เหตุการณ์ 6 ตุลา
เหตุการณ์ 6 ตุลา (พ.ศ. 2519) หรือในภาษาอังกฤษเรียกชื่อเชิงพรรณนาว่า การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[c] (อังกฤษ: Thammasat (University) massacre) เป็นการปราบปรามอย่างรุนแรงถึงชีวิตของตำรวจและการลงประชาทัณฑ์ของกำลังกึ่งทหารและคนมุงฝ่ายขวาต่อนักศึกษาและผู้ประท้วงฝ่ายซ้ายในและบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง เป็นการปิดฉากการประท้วง การเดินขบวนและการยึดพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของนักศึกษา กรรมกรและผู้ประท้วงซึ่งต่อต้านการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2519 ในวันที่ 6 ตุลาคม ตำรวจใช้อาวุธสงครามปราบปรามการประท้วง ตามด้วยกลุ่มฝ่ายขวาที่ลงประชาทัณฑ์ในลักษณะร่วมมือกับตำรวจ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ สถิติพบผู้เสียชีวิต 45 คนที่มีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตมีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตี และถูกเผา แต่สถิติไม่เป็นทางการจากมูลนิธิป๋วยคาดว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม | |
---|---|
ฝูงชนยิ้มขณะดูชายใช้เก้าอี้พับตีศพนิรนาม[a] ที่ถูกแขวนคอบริเวณท้องสนามหลวง (ภาพรางวัลพูลิตเซอร์ปี 2520) | |
สถานที่ | มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร |
พิกัด | 13°45′21.07″N 100°29′27.16″E / 13.7558528°N 100.4908778°E |
วันที่ | 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 | 5.30–11.00 น.
เป้าหมาย | นักศึกษา กรรมกรและประชาชนผู้ประท้วงการเดินทางกลับประเทศของจอมพล ถนอม กิตติขจร |
ประเภท | อาชญากรรมโดยรัฐ, การยิงหมู่, การลงประชาทัณฑ์ |
อาวุธ | ปืนเล็กยาวเอ็ม16, ปืนเล็กสั้น, ปืนพก, กระสุนต่อสู้รถถัง, เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม79, ปืนครก, ระเบิดมือ, ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง |
ตาย | |
เจ็บ | 167 คน (ทางการ) |
ผู้ก่อเหตุ |
|
เหตุจูงใจ | การต่อต้านคอมมิวนิสต์ คตินิยมสุดขีดขวาจัด "ลัทธิคลั่งเจ้า" |
คำตัดสิน | การนิรโทษกรรมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง |
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา (พ.ศ. 2516) ทำให้รัฐบาลทหารหมดอำนาจ บ้านเมืองมีบรรยากาศเสรีภาพ และเกิดการเฟื่องฟูของความคิดฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ตลอดจนการประท้วงของกรรมกรและชาวนาอยู่เนือง ๆ ร่วมกับความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง กลุ่มฝ่ายขวาต่าง ๆ ซึ่งรู้สึกกังวลกับชัยของคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน ใช้วิธีการก่อกวนขบวนการฝ่ายซ้ายจนมีผู้เสียชีวิตอยู่หลายโอกาส ขณะเดียวกัน มีฝ่ายกองทัพอย่างน้อยสองฝ่ายพยายามวางแผนให้เกิดรัฐประหารอีกครั้ง โดยฝ่ายหนึ่งใช้วิธีการนำตัว "สามทรราช" กลับประเทศเพื่อหวังให้เกิดสถานการณ์บานปลาย วันที่ 19 กันยายน 2519 จอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางกลับประเทศ และบวชเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหารโดยมีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จฯ เยี่ยม นักศึกษาปักหลักประท้วงที่สนามหลวง และย้ายไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน ในวันที่ 4 ตุลาคม นักศึกษาจัดการแสดงล้อเหตุฆ่าคนงานฝ่ายซ้ายที่จังหวัดนครปฐม วันที่ 5 ตุลาคม มีการตีพิมพ์ข่าวการแสดงดังกล่าว โดยมีสื่อฝ่ายขวาลงว่าบุคคลที่ถูกแขวนคอนั้นมีใบหน้าคล้ายกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผลให้กำลังกึ่งทหารที่โกรธแค้นมาชุมนุมกันนอกมหาวิทยาลัยในเย็นนั้น ท่ามกลางสื่อฝ่ายขวาที่โหมปลุกความเกลียดชังอยู่ต่อเนื่อง มีผู้ประท้วงอยู่ในมหาวิทยาลัยราว 4,000 คน และมีตำรวจและคนมาล้อมไว้ราว 8,000 คน
วันที่ 6 ตุลาคม ตำรวจปิดทางเข้าออกมหาวิทยาลัยไว้ทุกด้านตั้งแต่เวลาดึก ระหว่างเวลา 5.30–11.00 น. ตำรวจเปิดฉากใช้อาวุธสงครามหลายชนิดทั้งปืน เครื่องยิงลูกระเบิด ปืนต่อสู้รถถังและระเบิดมือเข้าปราบปรามผู้ประท้วง พลตำรวจโท ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ อนุญาตให้ยิงเสรี เกิดการยิงปะทะระหว่างสองฝ่ายช่วงสั้น ๆ ก่อนผู้ประท้วงเป็นฝ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว เป็นการใช้กำลังเกิดกว่าเหตุและขาดความชอบธรรม ในเหตุการณ์ที่นิตยสาร ไทม์ เรียกว่า "ฝันร้ายของการลงประชาทัณฑ์และการเผา"[8] นักศึกษาที่ยอมจำนนแล้วและที่กำลังหลบหนีกระสุนถูกทำร้ายร่างกาย ปล้นชิงทรัพย์สิน ล่วงละเมิดทางเพศ ถูกยิง เผาทั้งเป็น และทุบตีจนตาย ส่วนศพถูกทำลายและเผา ผู้ประท้วง 3,094 คนถูกจับ ส่วนผู้ลงมือฆ่าได้รับความดีความชอบ คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองที่มีพลเรือเอก สงัด ชลออยู่เป็นหัวหน้าคณะ ยึดอำนาจในเวลา 18.00 น. โดยอ้างเหตุนักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมีอาวุธหนัก
เหตุการณ์ 6 ตุลาและรัฐประหารเป็นจุดสิ้นสุดของ "ยุคการทดลองประชาธิปไตย" ซึ่งมีอายุไม่ถึงสามปี และกระแสสังคมนิยมเสื่อมลง มีการตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมีความคิดขวาจัดและเกิดการกวาดล้างฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรงทำให้บางส่วนหนีไปเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ทำให้การก่อการกำเริบรุนแรงยิ่งขึ้น การเมืองต่อจากนี้ไม่มีกระทบผลประโยชน์ของชนชั้นนำอีก ไม่มีกระบวนการสอบสวนความจริงและชดเชยแก่ญาติผู้เสียหายของรัฐ มีแกนนำผู้ประท้วง 19 คนถูกฟ้องฐานพยายามก่อจลาจล แต่สุดท้ายรัฐบาลนิรโทษกรรมในปี 2521 รัฐบาลใช้วิธีการปล่อยให้สังคมลืม เมื่อถึงประมาณพุทธทศวรรษ 2530 มติมหาชนเปลี่ยนมาเห็นใจนักศึกษามากขึ้นแล้วแต่สังคมยังคาดหวังให้เงียบเพื่อความสมานฉันท์ของบ้านเมือง
หนังสือเรียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ในประเทศไทยแทบทั้งหมดข้ามเหตุการณ์นี้ไปเสียเฉย ๆ มีความพยายามตีแผ่ข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และโครงการบันทึก 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานรำลึกเป็นประจำทุกปี และมีการสร้างประติมากรรมอนุสรณ์ในมหาวิทยาลัยในปี 2539
เบื้องหลัง
เหตุการณ์ 14 ตุลาและ "การทดลองประชาธิปไตย"
ปี 2501–2516 เป็นช่วงที่ประเทศไทยปกครองในระบอบเผด็จการทหารที่มีการควบคุมทางการเมืองและไม่มีการเลือกตั้ง ระหว่างนั้นโครงสร้างชนชั้นของสังคมไทยเกิดชนชั้นกระฎุมพีใหม่หลังเศรษฐกิจบูมจากการไหลเข้าของทุนสหรัฐและญี่ปุ่น เกิดเป็นฝ่ายขวาใหม่ซึ่งเข้าเป็นพันธมิตรกับชนชั้นปกครองเดิม[9]: 13–4 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา มีการเดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐธรรมนูญเผด็จการและการปราบปรามประชาชนจนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย สุดท้าย "สามทรราช" จอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศ องคมนตรี สัญญา ธรรมศักดิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน เป็นยุค "ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน" (หรือเรียกย้อนหลังว่า "การทดลองประชาธิปไตย") แต่รัฐบาลเผชิญกับปัญหาหลายด้าน วิกฤตการณ์น้ำมันและความปั่นป่วนในเศรษฐกิจโลกเริ่มมีผลกระทบทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อในประเทศไทยในปี 2517[9]: 18 รัฐบาลสัญญาตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของกรรมกรซึ่งขัดต่อผลประโยชน์ของชนชั้นกลางท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะงักงัน[9]: 18 สุดท้ายรัฐบาลสัญญาลาออกหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2517 และมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 26 มกราคม 2518 ก่อนหน้านั้นในเดือนธันวาคม 2517 ผู้คบคิดรัฐประหารนำจอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางกลับประเทศไทย แต่เขาต้องออกนอกประเทศแทบทันที เพราะมติมหาชนคัดค้านการหวนกลับของระบอบทหารในขณะนั้นอย่างหนักแน่น[10]: 226
ช่วงปี 2518 ถึง 2519 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเป็นรัฐบาลผสม 12 พรรค เขาวางนโยบายให้สหรัฐถอนทหารออกจากไทย[11]: 67 รัฐประหารเป็นไปไม่ได้ตราบเท่าที่รัฐบาลยังได้รับการหนุนหลังจากพลเอก บุญชัย บำรุงพงศ์ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้อยู่ในอุปถัมภ์ของพลเอก กฤษณ์ สีวะรา ซึ่งเป็นวีรบุรุษที่ได้รับความนิยมจากบทบาทในเหตุการณ์ 14 ตุลา; ฐานะของสหรัฐในอินโดจีนล้มลงอย่างรวดเร็ว กรุงไซ่ง่อนแตกและเกิดการรวมประเทศเวียดนามที่เป็นคอมมิวนิสต์ในเดือนเมษายน 2518 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยึดอำนาจของขบวนการปะเทดลาวอันเป็นคอมมิวนิสต์ในประเทศลาวในเดือนธันวาคมปีเดียวกันมีผลใหญ่หลวงต่อมติมหาชนของไทย หลายฝ่ายเกรงว่าประเทศไทยจะเป็นเป้าหมายต่อไปของคอมมิวนิสต์[11]: 126–7 รัฐบาลคึกฤทธิ์ได้เปลี่ยนนโยบายการทูตที่สำคัญโดยเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2518[11]: 81
ผลลัพธ์ทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์ของเหตุการณ์ 14 ตุลาทำให้ฝ่ายซ้ายมีสำนึกความรื่นเริงและความคิดสร้างสรรค์ ส่วนฝ่ายขวามองภาพลวงว่ารัฐบาลเสรีนิยมที่เพิ่งตั้งขึ้นเป็นสาเหตุของการระบาดของความคิดบ่อนทำลายประเทศ และโทษประชาธิปไตยสำหรับความล้มเหลวของเผด็จการทหารหลายทศวรรษก่อนหน้านี้[9]: 15 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) เป็นองค์การประสานงานระหว่างองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ และมีบทบาทมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา ได้มีการรณรงค์เพื่อเป้าหมายทางสังคมอื่นอยู่เรื่อย ๆ[11]: 93–4 ฝ่ายขวาได้รณรงค์ข่มขู่ ทำร้ายร่างกายและลอบฆ่าเป็นเวลาสองปี[9]: 13 การโฆษณาใส่ร้าย ศนท. รวมถึงเพลงอย่าง "เราสู้", "หนักแผ่นดิน"[11]: 130 มีการกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาตั้งแต่ปี 2517[11]: 132–3
วันที่ 2 มกราคม 2519 กรรมกรทั่วกรุงเทพมหานครนัดหยุดงานทั่วไปเป็นจำนวนหลายหมื่นคนเพื่อคัดค้านนโยบายเลิกจำหน่ายข้าวสารราคาถูกแก่ประชาชน[11]: 88 ชวนให้นายทหารที่เคยถือรัฐธรรมนูญนิยมหลายคนมองว่า รัฐประหารอาจจำเป็นเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพ คึกฤทธิ์ยอมตามข้อเรียกร้องของสหภาพทำให้ฝ่ายขวาเดือดดาล การชุมนุมจำนวน 15,000 คน ซึ่งจัดโดยกลุ่มกึ่งทหารนวพล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร เรียกร้องให้คืนอำนาจแก่ทหาร[10]: 229 การชุมนุมดังกล่าวนำโดยพระกิตติวุฒโฑ พระภิกษุเจ้าของวาทะ "ฆ่าคอมมิวนิสต์ ไม่บาป" กลุ่มสมาชิกรัฐสภาเสรีนิยมจากพรรคประชาธิปัตย์แตกกับรัฐบาลผสมและเข้ากับฝ่ายค้านซึ่งเป็นฝ่ายซ้าย[12]: 376 พลเอก บุญชัย บำรุงพงศ์ คัดค้านความคิดรัฐบาลผสมเอียงซ้าย ซึ่งบีบให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดการเลือกตั้งใหม่กำหนดมีขึ้นวันที่ 4 เมษายน[12]: 376 ซึ่งกระชั้นเกินไปแม้สำหรับนายทหารสายกลาง ตัวอย่างรัฐบาลผสมเอียงซ้ายของลาวที่พ่ายต่อคอมมิวนิสต์ยังสดใหม่ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงยื่นแผนรัฐประหาร[10]: 230 ศาสตราจารย์ บุญชนะ อัตถากร เล่าว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2519 พลเรือเอกสงัดนำความบ้านเมืองกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ว่าอาจมีความจำเป็นต้องรัฐประหาร บุญชนะบันทึกว่าสงัดได้สนทนากับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรดังนี้
- สงัด: อยากได้พรจากพระโอษฐ์ให้ทางทหารดำเนินการได้ตามที่คิดไว้
- ในหลวง: ให้คิดเอาเองว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไป
...
- สงัด: ถ้าทางทหารยึดอำนาจการปกครองได้แล้ว… ใครควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี
- ในหลวง: จะทำอะไรลงไปก็ควรปรึกษานักกฎหมาย คือ คุณธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฎีกาเสียด้วย[13]: 162
ชื่อ | ตำแหน่งและกลุ่ม |
---|---|
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช | นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีมหาดไทย, รัฐมนตรีกลาโหม(37/2) |
พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ | ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, รัฐมนตรีกลาโหม(38) กลุ่ม "สี่เสาเทเวศร์" |
พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร | รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ กลุ่ม "ซอยราชครู" |
พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ | รองผู้บัญชาการทหารบก |
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ | ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุด, เสนาธิการทหาร กลุ่ม "สี่เสาเทเวศร์" |
สมัคร สุนทรเวช | รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย(37) |
พลตำรวจโท ชุมพล โลหะชาละ | รองอธิบดีกรมตำรวจ กลุ่ม "ซอยราชครู" |
(เลข) หมายถึง คณะรัฐมนตรี บทวิเคราะห์กลุ่มแยกในกองทัพ ดูที่ [14] |
ตรงข้ามกับพรรคพวกของพลเอก กฤษณ์ สีวะรา กับพลเรือเอกสงัด, กลุ่มของพลตรี ประมาณ อดิเรกสาร ("ซอยราชครู") รวมเอาผู้คบคิดซึ่งไม่เคยยอมรับการปกครองแบบรัฐสภาหรือผู้ปลดจอมพล ถนอม กิตติขจร อันได้แก่ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายขวา พรรคชาติไทย และนายทหารแห่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อย่างสมบูรณ์ แผนสมคบรัฐประหารทั้งสองจะดำเนินเป็นเอกเทศต่อกัน
พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากทั้งพลเอก กฤษณ์ สีวะรา และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐคว้าที่นั่งในสภาได้ถึงร้อยละ 40 ทำให้หัวหน้าพรรค หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช กลับเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย[12]: 395 รัฐบาลผสมประกอบด้วยพรรคการเมืองฝ่ายขวาสี่พรรค ประกอบด้วยประชาธิปัตย์ ชาติไทย ธรรมสังคมและสังคมชาตินิยม "กลุ่มซอยราชครู" ถือเป็นฝ่ายขวาในรัฐบาล; พรรคกิจสังคมของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชกลับเป็นฝ่ายค้าน ขณะที่พรรคฝ่ายซ้ายแทบไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเลย[12]: 382
การเสียชีวิตอย่างกระทันหันของพลเอกกฤษณ์เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2519 ส่งผลให้รัฐบาลพลเรือนขาดผู้นำกองทัพที่จะควบคุมให้ นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดความแตกแยกในกองทัพด้วย พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ เขียนในปี 2545 ว่า "กองทัพสูญเสียผู้นำคนสำคัญที่คอยทำหน้าที่ประคับประคองความสามัคคีภายในกองทัพไปด้วย ทางสังคมเองก็ยอมรับว่าได้สูญเสียนายทหารที่เคยค้ำจุน หรือให้การประกันลมหายใจระบอบประชาธิปไตยไปเสียแล้ว"[15] ผู้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแทน คือ พลเอก ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา สมาชิกพรรคพวกของพลตรีประมาณ
กลุ่มฝ่ายขวา
ด้วยมุมมองนักศึกษาเป็นฝ่ายสืบรับอุดมการณ์สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ ชนชั้นปกครองไทยจึงดำเนินการทางลับเพื่อบ่อนทำลายขบวนการนิสิตนักศึกษา โดยมุ่งตั้งตนเป็นปรปักษ์กับกลุ่มนักศึกษา มีการยกกำลังเข้าทำร้ายนักศึกษาและทำลายสถานที่ถึงภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลายครั้ง ในเวลาไล่เลี่ยกัน
กลุ่มทหารอาสาสมัครฝ่ายขวาหลายกลุ่มมีบทบาทสำคัญเป็นผู้ก่อการสังหารหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำรวจตระเวนชายแดนติดอาวุธและฝึกกลุ่มเหล่านี้เมื่อปลายปี 2517 เพื่อเตรียมการปราบปรามรุนแรง พอล แฮนด์ลีย์ ผู้ประพันธ์ เดอะคิงเนเวอร์สไมส์ อธิบายสถานการณ์นั้นว่าเป็น "ลัทธิศาลเตี้ยหลวง" (royal vigilantism)[10]: 214 ใจ อึ๊งภากรณ์ นักเขียนมาร์กซิสต์ เปรียบเทียบกลุ่มเหล่านี้กับกลุ่มกึ่งทหารฟาสซิสต์ในยุโรปช่วงทศวรรษ 1930[16] กลุ่มเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางมั่งมีและชนชั้นสูง[11]: 28 แอนเดอร์สันชี้เหตุที่ชนชั้นกลางเปลี่ยนจากสนับสนุนประชาธิปไตยมาสนับสนุนเผด็จการและความรุนแรงว่า 1. ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤตราคาน้ำมันปี 2516, 2. รัฐบาลคอมมิวนิสต์เถลิงอำนาจในประเทศเพื่อนบ้าน, 3. การประท้วงบ่อยครั้งของกรรมกร ชาวนาและนักศึกษา, 4. นักศึกษาจบใหม่ตกงานเป็นอันมาก[11]: 28–9 กลุ่มเหล่านี้เสื่อมลงหลังความพยายามรัฐประหารในปี 2520 ซึ่งคาดว่ามีนายทหารที่มีความสัมพันธ์กับ "กลุ่มนอกระบบ" เหล่านี้อยู่เบื้องหลัง[11]: 35
- ขบวนการนวพล
ขบวนการนวพลก่อตั้งขึ้นในปี 2517 โดย วัฒนา เขียววิมล และใช้คำขวัญว่า "ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์"[17] ชื่อนี้ยังหมายถึง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กลุ่มลับนี้มีสมาชิกราว 50,000 คนราวกลางปี 2518 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรให้ความช่วยเหลือทางทหารอย่างลับ ๆ และดำเนินการฝึกซ้อมอย่างทหารขั้นก้าวหน้าแก่สมาชิกที่วิทยาลัยจิตตภาวัน โรงเรียนสอนศาสนาพุทธในจังหวัดชลบุรี ซึ่งก่อตั้งโดยพระภิกษุฝ่ายขวา พระกิตติวุฒโฑ[10]: 225 กล่าวกันว่า การฝึกนี้รวมการฝึกการลอบสังหารด้วย และคาดว่าการฆ่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่งเป็นฝีมือของขบวนการนวพล[10]: 225–6 ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหาร ยังเป็นสมาชิกอาวุโสของกลุ่มนี้ด้วย[10]: 230
- ขบวนการกระทิงแดง
ขบวนการกระทิงแดงก่อตั้งขึ้นในปี 2517 โดย พันเอก (พิเศษ) สุตสาย หัสดิน นายทหารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร[18] กลางปี 2518 กลุ่มนี้มีสมาชิก 25,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาอาชีวะ ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ 14 ตุลา[11]: 133–4 เป็นผลจากความพยายามของฝ่ายขวาในการแบ่งแยกนักศึกษาอาชีวะออกจาก ศนท.[11]: 134 ขบวนการกระทิงแดงเป็นกองเยาวชนของขบวนการนวพล[19] มีลักษณะคล้ายกับเอสเอในประเทศเยอรมนีช่วงทศวรรษ 1930 สมาชิกขบวนการกระทิงแดงปลุกปั่นการต่อสู้ระหว่างนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายกับสหภาพแรงงาน[10]: 226 ขบวนการกระทิงแดงนี้สามารถออกมาขู่ฆ่าหรือปาระเบิดกลางเมืองได้โดยไม่ถูกจับกุม[11]: 135 มีความร่วมมือกับตำรวจอย่างใกล้ชิด เช่น มีวิทยุติดต่อกับตำรวจ และใช้รถตำรวจตระเวนรอบเมือง[11]: 135 นักการเมืองพรรคชาติไทย เช่น พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ มีส่วนสนับสนุน[11]: 28 พระมหากษัตริย์ทรงเคยทดสอบยิงอาวุธของขบวนการกระทิงแดงครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีเผยแพร่กว้างขวาง[10]: 232
- ลูกเสือชาวบ้าน
ลูกเสือชาวบ้าน (หรือ กองอาสารักษาดินแดน) ก่อตั้งขึ้นในปี 2497 เพื่อจัดการรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย ตลอดจนการสนองต่อเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติธรรมชาติ ได้รับการขยายในปี 2517 เมื่อกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเข้าควบคุมลูกเสือชาวบ้าน[10]: 223 มีการขยายเข้าไปในเขตเมืองเพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายซ้าย[10]: 224 พระบรมวงศานุวงศ์ (มักเป็นพระราชินี) เป็นผู้พระราชทานผ้าพันคอแก่ลูกเสือชาวบ้าน[10]: 224 ช่วงหนึ่ง คนวัยทำงานถึง 1 ใน 5 เคยเป็นสมาชิกลูกเสือชาวบ้าน[11]: 34–5 ในช่วง 6 ตุลาคม 2519 พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ล้วนมีบทบาทในการเรียกระดมกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน[20]: 250 ขบวนการนี้ได้กลายเป็นม็อบชนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งรัฐปล่อยให้กลุ่มสลายไปหลังรัฐประหารปี 2519[11]: 35
- กลุ่มอื่น
กลุ่มฝ่ายขวาอื่น ๆ[d] เช่น ชมรมแม่บ้าน นำโดย วิมล เจียมเจริญ (ทมยันตี) ซึ่งรวบรวมภรรยาข้าราชการพลเรือนและทหาร และแม่บ้านเป็นสมาชิก มีบทบาทเด่นในการปกป้องภาพของสหรัฐ (เนื่องจากนักศึกษาเรียกร้องให้ถอนฐานทัพสหรัฐ)[11]: 142 , ชมรมวิทยุเสรี เป็นกลุ่มสถานีวิทยุของทหารที่มีสถานีวิทยุยานเกราะเป็นแกนกลาง มีพันโท อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยาเป็นโฆษกสำคัญ มีบทบาทโจมตี ศนท. ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ยังเป็นแกนกลางประสานงานปราบปรามนักศึกษาอย่างเปิดเผย[11]: 140–1
เหตุการณ์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2519
ลำดับเหตุการณ์ | |
---|---|
17 ส.ค. | ประภาสกลับประเทศ |
19–22 ส.ค. |
|
19 ก.ย. |
|
23 ก.ย. | ฝ่ายซ้ายชุมนุม, เสนีย์ลาออก |
24 ก.ย. | พนักงานการไฟฟ้า 2 คนถูกฆ่าที่ จ. นครปฐม |
25 ก.ย. | ราชโองการให้เสนีย์เป็นนายกฯ อีก |
ปลาย ก.ย., ต้น ต.ค. | ชุมนุมประท้วงติด ๆ กัน |
4 ต.ค. |
|
5 ต.ค. | วิทยุยานเกราะและ ดาวสยาม ประโคมข่าวหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ |
ราวกลางปี 2519 มีข่าวว่าจอมพล ประภาส จารุเสถียร จะเดินทางกลับประเทศไทยโดยเครื่องบินจากไต้หวัน จอมพลประภาสกลับประเทศในวันที่ 17 สิงหาคม โดยพลเอกทวิชเป็นผู้จัดการให้ เพื่อเป็นการทดสอบมติมหาชน[16] กลุ่มนักเรียนอาชีวะขว้างระเบิดใส่นักศึกษาที่มาชุมนุมเรียกร้องให้ลงโทษประภาส ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 38 คน[11]: 149 แต่ขณะนั้นยังไม่มีความพร้อมรัฐประหาร จึงให้ประภาสกลับออกนอกประเทศไปก่อนในวันที่ 22 สิงหาคม โดยได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรก่อนด้วย[11]: 149 อาศัยปฏิกิริยาดังกล่าว พลตรีประมาณตัดสินใจนำถนอมกลับประเทศไทยหวังจุดชนวนการเดินขบวนประท้วงซึ่งอาจใช้เป็นข้ออ้างรัฐประหารได้[16] หม่อมราชวงศ์เสนีย์พยายามดักการคบคิดเพิ่มเติมโดยถอดพลเอกทวิชจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมัคร สุนทรเวชและสมบุญ ศิริธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้คบคิดรัฐประหารด้วยกัน วิจารณ์หม่อมราชวงศ์เสนีย์อย่างรุนแรงขัดระเบียบการของรัฐสภา[22][23] นำมาสู่การปลดทั้งสองในวันที่ 23 กันยายน 2519
สมัคร สุนทรเวช พระสหายที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงไว้วางพระทัย บินไปยังประเทศสิงคโปร์และบอกแก่จอมพลถนอมว่า พระราชวังอนุญาตให้เขาเดินทางกลับประเทศไทย[10]: 234 วันที่ 7 กันยายน มีการอภิปรายในหัวข้อ "ทำไมจอมพล ถนอม จะกลับมา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อภิปรายหลายคนสรุปว่า ส่วนหนึ่งเป็นแผนการที่วางไว้เพื่อวางแผนรัฐประหาร[11]: 150 เมื่อจอมพลถนอมเดินทางกลับในวันที่ 19 กันยายน เขาปฏิเสธแรงจูงใจทางการเมือง และกล่าวว่ากลับมาเพื่อสำนึกความผิดที่เตียงบิดาปัจฉิมวัยเท่านั้น[8] เขาอุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดซึ่งสัมพันธ์กับราชวงศ์จักรีอย่างใกล้ชิด[e] สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเป็นผู้อุปสมบทให้[20]: 248 ธงชัยเขียนว่าสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันสงฆ์ซึ่งเป็นสถาบันสูงสุดของไทยสมคบกัน[20]: 248 พิธีการถูกปิดอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อเลี่ยงการคัดค้านการบวชและกลุ่มกระทิงแดงล้อมวัดไว้[10]: 234 จากนั้นมีวิทยุยานเกราะตักเตือนมิให้นักศึกษาก่อความวุ่นวาย มิฉะนั้นอาจต้องมีการประหารชีวิตสัก 30,000 คนเพื่อให้บ้านเมืองรอดปลอดภัย[11]: 150 วันที่ 23 กันยายน เวลา 21.30 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จไปวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ระหว่างการเยือน คุณหญิง เกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงแถลงว่า สมเด็จพระราชินีทราบว่าจะมีคนมาเผาวัด "ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลป้องกัน อย่าให้ผู้ใจร้ายมาทำลายวัด"[11]: 151 วันที่ 24 กันยายน 2519 สมัครแถลงว่า "การที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จวัดบวรนิเวศกลางดึกแสดงให้เห็นว่า พระองค์ต้องการให้พระถนอมอยู่ในประเทศต่อไป"[11]: 151–2 และเมื่อวันที่ 26 กันยายน พระกิตติวุฒโทแถลงย้ำว่า "การบวชของพระถนอมครั้งนี้ได้กราบบังคมทูลขออนุญาตจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมทั้งขอเข้ามาในเมืองไทยด้วย ดังนั้นพระถนอมจึงเป็นผู้บริสุทธิ์"[11]: 152
ศนท. และสภาแรงงานแห่งประเทศไทยคัดค้านสถานะภิกษุของจอมพลถนอม สภาแรงงานฯ ขอให้รัฐบาลเนรเทศพระถนอม[24]: 14–5 แนวร่วมยุวสงฆ์แห่งประเทศไทยมีหนังสือถึงมหาเถรสมาคมให้พิจารณาว่าการบวชพระถนอมผิดวินัยหรือไม่[24]: 15 แม้แต่สมเด็จพระสังฆราชก็ยอมรับว่าการบวชไม่ถูกต้อง[11]: 151 บิณฑบาตเช้าของพระถนอมมีขบวนทหารและตำรวจคุ้มกันอย่างหนาแน่น[3]: 5 ในช่วงแรกสาธารณะยังไม่มีปฏิกิริยาอย่างใดนักเพราะเกรงว่าจะดูขัดขวางศาสนา แต่ไม่นานนักศึกษาก็มองผ่านกลยุทธ์นี้โดยเริ่มจัดการแสดงล้อขบวนพระและคนคุ้มกันติดอาวุธ[3]: 5 ต่อมาเริ่มมีการจัดการนัดชุมนุมขนาดใหญ่ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ไม่อาจจัดการอะไรได้ จึงขอลาออกในวันที่ 23 กันยายน[24]: 15 การชุมนุมของฝ่ายนิสิตนักศึกษาที่ลานโพในระยะแรกมีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมไม่มากเมื่อเทียบกับเมื่อครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา แม้จะมีกิจกรรมแสดงละครล้อการเมืองเพื่อเรียกความสนใจให้ผู้เข้าร่วมชุมนุม กิจกรรมอันหนึ่งคือการปิดโปสเตอร์แสดงจุดยืนและเชิญชวนให้เข้าร่วมการชุมนุมทั่วกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั่วประเทศ เป็นเหตุให้นักศึกษาและแนวร่วมซึ่งออกปิดโปสเตอร์ดังกล่าวถูกลอบทำร้ายบาดเจ็บหลายครั้ง ในวันที่ 24 กันยายน เกิดคดีที่วิชัย เกตุศรีพงศา กับชุมพร ทุมไมย นายช่างตรีสังกัดการไฟฟ้า เขตนครปฐม[24]: 15 ซึ่งร่วมกิจกรรมปิดโปสเตอร์ประท้วงที่ตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตแล้วนำศพไปแขวนคอไว้หน้าประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรแห่งหนึ่ง สันนิษฐานว่าตำรวจนครปฐมเป็นผู้ลงมือ[11]: 152 คดีฆ่าดังกล่าวยิ่งเพิ่มกระแสของการประท้วง การชุมนุมใหญ่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันที่ 28 กันยายนมีผู้เข้าร่วมหลักหมื่นคน[24]: 16 มีวีรชน 14 ตุลาและญาติเข้าร่วมการประท้วงด้วย ญาติวีรชนอดอาหารประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ย้ายไปชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม[3]: 5
ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) จัดการชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม[3]: 5 มหาวิทยาลัยยกเลิกการสอบและปิดวิทยาเขต ด้วยหวังไม่ให้เกิดเหตุตำรวจอาละวาดซ้ำรอยเมื่อปีกลาย ทว่า ผู้เดินขบวนพังประตูเข้าไปยึดวิทยาเขตและยึดพื้นที่ประท้วง[8] นอกจาก ศนท. แล้วยังมีสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงาน (Federation of Trade Unions) เป็นองค์การผู้ประสานงานหลักด้วยอีกองค์การหนึ่ง[19] สหภาพแรงงาน 43 แห่งเรียกร้องให้รัฐบาลเนรเทศจอมพลถนอมมิฉะนั้นจะนัดหยุดงานทั่วไป[8] การประท้วงคราวนี้ยิ่งกว่าคราวที่จอมพลประภาสกลับมาเสียอีก ส่วนฝ่ายรัฐบาลเห็นควรยับยั้งไว้ โดยมอบหมายให้ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์และดำรง ลัทธพิพัฒน์เป็นผู้แทนเจรจา แต่ก็ไม่เป็นผล ในวันที่ 1 ตุลาคม ฝ่ายขวารวมกันออกแถลงการณ์ว่า "ได้ปรากฏแน่ชัดแล้วว่า ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นักศึกษา สภาแรงงานแห่งประเทศไทยและนักการเมืองฝ่ายซ้ายถือเอาพระถนอมมาเป็นเงื่อนไขสร้างความไม่สงบขึ้นภายในประเทศชาติถึงขั้นจะก่อวินาศกรรมทำลายวัดบวรนิเวศวิหาร และล้มล้างรัฐบาล เรื่องนี้กลุ่มต่าง ๆ ดังกล่าวประชุมลงมติว่า จะร่วมกันปกป้องวัดบวรนิเวศทุกวิถีทางตามพระราชเสาวนีย์"[11]: 153 ป๋วยเล่าว่าตนทราบจากนักศึกษาว่ากำหนดประท้วงต้นเดือนตุลาคมเพราะมีนายทหารเกษียณอายุราชการหลายนาย และการโยกย้ายตำแหน่งประจำปีอาจเป็นชนวนรัฐประหารได้อีกทางหนึ่ง[3]: 5 สภาองค์การแรงงานแห่งประเทศไทยเข้าร่วมนักศึกษาโดยกำหนดนัดหยุดงานทั่วไปในวันที่ 8 ตุลาคม[3]: 5
ช่วงบ่ายวันที่ 4 ตุลาคม ชมรมศิลปการแสดงของธรรมศาสตร์จัดแสดงละครรำลึกถึงเหตุการฆ่าคนดังกล่าวที่ลานโพ แล้วในช่วงบ่ายเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ที่ท้องสนามหลวง ก่อนย้ายเข้าสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ในช่วงค่ำ[3]: 5 วันที่ 5 ตุลาคม มีการชุมนุมประท้วงในอีกหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา เป็นต้น[11]: 72 วันเดียวกันมีหนังสือพิมพ์กรุงเทพมหานครสองฉบับ ได้แก่ บางกอกโพสต์ และ ดาวสยาม ลงภาพการแสดงล้อการแขวนคอ สำหรับ ดาวสยาม ลงข่าวว่านักศึกษาที่แสดงเป็นเหยื่อ (วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์และอภินันท์ บัวหภักดี) มีใบหน้าคล้ายพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารที่เพิ่งเสด็จฯ กลับประเทศจากประเทศออสเตรเลียในวันที่ 1 ตุลาคม 2519 ผู้ประท้วงจึงถูกกล่าวหาว่าแขวนคอรูปจำลองพระบรมวงศานุวงศ์ บางคนมองว่ามีการตกแต่งภาพให้นักศึกษาดูเหมือนพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารมากขึ้น แต่สำเนาทุกฉบับที่ยังเหลืออยู่เป็นภาพเดียวกัน[11]: 26 จากนั้น สถานีวิทยุยานเกราะของกองทัพบก นำโดย พันโท อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุทธยา กล่าวหาว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และประกาศให้ "ฆ่ามัน" และ "ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์"[10]: 235 ทั้งนี้ จากหลักฐานพบว่า บางกอกโพสต์ นำเสนอข่าวจริง ส่วน ดาวสยาม และสถานีวิทยุยานเกราะประโคมข่าวเท็จ[11]: 26 เหตุการณ์นี้เปลี่ยนวาทกรรมจากการจ้องทำลายศาสนาพุทธในประเทศไทยมาเป็นความพยายามของนักคอมมิวนิสต์ในการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์และทำลายชาติไทย[20]: 249 เย็นนั้น มีกำลังกึ่งทหารนิยมเจ้า 4,000 คนอยู่บริเวณประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[10]: 235
ค่ำวันที่ 5 ตุลาคม แกนนำ ศนท. นำตัวนักแสดงมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและติดต่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีในเช้าวันรุ่งขึ้น[13]: 155 แกนนำ ศนท. ตัดสินใจว่าจะสลายการชุมนุมในวันรุ่งขึ้น และยังไม่สลายการชุมนุมในเวลากลางคืนเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย[13]: 156 สมศักดิ์ออกความเห็นว่าถึงแม้มีการสั่งเลิกชุมนุม ความรุนแรงก็อาจจะเกิดในรูปแบบอื่นอยู่ดี เช่น คงมีการเผาทำลายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือลงประชาทัณฑ์แกนนำ ศนท. ที่มอบตัวกับตำรวจ[13]: 159–60 คืนวันที่ 5 ตุลาคมต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม กลุ่มฝ่ายขวาพยายามก่อกวนผู้ชุมนุม เช่น ยิงปืนสั้นหรือเผาสิ่งของติดรั้วมหาวิทยาลัย[11]: 177 พันตำรวจโท สล้าง บุนนาค อ้างว่าไปพบกับ "อาจารย์ธรรมศาสตร์" สามคนในเวลาใกล้เที่ยงคืน จัดเตรียมกำลังตำรวจปราบจลาจล และไปบ้านพักนายกรัฐมนตรีเมื่อ 2.00 น. โดยไม่ได้รับคำสั่ง[13]: 189 แต่การสรุปเหตุการณ์ของฝ่ายตำรวจมีความสับสน ทั้งยังมีการส่งตำรวจบางนายเข้าปะปนกับกลุ่มนักศึกษาด้วย สำหรับธงชัย เขาว่าเหตุการณ์ถึงเวลา 2.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคมไม่มีสิ่งชี้บอกใดถึงความจำเป็นของการใช้กำลัง[20]: 250 วิทยุยานเกราะเรียกร้องให้ตำรวจดำเนินคดีต่อนักศึกษา และประกาศว่าจะจัดการชุมนุมที่อาคารรัฐสภาในเวลา 9.00 น.[3]: 6 5.00 น. การยิงปะทะกันรุนแรงขึ้น กลุ่มที่มาล้อมมหาวิทยาลัยมีผู้เสียชีวิต 1 รายขณะนำส่งโรงพยาบาล[3]: 6
เหตุการณ์ 6 ตุลา
การสังหารหมู่
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
ศ.ธงชัย วินิจจะกูล อดีตแกนนำนักศึกษาย้อนรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา (4:14), วิดีโอยูทูบ | |
อดีตช่างภาพเอพี นีล อูเลวิช กล่าวสะท้อนเหตุการณ์ 6 ตุลา (2:12), วิดีโอยูทูบ |
มีคนมาล้อมมหาวิทยาลัยทั้งตำรวจ กำลังกึ่งทหารและประชาชนรวมประมาณ 8,000 คน และมีนักศึกษาอยู่ประมาณ 4,000 คน[25]: 104 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ถูกล้อมไว้หมดทุกด้านตั้งแต่เวลา 3.00 น.[3]: 6 ตำรวจตั้งกองบัญชาการที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อธิบดีกรมตำรวจประกาศเจตจำนงกวาดล้างมหาวิทยาลัยและจับผู้ต้องหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเวลารุ่งสาง[3]: 6
พยานเล่าว่าเมื่อเวลา 5.30 น. มีการยิงลูกระเบิดเอ็ม79 ลงกลางสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คนและบาดเจ็บ 13 คน[25]: 102 เชื่อว่าเป็นฝีมือของผู้ชำนาญอาวุธ และคาดว่าน่าจะเป็นสัญญาณเข้าตี[11]: 167–8 ไม่นานจากนั้น ตำรวจภายใต้บังคับบัญชาของพลตำรวจโท ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ ใช้อาวุธสงครามประกอบด้วย ปืนเล็กยาว (เช่น เอ็ม16), ปืนกลหนัก เอชเค 33, ปืนเอ็ม79, และปืนไร้แรงสะท้อน[11]: 168 , ปืนครก[13]: 195 ปืนอานุภาพสูงติดกล้องเล็งและปืนต่อสู้รถถัง[25]: 103 ระดมยิงเข้ามาในมหาวิทยาลัยจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ประเทศไทย) และด้านหน้าของมหาวิทยาลัยในลักษณะไม่เลือกหน้า[11]: 168 พันตำรวจโท สล้าง บุนนาค ตำแหน่งรองผู้กำกับการ 2 เป็นผู้นำตำรวจปราบจลาจล 200 นายเข้าไปในมหาวิทยาลัย[26] เวลาประมาณ 5.40–6.00 น. สุธรรม แสงประทุม เลขาธิการ ศนท. พยายามติดต่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี และโฆษกให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในตึกบัญชีและตึกคณะวารสารฯ[25]: 102 6.00 น. การขนส่งผู้บาดเจ็บทางเรือถูกตำรวจสกัดไว้ และตำรวจและกระทิงแดงยิงปืนมาจากตลิ่งอีกฝั่ง[3]: 6 เวลา 7.00 น. ผู้ชุมนุมบางส่วนเล็ดรอดออกไปได้ แต่หลังจากนั้นประตูถูกปิดตาย แม้มีคำขอเปิดทางให้หญิงและเด็กแต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยินยอม[13][25]: 103 มีกลุ่มคนไม่แต่งเครื่องแบบขับรถโดยสารประจำทางชนประตูใหญ่และตำรวจเร่งรุดเข้าไปในมหาวิทยาลัย[11]: 168 สุธรรมและผู้แทน ศนท. รวมทั้งนักแสดงในละครล้อในวันที่ 4 ตุลาคมออกมาในรถพยาบาลและขึ้นรถตำรวจ ตำรวจปฏิเสธคำขอพบนายกรัฐมนตรีและทั้งหมดถูกจับกุม[3]: 7 โฆษกเวทีที่ประกาศยอมจำนนถูกยิงด้วยปืนเอ็ม16[3]: 7 พลตำรวจโทชุมพลอนุญาตให้ยิงเสรีในมหาวิทยาลัย[10]: 255 ในเวลาประมาณ 7.30 น.[3]: 7 จนถึงเวลา 8.00 น. ตำรวจรุกเข้ามาในสนามฟุตบอล และยิงใส่ตึก อมธ. ตึกคณะวารสารฯ และตึกบัญชี แล้วนำกำลังเข้ายึด[25]: 104 เวลา 7.45 น. มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งหนีกระสุนปืนโดยปีนรั้วมหาวิทยาลัยออกไป จนถูกกลุ่มคนที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์[25]: 104 ฝูงชนที่อยู่ตามดาดฟ้าเชียร์ตำรวจโดยบอกว่านักศึกษาไม่มีอาวุธหนัก[3]: 7
มีเจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามต่อนักศึกษาที่หนีลงแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับผู้ที่ขึ้นฝั่งบริเวณท่าพระจันทร์และไปหลบตามบ้านเรือนราษฎรได้ก็ถูกตามจับตัวได้กว่า 1,000 คน[25]: 103 นักศึกษาที่หนีลงแม่น้ำเจ้าพระยาจมน้ำเสียชีวิตหลายคน[3]: 7 วิมลวรรณ รุ่งทองใบสุรีย์ นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ถูกยิงขณะพยายามว่ายน้ำเข้าสู่ที่ปลอดภัย[16] นักศึกษาที่หนีขึ้นฝั่งได้และหลบอยู่ตามอาคารต่าง ๆ ถูกบังคับให้ยอมมอบตัว มิฉะนั้นตำรวจจะยิงปืนใส่ร้านอย่างไม่เลือก[3]: 8
นีล อูเลวิชเล่าว่าเสียงกระสุนกว่าร้อยละ 90 มีทิศทางไปยังนักศึกษา[27] พฤติกรรมโหดร้ายทารุณของตำรวจในวันนั้น เช่น การทำร้ายฆ่าฟันนักศึกษาที่กำลังหนีหรือว่ายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่ยอมจำนนแล้ว หรือถูกมัดมือแล้ว[11]: 169 ไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลเสนีย์มีอำนาจมากน้อยเพียงใดในวันนั้น[20]: 250 เสนีย์แถลงข่าวเมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. ว่าตำรวจจะเลือกใช้วิธีใดในการปราบปรามนั้นขึ้นอยู่กับตำรวจ[3]: 8 ในเดือนตุลาคม 2537 พันตำรวจตรี มนัส สัตยารักษ์ เขียนว่า ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุทั้งการใช้อาวุธและการควบคุมนักศึกษา "ตำรวจที่อยู่รอบนอก [มหาวิทยาลัย] ใช้อาวุธปืนประจำตัวยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยโดยไม่ได้หวังผลอะไรมากไปกว่าสร้างความพอใจให้แก่ตัวเอง" และตำรวจบางนายไม่เห็นด้วยกับวิธีการปราบปรามในวันนั้น[11]: 39–40 เขายังเล่าว่าเขาถ่ายทอดคำสั่งให้หยุดยิงของพลตำรวจตรี วิเชียร แสงแก้ว แล้ว แต่ตำรวจตระเวนชายแดนไม่ยอมหยุด เขาเห็นว่าการปราบปรามครั้งนี้เห็นจะเป็นเรื่องส่วนตัว[13]: 192
กลุ่มกึ่งทหาร ได้แก่ ลูกเสือชาวบ้านและกระทิงแดงจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยพร้อมกับตำรวจเพื่อเข้าทำร้ายนักศึกษา ในลักษณะทำงานร่วมกับตำรวจและตำรวจมิได้ห้ามปราม[11]: 177 หลายคนมีบทบาทโดยตรงในการทำร้ายฆ่าฟัน เช่น แขวนคอ เผาทั้งเป็น ทุบตีจนตาย และยังรวมถึงการทำลายศพ เช่น ตอกไม้ ใช้ไม้ทำอนาจารศพหญิง หรือปัสสาวะรด[11]: 177 หญิงคนหนึ่งถูกเปลื้องผ้าและยิงปืนใส่หลายครั้ง[3]: 8 นักศึกษาจำนวนหนึ่งหนีกระสุนปืนโดยปีนรั้วมหาวิทยาลัยออกไปถูกกลุ่มคนที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์[25]: 104 ผู้ประท้วงที่หนีออกไปทางหน้าประตูมหาวิทยาลัยจำนวน 20 คนถูกลากไปแขวนคอทั้งที่ยังมีชีวิต และมีการนำศพมาเผากลางถนนราชดำเนิน[25]: 104 กลุ่มนี้พยายามลงประชาทัณฑ์นักศึกษาที่ตำรวจจับไว้แล้วที่สนามฟุตบอลแต่ตำรวจห้ามไว้และช่วยหญิงไว้ได้คนหนึ่ง[3]: 8 มีการแขวนคอศพผู้ที่เสียชีวิตแล้วไว้กับต้นไม้ริมสนามหลวงแล้วเตะต่อย ทั้งถุยน้ำลายรดและตะโกนด่าสาปแช่ง[8] ศพของวัชรี เพชรสุ่นถูกเปลื้องผ้า นำไม้มาวางไว้ข้างศพให้เข้าใจว่าถูกไม้นั้นแทงอวัยวะเพศจนเสียชีวิต โดยมีคนอยู่รอบศพด้วยความพอใจ[28] ธงชัยตั้งข้อสังเกตว่าชายปรากฏในภาพใช้เก้าอี้ฟาดศพ (ของอูเลวิช), ภาพการแขวนคอวิชิตชัยและภาพเผาศพ 4 ศพเป็นคนคนเดียวกัน[29] อาจเป็นสายลับที่ถูกส่งมาปลุกปั่นให้คนอื่นเลียนแบบตามหรือไม่[20]:281 มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่ใช้วิธีการป่าเถื่อนกับศพนั้นน่าจะเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบหรืออดีตทหาร-ตำรวจที่ได้รับการฝึกจากอเมริกา[13]: 182 ด้านพระกิตติวุฒิโฑไล่นักศึกษาที่เข้าไปหลบในวัดมหาธาตุออกนอกเขตวัดไปให้ตำรวจจับ[11]: 177
เวลาประมาณ 11.00 น.[25]: 104 นักศึกษาและประชาชนผู้ร่วมชุมนุมทั้งชายหญิงราว 1,000 คนถูกบังคับให้ถอดเสื้อนอนลงกับพื้น ส่วนผู้หญิงให้ถอดเหลือแต่ยกทรง บังคับให้คลานไปตามพื้นสนามหญ้า ทั้งถูกเตะต่อยและรุมทำร้าย[8] เช่นเดียวกับมีการนำศพมาวาง[25]: 104 กลุ่มฝ่ายขวาปล้นทรัพย์สินส่วนตัวของนักศึกษา[11]: 170 ตำรวจถอดพระเครื่องของนักศึกษา เพราะเป็นคอมมิวนิสต์ไม่คู่ควร[30] แพทย์สามคนไม่รีบรักษาผู้ประท้วงที่มีเลือดออกถึง 2 ชั่วโมงเพราะ "กำลังรอคำสั่ง"[30] จากนั้นตำรวจยิงปืนกลข้ามหัวนักศึกษาที่หมอบคว่ำอยู่เข้าไปในตึกคณะบัญชี[11]: 170 เย็นนั้น กลุ่มนวพลบางคนอวดเพื่อนว่า ตน "ล้วงผู้หญิงตามสบาย"[11]: 171 ผู้ได้รับบาดเจ็บในวันนั้นต้องรอการรักษาพยาบาลเป็นเวลานาน ส่วนผู้ที่ถูกจับต้องรอหลายวัน[11]: 171
สุธรรมเล่าว่าตนถูกตำรวจรั้งตัวไว้ขณะเดินทางเพื่อไปเจรจากับนายกรัฐมนตรี ตำรวจไปส่งที่จวนนายกรัฐมนตรีแต่ไม่ได้เข้าพบ จนสุดท้ายตำรวจนำตัวสุธรรมเข้าที่คุมขังทันทีซึ่งน่าจะเป็นช่วงหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สุดท้ายการเจรจาระหว่าง ศนท. กับนายกรัฐมนตรีจึงไม่เกิดขึ้น[20]: 250 หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ผ่านไปแล้ว ช่วงบ่ายมีลูกเสือชาวบ้านและตำรวจจะเข้าไปทำร้ายป๋วย อึ๊งภากรณ์ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยพันตำรวจโท สล้าง บุนนาคที่เดินทางไปยังท่าอากาศยานดอนเมืองโดยไม่มีคำสั่งตบหูโทรศัพท์ของป๋วย[11]: 176 จากเหตุการณ์ ตำรวจพบอาวุธของผู้ชุมนุมเพียงปืนเล็กยาว 2 กระบอกเท่านั้น ไม่มีอาวุธหนัก[3]: 8
นักศึกษาและประชาชนที่รอดชีวิต 3,094 คนถูกจับกุมภายในวันนั้น[11]: 63 ถูกนำตัวไปคุมขังที่โรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน ที่จังหวัดนครปฐมและชลบุรี[4] ผู้ถูกจับกุมเกือบทุกคนถูกตำรวจรุมซ้อมเมื่อมาถึงสถานที่คุมขัง[11]: 171 นอกจากนี้ ยังมีพยานว่าตำรวจเรียกผู้ถูกจับกุมว่า "เชลย" อันสื่อว่า ตำรวจกำลังทำสงครามกับนักศึกษา[11]: 171 ส่วนใหญ่ได้รับประกันตัวในสัปดาห์ถัดมา
ตัวเลขอย่างเป็นทางการบ่งว่า มีผู้เสียชีวิต 46 คน และบาดเจ็บ 167 คน[10]: 236 ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขณะนั้น ให้ตัวเลขประมาณผู้เสียชีวิตอย่างไม่เป็นทางการกว่า 100 คน โดยอิงแหล่งข้อมูลนิรนามในสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย (Chinese Benevolent Association) ซึ่งกำจัดศพ[3][f] ภัทรภร ภู่ทอง นักวิจัย ระบุว่า ในบรรดาผู้เสียชีวิตจากไฟล์ชันสูตรพลิกศพ มีจำนวน 45 คน ไม่มีการกล่าวถึงชาวเวียดนามจำนวน 10 คน และทราบว่ามีผู้เสียชีวิตถูกแขวนคอ 4 คน แต่อาจมากกว่านั้น ทราบชื่อได้แก่ วิชิตชัย อมรกุล และปรีชา แซ่เฮีย[31] มีรายงานว่าช่างภาพยูไนเต็ดเพรสอินเตอร์เนชันแนลเสียชีวิต[3]: 7 มีนักศึกษาแพทย์และพยาบาลที่เป็นสมาชิกหน่วยอาสาสมัคร "พยาบาลเพื่อมวลชน" ถูกฆ่าตาย 5 คน[11]: 170 การกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎการศึกอนุสัญญาเจนีวา อย่างไรก็ตามเชื่อว่าผู้เสียชีวิตจริงสูงกว่านี้ ข้อมูลของมูลนิธิร่วมกตัญญูระบุว่าผู้ประท้วงและประชาชนเสียชีวิตกว่า 500 คน และมีมูลค่าความเสียหายทรัพย์สินกว่า 50 ล้านบาท[4] พยานนายตำรวจนายหนึ่งเชื่อว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70 คน[32] พยานนักศึกษาและอดีตกระทิงแดงเห็นศพที่ถูกแขวนคอ "เป็นสิบ ๆ คน"[32] วิโรจน์ มุทิตานนท์ อดีตช่างภาพ ไทยรัฐ บรรยายเหตุการณ์ว่า "คือการเข่นฆ่าคนที่ไร้ทางสู้ ... เป็นการปิดประตูตีแมว"[11]: 170 นิตยสารไทม์ อธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็น "ฝันร้ายของการลงประชาทัณฑ์และการเผา"[8]
ผู้รับผิดชอบและผู้บงการ
หน่วยตำรวจที่ปฏิบัติการในวันที่ 6 ตุลาคมมีสามหน่วย ได้แก่ ตำรวจตระเวนชายแดน พลร่มจากค่ายนเรศวรฯ หัวหิน ภายใต้การบังคับบัญชาของพลตำรวจตรี กระจ่าง ผลเพิ่ม และพลตำรวจตรี เสน่ห์ สิทธิพันธ์, ตำรวจกองปราบ ภายใต้บังคับบัญชาของพลตำรวจตรี วิเชียร แสงแก้ว, และกองปฏิบัติการพิเศษตำรวจนครบาล ภายใต้การบังคับบัญชาของพลตำรวจตรีเสริม จารุรัตน์[11]: 169 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลประเมินว่ามีตำรวจอย่างน้อย 400 นาย[13]: 190–1 เวลา 2.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม พยานตำรวจว่า ตำรวจตระเวนชายแดนที่หัวหินได้รับคำสั่งที่ไม่มีคำอธิบายให้เคลื่อนเข้ากรุงเทพมหานคร แต่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้สั่ง[20]: 249–50 แต่ควรทราบว่าตำรวจตระเวนชายแดนมีความใกล้ชิดกับราชสำนัก[20]: 250 [13]: 194 นายกรัฐมนตรีระบุว่ามาตรการกวาดล้างมีความจำเป็นเพราะมีการโจมตีสวนตำรวจขณะเข้าจับกุม[3]: 9 ต่อมาตำรวจแสดงหลักฐานคำสั่งจับกุมของนายกรัฐมนตรีลงเวลา 7.30 น. วันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งเป็นเวลาหลังผู้ต้องหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้ามอบตัวแล้วตั้งแต่ 7.00 น.[3]: 9 คำสั่งของพลตำรวจเอก ศรีสุข มหินทรเทพ อธิบดีกรมตำรวจ ไม่น่าจะใช่ผู้สั่งการแท้จริง หรือก็คงเป็นคำสั่งตรายางเท่านั้น[13]: 196 รัฐบาลเสนีย์ไม่ได้รู้เห็นกับคำสั่งบุกปราบปรามผู้ประท้วงหรือยุทธวิธีที่ตำรวจใช้เลย นายกรัฐมนตรีเพียงแต่ออกแถลงการณ์ในวันที่ 5 ตุลาคมกำชับให้ตำรวจสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิดเท่านั้น[13]: 195
คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สรุปว่า ตำรวจก่ออาชญากรรมทางการเมือง ปราบปรามนักศึกษาโดยใช้อาวุธสงคราม และปล่อยให้มีผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่าบริเวณท้องสนามหลวง[11]: 15 คณะกรรมการฯ พิจารณาเหตุผลที่ฝ่ายรัฐอ้างในการปราบปราม พบว่าทั้งหมดนั้นขาดน้ำหนักและเหตุผลโดยสิ้นเชิง[11]: 16 โดยสรุปคือ
เหตุผลตามอ้างของรัฐในการปราบปราม | ข้อค้นพบของคณะกรรมการฯ |
---|---|
นักศึกษาเล่นละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร | สมาชิกกลุ่มนวพล ตำรวจ และสื่อมวลชนที่ชมการแสดงในวันที่ 4 ตุลาคม ไม่มีผู้ใดมองว่าเป็นการเล่นละครดูหมิ่น นายตำรวจพยานโจทก์หลายนายว่า ตนทราบข่าวนักศึกษาหมิ่นฟ้าชายจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม[11]: 86 |
นักศึกษาชุมนุมและสะสมอาวุธในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อก่อกบฏ | โฆษกรัฐบาลยอมรับว่าหาอุโมงลับและบังเกอร์ไม่พบ และเมื่อนักข่าวถามว่า "นักศึกษามีอาวุธมากน้อยแค่ไหน ขอดูได้ไหม และถ้านักศึกษามีอาวุธทำไมนักศึกษาตายมากกว่าตำรวจ" เขาตอบว่า "ไม่ทราบ"[11]: 89–90 ในเรื่องการพกอาวุธของนักศึกษานั้น มีความจำเป็นเพราะการชุมนุมมักถูกกลุ่มกระทิงแดงก่อกวนลอบยิงและขว้างระเบิดใส่เป็นประจำ อาวุธที่นักศึกษามีในมหาวิทยาลัยวันที่ 6 ตุลาคมมีปืนสั้นไม่เกิน 30 กระบอก ปืนลูกซองยาว 2 กระบอก และระเบิดมือประมาณ 10 ลูกเท่านั้น[11]: 90 |
ตำรวจควบคุมสถานการณ์ระหว่างสองฝ่ายไว้ไม่ได้ | พลตำรวจโทชุมพลอ้างว่า ตำรวจต้องใช้อาวุธบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อปกป้องประชาชนที่บุกเข้าไป "มือเปล่า" ขณะที่นักศึกษายิงปืนออกมา เขาว่าพลเรือนที่บุกเข้าไปมีเป็น "พัน ๆ" แต่พยานฝ่ายโจทก์ว่ามีเพียง 70–80 คนเท่านั้น ฝ่ายพันตำรวจโทสล้างชี้แจงว่า ตนควบคุมลูกน้องไม่ได้[11]: 92 ทว่า คำบอกเล่าของพยานว่า ตำรวจยิงปืนกลกราดเข้าไปในตึกบัญชี และมีการนำตำรวจมาประจำทางเข้าออกเพื่อป้องกันนักศึกษาหนี[11]: 93 ด้านประเสริฐ ณ นคร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ชี้แจงว่า "การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้กระทำเกินกว่าเหตุ เพราะในวันดังกล่าวประชาชนมีความเคียดแค้น และต้องการเข้าจับตัวนักศึกษาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เข้าไปปฏิบัติงานก่อน ประชาชนที่เคียดแค้นก็อาจจะเข้าไปประชาทัณฑ์นักศึกษา และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยทั้งหมดอาจถูกทำลาย" ซึ่งเป็นความเท็จ[11]: 93–4 |
นักศึกษาฉวยโอกาสเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์อันมีวัตถุประสงค์ทำลายชาติ | ฝ่ายขวามองว่าการปกป้องชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์จะใช้ความรุนแรงเท่าไรก็ได้ และมีความชอบธรรมทั้งสิ้น และมองว่าสังคมจะมีเสถียรภาพได้ต้องมีเผด็จการ ทว่า แม้แต่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ยังมองว่า เสถียรภาพของสังคมไทยมาจากสิทธิเสรีภาพ นอกจากนี้ นักศึกษาที่ไปเข้ากับ พคท. ถกเถียงกับผู้นำพรรคก่อนออกจากป่า เพราะไม่พอใจที่พรรคเป็นเผด็จการ ซึ่งช่วยลดบทบาทและอิทธิพลของพรรคในที่สุด[11]: 94–5 |
"คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" (คณะรัฐประหาร) |
กลุ่มซอยราชครู–"ทรราช" |
---|---|
|
พบว่ามีนายทหารอย่างน้อยสองกลุ่มที่เตรียมรัฐประหารโดยฉวยเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นข้ออ้าง กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มสายกลางซึ่งก่อการเพื่อชิงตัดหน้ากลุ่มขวาจัดของพลตรีประมาณ[16] ชัยอนันต์ สมุทวณิชกับเดวิด มอร์เรล อธิบายว่า พรรคชาติไทย ฝ่ายขวาของพรรคประชาธิปัตย์ และนายทหารที่ใกล้ชิดกับจอมพลประภาส-ถนอมวางแผนนำตัว "ทรราช" กลับประเทศเพื่อก่อเรื่อง สุธาชัย ยิ้มประเสริฐเห็นว่าตัวการปราบปรามนักศึกษาน่าจะเป็นกลุ่มพลเอกฉลาดและพลโทวิทูรย์ และเตรียมก่อรัฐประหารในเวลาดึก[11]: 75 ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบอยู่ว่า "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ด้วยหรือไม่ และผู้สมคบคิดอื่น ๆ (ของกลุ่มหลัง) เช่น ตำรวจและลูกเสือชาวบ้านได้รับประโยชน์หรือไม่ แต่เท่าที่เห็นคือ สมาชิกหลายคนยังเป็นผู้มีอิทธิพลในการเมืองไทยในคริสต์ทศวรรษ 1990[20]: 251
นักวิชาการลงความเห็นว่าสหรัฐไม่มีความจำเป็นต้องสั่งการปราบปรามนักศึกษา และชนชั้นปกครองไทยมีเหตุผลสำคัญลงมือเอง ศรพรหม วาดสุรางค์สรุปว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีองค์การหรือหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์[11]: 40 สำหรับบทบาทโดยอ้อมจะเป็นไปในทางให้การสนับสนุนความช่วยเหลือทางทหารและช่วยจัดตั้งองค์การฝ่ายขวามากกว่า[11]: 41 นอกจากนี้ ในช่วงเวลานั้นสหรัฐเน้นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนมากขึ้น[11]: 40
พคท. ได้สมาชิกเพิ่มขึ้นมากหลังจากเหตุการณ์ จนมีการกล่าวหาว่าพรรคอาจอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้เพื่อบีบให้ฝ่ายซ้ายหันการต่อสู้ในเมืองเข้าป่าแทน แต่หลักฐานพบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่อาจคาดเดาล่วงหน้าได้คือไม่ทราบว่าการแสดงล้อการเมืองจะนำมาสู่การกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[20]: 251–2 แม้สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเคยโพสต์ว่า ขบวนการนักศึกษา "เป็นขบวนการเมืองคอมมิวนิสต์ (อยู่ภายใต้การนำทางความคิด การเมืองและจัดตั้งของ พคท.)"[34] อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์ฉบับ กอ.รมน. เชื่อว่ามีอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ต่างประเทศ คำให้การของพันโท อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยามองว่าคอมมิวนิสต์สายจีนกับโซเวียตแตกกัน ขบวนการนักศึกษาอยู่ใต้อิทธิพลของโซเวียต มีความต้องการปองร้ายพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ฝ่ายจีนที่เสียการควบคุมนักศึกษามาป้อนข่าวแก่ทางราชการหวังให้ขบวนการนักศึกษาปะทะกับฝ่ายขวาแล้วฝ่ายจีนรอตวงผลประโยชน์[21]: 451
บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อเหตุการณ์สังหารหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ยังคงเคลือบคลุม พคท. กล่าวหาว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จากอาชญากรรมดังกล่าว[20]: 259 สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการและนักเคลื่อนไหว ถูกจำคุกฐานพิมพ์เผยแพร่บทความตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันในเหตุการณ์[35]: 278–9 อย่างไรก็ดี นักวิชาการต่างประเทศอธิบายว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีส่วนส่งเสริมเหตุการณ์ เช่น การสนับสนุนลูกเสือชาวบ้านและการเสด็จฯ เยี่ยมพระถนอม[11]: 31
การรายงานของสื่อ
สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งเดียวที่ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ในเวลาเช้า สรรพสิริ วิรยศิริ ผู้อำนวยการ ไปถ่ายภาพเพื่อ "เอาความจริงมาเปิดเผยให้คนรับรู้ นี่เป็นหน้าที่ของผม" ต่อมาเขาถูกปลดจากตำแหน่ง[11]: 178 ในช่วงบ่าย สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และวิทยุยานเกราะถ่ายทอดสดการสัมภาษณ์ตำรวจ 5 นาย พันตำรวจโทสล้างให้สัมภาษณ์ว่า "รัฐบาลควบคุมบงการไม่ให้ตำรวจลงมือจับกุม", พวกตนตกลงนำชาวบ้านที่กระเหี้ยนกระหือรือเข้าไป เขายังเล่าว่านักศึกษาทำร้ายตำรวจที่ถือธงนำเข้าไปขอเจรจาอย่างไม่มีเหตุผล ตลอดการให้สัมภาษณ์มีการสอดแทรกมุกตลก และเปิดเพลง "หนักแผ่นดิน"[21]: 421–2 ภาพถ่ายของนีล อูเลวิชจากสำนักข่าวเอพี (ที่อยู่บนสุดของบทความ) เป็นภาพที่ขึ้นชื่อที่สุดจากเหตุการณ์ ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ประจำปี 2520 สาขาข่าวสด (spot news) ต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจของผลงานศิลปะอีกหลายงาน
การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
รัฐบาลตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้ช้า ช่วงเช้าวันเดียวกัน คณะรัฐมนตรีนัดประชุมด่วนเพื่อประเมินสถานการณ์และพิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้ผู้ชุมนุมทุกฝ่ายยุติการชุมนุม แต่ชาติชายคัดค้านเพราะต้องการให้ลูกเสือชาวบ้านชุมนุมต่อ[20]: 250 พลตำรวจโทชุมพลรายงานเท็จว่าตำรวจซึ่งเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกนักศึกษาทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตเป็นอันมาก แต่รายงานของพลตำรวจเอกศรีสุขซึ่งน่าจะไม่ได้ร่วมแผนรัฐประหารด้วย แจ้งว่ามีตำรวจได้รับบาดเจ็บเพียงไม่กี่นาย สุดท้ายรัฐบาลออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงของฝ่ายนักศึกษา โดยไม่ได้มีมาตรการอย่างอื่น[20]: 251 ในวันเดียวกัน รัฐบาลออกข้อหาโดยไม่มีมูลว่ามีเวียดนามปะปนอยู่กับผู้ประท้วง[3]: 10
9.30 น. ลูกเสือชาวบ้านและฝ่ายขวาชุมนุมกันประมาณ 30,000 คนที่ลานพระบรมรูปทรงม้า บางคนมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา[3]: 9 เวลาประมาณ 16.00 น. ลูกเสือชาวบ้านและประชาชนเดินทางไปยังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ถนนพระอาทิตย์ เรียกร้องให้ปลดสมาชิกระดับสูง 3 คน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ได้แก่ สุรินทร์ มาศดิตถ์, ดำรง ลัทธพิพัฒน์ และชวน หลีกภัย โดยนำเชือกไปด้วยเพื่อเตรียมแขวนคอบุคคลทั้งสาม เพราะเชื่อว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ต่อมาประชาชนกลุ่มนี้เดินทางต่อไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นคำขาดต่อนายกรัฐมนตรี ลูกเสือชาวบ้านชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าจนหลังรัฐประหาร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารปรากฏพระองค์และตรัสให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน[20]:251
ในเวลา 18.00 น. คณะทหารที่เรียกตนเองว่า "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" ซึ่งมีพลเรือเอกสงัดเป็นหัวหน้าคณะ ประกาศยึดอำนาจ เขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งในวันที่ 25 กันยายน คณะรัฐประหารมีแถลงการณ์ว่าการยึดอำนาจมีความจำเป็นเพราะนักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและขัดขืนการจับกุมโดยมีอาวุธหนักและร่วมมือกับนักคอมมิวนิสต์เวียดนาม[30] ข้อเท็จจริงที่ว่าชุมพลเจตนาอนุญาตให้ยิงแสดงว่าเขาทราบว่าจะมีรัฐประหาร เพราะรัฐบาลพลเรือนจะสั่งดำเนินคดีต่อเขา[10]: 255
หลังเหตุการณ์
ผลกระทบทางการเมือง
คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินแต่งตั้งธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่พระมหากษัตริย์โปรด เป็นนายกรัฐมนตรี ธานินทร์เลือกคณะรัฐมนตรีด้วยตัวเองโดยไม่สนใจรายชื่อของคณะรัฐประหาร[10]: 259 รัฐบาลสั่งปิดสื่อห้ามเผยแพร่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาทั้งหมด 3 วัน รัฐบาลชุดนี้เป็นชุดที่นิยมเจ้าและต่อต้านฝ่ายซ้ายดุดันที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาหนีไปเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กว่า 3,000 คน[20]:258 มีการโจมตีกองโจรเป็นระลอกตามมา ซึ่งเพิ่มถึงขีดสุดในต้นปี 2520[36] มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นภัยสังคมเชื่อว่าจำนวนอย่างน้อย 8,000 คนระหว่างเดือนตุลาคม 2519 ถึงมิถุนายน 2520[37]: 50 และถูกนำเข้าฝึกอบรมหลายเดือนเพื่อมิให้เป็นภัยต่อสถาบันหลักของชาติ[21]: 423 มีสื่อไม่กี่สำนักซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลเหลือรอดจากเหตุการณ์[37]: 52 มีเจ้าหน้าที่ราชการลับคอยนั่งฟังบรรยายของครูอาจารย์[37]: 52 ไม่ช้าลัทธิคลั่งชาติของธานินทร์ก็ได้บาดหมางกับแทบทุกภาคส่วนของสังคมไทย[10]: 246 รัฐบาลถูกวิจารณ์ว่ามีแนวคิดขวาจัด อีกทั้งเสถียรภาพของรัฐบาลเองก็ไม่มั่นคงเพราะถูกคณะนายทหารครอบงำ วันที่ 26 มีนาคม 2520 มีความพยายามรัฐประหารโดยมีพลเอก ฉลาด หิรัญศิริ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้นำ แต่กระทำการไม่สำเร็จ พลเอกฉลาดถูกประหารชีวิตฐานเป็นกบฏ[38] สุดท้ายรัฐบาลชุดนี้สิ้นสุดลงด้วยรัฐประหารโดยคณะที่มีพลเรือเอกสงัดเป็นหัวหน้าคณะ โดยอ้างถึงความมั่นคงของรัฐ และความล่าช้าในการร่างรัฐธรรมนูญ[38] ทั้งนี้ สุรพล ธรรมร่มดี ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันอาศรมศิลป์ เห็นว่าบทบาทของ พคท. ช่วยถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายซ้ายและขวา ทำให้ไม่เกิดการปราบปรามรุนแรงและภาวะเผด็จการยาวนานเหมือนกับประเทศอินโดนีเซียสมัยซูการ์โน[39]: 100
หลังหมดรัฐบาลธานินทร์การปฏิรูปประชาธิปไตยเป็นไปอย่างทีละน้อย แต่เป็นระบอบที่ไม่ท้าทายผลประโยชน์ของชนชั้นนำเหมือนสมัยปี 2516–2519 อีก คือไม่สนใจเรื่องความขัดแย้งของชนชั้น[40]: 65 กระแสสังคมนิยมถูกทำลาย[40]: 76 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีความพยายามตีความเหตุการณ์ 6 ตุลาใหม่โดยไม่ได้มองว่าเป็นจุดจบของกระบวนการประชาธิปไตยอีกต่อไป แต่เป็นกระบวนการที่ดำเนินต่อไปได้ใหม่[20]:271
ผลกระทบทางสังคม
กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้รับการแก้ไขหลังเกิดเหตุการณ์นี้ มีการปรับโทษจากเดิมไม่เกินเจ็ดปี เป็นจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี สำหรับคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร จะมีผลทำให้มีการตีความถอยกลับคืออาจมีการฟ้องคดีซ้ำได้แม้ศาลต่างประเทศพิพากษาถึงที่สุดและยังไม่พ้นโทษ, คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระมเหสี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทุกรัชกาล และต้องระวางความตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายทหารต่างกรรมกัน และห้ามอุทธรณ์ฎีกาในเวลาไม่ปกติ (เช่น กฎอัยการศึก)[41]
ผลของรัฐประหารปี 2519 ทำลายขบวนการเคลื่อนไหว 3 ประสาน หรือแนวร่วมระหว่างนักศึกษา กรรมกรและชาวนา ทำให้องค์การแรงงานต้องพึ่งตนเอง[42]: 82 ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นช้ามากเมื่อเทียบกับช่วงประชาธิปไตย คือ จาก 12 บาทต่อวันในปี 2516 เป็น 25 บาทต่อวันในปี 2518 ก่อนเพิ่มเป็น 28 บาทต่อวันในปี 2520 เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่บังคับใช้นานที่สุดนับแต่มีกำหนดขึ้น[42]: 82 การดำเนินการของสหภาพแรงงานถูกควบคุมอย่างสูง มีการจัดตั้งองค์การน้อยลง จำนวนข้อพิพาทแรงงานลดลง[42]: 82 ลูกจ้างที่หยุดงานในช่วงรัฐบาลธานินทร์ถูกจับในข้อหาภัยสังคม[42]: 85 รัฐบาลออกกฎหมายห้ามนัดหยุดงานอยู่ช่วงหนึ่งก่อนยกเลิกไป[42]: 86–7 มีการออกกฎกระทรวงจำกัดสิทธิการนัดหยุดงานของกิจการบางประเภทที่ใช้มาถึงปัจจุบัน เช่น รัฐวิสาหกิจ กิจการขนส่งหรือกิจการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง[42]: 88
ช่วงปี 2521–3 นักศึกษาจัดตั้งองค์การเคลื่อนไหวได้ใหม่อีกแต่อยู่ภายใต้อิทธิพลของ พคท. อย่างลึกซึ้ง จนอิทธิพลดังกล่าวหมดไปในปี 2526[43]: 144 ช่วงปี 2526–31 หลังจากเครือข่ายนักศึกษาระหว่างสถาบันหมดบทบาทลง ได้มีการจัดตั้งองค์การเคลื่อนไหว 4 แนวทาง เช่น สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)[43]: 166 การประท้วงของนิสิตนักศึกษาหายไปจนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (2535) และสร้างบรรยากาศกดขี่อย่างทารุณจนถึงคริสต์ทศวรรรษ 1980[44]: 77 ชาญวิทย์ เกษตรศิริเตือนในปี 2563 ว่า หากคิดจัดการชุมนุมทางการเมืองอย่าค้างคืนเพื่อไม่ให้ทางการวางแผนปราบปรามได้ จะซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลา[45]
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่เกินปกติเป็นลบช่วงสั้น ๆ แต่เปลี่ยนกลับมาเป็นบวกภายใน 1–2 สัปดาห์[46]: 20–1
วงการภาพยนตร์ไทยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลามีแต่ภาพยนตร์ข่าวของทางการเป็นส่วนใหญ่ ภาพยนตร์กึ่งสารคดี ทองปาน ว่าด้วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ ทีมงานต้องหนีออกนอกประเทศ และกลับมาฉายในปี 2520 หลังตัดต่อแล้ว สำหรับเรื่องที่สะท้อนทัศนะของคนที่สมัยนั้น เช่น หนักแผ่นดิน กำกับโดยสมบัติ เมทะนี เนื้อหาว่าด้วยลูกเสือชาวบ้านที่ต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย[47]
กระบวนการทางกฎหมาย
- — พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
- นายกรัฐมนตรีคนที่ 15
ผู้ประท้วง 27 คนถูกอายัดตัวเพื่อดำเนินคดี ไม่มีผู้ก่อการคนใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อันที่จริงผู้ฆ่าได้รับความดีความชอบในฐานะผู้พิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์[11]: 64 สมาชิกคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองได้รับการนิรโทษกรรม แต่ไม่ห้ามดำเนินคดีกับบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง[10]: 266 นอกจากนี้ ไม่มีการสืบสวนของรัฐใด ๆ ทั้งสิ้นต่อสาเหตุของเหตุการณ์ หรือว่านักศึกษาสะสมอาวุธหรือไม่[11]: 8–9 ธงชัยเห็นว่าสุดท้ายแล้วไม่น่าเอาผิดผู้ใดได้ ส่วนหนึ่งเพราะความจริงจะทำลายบุคคลจำนวนมาก และสามสถาบันของชาติ[20]:252 จนถึงปี 2554 ญาติผู้เสียชีวิตกล่าวว่ายังไม่มีการชดเชยจากรัฐบาลใด[48]
สุวรรณ แสงประทุมกับพวกรวม 18 คนที่ถูกจำคุกมาตั้งแต่แรกโดยไม่มีการตั้งข้อหา จนถูกฟ้องฐานก่อกบฏ ก่อจลาจล ต่อสู้และพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ และรวมกันกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ และอีก 1 คนถูกฟ้องศาลพลเรือนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[21]: 434 คดีเริ่มในศาลทหารตามคำสั่งของคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2520 หรือประมาณ 10 เดือนหลังถูกจับ รัฐบาลกำหนดให้ผู้ต้องหาไม่มีสิทธิใช้ทนายความ แต่มีผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ในคดีเพื่อให้เกิดความโปร่งใส[20]:254 ต่อมา หลังรัฐบาลธานินทร์ล้มไป นักวิชาการและผู้นำพลเรือน ทนายความ ชาวไทยในต่างประเทศ รัฐและองค์การระหว่างประเทศจำนวนมากเข้าชื่อเรียกร้องให้นิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดี[20]:254 ผู้ต้องหาค่อยได้รับอนุญาตให้มีทนายความ[21]: 434 การพิจารณาคดีทุกครั้งมีผู้เข้าร่วมนับพันคน ข้อเท็จจริงได้รับการเปิดเผยมากขึ้น ฝ่ายผู้เกี่ยวข้องได้รับการชี้ความผิดและข้อน่าสงสัยจนเป็นผู้เสียประโยชน์เอง[21]: 434–5
รัฐบาลเร่งผ่านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ กรณี 6 ตุลาอย่างรวดเร็วจนตราในวันที่ 16 กันยายน 2521[21]: 435 จำเลยในคดีถูกปล่อยตัวและถอนข้อหาทั้งหมด[49]:44 นับเป็นการเคลื่อนไหวทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สังหารหมู่และรัฐประหารไม่ต้องถูกดำเนินคดีใด ๆ ในอนาคต[49]: 64 กฎหมายยังระบุด้วยว่าจำเลยกระทำความผิดเนื่องจากด้อยประสบการณ์[20]:254 เกรียงศักดิ์ย้ำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานอภัยโทษให้ จำเลยควรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเตือน "ไม่ให้ผิดซ้ำอีก"[20]:254
ปฏิกิริยาและมติมหาชน
ประชาชนต้อนรับรัฐประหารด้วยความโล่งใจอย่างกว้างขวางเพราะการชุมนุมประท้วงสร้างความวิตกกังวลใหญ่หลวง[8] หนังสือพิมพ์ระหว่างเดือนตุลาคม 2519 ถึงมกราคม 2520 เรียกผู้เสียหายว่าผู้ก่อความไม่สงบ ผู้ก่อความวุ่นวาย คอมมิวนิสต์ กบฏ ผู้หลงผิดและศัตรู[20]:253 ทางการจัดกิจกรรมโฆษณาชวนเชื่อในหลายจังหวัด เช่น นิทรรศการเหตุการณ์ 6 ตุลาคมที่บริเวณสนามไชย[21]: 422 ซึ่งเล่าว่าประชาชนที่เคียดแค้นพยายามจะเข้าไปจัดการกับ ศนท. ด้วยตนเอง ส่วนเจ้าหน้าที่พยายามระงับเหตุไทยฆ่ากันเอง แต่ถูกนักศึกษาใช้อาวุธก่อนจึงต้องตอบโต้ และเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำทารุณ[21]: 423 วันที่ 7 ตุลาคม 2519 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอสองพระองค์เสด็จ ฯ เยี่ยมตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ และอีกสองสัปดาห์เสด็จฯ ในงานบรรจุศพของลูกเสือชาวบ้านผู้เสียชีวิต[21]: 423 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงมีพระราชดำรัสในวันที่ 31 ธันวาคม 2519 ตอนหนึ่งว่า "...ประชาชนคนไทยมีการแสดงออกชัดเจนขึ้น ว่าต้องการอะไร เมื่อแสดงออกมาเช่นนี้ ก็ทำให้รู้ใจกัน และสามารถช่วยกันทำ ช่วยกันสร้างสิ่งที่ต้องการ มีจะมีอุปสรรค แม้ความยากลำบากขัดขวางอยู่ก็ทำได้ ขอเพียงให้ร่วมมือ ร่วมใจกันจริง ๆ..."[50] ด้านพลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร นายตำรวจพระราชสำนัก ให้ความเห็นต่อพระราชดำรัสว่า "ที่ถูกที่สุดก็คืออย่าแปล รับสั่งว่าอย่างไรก็ต้องอย่างนั้น ถ้าแปลแล้วอาจจะถูกก็ได้ อาจจะผิดก็ได้"[51]
การพิจารณาคดี 6 ตุลาในปี 2520–21 ทำให้มติมหาชนเปลี่ยนไป โดยในคดีนั้นธงชัยรู้สึกว่ารัฐกลายเป็นจำเลยเสียเอง[20]:254 อย่างไรก็ดี แม้หลังรัฐบาลนิรโทษกรรมแกนนำนักศึกษาแล้ว แต่รัฐบาลยังห้ามเผยแพร่วาทกรรมสวนทาง คือจะปล่อยให้สังคมลืมไปเอง[20]:254 รัฐบาลใช้วิธีตรวจพิจารณาสื่อ คงไว้เฉพาะการรำลึกถึงในมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่งเท่านั้น[20]:255 แม้สังคมจะหันมาเห็นใจนักศึกษามากขึ้นแล้ว แต่ก็มาพร้อมเงื่อนไข "หุบปากเหยื่อ"[11]: 37–8 กิจกรรมรำลึกครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ในปี 2539 มีปฏิกิริยาของสื่อและสาธารณะในทางยอมรับเสียงของผู้ถูกกระทำ เริ่มมีการพูดถึงในวงกว้างขึ้นในฐานะความเหี้ยมโหดที่ไทยฆ่ากันเองเพราะความเห็นต่าง เป็นประวัติศาสตร์ที่รอการชำระ[21]: 445
วีรชนเดือนตุลาที่กลุ่มการเมืองแทบทุกฝ่ายยกเว้นกองทัพกลับถูกตีความใหม่ว่าเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย เป็นเหตุให้ไม่ได้สร้างอนุสาวรีย์ทั้งที่วางศิลาฤกษ์แล้วในเดือนตุลาคม 2518[20]:266 เริ่มมีความพยายามสร้างอนุสาวรีย์แก่วีรชนเดือนตุลา และนักศึกษา 6 ตุลาในปี 2532 แต่ล่าช้ามาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายในปี 2541 มีการตั้งอนุสาวรีย์อุทิศให้แก่วีรชน 14 ตุลา 2516 ซึ่งธงชัยแย้งว่าที่ตั้งได้ส่วนหนึ่งเพราะกันนักศึกษา 6 ตุลาไปแล้ว[g]
ปฏิกิริยาของฝ่ายซ้าย
ทัศนะเกี่ยวกับการล่มสลายของขบวนการฝ่ายซ้ายที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดมีว่า การกระทำของฝ่ายซ้ายเองในช่วงปี 2516–2519 ทำให้ฝ่ายขวามีข้ออ้างสวนกลับได้[20]:270 ก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ดูไม่ออกเลยว่าคณะรัฐประหารจะรอดจากปฏิกิริยา แต่หลังเหตุการณ์ทำให้การประท้วงเป็นไปไม่ได้อีก[3]: 10 นักศึกษาจำนวนมากไปเข้ากับ พคท. เพราะเชื่อตามพรรคที่ว่าแนวทางรัฐสภาใช้ไม่ได้ผล[20]:258–9 หลายคนรู้สึกขมขื่นและแค้นใจซึ่งหวังใช้พรรคแก้แค้นเพื่อนที่เสียชีวิต[20]:259 แต่ต่อมานักศึกษาที่เข้าป่าก็ขัดแย้งกับ พคท. หมดศรัทธาเนื่องจากอุดมการณ์แบบลัทธิเหมาซึ่งเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ ต่างทยอยออกมารับข้อเสนอของรัฐให้กลับคืนสู่สังคม[20]:260–1 นับแต่นั้นฝ่ายซ้ายหลายคนจึงละอายใจ ส่วนหนึ่งเพราะกลับมารับความเมตตาของรัฐไทย อีกส่วนหนึ่งเพราะรู้สึกผิดกับการแบ่งฝ่ายและความตายของสมาชิกที่ชักชวนเข้าพรรค[20]:261–2 หลายคนฆ่าตัวตาย บางคนยังยึดถือแนวทางรุนแรงก็ไปเข้ากับศาสนาพุทธมูลวิวัติและองค์การนอกภาครัฐประชานิยม[20]:261 หลังปี 2539 ฝ่ายซ้ายหลายคนกล้าเปิดเผยเรื่องของตนมากขึ้น หลายคนเล่าอดีตที่เคยเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ด้วยความภูมิใจ[21]: 445
ปฏิกิริยาของฝ่ายขวา
—ธงชัย วินิจจะกูล[h]
หลายเดือนหลังจากนั้นฝ่ายขวาตอกย้ำความเลวร้ายของนักศึกษา และตนประกอบวีรกรรมรักษาประเทศชาติไว้ได้[21]: 411 ฝ่ายขวาได้สร้างความทรงจำแบบฉบับขึ้นแทบทันที[21]: 426 เป็นการโฆษณาที่ ท่ามกลางบรรยากาศ "ล่าแม่มด" สมัยรัฐบาลธานินทร์มีครูบาอาจารย์ให้การแก่ตำรวจเรื่องนักเรียนนักศึกษาฝ่ายซ้าย อาจารย์แพทย์รายหนึ่งแจ้งจับแพทย์และบุคลากรโรงพยาบาลเดียวกัน ข้าราชการมหาวิทยาลัยให้ชื่ออาจารย์และบุคลากรร่วมมหาวิทยาลัย[21]: 430
การส่งเสริมให้สังคมลืมเหตุการณ์หลังพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ปี 2521 หมายความว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาไม่ใช่ชัยที่ควรฉลองอีกต่อไป[21]: 436 ผู้มีอำนาจหลายคน เช่น พลตรี จำลอง ศรีเมือง นายทหารกลุ่ม "ยังเติร์ก", พลเอกชาติชาย และสมัคร[21]: 437–8 ต่างปฏิเสธส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่และความสัมพันธ์กับขบวนการฝ่ายขวา[20]:255–6 เป็นอันว่าวาทกรรมของฝ่ายขวาก็ถูกกดให้เงียบ คงเหลือเพียงการแก้ตัวหรือหลบเลี่ยง[21]: 438 ถึงอย่างนั้นควรสังเกตว่าพวกเขาไม่ประณามเหตุดังกล่าว เข้าใจว่าบุคคลเหล่านี้กลบเกลื่อนไว้เพื่อประโยชน์ด้านความนิยมเท่านั้น[20]:256–7 บทความของพันตำรวจตรีมนัสในปี 2537 นับเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายปราบปรามออกมาเล่าแย้งกับทัศนะแบบฉบับของฝ่ายขวา เช่น เห็นนักศึกษายอมแพ้[21]: 439 กระนั้นเขายังมีทัศนะฝ่ายขวาว่านักศึกษาเป็น "เชลย" และคนถูกยิงเป็นญวน[21]: 439–40 ในปี 2541 พลตำรวจโท สมควร หริกุล ผู้ร่วมก่อตั้งลูกเสือชาวบ้าน ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่านักศึกษาและ พคท. หวังดีต่อชาติ[11]: 45 ส่วนพลตรี สุดสาย หัสดิน หัวหน้ากระทิงแดง ว่ายัง "ภูมิใจที่ช่วยให้ประเทศไทยยังรักษาประชาธิปไตยไว้ได้"[11]: 45 เมื่อปี 2551 สมัคร สุนทรเวชปฏิเสธว่าไม่เคยมีการสังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาว่ามีผู้เสียชีวิตโดยอุบัติเหตุเพียงคนเดียว โดยอ้างถึง "ชายโชคร้ายคนหนึ่งถูกทุบตีและเผาที่สนามหลวง" (คือศิลปิน มนัส เศียรสิงห์ ซึ่งร่างถูกลากออกมาจากกองศพและถูกตัดแขนขาต่อหน้าผู้เห็นเหตุการณ์ที่ยืนเชียร์)[52][53]
ฝ่ายขวาหลายคนรู้สึกว่าพวกตนตกเป็นจำเลยสังคม แต่ส่วนใหญ่ยังมิได้มองว่าพวกตนกระทำผิด[21]: 411–2 สมาชิกกระทิงแดงระดับล่างหลายคนบอกว่าพวกตนเป็น "ผู้ปิดทองหลังพระ" หมายความถึง การยอมรับการถูกประณามเพื่อส่วนรวม "คนเบื้องหลังที่เป็นอีแอบของคน 2 กลุ่มเคยถูกขุดคุ้ยออกมาพูดไหม ไม่เคย คนที่เป็นอีแอบปัจจุบันก็ยังเป็นอีแอบอยู่"[21]: 445 ยืนยันว่าพวกตนไม่ได้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์โดยตรง คนหนึ่งว่าจะเข้าไปช่วยนักศึกษาด้วยซ้ำ[21]: 448 ธงชัยเสนอว่ายังมีฝ่ายขวาในประเทศไทยอีกมากที่รับทราบข้อเท็จจริง และยอมรับโดยไม่ปิดบัง แต่มีทัศนะต่างไปจากฝ่ายซ้าย ซึ่งทำให้ตนถูก และฝ่ายซ้ายผิดอยู่ดี[21]: 495
ประวัติศาสตร์นิพนธ์
ประวัติศาสตร์กระแสหลักแทบไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ในปี 2562 หนังสือพิมพ์ประชาไท ได้สำรวจแบบเรียนสังคมศึกษาระดับมัธยมจำนวน 23 เล่ม ที่ใช้หลักสูตรปี 2544, 2559 และ 2560 มี 17 เล่ม (74%) ที่ไม่กล่าวถึงเลย, 2 เล่ม (8.5%) กล่าวถึงในลักษณะพาดพิงเท่านั้น, 4 เล่ม (17.5%) ให้รายละเอียดและบริบทมากน้อยต่างกัน[54] ตัวอย่างของความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีอยู่น้อย เช่น การระบุว่าภาพที่ถ่ายโดยนีล อูเลวิชนั้น เป็นภาพถ่ายร่างของวิชิตชัย อมรกุล ซึ่งเพิ่งมาทราบว่าผิดเมื่อโครงการ 6 ตุลาตีแผ่[32] ศาสตราจารย์ ธงชัย วินิจจะกูล หนึ่งในผู้ประท้วงนักศึกษา เขียนว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ผิดที่ทางในประวัติศาสตร์นิพนธ์ของไทย เพราะเบี่ยงเบนไปจากวาทกรรมปกติอย่างมาก ส่วนหนึ่งเพราะไทยฆ่ากันเองอย่างรุนแรงจนบุคคลทั่วไปคาดไม่ถึง และเป็นการกระทำในนามของสามสถาบันหลักของไทย ทั้งยังสั่นคลอนความเชื่อว่าประเทศไทยมีแต่ความสงบสุข[20]:265 แม้แต่ชื่อ "เหตุการณ์ 6 ตุลา" ก็ยังกำกวมเพราะส่อความเลื่อนลอยและบดบังอดีต[20]:265 ประวัติศาสตร์ฉบับสมบูรณ์ของเหตุการณ์ไม่อาจเขียนขึ้นภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข[20]:253 ธงชัยเสนอเหตุผลที่ทำให้ไม่มีประวัติศาสตร์สาธารณะของเหตุการณ์ 6 ตุลาว่าส่วนหนึ่งเพราะเหตุการณ์นี้เป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ไม่ได้มีผู้ร้ายเป็นเผด็จการทหารฝ่ายเดียวเหมือนกับเหตุการณ์ 14 ตุลา จึงมักมีการแบ่งแยกสองเหตุการณ์นี้ นอกจากนี้แม้สังคมไทยจะเปลี่ยนทัศนคติจากที่มองว่านักศึกษากระทำผิดเป็นเหยื่อ แต่กระแสหลักของสังคมกำหนดให้เลิกตั้งข้อสงสัยต่าง ๆ "เพื่อสมานฉันท์สังคม"[11]: 23
อนุสรณ์ในปี 2539 เป็นการหยุดการปิดปากเงียบที่สำคัญ แต่ยังงดกล่าวถึงกองทัพหรือองค์การอนุรักษนิยม[20]:274 แม้แต่การประณามความรุนแรงโดยรัฐก็เลี่ยงไม่โทษบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพียงยกย่องการเสียสละตนของผู้เสียหายเท่านั้น[20]:274–5 ด้านไทเรล ฮาเบอร์คอร์น สันนิษฐานว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จสวรรคตในปี 2559 คงทำให้เอ่ยถึงผู้ลงมือได้ยากยิ่งขึ้นเพราะรัชกาลของพระองค์จะถูกทำให้เป็นอุดมคติ[35]: 271 มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519" ราวเดือนกรกฎาคม 2543 โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ชลธิชา สัตยาพัฒนาเป็นประธาน คณะกรรมการฯ ได้รับฟังข้อมูลจากผู้มาให้ปากคำ 62 คนในเดือนกันยายน 2543[11]: 8–9 ประกอบกับใช้หลักฐานอื่น เช่น คำให้การของตำรวจ แหล่งข้อมูลตีพิมพ์ และเทปบันทึกภาพและเสียง จนได้รายงานออกมาสองเล่ม คือ อาชญกรรมรัฐ ในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง และ กรีดแผล กลัดหนอง กรองความจริง โดยผู้หญิง 6 ตุลาฯ[11]: 10 ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการ ฟ้าเดียวกัน เป็นผู้พบเอกสารที่หอจดหมายเหตุของสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อราวปี 2540 แล้วคัดลอกออกมาเท่าที่ได้[32] พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งโครงการหอจดหมายเหตุ (archive) "บันทึก 6 ตุลา"[55] การค้นหาข้อมูลของโครงการฯ ได้ชุดภาพถ่ายของเหตุการณ์จากหลายแหล่ง ส่วนหนึ่งได้มาจากแฟรงค์ ลอมบาร์ด อดีตนักข่าวสถานีวิทยุนิวซีแลนด์ที่เป็นภาพสีถ่ายด้วยตนเอง ส่วนหนึ่งได้มาจากปฐมพร ศรีมันตะ ซึ่งได้มาจากผู้อื่นอีกทอดหนึ่ง เมื่อดูจากมุมมองที่ถ่ายแล้วน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐถ่าย[32] ข้อมูลจากเอกสารชันสูตรพลิกศพของโรงพยาบาลศิริราชทำให้สามารถระบุรูปพรรณของผู้ถูกแขวนคอได้อีก 1 คน[32] การค้นหาข้อมูลจากเอกสารราชการเพิ่มเติมอาจไม่สามารถกระทำต่อไปได้แล้วเพราะกฎหมายให้ทำลายเอกสารราชการที่มีอายุเกิน 25 ปี[32] สำหรับการสืบสวนหลักฐานที่มูลนิธิร่วมกตัญญูพบว่าภาพถ่ายเหตุการณ์ถูกทำลายไปแล้วในปี 2535[32] ส่วนมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งไม่อนุญาตให้เข้าถึงภาพนั้นเพราะเป็นเรื่องการเมือง[32] ภัทรกรติดต่อญาติผู้เสียชีวิตเพื่อขอสัมภาษณ์ พบว่ามีปฏิกิริยาทั้งยินดี โกรธ กลัวและเย็นชา บางครอบครัวมองว่าการเปิดเผยข้อมูลไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ส่วนบางครอบครัวบอกว่าต้องการความจริง[56]
ภาพจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
ภาพ "ตอกอก" โดยปรีชา การสมพจน์ ที่เพิ่งเผยแพร่ในปี 2565 |
ภาพถ่ายของอูเลวิชเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดภาพยนตร์และละครเวทีหลายเรื่อง และกลายเป็นอินเทอร์เน็ตมีมเสียดสีที่ใช้กับความคิดเชิงต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์[57] ความพยายามตามหาชายที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ปรากฏในภาพของอูเลวิชในปี 2560 นั้นไม่เป็นผล[58] ในปี 2562 พวงทองนำประตูแดงอันเป็นที่พบศพพนักงานการไฟฟ้าในจังหวัดนครปฐมมาเก็บไว้เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์[59] ในปี 2565 มีการเปิดเผยว่ายังมีรูปถ่ายประวัติศาสตร์อีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีการเผยแพร่เนื่องจากคำสั่งตรวจพิจารณาสื่อหลังรัฐประหารปี 2519 ในนิทรรศการ 6 ตุลาปี 2565 มีการเปิดเผยภาพถ่ายของปรีชา การสมพจน์ อดีตช่างภาพข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ซึ่งมีภาพคนใช้ไม้ตอกอกศพนักศึกษาที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยในปี 2519 และเป็นภาพที่สำนักข่าวเอพีคัดสรรให้เป็นหนึ่งในภาพข่าวยอดเยี่ยมที่สุดแห่งศตวรรษในปี 2542[60]
อนุสรณ์และมรดก
การรำลึก
การจัดงานรำลึกประจำปีปกติเน้นเพื่อกระตุ้นเตือนสังคมถึงการไม่ต้องรับผิด จิตวิญญาณประชาธิปไตยและการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ไม่ค่อยเกิดผลเท่าใดนัก[61] วิภา ดาวมณี อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า หลังวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 ทำให้ญาติผู้เสียชีวิตแตกออกเป็นเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ทำให้ขาดความร่วมมือในการจัดงานรำลึก[48]
ในปี 2539 มีการจัดงานรำลึกครบรอบ 20 ปี เป็นครั้งแรกที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์รวมกันบอกเล่าเรื่องในแบบผู้ถูกกระทำ[21]: 444 มีการตีพิมพ์หนังสือหลายเรื่องซึ่งเป็นการเปิดมุมมองใหม่ ๆ ตัวอย่างหนังสือสำคัญ เช่น เราไม่ลืม 6 ตุลา, มหาวิทยาลัยของฉัน, ตุลากาล, 6 ตุลาจารึก ความทรงจำ ความหวัง บทเรียน ฯลฯ
งานรำลึกครบรอบ 40 ปีของเหตุการณ์จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 6–8 ตุลาคม 2559 แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติอนุญาตให้จัดงานเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เตือนว่าได้วางกำลังนอกเครื่องแบบ และอาจสั่งปิดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม[35]: 272–3 นับเป็นงานที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดนับแต่งานครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ในปี 2539[35]: 273 การจัดงานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชน วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ นักแสดง กล่าวถึงความสำคัญของกระบวนการยุติธรรมและมาตรฐานเดียว ส่วนเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าอาจต้องรออีก 40 ปีเหตุการณ์นี้จึงจะเป็นประวัติศาสตร์ของสังคม เช่นเดียวกับการสังหารหมู่นานกิงที่เป็นบทเรียนแก่ชาวญี่ปุ่น[61] เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักกิจกรรม มองว่ากลยุทธ์อันจืดชืดของนักกิจกรรมในอดีตอาจเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้มีการจัดรำลึกของนักศึกษาน้อย ส่วนเขาจัดกิจกรรมโดยมีเกม และระดมทุนจากการขายเสื้อยืด[62] นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ในปี 2562 มีการจัด "นิทรรษการ | พยาน" และโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ซึ่งรวบรวมพยานหลักฐานในเหตุการณ์[63] ในเดือนตุลาคม 2564 มีการมอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย เป็นครั้งแรกโดยสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มอบให้แก่นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรียกร้องและปกป้องประชาธิปไตย โดยตั้งชื่อตามจารุพงษ์ ทองสินธุ์ นักกิจกรรมที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา[64] การจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาในปีหลัง ๆ ถูกขัดขวางจากผู้บริหารสถานศึกษาหลายกรณี[65][66][67] ในงานดนตรี "6ตุลาหวังว่าเสียงลมจะพาล่องไป" เมื่อปี 2565 เกิดเหตุกระทบกระทั่งกันเมื่อผู้ร่วมการแสดงบางส่วนไม่พอใจที่มีนักกิจกรรมเรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในงาน[68] โดยมีคำพูดอย่าง "ใครตายก็ช่างแม่ง จะดูคอนเสิร์ต"[69]
วัฒนธรรมสมัยนิยม
ในปี 2520 มีภาพยนตร์ที่สะท้อนทัศนะฝายขวา เก้ายอด โดยสุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ที่นำภาพข่าวชุมนุมมาสื่อว่าต้องการล้มล้างประชาธิปไตย[47] แต่ในปีเดียวกัน ก็มีชาวญี่ปุ่น โอโอกะ เรียวโออิจิ เรียบเรียงฟุตเทจภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาถึง 6 ตุลา เป็นภาพยนตร์ชื่อ จักจำไว้จนวันตาย (They Will Never Forget)[70] ปี 2546 ภาพยนตร์สั้นเรื่อง อย่าลืมฉัน ที่ได้รางวัลรัตน์ เปสตันยี ประจำปี 2546[71] ในปี 2548 มีภาพยนตร์เรื่อง โคลิค เด็กเห็นผี มีการเล่าเรื่องลิฟท์แดงซึ่งเกิดจากการยิงปืนเข้าไปในลิฟต์ระหว่างเหตุการณ์ 6 ตุลา[72] ปี 2552 มีภาพยนตร์ที่เนื้อหาว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา หลายเรื่อง เช่น ฟ้าใส ใจชื่นบาน เล่าเรื่องของนักศึกษาที่หนีเข้าป่าในเชิงขบขัน, มหาลัยสยองขวัญ ตอนลิฟท์แดง และ October Sonata: รักที่รอคอย ที่นำเสนอผ่านความรัก การรอคอย และนวนิยายเรื่อง สงครามชีวิต ของศรีบูรพา[47]
ภาพยนตร์เรื่อง ดาวคะนอง (2559) เล่าถึงผู้สร้างภาพยนตร์ที่ต้องการสร้างเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นภาพยนตร์ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม[73] ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ และชมรมวิจารณ์บันเทิง และเป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเข้าชิงรางวัลออสการ์[47] แต่ตำรวจสั่งงดฉายในประเทศไทย[73] ภาพยนตร์สั้น พิราบ (2560) กำกับโดยบัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยเรื่องราวของนักศึกษาที่ถูกปราบปรามในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้รับรางวัลพิราบขาว จากมูลนิธิ 14 ตุลา และรางวัลชมเชย สาขาช้างเผือก[74]
ภัทรภร ภู่ทองเป็นผู้กำกับสารคดีบทสัมภาษณ์ญาติและเพื่อนของผู้เสียชีวิต ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ด้วยความนับถือ (Respectfully Yours, 2559) ฉายครั้งแรกในวันครบรอบ 40 ปีของเหตุการณ์ นำเสนอบทสัมภาษณ์ของญาติผู้เสียชีวิต พวงทอง ภวัครพันธุ์ ผู้ผลิต กล่าวว่า เป็นความพยายามขับเน้นใบหน้าของผู้เสียหาย ไม่ใช่ถูกทำให้เป็นตัวเลข[75] เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการหอจดหมายเหตุดิจิทัล[35]: 273 สองพี่น้อง เป็นภาพยนตร์สั้นที่นำเสนอนิยายของนักกิจกรรมสองพี่น้องช่างไฟฟ้านักกิจกรรมที่ถูกลงประชาทัณฑ์เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2519 ภาพยนตร์แสดงบทสัมภาษณ์ชีวประวัติของญาติผู้เสียชีวิต ชุมพรและวิชัย ภาพยนตร์ยังแสดงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นประตูทางเข้าที่ดินว่างเปล่าแปลงหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ที่เรียก "ประตูแดง"[55] อีกเรื่องหนึ่งคือ ความทรงจำ-ไร้เสียง (2557)[47]
ในปี 2561 มิวสิกวิดีโอเพลงแร็ปใต้ดิน "ประเทศกูมี" ของกลุ่มแร็ป Rap Against Dictatorship ใช้ฉากหลังเป็นการลงประชาทัณฑ์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา[76]
ดูเพิ่ม
เชิงอรรถ
- ↑ มักเข้าใจผิดว่าเป็นวิชิตชัย อมรกุล[1]
- ↑ เป็นผู้ประท้วง 40 คน และ ผู้ก่อการ 5 คน; ลดลงจาก 46 คน หลังมีการชำระภายหลังโดยโครงการบันทึก 6 ตุลา[2]
- ↑ ดูที่ [5][6][7]
- ↑ ต่อมากลุ่มฝ่ายขวาต่าง ๆ กลายเป็นเครือข่ายของกลุ่มอภิรักษ์จักรี[21]: 416
- ↑ เนื่องจากพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ทรงผนวชที่วัดนี้[20]: 248
- ↑ This figure was accepted by the Washington Post. ("Deaths" [Obituary for Sudsai Hasadin], Washington Post, August 18, 2001)
- ↑ เรื่องอนุสาวรีย์วีรชนเดือนตุลานั้น ในปี 2532 รัฐบาลชาติชาย (ซึ่งตัวเขาเองสนับสนุนการเดินขบวนของฝ่ายขวาในเหตุการณ์ 6 ตุลา) ตกลงจะสร้างอนุสาวรีย์ แต่ก็ไม่ได้สร้าง ในปี 2538 แผนการสร้างอนุสาวรีย์ได้เริ่มขึ้นแล้วที่สวนสันติพร แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สร้างถนนเลี่ยงเมืองในบริเวณนั้น ทำให้แผนต้องถูกยกเลิกไปอีก จนในปี 2541 ธีรยุทธ บุญมีอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับอานันท์ ปันยารชุนเจรจาทำสัญญาส่วนตัวกับผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จนสุดท้ายมีการสร้างอนุสาวรีย์จนได้ แต่อุทิศให้แก่วีรชน 14 ตุลา 2516 เท่านั้น[20]:268–9
- ↑ ธงชัย วินิจจะกูลเขียนในบทความ "6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519–2549 : จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี)" เล่าถึงการสัมภาษณ์ของตนกับนายพล "ณ" นายทหารเกษียณอายุราชการ ผู้เคยมีบทบาทในสถานีวิทยุยานเกราะ[21]: 495
อ้างอิง
- ↑ "'คนตายมีชื่อ' ตามหาข้อมูลที่หายไปใน '6 ตุลา 19' พวงทอง ภวัครพันธุ์-ภัทรภร ภู่ทอง". สืบค้นเมื่อ 2020-07-19.
- ↑ "รายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จำนวน 40 คน". DOCUMENTATION OF OCT 6. สืบค้นเมื่อ 24 September 2021.
- ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 3.15 3.16 3.17 3.18 3.19 3.20 3.21 3.22 3.23 3.24 3.25 3.26 3.27 3.28 3.29 Ungpakorn, Puey (July–September 1977). "Violence and the military coup in Thailand". Bulletin of Concerned Asian Scholars. 9 (3). doi:10.1080/14672715.1977.10406422. ISSN 0007-4810. สืบค้นเมื่อ 2020-07-20.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 "คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 : แง่มุมในหลืบประวัติศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-21. สืบค้นเมื่อ 2020-07-21.
