อาร์แซน แวงแกร์

(เปลี่ยนทางจาก อาร์แซน เวนเกอร์)

อาร์แซน ชาร์ล แอร์แน็สต์ แวงแกร์, โอบีอี[3] (ฝรั่งเศส: Arsène Charles Ernest Wenger, ออกเสียง: [aʁsɛn vɛŋ(ɡ)ɛʁ]) หรือ อาร์เซน เวงเกอร์ ตามการออกเสียงในภาษาอังกฤษ[4] เป็นอดีตนักฟุตบอล และผู้จัดการทีมฟุตบอลชาวฝรั่งเศส ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกพัฒนาฟุตบอลของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า)[5] เขาเป็นที่จดจำในฐานะผู้จัดการทีมอาร์เซนอลในพรีเมียร์ลีก โดยคุมทีมยาวนาน 22 ฤดูกาลตั้งแต่ ค.ศ. 1996–2018 ซึ่งเขากลายเป็นผู้จัดการทีมที่คุมทีมยาวนานที่สุด และประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร และยังได้รับการยกย่องในฐานะหนึ่งในผู้ปฏิวัติสิ่งใหม่ ๆ ให้แก่วงการฟุตบอลอังกฤษ เช่น การฝึกซ้อม, การดูแลโภชนาการของนักกีฬาซึ่งเป็นการพัฒนาสโมสรอาร์เซนอล และวงการกีฬาในศตวรรษที่ 21 แวงแกร์เป็นหนึ่งในผู้จัดการทีมที่มีชื่อเสียงและประสบความเร็จมากที่สุดในยุคของเขา รวมทั้งได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งในผู้จัดการทีมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ[6]

อาร์แซน แวงแกร์
แวงแกร์ใน ค.ศ. 2024
ข้อมูลส่วนตัว
ชื่อเต็ม อาร์แซน ชาร์ล แอร์แน็สต์ แวงแกร์[1]
วันเกิด (1949-10-22) 22 ตุลาคม ค.ศ. 1949 (75 ปี)
สถานที่เกิด สทราซบูร์ ฝรั่งเศส
ส่วนสูง 6 ft 3 in (1.91 m)[2]
ตำแหน่ง กองกลาง
สโมสรเยาวชน
1963–1969 เอฟเซ ดุทท์เลนไฮม์
1969–1973 มุตซีก
สโมสรอาชีพ*
ปี ทีม ลงเล่น (ประตู)
1969–1973 มุตซีก
1973–1975 มูว์ลูซ 56 (4)
1975–1978 อาแอ็สเปเว สทราซบูร์
1978–1981 สทราซบูร์ 11 (0)
รวม 67 (4)
จัดการทีม
1984–1987 น็องซี
1987–1994 มอนาโก
1995–1996 นาโงยะ แกรมปัส
1996–2018 อาร์เซนอล
*นัดที่ลงเล่นและประตูที่ยิงให้แก่สโมสรเฉพาะลีกในประเทศเท่านั้น

แวงแกร์เกิดที่สทราซบูร์ เมืองในแคว้นกร็องแต็สต์ ประเทศฝรั่งเศส เขาได้รับการแนะนำให้รู้จักกีฬาฟุตบอลโดยคุณพ่อของเขา ซึ่งเป็นผู้จัดการทีมให้แก่ทีมเล็ก ๆ ในท้องถิ่น และเริ่มเข้าสู่อาชีพนักฟุตบอลแต่ทว่าไม่สบความสำเร็จ โดยลงเล่นให้แก่สโมสรสมัครเล่นหลายสโมสรก่อนจะได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ฝึกสอนฟุตบอลใน ค.ศ. 1981 และเริ่มต้นงานแรกในฐานะผู้ฝึกสอนให้แก่สโมสรน็องซี และภายหลังจากระยะเวลาสามปีที่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาย้ายไปรับงานคุมอาแอ็ส มอนาโก และพาทีมชนะเลิศลีกเอิง ฤดูกาล1987–88 และแชมป์ฟุตบอลถ้วยอย่างกุปเดอฟร็องส์ ฤดูกาล 1990–91 จากนั้นเขาย้ายไปเป็นผู้ฝึกสอนให้แก่นาโงยะ แกรมปัสในเจลีกของประเทศญี่ปุ่น พาทีมชนะเลิศฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระจักรพรรดิ และเจแปนนิส ซูเปอร์คัพซึ่งเขาใช้เวลาเพียงหนึ่งฤดูกาลในญี่ปุ่น[7]

แวงแกร์ย้ายมาเป็นผู้จัดการทีมอาร์เซนอลใน ค.ศ. 1996 การรับตำแหน่งของเขาไม่เป็นที่คาดหวังโดยสื่ออังกฤษและแฟน ๆ ของสโมสรมากนัก อย่างไรก็ตาม เขาพาสโมสรทำผลงานยอดเยี่ยมตั้งแต่ช่วงแรก ๆ และในฤดูกาล 1997–98 เขากลายเป็นผู้จัดการทีมต่างชาติคนแรกที่คุมทีมชนะเลิศพรีเมียร์ลีก และเอฟเอคัพได้ในฤดูกาลเดียวกัน และทำได้อีกครั้งในฤดูกาล 2001–02 ก่อนจะพาอาร์เซนอลสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2003–04 โดยไม่แพ้ทีมใดตลอดทั้งฤดูกาลซึ่งเป็นสถิติของพรีเมียร์ลีกมาถึงปัจจุบัน และถือเป็นสโมสรแรกในรอบ 115 ปีของอังกฤษที่คว้าแชมป์ฟุตบอลลีกโดยไม่แพ้ทีมใดทั้งฤดูกาล หลังจากสโมสรเพรสตันนอร์ทเอนด์ อาร์เซนอลยังสร้างสถิติใหม่ในประเทศด้วยการไม่แพ้ทีมใดติดต่อกัน 49 นัด[8] ก่อนจะยุติลงด้วยการแพ้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด สโมสรคู่ปรับสำคัญของแวงแกร์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2004 แวงแกร์ยังพาอาร์เซนอลเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 2006 แต่แพ้บาร์เซโลนาด้วยผลประตู 1–2[9] และเป็นผู้นำสโมสรสู่การย้ายสนามแห่งใหม่ที่เอมิเรตส์สเตเดียม แทนที่สนามเดิมที่ใช้มายาวนานอย่างไฮบิวรีในปีนั้น[10] ซึ่งต้องแลกมาด้วยการจำกัดงบประมาณในการซื้อตัวผู้เล่น และส่งผลให้สโมสรปราศจากถ้วยรางวัลเป็นเวลาถึงเก้าฤดูกาลติดต่อกัน แต่เขายังพาสโมสรชนะเลิศเอฟเอคัพได้อีกสามสมัยในทศวรรษ 2010 และกลายเป็นผู้จัดการทีมที่คว้าแชมป์รายการนี้มากที่สุด 7 ครั้ง ก่อนจะประกาศเกษียณตนเองจากการเป็นผู้จัดการทีมใน ค.ศ. 2018

