เตียวหงี (ทศวรรษ 190 - ค.ศ. 254) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จาง นี่[b] (จีน: 張嶷; พินอิน: Zhāng Nì) ชื่อรอง ปั๋วฉี (จีน: 伯岐; พินอิน: Bóqí) เป็นขุนพลของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน เตียวหงีมีชื่อเสียงในเรื่องความกล้าหาญและน้ำใจกว้างขวาง เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการช่วยชีวิตภรรยาของนายอำเภอจากพวกโจรและพาไปยังที่ปลอดภัย

เตียวหงี (จาง นี่)
張嶷
รูปปั้นของเตียวหงีในศาลจูกัดเหลียงในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน
ขุนพลปราบโจร (蕩寇將軍 ต้างโคฺ่วเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 254 (254)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
เจ้าเมืองอวดจุ้น (越巂太守 เยฺว่ซี/เยฺว่ฉุ่ยไท่โฉฺ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ขุนพลรักษาค่ายใหญ่ (牙門將 หยาเหมินเจี้ยง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
นายกอง (都尉 ตูเว่ย์)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดทศวรรษ 190[a]
นครหนานชง มณฑลเสฉวน
เสียชีวิตค.ศ. 254
อำเภอหล่งซี มณฑลกานซู่
ที่ไว้ศพอำเภอเหมี่ยน มณฑลฉ่านซี
บุตร
  • จาง อิง
  • จาง ฮู่ฉฺยง
อาชีพขุนพล
ชื่อรองปั๋วฉี (伯岐)
บรรดาศักด์กวานเน่ย์โหฺว (關內侯)

เตียวหงีมักทำงานร่วมกับม้าตงขุนพลอีกคนของจ๊กก๊กเมื่อนำกองกำลังสยบชนเผ่าพื้นเมืองต่าง ๆ ที่อาศัยในและโดยรอบพรมแดนของจ๊กก๊ก เตียวหงีใช้เวลาอย่างน้อย 18 ปีในการจัดการกับการลุกฮือภายในที่มีศูนย์กลางอยู่บริเวณรอบเมืองอวดจุ้นและเมืองปากุ๋น แต่ว่าเตียวหงีจะเป็นขุนพลที่มีความสามารถ แต่ก็มักจะหาทางแก้ปัญหาอย่างมีมนุษยธรรมและพยายามจะสร้างสันติหรือเจรจากับชนเผ่าต่าง ๆ หากทำได้ ด้วยนิสัยซื่อตรงของเตียวหงี จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) จึงบันทึกว่าชนเผ่าต่าง ๆ ต่างเคารพรักเตียวหงี และถึงกับร้องไห้และรั้งรถม้าของเตียวหงีเมื่อรู้ว่าเตียวหงีจะกลับไปยังเซงโต๋

เมื่อเตียวหงีรู้สึกว่าตนอ่อนแอและชราลงเรื่อย ๆ จะทูลแก่จักรพรรดิเล่าเสี้ยนขอโอกาสให้ตนได้ตอบแทนพระกรุณาของนายเหนือหัว เล่าเสี้ยนสดับคำทูลของเตียวหงีก็ตื้นตันพระทัยจนน้ำพระเนตรไหล ระหว่างการบุกขึ้นเหนือของเกียงอุยครั้งที่ 7 เตียวหงีถูกสังหารในที่รบระหว่างยุทธการที่รบกับชิจิดหลังผลักดันให้ข้าศึกถอยร่นไป การเสียชีวิตของเตียวหงีเป็นที่โศกเศร้าทั้งในหมู่ชาวฮั่นและชนเผ่าต่าง ๆ โดยที่ไม่มีใครที่ไม่หลั่งน้ำตา จึงมีการสร้างศาลที่อุทิศให้เตียวหงี มีพิธีบวงสรวงแม้ในยามเกิดทุพภิกขภัยหรือประสบความยากลำบากต่าง ๆ

เตียวหงีมีชื่อเสียงว่าเป็นหนึ่งในขุนพลที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่งของจ๊กก๊ก เล่าเสี้ยนจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กในช่วงที่เตียวหงีรับราชการเคยเปรียบเทียบเตียวหงีกับวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยโบราณ ในขณะที่ตันซิ่วก็เปรียบเทียบในลักษณะเดียวกันในบทวิจารณ์ต่อเตียวหงี

ประวัติและการรับราชการช่วงต้น

แก้

ผลงานครั้งแรกและชื่อเสียงในช่วงต้น

แก้

เตียวหงีเป็นชาวอำเภอหนานชง (南充縣 หนานชงเซี่ยน) เมืองปากุ๋น (巴郡 ปาจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคือนครหนานชง มณฑลเสฉวน เตียวหงีกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่เด็กและใช้ชีวิตอย่างยากจน แต่เตียวหงีก็มีชือเสียงในเรื่องความเข้มแข็งและความมีน้ำใจกว้างขวางตั้งแต่วัยเยาว์[1] เตียวหงีเริ่มรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ปกครอง (功曹 กงเฉา) ในที่ว่าการอำเภอบ้านเกิดเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ (อายุราว 19 ปี) ในปี ค.ศ. 214 เมื่อขุนศึกเล่าปี่เข้ายึดมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) จากเล่าเจี้ยงผู้เป็นเจ้ามณฑล โจรบางกลุ่มใช้โอกาสนี้บุกเข้าโจมตีที่ว่าการอำเภอ ในระหว่างชุลมุน เตียวหงีเข้าร่วมในการต่อสู้กับพวกโจรและคุ้มกันภรรยาของนายอำเภอพาไปยังที่ปลอดภัย เตียวหงีขึ้นมามีชื่อเสียงจากวีรกรรมนี้ ภายหลังจึงได้รับการเรียกตัวเข้ารับราชการในที่ว่าการเมืองปากุ๋นในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย (從事 ฉงชื่อ)[2]

ระหว่างรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยในเมืองปากุ๋น บัณฑิตสองคนคือกง ลู่ (龔祿) และเหยา โจฺ้ว (姚伷) ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งที่สูงกว่าและได้เบี้ยหวัดมากกว่าเตียวหงีที่เป็นชาวเมืองเดียวกัน เวลานั้นทั้งคู่เป็นผู้มีชื่อเสียง แต่เมื่อทั้งคู่ได้ยินเรื่องวีรกรรมของเตียวหงีจึงให้ความยกย่องและผูกมิตรกับเตียวหงี[3]

ปราบโจรและพักฟื้น

แก้

ราวปี ค.ศ. 227 เมื่อจูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กระดมพลที่เมืองฮันต๋งเตรียมการจะบุกขึ้นเหนือรบกับรัฐวุยก๊กอันเป็นรัฐอริของจ๊กก๊กเป็นครั้งแรก กลุ่มโจรท้องถิ่นได้บุกปล้นหมู่บ้านในเขตเมืองฮันต๋ง, ก๋งฮาน และกิมก๊ก เตียวหงีในเวลานั้นมีตำแหน่งเป็นนายกองรักษาการได้นำกองกำลังไปจัดการกับกลุ่มโจรจนแตกพ่ายกระจัดกระจาย และพวกโจรก็จะหลบซ่อนตามที่ต่าง ๆ เมื่อได้ยินว่าเตียวหงีกำลังยกมาถึง เตียวหงีไม่สามารถบังคับให้พวกโจรออกจากที่ซ่อนมารบได้ จึงแสร้งทำเป็นเสนอนโยบายเหอชิน (การแต่งงานเพื่อผูกไมตรี) ให้กับหัวหน้ากลุ่มโจร จากนั้นจึงโน้มน้าวให้พวกโจรมาร่วมงานเลี้ยงเพื่อฉลองสันติภาพ หลังจากหัวหน้ากลุ่มโจรเมาสุราโดยไร้ซึ่งความระแวงแคลงใจ เตียวหงีก็สั่งทหารของคนให้สังหารพวกโจรทั้งหมด จากนั้นจึงส่งกองกำลังออกตามล่าและกำจัดพวกโจรที่เหลือ การสังหารหมู่ดำเนินไปประมาณ 10 วัน หลังจากนั้นอาณาบริเวณแถบนั้นก็ปราศจากกลุ่มโจร[4]

ภายหลังจากนั้น เตียวหงีก็ล้มป่วยหนัก โชคร้ายที่ครอบครัวของเตียวหงียากจนเกินกว่าจะได้หมอและการรักษาที่ดี เวลานั้นเหอ จือ (何祗) เจ้าเมืองก๋งฮาน (廣漢太守 กว่างฮั่นไท่โชฺ่ว) มีชื่อเสียงในฐานะผู้มีน้ำใจกว้างขวางและหมอผู้มีความสามารถ เตียวหงีจึงคิดจะไปขอร้องเหอ จือ แต่เนื่องจากเตียวหงีและเหอ จือยังไม่รู้จักกันดี เตียวหงีจึงขึ้นรถม้าไปเยี่ยมเหอ จือด้วยตนเองแม้ว่ากำลังป่วยเพื่อขอร้องให้ช่วยรักษาโรคของตน เหอ จือได้ยินชื่อเสียงของเตียวหงีว่าเป็นคนที่กล้าหาญและน้ำใจกว้างขวางจึงรักษาให้เตียวหงีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ในที่สุดหลังเวลาผ่านไปหลายปีเตียวหงีก็หายจากโรค เตียวหงีและเหอ จือยังคงเป็นเพื่อนกันหลังจากเหตุการณ์นี้[5]

ในฐานะขุนพลรักษาค่ายใหญ่

แก้

หลังเตียวหงีหายจากอาการป่วย ก็ได้รับการเลื่อนขั้นเป็นขุนพลรักษาค่ายใหญ่ (牙門將 หยาเหมินเจี้ยง) จากความดีความชอบในการปราบโจรกลุ่มต่าง ๆ และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของม้าตง ในปี ค.ศ. 232 เตียวหงีและม้าตงปราบกบฏชนเผ่าเกี๋ยงแห่งเขาเวิ่นชาน (汶山) ทางเหนือที่เป็นพันธมิตรกับรัฐวุยก๊กได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ทางใต้ก็ปราบปรามชนเผ่าพื้นเมืองอย่างเช่นกลุ่มที่นำโดยหลิว โจฺ้ว (劉胄) เตียวหงีมักนำทัพหน้าและมีผลงานมากมายทั้งในด้านการรบและการวางแผน เตียวหงีและม้าตงจึงสร้างความหวาดกลัวอย่างมากต่อชนเผ่าท้องถิ่นที่ก่อความไม่สงบทั่วอาณาเขตจ๊กก๊ก[6]

การทัพต่อเผ่าเกี๋ยง

แก้

ระหว่างการทัพของเตียวหงีและม้าตงในการรบกับชนเผ่าเกี๋ยง ตอนแรกเตียวหงีนำกองกำลังของตนในฐานะทัพหน้าที่มีกำลังพลเพียงราว 300 คนกับม้าแยกออกจากกองทัพหลัก ยกมาถึงหมู่บ้านทาหลี่ (他里) เป็นกลุ่มแรก ตำแหน่งที่ตั้งของหมู่บ้านยากแก่การโจมตีเพราะตั้งอยู่บนยอดเขาสูง แต่เตียวหงีปีนขึ้นภูเขาและตั้งค่ายของตนเองห่างจากหมู่บ้านทาหลี่ 4-5 ลี้[7]

ชาวเกี๋ยงเห็นว่าภัยมาถึงจึงสร้างประตูศิลาหน้าหมู่บ้าน เหนือประตูมีการตั้งแท่นสูงและรวบรวมก้อนหินจำนวนมากไว้ด้านบนเพื่อใช้ป้องกันไปพร้อมกับการบดขยี้ข้าศึก เตียวหงีเห็นว่าการโจมตีประตูเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงส่งทูตไปแจ้งต่อชาวเกี๋ยงว่า:[8]

"พวกท่านชนเผ่าแห่งเขาเวิ่นชานต่างพากันก่อกบฏและทำร้ายผู้บริสุทธิ์ โอรสสวรรค์จึงมีรับสั่งให้ยกมาปราบและทำลายความชั่วร้ายในทันที แต่หากพวกท่านโค้งคำนับยอมให้ทหารผ่านเข้าไปและมอบเสบียง พวกท่านอาจจะได้โชคลาภและความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป และได้รับการตอบแทนเป็นร้อยเท่า แต่หากสุดท้ายแล้วพวกท่านไม่เชื่อฟัง กองทัพใหญ่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยกเข้าปราบปรามพวกท่านดังสายฟ้าฟาดใส่ ถึงตอนนั้นเมื่อพวกท่านกลับใจได้ก็สายไปเสียแล้ว"[9]

เมื่อผู้อาวุโสของหมู่บ้านได้ยินคำสั่งนี้ จึงพากันรีบออกมาพบเตียวหงีและเตรียมเสบียงมามอบให้แล้วยอมให้กองทหารผ่านเข้าไป ทัพจ๊กก๊กจึงได้รับชัยชนะ เมื่อชนเผ่าเกี๋ยงที่เหลือได้ยินว่าหมู่บ้านทาหลี่ถูกยึดได้แล้ว ทั้งหมดต่างหวาดกลัวและสับสน หลายคนออกมาต้อนรับและยอมจำนนต่อทัพเตียวหงี ส่วนคนอื่นหนีเข้าไปในหุบเขา ม้าตงและเตียวหงีตามล่าผู้ที่หลบหนีและได้รับชัยชนะโดยสมบูรณ์[10]

ปราบหลิว โจฺ้ว

แก้

ในปี ค.ศ. 233 ชนเผ่าทางใต้ชื่อหลิว โจฺ้ว (劉胄) ก่อกบฏครั้งใหญ่ เตียวเอ๊กไม่สามารถปราบกบฏได้ ม้าตงจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพภูมิภาคหลายเสียง (庲降都督 หลายเสียงตูตู) โดยได้รับมอบหมายไปปราบหลิว โจฺ้ว โดยเตียวหงีคุมทัพหน้า เตียวหงีมักอยู่ที่แนวหน้าของกองทัพจึงตัดศีรษะหลิว โจฺ้วได้สำเร็จ[11]

จากการเสียชีวิตของหลิว โจฺ้ว ชนเผ่าทางใต้ส่วนใหญ่จึงยอมสวามิภักดิ์ ยกเว้นแต่ชนเผ่าเหลียว (獠) ในเมืองโคกุ้น (牂牁 จางเคอ) และซิงกู่ (興古) ที่ก่อกบฏขึ้นอีกครั้ง ม้าตงจึงส่งเตียวหงีนำกองกำลังยกไปปราบกบฏ เตียวหงีเกลี้ยกล่อมชนเผ่าเหลียวส่วนใหญ่ให้ยอมจำนน ชนเผ่าเหลียวสองพันคนเข้ามาร่วมกับกองกำลังของเตียวหงีจากนั้นทั้งหมดก็ถูกโยกย้ายไปอยู่ใต้การบัญชาการของทัพเมืองฮันต๋ง[12]