- ↑ Solomon, Feliz (6 ตุลาคม 2559). "Thailand Is Marking the Darkest Day in Its Living Memory". time.com. TIME. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ Rojanaphruk, Pravit (6 ตุลาคม 2559). "The Will to Remember: Survivors Recount 1976 Thammasat Massacre 40 Years Later". khaosodenglish.com. Khaosod English. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ Associated Press (6 ตุลาคม 2559). "Today in history: Thailand's Thammasat University massacre that killed 46 pro-democracy activists". scmp.com. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 8.7 "THAILAND: A Nightmare of Lynching and Burning, Time, October 18, 1976.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 Anderson, Ben (1977). "Withdrawal symptoms: Social and cultural aspectsof the October 6 coup". Bulletin of Concerned Asian Scholars,. 9 (3). doi:10.1080/14672715.1977.10406423. สืบค้นเมื่อ 2020-07-22.
{{cite journal}}
: CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์) - ↑ 10.00 10.01 10.02 10.03 10.04 10.05 10.06 10.07 10.08 10.09 10.10 10.11 10.12 10.13 10.14 10.15 10.16 10.17 10.18 10.19 10.20 10.21 Handley, Paul M. The King Never Smiles: A Biography of Thailand's Bhumibol Adulyadej. Yale University Press. ISBN 0-300-10682-3.
- ↑ 11.00 11.01 11.02 11.03 11.04 11.05 11.06 11.07 11.08 11.09 11.10 11.11 11.12 11.13 11.14 11.15 11.16 11.17 11.18 11.19 11.20 11.21 11.22 11.23 11.24 11.25 11.26 11.27 11.28 11.29 11.30 11.31 11.32 11.33 11.34 11.35 11.36 11.37 11.38 11.39 11.40 11.41 11.42 11.43 11.44 11.45 11.46 11.47 11.48 11.49 11.50 11.51 11.52 11.53 11.54 11.55 11.56 11.57 11.58 11.59 11.60 11.61 11.62 11.63 11.64 11.65 11.66 11.67 11.68 11.69 11.70 11.71 11.72 11.73 11.74 11.75 11.76 อึ๊งภากรณ์, ใจ; ยิ้มประเสริฐ, สุธาชัย; และคณะ (2544). อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง (PDF). คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519. ISBN 9748858626. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-19. สืบค้นเมื่อ 2020-07-19.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 12.3 Neher, Clark D., Modern Thai politics: from village to nation (1979).
- ↑ 13.00 13.01 13.02 13.03 13.04 13.05 13.06 13.07 13.08 13.09 13.10 13.11 13.12 13.13 เจียมธีรสกุล, สมศักดิ์ (2544). ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก. ISBN 9745728772.
- ↑ 6. กลุ่มทหารหรือคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
- ↑ 40 ปี รัฐประหาร 26 มีนาคม (1) รำลึก “พลเอกฉลาด หิรัญศิริ” | สุรชาติ บำรุงสุข
- ↑ 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 Ungpakorn, Ji Giles, "From the city, via the jungle, to defeat: the 6th Oct 1976 bloodbath and the C.P.T. เก็บถาวร 2013-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", Radicalising Thailand: New Political Perspectives. (2003) Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University.
- ↑ Leifer, Michael, Dictionary of the modern politics of South-East Asia (2001), p. 199.
- ↑ Glassman, Jim, Thailand at the Margins: Internationalization of the State and the Transformation of Labour (2004), p. 68.
- ↑ 19.0 19.1 Harris, Nigel "Thailand: The Army Resumes Command" Notes of the Month, International Socialism (1st series), No.93, November/December 1976, pp.8-9.
- ↑ 20.00 20.01 20.02 20.03 20.04 20.05 20.06 20.07 20.08 20.09 20.10 20.11 20.12 20.13 20.14 20.15 20.16 20.17 20.18 20.19 20.20 20.21 20.22 20.23 20.24 20.25 20.26 20.27 20.28 20.29 20.30 20.31 20.32 20.33 20.34 20.35 20.36 20.37 20.38 20.39 20.40 20.41 20.42 Thongchai Winichakul (2002). "Remembering/ Silencing the Traumatic Past". In Shigeharu Tanabe and Charles F. Keyes eds., Cultural Crisis and Social Memory: Modernity and Identity in Thailand and Laos. Honolulu: University of Hawaii Press.
- ↑ 21.00 21.01 21.02 21.03 21.04 21.05 21.06 21.07 21.08 21.09 21.10 21.11 21.12 21.13 21.14 21.15 21.16 21.17 21.18 21.19 21.20 21.21 21.22 21.23 21.24 21.25 21.26 ธงชัย วินิจจะกูล, ศาตราจารย์ (2553). "6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519–2549 : จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี)". ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย (PDF). มติชน. ISBN 9789740207009.
- ↑ "Samakography : Part 1," Bangkok Pundit.
- ↑ Walker, Andrew, "Samak Sundaravej เก็บถาวร 2012-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", New Mandala
- ↑ 24.0 24.1 24.2 24.3 24.4 เชื้อไทย, สมยศ (บ.ก.). คดีประวัติศาสตร์ ๖ ตุลา ใครคือฆาตกร. พี.เต.พริ้นติ้งเฮ้าส์.
- ↑ 25.00 25.01 25.02 25.03 25.04 25.05 25.06 25.07 25.08 25.09 25.10 25.11 "20 ปี 6 ตุลา 19 บทเรียนจากประวัติศาสตร์ที่หลายคนอยากลืม". สารคดี. 12 (140). ตุลาคม 2539. ISSN 0857-1538.
- ↑ สล้าง บุนนาค กับเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลา 2519
- ↑ Oct. 6 Massacre: The Photographer Who Was There.
- ↑ พวงทอง ภวัครพันธุ์; ธงชัย วินิจจะกูล (2561). "การทำร้ายศพเมื่อ 6 ตุลา 2519: ใคร อย่างไร ทำไม". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 2020-07-19.
{{cite news}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Puangthong Pawakapan : A Record of the Search for the Chair Man
- ↑ 30.0 30.1 30.2 Brutal Thai coup
- ↑ "สรุปวงเสวนา 'ความรู้และความไม่รู้ ว่าด้วย 6 ตุลา 2519' 40 ปีที่ยังหาคำตอบไม่ได้". 30 กันยายน 2559. สืบค้นเมื่อ 2020-07-19.
- ↑ 32.0 32.1 32.2 32.3 32.4 32.5 32.6 32.7 32.8 ฉันไม่รู้จัก 6 ตุลา (2): นักสืบประวัติศาสตร์ผู้(กำลัง)ทำงานแข่งกับเวลา
- ↑ 6 ตุลา ประวัติศาสตร์อิหลักอิเหลื่อ และความพ่ายแพ้ทางประวัติศาสตร์ของอนุรักษ์นิยม
- ↑ "'สุวินัย' ยันขบวนนักศึกษา6ตุลาเป็นคอมมิวนิสต์แบบเหมาอิสต์ 'สมศักดิ์เจียม' ยังยอมรับความจริง". Thai Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ 35.0 35.1 35.2 35.3 35.4 Haberkorn, Tyrell (2017). "The Anniversary of a Massacre and the Death of a Monarch" (PDF). The Journal of Asian Studies. 76 (2): 269. doi:10.1017/S0021911817000018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-19. สืบค้นเมื่อ 3 April 2020.
- ↑ Franklin B. Weinstein, "The Meaning of National Security in Southeast Asia,". Bulletin of Atomic Scientists, November 1978, pp. 20-28.
- ↑ 37.0 37.1 37.2 Human Rights in Thailand : Hearings Before the Subcommittee on International Organizations of the Committee on International Relations, House of Representatives, Ninety-Fifth Congress, First Session, June 23 and 30, 1977, U.S. Government Printing Office, 1977.
- ↑ 38.0 38.1 นรนิติ เศรษฐบุตร ศ., 26 มีนาคม คอลัมน์ส่วนร่วมสังคมไทย: หน้า 8 เดลินิวส์ฉบับที่ 22,807 ประจำวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555
- ↑ ธรรมร่มดี, สุรพล (มกราคม–มิถุนายน 2545). "พินิจเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และดอกผลของการปฏิวัติสังคม". สังคมศาสตร์. 33 (1). สืบค้นเมื่อ 2020-07-21.
- ↑ 40.0 40.1 อึ๊งภากรณ์, ใจ (2545). "จากโศกนาฏกรรมถึงลิเกการเมือง การปฏิรูปการเมืองการปกครองไทยในเงาของ ๖ ตุลา". สังคมศาสตร์. 33 (1). สืบค้นเมื่อ 2020-07-21.
- ↑ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล "มาตรา 112 : ผลพวงรัฐประหาร 6 ตุลา 2519"
- ↑ 42.0 42.1 42.2 42.3 42.4 42.5 ธนชัยเศรษฐวุฒิ, บัณฑิตย์ (มกราคม–มิถุนายน 2545). "อาชญากรรมคดี 6 ตุลา กับผลกระทบต่อขบวนการแรงงาน". สังคมศาสตร์. 33 (1). สืบค้นเมื่อ 2020-07-22.
- ↑ 43.0 43.1 ชมสินทรัพย์มั่น, ภาคิไนย์. "ขบวนการนักศึกษาไทย: วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาไทยในเมืองช่วงระหว่าง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถึงปี พ.ศ. 2531" (PDF). การเมือง การบริหาร และกฎหมาย. 4 (2). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-24. สืบค้นเมื่อ 25-07-2563.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ Sripokangkul, S. (2019). "Understanding the social environment determinants of student movements: A consideration of student activism in Thailand and the Thai "social cage."" (PDF). International Journal of Asia Pacific Studies. 15 (1). doi:10.21315/ijaps2019.15.1.3. สืบค้นเมื่อ 2020-07-24.
- ↑ “ชาญวิทย์” เตือนม็อบ “เยาวชนปลดแอก” อย่าค้างคืน หวั่นซ้ำรอย “6 ตุลา”
- ↑ Nimkhunthod, Weerasak (2007). An Impact of Political Events on the Stock Exchange of Thailand (MSc). Faculty of Commerce and Accountancy, Thammasat University.
- ↑ 47.0 47.1 47.2 47.3 47.4 ‘6 ตุลา’ ผ่านสายตานักทำหนังไทย สืบค้น 24-07-2020.
- ↑ 48.0 48.1 photos of 6 Oct 1976 massacre emerge[ลิงก์เสีย]
- ↑ 49.0 49.1 Haberkorn, Tyrell (2015). "The Hidden Transcript of Amnesty: The 6 October 1976 Massacre and Coup in Thailand". Critical Asian Studies, Vol. 47, No. 1.
- ↑ เผยพระราชดำรัส 'รัชกาลที่9' ประกอบ MV เพลงสรรเสริญพระบารมี
- ↑ พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ตอนที่ 7 : “ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519”
- ↑ Interview with Samak Sundaravej เก็บถาวร 2013-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (recovered 8:06 PM 2/22/2008)
- ↑ Bryce Beemer, Forgetting and Remembering "Hok Tulaa", the October 6 Massacre
- ↑ ฉันไม่รู้จัก 6 ตุลา (1): สำรวจแบบเรียน-ความเข้าใจของนักเรียนไทยในปี 2562
- ↑ 55.0 55.1 Rithdee, Kong. "The inciting incident". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 4 April 2020.
- ↑ 40 ปีผ่าน เจอข้อมูลใหม่ 6 ตุลา! คนถูกแขวนคอสนามหลวงมีมากกว่า 2 คน
- ↑ Rithdee, Kong (30 September 2016). "In the eye of the storm". Bangkok Post. Post Publishing. สืบค้นเมื่อ 5 October 2016.
- ↑ Puangthong Pawakapan : A Record of the Search for the Chair Man
- ↑ รื้อประตูแดงชนวนเหตุ ‘6 ตุลา’ รอแสดงนิทรรศการบันทึกความรุนแรงรัฐต่อ ปชช.
- ↑ "6 ตุลา : การเผชิญหน้า "ปีศาจ" ของช่างภาพข่าวในวันที่ "คนไทยฆ่ากันเอง"". BBC News ไทย. 1 October 2022. สืบค้นเมื่อ 7 October 2022.
- ↑ 61.0 61.1 ‘Digestible’ methods commemorate 6 October Massacre
- ↑ 6 October to mark new generation of student activists
- ↑ ประจักษ์ I พยาน’ พยานวัตถุของความจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519[ลิงก์เสีย]. สืบค้น 24-07-2020.
- ↑ ""43 ปี 6 ตุลา" รวบรวมหลักฐานจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา"" [Collecting evidences to build 6 October Musuem']. Thai PBS. 6 October 2019.
- ↑ "มธ.แจ้งปิดท่าพระจันทร์ ถึงสิ้นต.ค. กระทบงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา". ข่าวสด. 5 October 2021. สืบค้นเมื่อ 6 October 2021.
- ↑ "กลายร่างชั่วข้ามคืน เปิดภาพ 'สนามบอล มธ.' หลัง 'เครือข่าย น.ศ.' จะใช้กรรไกรตัด เข้าไปจัด 6 ตุลา". มติชนออนไลน์. 4 October 2022. สืบค้นเมื่อ 6 October 2022.
- ↑ "ฝ่ายบริหารจุฬาฯ ไม่ให้จัดงาน 6 ตุลาฯ ที่อุทยาน 100 ปี อ้างไม่ไว้ใจคนนอกจะใส่ประเด็นการเมือง". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 6 October 2022.
- ↑ "ผู้จัดคอนเสิร์ต 6 ตุลาแถลงขอโทษ แจงให้ถือได้ไม่ผิด แต่เริ่มมีกระทบกระทั่งเลยให้เอาลง". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 8 October 2022.
- ↑ "สรุปดราม่า คอนเสิร์ต 6 ตุลา ผู้จัดโบ้ยศิลปิน สุดท้ายต้องแถลงขอโทษ". ข่าวสด. 7 October 2022. สืบค้นเมื่อ 8 October 2022.
- ↑ หอภาพยนตร์จัด ‘ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง’ รำลึก 6 ตุลา 19 ฉาย ‘จักจำจนวันตาย’ ให้ดูการต่อสู้สำคัญทางการเมือง
- ↑ ศาสวัต บุญศรี: 6 ตุลา 2519 อย่าลืมฉัน ประชาไท สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2555
- ↑ konmongnangetc (2015-10-05). ""ลิฟท์แดง" : หนังว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่ไปไกลกว่าเรื่องความรุนแรง". คนมองหนัง (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ 73.0 73.1 “ดาวคะนอง” ชวด ออสการ์รอบสุดท้าย
- ↑ '6 ตุลา' มองผ่านหนัง#2: ภาษิต พร้อมนำพล ‘พิราบ’ ในความทรงจำของพ่อ
- ↑ Rithdee, Kong. "Massacre's memory". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 4 April 2020.
- ↑ แด่เผด็จการ? เจาะลึก MV "ประเทศกูมี" ทำไมต้องใช้ฉาก เหตุการณ์ 6 ตุลา (คลิป)
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
- บันทึก 6 ตุลา
- 6 ตุลา: อ่านข้อเท็จ-จริง จาก ‘หน้าหนึ่ง’ เมื่อ 43 ปีที่แล้ว. WAY MAGAZINE.
- โทรเลขรายงานของทูตอังกฤษ ตุลา 2519, เอกสารโทรเลขทูตโดย เดวิด โคล เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย รายงานต่อกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรในช่วงเดือนตุลาคม 2519 (ระบุว่าได้มาจากธงชัย วินิจจะกุล)