จังหวัดสตูล
สตูล เป็นจังหวัดที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย (ทางชายฝั่งช่องแคบมะละกา) คำว่า สตูล มาจากคำภาษามลายูเกอดะฮ์ว่า สะตุล (ستول) แปลว่า "กระท้อน" ซึ่งเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ชุกชุมในท้องที่นี้ โดยชื่อเมือง นครีสโตยมำบังสาครา (มลายู: Negeri Setul Mambang Segara; อักษรยาวี: نڬري ستول ممبڠ سڬارا; เนอเกอรีเซอตุลมัมบังเซอการา) นั้นหมายความว่า "สตูล เมืองแห่งพระสมุทรเทวา" ดังนั้น ตราพระสมุทรเทวาจึงกลายเป็นตราหรือสัญลักษณ์ของจังหวัดมาตราบเท่าทุกวันนี้
จังหวัดสตูล | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Satun |
จากซ้ายไปขวา บนลงล่าง : อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อุทยานแห่งชาติทะเลบัน
เกาะหลีเป๊ะ เกาะหินงาม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล (คฤหาสน์กูเด้น) | |
คำขวัญ: สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์ | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดสตูลเน้นสีแดง | |
ประเทศ | ไทย |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | ศักระ กปิลกาญจน์[1] (ตั้งแต่ พ.ศ. 2566) |
พื้นที่[2] | |
• ทั้งหมด | 2,478.977 ตร.กม. (957.138 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 64 |
ประชากร (พ.ศ. 2566)[3] | |
• ทั้งหมด | 325,470 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 66 |
• ความหนาแน่น | 131.29 คน/ตร.กม. (340.0 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 38 |
รหัส ISO 3166 | TH-91 |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
• ต้นไม้ | หมากพลูตั๊กแตน |
• ดอกไม้ | กาหลง |
• สัตว์น้ำ | ปลาการ์ตูนส้มขาว |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ถนนสตูลธานี ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล 91000 |
• โทรศัพท์ | 0 7471 1055 |
• โทรสาร | 0 7471 1055 |
เว็บไซต์ | http://www.satun.go.th |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
แก้- คำขวัญประจำจังหวัด : สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์
- คำขวัญประจำจังหวัด (เดิม) : ตะรุเตา ไก่ดำ จำปาดะ คนใจพระ งามเลิศ เชิดสตูล
- ตราประจำจังหวัด : รูปพระสมุทรเทวาประทับนั่งบนแท่นหิน เบื้องหลังเป็นพระอาทิตย์อัสดง
- ต้นไม้ประจำจังหวัด : ต้นหมากพลูตั๊กแตน (Dalbergia bariensis)
- ดอกไม้ประจำจังหวัด : ดอกกาหลง (Bauhinia acuminata)
- สัตว์น้ำประจำจังหวัด : ปลาการ์ตูนส้มขาว (Amphiprion ocellaris)
ประวัติ
แก้ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น สตูลเป็นเพียงตำบลหนึ่งในเขตเมืองไทรบุรี เรียกว่า มูเก็มสะตุล (مقيم ستول) ประวัติความเป็นมาของเมืองสตูลจึงเกี่ยวข้องกับไทรบุรี ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า "ตามเนื้อความที่ปรากฏดังกล่าวมาแล้ว ทำให้เห็นว่าในเวลานั้น พวกเมืองไทรเห็นจะแยกกันเป็นสองพวกคือ พวกเจ้าพระยาไทรปะแงรันพวกหนึ่ง และพระยาอภัยนุราชคงจะนบน้อมฝากตัวกับเมืองนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะเมื่อพระยาอภัยนุราชได้มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูล ซึ่งเขตแดนติดต่อกับนครศรีธรรมราชมากกว่าเมืองไทร แต่พระยาอภัยนุราชว่าราชการเมืองสตูลได้สองปีก็ถึงแก่อนิจกรรม ผู้ใดจะได้ว่าราชการเมืองสตูลต่อมาในชั้นนั้นหาพบจดหมายเหตุไม่ แต่พิเคราะห์ความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง เข้าใจว่าเชื้อพระวงศ์ของพระอภัยนุราช (ปัศนู) คงจะได้ว่าราชการเมืองสตูล และฟังบังคับบัญชาสนิทสนมกับเมืองนครศรีธรรมราชอย่างครั้งพระยาอภัยนุราชหรือยิ่งกว่านั้น"