คาดการณ์อุบัติเหตุของฝู เจี้ยน

แก้

อาณาเขตของเมืองปูเต๋า (武都 อู่ตู) ตั้งอยู่บนชายแดนระหว่างจ๊กก๊กและวุยก๊ก เป็นดินแดนปกครองตนเองขนาดใหญ่ซึ่งเป็นของจ๊กก๊กแต่ในนาม แต่ส่วนใหญ่ปกครองโดยโดยชนเผ่าตี (氐) ที่อาศัยในพื้นที่ ราวปี ค.ศ. 236 ผู้นำชนเผ่าตีที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งชื่อฝู เจี้ยน (苻健) ยอมสวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊ก มหาขุนพลเจียวอ้วนจึงส่งขุนพลจาง เว่ย์ (張尉) ไปรับฝู เจี้ยน แต่จาง เว่ย์ใช้เวลานานเกินกว่าที่เจียวอ้วนคาดว่าจาง เว่ย์จะกลับมาจนเจียวอ้วนเริ่มกังวล เวลานั้นเตียวหงีอยู่ในเซงโต๋ ได้ช่วยคลายความกังวลให้เจียวอ้วนโดยพูดว่า:[13]

"ที่ฝู เจี้ยนขอเข้าด้วยกับเรานั้นจริงใจและต้องไม่เปลี่ยนใจเป็นแน่ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าน้องชายของฝู เจี้ยนนั้นเจ้าเล่ห์และไร้ความสัตย์ อีกทั้งภายในชนเผ่าตีก็ไม่ค่อยลงรอยกัน จึงอาจมีสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและไม่ปกติที่ทำให้จาง เว่ย์ล่าช้าและจำต้องอยู่ต่อไปอีกเพื่อทำภารกิจให้สำเร็จ"[14]

หลายวันต่อมา มีข่าวการมาถึงของจาง เวย์ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าคำพูดของเตียวหงีถูกต้อง น้องชายของฝู เจี้ยนนำชนเผ่าส่วนใหญ่เข้าร่วมกับรัฐวุยก๊ก ส่วนฝู เจี้ยนติดตามจาง เว่ย์เข้าสวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊ก[15]

ปราบปรามชนเผ่าพื้นเมือง

แก้

ฟื้นฟูอำนาจชาวฮั่นในเมืองอวดจุ้น

แก้

ในช่วงทศวรรษ 230 ชนเผ่าโสฺ่ว (叟) ในเมืองอวดจุ้น (越巂郡 เยฺว่ซีจฺวิ้น/เยฺว่ฉุ่ยจฺวิ้น; อยู่บริเวณจังหวัดปกครองตนเองชนชาติอี๋ เหลียงชาน มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) ก่อกบฏและประกาศตนเป็นอิสระ เมืองอวดจุ้นกลับมาเป็นของจ๊กก๊กตั้งแต่การปราบปรามกองกำลังกบฏของโกเตงอย่างราบคาบในปี ค.ศ. 225 แต่รัฐจ๊กก๊กยังคงประสบในการถือสิทธิ์ปกครองเมืองอวดจุ้น สถานการณ์เลวร้ายลงเมื่อกลุ่มกบฏสังหารเจ้าเมืองสองคนคือกง ลู่ (龔祿) และเจียว หฺวาง (焦璜) ที่ราชสำนักจ๊กก๊กส่งไปปกครองเมืองอวดจุ้น นอกจากนี้เจ้าเมืองอวดจุ้นที่ได้รับการแต่งตั้งคนถัด ๆ มาจะไม่เข้าไปรับตำแหน่งในเขตเมืองอวดจุ้นเนื่องจากอาจต้องกระทบกระทั่งของคนในท้องถิ่น แต่จะมาอาศัยในเขตอำเภออานช่าง (安上) ซึ่งอยู่ห่างออกไป 8 ลี้และไม่สามารถไปรับตำแหน่งได้ที่เมืองอวดจุ้นได้ เป็นผลให้การอ้างสิทธิ์ปกครองเมืองอวดจุ้นของราชสำนักจ๊กก๊กเป็นไปแต่เพียงในนามเท่านั้น[16]

มีการหารือเกี่ยวกับการฟื้นฟูอำนาจปกครองในเมืองอวดจุ้น ราขสำนักจ๊กก๊กจึงแต่งตั้งเตียวหงีเป็นเจ้าเมืองอวดจุ้น เมื่อเตียวหงีมาถึงเมืองอวดจุ้นได้นำผู้ใต้บังคับบัญชาในเมืองให้เกลี้ยกล่อมชนเผ่าต่าง ๆ ด้วยความกรุณาและเอื้อเฟื้อ ชนเผ่าต่าง ๆ จึงต่างเริ่มกลับมายอมสวามิภักดิ์ อย่างไรก็ตาม แถบโจฺวหม่า (捉馬) ทางเหนือยังคงตั้งตนเป็นกบฏอย่างที่สุด มีกองกำลังที่แข็งแกร่งจึงปฏิเสธที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊ก เตียวหงีจึงนำกองกำลังเข้าปราบปราม เตียวหงีจับตัวเป็นเว่ย์ หลาง (魏狼) ที่เป็นผู้นำของกลุ่มกบฏได้ แต่ปล่อยตัวไปเพื่อแสดงความเมตตาและให้ได้ใจเหล่าชนเผ่า ภายหลังเตียวหงีถวายฎีกาถึงราชสำนักให้มอบบรรดาศักดิ์ชั้นโหฺวแก่เว่ย์ หลาง และให้เผ่าของเว่ย์ หลางจำนวนสามพันครัวเรือนได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเพื่อให้เหล่าชนเผ่าสงบลง เมื่อชาวเผ่าอื่น ๆ ได้ยินเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้จึงมาสวามิภักดิ์ต่อเตียวหงีมากขึ้นเรื่อย ๆ ราชสำนักตอบแทนความดีความชอบของเตียวหงีด้วยการตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ระดับกวานเน่ย์โหฺว (關內侯)[17]

ความขัดแย้งกับเผ่าซูฉีอี้

แก้

ชนเผ่าซูฉีอี้ (蘇祁邑) นำโดยหัวหน้าเผ่าตง เฝิง (冬逢) และน้องชายตง ฉฺวี (冬渠) ตง ฉฺวีและชนเผ่าซูฉีอี้ยอมสวามิภักดิ์แล้ว แต่ก็ก่อกบฏขึ้นในขณะที่เตียวหงีกำลังจัดการปัญหาทางด้านแถบโจฺวหม่า เตียวหงีวกมาปราบชนเผ่าซูฉีอี้อย่างรวดเร็วและสังหารตง เฝิง แต่ภรรยาของตง เฝิงเป็นลูกสาวของหัวหน้าเผ่าอีกคนหนึ่งซึ่งปกครองชนเผ่าเหมาหนิว (旄牛) เตียวหงีจัดการแบ่งแยกสองเผ่านี้ออกจากกันเพื่อป้องกันไม่ให้การก่อจลาจลขึ้นอีก[18]

