สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์

สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 หรือ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 6 และเป็นรัชกาลสุดท้ายแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2301 — พ.ศ. 2310 มีพระราชสมัญญานามที่สามัญชนเรียกกันอย่างลับว่า ขุนหลวงขี้เรื้อน[2][3][4] เนื่องจากพระฉวี (ผิวหนัง) เป็นโรคผิวหนัง โรคเรื้อน หรือโรคกลากเกลื้อน[5][6]

สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ
พระบรมรูปสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ วัดละมุด อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์พ.ศ. 2301 - พ.ศ. 2310
ก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
ถัดไปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (อาณาจักรธนบุรี)
สมุหนายก
พระราชสมภพพ.ศ. 2252
สวรรคตพ.ศ. 2310 (58 พรรษา)
มเหสีกรมขุนวิมลพัตร
พระสนมเจ้าจอมมารดาเพ็ง
เจ้าจอมมารดาแม้น[1]
พระราชบุตรเจ้าฟ้าหญิงสิริจันทรเทวี
พระองค์เจ้าหญิงสตันสรินทร์
พระองค์เจ้าชายประเวศกุมาร
พระองค์เจ้าหญิงสูรา (รุจจาเทวี)
พระองค์เจ้าชายสุทัศน์ (กุมารา)[1]
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
พระราชมารดากรมพระเทพามาตุ (พลับ)

พระราชประวัติ

แก้

ก่อนครองราชย์

แก้

สมเด็จพระบรมราชา มีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าเอกทัศ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่กรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวัสสาน้อย) เมื่อพระราชบิดาปราบดาภิเษกในปี พ.ศ. 2275 จึงโปรดให้ตั้งเป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรี[7]

หนึ่งปีก่อนพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต พระองค์ทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต พระอนุชาของเจ้าฟ้าเอกทัศ ให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตทูลว่า เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี พระเชษฐา ยังคงอยู่ขอพระราชทานให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลน่าจะสมควรกว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงตรัสว่า กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้น เป็นวิสัยพระทัยปราศจากความเพียร ถ้าจะให้ดำรงฐานานุศักดิ์อุปราชสำเร็จราชกิจกึ่งหนึ่ง ก็จะเกิดวิบัติฉิบหายเสีย เห็นแต่กรมขุนพรพินิจ กอปรด้วยสติปัญญาฉลาดเฉลียว ควรจะดำรงเศวตฉัตรรักษาแผ่นดินได้[8] แล้วรับสั่งกับกรมขุนอนุรักษ์มนตรีว่า "จงไปบวชเสีย อย่าอยู่ให้กีดขวาง" กรมขุนอนุรักษ์มนตรีเกรงพระราชอาญาจึงจำพระทัยทูลลาผนวชไปประทับ ณ วัดละมุดปากจั่น ส่วนเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตได้รับอุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแทน[9]

การเสด็จขึ้นครองราชย์

แก้

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2301 พระเจ้าอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ ระหว่างนั้นกรมขุนอนุรักษ์มนตรีเสด็จมาประทับ ณ พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์[10] ราว 2 เดือนต่อมา พระเจ้าอุทุมพรเสด็จไปถวายราชสมบัติแก่กรมขุนอนุรักษ์มนตรีแล้วเสด็จออกผนวช ประทับ ณ วัดประดู่ทรงธรรม กรมขุนอนุรักษ์มนตรีจึงเสด็จขึ้นราชาภิเษก ณ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชามหาอดิศร บวรสุจริต ทศพิธธรรมธเรศ เชษฐโลกานายกอุดม บรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว[11]

สงครามคราวเสียกรุงครั้งที่สอง

แก้
 
พระบรมสาทิสลักษณ์ที่มีการตีความว่าเป็นพระเจ้าอุทุมพร หรือพระเจ้าเอกทัศ ในสมุดพม่าชื่อ "นั้นเตวั้งรุปซุงประบุท" ณ หอสมุดบริติช (British Library) กรุงลอนดอน[12]

