|---|
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช | |||||
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา[1] | |||||
ครองราชย์ | 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 – 6 เมษายน พ.ศ. 2325 (14 ปี 151 วัน) | ||||
ราชาภิเษก | 28 ธันวาคม พ.ศ. 2311 กรุงธนบุรี อาณาจักรธนบุรี | ||||
ก่อนหน้า | สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (อาณาจักรอยุธยา) | ||||
ถัดไป | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (อาณาจักรรัตนโกสินทร์) | ||||
พระมหาอุปราช | สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ | ||||
สมุหกลาโหม | พระยามหาเสนา | ||||
สมุหนายก | |||||
พระราชสมภพ | 17 เมษายน พ.ศ. 2277[2][3] กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา | ||||
สวรรคต | 6 เมษายน พ.ศ. 2325 (48 พรรษา) พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี อาณาจักรธนบุรี | ||||
ฝังพระบรมศพ | วัดอินทารามวรวิหาร | ||||
พระมเหสี | กรมหลวงบาทบริจา กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ | ||||
พระราชบุตร | 30 พระองค์ | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ธนบุรี | ||||
พระราชบิดา | หยง แซ่แต้ (鄭鏞)[5] | ||||
พระราชมารดา | กรมพระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง) | ||||
ช่วงเวลา | |||||
เหตุการณ์สำคัญ |
|
เดิมพระองค์เป็นนายทหารในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ต่อมา พ.ศ. 2310 เกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์ได้เป็นผู้นำขับไล่ทหารพม่าที่ยึดครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ในเวลานั้น และได้ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาอีกเจ็ดเดือนถัดมา[1] โดยพระองค์ย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงธนบุรี และรวบรวมแผ่นดินซึ่งมีขุนศึกก๊กต่าง ๆ ปกครองให้กลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เช่นเดียวกับการขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังทรงฟื้นฟูราชอาณาจักรในด้านต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทั้งส่งเสริมกิจการด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา ภายหลังรัฐบาลไทยประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" และยังทรงได้รับสมัญญานามมหาราช
พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เมื่อพระชนมพรรษา 48 พรรษา หลังถูกสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งเป็นพระสหายสำเร็จโทษ และสืบราชสมบัติต่อเป็นต้นราชวงศ์จักรีในปัจจุบัน รวมเวลาครองราชย์ 15 ปี พระองค์มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 30 พระองค์[9] พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์ของชาติไทยที่ประชาชนรู้จักดีและเป็นที่เคารพสักการะมากที่สุดพระองค์หนึ่ง นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชานุสรณ์ของพระองค์มีประดิษฐานมากที่สุด
พระราชประวัติ
พระราชสมภพและปฐมวัย
ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีชาวจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งนามว่า หยง แซ่แต้ (鄭鏞)[5] (นิธิ เอียวศรีวงศ์อธิบายว่า ไหฮอง หรือ ไฮ้ฮง หรือ ไห่เฟิง (海豐) เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแต้จิ๋ว มิใช่ชื่อของพระราชบิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)[5] เป็นผู้อพยพมาจากเมืองเฉิงไห่ ซัวเถา[10] ครั้นเมื่อถึงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 มีบุตรชายคนหนึ่ง ได้ชื่อว่า สิน (信) เกิดแต่นาง นกเอี้ยง ซึ่งเป็นชาวไทย ต่อมาได้รับเฉลิมพระนามเป็นกรมพระเทพามาตย์[11] สำหรับถิ่นกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นน่าจะเกิดในแถบภาคกลางมากกว่าเมืองตาก ซึ่งมักว่ากันว่าอยู่ในกรุงศรีอยุธยา[12]
จากหลักฐานที่อาลักษณ์ของจีนจดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารวงเช็ง แผ่นดินจักรพรรดิเฉียนหลง กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ไว้ว่า "บิดาเจิ้งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ไปทำมาค้าขายอยู่ที่เสียมล่อก๊ก [暹羅國; ประเทศไทย] และเกิดเจิ้งเจา [鄭昭; สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี; สำเนียงปักกิ่ง] ที่นั่น เมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่ เป็นผู้มีความสามารถ ได้เข้ารับราชการอยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่า ฯ แล้ว ราษฎรทั่วประเทศยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ..." [13]
สำหรับการศึกษาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะทรงเคยบวชเรียนมาระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ทรงสามารถแต่งกลอนบทละครและอุดหนุนการเก็บรวบรวมคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาในภาษาไทยและภาษาบาลีครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว[14] ส่วน อภินิหารบรรพบุรุษ ระบุว่า เด็กชายสินได้เล่าเรียนหนังสือในวัดโกษาวาส สำนักของพระอาจารย์ทองดี อีกทั้งยังได้อุปสมบท และยังศึกษาภาษาต่างประเทศเป็นจำนวนมากในระหว่างเป็นมหาดเล็ก[15] เพียงแต่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าพระองค์ตรัสได้ 4 ภาษา คือ ภาษาไทย จีน ญวน และภาษาลาว[14]
เชื้อสายจีน
เนื่องจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว จึงได้รับความเคารพบูชาอย่างยิ่งโดยเฉพาะจากคนไทยเชื้อสายจีน มีการเรียกพระนามตามภาษาจีนแต้จิ๋วว่า แต่อ่วงกง (鄭王公) หมายถึง กษัตริย์ชาวแต้จิ๋วที่ได้รับการเคารพบูชา[16] (แซ่แต้ของพระองค์พ้องกับคำว่าแต้จิ๋ว 潮州)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานข้อมูลแก่นายแพทย์มัลคอล์ม สมิธว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีชื่อเรียกขานกันในหมู่ชาวจีนว่า เตียซินตัด หรือ เตียซินตาด (爹信達) แปลว่า พ่อสินเจ้าเมืองตาก และยังมีชื่อที่ปรากฏว่า เจิ้งกั๋วอิง (鄭國英) แปลว่า วีรบุรุษของประเทศนามเจิ้ง ตามหลักฐานจีน ก่อนเสด็จรับราชการเคยทรงประกอบอาชีพค้าขายต่อจากพระราชบิดา และยังมีหลักฐานที่ส่อว่าเคยทรงเป็นพ่อค้าเกวียน มีรับสั่งได้คล่องแคล่ว ทั้งจีนแต้จิ๋ว จีนกวางตุ้ง และจีนฮกเกี้ยน[17]
อย่างไรก็ตาม ต้วนลี่เซิงได้พบสุสานบรรจุฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ตำบลหัวฟู่ อำเภอเฉิงไห่ จังหวัดแต้จิ๋ว (เฉาโจว) อยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน รวมทั้งศาลประจำตระกูลซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2464 มีข้อสันนิษฐานน่าจะเป็นผู้สืบราชสกุลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีส่งไปฝังแทนพระบรมศพตามธรรมเนียมจีน สิ่งนี้อาจเป็นหลักฐานว่า สายวงศ์พระราชบิดาอยู่ที่ตำบลนั้นซึ่งเป็นถิ่นที่แห้งแล้งทำให้อพยพมาอยู่พระนครศรีอยุธยา[18]
อาชีพค้าขาย
นิธิ เอียวศรีวงศ์อธิบายว่า พระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีน่าจะประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก มิใช่นายอากรบ่อนเบี้ย เป็นคำอธิบายที่ว่าเหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงประมูลอากรสืบต่ออาชีพจากบิดา จึงน่าจะเป็นพ่อค้าเกวียนมากกว่า[19] ทั้งนี้ พระองค์และพรรคพวกเป็นกลุ่มพ่อค้าเร่ร่อนในแถบหัวเมืองเหนือ[20] การเป็นพ่อค้าดังกล่าวทำให้พระองค์มีชาวจีนเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก และมีความเชี่ยวชาญในภูมิอากาศและภูมิประเทศแถบหัวเมืองเหนือ และทำให้ทรงมีความสามารถด้านการรบอีกทางหนึ่ง[21] การค้าขายดังกล่าวจึงเป็นโอกาสให้พระองค์สามารถเป็นเจ้าเมืองตากได้ ซึ่งตรงกับตามความประสงค์ที่จะเป็นเจ้าเมืองของพระองค์ด้วยเช่นกัน[22]
ข้าราชการในสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ
สำหรับการรับราชการเป็นเจ้าเมืองตากนั้น พระราชพงศาวดารฉบับหนึ่งกล่าวทำนองว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงวิ่งเต้นให้ได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองตากโดยติดต่อผ่านทางมหาดเล็กถึงพระยาจักรี สมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงทราบว่าเจ้าเมืองตากคนก่อนป่วยเสียชีวิต จึงให้พระยาจักรีหาผู้มีสติปัญญาพอจะรับตำแหน่งแทน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้เป็นเจ้าเมืองตาก[23] ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวินิจฉัยว่า พระองค์ทรงเคยเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากก่อนทรงได้รับการเลื่อนตำแหน่ง[24] เมื่อ พ.ศ. 2307 เกิดเหตุการณ์พม่ายกกองทัพมายึดหัวเมืองแถบภาคใต้ของไทยปัจจุบันโดยมีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ ปรากฏว่าพม่ายึดได้โดยง่าย จึงยึดเรื่อยมาจนถึงเมืองเพชรบุรี ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทัพซึ่งมีพระยาโกษาธิบดีกับพระยาตากเป็นแม่ทัพไปรักษาเมืองเพชรบุรีไว้ จนกองทัพพม่าแตกถอยไปทางด่านสิงขร[25]
