ฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่น

ฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: サッカー日本代表โรมาจิ Sakkā Nippon Daihyō; ฉายา ซามูไรสีน้ำเงิน (サムライ・ブルー)[1][2]) เป็นทีมฟุตบอลแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น อยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลฟุตบอลในประเทศญี่ปุ่น หัวหน้าผู้ฝึกสอนคนปัจจุบันคือ ฮาจิเมะ โมริยาซุ

ญี่ปุ่น
Shirt badge/Association crest
ฉายาサムライ・ブルー
(ซามูไรสีน้ำเงิน)[1][2]
ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552[3]
ซามูไร (ฉายาในภาษาไทย)
สมาคมสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA)
สมาพันธ์ย่อยEAFF (เอเชียตะวันออก)
สมาพันธ์เอเอฟซี (เอเชีย)
หัวหน้าผู้ฝึกสอนฮาจิเมะ โมริยาซุ
กัปตันวาตารุ เอ็นโดะ
ติดทีมชาติสูงสุดยาซูฮิโตะ เอ็นโด (152)
ทำประตูสูงสุดคูนิชิเงะ คามาโมโตะ (75)[4]
สนามเหย้ากรีฑาสถานแห่งชาติญี่ปุ่น
รหัสฟีฟ่าJPN
อันดับฟีฟ่า
อันดับปัจจุบัน 17 เพิ่มขึ้น 1 (20 มิถุนายน 2024)[5]
อันดับสูงสุด9 (มีนาคม พ.ศ. 2541)
อันดับต่ำสุด62 (ธันวาคม พ.ศ. 2535)
เกมระดับนานาชาติครั้งแรก
ก่อนเป็นสมาชิกฟีฟ่า
ธงชาติญี่ปุ่น ญี่ปุ่น 0–5 China ธงชาติสาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949)
(โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น; 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1917)
ตอนเป็นสมาชิกฟีฟ่า
ธงชาติญี่ปุ่น ญี่ปุ่น 7–2 ฟิลิปปินส์ ธงชาติฟิลิปปินส์
(โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น; 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1930)
ชนะสูงสุด
ธงชาติญี่ปุ่น ญี่ปุ่น 15–0 ฟิลิปปินส์ ธงชาติฟิลิปปินส์
(โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น; 27 กันยายน ค.ศ. 1967) [6]
แพ้สูงสุด
ก่อนเป็นสมาชิกฟีฟ่า
ธงชาติญี่ปุ่น ญี่ปุ่น [[Japan 2–15 USA |2–15]] ฟิลิปปินส์ ธงชาติฟิลิปปินส์
(โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น; 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1917)[7]
ตอนเป็นสมาชิกฟีฟ่า
ธงชาติญี่ปุ่น ญี่ปุ่น 0–8 อิตาลี ธงชาติอิตาลี
(เบอร์ลิน เยอรมนี; 7 สิงหาคม ค.ศ. 1936)
ฟุตบอลโลก
เข้าร่วม7 (ครั้งแรกใน 1998)
ผลงานดีที่สุดรอบ 16 ทีมสุดท้าย (2002, 2010, 2018, 2022)
เอเชียนคัพ
เข้าร่วม9 (ครั้งแรกใน 1988)
ผลงานดีที่สุดชนะเลิศ (1992, 2000, 2004, 2011)
โกปาอาเมริกา (เป็นทีมรับเชิญ)
เข้าร่วม2 (ครั้งแรกใน 1999)
ผลงานดีที่สุดรอบแบ่งกลุ่ม (1999, 2019)
คอนเฟเดอเรชันส์คัพ
เข้าร่วม5 (ครั้งแรกใน 1995)
ผลงานดีที่สุดรองชนะเลิศ (2001)

เดิมญี่ปุ่นเป็นเพียงทีมฟุตบอลสมัครเล่นขนาดเล็ก โดยฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในประเทศน้อยกว่ากีฬาหลักอย่างเบสบอล และ ซูโม่ แต่ในทศวรรษ 1990[8] ฟุตบอลญี่ปุ่นได้เข้าสู่ระบบอาชีพอย่างเต็มตัว ทำให้ทีมชาติญี่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งในทีมชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเอเชีย พวกเขาผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในเจ็ดครั้งหลังสุด โดยผ่านเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายในปี 2002, 2010, 2018 และ 2022 ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ชนะเลิศเอเชียนคัพมากที่สุดที่สี่สมัยในปี 1992, 2000, 2004 และ 2011 นอกจากนี้ ยังเคยจบอันดับที่สองในฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2001 และเอเชียนคัพ 2019 ทีมชาติญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในสามทีมจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (ร่วมกับออสเตรเลีย และ ซาอุดีอาระเบีย) ที่เคยเข้าชิงชนะเลิศในรายการแข่งขันฟุตบอลชายของฟีฟ่า