เรื่องเกี่ยวกับเมืองสตูลนั้นยังปรากฏในหนังสือพงศาวดารเมืองสงขลา แต่ข้อความที่ปรากฏบางตอนเกี่ยวกับชื่อผู้ว่าราชการเมืองสตูล ไม่ตรงกับในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประวัติเกี่ยวกับเมืองสตูลในการจัดรูปแบบการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาลกล่าวไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไทรบุรีรามภักดี เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิต) เป็นข้าราชการเทศาภิบาลมณฑลไทรบุรี โดยเมืองสตูลได้แยกออกจากไทรบุรีอย่างเด็ดขาดตามหนังสือสัญญาไทยกับอังกฤษ เรื่องการปักปันดินแดนนะหว่างไทยกับสหพันธรัฐมลายู ซึ่งลงนามกันที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2452) จากหนังสือสัญญานี้ยังส่งผลให้เมืองไทรบุรีและเมืองปะลิสตกเป็นของอังกฤษ ส่วนเมืองสตูลยังคงเป็นของไทยมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อปักปันดินแดนเสร็จแล้ว ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เมืองสตูลเป็นเมืองจัตวารวมอยู่ในมณฑลภูเก็ตเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2453)
ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมืองสตูลก็มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในราชอาณาจักรไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้
สภาพทางภูมิศาสตร์
แก้ขนาดและที่ตั้ง
แก้จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทยทางชายฝั่งช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันตกของประเทศไทย อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 6 องศา 4 ลิปดา ถึง 7 องศา 2 ลิปดาเหนือ กับเส้นแวงที่ 99 องศา 5 ลิปดา ถึง 100 องศา 3 ลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 973 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 2,478.997 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,549,361 ไร่ เป็นลำดับที่ 63 ของประเทศ และลำดับที่ 12 ของภาคใต้ รองลงมาคือ จังหวัดปัตตานีและจังหวัดภูเก็ต มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดตรังทางทิศเหนือ จังหวัดสงขลาทางทิศตะวันออก และรัฐปะลิส ประเทศมาเลเซียตลอดแนวชายแดน (ทางทิศใต้) ยาวประมาณ 56 กิโลเมตร ติดต่อฝั่งอันดามันยาวประมาณ 144.8 กิโลเมตร เป็นพื้นที่เกาะประมาณ 88 เกาะ
ภูมิประเทศ
แก้พื้นที่จังหวัดสตูลทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเป็นเนินเขาและภูเขาสลับซับซ้อน โดยมีทิวเขาที่สำคัญแบ่งเขตประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย คือ ทิวเขาบรรทัดและทิวเขาสันกาลาคีรี พื้นที่ของจังหวัดค่อย ๆ ลาดเอียงลงสู่ทะเลด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ โดยยังมีภูเขาน้อยใหญ่อยู่กระจัดกระจายในตอนล่าง ภูเขาที่สำคัญ ได้แก่ เขาจีน เขาบารัง เขาใหญ่ เขาทะนาน และเขาพญาวัง และมีที่ราบแคบ ๆ ขนานไปกับชายฝั่งทะเล ถัดจากที่ราบลงไปเป็นพื้นที่ป่าชายเลนน้ำเค็มขึ้นถึง อุดมไปด้วยป่าแสมและป่าโกงกาง สตูลเป็นจังหวัดที่ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน คงมีเพียงลำน้ำสั้น ๆ ต้นน้ำเกิดจากภูเขาทางทิศเหนือและทิศตะวันออกของจังหวัด
ภูมิอากาศ
แก้พื้นที่จังหวัดสตูลได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทย และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้น มี 2 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 21.6-39.5 องศาเซลเซียส