ต่อมา พ.ศ. 2308 พม่ายกกองทัพผ่านเมืองตากอีกครั้ง พระยาตากมีความเห็นว่าสู้ไม่ไหวจึงส่งกองกำลังมาช่วยรักษากรุงศรีอยุธยาไว้[26] และยังปรากฏในพงศาวดารว่า พระยาตากมีความชอบนำทหาร 500 นายมาช่วยป้องกันพระนคร จึงได้รับพระราชทานของบำเหน็จความดีความชอบ[27] ในระหว่างการปิดล้อมนั้นก็ได้ปรากฏฝีมือเป็นนายทัพเข้มแข็ง ปฏิบัติงานตามคำสั่งของราชการ ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ[28]
สร้างกลุ่มชุมนุม
ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่านั้น หัวเมืองฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ และตะวันตกล้วนถูกควบคุมอย่างเข้มงวด การทำมาหากิน การทำไร่ทำนา ทรัพย์สิน วัวควายถูกยึดไว้หมด[29] จนกลางดึกของคืนวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2309 ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกประมาณ 3 เดือน กองทัพพม่ายิงถล่มกรุงศรีอยุธยาอย่างหนัก เกิดเพลิงลุกไหม้ทั่วพระนคร บ้านเรือน วัด และวัง ได้รับความเสียหายโดยเฉพาะบ้านเรือนของราษฎรเกิดเพลิงไหม้กว่า 10,000 หลัง[30] พระยาพิพัทธโกษา ปลัดทูลฉลองกรมพระคลังเขียนจดหมายถึงสภาบริหารสูงสุด (Supreme Government) ของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (VOC) ที่เมืองปัตตาเวีย ลงวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2312 กล่าวว่า พระเจ้าตากเสด็จไปยังเมืองจันทบูรตามพระราชโองการของพระเจ้าเอกทัศน์ ไม่ได้เสด็จ “หนี” ออกจากกรุง[31] กลางวันของวันที่ 3 มกราคมนั้นพระยาตากรวบรวมไพร่พลจำนวน 1,000 นาย[เชิงอรรถ 2] เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยามาก่อน กองกำลังพระยาตากเริ่มออกเดินทางจากวัดพิชัยมาถึงบ้านหารตราเมื่อเวลาค่ำ โดยมีกองทัพพม่าไล่ติดตามมาแล้วต่อรบกันจนพม่าพ่ายกลับไป ก่อนเดินทางมาถึงบ้านข่าวเม่า บ้านสัมบัณฑิต ตอนเวลาเที่ยงคืน[32] ต่อมา เช้าวันที่ 4 มกราคม กองกำลังพระยาตากเดินทางมุ่งหน้าไปทางบ้านโพธิ์สังหาร (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) พม่าส่งกองทัพไล่ติดตามมาอีกจึงได้สู้รบกันจนพม่าพ่ายกลับไป มาถึงบ้านพรานนกช่วงเวลาเย็น คราวนี้พม่าส่งไพร่พลมาแก้มือถึง 2,000 นาย ฝ่ายพระยาตากจึงทรงม้ากับทหารอีก 4 ม้าออกรับศึก สามารถตีพม่าแตกพ่ายกลับไปอีกครั้ง เหล่าทหารม้าจึงถือเอาวันที่ 4 มกราคมเป็นวันทหารม้าของไทย[33]
วันที่ 3 ของการเดินทัพ กองกำลังพระยาตากเดินทัพมาสุดเขตพระนครศรีอยุธยาก่อนที่จะเข้าเมืองนครนายก ขุนชำนาญไพรสนฑ์กับนายกองช้างเข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อพระยาตาก ทั้งยังถวายช้างพลาย 5 ช้าง ช้างพัง 1 ช้าง แล้วอาสานำทางต่อไปยังบ้านกง (หรือบ้านดง) เมืองนครนายก เมื่อถึงบ้านกง ข้าราชการ ขุนหมื่นพันทนายท้องถิ่นไม่ยอมสวามิภักดิ์ แม้จะได้เจรจาเกลี้ยกล่อม 3 ครั้งก็ไม่สำเร็จ รุ่งขึ้นกองกำลังพระยาตากจึงปะทะกับไพร่พลชาวบ้านกงซึ่งมีกำลังมากกว่า 1,000 นาย แต่กองกำลังพระยาตากเป็นฝ่ายชนะและสามารถยึดช้างได้เพิ่มอีก 7 ช้าง เงินทอง และเสบียงอาหารอีกมาก ต่อมาวันที่ 8 มกราคม (วันที่ 6) เดินทัพมาถึงตำบลหนองไม้ชุ้มแล้วหยุดพัก 2 วันก่อนเดินทัพต่อไปถึงบ้านนาเริ่ง แขวงเมืองนครนายกแล้วหยุดพักอีก 1 คืน ต่อมาพระยาตากนำไพร่พลข้ามแม่น้ำที่ด่านกบแจะ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี) แล้วหยุดพักรี้พล ก่อนเดินทัพต่อไปยังทุ่งศรีมหาโพธิ์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี) และต้องหยุดรอนายทหาร 3 นาย คือ พระเชียงเงิน ขุนพิพิธวาที และสมเด็จพระรามราชาที่ตามกองกำลังพระยาตากมาไม่ทัน ระหว่างที่ทรงรอกลุ่มพระเชียงเงินอยู่นั้นเกิดปะทะกับทัพบกและทัพเรือของพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่ปากแม้น้ำโจ้โล้ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา) ประชุมพงศวดารบันทึกไว้ว่า "พม่าไล่แทงฟันคนซึ่งเหนื่อยล้าอยู่นั้นวิ่งหนีมาตามทาง ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็น จึงให้นายบุญมีขึ้นม้าใช้สวนทางลงไปประมาณ 200 เส้น พบกองทัพพม่ายกขึ้นมาแต่ปากน้ำโจ้โล้ทั้งทัพบกทัพเรือ"[34] พระยาตากจึงสั่งให้ตั้งแนวรับ ขุดหลุมเพลาะ วางปืนตับ และเรียงหน้ากระดาน จนพม่าเข้ามาใกล้ราว 240 เมตรจึงเริ่มเปิดฉากยิงขึ้น ทหารพม่าทั้ง 4 แนวแตกพ่ายไป "จึงขับพลทหารโห่ร้องตีฆ้องสำทับไล่ติดตามฆ่าพม่าเสียเป็นอันมาก แล้วก็เดินทัพมาทางบ้านหัวทองหลางสะพานทอง"[35] จากแนวปะทะและการติดตามฆ่าพม่ามาทางปากน้ำโจ้โล้นี้เอง ทำให้เปลี่ยนเส้นทางการเดินทัพตามชายป่าดงมาเป็นชายทะเลเข้าเขตเมืองชลบุรี "จึงให้ยกพลนิกายมาประทับตามลำดับ บ้านทองหลาง ตะพานทอง บางปลาสร้อย ถึงบ้านนาเกลือ" (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดชลบุรี)[34]
ที่บ้านนาเกลือ มีนายกลม (หรือนายกล่ำ) นายชุมนุมที่บ้านนาเกลือได้รวบรวมไพร่พลคิดสกัดต่อรบกับกองกำลังพระยาตาก แต่เพียงแสดงแสนยานุภาพ "เสด็จทรงช้างพระที่นั่งสรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธทรงพระแสงปืนต้นรางแดงกับหมู่พลโยธาหาญ" นายกลมก็ถึงกับวางอาวุธ ยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี แล้วอาสานำไปพัทยา นาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ ชายทะเล บ้านหินโขง และบ้านน้ำเก่า แขวงเมืองระยอง โดยพักทัพคืนละแห่งตามลำดับ[36] ระหว่างเส้นทางที่ผ่านไปนั้นได้ปะทะกับกองกำลังของพม่าหลายครั้ง แต่ก็สามารถตีฝ่าไปได้ทุกครั้ง และสามารถรวบรวมไพร่พลตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้น หลังจากพระยาตากยึดเมืองระยองได้ ขณะพักอยู่บริเวณวัดลุ่มมหาชัยชุมพล[37] อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ข่าวแพร่กระจายออกไป พระยาตากจึงได้ประกาศพระองค์ขึ้นเป็น "เจ้า" ภายหลังจากเดินทัพออกจากวัดพิชัยได้ 23 วัน[38] พระองค์มีพระราชปณิธานโดยพระราชพงศวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกว่า[39]
พระยากำแพงเพชรจึงปรึกษากับนายทหารและรี้พลทั้งปวงว่า กรุงเทพมหานครคงจะเสียแก่พม่าเป็นแท้ ตัวเราคิดจะซ่องสุมประชาราษฎรในแขวงเมืองหัวเมืองตะวันออกทั้งปวงให้ได้มากแล้ว จะยกกลับเข้าไปกู้กรุงให้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจักทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎรซึ่งอนาถาหาที่พำนักบ่มิได้ ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข และจะยอยกพระบวรพุทธศาสนาให้โชตนาการไพบูลย์ขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้น ให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย
การประกาศตั้งตัวขึ้นในครั้งนี้มีศักดิ์เทียบเท่าพระบรมวงศานุวงศ์ อย่างไรก็ตาม อาจพิจารณาจากแนวคิดทางการเมืองได้เช่นกันว่า พระเจ้าตากประกาศตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินนับตั้งแต่ยกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว[40] พระเจ้าตากมุ่งยึดเมืองจันทบุรีซึ่งก่อนเข้าตีเมืองได้มีรับสั่งให้ทหารทุกคนทำลายหม้อข้าวให้หมด โดยมีเป้าหมายให้ไปกินข้าวในเมืองจันทบุรี แต่ถ้าตีเมืองไม่สำเร็จก็ให้อดตายกันทั้งหมดที่นี่[41]
กองทัพพระเจ้าตากสามารถตีได้เมืองจันทบุรีได้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310 หลังจากนั้นจึงยกกองทัพลงไปยังเมืองตราด ทรงใช้เวลาในการเดินทัพ 7 วัน 7 คืนก็มีผู้คนสมัครใจเข้ามาร่วมด้วยกับพระองค์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมืองจันทบุรีและเมืองตราดยังไม่ถูกทหารพม่ายึดครอง[42] และขณะนั้นมีเรือสำเภาจีนจอดอยู่ที่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำ พระเจ้าตากมีรับสั่งให้นายเรือพวกนั้นมาเฝ้า แต่กลับขัดขืนและระดมยิงปืนใส่ พระเจ้าตากทรงทราบก็ให้นำเรือที่คุมเรือรบไปล้อมเรือสำเภาจีนไว้ แล้วบังคับให้พวกคนจีนสมัครเข้ามาเป็นพรรคพวก แต่พวกคนจีนไม่ฟังกลับระดมยิงปืนใส่กองทัพพระเจ้าตาก รบกันอยู่ครึ่งวันกองทัพพระเจ้าตากสามารถยึดเรือสำเภาจีนได้ทั้งหมด ได้ทรัพย์สินจำนวนมาก เมื่อพระเจ้าตากสามารถจัดการเมืองตราดเสร็จแล้วจึงยกทัพกลับเมืองจันทบุรี
พระเจ้าตากทรงรวบรวมกำลังพลจนมีจำนวน 5,000 นายแล้วยกกองทัพเรือออกจากเมืองจันทบุรี ล่องมาตามฝั่งทะเลในอ่าวไทย จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อสู้จนยึดเมืองธนบุรีคืนจากพม่าได้ และจับนายทองอิน เจ้าเมืองธนบุรีซึ่งพม่าแต่งตั้งให้นั้นประหารชีวิต[43][44] ต่อจากนั้นได้ยกกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้นจนสามารถขับไล่ทหารพม่าออกจากอาณาจักรได้และสามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากการยึดครองได้เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 13.00 น. โดยใช้เวลาเพียง 7 เดือนหลังจากเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา[45]
ปราบดาภิเษก
ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์และการเมืองเป็นสำคัญ[46] ทำให้เจ้าตากมา "ยับยั้ง" อยู่ ณ เมืองธนบุรี ซึ่งมีลักษณะเป็นราชธานีไม่ถาวร[47] ก่อนหน้านั้น เมืองธนบุรีถูกทิ้งร้าง มีต้นไม้ขึ้นและซากศพทิ้งอย่างเกลื่อนกลาด ทำให้ต้องมีการเกณฑ์แรงงานจัดการพื้นที่ขึ้นมาใหม่[48] เจ้าตากยังมีรับสั่งให้คนไปอัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยตอนปลายอยุธยาจากเมืองลพบุรีมายังเมืองธนบุรี และได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศตามโบราณราชประเพณี[49][50]
หลังจากที่อพยพผู้คนและทรัพย์สินลงมาทางใต้และตั้งราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี เรียกนามว่า "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" แต่เอกสารราชการสมัยกรุงธนบุรียังคงเรียกนามเมืองหลวงตามเดิมว่า "กรุงพระมหานครศรีอยุธยา" เจ้าตากทรงปราบดาภิเษกขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ตามแบบพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า จดหมายเหตุโหรระบุว่าเป็นวันอังคาร แรมสี่ค่ำ จุลศักราช 1129 ซึ่งตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2311[เชิงอรรถ 3] เมื่อพระชนพรรษา 34 พรรษา ความสำเร็จดังกล่าวทำให้มีผู้ที่คิดรื้อฟื้นราชอาณาจักรอยุธยาขึ้นมาใหม่มาเข้าด้วยกับชุมนุมของพระองค์เป็นจำนวนมาก ทำให้สถานะการเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์เด่นชัดยิ่งขึ้น[51] อีกทั้งพระองค์ยังทรงเริ่มประกอบพระราชกรณียกิจตามแบบอย่างพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเพื่อแสดงถึงสิทธิธรรม[51] การเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานียังถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายจากสงครามกับพม่าด้วย[52]
หลังจากทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังกรุงธนบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2310 ซึ่งเป็นพระราชวังหลวงที่ใช้เป็นสถานที่ประทับและว่าราชการ พร้อมกับปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ ตำแหน่งของพระราชวังนี้เป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ สามารถสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล อีกทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือ[53]
หลังการเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2311 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉินเหม่ยเซิน พ่อค้าเดินเรือจีน นำพระราชสาสน์ไปถวายต่อจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชสำนักชิง ใจความสำคัญว่าด้วยพระราชประสงค์ฟื้นฟูสัมพันธไมตรี การค้าขายกับจีน และขอพระราชทานตราตั้งเพื่อรับรองสถานภาพพระมหากษัตริย์ แต่ราชสำนักชิงปฏิเสธในปีแรกเพราะมองว่าพระองค์มิใช่ผู้สืบราชสันตติวงศ์เจ้านายกรุงเก่า และเจ้านายกรุงเก่ายังมีพระชนม์ชีพอยู่ คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ (พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) เสด็จไปก่อตั้งชุมนุมเจ้าพิมาย ส่วนเจ้าจุ้ย (พระโอรสในเจ้าฟ้าอภัยและพระราชนัดดาในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9) และเจ้าศรีสังข์ (พระโอรสในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์และพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) เสด็จลี้ภัยสงครามไปอยู่กับพระยาราชาเศรษฐี ญวน (ม่อซื่อหลิน) ที่เมืองพุทไธมาศ อีกทั้งในระยะนั้นจีนได้รับรายงานที่ไม่เป็นความจริงจากม่อซื่อหลิน ทำให้เอกสารราชสำนักชิงจึงไม่เรียกขานพระนามอย่างพระมหากษัตริย์ แต่เรียกขานเพียง กันเอินซื่อ (เจ้าเมืองตาก) เท่านั้น[54]
ปราบชุมนุม
จากผลของการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ทำให้อาณาจักรอยุธยาไม่อาจกลับมาตั้งใหม่เป็นอาณาจักรของคนไทยได้อีก ทั้งยังเกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจและความปลอดภัยในชีวิตตามมา ซึ่งนิธิ เอียวศรีวงศ์อธิบายว่า มีการรวมกลุ่มของประชาชนขึ้นด้วยวัตถุประสงค์แตกต่างกัน แต่สำคัญคือเพื่อเอาชีวิตรอด นอกจากนี้กลุ่มการเมืองหรือ "ชุมนุม" ขนาดใหญ่ ๆ นั้นยังแตกออกเป็น 4-6 ชุมนุมใหญ่ แต่ไม่มีก๊กใดเลยที่คิดจะกอบกู้เอกราชหรือฟื้นฟูชาติกลับคืนมาดังเดิม
เมื่อพระเจ้ามังระทราบข่าวว่ามีคนไทยตั้งตนเป็นใหญ่อีกครั้ง จึงได้มีพระราชโองการให้เจ้าเมืองทวายยกทัพมาปราบปราม กองทัพพม่ายกมาถึงอำเภอบางกุ้งซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงธนบุรี พระราชพงศาวดารบันทึกว่ามีกองกำลัง 2,000 คน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จนำกองทัพออกตีพม่าจนแตกพ่าย กิตติศัพท์ที่ทรงรบชนะทำให้พระราชอำนาจทางการเมืองในภาคกลางยิ่งเข้มแข็งยิ่งขึ้น[55]
พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเริ่มจากยกทัพไปตีชุมนุมพิษณุโลกเป็นชุมนุมแรก แต่พระองค์ต้องกระสุนปืนจึงต้องยกทัพกลับและรักษาพระองค์ยังพระนคร ชุมนุมพิษณุโลกนี้ภายหลังอ่อนแอลงจนกระทั่งถูกชุมนุมเจ้าพระฝางผนวกไป หลังหายจากพระอาการประชวรแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงใช้เวลาปราบปรามชุมนุมอื่น ๆ เพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นต่อไป โดยเริ่มจากชุมนุมเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธทรงถูกปราบปรามและสำเร็จโทษเมื่อ พ.ศ. 2311[56] ตามด้วยชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ซึ่งพระปลัดผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราชได้ตั้งตัวเองขึ้นเป็นเจ้า[57] เจ้านครศรีธรรมราชสู้ไม่ได้หนีต่อลงไปยังหัวเมืองทางใต้ พระยาปัตตานีกลัวก็จับตัวมาส่งให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อ พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพไปตีชุมนุมเจ้าพระฝางในหัวเมืองฝ่ายเหนือ สามารถยึดได้เมืองพิษณุโลกและชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี รบกันได้เพียง 3 วัน เจ้าพระฝางก็แตกหนี เมื่อทรงปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ ลงอย่างราบคาบ และทรงปราบกองทัพของม่อซื่อหลินที่เมืองพุทไธมาศสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2314 รัฐบาลจีนเริ่มยอมรับสถานะพระมหากษัตริย์ของพระองค์อย่างเป็นทางการ[58] โดยทางราชสำนักชิงเห็นว่ากรุงธนบุรีภายใต้การปกครองของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นปึกแผ่น พระบรมวงศานุวงศ์ครั้งกรุงเก่าหมดหนทางกลับมาสืบราชสันตติวงศ์ อีกทั้งมีนโยบายจับกุมเชลยศึกที่หลบหนีเข้ามาไทยส่งกลับไปให้รัฐบาลจีนเป็นระยะๆ จักรพรรดิเฉียนหลงจึงทรงเปลี่ยนท่าทีต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งแต่ พ.ศ. 2315 เป็นต้นมา เอกสารราชการของราชสำนักชิงเปลี่ยนการเรียกขานพระนามจาก กันเอินซื่อ หรือ พระยาสิน เป็น เจิ้งเจา (กษัตริย์เจิ้ง)[54]
สงครามกับเขมร
เมื่อปี พ.ศ. 2312 เจ้านายเขมรได้เกิดวิวาทกัน กล่าวคือ นักองตนไปขอกองทัพญวนมาตีเขมร และนักองนนท์สู้มิได้ก็พาครอบครัวหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ณ กรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์กับพระยาอนุชิตราชา (ทองด้วง) ยกทัพไปตีเขมรได้เมืองเสียมราฐแล้วพักรอฤดูฝนอยู่ พอดีได้ข่าวว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราชแล้วสิ้นพระชนม์ลง การตีเขมรครั้งนั้นจึงยังไม่สำเร็จ
เมื่อชุมนุมเจ้าพระฝางถูกตีแตก อภัยคามณี โป่มะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ที่พม่าตั้ง เห็นสบโอกาสแผ่อาณาเขต จึงยกทัพลงมาล้อมสวรรคโลกไว้เมื่อ พ.ศ. 2313 แม่ทัพกรุงธนบุรีรักษาเมืองไว้มั่นคง ครั้นกองทัพกรุงธนบุรีที่ยกมาช่วยเหลือ พอถึงก็เข้าตีกระหนาบพ่ายกลับไป ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นสบโอกาสก็ยกทัพขึ้นไปจะตีเอาเมืองเชียงใหม่บ้าง แต่ล้อมได้เพียง 9 วันก็ต้องยกกองทัพถอยกลับลงมา
ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่นั้น ฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์ราชา พระเจ้ากรุงกัมพูชา ฉวยโอกาสยกทัพมาตีเมืองตราดและจันทบุรี แต่ถูกตีแตกกลับไป พอสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบก็ขัดเคือง หลังจากพักรี้พลพอสมควรแล้วก็ทรงเตรียมทัพไปตีกัมพูชา สามารถบุกไปถึงกรุงพุทไธมาศ (ราชธานีกรุงกัมพูชาในช่วงเวลานั้น) สมเด็จพระนารายณ์ราชาเห็นว่าสู้ไม่ได้ก็หนีไปพึ่งญวน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งให้พระรามราชาเป็นพระมหากษัตริย์กัมพูชาต่อไป แล้วเลิกทัพกลับเมื่อ พ.ศ. 2314 แต่ต่อมาญวนเกิดกบฏไตเซิน สมเด็จพระนารายณ์ราชาขาดกำลังสนับสนุน ก็กลับมาสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ก็ทรงให้เป็นมหาอุปโยราช มีฐานะรองจากพระรามราชา
นักองตนซึ่งครองเขมรอยู่ได้ข่าวพม่ายกมาตีไทยเมื่อ พ.ศ. 2314 จึงถือโอกาสยกทัพมาตีเมืองจันทบุรีและตราด สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปตีเขมร กองทัพไทยตีได้เมืองโพธิสัตว์ พระตะบอง บริบูรณ์ กำพงโสม และเมืองพุทไธมาศ นักองตนพ่ายแพ้หนีไปอยู่กับญวน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักองนนท์ครองเขมรสืบไป