ในระหว่างที่พระองค์ครองราชย์ พระเจ้าอลองพญาได้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2303 พระเจ้าเอกทัศได้ทรงขอให้พระเจ้าอุทุมพรลาผนวชมาช่วยบัญชาการรบ แต่พระเจ้าอลองพญาประชวรสวรรคตเสียก่อน

ต่อมาใน พ.ศ. 2307 พระเจ้ามังระ โอรสของพระเจ้าอลองพญา ได้เป็นพระเจ้าอังวะและส่งกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก ให้เกณฑ์กองทัพกว่า 70,000 นาย ยกเข้าตีเมืองสยาม 2 ทาง ทางทิศใต้เข้าตีเข้าทางเมืองมะริด ส่วนทางตอนเหนือตีลงมาจากแคว้นล้านนา และบรรจบกันที่กรุงศรีอยุธยาเป็นศึกขนานกันสองข้างโดยได้ล้อมกรุงศรีอยุธยานาน 1 ปี 2 เดือน ก็เข้าพระนครได้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310

ในพงศาวดารฉบับหอแก้วและคองบองของพม่า ได้บรรยายให้เห็นว่าในสงครามครั้งนี้ ผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยาเองก็ได้เตรียมการและกระทำการรบอย่างเข้มแข็ง มิได้เหลวไหลอ่อนแอ [13]

การสวรรคต

แก้

สาเหตุการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าเอกทัศมีสันนิษฐานไว้หลายข้อ ในหลักฐานของไทยส่วนใหญ่บันทึกไว้ว่าพระองค์เสด็จสวรรคตจากการอดพระกระยาหารเป็นเวลานานกว่า 10 วัน หลังจากที่เสด็จหนีไปซ่อนตัวที่ป่าบ้านจิก ใกล้กับวัดสังฆาวาส[14] ทหารพม่าเชิญเสด็จไปที่ค่ายโพธิ์สามต้น เมื่อเสด็จสวรรคต นายทองสุกได้นำพระบรมศพไปฝังไว้ที่โคกพระเมรุ ตรงหน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร[15] ต่อมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงอัญเชิญพระบรมศพขึ้นถวายพระเพลิงตามโบราณราชประเพณี[16][17]

ฝ่ายพงศาวดารพม่าระบุว่า เกิดความสับสนระหว่างการหลบหนีในเหตุการณ์กรุงแตก จึงถูกปืนยิงสวรรคตที่ประตูท้ายวัง

ส่วนคำให้การของแอนโทนี โกยาตัน ตำแหน่ง หัวหน้าฝรั่งต่างด้าว (Head of the foreign Europeans) เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2311 มีว่า "กษัตริย์องค์ที่สูงวัย [พระเจ้าเอกทัศ] ถูกลอบปลงพระชนม์โดยชาวสยามเช่นเดียวกัน" หรือไม่พระองค์ก็ทรงวางยาพิษตนเอง[18]

พระนาม

แก้
  • ขุนหลวงเอกทัศ (พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
  • ขุนหลวงพระที่นั่งสุริยามรินทร์[19]
  • ขุนหลวงสุริยามรินทร์ (พระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า และพระราชกระแสเรื่องจัดการทหาร มณฑลกรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ ๕ พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
  • ขุนหลวงขี้เรื้อน (พระราชกรัณยานุสร พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
  • พระเจ้าขี้เรื้อน หรือ พระเจ้าขี้เรื้อนเกลื้อนกราก[20]: 213 
  • พระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์[21]: 26 
  • สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
  • สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า[22]: 19 
  • สมเด็จพระเอกทัศ หรือ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ (ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๖ เรื่องไทยรบพม่าครั้งกรุงเก่า)
  • สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์
  • พระเจ้าเอกทัศ
  • พระราชาเอกทัศ (วรรณคดีเรื่อง สามกรุง พระนิพนธ์ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์)
  • สุริยามเรศ หรือ สุริยอมรอิศ (วรรณคดีเรื่อง สามกรุง พระนิพนธ์ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์)
  • พระที่นั่งราชาสุริยามรินทร์
  • เจ้าฟ้าเอกาทศราชา หรือ เจ้าฟ้าเอกาทัศ (มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ฉบับแปลโดยนายต่อ)