เขาได้รับสมญานาม "Le Professeur" (ศาสตร์จารย์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญ) ในภาษาฝรั่งเศสเพื่อสะท้อนถึงปรัชญา และแนวทางการบริหารทีมฟุตบอลของเขา การปฏิวัติและอุทิศตนเพื่อสโมสรและวงการฟุตบอลอังกฤษของเขาเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศตลอดศตวรรษที่ 21 เขายังได้รับการชื่นชมในปรัชญาการทำฟุตบอลเกมรุก, การครอบครองบอล และการส่งบอลอย่างสวยงาม แม้ว่าทีมอาร์เซนอลของเขาจะได้รับการวิจารณ์ในแง่การขาดวินัยในการเล่น โดยผู้เล่นอาร์เซนอลได้รับใบแดงมากถึง 100 ใบระหว่างเดือนกันยายน ค.ศ. 1996 ถึง กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 แม้ว่าจะได้รับรางวัลการเล่นใสสะอาด (Fair Play) แวงแกร์ยังเป็นที่ยอมรับในด้านการให้โอกาส และดึงศักยภาพของผู้เล่นดาวรุ่งซึ่งช่วยพัฒนาระบบเยาวชนของทีม

ชีวิตช่วงต้น

แก้

อาร์แซน แวงแกร์ เกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1949 ที่เมืองสทราซบูร์ โดยเป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 3 คน ส่วนพ่อและแม่เป็นเจ้าของกิจการผับ โดยเติบโตขึ้นมาในผับ ในวัยเด็กแวงแกร์เคยเป็นพนักงานขายบุหรี่และเคยติดบุหรี่มาก่อนในวัยหนุ่ม[11]

ในด้านการศึกษานั้น แวงแกร์จบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ และปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสทราซบูร์ แวงแกร์มีความสามารถในการพูดได้หลายภาษา โดยสามารถใช้ภาษาฝรั่งเศส, เยอรมัน และอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว และยังสามารถพูดภาษาอิตาลี, สเปน และญี่ปุ่นได้บ้างอีกด้วย

ช่วงชีวิตของการเป็นนักฟุตบอล

แก้

การเล่นฟุตบอลอาชีพของแวงแกร์นั้นไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จเท่าไรนัก และแทบจะไม่มีใครเคยได้ยินชื่อของเขาเลย ต่างกับผู้จัดการทีมหลายคนที่เคยเป็นนักฟุตบอลระดับโลกมาก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็นผู้จัดการทีม เขาเริ่มต้นอาชีพนักฟุตบอลจากการเป็นนักฟุตบอลสมัครเล่นในตำแหน่งกองหลังของสโมสรสมัครเล่นหลายสโมสรด้วยกันเมื่อครั้งที่ยังศึกษาในระดับปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ ในปี ค.ศ. 1971

แวงแกร์กลายเป็นนักฟุตบอลอาชีพครั้งแรกในปี ค.ศ. 1977 ในทีมแอร์เซ สทราซบูร์นัดที่เจอกับโมนาโก เขาได้ลงเล่นให้กับต้นสังกัดเพียง 12 ครั้ง โดยในจำนวนนี้มีหนึ่งนัดที่ได้เล่นฟุตบอลรายการยูฟ่าคัพ ฤดูกาล 1978-79 ซึ่งเป็นการลิ้มลองรสชาติครั้งแรกและครั้งเดียวของเขาในรายการฟุตบอลยุโรป

ต่อมา ในปี ค.ศ. 1981 นั้น เขาได้รับใบอนุญาตการเป็นผู้จัดการทีม และได้รับมอบหมายให้ทำงานในส่วนของโค้ชทีมเยาวชนของสโมสร

ช่วงชีวิตของการเป็นผู้จัดการทีม

แก้
 
อาร์แซน แวงแกร์ โบกมือขอบคุณแฟนบอลในนัดสุดท้ายของฤดูกาล 2006-07 (1 พฤษภาคม 2007)

อาร์แซน แวงแกร์ รับตำแหน่งผู้จัดการทีมชุดใหญ่ครั้งแรกกับน็องซีในปี ค.ศ. 1984 แต่ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จเท่าไรนัก ในปีที่ 3 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของเขาที่น็องซีนั้น น็องซีปิดฤดูกาลด้วยอันดับ 19 ของตารางและต้องตกไปเล่นในลีกเดอซ์ฝรั่งเศส ชีวิตการเป็นผู้จัดการทีมของเขาเริ่มดีขึ้นเมื่อเขาได้มาเป็นผู้จัดการทีมของอาแอ็ส มอนาโก ในปี ค.ศ. 1987 และได้แชมป์ลีกในปี ค.ศ. 1988 ซึ่งก็เป็นฤดูกาลแรกที่เข้ามาคุมทีมนั่นเอง จากนั้นก็คว้าแชมป์เฟรนช์คัพ ในปี ค.ศ. 1991 แวงแกร์เคยเซ็นสัญญาซื้อตัวเกลนน์ ฮอดเดิล, จอร์จ เวอาห์ และเยือร์เกิน คลินส์มันน์ มาร่วมทีมอีกด้วย นอกจากนั้นยังได้เซ็นสัญญากับยูรี จอร์เกฟฟ์ (Youri Djorkaeff) มาจากแอร์เซ สทราซบูร์ ที่ได้กลายมาเป็นนักเตะทีมชาติฝรั่งเศสชุดที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกในปี ค.ศ. 1998 และดาวซัลโวลีกเอิงฝรั่งเศส (20 ประตู) ในปีสุดท้ายที่แวงแกร์คุมทีมอยู่ในฝรั่งเศส

ในปี ค.ศ. 1994 เป็นปีที่โชคร้ายของแวงแกร์ เมื่อเขาปฏิเสธข้อเสนอจากไบเอิร์นมิวนิก และการเป็นโค้ชทีมชาติฝรั่งเศส แต่โมนาโกจบฤดูกาลด้วยการเป็นอันดับ 9 ของตาราง ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่สโมสรตั้งเอาไว้ หลังจากนั้น เขาก็ถูกไล่ออก

ต่อมา เขาได้ย้ายไปประสบความสำเร็จกับช่วงเวลาสั้น ๆ 18 เดือนกับทีมฟุตบอลในเจลีกของญี่ปุ่น คือ นาโงยะ แกรมปัส โดยแวงแกร์พาลูกทีมคว้าถ้วยพระราชทานสมเด็จพระจักรพรรดิซึ่งเป็นฟุตบอลชิงถ้วยของประเทศ นอกจากนั้นยังพาทีมที่เคยอยู่ในอันดับ 3 จากท้ายตารางขึ้นมาเป็นรองแชมป์ได้ในลีก ที่แกรมปัสนี้ เขาได้ว่าจ้างให้ บอรอ พรีมอรัก ผู้จัดการทีมของสโมสรฟุตบอลวาล็องเซียน มาเป็นผู้ช่วยของเขา และก็ได้เป็น "มือขวา" ของแวงแกร์เป็นเวลาหลายปี

แวงแกร์นั้นถือว่าเป็นคนที่โชคดีที่ได้เป็นเพื่อนกับคนที่จะได้เป็นรองประธานสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลในเวลาต่อมา นั่นคือ เดวิด ดีน ในคราวที่ทั้งสองได้พบกันเมื่อแวงแกร์ไปชมเกมระหว่างอาร์เซนอลกับควีนส์ปาร์กเรนเจิร์สในปี ค.ศ. 1988 ต่อมาหลังจากที่บรูซ ริอ็อก ได้ลาออกไปในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1996 นั้น เฌราร์ อูลีเย ต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการทางเทคนิคของสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศสได้แนะนำให้ดีนชวนแวงแกร์มาทำงานแทนในปี ค.ศ. 1996 อาร์เซนอลยืนยันการว่าจ้างอาร์แซน แวงแกร์เป็นผู้จัดการทีมในวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1996 และเขาก็ได้เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกันนั้นเอง แวงแกร์เป็นผู้จัดการทีมของอาร์เซนอลคนแรกที่มาจากประเทศนอกสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ แม้ว่าผู้อำนวยการทางเทคนิคที่มีศักยภาพของสมาคมฟุตบอลจะเป็นคนชักชวนให้แวงแกร์มารับตำแหน่งนี้ แต่ในเวลานั้นแทบไม่มีใครในอังกฤษเลยที่รู้จักชื่อของคนคนนี้

ก่อนที่แวงแกร์จะเข้ามาคุมทีมอย่างเป็นทางการนั้น เขาต้องวางแผนที่จะเสริมความแข็งแกร่งและเฉียบขาดของทีมก่อน แวงแกร์ได้ร้องขอให้สโมสรเซ็นสัญญา ปาทริค วิเอร่า กองกลางชาวฝรั่งเศส และ เรมี การ์ด ในช่วง 1 เดือนก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง เกมแรกที่เขาคุมทีมลงเล่นคือเกมที่เอาชนะแบล็กเบิร์นโรเวิร์สไปได้ 2-0 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1996

ฤดูกาลที่ 2 ที่เขาเข้ามาคุมทีมนั้น (ฤดูกาล 1997-98) เป็นฤดูกาลที่อาร์เซนอลสามารถคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพซึ่งเป็นการคว้าดับเบิลแชมป์ได้เป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของสโมสร (ฤดูกาลนั้นอาร์เซนอลทิ้งห่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดถึง 12 คะแนนทั้ง ๆ ที่แข่งน้อยกว่า 2 นัด) ความสำเร็จครั้งนี้ต้องให้เครดิตกับปราการหลังฉายา "แบ็กโฟร์" ที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงฤดูกาลนี้ทั้ง โทนี แอดัมส์, ไนเจล วินเทอร์เบิร์น, ลี ดิกสัน และ มาร์ติน คีโอน รวมไปถึง สตีฟ โบลด์ ปราการหลังอีกคน และศูนย์หน้าเดนนิส เบิร์กแคมป์ ตำนานของสโมสรในเวลาต่อมาอีกด้วย และก็ต้องยกเครดิตให้กับนักเตะหน้าใหม่ที่แวงแกร์ซื้อเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น เอ็มมานูเอล เปอตี, ปาทริค วิเอร่า, มาร์ก โอเฟอร์มาร์ส และศูนย์หน้าดาวยิง นีกอลา อาแนลกา

ในช่วงหลายฤดูกาลต่อมา แวงแกร์ทำหน้าที่กับอาร์เซนอลได้ดีแต่กลับไม่ได้แชมป์ตอนท้ายฤดูกาลเลย ในปี ค.ศ. 1999 พวกเขาเสียแชมป์พรีเมียร์ลีกให้กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดโดยวันสุดท้ายของฤดูกาลพวกเขาตามอยู่เพียง 1 คะแนนเท่านั้น แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดยังเป็นทีมที่ทำให้อาร์เซนอลต้องตกรอบเอฟเอคัพในช่วงต่อเวลาพิเศษอีกด้วย จากนั้นอาร์เซนอลก็มาแพ้กาลาตาซารายในการดวลจุดโทษนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลยูฟ่าคัพ ในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลเอฟเอคัพ ในปี ค.ศ. 2001 อาร์เซนอลก็ต้องมาแพ้ให้กับลิเวอร์พูล 2 ประตูต่อ 1 จากประตูของ ไมเคิล โอเวน ในช่วงท้ายเกม ในช่วงนี้ แวงแกร์ยังได้นำนักเตะหน้าใหม่เข้ามาสู่ทีมเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเซ็นสัญญา โซล แคมป์เบลล์ จากทอตแนมฮ็อตสเปอร์ และนักเตะชื่อก้องโลกอย่าง เฟรดริค ยุงแบร์, ตีแยรี อ็องรี และรอแบร์ ปีแร็ส

ขุนพลนักเตะชุดใหม่นี้ช่วยให้อาร์เซนอลในยุคของอาร์แซน แวงแกร์นั้นสามารถคว้าดับเบิลแชมป์ได้อีกครั้งหนึ่ง ช่วงเวลาที่ทำให้อาร์เซนอลได้แชมป์คือนัดรองสุดท้ายของฤดูกาลที่พบกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด อาร์เซนอลเอาชนะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดไปได้ 1-0 ซึ่งโดยรวม ๆ แล้วอาร์เซนอลเล่นได้ดีกว่า รอย คีน อดีตกัปตันทีมของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในชุดนั้นยังได้กล่าวถึงเกมนัดนั้นว่าเป็นการแข่งขันกันระหว่าง "เด็กกับผู้ใหญ่" นั่นก็คือฤดูกาล 2001-02 นั่นเอง

อาร์แซน แวงแกร์ยังเคยพาอาร์เซนอลเป็นแชมป์ฟุตบอลเอฟเอคัพในปี ค.ศ. 2003 และพาทีมอาร์เซนอลรักษาสถิติไม่แพ้ใครทั้งฤดูกาลได้และสถิติยิงประตูทุกนัดที่ลงทำการแข่งขันในพรีเมียร์ชิพจนทำให้คว้าแชมป์อย่างยิ่งใหญ่ในฤดูกาล 2003-04 อีกด้วย

หลังจากนั้น อาร์แซน แวงแกร์ ก็นำถ้วยเอฟเอคัพมาสู่สโมสรอาร์เซนอลได้อีกครั้งในปี ค.ศ. 2005 ทำให้อาร์เซนอลได้แชมป์พรีเมียร์ลีก 3 สมัยและเอฟเอคัพ 4 สมัยภายใต้การคุมทีมของแวงแกร์ นับว่าเขาเป็นผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์อาร์เซนอลเมื่อนับตามถ้วยรางวัลที่ได้มา อย่างไรก็ตาม แวงแกร์ก็ยังไม่เคยได้แชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก รายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุโรปมาครองได้ โดยเขาพาทีมเข้าไปใกล้คำว่า "แชมป์" มากที่สุดในฤดูกาล 2005-06 ที่อาร์เซนอลเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร แต่กลับแพ้ให้กับบาร์เซโลนา 2-1 อย่างน่าเสียดาย

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2004 เขาได้เซ็นสัญญาว่าจะอยู่กับสโมสรไปจนจบฤดูกาล 2007-08 [12] โดยเดวิด ดีน รองประธานสโมสรอาร์เซนอลวางแผนว่าจะยื่นข้อเสนอให้อาร์แซน แวงแกร์เข้ามาเป็นบอร์ดบริหารสโมสรเมื่อครั้งที่เขาวางมือจากตำแหน่งผู้จัดการทีมไปแล้ว

