สงครามเวียงจันทน์ พ.ศ. 2321
สงครามเวียงจันทน์ หรือ สงครามสยามตีเมืองเวียงจันทน์ พ.ศ. 2321 เป็นสงครามระหว่างสยามอาณาจักรธนบุรีในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ในสมัยของพระเจ้าสิริบุญสาร ผลของสงครามครั้งนี้ ทำให้อาณาจักรลาวล้านช้างทั้งสามได้แก่ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ตกเป็นเมืองขึ้นประเทศราชของสยามอาณาจักรธนบุรีและสมัยอาณาจักรรัตนโกสินทร์ในเวลาต่อมา
สงครามเวียงจันทน์ พ.ศ. 2321 | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
น้ำเงิน หมายถึง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และ อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์. แดง หมายถึง สยามและพันธมิตร | |||||||||
| |||||||||
คู่สงคราม | |||||||||
อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ |
กรุงธนบุรี อาณาจักรหลวงพระบาง อาณาจักรกัมพูชา | ||||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||||
พระเจ้าสิริบุญสาร เจ้านันทเสน พระยาสุโพ เจ้าองค์หลวงไชยกุมาร |
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ (บุญมา) พระยานครราชสีมา (ขุนชนะ) พระยาเพชรบูรณ์ (ปลี) พระเจ้าสุริยวงศ์ พระรามราชาฯนักองค์โนน | ||||||||
กำลัง | |||||||||
30,000 คน | 33,000 คน |
เหตุการณ์นำ
แก้ความขัดแย้งระหว่างเวียงจันทน์และหลวงพระบาง
แก้หลังจากรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง ปัญหาความขัดแย้งการแย่งชิงราชสมบัติภายในทำให้อาณาจักรล้างช้างแตกแบ่งออกเป็นสามอาณาจักรได้แก่ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ต่อมาในพ.ศ. 2306 พม่าภายใต้ราชวงศ์คองบองยกทัพเข้ายึดครองเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองล้านนา เปิดโอกาสให้พม่าแผ่ขยายอิทธิพลไปยังอาณาจักรลาวล้านช้าง พระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ได้ขอให้พม่ายกทัพเข้ารุกรานหลวงพระบาง[1] โปสุพลาเนเมียวสหบดีแม่ทัพพม่ายกทัพเข้าตีเมืองหลวงพระบางในพ.ศ. 2308 พระเจ้าโชติกะแห่งหลวงพระบางป้องกันเมืองหลวงพระบาง แต่ไม่สามารถต้านทานพม่าได้จนสุดท้ายยอมจำนนต่อพม่า พงศาวดารพม่าระบุว่า ฝ่ายพม่าตัดศีรษะเชลยชาวลาวหลวงพระบางจำนวนมาก กองเข้าเป็นเนินสูง[2]สร้างความหวาดกลัวให้แก่ชาวลาวหลวงพระบาง พระเจ้าโชติกะจึงจำยอมสวามิภักดิ์เป็นเมืองขึ้นประเทศราชของพม่า ส่วนพระเจ้าสิริบุญสารอ่อนน้อมยอมให้เวียงจันทน์เป็นประเทศของพม่าแต่โดยดี เป็นเหตุให้อาณาจักรหลวงพระบางและเวียงจันทน์ตกกลายเป็นประเทศราชของพม่านับแต่นั้น นอกจากนี้ พระเจ้าโชติกะแห่งหลวงพระบางจำต้องยกธิดาให้แก่พระเจ้ามังระและพม่ายังคุมเจ้าสุริยวงศ์พระอนุชาของพระเจ้าโชติกะไว้เป็นองค์ประกัน
เมื่อได้หลวงพระบางและเวียงจันทน์เป็นเมืองขึ้นแล้ว ฝ่ายแม่ทัพพม่าเนเมียวสีหบดีจึงยกทัพลงไปโจมตีกรุงศรีอยุธยา นำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในพ.ศ. 2310
พระตาพระวอ
แก้ในพ.ศ. 2310 พระตาและพระวอ สองพี่น้องขุนนางเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งได้เคยช่วยเหลือพระเจ้าสิริบุญสารให้ได้ราชสมบัติ[1][3] เกิดความขัดแย้งกับพระเจ้าสิริบุญสารเนื่องด้วยพระเจ้าสิริบุญสารไม่ตั้งพระตาให้เป็นอุปฮาด[1][3] พระตาและพระวอจึงออกมาตั้งเมืองใหม่คือนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน และประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากเวียงจันทน์ พระเจ้าสิริบุญสารส่งทัพมาตีเมืองนครเขื่อนขันธ์แต่ไม่สำเร็จ พระเจ้าสิริบุญสารสู้รบกับพระตาพระวอเป็นเวลากว่าสามปียังไม่สามารถปราบพระตาพระวอได้ พระเจ้าสิริบุญสารจึงขอความช่วยเหลือจากพระยานครราชสีมา (ขุนชนะ) ให่ช่วยยกทัพไปปราบกบฏของพระตาพระวอ
ฝ่ายพระตาพระวอขอความช่วยเหลือจากพม่าในพ.ศ. 2314 ฝ่ายพม่าส่งแม่ทัพพม่าแมละแง[3]ยกมาช่วยพระตาพระวอ แต่ทว่าพระเจ้าสิริบุญสารเจรจากับแม่ทัพพม่า แม่ทัพพม่าจึงหันมาช่วยฝ่ายเวียงจันทน์แทน[1] พระตาพระวอเผชิญกับทัพของเวียงจันทน์ซึ่งมีพม่ามาสมทบ และทัพจากนครราชสีมา จึงพ่ายแพ้พระตาสิ้นชีวิตในที่รบ ในขณะที่เจ้าพระวอหลบหนียังดอนมดแดง ขอพึ่งโพธิสมภารของพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งอาณาจักรจำปาศักดิ์เป็นที่พึ่ง ในเวลานั้นพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารเกิดความขัดแย้งกับพระอนุชาคือเจ้าอุปราชธรรมเทโว พระเจ้าองค์หลวงจึงเสด็จจากจำปาศักดิ์มาประทับที่ดอนมดแดง[4] ในพ.ศ. 2314 พระเจ้าสิริบุญสารส่งเพี้ยอรรคฮาดยกทัพมาตามตัวพระวอ แต่เจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งจำปาศักดิ์ห้ามไว้ ฝ่ายเวียงจันทน์จึงยินยอมให้เจ้าพระวออาศัยอยู่ในอาณาจักรจำปาศักดิ์ระยะหนึ่ง
ความสัมพันธ์ระหว่างธนบุรีและเวียงจันทน์
แก้พระเจ้าสิริบุญสารมีราชสาสน์มาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี "ดั่งข้ากะบถในขอบขันธเสมากรุงศรีสัตนาคนหุต ก็เกิดขัดสนซอกทางมิได้ขาด ถึงเมือเจ้าพญานครราชสิมาก็ได้เข้าชดช่วยกทำการช่วยเอาราชพร้อมกันฟาดตีเสีย ยังข้ากบถฝูงนั้น กจึ่งปราไชยไปยังต้งงอยู่ดอนมดแดง"[5]