พระอุปนิสัย

แก้

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กล่าวว่า :-

ฝ่ายพระบรมเอกทัศจึงประพฤติตามอย่างธรรมเนียมกษัตริย์แต่ก่อนมา พระองค์ก็บำรุงพระศาสนาครอบครองอาณาประชาราษฎรทั้งปวงตามประเพณี...พระองค์จึงบำรุงพระสาสนาแล้วครอบครองบ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุขมา แล้วพระองค์ก็สร้างอารามชื่อวัดลมุดแล้วสร้างวัดครุฑาวัดหนึ่ง พระองค์จึงฉลองเลี้ยงพระสงฆ์พันหนึ่งจึงถวายเครื่องไตรจีวรแลเครื่องสังเฆฏพันหนึ่ง เครื่องเทียบสิ่งละพัน ต้นกัลปพฤกษ์ก็พันหนึ่ง จึงแจกทานสารพัดสิ่งของนานา สิ่งละพัน แจกอาณาประชาราษฎรทั้งปวงเป็นอันมาก จึงปรายเงินทองวันละ ๑๐ ชั่ง เจ็ดวันเป็น ๗๐ ชั่ง จึงให้มีการมหรศพทั้งปวงสรรพสิ่งต่างๆ เป็นการใหญ่ถ้วน ๗ วัน แล้วพระองค์ จึงหลั่งน้ำทักขิโณทกให้ตกลงเหนือแผ่นพสุธาจึงแผ่กุศให้แก่สัตว์ทั้งปวงแล้วเสด็จคืนเข้ายังพระราชวัง พระองค์ตั้ง อยู่ในธรรมสุจริตบพิตรเสด็จไปถวายมนัสการพระศรีสรรเพ็ชญ์ทุกเพลามิได้ขาด พระบาทจงกรมอยู่เป็นนิตย์ บพิตรตั้งอยู่ในทศพิธ ๑๐ ประการ แล้ว ครอบครองกรุงขัณฑสีมา ทั้งสมณพราหมณาก็ชื่นชมยินดีปรีดิ์เป็นสุขนิราศทุกขภัย ด้วยเมตตาบารมี ทั้งฝนก็ดี บริบูรณพูนความสุขมิได้กันดาร ทั้งข้าว ปลาอาหารและผลไม้มีรสโอชา ฝูงอาณาประชาราษฎรแล้วชาวนิคมชนบทก็อยู่เย็นเกษมสาร มีแต่จักชักชวนกันทําบุญให้ทานและการขัณฑเสมา[23]: 144–145 


คำให้การชาวกรุงเก่า แปลจากฉบับหลวงเมืองพม่า กล่าวว่า :-

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาพระองค์นี้ ทรงพระราชศรัทธาอุตสาหะ บําเพ็ญพระราชกุศลบริจาคพระราชทรัพย์เครื่องประดับอาภรณ์ทั้งปวง พระราชทานแก่ยาจกวณิพกเป็นอันมาก...[24]: 163 


เพลงยาวนิราศพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เมื่อครั้งเสด็จไปตีเมืองพม่า เมื่อ พ.ศ. 2336 กล่าวว่า :-

๏ ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา
สุภาษิตท่านกล่าวเปนราวมา จะตั้งแต่งเสนาธิบดี
ไม่ควรจะให้อัครฐาน จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี
เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี จึงเสียทีเสียวงศ์กษัตรา[25]
นิราสพระราชนิพนธ์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท.

เหตุการณ์ในรัชสมัย

แก้

นายสังข์แอบอ้างเก็บภาษีผักบุ้ง

แก้

ภาษีผักบุ้งของนายสังข์เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายตรงกับรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ปรากฎใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีก หมายเลข ๒/ก ๑๐๔ ฉบับเดียวเท่านั้น

