กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

พระอิสริยยศสำหรับพระรัชทายาทของราชบัลลังก์สยามในอดีต

กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่เรียกกันเป็นสามัญว่าวังหน้า เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์สยามทรงสถาปนาขึ้นสำหรับพระมหาอุปราช และมีฐานะเป็นองค์รัชทายาทผู้มีสิทธิ์ที่จะขึ้นครองราชสมบัติต่อไป

กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
จวนพระราชวังบวรสถานมงคล
ผู้แต่งตั้งพระมหากษัตริย์สยาม
วาระตลอดพระชนม์ชีพ
ผู้ประเดิมตำแหน่งพระเอกสัตราชพระมหาอุปราช
สถาปนาพ.ศ. 1981
คนสุดท้ายกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
ยกเลิกพ.ศ. 2428
ตำแหน่งที่มาแทนสยามมกุฎราชกุมาร

ตำแหน่งพระมหาอุปราชปรากฏครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ต่อมาสมเด็จพระเพทราชาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" ภายหลังจากการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลิกธรรมเนียมตั้งพระมหาอุปราช แล้วทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชแทน[1]

สมัยกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นยังไม่การการแต่งตั้งตำแหน่งพระมหาอุปราช เพียงแต่มีแต่งตั้งเจ้านายเพื่อไปครองเมืองต่าง ๆ เท่านั้น เช่น สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 โปรดให้สมเด็จพระราเมศวรเจ้าพระราชโอรสไปครองเมืองพิษณุโลกในปี พ.ศ. 1981[2] เมื่อสมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสวยราชสมบัติทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงโปรดให้สถาปนาสมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้าที่เพิ่งลาผนวชเป็นพระมหาอุปราชเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2028[3]

ตำแหน่งพระมหาอุปราชยิ่งเด่นชัดยิ่งขึ้นอีกในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จไปครองเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงสร้าง "พระราชวังจันทรเกษม" ขึ้นที่หน้าพระราชวังหลวงเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรเวลาเสด็จมายังกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นที่มาของคำว่า "วังหน้า" ต่อมา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรขึ้นครองราชย์ โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นที่พระมหาอุปราช รับพระราชโองการ มีพระเกียรติยศเสมอพระเจ้าแผ่นดิน[4]

ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาหลวงสรศักดิ์พระราชโอรสบุญธรรมเป็นพระมหาอุปราช ประทับ ณ วังหน้า พร้อมทั้งบัญญัติศัพท์นามสังกัดวังหน้าว่า "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ สถาปนานายจบคชประสิทธิ์ให้ดำรงพระยศเป็นวังหลัง พระราชทานวังหลังเป็นที่ประทับ พร้อมทั้งบัญญัติศัพท์นามวังหลังว่า "กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข" เป็นครั้งแรก[5]

สมัยกรุงธนบุรี

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2325 ขณะกรมขุนอินทรพิทักษ์ และพระยากำแหงสงคราม (บุญคง) ตั้งทัพอยู่ที่เมืองพุทไธเพชร (บันทายเพชร ราชธานีของกัมพูชา) สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้ยกทัพกลับกรุงธนบุรี และปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พร้อมกับสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบรมวงศานุวงศ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่เป็นชาย [6] ได้ส่งทหารตามจับกุมตัวกรมขุนอินทรพิทักษ์ พร้อมด้วยพระยากำแหงสงคราม และทหารองครักษ์จำนวน 5 คน ได้ในป่าตำบลเขาน้อย สระบุรี [6]

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตรัสถามกรมขุนอินทรพิทักษ์ว่าทรงยินดีที่จะไว้พระชนม์ให้ แต่กรมขุนอินทรพิทักษ์ทรงยืนยันที่ขอตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสิน สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงโปรดเกล้าฯ ให้นำตัวเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ไปสำเร็จโทษพร้อมกับพระยากำแหงสงคราม[6] และพระอนุชา คือเจ้าฟ้าน้อย เมื่อวันเสาร์ เดือน 6 แรม 8 ค่ำ พ.ศ. 2325[7]

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ไม่มีความแตกต่างจากสมัยอยุธยาเท่าไรนัก กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจะประทับอยู่ที่พระราชวังบวรสถานมงคลมาโดยตลอด

หลังจากการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก จนกระทั่ง พ.ศ. 2429 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นพระองค์แรกที่ทรงดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร ทำให้ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลถูกยกเลิกตั้งแต่นั้นมา

อนึ่ง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงพระฐานันดรศักดิ์เสมอด้วยสมเด็จพระบวรราชเจ้าในพระบรมราชวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์[1]

พระบัณฑูร

พระบัณฑูร คือ คำสั่งของพระมหาอุปราช มาจากภาษาเขมร แปลว่า "สั่ง" สำหรับคำสั่งของพระมหากษัตริย์นั้นใช้คำว่า "พระราชโองการ" ในการสถาปนาพระมหาอุปราชตั้งแต่อดีตนั้น มักเรียกว่า "วังหน้ารับพระบัณฑูร"

ส่วน "วังหน้ารับ (บวร) ราชโองการ" นั้น เป็นพระมหาอุปราชที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 เสมอกับพระองค์ มีเพียง 2 พระองค์ ได้แก่

รายพระนามพระมหาอุปราชและกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

พระมหาอุปราช พระมหากษัตริย์ ความสัมพันธ์ ระยะเวลา เหตุที่พ้นจากตำแหน่ง
สมัยอยุธยา
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
พระเอกสัตราชพระมหาอุปราช สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระอนุชา (น้องชาย) พ.ศ. 2031 — พ.ศ. 2034 เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
พระอาทิตยวงศ์ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พระราชโอรส (ลูกชาย) พ.ศ. 2069 — พ.ศ. 2072 เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4
มหาอุปราช (จัน) ขุนวรวงศาธิราช พระอนุชา (น้องชาย) พ.ศ. 2091 (42 วัน) ถูกลอบปลงพระชนม์
ราชวงศ์สุโขทัย
พระองค์ดำ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระราชโอรส (ลูกชาย) พ.ศ. 2114 — พ.ศ. 2133 เป็นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระอนุชา (น้องชาย) พ.ศ. 2133 — พ.ศ. 2148 เป็นสมเด็จพระเอกาทศรถ
เจ้าฟ้าสุทัศน์ สมเด็จพระเอกาทศรถ พระราชโอรส (ลูกชาย) พ.ศ. 2148 — พ.ศ. 2153 สวรรคต
จมื่นศรีเสารักษ์ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระราชโอรสบุญธรรม พ.ศ. 2154 (10 วัน) สวรรคต
ราชวงศ์ปราสาททอง
สมเด็จพระนารายณ์ สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พระภาติยะ (หลานอา)[10] พ.ศ. 2199 (2 เดือน 17 วัน) เป็น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
หลวงสรศักดิ์ สมเด็จพระเพทราชา พระราชโอรส (ลูกชาย) พ.ศ. 2231 — พ.ศ. 2246 เป็น สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี
เจ้าฟ้าเพชร (ออกพระนามว่า พระบัณฑูรใหญ่) สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี พระราชโอรส (ลูกชาย) พ.ศ. 2246 — พ.ศ. 2251 เป็น สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ
เจ้าฟ้าพร สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ พระอนุชา (น้องชาย) พ.ศ. 2251 — พ.ศ. 2275 เป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระราชโอรส (ลูกชาย) พ.ศ. 2284 — พ.ศ. 2289 สวรรคต
เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระราชโอรส (ลูกชาย) พ.ศ. 2300 — พ.ศ. 2301 เป็น สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
สมัยกรุงธนบุรี
เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชโอรส (ลูกชาย) ไม่ทราบปี — พ.ศ. 2325 สำเร็จโทษ
สมัยรัตนโกสินทร์
ราชวงศ์จักรี
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระอนุชา (น้องชาย) พ.ศ. 2325 - พ.ศ. 2346 สวรรคต
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชโอรส (ลูกชาย) พ.ศ. 2349 - พ.ศ. 2352 เป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระอนุชา (น้องชาย) พ.ศ. 2352 - พ.ศ. 2360 สวรรคต
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิตุลา (อา) พ.ศ. 2367 - พ.ศ. 2375 สวรรคต
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชา (น้องชาย) พ.ศ. 2394 - พ.ศ. 2408 สวรรคต
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง) [10] พ.ศ. 2411 - พ.ศ. 2428 ทิวงคต
ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมราชชนก และ สมเด็จพระบรมราชชนนี เก็บถาวร 2011-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๗, ตอน ๕๒, ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๓, ฉบับพิเศษ หน้า ๑
  2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 395
  3. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 400
  4. พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า), หน้า 20
  5. พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า), หน้า 24
  6. 6.0 6.1 6.2 "ฐานข้อมูลรากฐานไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-05-09. สืบค้นเมื่อ 2021-10-01.
  7. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙ หน้า ๑๓๘
  8. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, พระบัณฑูร เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2435, ปีที่ 47, 19 มิถุนายน 2544
  9. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, วังหน้ารับพระบัณฑูร และ วังหน้ารับราชโองการ เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2739, ปีที่ 53, 17 เมษายน 2550
  10. 10.0 10.1 หมวดขัตติยตระกูล หน้า 3
บรรณานุกรม
  • กรมศิลปากรพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า). นนทบุรี : รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2558. 127 หน้า. ISBN 978-616-283-232-1
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานวังน่า. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2462. [พิมพ์แจกในงานศพนางสุ่น ชาติโอสถ ปีมะแม พ.ศ. 2462]
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ประชุมพระนิพนธ์ ภาค ๒. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2494. 359 หน้า.
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9