อนาคตอาชีพผู้จัดการทีมของแวงแกร์เริ่มไม่แน่นอนเมื่อครั้งที่เดวิด ดีนได้ลาออกจากบอร์ดบริหารของอาร์เซนอลเมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 2007 ซึ่งเดวิด ดีนคือหนึ่งในบอร์ดบริหารที่แวงแกร์ใกล้ชิดมากที่สุด จนเกิดกระแสว่าแวงแกร์อาจจะไปคุมทีมที่สโมสรอื่นหรืออาจจะวางมือจากวงการฟุตบอล อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 2007 อาร์แซน แวงแกร์ได้ตกลงเซ็นสัญญา 3 ปีฉบับใหม่กับอาร์เซนอล[13] สัญญานี้มีมูลค่าถึง 4 ล้านปอนด์และทำให้แฟนบอลอาร์เซนอลที่เคยคิดว่าเขาจะออกจากสโมสรตอนท้ายฤดูกาลเมื่อสัญญาหมดลงได้มั่นใจขึ้นอย่างมากว่า เขาจะยังอยู่กับอาร์เซนอลต่อไปอีก

ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2009 อาร์แซน แวงแกร์ ทำสถิติเป็นผู้จัดการทีมอาร์เซนอลที่คุมทีมอย่างยาวนานที่สุด โดยทำลายสถิติเดิมของจอร์จ อัลลิสัน ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการทีมตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1934 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1947 นับเป็นเวลาทั้งสิ้น 4,748 วัน

สไตล์และปรัชญาการทำทีม

แก้

แวงแกร์ได้ชื่อว่าเป็นโค้ชที่ใช้เวลาไปกับการสร้างทีมที่สามารถผสมผสานระหว่างการไล่ล่าแชมป์กับความต้องการที่จะสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ชมด้วยเกมรุกเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว[14] เดอะไทมส์ได้กล่าวไว้ว่าในฤดูกาล 2003-04 ที่เขาประสบความสำเร็จนั้น แวงแกร์สร้างความสำเร็จมาจากการเน้นเกมรุกที่เร้าใจ[15] สไตล์การเล่นของลูกทีมเขานั้นมักจะถูกมองว่าแตกต่างไปจากทีมคู่แข่ง[16] แต่ในทางตรงข้าม ก็มักโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดสัญชาตญาณความเป็นนักฆ่า[17] แม้ว่าแวงแกร์จะนิยมใช้แผนการเล่นแบบ 4-4-2 แต่ต่อมา นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 เขาก็เริ่มใช้แผนการเล่นแบบ 4-5-1 มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยทิ้งกองหน้าไว้คนเดียวและเน้นในแดนกลางสนามมากกว่า[18] ซึ่งจะเห็นบ่อยในยามที่ต้องเล่นในสนามที่กว้างขึ้นอย่างเอมิเรตส์สเตเดียม[19] หรือในเกมยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกที่สำคัญ ๆ[20]

อาร์แซน แวงแกร์ มีชื่อเสียงอย่างมากในการปั้นเด็กที่มีพรสวรรค์ที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักให้สามารถแจ้งเกิดในวงการฟุตบอลได้อย่างยิ่งใหญ่ เมื่อคราวที่คุมทีมอยู่โมนาโกนั้น เขาซื้อตัว จอร์จ เวอาห์ (George Weah) ชาวไลบีเรียมาจากทีมตอแนร์ยาอูนเด (Tonnerre Yaoundé) ในประเทศแคเมอรูน เข้ามาร่วมทีม ต่อมานักเตะรายนี้ก็ได้ครองตำแหน่งผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีของฟีฟ่าเมื่อมาอยู่กับเอซีมิลานอีกด้วย และเมื่อคราวที่คุมทีมอาร์เซนอล แวงแกร์ก็ได้นำนักเตะดาวรุ่งเข้ามามากมาย ซึ่งในขณะที่เขาเซ็นสัญญากับนักเตะเหล่านี้ แทบจะไม่มีใครได้ยินชื่อของพวกเขามาก่อนเลย ไม่ว่าจะเป็น ปาทริค วิเอร่า, เซสก์ ฟาเบรกัส, โรบิน ฟัน แปร์ซี และโกโล ตูเร เขาได้ปั้นนักเตะเหล่านี้ขึ้นมา ช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถเติบโตขึ้นเป็นนักเตะระดับโลกได้ในที่สุด สถิติที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ กองหลังของอาร์เซนอลชุดหนึ่งเคยสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการทำสถิติไม่เสียประตูในเกมยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกติดต่อกันถึง 10 นัดในฤดูกาล 2005-06 จนสามารถเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศไปพบกับบาร์เซโลนาได้ ทั้ง ๆ ที่กองหลังชุดนี้มีค่าตัวรวมกันไม่ถึง 5 ล้านปอนด์ด้วยซ้ำไป

แม้ว่าแวงแกร์จะใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลไปในการเซ็นสัญญานักเตะเข้ามาร่วมทีมอาร์เซนอล แต่สถิติการใช้จ่ายเงินของเขานั้นถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับทีมชั้นนำของพรีเมียร์ชิพทีมอื่น ๆ เช่น ในปี ค.ศ. 2007 นั้น เขาเป็นผู้จัดการทีมพรีเมียร์ลีกคนเดียวที่สามารถทำกำไรได้จากการซื้อขายนักเตะ[21] และปีเตอร์ ฮิลล์-วูด ประธานสโมสรของอาร์เซนอลก็เคยกล่าวว่า "โดยปกติแล้ว ตั้งแต่อาร์แซนมาอยู่กับเรา เขาจะใช้เงินเพียงปีละ 4-5 ล้านปอนด์เท่านั้นเอง"[22] และมีอีกหนึ่งตัวอย่างที่บ่งบอกถึงความสามารถในการหานักเตะของเขาที่ดีก็คือ การนำนีกอลา อาแนลกาเข้ามาร่วมทีมจากปารีแซ็ง-แฌร์แม็งด้วยค่าตัวเพียง 500,000 ปอนด์เท่านั้น แต่ในอีก 2 ปีต่อมาสามารถขายให้กับเรอัลมาดริดได้ถึง 22.3 ล้านปอนด์ เงินก้อนนี้จึงสามารถนำไปซื้อนักเตะคนใหม่ 3 คนเข้ามาเสริมทีมได้ ซึ่งก็ได้แก่ ตีแยรี อ็องรี, โรแบร์ ปิแรส และ ซีลแวง วีลตอร์ ซึ่งเป็นสามนักเตะที่อยู่ในชุดที่คว้าดับเบิลแชมป์ในฤดูกาล 2001-02 และแชมป์ลีกในฤดูกาล 2003-04

นอกจากเรื่องการปั้นนักเตะโนเนมให้เป็นนักเตะระดับโลกแล้ว แวงแกร์ยังมีความสามารถในการช่วยให้นักเตะที่มากประสบการณ์แต่กำลังอยู่ในช่วงขาลงสามารถกลับมายิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอลได้อีกครั้งหนึ่งที่อาร์เซนอล ไม่ว่าจะเป็น เดนนิส เบิร์กแคมป์ นักเตะที่เซ็นสัญญามาเล่นในลอนดอนเหนือก่อนหน้าที่แวงแกร์จะเข้ามาคุม 1 ปีก็สามารถก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิตได้เมื่อแวงแกร์เข้ามาบริหารทีม นอกจากนั้น แวงแกร์ก็ยังเคยนำอดีตเด็กปั้นของเขาที่โมนาโกอย่างตีแยรี อ็องรีมาโลดแล่นในวงการฟุตบอลที่อาร์เซนอลจนสามารถเป็นนักเตะระดับโลกได้ในที่สุด โดยสร้างสถิติดาวซัลโวสูงสุดของสโมสรและยังเคยเป็นกัปตันทีมของอาร์เซนอลอีกด้วย