การก้าวกระโดดของฟุตบอลญี่ปุ่นในระยะเวลาอันสั้นเป็นต้นแบบที่ดีในการพัฒนาฟุตบอล[9][10] ญี่ปุ่นมีคู่ปรับร่วมทวีปหลายทีม ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้, เกาหลีเหนือ, จีน, ออสเตรเลีย, อิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย

ญี่ปุ่นเป็นชาติแรกจากนอกอเมริกาที่ได้เข้าร่วมแข่งขันโกปาอาเมริกา โดยได้รับเชิญเข้าร่วมแข่งขันในปี 1999, 2011, 2015 และ 2019 อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมแข่งขันรายการนี้เพียงสองครั้งในปี 1999 และ 2019[11]

ประวัติ

แก้

ยุคก่อนสงคราม (ทศวรรษ 1910–1930)

แก้

นัดการแข่งขันระหว่างประเทศครั้งแรกสุดของญี่ปุ่นเกิดขึ้นในกีฬาตะวันออกไกล 1917 ที่โตเกียว ซึ่งแข่งขันโดยทีมจากโรงเรียนมัธยมปลายโตเกียว แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีความโดดเด่นในด้านกีฬาว่ายน้ำ เบสบอล และกรีฑา แต่ทีมฟุตบอลกลับพ่ายแพ้ทั้งทีมสาธารณรัฐจีนและฟิลิปปินส์[12] อย่างไรก็ตาม เกมฟุตบอลได้มีบทบาทมากขึ้นในโรงเรียนญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1920[13] สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นก่อตั้งใน ค.ศ. 1921,[14] และเข้าร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่าในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1929[13]

ทีมชาติญี่ปุ่นทีมแรก "อย่างแท้จริง" (ซึ่งเกิดขึ้นจากกระแสต่อต้านการส่งทีมมหาวิทยาลัยเป็นตัวแทนของประเทศ) ลงสนามแข่งขันในกีฬาตะวันออกไกล 1930 พวกเขาเสมอกับจีนและคว้าแชมป์ร่วมกัน[13] ชิเงโยชิ ซูซูกิ ได้คุมทีมชาติลงเล่นในโอลิมปิกครั้งแรกในโอลิมปิกฤดูร้อน 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน[14] ญี่ปุ่นยังได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก 1938 รอบคัดเลือก แต่ทีมได้ถอนตัวออกไปก่อนนัดที่จะพบกับทีมชาติหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์[15]

หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองได้เริ่มขึ้น ญี่ปุ่นไม่ได้ลงเล่นเกมการแข่งขันระหว่างประเทศอีกเลย นอกเหนือไปจากนัดที่แข่งกับทีมแมนจูเรียและทีมอาณานิคมอื่น ๆ[13] นัดการแข่งขันสุดท้ายที่มีผลต่ออันดับอีโลในตอนนั้นคือนัดกระชับมิตรที่พบกับฟิลิปปินส์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940[16]

ในช่วงเดียวกันที่เกาหลีอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น มีนักฟุตบอลชาวเกาหลีหลายคนลงเล่นให้กับทีมชาติญี่ปุ่น อาทิ คิม ย็อง-ซิก (1936–40), คิม ซึง-กัน (1940) และ อี โย-ฮย็อง (1940)

ยุคหลังสงคราม (ทศวรรษ 1950–1980)

แก้
 
ญี่ปุ่นพบกับสโมสรเรซินเดการ์โดบาจากอาร์เจนตินาในเพรซิเดนท์คัพ 1981

หลังจบสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นกลับมาลงแข่งขันอีกครั้งในเอเชียนเกมส์ 1951 ที่ประเทศอินเดีย[16] พวกเขากลับมาเป็นสมาชิกของฟีฟ่าอีกครั้งใน ค.ศ. 1950 และเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก 1954 รอบคัดเลือก ซึ่งญี่ปุ่นแพ้เกาหลีใต้จนต้องตกรอบคัดเลือก ทำให้สองชาตินี้เริ่มเป็นคู่อริกัน[14] ต่อมาใน ค.ศ. 1954 ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย[13]

เดตต์มาร์ คราเมอร์เข้ารับตำแหน่งผู้ฝึกสอนทีมชาติญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1960 เขาคุมทีมเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายในโอลิมปิกฤดูร้อน 1964 ที่โตเกียว[17] ความสำเร็จแรกในระดับนานาชาติของญี่ปุ่นเกิดขึ้นในโอลิมปิกฤดูร้อน 1968 ที่เม็กซิโกซิตี ซึ่งญี่ปุ่นสามารถคว้าเหรียญทองแดงได้ แม้ว่าความสำเร็จครั้งนี้จะทำให้ฟุตบอลได้รับความนิยมในประเทศมากขึ้น แต่การขาดลีกฟุตบอลอาชีพเป็นปัญหาเรื้อรังที่ทำให้ทีมชาติญี่ปุ่นไม่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกยาวนานถึง 30 ปี[18] ญี่ปุ่นเกือบผ่านรอบคัดเลือกเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก 1986 แต่แพ้เกาหลีใต้ในนัดตัดสินจนต้องตกรอบไป