เมื่อ พ.ศ. 2305 นายสังข์ มหาดเล็กบ้านคูจามแอบอ้างว่าเป็นพี่ชายของเจ้าจอมฟัก พระสนมเอก และ ปาน น้องสาวของตนก็เป็นพระสนมด้วยซึ่งมีอิทธิพลมากอยู่[26]: 29  ส่วน ญาติ ไหวดี กล่าวว่านายสังฆ์เป็นพี่ชายของหม่อมเพ็งกับหม่อมแม้น[27]: 68  นายสังข์จึงกระทำฉ้อราษฎร์ตั้งข้อบังคับโดยไม่ได้รับอนุญาต[28]: 96 [29]: 143  ว่าหากใครเก็บผักบุ้งต้องเอามาขายแก่นายสังข์แต่เพียงผู้เดียวหากขายให้ผู้อื่นจะถูกปรับเงินไหม 5 ตำลึง (หรือ 20 บาท) รวมทั้งราษฎรที่ปลูกผักบุ้งจะต้องเสียภาษีตามขนาดแพผักบุ้ง[30] นายสังข์รับซื้อผักบุ้งโดยกดราคาผักบุ้งแล้วไปขายในท้องตลาดแล้วขึ้นราคาแพง เป็นการผูกขาดภาษีลักษณะเป็นนายทุนผูกขาดสินค้า[31]: 486  ราษฎรที่เคยซื้อขายผักบุ้งมาแต่ก่อนต่างได้รับความเดือดร้อนจึงนำความไปแจ้งต่อทางการแต่ไม่มีข้าราชการผู้ใดนำความขึ้นกราบทูลฯ เนื่องจากนายสังข์กล่าวอ้างว่าเก็บภาษีผักบุ้งเข้าพระคลัง (แต่นายสังเก็บภาษีเข้าส่วนตัว) ตลอดระยะ 3 เดือนนายสังข์เก็บภาษีผักบุ้งได้ถึง 400 ชั่งเศษ (หรือ 32,000 บาท)

ปรากฎใน ปูมโหร ว่า:-

ศักราช ๑๑๒๔ มะเมีย จัตวาศก ทําภาษีผักบุ้ง[32]

วันหนึ่ง สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ทรงพระประชวรบรรทมไม่หลับโปรดจะทอดพระเนตรละครให้ทรงพระเกษมสำราญ จึงมีรับสั่งให้หาละครเข้าไปเล่น ละครมีผู้เล่น 2 คนคือ นายแทน เล่นเป็นตัวจำอวดฝ่ายชาย และ นายมี เล่นเป็นตัวจำอวดฝ่ายหญิง เมื่อเล่นบทผูดมัดจะเร่งเอาเงินค่าผูกคอ

นายมีจึงร้องเล่นว่า :-

จะเอาเงินมาแต่ไหนจนจะตาย แต่เก็บผักบุ้งขายยังมีภาษี[28]: 97 

นายมีร้องเล่นอย่างนี้ซ้ำ 2-3 หน จนสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ทรงประหลาดพระทัยจึงทรงตรัสถามมูลเหตุ นายแทน และนายมีทั้ง 2 คนจึงกราบทูลถวายถึงความเดือดร้อนที่นายสังข์บังอาจเก็บภาษีผักบุ้ง พระองค์ทรงฟังแล้วก็ทรงพระพิโรธ จึงมีรับสั่งให้เสนาบดีกรมพระคลังคืนเงินแก่ราษฎร ส่วนนายสังข์เดิมพระองค์จะทรงให้ประหารชีวิตแต่พระพิโรธลดลงก็โปรดให้ยกเว้นโทษประหารชีวิตไว้

โรคฝีระบาดระหว่างเสียกรุงครั้งที่ 2

แก้

เมื่อ พ.ศ. 2308 ปีระกา หลังจากกองทัพของเนเมียวสีหบดีและมังมหานรธายกทัพมาสมทบด้วยกันที่กรุงศรีอยุธยา และเริ่มเข้าประชิดล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ได้ทุกด้าน ในพระนครผู้คนอดอยาก ปรากฏว่ามีข้าราชการ และชาวกรุงศรีอยุธยาหลบหนีรอดจากพระนครจำนวนมากไปตามหัวเมืองต่างๆ ระหว่างเสียกรุงครั้งที่ 2 พระราชพงศาวดารพม่า ว่า :- "ขุนนางพากันหลบเหลื่อมหนีไปเสียแล้วก่อนเสียกรุงโดยมาก"[33]: 136–137  โดยเฉพาะเมืองพิษณุโลกหัวเมืองเหนือซึ่งมิได้เสียเมืองแก่พม่า ข้าราชการและชาวกรุงศรีอยุธยาทราบกิตติศัพท์ของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ว่าเป็นคนเข้มแข็งจึงรักษาเมืองพิษณุโลกไว้ได้[34]: 46  จึงพากันหลบหนีไปเมืองพิษณุโลกจำนวนมาก[35]: 17  ระหว่างที่ชาวกรุงศรีอยุธยากำลังหลบหนีพม่าได้ก็เกิดโรคฝี (ไข้ทรพิษ) ระบาด มีผู้คนล้มตายมาก

