เติ้ง เสี่ยวผิง
เติ้ง เสี่ยวผิง (จีน: 邓小平; พินอิน: Dèng Xiǎopíng; 22 สิงหาคม ค.ศ. 1904 – 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1997) เป็นนักปฏิวัติและรัฐบุรุษชาวจีน เขาดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 ถึง 1989 ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา เจ๋อตงในปี ค.ศ. 1976 เติ้งได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจและนำพาประเทศจีนผ่านยุคสมัยของการปฏิรูปและเปิดประเทศ ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนให้เป็นเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยม เขาได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็น “สถาปนิกแห่งจีนสมัยใหม่” จากการพัฒนาสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน และริเริ่มทฤษฎีเติ้ง เสี่ยวผิง[1][2][3]
เติ้ง เสี่ยวผิง | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
邓小平 | |||||||
เติ้งระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1979 | |||||||
ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาส่วนกลาง | |||||||
ดำรงตำแหน่ง 13 กันยายน ค.ศ. 1982 – 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1987 (5 ปี 50 วัน) | |||||||
ประธานาธิบดี | หลี่ เซียนเนี่ยน | ||||||
หัวหน้ารัฐบาล | จ้าว จื่อหยาง | ||||||
รอง | |||||||
เลขาธิการ |
| ||||||
ก่อนหน้า | สถาปนาตำแหน่ง | ||||||
ถัดไป | เฉิน ยฺหวิน | ||||||
ประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง | |||||||
ดำรงตำแหน่ง แห่งพรรค: 28 มิถุนายน ค.ศ. 1981 – 9 กันยายน ค.ศ. 1989 (8 ปี 73 วัน) | |||||||
รอง |
| ||||||
เลขาธิการ |
| ||||||
ก่อนหน้า | ฮฺว่า กั๋วเฟิง | ||||||
ถัดไป | เจียง เจ๋อหมิน | ||||||
ดำรงตำแหน่ง แห่งรัฐ: 6 มิถุนายน ค.ศ. 1983 – 19 มีนาคม ค.ศ. 1990 (6 ปี 286 วัน) | |||||||
ก่อนหน้า | สถาปนาตำแหน่ง | ||||||
ถัดไป | เจียง เจ๋อหมิน | ||||||
ประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีน คนที่ 3 | |||||||
ดำรงตำแหน่ง 8 มีนาคม ค.ศ. 1978 – 17 มิถุนายน ค.ศ. 1983 (5 ปี 101 วัน) | |||||||
ก่อนหน้า | โจว เอินไหล (ถึงปี 1976) | ||||||
ถัดไป | เติ้ง อิ่งเชา | ||||||
ข้อมูลส่วนบุคคล | |||||||
เกิด | เติ้ง เซียนเชิ่ง 22 สิงหาคม ค.ศ. 1904 กว่างอัน, มณฑลเสฉวน, จักรวรรดิชิง | ||||||
เสียชีวิต | 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1997 ปักกิ่ง, ประเทศจีน | (92 ปี)||||||
พรรคการเมือง | พรรคคอมมิวนิสต์จีน (ตั้งแต่ปี 1924) | ||||||
คู่สมรส |
| ||||||
บุตร | 6, รวมถึง: | ||||||
ความสัมพันธ์ | เติ้ง จั๋วตี้ (หลานชาย) | ||||||
ลายมือชื่อ | |||||||
เว็บไซต์ | cpc.people.com.cn | ||||||
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |||||||
สังกัด | |||||||
ประจำการ | 1929–1952, 1975–1980 | ||||||
ยศ |
| ||||||
หน่วย |
| ||||||
ผ่านศึก | |||||||
ชื่อภาษาจีน | |||||||
อักษรจีนตัวย่อ | 邓小平 | ||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 鄧小平 | ||||||
| |||||||
เติ้งเกิดในมณฑลเสฉวนในช่วงปลายราชวงศ์ชิง และเริ่มสนใจลัทธิมากซ์–เลนินในช่วงทศวรรษที่ 1920 ขณะศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1924 เขาได้เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเดินทางไปยังกรุงมอสโกเพื่อศึกษาต่อ ก่อนจะเดินทางกลับมายังประเทศจีน และดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการทางการเมืองในกองทัพแดง เติ้งมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนระหว่างสงครามกลางเมืองจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการรักษาความอยู่รอดของพรรคระหว่างการเดินทัพทางไกล ต่อมาเขาช่วยนำกองทัพปลดปล่อยประชาชนสู่ชัยชนะในสงครามกลางเมือง รวมถึงการมีส่วนร่วมร่วมในการยึดเมืองหนานจิงของกองทัพปลดปล่อยประชาชน
ภายหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1949 เติ้งได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในระดับภูมิภาคหลายตำแหน่ง และในที่สุดก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรีในช่วงทศวรรษที่ 1950 ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ภายใต้การนำของเหมา เจ๋อตง เติ้งได้เป็นประธานในการดำเนินงานฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เติ้งมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ต่อต้านฝ่ายขวา ซึ่งเป็นการกวาดล้างกลุ่มปัญญาชนและผู้วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน การรณรงค์ดังกล่าวส่งผลให้มีการกดขี่ข่มเหงประชาชนประมาณ 550,000 คน ซึ่งรวมถึงนักเขียนและนักกิจกรรมทางการเมือง และถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในการเสริมสร้างการสนับสนุนนโยบายหัวรุนแรงของเหมาในขณะนั้น[4] เขาได้ตกจากอำนาจในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เนื่องจากมีความเห็นชอบต่อนโยบายที่เน้นปฏิบัติและการตลาด เขาถูกเหมากำจัดสองครั้ง แต่หลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา เติ้งก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดด้วยความสามารถในการเอาชนะคู่แข่งทางการเมือง
เมื่อขึ้นสู่อำนาจ เติ้งได้ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและระบบการเมืองของประเทศจีนอย่างครอบคลุม เนื่องจากความระส่ำระสายของสถาบันและความปั่นป่วนทางการเมืองจากยุคเหมา เขาและพันธมิตรจึงได้ริเริ่มโครงการ "ปัวล่วนฝ่านเจิ้ง" เพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยโดยการคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนรุ่นเก่า ตลอดประชาชนหลายล้านคนที่ถูกกดขี่ข่มเหงในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เขายังได้ริเริ่มโครงการปฏิรูปและเปิดประเทศ ซึ่งได้นำเอาองค์ประกอบของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศจีน โดยการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1980 เติ้งได้ริเริ่มการปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหญ่ โดยกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีการปรับปรุงแก้ไขระบบต่าง ๆ ซึ่งรวมอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับที่สี่ของประเทศ ต่อมาเติ้งได้ให้การสนับสนุนนโยบายลูกคนเดียว เพื่อแก้ไขปัญหาประชากรล้นเมืองที่ประเทศจีนเผชิญอยู่ อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการจัดตั้งระบบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และเป็นผู้กำกับดูแลการเริ่มโครงการ 863 เพื่อส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การปฏิรูปที่ดำเนินการโดยเติ้งและพันธมิตรของเขาได้นำพาประเทศจีนให้ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจแบบบังคับบัญชาและลัทธิเหมา เปิดรับการลงทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และนำกำลังแรงงานจำนวนมหาศาลของประเทศเข้าสู่ตลาดโลก ส่งผลให้จีนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก[5]
ในระหว่างการดำรงตำแหน่งผู้นำของตน เติ้งได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ถึงสองครั้ง ในปี ค.ศ. 1978 และ 1985[6][7] แม้ว่าเติ้งจะมีส่วนสำคัญในการนำพาประเทศจีนให้ทันสมัย แต่ผลงานของเขาก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน เขาได้สั่งการให้กองทัพเข้าปราบปรามการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี ค.ศ. 1989 ซึ่งเป็นเหตุให้การปฏิรูปทางการเมืองสิ้นสุดลง และยังคงเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก[8] นโยบายลูกคนเดียวซึ่งริเริ่มขึ้นในยุคของเติ้งนั้นก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน อย่างไรก็ตาม นโยบายของเขาก่อให้เกิดรากฐานที่มั่นคงสำหรับการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจระดับโลกของจีน[9]
ชีวิตช่วงต้น
แก้บรรพบุรุษของเติ้งสามารถสืบย้อนไปถึงอำเภอเจียอิง (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเหมย์เซี่ยน) มณฑลกวางตุ้ง[10] ซึ่งเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมที่สำคัญของชาวฮากกา และได้อพยพมาตั้งรกรากอยู่ในมณฑลเสฉวนต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน[11] เติ้ง หรง บุตรสาวของเติ้งได้กล่าวไว้ในหนังสือ บิดาของข้าพเจ้า เติ้ง เสี่ยวผิง (我的父亲邓小平) ว่าบรรพบุรุษของเขาอาจจะมีเชื้อสายฮากกา แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัด สกุลเติ้งมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในมณฑลเสฉวน แต่ในช่วงราชวงศ์หมิง มีบุคคลสกุลเติ้งคนหนึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางราชการในมณฑลกวางตุ้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อราชวงศ์ชิงมีนโยบายส่งเสริมการเพิ่มจำนวนประชากรในปี ค.ศ. 1671 ตระกูลเติ้งจึงได้อพยพกลับมายังมณฑลเสฉวน เติ้ง เสี่ยวผิง เกิดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1904 ในเขตกว่างอัน เมืองกว่างอัน มณฑลเสฉวน[12]
บิดาของเติ้งคือ เติ้ง เหวินหมิง เป็นเจ้าของที่ดินขนาดกลางที่เคยศึกษา ณ มหาวิทยาลัยกฎหมายและรัฐศาสตร์ เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน เขามีชื่อเสียงในระดับท้องถิ่น[13] มารดาของเติ้งมีสกุลต้าน ได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่เติ้งยังเยาว์วัย ทำให้เติ้งและพี่น้องร่วมสายโลหิตอีกสามคน และน้องสาวอีกสามคนต้องเผชิญกับการสูญเสียครั้งใหญ่[14] เมื่ออายุได้ 5 ปี เติ้งได้ถูกส่งไปศึกษา ณ โรงเรียนประถมศึกษาเอกชนแบบจีนดั้งเดิม จากนั้นเมื่ออายุได้ 7 ปีก็ได้ย้ายไปศึกษาต่อ ณ โรงเรียนประถมศึกษาที่ทันสมัยยิ่งขึ้น
ภรรยาคนแรกของเติ้งเป็นเพื่อนร่วมชั้นจากมอสโก เสียชีวิตด้วยวัย 24 ปี เพียงไม่กี่วันหลังจากคลอดบุตรสาวคนแรก ซึ่งก็ได้เสียชีวิตลงด้วยเช่นกัน ภรรยาคนที่สองคือ จิน เหวย์อิ้ง ได้แยกทางกับเติ้งหลังจากที่เขาถูกโจมตีทางการเมืองในปี ค.ศ. 1933 ภรรยาคนที่สามของเขาคือ จัว หลิน บุตรสาวของนักอุตสาหกรรมในมณฑลยูนนาน นางได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ. 1938 และได้สมรสกับเติ้งในปีต่อมา ณ บริเวณหน้าถ้ำที่พักอาศัยของเหมาในเมืองเหยียนอาน ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 5 คน ได้แก่ บุตรสาว 3 คนคือ เติ้ง หลิน เติ้ง หนาน และเติ้ง หรง และบุตรชาย 2 คนคือ เติ้ง ผู่ฟาง และเติ้ง จื่อฟาง เติ้งเลิกสูบบุหรี่เมื่ออายุ 86 ปี[15]
การศึกษาและอาชีพช่วงต้น
แก้เมื่อเติ้งเข้าศึกษาเล่าเรียนเป็นครั้งแรก ครูผู้สอนได้คัดค้านชื่อที่ได้รับมาเดิมคือ "เซียนเชิ่ง" (先圣) และเรียกเขาว่า "ซีเซี่ยน" (希贤) ซึ่งประกอบด้วยอักษรจีนที่มีความหมายถึง "การปรารถนา" และ "ความดี" แฝงไว้ด้วยความหมายที่สื่อถึงความฉลาด[16][17]
ในฤดูร้อน ค.ศ 1919 เติ้งได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนฉงชิ่ง เขาและเพื่อนร่วมชั้นอีก 80 คนได้เดินทางโดยเรือชั้นสามไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อเข้าร่วมโครงการ "ขยันทำงาน อดออมศึกษา" (Diligent Work-Frugal Study Movement), ซึ่งเป็นโครงการการศึกษาควบคู่กับการทำงาน[18]: 37 โดยมีชาวจีนจำนวน 4,001 คน เข้าร่วมโครงการนี้ภายในปี ค.ศ. 1927 เติ้งเป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในกลุ่มนักเรียนชาวจีน เพิ่งมีอายุครบ 15 ปี[19] อู๋ ยฺวี่จาง ผู้นำท้องถิ่นของโครงการในฉงชิ่ง ได้รับสมัครเติ้งและเติ้ง เช่าเชิ่ง ลุงฝ่ายบิดาของเติ้งเข้าร่วมโครงการ บิดาของเติ้งให้การสนับสนุนการเข้าร่วมโครงการศึกษาและทำงานในต่างประเทศของบุตรชายอย่างเต็มที่[20] ในคืนก่อนวันเดินทางไปฝรั่งเศส บิดาของเติ้งได้เรียกบุตรชายมาพูดคุยเป็นการส่วนตัว และได้สอบถามถึงความคาดหวังที่บุตรชายมีต่อการศึกษาในประเทศฝรั่งเศส เขาได้กล่าวคำที่ได้เรียนรู้มาจากครูของเขาว่า "การศึกษาหาความรู้และสัจธรรมจากตะวันตกเพื่อนำมาใช้ในการกอบกู้ประเทศจีน" เติ้งตระหนักดีว่าประเทศจีนกำลังประสบความทุกข์ยากอย่างมาก และประชาชนชาวจีนจำเป็นต้องได้รับการศึกษาสมัยใหม่จึงจะสามารถช่วยเหลือประเทศของตนได้[21]
วันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1920 เรือโดยสารฝรั่งเศสชื่ออังเดร เลอบง (André Lebon) ได้แล่นเข้าสู่ท่าเรือมาร์เซย์พร้อมกับนักศึกษาชาวจีน 210 คนบนเรือ รวมทั้งเติ้งด้วย เติ้งในวัย 16 ปีได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนมัธยมศึกษาในเมืองบาเยอและชาตีญงเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่เขาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศสเพื่อทำงาน รวมถึงที่โรงงานรถยนต์เรอโน และเป็นช่างประกอบที่โรงงานเหล็กและเหล็กกล้าเลอครูโซต์ ในเมืองลาแกเรน-โคลอมบ์ ซึ่งเป็นย่านชานเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงปารีส ที่ซึ่งเขาได้ย้ายไปอาศัยอยู่ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1921[22] บังเอิญว่าเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองของเติ้งย่ำแย่ลงในช่วงหลัง และถูกส่งไปทำงานในโรงงานผลิตรถแทรกเตอร์ในปี ค.ศ. 1969 ระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เขาก็ได้กลับมาปฏิบัติงานในฐานะช่างประกอบอีกครั้ง และได้แสดงให้เห็นว่าเขายังคงเชี่ยวชาญในทักษะดังกล่าว[23]
ณ เมืองลาแกเรน-โกลอมบ์ เติ้งได้พบกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนในอนาคต ได้แก่ โจว เอินไหล เฉิน อี้ เนี่ย หรงเจิน หลี่ ฟู่ชุน หลี่ ลี่ซาน และหลี่ เหวย์ฮั่น[24] ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1923 เขาได้เข้าร่วมสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีนในยุโรป[25] ในช่วงครึ่งหลังของปี ค.ศ. 1924 เขาได้เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีน และดำรงตำแหน่งหนึ่งในสมาชิกชั้นนำของสาขาใหญ่ของสันนิบาตเยาวชนในยุโรป ในปี ค.ศ. 1924 เติ้งได้เดินทางไปยังสหภาพโซเวียตและศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น มอสโก ซึ่งมีเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งคือ เจี่ยง จิงกั๋ว บุตรชายของเจียง ไคเชก[26]
กลับประเทศจีน
แก้ปลายปี ค.ศ. 1927 เติ้งได้เดินทางกลับจากกรุงมอสโกมายังประเทศจีน และได้เข้าร่วมกองทัพของเฝิง ยฺวี่เสียง ผู้นำทางทหารในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน ผู้ซึ่งได้ขอความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตในการต่อสู้กับผู้นำท้องถิ่นคนอื่น ๆ ในภูมิภาค ในช่วงเวลานั้น สหภาพโซเวียตได้สนับสนุนการเป็นพันธมิตรระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมที่ก่อตั้งโดยซุน ยัตเซนผ่านองค์การคอมมิวนิสต์สากล ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ให้การสนับสนุนขบวนการคอมมิวนิสต์ทั่วโลก
เขาได้เดินทางมาถึงเมืองซีอาน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของเฝิงในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1927 เขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเฟิ่งเทียนที่พยายามยับยั้งการแตกแยกพันธมิตรระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์ การแตกแยกครั้งนี้เกิดขึ้นส่วนหนึ่งจากการที่เจียง ไคเชกบังคับให้พวกเขาอพยพออกจากพื้นที่ที่พรรคก๊กมินตั๋งควบคุม ภายหลังการแตกแยกของพันธมิตรระหว่างคอมมิวนิสต์และชาตินิยม เฝิงก็ได้เข้าร่วมกับเจียง ไคเชก ทำให้คอมมิวนิสต์ที่เข้าร่วมกองทัพขอเฝิง อาทิ เติ้ง เสี่ยวผิง ถูกบังคับให้หลบหนี[ต้องการอ้างอิง]
การเติบโตทางการเมือง
แก้แม้ว่าเติ้งจะเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติมาร์กซิสต์ในประเทศจีน แต่เกา มั่วปัว นักประวัติศาสตร์ได้โต้แย้งว่า "เติ้ง เสี่ยวผิง และบุคคลอื่น ๆ ที่มีความคิดเห็นคล้ายคลึงกันในพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นไม่ได้เป็นมาร์กซิสต์อย่างแท้จริง แต่เป็นนักชาตินิยมปฏิวัติที่ต้องการเห็นจีนยืนหยัดอย่างทัดเทียมกับมหาอำนาจโลก พวกเขาเป็นนักชาตินิยมเป็นหลัก และเข้าร่วมการปฏิวัติคอมมิวนิสต์เพราะเห็นว่าเป็นเส้นทางเดียวที่เป็นไปได้ในการบรรลุอุดมการณ์ชาตินิยมจีน"[27]
การเคลื่อนไหวในเซี่ยงไฮ้และอู่ฮั่น
แก้ภายหลังจากการออกจากกองทัพของเฝิง ยฺวี่เสียงในภาคตะวันตกเฉียงเหนือแล้ว เติ้งได้เดินทางมายังเมืองอู่ฮั่น ซึ่งในขณะนั้นเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ ในช่วงเวลานั้นเขาได้เริ่มใช้ชื่อเล่นว่า "เสี่ยวผิง" และดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรค เขาได้เข้าร่วมการประชุมฉุกเฉินครั้งประวัติศาสตร์ในวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1927 ซึ่งตามคำสั่งของโซเวียต พรรคได้ปลดเฉิน ตู๋ซิ่ว ผู้ก่อตั้งพรรคออก และฉิว ชฺวีไป๋ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ณ เมืองอู่ฮั่น เติ้งได้พบปะและสร้างความสัมพันธ์กับเหมา เจ๋อตงเป็นครั้งแรก ซึ่งในตอนนั้นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์สายแข็งที่สนับสนุนโซเวียตยังไม่เห็นคุณค่าของเขามากนัก
ระหว่างปี ค.ศ. 1927 ถึง 1929 เติ้งอาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้ และได้มีส่วนร่วมในการจัดการประท้วง ซึ่งต่อมาได้เผชิญกับการปราบปรามอย่างรุนแรงจากรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง การเสียชีวิตของนักปฏิวัติคอมมิวนิสต์จำนวนมากในช่วงปีเหล่านั้นส่งผลให้จำนวนสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ลดลง ซึ่งเปิดโอกาสให้เติ้งสามารถเลื่อนตำแหน่งขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ในช่วงนี้ที่เซี่ยงไฮ้ เติ้งได้แต่งงานกับนางจาง ซี-ยฺเวี่ยน หญิงสาวที่ได้พบกันในกรุงมอสโก
การทัพในกว่างซี
แก้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929 ถึง 1931 เติ้งได้ดำรงตำแหน่งผู้แทนสูงสุดของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลกว่างซี โดยมีบทบาทสำคัญในการช่วยนำการก่อการกำเริบไป่เซ่อและหลงโจว ทั้งในช่วงเหตุการณ์และภายหลัง การนำของเติ้งในช่วงการก่อกำเริบได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เขาเดินตาม "แนวทางหลี่ ลี่ซาน" ที่เรียกร้องให้มีการโจมตีเมืองอย่างรุนแรง ในทางปฏิบัติ นั่นหมายความว่าโซเวียตชนบทในกว่างซีถูกทอดทิ้ง และกองทัพแดงที่เจ็ดภายใต้การนำทางการเมืองของเติ้งได้ต่อสู้และพ่ายแพ้ในสงครามนองเลือดหลายครั้ง[28] ในที่สุด เติ้งและผู้นำคอมมิวนิสต์คนอื่น ๆ ในมณฑลกว่างซีก็ตัดสินใจถอยทัพไปยังมณฑลเจียงซีเพื่อรวมกำลังกับเหมา เจ๋อตง อย่างไรก็ดี หลังจากการเดินทัพอันแสนยาวนานผ่านภูมิประเทศที่ขรุขระ เติ้งได้ปล่อยให้กองทัพให้อยู่ในภาวะไร้ผู้นำโดยพลการ[29] ในการประชุมวิเคราะห์หลังเหตุการณ์ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี ค.ศ. 1934 ได้มีการระบุพฤติกรรมของเติ้งว่าเป็นตัวอย่างของ "ลัทธิโอกาสนิยมขวา และแนวทางของชาวนาผู้มั่งคั่ง"[28] ในปี ค.ศ. 1945 อดีตผู้บัญชาการหลายนายของกองทัพแดงที่เจ็ดได้ออกมาพูดต่อต้านการกระทำของเติ้งในช่วงการก่อกำเริบ แม้ว่าเหมา เจ๋อตงจะให้การปกป้องเติ้งจากผลกระทบร้ายแรงใด ๆ ก็ตาม[30] ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม กลุ่มยุวชนแดงได้รับทราบเกี่ยวกับเหตุการณ์การก่อกำเริบไป่เซ่อ และกล่าวหาเติ้งว่าหนีทัพ[31] เติ้งยอมรับว่าการหนีทัพเป็นหนึ่งใน "ความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของตน" และ "แม้ว่าพรรคจะอนุญาตให้กระทำเช่นนี้ แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่ผิดทางการเมืองอย่างร้ายแรง[32] นักประวัติศาสตร์และนักเขียนชีวประวัติสมัยใหม่ต่างเห็นพ้องกัน อูลี ฟรานซ์ ได้เรียกการหนีจากกองทัพว่าเป็น "ความผิดพลาดร้ายแรง"[31] เบนจามิน หยาง กล่าวว่าช่วงเวลานั้นเป็น "ความล้มเหลวอันน่าเศร้าและช่วงเวลาอันมืดมนในชีวิตทางการเมืองของเติ้ง"[33] อีกด้านหนึ่ง ไดอานา แลรี มองว่าความล้มเหลวในการรับมือภัยพิบัติครั้งนี้เกิดจาก "ความไร้ประสิทธิภาพ" ของทั้งผู้นำท้องถิ่นและคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน
โซเวียตเจียงซี
แก้การปราบปรามคอมมิวนิสต์ในเมืองต่าง ๆ นับเป็นอุปสรรคสำคัญของพรรค และเป็นการสกัดกั้นความหวังของที่ปรึกษาของโซเวียตแห่งองค์การคอมมิวนิสต์สากล ที่เห็นว่าการระดมกำลังชนชั้นกรรมมาชีพในเมืองคือพลังขับเคลื่อนสำคัญในการเผยแผ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ตรงข้ามกับวิสัยทัศน์การปฏิวัติที่มุ่งเน้นในเมืองซึ่งได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ของสหภาพโซเวียต เหมา เจ๋อตง ผู้นำคอมมิวนิสต์จีน เห็นว่าชาวนาในชนบทเป็นกำลังสำคัญในการปฏิวัติของจีน ในพื้นที่ภูเขาของมณฑลเจียงซี ที่ซึ่งเหมาได้เดินทางไปเพื่อสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์นั้น ได้มีการพัฒนารากฐานของรัฐคอมมิวนิสต์ในอนาคตของจีนขึ้นมา ซึ่งได้ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่าสาธารณรัฐโซเวียตจีน แต่เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ "โซเวียตเจียงซี"
ในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1931 เติ้งได้เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเมืองรุ่ยจิน เมืองที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเขตโซเวียต ในช่วงฤดูหนาวปี ค.ศ. 1932 เติ้งได้ดำรงตำแหน่งเดิมต่อไปในอำเภอฮุ่ยชางซึ่งอยู่ใกล้เคียง ในปี ค.ศ. 1933 เขาได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของคณะกรรมาธิการพรรคประจำมณฑลเจียงซี ตอนนั้นเองเขาได้แต่งงานกับนางจิน เหวย์อิ้ง หญิงสาวที่เขาพบในเซี่ยงไฮ้
ความสำเร็จของโซเวียตในมณฑลเจียงซีทำให้ผู้นำพรรคตัดสินใจย้ายฐานที่มั่นจากเซี่ยงไฮ้ไปยังมณฑลเจียงซี ความขัดแย้งระหว่างเหมา ผู้นำพรรค กับที่ปรึกษาของโซเวียตทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการชิงอำนาจระหว่างทั้งสองกลุ่มส่งผลให้เติ้ง ผู้สนับสนุนแนวคิดของเหมาถูกปลดจากตำแหน่งในฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อ แม้จะเผชิญกับความขัดแย้งภายในพรรค แต่โซเวียตเจียงซีก็ประสบความสำเร็จในการเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์แห่งแรกในชนบทของจีน รัฐบาลได้ดำเนินการออกแสตมป์และธนบัตรโดยใช้หัวกระดาษของ "สาธารณรัฐโซเวียตจีน" ซึ่งเป็นการประกาศอำนาจอธิปไตยอย่างเป็นทางการ และในที่สุด กองทัพของเจียง ไคเชกก็ตัดสินใจเข้าโจมตีพื้นที่ที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ครอบครอง
เดินทัพทางไกล
แก้เมื่อถูกกองทัพชาตินิยมที่มีกำลังเหนือกว่าปิดล้อม พรรคคอมมิวนิสต์จึงได้หลบหนีออกจากมณฑลเจียงซีในเดือนตุลาคม ค.ศ 1934 นับแต่นั้นเป็นต้นมาจึงได้เริ่มต้นขบวนการอันยิ่งใหญ่ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนาของลัทธิคอมมิวนิสต์จีน การอพยพเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากกองทัพชาตินิยมได้เข้ายึดครองพื้นที่ที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เคยครอบครองอยู่ทั้งหมด ด้วยการเคลื่อนทัพผ่านภูมิประเทศที่ห่างไกลและภูเขาสูงชัน กองทัพจำนวนประมาณ 100,000 นายสามารถหลบหนีออกจากมณฑลเจียงซีได้สำเร็จ ก่อให้เกิดการล่าถอยทางยุทธศาสตร์ที่ยาวนานผ่านภายในประเทศจีน ซึ่งสิ้นสุดลงในหนึ่งปีต่อมาเมื่อทหารที่รอดชีวิตราว 8,000 ถึง 9,000 นายเดินทางมาถึงมณฑลฉ่านซีทางตอนเหนือ
ในระหว่างการประชุมจุนอี้ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการเดินทัพทางไกล กลุ่มบุคคลที่เรียกว่า "28 บอลเชวิค" นำโดยปั๋ว กู่ และหวัง หมิง ถูกปลดจากอำนาจ และเหมา เจ๋อตงได้ขึ้นเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนคนใหม่ สร้างความไม่พอใจให้แก่สหภาพโซเวียต พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่สนับสนุนโซเวียตได้สิ้นสุดลง และมีการก่อตั้งพรรคใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชนบทขึ้นมาภายใต้การนำของเหมา เติ้งได้กลับมาเป็นแกนนำสำคัญของพรรคอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การเผชิญหน้าระหว่างทั้งสองพรรคถูกยุติลงชั่วคราวจากการรุกรานของญี่ปุ่น ซึ่งบีบบังคับให้พรรคก๊กมินตั๋งต้องร่วมมือเป็นพันธมิตรกับพรรคคอมมิวนิสต์เป็นครั้งที่สอง เพื่อปกป้องประเทศจากการรุกรานจากภายนอก
การรุกรานของญี่ปุ่น
แก้การรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1937 นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ในระหว่างการรุกราน เติ้งยังคงอยู่ในพื้นที่ที่คอมมิวนิสต์ควบคุมอยู่ในภาคเหนือ และดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองของกองทัพคอมมิวนิสต์ที่ปรับโครงสร้างใหม่ทั้งสามกองพล ตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 1937 จนถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1938 เขาได้พำนักอยู่ในวัดและอารามพุทธศาสนาบนเขาอู่ไถ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1938 เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการทางการเมืองประจำกองพลที่ 129 กองทัพลู่ที่แปด ซึ่งมีนายพลหลิว ปั๋วเฉิงเป็นผู้บัญชาการ ทำให้เกิดความร่วมมืออันยาวนานระหว่างเขากับนายพลหลิว
เติ้งประจำการอยู่ในแนวรบที่ติดต่อกับมณฑลฉ่านซี เหอหนาน และเหอเป่ย์ ตลอดระยะเวลาที่เกิดความขัดแย้งกับญี่ปุ่น จากนั้นได้เดินทางไปยังเมืองเหยียนอานหลายครั้ง ซึ่งเป็นที่ที่เหมาได้วางรากฐานสำหรับการนำพรรคคอมมิวนิสต์ไว้ ระหว่างอยู่ในเหอหนาน เขาได้กล่าวสุนทรพจน์อันโด่งดังเรื่อง "สถานการณ์ชัยชนะในการก้าวเข้าสู่ภาคกลาง และนโยบายกลยุทธ์ในอนาคต" ณ โบสถ์แห่งหนึ่งที่เขาเคยพำนักอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง[34][35] ในการเดินทางไปยังเหยียนอานครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1939 เขาได้แต่งงานครั้งที่สามและครั้งสุดท้ายในชีวิตกับนางจัว หลิน ชาวเมืองคุนหมิง ผู้ซึ่งได้เดินทางไปยังเหยียนอานเพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกับเยาวชนผู้มีอุดมการณ์คนอื่น ๆ ในยุคนั้น
เติ้งได้รับการยกย่องว่าเป็น "ทหารผ่านศึกปฏิวัติ" จากการมีเข้าร่วมการเดินทัพทางไกล[36] เขาเป็นผู้นำในปฏิบัติการร้อยกองพัน ซึ่งช่วยยกสถานะของเขาในหมู่สหายร่วมอุดมการณ์[37]
กลับมาทำสงครามกับชาตินิยม
แก้หลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง เติ้งได้เดินทางไปยังเมืองฉงชิ่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่เจียง ไคเชกได้ตั้งรัฐบาลของตนในช่วงที่ญี่ปุ่นรุกราน เพื่อเข้าร่วมการเจรจาเพื่อสันติภาพระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ ผลการเจรจาในครั้งนั้นเป็นไปในทางลบ และความขัดแย้งทางทหารระหว่างทั้งสองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กันก็ได้ปะทุขึ้นอีกครั้งในเวลาอันสั้นหลังจากการประชุมที่เมืองฉงชิ่ง
ขณะที่เจียง ไคเชกสถาปนารัฐบาลขึ้นใหม่ในเมืองหนานจิง เมืองหลวงของสาธารณรัฐจีน ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ได้ทำการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจในพื้นที่ ด้วยการดำเนินยุทธวิธีแบบกองโจรจากฐานที่มั่นในชนบทโจมตีเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเจียง ไคเชกและเส้นทางส่งเสบียง ฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถขยายพื้นที่ครอบครองได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และดึงดูดทหารจำนวนมากที่หนีออกจากกองทัพชาตินิยมเข้ามาร่วมฝ่ายตน
เติ้งมีส่วนร่วมอย่างมากในการทัพหวยไห่เพื่อโค่นล้มรัฐบาลชาตินิยม[37]
ในช่วงสุดท้ายของสงคราม เติ้งได้กลับมามีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำทางการเมืองและผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อ ในฐานะผู้ตรวจการทางการเมืองประจำกองทัพภาคสนามที่ 2 ซึ่งมีนายพลหลิว ปั๋วเฉิงเป็นผู้บัญชาการ โดยเติ้งมีส่วนสำคัญในการนำกองทัพปลดปล่อยประชาชนเข้าสู่ทิเบต นอกจากนี้เขายังมีส่วนร่วมในการเผยแพร่แนวคิดของเหมา เจ๋อตง ซึ่งได้กลายมาเป็นรากฐานทางอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ ผลงานทางการเมืองและอุดมการณ์อันโดดเด่น รวมถึงสถานะของเขาในฐานะทหารผ่านศึกการเดินทัพทางไกล ทำให้เขาได้รับตำแหน่งที่มีอำนาจภายในพรรคหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์สามารถเอาชนะเจียง ไคเชก และก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมาได้
ยุคเหมา
แก้ผู้นำท้องถิ่น
แก้วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 เติ้งได้เข้าร่วมพิธีประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในกรุงปักกิ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าว พรรคคอมมิวนิสต์ได้ควบคุมพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด แต่ยังคงมีบางส่วนของภาคใต้ที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของก๊กมินตั๋ง เขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในการปราบปรามและสร้างความสงบเรียบร้อยในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ในฐานะเลขาธิการคนแรกของกรมตะวันตกเฉียงใต้ หน่วยงานนี้มีภารกิจในการควบคุมการยึดครองพื้นที่ส่วนสุดท้ายของประเทศที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของก๊กมินตั๋ง ทิเบตยังคงเป็นอิสระต่อไปอีกหนึ่งปี
รัฐบาลก๊กมินตั๋งถูกบีบให้ย้ายออกจากเมืองกว่างโจว และได้สถาปนาเมืองฉงชิ่งขึ้นเป็นเมืองหลวงชั่วคราวแห่งใหม่ ณ ที่นั้น เจียง ไคเชก และเจี่ยง จิงกั๋ว บุตรชายผู้เคยเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับเติ้งในกรุงมอสโก ต่างปรารถนาที่จะหยุดยั้งการก้าวหน้าของกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์
ภายใต้การควบคุมทางการเมืองของเติ้ง กองทัพคอมมิวนิสต์ได้เข้ายึดครองเมืองฉงชิ่งในปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1949 และได้เคลื่อนทัพเข้าสู่เมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของเจียง ไคเชกในอีกไม่กี่วันต่อมา ในช่วงเวลานั้น เติ้งได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองฉงชิ่ง พร้อมกันนั้นยังเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพคอมมิวนิสต์ที่ขณะนี้ได้ประกาศตนเป็นกองทัพปลดปล่อยประชาชน ได้ปราบปรามการต่อต้านจากกลุ่มผู้ภักดีต่อระบอบก๊กมินตั๋งเก่า ในปี ค.ศ. 1950 รัฐที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ได้เข้ายึดครองทิเบต
ในคำปราศรัยต่อคณะทำงานเตรียมการกำกับดูแลการรณรงค์ในขบวนการปฏิรูปที่ดินในปี ค.ศ. 1951 เติ้งได้กำชับว่าขณะที่คณะทำงานควรช่วยเหลือชาวนาในการดำเนินการ "การต่อสู้ด้วยเหตุผล" ที่ปราศจากความรุนแรง พวกเขายังต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ในฐานะขบวนการประชาชน การปฏิรูปที่ดินมิใช่ช่วงเวลาที่ต้อง "นุ่มนวลละมุนละม่อม"
ในคำกล่าวสุนทรพจน์ปี ค.ศ. 1951 แก่คณะทำงานที่เตรียมการกำกับดูแลการรณรงค์ในขบวนการปฏิรูปที่ดิน เติ้งได้กำชับว่าขณะที่คณะทำงานควรช่วยเหลือชาวนาในการดำเนินการ "การต่อสู้ด้วยเหตุผล" ที่ปราศจากความรุนแรง พวกเขายังต้องตระหนักอยู่เสมอว่าในฐานะขบวนการประชาชน การปฏิรูปที่ดินไม่ใช่เวลาที่จะต้อง "นุ่มนวลละมุนละม่อม"[38] และได้แสดงความเห็นในลักษณะคำถามเชิงวาทศิลป์ว่า แม้ในอุดมคติแล้วจะไม่มีเจ้าของที่ดินคนใดต้องเสียชีวิตในกระบวนการนี้ "หากเจ้าของที่ดินใจแคบบางคนฆ่าตัวตาย นั่นหมายความว่านโยบายของเรามีปัญหาหรือไม่? เราต้องรับผิดชอบหรือ?"[39]
เติ้ง เสี่ยวผิง ใช้เวลาสามปีในเมืองฉงชิ่ง ซึ่งเป็นเมืองที่เขาเคยศึกษาเล่าเรียนในช่วงวัยรุ่นก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1951 เขาได้ย้ายไปปักกิ่ง และดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในรัฐบาลกลาง
การขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองในปักกิ่ง
แก้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1952 เติ้งเดินทางมายังกรุงปักกิ่งเพื่อเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรองประธานคณะกรรมการการเงิน หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้อำนวยการสำนักสื่อสาร ในปี ค.ศ. 1954 เขาถูกปลดจากตำแหน่งดังกล่าวทั้งหมด เหลือเพียงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ในปี ค.ศ. 1956 เขาได้รับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายองค์กรของพรรคคอมมิวนิสต์ และสมาชิกคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง
หลังจากให้การสนับสนุนเหมา เจ๋อตงอย่างเป็นทางการในการขบวนต่อต้านฝ่ายขวาในปี ค.ศ. 1957 เติ้งก็ได้รับตำแหน่งเลขาธิการสำนักเลขาธิการ และรับผิดชอบการบริหารกิจการประจำวันของประเทศร่วมกับประธานาธิบดีหลิว เช่าฉี และนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล นโยบายของเติ้งและหลิวมุ่งเน้นไปที่เศรษฐกิจมากกว่าอุดมการณ์ เป็นการเบี่ยงเบนจากความกระตือรือร้นอันมหาศาลของนโยบายก้าวกระโดดไกลไปโดยปริยาย ทั้งหลิวและเติ้งต่างให้การสนับสนุนเหมาในการรณรงค์ครั้งใหญ่ในทศวรรษที่ 1950 ซึ่งทั้งสองได้ร่วมกันโจมตีชนชั้นกลางและทุนนิยม และส่งเสริมอุดมการณ์ของเหมา[40] อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าได้ถูกมองว่าเป็นการตำหนิความสามารถในการบริหารจัดการเศรษฐกิจของเหมา เผิง เต๋อหวยเริ่มวิพากษ์วิจารณ์เหมาอย่างเปิดเผย ขณะที่หลิวและเติ้งยังคงสงวนท่าทีที่ระมัดระวังมากขึ้น และในที่สุดก็เข้ามารับผิดชอบนโยบายเศรษฐกิจเมื่อเหมาเลิกยุ่งเกี่ยวกับกิจการประจำวันของพรรคและประเทศ เหมาเหมาตกลงที่จะสละตำแหน่งประธานาธิบดี (ตำแหน่งประมุขแห่งรัฐโดยนิตินัย) ให้แก่หลิว ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำพรรคและกองทัพไว้
ในปี ค.ศ. 1955 เติ้งได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้มีสิทธิ์รับยศจอมพลแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้รับยศดังกล่าว
ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 8 ในปี ค.ศ. 1956 เติ้งได้สนับสนุนให้มีการลบข้อความที่อ้างถึง "ความคิดของเหมา เจ๋อตง" ออกจากข้อบังคับของพรรคทั้งหมด[37]
ในปี ค.ศ. 1963 เติ้งได้เดินทางไปยังกรุงมอสโกเพื่อเป็นประธานในการประชุมคณะผู้แทนจากประเทศจีนกับนีกีตา ครุชชอฟ ผู้สืบทอดอำนาจของสตาลิน ความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสหภาพโซเวียตนั้นเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การถึงแก่อสัญกรรมของสตาลิน ภายหลังการประชุมครั้งนี้ ผลการเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ และความแตกแยกระหว่างจีนกับโซเวียตก็ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจคอมมิวนิสต์ทั้งสองในยุคนั้นหยุดชะงักลงเกือบทั้งหมด[41]
ภายหลังการประชุมคณะทำงาน 7,000 คนในปี ค.ศ. 1962 การปฏิรูปเศรษฐกิจของหลิวและเติ้งในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และได้ฟื้นฟูสถาบันทางเศรษฐกิจหลายแห่งที่ถูกยกเลิกไปก่อนหน้านี้ในช่วงการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า[40] เหมาเริ่มรู้สึกว่าตนเองจะสูญเสียอำนาจ จึงได้ดำเนินการเพื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศกลับคืนมา เหมาได้อ้างถึงจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติของตนและริเริ่มการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่งส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปร่วมกันขจัดกลุ่มทุนนิยมขวาจัดที่ได้ "แทรกซึมเข้าสู่พรรค" เติ้งถูกเย้ยหยันว่าเป็น "ผู้สนับสนุนทุนนิยมหมายเลขสอง"[42]
เติ้งเป็นหนึ่งในผู้ร่างหลักแผนพัฒนาเศรษฐกิจ (แผนห้าปี) ฉบับที่สาม[43]: 29 ในร่างฉบับดังกล่าวได้เน้นย้ำถึงการมุ่งเน้นผู้บริโภค และการพัฒนาเมืองชายฝั่งที่มีอุตสาหกรรมของจีนอย่างต่อเนื่อง[43]: 7 เมื่อเหมาได้เสนอแนวคิดการรณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานและความมั่นคงของชาติภายในประเทศจีนในฐานะแนวรบที่สามเพื่อเตรียมรับมือกับการรุกรานที่อาจเกิดขึ้นจากสหรัฐหรือสหภาพโซเวียต เติ้งก็เป็นหนึ่งในผู้นำคนสำคัญที่คัดค้านแนวคิดดังกล่าว[43]: 7 ภายหลังอุบัติการณ์อ่าวตังเกี๋ยซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการถูกสหรัฐโจมตี เติ้งและผู้นำระดับสูงคนอื่น ๆ จึงได้ให้การสนับสนุนการก่อสร้างแนวรบที่สามอย่างเต็มที่ และได้มีการปรับเปลี่ยนจุดเน้นของแผนห้าปีมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ[43]: 7
เป้าหมายของการกวาดล้าง
แก้การปฏิวัติทางวัฒนธรรม
แก้เหมามีความกังวลว่านโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของเติ้งและหลิวอาจนำไปสู่การฟื้นระบบทุนนิยมและเป็นอันสิ้นสุดการปฏิวัติจีน[44] ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นและเหตุผลอื่น ๆ เหมาจึงได้ริเริ่มการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในปี ค.ศ. 1976 ซึ่งส่งผลให้เติ้งไม่ได้รัยความไว้วางใจและถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งทั้งหมด
ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เขาและครอบครัวตกเป็นเป้าโจมตีของยุวชนแดง ซึ่งได้จับกุมเติ้ง ผู่ฟาง บุตรชายคนโตของเติ้งไว้ เติ้ง ผู่ฟางถูกทรมานและถูกโยนออกจากหน้าต่างอาคารสูงสี่ชั้นในปี ค.ศ. 1968 ทำให้เขาเป็นอัมพาตครึ่งล่าง ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1969 เติ้ง เสี่ยวผิงถูกส่งไปใช้แรงงานที่โรงงานรถแทรกเตอร์อำเภอซินเจียน ในเขตชนบทของมณฑลเจียงซี[45]: 466 ในช่วงสี่ปีที่นั่น[46] เติ้งใช้เวลาว่างไปกับการเขียนหนังสือ เขาถูกกวาดล้างในระดับประเทศ แต่ในระดับน้อยกว่าประธานาธิบดีหลิว เช่าฉี
ในปี ค.ศ. 1971 หลิน เปียว ผู้สืบทอดตำแหน่งอย่างเป็นทางการคนที่สองของเหมาและรองประธานพรรคเพียงคนเดียวได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก ตามรายงานอย่างเป็นทางการ หลินพยายามหลบหนีออกจากประเทศจีนหลังจากการก่อรัฐประหารเพื่อโค่นล้มเหมาล้มเหลว เหมาได้สั่งกวาดล้างพันธมิตรของหลินทั้งหมด ซึ่งดำรงตำแหน่งระดับสูงเกือบทั้งหมดในกองทัพปลดปล่อยประชาชน ทำให้เติ้ง (ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการทางการเมืองของกองทัพภาคสนามที่ 2 ในช่วงสงครามกลางเมือง) กลายเป็นผู้นำกองทัพที่มีอิทธิพลมากที่สุด[44] ในเวลาต่อมา เติ้งได้เขียนจดหมายถึงเหมาถึงสองครั้งเพื่อแสดงความสำนึกผิดจากเหตุการณ์หลิน เปียว ยอมรับว่าตนเองมี "แนวโน้มทุนนิยม" และไม่ได้ "ยึดมั่นในแนวคิดของเหมา เจ๋อตง" อย่างแน่วแน่ พร้อมทั้งแสดงเจตจำนงที่จะกลับเข้ามารับใช้พรรคเพื่อชดเชยความผิดพลาดที่ได้กระทำไป[47]: 454 นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล เคยเป็นผู้สืบทอดอำนาจคนที่สามของเหมา แต่ต่อมาประสบปัญหาสุขภาพด้วยโรคมะเร็ง จึงเลือกเติ้งเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1976 เติ้งได้เดินทางกลับมายังกรุงปักกิ่ง หลังจากที่โจวได้เชิญตัวกลับจากการถูกเนรเทศเพื่อให้กลับมามีบทบาทในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจีน[48][47]: 455 โจวสามารถโน้มน้าวเหมาให้นำเติ้งกลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1974 ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วจะผู้ดูแลกิจการประจำวัน[49] อย่างไรก็ตาม เขายังคงระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการขัดแย้งกับอุดมการณ์ลัทธิเหมาบนเอกสาร ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1975 คณะกรรมาธิการกลางพรรคชุดที่ 10 ได้มีมติเลือกเติ้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานพรรคเป็นครั้งแรกในชีวิตทางการเมือง ทำให้หลี่ เต๋อเชิงจำต้องลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้ เติ้งเป็นหนึ่งในรองประธานทั้งห้าคน โดยมีโจวเป็นรองประธานคนแรก
ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดในระยะเวลาอันสั้นในปี ค.ศ. 1973 เติ้งได้จัดตั้งสำนักวิจัยการเมืองขึ้น โดยมีปัญญาชน อาทิ หู เฉียวมู่ ยฺหวี กวาง-ยฺเหวี่ยน และหู เฉิง เป็นหัวหน้า มีหน้าที่ในการศึกษาค้นคว้าแนวทางปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ เขาเป็นผู้นำกลุ่มด้วยตนเองและบริหารโครงการภายในคณะรัฐมนตรี เพื่อป้องกันไม่ให้แก๊งออฟโฟร์เกิดความสงสัย
ในปี ค.ศ. 1975 เติ้งมุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินงานของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีนให้หันมาให้ความสำคัญกับการวิจัยเชิงทฤษฎีมากขึ้น ซึ่งเป็นด้านที่ถูกละเลยไปในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[50]: 74 เติ้งกล่าวว่าการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในจีนนั้นล้าหลังเมื่อเทียบกับความต้องการในการสร้างสังคมนิยมและสถานะของประเทศที่พัฒนาแล้ว และได้กล่าวเพิ่มเติมว่าเพื่อให้ทันต่อความต้องการ จีนควรให้ความสำคัญกับวิทยาศาตร์ขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างรากฐานทางทฤษฎีที่มั่นคง[50]: 74 แม้ว่าแนวทางนี้จะขาดความนิยมทางการเมืองในช่วงที่เติ้งถูกกวาดล้าง แต่แนวทางของเติ้งในการสร้างสมดุลระหว่างการวิจัยประยุกต์และการวิจัยพื้นฐานก็ได้รับการยอมรับให้เป็นนโยบายอย่างเป็นทางการของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน (CAS) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1977[50]: 75
การปฏิวัติทางวัฒนธรรมยังคงดำเนินอยู่ และกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายหัวรุนแรงที่รู้จักกันในนาม "แก๊งออฟโฟร์" ที่นำโดยนางเจียง ชิง ภริยาของเหมา ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแย่งชิงอำนาจภายในพรรค กลุ่มดังกล่าวมองว่าเติ้งเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการชิงอำนาจขิงพวกเขา[51] เหมาเองก็สงสัยว่าเติ้งจะทำลายภาพลักษณ์เชิงบวกของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่งเหมามองว่าเป็นหนึ่งในนโยบายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของตน ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1975 เป็นต้นมา เติ้งได้รับคำสั่งให้เขียนคำวิจารณ์ตนเองหลายฉบับ แม้เขาจะยอมรับว่าได้ยึดมั่นใน "แนวคิดอุดมการณ์ที่ไม่เหมาะสม" ในการปฏิบัติงานด้านกิจการของประเทศและพรรค แต่ก็ยังลังเลที่จะยอมรับว่านโยบายของตนนั้นผิดพลาดในสาระสำคัญ ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างเขากับแก๊งออฟโฟ์นั้นชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ และเหมาก็ดูเหมือนจะเอนเอียงไปทางกลุ่มนั้น เหมาปฏิเสธที่จะยอมรับคำวิจารณ์ตนเองของเติ้ง และได้ขอให้คณะกรรมาธิการกลางพรรคดำเนินการ "พิจารณาข้อผิดพลาดของเติ้งอย่างละเอียด"
การรณรงค์ “วิจารณ์เติ้ง”
แก้โจว เอินไหล ถึงแก่อสัญกรรมในเดือนมกราคม ค.ศ. 1976 ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของประชาชนทั่วประเทศ โจวเป็นบุคคลสำคัญยิ่งในชีวิตทางการเมืองของเติ้ง และการอสัญกรรมของเขาได้ทำให้การสนับสนุนที่เหลืออยู่ในคณะกรรมาธิการกลางพรรคลดน้อยลง หลังจากที่เติ้งได้แถลงการณ์สรรเสริญอย่างเป็นทางการให้แก่โจวในรัฐพิธีศพ[37] แก๊งออฟโฟร์โดยได้รับอนุญาตจากเหมาก็ได้เริ่มต้นการรณรงค์ "ต่อต้านการฟื้นฟูกรณีของพวกฝ่ายขวา" ฮฺว่า กั๋วเฟิง ไม่ใช่เติ้ง ได้รับเลือกให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากโจวในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1976
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 คณะกรรมาธิการกลางได้ออกคำสั่งสำคัญระดับสูง โดยมีสาระสำคัญในการโยกย้ายเติ้งไปปฏิบัติงานด้าน "กิจการต่างภายนอก"อย่างเป็นทางการ ซึ่งเท่ากับเป็นการถอดเติ้งจากกลไกอำนาจของพรรค เติ้งอยู่บ้านเป็นเวลาหลายเดือนขณะรอคอยชะตากรรม สำนักวิจัยทางการเมืองถูกยุบเลิกในทันที และที่ปรึกษาของเติ้ง เช่น ยฺหวี กวาง-ยฺเหวี่ยน ถูกพักงาน ด้วยเหตุนี้ ความปั่นป่วนทางการเมืองจึงเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่เติ้งได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสร้างตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา[52] วันที่ 3 มีนาคม เหมาได้ออกคำสั่งยืนยันความชอบธรรมของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และระบุโดยเฉพาะว่าเติ้งเป็นปัญหาภายในมากกว่าปัญหาภายนอก ต่อมาคณะกรรมาธิการกลางได้สั่งการไปยังหน่วยงานพรรคระดับท้องถิ่นทุกแห่งให้ศึกษาคำสั่งของเหมาและวิพากษ์วิจารณ์เติ้ง
ชื่อเสียงของเติ้งในฐานะนักปฏิรูปได้รับความเสียหายอย่างหนักหลังจากกรณีเทียนอันเหมินในวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1976 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ประชาชนจำนวนมากได้มาร่วมไว้อาลัยโจวในเทศกาลเช็งเม้ง แก๊งออฟโฟร์ได้ตีตราเหตุการณ์นี้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติและเป็นภัยต่อคุกคามอำนาจของพวกตน ยิ่งไปกว่านั้น แก๊งได้ตีความว่าเติ้งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว และเหมาได้เขียนไว้ว่า "ธรรมชาติของสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว"[53] เหตุการณ์นี้กระตุ้นให้เหมาดำเนินการปลดเติ้งออกจากตำแหน่งผู้นำทั้งหมด แม้ว่าเขาจะยังคงเป็นสมาชิกพรรคต่อไป ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1976 นายกรัฐมนตรีฮฺว่า กั๋วเฟิง จึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีแทนเติ้ง และในขณะเดียวกันก็ได้รับตำแหน่งรองประธานพรรคคนที่หนึ่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งว่างลงหลังจากที่โจวดำรงตำแหน่ง ทำให้ฮฺว่ากลายเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งอย่างเป็นทางการคนที่สี่ของเหมา
ผู้นำประเทศ
แก้ผู้นำสูงสุด
แก้ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมาในวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1976 และการกวาดล้างแก๊งออฟโฟร์ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน นายกรัฐมนตรีฮฺว่า กั๋วเฟิงได้เข้าดำรงตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน และค่อย ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของจีน ก่อนการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา ตำแหน่งในรัฐบาลเพียงตำแหน่งเดียวเดียวที่เติ้งดำรงอยู่คือรองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง[54] อย่างไรก็ดี ฮฺว่า กั๋วเฟิงต้องการจะขจัดกลุ่มหัวรุนแรงออกจากพรรค และขับไล่แก๊งออฟโฟร์ออกไปได้สำเร็จ วันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1977 เติ้งได้รับการแต่งตั้งกลับคืนสู่ตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน รองประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง และประธานคณะเสนาธิการกองทัพปลดปล่อยประชาชน[55]
ด้วยการระดมกำลังสนับสนุนจากพรรคอย่างรอบคอบ เติ้งจึงสามารถเอาชนะฮฺว่า ผู้ซึ่งเคยอภัยโทษให้แก่ตนได้ และได้ขับไล่ฮฺว่าออกจากตำแหน่งผู้นำสูงสุดภายในปี ค.ศ. 1980 แตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงผู้นำในครั้งก่อน เติ้งอนุญาตให้ฮฺว่าคงสถานะเป็นสมาชิกคณะกรรมธิการกลางและเกษียณอายุอย่างเงียบ ๆ ซึ่งเป็นการวางบรรทัดฐานใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าการพ่ายแพ้ในการต่อสู้เพื่ออำนาจในระดับสูงจะไม่นำมาซึ่งอันตรายทางกาย
ในช่วงที่เติ้งเป็นผู้นำสูงสุด เขาดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 ถึง 1983 และประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง (หน่วยงานเฉพาะกิจที่ประกอบด้วยสมาชิกระดับสูงที่สุดของพรรค) ของสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983 ถึง 1990 ในขณะที่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการในพรรคของเขาคือรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 ถึง 1982 ประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 ถึง 1989 และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาส่วนกลางตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982 ถึง 1987 ในปี ค.ศ. 1988 เมื่อกองทัพปลดปล่อยประชาชนได้ฟื้นฟูระบบยศทางทหารขึ้นมาใหม่ เขาได้รับการเสนอยศเป็นพลเอก แต่ก็ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวไปเช่นเดียวกับเมื่อปี ค.ศ. 1955 แม้จะเกษียณจากตำแหน่งคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี ค.ศ. 1987 และคณะกรรมการทหารส่วนกลางในปี ค.ศ. 1989 แต่เติ้งก็ยังคงมีอิทธิพลต่อนโยบายของประเทศจีนอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1997
การตัดสินใจที่สำคัญมักจะกระทำขึ้น ณ บ้านเลขที่ 11 ซอยหมี่เหลียงกู่ ของเติ้ง โดยมีสมาชิกอาวุโสระดับสูงในพรรคจำนวน 8 คนที่เรียกกันว่า "แปดผู้เฒ่า" รวมถึง เฉิน ยฺหวิน และหลี่ เซียนเนี่ยน ร่วมประชุมปรึกษาหารือ[56][57] แม้เติ้งจะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำสูงสุด แต่ในทางปฏิบัติ กลุ่มผู้อาวุโสเหล่านี้จะร่วมกันบริหารประเทศจีนในลักษณะคณะกรรมการขนาดเล็ก[58]: 78 เติ้งครองอำนาจในฐานะ "ผู้นำสูงสุด" แม้จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของพรรคก็ตาม และสามารถปลดผู้นำพรรคได้สามคนติดต่อกัน รวมถึงหู เย่าปัง[59] เติ้งลาออกจากตำแหน่งกรรมาธิการกลางพรรค และคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองของพรรค ถึงกระนั้น เขาก็ยังคงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางของประเทศและพรรค และยังคงเป็นผู้นำสูงสุดจีนมากกว่าที่จะเป็นเลขาธิการจ้าว จื่อหยาง ประธานาธิบดีหลี่ เซียนเนี่ยน และประธานาธิบดีหยาง ช่างคุน
ปัวล่วนฝ่านเจิ้ง
แก้เติ้งได้ปฏิเสธการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และในปี ค.ศ. 1977 ก็ได้ริเริ่ม "ฤดูใบไม้ผลิแห่งปักกิ่ง" ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำที่เกินขอบเขตและความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างเปิดเผย นอกจากนี้ยังได้ฟื้นฟูการสอบเข้ามหาวิทยาลัยระดับชาติ (เกาเข่า) ซึ่งถูกยกเลิกไปเป็นเวลาสิบปีในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ในขณะเดียวกัน เขายังเป็นผู้ผลักดันให้มีการยกเลิกระบบชนชั้น ภายใต้ระบบนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ลบอุปสรรคในการจ้างงานสำหรับชาวจีนที่ถูกระบุว่ามีความเกี่ยวข้องกับชนชั้นเจ้าของที่ดินในอดีต การลบอุปสรรคดังกล่าวเปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลที่สนับสนุนการฟื้นฟูตลาดเอกชนสามารถเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้
เติ้งค่อย ๆ เอาชนะคู่แข่งทางการเมืองของตนอย่างชาญฉลาด ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์การปฏิวัติทางวัฒนธรรมอย่างเปิดเผย เขาได้ลดทอนอำนาจของกลุ่มบุคคลที่ได้รับตำแหน่งทางการเมืองจากเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างฐานะให้แก่ผู้ที่เคยถูกขับออกจากอำนาจในช่วงเวลานั้นเช่นเดียวกับตนเอง เติ้งยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ขณะที่เติ้งกำลังค่อย ๆ สร้างความมั่นคงในการควบคุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น ฮฺว่าได้ถูกแทนที่ด้วยจ้าว จื่อหยางในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ. 1980 และโดยหู เย่าปังในตำแหน่งประธานพรรคในปี ค.ศ. 1981 แม้ว่าฮฺว่าจะเป็นผู้ที่เหมาไว้วางใจให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำสูงสุดของพรรคและประเทศก็ตาม ในช่วงการขจัดความวุ่นวายและกลับคืนสู่ภาวะปกติ (ปัวล่วนฝ่านเจิ้ง) การปฏิวัติทางวัฒนธรรมได้ถูกประกาศว่าเป็นโมฆะ และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของคดีความที่ไม่เป็นธรรมจำนวนกว่า 3 ล้านราย ณ ปี ค.ศ. 1976 ได้รับการฟื้นฟูชื่อเสียงอย่างเป็นทางการ[60]
การที่เติ้งก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของจีนนั้นหมายความว่าประเด็นทางประวัติศาสตร์และอุดมการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเหมา เจ๋อตงจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม เนื่องจากเติ้งปรารถนาที่จะดำเนินการปฏิรูปครั้งใหญ่ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะสืบทอดนโยบาย "การต่อสู้ทางชนชั้น" ที่แข็งกร้าว และการรณรงค์ต่อสาธารณะของเหมา ในปี ค.ศ. 1982 คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เผยแพร่เอกสารเรื่อง "ประเด็นทางประวัติศาสตร์ต่างๆ นับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน" เหมายังคงรักษาสถานะของตนในฐานะ "มาร์กซิสต์ผู้ยิ่งใหญ่ นักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ นักการทหาร และนายพลผู้ยิ่งใหญ่" รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บุกเบิกของประเทศและกองทัพปลดปล่อยประชาชนที่ไม่มีใครเทียบได้ เอกสารดังกล่าวระบุว่า "ควรพิจารณาถึงความสำเร็จของเขาก่อนที่จะพิจารณาถึงความผิดพลาด" เติ้งได้ให้ความเห็นส่วนตัวว่าเหมาเป็นคน "ดีเจ็ดส่วน เลวสามส่วน" เอกสารดังกล่าวยังได้เบี่ยงเบนความรับผิดชอบหลักในการปฏิวัติทางวัฒนธรรมออกจากเหมา (แม้จะระบุไว้ว่า "เหมาได้เริ่มต้นปฏิวัติทางวัฒนธรรมโดยเข้าใจผิด") ไปยัง "กลุ่มต่อต้านการปฏิวัติ" อย่างแก๊งออฟโฟร์และหลิน เปียว
ความพันธ์ระหว่างประเทศ
แก้เติ้งให้ความสำคัญสูงสุดต่อการทำให้ประเทศจีนทันสมัยและเปิดรับความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยประกาศว่า "ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของจีนคือการแสวงหาสภาพแวดล้อมที่สงบสุข" เพื่อสนับสนุนนโยบายการปฏิรูปทั้งสี่ด้าน[61] ภายใต้การนำของเติ้ง จีนได้เปิดประเทศสู่ภายนอกเพื่อเรียนรู้จากประเทศที่พัฒนาแล้ว[61] เติ้งได้พัฒนาหลักการที่ว่าในกิจการต่างประเทศ จีนควรซ่อนศักยภาพและคอยโอกาสอันเหมาะสม [61] เขายังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาสถานะที่เป็นกลางระหว่างสหรัฐและสหภาพโซเวียต[61] แม้ว่าเติ้งจะยังคงรักษาอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติที่สำคัญ แต่เขาก็ได้มอบอำนาจให้แก่ข้าราชการในเรื่องทั่วไป เช่น การให้สัตยาบันต่อการตัดสินใจโดยฉันทามติ และจะเข้ามาแทรกแซงในกรณีที่ไม่สามารถบรรลุฉันทามติได้[61] เมื่อเทียบกับยุคของเหมา เติ้งได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ ในการตัดสินใจด้านนโยบายต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการกระจายอำนาจในการบริหารงานด้านนโยบายต่างประเทศ[62] แนวทางการกระจายอำนาจดังกล่าวส่งผลให้เกิดการพิจารณาผลประโยชน์และมุมมองที่หลากหลาย แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการแตกแยกของสถาบันกำหนดนโยบาย และการเจรจาต่อรองที่ซับซ้อนระหว่างหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในกระบวนการกำหนดนโยบาย[62]
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1978 หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศได้เข้าสู่ภาวะปกติ เติ้งได้เดินทางเยือนกรุงเทพ กัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์ และได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีลี กวนยู แห่งสิงคโปร์ เติ้งรู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ความเขียวขจี และที่อยู่อาศัยของประเทศสิงคโปร์ และต่อมาได้ส่งชาวจีนหลายหมื่นคนไปศึกษาและดูงานที่สิงคโปร์และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อนำความรู้และประสบการณ์กลับมาพัฒนาประเทศ ในทางกลับกัน ลี กวนยูได้ให้คำแนะนำแก่เติ้งว่าควรยุติการเผยแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคำแนะนำที่ลีบอกเติ้งก็ได้ปฏิบัติตามในภายหลัง[63][64] ในปลายปี ค.ศ. 1978 บริษัทโบอิง ผู้ผลิตอากาศยานได้ประกาศการขายเครื่องบินโบอิง 747 ให้แก่สายการบินต่าง ๆ ในจีน และบริษัทโคคา-โคล่า ผู้ผลิตเครื่องดื่มได้ประกาศเจตนารมณ์ในการเปิดโรงงานผลิตในเซี่ยงไฮ้[ต้องการอ้างอิง]
ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1979 สหรัฐได้ยอมรับสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้รัฐบาลชาตินิยม (ไต้หวัน) อยู่ในสถานะที่ไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ และการติดต่อทางธุรกิจระหว่างจีนกับตะวันตกก็เริ่มเติบโตมากขึ้น[65] ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1979 เติ้งได้เดินทางเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการ โดยได้เข้าพบประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ณ กรุงวอชิงตัน รวมถึงสมาชิกสภาคองเกรสหลายคน ฝ่ายจีนยืนกรานที่จะเชิญอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองอย่างเป็นทางการที่ทำเนียบขาว ซึ่งนับเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความมุ่งมั่นที่จะแสดงบทบาทอันเข้มแข็งในด้านหนึ่ง และในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะสานต่อโครงการต่าง ๆ ที่นิกสันได้ริเริ่มไว้ ในการหารือกับประธานาธิบดีคาร์เตอร์ เติ้งได้พยายามขอความเห็นชอบจากสหรัฐสำหรับการวางแผนรุกรานเวียดนามของจีนในสงครามจีน–เวียดนาม[66] ตามคำกล่าวของซบิกนิว เบรซซินสกี ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ได้สงวนท่าที ซึ่งเป็นการกระทำที่นักการทูตจีนตีความว่าเป็นการอนุมัติโดยปริยาย และจีนได้เปิดฉากการรุกรานหลังจากการกลับประเทศของเติ้งไม่นาน[66]
ในระหว่างการเยือนครั้งนั้น เติ้งได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์อวกาศจอห์นสันในเมืองฮิวสตัน ตลอดจนสำนักงานใหญ่ของบริษัทโคคา-โคล่าในเมืองแอตแลนตา และบริษัทโบอิงในเมืองซีแอตเทิล ด้วยความสำคัญของการเยี่ยมชมเหล่านี้ เติ้งได้เน้นย้ำอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลจีนชุดใหม่ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี[ต้องการอ้างอิง]
เติ้งรับหน้าที่รับผิดชอบการเจรจาขั้นสุดท้ายกับสหรัฐ เรื่องการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างระหว่างทั้งสองประเทศด้วยตนเอง[67] เมื่อเผชิญกับเสียงวิจารณ์ภายในพรรคเกี่ยวกับนโยบายต่อสหรัฐ เติ้งได้กล่าวไว้ว่า "ผมเป็นประธานดำเนินงานเกี่ยวกับสหรัฐ หากเกิดปัญหาใด ๆ ผมจะรับผิดชอบทั้งหมด"[67]
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง[68] เติ้งได้ยกญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างของประเทศที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านเศรษฐกิจให้แก่ประเทศจีน[69]
ในระยะแรก เติ้งยังคงยึดมั่นในแนวทางลัทธิเหมาในยุคที่จีนแตกแยกกับโซเวียต ซึ่งมองว่าสหภาพโซเวียตเป็นมหาอำนาจที่มีลักษณะ "ครอบงำ" เช่นเดียวกับสหรัฐ แต่เป็นภัยคุกคามต่อจีนมากกว่าเนื่องจากตั้งอยู่ใกล้ชิด[70] ความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตเป็นไปในทางที่ดีขึ้นภายหลังจากที่มีฮาอิล กอร์บาชอฟขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำในปี ค.ศ. 1985 และในที่สุดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างทั้งสองประเทศก็ได้รับการฟื้นฟูอย่างเป็นทางการในการประชุมสุดยอดจีน–โซเวียตในปี ค.ศ. 1989[71]
เติ้งตอบโต้การคว่ำบาตรของชาติตะวันตกหลังจากการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินโดยการนำ "หลักการยี่สิบสี่อักษร" มาใช้ในการดำเนินกิจการระหว่างประเทศของจีน ซึ่งมีใจความสำคัญคือ สังเกตสถานการณ์อย่างรอบคอบ (冷静观察), รักษาจุดยืนของชาติ (稳住阵脚), รับมือความท้าทายอย่างสงบ (沉着应付), ซ่อนศักยภาพของประเทศและคอยโอกาสที่เหมาะสม (韬光养晦), ทำตัวให้ต่ำต้อย (善于守拙) และเลี่ยงการแสดงบทบาทผู้นำ (绝不当头)[72]
การสิ้นสุดของสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตได้ทำลายแรงจูงใจดั้งเดิมที่เป็นพื้นฐานของการปรองดองระหว่างจีนกับสหรัฐ[73] เติ้งมีความกังวลว่าสหรัฐอาจจะลดการสนับสนุนการปฏิรูปประเทศจีนให้ทันสมัย จึงได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ไม่เปิดเผยตัวเพื่อยอมรับสถานะผู้นำของสหรัฐ และมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาภายในประเทศเป็นหลัก[73] ในช่วงเวลานี้ของนโยบายต่างประเทศ จีนได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน และการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในสถาบันพหุภาคี[73] ดังที่ศาสตราจารย์จ้าว ซุ่ยเชิง ได้ประเมินมรดกทางนโยบายต่างประเทศของเติ้งไว้ว่า "การทูตเพื่อการพัฒนาของเติ้งได้ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมภายนอกที่เอื้ออำนวยต่อการผงาดขึ้นของจีนในศตวรรษที่ 21 ผู้สืบทอดที่เขาเลือกเองกับมืออย่างเจียง เจ๋อหมิน และหู จิ่นเทา ต่างก็ดำเนินรอยตามแนวทางของเขาอย่างซื่อสัตย์ "[73]
ในปี ค.ศ. 1990 ระหว่างการพบปะกับนายกรัฐมนตรีพีเอร์ ทรูโด แห่งแคนาดา เติ้งได้กล่าวไว้ว่า "หลักการสำคัญที่ควบคุมระเบียบโลกใหม่ควรเป็นการไม่แทรกแซงกิจการภายในและระบบสังคมของประเทศอื่น การบังคับให้ทุกประเทศในโลกทำตามแบบแผนที่สหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศสวางไว้นั้นจะไม่เป็นผล[74] เติ้งได้สนับสนุนหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 5 ประการ โดยระบุว่าหลักการเหล่านี้ควรนำมาใช้เป็น "บรรทัดฐานนำทางในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ"[75]
การปฏิรูปและเปิดกว้าง
แก้ณ จุดเริ่มต้นของการปฏิรูปและเปิดดว้างของจีน เติ้งได้กำหนดหลักการสำคัญสี่ประการที่ต้องยึดถือไว้ตลอดกระบวนการ ได้แก่ (1) การนำพาของพรรคคอมมิวนิสต์ (2) เส้นทางสังคมนิยม (3) ลัทธิมากซ์ และ (4) ระบอบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ[76] โดยรวมแล้ว การปฏิรูปดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเติ้งได้มอบหมายปัญหาเฉพาะต่าง ๆ ให้แก่บุคคลที่ตนอุปถัมภ์ เช่น หู เย่าปัง หรือจ้าว จื่อหยาง ซึ่งต่อมาทั้งสองก็ได้แก้ไขปัญหาเหล่านั้นภายใต้หลักการ "แสวงหาความจริงจากข้อเท็จจริง" หมายความว่าความถูกต้องของแนวทางใด ๆ จะต้องวัดด้วยผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ[58] เติ้งอธิบายถึงการปฏิรูปและเปิดกว้างว่าเป็น "การทดลองในระดับใหญ่" ซึ่งต้องอาศัย "การทดลองในทางปฏิบัติ" อย่างละเอียดรอบคอบ แทนที่จะอาศัยเพียงความรู้จากตำรา[77]: 65
สี่ทันสมัย
แก้เติ้งได้กล่าวถึงสุภาษิตโบราณที่ว่า "ไม่สำคัญว่าแมวจะสีดำหรือขาว ตราบใดที่มันจับหนูได้ มันก็คือแมวที่ดี" ประเด็นที่ต้องการจะสื่อคือวิธีการแบบทุนนิยมนั้นได้ผล[78] เติ้งได้ร่วมงานกับคณะทำงานของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจ้าว จื่อหยาง ซึ่งได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ. 1980 แทนฮฺว่า กั๋วเฟิง และหู เย่าปัง ซึ่งได้เข้ารับตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี ค.ศ. 1981 เติ้งจึงได้กุมบังเหียนและเริ่มเน้นย้ำเป้าหมายในการ "พัฒนาประเทศให้ทันสมัยใน 4 ด้าน" อันได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ การเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการป้องกันประเทศ เขาได้ประกาศแผนการที่ทะเยอทะยานในการเปิดประเทศและเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ[79]
ตำแหน่งอำนาจสุดท้ายที่เหลืออยู่ของฮฺว่า กั๋วเฟิง คือ ประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง ถูกเติ้งยึดไปในปี ค.ศ. 1981 อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าในการปรับปรุงกองทัพกลับดำเนินไปอย่างเชื่องช้า สงครามชายแดนกับเวียดนามในปี ค.ศ. 1977–1979 ทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม สงครามครั้งนี้สร้างความงุนงงให้แก่ผู้สังเกตการณ์ภายนอก จาง เสี่ยวหมิงได้ให้เหตุผลว่าเติ้งมีเป้าหมายหลายประการ ได้แก่ การยับยั้งการขยายอิทธิพลของโซเวียตในภูมิภาค การขอรับการสนับสนุนจากสหรัฐเพื่อดำเนินนโยบายสี่ทันสมัย และการกระตุ้นให้ประเทศจีนเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปและบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก เติ้งยังพยายามที่จะเสริมสร้างอำนาจการควบคุมกองทัพปลดปล่อยประชาชนของตน และแสดงให้โลกเห็นว่าประเทศจีนมีความสามารถในการทำสงครามที่แท้จริง จางเห็นว่าการลงโทษเวียดนามเนื่องจากการรุกรานกัมพูชาเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญน้อย[80] ในเหตุการณ์ดังกล่าว กองกำลังของจีนประสบความล้มเหลวอย่างมากทั้งในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ กลยุทธ์ การนำทัพ และประสิทธิภาพในการรบ[81] ต่อมาเติ้งได้ใช้ผลงานที่ย่ำแย่ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนเป็นเครื่องมือในการเอาชนะการต่อต้านการปฏิรูปกองทัพของผู้นำทางทหาร[43]: 230
ภัยคุกคามทางทหารหลักของจีนมาจากสหภาพโซเวียต ซึ่งแม้จะมีกำลังพลน้อยกว่าแต่กลับมีความแข็งแกร่งเหนือกว่าอย่างมาก เนื่องมาจากมีเทคโนโลยีอาวุธที่ก้าวหน้ากว่า ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1981 เติ้งเห็นว่าการซ้อมรบเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกองทัพปลดปล่อยประชาชน และในเดือนกันยายนปีเดียวกันก็ได้มีการจัดการซ้อมรบภาคเหนือขึ้น ซึ่งนับเป็นการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดของกองทัพปลดปล่อยประชาชนนับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ยิ่งไปกว่านั้น เติ้งได้ริเริ่มการปรับปรุงของกองทัพปลดปล่อยประชาชนให้ทันสมัย และตัดสินใจว่าจีนจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์พลเรือนขั้นสูงเสียก่อนจึงจะหวังสร้างอาวุธสมัยใหม่ได้ ด้วยเหตุนี่เขาจึงมุ่งเน้นไปที่การลดขนาดกองทัพโดยการปลดทหารจำนวน 1 ล้านนายในปี ค.ศ. 1985 (百万大裁军; ไป่ว่านต้าไฉ่-จฺวิน)[82] รวมถึงการปลดเหล่านายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่มีอายุมากและมีความประพฤติมิชอบ ตลอดจนพวกพ้องของบุคคลเหล่านั้น เขาเน้นย้ำถึงการสรรหาชายหนุ่มที่มีการศึกษาดีกว่ามาก ซึ่งจะสามารถควบคุมเทคโนโลยีขั้นสูงได้เมื่อเทคโนโลยีนั้นพร้อมใช้งาน แทนที่จะละเลยให้มีการอุปถัมภ์และการทุจริตในหมู่นายทหาร เขากลับบังคับใช้ระเบียบวินัยที่เข้มงวดในทุกระดับชั้น ในปี ค.ศ. 1982 เขาได้จัดตั้งคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศขึ้นใหม่ เพื่อวางแผนการนำเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในภาคพลเรือนมาประยุกต์ใช้[83][84]
สามขั้นตอนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ
แก้ในปี ค.ศ. 1986 เติ้งได้ให้สัมภาษณ์กับไมก์ วอลเลซ ในรายการ 60 Minutes โดยอธิบายว่าการที่ประชาชนบางกลุ่มและบางภูมิภาคจะเจริญรุ่งเรืองก่อนนั้น จะเป็นการเร่งให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันได้เร็วขึ้น[85] ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1987 ในการประชุมสมัยสามัญเต็มคณะของสภาประชาชนแห่งชาติ เติ้งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางอีกวาระหนึ่ง แต่ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาส่วนกลาง และเฉิน ยฺหวินก็ได้เข้ารับตำแหน่งแทน เติ้งยังคงทำหน้าที่เป็นประธานและพัฒนาการปฏิรูปและเปิดกว้างเป็นนโยบายหลัก และได้เสนอสามขั้นตอนที่เหมาะสมสำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนภายใน 70 ปี ขั้นตอนแรกคือการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ให้เป็นสองเท่าของปี ค.ศ. 1980 และทำให้ประชาชนมีอาหารและเสื้อผ้าเพียงพอ ซึ่งบรรลุเป้าหมายภายในสิ้นทศวรรษที่ 1980 ขั้นตอนที่สองคือการเพิ่ม GDP เป็นสี่เท่าของปี ค.ศ. 1980 ภายในสิ้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งบรรลุเป้าหมายในปี ค.ศ. 1995 ขั้นตอนที่สามคือการเพิ่ม GDP ต่อหัวให้เท่ากับระดับประเทศที่มีการพัฒนาปานกลางภายในปี ค.ศ. 2050 เมื่อถึงจุดนั้น ประชาชนจีนจะค่อนข้างมีความเป็นอยู่ที่ดี และการพัฒนาให้ทันสมัยจะบรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง[86]
การปฏิรูปอื่น ๆ
แก้การปรับปรุงความสัมพันธ์กับต่างประเทศเป็นหนึ่งในปรัชญาสำคัญสองประการที่ระบุไว้ในโครงการปฏิรูปของเติ้งซึ่งเรียกว่า "ไก่เก๋อไคฟ่าง" (แปลตรงตัว การปฏิรูปและเปิดกว้าง) ภายใต้การนำของเติ้ง ระบบภายในประเทศของจีนไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ ล้วนประสบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เป้าหมายของการปฏิรูปของเติ้งสามารถสรุปได้ด้วยนโยบาย "สี่ทันสมัย" อันได้แก่ ด้านการเกษตร อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการทหาร
กลยุทธ์ในการบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศอุตสาหกรรมสมัยใหม่คือ เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม เติ้งได้ให้เหตุผลว่าจีนอยู่ในระยะเริ่มแรกของสังคมนิยม และหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือการพัฒนา "สังคมนิยมอัตลักษณ์จีน" ให้สมบูรณ์แบบ[87][37] และ "แสวงหาความจริงจากข้อเท็จจริง" (สิ่งนี้คล้ายคลึงกับหลักการทางทฤษฎีของเลนินที่ใช้สนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (NEP) ในช่วงทศวรรษที่ 1920 ซึ่งให้เหตุผลว่าสหภาพโซเวียตยังไม่ได้เข้าสู่ระยะทุนนิยมอย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการนำระบบทุนนิยมมาใช้ในวงจำกัดเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น) "สังคมนิยมอัตลักษณ์จีน" ได้วางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการดำเนินนโยบายชาติพันธุ์อย่างไม่เป็นพิษภัย และสร้างวิธีการทางทฤษฎีเกี่ยวกับชาติพันธุ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ[88]
นโยบายเศรษฐกิจของเติ้งให้ความสำคัญในการพัฒนากำลังการผลิตของจีน[89] ตามมุมมองของเติ้ง การพัฒนานี้ "เป็นการปฏิวัติที่สำคัญที่สุดเมื่อพิจารณาจากมุมมองของการพัฒนาทางประวัติศาสตร์" และ "สังคมนิยมที่ยากจน" นั้นไม่ใช่สังคมนิยม[89] เหตุผลทางทฤษฎีของเขาในการยอมให้กลไกตลาดเกิดขึ้นก็คือ:
สัดส่วนระหว่างการวางแผนและกลไกตลาดไม่ใช่ปัจจัยแตกต่างที่สำคัญระหว่างระบอบสังคมนิยมและทุนนิยม ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนไม่เทียบเท่ากับสังคมนิยม เพราะภายใต้ระบบทุนนิยมก็มีการวางแผนเช่นกัน ระบบเศรษฐกิจตลาดก็ไม่ได้เทียบเท่ากับทุนนิยม เพราะภายใต้สังคมนิยมก็มีตลาดเช่นกัน การวางแผนและกลไกตลาดล้วนเป็นเครื่องมือในการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น แก่นแท้ของสังคมนิยมคือการปลดปล่อยและพัฒนาขุมกำลังการผลิต การขจัดการเอารัดเอาเปรียบและความเหลื่อมล้ำ และการบรรลุความมั่งคั่งให้แก่ประชาชนทุกคนในที่สุด แนวคิดนี้จะต้องถูกอธิบายให้ประชาชนเข้าใจอย่างชัดเจน[90]
แตกต่างจากฮฺว่า กั๋วเฟิง เติ้งเชื่อมั่นว่าไม่ควรปฏิเสธนโยบายใด ๆ เพียงเพราะนโยบายนั้นไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับเหมา และแตกต่างจากผู้นำสายอนุรักษ์นิยมอย่างเช่นเฉิน ยฺหวิน เติ้งไม่ได้คัดค้านนโยบายใด ๆ ด้วยเหตุผลที่ว่านโยบายเหล่านั้นมีความคล้ายกับนโยบายที่พบในประเทศทุนนิยม
ความยืดหยุ่นทางการเมืองที่มีต่อรากฐานของลัทธิสังคมนิยมได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากคำกล่าวเช่น:
เราไม่ควรกลัวที่จะนำวิธีบริหารจัดการที่ก้าวหน้าที่ใช้ในประเทศทุนนิยมมาปรับใช้ ... แก่นแท้ของสังคมนิยมคือการปลดปล่อยและพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต ... สังคมนิยมและเศรษฐกิจตลาดนั้นไม่ขัดแย้งกัน ... เราควรคำนึงถึงความเบี่ยงเบนของฝ่ายขวา แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องคำนึงถึงความเบี่ยงเบนของฝ่ายซ้ายด้วย[91][ต้องการเลขหน้า]
แม้ว่าเติ้งจะเป็นผู้วางรากฐานทางทฤษฎีและให้การสนับสนุนทางการเมืองเพื่อให้การปฏิรูปเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ แต่ความเห็นทั่วไปของนักประวัติศาสตร์คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจหลายอย่างที่เติ้งนำเสนอนั้นไม่ได้เป็นต้นคิดโดยเติ้งเอง ตัวอย่างเช่น นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหลได้ริเริ่มโครงการสี่ทันสมัยก่อนเติ้งหลายปี นอกจากนี้ ผู้นำท้องถิ่นหลายคนได้นำเสนอการปฏิรูปหลายอย่าง ซึ่งมักไม่ได้รับการอนุมัติจากคำสั่งของรัฐบาลกลาง หากการปฏิรูปเหล่านั้นประสบความสำเร็จและมีความน่าสนใจ ก็จะถูกนำไปใช้ในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และในที่สุดก็ถูกนำมาใช้ทั่วประเทศ ตัวอย่างที่มักถูกอ้างถึงคือระบบรับผิดชอบครัวเรือน ซึ่งครั้งแรกได้ถูกนำมาใช้อย่างลับ ๆ โดยหมู่บ้านชนบทที่ยากจน โดยมีความเสี่ยงที่จะถูกตัดสินว่าเป็นการ "ต่อต้านปฏิวัติ" การทดลองนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก[92] เติ้งให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผยและต่อมาก็ได้นำมาใช้ทั่วประเทศ การปฏิรูปอื่น ๆ อีกหลายอย่างยังได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ของเสือแห่งเอเชียตะวันออก[93]
สิ่งนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากรูปแบบการปฏิรูป (เปเรสตรอยคา) ที่มีฮาอิล กอร์บาชอฟดำเนินการ ซึ่งการปฏิรูปที่สำคัญส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากกอร์บาชอฟเอง ในทางตรงกันข้าม แนวทางปฏิรูป "จากล่างขึ้นบน" ของเติ้ง เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทาง "จากบนลงล่าง" ของเปเรสตรอยคา น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปของเติ้งประสบความสำเร็จมากกว่า[94][ต้องการเลขหน้า]
การปฏิรูปของเติ้งได้นำระบบการวางแผนและบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคแบบวางแผนและรวมศูนย์โดยข้าราชการที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคมาใช้ แทนที่แนวทางการสร้างเศรษฐกิจแบบรณรงค์มวลชนของเหมา อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการนั้นเป็นไปโดยอ้อมผ่านกลไกตลาด ซึ่งต่างจากแบบของโซเวียต เติ้งได้สืบทอดมรดกของเหมาโดยการให้ความสำคัญต่อผลผลิตทางการเกษตร และส่งเสริมการกระจายอำนาจตัดสินใจไปยังกลุ่มเศรษฐกิจในชนบทและครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยอย่างมีนัยสำคัญ ในระดับท้องถิ่นได้มีการใช้แรงจูงใจทางวัตถุแทนที่จะเป็นการปลุกระดมทางการเมืองเพื่อกระตุ้นแรงงาน ซึ่งรวมถึงการอนุญาตให้ชาวนามีรายได้เพิ่มเติมจากการจำหน่ายผลผลิตจากที่ดินส่วนตัวในราคาตลาดเสรี
เน้นการส่งออก
แก้ในการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบการจัดสรรทรัพยากรโดยตลาด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและมณฑลได้รับอนุญาตให้ลงทุนในอุตสาหกรรมที่เห็นว่าให้ผลกำไรสูงสุด ซึ่งส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเบา ด้วยเหตุนี้การปฏิรูปของเติ้งจึงได้เปลี่ยนกลยุทธ์การพัฒนาของจีนให้เน้นไปที่อุตสาหกรรมเบาและการส่งออกเป็นหลัก ผลผลิตอุตสาหกรรมเบาเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีฐานทุนต่ำ ด้วยระยะเวลาการลงทุนที่สั้น จำนวนเงินลงทุนเริ่มต้นที่ต่ำ และรายได้จากการส่งออกที่สูงในสกุลเงินต่างประเทศ รายได้ที่เกิดจากอุตสาหกรรมการผลิตเบาจึงสามารถนำกลับมาลงทุนซ้ำในกระบวนการผลิตที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น รวมไปถึงการลงทุนในทรัพย์สินถาวรและการลงทุนอื่น ๆ[ต้องการอ้างอิง]
ทว่าการลงทุนเหล่านี้ไม่ได้เป็นการบังคับโดยรัฐบาล ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการปฏิรูปในทำนองเดียวกันแต่ประสบความสำเร็จน้อยกว่าอย่างมากในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย และสาธารณรัฐประชาชนฮังการี ทุนที่ลงทุนในอุตสาหกรรมหนักส่วนใหญ่มาจากระบบธนาคาร และทุนส่วนใหญ่ดังกล่าวนั้นมาจากเงินฝากของผู้บริโภค หนึ่งในมาตรการปฏิรูปเบื้องต้นของเติ้งคือ การป้องกันการโอนย้ายผลกำไร ยกเว้นผ่านระบบภาษีอากรหรือระบบธนาคาร ดังนั้นการโอนย้ายผลกำไรในรัฐวิสาหกิจจึงเป็นไปโดยอ้อม ทำให้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้มีความเป็นอิสระจากการแทรกแซงของรัฐบาลในระดับหนึ่ง โดยสรุป การปฏิรูปของเติ้งได้จุดชนวนให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศจีน[95]
การปฏิรูปเหล่านี้ถือเป็นการพลิกกลับนโยบายพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจของลัทธิเหมา ประเทศจีนได้ตัดสินใจเร่งกระบวนการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยโดยเพิ่มปริมาณการค้าต่างประเทศอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศตะวันตก ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1978 เติ้งได้เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกเพื่อแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองการลงนาม "สนธิสัญญาสันติภาพและมิตรภาพระหว่างประเทศญี่ปุ่นและสาธารณรัฐประชาชนจีน" และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากนายกรัฐมนตรีทาเกโอะ ฟูกูดะ และบุคคลสำคัญอื่น ๆ เติ้งเป็นเพียงรองนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาที่เขาพบปะกับเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับเขาในฐานะผู้นำสูงสุดที่มีอำนาจอย่างแท้จริงของจีน เนื่องจากประวัติอันยาวนานในการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเขา เติ้งถือเป็นผู้นำจีนคนแรกที่ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะแห่งญี่ปุ่น ข่าวจากสถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1978 รายงานว่าเติ้งได้กล่าวด้วยถ้อยคำอันสุภาพว่า "เราได้พูดคุยกันถึงอดีตที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าประทับใจเป็นอย่างยิ่งคือ พระราชประสงค์ของพระองค์ในการสร้างอนาคตที่ดีกว่า" คำกล่าวของเติ้งชี้ให้เห็นถึงยุคใหม่แห่งการปฏิรูปการเมืองของจีนผ่านทางการทูตเศรษฐกิจระหว่างประเทศ[96]
สนธิสัญญาสันติภาพและมิตรภาพระหว่างญี่ปุ่นและสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นพันธสัญญาที่ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ระหว่างทั้งสองประเทศมาจนถึงปัจจุบัน มาตรา 1 ของสนธิสัญญาได้กำหนดหลักการแห่งการเคารพซึ่งกันและกันในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน การไม่รุกรานซึ่งกันและกัน และการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน มาตรา 2 กำหนดหลักการต่อต้านการครอบงำ (หรืออาจใช้ว่า "ต่อต้านการผูกขาดอำนาจ") มาตรา 3 กล่าวถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้น และมาตรา 4 อธิบายถึงความสัมพันธ์ของสนธิสัญญานี้กับประเทศที่สาม แม้การเจรจาสันติภาพนี้จะใช้เวลานานถึง 6 ปีนับตั้งแต่การฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูต เนื่องจากประเด็นข้อความ "ต่อต้านการครอบงำ" และ "ประเทศที่สาม" ถือเป็นประเด็นที่ขัดแย้งกันมากที่สุด แต่ข้อตกลงดังกล่าวยังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและญี่ปุ่นในปัจจุบัน[97] ด้วยการเข้าร่วมในกระบวนการเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออก ทำให้จีนสามารถเร่งรัดการปฏิรูปสี่ทันสมัยได้สำเร็จ โดยได้รับเม็ดเงินทุนจากต่างประเทศ ตลาดต่างประเทศ เทคโนโลยีขั้นสูง และประสบการณ์การบริหารจัดการที่ทันสมัย ซึ่งส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา เติ้งได้ดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่ง ซึ่งส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ[98][99]
การปฏิรูปดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน โดยได้มีการนำมาตรการจูงใจด้านวัตถุและระบบโบนัสรูปแบบใหม่มาใช้ ตลาดในชนบทที่จำหน่ายผลผลิตจากไร่นาของเกษตรกรและสินค้าส่วนเกินจากชุมชนก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง ตลาดในชนบทไม่เพียงแต่ส่งเสริมให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอีกด้วย เมื่อเกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรส่วนเกินในตลาดเสรีได้ การบริโภคภายในประเทศจึงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม และยังก่อให้เกิดการสนับสนุนทางการเมืองต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ซับซ้อนขึ้น[ต้องการอ้างอิง]
มีข้อคล้ายคลึงบางประการระหว่างนโยบายสังคมนิยมตลาดของเติ้งโดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น กับนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (NEP) ของวลาดิมีร์ เลนิน ตลอดจนนโยบายเศรษฐกิจของนีโคไล บุลกานิน ตรงที่ทั้งสองต่างมองเห็นบทบาทของผู้ประกอบการเอกชนและกลไกตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยการค้าและกลไกราคามากกว่าการวางแผนจากส่วนกลาง ดังที่นักวิชาการ คริสโตเฟอร์ มาร์ควิส และเฉียว คุน-ยฺเหวีวน ได้สังเกตไว้ว่าเติ้งเคยอยู่ในสหภาพโซเวียตในช่วงที่เลนินนำนโยบายเศรษฐกิจใหม่มาใช้ จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะอนุมานได้ว่านโยบายนั้นอาจมีอิทธิพลต่อมุมมองของเติ้งเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีกลไกตลาดอยู่ภายในระบบสังคมนิยม[18]: 254 ในการพบปะครั้งแรกระหว่างเติ้งกับอาร์มานด์ แฮมเมอร์ เติ้งได้กดดันให้นักอุตสาหกรรมและนักลงทุนรายเก่าในสหภาพโซเวียตของเลนินให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจใหม่โดยละเอียดที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
การคืนฮ่องกงและมาเก๊า
แก้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา เติ้งได้เป็นผู้นำในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และในแง่การเมือง เขารับหน้าที่เจรจาต่อรองกับสหราชอาณาจักรเพื่อขอคืนฮ่องกง โดยการพบปะหารือกับนางมาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในขณะนั้น นางแทตเชอร์เข้าร่วมการประชุมโดยหวังจะรักษาอำนาจการปกครองของอังกฤษเหนือเกาะฮ่องกงและเกาลูน ซึ่งเป็น 2 ใน 3 ของเขตปกครองของอาณานิคมแห่งนี้ แต่เติ้งได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้อย่างเด็ดขาด[100] ผลจากการเจรจาเหล่าดังกล่าวคือปฏิญญาร่วมระหว่างจีนกับอังกฤษ ลงนามในวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1984 ปฏิญญาดังกล่าวระบุอย่างเป็นทางการว่าสหราชอาณาจักรจะต้องคืนอาณานิคมฮ่องกงทั้งหมดให้แก่จีนภายในปี ค.ศ. 1997 รัฐบาลจีนได้ให้สัญญาว่าจะเคารพรักษาระบบเศรษฐกิจและเสรีภาพส่วนบุคคลของเขตปกครองพิเศษซึ่งเดิมเป็นอาณานิคมของอังกฤษเป็นระยะเวลา 50 ปีนับจากการส่งมอบอำนาจปกครอง[101][102]
ทฤษฎีหนึ่งประเทศ สองระบบของเติ้งถูกนำไปประยุกต์ใช้กับฮ่องกงและมาเก๊า และเติ้งยังมีความประสงค์ที่จะนำเสนอแนวคิดนี้ต่อประชาชนชาวไต้หวัน เพื่อเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการผนวกดินแดนไต้หวันเข้ากับประเทศจีนในอนาคต ซึ่งปัจจุบันยังคงมีข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือดินแดนดังกล่าว[103] ในปี ค.ศ. 1982 เติ้งได้อธิบายถึงแนวคิด "หนึ่งประเทศ สองระบบ" เป็นครั้งแรก โดยมีไต้หวันเป็นตัวอย่างหลักในการนำเสนอแนวคิดนี้[104]: 231
คำกล่าวของเติ้งในระหว่างการร่างกฎหมายมูลฐานแห่งฮ่องกง ค.ศ. 1987 ได้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของเขาที่มีต่อหลักการดังกล่าวในบริบทของฮ่องกง[105]: 176 ในขณะนั้น เติ้งได้ประกาศว่ารัฐบาลกลางจะไม่แทรกแซงกิจการประจำวันของฮ่องกง แต่คาดการณ์ว่าบางครั้งฮ่องกงอาจเผชิญกับปัญหาบางประการที่กระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งจำเป็นต้องให้รัฐบาลกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง[105]: 178–179 เติ้งกล่าวว่า "หลังจากปี ค.ศ. 1997 เราจะยังคงอนุญาตให้ประชาชนในฮ่องกงวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนและประเทศจีนได้ในทางวาจา แต่ถ้าคำพูดเหล่านั้นถูกนำไปปฏิบัติ โดยพยายามเปลี่ยนฮ่องกงให้กลายเป็นฐานการต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่โดยอ้างถึง "ประชาธิปไตย" แล้ว กรณีเช่นนั้นก็ย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการแทรกแซง"[106][107] ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1988 เติ้งได้กล่าวไว้ว่า "ระบบการเมืองของฮ่องกงในปัจจุบันไม่ได้เป็นแบบอังกฤษหรือแบบอเมริกัน และในอนาคตก็ไม่ควรนำระบบแบบตะวันตกมาใช้"[105]: 179
การควบคุมประชากรและอาชญากรรม
แก้การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนนำมาซึ่งปัญหาหลายประการ การสำรวจสำมะโนประชากรในปี ค.ศ. 1982 ได้เปิดเผยถึงการเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีจำนวนเกินกว่าหนึ่งพันล้านคนแล้ว เติ้งได้ดำเนินนโยบายจำกัดการมีบุตรซึ่งเป็นนโยบายที่ฮฺว่า กั๋วเฟิงริเริ่มขึ้น โดยกำหนดให้สตรีมีบุตรได้เพียงคนเดียว หากฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษทางปกครอง[108] นโยบายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในเขตเมือง และรวมถึงการบังคับให้ทำแท้ง[109]
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1983 เติ้งได้ประกาศเริ่ม "การรณรงค์ปราบปรามอาชญากรรมอย่างเด็ดขาด" เพื่อแก้ไขปัญหาความปลอดภัยของประชาชนที่ย่ำแย่ลงภายหลังจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[110][111][112] มีรายงานว่ารัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายการประหารชีวิตไว้ที่ 5,000 รายภายในกลางเดือนพฤศจิกายน และแหล่งข่าวจากไต้หวันอ้างว่ามีผู้ถูกประหารชีวิตสูงถึง 60,000 รายในช่วงเวลาดังกล่าว[113] อย่างไรก็ตาม การประมาณการล่าสุดระบุว่ามีผู้ถูกตัดสินประหารชีวิต 24,000 ราย (ส่วนใหญ่ในช่วง "การปราบปราม" ครั้งแรกของการรณรงค์)[112][114] บุคคลจำนวนหนึ่งที่ถูกจับกุม (บางรายได้รับโทษประหารชีวิต) เป็นบุตรหรือญาติของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับต่าง ๆ รวมถึงหลานชายของจู เต๋อ แสดงให้เห็นถึงหลักการที่ว่า "ทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย"[111][112][115] การรณรงค์ดังกล่าวส่งผลบวกต่อความปลอดภัยสาธารณะในทันที แต่ก็ก่อให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับความรุนแรงเกินควรของบทลงโทษทางกฎหมายบางประการ และผลกระทบระยะยาวต่อความปลอดภัยสาธารณะ[115][116]
การเพิ่มขึ้นของเสรีภาพทางเศรษฐกิจกำลังถูกแปลความหมายไปสู่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่กว้างขวางขึ้น และมีนักวิจารณ์เริ่มผุดขึ้นภายในระบบ รวมถึงเว่ย์ จิงเชิง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชื่อดังผู้ซึ่งบัญญัติศัพท์ "การปฏิรูปที่ห้า" เพื่ออ้างถึงระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ขาดหายไปในแผนการปฏิรูปของเติ้ง เสี่ยวผิง ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ความไม่พอใจต่อระบอบอำนาจนิยมและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นได้ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดต่อความเป็นผู้นำของเติ้ง
ปราบปรามการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
แก้การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 ซึ่งจุดสุดยอดคือเหตุการณ์การสังหารหมู่ในวันที่ 4 มิถุนายน เป็นการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นในและบริเวณใกล้กับจัตุรัสเทียนอันเหมินระหว่างวันที่ 15 เมษายน ถึง 5 มิถุนายน ค.ศ. 1989 อันเป็นปีที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์หลายประเทศล่มสลาย
การประท้วงดังกล่าวจุดชนวนจากการถึงแก่อสัญกรรมของหู เย่าปัง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิรูปที่ได้รับการสนับสนุนจากเติ้ง แต่ถูกขับออกจากตำแหน่งโดยกลุ่มแปดผู้เฒ่าและฝ่ายอนุรักษ์นิยมภายในคณะกรมการเมือง ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจต่อการตอบสนองที่ล่าช้าของพรรค รวมถึงพิธีศพที่จัดขึ้นอย่างเรียบง่ายเกินไป ประชาชนได้เริ่มการไว้ทุกข์สาธารณะตามท้องถนนในกรุงปักกิ่งและในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง ในกรุงปักกิ่ง เหตุการณ์นี้มีศูนย์กลางอยู่ที่อนุสาวรีย์วีชนในจัตุรัสเทียนอันเหมิน การไว้ทุกข์ดังกล่าวได้กลายเป็นช่องทางสาธารณะในการระบายความไม่พอใจต่อระบบอุปถัมภ์ที่รับรู้ได้ภายในรัฐบาล การปลดออกจากตำแหน่งอย่างไม่เป็นธรรม และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของหู รวมถึงบทบาทเบื้องหลังของกลุ่มผู้ทรงอำนาจรุ่นเก่า ในวันก่อนหน้าพิธีศพของหู จำนวนผู้เข้าร่วมการประท้วงในจัตุรัสเทียนอันเหมินก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 คน แม้การประท้วงขาดเอกภาพในการเรียกร้องหรือผู้นำ แต่ผู้เข้าร่วมประท้วงได้หยิบยกประเด็นการทุจริตภายในรัฐบาล บางส่วนได้เรียกร้องให้มีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ[117] และการปฏิรูปประชาธิปไตยภายในโครงสร้างรัฐบาล[117] ขณะที่บางส่วนเรียกร้องให้มีรูปแบบสังคมนิยมที่เผด็จการน้อยลงและไม่รวบอำนาจมากนัก[118][119]
ระหว่างการประท้วง จ้าว จื่อหยาง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นพันธมิตรสนับสนุนนโยบายตลาดของเติ้ง ได้ให้การสนับสนุนผู้ประท้วงและแสดงท่าทีแยกตัวออกจากคณะกรมการเมือง กฎอัยการศึกถูกประกาศในวันที่ 20 พฤษภาคม โดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เผิง ซึ่งเป็นนักการเมืองสายสังคมนิยมหัวรุนแรง แต่การรุกคืบของกองทัพในเมืองในช่วงแรกถูกขัดขวางโดยชาวเมือง การเคลื่อนไหวนี้กินเวลานานถึงเจ็ดสัปดาห์ วันที่ 3–4 มิถุนายน ทหารจำนวนกว่า 200,000 นายพร้อมด้วยรถถังและเฮลิคอปเตอร์ได้เข้ายึดเมืองเพื่อปราบปรามการประท้วงโดยใช้กำลัง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนหลายร้อยถึงหลายพันคน ประชาชนจำนวนมากในกรุงปักกิ่งเชื่อว่าเติ้งเป็นผู้สั่งการ แต่บรรดานักวิเคราะห์การเมืองยังไม่สามารถระบุได้ว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังคำสั่งดังกล่าวเป็นใคร[120][ต้องการเลขหน้า] อย่างไรก็ตาม บุตรีของเติ้งได้ออกมาปกป้องการกระทำดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นการตัดสินใจร่วมกันของผู้นำพรรค[121]
เพื่อขจัดกลุ่มบุคคลที่เห็นพ้องสนับสนุนผู้ประท้วงเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน พรรคคอมมิวนิสต์ได้ริเริ่มโครงการระยะเวลาหนึ่งปีครึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการขบวนการต่อต้านฝ่ายขวา กลุ่มผู้มีอาวุโส เช่น เติ้ง เฟย์ มีเป้าหมายที่จะ "ปราบปรามสมาชิกพรรคที่มีแนวโน้มเสรีนิยมแบบชนชั้นกลางอย่างเด็ดขาด" และมีการส่งเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จำนวนกว่า 30,000 นายไปปฏิบัติภารกิจดังกล่าว[122][ต้องการเลขหน้า]
จ้าวถูกควบคุมตัวไว้ในบ้านโดยกลุ่มหัวรุนแรง และเติ้งเองก็ถูกบีบให้ยอมรับเงื่อนไขบางประการของกลุ่มดังกล่าว[120][ต้องการเลขหน้า] ไม่นานนัก เขาได้ประกาศว่า "โลกจักรวรรดินิยมตะวันตกทั้งหมดวางแผนที่จะบีบบังคับให้ประเทศสังคมนิยมทุกประเทศละทิ้งแนวทางสังคมนิยม และจากนั้นให้นำประเทศเหล่านั้นเข้าสู่การผูกขาดของทุนนิยมระหว่างประเทศ และเดินบนเส้นทางทุนนิยม" หลายเดือนต่อมาเขาได้กล่าวว่า "สหรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง" ในการเคลื่อนไหวของนักศึกษา โดยอ้างถึงบรรดานักข่าวต่างชาติที่ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษาแกนนำ และต่อมาได้ช่วยเหลือนักศึกษาเหล่านั้นหลบหนีไปยังประเทศตะวันตกหลายประเทศ โดยส่วนใหญ่ไปยังสหรัฐผ่านฮ่องกงและไต้หวัน[120][ต้องการเลขหน้า]
แม้ว่าในเบื้องต้นเติ้งจะยอมผ่อนปรนให้แก่กลุ่มผู้สนับสนุนสังคมนิยมหัวรุนแรง แต่ไม่นานหลังจากการเดินทางเยือนภาคใต้ในปี ค.ศ. 1992 เขาก็ได้กลับมาดำเนินการปฏิรูปอีกครั้ง หลังจากการเยือนครั้งนั้น เขาสามารถยุติการโจมตีการปฏิรูปของกลุ่มสังคมนิยมหัวรุนแรงผ่านการรณรงค์ "ตั้งชื่อว่าทุนนิยมหรือสังคมนิยม" ได้สำเร็จ[123][ต้องการเลขหน้า] เติ้งได้กล่าวเป็นการส่วนตัวกับพีเอร์ ทรูโด อดีตนายกรัฐมนตรีแคนาดา ว่ากลุ่มต่าง ๆ ภายในพรรคคอมมิวนิสต์นั้นสามารถยึดหน่วยทหารได้ และประเทศก็เสี่ยงจะเกิดสงครามกลางเมือง[122][ต้องการเลขหน้า] สองปีต่อมา เติ้งได้สนับสนุนให้จู หรงจี้ นายกเทศมนตรีเซี่ยงไฮ้ขึ้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี จูได้ปฏิเสธที่จะประกาศกฎอัยการศึกในเซี่ยงไฮ้ในระหว่างการประท้วง แม้ว่ากลุ่มผู้สนับสนุนสังคมนิยมหัวรุนแรงจะกดดันเขาแล้วก็ตาม[120][ต้องการเลขหน้า]
การเกษียณและเยือนภาคใต้
แก้เติ้งตัดสินใจเกษียณอายุจากตำแหน่งสูงสุดอย่างเป็นทางการ เมื่อเขาได้ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1989 และเจียง เจ๋อหมิน ผู้สืบทอดตำแหน่งของเขาก็ได้เข้ารับตำแหน่งแทนและเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ[124][125] อย่างไรก็ตาม จีนยังคงอยู่ในยุคสมัยของเติ้ง เสี่ยวผิง เขายังคงได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้นำทางพฤตินัยของประเทศ ถึงแม้จะไม่มีตำแหน่งทางการใด ๆ นอกเหนือจากประธานสมาคมไพ่บริดจ์แห่งประเทศจีน และเชื่อกันว่าเขามีอำนาจควบคุมอยู่เบื้องหลัง[126] ทั้งนี้เขาได้แต่งตั้งหู จิ่นเทาให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของเจียงในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคครั้งที่ 14 ในปี ค.ศ. 1992 เติ้งได้รับการยกย่องอย่างเป็นทางการว่าเป็น "สถาปนิกผู้นำการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมนิยมสมัยใหม่ของจีน" สำหรับพรรค เชื่อกันว่าเขาเป็นแบบอย่างที่ดีแก่แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปฏิเสธที่จะเกษียณอายุเมื่อถึงวัย เขาได้ทำลายธรรมเนียมปฏิบัติเดิมที่ยึดถือการดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต เขามักถูกเรียกขานสั้น ๆ ว่า "สหายเสี่ยวผิง" โดยปราศจากตำแหน่งใด ๆ ต่อท้าย
การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 ส่งผลให้อำนาจของเติ้งอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ และภายในพรรคก็ได้เกิดกลุ่มอนุรักษ์นิยมขึ้นมาต่อต้านการปฏิรูปของเติ้งอย่างแข็งขัน เพื่อย้ำนโยบายทางเศรษฐกิจของตนอีกครั้ง ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1992 เติ้งได้เดินทางเยือนภาคใต้ของจีน โดยได้เยือนเมืองกว่างโจว เชินเจิ้น จูไห่ และใช้เวลาช่วงเทศกาลตรุษจีนที่เซี่ยงไฮ้ การเดินทางครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำนโยบายเศรษฐกิจของตนหลังจากเกษียณอายุไปแล้ว[127][128] เขากล่าวว่า "คนบางกลุ่มได้ให้ร้ายต่อระบบสังคมนิยมของเราว่าเป็นระบบของราชวงศ์ฉิน ซึ่งเป็นการกล่าวหาที่น่ารำคาญยิ่งนัก! ระบบของเราไม่ได้เป็นเผด็จการ แต่เป็นประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ ในช่วงที่ประธานเหมาเป็นผู้นำก็ไม่ได้เป็นแบบราชวงศ์ฉิน แต่เป็นประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์เช่นกัน หากจะเปรียบเทียบแล้ว ระบบของเรานั้นน่าจะใกล้เคียงกับระบบของฝรั่งเศสมากกว่า"[129] การเยือนภาคใต้ในปี ค.ศ. 1992 ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของจีน เพราะได้ช่วยรักษาการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนไว้ และยังคงไว้ซึ่งความมั่นคงของสังคม[130][131][132][133][134] สุขภาพของเติ้งเสื่อมลงอย่างรวดเร็วหลังปี ค.ศ. 1994 ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1995 บุตรีของเติ้งได้ให้เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า "เมื่อปีที่แล้ว ท่านสามารถเดินได้นาน 30 นาทีวันละ 2 ครั้ง แต่ปัจจุบันไม่สามารถเดินได้แล้ว ... ท่านต้องอาศัยคนช่วยพยุงสองคน"[135] ยังมีรายงานอีกว่าในปีเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพาร์คินสันถูกส่งตัวไปยังปักกิ่งเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เขา[136]
อสัญกรรม
แก้เติ้งถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1997 เวลา 21.08 น. ตามเวลาปักกิ่ง สิริอายุ 92 ปี จากการติดเชื้อในปอดและโรคพาร์คินสัน[137][138] ประชาชนส่วนใหญ่มีความพร้อมรับกับการอสัญกรรมของเขา เนื่องจากมีข่าวลือว่าสุขภาพของเขากำลังย่ำแย่ลง เวลา 10:00 น. ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายกรัฐมนตรีหลี่ เผิง ได้ขอให้ประชาชนร่วมกันยืนสงบนิ่งเพื่อแสดงความอาลัยเป็นเวลา 3 นาที ธงชาติของประเทศถูกลดครึ่งเสาเป็นเวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์ พิธีศพซึ่งถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ เป็นพิธีที่เรียบง่ายและค่อนข้างเป็นส่วนตัว มีเพียงผู้นำระดับสูงของประเทศและครอบครัวของเติ้งเท่านั้นที่เข้าร่วม และได้มีการถ่ายทอดสดผ่านช่องสัญญาณเคเบิลทุกช่อง ภายหลังพิธีศพ อวัยวะของเขาได้ถูกบริจาคเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ ส่วนร่างกายที่เหลือได้ถูกนำไปฌาปนกิจ ณ สุสานปฏิวัติปาเป่าชาน และอัฐิของเขาได้ถูกโปรยลงสู่ทะเลตามความประสงค์สุดท้าย ตลอดสองสัปดาห์ถัดมา สื่อของรัฐบาลจีนได้เผยแพร่ข่าวและสารคดีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและการอสัญกรรมของเติ้ง โดยรายการข่าวแห่งชาติเวลา 19:00 น. ซึ่งเป็นรายการข่าวภาคค่ำประจำวัน ได้ขยายเวลาออกอากาศไปเกือบสองชั่วโมงจากเวลาออกอากาศปกติ[ต้องการอ้างอิง]
เจียง เจ๋อหมิน ผู้สืบทอดตำแหน่งของเติ้งยังคงดำเนินนโยบายตามแนวทางปรัชญาทางการเมืองและเศรษฐกิจของเติ้ง เติ้งได้รับการยกย่องว่าเป็น "มาร์กซิสต์ผู้ยิ่งใหญ่ นักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพผู้ยิ่งใหญ่ รัฐบุรุษ นักยุทธศาสตร์การทหาร และนักการทูต หนึ่งในผู้นำหลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน และสาธารณรัฐประชาชนจีน สถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่แห่งการเปิดประเทศแบบสังคมนิยมและการปฏิรูปประเทศจีนให้ทันสมัย และผู้ริเริ่มทฤษฎีเติ้ง เสี่ยวผิง"[139] อย่างไรก็ตาม กลุ่มบุคคลบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มลัทธิเหมาสมัยใหม่และนักปฏิรูปหัวรุนแรง (ทั้งฝ่ายซ้ายจัดและขวาจัด) นั้นมีมุมมองต่อเขาในแง่ลบ ปีต่อมา บทเพลงอย่าง "ชุนเทียนเตอะกู้ชื่อ" (นิทานฤดูใบไม้ผลิ) ที่ขับร้องโดยต่ง เหวิน-หฺวา ซึ่งประพันธ์ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เติ้งหลังจากการเดินทางเยือนภาคใต้ของเขาในปี ค.ศ. 1992 ก็กลับมาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายอีกครั้ง[ต้องการอ้างอิง]
การถึงแก่อสัญกรรมของเติ้งได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในระดับนานาชาติ โคฟี แอนนัน เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า "เติ้งควรได้รับการจดจำในประชาคมโลกว่าเป็นสถาปนิกในการปฏิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจของจีนให้ก้าวกระโดด" ประธานาธิบดีฌัก ชีรัก แห่งฝรั่งเศส กล่าวว่า "ในศตวรรษนี้มีชายเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถนำชุมชนมนุษย์ขนาดใหญ่ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งและกำหนดชะตาชีวิตได้มากเท่ากับเติ้ง" นายกรัฐมนตรีจอห์น เมเจอร์ แห่งสหราชอาณาจักร ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของเติ้งในการส่งมอบฮ่องกงกลับคืนสู่การปกครองของจีน นายกรัฐมนตรีฌ็อง เครเตียง แห่งแคนาดา เรียกเติ้งว่าเป็น "บุคคลสำคัญ" ในประวัติศาสตร์จีน ประธานพรรคก๊กมินตั๋งแห่งไต้หวันได้ส่งคำแสดงความเสียใจพร้อมระบุว่าปรารถนาที่จะเห็นสันติภาพ ความร่วมมือ และความเจริญรุ่งเรือง องค์ทะไลลามะได้แสดงความเสียใจที่เติ้งอสัญกรรมไปโดยไม่ได้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทิเบต[140]
มรดก
แก้วิสัยทัศน์ของเติ้งที่ว่า "การพัฒนาเป็นหลักการสำคัญยิ่ง" ยังคงเป็นแนวทางในการบริหารประเทศของจีนต่อไป[141]: 49 ในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 4 ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคชุดที่ 13 เจียง เจ๋อหมินและคณะผู้นำรุ่นที่สามได้ประกาศว่า "การพัฒนาเป็นเป้าหมายสูงสุดของพรรคในการบริหารประเทศและฟื้นฟูชาติ"[141]: 49 ในทำนองเดียวกัน การที่เติ้งให้ความสำคัญสูงสุดกับการพัฒนานั้นได้มีอิทธิพลต่อมุมมองทางวิทยาศาสตร์ต่อการพัฒนาของหู จิ่นเทา และฝันจีนของสี จิ้นผิง ซึ่งเน้นย้ำให้การพัฒนาเป็นภารกิจหลักของประเทศจีน[141]: 49
อนุสรณ์
แก้อนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เติ้งมักมีรูปแบบเรียบง่ายและไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับผู้นำคนอื่น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับภาพลักษณ์ความเรียบง่ายและเน้นการปฏิบัติจริงของเติ้ง แทนที่จะถูกเก็บรักษาศพไว้ในโลงแก้วเช่นเดียวกับเหมา เขาได้เลือกที่จะฌาปนกิจ และให้โปรยอัฐิลงสู่ทะเล อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการจัดแสดงสิ่งของส่วนตัวของเขาเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่สาธารณชน ในวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 2000 ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์สำริด ณ ลานสวนสาธารณะเหลียนฮฺวาชานในเชินเจิ้น เพื่อเป็นเกียรติแก่บทบาทของเติ้งในฐานะผู้ออกแบบและผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชินเจิ้น อนุสาวรีย์มีความสูง 6 เมตร (20 ฟุต) พร้อมฐานสูงอีก 3.68 เมตร แสดงให้เห็นถึงเติ้งที่กำลังก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นใจ ผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจำนวนมากได้เดินทางมาเยือนอนุสาวรีย์แห่งนี้ นอกจากนี้ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลและบนเกาะไหหลำ เติ้งยังปรากฏตัวอยู่บนป้ายโฆษณาริมทางพร้อมด้วยข้อความที่เน้นย้ำถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจหรือนโยบายหนึ่งประเทศ สองระบบของเขา.
-
ป้ายโฆษณาของเติ้ง เสี่ยวผิงในเมืองตูเจียงเอี้ยน มณฑลเสฉวน
วันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 2004 ได้มีการจัดพิธีเปิดอนุสาวรีย์สำริดเพื่อฉลองครบรอบ 100 ปีชาตกาลของเติ้ง ณ เมืองกว่างอาน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเติ้งในมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน แสดงให้เห็นถึงเติ้งที่แต่งกายแบบสบายกำลังนั่งอยู่บนเก้าอี้และมีสีหน้ายิ้มแย้ม อักษรจีนที่จารึกไว้บนฐานนั้น เป็นลายมือของเจียง เจ๋อหมิน เลขาธิการคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางในขณะนั้น[142]
บ้านเกิดของเติ้ง เสี่ยวผิงในหมู่บ้านไผฝาง มณฑลเสฉวน ได้รับการอนุรักษ์ไว้ในเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ใน
กรุงบิชเคก เมืองหลวงของประเทศคีร์กีซสถาน มีถนนขนาดสี่ช่องจราจรกว้าง 25 เมตร (82 ฟุต) ยาว 3.5 กิโลเมตร (2 ไมล์) ชื่อว่าถนนเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งได้เปิดใช้งานในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1997 อนุสาวรีย์หินแกรนิตสีแดงสูง 2 เมตรตั้งอยู่ทางปลายด้านตะวันออกของถนนสายนี้ คำจารึกเขียนเป็นภาษาจีน รัสเซีย และคีร์กีซ[143][144]
ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง "เติ้ง เสี่ยวผิง" ซึ่งสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CCTV) ได้เผยแพร่ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1997 นั้นได้นำเสนอประวัติชีวิตของเติ้งตั้งแต่สมัยที่เป็นนักศึกษาในประเทศฝรั่งเศสจนถึงการเดินทางเยือนภาคใต้ในปี ค.ศ. 1992[145] ในปี ค.ศ. 2014 CCTV ได้เผยแพร่ละครโทรทัศน์เรื่อง "เติ้ง เสี่ยวผิง บนจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์" (Deng Xiaoping at History's Crossroads) เพื่อเป็นการเตรียมฉลองครบรอบ 110 ปีชาตกาลของเขา
การประเมิน
แก้เติ้งได้รับการขนานนามว่าเป็น "สถาปนิกแห่งประเทศจีนยุคปัจจุบัน"[124][125][146][147] และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่ 20[148] เขาได้รับเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ในปี ค.ศ. 1978 และ 1985 นับเป็นผู้นำจีนคนที่สาม (รองจากเจียง ไคเชก และนางซ่ง เหม่ย์หลิง ภริยา) และเป็นผู้นำคอมมิวนิสต์คนที่สี่ (รองจากโจเซฟ สตาลิน ซึ่งได้รับเลือกสองครั้ง และนีกีตา ครุชชอฟ) ที่ได้รับเกียรตินี้[149]
เติ้งเป็นที่จดจำอย่างมากจากการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เขาได้ริเริ่มในขณะที่เป็นผู้นำสูงสุดของจีน ซึ่งผลักดันจีนให้ไปสู่เศรษฐกิจตลาด ส่งผลเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชากรหลายร้อยล้านคน[150] ขยายเสรีภาพส่วนบุคคลและวัฒนธรรม และบูรณาการประเทศเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ[151][152][153] ภายใต้การนำของเขา ประชากรจำนวนมากได้หลุดพ้นจากสภาวะความยากจนมากกว่าช่วงเวลาใด ๆ ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิรูปที่เขาได้ริเริ่มเป็นส่วนใหญ่[148] จากเหตุผลดังกล่าว จึงมีผู้เสนอแนะว่าเติ้งสมควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ[154][155][156] เติ้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ลดทอนการบูชาเหมา เจ๋อตงอย่างสุดโต่ง และเป็นผู้ยุติยุคแห่งความวุ่นวายของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[157] ยิ่งไปกว่านั้น การใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดของเขายังได้รับการยกย่องว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนยังคงเป็นปึกแผ่น ต่างจากมหาอำนาจคอมมิวนิสต์อีกแห่งหนึ่งในยุคนั้นอย่างสหภาพโซเวียตที่ล่มสลายลงในปี ค.ศ. 1991[158]
อย่างไรก็ตาม เติ้งยังเป็นที่จดจำในด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเหตุความรุนแรงทางการเมืองจำนวนมาก[152][159] ในฐานะผู้นำสูงสุด เขามีส่วนเกี่ยวข้องในการสั่งการปราบปรามประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว เขาก็มีอิทธิพลอย่างสูงในการปกปิดเหตุการณ์นี้ภายประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน[160][161][162] ยิ่งไปกว่านั้น เขายังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกวาดล้างที่โหดร้ายที่สุดในช่วงที่เหมา เจ๋อตงครองอำนาจ ตัวอย่างเช่น เขาสั่งการให้กองทัพปราบปรามหมู่บ้านมุสลิมในมณฑลยูนนาน ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1,600 คน รวมถึงเด็กอีก 300 คน[157]
ในฐานะผู้นำสูงสุด เติ้งยังได้เจรจาเพื่อยุติการปกครองแบบอาณานิคมของอังกฤษเหนือฮ่องกง และสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตให้เป็นปกติกับสหรัฐและสหภาพโซเวียต[159][163] ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1980 เขาได้ริเริ่มการปฏิรูปทางการเมืองจีนโดยการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ และเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่สามของจีนที่ร่างขึ้นในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ได้นำหลักการของลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมในแบบฉบับของจีนมาใช้ และได้รับการอนุมัติจากสภาประชาชนแห่งชาติในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1982 โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน[164][165][166][167] เขามีส่วนสำคัญในการจัดระบบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีของจีน[168][169] และฟื้นฟูการปฏิรูปทางการเมืองของจีน[170]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Faison, Seth (20 February 1997). "Deng Xiaoping is Dead at 92; Architect of Modern China". The New York Times. ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 January 2017. สืบค้นเมื่อ 19 April 2021.
- ↑ "Deng Xiaoping: Architect of modern China". China Daily. 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-06-23.
- ↑ Vogel 2011.
- ↑ "The Anti-Rightist Campaign of 1957" (PDF). May 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 8 May 2019.
- ↑ Denmark, Abraham. "40 years ago, Deng Xiaoping changed China — and the world". The Washington Post. ISSN 0190-8286. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 May 2019. สืบค้นเมื่อ 19 April 2021.
- ↑ "Man of the Year: Teng Hsiao-p'ing: Visions of a New China". Time. 1 January 1979. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 April 2021. สืบค้นเมื่อ 19 April 2021.
- ↑ "Man of the Year: Deng Xiaoping". Time. 6 January 1986. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 December 2019. สืบค้นเมื่อ 19 April 2021.
- ↑ Wu, Wei (4 June 2015). "Why China's Political Reforms Failed". The Diplomat. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 April 2023. สืบค้นเมื่อ 3 May 2020.
- ↑ Denmark, Abraham. "40 years ago, Deng Xiaoping changed China — and the world". The Washington Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 May 2019. สืบค้นเมื่อ 19 April 2021.
- ↑ "The arrival of the Hakkas in Sichuan Province". Asiawind.com. 29 December 1997. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 November 2010. สืบค้นเมื่อ 13 March 2010.
- ↑ "Luodai, a Hakkanese town in Sichuan Province". GOV.cn. 14 January 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 September 2018. สืบค้นเมื่อ 14 May 2010.
- ↑ Yingcong Dai (2009). The Sichuan Frontier and Tibet: Imperial Strategy in the Early Qing. University of Washington Press. pp. 25–. ISBN 978-0-295-98952-5. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 November 2016. สืบค้นเมื่อ 20 July 2016.
- ↑ Yang 1997, pp. 11–12.
- ↑ "Deng Xiaoping – Childhood". China.org.cn. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 September 2018. สืบค้นเมื่อ 14 May 2010.
- ↑ "Deng Xiaoping quits smoking". UPI. 1 Apr 1991. สืบค้นเมื่อ 23 Oct 2023.
- ↑ Evans, Richard (1995). Deng Xiaoping and the Making of Modern China (2 ed.). Penguin. p. 5. ISBN 978-0-14-013945-7.
- ↑ Xia, Zhengnong (2003). 大辭海. Vol. 哲學卷. Shanghai: Shanghai Dictionary Publishing House. p. 38. ISBN 9787532612369.
- ↑ 18.0 18.1 Marquis, Christopher; Qiao, Kunyuan (2022). Mao and Markets: The Communist Roots of Chinese Enterprise. New Haven: Yale University Press. doi:10.2307/j.ctv3006z6k. ISBN 978-0-300-26883-6. JSTOR j.ctv3006z6k. OCLC 1348572572. S2CID 253067190.
- ↑ Spence, Jonathan (1999), "In Search of Modern China", 310
- ↑ Vogel (2011), p. 18–20.
- ↑ Stewart, Whitney (2001). Deng Xiaoping: Leader in a Changing China. Twenty-First Century Books. p. 23. ISBN 9780822549628.
- ↑ Mair, Victor H. (2013). Chinese Lives: The people who made a civilization. London: Thames & Hudson. p. 215. ISBN 9780500251928.
- ↑ [1] เก็บถาวร 27 พฤศจิกายน 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Wang Song. "Chinese Revolutionaries in France".
- ↑ Bailey, Paul (1988). "The Chinese Work-Study Movement in France". The China Quarterly. 115 (115): 441–461. doi:10.1017/S030574100002751X. JSTOR 654865. S2CID 154375449. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 April 2021. สืบค้นเมื่อ 19 February 2021.
- ↑ Pantsov (2015), p. 450.
- ↑ "Exiled son who saved the state". Times Higher Education. 22 March 2002. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 December 2012. สืบค้นเมื่อ 2 December 2010.
- ↑ Gao 2008
- ↑ 28.0 28.1 Yang 1997, pp. 66–67.
- ↑ Franz 1988, pp. 86–87.
- ↑ Goodman 1994, p. 34.
- ↑ 31.0 31.1 Franz 1988, p. 87.
- ↑ Deng 1968.
- ↑ Yang 1997, p. 70.
- ↑ "豫西革命纪念馆和鲁山邓小平旧居扩建工程竣工". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 July 2022. สืบค้นเมื่อ 11 July 2022.
- ↑ "西关大街,从历史中走来". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 July 2022. สืบค้นเมื่อ 11 July 2022.
- ↑ Cheng Li (2001). China's leaders. Rowman & Littlefield. p. 131. ISBN 9780847694976. สืบค้นเมื่อ 6 March 2016.
- ↑ 37.0 37.1 37.2 37.3 37.4 GREGOR BENTON. "Assessing Deng Xiaoping". jacobinmag.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 January 2019. สืบค้นเมื่อ 28 January 2019.
- ↑ DeMare, Brian James (2019). Land wars : the story of China's agrarian revolution. Stanford, California: Stanford University Press. p. 117. ISBN 978-1-5036-0849-8. OCLC 1048940018.
- ↑ DeMare, Brian James (2019). Land wars : the story of China's agrarian revolution. Stanford, California: Stanford University Press. p. 118. ISBN 978-1-5036-0849-8. OCLC 1048940018.
- ↑ 40.0 40.1 "The Man Who Re-Invented China". origins.osu.edu. 17 September 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 July 2019. สืบค้นเมื่อ 27 July 2019.
- ↑ Jacques Guillermaz, The Chinese Communist Party in Power, 1949–1976 (1976) pp. 320–331.
- ↑ Henry He (2016). Dictionary of the Political Thought of the People's Republic of China. Taylor & Francis. p. 713. ISBN 9781315500430. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 March 2021. สืบค้นเมื่อ 3 October 2019.
- ↑ 43.0 43.1 43.2 43.3 43.4 Meyskens, Covell F. (2020). Mao's Third Front: The Militarization of Cold War China. Cambridge, United Kingdom: Cambridge University Press. doi:10.1017/9781108784788. ISBN 978-1-108-78478-8. OCLC 1145096137. S2CID 218936313.
- ↑ 44.0 44.1 Minqi Li (December 2008). "Socialism, capitalism, and class struggle: The Political economy of Modern china". Economic & Political Weekly.
- ↑ Shambaugh, David (1993). "Deng Xiaoping: The Politician". The China Quarterly. 135 (135): 457–490. doi:10.1017/S0305741000013874. ISSN 0305-7410. JSTOR 654098. S2CID 154440131. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 February 2023. สืบค้นเมื่อ 23 February 2023.
- ↑ "Film makers flock to tractor factory to shoot Deng's stories". News Guandong. 26 July 2004. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 September 2018. สืบค้นเมื่อ 18 February 2011.
- ↑ 47.0 47.1 Yan, Jiaqi (1996). Kwok, Daniel W. Y. (บ.ก.). Turbulent decade : a history of the cultural revolution. Honolulu: University of Hawaii Press. doi:10.1515/9780824865313. ISBN 9780824865313. สืบค้นเมื่อ 23 February 2023.
- ↑ Wood, Michael (3 September 2020). The Story of China: A portrait of a civilisation and its people. Simon & Schuster UK. p. 341. ISBN 978-1-4711-7600-5. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 November 2021. สืบค้นเมื่อ 18 November 2021.
In 1973, Premier Zhou Enlai had brought Deng back to Beijing from exile to focus on reconstructing the Chinese economy.
- ↑ Dillon, Michael (27 October 2014). Deng Xiaoping: The Man who Made Modern China. Bloomsbury Publishing. p. 201. ISBN 978-0-85772-467-0. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 November 2021. สืบค้นเมื่อ 18 November 2021.
A major confrontation erupted on 4 October 1974 when Mao agreed, on the advice of Zhou Enlai, that Deng should be appointed first deputy premier of the State Council.
- ↑ 50.0 50.1 50.2 Minami, Kazushi (2024). People's Diplomacy: How Americans and Chinese Transformed US-China Relations during the Cold War. Ithaca, NY: Cornell University Press. ISBN 9781501774157.
- ↑ "Deng Rong's Memoirs: Chpt 49". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 December 2008.
- ↑ Pantsov, Alexander; Levine, Steven I. (2015). Deng Xiaoping: A Revolutionary Life. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-939203-2. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 August 2020. สืบค้นเมื่อ 20 May 2021.
- ↑ "Deng Rong's Memoirs: Chapter 53". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 December 2008.
- ↑ 1975–1976 and 1977–1980, Europa Publications (2002) "The People's Republic of Chine: Introductory Survey" The Europa World Year Book 2003 volume 1, (44th edition) Europa Publications, London, p. 1075, col. 1, ISBN 1-85743-227-4; and Bo, Zhiyue (2007) China's Elite Politics: Political Transition and Power Balancing World Scientific, Hackensack, New Jersey, p. 59, ISBN 981-270-041-2
- ↑ "1977: Deng Xiaoping back in power". BBC News. 22 July 1977. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 July 2017. สืบค้นเมื่อ 21 July 2011.
- ↑ "百年老胡同米粮库中的那些名人"住客"". visitbeijing.com. Beijing Tourism Network. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 April 2023. สืบค้นเมื่อ 30 April 2023.
- ↑ ""家庭园艺师"邓小平". people.com. People's Daily. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 August 2024. สืบค้นเมื่อ 30 August 2024.
- ↑ 58.0 58.1 Ang, Yuen Yuen (2016). How China Escaped the Poverty Trap. Cornell University Press. ISBN 978-1-5017-0020-0. JSTOR 10.7591/j.ctt1zgwm1j.
- ↑ Xiang, Lanxin (20 April 2012). "Bo Xilai probe shows up China's outdated system of government". South China Morning Post
- ↑ "1989年6月1日 吴林泉、彭飞:胡耀邦同志领导平反"六十一人案"追记-胡耀邦史料信息网". www.hybsl.cn (ภาษาจีน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 January 2021. สืบค้นเมื่อ 29 April 2020.
- ↑ 61.0 61.1 61.2 61.3 61.4 Zhao, Suisheng (2023). The dragon roars back : transformational leaders and dynamics of Chinese foreign policy. Stanford, California: Stanford University Press. p. 9. ISBN 978-1-5036-3415-2. OCLC 1332788951.
- ↑ 62.0 62.1 Zhao, Suisheng (2023). The dragon roars back : transformational leaders and dynamics of Chinese foreign policy. Stanford, California: Stanford University Press. pp. 175–176. ISBN 978-1-5036-3088-8. OCLC 1331741429. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 March 2023. สืบค้นเมื่อ 8 January 2023.
- ↑ "MFA, Singapore Press Release". App.mfa.gov.sg. 29 December 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 March 2012. สืบค้นเมื่อ 27 November 2011.
- ↑ Lee Kuan Yew, From Third World to First: The Singapore Story, 1965–2000, Volume 2, (HarperCollins: 2000), pp. 595–603
- ↑ "United States announces that it will recognize communist China | December 15, 1978 | HISTORY". HISTORY. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 December 2023. สืบค้นเมื่อ 15 January 2024.
- ↑ 66.0 66.1 Zhao, Suisheng (2023). The Dragon Roars Back Transformational Leaders and Dynamics of Chinese Foreign Policy. Stanford: Stanford University Press. p. 56. ISBN 978-1-5036-3415-2. OCLC 1346366969.