นอกจากนั้น แวงแกร์ยังเป็นคนที่เข้ามาปฏิวัติเรื่องการฝึกซ้อมและเรื่องการควบคุมอาหารของทีมอีกด้วย เขาสั่งห้ามนักเตะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนามซ้อมรวมไปถึงห้ามรับประทานอาหารขยะที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย แวงแกร์เคยสั่งพักอดีตกัปตันทีมโทนี แอดัมส์ หลังจากพบว่าเขาเป็นโรคติดแอลกอฮอล์ในปี ค.ศ. 1996 การสนับสนุนจากแวงแกร์เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้แอดัมส์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ สามารถคืนฟอร์มเก่งได้และได้เล่นฟุตบอลต่ออีกหลายปี การฝึกซ้อมของแวงแกร์และการควบคุมอาหารนั้นอาจจะช่วยยืดเวลาการค้าแข้งของสมาชิกคนอื่น ๆ ของแบ็กโฟร์ กองหลังอันแข็งแกร่งของอาร์เซนอลได้อีกหลายปี ไม่ว่าจะเป็นไนเจล วินเทอร์เบิร์น, ลี ดิกสัน และ มาร์ติน คีโอน (ตอนแรกแวงแกร์วางแผนว่าจะหาคนมาแทนที่พวกเขา แต่ในตอนหลังเขาก็รู้ดีว่าเขาไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นเลย) รวมทั้งในฤดูกาล 2014-15 แวงแกร์ออกกฎห้ามเด็ดขาดที่จะให้นักฟุตบอลทุกคนสูบบุหรี่ หากใครฝ่าฝืนจะถูกไล่ลงไปซ้อมกับทีมระดับเยาวชนตลอดทั้งฤดูกาล หลังจากที่พบวอยแชค ชแชนส์นือ ผู้รักษาประตู แอบสูบบุหรี่ระหว่างพักครึ่งในเกมที่ทีมแพ้เซาแทมป์ตัน 0-2 ในต้นปี ค.ศ. 2015 แวงแกร์ได้สั่งปรับเงินชแชนส์นือเป็นจำนวน 20,000 ปอนด์

แวงแกร์ยังมีส่วนในการออกแบบสนามเอมิเรตส์สเตเดียมของอาร์เซนอลอีกด้วย สนามแห่งนี้เปิดใช้ในปี ค.ศ. 2006 ทำให้สนามซ้อมของอาร์เซนอลย้ายมาอยู่ที่ลอนดอน โคลนีย์ในที่สุด

รางวัลและความสำเร็จ

แก้
 
แฟนบอลอาร์เซนอลชูป้ายที่อ่านได้ว่า In Arsène We Trust ในเดือนพฤษภาคม 2009

แวงแกร์ได้รับการสนับสนุนจากแฟนบอลของอาร์เซนอลอย่างมาก แฟนคลับของสโมสรศรัทธาในความสามารถของผู้จัดการทีมคนนี้และศรัทธาในวิสัยทัศน์ของเขาในระยะยาว แฟนบอลของไอ้ปืนใหญ่มักจะพูดว่า "Arsène Knows" (อาร์แซนรู้) และ "In Arsène We Trust" (เราเชื่ออาร์แซน) ซึ่งเป็นคำพูดที่ยืนยันว่าเขาได้รับความนิยมในหมู่แฟนบอลอย่างมาก แฟนบอลกลุ่มนี้มากจะพูดซ้ำ ๆ และกลายเป็นคำขวัญของฝูงชนที่เอมิเรตส์สเตเดียมไปแล้ว ในพิธีอำลาสนามไฮบิวรีเมื่อฤดูกาล 2005-06 นั้น แฟนบอลได้แสดงความประทับใจในตัวผู้จัดการทีมคนนี้มากด้วยการกำหนด "วันแวงแกร์" (Wenger Day) ซึ่งตรงกับวันเกิดครบรอบ 56 ปีของเขาคือวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 2005 ซึ่งเป็นวันที่มีการแข่งขันกับแมนเชสเตอร์ซิตีพอดี[23]

เดวิด ดีน อดีตรองประธานสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอล ได้กล่าวว่าแวงแกร์คือผู้จัดการทีมที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร "อาร์แซนคือคนที่วิเศษมาก เขาทำให้นักเตะหลายต่อหลายคนกลายเป็นนักเตะระดับโลกได้ ตั้งแต่เขาย้ายมาอยู่ที่นี่ เราก็ได้เห็นฟุตบอลในแบบฉบับที่ไม่เคยเห็นที่ดาวดวงไหนมาก่อน"[24] เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2007 มีการมอบเหรียญทองแดงเกียรติยศให้กับอาร์แซน แวงแกร์ เช่นเดียวกับที่เคยให้เฮอร์เบิร์ต แชปแมน เพื่อเป็นการยกย่องคุณความดีของแวงแกร์ โดยคณะกรรมการบริหารของสโสรฟุตบอลอาร์เซนอลได้มอบรางวัลนี้ให้กับเขาในงานประชุมสามัญประจำปีของสโมสร[25]

แวงแกร์ได้รับเลฌียงดอเนอร์ (Légion d'Honneur) เครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 2002 เขาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นายทหารแห่งจักรวรรดิบริเตน (OBE) เพื่อเป็นรางวัลสำหรับการเป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้กับวงการฟุตบอลสหราชอาณาจักรในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระราชินีปี ค.ศ. 2003 ต่อมาในปี ค.ศ. 2006 ชื่อของแวงแกร์ได้ถูกจารึกไว้ในหอเกียรติยศแห่งวงการฟุตบอลอังกฤษเพื่อเป็นการบันทึกความสำเร็จในการเป็นผู้จัดการทีมในอังกฤษ นับว่าเป็นผู้จัดการทีมชาวต่างชาติคนที่สองที่ได้มีชื่อในหอเกียรติยศแห่งนี้ หลังจากที่ดารีโอ กราดี ชาวอิตาลีเคยทำสำเร็จมาแล้วในการคุมทีมครูว์อเล็กซานดรา

ในปี ค.ศ. 2007 มีนักดาราศาสตร์ชื่อเอียน พี. กริฟฟิน นำชื่อของแวงแกร์ไปตั้งเป็นชื่อดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งว่า 33179 อาร์แซนแวงแกร์[26] เนื่องจากนักดาราศาสตร์ผู้นี้หลงใหลในทีมฟุตบอลของผู้จัดการทีมคนนี้มาก