จดหมายเหตุโหร ตำราพระยาโหราธิบดี (เถื่อน) เจ้ากรมโหรหลวง กล่าวว่า :-

ศักราช ๑๑๒๗ ปีระกา เศษ ๓ ไอ้พม่าล้อมกรุง ชนออกฝีตายมากแล[36]: 18:เชิงอรรถ ๘ [37]: 73 

พระราชกรณียกิจ

แก้

ในทัศนะของสุเนตร ชุตินธรานนท์ มีความเห็นว่า ผู้ชำระพงศาวดารไทยไม่ได้ระบุพระราชกรณียกิจของพระเจ้าเอกทัศ ซ้ำยังกล่าวพาดพิงในแง่ร้ายอยู่บ่อยครั้ง หากแต่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ กลับมีการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์พระองค์นี้อย่างชื่นชม

คำให้การชาวกรุงเก่า ปรากฏความว่า "[พระมหากษัตริย์พระองค์นี้] ทรงพระกรุณากับอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง แผ่เมตตาไปทั่วสารพัดสัตว์ทั้งปวง"

ใน คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ปรากฏความว่า "พระองค์ตั้งอยู่ในธรรมสุจริต บพิตรเสด็จไปถวายนมัสการพระศรีสรรเพชทุกเพลามิได้ขาด พระบาทจงกรมอยู่เป็นนิจ บพิตรตั้งอยู่ในทศพิธสิบประการ แล้วครอบครองกรุงขันธสีมา ทั้งสมณพราหมณ์ก็ชื่นชมยินดีปรีเปนศุขนิราชทุกขไภย ด้วยเมตตาบารมีทั้งฝนก็ดีบริบูรณภูลความศุกมิได้ดาล ทั้งข้าวปลาอาหารและผลไม้มีรสโอชา ฝูงอาณาประชาราษฎร์และชาวนิคมชนบทก็อยู่เยนเกษมสานต์ มีแต่จะชักชวนกันทำบุญให้ทาน และการมโหรสพต่าง ๆ ทั้งนักปราชผู้ยากผู้ดีมีแต่ความศุกที่ทุกขอบขันธสีมา"

นอกจากนี้ จากหลักฐานทั้งสอง ยังได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระเจ้าเอกทัศ เช่น ทรงออกพระราชบัญญัติเครื่องชั่ง ตวง วัดต่าง ๆ, มาตราเงินบาท สลึง เฟื้องให้เที่ยงตรง และโปรดให้ยกเลิกภาษีอากรต่าง ๆ เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้ง "ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บ้านเมืองสงบ การค้าขายเจริญ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้แก่คนยากจนจำนวนมาก"[38]

พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โปรดให้หล่อพระพุทธรูปขนาดเท่าพระองค์ และบริจาคทรัพย์ทำการเฉลิมฉลองพระพุทธรูปแล้วอัญเชิญพระพุทธรูปพระองค์นั้นไปยังวัดวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในช่วงต้นรัชกาล ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อสร้างพระอารามขึ้นมา 2 แห่ง คือ วัดละมุด และวัดครุฑธาราม และยังพระราชดำเนิน ไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีเป็นประจำทุกปีอีกด้วย และเมื่อยามสงบสุข พระองค์โปรดทำบุญบริจาคทรัพย์ให้แก่ผู้ยากไร้เป็นประจำเช่นกัน[39]

พระราชโอรสธิดา

แก้

บัญชีพระนามเจ้านาย ในคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าพระเจ้าเอกทัศมีพระราชโอรสธิดา 5 พระองค์[1]

