พระบรมโกศ , พระโกศ และ โกศ คือที่ใส่พระบรมศพ พระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ กับโกศที่พระราชทานสำหรับศพข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์สูง ตามคตินิยมของพราหมณ์ที่เชื่อว่า ต้องตั้งพระบรมศพ ,พระศพ และ ศพที่มีบรรดาศักดิ์สูง ในท่ายืน, นั่ง, คุกเข่า หรือกอดเข่าประสานมือ เพื่อส่งดวงพระวิญญาณ /วิญญาณกลับสู่สรวงสวรรค์[1][2] ในสมัยปัจจุบันโกศมักจะเป็นเพียงเครื่องยศเท่านั้นเพราะส่วนมากจะเชิญลงหีบ[ต้องการอ้างอิง]

พระเบญจาประดิษฐานพระโกศทองใหญ่ทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตีพิมพ์ในหนังสือ "Description du Royaume Thai ou Siam" (ตีพิมพ์ภาษาไทยในชื่อ "เล่าเรื่องกรุงสยาม") ของบาทหลวงฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1854 (พ.ศ. 2397)
พระโกศพระบรมอัฐิ

ประเภท

แก้

พระโกศเป็นภาชนะเครื่องสูงมีรูปทรงเป็นกรวยมียอดแหลม อาจแยกตามวัตถุประสงค์การใช้งานเป็น 2 ประเภทคือ พระโกศสำหรับทรงพระบรมศพหรือพระศพ และ พระโกศพระบรมอัฐิหรือพระอัฐิ ซึ่งพระโกศพระบรมศพมี 2 ชั้น คือชั้นนอกเรียกว่า "ลอง" ทำด้วยโครงไม้หุ้มทองปิดทอง ประดับกระจกอัญมณี และ ชั้นใน เรียก "โกศ" ทำด้วยเหล็ก ทองแดงหรือเงิน ปิดทอง ลองชั้นนอกใช้ประกอบปิดโครงชั้นในสำหรับลอง หรือ พระลอง ที่ประดับอยู่ภายนอกของโกศ ต่อมานิยมเรียกพระลอง เป็นพระโกศแทน จนเข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกัน เช่น เรียกพระลองทองใหญ่ ว่าพระโกศทองใหญ่ เป็นต้น[3]

พระโกศและโกศแบ่งตามลำดับยศมีอยู่ 14 อย่าง ดังนี้[1]

ลำดับ ชื่อเรียก ใช้กับ ผู้โปรดให้สร้าง ครั้งแรก ลักษณะ
ลำดับที่ 1 พระโกศทองใหญ่ - พระมหากษัตริย์
- พระอัครมเหสี
- พระยุพราช / สยามมกุฎราชกุมาร / สยามบรมราชกุมารี

- พระบรมราชชนก / พระบรมราชชนนี

- พระบรมราชวงศ์ที่ทรงโปรดเกล้าพระราชทานเป็นพิเศษ

รัชกาลที่ 1 ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ทรง 8 เหลี่ยม หุ้มด้วยทองคำตลอดองค์ ประดับดอกไม้เอว ฝายอดมงกุฎ มีดอกไม้เพชรพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับยอด มีดอกไม้ไหวประดับชั้นฝาพระโกศ และฝาพระโกศประดับเฟื่องและพู่เงิน
ลำดับที่ 2 พระโกศทองรองทรง
(นับเสมอพระโกศทองใหญ่)
- พระมหากษัตริย์
- พระอัครมเหสี
- พระยุพราช/ สยามมกุฎราชกุมาร / สยามมกุฎราชกุมารี - พระบรมราชชนก / พระบรมราชชนนี
- พระบรมราชวงศ์ที่ทรงโปรดเกล้าพระราชทานเป็นพิเศษ
รัชกาลที่ 5 ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ทรง 8 เหลี่ยม หุ้มด้วยทองคำตลอดองค์ ฝายอดมงกุฎ
ลำดับที่ 3 พระโกศทองเล็ก - สมเด็จเจ้าฟ้า
(ชั้นเอก)
รัชกาลที่ 5 ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง 8 เหลี่ยม หุ้มด้วย ทองคำทั้งองค์
ลำดับที่ 4 พระโกศทองน้อย - สมเด็จเจ้าฟ้า (ชั้น โท - ตรี)

- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า (กรมพระยา)

- สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

รัชกาลที่ 4 ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ทรง 8 เหลี่ยม ยอดมงกุฎปิดทองทองประดับกระจก มีดอกไม้เพชรพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับยอดพระโกศ และฝาพระโกศประดับเฟื่องและพู่เงิน
ลำดับที่ 5 พระโกศกุดั่นใหญ่ - สมเด็จพระสังฆราช รัชกาลที่ 1 ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ทรง 8 เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปปิดทองล่อง ชาดประดับ
ลำดับที่ 6 พระโกศกุดั่นน้อย - พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

- ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่ง

- ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์

- ขุนนางชั้น สมเด็จเจ้าพระยา หรือ เทียบเท่า

รัชกาลที่ 1 ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ทรง 8 เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปปิดทองประดับกระจกสี
ลำดับที่ 7 พระโกศมณฑปใหญ่ - พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าขึ้นไป หรือ ทรงกรม รัชกาลที่ 4 ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง 4 เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปปิดทองประดับกระจกสี ลองในเป็นสี่เหลี่ยม
ลำดับที่ 8 พระโกศมณฑปน้อย - พระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้า

- ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า

- ประธานองคมนตรี / องคมนตรี ที่เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่ง

- ขุนนางชั้น เจ้าพระยา (ชั้น สุพรรณบัฎ) หรือ เทียบเท่า

รัชกาลที่ 4 ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง 4 เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปปิดทองประดับกระจกสี
ลำดับที่ 9 พระโกศไม้สิบสอง - พระองค์เจ้าฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล / สถานภิมุข
- นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่ง
- สมเด็จพระราชาคณะ
- ขุนนางชั้นเจ้าพระยา (ชั้นสัญญาบัฎ / หิรัญบัฎ) หรือ เทียบเท่า
รัชกาลที่ 1 ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายย่อมุม ทรงพระศพหักเหลี่ยมทรงไม้สิบสอง ฝายอดทรงมงกุฎปิดทอง ประดับกระจกสี
ลำดับที่ 10 พระโกศราชวงศ์
(มีอีกชื่อว่าพระโกศพระองค์เจ้า

เดิมเรียกว่า

โกศลังกา)

- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
- หม่อมเจ้า ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ขึ้นไป / เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้า
รัชกาลที่ 4 ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง 4 เหลี่ยม ฝายอดทรงชฎาพอกปิดทองล่องชาดประดับ ลองในเป็น 4 เหลี่ยมสีขาวคล้ายหีบศพตั้งขึ้น มีฝาเป็นยอด
ลำดับที่ 11 โกศราชนิกุล - ราชสกุล / ราชินิกุล ที่ได้รับพระราชทาน โกศโถ ให้เปลี่ยนมารับพระราชทาน โกศราชนิกุล แทน รัชกาลที่ 4 ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง 4 เหลี่ยม ตัดมุมผ่าทรงชฎาปิดทองประดับกระจกสี
ลำดับที่ 12 โกศเกราะ - ผู้ที่ได้รับพระราชทานโกศโถ / โกศแปดเหลี่ยม แต่ มีรูปร่างใหญ่

มิสามารถลงลองสามัญได้ ก็ให้ใช้ โกศเกราะ แทน

รัชกาลที่ 4 มีขนาดใหญ่ มีลวดลายเกราะรัด
ลำดับที่ 13 โกศแปดเหลี่ยม - พระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง

- คุณท้าวนางสนองพระโอษฐ์

- เจ้าจอมมารดา

- หม่อมเจ้าที่ไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ถ้าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานโกศจะได้รับพระราชทาน โกศแปดเหลี่ยม

- ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือก ขึ้นไป / ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

- ขุนนางชั้น พระยาพานทอง หรือ เทียบเท่า

รัชกาลที่ 1 ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง 8 เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑป ปิดทองล่องชาด ประดับกระจกสี
ลำดับที่ 14 โกศโถ - พระราชาคณะชั้นธรรม

- ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย / ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ / ทุติยจุลจอมเกล้า

- ขุนนางชั้น พระยา หรือ เทียบเท่า

รัชกาลที่ 1 ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายรูปกลม ฝายอดปริก ปิดทองประดับกระจก
* แต่เดิม ขุนนางชั้น เจ้าพระยา จะได้รับพระราชทาน โกศแปดเหลี่ยม แต่เปลี่ยนมาพระราชทานโกศไม้สิบสอง กับ โกศมณฑป ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

แม้พระโกศ/โกศ มีการแบ่งลำดับตามฐานันดรศักดิ์อย่างชัดเจน แต่บางครั้งอาจมีการเลื่อนลำดับชั้นให้สูงขึ้นได้ ตามแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อาทิเช่น

สำหรับพระโกศทองใหญ่ ซึ่งถือเป็นพระโกศที่ประกอบ พระอิสริยยศ ตามธรรมเนียมการประดับตกแต่งพระโกศ มีความลดหลั่นกันเป็นหลายชั้นตามพระเกียรติยศ พระบรมศพ หรือพระศพ[9]

ประวัติ

แก้
 
โกศโถซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นเกียรติยศแก่ศพพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) บนศาลาการเปรียญวัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี (พ.ศ. 2554)

การใช้โกศบรรจุพระบรมศพ พระศพ และ ศพขุนนางชั้นผู้ใหญ่มีธรรมเนียมทำกันมานานแล้ว โกศนั้นมีชั้นเชิงแตกต่างกัน การที่ไทยใช้โกศนี้ไม่มีผู้ใดทราบว่าเริ่มแต่สมัยใด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตรัสเล่าให้ว่า "น่าจะเป็นแต่สมัยที่ไทยโบราณยังเป็นชนที่ไม่มีถิ่นประจำและเร่ร่อนอยู่ จึงต้องเอาศพของพ่อเมืองขึ้นเกวียนไปด้วย และตั้งในเกวียนตั้งตามแบบโกศง่ายกว่าหีบยาว ๆ" การใช้โกศในไทยปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงการออกพระเมรุมาศและการบรรจุพระโกศอัฐิในวัดพระศรีสรรเพชญ์[10] ซึ่งโกศทั้งหลายเหล่านั้น น่าจะถูกทำลายตั้งแต่ครั้งการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 หมดแล้ว ส่วนโกศที่เก่าที่สุดที่พบอายุประมาณสมัยกรุงธนบุรี[11] และจากตำนานพระโกศทั้งปวงนี้ตามพงศาวดารบ้าง บอกเล่าบ้าง สันนิษฐานเอาบ้าง เรียงลำดับตามอายุดังนี้[12]

ที่ 1 โกศแปดเหลี่ยม มีอยู่ 4 โกศ มีโกศหนึ่งที่เก่าแก่มาก ไม่ทราบว่าสร้างเมื่อใด มีลวดลาย เป็นอย่างเดียวกับช่างครั้งรัชกาลที่ 1 แต่ฝีมือทำนั้นหยาบมาก ด้วยเหตุที่เวลาว่างการทัพศึกมีน้อย และโกศแปดเหลี่ยมนี้ มีลักษณะอย่างเดียวกันกับพระโกศกุดั่น ที่ปรากฏว่าสร้างครั้งแรกในรัชกาลที่ 1 แต่โกศแปดเหลี่ยมมีมาอยู่ก่อนหน้าแล้ว เข้าใจว่าโกศแปดเหลี่ยมนี้เก่าแก่กว่าโกศอื่นทั้งหมด ด้วยทำยอดเป็นหลังคา ที่แปลงมาจามเหมตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า (โกศที่เก่าแก่ที่สุด) ส่วนอีก 3 โกศนั้น สันนิษฐานว่าทำราวรัชกาลที่ 3 หรือ 4 อีกโกศหนึ่งกรมหมื่นปราบปรปักษ์ทำขึ้นในรัชกาลที่ 5 ใช้ประกอบศพหม่อมแม้น ในสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ครั้งแรก อีกโกศหนึ่ง กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ ขอพระบรมราชานุญาตทำถวายในรัชกาลนี้ ใช้ประกอบศพเจ้าจอมมารดาสังวาล เป็นครั้งแรก

ที่ 2 โกศโถ มีอยู่ 2 โกศ โกศหนึ่งนั้นเก่ามากลวดลายและฝีมือเหมือนกับโกศแปดเหลี่ยมใบเก่า ใช้มาแต่รัชกาลที่ 1 แล้ว ซึ่งน่าจะประกอบกับฝีมือที่ทำรุ่นเดียวกับโกศแปดเหลี่ยม แต่ทำที่หลังโกศแปดเหลี่ยม ในปัจจุบันใช้สำหรับพระราชทานพระราชาคณะและข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ ได้รับพระราชทานโกศเป็นชั้นต้น อีกโกศหนึ่งทำขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลังการเป็นผู้ทำ โดยรับสั่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์

 
พระโกศกุดั่นใหญ่ประกอบพระอิสริยยศซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นเกียรติยศแก่พระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2558)

ที่ 3 พระโกศกุดั่น 2 พระโกศ สร้างในรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2342) ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ และมีการเล่าขานกันว่าพระโกศองค์หนึ่งชำรุดไป สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงค้นได้มาแต่ตัวพระโกศ จึงทรงทำฝาและฐานใหม่ประกอบเข้า เรียกพระโกศองค์นี้ว่า "กุดั่นใหญ่" ส่วนอีกองค์หนึ่งที่สร้างในรัชกาลที่ 1 ที่ไม่ชำรุดเรียก "กุดั่นน้อย" และถือว่าพระโกศกุดั่นใหญ่เกียรติยศสูงกว่าพระโกศกุดั่นน้อย

ที่ 4 พระโกศไม้สิบสอง มีตำนานว่าสร้างในรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2346) ทรงพระบรมศพ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ลอกทองจากพระโกศกุดั่นที่หุ้มไว้แต่เดิม มาหุ้มพระโกศไม้สิบสองแทน นำออกใช้ครั้งแรกประดิษฐานพระโกศไม้สิบสองในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)

ที่ 5 พระโกศทองใหญ่ สร้างในรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2351) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้รื้อทองที่หุ้มกระโกศกุดั่นมาทำพระโกศทองใหญ่ขึ้นไว้ สำหรับพระบรมศพของพระองค์ แต่เมื่อ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระอาลัยมาก จึงโปรดฯให้เชิญพระโกศทองใหญ่ไปประกอบพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นครั้งแรก และเป็นประเพณีในรัชกาลต่อมา ที่พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพอื่นเป็นพิเศษนอกจากพระบรมศพ[13]

ที่ 6 พระโกศพระองค์เจ้า มีอยู่ 2 พระโกศ เรียกกันแต่แรกว่าโกศลังกา สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำริให้สร้าง แต่ครั้งยังผนวช เป็นลองสี่เหลี่ยมหุ้มผ้าขาว ยอดเป็นฉัตรระบายผ้าขวา ทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ (ก่อนมีพระโกศมณฑปน้อย) ต่อมาโกศนี้ สำหรับทรงพระศพพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงทรงคิดทำประกอบนอกขึ้น และกรมหมื่นปราบปรปักษ์ทำเติมขึ้นใหม่อีกพระโกศหนึ่ง

 
พระโกศทองน้อยประดิษฐานพระศพ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2528)

ที่ 7 พระโกศทองน้อย สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394) โดยกรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ โปรดให้สร้างขึ้น สำหรับทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาผลัดพระโกศทองใหญ่ ไปตั้งในงานอื่น พระโกศทองน้อยนี้ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) สร้างเมื่อในรัชกาลที่ 5 อีกองค์หนึ่ง พระโกศทองน้อย ใช้ทรงพระศพ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เป็นองค์ล่าสุด

ที่ 8 พระโกศมณฑปน้อย สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ 4 โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ พระโกศนี้หุ้มทองคำเฉพาะงาน

ที่ 9 พระโกศมณฑปใหญ่ สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2406) โดยกรมขุนราชสีหวิกรม เอาแบบมาแต่พระโกศมณฑปน้อย ทรงพระศพกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ด้วยเหตุที่กรมพระพิทักษ์เทเวศร์พระรูปใหญ่โต พระศพลงลองพระโกศสามัญไม่ได้ ต้องทำลองสี่เหลี่ยมขึ้นโดยเฉพาะ พระโกศมณฑปใหญ่นี้ต่อมาสร้างขึ้นอีกองค์หนึ่ง แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ทราบแน่

ที่ 10 โกศเกราะ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2406) สำหรับศพเจ้าพระยานิกรบดินทร ด้วยท่านอ้วน ศพลงลองสามัญไม่ได้ ต้องทำลองสี่เหลี่ยม เรียกว่า "โกศเกราะ" เพราะลายสลักเป็นเกราะรัด

ที่ 11 โกศราชนิกุล โปรดฯ ให้กรมขุนราชสีหวิกรมสร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2406) พระราชทานให้ประกอบศพพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ท่านแรก

ที่ 12 พระโกศทองเล็ก โปรดฯ ให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2430) ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นทีแรก แล้วได้ใช้ทรงพระศพเจ้านายต่อมา

ที่ 13 พระโกศทองรองทรง โปรดฯให้กรมหมื่นปราปรปักษ์สร้างขึ้นแต่ในรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2443) พระโกศองค์นี้นับเหมือนพระโกศองค์ใหญ่ สำหรับใช้แทนที่พระโกศทองน้อย เวลาที่จะต้องหุ้มทองคำ เพื่อจะไม่ให้ต้องหุ้มเข้าและรื้อออกบ่อยๆ

สถานที่ที่ตั้งโกศ

แก้

เมื่อบรรจุพระศพลงพระโกศตามลำดับชั้นของโกศแล้ว จึงจะเชิญพระโกศทรงพระศพ ขึ้นประดิษฐานบนสถานที่ต่าง ๆ ตามพระอิสริยยศและเกียรติยศของโกศนั้น ๆ เป็นสำคัญ โดยแบ่งเป็นการประดิษฐานพระศพภายในพระบรมมหาราชวัง และ การประดิษฐานพระศพนอกพระบรมมหาราชวัง โดยการประดิษฐานในพระราชวังแต่เดิมจะประดิษฐานบนพระแท่นสุวรรณเบญจดลภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หอธรรมสังเวช หอนิเพธพิทยา หออุเทศทักษิณา

ต่อมาในรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อหอทั้งสามลงแล้วไปปลูกใหม่บริเวณริมกำแพงแก้ว โดยในปัจจุบันการประดิษฐานพระศพจะประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ศาลาสหทัยสมาคม (สำหรับพระศพ/ศพพิเศษ) โดยไม่ได้ประดิษฐานพระศพบนหอต่างๆ อีก แต่จะเชิญออกไปประดิษฐานยังพระที่นั่งหรือศาลาอื่นแทน อาทิ พระที่นั่งทรงธรรม ศาลามรุพงษ์ ศาลาบัณรศภาคย์ ฯลฯ โดยพระศพที่ประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทจะประดิษฐานเฉพาะพระบรมศพของสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราช และพระศพเจ้านายฝ่ายในเท่านั้น เว้นแต่ พระบรมศพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ส่วนการประดิษฐานพระศพนอกพระราชวังนั้น จะเป็นเจ้านายฝ่ายหน้าเสียส่วนใหญ่และจะเป็นเจ้านายที่ออกวังไปแล้วหากเจ้านายฝ่ายในบางพระองค์ที่สิ้นพระชนม์ยังวังของเจ้าพี่-เจ้าน้องก็อาจจะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดิษฐานพระศพยังวังนั้นๆ ได้เช่นกัน แต่ละสถานที่จะมีลำดับเกียรติต่างกัน ดังนี้

ลำดับ สถานที่ พระอิสริยยศ ที่ตั้งของสถานที่ ชั้นแท่นแว่นฟ้า
ลำดับที่ 1 พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระมหากษัตริย์
พระอัครมเหสี
สมเด็จพระยุพราช
พระบรมวงศ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเป็นพิเศษ
พระบรมมหาราชวัง 5 ชั้น
ลำดับที่ 2 พระที่นั่งในพระราชวัง พระมเหสี
สมเด็จเจ้าฟ้า
พระราชวังดุสิต 5 ชั้น
ลำดับที่ 3 พระที่นั่งทรงธรรม พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเป็นพิเศษ
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร 3 ชั้น
ลำดับที่ 4 หอธรรมสังเวช หอนิเพธพิทยา หออุเทศทักษิณา สมเด็จเจ้าฟ้า
พระองค์เจ้า
พระบรมมหาราชวัง 3 ชั้น
ลำดับที่ 4 วังต่าง ๆ เจ้านายฝ่ายหน้าที่ออกวังไปแล้ว
ฝ่ายในที่ทรงโปรดเกล้าพระราชทานเป็นพิเศษ
วัง 3 ชั้น
ลำดับที่ 5 ศาลาสหทัยสมาคม สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ทรงกรม
พระราชวงศ์ใกล้ชิด
เสนาบดีที่เป็นราชสกุล
พระบรมมหาราชวัง 3 ชั้น
ลำดับที่ 5 ศาลามรุพงษ์ พระนางเธอลักษมีลาวัณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร 3 ชั้น
ลำดับที่ 6 ศาลาบัณณรศภาค ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้น ปฐมจุลจอมเกล้า , องคมนตรี , นายกรัฐมนตรี และ ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเป็นพิเศษ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ชั้นเดียว
ลำดับที่ 6 ศาลาภานุรังษี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ชั้นเดียว

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 ตำนานพระโกศ
  2. เล่าขานโบราณราชประเพณี เรื่องการพระราชพิธี พระศพ เก็บถาวร 2008-01-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน thairath.co.th
  3. พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ เล่าขาน...งานพระเมรุ. (กรุงเทพฯ : บันทึกสยาม, 2539) น.10-11
  4. สมภพ ภิรมย์, พลเรือตรี. พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยรัตนโกสินทร์. น.33
  5. เชิญพระโกศทองน้อยประดิษฐานพระศพ “สมเด็จพระสังฆราช”
  6. ปีย์ มาลากุล, หม่อมหลวง. "ระเบียบการศพ," ในตำนานพระโกศและหีบบรรดาศักดิ์ ระเบียบการศพ และคำเตือนการปฏิบัติราชการในราชสำนัก. น.35.
  7. หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 น.10
  8. ปีย์ มาลากุล, หม่อมหลวง. "ระเบียบการศพ," น.35
  9. หนังสือพระราชทานในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร เก็บถาวร 2008-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน posttoday.com
  10. นนทพร มั่งมี. "ท้ายจระนำ-ปราสาทจัตุรมุขในวัดพระศรีสรรเพชญ์," ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 28 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2550) หน้า 42-47
  11. คือโกศแปดเปลี่ยมและโกศโถ อาจถูกสร้างในสมัยกรุงธนนบุรี ดูรายละเอียดใน กรมพระสมมตอมรพันธ์ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์. "เรื่องตำนานพระโกศและหีบบรรดาศักดิ์," ใน ตำนานพระโกศและหีบบรรศักดิ์ระเบียบการศพ และคำเตือนการปฏิบัติราชการในราชสำนัก. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลย์ศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์). (พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2524) หน้า 2-3.
  12. ตำนานพระโกศ.
  13. เจ้าชีวิต พระนิพนธ์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้