เจ้าพระตา หรือ พระวรราชปิตา (พ.ศ. ไม่ระบุ-2314) เป็นเจ้าผู้ครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานพระองค์ที่ 2 (พ.ศ. 2283-พ.ศ. 2314) เป็นพระราชโอรสในเจ้าอุปราชนอง (เจ้านอง) ปฐมผู้ปกครองเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน อันสืบมาแต่สายราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว สืบมาแต่วงศ์สามัญชนเชื้อสายไทพวน เป็นพระบิดาพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช เจ้าประเทศราชผู้ครองนครจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 และเป็นพระราชบิดาพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ เจ้าประเทศราชผู้ครองเมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลยประเทศราช องค์ที่ 1

พระวรราชปิตา
เจ้าผู้ครองนคร
ประสูติพ.ศ. ไม่ระบุ
พิราลัยพ.ศ. 2314
พระมเหสีพระนางบุศดีเทวี
พระวรราชปิตา
ราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว
พระบิดาเจ้าอุปราชนอง
พระมารดาหญิงชาวลาวเวียงจันทน์

ประวัติ

แก้

พระตา ทรงเป็นพระโอรสของเจ้าอุปราชนองปฐมเจ้าครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน และมีพระมารดาเป็นชาวลาวเวียงจันทน์ พระตามีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาของพระไชยเชษฐาธิราชที่ 2 พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ พระองค์ที่ 1 สมภพที่นครเวียงจันทน์ มีพระอนุชา 1 พระองค์ คือ เจ้าพระวอ แต่ประชาชนทั้งหลายมักเรียกพระนามทั้งสองพระองค์รวมกันจนติดปากว่า "พระตาพระวอ" มาจวบจนปัจจุบัน เมื่อพระตาทรงเจริญชนม์ เจ้าอุปราชนองทรงโปรดให้เข้ารับราชการสนองพระคุณพระเจ้าไชยองค์เว้ผู้เป็นพระมาตุลา(น้าชาย) ที่พระราชสำนักนครเวียงจันทน์

ต่อมาเจ้าพระตาทรงอภิเษกสมรสกับเจ้านางบุศดี หรือ พระนางบุศดีเทวี มีพระโอรส และพระธิดา ทั้งหมด 9 องค์ ดังปรากฏรายพระนามดังนี้

  1. เจ้านางสีดา
  2. เจ้าคำผง ต่อมาเป็นเจ้าประเทศราชผู้ครองเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช องค์ที่ 1 ต้นสายสกุล ณ อุบล
  3. เจ้าฝ่ายหน้า ต่อมาเป็นเจ้าประเทศราชผู้ครอง นครจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 ทรงมีตำแหน่งเจ้าประเทศราชแห่งอาณาจักร์กรุงรัตนโกสินทร์
  4. ท้าวทิดพรหม ต่อมาเป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช องค์ที่ 2 ต้นสายสกุล พรหมวงศานนท์
  5. ท้าวโคตร ต้นสายสกุล บุตโรบล
  6. เจ้านางมิ่ง
  7. ท้าวซุย
  8. เจ้านางเหมือนตา
  9. ท้าวสุ่ย ต่อมาเป็นราชบุตรเมืองอุบลราชธานี และได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานี องค์ที่ 3 แต่ถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ ก่อนขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ครองเมือง ต้นสายสกุล สิงหัษฐิต