หลังจากกองทัพไทยกลับจากเขมรเมื่อ พ.ศ. 2323 แล้ว นักองตนก็ยกทัพมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองพุทไธมาศ ส่วนนักองนนท์เกรงกลัวญวนจึงคงตั้งมั่นอยู่ที่เมืองกำปอด ต่อมาองไกเซนเป็นกบฏยึดญวนไว้ได้ นักองตนสิ้นที่พึ่ง จึงขอประนีประนอมยอมให้นักองนนท์ครองกรุงกัมพูชา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระรามราชา (นักองนนท์) เป็นเจ้ากรุงกัมพูชา พระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองตน) เป็นมหาอุปโยราช และนักองธรรมเป็นมหาอุปราช ต่อมานักองธรรมถูกลอบสังหารและนักองตนก็เป็นโรคจนเสียชีวิต เป็นที่สงสัยว่าถูกวางยาพิษ ฟ้าทะละหะเข้าใจว่าพระรามราชาแกล้งฆ่าคนทั้งสอง จึงพร้อมด้วยข้าราชการรวมกันจับพระรามราชาถ่วงน้ำเสีย แล้วยกนักองเองราชบุตรขึ้นเป็นเจ้ากรุงกัมพูชา มีฟ้าทะละหะเป็นผู้สำเร็จราชการ ต่อมาฟ้าทะละหะได้เอาใจออกห่างไทยไปฝักใฝ่ญวน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ กรมขุนอินทรพิทักษ์ ยกทัพไปตีเขมร ตีได้หลายหัวเมืองแล้ว พอจะตีเข้าเมืองหลวงก็พอดีเกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรีจำเป็นต้องยกทัพกลับ[49]
สงครามกับพม่า
ใน พ.ศ. 2314 นั้นเกิดเหตุวิวาทในหมู่เจ้าเมืองแคว้นกรุงศรีสัตนาคนหุต ฝ่ายหนึ่งสู้ไม่ได้ก็ขอกำลังพม่ามาช่วย พอปราบปรามสำเร็จแล้ว แม่ทัพพม่าก็ยกทัพมาตั้งที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อกองทัพยกผ่านเมืองน่านก็แบ่งกำลังให้นายทัพหน้าตีเมืองบางส่วนของธนบุรี ลึกเข้าไปถึงเมืองพิชัยเมื่อปลาย พ.ศ. 2315 เจ้าเมืองพิชัยป้องกันเมืองไว้มั่นคงแล้วก็ขอกำลังพิษณุโลกไปช่วย พอมาถึงก็ออกตีกระหนาบ กองทัพพม่าเป็นฝ่ายแตกกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2316 ได้เกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกัน และพม่ายกเข้ามาตีเมืองพิชัยอีกครั้งหนึ่ง แม่ทัพกรุงธนบุรีตั้งซุ่มสกัดข้าศึกตรงบริเวณชัยภูมิ พอมาถึงก็ตีทัพพม่าแตกกลับไป
พม่ากับมอญเกิดรบกัน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ยกทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้ง ได้พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละเข้ามาสวามิภักดิ์ เมื่อยกไปถึงเชียงใหม่แล้วก็ตั้งค่ายล้อมไว้ เมื่อทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งเดิมตั้งคอยรับชาวมอญที่เมืองตากมาถึงเชียงใหม่แล้ว กองทัพธนบุรีก็ระดมตีค่ายพม่าเสร็จสิ้นเมื่อ พ.ศ. 2317 จนโปมะยุง่วนต้องทิ้งเมืองหนี ทำให้เมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่านและเมืองแพร่ปลอดจากพม่าตั้งนั้บแต่นั้น หลังจากทำสัญญาสันติภาพกับจีนในปีเดียวกันนั้นแล้ว พระเจ้ามังระก็ทรงส่งทหารมาอีก 5,000 นาย แต่ถูกล้อมที่เมืองบางแก้ว ราชบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำริให้ตั้งล้อมไว้เฉย ๆ ไม่ให้เข้าตี และรอจนพม่าเป็นฝ่ายอดอาหารยอมจำนนเอง หลังจากล้อมอยู่นาน 47 วัน พม่าก็ยอมจำนน โดยพระองค์ทรงหวังว่าจะเป็นการปลุกขวัญคนไทยให้หายกลัวพม่า
พ.ศ. 2318 แม่ทัพอะแซหวุ่นกี้ของพม่ายกทัพมาตีหัวเมืองเหนือ เป็นสงครามอะแซหวุ่นกี้ที่มีขนาดใหญ่มาก อะแซหวุ่นกี้เป็นผู้เชี่ยวชาญศึก ส่วนฝ่ายไทยนั้นมีเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) ในการครั้งนี้พม่ายกพลมา 30,000 คนเข้าล้อมเมืองพิษณุโลกอีก 5,000 คนล้อมเมืองสุโขทัย ส่วนเมืองพิษณุโลกมีพลประมาณ 10,000 คน สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกทัพไปช่วย ต่อมาอะแซหวุ่นกี้ยกทัพกลับไปเอง เนื่องจากพระเจ้ามังระสวรรคต กองทัพพม่าส่วนที่ตามไปไม่ทันจึงถูกจับ[49]
พ.ศ. 2319 พระเจ้าจิงกูจาโปรดให้เกณฑ์ทัพพม่า 6,000 คนยกมาตีเชียงใหม่ พระยาวิเชียรปราการพิจารณาเห็นว่านครเชียงใหม่ไม่มีพลมากมายพอป้องกันเมืองได้ จึงให้ประชาชนพลเรือนอพยพลงมาอยู่ที่เมืองสวรรคโลก สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรสีห์คุมกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปสมทบกองกำลังพระยากาวิละ เจ้าเมืองนครลำปาง ยกไปตีเมืองเชียงใหม่คืนสำเร็จ และทรงให้นครเชียงใหม่เป็นเมืองร้างถึง 15 ปี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้ฟื้นฟูใหม่[49]
สงครามกับลาว
ในขณะที่ไทยติดศึกพม่าที่เมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. 2319 นั้น มีเหตุเกิดขึ้นทางนครราชสีมา คือ เจ้าเมืองนางรอง (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์) ซึ่งเป็นเมืองขึ้นต่อนครราชสีมา มีข้อพิพาทกับพระยานครราชสีมา แล้วเอาเมืองไปขึ้นต่อเจ้าโอ เมืองนครจำปาศักดิ์ซึ่งตั้งตนเป็นอิสระอยู่ พระยานครราชสีมามีใบ้บอกเข้ามายังกรุงธนบุรี ต่อมาเดือนมีนาคมปีเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปปราบ เมื่อปราบได้ให้ประหารเจ้าเมืองนางรองเสีย เจ้าพระยาจักรีปราบได้สำเร็จ พอปราบเสร็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบว่าเจ้าโอกับเจ้าอินอุปราช เมืองนครจำปาศักดิ์เตรียมพล 10,000 นายจะมาตีนครราชสีมา สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์คุมทัพไปสมทบอีก 1 ทัพและให้ปราบจำปาศักดิ์เสีย ทัพไทยตีจำปาศักดิ์แตกและจับตัวเจ้าโอกับเจ้าอินได้ที่เมืองสีทันดร และยังตีได้เมืองอัตตะปือด้วยพร้อมกันนั้น เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ออกเกลี้ยกล่อมเมืองเขมรป่าดง ระหว่างจำปาศักดิ์กับนครราชสีมาเป็นพวกได้อีก 3 เมือง คือ สุรินทร์ สังขะ และขุขันธ์ ทั้ง 3 เมืองยอมเข้าเป็นเขตเมืองไทย เสร็จศึกครั้งนี้เจ้าพระยาจักรีได้เลื่อนเป็น "สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ" มีเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม[49]
พระวอ เสนาบดีแห่งเมืองเวียงจันทน์ ก่อกบฏเมื่อ พ.ศ. 2321 แต่สู้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตไม่ได้ ก็พาสมัครพรรคพวกหนีมาอยู่ที่ตำบลดอนมดแดง (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี) และขอขึ้นต่อไทย ต่อมาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตยกทัพมาตีตำบลดอนมดแดงและสังหารพระวอ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงขัดเคืองมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพ พร้อมด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปตีเวียงจันทน์กองทัพไทยได้แสดงความสามารถตีเมืองเวียงจันทน์ได้ และหัวเมืองลาวทั้งหลายได้พากันมาขึ้นต่อไทย ในการนี้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางลงมายังกรุงธนบุรีด้วย การศึกสงครามดังกล่าวนี้ส่งผลให้ราชอาณาจักรไทยเป็นเอกราชและมีความมั่นคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น อาณาเขตของประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรี มีดังนี้ ทิศเหนือตลอดอาณาจักรล้านนาเดิม ทิศใต้ได้ดินแดนตรังกานูและไทรบุรี ทิศตะวันออกได้ดินแดนกัมพูชาจรดอาณาเขตญวนใต้ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือตลอดเวียงจันทน์ หัวเมืองพาน และหลวงพระบาง หัวพันห้าทั้งหก ทิศตะวันออกเฉียงใต้ตลอดเมืองพุทไธมาศ จรดมะริดและตะนาวศรี ทิศตะวันตกจรดดินแดนเมาะตะมะ ได้เมืองมะริดและตะนาวศรี ออกมหาสมุทรอินเดีย[59]
ด้านการปกครอง
หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตก กฎหมายบ้านเมืองกระจัดกระจายสูญหายไปมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการสืบเสาะ ค้นหามารวบรวมไว้ได้ประมาณ 1 ใน 10 และโปรดฯ ให้ชำระกฎหมายเหล่านั้น ฉบับใดยังเหมาะแก่กาลสมัยก็โปรดฯ ให้คงไว้ ฉบับใดไม่เหมาะก็โปรดให้แก้ไขเพิ่มเติมก็มี ยกเลิกไปก็มี ตราขึ้นใหม่ก็มี และเป็นการแก้ไขเพื่อราษฎรได้รับผลประโยชน์มากขึ้น เช่น โปรดฯ ให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการพนันให้อำนาจการตัดสินลงโทษขึ้นแก่ศาลแทนนายตราสิทธิ์ขาด และยังห้ามนายตรานายบ่อนออกเงินทดลองให้ผู้เล่น เกาะกุมผูกมัดจำจองเร่งรัดผู้เล่น กฎหมายพิกัดภาษีอากรก็เกือบไม่มี เพราะผลประโยชน์แผ่นดินได้จากการค้าสำเภามากพอแล้ว กฎหมายว่าด้วยการจุกช่องล้อมวงก็ยังไม่ตราขึ้น เปิดโอกาสให้ราษฎรได้เฝ้าแหนตามรายทาง โดยไม่มีพนักงานตำรวจแม่นปืนคอยยิงราษฎร ซึ่งแม้แต่ชาวต่างประเทศก็ยังชื่นชมในพระราชอัธยาศัยนี้ เช่น มองเซนเยอร์ เลอบอง ได้บรรยายไว้ในจดหมายถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศว่า[60]
บรรดาคนทั้งหลายเรียกพระเจ้าตากว่าพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระเจ้าตากเองว่าเป็นแต่เพียงผู้รักษากรุงเท่านั้น พระเจ้าตากหาได้ทรงประพฤติเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินก่อน ๆ ไม่ และในธรรมเนียมของพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายทิศตะวันออกที่ไม่เสด็จออกให้ราษฎรเห็นพระองค์ด้วยกลัวจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศนั้น พระเจ้าตากไม่ทรงเห็นชอบด้วยเลย พระเจ้าตากทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าคนธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงเกรงว่าถ้าเสด็จออกให้ราษฎรพลเมืองเห็นพระองค์ และถ้าจะมีรับสั่งด้วยแล้วจะทำให้เสียพระราชอำนาจลงแต่อย่างใด เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรการทั้งปวงด้วยพระเนตรของพระองค์เอง และจะทรงฟังการทั้งหลายด้วยพระกรรณของพระองค์เองทั้งสิ้น