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 21.9-38.8 องศาเซลเซียส
ระหว่างปี พ.ศ. 2543-2547 ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 2,318 มิลลิเมตร ตกชุกที่สุดในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 32.72 องศาเซลเซียส ต่ำสุดเฉลี่ย 23.51 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดวัดได้ 38.4 องศาเซลเซียส เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2545 และอุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 19.2 องศาเซลเซียส เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2543 และเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545
เศรษฐกิจ
แก้รายได้ประชากรและผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด
แก้รายได้ประชากรโดยทั่วไปของจังหวัดสตูลขึ้นอยู่กับผลผลิตทางการเกษตรและการค้า อาชีพหลัก คือ การทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน การทำนา และการทำสวนไม้ผล ฯลฯ จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี 2558 ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อคน/ปี เท่ากับ 112,051 บาท โดยมีมูลค่าสูงกว่าปีที่ผ่านมา 693 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดในภาคใต้ จังหวัดสตูลมีรายได้เฉลี่ยต่อคน/ปี เป็นลำดับที่ 7 ของภาคใต้ และลำดับที่ 28 ของประเทศ
โครงสร้างเศรษฐกิจหลัก
แก้โครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดสตูล ขึ้นอยู่กับสาขาเกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้เป็นหลัก โดยมีสัดส่วนร้อยละ 26.5 สาขาการผลิตที่มีความสำคัญรองลงมาได้แก่ สาขาประมงมีสัดส่วนร้อยละ 16.0 สาขาการขายส่ง ขายปลีกมีสัดส่วน ร้อยละ 11.5 สาขาขนส่งมีสัดส่วน ร้อยละ 12.5 และสาขาอื่น ๆ ร้อยละ 33.5 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดสตูล (GPP AT CURRENT MARGET PRICES)ปี 2558 มีมูลค่าเท่ากับ 31,335 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ(GDP) คิดเป็นร้อยละ 2.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคใต้ (GRP) เป็นลำดับที่ 12 ของภาคใต้ และมีขนาดเศรษฐกิจเล็กที่สุดในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน สำหรับอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจจังหวัดสตูล ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปีที่ผ่านมา
จังหวัดสตูลยังมีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากจังหวัดสตูลมีธรรมชาติแวดล้อมด้วยภูเขาและทะเล อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ทั้งป่าธรรมชาติและป่าชายเลน รายล้อมด้วยหมู่เกาะที่สวยงามและเป็นจังหวัดที่สงบ ปลอดภัย ไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ จึงทำให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ สามารถสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดสตูลเพิ่มมากขึ้น จังหวัดสตูลยังมีชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย มีด่านศุลกากรสตูลและด่านศุลกากรวังประจันเป็นช่องทางในการขนส่งสินค้าไปจำหน่าย ซึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ อิฐก่อสร้าง กระเบื้องซีเมนต์ ฯลฯ นอกจากนี้จังหวัดสตูลได้กำหนดแผนการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ของจังหวัดเพิ่มมากขึ้น เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางทะเล ส่งเสริมการตลาดและพัฒนากิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว พัฒนาร้านอาหาร ร้านค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP สู่มาตรฐานสากล ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และจากศักยภาพในด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่ในจังหวัด จังหวัดสตูลจึงเป็นจังหวัดหนึ่งที่น่าสนใจในการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการที่ต้องการแหล่งลงทุนใหม่ ๆ