ประสูติแต่กรมขุนวิมลพัตร พระอัครมเหสี คือ

  1. เจ้าฟ้าหญิงสิริจันทรเทวี (ศรีจันทเทวี)

ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเพ็ง พระสนมเอก มี 2 พระองค์ คือ

  1. พระองค์เจ้าหญิงสตันสรินทร์ (ประพาลสุริยวงศ์)
  2. พระองค์เจ้าชายประเวศกุมาร (ประไพกุมาร)

ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแม้น พระสนมเอก มี 2 พระองค์ คือ

  1. พระองค์เจ้าหญิงสูรา (รุจจาเทวี)
  2. พระองค์เจ้าชายสุทัศน์ (กุมารา)

ส่วน บัญชีรายพระนามพระราชวงศ์และข้าราชการสยามที่พม่าว่าจับไปได้จากกรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงเสียในปี พ.ศ. 2310 ระบุรายพระนามเจ้านายว่ามีพระราชชายา 4 พระองค์ และมีพระราชโอรส-ธิดา 7 พระองค์ในสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ถูกจับไปยังพม่า ได้แก่[40]

ทัศนะ

แก้

ฝ่ายซึ่งเห็นว่าพระองค์มีพระราชประวัติความประพฤติไม่ดีก็ว่า ราษฎรไม่เลื่อมใสศรัทธาเพราะพระมหากษัตริย์ทรงประพฤติตนไม่เหมาะสม บ้านเมืองเกิดความระส่ำระสาย มีข้าราชการลาออกจากราชการอยู่บ้าง สังคมสมัยนั้นมีการกดขี่รีดไถ ข่มเหงรังแกราษฎรอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อขุนนางชั้นผู้น้อยเห็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทำก็เลียนแบบ ราษฎรและข้าราชการทั้งหลายหมดที่พึ่งจึงแตกความสามัคคี ดังที่บาทหลวงฝรั่งเศสได้เขียนจดหมายเหตุบันทึกไว้ว่า: "... บ้านเมืองแปรปรวน เพราะฝ่ายใน [พระราชชายา] ได้มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินผู้มีความผิดฐานกบฏ ฆ่าคนตายเอาไฟเผาบ้านเรือนจะต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต แต่ความโลภของฝ่ายในให้เปลี่ยนเป็นริบทรัพย์สิน ริบได้ก็ตกเป็นของฝ่ายในทั้งสิ้น พวกข้าราชการเห็นความโลภของฝ่ายใน ก็แสวงหาผลประโยชน์กับผู้ต้องหาคดีให้ได้มากที่สุดที่จะหาได้ จะได้แบ่งเอาบ้าง ความเดือดร้อนลำเค็ญก็ยิ่งทับถมราษฎรมากขึ้น...

"[41]

ในประวัติศาสตร์ไทย พระเจ้าเอกทัศเป็นพระมหากษัตริย์ที่ถูกกล่าวถึงในแง่ร้ายเรื่อยมา และถูกจดจำในฐานะ "บุคคลที่ไม่มีใครอยากจะตกอยู่ในฐานะเดียวกัน" เหตุเพราะไม่สามารถป้องกันกรุงศรีอยุธยาให้พ้นจากข้าศึก ทั้งนี้ คนไทยที่เหลือรอดมาถึงสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นถือเอาว่า พระองค์ควรรับผิดชอบการเสียกรุงครั้งที่สองร่วมกับพระเจ้าอุทุมพร[42]

ครั้ง พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรหนัก เหตุเพราะช้ำพระราชหฤทัยที่สยามยกดินแดนให้ฝรั่งเศสไป (วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112) โดยทรงพระราชนิพนธ์บทกวีรำพันความทุกข์ร้อน และท้อพระทัยว่าจะถูกนินทาไปตลอดกาล ดังเช่นสองพระมหากษัตริย์ (พระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศ) ผู้ไม่อาจปกป้องกรุงศรีอยุธยาจากศัตรู ในช่วงนั้นก็ทรงพระราชนิพนธ์บทกวีรำพึงถึงความกลัดกลุ้มทุกข์ร้อน ทั้งกลัวว่าจะถูกติฉินนินทาไม่รู้จบสิ้น เหมือนสองกษัตริย์ผู้ไม่สามารถจะปกป้องกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ได้จากข้าศึกศัตรู ความดังนี้[42]