ศึกชิงราชบัลลังก์นครเวียงจันทน์

แก้

ในปี พ.ศ. 2238 พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชสวรรคต ไม่มีผู้สืบราชสมบัติอย่างชัดเจน มีแต่พระราชนัดดาที่ทรงพระเยาว์ ทำให้เกิดความปั่นป่วนและศึกแย่งชิงเชื้อพระวงศ์มาเป็นพวกตน บางพระองค์ได้หลบหนีออกนอกราชอาณาจักร การแย่งชิงราชสมบัติหลังการสวรรคตของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชจึงเป็นชนวนเหตุการนำไปสู่การแบ่งแยกอาณาจักรล้านช้างอันเข้มแข็ง และยิ่งใหญ่ ออกเป็น 3 อาณาจักรเล็กอันอ่อนแอในที่สุด และพระยาเมืองแสนอัครมหาเสนาบดี ได้เข้ายึดราชบัลลังก์พร้อมสถาปนาตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อาณาจักรล้านช้าง พระองค์ที่ 33 พระนามว่า "พระยาจันทสีหราช (เมืองแสน)" ขณะนั้นเจ้าองค์บุญ พระราชโอรสของเจ้าองค์ลอง และเป็นหลานของพระไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (พระเจ้าไชยองค์เว้) จึงได้หนีราชภัยสงครามมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเจ้าอุปราชนองผู้เป็นญาติใกล้ชิด เนื่องจากเจ้าอุปราชนองเป็นพระอนุชาร่วมมารดากับเจ้าไชยองค์เว้ แต่ต่างบิดา โดยที่เจ้าไชยองค์เว้มีเชื้อสายกษัตริย์ลาวทางพระราชบิดาจากเจ้าชมพู ส่วนเจ้าอุปราชนองเป็นเพียงสามัญชนที่สืบเชื้อสายมาจากบิดาชาวไทพวน เมื่อเจ้าองค์บุญที่หนองบัวลุ่มภู เจ้าอุปราชนองทรงชุบเลี้ยงเจ้าองค์บุญเยี้ยงพระราชโอรสของพระองค์

ในปี พ.ศ. 2273 พระไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (พระเจ้าไชยองค์เว้) เสด็จสวรรคต เจ้าองค์ลองซึ่งเป็นพระราชโอรสจึงเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ พระองค์ที่ 2 ซึ่งมีพระราชโอรสคือ เจ้าองค์บุญ อาศัยอยู่ที่หนองบัวลุ่มภู และในปี พ.ศ. 2283 เจ้าองค์ลองสวรรคต เจ้าอุปราชนอง พระบิดาของพระวอ-พระตา ยึดอำนาจจากเจ้าองค์ลองและสำเร็จโทษ แล้วแต่งตั้งตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ พระองค์ที่ 3 แต่เนื่องจากอุปราชนองเป็นเพียงสามัญชนไม่มีเชื้อสายกษัตริย์จึงไม่เป็นที่ยอมรับจากขุนนาง ตำแหน่งจึงคงไว้แค่เพียง เจ้าอุปราช

ปี พ.ศ. 2294 เจ้าองค์บุญมีความประสงค์จะได้ราชบัลลังก์นครเวียงจันทน์โดยอ้างสิทธิเป็นพระราชโอรสของเจ้าองค์ลอง และพระราชนัดดาของพระเจ้าไชยองค์เว้ ซึ่งพระตา และพระวอ จึงได้ยกกองกำลังร่วมต่อต้านพระบิดาของตน หนองบัวลุ่มภูเข้าช่วงชิงราชบัลลังก์จากเจ้าอุปราชนอง พระมหากษัตริย์อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ พระองค์ที่ 3 จนสำเร็จ แล้วปราบดาภิเษกเจ้าองค์บุญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ครองอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ พระองค์ที่ 4 พระนามว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 หรือ พระเจ้าสิริบุญสาร และพระเจ้าสิริบุญสารได้ให้พระตา และพระวอดูแลรักษาบ้านหินโงมอีกด้วย แต่หาได้เป็นเสนาบดีในราชสำนักนครเวียงจันทน์ไม่ ดังปรากฏในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาณของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร ความว่า "จุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุญนพศก พระเจ้าองค์หล่อผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตถึงแก่พิราไลย หามีโอรสที่จะสืบตระกูลไม่ แสนท้าวพระยาแลนายวอ นายตา จึ่งได้พร้อมกันเชิญกุมารสองคน ซึ่งเปนเชื้อวงษ์พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตคนเก่า อันได้หนีไปอยู่กับนายวอ นายตา เมื่อพระเจ้าองค์หล่อยกกำลังมาจับพระยาเมืองแสนฆ่านั้น ขึ้นครองกรุงศรีสัตนาคนหุต "