ญี่ปุ่นลงเล่นในเอเชียนคัพครั้งแรกใน ค.ศ. 1988 ซึ่งพวกเขาตกรอบแบ่งกลุ่มจากการเสมอกับอิหร่านและแพ้ให้กับเกาหลีใต้, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์

ปลายทศวรรษ 1980 เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงฟุตบอลในประเทศให้เข้าสู่ระบบอาชีพมากขึ้น ใน ค.ศ. 1986 สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นเปิดตัวระบบผู้เล่นไลเซนส์พิเศษซึ่งจำกัดผู้เล่นชาวต่างชาติที่ลงแข่งขันในลีกกึ่งอาชีพในประเทศ ต่อมาใน ค.ศ. 1988 และ 1989 มีการประชุมเพื่ออภิปรายถึงการจัดตั้งลีกฟุตบอลอาชีพเต็มรูปแบบในญี่ปุ่น[17]

ทศวรรษ 1990: เติบโต

แก้

ใน ค.ศ. 1991 ได้มีการยุบลีกกึ่งอาชีพ เจแปนซอกเกอร์ลีก และเตรียมจัดตั้งลีกอาชีพอย่างเจลีกขึ้นมาแทน เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ฟุตบอลในประเทศและศักยภาพของทีมชาติ ในปีถัดมา ญี่ปุ่นได้เจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนคัพ 1992 และชนะเลิศการแข่งขันรายการนี้เป็นครั้งแรกหลังจากที่เอาชนะซาอุดีอาระเบีย 1–0 ในนัดชิงชนะเลิศ เจลีกซึ่งเริ่มแข่งขันใน ค.ศ. 1993 ช่วยเพิ่มความน่าสนใจของฟุตบอลและช่วยให้ทีมชาติเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นพลาดโอกาสไปเล่นในรอบสุดท้ายของฟุตบอลโลก 1994 จากการเสมอกับอิรักในนัดสุดท้ายของรอบคัดเลือก โดยนัดนั้นถูกกล่าวขานว่าเป็น "โศกนาฏกรรมแห่งโดฮา" ต่อมาญี่ปุ่นต้องลงแข่งขันเพื่อป้องกันแชมป์ในเอเชียนคัพ 1996 แม้ว่าพวกเขาชนะทุกนัดในรอบแบ่งกลุ่ม แต่สุดท้ายก็ไปแพ้คูเวตในรอบก่อนรองชนะเลิศ 2–0

ญี่ปุ่นเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งแรกในปี 1998 โดยในสองนัดแรก พวกเขาแพ้อาร์เจนตินาและโครเอเชียด้วยผล 1–0 เหมือนกัน ก่อนที่จะแพ้จาเมกา 2–1 ในนัดสุดท้าย แม้ว่าจะแพ้รวดทุกนัด แต่ทีมก็ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจด้วยการแพ้ด้วยผลต่างเพียงนัดละลูกเท่านั้น

ทศวรรษ 2000

แก้
 
ญี่ปุ่นพบบราซิลที่ซิกนาลอีดูนาพาร์คที่ดอร์ทมุนท์ เยอรมนี ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006

ในเอเชียนคัพ 2000 ญี่ปุ่นคว้าแชมป์รายการนี้เป็นสมัยสองหลังจากที่เอาชนะซาอุดีอาระเบียในนัดชิงชนะเลิศ

สองปีถัดมา ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2002 ร่วมกับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นประเดิมสนามด้วยการเสมอกับเบลเยียม 2–2 ก่อนที่จะเอาชนะรัสเซีย 1–0 และตูนิเซีย 2–0 ผ่านเข้าสู่รอบแพ้คัดออกได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายหลังจากที่แพ้ตุรกีซึ่งจบอันดับที่สามในทัวร์นาเมนต์นั้น

ในเอเชียนคัพ 2004 ที่ประเทศจีน ญี่ปุ่นป้องกันแชมป์ได้สำเร็จแม้ว่าจะต้องพบกับอุปสรรคที่ยากลำบาก แม้ว่าจะถูกกดดันจากแฟนบอลจีนที่เป็นอริ แต่พวกเขาก็สามารถเอาชนะไทยและโอมานในรอบแบ่งกลุ่ม ก่อนที่จะเอาชนะจอร์แดนและบาห์เรน และเอาชนะเจ้าภาพอย่างจีนในนัดชิงชนะเลิศ 3–1

วันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 2005 ญี่ปุ่นผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายของฟุตบอลโลก 2006 ที่เยอรมนี ซึ่งเป็นการเข้าร่วมฟุตบอลโลกเป็นครั้งที่สามติดต่อกัน หลังจากที่พวกเขาเอาชนะเกาหลีเหนือในรอบคัดเลือกที่สนามกลาง 2–0 อย่างไรก็ตาม ในฟุตบอลโลกครั้งนั้น ญี่ปุ่นไม่สามารถผ่านเข้าสู่รอบแพ้คัดออกได้ พวกเขาแพ้ออสเตรเลีย 1–3, เสมอโครเอเชีย 0–0 และบราซิล 1–4

