จารุพงษ์ ทองสินธุ์

จารุพงษ์ ทองสินธุ์ (7 กันยายน พ.ศ. 2500 - 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519) ชื่อเล่น เกี๊ยะ เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ โศกนาฏกรรมครั้งนั้น ได้กลายเป็นตัวแทนของความโหดร้ายในเหตุการณ์ 6 ตุลา เพื่อเป็นการระลึกถึงจารุพงษ์ ในปี พ.ศ. 2562 สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานมอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก และชื่อของเขาถูกนำไปเป็นชื่อห้องประชุม "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" ของสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่ได้ถูกถอดออกไปในภายหลัง

จารุพงษ์ ทองสินธุ์
เกิด7 กันยายน พ.ศ. 2500
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเทศไทย
เสียชีวิต6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 (19 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตถูกยิงในเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ
อาชีพนักศึกษา, นักเขียน

ชีวิตช่วงแรก

แก้

จารุพงษ์ ชื่อเล่นชื่อ เกี๊ยะ เกิดเมื่อ 7 กันยายน พ.ศ. 2500 [1] อาศัยที่ 188 หมู่ที่ 2 ตำบล อิปัน อำเภอพระแสง บิดาชื่อ นายจินดา ทองสินธุ์ รับราชการเป็นครู มารดาชื่อ นางลิ้ม ทองสินธุ์ เป็นชาวสวน สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนสุราษฎร์ธานี ก่อนเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม และระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[2]

ในช่วงนั้น จารุพงษ์เป็นนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ปีที่ 2 เข้าร่วมกิจกรรมการเมืองซึ่งกำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนั้น โดยเป็นอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และกรรมการบริหารศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เพื่อนนักศึกษาคนหนึ่งสมัยเรียนธรรมศาสตร์ของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ คือ ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[2]

เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

แก้

ในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2519 จารุพงษ์บอกแม่ลิ้ม ทองสินธุ์ว่าเขาจะสอบในวันที่ 6 ตุลาคม และจะกลับบ้านในวันที่ 11 ตุลาคม[2]

เช้าวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จารุพงษ์เป็นคนคอยไล่ให้เพื่อนๆรีบหนีไปให้หมด เป็นคนที่คอยยืนคุ้มกันให้ และหลังจากที่แน่ใจว่าไม่มีใครเหลืออยู่แล้วเขาวิ่งไปทางตึกคณะนิติศาสตร์เพื่อที่จะไปลำเลียงผู้บาดเจ็บออกมา สุดท้ายเขาถูกยิงเข้าที่ปอดข้างซ้าย[3] หนึ่งสัปดาห์ต่อมาเพื่อนๆเห็นภาพเขาในหนังสือพิมพ์เสียชีวิตบนสนามฟุตบอล[2]

คุณแม่ลิ้มและพ่อจินดา ทองสินธุ์ ไม่ทราบข่าวการเสียชีวิตของจารุพงษ์ ได้ออกตามหาเขาหลายสิบปี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2539 เพื่อนๆของเขาได้เดินทางไปหาแม่ลิ้มและพ่อจินดาเพื่อแจ้งข่าว[2]

การรำลึก

แก้

ในปี พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นการระลึกถึงจารุพงษ์ ชื่อของเขาถูกนำไปเป็นชื่อห้องประชุม "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" ของ สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ตั้งอยู่ที่ตึกกิจกรรม ท่าพระจันทร์)[2] แต่ภายหลังปี พ.ศ. 2556 มีการปรับปรุงตึกกิจกรรมที่ท่าพระจันทร์ ชื่อเขาจึงได้ถูกถอดออกไป[2]

ในงานรำลึก 6 ตุลาฯ ปี พ.ศ. 2562 สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก ให้แก่นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรียกร้องและปกป้องประชาธิปไตย เช่นเดียวกับที่จารุพงษ์ได้เคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พิธีมอบรางวัล จัดขึ้นทุกปีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[4]

อ้างอิง

แก้
  1. บัตรประจำของจารุพงษ์ ทองสินธุ์จากวิดิโอ Silenced I Memories
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 "15 เรื่องเพื่อทำความรู้จักกับ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" หนึ่งในผู้เข้าสอบ 6 ตุลาคม 2519 อ่านให้ฟัง". prachatai.com.
  3. "เอกสารการชันสูตรพลิกศพ B017 นายจารุพงษ์ ทองสินธุ์ | บันทึก 6 ตุลา". 18 December 2017.
  4. ""43 ปี 6 ตุลา" รวบรวมหลักฐานจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา"" [Collecting evidences to build 6 October Musuem']. Thai PBS. 6 October 2019.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้