ตง ฉฺวีน้องชายของตง เฝิงใช้โอกาสนี้หนีไปยังชายแดนด้านตะวันตกและรวบรวมชนเผ่าซูฉีอี้ที่กระจัดกระจาย ตง ฉฺวีเป็นนักรบที่ป่าเถื่อนและแข็งแกร่ง ชนเผ่าซูฉีอี้จึงเกรงกลัวตง ฉฺวีอย่างมาก ตง ฉฺวีส่งญาติสนิทสองคนไปแสร้งยอมสวามิภักดิ์ต่อเตียวหงี แต่ความจริงแล้วเพื่อเข้าไปรวบรวมข้อมูลจากภายใน แต่เตียวหงีก็อ่านแผนการนี้ออกจึงให้ของขวัญมีค่าโน้มน้าวให้ญาติของตง ฉฺวีแปรพักตร์ จากนั้นเตียวหงีจึงส่งชายสองคนไปลอบสังหารตง ฉฺวี เมื่อผู้นำกลุ่มกบฏเสียชีวิต ชนเผ่าต่าง ๆ ก็กลับมาปลอดภัย ภายหลังเตียวหงีหันไปให้ความใส่ใจกับหลี่ ฉิวเฉิง (李求承) ผู้นำชนเผ่าตูฉี (都耆) ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นผู้สังหารกง ลู่อดีตเจ้าเมืองอวดจุ้น เตียวหงีจึงระดมกองกำลังไปจับตัวหลี่ ฉิวเฉิงได้สำเร็จ จากนั้นเตียวหงีจึงอ่านรายการความผิดของหลี่ ฉิวเฉิงและให้ประหารชีวิตเสีย[19]

ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน

แก้

เดิมโครงสร้างพื้นฐานของเมืองอวดจุ้นชำรุดทรุดโทรมไปจากการจู่โจมของชนเผ่า เตียวหงีจึงริเริ่มโครงการก่อสร้างซ่อมแซมกำแพงเมืองเพื่อปกป้องราษฎร งานส่วนใหญ่ทำโดยชนเผ่าต่างถิ่นและชนเผ่าท้องถิ่น จดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าบรรดาชายและหญิงทุกคนทำงานหนักที่สุดเพื่อช่วยเตียวหงีในการบูรณะ เตียวหงีดำรงตำแหน่งในเมืองอวดจุ้นเป็นเวลาสามปีจนกระทั่งถูกส่งตัวกลับไปยังเมืองบ้านเกิดคือเมืองปากุ๋น[20]

ชิงสามอำเภอคืน

แก้

ติ้งจั๋ว (定莋) ไถเติง (台登) และเปย์ฉุ่ย (卑水) เป็นสามอำเภอที่อยู่ห่างจากที่ว่าการเมืองอวดจุ้นไปสามร้อยกว่าลี้ อำเภอทั้งสามนี้สร้างรายได้ส่วนใหญ่ของเมืองอวดจุ้นเพราะเป็นแหล่งผลิตสินค้ามีค่า เช่น เกลือ เหล็ก และเครื่องเขิน แต่สามอำเภอนี้อยู่บนชายแดนด้านตะวันตกและถูกชนเผ่าต่างถิ่นเข้ายึดครองเป็นของตน เตียวหงีจึงนำกองกำลังเข้ายึดสามอำเภอคืนและแต่งตั้งหัวหน้าเสมียนมาดูแลการผลิต[21]

อย่างไรก็ตาม อำเภอติ้งจั๋วนั้นเข้ายึดครองยากที่สุด หัวหน้าเผ่าเหา หลางเฉิน (豪狼岑) เป็นกษัตริย์ของชนเผ่าผานมู่ (槃木) ซึ่งได้รับความเชื่อถืออย่างสูงจากชนเผ่าต่างถิ่นต่าง ๆ ที่เกลียดชีงเตียวหงีที่รุกราน เตียวหงีแทนที่จะโจมตีอำเภอติ้งจั๋ว กลับตัดสินใจข่มขู่ให้ชนเผ่าต่าง ๆ ยอมจำนน เตียงหงีส่งทหารกล้าหลายสิบนายไปจับตัวเหา หลางเฉินมาโบยตีและสังหาร เตียวหงีส่งศีรษะของเหา หลางเฉินกลับไปยังชนเผ่าพร้อมกับประกาศความผิดของเหา หลางเฉินแล้วยังกล่าวว่า:[22]

"อย่ารีบขยับ หากขยับจะถูกกำจัดทันที!"[23]

ชนเผ่าต่างถิ่นได้ยินดังนั้นต่างหน้าถอดสีและขอขมาในความผิดของตน เตียวหงีให้รางวัลกับเหล่าชนเผ่าโดยการฆ่าวัวมาจัดงานเลี้ยงอย่างยิ่งใหญ่และไม่ทำอันตรายเหล่าชนเผ่า เตียวหงีจึงได้รับความเชื่อถือจากเหล่าชนเผ่า และด้วยเหตุนี้เตียวหงีจึงได้อำเภอติ้งจั๋วคืนมา รวมถึงได้แหล่งผลิตเกลือ เหล็ก และเครื่องมือต่าง ๆ ด้วย[24]

ความขัดแย้งกับหลาง ลู่ผู้นำชนเผ่า

แก้

ชายแดนของอำเภอฮ่านเจีย (漢嘉) มีชนเผ่าเหมาหนิว (旄牛) กว่าสี่พันครัวเรือน หลาง ลู่ (狼路) ที่เป็นผู้นำชนเผ่าเหมาหนิวไม่พอใจเตียวหงีจากการเสียชีวิตของตง เฝิงและตง ฉฺวีแห่งชนเผ่าซูฉีอี้ ภรรยาของตง เฝิงเป็นป้าของหลาง ลู่ จึงทำให้หลาง ลู่แค้นใจต่อการเสียชีวิตของตง เฝิง หลาง ลู่ส่งหลาง หลี (狼離) ผู้เป็นอาเข้าบัญชาการกองกำลังของตง เฝิงที่เหลืออยู่และยกไปรบกับเตียวหงี เตียวหงีแทนที่จะนำทัพไปเผชิญหน้า กลับเฝ้าสังเกตการณ์ และจึงส่งญาติของตนคนหนึ่งไปหาหลาง หลีพร้อมนำของกำนัลเช่นวัวและสุราไปมอบให้เพื่อแสดงไมตรี นอกจากนี้พี่สาวของหลาง หลียังอยู่ภายใต้การดูแลของเตียวหงีตั้งแต่ตง เฝิงผู้เป็นสามีของนางถูกประหารชีวิต เตียวหงีจึงส่งนางกลับไปหาครอบครัวเพื่อแสดงความจริงใจ หลาง หลีได้ทั้งของกำนัลและได้พบพี่สาว ทั้งคู่พี่น้องต่างดีใจที่ได้พบกันอีกครั้ง หลาง หลีจึงพาผู้ติดตามไปสวามิภักดิ์ต่อเตียวหงี เตียวหงีมอบรางวัลให้กับหลาง หลีและปฏิบัติด้วยอย่างดี แล้วส่งทั้งหมดกลับไปยังเผ่าเหมาหนิวให้ไปเกลี้ยกล่อมให้ชนเผ่าที่เหลือยอมสวามิภักดิ์ืทั้งหมด[25]

สร้างสัมพันธ์อันดีกับชนเผ่าต่างแดน

แก้

เมืองอวดจุ้นมีถนนสายเก่าที่นำทางจากเมืองอวดจุ้นไปยังเซงโต๋ซึ่งอยู่ในสภาพดี แต่ถนนตัดผ่านอาณาเขตของชนเผ่าเหมาหนิวจึงถูกตัดขาดและไม่ได้ใช้มานานร้อยกว่าปี เตียวหงีส่งคนเป็นทูตไปพบหลาง ลู่พร้อมนำของกำนัลจำนวนมากไปมอบให้ไปมอบให้ และยังร้องขอป้าของหลาง ลู่ให้ช่วยพูดกับหลาง ลู่เช่นกัน หลาง ลู่ยอมรับไมตรีและแสดงความต้องการจะเปิดถนนอีกครั้ง หลาง ลู่จึงนำน้องชาย ภรรยา และบุตรเดินทางไปพบเตียวหงี สาบานเป็นพันธมิตรและทำสัญญาจะเปิดใช้ถนนสายเก่าอีกครั้ง[26]

ผลก็คือตลอดเส้นทางนับพันลี้ได้รับการแผ้วถาง สถานีส่งสารในอดีตได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกันระหว่างเซงโต๋และพื้นที่ด้านตะวันตกได้ เตียวหงีถวายฎีกาถึงราชสำนักให้มอบบรรดาศักดิ์แก่หลาง ลู่ให้เป็นกษัตริย์แห่งเหมาหนิวโกวผี (旄牛㽛毗) ในขณะที่หลาง ลู่ก็ส่งทูตไปยังเซงโต๋เพื่อแสดงความสามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊กอย่างเป็นทางการ จากผลงานในภาคตะวันตกเตียวหงีจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นขุนพลผู้จัดการกิจการทางทหาร (憮戎將軍 อู่หรงเจียงจฺวิน) โดยยังมีอำนาจปกครองเมืองอวดจุ้นเช่นเดิม[27]

แนะนำบิฮุยและจูกัดเก๊ก

แก้

แนะนำบิฮุย

แก้

เตียวหงีเห็นว่าบิฮุยซึ่งเวลานั้นเป็นมหาขุนพลเป็นคนขาดความยับยั้งชั่งใจและแสดงความกรุณาอย่างไม่ระมัดระวัง เตียวหงียังสังเกตเห็นว่าบิฮุยไว้วางใจและปฏิบัติต่อผู้มาใหม่เป็นอย่างดีมากจนเกินไป เตียวหงีจึงส่งจดหมายเตือนบิฮุยว่า "ในอดีต งิมเหง (岑彭 เฉิน เผิง) บัญชาการกองกำลัง และไลเอียก (來歙 หลาย ซี) ถือคถาอาญาสิทธิ์ ทั้งคู่ถูกลอบสังหาร บัดนี้ท่านขุนพลดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจและความสำคัญอย่างยิ่ง ท่านจึงควรเรียนรู้จากอุทาหรณ์ในอดีตและระมัดระวังตนให้มากขึ้น"[28]

ต่อมาบิฮุยก็ถูกลอบสังหารจริง ๆ โดยฝีมือของกัว ซิว (郭脩) ขุนพลจากวุยก๊กที่แปรพักตร์[29]

แนะนำจูกัดเก๊ก

แก้

จูกัดเก๊กราชครูแห่งง่อก๊กเริ่มยกทัพใหญ่จากง่อก๊กเข้าโจมตีรัฐวุยก๊กตั้งแต่ปี ค.ศ. 252 ขุนนางมหาดเล็กจูกัดเจี๋ยมผู้รับราชการกับรัฐจ๊กก๊กเป็นบุตรชายของอดีตอัครมหาเสนาบดีจูกัดเหลียงและเป็นลูกพี่ลูกน้องของจูกัดเก๊ก เตียวหงีเขียนจดหมายถึงจูกัดเจี๋ยมความว่า:[30]

"ซุนกวนเจ้าผู้ครองแดนบูรพาเพิ่งสิ้นชีพไป ซุนเหลียงจักรพรรดิองค์ใหม่ยังเยาว์และอ่อนแอ ราชครู[c]ได้รับความไว้วางใจอย่างสูง เช่นนี้ถือว่าเป็นเรื่องง่ายหรือ ด้วยญาติของท่าน[d]มีความสามารถของจิวกอง (周公 โจวกง) จึงต้องมีคน[ในราชสำนัก]อย่างกว่าน [ฉูเซียน] (管叔鮮) และไช่ [ฉูตู้] (蔡叔度) ที่แพร่ข่าวลือว่าเขาต้องการจะชิงบัลลังก์[e] และเมื่อฮั่ว กวาง (霍光) ได้รับการแต่งตั้งก็มีขุนนางผู้ใหญ่อย่างเยียน (燕) และเก่อ (蓋) วางแผนต่อต้านและก่อกบฏ และต้องพึ่งพาสติปัญญาของเฉิง (成) และเจา (昭) เพื่อหลักเลี่ยงภัยพิบัติ ในอดีต ข้าได้ยินอยู่เสมอว่าเจ้าผู้ครองแดนบูรพา[f] ไม่เคยมอบอาญาสิทธิ์ให้สังหารหรือมอบรางวัลหรือลงโทษแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่บัดนี้เนื่องด้วยการสิ้นชีพของเจ้าผู้ครองแดนบูรพาฝากฝังกิจการในภายหน้าทั้งหมดไว้กับราชครู เป็นเรื่องที่น่าวิตกโดยแท้ ดินแดนง่อและจ๊กนั้นอ่อนแอ ในอดีตก็มีบันทึกเรื่องนี้ไว้ แต่ราชครูกลับปล่อยเจ้าผู้เยาว์ไว้เบื้องหลังและเดินหน้าเผชิญกับข้าศึกที่อยู่ในที่มั่น ข้าเกรงว่านี่ไม่ใช่แผนการที่ดีในระยะยาว แม้มีคำกล่าวว่าดินแดนบูรพามีระเบียบและเคร่งครัด ผู้มีตำแหน่งระดับบนและระดับล่างกลมเกลียวกัน มีร้อยเสียหนึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผู้มีปัญญาพึงต้องคำนึงถึงหรอกหรือ อดีตนำมาสู่บัดนี้ และสิ่งที่เกิดขึ้นบัดนี้ขึ้นอยู่กับอดีต หากท่านไม่เข้าไปแนะนำราชครู จะมีใครอีกบ้างที่จะพูดกับเขาอย่างตรงไปตรงมาได้เล่า [บอกเขาให้]ถอยทัพและพัฒนาการเกษตร บริหารราชการด้วยคุณธรรมและเมตตา ภายในเวลาอีกหลายปี ทั้งตะวันตกและตะวันออกก็จะพัฒนาร่วมกัน เช่นนี้จึงจะไม่สายเกินแก้ หวังว่าท่านจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน[31]

ในที่สุดจูกัดเก๊กก็สูญเสียอิทธิพลในราชสำนักง่อก๊กจริง ๆ หลังพ่ายแพ้ในยุทธการที่หับป๋า (ค.ศ. 253) และตระกูลของจูกัดเก๊กก็ถูกกำจัดทั้งหมดในเวลาต่อมา การมองการณ์ไกลของเตียวหงีเป็นเช่นนี้และมักถูกต้อง[32]

ยุทธการที่เซียงอู่และเสียชีวิต

แก้

กลับไปนครหลวง

แก้

เตียวหงีดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองอวดจุ้นเป็นเวลา 15 ปี พื้นที่ภายใต้การปกครองของเตียวหงีกลายเป็นพื้นที่ที่สงบสุข เมื่อเตียวหงีเห็นว่าภารกิจของตนลุล่วงแล้วจึงขอกลับไปยังนครหลวงหลายครั้ง ในที่สุดคำขอของเตียวหงีก็ได้รับการอนุมัติ เตียวหงีจึงถูกเรียกกลับไปยังนครเซงโต๋ จดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าทั้งเชื้อสายชาวฮั่นและชนเผ่าอื่น ๆ ต่างรู้สึกผูกพันกับเตียวหงีอย่างลึกซึ้ง และจับล้อรถม้าของเตียวหงีพร้อมร้องไห้เมื่อทราบว่าเตียวหงีจะเดินทางจากไป

เมื่อเตียวหงีผ่านดินแดนของชนเผ่าเหมาหนิวโดยใช้ถนนที่ตนและหลาง ลู่ร่วมกันฟื้นฟูขึ้นมา หลาง ลู่ผู้นำชนเผ่าออกมาต้อนรับเตียวหงีโดยแบกลูกไว้บนหลังด้วย หลาง ลู่ตามไปส่งเตียวหงียังชายแดนของเมืองอวดจุ้นและส่งทหารคุ้มกัน 100 คนคุมบรรณาการไปยังเซงโต๋พร้อมกับเตียวหงี[33] เมื่อเตียวหงีไปถึงเซงโต๋ในปี ค.ศ. 254 ได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลปราบโจร (蕩寇將軍 ต้างโคฺ่วเจียงจฺวิน) และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเพื่อนขุนนาง เตียวหงีมีชื่อเสียงในฐานะผู้มีน้ำใจกว้างขวางและเป็นวีรบุรุษ เหล่าบัณฑิตทุกแห่งหนจึงนับถือเตียวหงีอย่างมาก แต่ก็มีบางคนวิจารณ์ว่าเตียวหงีคุณธรรมหย่อนยานและขาดมารยาท[34]

พบกับแฮหัวป๋า

แก้

เตียวหงีพบกับแฮหัวป๋าผู้เป็นขุนพลทหารรถรบและทหารม้า แฮหัวป๋าพูดว่าเตียวหงีว่า "แม้ว่าท่านกับข้าจะยังไม่รู้จักกันดี แต่ข้าบอกความรู้สึกของข้าต่อท่านได้ราวกับเราเป็นเพื่อนเก่ากัน ท่านน่าจะเข้าใจเจตนานี้" เตียวหงีตอบว่า "ข้ายังไม่รู้จักท่านดีและท่านก็ยังไม่รู้จักข้าดี เมื่อวิถีทางใหญ่นำไปสู่ทางอื่น จะพูดถึงความรู้สึกเชื่อใจได้อย่างไร มาสนทนาอีกครั้งในอีกสามปีให้หลังเถิด" บัณฑิตผู้ทรงภูมิถือว่าเรื่องนี้เป็นเกร็ดประวัติที่น่ายกย่องของเตียวหงี[35][g]

ขอร่วมทัพไปเต๊กโตเสีย

แก้

ในปีนั้น หลี เจี่ยน (李簡) นายอำเภอจากรัฐวุยก๊กอันเป็นรัฐอริของจ๊กก๊กได้ลอบติดต่อกับราชสำนักจ๊กก๊กและแสดงความต้องการจะแปรพักตร์ไปเข้าด้วยจ๊กก๊ก เล่าเสี้ยนมีรับสั่งให้จัดการประชุมเพื่อหารือว่าจะยอมรับการแปรพักตร์ของหลี เจี่ยนหรือไม่ ขุนนางหลายคนแสดงความกังวลว่านี่อาจเป็นอุบาย แต่เตียวหงีเชื่อว่าหลี เจี่ยนจริงใจและสามารถทูลโน้มน้าวให้เล่าเสี้ยนเห็นด้วย เล่าเสี้ยนจึงให้ขุนพลเกียงอุยนำทัพทำศึกกับวุยก๊กโดยให้หลี เจี่ยนเป็นไส้ศึกให้ฝ่ายจ๊กก๊กในอาณาเขตของวุยก๊ก เมื่อทัพจ๊กก๊กที่นำโดยเกียงอุยยกมาถึงเต๊กโตเสีย (狄道 ตี๋เต้า) เตียวหงีคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่าหลี เจี่ยนจะนำผู้ติดตามมาเข้าร่วมกับทัพจ๊กก๊กและช่วยเหลือในการยึดเต๊กโตเสีย[36]

เวลานั้นเตียวหงีป่วยด้วยโรคไขข้ออักเสบด้วยวัยชรา ขณะที่เตียวหงีเดินทางมาถึงนครหลวงนั้นอาการก็หนักขึ้นจึงจำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำจึงจะลุกขึ้นยืนได้ เมื่อเกียงอุยนำทัพออกเดินทาง หลายคนในกองทัพคิดว่าควรส่งตัวเตียวหงีกลับไปยังเซงโต๋เพราะอาการป่วยอาจทำให้ไม่สามารถติดตามทำศึกได้ เตียวหงีขอใช้แรงกายทั้งหมดที่เหลือของตนในการรบกับข้าศึก จึงทูลเล่าเสี้ยนว่า:[37]

"กระหม่อมรับใช้ฝ่าบาทผู้แจ่มแจ้งและได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างเหลือประมาณ ยิ่งกว่านั้นร่างกายของกระหม่อมกำลังป่วย กระหม่อมหวั่นเกรงอยู่เสมอว่าเช้าวันหนึ่งกระหม่อมจะล้มลงไปและไม่สามารถตอบพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับจากฝ่าบาท ฟ้าไม่ฝืนความปรารถนาจึงต้องทำการศึก หากมณฑลเลียงจิ๋วสงบลงแล้ว กระหม่อมจะอยู่ป้องกันชายแดน แต่หากไม่อาจชนะก็ขอสละร่างเป็นพลี"[38]

เล่าเสี้ยนตื้นตันพระทัยหลังได้ยินเตียวหงีทูลถึงขั้นหลั่งน้ำพระเนตร และพระราชทานอนุญาตให้เตียวหงีร่วมไปในการทัพ[39]

ยุทธการที่เซียงอู่และเสียชีวิต

แก้

อย่างไรก็ตาม การทัพกลับไม่เป็นไปตามคาดเมื่อกองทัพจ๊กก๊กเข้าตีอำเภอซงบู๋ก๋วน (襄武縣 เซียงอู่เซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอหล่งซี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ที่ซึ่งกองกำลังป้องกันของวุยก๊กนำโดยชิจิดได้ทำการต่อต้านอย่างดุเดือด เตียวหงีต่อสู้ในแนวหน้าร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชา แต่เตียวหงีก็เสียชีวิตในที่รบ แม้ว่าตัวเตียวหงีเองก็ทำให้ทหารข้าศึกบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก[40] จดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าการเสียชีวิตของเตียวหงีเป็นที่โศกเศร้า ไม่มีใครในหมู่ชาวฮั่นและชนเผ่าต่าง ๆ ในเมืองอวดจุ้นที่ไม่ร้องไห้ด้วยความอาลัย มีการสร้างศาลอุทิศให้กับเตียวหงี และมีการเซ่นสรวงอยู่ตลอดแม้ในช่วงเวลาที่เกิดทุพภิกขภัยหรือเกิดความยากลำบากอื่น ๆ[41]

ครอบครัว

แก้

จักรพรรดิเล่าเสี้ยนระลึกถึงวีรกรรมของเตียวหงีในสมรภูมิจึงพระราชทานบรรดาศักดิ์แก่จาง อิง (張瑛) บุตรชายคนโตของเตียวหงีให้เป็นซีเซียงโหฺว (西鄉侯) บรรดาศักดิ์ดั้งเดิมของเตียวหงีสืบทอดมายังจาง ฮู่ฉฺยง (張護雄) บุตรชายคนรอง[42] หลานชายของเตียวหงีชื่อจาง อี้ (張奕) รับราชการเป็นข้าหลวงมณฑลเลียงจิ๋วในยุคราชวงศ์จิ้น[43]

คำวิจารณ์

แก้

ตันซิ่วผู้เขียนชีวประวัติเตียวหงีในจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) วิจารณ์เตียวหงีไว้ว่า "เตียวหงีเป็นผู้กล้าหาญและเก่งในการทำความเข้าใจสถานการณ์ ... ร่วมกับอุยก๋วน ลิอิ๋น ลิคี ม้าตง อองเป๋ง ด้วยความสามารถของพวกเขาเหล่านี้จึงมีชื่อเสียงไปทั่วแผ่นดินและได้โอกาสให้เหลือสิ่งตกทอด"[44]

ตันซิ่วยังให้คำวิจารณ์เตียงหงีในอี้ปู้ฉีจิ้วจฺว้าน (虞翻別傳) ไว้ว่า:

เมื่อดูจากการกระทำ บุคลิก และคำพูดของเตียวหงีไม่ได้น่าเกรงขาม แต่ความสามารถทางยุทธวิธีมีเป็นอันมาก และความกระตือรือร้นก็มีเพียงพอที่จะสร้างฐานอำนาจของตน ในฐานะข้าราชบริพาร เตียวหงีเป็นผู้จงรักภักดีและอุทิศตนเพื่อความซื่อสัตย์ เขาเป็นผู้แจ่มชัดและเที่ยงธรรม กระทำสิ่งใดมักคำนึงถึงกฎหมาย จักรพรรดิเล่าเสี้ยนนับถือเขาเป็นอย่างสูงและเปรียบเขาได้กับนักรบผู้กล้าหาญในยุคโบราณ เขาไม่ไกลเกินกว่านั้นเลย![45]

— ตันซิ่ว

ในนิยายสามก๊ก

แก้

ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 เตียวหงีเป็นขุนพลที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในช่วงปลายสมัยของรัฐจ๊กก๊ก เตียวหงีเข้าร่วมในการทัพของจูกัดเหลียงหลายครั้งและแสดงความนับถืออย่างสูงต่อความอุตสาหะของจูกัดเหลียง บางครั้งเตียวหงีจึงนำตัวไปเสี่ยงในสถานการณ์อันตราย เคยเกือบถูกอองสงสังหารที่ตันฉองก่อนที่เลียวฮัวและอองเป๋งจะมาช่วยชีวิตได้ทัน นอกจากนี้ยังเคยติดกับและถูกจกหยงจับตัวได้ในการทัพบุกลงใต้ เมื่อจูกัดเหลียงป่วยใกล้จะเสียชีวิต ได้กล่าวชื่อของเตียวหงีพร้อมด้วยเลียวฮัว ม้าต้าย อองเป๋ง และเตียวเอ๊กว่าเป็นขุนพลผู้ภักดีแห่งจ๊กก๊กที่ควรได้รับมอบหมายความรับผิดชอบยิ่งขึ้น

ระหว่างการบุกขึ้นเหนือของเกียงอุย เตียวหงีมักเสนอเกียงอุยให้มุ่งจัดการกับกิจการภายในมากกว่าจะโจมตีวุยก๊ก เตียวหงีเสียชีวิตในที่รบในตอนที่ 111[h] ระหว่างที่กำลังช่วยเกียงอุยจากต้านท่าย[47]

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. จากชีวประวัติเตียวหงีในจดหมายเหตุสามก๊ก เตียวหงีควรมีอายุยี่สิบปีเศษเมื่อเล่าปี่ยึดมณฑลเอ๊กจิ๋วในปี ค.ศ. 214
  2. บางครั้งมีการแปลชื่อในภาษาจีนกลางของเตียวหงีเป็น จาง อี๋ เนื่องจากอักษร 嶷 ที่เป็นชื่อตัวของเตียวหงีมีคำอ่านเป็นทั้ง "นี่" หรือ "อี๋"
  3. "ราชครู" ในที่นี้หมายถึงจูกัดเก๊ก
  4. หมายถึงจูกัดเก๊กเช่นกัน
  5. เตียวหงีใช้คำอุปมาเปรียบเทียบฐานะของจูกัดเก๊กว่าเป็นเหมือนกับจิวกองในเหตุการณ์กบฏสามองครักษ์ต่อต้านการเป็นผู้สำเร็จราชการของจิวกอง
  6. "เจ้าผู้ครองแดนบูรพา" (東主 ตงจู่) เป็นคำเรียกที่ให้เกียรติแก่ซุนกวน
  7. แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นไปตามคำตำหนิต่อตัวเตียวหงีก่อนหน้านี้ว่าขาดมารยาท แต่เวลานั้นแฮหัวป๋าเป็นขุนพลที่มีชื่อเสียงและมีนโยบายที่จะปฏิบัติต่อแฮหัวป๋าเป็นอย่างดีเพื่อชักนำให้เกิดการทรยศภายในวุยก๊กมากขึ้น
  8. ตรงกับสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 81[46]