"เจ็บนานนึกหน่ายนิตย์ มะนะเรื่องบำรุงกาย
ส่วนจิตบ่มีสบาย ศิระกลุ้มอุราตรึง
แม้หายก็พลันยาก จะลำบากฤทัยพึง
ตริแต่จะถูกรึง อุระรัดและอัตรา
กลัวเป็นทวิราช บ่ตริป้องอยุธยา
เสียเมืองจึงนินทา บ่ละเว้นฤๅว่างวาย

ในวัฒนธรรมสมัยใหม่

แก้

มีนักแสดงผู้รับบท สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ได้แก่

พงศาวลี

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และและเอกสารอื่น, หน้า 627
  2. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชกรัณยานุสร พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, กรมศิลปากร, 2543. 123 หน้า. หน้า 31. ISBN 974-721-913-1
  3. ศิลปากร เล่มที่ 24. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2523. หน้า 12.
  4. จดหมายของปีแยร์ ปรีโกต์ ถึงผู้อำนวยการคณะมิสซังต่างประเทศ กรุงปารีส ลงวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1759 (พ.ศ. 2302)
  5. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯกรมพระยา. พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555.
  6. เพลง ภูผา. วิกฤตการณ์วังหน้า เหตุทุรยศบนแผ่นดินสยาม. กรุงเทพฯ : สยามความรู้, 2556. หน้า 170. ISBN 978-616-3440-35-8
  7. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และและเอกสารอื่น, หน้า 356
  8. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และและเอกสารอื่น, หน้า 367
  9. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน, หน้า 325
  10. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และและเอกสารอื่น, หน้า 370
  11. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และและเอกสารอื่น, หน้า 371
  12. ก้อนนาค, กันตพงศ์ (14 Jul 2019). "ลือหนัก… พระเจ้าเอกทัศทรงจงกรมจนเสียเมือง ?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 27 May 2020.
  13. สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ:มติชน, 2554. หน้า 88
  14. "พระเจ้าเอกทัศน์ครองเมืองกรุงศรีอยุธยา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-25. สืบค้นเมื่อ 2010-01-31.
  15. จรรยา ประชิตโรมรัน. หน้า 185.
  16. กรมตำรา กระทรวงธรรมการ, พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (พระเจ้าตากสิน) จุลศักราช ๑๑๒๘-๑๑๔๔. พิมพ์ครั้งที่ ๔ ; พระนคร : โรงพิมพ์กรมตำรากระทรวงพระธรรมการ, ๒๔๗๒. หน้า ๒๓.
  17. สุนทรภู่, นิราศสุนทรภู่ ตอนนิราศพระบาท (พระนคร:คุรุสภา ๒๕๑๙) หน้า ๑๒๓-๑๒๔.
  18. จรรยา ประชิตโรมรัน. หน้า 198.
  19. Giles, Francis H. "Analysis of Van Vliet's Account of Siam, Part Eight: Concerning Titles in Siam," The Journal of the Siam Society 30(3)(1938): 329.
  20. Robert B. Jones, Ruchira C. Mendiones, Craig J. Reynolds. (1976). "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดย ร.ต. นคร ปิ่นสุวรรณ ร.น.", ประมวลความเรียงเบ็ดเตล็ด เล่ม ๑ [THAI CULTURAL READER]. New York: Cornell University, Southeast Asia Program. 517 pp. ISBN 978-087-7-27503-9
  21. คณะกรรมการอํานวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี. (2542). ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๕. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 464 หน้า. ISBN 974-419-220-8
  22. ธีระวุฒิ ปัญญา. (2557). ตำนาน วิญญาณแห่งบางระจันที่ประวัติศาสตร์ไม่เคยบันทึก!. กรุงเทพฯ: กู๊ดไลฟ์. 143 หน้า. ISBN 978-616-2-92310-4
  23. คําให้การขุนหลวงหาวัด. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2547. ISBN 978-974-6-45767-5
  24. ถนอม อานามวัฒน์ และคณะ, ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. (2528). ประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยเริ่มแรกจนถึงสิ้นอยุธยา. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ์. 363 หน้า. อ้างใน คำให้การชาวกรุงเก่า: แปลจากฉบับหลวงเมืองพม่า.
  25. "เพลงยาวนิราศ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จไปตีเมืองพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๖", นิราสพระราชนิพนธ์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าพระศีลวราลังการ (เนตร) วัดชนะสงคราม เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๖๙. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร.