นอกจากนี้แล้ว อาร์แซน แวงแกร์ ยังถือเป็นผู้จัดการทีมอาร์เซนอล ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยทำหน้าที่คุมทีมเป็นนัดที่ 1,000 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 2014 ในนัดที่อาร์เซนอลบุกไปเยือนเชลซี ถึงสแตมฟอร์ดบริดจ์ ในพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2013–14 แต่ผลการแข่งขันออกมา ปรากฏว่าเชลซีเป็นฝ่ายชนะอาร์เซนอลไปอย่างท่วมท้นถึง 6-0 และคีแรน กิบส์ ของอาร์เซนอล ถูกใบแดงไล่ออกจากสนามไปด้วยในนาทีที่ 15 ทั้งที่ผู้ที่กระทำฟาล์ว คือ อเล็กซ์ ออกซ์เลด-เชมเบอร์เลน[27]

การวิพากษ์วิจารณ์

แก้

ทีมของอาร์แซน แวงแกร์ มักจะโดนวิพากษ์วิจารณ์บ่อย ๆ เรื่องการขาดระเบียบวินัย โดยนักเตะของเขานั้นโดนใบแดงไปถึง 73 ครั้งในช่วงปี ค.ศ. 1996 ถึง 2008 แม้ว่าหลายคนจะคัดค้านในประเด็นนี้[28] อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 2004-2005 อาร์เซนอลคว้าตำแหน่งทีมที่เล่นขาวสะอาด (Fair Play) ที่สุดในลีก[29][30] และในปี ค.ศ. 2006 นั้น พวกเขาก็ได้อันดับ 2 มาครอง ตามหลังเพียงแค่ชาร์ลตันแอธเลติกทีมเดียวเท่านั้น[31]

ในปี ค.ศ. 1999 แวงแกร์เสนอให้มีการจัดการแข่งขันเกมเอฟเอคัพรอบที่ 4 กับเชฟฟีลด์ยูไนเต็ดใหม่ หลังจากจบการแข่งขันแมตช์นั้นไปแล้ว เนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันครั้งนี้ อาร์เซนอลได้ประตูชัยจากมาร์ก โอเฟอร์มาร์ส ซึ่งต่อเนื่องมาจากจังหวะที่อึนวังกโว กานูไม่ยอมเตะบอลคืนให้ทีมเชฟฟีลด์ยูไนเต็ดที่มีนักเตะนอนเจ็บอยู่ในสนาม แต่นัดรีเพลย์นั้น อาร์เซนอลก็กลับมาเอาชนะได้อยู่ดีด้วยผล 2-1

นอกจากนั้น แวงแกร์ยังเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นคู่ปรับของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน บรมกุนซือของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ส่วนทางด้านอาร์เซนอลและแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดก็เป็นคู่ปรับกันเรื่องการแย่งแชมป์พรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพมาตลอดช่วงปลายทศวรรษ 1990 และต้นทศวรรษ 2000 ความเป็นอริต่อกันนี้ยังทำให้เกิดเหตุการณ์ "ปาพิซซา" ที่โอลด์แทรฟฟอร์ดเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2004 ด้วย หลังจากที่อาร์เซนอลเสียจุดโทษจากจังหวะน่ากังขาและต้องพ่ายแพ้ไป 2-0 จนหยุดสถิติไร้พ่ายของอาร์เซนอลไว้ที่ 49 นัดติดต่อกันในพรีเมียร์ชิพ หลังจบเกมนี้ นักเตะคนหนึ่งของอาร์เซนอลได้ขว้างอาหารใส่ทีมคู่แข่งที่อุโมงค์ทางเดิน[32] ส่วนอาร์แซน แวงแกร์ โดนปรับเงินจำนวน 15,000 ปอนด์ จากข้อหาที่ไปเรียกรืด ฟัน นิสเติลโรยว่า "ไอ้ขี้โกง" ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์หลังจบเกม จากนั้นเขาก็โดนปรับเงินอีกครั้งสำหรับการเรียกฟัน นิสเติลโรยว่า "ไอ้ขี้โกง" อีกครั้ง โดยอ้างว่าเขามั่นใจว่าเขาคิดถูกแล้ว[33] จากนั้นมา ผู้จัดการทีมทั้งสองก็ตกลงกันว่าจะปรับความเข้าใจกันเพื่อลดความบาดหมางและความเป็นอริต่อกันให้เหลือน้อยที่สุด[34]

ในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ค.ศ. 2005 แวงแกร์ก็ได้มีปากเสียงทำสงครามน้ำลายกับโชเซ มูรีนโย ผู้จัดการทีมของเชลซี โดยมูรีนโยกล่าวหาว่าแวงแกร์นั้นหมกหมุ่นกับเชลซีและไม่มีความเป็นมืออาชีพเลย และยังกล่าวโจมตีถึงขั้นบอกว่าแวงแกร์เป็นพวกชอบถ้ำมอง[35] โดยพูดว่า "เขากังวลเรื่องพวกเรามาก เขาพูดถึงพวกเราตลอด - มีแต่เชลซี, เชลซี, เชลซี, เชลซี" แวงแกร์ก็ออกมาตอบโต้โดยการชี้แจงว่า เขาไม่เคยรู้สึกอย่างนั้น เขาเพียงแค่ออกมาตอบคำถามนักข่าวเรื่องเชลซีเท่านั้น และยังบอกว่าทัศนคติของมูรีนโยเป็นพวกที่ไม่ให้เกียรติคนอื่นเลย จากนั้นมูรีนโยก็ออกมาขอโทษ โดยบอกว่าเขาเสียใจที่ไปต่อว่าแวงแกร์ว่าเป็นพวกถ้ำมอง และแวงแกร์ก็น้อมรับคำขอโทษอย่างบริสุทธิ์ใจ[36]

แวงแกร์ยังโดนผู้จัดการทีมพรีเมียร์ลีกคนอื่น ๆ วิพากษ์วิจารณ์บ่อย ๆ ว่าไม่ยอมให้โอกาสนักเตะอังกฤษเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกมแชมเปียนส์ลีก อะลัน พาร์ดิว อดีตผู้จัดการทีมเวสต์แฮมยูไนเต็ดได้บอกว่า ความสำเร็จในแชมเปียนส์ลีกของอาร์เซนอลไม่ได้เป็นความสำเร็จของฟุตบอลสหราชอาณาจักรเลย[37] แต่ทางด้านแวงแกร์มองว่า เรื่องสัญชาติกับฟุตบอลนั้นมันไม่เกี่ยวข้องกันเลยและกล่าวว่า "เวลาคุณเล่นให้กับสโมสร มันก็ขึ้นอยู่กับคุณค่าและความสามารถ ไม่ใช่ว่าคุณถือพาสปอร์ตอะไร"[38] นอกจากนั้น ผู้มีชื่อเสียงคนอื่น ๆ เป็นต้นว่าเทรเวอร์ บรุกกิง ผู้อำนวยการพัฒนากีฬาฟุตบอลแห่งสมาคมฟุตบอลอังกฤษก็ยังได้ปกป้องแวงแกร์ด้วย โดยบรูกกิงบอกว่านักเตะตัวหลักของทีมชาติอังกฤษต่างก็เริ่มต้นอาชีพนักฟุตบอลภายใต้การทำทีมของอาร์แซน แวงแกร์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น เดวิด เบนต์ลีย์, สตีฟ ซิดเวลล์, เจอร์เมน เพนแนนต์ และแอชลีย์ โคล โดยล่าสุดนั้น เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2007 แวงแกร์ก็โดนเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คู่ปรับเก่าตำหนิว่าให้โอกาสนักเตะอังกฤษน้อยเกินไป[39]