ในพ.ศ. 2314 เจ้าสุริยวงศ์ได้ขึ้นครองราชสมบัติหลวงพระบาง พระเจ้าสุริยวงศ์แห่งหลวงพระบางมีความโกรธแค้น[1]ต่อพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ จึงยกทัพจากหลวงพระบางเข้าโจมตีเมืองเวียงจันทน์ในพ.ศ. 2314 พระเจ้าสิริบุญสารขอความช่วยเหลือจากพม่าที่เชียงใหม่ให้ช่วยยกทัพมาโจมตีเมืองหลวงพระบาง และพระเจ้าสิริบุญสารยังทูลพระเจ้าอังวะคือพระเจ้ามังระว่า ฝ่ายสยามแม้ว่าจะกรุงศรีอยุธยาแตกสลายพ่ายแพ้ให้แก่พม่านั้น กลับตั้งตัวฟื้นฟูขึ้นมาได้อีกภายใต้การนำของพระยาตากและตั้งราชธานีใหม่ที่บางกอก[6] พระเจ้ามังระจึงทรงจัดทัพพม่าเข้ามาปราบปรามสยามอีกครั้ง โดยมีพระราชโองการให้โปสุพลาเนเมียวสีหบดียกทัพพม่าจากเชียงใหม่เข้าตีเมืองหลวงพระบางแล้วลงต่อไปตีกรุงธนบุรี เนเมียวสีหบดียกทัพพม่าจากเชียงใหม่และน่านเข้าโจมตีเมืองหลวงพระบางอีกครั้งในพ.ศ. 2314 ทำให้พระเจ้าสุริยวงศ์จำต้องถอนทัพจากเวียงจันทน์กลับขึ้นมาป้องกันหลวงพระบาง สุดท้ายพระเจ้าสุริยวงศ์จึงยอมแพ้ต่อเนเมียวสีหบดีพม่าอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้พระเจ้าสิริบุญสารจำต้องส่งธิดาให้แก่พระเจ้ามังระเป็นองค์ประกันด้วย
สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จกรีฑาทัพขึ้นตีเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จในพ.ศ. 2317-2318 เมื่อฝ่ายสยามธนบุรีได้หัวเมืองเชียงใหม่และล้านนาเข้ามาในครอบครองแล้ว ทำให้อำนาจของพม่าในอาณาจักรล้านช้างเสื่อมลง เมื่อครั้งได้เมืองเชียงใหม่นั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพบข้าหลวงขุนนางลาวเวียงจันทน์อยู่ในกองทัพพม่า[7] เป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงคลางแคลงพระทัย[7]ว่าพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์นั้นให้การสนับสนุนแก่พม่า ในพ.ศ. 2318 ทรงมีพระราชสาสน์ถึงพระเจ้าสุริยวงศ์แห่งหลวงพระบางเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี[8] พระเจ้าสุริยวงศ์มีความยินดีรับเอาพระราชไมตรีจากธนบุรีไว้ และทรงมีพระราชสาสน์ถึงเสนาบดีกรุงเวียงจันทน์ทรงตำหนิฝ่ายเวียงจันทน์ว่าละทิ้งพระราชไมตรีไปเข้ากับฝ่ายพม่า[9] "...สาอไรแก่กรุงบุรัตนอังวะ ปรการไดที่ใหญ่กวากรุงรัตนบุระอังวะกดีทิจงพระไทยแล้ว เหนไม่พ้นเงิอมพระหัษฐ บัดนี้หมายพระไทอาจขึ้นไปเอากรุงรัตนบุระอังวะมาใช้เปนข้า แตกรุงศรีสัตนาคนหุต เปนกัลยานิมิตรสนิดเสน่หากับกรุงเทพ ฯ มาแต่ก่อนแล้ ละคลองราชปรเพณีเสีย เปนไจไปด้วยพม่ากรุงอังวะ..."[5] พระเจ้าสิริบุญสารจึงมีพระราชสาสน์มาแก้ว่า ฝ่ายเวียงจันทน์จำยอมส่งทัพเข้าช่วยฝ่ายพม่า เนื่องจากโปสุพลาแม่ทัพพม่าได้ยกทัพมาข่มเหงเมืองเวียงจันทน์ นำตัวโอรสธิดาของพระเจ้าสิริบุญสารไปเป็นองค์ประกันที่อังวะ และฝ่ายพม่าได้มีคำสั่งให้เวียงจันทน์ยกทัพมาตีสยามทางนครราชสีมาแต่พระเจ้าสิริบุญสารงดไว้เนื่องจากเห็นแก่พระราชไมตรี[9] "...โทรมนัศขัดแค้นกระมลราชหฤๅไทยเปนใหญ่หลวง ว่าต้องข่มเหงเสียราชบุตรราชนัดดาไป ใม่เลิ้ยงดูอดสูแล้วหมี่หนำซ้ำให้ส่งบรรณาการดอกไม้ทองเงินอีกเล่า ถ้ามิใช่พระเจ้านครศรีสัตนาคนหุตก็จะสู้เสียพระชนที่ใหนจะทนทานมาได้ถึงเพียงนี้..."[5] นอกจากนี้ พระเจ้าสิริบุญสารยังเสนอยกพระธิดาคือนางแก้วยอดฟ้ากัลยาณีถวายแด่สมเด็จพระเจ้าตากสิน สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระราชสาสน์ตอบไปในปีพ.ศ. 2319 "ให้อรรคมหาเสนาธิบดีณกรุงเทพ ฯ จัดแจงขึ้นไปแห่แหนรับพระยอดแก้วกัลยานีศรีกระษัตริยลงมาในเดือนยี่"[5] แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่ได้มีการไปรับนางแก้วยอดฟ้าฯมาที่ธนบุรีแต่อย่างใด
ตีเมืองจำปาศักดิ์ พ.ศ. 2320
แก้ส่วนนี้ต้องเรียบเรียงใหม่เนื่องจาก 1. เล่าย้อนไปมา, 2. ขาดอ้างอิง |
ความขัดแย้งระหว่างจำปาศักดิ์กับสยามมีมายาวนานตั้งแต่ยุคสมัยอาณาจักรอยุธยา ในปี พ.ศ. 2308 นครจำปาศักดิ์สูญเสียเมืองหน้าด่านสำคัญอย่าง เมืองท่งศรีภูมิ ซึ่งเป็นเมืองของพระญาติวงศ์สำคัญของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ พระองค์แรก อย่างเจ้าแก้วมงคล ผู้สืบเชื้อสายแห่งราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ ผู้เป็นปฐมราชวงศ์เจ้าจารย์แก้ว บรรพชนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งของเจ้าเมืองทั่วภาคอีสาน ได้ครองเมืองท่งศรีภูมิตั้งแต่ปีพ.ศ. 2256 เป็นเมืองเจ้าประเทศราชขึ้นกับอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ต่อมาในปีพ.ศ. 2308 พระนัดดาของเจ้าแก้วมงคล พระนามว่า เจ้าเซียง ได้พยายามแย่งชิงเอาเมืองท่งจากเจ้าอาว์ นามว่า เจ้าสุทนต์มณี (เจ้าเมืองท่งศรีภูมิท่านที่3 และเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดท่านแรก) จึงได้นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายแด่ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แห่งอาณาจักรอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาจึงโปรดเกล้าส่งกำลังพลไปช่วยเจ้าเซียง จนสามารถยึดเมืองท่งศรีภูมิจากเจ้าอาว์ได้เป็นผลสำเร็จ จึงส่งผลให้เมืองท่งศรีภูมิถูกตัดขาดจากอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ไปขึ้นกับอาณาจักรอยุธยามานับตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งต่อมาเป็นปัจจัยสำคัญต่อความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรกรุงธนบุรีและอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์และเมืองขึ้นของนครจำปาศักดิ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรธนบุรีในเวลาต่อมา เนื่องด้วยความขัดแย้งที่มีมาอย่างช้านาน ร่วม 10 กว่าปี จึงก่อให้เกิดสงครามครั้งแรกระหว่างกรุงธนบุรีกับอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมาพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งจำปาศักดิ์ยังคงมีความขัดแย้งกับ เจ้าอุปราชธรรมเทโวหรือเจ้าอุปฮาดเมืองนครจำปาศักดิ์ ผู้เป็นพระอนุชา และพระโอรสทั้งสองของเจ้าอุปราชธรรมเทโว คือเจ้าโอและเจ้าอิน ซึ่งพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร ขณะนั้นมีอำนาจที่อ่อนแอ ไม่สามารถบังคับหรือสั่งการคนในราชวงศ์หรือผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาได้ ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากกรณีที่เจ้าเมืองนางรองเกิดความขัดแย้งกับพระยานครราชสีมา (ขุนชนะ) จึงก่อกบฏต่อกรุงธนบุรีโดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าโอ เจ้าเมืองอัตปือ ,เจ้าอิน อุปฮาดเมืองอัตปือ และเจ้าอุปราชธรรมเทโว เจ้าอุปฮาชเมืองจำปาศักดิ์ ซึ่งพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารยังมิได้เห็นชอบให้กระทำ แต่ทั้ง 3 ท่านกลับกระทำโดยพลการ[10] และเนื่องด้วยทางเมืองจำปาศักดิ์ เคยสูญเสียเมืองหน้าด่านที่สำคัญอย่างเมืองท่งศรีภูมิให้แก่อยุธยา ไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และมีความไม่พอใจหรือคับแค้นใจเป็นทุนเดิมที่ทางอาณาจักรอยุธยาหรือสยามมีการแทรกแซงอำนาจแย่งเมืองท่งให้ไปขึ้นกับอาณาจักรของตน ทำให้อำนาจของอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์มีความอ่อนแอลงไปอย่างมาก เพื่อต้องการฟื้นฟูอำนาจที่เสียไปและต้องการเมืองขึ้นใหม่เพื่อทดแทนเมืองหน้าด่านที่เคยเป็นป้อมปราการสำคัญที่ใช้ยันกับอาณาจักรอยุธยาและล้านช้างเวียงจันทน์ เมื่อครั้งในอดีต ทางเมืองจำปาศักดิ์จึงให้การยอมรับและให้การสนับสนุนช่วยเหลือพระยานางรองอย่างเต็มที่ ต่อมาพระยานครราชสีมาจึงมีใบบอกลงมายังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกทัพไปจับกุมตัวพระยานางรองลงมาสอบสวนที่ธนบุรี พบว่าพระยานางรองมีความผิดจริงจึงลงพระราชอาญาประหารชีวิตพระยานางรอง และมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพไปสมทบกับเจ้าพระยาจักรีที่นครราชสีมา ทั้งเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปโจมตีเมืองจำปาศักดิ์ เพื่อเป็นการสั่งสอนและตอบโต้กลับ พระยาสุรสีห์จึงสั่งประหารชีวิต เจ้าโอ ,เจ้าอิน และเจ้าอุปราชธรรเทโวหรือเจ้าอุปราชเมืองจำปาศักดิ์ที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือกบฎพระยานางรอง และสามารถยึดเมืองจำปาศักดิ์ เมืองโขง และเมืองอัตตะปือได้สำเร็จ ภายหลังเสร็จศึก พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารจึงยอมอ่อนน้อมยอมส่งเครื่องบรรณาการต้นไม้เงินต้นไม้ทองให้แก่พระเจ้ากรุงธนบุรี จากสาเหตุที่พระองค์ทรงยอมรับผิดที่คนในบังคับบัญชาของพระองค์กระทำการโดยมิชอบและจากการที่ถูกฝ่ายกรุงธนบุรีบีบบังคับให้เป็นเมืองขึ้น ส่งผลให้อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์จึงตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงธนบุรีในปีเดียวกัน (พ.ศ. 2319-2320) จากนั้นเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์จึงเลิกทัพกลับธนบุรี
หลังจากสงครามตีเมืองจำปาศักดิ์ เจ้าพระยาจักรีมีความชอบ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งให้เจ้าพระยาจักรีขึ้นดำรงยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อเดือนหก (พฤษภาคม) พ.ศ. 2320 นามว่าสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหิมา ทุกนัคราระอาเดชฯ[11][10]
บรรดาหัวหน้าชุมชนชาวกูยและชาวเขมรบนในหัวเมืองเขมรป่าดง (ประกอบด้วยบริเวณพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน) ซึ่งได้เคยสวามิภักดิ์ต่ออยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองในยศระดับพระ[12] มีการยกเมืองขึ้นใหม่ได้แก่เมืองขุขันธ์ เมืองสังขะ และเมืองปะทายสมันต์หรือเมืองสุรินทร์ ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ในสงครามตีเมืองจำปาศักดิ์เมื่อพ.ศ. 2320 นี้ บรรดาเจ้าเมืองเหล่านี้ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อกรุงธนบุรี[10] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเลื่อนเจ้าเมืองเขมรป่าดงเหล่านั้นขึ้นมาในระดับยศ"พระยา"ในราชทินนามเดิม[12] ในพ.ศ. 2321
- พระไกรภักดี (ตากะจะ) เป็น พระยาไกรภักดีศรีลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์
- พระสังขะบุรี (เชียงขะ) เป็น พระยาสังขะบุรีศรีนครอัจจะ เจ้าเมืองสังขะบุรี
- พระสุรินทร์ภักดี (เชียงปุ่ม) เป็น พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์ เจ้าเมืองปะทายสมัน (สุรินทร์)
และเนื่องด้วยสงครามครั้งนี้เป็นสงครามครั้งแรกที่เกิดขึ้นกันระหว่างอาณาจักรธนบุรีกับอาณาจักร์ของชาวลาวล้านช้าง จึงเป็นสาเหตุที่แท้จริงหรือสาเหตุเริ่มต้นที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเริ่มหันเหและให้ความสนใจที่จะขยายอิทธิพลเข้าไปยึดครองอาณาจักรลาวล้านช้างทั้ง3และหัวเมืองขึ้นอื่นๆอีกมากมาย จากกรณีกบฎพระยานางรอง ทำให้มองเห็นว่าอำนาจของกรุงธนบุรียังอ่อนแออยู่มาก ดังนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงส่งพระยาพรหม พระยากรมท่า ได้ขึ้นมาจัดราชการที่เมืองทุ่ง ในปี พ.ศ. 2318 และรวบร่วมกำลังพล เพื่อวางแผนเตรียมขยายอาณาเขตของกรุงธนบุรีเข้าไปในเขตเมืองจำปาศักดิ์และเมืองเวียงจันทน์ คือการตั้งเมืองร้อยเอ็ด มีพระขัติยะวงษา (ท้าวทนต์) เป็นเจ้าเมืองคนแรก ตามคำขอเรียนเมือง ยกบ้านกุ่มฮ้างขึ้นเป็นเมืองร้อยเอ็ด และมีการแบ่งอาณาเขตระหว่างเมืองท่งศรีภูมิกับเมืองร้อยเอ็ดอย่างชัดเจน จากกรณีนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังใช้เมืองร้อยเอ็ด เมืองท่ง(สุวรรณภูมิ) เป็นหมากสำคัญในการเดินเกมส์ทางการเมือง และใช้กรณีพิพาทกันระหว่างพระวอพระตากับเจ้าสิริบุญสารเป็นปัจจัยเสริมเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการขยายอิทธิพลเข้าไปยึดครองอาณาจักรล้านช้างทั้ง 3 ได้แก่ อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ อาณาจักรหลวงพระบาง[13]
พระวอถูกสังหาร
แก้ในปลายปีพ.ศ. 2320 พระวอซึ่งอยู่กับเจ้าองค์หลวงไชยกุมารที่จำปาศักดิ์ เกิดความขัดแย้งระหว่างพระวอและเจ้าองค์หลวงฯ และด้วยความหวาดระแวงของพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เนื่องด้วยสาเหตุ คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2308 เป็นต้นมา เมืองทุ่ง(สุวรรณภูมิ) ขาดจากอำนาจของเมืองจำปาศักดิ์ ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา และเมืองทุ่งร่วมมือกับกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีให้เขตปลอดภัยกับกลุ่มพระวอที่แตกทัพมา ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่ากรุงธนบุรีจะขยายอำนาจมาถึงเมืองจำปาศักดิ์ โดยใช้เมืองทุ่งและกลุ่มพระวอเป็นเครื่องมือทางการเมือง[13] และเนื่องจากพระวอได้สร้างกำแพงของเมืองจำปาศักดิ์ใหม่ให้แก่เจ้าองค์หลวงฯ เพื่อต้องการที่จะประจบหรือเอาใจเจ้าองค์หลวงฯ พระวอจึงถามเจ้าองค์หลวงฯว่าระหว่างผู้สร้างกำแพงเมืองและผู้สร้างหอคำถวาย ใครดีกว่ากัน เจ้าองค์หลวงด้วยความหวาดระแวงและไม่ไว้ใจพระวอเนื่องด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จึงตรัสตอบไปแบบตรงๆว่า "กำแพงนั้นดีอยู่เป็นที่ป้องการอริราชศัตรูหมูมาร แต่หอคำนั้นยังประเสริฐกว่าสักหน่อย ด้วยได้นั่งนอนตื่นหลับเป็นที่สบาย"[4] พระวอได้ฟังดังนั้นจึงน้อยใจ จึงย้ายมาตั้งอยู่ที่ดอนมดแดงตามเดิม และส่งบุตรชายคือท้าวก่ำเป็นผู้แทนคุมเครื่องบรรณาการไปยังเมืองนครราชสีมาเพื่อถวายเข้าสวามิภักดิ์เป็นข้าขัณฑสีมาของกรุงธนบุรี[10]
ฝ่ายพระเจ้าสิริบุญสารทราบข่าวว่าเจ้าพระวอเกิดความขัดแย้งกับเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งจำปาศักดิ์ จงส่งพระยาสุโพยกทัพลงมาโจมตีเจ้าพระยาวอ เจ้าพระวอขอความช่วยเหลือจากเจ้าองค์หลวงฯแต่ครั้งนี้เจ้าองค์หลวงไม่ช่วยเหลือพระวอ เป็นผลให้พระวอถูกพระยาสุโพจับได้สังหารสิ้นชีวิตในสนามรบ บุตรของพระวอคือท้าวก่ำได้แจ้งแก่ทางกรมการเมืองนครราชสีมาว่าเจ้าพระวอถูกทัพเวียงจันทน์สังหารในที่รบ
สมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อทรงทราบว่าเจ้าพระวอถูกทัพเวียงจันทน์สังหารจึงทรงพระพิโรธ[10] ว่าเจ้าพระวอได้ถวายเครื่องบรรณาการเป็นข้าขัณฑสีมาของกรุงธนบุรีแล้วพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ยังส่งทัพมาสังหารพระวอ จึงมีพระราชโองการให้จัดทัพเข้าโจมตีอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ในเดือนอ้าย (ธันวาคม) พ.ศ. 2321 โดยมีสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯและเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) นำทัพจำนวน 20,000[14] คนไปทางนครราชสีมา
สงครามตีเวียงจันทน์
แก้เกณฑ์ทัพกัมพูชา
แก้เมื่อถึงเมืองนครราชสีมาแล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมีคำสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์เดินทางไปยังกัมพูชา เพื่อไปเกณฑ์ทัพที่กัมพูชา ให้ได้จำนวน 10,000[10] คน จากนั้นยกทัพล่องไปตามแม่น้ำโขงผ่านแก่งหลี่ผี เพื่อเข้าโจมตีเมืองจำปาศักดิ์และเมืองเวียงจันทน์ต่อไปอีกทางหนึ่ง จากนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พร้อมทั้งพระยานครราชสีมา (ขุนชนะ) ยกทัพสยามจากนครราชสีมา ไปทางเมืองภูเขียวและหนองบัวลำภู เข้าโจมตีเมืองเวียงจันทน์
เจ้าพระยาสุรสีห์เดินทางไปยังกรุงกัมพูชาเมืองอุดงบันทายเพชร ถ่ายทอดคำสั่งให้แก่สมเด็จพระรามราชาฯนักองค์โนนกษัตริย์กัมพูชาซึ่งฝักใฝ่สยาม ให้เกณฑ์ทัพชาวเขมรให้ได้หมื่นหนึ่งแล้วยกไปตีเมืองเวียงจันทน์ พระรามราชานักองค์โนนจึงมีพระราชโองการให้เกณฑ์ไพร่พลเขมรจากเมืองกำปงสวาย เมืองศรีสุนทร เมืองไพรแวง และเมืองตะโบงคมุม[15] จนได้จำนวนหนึ่งหมื่นคน แล้วมอบให้แก่เจ้าพระยาสุรสีห์เดินทางยกขึ้นไปตามแม่น้ำโขง อีกทั้งพระรามราชานักองค์โนนยังทรงสัญญาว่าจะเกณฑ์เสบียงข้าวส่งให้แก่เจ้าพระยาสุรสีห์ขึ้นไปอีก[15]
สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปพบกับทัพลาวที่หนองบัวลำภู[16] นำไปสู่การรบที่หนองบัวลำภู ฝ่ายสยามได้รับชัยชนะ ทำให้พระยาสุโพแม่ทัพลาวจำต้องถอยกลับไปตั้งมั่นที่เวียงจันทน์
ฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพจากเมืองอุดงไปตามแม่น้ำโขง ผ่านเมืองสมบุกเมืองสมบูรณ์ จนถึงน้ำตกแก่งหลี่ผี เจ้าพระยาสุรสีห์มีคำสั่งให้เกณฑ์พลชาวเขมรและลาวขุดคลองอ้อมแก่งหลี่ผี[10][14]เพื่อยกทัพเรือขึ้นไปเมืองลาวต่อไป (พงษาวดารกัมพูชาระบุว่าทลายหินแก่งและยกเรือข้ามแก่งไป)[15] เมือขุดคลองเสร็จแล้ว เจ้าพระยาสุรสีห์จึงยกทัพผ่านทางคลองขุดอ้อมแก่งลี่ผีไป
ตีเมืองจำปาศักดิ์ นครพนม และหนองคาย
แก้เจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพเขมรเข้าโจมตีเมืองจำปาศักดิ์และเมืองโขงสีทันดร เจ้าองค์หลวงไชยกุมารกษัตริย์จำปาศักดิ์เสด็จหลบหนีไปยังเกาะไชย ซึ่งสาเหตุที่ทางกรุงธนบุรีส่งกองทัพไปตีเมืองจำปาศักดิ์ ในครั้งที่ 2 แม้ว่าเมืองจำปาศักดิ์จะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงธนบุรีอยู่ก่อนหน้าแล้ว เนื่องจากสาเหตุมาจากเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร ไม่ได้ส่งกองทัพไปช่วยเหลือพระวอ ซึ่งก็เป็นฝ่ายที่อยู่ภายใต้อารักขาของอาณาจักรกรุงธนบุรีเช่นเดียวกัน[4] ต่อมาฝ่ายสยามสามารถจับกุมเจ้าไชยกุมารได้ส่งลงมายังกรุงธนบุรี จากนั้นเจ้าพระยาสุรสีห์จึงยกทัพไปตียึดเมืองนครพนมได้สำเร็จ ในเดือนมีนาคม (เมืองนครพนมเดิมอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ที่เมืองท่าแขกในปัจจุบัน ต่อมาในรัชกาลที่ 1 จึงย้ายมาฝั่งขวาแม่น้ำโขง)[3] พระบรมราชา (กู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนมหลบหนีออกจากเมืองและล้มป่วยถึงแก่กรรม เจ้าพระยาสุรสีห์ยกต่อไปยึดเมืองหนองคายได้สำเร็จ
ในเวลานั้น พระเจ้าสุริยวงศ์แห่งหลวงพระบาง ซึ่งมีความแค้นเคืองต่อพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์อยู่เดิม เมื่อทราบว่าฝ่ายสยามยกทัพจำนวนมากขึ้นมีโจมตีเมืองเวียงจันทน์ พระเจ้าสุริยวงศ์จึงเข้าสวามิภักดิ์ต่อสยามและมอบกองกำลังจำนวน 3,000[8] คน เข้าช่วยสยามในการตีเมืองเวียงจันทน์ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงมีคำสั่งให้พระยาเพชรบูรณ์[10][14] (ปลี) เจ้าเมืองเพชรบูรณ์ เป็นผู้นำทัพลาวหลวงพระบางเข้าโจมตีเมืองเวียงจันทน์ทางเหนืออีกทางหนึ่งเป็นทางที่สาม
ตีเมืองพะโค เวียงคุก และพานพร้าว
แก้ทัพฝ่ายไทยเข้าโจมตีเมืองเมืองพะโค (หรือปะโค ตำบลปะโค อำเภอเมืองหนองคาย) และเมืองเวียงคุก (ตำบลเวียงคุก) ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้กับเมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองหน้าด่าน ยังไม่สามารถเข้ายึดเมืองได้ เจ้าพระยาสุรสีห์จึงมีคำสั่งให้ตัดศีรษะชาวลาวเมืองหนองคายจำนวนมากใส่ลงเรือ[10] แล้วให้หญิงชาวลาวพายเรือไปหน้าเมืองพะโค ป่าวประกาศร้องขายศีรษะชาวลาว ทำให้ชาวลาวเมืองพะโคมีความหวาดกลัวและท้อถอย ทัพฝ่ายไทยจึงสามารถเข้ายึดเมืองพะโคและเมืองเวียงคุกได้ในที่สุดในเดือนมีนาคม
สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพเข้าโจมตีเมืองพานพร้าว (อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย) ซึ่งอยู่ต่อหน้าตรงข้ามเมืองเวียงจันทน์บริเวณลานช้างข้าม ชาวเมืองพานพร้าวออกสู้รบเป็นสามารถ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกสามารถยึดเมืองพานพร้าวได้ชาวลาวถูกสังหารจำนวนมาก[10] แล้วทัพสยามจึงยกข้ามแม่น้ำโขงเข้าล้อมเมืองเมืองเวียงจันทน์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2322
ล้อมเมืองเวียงจันทน์
แก้เมื่อฝ่ายสยามเข้าล้อมเมืองเวียงจันทน์แล้ว พระเจ้าสิริบุญสารมีพระราชโองการให้ทำการป้องกันเมือง เกณฑ์ไพร่พลขึ้นรักษาเชิงเทนรอบเมือง พระเจ้าสิริบุญสารให้พระโอรสคือเจ้านันทเสนขี่ช้างพลายชื่อคำเพียงสูงหกศอกสามนิ้ว[10][14] ยกทัพลาวเวียงจันทน์ออกมาสู้รับกับทัพไทย แต่ไม่สามารถขับทัพไทยออกไปได้ ทัพไทยได้รับชัยชนะชาวลาวล้มตายจำนวนมาก เจ้านันทเสนจึงถอยทัพกลับเข้าเวียงจันทน์
การล้อมเมืองเวียงจันทน์ดำเนินไปเป็นเวลาประมาณสี่เดือน จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าสิริบุญสารเห็นว่าเหลือกำลังที่จะต้านทานทัพสยามได้อีกต่อไป จึงเสด็จลงเรือพร้อมกับพระโอรสคือเจ้าอินทรและเจ้าพรหมพร้อมข้าหลวงคนสนิทโดยมิให้ใครล่วงรู้ พระเจ้าสิริบุญสารเสด็จหนีไปถึงเมืองคำเกิด ฝ่ายเจ้านันทเสนเมื่อทราบว่าพระเจ้าสิริบุญสารบิดาของตนได้หลบหนีไปจากเวียงจันทน์แล้ว จึงยอมแพ้และเปิดประตูเมือง[1] ฝ่ายสยามนำโดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์จึงสามารถเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ได้ในที่สุด เมื่อวันแรม 3 ค่ำ เดือนสิบ[5] (28 กันยายน พ.ศ. 2322)
เมื่อได้เมืองเวียงจันทน์แล้ว ฝ่ายสยามจึงกวาดต้อนชาวลาวเมืองเวียงจันทน์ทั้งหมด รวมทั้งพระโอรสของพระเจ้าสิริบุญสารได้แก่ เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ พระธิดาคือนางแก้วยอดฟ้ากัลยาณี[1] เชื้อพระวงศ์ลาวเวียงจันทน์ นางสนมพระกำนัลท้าวเพี้ยขุนนางใหญ่น้อยและศัสตราวุธทั้งปวง ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาที่เมืองพานพร้าว[10] นอกจากนี้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้อาราธนาพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตและพระบางจากเวียงจันทน์มาประดิษฐานไว้ที่พานพร้าวเป็นการชั่วคราว สร้างพระอารามขึ้นใหม่ที่เมืองพานพร้าวไว้เป็นที่ประดิษฐาน แล้วสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงมีหนังสือบอกลงมากราบทูลฯที่กรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระโสมนัสทรงมีท้องตราพระราชกำหนดให้เลิกกองทัพกลับธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตั้งให้พระยาสุโพและขุนนางลาวบางส่วนอยู่รั้งรักษาเมืองเวียงจันทน์ แล้วจึงนำชาวลาวเวียงจันทน์เชื้อพระวงศ์และทรัพย์สินอาวุธกลับมายังกรุงธนบุรี
สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางขึ้นราชรถ มาถึงเมืองสระบุรีในเดือนยี่ (มกราคม) พ.ศ. 2323[10] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนิมนต์พระสังฆราชและพระราชาคณะทั้งปวงให้ขึ้นไปรับพระแก้วมรกตที่สระบุรี เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์พระโอรสเสด็จไปรับพระแก้วมรกตที่ท่าเจ้าสนุก เมื่อพระแก้วมรกตมาถึงบางธรณี (ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี) สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคพร้อมขบวนนาวาพยุหยาตราแห่ไปรับพระแก้วมรกต ทรงให้สร้างโรงประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบางขึ้นริมอุโบสถวัดแจ้ง ตั้งเครื่องสักการะบูชาอย่างมโหฬารมีงานมหรสพถวายพระพุทธรูปเป็นเวลาสามวัน[10]
ผลลัพธ์และเหตุการณ์สืบเนื่อง
แก้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตั้งให้พระยาสุโพเป็นผู้รักษาเมืองเวียงจันทน์ภายใต้อำนาจของสยาม อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์จึงขาดกษัตริย์อยู่เป็นเวลาสี่ปี จนกระทั่งพระเจ้าสิริบุญสารซึ่งหลบหนีไปอยู่เมืองคำเกิดนั้น กลับมายึดอำนาจสังหารพระยาสุโพและตั้งตนขึ้นครองเวียงจันทน์ตามเดิมในพ.ศ. 2324 พระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ถึงแก่พิราลัยในพ.ศ. 2324 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งให้เจ้านันทเสน พระโอรสของพระเจ้าสิริบุญสาร ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเวียงจันทน์ต่อมา และในพ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯพระราชทานให้เจ้านันทเสนกลับไปครองเมืองล้านช้างเวียงจันทน์สืบไป[18] เจ้านันทเสนได้อัญเชิญพระบางกลับไปเวียงจันทน์ด้วย
สมเด็จพระเจ้าตากสินพระราชทานพระราชานุญาตให้เจ้าองค์หลวงไชยกุมารกลับไปครองอาณาจักรจำปาศักดิ์ตามเดิม เป็นประเทศเมืองขึ้นของธนบุรี ในขณะที่เจ้าสุริยวงศ์แห่งหลวงพระบางนั้น เอกสารฝ่ายไทยระบุว่ายินยอมเป็นประเทศราชเมืองขึ้นของไทย ส่วนเอกสารลาวระบุว่าเจ้าสุริยวงศ์ถูกบังคับให้เป็นเมืองขึ้นของธนบุรี[19] อาณาจักรลาวล้านช้างทั้งสามได้แก่ อาณาจักรหลวงพระบาง อาณาจักรเวียงจันทน์ และอาณาจักรจำปาศักดิ์ จึงตกเป็นประเทศราชเมืองขึ้นของสยามนับแต่นั้น
การยึดอำนาจในกัมพูชา
แก้ฝ่ายทางเมืองกัมพูชา เมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์ได้ยกทัพข้ามแก่งหลี่ผีไปแล้วนั้น สมเด็จพระรามราชาฯนักองค์โนนกษัตริย์กัมพูชามีพระราชโองการให้ออกญาพระคลัง (ธม) ไปตั้งกองสีข้าวเกณฑ์เสบียงที่เมืองกำปงธม เพื่อส่งให้แก่กองทัพไทย ออกญาพระคลัง (ธม)[15] เกณฑ์ราษฏรกัมพูชาใช้แรงงานสีข้าว และไพร่เกณฑ์บางส่วนจากเมืองกำปงสวายหนีทัพกลับมา ราษฏรเมืองกำปงธมและเมืองกำปงสวายที่ได้รับความเดือดร้อนจึงรวมกันเป็นกบฏเข้าสังหารออกญาพระคลัง (ธม) ไปเสีย สมเด็จพระรามราชาฯทราบความทรงพิโรธให้จับขุนนางผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาลงพระอาญา ออกญาเดโช (แทน) เจ้าเมืองกำปงสวาย ตัดสินใจเป็นกบฏต่อพระรามราชา สมเด็จพระรามราชาให้เจ้าฟ้าทะละ (มู) ซึ่งเป็นพี่ชายของออกญาเดโช (แทน) ยกทัพไปปราบกบฏ ปรากฏว่าเจ้าฟ้าทะละ (มู) ไปเข้ากับฝ่ายกบฏเสียเอง[15]
เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ขอความช่วยเหลือจากเหงียนฟุ๊กอั๊ญหรือองเชียงสือ เจ้าญวนใต้ที่เมืองไซ่ง่อนซึ่งกำลังตั้งมั่นต่อสู้กับเต็ยเซินในขณะนั้น องเชียสือส่งกองทัพญวนเวียดนามนำโดยโด๋ทัญเญิน[20] (Đỗ Thanh Nhơn, 杜清仁) เข้ามาสนับสนุนเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) สมเด็จพระรามราชาฯนักองค์โนน เสด็จยกทัพจากเมืองอุดงไปสู้รบกับกบฏและทัพญวน ให้ออกญาวิบูลราช (โส) เป็นผู้รักษาเมืองอุดง ปรากฏว่าออกญาวิบูลราชไปสมคบคิดกับญวนให้ยกทัพเข้ามายึดเมืองอุดงได้สำเร็จ ทัพญวนเผาทำลายเมืองอุดง สมเด็จพระรามราชาสู้รบกับทัพญวนที่กำปงฉนังทรงพ่ายแพ้ ทัพญวนเขมรจับองค์พระรามราชานักองค์โนนกษัตริย์กัมพูชาใส่กรงแล้วนำมาสำเร็จโทษประหารชีวิตที่บึงขยอง ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2322[15] นั้น ออกญาวิบูลราช (โส) นำพระโอรสสี่องค์ของพระรามราชาที่เมืองอุดงมาพิฆาตเสีย และยกนักองค์เองพระชัณษาเพียง 7 ปี ขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชาองค์ต่อมา
กวาดต้อนชาวลาว
แก้หลังจากยึดเมืองเวียงจันทน์ได้สำเร็จแล้ว ฝ่ายสยามกวาดต้อนชาวลาวเวียงจันทน์จำนวนกว่าหมื่นคน[9]มาสู่ภาคกลางของสยาม โดยฝ่ายสยามแบ่งชาวลาวออกตามฐานะทางสังคม ชาวลาวฐานะสูงได้แก่เจ้าเชื้อพระวงศ์ได้รับพระราชทานให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บางยี่ขัน[21] ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากับบ้านของเจ้าพระยาสุรสีห์[21]หรือต่อมาคือพระราชวังบวรสถานมงคล เชื้อพระวงศ์ลาวในกรุงธนบุรียังคงดำรงฐานะเดิมมีข้าหลวงติดตาม บริเวณบางยี่ขันนั้นต่อมาเรียกว่า"วังเจ้าลาว"เนื่องจากเป็นที่ประทับของเจ้านายลาว ได้แก่ เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ และนางแก้วยอดฟ้ากัลยาณีหรือนางเขียวค่อม[21]ธิดาของพระเจ้าสิริบุญสาร
ชาวลาวสามัญชนตั้งถิ่นฐานที่บางไส้ไก่[21]ในธนบุรี และตามหัวเมืองต่างๆได้แก่สระบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี และนครไชยศรี[21] แรงงานชาวลาวมีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างเมืองกรุงเทพรัตนโกสินทร์ต่อมาในพ.ศ. 2326 โดยพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ระบุว่า มีการเกณฑ์ชาวลาวจำนวน 5,000[18] คนเป็นแรงงานในการก่อสร้างกำแพงเมืองกรุงเทพ ชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาในพ.ศ. 2322 นี้ เรียกว่า ชาว"ลาวเวียง"
นอกจากชาวลาวแล้ว หลังจากยึดได้เมืองเวียงจันทน์ ฝ่ายสยามได้มอบหมายให้ทางเมืองหลวงพระบางยกทัพไปตีเมืองทันต์ หรือเมืองหงีเมืองม่วย[22] ในบริเวณสิบสองจุไท กวาดต้อนชาวไทดำหรือลาวโซ่งมาไว้ที่เมืองเพชรบุรี ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2323
ความขัดแย้งต่อเนื่องระหว่างเวียงจันทน์และหลวงพระบาง
แก้เจ้าสุริยวงศ์แห่งหลวงพระบางถึงแก่พิราลัยเมื่อพ.ศ. 2334 ในสมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าอนุรุทธขึ้นครองราชสมบัติหลวงพระบางต่อมาโดยได้รับการรับรองจากกรุงเทพฯ นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างเจ้าอนุรุทธกับนางแทนคำมเหสีของเจ้าสุริยวงศ์[9] พระเจ้ากวางจุง (Quang Trung) เหงียนเหวะ (Nguyễn Huệ) ส่งทัพญวนเข้ารุกรานหลวงพระบางสองครั้งในพ.ศ. 2333 และพ.ศ. 2334[23][24] หลวงพระบางจำยอมต้องส่งบรรณาการให้แก่ญวนเต็ยเซิน[1][9] และในพ.ศ. 2334 แม่ทัพญวนเต็ยเซินชื่อว่า เจิ่นกวางเสี่ยว[9] (Trần Quang Diệu, 陳光耀) ยังยกทัพเข้ารุกรานนครพนมและเวียงจันทน์ เจ้านันทเสนนำทัพลาวออกสู้ญวนที่เมืองพวนได้รับชัยชนะ[18] "ศักราชได้ ๑๕๓ ปีไค้ เจ้าปาสักนิพพาน เมืองเวียงจัน เมืองละคร เจ้าสมพมิตแตกแกวก็แม่นปีนั้นแล"[25] ในพ.ศ. 2334 เจ้านันทเสนแห่งเวียงจันทน์มีใบบอกลงมากราบทูลที่กรุงเทพฯว่าเจ้าอนุรุทธแห่งหลวงพระบางนั้นเป็นกบฏไปเข้ากับพม่า[18] (หรือเต็ยเซิน)[9] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯทรงพระพิโรธมีพระราชโองการให้เจ้านันทเสนยกทัพไปตีเมืองหลวงพระบางจับเจ้าอนุรุทธส่งมากรุงเทพฯให้จงได้[18]
เจ้านันทเสนยกทัพเข้าโจมตีล้อมเมืองหลวงพระบาง สู้รบกันเป็นเวลาสิบห้าวัน อุปราชเมืองเวียงจันทน์ถูกปืนถึงแก่กรรมในสนามรบ[8][18] เจ้านันทเสนยังไม่สามารถยึดเมืองหลวงพระบางได้ เจ้านันทเสนจึงมีหนังสือลับถึงเจ้านางแทนคำ ว่าถ้านางแทนคำยอมช่วยเหลือจะตั้งให้เป็นเจ้านางนั่งเมืองกษัตรีหลวงพระบาง[8] นางแทนคำหลงเชื่อเจ้านันทเสนจึงออกอุบายให้ลาวเมืองหัวพันซึ่งรักษาประตูเมืองหลวงพระบางอยู่นั้น เปิดประตูเมืองให้ทัพเวียงจันทน์เข้ามายึดเมืองเวียงจันทน์ได้สำเร็จ จับกุมเจ้าอนุรุทธรวมทั้งโอรสคือเจ้ามันธาตุราชมาไว้ที่เวียงจันทน์ แล้วส่งตัวไปกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชโองการให้จองจำเจ้าอนุรุทธไว้ที่กรุงเทพในพ.ศ. 2335[18] อาณาจักรหลวงพระบางจึงขาดเจ้าผู้ครองเมืองอยู่เป็นเวลาสี่ปี
ต่อมาในพ.ศ. 2337 มีผู้ฟ้องว่าเจ้านันทเสน และพระบรมราชา (พรหมา) เจ้าเมืองนครพนม สมคบคิดกันเป็นกบฏไปเข้ากับเวียดนามเต็ยเซิน จึงมีพระราชโองการให้จับเจ้านันทเสนใส่โซ่ตรวนลงมายังกรุงเทพฯ สอบสวนแล้วพบว่าเจ้านันทเสนและพระบรมราชามีความผิดจริง มีโทษถึงประหารชีวิต กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททูลขอพระราชทาน[18]ให้ไว้ชีวิตเจ้านันทเสน จึงมีพระราชโองการให้ถอดเจ้านันทเสนออกจากราชสมบัติแล้วตั้งเจ้าอินทวงศ์พระอนุชาของเจ้านันทเสนเป็นกษัตริย์เวียงจันทน์องค์ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2338 ต่อมาเจ้านันทเสนถึงแก่พิราลัยที่กรุงเทพฯ[9]
ในพ.ศ. 2338 อุปราชเมืองไชย[8]ซึ่งเป็นเมืองขึ้นหลวงพระบาง ได้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าแสนหวีฟ้าเชียงรุ้งสิบสองปันนา ให้ช่วยเจรจาให้เจ้าอนุรุทธกลับมาครองเมืองหลวงพระบาง เจ้าแสนหวีเชียงรุ้งจึงนำความขึ้นทูลพระเจ้าปักกิ่ง[8] (จักรพรรดิเฉียนหลง) พระเจ้าปักกิ่งจึงทรงแต่งให้ขุนนางมณฑลยูนนานชื่อฮ่อพระยาศรีป่องอ้อง[8] ส่วนเจ้าเชียงรุ้งแต่งให้พระยาสินพรหม นำคณะทูตจีนและไทลื้อลงมาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ที่กรุงเทพฯ ขอพระราชทานให้เจ้าอนุรุทธกลับขึ้นไปครองหลวงพระบางตามเดิม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯจึงพระราชทานอภัยโทษแก่เจ้าอนุรุทธและบรรดาเชื้อพระวงศ์หลวงพระบางให้กลับคืนเมืองเดิมในพ.ศ. 2338
ทายาทของพระตาพระวอ
แก้เมื่อพระตาสิ้นชีวิตในสนามรบเมื่อพ.ศ. 2314 นั้น บุตรของพระตาได้แก่ท้าวคำผงและท้าวฝ่ายหน้าได้ติดตามพระวอไปอยู่ที่จำปาศักดิ์ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเมืองจำปาศักดิ์ในพ.ศ. 2321 ท้าวคำผงและท้าวฝ่ายหน้าได้เข้าร่วมรบช่วยฝ่ายจำปาศักดิ์สู้กับสยาม ต่อมาท้าวคำผงแต่งงานกับนางตุ่ยซึ่งเป็นธิดาของอุปราชธรรมเทโว อนุชาของเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งจำปาศักดิ์ เจ้าองค์หลวงฯเห็นว่าท้าวคำผงเกี่ยวดองเป็นญาติ มีกำลังไพร่พลอยู่ จึงตั้งให้เป็นนายกองคุมไพร่พลอยู่ที่บ้านดู่บ้านแก สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งเจ้าคำผงให้เป็นพระปทุมสุรราชภักดี[12] ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 พระปทุมสุรราชภักดี (คำผง) ขอพระราชทานไปตั้งเมืองใหม่ที่ห้วยจาระแม และท้าวฝ่ายหน้าขอตั้งเมืองใหม่ที่บ้านสิงห์โคกสิงห์ท่า
ในพ.ศ. 2323 เจ้าองค์หลวงฯเมืองจำปาศักดิ์ เกิดความขัดแย้งกับเจ้าอินอุปฮาด และเจ้าโอเจ้าเมืองอัตตะปือ จึงส่งเจ้าเชษฐ์และเจ้านูไปตามจับกุมตัวเจ้าโอเจ้าอิน เจ้าเชษฐ์และเจ้านูจะจับเจ้าโอเจ้าอินฆ่าเสีย เจ้าอินหลบหนีไปถึงแก่กรรมในป่า ส่วนเจ้าโอกอดคอพระพุทธรูปไว้[4][12] เจ้าเชษฐ์และเจ้านูสังหารเจ้าโอไปในที่สุด ในพ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชโองการให้นำตัวเจ้าองค์หลวงฯมาสอบสวนหรือเจ้าโอเจ้าอิน ระหว่างทางเจ้าองค์หลวงฯล้มป่วยจึงพระราชทานอนุญาตให้เจ้าองค์หลวงกลับไปเมืองจำปาศักดิ์ นำแต่ตัวเจ้าเชษฐ์ เจ้านู และเจ้าหมาน้อยมาที่กรุงเทพ ต่อมาในพ.ศ. 2334 เกิดกบฏอ้ายเชียงแก้ว[4][12]ที่เมืองโขง อ้ายเชียงแก้วยกทัพเข้าโจมตีเมืองจำปาศักดิ์ เจ้าองค์หลวงฯแห่งจำปาศักดิ์ถึงแก่พิราลัยหลังจากครองอาณาจักรจำปาศักดิ์มาได้ 53 ปี เจ้าหน่อเมืองขึ้นรักษาเมืองจำปาศักดิ์แต่สู้อ้ายเชียงแก้วไม่ได้หลบหนีจากเมืองไป พระปทุมสุรราชภักดี (คำผง) และท้าวฝ่ายหน้าจึงยกทัพมาปราบกบฏอ้ายเชียงแก้วและสังหารอ้ายเชียงแก้วได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯจึงทรงยกเมืองห้วยแจระแมขึ้นเป็นเมืองอุบลราชธานี และทรงแต่งตั้งให้พระประทุมฯ (คำผง) เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์[12] เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก รวมทั้งทรงแต่งตั้งให้ท้าวฝ่ายหน้าน้องชายของพระประทุมฯเป็น"พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช"ครองเมืองจำปาศักดิ์ วงศ์ของพระตาจึงได้ปกครองนครจำปาศักดิ์แทนที่วงศ์เจ้าจำปาศักดิ์เดิมของพระเจ้าองค์หลวงฯ นอกจากนี้ทางกรุงเทพยังส่งตัวเจ้าเชษฐ์และเจ้านูให้มาทำราชการรับใช้พระวิไชยราชขัติยวงศาอีกด้วย
