การบุกขึ้นเหนือของเกียงอุย

การบุกขึ้นเหนือของเกียงอุย (จีน: 姜維北伐) หมายถึงชุดการทัพ 11 ครั้งที่เป็นการบุกโดยรัฐจ๊กก๊กกระทำต่อรัฐอริวุยก๊กระหว่าง ค.ศ. 240 ถึง ค.ศ. 262 ในยุคสามก๊กของจีน การทัพนำโดยเกียงอุยขุนพลที่มีชื่อเสียงของจ๊กก๊ก ชุดการบุกขึ้นเหนือนี้แตกต่างจากการบุกขึ้นเหนือครั้งก่อน ๆ หน้าที่นำโดยจูกัดเหลียงซึ่งสามารถยึดเมืองปูเต๋าและอิมเป๋งเข้ามาในอาณาเขตของจ๊กก๊กได้ ในขณะที่การบุกขึ้นเหนือของเกียงอุยไม่เป็นที่ชื่นชอบในทั้งหมู่ทหารและหมู่พลเรือนในจ๊กก๊ก และยังแตกต่างจาการบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงซึ่งมักมีกำลังทหารจ๊กก๊ก 60,000 นายหรือบางครั้งถึง 100,000 นาย ในรขณะที่ของเกียงอุยมีมีกจำนวนน้อยกว่าไม่เกิน 30,000 นาย แม้ภายหลังการเสียชีวิตของบิฮุยซึ่งเกียงอุยได้เข้าควบคุมการบัญชาการทหาร ก่อนหน้านี้การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงประสบปัญหาด้านการขนส่งเสบียงสำหรับทัพขนาดใหญ่ เจียวอ้วนที่เป็นผู้สืบทอดอำนาจของจูกัดเหลียงเชื่อว่าภูมิประเทศที่เป็นแถบเทือกเขาของฮันต๋งเองที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้การทัพล้มเหลว จึงพยายามจะเปลี่ยนเส้นทางเดินทัพเป็นทางแม่น้ำฮั่นซุย บิฮุยซึ่งสิืบทอดอำนาจต่อจากเจียวอ้วนก็เห็นด้วยและไม่เคยยอมให้เปิดศึกใหญ่ที่ยกไปจากทางฮันต๋ง แต่เกียงอุยไม่สนใจข้อกังวลเหล่านี้และยังฮันต๋งเป็นฐานทัพหลักเช่นเดียวกับที่จูกัดเหลียงเคยทำ

การบุกขึ้นเหนือของเกียงอุย
ส่วนหนึ่งของ สงครามในยุคสามก๊ก
วันที่ค.ศ. 240–262
สถานที่
ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน (ส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลกานซู่และมณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน)
ผล วุยก๊กชนะ จ๊กก๊กล่าถอย
คู่สงคราม
จ๊กก๊ก
เผ่าตีและเกี๋ยง
วุยก๊ก
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
เกียงอุย
เตียวเอ๊ก
อองเป๋ง
เลียวฮัว
ม้าตง
เตียวหงี 
แฮหัวป๋า (หลัง ค.ศ. 249)
เอาเจ้
กุยห้วย
แฮหัวป๋า (ก่อน ค.ศ. 249)
ต้านท่าย
ชิจิด 
หลี เจี่ยน Surrendered
เตงงาย
อองเก๋ง โทษประหารชีวิต
สุมาหู
สุมาปอง
การบุกขึ้นเหนือของเกียงอุย
อักษรจีนตัวเต็ม姜維北伐
อักษรจีนตัวย่อ姜维北伐
การทัพบุกทุ่งราบกลางเก้าครั้ง
อักษรจีนตัวเต็ม九伐中原
อักษรจีนตัวย่อ九伐中原

ท้ายที่สุดในการทัพแต่ละครั้งก็ถูกยกเลิกไปเนื่องจากเสบียงอาหารไม่เพียงพอ ความสูญเสียอย่างหนักในสนามรบ หรือเหตุผลอื่น ๆ การทัพเหล่านี้เป็นการผลาญทรัพยากรที่มีจำกัดอยู่แล้วในจ๊กก๊ก และนำไปสู่การล่มสลายของจ๊กก๊กในปี ค.ศ. 263

ในวัฒนธรรมประชานิยมและในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 การทัพเหล่านี้ถูกเรียกถึงอย่างไม่ถูกต้องว่า "การทัพบุกทุ่งราบกลางเก้าครั้ง" (九伐中原 จิ่วฝาจง-ยฺเหวียน) การเรียกนี้ไม่ถูกต้องเพราะแท้จริงแล้วมีการทัพ 11 ครั้งแทนที่จะเป็น 9 ครั้ง และยุทธการเหล่านี้เกิดขึ้นในสถานที่ที่ห่างไกลจากทุ่งราบกลาง

โหมโรง

แก้

ในปี ค.ศ. 227 แผ่นดินจีนถูกแบ่งเป็น 3 รัฐที่สู้รบกัน ได้แก่ รัฐวุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊ก แต่ละรัฐมีความมุ่งหมายจะรวบรวมดินแดนของราชวงศ์ฮั่นที่ล่มสลายไปให้กลับรวมเป็นหนึ่งภายใต้การปกครองของตน ระหว่างปี ค.ศ. 228 และ ค.ศ. 234 จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของจ๊กก๊กได้นำการทัพ 5 ครั้งเข้าโจมตีวุยก๊ก แต่ท้ายที่สุดของการทัพแต่ละครั้งจบด้วยความไม่สำเร็จ และผลโดยภาพรวมก็อยู่ในภาวะคุมเชิงกัน จูกัดเหลียงป่วยเสียชีวิตระหว่างการทัพครั้งที่ 5 ในปี ค.ศ. 234 หลังการเสียชีวิตจองจูกัดเหลียง เจียวอ้วนและบิฮุยซึ่งสืบทอดอำนาจต่อจากจูกัดเหลียงในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของจ๊กก๊ก ได้ยุตินโยบายแข็งกร้าวต่อวุยก๊กแล้วหันไปมุ่งเน้นนโยบายภายในและการพัฒนาภายในมากขึ้น มีช่วงเวลาแห่งความสงบระหส่างจ๊กก๊กและวุยก๊กยาว 6 ปีจนถึงปี ค.ศ. 240 เมื่อเกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กตัดสินใจสานต่อปณิธานของจูกัดเหลียงและโจมตีวุยก๊กต่อไป

การบุกครั้งแรก (ค.ศ. 240)

แก้
ลำดับเหตุการณ์การบุกขึ้นเหนือของเกียงอุย[1]
ช่วงเวลาโดยประมาณ สถานที่ เหตุการณ์
240 นครติ้งซี มณฑลกานซู่ การบุกขึ้นเหนือครั้งแรก:
247 มณฑลกานซู่และมณฑลชิงไห่ การบุกขึ้นเหนือครั้งที่สอง:
  • ชนเผ่าเกี๋ยงก่อกบฏต่อต้านการปกครองของวุยก๊กในเมืองหลงเส, ลำอั๋น, กิมเสีย และเสเป๋ง
  • เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กไปสนับสนุนกบฏชนเผ่าเกี๋ยง
  • กุยห้วยและแฮหัวป๋าตีทัพเกียงอุยแตกพ่ายกลับไปและปราบปรามกบฏชนเผ่าเกี๋ยง
248 มณฑลกานซู่, มณฑลชิงไห่ และมองโกเลียใน
  • กุยห้วยปราบกบฏชนเผ่าเกี๋ยงภายใต้การนำของเอ๋อเจอไซและจื้ออู๋ไต้ในอำเภอเหอกวาน, ไป๋ถู่ และหลงอี๋
  • การบุกขึ้นเหนือครั้งที่ 3: เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กมาสนับสนุนจื้ออู๋ไต้ โดยให้เลียวฮัวอยู่รักษาเขาเฉิงจ้ง เมื่อกุยห้วยเข้าโจมตีเลียวฮัว เกียงอุยจึงต้องถอยกลับมาช่วยเลียวฮัวและล้มเหลวในการสมทบกับจื้ออู๋ไต้
6 ก.พ. – 1 มี.ค. 249 แฮหัวป๋าแปรพักตร์ไปเข้าด้วยจ๊กก๊กหลังอุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลงเมื่อวันที่ 5 ก.พ.
ป. ก.ย. – พ.ย. 249 มณฑลกานซู่, มณฑลฉ่านซี และมณฑลเสฉวน การบุกขึ้นเหนือครั้งที่สี่:
  • เกียงอุยโจมตีมณฑลยงจิ๋วและสร้างป้อมปราการ 2 แห่งที่เขาก๊กสัน
  • ต้านท่าย, ชิจิด และเตงงายยึดป้อมปราการ 2 แห่งที่ก๊กสัน
  • เกียงอุยแสร้งถอยทัพและส่งเลียวฮัวไปโจมตีเตงงายที่ไป๋ฉุ่ยและเบี่ยงเบนความสนใจ เตงงายรู้ว่าแท้จริงแล้วเกียงอุยมีเป้าหมายจะตีเถาเฉิงจึงส่งกำลังไปเสริมที่เถาเฉิง เกียงอุยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากถอยทัพ
250 มณฑลชิงไห่ การบุกขึ้นเหนือครั้งที่ห้า: เกียงอุยโจมตีเมืองเสป๋งและล่าถอยหลังยึดไม่สำเร็จ
16 ก.พ. – 17 มี.ค. 253 นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน บิฮุยถูกลอบสังหารโดยกัว ซิวที่เป็นผู้แปรพักตร์จากวุยก๊ก
14 มิ.ย. – 9 ก.ย. 253 นครเหอเฝย์ มณฑลอานฮุย ยุทธการที่หับป๋า: เตียวเต๊กป้องกันหับป๋าจากการโจมตีของจูกัดเก๊กได้สำเร็จ
ตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกานซู่ การบุกขึ้นเหนือครั้งที่หก:
2 – 31 ก.ค. 254 ตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกานซู่ การบุกขึ้นเหนือครั้งที่เจ็ด:
  • เกียงอุยโจมตีเมืองหลงเส
  • หลี เจี่ยนแปรพักตร์และยอมยกเต๊กโตเสียให้จ๊กก๊ก
  • ยุทธการที่อำเภอซงบู๋ก๋วน: เตียวหงีและชิจิดถูกสังหารในที่รบ
  • ทัพจ๊กก๊กยึดเต๊กโตเสีย, เหอกวาน และหลิมเอีย แล้วกวาดต้อนราษฎรไปยังอาณาเขตของจ๊กก๊ก
18 ก.ย. – 11 พ.ย. 255 ตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกานซู่ การบุกขึ้นเหนือครั้งที่แปด: ยุทธการที่เต๊กโตเสีย
8 ส.ค. – 6 ก.ย. 256 ตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกานซู่ การบุกขึ้นเหนือครั้งที่เก้า: เตงงายขับไล่การรุกรานที่นำโดยเกียงอุย
ป. มิ.ย. 257 – มี.ค./เม.ย. 258 อำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย กบฏจูกัดเอี๋ยน: จูกัดเอี๋ยนเริ่มก่อกบฏต่อวุยก๊กในฉิวฉุนโดยได้รับการสนับสนุนจากง่อก๊ก แต่ในที่สุดกบฏก็ถูกทัพวุยก๊กปราบปราม
มณฑลกานซู่และมณฑลฉ่านซี การบุกขึ้นเหนือครั้งที่สิบ: เกียงอุยโจมตีกองทหารรักษาการณ์ของวุยก๊กใกล้อำเภอเตียงเสีย สุมาปองและเตงงายนำทหารเข้าล้อมเกียงอุยแต่ไม่ยกเข้ารบ เกียงอุยล่าถอยไปหลังทราบข่าวว่ากบฏจูกัดเอี๋ยนล้มเหลว
30 ต.ค. – 28 พ.ย. 262 ตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกานซู่ การบุกขึ้นเหนือครั้งที่สิบเอ็ด: เตงงายรบชนะเกียงอุยที่อำเภอโหวเหอ เกียงอุยล่าถอยไปยังท่าจง

ในปี ค.ศ. 240 เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กเข้าโจมตีเมืองหลงเส (隴西郡 หล่งซี-จฺวิ้น) ซึ่งอยู่ในอาณาเขตของวุยก๊ก กุยห้วยขุนพลวุยก๊กจึงนำทัพเข้าโจมตีข้าศึกและขับไล่ไปถึงอาณาเขตของชนเผ่าเกี๋ยง (羌 เชียง) เกียงอุยนำกำลังล่าถอยกลับจ๊กก๊ก ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น กุยห้วยเข้าโจมตีชนเผ่าเกี๋ยงที่นำโดยปีต๋อง (迷當 หมีตาง) และเอาชนะได้ ตระกูลชนเผ่าตี มากกว่า 3,000 ตระกูลยอมสวามิภักดิ์ต่อกุยห้วย กุยห้วยให้ย้ายทั้งหมดไปอยู่ภูมิภาคกวนต๋ง (關中 กวานจง; ปัจจุบันคือตอนกลางของมณฑลฉ่านซี)[สามก๊กจี่ 1]

การบุกครั้งที่สอง (ค.ศ. 247)

แก้

ในปี ค.ศ. 247 ชนเผ่าเกี๋ยงนำโดยโงโห (餓何 เอ้อเหอ), เสียวกั้ว (燒戈 เชาเกอ)[a] ฝาถง (伐同), เอ๋อเจอไซ (蛾遮塞) และคนอื่น ๆ เริ่มก่อกบฏต่อวุยก๊กในสี่เมืองคือหลงเส (隴西 หล่งซี; ปัจจุบันอยู่บริเวณนครติ้งซี มณฑลกานซู่), ลำอั๋น (南安 หนานอาน; ปัจจุบันอยู่บริเวณอำเภออู่ชาน มณฑลกานซู่), กิมเสีย (金城 จินเฉิง; ปัจจุบันอยู่บริเวณนครหลานโจว มณฑลกานซู่) และเสเป๋ง (西平 ซีผิง; ปัจจุบันอยู่บริเวณนครซีนิง มณฑลชิงไห่) เข้าโจมตีหลายเมืองและหลายอำเภอในพื้นที่ และเรียกร้องให้ทัพจ๊กก๊กมาช่วยสนับสนุน[สามก๊กจี่ 2]

ไป๋หู่เหวิน (白虎文) และจื้ออู๋ไต้ (治無戴) ประมุขชนเผ่าที่มีอิทธิพล 2 คนในมณฑลเลียงจิ๋วตอบรับร่วมการก่อกบฏต่อวุยก๊ก เมื่อเกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กไปยังมณฑลเลียงจิ๋วเพื่อสนับสนุนกบฏชาวเกี๋ยง ไป๋หู่เหวินและจื้ออู๋ไต้ก็เข้าด้วยกับเกียงอุย[จือจื้อทงเจี้ยน 1]

ราชสำนักวุยก๊กมีคำสั่งให้แฮหัวป๋านำกองกำลังไปรักษาการณ์ที่ด้านข้าง เมื่อกุยห้วยนำกองทัพมายังเต๊กโตเสีย (狄道 ตี๋เต้า; อยู่บริเวณอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ที่ปรึกษาของกุยห้วยแนะนำว่าควรเข้าโจมตีอำเภอเปาสิว (枹罕縣 ฝูห่านเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ในอำเภอหลินเซี่ย มณฑลกานซู่) และสยบเผ่าเกี๋ยงก่อนที่จะจัดการกับทัพจ๊กก๊กที่รุกเข้ามา กุยห้วยคาดการณ์ว่าเกียงอุยจะโจมตีที่ตั้งของแฮหัวป๋า จึงมุ่งลงใต้ไปเสริมกำลังให้แฮหัวป๋า เกียงอุยเข้าโจมตีแฮหัวป๋าที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าซุย (洮水 เถาฉุ่ย) ตามที่กุยห้วยคาดไว้ แต่เกียงอุยก็ต้องล่าถอยเมื่อกุยห้วยนำกำลังเสริมมาถึง จากนั้นกุยห้วยจึงยกเข้าโจมตีกบฏเผ่าเกี๋ยง สังหารโงโหและเสียวกั้ว และบีบให้ทัพตระกูลชนเผ่าเกี๋ยงหลายพันนายยอมจำนน[สามก๊กจี่ 3][สามก๊กจี่ 4]

การบุกครั้งที่สาม (ค.ศ. 248)

แก้

ในปี ค.ศ. 248 เอ๋อเจอไซ (蛾遮塞) และกบฏชนเผ่าเกี๋ยงก่อกบฏยึดป้อมปราการในอำเภอเหอกวาน (河關; ในบริเวณใกล้เคียงกับนครติ้งซี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และอำเภอไป๋ถู่ (白土; ในอำเภอหมินเหอ มณฑลชิงไห่ในปัจจุบัน) และใช้ในการป้องกันทัพวุยก๊กที่ยกข้ามแม่น้ำเจ้าซุย (洮水 เถาฉุ่ย) กุยห้วยแสร้งทำเป็นว่ากำลังจะเข้าโจมตีจากต้นน้ำ แต่แท้จริงแล้วลอบสั่งกองกำลังให้ข้ามแม่น้ำที่ปลายน้ำเพื่อเข้าโจมตีไป๋ถู่ การโจมตีสำเร็จและฝ่ายกบฏถูกตีแตกพ่าย จื้ออู๋ไต้ (治無戴) นำทัพชนเผ่าของตนเข้าโจมตีเมืองอู่เวย์ (武威郡 อู่เวย์จฺวิ้น) โดยให้ครอบครัวยังอยู่ที่เมืองซีไห่ (西海郡 ซีไห่จฺวิ้น; ใกล้กับแอ่งทะเลสาบจฺวีเหยียน มองโกเลียใน) เมื่อกุยห้วยทราบเรื่องนี้จึงนำกองกำลังเข้าโจมตีเมืองซีไห่ แต่ก็พบเข้ากับทัพของจื้ออู๋ไต้ซึ่งกำลังยกกลับจากเมืองอู่เวย์ สองทัพปะทะบนทางเหนือของอำเภอหลงอี๋ (龍夷縣 หลงอี๋เซี่ยน; ทางตะวันตกของอำเภอหฺวาง-ยฺเหวียน มณฑลชิงไห่ในปัจจุบัน) ทัพวุยก๊กได้รับชนะและทัพของจื้ออู่ต้านล่าถอย[สามก๊กจี่ 5]

เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กจากเซ็กเอ๋ง (石營 ฉืออิ๋ง; อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอซีเหอ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ไปยังเฉียงชฺวาน (彊川; ทางตะวันตกของอำเภอหลินถาน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เพื่อจะสมทบกับทัพจื้ออู๋ไต้ที่กำลังล่าถอย โดยเกียงอุยให้เลียวฮัวอยู่รักษาเขาเฉิงจ้ง (成重山 เฉิงจ้งชาน; อยู่ทางตะวันตกของอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เพื่อสร้างป้อมปราการ รวบรวมกำลังชาวเกี๋ยงที่เหลืออยู่ และคุมตัวไว้เป็นตัวประกันในป้อม เมื่อกุยห้วยทราบเรื่องที่เกียงอุยนำทัพมา กุยห้วยต้องการจะแบ่งทัพของตนออกเป็น 2 กองเพื่อโจมตีข้าศึก แต่เหล่านายทหารของกุยห้วยมีความเห็นที่แตกต่างออกไป โดยคาดว่าเกียงอุยจะมุ่งหน้าไปทางตะวันตกเพื่อสมทบกับจื้ออู๋ไต้และรวมกำลังเข้าด้วยกัน ในขณะที่เลียวฮัวยังคงอยู่ป้องกันฐานที่มั่นของจ๊กก๊กที่เขาเฉิงจ้ง หากแบ่งทัพออกเป็น 2 ส่วน พลังโจมตีจะลดลงอย่างมากและอาจจบลงด้วยสถานการณ์ที่ไม่อาจต้านเกียงอุยหรือยึดฐานที่มั่นของเลียวฮัวได้ เหล่านายทหารจึงโน้มน้าวกุยห้วยให้มุ่งเน้นไปทีการบุกไปทางตะวันตกเพื่อโจมตีเกียงอุยและจื้ออู๋ไต้แยกกันก่อนที่ทั้งคู่จะเข้าสมทบกันได้[สามก๊กจี่ 6]

กุยห้วยยืนกรานจะใช้แผนแรกโดยกล่าวว่า "หากเราโจมตีเลียวฮัว จะทำให้ข้าศึกที่ไม่ทันตั้งตัวได้ เกียงอุยจะต้องหันกลับมาช่วยเลียวฮัวอย่างแน่นอน เมื่อถึงเวลาที่เกียงอุยกลับมาถึง เราก็เอาชนะเลียวฮัวได้แล้ว ทำเช่นนี้แล้วจะทำให้เกียงอุยและทหารเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางไป ๆ มา ๆ หากเกียงอุยไม่พบกับพวกอนารยชนแล้ว พวกอนารยชนก็จะล่าถอยไปเอง นี่เป็นแนวทางที่ดีที่สุด" กุยห้วยจึงมอบหมายให้แฮหัวป๋านำกองกำลังแยกไล่ตามเกียงอุยไปถึงท่าจง (沓中; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอโจวชฺวี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ขณะที่ตัวกุยห้วยนำอีกกองกำลังเข้าโจมตีเลียวฮัว เกียงอุยหันกลับมาช่วยเหลือเลียวฮัวจริง ๆ ตามที่กุยห้วยคาดการณ์ไว้ และล้มเหลวในการสมทบกับจื้ออู๋ไต้[สามก๊กจี่ 7]

การบุกครั้งที่สี่ (ค.ศ. 249)

แก้

ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 249 โจซองผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของวุยก๊กถูกปลดและถูกประหารชีวิตในเหตุการณ์รัฐประหารที่ก่อขึ้นโดยสุมาอี้ที่เป็นผู้สำเร็จราชการร่วมและเข้ากุมอำนาจของราชสำนักวุยก๊กอย่างสมบูรณ์ ในเวลานั้นแฮหัวป๋าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของแฮเฮาเหียนผู้ดำรงตำแหน่งขุนพลโจมตีภาคตะวันตก (征西將軍 เจิงซีเจียงจฺวิน) แฮเฮาเหียนเป็นญาติของทั้งแฮหัวป๋าและโจซอง หลังการเสียชีวิตของโจซอง สุมาอี้เรียกตัวแฮเฮาเหียนกลับมายังนครหลวงลกเอี๋ยง แล้วให้กุยห้วยมาดำรงตำแหน่งแทน กุยห้วยจึงกลายเป็นผู้บังคับบัญชาคนใหม่ของแฮหัวป๋า แฮหัวป๋าไม่ถูกกันกับกุยห้วยมาโดยตลอดจึงกลัวว่าตนจะมีชะตากรรมเหมือนโจซอง แฮหัวป๋าจึงหนีและแปรพักตร์ไปเข้าด้วยจ๊กก๊ก[สามก๊กจี่ 8][จือจื้อทงเจี้ยน 2]

ในฤดูใบไม้ร่วง เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กโจมตีมณฑลยงจิ๋วในอาณาเขตของวุยก๊ก ให้สร้างป้อมปราการสองแห่งที่เขาก๊กสัน (麴山 ชฺวีชาน; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอหมิน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และสั่งให้นายทหารกุอั๋น (句安 โกว อาน) และลิหิม (李歆 หลี่ ซิน) อยู่รักษาทั้งสองป้อม เกียงอุยยังให้ติดต่อกับชนเผ่าเกี๋ยงและขอให้ช่วยคุกคามเมืองต่าง ๆ ในมณฑลยงจิ๋ว กุยห้วยปรึกษากับต้านท่ายข้าหลวงมณฑลยงจิ๋วถึงวิธีการรับมือการบุกของจ๊กก๊ก ต้านท่ายกล่าวว่า "ป้อมปราการที่ก๊กสันคงมีการป้องกันเป็นอย่างดี แต่เส้นทางที่นำไปสู่จ๊กนั้นยากแก่การสัญจร ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการเสบียงที่มีปริมาณเพียงพอ เผ่าเกี๋ยงก็กังวลเรื่องจุดอ่อนนี้ของทัพจ๊ก พวกเขาจึงอาจไม่เต็มใจช่วยจ๊ก หากเราล้อมป้อมปราการและเข้าโจมตี เราจะสามารถเข้ายึดได้โดยง่าย แม้ว่าเมื่อกำลังเสริมของจ๊กมาถึง ภูมิประเทศเทือกเขาอันอันตรายก็จะทำให้พวกเขาหมดแรง"[จือจื้อทงเจี้ยน 3][สามก๊กจี่ 9]

กุยห้วยจึงสั่งให้ต้านท่าย ชิจิด และเตงงายนำทัพวุยก๊กเข้าโจมตีป้อมปราการที่ก๊กสันและตัดทางเสบียงและน้ำ กุอั๋นและลิหิมนำทหารของตนไปยั่วยุเตงงายให้เข้าโจมตีพวกตน แต่เตงงายเพิกเฉย เมื่อเวลาผ่านไป เสบียงของทั้งสองป้อมปราการก็ค่อย ๆ หมด เกียงอุยนำกองกำลังของตนจากเขางิวเทาสัน (牛頭山 หนิวโถวชาน; อยู่ทางตะวันตกของเขตเจาฮฺว่า นครกว่าง-ยฺเหวียน มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) เพื่อไปเสริมกำลังให้ป้อมปราการ ระหว่างก็พบเข้ากับกองกำลังของต้านท่าย ต้านท่ายกล่าวว่า "พิชัยสงครามซุนจื่อกล่าวว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการชนะศึกคือการชนะโดยไม่ต้องรบ หากเรายึดเขางิวเทาสันได้ ทางถอยของเกียงอุยก็จะถูกปิดผนึก เราก็จะจับตัวได้โดยง่าย" ต้านท่ายจึงสั่งกองกำลังของตนให้สร้างป้อมปราการต้านทัพของเกียงอุยแต่ไม่ออกโจมตีข้าศึก เวลาเดียวกันต้านท่ายยังเขียนหนังสือไปถึงกุยห้วย ขอให้ช่วยโจมตีเขางิวเทาสัน กุยห้วยทำตามนั้นและนำกองกำลังข้ามแม่น้ำเจ้าซุยเตรียมเข้าตีเขางิวเทาสัน[สามก๊กจี่ 10][จือจื้อทงเจี้ยน 4]

หลังจากเกียงอุยล่าถอย กุอั๋นและลิหิมก็ถูกทอดทิ้งโดดเดี่ยวที่ป้อมปราการที่ก๊กสัน ทั้งคู่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมจำนนต่อข้าศึก[สามก๊กจี่ 11] จากนั้นกุยห้วยจึงนำกองกำลังไปทางตะวันตกเพื่อโจมตีชนเผ่าเกี๋ยงที่กำลังสับสน และบีบให้ชนเผ่าเกี๋ยงยอมจำนน[จือจื้อทงเจี้ยน 5] เตงงายเตือนกุยห้วยว่า "ข้าศึกไม่ได้ล่าถอยไปไกล พวกเขาอาจจะหันกลับมาโจมตีเราอีก เราควรแบ่งทัพของเราเผื่อพวกเขาโจมตีเราอีกครั้ง"[สามก๊กจี่ 12]

เตงงายยังคงรักษาการณ์อยู่ทางเหนือของไป๋ฉุ่ย (白水; ปัจจุบันคืออำเภอชิงชฺวาน มณฑลเสฉวน) สามวันต่อมา เกียงอุยส่งเลียวฮัวนำทัพเข้าใกล้ค่ายของเตงงายจากทางใต้ของไป๋ฉุ่ย เตงงายบอกกับเหล่านายทหารว่า "เกียงอุยหันกลับมาโจมตีเรา เรามีกำลังน้อย ตามหลักแล้วเราควรข้ามแม่น้ำและไม่สร้างสะพาน ข้าเห็นว่าเกียงอุยจะต้องส่งเลียวฮัวมาขัดขวางเราเพื่อบีบให้เรายังอยู่ที่นี่ ในขณะที่เกียงอุยเข้าโจมตีเถาเฉิง (洮城; อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอหมิน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) จากทางตะวันออก" เถาเฉิงตั้งอยู่ทางเหนือของแม่น้ำและห่างจากที่ตั้งของเตงงายราว 60 ลี้ เตงงายแบ่งกองกำลังให้เดินทัพตลอดคืนไปยังเถาเฉิงเพื่อป้องกันป้อมปราการ เกียงอุยข้ามแม่น้ำมาโจมตีเถาเฉิงตามที่เตงงายคาดการณ์ไว้ แต่ยึดป้อมปราการไม่สำเร็จเพราะเตงงายได้เสริมกำลังป้องกันไว้แล้ว เกียงอุยเห็นว่าไม่มีทางเลือกอื่นจึงถอยทัพกลับจ๊กก๊ก[สามก๊กจี่ 13]

การบุกครั้งที่ห้า (ค.ศ. 250)

แก้

ในปี ค.ศ. 250 เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กโจมตีเมืองเสเป๋ง (西平郡 ซีผิงจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณนครซีหนิง มณฑลชิงไห่) เกียงอุยถอยทัพหลังจากยึดเมืองเสเป๋งไม่สำเร็จ[สามก๊กจี่ 14][จือจื้อทงเจี้ยน 6]

การบุกครั้งที่หก (ค.ศ. 253)

แก้

ในฤดูร้อนปี ค.ศ. 253 ง่อก๊กที่เป็นรัฐพันธมิตรของจ๊กก๊กยกทัพโจมตีชายแดนด้านตะวันออกของวุยก๊ก นำไปสู่ยุทธการที่หับป๋า

เกียงอุยภูมิใจในความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมและประเพณีของชนเผ่าเกี๋ยง (羌 เชียง) และชนเผ่าที่ไม่ใช่ชาวจีนฮั่นอื่น ๆ ที่อาศัยทางด้านตะวันตกของจีน เกียงอุยจึงมักคิดจะเกลี้ยกล่อมผู้คนชนเผ่าเหล่านี้ให้มาเป็นพันธมิตรกับจ๊กก๊กและยกทัพโจมตีประสานเข้าบุกอาณาเขตของวุยก๊กซึ่งอยู่ในมณฑลกานซู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม บิฮุยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งจ๊กก๊กไม่เห็นด้วยอย่างมากกับความกระหายสงครามของเกียงอุยที่มีต่อวุยก๊ก และพยายามควบคุมเกียงอุยโดยการจำกัดจำนวนกำลังพลที่เกียงอุยนำไปในแต่ละครั้งที่ออกศึกได้ไม่เกิน 10,000 นาย ครั้งหนึ่งบิฮุยเคยบอกเกียงอุยว่าควรหยุดการโจมตีวุยก๊กและมุ่งเน้นไปที่นโยบายส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองภายในจ๊กก๊ก[จือจื้อทงเจี้ยน 7]

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 253 บิฮุยถูกลอบสังหารโดยกัว ซิว (郭脩) ผู้แปรพักตร์จากวุยก๊กระหว่างงานเลี้ยงในวันแรกของเทศกาลขึ้นปีใหม่ หลังการเสียชีวิตของบิฮุย เกียงอุยได้อำนาจควบคุมทัพจ๊กก๊กมากขึ้นและสามารถทำตามที่ตนต้องการได้ ในฤดูร้อนของปีนั้น หลังทราบข่าวว่าง่อก๊กโจมตีวุยก๊กทางตะวันออก เกียงอุยจึงนำกำลังพลจ๊กก๊กหลายหมื่นนายออกจากเซ็กเอ๋ง (石營 ฉืออิ๋ง; อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอซีเหอ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เข้าล้อมเต๊กโตเสีย (狄道 ตี๋เต้า; อยู่บริเวณอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน)[สามก๊กจี่ 15][จือจื้อทงเจี้ยน 8]

สุมาสูผู้สำเร็จราชการของวุยก๊กเรียกงีสง (虞松 ยฺหวี ซง) มาถามความเห็นเรื่องวิธีจัดการการบุกของง่อก๊กทางตะวันออกและจ๊กก๊กทางตะวันตก งีสงวิเคราะห์สถานการณ์และกล่าวว่าการป้องกันที่หับป๋านั้นแข็งแกร่งเพียงพอที่จะต้านทานการโจมตีของง่อก๊กได้ระยะเวลาหนึ่ง และท้ายที่สุดทัพง่อก๊กก็จะถอนทัพกลับไปเมื่อหมดขวัญกำลังใจ งีสงแนะนำให้เปิดการโจมตีโต้กลับการบุกของจ๊กก๊กอย่างรวดเร็วไม่ให้ทันตั้งตัวและขับไล่ออกไป สุมาสูเห็นด้วยจึงสั่งให้กุยห้วยและต้านท่ายนำทัพวุยก๊กไปตั้งมั่นในภูมิภาคกวนต๋งเพื่อโจมตีทัพจ๊กก๊กและสลายวงล้อมที่เต๊กโตเสีย ต้านท้ายโจมตีทัพจ๊กก๊กแตกพ่ายที่ลั่วเหมิน (洛門; อยู่ในอำเภออู่ชาน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ในที่สุดเกียงอุยจึงถอยทัพทั้งหมดกลับไปจ๊กก๊กเมื่อเสบียงอาหารหมด[จือจื้อทงเจี้ยน 9]

การบุกครั้งที่เจ็ด (ค.ศ. 254)

แก้

ในฤดูร้อน ค.ศ. 254 เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กเข้าโจมตีเมืองหลงเสอีกครั้ง หลี เจี่ยน (李簡) ขุนนางของวุยก๊กที่รักษาเต๊กโตเสีย (狄道 ตี๋เต้า; อยู่บริเวณอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ยอมสวามิภักดิ์ต่อเกียงอุย เกียงอุยจึงรุกต่อไปเข้าโจมตีอำเภอซงบู๋ก๋วน (襄武縣 เซียงอู่เซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอหล่งซี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และเข้ารบกับชิจิดขุนพลวุยก๊ก ชิจิดพ่ายแพ้และถูกสังหาร แต่ทัพจ๊กก๊กก็สูญเสียขุนพลเตียวหงีไปในการรบ ทัพจ๊กก๊กที่ได้ชัยชนะเข้ายึดสามอำเภอคือเต๊กโตเสีย เหอกวาน (河關; ในบริเวณใกล้เคียงกับนครติ้งซี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และหลิมเอีย (臨洮 หลินเถา) และกวาดต้อนราษฎรผู้อาศัยในสามอำเภอให้ย้ายมาอยู่ภายในอาณาเขตของจ๊กก๊ก[สามก๊กจี่ 16][จือจื้อทงเจี้ยน 10][สามก๊กจี่ 17]

การบุกครั้งที่แปด (ค.ศ. 255)

แก้

ในปี ค.ศ. 255 เมื่อเกียงอุยเสนอแผนการไปยังราชสำนักจ๊กก๊กขอทำศึกกับวุยก๊กอีกครั้ง เตียวเอ๊กคัดค้านความคิดของเกียงอุยอย่างเปิดเผย และชี้ให้เห็นว่าจ๊กก๊กขาดแคลนทรัพยากรในการทำศึกและราษฎรก็เบื่อหน่ายกับสงคราม เกียงอุยเพิกเฉยต่อคำของเตียวเอ๊ก และนำทัพจ๊กก๊กที่ประกอบด้วยทหารหลายหมื่นนายโดยมีเตียวเอ๊กและแฮหัวป๋าเป็นรองแม่ทัพในการเข้มโจมตีวุยก๊ก ระหว่างวันที่ 18 กันยายนและ 17 ตุลาคม ทัพจ๊กก๊กมาถึงอำเภอเปาสิว (枹罕縣 ฝูห่านเซี่ยน; ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอหลินเซี่ย มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และเตรียมจะโจมตีเต๊กโตเสีย (狄道 ตี้เต้า; ปัจจุบันคืออำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่)[จือจื้อทงเจี้ยน 11][สามก๊กจี่ 18]

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น อองเก๋งข้าหลวงมณฑลยงจิ๋วที่วุยก๊กแต่งตั้ง รายงานเรื่องการบุกของจ๊กก๊กให้กับขุนพลต้านท่าย หลังกุยห้วยเสียชีวิตในปี ค.ศ. 255 ต้านท่ายได้สืบทอดตำแหน่งขุนพลโจมตีภาคตะวันตก (征西將軍 เจิงซีเจียงจฺวิน) ของกุยห้วย และในเวลานั้นได้รับผิดชอบดูแลราชการทหารในมณฑลยงจิ๋วและเลียงจิ๋ว[สามก๊กจี่ 19] อองเก๋งรายงานต้านท่ายว่าทัพจ๊กก๊กแบ่งออกเป็น 3 สายแยกกันโจมตีเข้ากิสาน (祁山 ฉีชาน; พื้นที่ภูเขาบริเวณอำเภอหลี่ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน), เซ็กเอ๋ง (石營 ฉืออิ๋ง; อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอซีเหอ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และเมืองกิมเสีย (金城郡 จินเฉิงจฺวิ้น; อยู่บริเวณอำเภอยฺหวีจง มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) จากนั้นอองเก๋งจึงขออนุญาตจากต้านท่ายให้ตนได้นำกองกำลังเข้าโจมตีข้าศึกที่อำเภอเปาสิวและเขากิสาน ต้านท่ายวิเคราะห์สถานการณ์และสรุปว่ากำลังของทัพจ๊กก๊กจะอ่อนแอลงหากแบ่งเป็น 3 สายเข้าโจมตีมณฑลเลียงจิ๋ว ต้านท่ายจึงตอบอองเก๋งตามที่วิเคราะห์และบอกอองเก๋งให้รอและสังเกตความเคลื่อนไหวของข้าศึกอย่างใกล้ชิดเสียก่อน จากนั้นจึงจะเปิดฉากการโจมตีข้าศึกอย่างเด็ดขาดจากด้านตะวันออกและตะวันตกในภายหลัง[สามก๊กจี่ 20][จือจื้อทงเจี้ยน 12]

ขณะที่ต้านท่ายและกำลังเสริมยกไปถึงตันฉอง (陳倉 เฉินชาง; ทางตะวันออกของนครเป่าจี มณฑลฉ่านซีในปัจุบบัน) อองเก๋งก็พ่ายแพ้ให้กับเกียงอุยที่ด่านกู้ (故關 กู้กวาน) และล่าถอยข้ามแม่น้ำเจ้าซุย (洮水 เถาฉุ่ย) ต้านท่ายกังวลว่าอองเก๋งอาจไม่สามารถรักษาจุดยุทธศาสตร์ของวุยก๊กที่เต๊กโตเสียได้ จึงนำพลยกไปหนุนช่วยเต๊กโตเสีย ด้านอองเก๋งปะทะกับเกียงอุยที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้่ำเจ้าซุยและพ่ายแพ้ อองเก๋งที่เหลือทหารประมาณ 10,000 นายล่าถอยไปเต๊กโตเสีย ส่วนทหารที่เหลือถูกตีแตกพ่ายกระจัดกระจายหรือถูกสังหาร[จือจื้อทงเจี้ยน 13][สามก๊กจี่ 21]

เกียงอุยถือโอกาสที่กำลังได้เปรียบเข้ากดดันและปิดล้อมเต๊กโตเสีย[สามก๊กจี่ 22] ในเวลานั้นเตียวเอ๊กกล่าวกับเกียงอุยว่า "ถึงเวลาต้องหยุดแล้ว เราไม่ควรรุดหน้าไปมากกว่านี้ มิฉะนั้นก็เสี่ยงที่เสียทุกสิ่งที่เราได้รับมาจนถึงบัดนี้ การรุดหน้าต่อไปก็เหมือนกับการเติมขาให้งู"[b][จือจื้อทงเจี้ยน 14]

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ต้านท่ายซึ่งอยู่ที่อำเภอเซียงเท้ง (上邽縣 ช่างกุยเซี่ยน; อยู่ในนครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) แยกกำลังพลและสั่งให้เดินทัพทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์ในพื้นที่[สามก๊กจี่ 23] ราชสำนักวุยก๊กตั้งให้เตงงายเป็นรักษาการขุนพลสงบภาคตะวันตก (安西將軍 อานตงเจียงจฺวิน) และสั่งให้นำกำลังพลมาช่วยต้านท่ายในการต้านการบุกของจ๊กก๊ก หลายวันต่อมา เสนาบดีกลาโหม (太尉 ไท่เว่ย์) สุมาหูก็นำกำลังเสริมมาหนุนช่วยต้านท่าย[จือจื้อทงเจี้ยน 15] กำลังเสริมของวุยก๊กนำโดยเตงงาย, เฮาหุน (胡奮 หู เฟิ่น) และหวาง มี่ (王秘) มาถึงอำเภอเซียงเท้งเพื่อเข้าร่วมทัพของต้านท่าย ทั้งหมดแยกทัพเป็น 3 สายและรุดหน้าไปยังเมืองหลงเส (隴西郡 หล่งซีจฺวิ้น)[สามก๊กจี่ 24] ก่อนหน้านี้ ต้านท่ายมีความเห็นไม่ลงรอยกับนายทหารคนอื่น ๆ ในการเรื่องการสลายวงล้อมที่เต๊กโตเสีย เตงงายและนายทหารคนอื่น ๆ กล่าวว่าขวัญกำลังใจของทหารจ๊กก๊กสูงมากหลังเอาชนะอองเก๋ง จึงควรล่าถอยและรักษาจุดยุทธศาสตร์ไว้ในขณะที่รอโอกาสโต้กลับ[สามก๊กจี่ 25] ต้านท่ายแย้งว่าพวกตนควรเปิดฉากการโจมตีอย่างรวดเร็วและเอาชนะทัพจ๊กก๊กให้เด็ดขาดก่อนที่ทัพจ๊กก๊กจะถือโอกาสที่ขวัญกำลังใจทหารสูงในการเข้ายึดอาณาเขตของวุยก๊กไปอีกและได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากชนเผ่าเกี๋ยงและเผ่าตี[สามก๊กจี่ 26][จือจื้อทงเจี้ยน 16]

จากนั้นต้านท่ายจึงนำกำลังพลข้ามเทือกเขาเกาเฉิง (高城嶺 เกาเฉิงหลิง; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเว่ย์-ยฺเหวียน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เดินทัพอย่างลับ ๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน แล้วมาถึงกลุ่มเนินเขาทางตะวันออกเฉียงใต้ของเต๊กโตเสีย ต้านท่ายสั่งให้ทหารบนเนินเขาจุดไฟและตีกลองศึกเสียงดังเพื่อส่งสัญญาณไปยังกองกำลังวุยก๊กในเต๊กโตเสียว่ากำลังเสริมมาถึงแล้ว กำลังทหารที่รักษาเต๊กโตเสียมีขวัญกำลังใจเพิ่มขึ้นตามที่ต้านท่ายคาดไว้ ในขณะที่ทัพจ๊กก๊กตกใจ เกียงอุยจึงสั่งให้กำลังพลล่าถอย ต้านท่ายยังสั่งทหารให้แพร่ข่าวลวงว่าพวกตนวางแผนจะตัดเส้นทางถอยของทัพจ๊กก๊ก เมื่อเกียงอุยได้ยินข่าวนี้ก็รู้สึกหวั่นเกรง[สามก๊กจี่ 27] จึงถอยทัพในวันที่ 11 พฤศจิกายน[c] การล้อมเต๊กโตเสียจึงถูกยกเลิกไป[จือจื้อทงเจี้ยน 17][สามก๊กจี่ 28][สามก๊กจี่ 29]

เมื่อต้านท่ายถอยทัพกลับมาเมืองหลงเส ต้านท่ายคาดการณ์ว่าเกียงอุยจะพยายามใช้ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาตลอดทางเพื่อวางกำลังซุ่มโจมตี ต้านท่ายจึงใช้เส้นทางอ้อมทางใต้เพื่อกลับไปหลงเส เกียงอุยได้ส่งทหารมาซุ่มจริง ๆ เป็นเวลา 3 วันตามที่ต้านท่ายคาดการณ์ไว้[สามก๊กจี่ 30] อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์เผย์ ซงจือให้ความเห็นว่าการที่เกียงอุยวางกำลังซุ่มโจมตีนั้นไม่สมเหตุสมผล เพราะเกียงอุยไม่รู้ว่ามีกำลังเสริมของวุยก๊กมาถึงขณะที่เกียงอุยกำลังล้อมเต๊กโตเสีย จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องวางกำลังซุ่มโจมตี[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 1]

หลังการปิดล้อมเต๊กโตเสียถูกยกเลิกไป อองเก๋งถอนหายใจอย่างโล่งอกว่า "เสบียงของเราคงอยู่ได้ไม่เกิน 10 วัน หากกำลังเสริมไม่มาถึงเมืองก็จะตกเป็นของข้าศึก และอาจเสียทั้งมณฑลไป" ต้านท่ายจัดกำลังพลและเสริมการป้องกันในพื้นที่ก่อนจะกลับไปกองกำลังรักษาการณ์ที่อำเภอเซียงเท้ง[จือจื้อทงเจี้ยน 18] เกียงอุยล่าถอยกลับไปยังจงถี (鐘堤; ทางใต้ของอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน)[จือจื้อทงเจี้ยน 19][สามก๊กจี่ 31]

การบุกครั้งที่เก้า (ค.ศ. 256)

แก้

ขณะที่เกียงอุยและทัพจ๊กก๊กล่าถอยไปจงถี (鐘堤; ทางใต้ของอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) นายทหารของวุยก๊กหลายคนเชื่อว่าข้าศึกอ่อนล้าแล้วและจะไม่ย้อนกลับมาโจมตีอีก[จือจื้อทงเจี้ยน 20]

เตงงายมีความเห็นที่แตกต่างออกไปโดยกล่าวว่า "ความพ่ายแพ้ที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าซุย (洮水 เถาฉุ่ย) ไม่ใช่การพ่ายแพ้เล็กน้อย การสูญเสียกำลังพลและนายทหาร การสูญเสียเสบียงอาหาร และการอพยพของผู้ลี้ภัยเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการทำลายล้างที่กำลังจะเกิดขึ้น ข้าจะอธิบายสถานการณ์ให้ฟัง ข้อแรก ข้าศึกถือโอกาสจากชัยชนะ ในขณะที่เราอ่อนแอจริง ๆ ข้อสอง ทัพข้าศึกได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดีและเตรียมพร้อมในการทำศึก ส่วนทัพเราเพิ่งเกณฑ์มาใหม่และยังไม่มีอาวุธครบครัน ข้อสาม ข้าศึกอ้อนล้าน้อยกว่าเราเพราะเราเดินทัพทางบกส่วนข้าศึกเดินทัพทางน้ำ ข้อสี่ ข้าศึกมุ่งเข้าโจมตีเพียงเต๊กโตเสีย ส่วนเรากระจายกำลังป้องกันใน 4 แห่งคือเต๊กโตเสีย, หลงเส, ลำอั๋น (南安 หนานอาน; อยู่บริเวณอำเภออู่ชาน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และเขากิสาน (祁山 ฉีชาน; พื้นที่ภูเขาบริเวณอำเภอหลี่ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ข้อห้า ลำอั๋นและหลงเสมีข้าวที่ผลิตโดยชาวเกี๋ยง และยังมีทุ่งข้าวสาลีอยู่เลยเขากิสาน ข้าศึกเจ้าเล่ห์จะต้องมาชิงข้าวสาลีเป็นแน่ "[จือจื้อทงเจี้ยน 21]

ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 256 เป็นไปตามที่เตงงายคาดการณ์ เกียงอุยยกทัพจากจงถีเข้าโจมตีเขากิสาน แต่ถูกต้านให้ถอยร่นโดยกำลังป้องกันที่เตงงายเตรียมไว้ล่วงหน้า จากนั้นเกียงอุยจึงมุ่งหน้าไปตำบลตองเต๋ง (董亭 ต่งถิง; ทางใต้ของอำเภออู่ชาน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ส่วนเตงงายตั้งมั่นอยู่ที่เขาบูเสียงสัน (武城山 อู่เฉิงชาน; อยู่ในเขตเฉินชาง นครเป่าจี มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) เกียงอุยพยายามเข้ายึดพื้นที่ภูเขาจากเตงงายแต่ถูกตีให้ถอยร่น คืนนั้นเกียงอุยพยายามข้ามแม่น้ำอุยโห (渭河 เว่ย์เหอ) เพื่อโจมตีอำเภอเซียงเท้ง (上邽; ปัจจุบันคือนครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่) เตงงายยกมาสกัดเกียงอุยที่หุบเขาตวนโกะ (段谷 ตฺว้านกู่; ทางตะวันตกเฉียงใต้ของนครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และเอาชนะเกียงอุยได้[จือจื้อทงเจี้ยน 22]

เตงงายได้เลื่อนยศเป็นขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตก (鎮西將軍 เจิ้นซีเจียงจฺวิน) และรับมอบหมายให้ดูแลราชการทหารในภูมิภาค เหตุผลที่เกียงอุยพ่ายแพ้ที่เซียงเท้งคือการที่เอาเจ้ขุนพลจ๊กก๊กไม่อาจนำกำลังเสริมมาช่วยเกียงอุยได้ทันเวลา ความล้มเหลวของเกียงอุยในการบุกขึ้นเหนือครั้งที่ 9 ทำให้จ๊กก๊กสูญเสียทั้งชีวิตทหารและทรัพยากรอย่างมาก ผู้คนในจ๊กก๊กไม่พอใจและเกลียดเกียงอุยมากขึ้น เกียงอุยจึงเขียนฎีกาถึงราชสำนักจ๊กก๊กขอลดขั้นตนเองเป็นการลงโทษ ราชสำนักอนุมัติและลดยศเกียงอุยลงเป็นขุนพลพิทักษ์ (衞將軍 เว่ย์เจียงจฺวิน) แต่ถึงเกียงอุยจะถูกลดขั้น ก็ยังได้รับอนุญาตให้รักษาการณ์ตำแหน่งมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน)[จือจื้อทงเจี้ยน 23][สามก๊กจี่ 32]

การบุกครั้งที่สิบ (ค.ศ. 257-258)

แก้

ในปี ค.ศ. 257 เมื่อจูกัดเอี๋ยนขุนพลวุยก๊กเริ่มก่อกบฏในฉิวฉุน (壽春 โช่วฉุน; อยู่บริเวณอำเภอโช่ว มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) ราชสำนักวุยก๊กระดมกำลังทหารจากภูมิภาคกวนต๋ง (關中 กวานจง) เพื่อปราบกบฏ เกียงอุยต้องการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้เพื่อเตรียมบุกวุยก๊กอีกครั้ง จึงนำทัพจ๊กก๊กผ่านหุบเขาล่อก๊ก (駱谷 ลั่วกู่) และเทือกเขาซินเฉีย (沈嶺 เฉินหลิ่ง) ซึ่งทั้งสองแห่งอยู่ทางใต้ของอำเภอโจวจื้อ มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน เพื่อเข้าโจมตีกองทหารประจำการของวุยก๊กใกล้กับอำเภอเตียงเสีย (長城 ฉางเฉิง) ในช่วงเวลานั้น กองทหารประจำการของวุยก๊กมีเสบียงที่สะสมไว้จำนวนมากแต่มีการป้องกันที่อ่อนแอ ทหารวุยก๊กเริ่มตื่นตระหนกเมื่อได้ยินว่าทัพจ๊กก๊กเข้ามาใกล้[สามก๊กจี่ 33]

สุมาปองขุนพลวุยก๊กนำกำลังทหารไปต้านข้าศึก ในขณะที่เตงงายนำทัพแยกจากหล่งโย่ว (隴右; อยู่บริเวณอำเภหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เพื่อสนับสนุนสุมาปอง เมื่อทัพวุยก๊กมาถึงเตียงเสีย เกียงอุยก็สั่งกำลังทหารให้ล่าถอยไปหมางฉุ่ย (芒水; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอโจวจื้อ มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และตั้งค่ายโดยหันหลังอิงเขา สุมาปองและเตงงายสั่งกำลังพลให้ล้อมค่ายของเกียงอุยแต่ไม่เข้าโจมตี เกียงอุยนำทหารไปยั่วยุให้ทัพวุยก๊กเข้าโจมตี แต่สุมาปองและเตงงายออกคำสั่งเคร่งครัดแก่กำลังพลให้เพิกเฉยต่อข้าศึก[สามก๊กจี่ 34][จือจื้อทงเจี้ยน 24]

ในปี ค.ศ. 258 หลังเกียงอุยได้ข่าวว่าทัพวุยก๊กปราบกบฏจูกัดเอี๋ยนได้สำเร็จ เกียงอุยจึงถอนทัพทั้งหมดกลับไปเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊ก เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กตั้งให้เกียงอุยกลับมามีตำแหน่งมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน)[สามก๊กจี่ 35][จือจื้อทงเจี้ยน 25]

ในช่วงเวลานั้น ราาษฎรจ๊กก๊กเห็นการศึกที่รบกับวุยก๊กปีแล้วปีเล่า ก็เริ่มเบื่อหน่ายกับการที่ต้องทนทุกข์จากผลกระทบของสงคราม เจาจิ๋วขุนนางจ๊กก๊กก็เขียน "โฉวกั๋วลุ่น" (仇國論; "วิจารณ์เรื่องรัฐอริ") งานเขียนเสียดสีที่วิพากย์วิจารณ์เรื่องความกระหายสงครามของเกียงอุย[จือจื้อทงเจี้ยน 26]

การบุกครั้งที่สิบเอ็ด (ค.ศ. 262)

แก้

ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 262 เมื่อเกียงอุยวางแผนจะเปิดฉากการรบกับวุยก๊กอีกครั้ง เลียวฮัวขุนพลจ๊กก๊กกล่าวว่า "'ผู้ที่ไม่ละเว้นจากการใช้กำลังทางทหารจะต้องจบลงด้วยการเผาตัวเอง' ข้าหมายถึงปั๋วเยฺว (ชื่อรองของเกียงอุย) เขาด้อยกว่าข้าศึกทั้งในด้านสติปัญญาและกำลังทหาร แต่ก็ยังคงโจมตีข้าศึกต่อไป จะคาดหวังชัยชนะได้อย่างไร"[จือจื้อทงเจี้ยน 27]

ในฤดูหนาว เกียงอุยเข้ายึดอำเภอเตียวเจี๋ยง (洮陽縣 เถาหยางเซี่ยน; อยู่ในอำเภอหลินเถา มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และโจมตีเตงงายขุนพลวุยก๊กที่อำเภอเฮาโห (侯和縣 โหวเหอเซี่ยน) แต่พ่ายแพ้ในยุทธการ เกียงอุยถอยทัพไปยังท่าจง (沓中; อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอโจวชฺวี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) และตั้งกองกำลังรักษาการณ์อยู่ทีนั่น[สามก๊กจี่ 36][จือจื้อทงเจี้ยน 28]

ผลสืบเนื่อง

แก้

ระหว่างที่เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กเข้าโจมตีวุยก๊กอย่างต่อเนื่องแทบทุกปี การทำศึกได้ผลาญทรัพยากรของจ๊กก๊กไปอย่างมาก แต่ไม่สามารถได้ผลตอบแทนที่สำคัญใด ๆ ได้ ในช่วงเวลาหลายปีหลังการเสียชีวิตของอัครมหาเสนาบดีตั๋งอุ๋นในปี ค.ศ. 246 ขันทีฮุยโฮขึ้นมามีอำนาจและควบคุมราชสำนักจ๊กก๊กโดยทางอ้อม ฮุยโฮต้องการปลดเกียงอุยออกจากอำนาจและตั้งเงียมอู (閻宇 เหยียน ยฺหวี่) ที่เป็นคนสนิทขึ้นแทน เมื่อเกียงอุยทราบเรื่องนี้จึงเขียนฎีกาถวายเล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊ก กล่าวโทษฮุยโฮในข้อหาฉ้อโกงและไม่ซื่อสัตย์ ทูลโน้มน้าวให้เล่าเสี้ยนมีรับสั่งให้ประหารชีวิตฮุยโฮ แต่เล่าเสี้ยนตรัสตอบว่า "ฮุยโฮเป็นเพียงข้าราชการผู้น้อย ในอดีตข้าไม่ชอบใจที่ตั๋งอุ๋นขัดแย้งกับเขา เหตุใดท่านจึงระแวงเขาเล่า" เกียงอุยเห็นว่าฮุยโฮมีผู้สนับสนุนจำนวนมากในราชสำนักและตระหนักได้ว่าตนกำลังหาเรื่องเดือนร้อนใส่ตัวเพราะประณามฮุยโฮอย่างเปิดเผย เกียงอุยจึงตัดสินใจถอยกลับไปท่าจงและวางกำลังรักษาการณ์ที่นั่นแทนที่จะกลับไปนครหลวงเซงโต๋[จือจื้อทงเจี้ยน 29][สามก๊กจี่ 37][อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 2]

ในปี ค.ศ. 262 สุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊กต้องการจะส่งทัพทำศึกเพื่อพิชิตจ๊กก๊ก ในปี ค.ศ. 263 ทัพวุยก๊ก 3 ทางนำโดยจงโฮย เตงงาย และจูกัดสูบุกจ๊กก๊ก ขณะที่เกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กไปต้านทานทัพของจงโฮยและจูกัดสูที่ด่านเกียมโก๊ะ (劍閣 เจี้ยนเก๋อ; อยู่ในอำเภอเจี้ยนเก๋อ มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) ทัพวุยก๊กนำโดยเตงงายเดินทัพผ่านเส้นทางอันตรายผ่านภูมิประเทศที่เป็นภูเขา เลี่ยงแนวป้องกันของจ๊กก๊ก แล้วไปปรากฏที่เซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊ก เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กที่ไม่ทันตั้งตัวจึงตัดสินพระทัยยอมจำนนต่อเตงงาย นำไปสู่การสิ้นสุดของรัฐจ๊กก๊ก

ในนิยายสามก๊ก

แก้

การบุกขึ้นเหนือของเกียงอุยมีเนื้อหาครอบคลุมตอนที่ 107 และ 109–115[d] ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนและระหว่างยุคสามก๊ก การบุกเหล่านี้ถูกเรียกด้วยคำเรียกว่า "การทัพบุกทุ่งราบกลางเก้าครั้ง" (九伐中原 จิ่วฝาจง-ยฺเหวียน) การเรียกนี้ไม่ถูกต้องเพราะแท้จริงแล้วมีการทัพ 11 ครั้งแทนที่จะเป็น 9 ครั้ง และยุทธการเหล่านี้เกิดขึ้นในสถานที่ที่ห่างไกลจากทุ่งราบกลาง

หมายเหตุ

แก้
  1. ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ในศตวรรษที่ 14 โงโหและเสียวกั้วถูกรวมเข้าเป็นตัวละครเดียวกันคือโงโหเสียวกั้ว ซึ่งมีบทบาทในตอนที่ 109 แต่ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 80 เรียกแยกเป็น "โงโห" และ "เสียวกั้ว" สองคนเหมือนกับในสามก๊กจี่
  2. วลีว่า "เติมขาให้งู" มาจากสำนวนจีนว่า ฮฺว่าเฉอเทียนจู๋ (畫蛇添足; "วาดงูเติมขา") เรื่องเล่าเกี่ยวกับสำนวนนี้เล่าว่ามีชายคนหนึ่งเข้าร่วมการแข่งขันวาดภาพงูและวาดเสร็จก่อนเวลาหมด แต่แทนที่จะส่งภาพที่ตนวาด ชายผู้นี้กลับตัดสินใจใช้เวลาที่เหลืออยู่ไปกับการวาดขา 4 ขาเพิ่มให้กับงู ในที่สุดจึงแพ้การแข่งขัน สำนวนนี้ใช้กล่าวถึงคนที่ทำเรื่องไม่จำเป็นและลงเอยที่การทำลายสิ่งที่ตั้งใจจะทำตั้งแต่แรก
  3. จือจื้อทงเจี้ยนบันทึกว่าเกียงอุยล่าถอยในวันเจี่ยเฉิน (甲辰) ในเดือน 9 ของศักราชเจงหงวน (正元 เจิ้ง-ยฺเหวียน) ปีที่ 2 ในรัชสมัยของโจมอ วันที่นี้เทียบได้กับวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 255 ในปฏิทินกริกอเรียน
  4. ครอบคลุมเนื้อหาในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 80-81 และ 83-85

อ้างอิง

แก้
อ้างอิงจากสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ)
  1. (正始元年,蜀將羌維出隴西。淮遂進軍,追至彊中,維退,遂討羌迷當等,案撫柔氐三千餘落,拔徙以實關中。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 26.
  2. (八年,隴西、南安、金城、西平諸羌餓何、燒戈、伐同、蛾遮塞等相結叛亂,攻圍城邑,南招蜀兵,涼州名胡治無戴復叛應之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 26.
  3. (討蜀護軍夏侯霸督諸軍屯為翅。淮軍始到狄道,議者僉謂宜先討定枹罕,內平惡羌,外折賊謀。淮策維必來攻霸,遂入渢中,轉南迎霸。維果攻為翅,會淮軍適至,維遁退。進討叛羌,斬餓何、燒戈,降服者萬餘落。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 26.
  4. (十年, ... 又出隴西、南安、金城界,與魏大將軍郭淮、夏侯霸等戰於洮西。胡王治無戴等舉部落降,維將還安處之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  5. (九年,遮塞等屯河關、白土故城,據河拒軍。淮見形上流,密於下渡兵據白土城,擊,大破之。治無戴圍武威,家屬留在西海。淮進軍趨西海,欲掩取其累重,會無戴折還,與戰於龍夷之北,破走之。令居惡虜在石頭山之西,當大道止,斷絕王使。淮還過討,大破之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 26.
  6. (姜維出石營,從彊川,乃西迎治無戴,留陰平太守廖化於成重山築城,斂破羌保質。淮欲分兵取之。諸將以維衆西接彊胡,化以據險,分軍兩持,兵勢轉弱,進不制維,退不拔化,非計也,不如合而俱西,及胡、蜀未接,絕其內外,此伐交之兵也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 26.
  7. (淮曰:「今往取化,出賊不意,維必狼顧。比維自致,足以定化,且使維疲於奔命。兵不遠西,而胡交自離,此一舉而兩全之策也。」乃別遣夏侯霸等追維於沓中,淮自率諸軍就攻化等。維果馳還救化,皆如淮計。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 26.
  8. (十二年春正月,魏誅大將軍曹爽等,右將軍夏侯霸來降。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 33.
  9. (... 泰曰:「麴城雖固,去蜀險遠,當須運糧。羌夷患維勞役,必未肯附。今圍而取之,可不血刃而拔其城;雖其有救,山道阻險,非行兵之地也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
  10. (淮從泰計,使泰率討蜀護軍徐質、南安太守鄧艾等進兵圍之,斷其運道及城外流水。安等挑戰,不許,將士困窘,分糧聚雪以稽日月。維果來救,出自牛頭山,與泰相對。泰曰:「兵法貴在不戰而屈人。今絕牛頭,維無反道,則我之禽也。」勑諸軍各堅壘勿與戰,遣使白淮,欲自南渡白水,循水而東,使淮趣牛頭,截其還路,可并取維,不惟安等而已。淮善其策,進率諸軍軍洮水。維懼,遁走,安等孤縣,遂皆降。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
  11. (秋,衞將軍姜維出攻雍州,不克而還。將軍句安、李韶降魏。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 33.
  12. (嘉平元年,與征西將軍郭淮拒蜀偏將軍姜維。維退,淮因西擊羌。艾曰:「賊去未遠,或能復還,宜分諸軍以備不虞。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  13. (於是留艾屯白水北。三日,維遣廖化自白水南向艾結營。艾謂諸將曰:「維今卒還,吾軍人少,法當來渡而不作橋。此維使化持吾,令不得還。維必自東襲取洮城。」洮城在水北,去艾屯六十里。艾即夜潛軍徑到,維果來渡,而艾先至據城,得以不敗。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  14. (十三年,姜維復出西平,不克而還。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 33.
  15. ([十六年]夏,維率將數萬人出石營,經董亭,圍南安,魏雍州刺史陳泰解圍至洛門,維糧盡退還。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  16. (明年,加督中外軍事。復出隴西,守狄道長李簡舉城降。進圍襄武,與魏將徐質交鋒,斬首破敵,魏軍敗退。維乘勝多所降下,拔河間、狄道、臨洮三縣民還, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  17. ([十七年]夏六月,維復率衆出隴西。冬,拔狄道、河間、臨洮三縣民,居于緜竹、繁縣。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 33.
  18. (時維等將數萬人至枹罕,趣狄道。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
  19. (淮薨,泰代為征西將軍,假節都督雍、涼諸軍事。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
  20. (後年,雍州刺史王經白泰,云姜維、夏侯霸欲三道向祁山、石營、金城,求進兵為翅,使涼州軍至枹罕,討蜀護軍向祁山。泰量賊勢終不能三道,且兵勢惡分,涼州未宜越境,報經:「審其定問,知所趣向,須東西勢合乃進。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
  21. (... 後十八年,復與車騎將軍夏侯霸等俱出狄道,大破魏雍州刺史王經於洮西,經衆死者數萬人。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  22. (泰勑經進屯狄道,須軍到,乃規取之。泰進軍陳倉。會經所統諸軍於故關與賊戰不利,經輒渡洮。泰以經不堅據狄道,必有它變。並遣五營在前,泰率諸軍繼之。經巳與維戰,大敗,以萬餘人還保狄道城,餘皆奔散。維乘勝圍狄道。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
  23. (泰軍上邽,分兵守要,晨夜進前。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
  24. (鄧艾、胡奮、王秘亦到,即與艾、祕等分為三軍,進到隴西。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
  25. (艾等以為「王經精卒破衂於西,賊衆大盛,乘勝之兵旣不可當,而將軍以烏合之卒,繼敗軍之後,將士失氣,隴右傾蕩。古人有言:『蝮蛇螫手,壯士解其腕。』孫子曰:『兵有所不擊,地有所不守。』蓋小有所失而大有所全故也。今隴右之害,過於蝮蛇,狄道之地,非徒不守之謂。姜維之兵,是所辟之鋒。不如割險自保,觀釁待弊,然後進救,此計之得者也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
  26. (泰曰:「姜維提輕兵深入, ... ,君等何言如此?」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
  27. (遂進軍度高城嶺,潛行,夜至狄道東南高山上,多舉烽火,鳴鼓角。狄道城中將士見救者至,皆憤踊。維始謂官救兵當須衆集乃發,而卒聞已至,謂有奇變宿謀,上下震懼。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
  28. (經退保狄道城,維圍之。魏征西將軍陳泰進兵解圍,維却住鍾題。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  29. (定軍潛行,卒出其南。維乃緣山突至,泰與交戰,維退還。涼州軍從金城南至沃于阪。泰與經共密期,當共向其還路,維等聞之,遂遁,城中將士得出。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
  30. (自軍之發隴西也,以山道深險,賊必設伏。泰詭從南道,維果三日施伏。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
  31. (經歎曰:「糧不至旬,向不應機,舉城屠裂,覆喪一州矣。」泰慰勞將士,前後遣還,更差軍守,並治城壘,還屯上邽。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
  32. (十九年春,就遷維為大將軍。更整勒戎馬,與鎮西大將軍胡濟期會上邽,濟失誓不至,故維為魏大將鄧艾所破於段谷,星散流離,死者甚衆。衆庶由是怨讟,而隴已西亦騷動不寧,維謝過引負,求自貶削。為後將軍,行大將軍事。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  33. (二十年,魏征東大將軍諸葛誕反於淮南,分關中兵東下。維欲乘虛向秦川,復率數萬人出駱谷,徑至沈嶺。時長城積穀甚多而守兵乃少,聞維方到,衆皆惶懼。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  34. (魏大將軍司馬望拒之,鄧艾亦自隴右,皆軍于長城。維前住芒水,皆倚山為營。望、艾傍渭堅圍,維數下挑戰,望、艾不應。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  35. (景耀元年,維聞誕破敗,乃還成都。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
  36. (五年春正月, ... 是歲,姜維復率衆出侯和,為鄧艾所破,還住沓中。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 33.
  37. (五年,維率衆出漢、侯和,為鄧艾所破,還住沓中。維本羈旅託國,累年攻戰,功績不立,而宦臣黃皓等弄權於內,右大將軍閻宇與皓恊比,而皓陰欲廢維樹宇。維亦疑之。故自危懼,不復還成都。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
อ้างอิงจากอรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้)
  1. (臣松之案:此傳云「謂救兵當須衆集,而卒聞已至,謂有奇變,上下震懼」,此則救至出於不意。若不知救至,何故伏兵深險乃經三日乎?設伏相伺,非不知之謂。此皆語之不通也。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในสามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
  2. (華陽國志曰;維惡黃皓恣擅,啟後主欲殺之。後主曰:「皓趨走小臣耳,往董允切齒,吾常恨之,君何足介意!」維見皓枝附葉連,懼於失言,遜辭而出。後主勑皓詣維陳謝。維說皓求沓中種麥,以避內逼爾。) อรรถาธิบายจากหฺวาหยางกั๋วจื้อในสามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
อ้างอิงจากจือจื้อทงเจี้ยน
  1. (是歲,雍、涼羌胡叛降漢,漢姜維將兵出隴右以應之,與雍州刺史郭淮、討蜀護軍夏侯霸戰于洮西。胡王白虎文、治無戴等率部落降維,維徙之入蜀。淮進擊羌胡餘黨,皆平之。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 75.
  2. (初,右將軍夏侯霸為曹爽所厚,以其父淵死於蜀,常切齒有報仇之志,為討蜀護軍,屯於隴西,統屬征西。征西將軍夏侯玄,霸之從子,爽之外弟也。爽旣誅,司馬懿召玄詣京師,以雍州刺史郭淮代之。霸素與淮不叶,以為禍必相及,大懼,遂奔漢。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 75.
  3. (秋,漢衞將軍姜維寇雍州,依麴山築二城,使牙門將句安、李歆等守之,聚羌胡質任,侵偪諸郡;征西將軍郭淮與雍州刺史陳泰禦之。泰曰:「麴城雖固,去蜀險遠,當須運糧;羌夷患維勞役,必未肯附。今圍而取之,可不血刃而拔其城;雖其有救,山道阻險,非行兵之地也。」) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 75.
  4. (淮乃使泰率討蜀護軍徐質、南安太守鄧艾進兵圍麴城,斷其運道及城外流水。安等挑戰,不許,將士困窘,分糧聚雪以引日月。維引兵救之,出自牛頭山,與泰相對。泰曰:「兵法貴在不戰而屈人。今絕牛頭,維無反道,則我之禽也。」敕諸軍各堅壘勿與戰,遣使白淮,使淮趣牛頭截其還路。淮從之,進軍洮水。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 75.
  5. (維懼,遁走,安等孤絕,遂降。淮因西擊諸羌。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 75.
  6. (漢姜維復寇西平,不克。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 75.
  7. (漢姜維自以練西方風俗,兼負其才武,欲誘諸羌、胡以為羽翼,謂自隴以西,可斷而有。每欲興軍大舉,費禕常裁制不從,與其兵不過萬人,曰:「吾等不如丞相亦已遠矣;丞相猶不能定中夏,況吾等乎!不如且保國治民,謹守社稷,如其功業,以俟能者,無為希冀徼倖,決成敗於一舉;若不如志,悔之無及。」) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
  8. (及禕死,維得行其志,乃將數萬人出石營,圍狄道。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
  9. (大將軍師問於虞松曰:「今東西有事,二方皆急,而諸將意沮,若之何?」松曰:「昔周亞夫堅壁昌邑而吳、楚自敗,事有似弱而強,不可不察也。今恪悉其銳衆,足以肆暴,而坐守新城,欲以致一戰耳。若攻城不拔,請戰不可,師老衆疲,勢將自走,諸將之不徑進,乃公之利也。姜維有重兵而縣軍應恪,投食我麥,非深根之寇也。且謂我幷力於東,西方必虛,是以徑進。今若使關中諸軍倍道急赴,出其不意,殆將走矣。」師曰:「善!」乃使郭淮、陳泰悉關中之衆,解狄道之圍;敕毌丘儉按兵自守,以新城委吳。陳泰進至洛門,姜維糧盡,退還。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
  10. (狄道長李簡密書請降於漢。六月,姜維寇隴西。 ... 漢姜維自狄道進拔河間、臨洮。將軍徐質與戰,殺其盪寇將軍張嶷,漢兵乃還。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
  11. (漢姜維復議出軍,征西大將軍張翼廷爭,以為:「國小民勞,不宜黷武。」維不聽,率車騎將軍夏侯霸及翼同進。八月,維將數萬人至枹罕,趨狄道。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
  12. (征西將軍陳泰敕雍州刺史王經進屯狄道,須泰軍到,東西合勢乃進。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
  13. (泰軍陳倉,經所統諸軍於故關與漢人戰不利,經輒渡洮水。泰以經不堅據狄道,必有他變,率諸軍以繼之。經已與維戰於洮西,大敗,以萬餘人還保狄道城,餘皆奔散,死者萬計。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
  14. (張翼謂維曰:「可以止矣,不宜復進,或毀此大功,為蛇畫足。」維大怒,遂進圍狄道。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
  15. (辛未,詔長水校尉鄧艾行安西將軍,與陳泰幷力拒維,戊辰,復以太尉孚為後繼。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
  16. (泰進軍隴西,諸將皆曰:「王經新敗, ... 此計之得者也。」泰曰:「姜維提輕兵深入, ... 君等何言如是!」) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
  17. (遂進軍度高城嶺,潛行,夜至狄道東南高山上,多舉烽火,鳴鼓角。狄道城中將士見救至,皆憤踊。維不意救兵卒至,緣山急來攻之,泰與交戰,維退。泰引兵揚言欲向其還路,維懼,九月,甲辰,維遁走,城中將士乃得出。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
  18. (王經歎曰:「糧不至旬,向非救兵速至,舉城屠裂,覆喪一州矣!」泰慰勞將士,前後遣還,更差軍守,幷治城壘,還屯上邽。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
  19. (姜維退駐鍾提。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
  20. (姜維在鍾提,議者多以為維力已竭,未能更出。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 77.
  21. (安西將軍鄧艾曰:「洮西之敗,非小失也,士卒凋殘,倉廩空虛,百姓流離。今以策言之,彼有乘勝之勢,我有虛弱之實,一也。彼上下相習,五兵犀利,我將易兵新,器仗未復,二也。彼以船行,吾以陸軍,勞逸不同,三也。狄道、隴西、南安、祁山各當有守,彼專為一,我分為四,四也。從南安、隴西因食羌穀,若趣祁山,熟麥千頃,為之外倉。賊有黠計,其來必矣。」) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 77.
  22. (秋,七月,姜維復率衆出祁山,聞鄧艾已有備,乃回,從董亭趣南安;艾據武城山以拒之。維與艾爭險不克,其夜,渡渭東行,緣山趣上邽,艾與戰於段谷,大破之。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 77.
  23. (以艾為鎮西將軍,都督隴右諸軍事。維與其鎮西大將軍胡濟期會上邽,濟失期不至,故敗,士卒星散,死者甚衆,蜀人由是怨維。維上書謝,求自貶黜,乃以衞將軍行大將軍事。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 77.
  24. (漢姜維聞魏分關中兵以赴淮南,欲乘虛向秦川,率數萬人出駱谷,至沈嶺。時長城積穀甚多,而守兵少,征西將軍都督雍、涼諸軍事司馬望及安西將軍鄧艾進兵據之,以拒維。維壁於芒水,數挑戰,望、艾不應。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 77.
  25. (漢姜維聞諸葛誕死,復還成都,復拜大將軍。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 77.
  26. (是時,維數出兵,蜀人愁苦,中散大夫譙周作仇國論以諷之曰:「或問往古能以弱勝強者,其術如何? ... 如遂極武黷征,土崩勢生,不幸遇難,雖有智者將不能謀之矣。」) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 77.
  27. (漢大將軍姜維將出軍,右車騎將軍廖化曰:「兵不戢,必自焚,伯約之謂也。智不出敵而力小於寇,用之無厭,將何以存!」) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 78.
  28. (冬,十月,維入寇洮陽,鄧艾與戰於侯和,破之,維退住沓中。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 78.
  29. (初,維以羈旅依漢,身受重任,興兵累年,功績不立。黃皓用事於中,與右大將軍閻宇親善,陰欲廢維樹宇。維知之,言於漢主曰:「皓姦巧專恣,將敗國家,請殺之!」漢主曰:「皓趨走小臣耳,往董允每切齒,吾常恨之,君何足介意!」維見皓枝附葉連,懼於失言,遜辭而出。漢主敕皓詣維陳謝。維由是自疑懼,返自洮陽,因求種麥沓中,不敢歸成都。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 78.
อ้างอิงอื่น ๆ
  1. สามก๊กจี่ เล่มที่ 26, 33 และ 44 และจือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 75–78.

บรรณานุกรม

แก้