ทำเนียบเจ้าเมือง ข้าหลวง และผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล
แก้ลำดับ | นาม | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง |
1. | พระยาอภัยนุราชฯ (ตนกูบิศนู) | 2356 - 2358 |
2. | พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตวนกูมูฮำหมัดอาเก็บ) | 2382 - 2419 |
3. | พระยาอภัยนุราช (ตวนกูอิสมาแอล) | 2419 - 2427 |
4. | พระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) | 2427 - 2440 |
5. | พระยาภูมินารถภักดี (กูเด็น บิน กูแมะ) | 2440 - 2457 |
6. | พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตุ๋ย บินอับดุลลาห์) | 2457 - 2475 |
7. | พระยาบรรหารวรพจน์ (บุญนาค คชาเดช) | 23 ก.พ. 2475 - 20 เม.ย. 2476 |
8. | พระยาอมรศักดิ์ประสิทธิ์ (ทนงค์ บุญนาค) | 20 เม.ย. 2476 - |
9. | พระพิชิตบัญชาการ (ทรัพย์ อินทรรัศมี) | 19 ก.ค. 2476 - 21 ก.พ. 2477 |
10. | พระพิพิธภักดี (กูมูดอ อับดุลบุตร) | 2 ก.พ. 2477 - 1 ธ.ค. 2480 |
11. | ขุนภักดีดำรงฤทธิ์ (อ้น เกษีพันธ์) | 15 ธ.ค. 2480 - 18 เม.ย. 2482 |
12. | หลวงจรูญบรรณกิจ (จรูญ ณ สงขลา) | 19 เม.ย. 2482 - 1 พ.ค.2484 |
13. | หลวงเรืองฤทธิ์รักษ์ราษฎร์ (เซ่ง หัชชวนิช) | 1 พ.ค. 2484 -1 เม.ย. 2487 |
14. | นายอุดม บุณยประสพ | 1 ม.ค. 2487 - 17 ก.ย. 2487 |
15. | นายแสวง ทินทอง | 5 ต.ค. 2487 - 17 ต.ค. 2489 |
16. | นายวิเวก จันทโรจวงศ์ | 19 ต.ค. 2489 - 14 มี.ค. 2490 |
17. | นายทำนุก รัตนดิลก ณ ภูเก็ต | 14 มี.ค. 2490 - 6 ธ.ค 2490 |
18. | นายชาติ บุณยรัตพันธ์ | 22 ธ.ค. 2490 - 3 เม.ย. 2494 |
19. | ขุนอารีราชการัณย์ (ชิต สุมนดิษฐ์) | 3 เม.ย. 2494 - 7 ส.ค. 2500 |
20. | นายวิชาญ บรรณโศภิษฐ์ | 1 ส.ค. 2500 - 1 ต.ค.. 2501 |
21. | นายวิเวก จันทโรจวงศ์ | 1 ต.ค. 2501 - 27 ต.ค. 2506 |
22. | นายเคลื่อน จิตรสำเริง | 28 ต.ค. 2506 - 12 ก.พ. 2507 |
23. | นายธวัชชัย เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา | 21 ก.พ. 2507 - 1 ก.พ. 2509 |
24. | นายชาญ พันธ์เจริญ | 2 มี.ค. 2509 - 30 ก.ย. 2514 |
25. | นายเปรมศักดิ์ วิเชียรภักดิ์ | 1 ต.ค. 2514 - 30 ก.ย. 2515 |
26. | นายศุภโยค พานิชวิทย์ | 1 ต.ค. 2515 - 12 ก.พ. 2518 |
27. | นายอรุณ รุจิกัณหะ | 24 ก.พ. 2518 - 1 ต.ค. 2519 |
28. | นายอารีย์ วงศ์อารยะ | 2 ต.ค. 2519 - 27 ก.ย. 2522 |
29. | นายอเนก โรจนไพบูลย์ | 1 ต.ค. 2522 - 26 เม.ย. 2524 |
30. | ร้อยตรี นิสิต อัลภาชน์ | 27 เม.ย. 2524 - 1 ต.ค. 2524 |
31. | นายวิโรจน์ ราชรักษ์ | 11 ต.ค. 2524 - 30 ก.ย. 2526 |
32. | นายจำเนียร ชวพงศ์ | 1 ต.ค. 2526 -30 ก.ย. 2528 |
33. | นายไพฑูรย์ สุนทรวิภาค | 1 ต.ค. 2528 - 30 ก.ย. 2531 |
34. | นายสงัด จันทร์แช่มช้อย | 1 ต.ค. 2531 - 30 ก.ย. 2532 |
35. | นายวิเชียร สุวัตถี | 1 ต.ค. 2532 - 31 ต.ค. 2533 |
36. | ร้อยเอก เคียงศักดิ์ ธรรมราชรักษ์ | 1 พ.ย. 2533 - 30 ก.ย. 2534 |
37. | ร้อยตรี หิรัญ ศิษฏิโกวิท | 1 ต.ค. 2534 - 30 ก.ย. 2537 |
38. | นายอนุชา โมกขะเวส | 1 ต.ค. 2537 - 30 ก.ย. 2539 |
39. | นายชาติสง่า โมฬีชาติ | 1 ต.ค. 2539 - 30 ก.ย. 2540 |