ต่อมาพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (ฝ่ายหน้า) ถึงแก่พิราลัยในพ.ศ. 2353 ทางกรุงเทพแต่งตั้งให้เจ้านูโอรสของเจ้าหน่อเมืองเป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์องค์ต่อมา เจ้านูอยู่ในราชสมบัติได้สามวันถึงแก่พิราลัย ทางกรุงเทพฯจึงแต่งตั้งเจ้าหมาน้อยขึ้นแทน วงศ์ของพระเจ้าองค์หลวงฯจึงได้กลับมาครองจำปาศักดิ์อีกครั้ง ฝ่ายวงศ์ของพระตาคือท้าวคำสิงห์เมืองโขงบุตรของเจ้าฝ่ายหน้าจึงไม่สมัครใจจะอยู่ภายใต้การปกครองของจำปาศักดิ์อีกต่อไป ในพ.ศ. 2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชโองการให้ยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง"ยศสุนทร"หรือยโสธร และทรงแต่งตั้งท้าวคำสิงห์เป็นพระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธรคนแรก
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 Peter Simms, Sanda Simms. The Kingdoms of Laos: Six Hundred Years of History. Psychology Press, 2001.
- ↑ Phraison Salarak (Thien Subindu), Luang. Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Yazawindawgyi. Journal of Siam Society: Bangkok; February 25, 1916.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์ลาว. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์; สิงหาคม 2530.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ ฉะบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร).
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 พระราชวิจารณ์ จดหมายความทรงจำ ของ พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่ จ.ศ. ๑๑๒๙ ถึง ๑๑๘๒ เปนเวลา ๕๓ ปี: พิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. ๑๒๘ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
- ↑ Phraison Salarak (Thien Subindu), Luang. Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Yazawindawgyi. Journal of Siam Society.
- ↑ 7.0 7.1 Marc Askew, Colin Long, William Logan. Vientiane: Transformations of a Lao Landscape. Routledge: 7 Dec 2006.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 ประชุมพงษาวดารภาคที่ ๑๑: พงษาวดารเมืองหลวงพระบาง
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 9.7 Mayoury Ngaosyvathn, Pheuiphanh Ngaosyvathn. Paths to Conflagration: Fifty Years of Diplomacy and Warfare in Laos, Thailand, and Vietnam. Cornell University Press, 6 Aug 2018.
- ↑ 10.00 10.01 10.02 10.03 10.04 10.05 10.06 10.07 10.08 10.09 10.10 10.11 10.12 10.13 พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล).
- ↑ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
- ↑ 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 12.5 เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. เมษายน พ.ศ. 2546.
- ↑ 13.0 13.1 "พระวอ พระตา ในประวัติศาสตร์ไทย – ลาว". silpa-mag.com. 2022-08-04.
- ↑ 14.0 14.1 14.2 14.3 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พระราชพงศาวดาร ฉะบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒ ตอน ๒.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณแปลใหม่. จางวางตรี พระยาไกรเพ็ชรรัตนสงคราม สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ พิมพ์แจก ในงานศพ พระตำรวจตรี พระยากำแหงรณฤทธิ์ จางวางพระตำรวจ ผู้บิด พ.ศ. ๒๔๖๐.
- ↑ ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2478.
- ↑ Van Beek, Steve (2 July 2012). Arts of Thailand. Tuttle Publishing.
- ↑ 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 18.6 18.7 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖.
- ↑ David K Wyatt. Siam and Laos, 1767-1827. Journal of Southeast Asian History. กันยายน พ.ศ. 2506.
- ↑ D.G.E. Hall. History of South East Asia. Macmillan International Higher Education, พ.ศ. 2524.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 Edward Van Roy. Under Duress: Lao war captives at Bangkok in the nineteenth century. Journal of the Siam Society, 2009.
- ↑ "กลุ่มชาติพันธุ์ : ไทดำ". www.sac.or.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-29. สืบค้นเมื่อ 2022-05-17.
- ↑ George E. Dutton. The Tay Son Uprising: Society and Rebellion in Eighteenth-Century Vietnam. University of Hawaii Press, 31 ส.ค. 2549.
- ↑ Ben Kiernan. Viet Nam: A History from Earliest Times to the Present. Oxford University Press, 10 ก.พ. 2560.
- ↑ พงศาวดารย่อเมืองเวียงจันทน์.