ศาลปกครอง (ประเทศไทย)
ศาลปกครอง (อังกฤษ: Administrative Court) เป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 276 และมีการจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มีฐานะเทียบเท่าศาลยุติธรรมและมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษา “คดีปกครอง” ซึ่งเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนกรณีหนึ่ง และข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันอีกกรณีหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องในการปฏิบัติราชการ
ราชอาณาจักรไทย ศาลปกครอง | |
---|---|
Administrative Court | |
ตราสัญลักษณ์ศาลปกครอง | |
อาคารที่ทำการศาลปกครองสูงสุด | |
สถาปนา | 11 ตุลาคม พ.ศ. 2546[1] |
ที่ตั้ง | 120 หมู่ที่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 |
พิกัด | 13°53′23″N 100°34′05″E / 13.8896519°N 100.5681273°E |
ที่มา | พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 |
งบประมาณต่อปี | 2,971,621,600 บาท (ปีงบประมาณ 2560)[2] |
เว็บไซต์ | www.admincourt.go.th |
ประธานศาลปกครองสูงสุด | |
ปัจจุบัน | ประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ |
ตั้งแต่ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2567 |
ศาลปกครอง เป็นศาลที่ใช้ระบบไต่สวน โดยในแต่ละคดีจะมีการพิจารณาโดยองค์คณะของตุลาการ ต่างจากศาลยุติธรรมซึ่งใช้ระบบกล่าวหา ปัจจุบันนาย ประพัฒน์ ตันสุวรรณนนท์[4] เป็นเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง[5]
อำนาจพิจารณาพิพากษา
แก้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
- คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มี อำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิด กับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
- คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
- คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎคำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
- คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
- คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
- คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
เรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง
แก้- การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร
- การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ
- คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย หรือศาลชำนัญพิเศษอื่น
อำนาจศาลปกครองสูงสุด
แก้ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้
- คดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทตามที่ที่ประชุม ใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดประกาศกำหนด
- คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออก โดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
- คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด
- คดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
เขตอำนาจ
แก้ศาลปกครองแบ่งออกเป็น "ศาลปกครองชั้นต้น" และ "ศาลปกครองสูงสุด"
- ศาลปกครองชั้นต้น
- ศาลปกครองกลาง มีเขตอำนาจตลอดท้องที่กรุงเทพมหานคร นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสระบุรี หรือคดีที่ยื่นฟ้องที่ศาลปกครองกลาง[6]
- ศาลปกครองในภูมิภาค ปัจจุบันมี 14 แห่ง ดังนี้
- ศาลปกครองเชียงใหม่ มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในท้องที่จังหวัดน่าน พะเยา และแพร่[7]
- ศาลปกครองสงขลา มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดสงขลา ตรัง พัทลุง และสตูล
- ศาลปกครองนครราชสีมา มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์[8]
- ศาลปกครองขอนแก่น มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในท้องที่จังหวัดร้อยเอ็ด
- ศาลปกครองพิษณุโลก มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดพิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก พิจิตร สุโขทัย และอุตรดิตถ์
- ศาลปกครองระยอง มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว
- ศาลปกครองนครศรีธรรมราช มีเขตอำนาจท้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในจังหวัดชุมพรและระนอง
- ศาลปกครองอุดรธานี มีเขตอำนาจท้องที่จังหวัดอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู และเลย และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในจังหวัดนครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ และสกลนคร
- ศาลปกครองอุบลราชธานี มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ
- ศาลปกครองเพชรบุรี มีเขตอำนาจท้องที่จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรสงคราม[9]
- ศาลปกครองนครสวรรค์ มีเขตอำนาจท้องที่จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี และเพชรบูรณ์[10]
- ศาลปกครองสุพรรณบุรี มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดสุพรรณบุรี และ กาญจนบุรี[11]และมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในท้องที่จังหวัด พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง
- ศาลปกครองภูเก็ต มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดกระบี่ พังงา และ จังหวัดภูเก็ต[12]
- ศาลปกครองยะลา มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส [13]
- ศาลปกครองสูงสุด มีอำนาจตัดสินคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดโดยตรง หรือคดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
รายนามประธานศาลปกครองสูงสุดของไทย
แก้- ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อักขราทร จุฬารัตน (21 ตุลาคม พ.ศ. 2543 – 30 กันยายน พ.ศ. 2553[14])
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 – 23 กันยายน พ.ศ. 2558[15])
- ดร.ปิยะ ปะตังทา (31 มีนาคม พ.ศ. 2559 – 27 กันยายน พ.ศ. 2564[16])
- ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญชัย แสวงศักดิ์ (27 กันยายน พ.ศ. 2564 – 30 กันยายน พ.ศ. 2565[17])
- ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – 30 กันยายน 2567[18])
- ประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2567 – ปัจจุบัน[19])
รายนามตุลาการศาลปกครองสูงสุดของไทย
แก้รายนามทั้งหมดมีผล 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567[20]
- สมเกียรติ บุตรดี
- พินิจ มั่นสัมฤทธิ์
- สมมาศ รัฐพิทักษ์สันติ
- เกียรติภูมิ แสงศศิธร
- วิชัย พจนโพธา
- สายทิพย์ สุคติพันธ์
- อภิรัฐ ปานเทพอินทร์
- เมธี ชัยสิทธิ์
- ชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว
- สิทธานต์ สิทธิสุข
- อาทร คุระวรรณ
- อุดมศักดิ์ อังศุพิสิฐ
- ประพันธ์ คล้ายสุบรรณ
- วุฒิชัย ไทยเจริญ
- พรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์
- เชิดชู รักตะบุตร
- บุญเสริม นาคสาร
- สมฤทธิ์ ชัยวงค์
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒, เล่ม 116 ตอนที่ 94 ก, หน้า 1, 10 ตุลาคม 2542
- ↑ ราชกิจจกานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐, เล่ม 133 ตอน 84 ก หน้า 1, 23 กันยายน 2559
- ↑ ตราสัญลักษณ์ศาลปกครอง
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 273 ง หน้า 123 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566
- ↑ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง
- ↑ "เขตอำนาจของศาลปกครอง". www.admincourt.go.th. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-14. สืบค้นเมื่อ 2022-12-01.
- ↑ ประกาศที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เรื่อง ให้ศาลปกครองเชียงใหม่ และศาลปกครองพิษณุโลก มีเขตอำนาจเพิ่มเติมในจังหวัดใกล้เคียง
- ↑ ประกาศที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เรื่อง ให้ศาลปกครองนครราชสีมา ศาลปกครองขอนแก่น และศาลปกครองอุดรธานีมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในจังหวัดใกล้เคียง
- ↑ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองเพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๕๕
- ↑ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองนครสวรรค์ พ.ศ. ๒๕๕๕
- ↑ ประกาศประธานศาลปกครองสูงสุด เรื่อง สถานที่ตั้งและวันเปิดทำการของศาลปกครองสุพรรณบุรี
- ↑ ประกาศประธานศาลปกครองสูงสุด เรื่อง สถานที่ตั้งและวันเปิดทำการของศาลปกครองภูเก็ต
- ↑ ประกาศประธานศาลปกครองสูงสุด เรื่อง สถานที่ตั้งและวันเปิดทำการของศาลปกครองยะลา
- ↑ ประกาศ แต่งตั้งประธานศาลปกครองสูงสุด
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ตุลาการศาลปกครองพ้นจากตำแหน่ง
- ↑ ประกาศ แต่งตั้งประธานศาลปกครองสูงสุด
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งประธานศาลปกครองสูงสุด
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งประธานศาลปกครองสูงสุด
- ↑ "โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 'ประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ' เป็นประธานศาลปกครองสูงสุด". ไทยโพสต์. 28 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2024.
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุด