ลิคี (เสียชีวิต ค.ศ. 225) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ลฺหวี ข่าย (จีน: 呂凱; พินอิน: Lǚ Kǎi) ชื่อรอง จี้ผิง (จีน: 季平; พินอิน: Jìpíng) เป็นขุนนางของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน[1]

ลิคี (ลฺหวี ข่าย)
呂凱
รูปปั้นลิคีที่ศาลจูกัดเหลียงในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน
เจ้าเมืองยูนนาน (雲南太守 ยฺหวินหนานไท่โฉฺ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 225 (225) – ค.ศ. 225 (225)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครเป่าชาน มณฑลยูนนาน
เสียชีวิตค.ศ. 225
มณฑลยูนนาน
บุตรลฺหวี่ เสียง
อาชีพขุนนาง
ชื่อรองจี้ผิง (季平)
บรรดาศักดิ์หยางเชียนถิงโหว
(陽遷亭侯)

ภูมิหลัง

แก้
 
รูปลิคีจากเกม Romance Of The Three Kingdoms XI

ลิคีเป็นชาวอำเภอปู้เหวย์ (不韋縣 ปู้เหว่ย์เซี่ยน) เมืองเองเฉียง (永昌郡 หย่งชางจฺวิ้น) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของนครเป่าชาน มณฑลยูนนานในปัจจุบัน[2] กล่าวกันว่าลิคีมาจากตระกูลเดียวกันกับลฺหวี่ ปู้เหวย์ (呂不韋) หรือลิปุดอุย รัฐบุรุษแห่งรัฐจิ๋น (秦 ฉิน) ในยุครณรัฐที่ถูกเนรเทศไปยังภูมิภาคจ๊ก (ปัจจุบันคือมณฑลเสฉวน) หลังจากที่สิ้นอำนาจ[a]

รับราชการในจ๊กก๊ก

แก้

ลิคีเริ่มรับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปกครองหรือกงโจ (功曹 กงเฉา)[1] ในที่ว่าการของเมืองเองเฉียง[4]

หลังเล่าปี่จักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐจ๊กก๊กสวรรคตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 223[5] ยงคี (雍闓 ยง ข่าย) ผู้นำชนเผ่าในภูมิภาคหนานจง (ครอบคลุมบางส่วนของมณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว และทางใต้ของมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) ทางใต้ของจ๊กก๊ก เริ่มก่อกบฏต่อรัฐจ๊กก๊ก[6] ในช่วงเวลานั้น ลิเงียมขุนพลจ๊กก๊กเขียนจดหมายทั้งหมด 6 ฉบับไปถึงยงคีเพื่อห้ามไม่ให้ยงคีก่อกบฏ แต่ยงคีตอบปฏิเสธกลับด้วยความหยิ่งยโส[7] ยงตียังได้สวามิภักดิ์ต่อรัฐง่อก๊กรัฐพันธมิตรที่เวลานั้นกลับเป็นรัฐอริต่อรัฐจ๊กก๊ก ซุนกวนผู้ปกครองง่อก๊กจึงแต่งตั้งให้ยงคีเป็นเจ้าเมืองเองเฉียง (永昌郡 หย่งชางจฺวิ้น; ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนทางตะวันตกของมณฑลยูนนานในปัจจุบัน) แม้ว่าเวลานั้นเมืองเองเฉียงจะอยู่ภายใต้การปกครองของจ๊กก๊กก็ตาม[8]

เมืองเองเฉียงตั้งอยู่ห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของจ๊กก๊กและค่อนข้างจะแแยกขาดจากเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊ก เนื่องจากถนนที่เชื่อมระหว่างเซงโต๋และเมืองเองเฉียงนั้นใช้เดินทางได้ลำบากหรือแทบจะใช้สัญจรไม่ได้เลย[9] เมื่อยงคีมาถึงเมืองเองเฉียงจะมาครองเมือง ลิคีและเพื่อนขุนนางชื่ออ้องค้าง (王伉 หวาง ค่าง) ปฏิเสธที่จะยอมรับความชอบธรรมของยงคีในการครองเมือง ทั้งคู่นำข้าราชการและราษฎรในท้องถิ่นต่อต้านยงคีและป้องกันไม่ให้ยงคีเข้าเมืองเองเฉียง[10][1]

ยงคีเขียนคำประกาศเข้าไปในเมืองเองเฉียงหลายครั้ง พยายามโน้มน้าวคนในเมืองทุกคนว่าตนเป็นเจ้าเมืองเองเฉียงอย่างถูกต้อง[11] ลิคีเขียนจดหมายตอบยงคีไปว่า:

"สวรรค์นำหายนะและความวุ่นวายมาให้ ขุนศึกลุกขึ้นสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจ ทั่วทั้งแผ่นดินรู้สึกขุ่นเคืองและเศร้าสลด ทุกคนไม่ว่าอยู่ในสถานะใดต่างพยายามอย่างสุดกำลังเพื่อช่วยเหลือแผ่นดินและเตรียมสละชีพเมื่อถึงคราว ท่านขุนพลและครอบครัวได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากราชวงศ์ฮั่นมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านควรรวบรวมผู้ติดตามและเป็นผู้นำในการกระทำอันเป็นการตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของจักรพรรดิ หากทำเช่นนั้นก็ไม่ทำให้บรรพบุรุษของท่านอับอาย และยังเหลือชื่อเสียงอันดีไว้ในประวัติศาสตร์ แต่ท่านกลับไปสวามิภักดิ์ต่อง่อและทรยศต่อรากเหง้าของท่านเอง ในอดีต พระเจ้าซุนเต้ (舜 ชุ่น) ทรงงานหนักเพื่อราษฎรและสวรรคตที่ชางอู๋ (蒼梧) ประวัติศาสตร์จดจำพระองค์ในเรื่องพระราชกรณีกิจอันยิ่งใหญ่ พระศพของพระองค์ฝังที่เจียงผู่ (江浦) ช่างน่าเสียดาย! พระเจ้าจิวบุนอ๋อง (文 เหวิน) และพระเจ้าจิวบูอ๋อง (武 อู่) ได้รับอาณัติสวรรค์ แต่แผ่นดินมาสงบในสมัยของเฉิงหวาง (成王) จักรพรรดิองค์ก่อน (เล่าปี่) เถลิงราชย์ ทรงได้รับการสนับสนุนจากทัวแผ่นดินและทรงมีข้าราชบริพารที่เก่งกาจและชาญฉลาดถวายงานรับใช้ เป็นสัญญาณว่าสวรรค์ประทานความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองแก่แผ่นดินของพระองค์ ท่านขุนพลไม่เรียนรู้อุทาหรณ์จากประวัติศาสตร์จึงมองไม่เห็นหายนะที่จะเกิดต่อท่านในภายหน้า โปรดลองนึกถึงไฟป่าที่เผาผลาญทุ่งหญ้าหรือผู้คนที่ข้ามแม่น้ำที่เยือกแข็ง เมื่อไฟมอดลงและน้ำแข็งละลาย จะพึ่งพาสิ่งใดได้ ยงโหว[b] (雍侯) บรรพบุรษของท่านเคยเป็นศัตรูของราชวงศ์ฮั่น แต่ราชวงศ์ฮั่นก็ยังตั้งให้มีบรรดาศักดิ์โหว โตฺ้ว หรง (竇融) รู้ว่าราชวงศ์ฮั่นตะวันออกจะขึ้นมารุ่งเรือง จึงสวามิภักด์ต่อชื่อจู่[c] (世祖) และเหลือชื่อเสียงอันดีงามไว้ในประวัติศาสตร์ คนรุ่นหลังล้วนแซ่ซ้องสรรเสริญ บัดนี้ท่านอัครมหาเสนาบดีจูกัดเป็นผู้มีความสามารถและมีสติปัญญาอย่างสูง นับแต่จักรพรรดิองค์ก่อนทรงฝากฝังให้ดูแลฝ่าบาท (เล่าเสี้ยน) ก็นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่รัฐได้เป็นอย่างดี ท่านอัครมหาเสนาบดีไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเมื่อเกิดการวิวาทระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชา และยกย่องส่งเสริมผู้คนด้วยน้ำใจกว้างขวางไม่ว่าคนผู้นั้นจะเคยทำผิดใดมาก่อนก็ตาม หากท่านขุนพลตระหนักถึงความผิดพลาดของตนและต้องการที่จะกลับใจ ข้าพเจ้าเห็นว่าคงไม่ยากเกินสำหรับท่านที่จะฝากชื่อเสียงอันดีงามในประวัติศาสตร์เฉกเช่นมหาบุรุษในกาลก่อน หากเป็นเช่นนั้นท่านยังต้องการปกครองเมืองเล็ก ๆ อย่างเองเฉียงอยู่อีกหรือ ข้าพเจ้าได้ยินมาว่ารัฐฌ้อ (楚 ฉู่) ไม่แสดงความเคารพต่อราชวงศ์จิว (周 โจฺว) เจ๋ฮวนก๋ง (齊桓公 ฉีหฺวันกง) จึงตำหนิรัฐฌ้อเรื่องความไม่เหมาะสมนี้ เมื่อฟูไช (夫差) พยายามขึ้นเป็นเจ้าอธิราช รัฐจิ้น (晋) ก็เข้าขัดขวาง นายที่ท่านรับใช้อยู่บัดนี้ไม่ใช่นายที่ดี เหตุใดราษฎรจึงอยากจะยอมรับท่านเล่า ข้าพเจ้าระลึกถึงคำสอนของคนโบราณอยู่เสมอ และเตือนตนเองว่าข้าพเจ้าผู้เป็นข้าราชบริพารของรัฐไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับคนทรยศเช่นท่าน นั่นคือเหตุผลที่ข้าพเจ้าไม่ตอบกลับการติดต่อของท่านก่อนหน้านี้ แต่หลังจากข้าพเจ้าได้รับประกาศของท่านแล้ว ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจที่จะบอกเสี้ยวหนึ่งของความคิดข้าพเจ้า หวังว่าท่านขุนพลจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ"[12]

เนื่องจากราษฎรในเมืองเองเฉียงนับถือและเชื่อมั่นในลิคีอย่างสูง ลิคีจึงสามารถควบคุมรักษาเมิืองเองเฉียงได้อย่างมั่นคงและยังแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีในฐานะข้าราชการของจ๊กก๊ก[13]

ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 225 จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กนำทัพบุกลงใต้ไปยังภูมิภาคหนานจงเพื่อปราบปรามกบฏและรับมือการรุกรานของชนเผ่าลำมัน (南蠻 หนานหมาน)[5] ขณะที่ทัพจ๊กก๊กกำลังยกมา ยงคีก็ถูกสังหารโดยผู้ใต้บังคับบัญชาของโกเตง (高定 เกา ติ้ง) ผู้นำกบฏอีกคนหนึ่ง[14]

เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 225 จูกัดเหลียงสยบภูมิภาคหนานจงได้อย่างสมบูรณ์และฟื้นฟูความสงบสุขในพื้นที่[5] จึงเขียนฎีกาถวายเล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กว่า "ลิคี อ้องค้าง และข้าราชการคนอื่น ๆ ในเมืองเองเฉียงยังคงจงรักภักดีต่อรัฐแม้ว่าจะติดอยู่ในสถานที่ที่ห่างไกลสิบกว่าปี เมื่อยงคีและโกเตงเริ่มก่อกบฏทางตะวันออกเฉียงเหนือ ลิคียืนหยัดด้วยความจงรักภักดีต่อรัฐ ปฏิเสธที่จะมีการติดต่อใด ๆ กับพวกกบฏ กระหม่อมหลากใจที่ยังมีกระแสแห่งความภักดีและเที่ยงธรรมเช่นนี้ในเองเฉียง"[15]

ภายหลังลิคีได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองยูนนาน (雲南郡 ยฺหวินหนานจฺวิ้น; ครอบคลุมบางส่วนของเขตปกครองตนเองชนชาติอี๋ ฉู่สฺยง, เขตปกครองตนเองชนชาติไป๋ ต้าหลี่ และนครลี่เจียงในมณฑลยูนนานในปัจจุบัน) และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหยางเชียนถิงโหว (陽遷亭侯)[16][1] อ้องค้างเพื่อนขุนนางของลิคีภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองเองเฉียงและได้รับบรรดาศักดิ์ระดับถิงโหว[17]

เสียชีวิตและทายาท

แก้

ลิคีถูกสังหารโดยกลุ่มผู้ก่อจลาจลในเมืองยูนนาน ลฺหวี่ เสียง (呂祥) บุตรชายของลิคีสืบทอดบรรดาศักดิ์หยางเชียนถิงโหวของลิคี[18][1] ลฺหวี่ เสียงรับราชการเป็นขุนนางของราชวงศ์จิ้นหลังสิ้นสุดยุคสามก๊ก และดำรงตำแหน่งเป็นนายกองอนารยชนภาคใต้ (南夷校尉 หนานอี๋เซี่ยวเว่ย์) บุตรชายและทายาทลำดับถัด ๆ มาของลฺหวี่ เสียงรับราชการเป็นเจ้าเมืองเองเฉียงจากรุ่นสู่รุ่น[19]

ในศตวรรษที่ 4 เมื่อหลี่ สฺยง (李雄) ผู้ก่อตั้งรัฐเฉิงฮั่น (成漢) นำกองกำลังบุกมณฑลหนิงโจฺว (寧州; ครอบคลุมมณฑลยูนนานและมณฑลกุ้ยโจวในปัจจุบัน) ทายาทของลิคีปฏิเสธที่จะยอมจำนนและนำราษฎรของเมืองเองเฉียงต่อต้านผู้รุกราน[20]

คำวิจารณ์

แก้

ตันซิ่วผู้เขียนชีวประวัติลิคีในจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) วิจารณ์ลิคีไว้ว่า " ลิคีไม่เคยออกนอกวิถีแห่งความจงรักภักดี... ร่วมกับอุยก๋วน ลิอิ๋น ม้าตง อองเป๋ง เตียวหงี ด้วยความสามารถของพวกเขาเหล่านี้จึงมีชื่อเสียงไปทั่วแผ่นดินและได้โอกาสให้เหลือสิ่งตกทอด"[21]

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. ในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก จักรวรรดิฮั่นขยายดินแดนไปทางใต้ และจัดตั้งเมืองและอำเภอในบริเวณที่เป็นมณฑลเสฉวนและมณฑลยูนนานในปัจจุบัน ในเวลานั้น ราชสำนักฮั่นได้โยกย้ายทายาทของลฺหวี่ ปู้เหวย์ไปยังพื้นที่ที่กลายเป็นอำเภอปู้เหวย์ ซึ่งตั้งชื่ออำเภอตามชื่อของบรรพบุรุษ[3]
  2. หมายถึงยง ฉื่อ (雍齒) บรรพบุรุษของยงคี
  3. นามวัดของพระเจ้าฮั่นกองบู๊ (漢光武帝 ฮั่นกวังอู่ตี้) จักรพรรดิผู้ก่อตั้งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 de Crespigny (2007), p. 627.
  2. (呂凱字季平、永昌不韋人也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  3. (孫盛蜀世譜曰:初,秦徙呂不韋子弟宗族於蜀漢。漢武帝時,開西南夷,置郡縣,徙呂氏以充之,因曰不韋縣。) อรรถาธิบายจากฉู่ชื่อผู่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  4. (仕郡五官掾功曹。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  5. 5.0 5.1 5.2 Sima (1084), vol. 70.
  6. (時雍闓等聞先主薨於永安,驕黠滋甚。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  7. (都護李嚴與闓書六紙,解喻利害,闓但荅一紙曰:「蓋聞天無二日,土無二王,今天下鼎立,正朔有三,是以遠人惶惑,不知所歸也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  8. (闓又降於吳,吳遙署闓為永昌太守。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  9. (永昌旣在益州郡之西,道路壅塞,與蜀隔絕, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  10. (... 而郡太守改易,凱與府丞蜀郡王伉帥厲吏民,閉境拒闓。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  11. (闓數移檄永昌,稱說云云。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  12. (凱荅檄曰:「天降喪亂,姧雄乘釁,天下切齒,萬國悲悼,臣妾大小,莫不思竭筋力,肝腦塗地,以除國難。伏惟將軍世受漢恩,以為當躬聚黨衆,率先啟行,上以報國家,下不負先人,書功竹帛,遺名千載。何期臣僕吳越,背本就末乎?昔舜勤民事,隕于蒼梧,書籍嘉之,流聲無窮。崩于江浦,何足可悲!文、武受命,成王乃平。先帝龍興,海內望風,宰臣聦睿,自天降康。而將軍不覩盛衰之紀,成敗之符,譬如野火在原,蹈履河冰,火滅冰泮,將何所依附?曩者將軍先君雍侯,造怨而封,竇融知興,歸志世祖,皆流名後葉,世歌其美。今諸葛丞相英才挺出,深覩未萌,受遺託孤,翊贊季興,與衆無忌,錄功忘瑕。將軍若能翻然改圖,易跡更步,古人不難追,鄙土何足宰哉!蓋聞楚國不恭,齊桓是責,夫差僭號,晉人不長,況臣於非主,誰肯歸之邪?竊惟古義,臣無越境之交,是以前後有來無往。重承告示,發憤忘食,故略陳所懷,惟將軍察焉。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  13. (凱威恩內著,為郡中所信,故能全其節。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  14. (及丞相亮南征討闓,旣發在道,而闓已為高定部曲所殺。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  15. (亮至南,上表曰:「永昌郡吏呂凱、府丞王伉等,執忠絕域,十有餘年,雍闓、高定偪其東北,而凱等守義不與交通。臣不意永昌風俗敦直乃爾!」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  16. (以凱為雲南太守,封陽遷亭侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  17. (而王伉亦封亭侯,為永昌太守。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  18. (會為叛夷所害,子祥嗣。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  19. (蜀世譜曰:呂祥後為晉南夷校尉,祥子及孫世為永昌太守。) อรรถาธิบายจากฉู่ชื่อผู่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  20. (李雄破寧州,諸呂不肯附,舉郡固守。王伉等亦守正節。) อรรถาธิบายจากฉู่ชื่อผู่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  21. (評曰:...呂凱守節不回,...咸以所長,顯名發跡,遇其時也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.

บรรณานุกรม

แก้
  • ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
  • เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).
  • ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
  • de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. ISBN 9789004156050.