ในเอเชียนคัพ 2007 พวกเขาอยู่อันดับที่หนึ่งของกลุ่มเหนือเวียดนาม, กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่อมาพวกเขาเอาชนะการยิงลูกโทษเหนือออสเตรเลีย ก่อนที่จะแพ้ต่อซาอุดีอาระเบียในรอบรองชนะเลิศ และแพ้เกาหลีใต้ในนัดชิงอันดับที่สาม ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้

ทศวรรษ 2010

แก้
 
ญี่ปุ่นพบปารากวัยในปี 2008

ญี่ปุ่นทีมแรกนอกเหนือจากเจ้าภาพอย่างแอฟริกาใต้ที่ได้ผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายของฟุตบอลโลก 2010 หลังจากที่บุกเอาชนะอุซเบกิสถานในรอบคัดเลือกโซนเอเชีย รอบที่สี่ ต่อมาในการแข่งขันรอบสุดท้าย ญี่ปุ่นอยู่ในกลุ่มอี ร่วมกับเนเธอร์แลนด์, เดนมาร์ก และแคเมอรูน พวกเขาถูกคาดหวังน้อยมากเนื่องด้วยผลงานที่ไม่ดีในเกมกระชับมิตร[19] อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นประเดิมสนามฟุตบอลโลก 2010 ด้วยการเอาชนะแคเมอรูน 1–0 ก่อนที่จะแพ้เนเธอร์แลนด์ 0–1 และเอาชนะเดนมาร์กในนัดสุดท้าย 3–1 ผ่านเข้ารอบไปพบกับปารากวัย นี่เป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเข้าสู่รอบแพ้คัดออกในฟุตบอลโลกครั้งที่พวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าภาพ ญี่ปุ่นตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายด้วยการแพ้การยิงลูกโทษต่อปารากวัยหลังจากที่เสมอกันในเวลา 0–0 ญี่ปุ่นได้รับการชื่นชมจากผลงานในฟุตบอลโลกครั้งนั้น

หลังจบฟุตบอลโลก ทาเกชิ โอกาดะลาออกจากตำแหน่งผู้ฝึกสอน โดยมีอัลแบร์โต ซักเกโรนี อดีตผู้ฝึกสอนของยูเวนตุสและมิลาน เข้ารับตำแหน่งแทน ในช่วงแรก เขาสามารถคุมทีมเอาชนะกัวเตมาลา (2–1), ปารากวัย (1–0) และทีมใหญ่อย่างอาร์เจนตินา (1–0)

ในช่วงต้นปี 2011 ญี่ปุ่นเข้าร่วมแข่งขันเอเชียนคัพที่กาตาร์ โดยในวันที่ 29 มกราคม พวกเขาสามารถเอาชนะออสเตรเลีย 1–0 หลังต่อเวลาพิเศษในนัดชิงชนะเลิศ ทำให้ญี่ปุ่นคว้าแชมป์รายการนี้เป็นสมัยที่สี่และได้สิทธิ์ไปเล่นในฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2013[20]

ญี่ปุ่นเริ่มต้นเส้นทางสู่ฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิลด้วยการแข่งขันรอบคัดเลือกหลายนัด พวกเขามีช่วงเวลาที่ยากลำบากในนัดที่แพ้อุซเบกิสถานและจอร์แดน และเสมอกับออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม วันที่ 12 ตุลาคม ญี่ปุ่นสามารถเอาชนะฝรั่งเศสซึ่งเป็นทีมที่พวกเขาไม่เคยเอาชนะมาก่อนไปได้ 1–0 ญี่ปุ่นเป็นชาติแรก (นอกจากบราซิลที่เป็นเจ้าภาพ) ที่ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก 2014 หลังจากที่เสมอกับออสเตรเลีย 1–1

ญี่ปุ่นประเดิมการแข่งขันฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2013 ด้วยการแพ้บราซิล 3–0 และตกรอบหลังจากที่แพ้อิตาลี 3–4 แต่ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากแฟนบอล พวกเขาแพ้เม็กซิโกในนัดสุดท้าย 1–2 และจบอันดับที่สี่ของกลุ่มเอ หนึ่งเดือนถัดมา ญี่ปุ่นเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียตะวันออก 2013 พวกเขาเริ่มต้นด้วยการเสมอกับจีน 3–3 ก่อนที่จะเอาออสเตรเลีย 3–2 และเกาหลีใต้ 2–1 คว้าแชมป์รายการนี้ได้สำเร็จ ญี่ปุ่นทำผลงานในเกมกระชับมิตรก่อนฟุตบอลโลกได้ดี พวกเขาเสมอกับเนเธอร์แลนด์ 2–2 และชนะเบลเยียม 2–3 และยังชนะรวดอีกสามนัดเหนือไซปรัส, คอสตาริกา และแซมเบีย