- ↑ 67.0 67.1 Zhao, Suisheng (2023). The dragon roars back : transformational leaders and dynamics of Chinese foreign policy. Stanford, California: Stanford University Press. pp. 9–10. ISBN 978-1-5036-3415-2. OCLC 1332788951.
- ↑ (Article 2) "The Contracting Parties declare that neither of them should seek hegemony in the Asia-Pacific region or in any other region and that each is opposed to efforts by any other country or group of countries to establish such hegemony." MOFA: Treaty of Peace and Friendship between Japan and the People's Republic of China เก็บถาวร 9 มิถุนายน 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Perkins, D in Barnett, A Doak and Ralph N Clough, Modernizing China : Post-Mao Reform and Development (Westgview Press, 1986), p 58.
- ↑ Michael E. Marti in China and the Legacy of Deng Xiaoping, (Brassy's, 2002) p. 19.
- ↑ Parks, Michael (15 May 1989). "Gorbachev in China: The Communist Summit: Deng and Gorbachev: Great Reformers Battling Socialist Crises". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 July 2020. สืบค้นเมื่อ 8 March 2020.
- ↑ Zhao, Suisheng (2023). The dragon roars back : transformational leaders and dynamics of Chinese foreign policy. Stanford, California: Stanford University Press. p. 62. ISBN 978-1-5036-3415-2. OCLC 1332788951.
- ↑ 73.0 73.1 73.2 73.3 Zhao, Suisheng (2022). The Dragon Roars Back: Transformational Leaders and Dynamics of Chinese Foreign Policy. Stanford University Press. p. 51. doi:10.1515/9781503634152. ISBN 978-1-5036-3415-2. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 April 2023. สืบค้นเมื่อ 1 January 2023.
- ↑ Chinese Foreign Policy Under Xi. Taylor & Francis. 2017. p. 115.
- ↑ Comparative Development of India & China Economic, Technological, Sectoral & Socio-cultural Insights. SAGE Publications. 2020. p. 372.
- ↑ Zhao, Suisheng (2023). The dragon roars back : transformational leaders and dynamics of Chinese foreign policy. Stanford, California: Stanford University Press. p. 136. ISBN 978-1-5036-3088-8. OCLC 1331741429. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 March 2023. สืบค้นเมื่อ 8 January 2023.
- ↑ Heilmann, Sebastian (2018). Red Swan: How Unorthodox Policy-Making Facilitated China's Rise. The Chinese University of Hong Kong Press. ISBN 978-962-996-827-4.
- ↑ John Naisbitt; Doris Naisbitt (2010). China's Megatrends: The 8 Pillars of a New Society. HarperBusiness. p. 4. ISBN 9780061963445.
- ↑ Mason, David (1984). "China's Four Modernizations: Blueprint for Development or Prelude to Turmoil?". Asian Affairs. 11 (3): 47–70. doi:10.1080/00927678.1984.10553699.
- ↑ Zhang, Xiaoming (2010). "Deng Xiaoping and China's Decision to go to War with Vietnam". Journal of Cold War Studies. 12 (3): 3–29. doi:10.1162/JCWS_a_00001. S2CID 57559703.
- ↑ Vogel (2011), p. 526–535.
- ↑ "Troop Cut to Save Money, Deng Says". Los Angeles Times. 6 May 1985. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 June 2020. สืบค้นเมื่อ 20 June 2020.
- ↑ Vogel (2011), p. 535–552.
- ↑ Dreyer, June Teufel (1988). "Deng Xiaoping and Modernization of the Chinese Military". Armed Forces & Society. 14 (2): 215–231. doi:10.1177/0095327X8801400203. S2CID 144391672.
- ↑ Paulson, Henry M. (2015). Dealing with China : an insider unmasks the new economic superpower (First ed.). New York. p. 21. ISBN 9781455504213.
- ↑ "The Three-Step Development Strategy". china.org.cn. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 September 2018. สืบค้นเมื่อ 28 November 2010.
- ↑ "Deng Xiaoping Is Dead at 92; Architect of Modern China". The New York Times. 20 February 1997. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 January 2017. สืบค้นเมื่อ 15 February 2017.
- ↑ "万方数据知识服务平台". d.wanfangdata.com.cn. doi:10.3969/j.issn.1004-1494.2011.05.008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 February 2021. สืบค้นเมื่อ 28 October 2020.
- ↑ 89.0 89.1 Boer, Roland (2021-10-01). "From Belgrade to Beijing : Comparing Socialist Economic Reforms in Eastern Europe and China". World Review of Political Economy. 12: 309. doi:10.13169/worlrevipoliecon.12.3.0296. ISSN 2042-8928. S2CID 247967541.
- ↑ Cited by John Gittings in The Changing Face of China, Oxford University Press, Oxford, 2005. ISBN 0-19-280612-2. Page 253.
- ↑ Cited by António Caeiro in Pela China Dentro (translated), Dom Quixote, Lisboa, 2004. ISBN 972-20-2696-8
- ↑ Dali Yang, Calamity and Reform in China, Stanford University Press, 1996
- ↑ Cited by David Shambaugh in Deng Xiaoping: portrait of a Chinese statesman, Oxford University, Oxford, 1995. ISBN 0-19-828933-2
- ↑ Cited by Susan L. Shirk in The Political Logic of Economic Reform in China, University of California, Berkeley and Los Angeles, 1993. ISBN 0-520-07706-7
- ↑ FlorCruz, Jaime (19 December 2008) "Looking back over China's last 30 years" เก็บถาวร 20 มีนาคม 2018 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน CNN
- ↑ NHK JAPAN. "鄧小平副首相 天皇皇后両陛下と会見". NHK JAPAN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 March 2023. สืบค้นเมื่อ 30 May 2024.
- ↑ Lee, Chae-Jin (1979). "The Making of the Sino-Japanese Peace and Friendship Treaty". Pacific Affairs. 52 (1): 420–445. doi:10.2307/2757656. JSTOR 2757656.
- ↑ Stoltenberg, Clyde D. (1984). "China's Special Economic Zones: Their Development and Prospects". Asian Survey. 24 (6): 637–654. doi:10.2307/2644396. ISSN 0004-4687. JSTOR 2644396.
- ↑ Holmes, Frank (21 April 2017). "China's New Special Economic Zone Evokes Memories Of Shenzhen". Forbes. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 March 2019. สืบค้นเมื่อ 22 March 2019.
- ↑ Hurst, Matthew (2022). "Britain's Approach to the Negotiations over the Future of Hong Kong, 1979–1982". The International History Review. 44 (6): 1386–1401. doi:10.1080/07075332.2021.2024588. S2CID 257431054.
- ↑ Vogel, Deng Xiaoping, pp. 487–511.
- ↑ Nancy C. Jackson, "The Legal Regime of Hong Kong After 1997: An Examination of the Joint Declaration of the United Kingdom and the People's Republic of China". International Tax & Business Lawyer (1987): 377–423. Online[ลิงก์เสีย]
- ↑ Vogel, Deng Xiaoping, pp. 477–91.
- ↑ Wu, Guoyou; Ding, Xuemai (2020). Zheng, Qian (บ.ก.). An Ideological History of the Communist Party of China. Vol. 3. แปลโดย Sun, Li; Bryant, Shelly. Montreal, Quebec: Royal Collins Publishing Group. ISBN 978-1-4878-0392-6.
- ↑ 105.0 105.1 105.2 Hu, Richard (2023). Reinventing the Chinese City. New York: Columbia University Press. ISBN 978-0-231-21101-7.
- ↑ "Speech at a Meeting with the Members of The Committee for Drafting the Basic Law of the Hong Kong Special Administrative Region". china.org.cn. 16 Apr 1987. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 May 2005. สืบค้นเมื่อ 1 Jan 2024.
- ↑ "回歸25周年|重溫鄧小平與香港的那些事". 香港01 (ภาษาจีน). 2 Jul 2022. สืบค้นเมื่อ 1 Jan 2024.
- ↑ "Family Planning in China". www.china-un.ch. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 June 2018. สืบค้นเมื่อ 28 November 2019.
- ↑ Wang Feng, Yong Cai, and Baochang Gu, "Population, policy, and politics: how will history judge China's one-child policy?". Population and Development Review 38 (2013): 115–129. online เก็บถาวร 6 มิถุนายน 2019 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "People's Daily Online -- China rejects "strike hard" anti-crime policy for more balanced approach". en.people.cn. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 October 2020. สืบค้นเมื่อ 21 June 2020.
- ↑ 111.0 111.1 "Detentions, torture, executions: how China dealt with mafia in the past". South China Morning Post. 26 January 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 June 2020. สืบค้นเมื่อ 21 June 2020.
- ↑ 112.0 112.1 112.2 Tao, Ying. "1983年"严打":非常时期的非常手段". history.people.com.cn (ภาษาจีน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 June 2020. สืบค้นเมื่อ 21 June 2020.
- ↑ "In Human Rights, China Remains in the Maoist Era | the Heritage Foundation". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 May 2011. สืบค้นเมื่อ 31 January 2017.
- ↑ "Strike less hard". The Economist. 3 August 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 March 2019. สืบค้นเมื่อ 23 March 2019.
- ↑ 115.0 115.1 ""严打"政策的前世今生". criminallaw.com.cn (ภาษาจีน). 1 July 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 February 2020. สืบค้นเมื่อ 21 June 2020.
- ↑ Trevaskes, Susan (2002). "Courts on the Campaign Path in China: Criminal Court Work in the "Yanda 2001" Anti-Crime Campaign". Asian Survey. 42 (5): 673–693. doi:10.1525/as.2002.42.5.673. hdl:10072/6536. ISSN 0004-4687. JSTOR 10.1525/as.2002.42.5.673.
- ↑ 117.0 117.1 Nathan, Andrew J. (January–February 2001). "The Tiananmen Papers". Foreign Affairs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 December 2008.
- ↑ "Voices for Tiananmen Square: Beijing Spring and the Democracy Movement". Social Anarchism. 8 February 2006. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 September 2018. สืบค้นเมื่อ 13 March 2010.
- ↑ Palmer, Bob (8 February 2006). Voices for Tiananmen Square: Beijing Spring and the Democracy Movement เก็บถาวร 23 มิถุนายน 2004 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Social Anarchism. 20.
- ↑ 120.0 120.1 120.2 120.3 The Politics of China By Roderick MacFarquhar
- ↑ Deng Xiaoping's daughter defends his Tiananmen Square massacre decision เก็บถาวร 14 ตุลาคม 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Taipei Times. 25 June 2007.
- ↑ 122.0 122.1 The Legacy of Tiananmen By James A. R. Miles
- ↑ Miles, James (1997). The Legacy of Tiananmen: China in Disarray. University of Michigan Press. ISBN 978-0-472-08451-7.
- ↑ 124.0 124.1 Faison, Seth (20 February 1997). "Deng Xiaoping Is Dead at 92; Architect of Modern China". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). p. A1. ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 January 2017. สืบค้นเมื่อ 27 July 2019.
- ↑ 125.0 125.1 Denmark, Abraham (19 December 2018). "Analysis | 40 years ago, Deng Xiaoping changed China—and the world". The Washington Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 May 2019. สืบค้นเมื่อ 27 July 2019.
- ↑ How China is ruled เก็บถาวร 11 กันยายน 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, BBC 2003.
- ↑ Fisher, Max (2 June 2014). "This 1989 speech is one of China's most important". Vox. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2019. สืบค้นเมื่อ 27 July 2019.
- ↑ Zhao, Suisheng (1993). "Deng Xiaoping's Southern Tour: Elite Politics in Post-Tiananmen China". Asian Survey. 33 (8): 739–756. doi:10.2307/2645086. ISSN 0004-4687. JSTOR 2645086.
- ↑ "邓小平文选(第三卷)". ebook.dswxyjy.org.cn.
- ↑ "Deng Xiaoping's Southern Tour" (PDF). Berkshire Publishing Group LLC. 2009. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 17 May 2017. สืบค้นเมื่อ 1 May 2020.
- ↑ Ma, Damien (23 January 2012). "After 20 Years of 'Peaceful Evolution,' China Faces Another Historic Moment". The Atlantic (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 August 2019. สืบค้นเมื่อ 1 May 2020.
- ↑ "'How my father's speeches saved Chinese economic reform': Deng Xiaoping's daughter pays tribute". South China Morning Post. 21 August 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 August 2020. สืบค้นเมื่อ 1 May 2020.
- ↑ "The great pragmatist: Deng Xiaoping". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 18 December 2008. ISSN 0261-3077. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 May 2020. สืบค้นเมื่อ 1 May 2020.
- ↑ Zhao, Suisheng (1993). "Deng Xiaoping's Southern Tour: Elite Politics in Post-Tiananmen China". Asian Survey. 33 (8): 739–756. doi:10.2307/2645086. ISSN 0004-4687. JSTOR 2645086.
- ↑ "Health of China's Deng worsens". Tampa Bay Times. 14 Jan 1995. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 December 2023. สืบค้นเมื่อ 30 Nov 2023.
- ↑ "Parkinson's experts sent to help Deng". South China Morning Post. 26 Jan 1995. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 Nov 2023. สืบค้นเมื่อ 30 Nov 2023.
- ↑ Hsü, Immanuel C.Y. (2000). The Rise of Modern China (6th ed.). New York: Oxford University Press. p. 974. ISBN 9780195125047.
- ↑ "Deng Xiaoping, leader of China's economic reforms, dies". Associated Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 October 2021. สืบค้นเมื่อ 18 July 2021.
- ↑ CNN: China officially mourns Deng Xiaoping เก็บถาวร 19 พฤศจิกายน 2002 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 24 February 1997
- ↑ CNN:World leaders praise Deng's economic legacy เก็บถาวร 16 สิงหาคม 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 24 February 1997
- ↑ 141.0 141.1 141.2 Meng, Wenting (2024). Developmental Piece: Theorizing China's Approach to International Peacebuilding. Ibidem. Columbia University Press. ISBN 9783838219073.
- ↑ "China Daily article "Deng Xiaoping statue unveiled"". China Daily. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 May 2009. สืบค้นเมื่อ 13 March 2010.
- ↑ "Turkistan-Newsletter Volume: 97-1:13, 20 June 1997". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 October 2007. สืบค้นเมื่อ 2 December 2010.
- ↑ Pomfret, John (18 October 2001). "In Its Own Neighborhood, China Emerges as a Leader". Taiwan Security Research. Washington Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 January 2002. สืบค้นเมื่อ 18 August 2013.
- ↑ 文献纪录片《邓小平》 (ภาษาจีนตัวย่อ). CCTV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 August 2015. สืบค้นเมื่อ 23 September 2014.
- ↑ "Forty years after Deng opened China, reformists are cowed". The Economist. 8 December 2018. ISSN 0013-0613. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2019. สืบค้นเมื่อ 27 July 2019.
- ↑ Huang, Dan Kopf, Echo (21 August 2018). "Happy birthday Deng Xiaoping: Here are 10 charts showing how he changed China". Quartz. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2019. สืบค้นเมื่อ 27 July 2019.
- ↑ 148.0 148.1 "Deng Xiaoping's lasting legacy". The Japan Times. 27 August 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 June 2019. สืบค้นเมื่อ 14 September 2019.
- ↑ Rosenberg, Jennifer. "A Complete Look at Time's Person of the Year List, from 1927–2017". ThoughtCo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2019. สืบค้นเมื่อ 27 July 2019.
- ↑ Robert Dernberger (1993). China in the Era of Deng Xiaoping. Sharpe. ISBN 9781563242786. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 December 2021. สืบค้นเมื่อ 13 March 2010.
- ↑ Knight, John (January 2012). "Review: Deng Xiaoping and the Transformation of China". Origins. The Ohio State University. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 July 2019. สืบค้นเมื่อ 27 July 2019.
- ↑ 152.0 152.1 The Editors of Encyclopaedia Britannica (1 November 2019). "Deng Xiaoping". Encyclopaedia Britannica. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 October 2019. สืบค้นเมื่อ 22 November 2019.
{{cite web}}
:|last=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ Kopf, Dan; Lahiri, Tripti (17 December 2018). "The charts that show how Deng Xiaoping unleashed China's pent-up capitalist energy in 1978". Quartz. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2019. สืบค้นเมื่อ 22 November 2019.
- ↑ "Deng should have been first Chinese to get Nobel Peace Prize: Exco chief". South China Morning Post. 13 November 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 November 2019. สืบค้นเมื่อ 22 November 2019.
- ↑ Rein, Shaun (14 December 2010). "How To Fix Western-Chinese Relations". Forbes. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 January 2017. สืบค้นเมื่อ 22 November 2019.
- ↑ Byrnes, Sholto (12 October 2010). "Ignoble reactions to the Nobel Peace Prize". New Statesmen. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 June 2013. สืบค้นเมื่อ 22 November 2019.
- ↑ 157.0 157.1 "Deng Xiaoping's legacy: The Great Stabiliser". The Economist. 22 October 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 May 2019. สืบค้นเมื่อ 14 September 2019.
- ↑ "The Legacy of Deng Xiaoping". The New York Times. 20 January 1997. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 October 2017. สืบค้นเมื่อ 14 September 2019.
- ↑ 159.0 159.1 Tyler, Patrick E. (20 February 1997). "Deng Xiaoping: A Political Wizard Who Put China on the Capitalist Road". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 August 2019. สืบค้นเมื่อ 22 November 2019.
- ↑ Michael Dillon (2014). Deng Xiaoping: The Man who Made Modern China. Bloomsbury Publishing. pp. 292–296. ISBN 978-0-85772-467-0. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 December 2021. สืบค้นเมื่อ 22 June 2019.
- ↑ "Tiananmen Square Fast Facts". CNN. 4 June 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 September 2019. สืบค้นเมื่อ 22 November 2019.
- ↑ "A Massacre Erased". The Washington Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 November 2019. สืบค้นเมื่อ 22 November 2019.
- ↑ Wasserstrom, Jeffrey N.; Cunningham, Maura Elizabeth (2018). China in the 21st Century: What Everyone Needs to Know (3 ed.). Oxford University Press. p. 80. ISBN 978-0190659073.
- ↑ Jianfu, Chen (1 May 2004). "The Revision of the Constitution in the PRC. A great leap forward or a symbolic gesture?". China Perspectives (ภาษาฝรั่งเศส). 2004 (53). doi:10.4000/chinaperspectives.2922. ISSN 2070-3449.
- ↑ Jone, William. "The Constitution of the People's Republic of China". Washington University in St. Louis. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 April 2019.
- ↑ Caldwell, Ernest (December 2012). "Horizontal Rights and Chinese Constitutionalism: Judicialization through Labor Disputes". Chicago-Kent Law Review. 88. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 December 2021. สืบค้นเมื่อ 28 October 2019.
- ↑ Shigong, Jiang (2014). "Chinese-Style Constitutionalism: On Backer's Chinese Party-State Constitutionalism". Modern China. 40 (2): 133–167. doi:10.1177/0097700413511313. ISSN 0097-7004. JSTOR 24575589. S2CID 144236160.
- ↑ PEPPER, SUZANNE. "China's Education Reform in the 1980s: Policies, Issues, and Historical Perspectives" (PDF). UC Berkeley. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 28 November 2019.
- ↑ Song, Wei. "China's education reforms and strive for innovation". Chinadaily. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 November 2019. สืบค้นเมื่อ 28 November 2019.
- ↑ Ng-Quinn, Michael (1982). "Deng Xiaoping's Political Reform and Political Order". Asian Survey. 22 (12): 1187–1205. doi:10.2307/2644047. ISSN 0004-4687. JSTOR 2644047.