วัดบางไส้ไก่
วัดบางไส้ไก่ หรือ วัดลาว เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองบางไส้ไก่ ในแขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
วัดบางไส้ไก่ | |
---|---|
วัดบางไส้ไก่ | |
ชื่อสามัญ | วัดบางไส้ไก่, วัดลาว |
ที่ตั้ง | เลขที่ 547 ซอยอิสรภาพ 15 ถนนอิสรภาพ แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
พระพุทธรูปสำคัญ | หลวงพ่อศรีเวียง |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดสร้างขึ้นในสมัยธนบุรีเมื่อ พ.ศ. 2320 โดยพระเจ้านันทเสนและพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 4 พระราชโอรสในพระเจ้าสิริบุญสาร (พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3) ผู้ครองนครเวียงจันทน์ เมื่อถูกนำมาเป็นตัวประกัน โดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) เป็นผู้กรีธาทัพไปตีนครเวียงจันทน์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ครัวลาวตั้งถิ่นฐานหลายแห่งในพระนคร ได้สร้างวัดขึ้นเพื่อคนลาวในบริเวณนั้นได้ใช้ทำบุญ[1] มีเรื่องเล่าว่า การสร้างวัดแห่งนี้เกือบไม่สำเร็จ เพราะผู้สร้างวัดพี่น้องเกิดการแย่งถุงเงินสร้างวัด จนในที่สุดผู้น้องแย่งถุงเงินไปสร้างวัดอื่น ต่อมามีเศรษฐีใจบุญชื่อ ยายชื่น ได้ให้ความอุปถัมน์สร้างวัดจนเสร็จ[2] สมัยหนึ่ง วัดลาวมีชื่อว่า วัดราษฏร์ศรัทธาธรรม ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น วัดคลองบางไส้ไก่ ตามชื่อคลองที่ไหลผ่านวัด (ซึ่งเพี้ยนมาจาก "คลองสาวกลาย" หรือ "คลองสะก่าย") วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ปี พ.ศ. 2433[3]
พระประธานประดิษฐานในอุโบสถ มีพระนามว่า หลวงพ่อศรีเวียง เป็นพระพุทธรูปปางศรีวิชัย[4] วัดมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือ ศาลพ่อปู่-พ่อตา ท้าวนนทะเสน-ท้าวอินทะเสน[5]ปี พ.ศ. 2566 เจ้าอาวาสได้แก่พระครูจินดาสุตานุวัตร ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน
อ้างอิง
แก้- ↑ "ต้นตอ "ลาวบางกอก" ลาวจากเวียงจันยุคต้นรัตนโกสินทร์ บริวารเจ้าสู่รุ่นสุดท้ายที่เข้ามา". ศิลปวัฒนธรรม. 5 กรกฎาคม 2563.
- ↑ "งานวิจัยเรื่องตามรอยเสด็จ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในพื้นที่ฝั่งธนบุรี" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-02-22. สืบค้นเมื่อ 2020-08-24.
- ↑ "ประวัติวัดบางไส้ไก่".
- ↑ "การสำรวจ รวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น สาขาศิลปกรรมของชุมชนในเขตธนบุรี" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-08-25. สืบค้นเมื่อ 2020-08-24.
- ↑ "รอยลาวศรีภูมิถึงลาวบางไส้ไก่". วารสารเมืองโบราณ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-05. สืบค้นเมื่อ 2020-08-24.