อ้างอิง

แก้
  1. (益部耆舊傳曰:嶷出自孤微,而少有通壯之節。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  2. (先主定蜀之际,山寇攻县,县长捐家逃亡,嶷冒白刃,携负夫人,夫人得免。由是显名,州召为从事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  3. (時郡內士人龔祿、姚伷位二千石,當世有聲名,皆與嶷友善。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  4. (嶷度其鸟散,难以战禽,乃诈与和亲,克期置酒。酒酣,嶷身率左右,因斩慕等五十馀级,渠帅悉殄。寻其馀类,旬日清泰。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  5. (後得疾病困篤,家素貧匱,廣漢太守蜀郡何祗,名為通厚,嶷宿與疏闊,乃自轝詣祗,託以治疾。祗傾財醫療,數年除愈。其黨道信義皆此類也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  6. (拜為牙門將,屬馬忠,北討汶山叛羌,南平四郡蠻夷,輒有籌畫戰克之功。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  7. (益部耆舊傳曰:嶷受兵馬三百人,隨馬忠討叛羌。嶷別督數營在先,至他里。邑所在高峻,嶷隨山立上四五里。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  8. (羌於要厄作石門,於門上施床,積石於其上,過者下石槌擊之,無不糜爛。嶷度不可得攻,乃使譯告曉之曰:) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  9. (「汝汶山諸種反叛,傷害良善,天子命將討滅惡類。汝等若稽顙過軍,資給糧費,福祿永隆,其報百倍。若終不從,大兵致誅,雷擊電下,雖追悔之,亦無益也。」) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  10. (耆帥得命,即出詣嶷,給糧過軍。軍前討餘種,餘種聞他里已下,悉恐怖失所,或迎軍出降,或奔竄山谷,放兵攻擊,軍以克捷。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  11. (後南夷劉冑又反,以馬忠為督庲降討冑,嶷復屬焉,戰鬥常冠軍首,遂斬冑。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  12. (平南事訖,牂牁興古獠種復反,忠令嶷領諸營往討,嶷內招降得二千人,悉傳詣漢中。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  13. (十四年,武都氐王苻健請降,遣將軍張尉往迎,過期不到,大將軍蔣琬深以為念。嶷平之曰:) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  14. (「苻健求附款至,必無他變,素聞健弟狡黠,又夷狄不能同功,將有乖離,是以稽留耳。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  15. (數日,問至,健弟果將四百戶就魏,獨健來從。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  16. (初,越嶲郡自丞相亮討高定之後,叟夷數反,殺太守龔祿、焦璜,是後太守不敢之郡,只住(安定)〔安上〕縣,去郡八百餘里,其郡徒有名而已。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  17. (時論欲復舊郡,除嶷為越嶲太守,嶷將所領往之郡,誘以恩信,蠻夷皆服,頗來降附。北徼捉馬最驍勁,不承節度,嶷乃往討,生縛其帥魏狼,又解縱告喻,使招懷餘類。表拜狼為邑侯,種落三千餘戶皆安土供職。諸種聞之,多漸降服,嶷以功賜爵關內侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  18. (蘇祁邑君冬逢、逢弟隗渠等,已降復反。嶷誅逢。逢妻,旄牛王女,嶷以計原之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  19. (而渠逃入西徼。渠剛猛捷悍,為諸種深所畏憚,遣所親二人詐降嶷,實取消息。嶷覺之,許以重賞,使為反間,二人遂合謀殺渠。渠死,諸種皆安。又斯都耆帥李求承,昔手殺龔祿,嶷求募捕得,數其宿惡而誅之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  20. (始嶷以郡郛宇頹壞,更築小塢。在官三年,徙還故郡,繕治城郭,夷種男女莫不致力。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  21. (定莋、臺登、卑水三縣去郡三百餘里,舊出鹽鐵及漆,而夷徼久自固食。嶷率所領奪取,署長吏焉。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  22. (嶷之到定莋,定莋率豪狼岑,槃木王舅,甚為蠻夷所信任,忿嶷自侵,不自來詣。嶷使壯士數十直往收致,撻而殺之,持尸還種,厚加賞賜,喻以狼岑之惡,且曰:) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  23. (「無得妄動,動即殄矣!」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  24. (種類咸面縛謝過。嶷殺牛饗宴,重申恩信,遂獲鹽鐵,器用周贍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  25. (漢嘉郡界旄牛夷種類四千餘戶,其率狼路,欲為姑婿冬逢報怨,遣叔父離將逢眾相度形勢。嶷逆遣親近齎牛酒勞賜,又令離(姊)逆逢妻宣暢意旨。離既受賜,并見其姊,姊弟歡悅,悉率所領將詣嶷,嶷厚加賞待,遣還。旄牛由是輒不為患。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  26. (郡有舊道,經旄牛中至成都,既平且近;自旄牛絕道,已百餘年,更由安上,既險且遠。嶷遣左右齎貨幣賜路,重令路姑喻意,路乃率兄弟妻子悉詣嶷,嶷與盟誓,開通舊道,) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  27. (千里肅清,復古亭驛。奏封路為旄牛㽛毗王,遣使將路朝貢。後主於是加嶷憮戎將軍,領郡如故。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  28. ([張]嶷初見費禕為大將軍,恣性汎愛,待信新附太過,嶷書戒之曰:「昔岑彭率師,來歙杖節,咸見害於刺客,今明將軍位尊權重,宜鑒前事,少以為警。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  29. (後禕果為魏降人郭脩所害。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  30. (吳太傅諸葛恪以初破魏軍,大興兵眾以圖攻取。侍中諸葛瞻,丞相亮之子,恪從弟也,嶷與書曰:) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  31. (「東主初崩,帝實幼弱,太傅受寄託之重,亦何容易!親以周公之才,猶有管、蔡流言之變,霍光受任,亦有燕、蓋、上官逆亂之謀,賴成、昭之明,以免斯難耳。昔每聞東主殺生賞罰,不任下人,又今以垂沒之命,卒召太傅,屬以後事,誠實可慮。加吳、楚剽急,乃昔所記,而太傅離少主,履敵庭,恐非良計長算之術也。雖云東家綱紀肅然,上下輯睦,百有一失,非明者之慮邪?取古則今,今則古也,自非郎君進忠言於太傅,誰復有盡言者也!旋軍廣農,務行德惠,數年之中,東西並舉,實為不晚,願深採察。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  32. (恪竟以此夷族。嶷識見多如是類。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  33. (在郡十五年,邦域安穆。屢乞求還,乃徵詣成都。(夷民)〔民夷〕戀慕,扶轂泣涕,過旄牛邑,邑君襁負來迎,及追尋至蜀郡界,其督相率隨嶷朝貢者百餘人。) จดหมายเหคุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  34. (嶷至,拜盪寇將軍,慷慨壯烈,士人咸多貴之,然放蕩少禮,人亦以此譏焉,是歲延熙十七年也。) จดหมายเหคุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  35. (益部耆舊傳曰:時車騎將軍夏侯霸謂嶷曰:「雖與足下疏闊,然託心如舊,宜明此意。」嶷答曰:「僕未知子,子未知我,大道在彼,何云託心乎!願三年之後徐陳斯言。」有識之士以為美談。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  36. 魏狄道長李簡密書請降,衛將軍姜維率嶷等因簡之資以出隴西。〔二〕既到狄道,簡悉率城中吏民出迎軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  37. (益部耆舊傳曰:嶷風溼固疾,至都寖篤,扶杖然後能起。李簡請降,眾議狐疑,而嶷曰必然。姜維之出,時論以嶷初還,股疾不能在行中,由是嶷自乞肆力中原,致身敵庭。臨發,辭後主曰:) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  38. (「臣當值聖明,受恩過量,加以疾病在身,常恐一朝隕沒,辜負榮遇。天不違願,得豫戎事。若涼州克定,臣為藩表守將;若有未捷,殺身以報。」) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  39. (後主慨然為之流涕。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  40. (軍前與魏將徐質交鋒,嶷臨陳隕身,然其所殺傷亦過倍) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  41. (南土越嶲民夷聞嶷死,無不悲泣,為嶷立廟,四時水旱輒祀之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  42. (既亡,封長子瑛西鄉侯,次子護雄襲爵。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  43. (蜀世譜曰:嶷孫奕,晉梁州刺史。) ฉู่ชื่อผู่
  44. (評曰:...張嶷識斷明果,咸以所長,顯名發跡,遇其時也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  45. (益部耆舊傳曰:余觀張嶷儀貌辭令,不能駭人,而其策略足以入算,果烈足以立威,為臣有忠誠之節,處類有亮直之風,而動必顧典,後主深崇之。雖古之英士,何以遠踰哉!)"อี้ปู้ฉีจิ้วจฺว้าน"
  46. "สามก๊ก ตอนที่ ๘๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 5, 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  47. สามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้)

บรรณานุกรม

แก้