เหตุขัดแย้งกับนครเวียงจันทน์

แก้

ในปี พ.ศ. 2294 เจ้านองผู้เป็นบิดาพิราลัยลงจากการที่บุตรทั้งสองมีส่วนร่วมกันกับองค์บุญสำเร็จโทษบิดาตนเองหรือการปิตุฆาต ส่วนพระตา แลพระวอ ผู้ปกครองอยู่ที่บ้านหินโงม (ห่างจากตัวเมืองหนองคายไปทางอำเภอโพนพิสัย ประมาณ 1 กิโลเมตร) ซึ่งเป็นที่รักใคร่ของไพร่พลจนผู้สมัครใจมาร่วมอาศัยอยู่ในชุมชนเป็นจำนวนมาก

ในปี พ.ศ. 2310 พระเจ้าสิริบุญสารเกรงว่ากลุ่มพระตาจะก่อการกบฎต่อพระราชสำนักนครเวียงจันทน์ จึงคิดหาอุบายกำจัดพระวอและพระตา เหตุจากทรงเกรงว่าจะมีการพยายามจะแย่งชิงอำนาจ จึงเป็นชนวนเหตุเกิดความขัดแย้ง พระตาพระวอจึงได้ชักชวนแม่ทัพนายกองที่ไม่สมัครใจจะทำราชการกับพระเจ้าสิริบุญสารด้วย จึงร่วมกันกับกลุ่มพันธมิตร คือ ท้าวโสมพมิตร ได้อพยพไพร่พลกองครัวญาติพี่น้องลงมาพร้อมกับพระตา จากบ้านหินโงมมายังเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน(หนองบัวลำภู) อันมีพระบิดาปกครองอยู่

ครองเมือง

แก้

ปี พ.ศ. 2313 เมื่อพระตามาถึงหนองบัวลุ่มภู ก็ขึ้นครองเมืองเป็นเจ้าผู้ครองเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน พระองค์ที่ 2 แทนพระบิดา พระนามว่า "พระวรราชปิตา" ตั้งให้พระวอ ผู้เป็นพระอนุชา เป็นที่อุปราช บูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม แลค่ายคูประตูกำแพงเมืองอย่างแน่นหนาถาวร มีกองกำลังทหารเข้มแข็ง แลมีช้างเผือกคู่เวียง ปกครองนครด้วยธรรมใส่ใจทุกข์สุขไพร่ฟ้าราษฎรอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ให้ท้าวผ้าขาวพากลุ่มไพร่พลกองครัว ประมาณ 5,000 คน ไปตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านผ้าขาว บ้านพันนา ยกขึ้นเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันออกของหนองบัวลุ่มภู (ปัจจุบันคือพื้นที่ของจังหวัดสกลนคร) ท้าวนามไปปกครองอยู่ที่เมืองภูเวียงเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ และตั้งเมืองนาด้วงเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันตก ประมาณในปี พ.ศ. 2311 หลังจากประมาณสิบกว่าปีที่พระวอพระตาได้ช่วยพระเจ้าแผ่นดินลาวเวียงจันทน์ ทางฝ่ายพระเจ้าสิริบุญสาร เห็นว่า พระวรราชปิตาแห่งเมืองหนองบัวลุ่มภูสะสมกำลังไพร่พลจำนวนมาก และมีความเข้มแข็ง เกรงจะคิดกบฎต่อพระราชบัลลังก์ จึงให้พระยาเมืองแสน พระยาเมืองจันทร์ยกทัพมาตีหนองบัวลุ่มภู ใช้เวลาอยู่ 3 ปี แต่ยังไม่สามารถตีหนองบัวลุ่มภูแตกได้