40. | นายสรศักดิ์ สร้อยสนธิ์ | 1 ต.ค. 2540 - 30 ก.ย. 2543 |
41. | นายกฤช อาทิตย์แก้ว | 1 ต.ค. 2543 - 30 ก.ย. 2544 |
42. | นายวิจิตร วิชัยสาร | 1 ต.ค. 2544 - 30 ก.ย. 2546 |
43. | นายอานนท์ พรหมนารท | 1 ต.ค. 2546 - 30 ก.ย. 2547 |
44. | นายมานิต วัฒนเสน | 1 ต.ค. 2547 - 10 พ.ย. 2549 |
45. | นายขวัญชัย วงศ์นิติกร | 11 พ.ย. 2549 - 19 ต.ค. 2551 |
46. | นายสยุมพร ลิ่มไทย | 20 ต.ค. 2551 - 15 มี.ค. 2552 |
47. | นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล | 16 มี.ค. 2552 - 30 ก.ย. 2553 |
48. | นายวินัย ครุวรรณพัฒน์ | 1 ต.ค. 2553 - 30 ก.ย. 2554 |
49. | นายพิศาล ทองเลิศ | 28 ธ.ค. 2554 - 30 ก.ย. 2555 |
50. | นายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ | 19 พ.ย. 2555 - 30 ก.ย. 2557 |
51. | นายเดชรัฐ สิมศิริ | 1 ต.ค. 2557 - 30 ก.ย. 2558 |
52. | นายภัทรพนธ์ รัตนพิเชฏฐชัย | 1 ต.ค. 2558 - 30 ก.ย. 2561 |
53. | นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา | 1 ต.ค. 2561 - 30 ก.ย. 2562 |
54. | นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ | 1 ต.ค. 2562 - 30 ก.ย. 2563 |
55. | นายเอกรัฐ หลีเส็น | 1 ต.ค. 2563 - 30 ก.ย. 2565 |
56. | นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา | 1 ต.ค. 2565 - 9 เม.ย. 2566 |
57. | นายศักระ กปิลกาญจน์ | 1 ต.ค. 2566 - ปัจจุบัน |
หน่วยการปกครอง
แก้การปกครองแบ่งออกเป็น 7 อำเภอ 36 ตำบล 257 หมู่บ้าน
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้มีการแบ่งการปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้
เทศบาลเมือง
แก้ประชากร
แก้ชาติพันธุ์
แก้ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดสตูลสืบเชื้อสายมลายูและนับถือศาสนาอิสลาม โดยชาวไทยเชื้อสายมลายูในสตูลมีความแตกต่างจากชาวไทยเชื้อสายมลายูในแถบปัตตานี แต่จะมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับชาวมลายูในรัฐเกอดะฮ์[5] ชาวสตูลที่มีเชื้อสายมลายูแต่เดิมใช้ภาษามลายูเกอดะฮ์[6] ในการสื่อสาร แต่ในช่วงระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งร้อยปีชาวสตูลก็ลืมภาษามลายูถิ่นของตนเพราะอิทธิพลของไทย กว่า 40% ยังคงใช้ภาษาและวัฒนธรรมมลายู เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีไม่มีใครพูดภาษามลายูถิ่นได้เช่นเดียวกับเยาวชนในตัวเมืองปัตตานียะลาและนราธิวาสแต่ยังเหลือประชาชนที่ยังใช้ภาษามลายูถิ่นได้หลายหมู่บ้านและหลายตำบล[7] แต่ยังคงมีประชากรผู้ใช้ภาษามลายูในบางท้องที่ เช่น ตำบลเจ๊ะบิลัง ตำบลตำมะลัง ตำบลตันหยงโป และตำบลบ้านควน[8] นอกนั้นในชีวิตประจำวันชาวสตูลนิยมพูดภาษาไทยมากกว่าและส่วนน้อยที่ยังคงใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร ซึ่งแตกต่างจากชาวไทยเชื้อสายมลายูในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสที่ร้อยละ 80 ยังใช้ภาษามลายูได้ มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เป็นกลุ่มสังคมเมืองซึ่งพูดมลายูได้เล็กน้อยหรือพูดปนภาษาไทย อาจเป็นเพราะสตูลได้รับอิทธิพลของสยามมากกว่าจังหวัดชายแดนใต้อื่น ๆ [8]
อย่างไรก็ตามอิทธิพลทางด้านภาษามลายูถิ่นในจังหวัดสตูลนั้นยังมีให้เห็นทั่วไป เช่น เกาะตะรุเตา (มาจากคำว่า ตะโละเตา แปลว่า อ่าวเก่าแก่), อ่าวพันเตมะละกา (แปลว่า ชายหาดที่มีชาวมะละกา), อุทยานแห่งชาติทะเลบัน (มาจากคำว่า ลาอุตเรอบัน แปลว่า ทะเลยุบ) เป็นต้น[9] แต่หลายพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงชื่อให้เป็นภาษาไทยไป เช่น อำเภอสุไหงอุเป (มีความหมายว่า คลองกาบหมาก) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอทุ่งหว้า, บ้านปาดังกะจิ เปลี่ยนเป็น บ้านทุ่งนุ้ย, บ้านสุไหงกอแระ เปลี่ยนเป็น บ้านคลองขุด เป็นอาทิ[9]
ในปี พ.ศ. 2554 จังหวัดสตูลได้มีการนำหลักสูตรสอนภาษามลายูกลางใน 7 โรงเรียนคือ โรงเรียนบ้านควน โรงเรียนบ้านเจ๊ะบิลัง โรงเรียนบ้านทุ่งมะปรัง โรงเรียนบ้านแป-ระเหนือ โรงเรียนบ้านสนกลาง โรงเรียนบ้านปากบารา และโรงเรียนบ้านปากละงู ซึ่งในโรงเรียนบ้านควนมีผลการจัดการสอนที่น่าพึงใจ นักเรียนสามารถใช้ภาษามลายูกลางกับนักเรียนแลกเปลี่ยนชาวมาเลเซียได้ และนำไปสู่การประเมินผล และขยายไปยังโรงเรียนอื่น ๆ[10]
ศาสนา
แก้จังหวัดสตูลเป็นหนึ่งในสี่จังหวัดของประเทศไทยที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่มีเชื้อสายมลายู มีมัสยิดกลางประจำจังหวัดคือ มัสยิดมำบัง[12] รองลงมาคือชาวพุทธ มีวัดทั้งหมด 30 แห่ง[13] และที่เหลือคือศาสนาคริสต์ ซึ่งศาสนสถานอยู่ 3 แห่งในเขตอำเภอเมืองสตูล ทุ่งหว้า และละงู[14] จากการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2553 พบว่า ประชากรในสตูลนับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 74.10 ศาสนาพุทธร้อยละ 25.81 และศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ 0.09[15] ขณะที่การสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2560 พบว่า ประชากรนับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 76.77 ศาสนาพุทธร้อยละ 23.02 และศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ 0.21[16]
ศาสนา | 2503[17] | 2544[18] | 2549[19] | 2553[15] | 2558[20] | 2560[16] | 2561[21] | 2563[11] |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อิสลาม | 85.00% | 73.60% | 74.10% | 74.10% | 70.86% | 76.77% | 76.50% | 76.77% |
พุทธ | 14.00% | 23.62% | 25.81% | 25.81% | 29.09% | 23.02% | 22.98% | 23.02% |
อื่น ๆ | 1.00% | 0.08% | 0.09% | 0.09% | 0.05% | 0.21% | 0.52% | 0.21% |
แม้ว่าในอดีตสตูลจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของสุลต่านแห่งไทรบุรี แต่ก็มีความสัมพันธ์อันดีกับกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงเหตุผลด้านภูมิศาสตร์สตูลจึงนิยมติดต่อกับสงขลามากกว่าไทรบุรี ทำให้ได้รับอิทธิพลทางประเพณีและวิถีชีวิตอย่างสูงจากสงขลา[8] ชาวไทยเชื้อสายมลายูมุสลิมได้แต่งงานข้ามกันกับชาวไทยพุทธโดยไม่มีความตึงเครียดทางศาสนา ทำให้เกิดกลุ่มสังคมที่เรียกว่า ซัมซัม (มลายู: Samsam) ซึ่งในภาษามลายูแปลว่า ลูกครึ่ง ซัมซัมส่วนใหญ่ก็มิได้นับถือศาสนาอิสลามเสมอไป[22]
จังหวัดสตูลไม่เหมือนจังหวัดมุสลิมอื่นในไทย เนื่องจากไม่มีประวัติศาสตร์การเผชิญหน้ากับศูนย์กลางการปกครองในกรุงเทพมหานครหรือความตึงเครียดระหว่างชาวไทยพุทธ ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย[23]
ชาวสตูลที่มีชื่อเสียง
แก้- เด่น ดอกประดู่ นักแสดง
- แก่นใจ มีนะกนิษฐ์ อดีตนักแสดง - นางแบบ
- เจ๊ะอับดุล หลังปูเต๊ะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมุสลิมคนแรกของไทย
อ้างอิง
แก้- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 245 ง หน้า 4 วันที่ 2 ตุลาคม 2566
- ↑ ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารและงานปกครอง. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ข้อมูลการปกครอง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dopa.go.th/padmic/jungwad76/jungwad76.htm เก็บถาวร 2016-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_64.pdf 2564. สืบค้น 20 มีนาคม 2565.
- ↑ "รู้จักกันรึเปล่า? "บุหงาปูดะ" ขนมพื้นเมือง ของฝากจากสตูล" (Press release). มติชน. 30 เมษายน 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-12. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2012.
- ↑ Institute of South East Asian Studies (1988). The South East Asian Review. Institute of South East Asian Studies. p. 15.
- ↑ ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา - มลายู-ยาวี เรียกอย่างไรดี?
- ↑ มูฮำหมัด ดือราแม (25 กันยายน 2013). "70 ปี กว่ารัฐจะยอมรับมลายู วงเสวนาแนะเร่งสร้างสื่อเพื่อสันติภาพใต้". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2013.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ - ปัญหา สตูล ปัตตานี กับวัฒนธรรมที่ถูกทำลาย เก็บถาวร 2015-06-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 9.0 9.1 ประพนธ์ เรืองณรงค์. "บทผนวกเกียรติยศ". ใน รัฐปัตตานีใน "ศรีวิชัย" เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์. สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:มติชน. 2547, หน้า 356-357
- ↑ "สปพ. สตูล นำร่อง 7 ร.ร. สอนภาษามลายูรับอาเซียน" (Press release). ไทยรัฐ. 30 กรกฎาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2012.
- ↑ 11.0 11.1 แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดสตูล ฉบับทบทวน (พ.ศ. 2564-2565) (PDF). สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสตูล. 2020. p. 4.
- ↑ "HotelsGuide Thailand Dot Com - มัสยิดมำบัง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-10. สืบค้นเมื่อ 2012-08-04.
- ↑ ไทยธรรมจักร. รายชื่อวัดในจังหวัดสตูล[ลิงก์เสีย]
- ↑ คริสตจักรในจังหวัดสตูล[ลิงก์เสีย]
- ↑ 15.0 15.1 "สภาพและข้อมูลพื้นฐาน จังหวัดสตูล". องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2019.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 16.0 16.1 "ข้อมูลทั่วไปจังหวัดสตูล". จังหวัดสตูล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-18. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2019.
- ↑ สำนักงานสถิติกลาง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ. รายงานสำมะโนครัวประชากรแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2503 จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และจังหวัดสตูล. พระนคร : ไทยแบบเรียน, 2504, หน้า 19
- ↑ ฮานีฟะห์ หยีราเหม (2002). "บทบาทของมัสยิดในจังหวัดสตูล". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2020.
- ↑ "บรรยายสรุปปี พ.ศ. 2550" (PDF). หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2020.
- ↑ "ฐานข้อมูลด้านการเกษตรจังหวัดสตูล". สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสตูล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-11. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2021.
- ↑ แผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริต (พ.ศ. 2561-2564). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล. 2020. p. 7. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-13. สืบค้นเมื่อ 2022-01-13.
- ↑ Andrew D.W. Forbes (1988). The Muslims of Thailand. Soma Prakasan. p. 12. ISBN 974-9553-75-6.
- ↑ Moshe Yegar, Between Integration and Secession
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้6°37′N 100°04′E / 6.62°N 100.07°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ จังหวัดสตูล
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย