โฉวกั๋วลุ่น (จีน: 仇國論; แปลว่า "วิจารณ์เรื่องรัฐอริ") เป็นบทความที่เขียนในปี ค.ศ. 257 โดยเจาจิ๋วขุนนางตำแหน่งขุนนางที่ปรึกษารับใช้ (中散大夫 จงซ่านต้าฟู) ของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นบทความที่มีเนื้อหาต่อต้านความกระหายสงครามของเกียงอุยขุนพลของจ๊กก๊กและการยกทัพบุกขึ้นเหนือของเกียงอุยที่ดำเนินต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี บทความนี้ยังถือเป็นการแสดงจุดยืนต่อต้านโดยเหล่าคนท้องถิ่นมณฑลเอ๊กจิ๋วที่มีต่อกลุ่มผู้ปกครองของรัฐจ๊กก๊กซึ่งมีพื้นเพมาจากภายนอกมณฑล[1]

โฉวกั๋วลุ่น
อักษรจีนตัวเต็ม仇國論
อักษรจีนตัวย่อ仇国论
ความหมายตามตัวอักษรวิจารณ์เรื่องรัฐอริ

ภูมิหลังของงานเขียน

แก้

หลังจากที่จูกัดเหลียง เจียวอ้วน และบิฮุยซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของรัฐจ๊กก๊กเสียชีวิตไปตามลำดับ เกียงอุยก็ยกทัพบุกขึ้นเหนือเพื่อรบกับรัฐวุยก๊กที่เป็นรัฐอริเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของราษฎรในจ๊กก๊ก เจาจิ๋วไม่เห็นด้วยต่อแนวทางของเกียงอุยในการยกทัพบุกขึ้นเหนืออย่างต่อเนื่อง จึงต่อต้านการบุกขึ้นเหนือของเกียงอุยและคนอื่น ๆ

ในปี ค.ศ. 257 จูกัดเอี๋ยนขุนพลของรัฐวุยก๊กร่วมมือกับรัฐง่อก๊กในการก่อกบฏที่อำเภอฉิวฉุน (壽春 โช่วฉุน; อยู่บริเวณอำเภอโช่ว มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) เพื่อต่อต้านสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก ราชสำนักวุยก๊กระดมกำลังทหารจากภูมิภาคกวนต๋ง (關中 กวานจง) เพื่อปราบกบฏ เกียงอุยต้องการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้เพื่อเตรียมบุกวุยก๊กอีกครั้ง โดยส่งกำลังทหารไปยังจิวฉวน (秦川 ฉินชฺวาน) ตัวเกียงอุยนำหลายหมื่นนายผ่านหุบเขาล่อก๊ก (駱谷 ลั่วกู่) เจาจิ๋วหารือกับเฉิน จือ (陳祗) ผู้เป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) ในเรื่องข้อดีข้อเสียของการยกทัพออกไป แล้วเจาจิ๋วจึงเขียนบทความตำหนิเกียงอุยที่ไม่เรียนรู้ที่จะอดทน และ "ทุ่มกำลังจำนวนมากยกไปทำศึก" ทำให้ "ราษฎรเบื่อหน่าย" ต่อมาบทความโต้แย้งนี้เป็นที่รู้จักในชื่อว่าโฉวกั๋วลุ่น[2]

นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ตอนที่ 112 ก็มีการกล่าวถึงบทความโฉวกั๋วลุ่นของเจาจิ๋วที่ต่อต้านการยกทัพบุกขึ้นเหนือของเกียงอุย[3]

เนื้อหา

แก้

ในโฉวกั๋วลุ่น เจาจิ๋วยกอุทาหรณ์เป็นเรื่องรัฐสมมติ 2 รัฐชื่อ "อิน-ยฺหวี" (因餘) และ "เจ้าเจี้ยน" (肇建) อิน-ยฺหวีเป็นรัฐเล็ก เจ้าเจี้ยนเป็นรัฐใหญ่ ทั้งสองรัฐเป็นอริต่อกัน[4] เกา เสียนชิง (高賢卿) ชาวรัฐอิน-ยฺหวีถามฝู ยฺหวีจื่อ (伏愚子) ว่าในฐานะที่อิน-ยฺหวี่เป็นรัฐเล็กควรใช้กลยุทธ์ใดเมื่อเผชิญหน้ากับรัฐใหญ่[5] ฝู ยฺหวีจื่อจึงยกเรื่องจิวบุนอ๋อง (周文王 โจวเหวินหวาง) และเกาเจียน (勾踐 โกวเจี้ยน) เป็นตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่าหากให้ราษฎรได้พักฟื้น ใจของราษฎรมั่นคงแล้ว ก็จะสามารถเอาชนะข้าศึกได้[6]

เกา เสียนชิงถามต่อไปอีกว่า "เมื่อฌ้อ (楚 ฉู่) กับฮั่น (漢) รบกัน เล่าปัง (劉邦 หลิว ปัง) และห้างอี๋ (項羽 เซี่ยง ยฺหวี) ตกลงแบ่งดินแดนที่หงโกว (鴻溝) ไม่รุกรานซึ่งกันและกัน หลังห้างอี๋กลับไป เตียวเหลียง (張良 จาง เหลียง) เห็นว่าหากราษฎรมีความเป็นอยู่ที่มั่นคงแล้วก็จะไม่คิดเป็นอื่นอีก จึงเสนอเล่าปังให้ไล่ตามตีห้างอี๋ ในที่สุดก็ได้รับชัยชนะ ยังต้องใช้วิธีการเยี่ยงอย่างจิวบุนอ๋องอีกหรือ บัดนี้เจ้าเจี้ยนมีปัญหาภายใน หากเราใช้โอกาสนี้ส่งกำลังทหารเข้าโจมตีชายแดน จะเพิ่มความยุ่งยากให้พวกมันและเอาชนะพวกมันได้หรือไม่"[7]

ฝู ยฺหวีจื่อตอบว่า "ในสมัยราชวงศ์เซียง (商 ชาง) และจิวตะวันตก (西周 ซีโจว)" กษัตริย์และขุนนางเข้มแข็ง สังคมมั่นคง ราษฎรในเวลานั้นคุ้นชินกับชนชั้นปกครอง แม้นเล่าปังมีชีวิตอยู่ในยุคเช่นนี้จะถือกระบี่และแส้ม้าพิชิตแผ่นดินได้อย่างไร ตรงข้ามกับช่วงปลายราชวงศ์จิ๋น (秦 ฉิน) แผ่นดินแตกแยก ทุกปีทุกเดือนมีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครอง ราษฏรไม่รู้จะทำอย่างไร ผู้เข้มแข็งก็เข้ารบพุ่งกัน ผู้แข็งแกร่งได้รับมาก ผู้อ่อนแอถูกยึดครอง ในยามนี้ทั้งรัฐของเราและรัฐเจ้าเจี้ยนมีความมั่นคงมาช้านานแล้ว ไม่ใช่ยุคสมัยแห่งความวุ่นวายอย่างช่วงปลายราชวงศ์จิ๋น แต่สถานการณ์เหมือนเมื่อครั้งมีหลายรัฐดำรงอยู่ร่วมกัน ดังนั้นเราสามารถใช้วิธีปกครองแบบจิวบุนอ๋อง และไม่ควรทำศึกทุกทิศทางเหมือนที่เล่าปังทำ หาไม่แล้วราษฎรจะเบื่อหน่าย รัฐจะล่มสลาย ดังสุภาษิตที่ว่า "ยิงเกาทัณฑ์หลายดอกแต่ไม่ถูกเป้า ก็ไม่เท่าเล็งดี ๆ ก่อนแล้วจึงยิง ไม่สักแต่โจมตีอย่างเดียว" ดังนั้นผู้มีปัญญาจึงไม่เปลี่ยนเป้าหมายเพียงเพื่อผลประโยชน์เล็กน้อย แต่รอคอยให้โอกาสอำนวยจึงยกพลออกไปในคราเดียว ดังนั้นเสี่ยงทาง (商湯 ชางทาง) และจิวบูอ๋อง (周武王 โจวอู่หวาง) จึงรบไม่นานก็เอาชนะได้ หากพวกเขาสักแต่ยกพลเข้าปะทะก็ไม่อาจประเมินสถานการณ์ได้ แม้ยอดปราชญ์ก็ไม่อาจช่วยเหลือได้ หากส่งกำลังทหารเยี่ยงเทพ ข้ามกระแสน้ำเชี่ยว ข้ามหุบเขา ข้ามไปถึงท่าข้ามเมิ่งจิน (孟津) โดยไม่ต้องใช้เรือ นั่นไม่ใช่สิ่งที่ข้าพเจ้ายฺหวีจื่อจะทำได้เลย"[8]

อ้างอิง

แก้
  1. 易中天 (June 2007). 品三國(下). 香港: 三聯書店. ISBN 978-962-04-2693-3.
  2. (是時,維數出兵,蜀人愁苦,中散大夫譙周作仇國論以諷之曰:「或問往古能以弱勝強者,其術如何? ... 如遂極武黷征,土崩勢生,不幸遇難,雖有智者將不能謀之矣。」) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 77.
  3. สามก๊ก ตอนที่ 112
  4. (因餘之國小,而肇建之國大,並爭於世而為仇敵。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 42.
  5. (因餘之國有高賢卿者,問於伏愚子曰:「今國事未定,上下勞心,往古之事,能以弱勝強者,其術何如?」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 42.
  6. (伏愚子曰:「吾聞之,處大無患者恆多慢,處小有憂者恆思善;多慢則生亂,恩善則生治,理之常也。故周文養民,以少取多;勾踐卹眾,以弱斃強,此其術也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 42.
  7. (賢卿曰:「囊者項強漢弱,相與戰爭,無日寧息,然項羽與漢約分鴻溝為界,各欲歸息民;張良以為民志既定,則難動也,尋帥追羽,終斃項氏,豈必由文王之事乎?肇建之國方有疾疢,我因其隙,陷其邊陲,覬增其疾而斃之也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 42.
  8. (伏愚子曰:「當殷、周之際,王侯世尊,君臣久固,民習所專;深根者難拔,據固者難遷。當此之時,雖漢祖安能杖劍鞭馬而取天下乎?當秦罷候置守之後,民疲秦役,天下土崩;或歲改主,或月易公,鳥驚獸駭,莫知所從,於是豪強並爭,虎裂狼分,疾搏者獲多,遲後者見吞。今我與肇建皆傳國易世矣,既非秦末鼎沸之時,實有六國並據之勢,故可為文王,難為漢祖。夫民疲勞,則騷擾之兆生,上慢下暴則瓦解之形起。諺曰:『射幸數跌,不如審發。』是故智者不為小利移目,不為意似改步,時可而後動,數合而後舉,故湯、武之師不再戰而克,誠重民勞而度時審也。如遂極武黜征,土崩勢生,不幸遇難,雖有智者將不能謀之矣;若乃奇變縱橫,出入無間,沖波截轍,超谷越山,不由舟楫而濟盟津者,我愚子也,實所不及。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 42.

บรรณานุกรม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้