  26. ประจักษ์ ประภาพิทยากร. (2525). ประสาพาสำราญ. กรุงเทพฯ: พี.วาทิน. 240 หน้า.
  27. ญาติ ไหวดี. (2519). การปกครองของไทย เล่ม ๑-๒. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
  28. 28.0 28.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2546). ละครฟ้อนรำ : ประชุมเรื่องละครฟ้อนรำกับระบำรำเต้น ตำราฟ้อน ตำนานเรื่องละครอิเหนา ตำนานละครดึกดำบรรพ์. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2546. ISBN 974-322-927-2
  29. นิดา มีสุข. (2543). วรรณคดีการละคร. สงขลา: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ. 152 หน้า. ISBN 978-974-4-51028-0
  30. ศิลปวัฒนธรรม, 29(4):15. กุมภาพันธ์ 2551.
  31. เรย์โนลด์ส, เคร็ก เจ, และนิธิ เอียวศรีวงศ์. (2561). ความคิดแหวกแนวของไทย จิตร ภูมิศักดิ์ และโฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน (Thai Radical Discourse The Real Face of Thai Feudalism Today). แปลโดย อัญชลี สุสายัณห์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 326 หน้า.
  32. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2508). "ตำนานละครครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย", ตำนานละครอิเหนา. (พิมพ์ครั้งที่ 4). พระนคร: คลังวิทยา.
  33. นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2505). พระราชพงศาวดารพม่า เล่ม ๒. พระนคร: ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์. 296 หน้า.
  34. สุเนตร ชุตินธรานนท์. (2531). สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๑๐): ศึกษาจากพงศาวดารพม่าฉบับราชวงศ์คองบอง. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 106 หน้า. ISBN 978-974-315-313-6
  35. สมบูรณ์ บำรุงเมือง. (2544). ชุมชนโบราณเมืองพิษณุโลก. พิษณุโลก: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม. 47 หน้า.
  36. คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี. (2542). "จดหมายเหตุโหร", ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 428 หน้า. ISBN 974-419-215-1
  37. ธันวา วงศ์เสงี่ยม. (2557). "ไข้ทรพิษในสมัยอยุธยา", วารสารศิลปากร, 57(4), (กรกฎาคม-สิงหาคม 2557): 73. ISSN 0125-0531
  38. จรรยา ประชิตโรมรัน. หน้า 3.
  39. ลือหนัก! พระเจ้าเอกทัศทรงจงกรมจนเสียเมือง ? ศิลปวัฒนธรรม สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2563
  40. นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. พระราชพงศาวดารพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550, หน้า 1135-1136
  41. ขจร สุขพานิช. ข้อมูลประวัติศาสตร์ : สมัยบางกอก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2531. หน้า 269.
  42. 42.0 42.1 สองกษัตริย์สุดท้าย เก็บถาวร 2009-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วิชาการ.คอม
บรรณานุกรม
  • จรรยา ประชิตโรมรัน. การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547. ISBN 974-13-2907-5
  • นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพระราชพงศาวดารพม่า. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550. 1136 หน้า. ISBN 978-974-7088-10-6
  • ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์, 2558. 558 หน้า. ISBN 978-616-92351-0-1 [จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔)]
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  • สุเนตร ชุตินธรานนท์. (2541). สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐: ศึกษาจากพงศาวดารพม่าฉบับราชวงศ์คองบอง. สำนักพิมพ์ศยาม. หน้า 81-82.
ก่อนหน้า สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ถัดไป
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
(พ.ศ. 2301)
   
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์บ้านพลูหลวง)

(พ.ศ. 2301 — 7 เมษายน พ.ศ. 2310)
  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
(พ.ศ. 2310-2325)