ในฟุตบอลโลก 2014 ญี่ปุ่นอยู่ในกลุ่มซี ร่วมกับโกตดิวัวร์, กรีซ และโคลอมเบีย พวหเขาประเดิมสนามด้วยการแพ้โกตดิวัวร์ 2–1 แม้ว่าพวกเขาจะเป็นฝ่ายขึ้นนำก่อนก็ตาม นัดถัดมา พวกเขาเสมอกับกรีซ 0–0 ทำให้ในนัดสุดท้าย ญี่ปุ่นต้องชนะโคลอมเบียและกรีซต้องชนะโกตดิวัวร์ ญี่ปุ่นจึงจะผ่านเข้ารอบ เมื่อมาถึงนัดสุดท้าย กรีซเอาชนะโกตดิวัวร์ แต่ญี่ปุ่นแพ้โคลอมเบีย 4–1 ทำให้ญี่ปุ่นต้องตกรอบ อัลแบร์โต ซักเกโรนีลาออกจากตำแหน่งผู้ฝึกสอนหลังจบทัวร์นาเมนต์ และในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2014 ฆาบิเอร์ อากีเร อดีตผู้ฝึกสอนอัสปัญญ็อลและทีมชาติเม็กซิโก เข้ามาคุมทีมชาติญี่ปุ่นและประเดิมการคุมทีมนัดแรกด้วยการแพ้อุรุกวัย 0–2

อากีเรปรับเปลี่ยนแผนการเล่นเป็น 4–3–3 โดยพักผู้เล่นตัวหลักเดิมและเรียกตัวผู้เล่นที่ดีที่สุดจากเจลีกอีกหลายคน ญี่ปุ่นเสมอกับเวเนซุเอลา 2–2 และชนะจาเมกา 1–0 ก่อนที่จะแพ้บราซิลไปถึง 4–0 ซึ่งในนัดนั้น เนย์มาร์ทำคนเดียวสี่ประตู ต่อมาญี่ปุ่นได้เข้าร่วมแข่งขันเพื่อป้องกันแชมป์ในเอเชียนคัพ 2015 พวกเขาประเดิมสนามด้วยการเอาชนะปาเลสไตน์ 4–0 โดยได้ประตูจากยาซูฮิโตะ เอ็นโด, ชินจิ โอกาซากิ (ได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำนัด), เคสุเกะ ฮอนดะ (ลูกโทษ) และมายะ โยชิดะ นัดถัดมา พวกเขาเอาชนะอิรัก 1–0 และจอร์แดน 2–0 ทำให้พวกเขาจบอันดับที่หนึ่งของกลุ่มดีด้วยการมี 9 คะแนน ยิงได้ 7 ประตูและไม่เสียประตูเลย ต่อมาในรอบก่อนรองชนะเลิศ ญี่ปุ่นแพ้การยิงลูกโทษต่อสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หลังจากที่เสมอกัน 1–1 โดยฮอนดะและชินจิ คางาวะยิงลูกโทษพลาด การตกรอบของญี่ปุ่นในครั้งนี้เป็นผลงานที่แย่ที่สุดในรายการนี้ในรอบ 19 ปี

หลังเอเชียนคัพ อากีเรถูกไล่ออกเนื่องจากการทุจริตระหว่างดำรงตำแหน่ง เขาถูกแทนที่โดยวาฮิด ฮาลิลฮอดซิชในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2015 ต่อมาในฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก รอบที่ 3 ญี่ปุ่นประเดิมด้วยการแพ้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในบ้าน 1–2 ก่อนที่จะเก็บคะแนนได้จากการเจอกับอิรัก, ออสเตรเลีย และไทย โดยพวกเขาชนะ 5 และเสมอ 2 นัด วันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 2017 ญี่ปุ่นผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่รัสเซียหลังจากที่เอาชนะออสเตรเลียในบ้าน 2–0 นับเป็นการผ่านเข้ารอบไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นครั้งที่ 6 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นตัดสินใจปลดฮาลิลฮอดซิชออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 2018 ซึ่งเป็นเวลาเพียง 10 สัปดาห์ก่อนที่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจะเริ่มแข่งขัน ด้วยเหตุผลที่ว่าเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ฝึกสอนกับผู้เล่นและผลงานเกมกระชับมิตรที่ย่ำแย่ สมาคมฯ จึงได้แต่งตั้งประธานเทคนิกและผู้ฝึกสอนชาวญี่ปุ่น อากิระ นิชิโนะ ผู้เคยคุมทีมชาติญี่ปุ่นรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีลุยศึกโอลิมปิกฤดูร้อน 1996 เป็นผู้จัดการทีมคนใหม่แทน[21]

ญี่ปุ่นสร้างประวัติศาสตร์ในฟุตบอลโลก 2018 ด้วยการเอาชนะโคลอมเบีย 2–1 นับเป็นครั้งแรกที่ทีมจากเอเอฟซีสามารถเอาชนะทีมจากคอนเมบอลได้ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการ[22] นอกจากนี้ ยังเป็นชัยชนะนัดแรกของญี่ปุ่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ชาติสมาชิกยูฟ่าเป็นเจ้าภาพ ต่อมาในนัดที่สอง ญี่ปุ่นเสมอกับเซเนกัล 2–2 โดยญี่ปุ่นได้ประตูจากทากาชิ อินูอิและเคซูเกะ ฮนดะ[23] ญี่ปุ่นแพ้ในนัดสุดท้ายของกลุ่มเอชต่อโปแลนด์ 0–1[24] ทำให้ญี่ปุ่นกับเซเนกัลมีสี่คะแนนเท่ากัน แต่ญี่ปุ่นได้ผ่านเข้าสู่รอบแพ้คัดออกจากการที่พวกเขาได้รับใบเหลืองน้อยกว่า ญี่ปุ่นจึงกลายเป็นทีมแรกในฟุตบอลโลกที่ผ่านเข้ารอบด้วยกฎแฟร์เพลย์[25] อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงเกิดขึ้นในนัดที่ญี่ปุ่นพบโปแลนด์ แฟนบอลส่งเสียงโห่ใส่ผู้เล่นญี่ปุ่น ซึ่งเอาแต่จ่ายบอลไปมา ไม่ทำฟาล์ว และไม่พยายามขึ้นเกมเพื่อทำประตูในช่วงสิบนาทีสุดท้ายทั้งที่ผลตามหลังอยู่ ทั้งนี้เป็นเพราะพวกเขาทราบว่ามีความได้เปรียบเหนือกว่าเซเนกัลแล้ว[26][27][28] นัดนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับความอัปยศแห่งฆิฆอนในฟุตบอลโลก 1982 เนื่องด้วยการเล่นแบบเอื้อประโยชน์ที่คล้ายกัน[29] ญี่ปุ่นเป็นเพียงทีมเดียวจากเอเอฟซีที่ผ่านเข้าสู่รอบแพ้คัดออกในฟุตบอลโลกครั้งนั้น[30] โดยในรอบ 16 ทีมสุดท้ายที่พบกับเบลเยียม ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายขึ้นนำก่อน 2–0 อย่างเหนือความคาดหลาย พวกเขาได้ประตูจากเก็งกิ ฮารางูจิในนาทีที่ 48 และทากาชิ อินูอิในนาทีที่ 52 แต่กลับเสียถึง 3 ประตูในช่วงหลังจากนั้น ซึ่งประตูสุดท้ายที่เป็นประตูชัยของเบลเยียมได้จากการเล่นสวนกลับของทีมและการยิงประตูของนาแซร์ ชาดลีในนาทีที่ 94 นี่เป็นครั้งที่สามที่ญี่ปุ่นเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายและตกรอบนี้ แต่ก็ยังเป็นผลงานที่ดีที่สุดในฟุตบอลโลกของพวกเขา[31] ความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นต่อเบลเยียมนับเป็นครั้งแรกในรอบแพ้คัดออกของฟุตบอลโลกที่ทีมที่ขึ้นนำสองประตูก่อนกลับกลายเป็นฝ่ายแพ้ ครั้งล่าสุดที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เกิดขึ้นในรอบก่อนรองชนะเลิศในฟุตบอลโลก 1970 ที่อังกฤษพลิกแพ้เยอรมนีตะวันตก 2–3 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ[32][33] ผลงานของญี่ปุ่นในฟุตบอลโลกครั้งนี้ได้รับการชื่นชมจากแฟนบอล นักวิจารณ์และสื่อต่าง ๆ ในด้านการต่อสู้เพื่อจิตวิญญาณ โดยยกตัวอย่างนัดที่ชนะโคลอมเบีย, เสมอเซเนกัล และแพ้เบลเยียมอย่างสูสี[34]

 
ผู้เล่นของญี่ปุ่นในนัดที่พบกับอิหร่านในเอเชียนคัพ 2019

ญี่ปุ่นเกือบประสบความสำเร็จในเอเชียนคัพ 2019 พวกเขาจบอันดับที่หนึ่งของกลุ่มเอฟหลังจากที่เอาชนะเติร์กเมนิสถาน 3–2,[35] โอมาน 1–0[36] และอุซเบกิสถาน 2–1[37] อย่างไรก็ตาม ทีมถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเน้นเกมรับมากเกินไป สังเกตจากการที่พวกเขาชนะด้วยผลต่างเพียงประตูเดียวทั้งสามนัด เช่นเดียวกันกับในรอบแพ้คัดออก พวกเขาเอาชนะซาอุดีอาระเบียในรอบ 16 ทีมสุดท้ายและเอาชนะทีมม้ามืดอย่างเวียดนามในรอบก่อนรองชนะเลิศด้วยผล 1–0 ทั้งสองนัด[38][39] ต่อมาในรอบรองชนะเลิศ พวกเขาเอาชนะอิหร่านไปได้ 3–0 อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นไม่สามารถคว้าแชมป์เอเชียนคัพสมัยที่ห้ามาครองได้หลังจากที่พ่ายแพ้ต่อกาตาร์ในนัดชิงชนะเลิศ 1–3 ทำให้พวกเขาจบด้วยอันดับรองชนะเลิศของทัวร์นาเมนต์[40]

ญี่ปุ่นได้รับเชิญให้กับเข้าร่วมแข่งขันโกปาอาเมริกา 2019 ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองที่ทีมได้เข้าร่วมแข่งขันรายการนี้และทีมได้ส่งผู้เล่นดาวรุ่งลงแข่งขันเป็นส่วนใหญ่ พวกเขาอยู่ในกลุ่มซีร่วมกับอุรุกวัย, ชิลี และเอกวาดอร์ ญี่ปุ่นประเดิมสนามด้วยการแพ้ชิลี 0–4[41] แต่ในนัดถัดมา สามารถยันเสมอกับทีมยักษ์ใหญ่อย่างอุรุกวัย 2–2[42] ทำให้ในนัดสุดท้าย ญี่ปุ่นต้องชนะเอกวาดอร์เพื่อเข้ารอบแพ้คัดออก อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นทำได้เพียงเสมอ 1–1 ทำให้ต้องตกรอบด้วยผลต่างประตูที่แย่กว่าปารากวัย[43] หลังจบทัวร์นาเมนต์ ญี่ปุ่นแข่งเกมกระชับมิตรกับปารากวัยในบ้านและเอาชนะไปได้ 2–0

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 ญี่ปุ่นเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียตะวันออกที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ ผู้ฝึกสอน โมริยาซุ เลือกใช้ผู้เล่นดาวรุ่งและมีประสบการณ์น้อย ทำให้ญี่ปุ่นเอาชนะจีนและฮ่องกง แต่แพ้คู่ปรับอย่างเกาหลีใต้ ทำให้พวกเขาจบอันดับที่สองของรายการ

ในฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก ญี่ปุ่นอยู่กลุ่มเดียวกันกับพม่า, ทาจิกิสถาน, คีร์กีซสถาน และมองโกเลีย ญี่ปุ่นผ่านเข้าสู่รอบถัดไปได้อย่างง่ายดายหลังจากที่เอาชนะครบทุกทีมในกลุ่มโดยที่ไม่เสียประตูในเกมเยือนเลย

ทศวรรษ 2020

แก้

ญี่ปุ่นผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก 2022 ในวันที่ 24 มีนาคม 2022 หลังเอาชนะออสเตรเลีย 2–0 ด้วยสองประตูของคาโอรุ มิโตมะ ก่อนที่นัดสุดท้ายจะเสมอเวียดนาม 1–1 และจบรอบคัดเลือกรอบที่ 3 ด้วยการเป็นอันดับสองของกลุ่ม ต่อมา ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติเอเชียตะวันออก 2022 ในเดือนกรกฎาคมแทนประเทศจีน และพวกเขาชนะเลิศการแข่งขันด้วยผลงานชนะสองนัดและเสมออีกหนึ่งนัด คว้าแชมป์เป็นสมัยที่สอง[44]

ญี่ปุ่นลงเล่นฟุตบอลโลกนัดแรกในวันที่ 24 พฤศจิกายนปีเดียวกัน และทำผลงานยอดเยี่ยมด้วยการชนะเยอรมนี 2–1 พวกเขาผ่านเข้ารอบในฐานะแชมป์กลุ่มด้วยคะแนนที่เหนือกว่าสเปนและเยอรมนี ก่อนจะหยุดเส้นทางที่รอบ 16 ทีมสุดท้ายโดยแพ้การดวลจุดโทษโครเอเชีย ภายหลังเสมอกันด้วยผลประตู 1–1 แต่ทีมชุดนี้ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้สนับสนุนและสื่อ พวกเขาเอาชนะสเปนด้วยผลประตู 2–1 แม้จะครองบอลได้เพียง 18 เปอร์เซนต์ ซึ่งถือเป็นสถิติการครองบอลที่น้อยที่สุดของทีมที่ชนะนับตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1966[45] และสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติแรกของเอเชีย ที่ผ่านเข้ารอบในฐานะทีมแชมป์กลุ่มโดยที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าภาพ รวมทั้งเป็นทีมแรกของเอเชียที่ผ่านรอบแบ่งกลุ่มในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายสองสมัยติดต่อกัน

จากผลงานยอดเยี่ยมในฟุตบอลโลก 2022 และการชนะ 10 รวดใน ค.ศ. 2023 รวมทั้งการมีผู้เล่นฝีเท้าดีหลายรายในทีมชุดปัจจุบัน ทำให้ญี่ปุ่นได้รับการคาดหมายให้เป็นทีมเต็งในการแข่งขันเอเชียนคัพ 2023[46] แต่พวกเขากลับทำผลงานได้น่าผิดหวังที่สุดครั้งหนึ่ง แม้จะประเดิมรอบแบ่งกลุ่มด้วยการชนะเวียดนาม 4–2 แต่ต้องตกเป็นฝ่ายตามหลัง 1–2 ในช่วงครึ่งชั่วโมงแรกแม้เวียดนามจะขาดผู้เล่นตัวหลักหลายราย ในนัดต่อมา พวกเขาแพ้อิรักอย่างเหนือความคาดหมายด้วยผลประตู 1–2 ความพ่ายแพ้นัดนี้ถือเป็นความพ่ายแพ้ในรอบแบ่งกลุ่มครั้งแรกในรายการนี้นับตั้งแต่เอเชียนคัพ 1988 แม้ญี่ปุ่นจะเอาชนะอินโดนีเซียในนัดสุดท้ายด้วยผลประตู 3–1 แต่ก็ทำได้เพียงเข้ารอบเป็นอันดับสองตามหลังอิรัก ต่อมา พวกเขาเอาชนะบาห์เรนในรอบ 16 ทีมด้วยผลประตู 3–1 ผ่านเข้าไปพบอิหร่านในรอบก่อนรองชนะเลิศ ซึ่งทั้งสองทีมเคยพบกันในรอบรองชนะเลิศครั้งที่แล้ว ญี่ปุ่นเริ่มต้นได้อย่างยอดเยี่ยมและได้ประตูขึ้นนำในนาทีที่ 28 จากฮิเดมาซะ โมริตะ ทว่าในช่วงครึ่งเวลาหลังพวกเขาต้องตกเป็นรอง และไม่สามารถต้านทานการเล่นเกมรุกอันดุดันของอิหร่านได้ เกมจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น 1–2 โดยพวกเขาเสียจุดโทษในนาทีสุดท้ายในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ

การตกรอบครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นถูกวิจารณ์ถึงความล้มเหลว โดยพวกเขาแพ้ถึง 2 นัดในการแข่งขัน รวมถึงแพ้ในรอบแบ่งกลุ่ม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1988 และถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ฟุตบอลญี่ปุ่นได้เข้าสู่ระบบอาชีพ ทีมชุดนี้ยังถูกวิจารณ์ในด้านเกมรับที่เป็นจุดอ่อน ซึ่งพวกเขาเสียประตูทุกนัดในการแข่งขัน โดยเป็นผลมาจากการใช้งานผู้รักษาประตูหน้าใหม่อย่างไซออน ซูซูกิ รวมถึงการเล่มเกมรับที่ขาดความกระตือรือร้นและมีท่าทีตอบสนองที่ช้าเกินไปเมื่อทีมสูญเสียการครองบอล นอกจากนี้ การถอนตัวของผู้เล่นตัวหลักอย่างจุงยะ อิโต จากกรณีตกเป็นข่าวล่วงละเมิดทางเพศยังส่งผลต่อขวัญกำลังใจและผลงานของทีม การตกรอบดังกล่าวถือเป็นผลการแข่งขันที่ผิดคาดที่สุดของรายการ แม้อิหร่านจะได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในทีมชั้นนำของทวีป[47]

ผลงาน

แก้
ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก
ปี ผล อันดับ ลงเล่น ชนะ เสมอ* แพ้ ประตูได้ ประตูเสีย ลงเล่น ชนะ เสมอ* แพ้ ประตูได้ ประตูเสีย
  1930 ไม่ได้เข้าร่วม
  1934
  1938 ถอนตัว
  1950 ถูกห้ามเข้าร่วม
  1954 ไม่ผ่านรอบคัดเลือก 2 0 1 1 3 7
  1958 ไม่ได้เข้าร่วม
  1962 ไม่ผ่านรอบคัดเลือก 2 0 0 2 1 4
  1966 ไม่ได้เข้าร่วม
  1970 ไม่ผ่านรอบคัดเลือก 4 0 2 2 4 8
  1974 4 1 0 3 5 4
  1978 4 0 1 3 0 5
  1982 4 2 0 2 4 2
  1986 8 5 1 2 15 5
  1990 6 2 3 1 7 3
  1994 13 9 3 1 35 6
  1998 รอบแบ่งกลุ่ม 31st 3 0 0 3 1 4 15 9 5 1 51 12
   2002 รอบ 16 ทีม 9th 4 2 1 1 5 3
  2006 รอบแบ่งกลุ่ม 28th 3 0 1 2 2 7 12 11 0 1 25 5
  2010 รอบ 16 ทีม 9th 4 2 1 1 4 2 14 8 4 2 23 9
  2014 รอบแบ่งกลุ่ม 29th 3 0 1 2 2 6 14 8 3 3 30 8
  2018 รอบ 16 ทีม 15th 4 1 1 2 6 7 18 13 3 2 44 7
  2022 รอบ 16 ทีม 9th 4 2 1 1 5 4 18 15 1 2 58 6
    2026 ยังไม่ถึงกำหนดแข่งขัน กำลังแข่งขัน
    2030 ยังไม่ถึงกำหนดแข่งขัน
  2034
Total รอบ 16 ทีม 7/22 25 7 6 12 25 33 138 83 27 28 305 91