บ่อยครั้งที่อาร์แซน แวงแกร์ ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของผู้ตัดสิน โดยมักจะออกมาตำหนิการตัดสินที่ไม่ค่อยเป็นธรรมกับทีมของเขาหลังจากจบเกมอยู่เสมอ[40] เช่น หลังจากเกมคาร์ลิงคัพนัดชิงชนะเลิศปี ค.ศ. 2007 นั้น เขาเรียกผู้กำกับเส้นว่า "เจ้าคนหลอกลวง" นำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทำให้เขาโดนสมาคมฟุตบอลอังกฤษสอบสวน[41] และโดนปรับเป็นจำนวนเงิน 2,500 ปอนด์เพื่อเป็นการเตือนว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต[42]

ระหว่างปี ค.ศ. 2005 ถึงปี ค.ศ. 2014 อาร์เซนอลไม่เคยได้แชมป์เลยเป็นระยะเวลานานถึง 9 ปีด้วยกัน ทำให้อาร์แซน แวงแกร์ ถูกวิจารณ์อย่างมาก บ้างก็ว่าหมดยุคของเขาแล้ว จนในที่สุด อาร์เซนอลสามารถคว้าแชมป์แรกในรอบ 9 ปีมาได้ ด้วยการเอาชนะฮัลล์ซิตี ไปในช่วงต่อเวลาพิเศษ 3-2 ทั้งที่ถูกนำไปก่อน 0-2 ในช่วงต้นการแข่งขัน ทำให้ได้แชมป์เอฟเอคัพ ในฤดูกาล 2013-14 โดยแชมป์สุดท้ายที่ได้ก่อนหน้านั้นก็คือ เอฟเอคัพเช่นเดียวกัน ในฤดูกาล 2004-05[43] และในรายการพรีเมียร์ลีก ถึงแม้ว่าอาร์เซนอลจะจบฤดูกาลด้วยอันดับ 4 เหมือนฤดูกาลที่แล้ว แต่อาร์เซนอลก็มีโอกาสได้ลุ้นแชมป์มากที่สุดในรอบ 9 ปี ด้วยการยืนพื้นเป็นทีมอันดับหนึ่งในตารางคะแนนนานถึง 128 วัน นับว่านานที่สุดในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้[44]

ในฤดูกาล 2014–15 ในช่วงต้นฤดูกาล มีเสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนตัวผู้จัดการทีมจากแฟนบางส่วนของอาร์เซนอล เมื่อไม่สามารถทำผลงานได้ดีนักในช่วงต้น แต่หลังจากขึ้นปี ค.ศ. 2015 แล้ว อาร์เซนอลทำสถิติชนะรวด 8 นัด นับว่าเป็นทีมที่ทำสถิติชนะติดต่อกันมากที่สุดของพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลนี้ เมื่อจบฤดูกาล อาร์เซนอลได้อันดับที่ 3 นับว่ามีผลงานที่ดีกว่าฤดูกาลที่แล้ว[45]

และในเอฟเอคัพ อาร์เซนอลยังสามารถเอาชนะ แอสตันวิลลา คู่ชิงชนะเลิศไปได้ถึง 4-0 นอกจากจะสามารถป้องกันตำแหน่งแชมป์ไว้ได้แล้ว ยังทำให้อาร์เซนอลสร้างประวัติศาสตร์ คือ เป็นทีมที่เป็นแชมป์รายการนี้มากที่สุดของวงการฟุตบอลอังกฤษ คือ 12 สมัย และอาร์แซน แวงแกร์ ยังสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้จัดการทีมที่ทำสถิติเป็นแชมป์รายการนี้มากที่สุด คือ 6 ครั้ง เทียบเทา จอร์จ แรมซีย์ ผู้จัดการทีมแอสตันวิลลาเมื่อทศวรรษที่ 21[46]

ในเอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ 2015 ซึ่งเป็นการแข่งขันนัดพิเศษก่อนเริ่มฤดูกาล 2015–16 ซึ่งเป็นการพบกันระหว่าง เชลซี ในฐานะแชมป์พรีเมียร์ลีก กับ อาร์เซนอล ในฐานะแชมป์เอฟเอคัพ ผลปรากฏว่า อาร์เซนอลสามารถเอาชนะไปได้ 1-0 ประตู จากการทำประตูของอเล็กซ์ ออกซ์เลด-เชมเบอร์ลิน ในนาทีที่ 24 ทำให้อาร์เซนอลป้องกันแชมป์เอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ได้ นับเป็นแชมป์สมัยที่ 14 อีกทั้งยังถือเป็นครั้งแรกอีกด้วยที่แวงแกร์สามารถเอาชนะโชเซ มูรีนโย ได้ หลังจากก่อนหน้านั้นมา 13 นัด ในทุกรายการ อาร์เซนอลภายใต้การคุมทีมของแวงแกร์ ไม่สามารถเอาชนะเชลซีภายใต้การคุมของมูรีนโยได้เลย [47] โดยก่อนหน้านั้นทั้งมูรีนโยและแวงแกร์ถือเป็นคู่ปรับกันมาโดยตลอด โดยมักทำสงครามประสาทด้วยคำพูดใส่กัน โดยเฉพาะมูรีนโยที่ถึงกับกล่าวหาแวงแกร์ว่าเป็น "เจ้าแห่งความล้มเหลว" เนื่องจากอาร์เซนอลมิได้แชมป์ใด ๆ เลยมาเป็นเวลานาน 9 ปี[48] ซึ่งในเรื่องนี้ แป็ป กวาร์ดิออลา ผู้จัดการทีมไบเอิร์นมิวนิก แห่งบุนเดิสลีกา เยอรมนี เห็นว่าแวงแกร์มิได้เป็นเช่นนั้น[49]

แต่ในช่วงต้นของฤดูกาลนี้ ผลงานของอาร์เซนอลไม่ค่อยดี โดย 4 นัดแรก ชนะไปเพียง 2 นัด, เสมอ 1 นัด และแพ้ 1 นัด ในนัดเปิดฤดูกาล โดยแพ้ต่อเวสต์แฮมยูไนเต็ด ที่สนามเอมิเรตส์สเตเดียม และยิงประตูคู่แข่งไปได้แค่ 1 ลูกเท่านั้น นอกจากนั้นเป็นการทำเข้าประตูตัวเองของคู่แข่งขัน ทำให้แวงแกร์กลับมาถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก่อนเปิดฤดูกาลจนกระทั่งเริ่มต้น แวงแกร์ซื้อตัวผู้เล่นใหม่เข้ามาเสริมทีมเพียงคนเดียวเท่านั้น คือ เปเตอร์ เช็ค จากเชลซี ในตำแหน่งผู้รักษาประตู ทั้งที่ทีมมีปัญหาจากกองหน้าไม่สามารถทำประตูได้ จนกระทั่งเหล่าแฟนผู้สนับสนุนทีมรวมตัวกันยื่นเรื่องถึงผู้บริหารทีมให้ทบทวนนโยบายซื้อตัวผู้เล่น[50]

เกียรติยศ

แก้

นักเตะ

แก้
ชนะเลิศ

ผู้จัดการทีม

แก้
ชนะเลิศ
รองแชมป์
ชนะเลิศ
ชนะเลิศ
รองแชมป์
รางวัลส่วนบุคคล
  • โค้ชยอดเยี่ยมแห่งปี Onze d'Or : (4) 2000, 2002, 2003, 2004
  • ผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมแห่งปี สมาคมฟุตบอลอังกฤษ : (3) 1998, 2002, 2004
  • ผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมประจำเดือน สมาคมฟุตบอลอังกฤษ : 10 ครั้ง
  • ผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมแห่งปี LMA : (2) 2001-02, 2003-04
  • โค้ชกีฬายอดเยี่ยม สำนักข่าวบีบีซี : (2) 2002, 2004
  • หอเกียรติยศพรีเมียร์ลีก: 2023

อ้างอิง

แก้
  1. Palmer (2008), p. 9.
  2. "Arsène Wenger – Player Profile". Eurosport Australia. สืบค้นเมื่อ 12 July 2012.
  3. "2003 Queen's birthday honours announced".
  4. Longman Dictionary of Contemporary English fifth edition. [DVD-ROM]. London: Pearson Education, 2009.
  5. FIFA announces Arsene Wenger as Chief of Global Football Development
  6. published, Michael Weston (2024-03-08). "Best Premier League managers ever". fourfourtwo.com (ภาษาอังกฤษ).
  7. "Introducing the J.League Legends. #2 Arsène Wenger | ข่าว | เจลีก". J.LEAGUE (ภาษาอังกฤษ). 2021-04-07.
  8. "Explainer: Arsenal's 2003/04 Invincibles". Explainer: Arsenal's 2003/04 Invincibles (ภาษาอังกฤษ). 2024-11-02.
  9. UEFA.com. "History: Barcelona 2-1 Arsenal: UEFA Champions League 2005/06 Final". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
  10. "Emirates Stadium History | Everything you need to know". www.london-tickets.co.uk (ภาษาอังกฤษ).
  11. "เวนเกอร์รับเคยเป็นสิงห์อมควัน-ขายบุหรี่ตอนเด็ก".[ลิงก์เสีย]
  12. "ข่าวเวนเกอร์เซ็นสัญญาใหม่". BBC. สืบค้นเมื่อ 2004-10-27.
  13. "อาร์แซน เวนเกอร์เซ็นสัญญาใหม่". BBC Sport.
  14. Whyatt, Chris (2008-04-09). "Wenger sticks to his guns". BBC Sport.
  15. Daniel Finkelstein (2007-11-27). "Efficiency drive in defence and attack is proving Arsene Wenger right". The Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-08. สืบค้นเมื่อ 2008-04-29. For the past four years, our model shows Arsenal as an attacking team – at no point has their defence ranking been above their ranking for attack.
  16. Matthew Syed (2008-04-10). "Why Arsene Wenger should be proud rather than cowed". The Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-14. สืบค้นเมื่อ 2008-04-29. Arsène Wenger could have instructed his team to play with the dispiriting pragmatism so beloved of his rival managers, but the mercurial Frenchman was not prepared to betray his nobler ideals, even when it might have improved his club’s chances of success.
  17. Jeff Powell (2008-04-13). "Make this your final year, Joe". Daily Mail. Imaginative play to delight connoisseurs but lack of a killer touch leaving them vulnerable to more relentless opponents.
  18. "What is Arsenal's optimal tactical strategy?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-25. สืบค้นเมื่อ 2008-04-29.
  19. "Evolution of the Arsenal Playing Style". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-01. สืบค้นเมื่อ 2008-04-29.
  20. "Adebayor might not remain a lone Gunner".
  21. "Wenger most 'money wise' manager". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-22. สืบค้นเมื่อ 2008-04-29.
  22. "Chairman fears for ageing Gunners". BBC Sport.
  23. "Wenger Day ที่ไฮบิวรี!". Arsenal.com.
  24. "Arsenal sign Wenger with expert timing". Daily Telegraph. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-15. สืบค้นเมื่อ 2021-08-09.
  25. "Arsenal commission bust of Arsène Wenger". Arsenal.com.
  26. "Arsenewenger". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-20. สืบค้นเมื่อ 2011-05-20.
  27. หน้า 12 ต่อ หน้า 10 กีฬา, สิงห์สำอางดาหน้ายิงถล่มปืนโต. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,537: วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2557 แรม 8 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง
  28. "Wenger has no back-up plan". Irish Examiner. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-30. สืบค้นเมื่อ 2008-09-26.
  29. "Fair Play to Gunners". The Football Association.
  30. "Fair Play to Arsenal could see Spurs in Europe". BreakingNews.ie. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-06. สืบค้นเมื่อ 2008-09-26.
  31. "Barclays Premiership 2005/06 Fair Play League" (PDF). Premierleague.com.
  32. "Wenger: I didn't see tunnel fracas". Football365. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-10-27. สืบค้นเมื่อ 2008-09-26.
  33. "Wenger fined over Ruud outburst". BBC Sport.
  34. "Wenger and Ferguson to end feud". BBC Sport.
  35. "Mourinho labels Wenger a 'voyeur'". BBC Sport.
  36. "Mourinho regrets 'voyeur' comment". BBC Sport.
  37. "This was no English victory says Taylor". The Guardian.
  38. "Arsenal vs Liverpool: Wenger defends his foreign legion". The Guardian.
  39. "Ferguson supports Fifa quota plan". BBC Website.
  40. "FA quizzes Wenger about comments". BBC Sport.
  41. "Wenger out of order, says ex-ref". BBC Website.
  42. "Wenger given fine & warning by FA". BBC Website.
  43. "3 ชาติ 3 แชมป์". เดลินิวส์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-18. สืบค้นเมื่อ 2014-05-18.
  44. "สถิติของ"ปืน"ประจำฤดูกาล 2013-14". soccersuck.com. 14 May 2014. สืบค้นเมื่อ 18 May 2014.
  45. "Final Whistle! Arsenal 4 – 1 WBA". facebook.com/Arsenal.in.th. 2015-05-24. สืบค้นเมื่อ 2015-05-25.
  46. ""ปืน" ถล่มวิลลา 4-0 ซิวเอฟเอสูงสุด 12 สมัย". ผู้จัดการออนไลน์. 2015-05-31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-01. สืบค้นเมื่อ 2015-05-31.
  47. หน้า 17 ต่อ 19 กีฬา, เชลซีพลาดพท่าโดนปืนโตสอยศึกคอมมิวนิตี. เดลินิวส์ฉบับที่ 24,035: วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558 แรม 4 ค่ำ เดือน 8-8 ปีมะแม
  48. ""มู" ไม่ขอโทษจวก "เวนเกอร์" ผู้เชี่ยวชาญความล้มเหลว". พรีเมียร์ลีกอังกฤษ.com. 2015-05-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-08-3. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  49. "หักหน้ามู! เป๊ปชูเวนเกอร์เปล่าล้มเหลวแม้ปืนกินแห้ว 8 ปีติด". goal.com. 2014-02-19. สืบค้นเมื่อ 2015-08-3. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  50. หน้า 20 กีฬา, เชื่อใน เวนเกอร์?. "คิดทันเกม" โดย โจว ซิง ฉือ. เดลินิวส์ฉบับที่ 24,070: วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558 แรม 9 ค่ำ เดือน 9 ปีมะแม


แหล่งข้อมูลอื่น

แก้