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปกครองบ้านเมืองคล้ายคลึงกับพระบรมราโชบายของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ แบบพ่อปกครองลูก ไม่ถือพระองค์ มักปรากฏพระวรกายให้พสกนิกรเห็น และมักถามสารทุกข์สุขดิบของพสกนิกรทั่วไป ทรงหาวิธีให้ไพร่บ้านพลเมืองได้ทำมาหากินโดยปกติสุข ใครดีก็ยกย่องสรรเสริญ ผู้ใดทำไม่พอพระทัย ก็ดุด่าว่ากล่าวดังพ่อสอนลูก อาจารย์สอนศิษย์ ซึ่งสมกับโคลงยอพระเกียรติของนายสวนมหาดเล็กที่ว่า[61]
พระเดียวบุญลาภเลี้ยง | ประชากร | |
เป็นบิตุรมาดร | ทั่วหล้า | |
เป็นเจ้าและครูสอน | สั่งโลก | |
เป็นสุขทุขถ้วนหน้า | นิกรทั้งชายหญิง |
กฎหมายที่ใช้ในสมัยกรุงธนบุรีนั้นเป็นกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้กรมวังหรือกระทรวงวังเป็นผู้รับผิดชอบการพิจารณาว่าคดีใดควรขึ้นศาลใด แล้วส่งคดีไปยังศาลกรมนั้น ๆ โดยได้แบ่งงานศาลออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ[62] ฝ่ายรับฟ้อง มีหน้าที่ในการเขียนคำฟ้องและพิจารณารูปคดีว่าควรจะฟ้องหรือไม่ ก่อนจะส่งขึ้นศาลเพื่อพิจารณาเรื่องปรับไหมและลงโทษผู้กระทำผิด และฝ่ายตรวจสำนวนและพิพากษา เดิมเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแขนงต่าง ๆ จำนวน 12 คน โดยเรียกว่า "ลูกขุน ณ ศาลหลวง" ต่อมาได้มีคนไทยที่เชี่ยวชาญกฎหมายเข้ามาทำหน้าที่นี้ด้วย คณะลูกขุน ณ ศาลหลวงนี้ไม่มีอำนาจในการปรับหรือลงโทษ
อย่างไรก็ตาม ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระองค์จะทรงใช้ศาลทหารเป็นส่วนใหญ่ โดยในการตัดสินคดีทุกครั้ง แม้พระองค์จะตัดสินให้ลงโทษสูงสุดแล้ว แต่ก็จะมีรับสั่งให้ทยอยการลงโทษจากขั้นต่ำสุดก่อน ซึ่งหลายครั้งจะปรากฏว่านักโทษที่มีความผิดร้ายแรงก็มักจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษหนัก โดยให้ไปกระทำการอย่างอื่นเป็นการไถ่โทษแทน[62]
พระองค์ออกพระราชกำหนดสักเลก พ.ศ. 2316 เพื่อสะดวกในการควบคุมกำลังคน การขยายอำนาจเข้าไปในดินแดนที่เคยเป็นประเทศราชของไทยในลาวและเขมรเพื่อทำให้ประเทศเข้มแข็งมั่นคง และการเตรียมการให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ไปปกครองเขมรในฐานะเมืองประเทศราช [63] แต่ได้เกิดจลาจลในกรุงธนบุรีเสียก่อนจึงไม่สำเร็จ ส่วนหัวเมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นทางผ่านของทัพพม่าก็โปรดให้แม่ทัพนายกองที่มีความสามารถไปปกครอง เช่น เจ้าพระยาสุรสีห์ไปครองเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาพิชัยราชาไปครองเมืองสวรรคโลก
ด้านเศรษฐกิจ
สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองมีผลกระทบให้เกิดทุพภิกขภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย[64] นอกจากนี้เศรษฐกิจยังเสียหายอย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากการปล้นสะดม และเมืองท่าที่สำคัญตกเป็นของพม่าอย่างเด็ดขาดถึงสองเมือง ได้แก่ มะริดและตะนาวศรี และยังเสียปืนใหญ่และปืนคาบศิลารวมหลายหมื่นกระบอกด้วย[65]
เพื่อหาทรัพย์มาใช้จ่าย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกเลิกประเพณีงดเก็บส่วยอากร 3 ปีเมื่อเข้ารัชกาลใหม่ อันเป็นประเพณีซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[66] ทรงแจกจ่ายข้าวของเงินทองอันได้มาสี่ครั้ง ได้แก่ เมื่อครั้งตีค่ายชาวบ้านกง ครั้งตีเมืองจันทบุรี ครั้งปล้นเรือสำเภาพ่อค้าจีนที่ตราด และครั้งตีเมืองนครศรีธรรมราช สามารถช่วยราษฎรได้หลายหมื่นคน[66] บรรดาข้าราชการทหารพลเรือนได้รับแจกข้าวสารหนึ่งถังกิน 20 วัน และโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อข้าวสารบรรทุกมาขายจากพุทไธมาศ ถังละ 3–5 บาท เมื่อราษฎรทั้งหลายทราบก็ได้อพยพจากบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ เข้ามายังกรุงธนบุรีเป็นจำนวนมาก[52] ต่อมาทรงให้ข้าราชการทั้งหลายทำนาปรังทุกแห่งทุกตำบล ราคาข้าวเริ่มปรับตัวลดลงเมื่อ พ.ศ. 2311 ต่อมาราคาข้าวได้ปรับสูงขึ้นอีกครั้งเมื่อปลาย พ.ศ. 2312 เนื่องจากมีหนูระบาด[67] เมื่อหนูหายไปแล้ว ราคาข้าวก็กลับลดลงอีก
พระองค์ทรงวางแผนเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวในกรุงธนบุรีเมื่อ พ.ศ. 2314 โดยทรงให้ปรับพื้นที่สวนป่านอกกำแพงพระนครให้เสมอกันไว้ทำนา ครั้นบ้านเมืองสงบก็ทรงให้แม่ทัพคุมกองทัพมาทำนา ซึ่งทำให้กรุงธนบุรีกลายสภาพเป็นแหล่งทำนาแห่งใหม่ และได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดของประเทศไทย[67] พระองค์ยังทรงทำนุบำรุงการค้าขายทางเรืออย่างเต็มที่ ทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปหลายสาย ทางตะวันออกถึงจีน ทางตะวันตกถึงอนุทวีปอินเดีย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังทรงส่งเสริมการนำสินค้าพื้นเมืองไปขาย ทั้งทรงพยายามผูกไมตรีกับจีนเพื่อประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงของชาติและประโยชน์ในด้านการค้า[68][69][70]
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกระตุ้นให้ชาวจีนเข้ามาตั้งรกร้างในธนบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเมืองแต้จิ๋ว[71] ซึ่งบางส่วนมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซา[72] ทรงพยายามเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน พ.ศ. 2313 ขณะที่จีนกำลังทำสงครามกับพม่าที่ยูนนาน ชาวพม่าหนีเข้ามาพึ่งสยามทางภาคเหนือของไทย ถึงแม้ว่าในเวลานั้นราชสำนักชิงยังไม่ได้รับรองรัฐบาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ก็ได้ติดต่อสยามให้จับกุมข้าศึกเหล่านั้นส่งไปให้จีนด้วย พอดีกับที่ทรงกรีธาทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ จึงได้จับเชลยชายหญิงส่งไปถวายจักรพรรดิเฉียนหลง 12 คน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2314 จักรพรรดิเฉียนหลงมีรับสั่งให้เปลี่ยนวิเทโศบายต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงส่งคนจีนหยุนหนานที่หลบหนีไปต่างประเทศทางทะเลและเชลยศึกพม่าไปให้จีนเป็นระยะๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2315 เป็นต้นมา ราชสำนักชิงได้รับรองสถานภาพพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2315[54]
รัฐบาลจีนโดยราชสำนักชิงแสดงมิตรไมตรีต่อรัฐบาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วยการอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้ขายยุทธปัจจัยได้ ซึ่งกฎหมายของราชสำนักชิงห้ามไม่ให้ค้าขายสินค้าเหล่านี้ การซื้อขายดังกล่าวเกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ทรงส่งเฉินว่านเซิ่ง พ่อค้าชาวจีนไปซื้อกำมะถันจำนวน 50 หาบและกระทะเหล็กจำนวน 500 ใบ เมื่อ พ.ศ. 2318 และครั้งที่ 2 ทรงส่งโม่กว่างอี้ พ่อค้าชาวจีนอีกคนหนึ่งไปซื้อกำมะถันอีก 100 หาบ เมื่อ พ.ศ. 2320 จักรพรรดิเฉียนหลงมีพระราชกระแสรับสั่งต่อข้าหลวงใหญ่มณฑลกวางตุ้งและกวางสีว่า หากรัฐบาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะซื้อดินประสิวหรือสินค้าจำเป็นอื่นๆ เพิ่มเติมก็ให้จัดหาให้ตามพระราชประสงค์[54] ต่อมาปี พ.ศ. 2324 ทรงแต่งคณะราชทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายแด่จักรพรรดิเฉียนหลงเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนอย่างเป็นทางการ คณะราชทูตที่เดินทางไปเมืองปักกิ่งประกอบด้วย พระยาสุนทรอภัย ราชทูต หลวงพิไชยเสน่หา อุปทูต หลวงพจนาพิมล ตรีทูต ขุนพจนาพิจิตร ท่องสื่อ และหมื่นพิพิธวาจา ปันสื่อ พระนามพระเจ้าตากสินในพระราชสาสน์ใช้ว่า "สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา" และเรียกจักรพรรดิเฉียนหลงว่า "สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้ง" จักรพรรรดิเฉียนหลงทรงต้อนรับคณะราชทูตไทยเป็นอย่างดี พระราชทานเลี้ยงโต๊ะที่พระตำหนักซัมเกาสุ่นฉาง[73]
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริว่า การมีเส้นทางคมนาคมที่ดีเป็นประโยชน์ในทางค้าขายมากกว่า ดังนั้น ในฤดูหนาวหากว่างจากศึกสงคราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนและขุดคลอง จะเห็นได้จากแนวถนนเก่า ๆ ในเขตธนบุรีซึ่งมีอยู่หลายสาย ส่วนการขุดชำระคลองมักมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ เช่น คลองท่าขาม จากนครศรีธรรมราชไปออกทะเล เป็นต้น[74]
ด้านสังคม ศาสนา และการศึกษา
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบสังฆมณฑลทันทีหลังตั้งกรุง ครั้งที่ยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมื่อทรงเห็นว่าพระสงฆ์ทางฝ่ายหัวเมืองเหนือมัวหมอง ก็ได้อาราธนาพระราชาคณะจากในกรุงไปสั่งสอน ทำให้พระสงฆ์กลับบริสุทธิ์และเป็นปกติสุขขึ้น[75] นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นในการสืบเสาะค้นหาต้นฉบับพระไตรปิฎกภาษาบาลีที่ยังเหลืออยู่หลังจากเสียกรุง เพื่อนำมาคัดลอกจำลองไว้สำหรับการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงต่อไป ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อคราวที่เสด็จไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชเมื่อ พ.ศ. 2312 ได้มีรับสั่งให้ขอยืมคัมภีร์พระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราชบรรทุกเรือเข้ามาคัดลอกในกรุงธนบุรี และในปีถัดมาในคราวที่เสด็จฯ ไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองอุตรดิตถ์ได้โปรดเกล้าฯ ให้นำพระไตรปิฎกลงมาด้วย ต้นฉบับที่ได้จากเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยต่อมา[75]
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายว่าด้วยวัตรปฏิบัติในทางธรรมวินัยของพระสงฆ์ พ.ศ. 2316 โดยถือเป็นต้นฉบับกฎหมายพระสงฆ์ฉบับแรกของไทย[76] และทรงนำแนวคิดทางพระพุทธศาสนามาใช้เป็นหลักในการจัดระเบียบสังคมในสมัยนั้นด้วย[77]
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เช่น วัดอินทารามวรวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร วัดราชคฤห์วรวิหาร วัดเสาธงหิน เป็นต้น[75]
ภายหลังจากรบชนะที่เมืองเวียงจันทน์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระบางกลับมายังกรุงธนบุรี โดยให้จัดเรือกระบวนพยุหยาตราชลมารคจำนวน 246 ลำ และเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับด้วยพระองค์เอง แล้วโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม[49][75]
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้บำรุงการศึกษาตามวัดต่าง ๆ และยังโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหอหนังสือขึ้นเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา ซึ่งคงเทียบได้กับหอพระสมุดในระยะหลัง นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯให้แสวงหาและรวบรวมตำราต่างๆ ที่กระจัดกระจายไปเมื่อคราวกรุงแตกไว้ที่พระอารามหลวงหรือหามาจำลองไว้เป็นแบบฉบับเพื่อใช้ศึกษาเล่าเรียน[78]
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินให้สร้างโบสถ์วัดซางตาครู้ส[79]
ด้านศิลปกรรม
ภายหลังจากที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชเมื่อปี พ.ศ. 2312 ทรงนำตัวละครผู้หญิงของเจ้านครศรีธรรมราชเข้ามาเป็นครูฝึกหัดร่วมกับพวกละครที่ทรงรวบรวมได้จากที่อื่น แล้วจัดตั้งเป็นละครหลวงของกรุงธนบุรี โดยยึดแบบฉบับการฝึกละครของกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อให้คณะละครหลวงได้นำไปฝึกหัดออกแสดงด้วย[80] ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่เพื่อสร้างบรรยากาศให้รื่นเริงครึกครื้นเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนทั่วไปเปิดการฝึกสอนและออกโรงเล่นได้อิสระ เครื่องแต่งกายไม่ว่าจะเป็นเครื่องต้น เครื่องทรงก็แต่งกันได้ตามลักษณะเรื่อง ส่งผลให้ศิลปะการละครของไทยซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองมากตอนปลายอยุธยากลับฟื้นตัวขึ้นใหม่
โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "สมุดภาพไตรภูมิ" ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2319 ซึ่งนับได้ว่าเป็นสมุดภาพไตรภูมิขนาดใหญ่เล่มหนึ่งของไทย เมื่อคลี่ออกจะมีความยาวถึง 34.72 เมตร เขียนด้วยสีลงในสมุดทั้ง 2 ด้าน โดยฝีมือช่างเขียน 4 คน ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ[81] และอีกฉบับเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งได้ซื้อไปจากประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2436[82]
มีพระราชดำริว่าช่างไทยสมัยธนบุรีมีเหลืออยู่น้อยมากจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมและฟื้นฟูการช่างสิบหมู่ขึ้นใหม่ แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัด บ้านเมืองอยู่ในระหว่างสงคราม สิ่งของที่เป็นฝีมือช่างชั้นดีประณีตงดงามในสมัยกรุงธนบุรีจึงหาได้ยาก แต่ที่มีให้เห็นอยู่บ้าง ได้แก่ พระแท่นบรรทมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ประดิษฐานอยู่ที่วัดอินทาราม พระแท่นสำหรับทรงเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารเล็กหน้าพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ตู้ลายรดน้ำที่มีศักราชแจ้งชัดว่าสร้างในสมัยกรุงธนบุรี อยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ ภายในหอสมุดแห่งชาติ และท้องพระโรงพระราชวังเดิม ซึ่งเคยเป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการ ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ[83]
ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 1 ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช 1132 ตรงกับปี พ.ศ. 2313 เป็นปีที่ 3 ในรัชกาลของพระองค์ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ 4 เล่มสมุดไทย คือ เล่ม 1 ตอน พระมงกุฎ เล่ม 2 ตอน หนุมานเกี้ยววารินจนท้าวมาลีวราชมา เล่ม 3 ตอน ท้าวมาลีวราชพิพากษา และเล่ม 4 ตอน ทศกรรฐ์ตั้งพิธีทรายกรด พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัสตร์ จนผูกผมทศกรรฐ์กับนางมณโฑ[80]
สวรรคต
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2325 ขณะนั้นกรุงธนบุรีมีอายุได้ 15 ปี พระยาสรรค์กับพวกได้ก่อกบฏ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งขณะนั้นไปทำศึกกับเขมรจึงกลับมายังกรุงธนบุรี เห็นว่าความไม่สงบของบ้านเมืองเกิดจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระสติวิปลาส จึงให้นำไปสำเร็จโทษด้วยการตัดพระเศียร[84] ณ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ แล้วฝังพระบรมศพที่วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทารามวรวิหาร) เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325[2] เสด็จสวรรคตขณะมีพระชนมพรรษาได้ 48 พรรษา สิริรวมครองราชย์ได้ 15 ปี และถือเป็นจุดสิ้นสุดของกรุงธนบุรี จากนั้นจึงได้สืบสวนความผิดของผู้ก่อกบฏ แล้วตัดสินให้นำพระยาสรรค์กับพวกไปประหารชีวิตในเวลาต่อมา[85]
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากแนวคิดดังกล่าวแล้ว ยังมีแนวคิดอื่น เช่น ที่เสนอว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงถูกสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทำรัฐประหาร และแนวคิดที่ว่าพระองค์ทรงสละราชบัลลังก์และลาผนวชไปยังนครศรีธรรมราช เป็นต้น[86]
พระราชสันตติวงศ์
พระบรมราชานุสรณ์
รัฐบาลไทยประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรียังมีมติให้ถวายพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"[87] นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้บันทึกไว้ว่า พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์ของชาติไทยที่ประชาชนรู้จักดีที่สุด และมีศาลเทพารักษ์และพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายแด่พระองค์มากกว่าอดีตพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใด[88]
รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมทั้งเหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้พร้อมใจกันสร้างพระราชอนุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี คณบดีคณะประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรขณะนั้น เป็นผู้ออกแบบ ทางราชการได้ประกอบพระราชพิธีเปิดและถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2497 และต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2497 จึงมีรัฐพิธีเปิดเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ถวายราชสักการะ ต่อมาทางราชการกำหนดให้วันที่ 28 ธันวาคม เป็นวันถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเช่นกัน[89] อนุสาวรีย์ดังกล่าวเป็นพระบรมรูปกำพระแสงดาบในพระหัตถ์ขวา วัดความสูงจากตีนม้าทรงถึงยอดพระมาลาได้ประมาณ 9 เมตร ตั้งอยู่บนฐานคอนกรีตเสริมขนาด 8.90 × 1.80 × 3.90 เมตร
ธนาคารแห่งประเทศไทยออกธนบัตรชุดที่ 12 เรียก ธนบัตรชุดมหาราช โดยพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในสวนสาธารณะทุ่งนาเชย จังหวัดจันทบุรี ปรากฏอยู่หลังธนบัตรมูลค่า 20 บาทที่ออกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524[90]
สกุล ณ นคร สืบเชื้อสายชายสายตรงจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[91]
สุสานบรรจุฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งอยู่ในอำเภอเฉิงไห่ มณฑลกวางตุ้งในประเทศจีนใน พ.ศ. 2464 เชื่อกันว่าผู้สืบเชื้อสายของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีส่งฉลองพระองค์นี้ให้ไปฝังตามธรรมเนียมจีน ซึ่งสนับสนุนการอ้างว่าที่แห่งนี้เป็นบ้านเกิดของพระบรมราชชนก[92]
นอกจากนี้ กองทัพเรือยังตั้งชื่อเรือหลวง ตากสิน ซึ่งเป็นรุ่นดัดแปลงของเรือฟริเกตไทป์ 53 ที่ผลิตในจีน เป็นการถวายพระเกียรติ และยังได้รับการถวายพระราชสมัญญานามเป็นพระบิดาแห่งทหารม้าไทย[93]
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
มีนักแสดงผู้รับบท สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้แก่
- สถาพร มุกดาประกร จากภาพยนตร์เรื่อง ทหารเสือพระเจ้าตาก (2498)
- กำธร สุวรรณปิยะศิริ จากละครเรื่อง ทหารเสือพระเจ้าตาก (2527)
- ชินมิษ บุนนาค จากละครเรื่อง ฟ้าใหม่ (2547)
- ฉัตรชัย เปล่งพานิช จากละครเรื่อง ตากสินมหาราช (2550)
- ศรราม เทพพิทักษ์ จากละครเรื่อง ศรีอโยธยา (2560)
- อธิชาติ ชุมนานนท์ จากละครเรื่อง หนึ่งด้าวฟ้าเดียว (2561)
- สุรวุฑ ไหมกัน จากละครเรื่อง สายโลหิต (2561)
- วันชนะ สวัสดี จากละครซีรีส์ ศรีอโยธยา ภาค 2 (2562)
เชิงอรรถ
- ↑ พระนามอื่นมีดังนี้
- เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ ทรงใช้พระนามว่า "พระศรีสรรเพชร สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราช รามาธิบดี บรมจักรพรรดิศร บวรราชาบดินทร์ หริหรินทร์ธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์ คุณรุจิตร ฤทธิราเมศวร บรมธรรมิกราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศร์ โลกเชษฏวิสุทธิ์ มกุฏประเทศคตา มหาพุทธังกูร บรมนาถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกนพรัฐ ราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน"[7]
- พระราชพงศาวดาร กรุงศรีสัตนาคนหุต เรียกว่า พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศร สมเด็จพระเอกาทศรุทอิศวร และ สมเด็จพระเอกาทศรถ[8]
- พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เรียกว่า พระบรมหน่อพุทธางกูรเจ้า[8]
- จดหมายเหตุกรุงธนบุรีในสมุดไทยดำ ชื่อพระราชสาสน์และศุภักษรโต้ตอบกรุงธนบุรีและกรุงศรีสัตนาคนหุตจุลศักราช 1140 ใช้ พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทอิศวรบรมนาถบรมบพิตร และ สมเด็จพระมหาเอกาทุศรุทอิศวรบรมนารถบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว[8]
- ตอนปลายรัชกาล พระรัตนมุนี ได้ถวายพระนามใหม่ว่า สมเด็จพระสยามยอดโยคาวจร[8]
- พระราชพงศาวดาร ฉบับราชหัตถเลขา เรียกว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4[8]
- ↑ จำนวนทหารที่หนีออกจากกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับพระยาวชิรปราการนี้ เอกสารกล่าวไว้ไม่ตรงกัน พระราชพงศวดารฉบับพะราชหัตถเลขา, ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และฉบับบริติชมิวเซียม กล่าวตรงกันว่า 1,000 นาย, จดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีว่ามี 500 นาย
- ↑ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาธิไธยว่า "พระศรีสรรเพชร สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราชรามาธิบดี บรมจักรพรรดิศร บวรราชาบดินทร์ หริหรินทร์ธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์ คุณรุจิตร ฤทธิราเมศวร บรมธรรมิกราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศร์ โลกเชษฏวิสุทธิ์ มกุฏประเทศคตา มหาพุทธังกูร บรมนาถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกนพรัฐ ราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน"[51]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 จรรยา ประชิตโรมรัน. (2548). สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 55
- ↑ 2.0 2.1 มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. หน้า 183-186. ISBN 978-616-7308-25-8[ลิงก์เสีย]
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 61.
- ↑ ศาสนสถานที่สำคัญในสมัยธนบุรี, มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กองบัญชาการกองทัพเรือ
- ↑ 5.0 5.1 5.2 นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 63.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายนามแลพระนาม ผู้ที่ทำลับแลไฟ ทรงพระราชอุทิศในพระเจ้าแผ่นดิน ในพระราชกุศลบรรจบรอบเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ ๒๕ ปี, เล่ม ๑๐ ตอนที่ ๓๐ หน้า ๓๑๙, ๒๒ ตุลาคม ๑๑๒
- ↑ บทที่ 8 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ปราบดาภิเษก ณ กรุงธนบุรี, หน้า 13.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, หน้า 40-41.
- ↑ ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. Bangkok: สำนักพิมพ์บรรณกิจ. p. 490. ISBN 974-222-648-2.
- ↑ Lintner, p. 112
- ↑ David K. Wyatt. Thailand: A Short History. Yale University Press. p. 140. ISBN 0300035829.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 77.
- ↑ ประยุทธ์ สิทธิพันธ์, มหาราชและพระราชกรณียกิจสมเด็จพระภัทรมหาราช (กรุงเทพฯ : เทพพิทักษ์การพิมพ์, 2520) หน้า 223.
- ↑ 14.0 14.1 นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 81.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 80.
- ↑ ตามรอยสุสานพระเจ้าตาก เก็บถาวร 2011-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน sarakadee.com
- ↑ Mulcolm Smith, Dr. A Physician at the Court of Siam. University of Michigan Library. p. 13.
- ↑ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร. สำเภาสยาม ตำนานเจ๊กบางกอก . กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2544. หน้า 93 ISBN 974-472-331-9
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 82-83.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 87.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 84-86.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 87-88.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 88-89.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 89.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 90.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 98.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 98-99.
- ↑ กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย, หน้า 85
- ↑ มหาราชวงษ์พงศวดารพม่า, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2545), หน้า 243.
- ↑ พระราชพงศวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516), หน้า 290.
- ↑ Dhiravat na Pombejra, “Letter from the acting Phrakhlang Phya Phiphat Kosa in Siam to the Supreme Government in Batavia, 13 January 1769, and the answer from Batavia, 29 May 1769”. In: Harta Karun. Hidden Treasures on Indonesian and Asian-European History from the VOC Archives in Jakarta, document 28. Jakarta: Arsip Nasional Republik Indonesia, 2016.[ลิงก์เสีย]
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 121.
- ↑ พงษ์ ณ พัฒน์, วันสำคัญไทยนอกปฏิทิน, (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2551), หน้า 12-13
- ↑ 34.0 34.1 ประชุมพงศาวดารภาคที่ 65, หน้า 28.
- ↑ พระราชพงศวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, หน้า 294.
- ↑ John Bowman. Columbia Chronologies of Asian History and Culture. Columbia University Press. p. 514. ISBN 0231110049.
- ↑ วัดลุ่มมหาชัยชุมพล เก็บถาวร 2011-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เครื่อข่ายกาญจนาภิเษก
- ↑ วัลลภา รุ่งศิริแสงรัตน์. (2546). บรรพบุรุษไทย: สมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 5
- ↑ พระราชพงศวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, น. 308.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 126.
- ↑ ศรรวริศา เมฆไพบูลย์, ศิริโชค เลิศยะใส. NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับที่ 77 ธันวาคม 2550. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ปริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน),หน้า 51.ISSN 1513-9840
- ↑ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. p. 385
- ↑ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. p. 401-402.
- ↑ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, สามกรุง (พระนคร:คลังวิทยา ๒๕๑๑) หน้า ๙๘.
- ↑ W.A.R. Wood (1924). A History of Siam. Chiang Mai. p. 253
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 143.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 143-145.
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 146.
- ↑ 49.0 49.1 49.2 49.3 49.4 49.5 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
- ↑ สุนทรภู่, นิราศสุนทรภู่ ตอนนิราศพระบาท (พระนคร:คุรุสภา 2519) หน้า 123-124.
- ↑ 51.0 51.1 51.2 นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 147.
- ↑ 52.0 52.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 6.
- ↑ พระราชวังเดิม
- ↑ 54.0 54.1 54.2 54.3 จิ้มก้องขอหองโอรสสวรรค์ : สมเด็จพระเจ้าตากสินกับจีนราชวงศ์ชิง [เจมส์ เค.ชิน (เฉียนเจียง), เขียน][อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู, แปล] ใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 37 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2559). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559. หน้า 1-23. ISBN 978-616-7308-25-8
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 148.
- ↑ Damrong Rajanubhab, pp. 418-419
- ↑ W.A.R.Wood, p. 254
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงษ์. หน้า 173.
- ↑ พระราชกรณียกิจด้านการรบ, มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กองบัญชาการกองทัพเรือ
- ↑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หน้า 68.
- ↑ สนเทศน่ารู้ :: สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
- ↑ 62.0 62.1 พระราชกรณียกิจด้านทั่วไป, มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กองบัญชาการกองทัพเรือ
- ↑ Thomas J. Barnes. Tay Son: Rebellion in 18th Century Vietnam. Xlibris Corporation. p. 74. ISBN 0738818186.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 2.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 4.
- ↑ 66.0 66.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 5.
- ↑ 67.0 67.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 7.
- ↑ Chris Baker (writer), Pasuk Phongpaichit. A History of Thailand. Cambridge University Press. p. 32. ISBN 0521816157.
- ↑ Editors of Time Out. Time Out Bangkok: And Beach Escapes. Time Out. p. 84. ISBN 1846700213.
{{cite book}}
:|author=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ Paul M. Handley. The King Never Smiles. Yale University Press. p. 27. ISBN 0300106823.
- ↑ Bertil Lintner. Blood Brothers: The Criminal Underworld of Asia. Macmillan Publishers. ISBN 1403961549., p. 234
- ↑ Chris Baker, Pasuk Phongpaichit. A History of Thailand. Cambridge University Press. ISBN 0521816157., p. 32
- ↑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หน้า 70-71.
- ↑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หน้า 71.
- ↑ 75.0 75.1 75.2 75.3 การกู้พระศาสนาของพระเจ้าตากสินมหาราช : อาจารย์สมพร เทพสิทธา
- ↑ วนา. พระเจ้าตากสิน ใช้ศาสนา กำหนดจริยธรรมของคนไทย เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, prajan.com, 7 กุมภภาพันธ์ 2549
- ↑ วนา. พระมหากษัตริย์ กับศาสนา, oknation.net, 12 เมษายน 2551
- ↑ วีณา โรจนราธา. กรุงแตก พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : กรุงสยามพริ้นติ้ง กรุ๊พ, 2540 หน้า 99 ISBN 978-974-02-0003-1
- ↑ ชมโบสถ์ซางตาครู้ส ชิมขนมฝรั่งกุฎีจีน[ลิงก์เสีย]
- ↑ 80.0 80.1 เปลื้อง ณ นคร. ประวัติวรรณคดีไทยสำหรับนักศึกษา. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2517. หน้า 216
- ↑ สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรีเลม 1
- ↑ "Bilderhandschrift Traiphum". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-27. สืบค้นเมื่อ 2019-05-27.
- ↑ กรมช่างสิบหมู่ เก็บถาวร 2011-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน changsipmu.com (ลิงก์เสีย)
- ↑ พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2548, หน้า 230
- ↑ สมชาย พุ่มสอาด, เบื้องหลังกบฏพระยาสรรค์, ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 4 ฉบับที่ 6, เมษายน 2526 หน้า 8-15
- ↑ ทศยศ กระหม่อมแก้ว. พระเจ้าตาก สิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร. กรุงเทพฯ : กรีนปัญญาญาณ จำกัด, 2555. ISBN : 978-616-526-030-5
- ↑ Donald K. Swearer (2004). Becoming the Buddha: The Ritual of Image. Princeton University Press. ISBN 0-691-11435-8. p. 235
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. หน้า 55.
- ↑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เก็บถาวร 2011-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช - คลังปัญญาไทย
- ↑ Wararat; Sumit (February 23, 2012). "The Great Series". Banknotes > History and Series of Banknotes > Banknotes, Series 12. Bank of Thailand. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-18. สืบค้นเมื่อ June 7, 2013.
20 Baht Back—Notification Date November 2, 1981 Issue Date December 28, 1981
- ↑ Handley, p. 466
- ↑ Pimpraphai Pisalbutr (2001). Siam Chinese boat Chinese in Bangkok regend. Nanmee Books. p. 93. ISBN 974-472-331-9.
- ↑ ศูนย์การทหารม้าสระบุรีจัดพิธีถวายราชสักการะและถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช “พระบิดาแห่งการทหารม้าไทย”[ลิงก์เสีย], สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสระบุรี, 4 ม.ค. 2554
บรรณานุกรม
- Anthony Webster. Gentleman Capitalists: British Imperialism in Southeast Asia 1770-1890. I.B. Tauris. ISBN 1-86064-171-7.
- Bertil Lintner. Blood Brothers: The Criminal Underworld of Asia. Macmillan Publishers. ISBN 1-4039-6154-9.
- Carl Parkes. Moon Handbooks: Southeast Asia 4 Ed. Avalon Travel Publishing. ISBN 1-56691-337-3.
- Chris Baker, Pasuk Phongpaichit. A History of Thailand. Cambridge University Press. ISBN 0-521-81615-7.
- Chula Chakrabongse, Prince. Lords of Life : A History of the Kings of Thailand. Alvin Redman Limited.
- David K. Wyatt. Thailand: A Short History. Yale University Press. ISBN 0-300-03582-9.; Siamese/Thai history and culture-Part 4 เก็บถาวร 2007-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Donald K. Swearer (2004). Becoming the Buddha: The Ritual of Image. Princeton University Press. ISBN 0-691-11435-8.
- Editors of Time Out. Time Out Bangkok: And Beach Escapes. Time Out. ISBN 1-84670-021-3.
{{cite book}}
:|author=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - Gary G. Hamilton (2006). Commerce and Capitalism in Chinese Societies. Routledge. ISBN 0-415-15704-8.
- Paul M. Handley. The King Never Smiles. London : Country Life. ISBN 0-300-10682-3.
- Prida Sichalalai. (1982, December). "The last year of King Taksin the Great". Arts & Culture Magazine, (3, 2).
- Rong Syamananda (1990). A History of Thailand. Chulalongkorn University. ISBN 974-07-6413-4.
- Thomas J. Barnes. Tay Son: Rebellion in 18th Century Vietnam. Xlibris Corporation. ISBN 0-7388-1818-6.
- W.A.R. Wood (1924). A History of Siam. Chiengmai.
- William B. Dickinson (1966). Editorial Research Reports on World Affairs. Congressional Quarterly.
- กรมตำรา กระทรวงธรรมการ (2472). พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (พระเจ้าตากสิน) จุลศักราช ๑๑๒๘-๑๑๔๔. กรมตำรา กระทรวงธรรมการ.
- กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ (2555). กรุงธนบุรี ในสมัยอยุธยาถึงต้นรัตรโกสินทร์. วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- คณะศึกษานิเทศก์ สำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดจันทบุรี (2524). พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. อมรินทร์การพิมพ์. (จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนิน มาทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ จังหวัดจันทบุรี วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา)
- จรรยา ประชิตโรมรัน (2548). สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 9745835927.
- ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๔๕๓ ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช. ISBN 9740841244.
- ณัฏฐ์พร บุนนาค (2545). สถานะทางประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พ.ศ. 2310-2497. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 9741718632.
- แดน บีช บรัดเลย์ (2551). พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบลัดเล. มติชน. ISBN 9789740201779.
- ทศยศ กระหม่อมแก้ว (2555). พระเจ้าตาก สิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร. กรีนปัญญาญาณ จำกัด. ISBN 9786165260305.
- นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2550). กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย. ศิลปวัฒนธรรม40201779.
- นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2550). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. มติชน. ISBN 9789740201779.
- นายต่อ : แปล ; พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ : บทนำเสนอ ; สุจิตต์ วงษ์เทศ : บรรณาธิการ (2545). มหาราชวงษ์พงศวดารพม่า. มติชน. ISBN 9743225951.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - เปลื้อง ณ นคร (2517). ประวัติวรรณคดีไทยสำหรับนักศึกษา. ไทยวัฒนาพานิช.
- พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร (2544). สำเภาสยาม ตำนานเจ๊กบางกอก. นานมีบุ๊คส์. ISBN 9744723319.
- มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2554). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. ISBN 9786167308258.
- วัลลภา รุ่งศิริแสงรัตน์ (2546). บรรพบุรุษไทย : สมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 9741323948.
- ส.พลายน้อย (2550). พระเจ้าตากสินมหาราชแห่งชาติไทย. พิมพ์คำ. ISBN 9789747507201.
- สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2463). ไทยรบพม่า. มติชน. ISBN 9789740201779.
แหล่งข้อมูลอื่น
- นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย เก็บถาวร 2019-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
- พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, คณะศึกษานิเทศก์ สำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดจันทบุรี
- แบบเรียนพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (พระเจ้าตากสิน) จุลศักราช ๑๑๒๘ ถึง ๑๑๔๔.
- 3 กษัตริย์, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- ประวัติพระราชวังเดิม, มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กองบัญชาการกองทัพเรือ
- รามเกียรติ์ ฉบับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ของสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เก็บถาวร 2011-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พญาทะละ พระเจ้าตากสิน และไตเซิน, มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
- “อวสานพระเจ้าตากฯ” จากพระราชพงศาวดารถึงวรรณกรรมปัจจุบัน, มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
- Letter from the acting Phrakhlang Phya Phiphat Kosa in Siam to the Supreme Government in Batavia, 13 January 1769, and the answer from Batavia, 29 May 1769 เก็บถาวร 2022-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ก่อนหน้า | สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (ราชวงศ์บ้านพลูหลวง) กรุงศรีอยุธยา |
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา (ราชวงศ์ธนบุรี) (6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 – 6 เมษายน พ.ศ. 2325) |
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ราชวงศ์จักรี) กรุงรัตนโกสินทร์ |