สงครามนครเวียงจันทน์

แก้

ปี พ.ศ. 2314 พระเจ้าสิริบุญสารเห็นว่าหนองบัวลุ่มภูไม่สามารถตีแตกได้ จึงแต่งคณะทูตนำสาส์นพร้อมเครื่องราชบรรณาการไปหาพระเจ้ามังระแห่งหงสาวดีที่ปกครองอยู่นครเชียงใหม่ยกทัพลงมาช่วยตีหนองบัวลุ่มภู เมื่อพระวราชปิตาทราบข่าวการส่งสาร์นของพระเจ้าสิริบุญสาร พระองค์ก็ได้จัดแจงแต่งค่ายคูประตูเมืองให้มั่นคงหาทางหนีทีไล่พร้อมสรรพ จึงมีรับสั่งให้ท้าวคำสู ท้าวคำขุย ท้าวคำสิงห์ แลท้าวอินทิสารยกไพร่พลกองครัวส่วนหนึ่งลงมาสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ หากพ่ายแพ้สงครามก็จะได้อพยพลงมาสบทบ โดยท้าวคำสูได้พากลุ่มไพร่พลมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตามลำพะเนียงต่อลำน้ำพองตามแม่น้ำชีลงมาถึงดงใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำชี เรียกว่า ดงผีสิงห์ ท้าวคำสูพาไพร่พลตั้งบ้านแปงเมืองขึ้น เรียกว่า บ้านสิงห์ท่า และท้าวคำขุยพาไพร่พลส่วนหนึ่งขึ้นไปตั้งบ้านเมืองที่ดงโต่งโต้น เรียกว่า บ้านสิงห์โคก (ต่อมาคือเมืองยศสุนทร) ส่วนพระวรราชปิตาได้เกณฑ์เอากำลังไพร่พลจากเมืองผ้าขาว เมืองพันนา เมืองภูเวียง เมืองนาด้วง มาร่วมต้านข้าศึก เมื่อทัพจากนครเวียงจันทน์และทัพสนับสนุนจากพม่ามายั้งทัพตั้งค่ายล้อมเมืองหนองบัวลุ่มภูไว้ด้านหนึ่ง พระวรราชปิตา แลอุปราชได้นำกำลังไพร่พลออกมารบ เมื่อข้าศึกมีจำนวนมาก ประกอบกับพระวรราชปิตามีพระชนม์สูงวัยจึงอ่อนกำลังลง และพระวรราชปิตาถูกพระแสงปืนข้าศึกจนตกม้าถึงแก่พิราลัย บริเวณช่องน้ำจั่นใต้น้ำตกเฒ่าโต้ เทือกเขาภูพาน และทัพนครเวียงจันทน์จึงสามารถตีหนองบัวลุ่มภูแตกได้

พิราลัย

แก้

เมื่อทัพนครเวียงจันทน์ได้กำลังสนับสนุนจากทัพพม่า จึงทำให้เมืองหนองบัวลุ่มภูที่มีปราการอันแน่นหนาถูกตีแตก พระวรราชปิตาได้เป็นแม่ทัพหน้า อุปราชเป็นแม่ทัพหลังออกปราบข้าศึก และพระวรราชปิตาถูกพระแสงปืนจนถึงแก่พิราลัยที่ช่องน้ำจั่นใต้น้ำตกเฒ่าโต้ บริเวณเทือกเขาภูพาน วันศุกร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 3 พ.ศ. 2314 ขณะมีพระชนม์ 78 พรรษา ก่อนที่พระองค์จะพิราลัยได้สั่งเสียอุปราช ท้าวคำผง ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม และท้าวก่ำต่อไปภายหน้า ด้วยกลอนผญาว่า ไม้ลำเดียวล้อมฮั่วบ่ไขว่ ไพร่บ่พร้อมแปงบ้านบ่เฮือง ไผผู้เป็นขุนกล้าครองเมืองจั่งฮุ่ง ครั้นแม่นขุนขี้ย้านครองบ้านบ่เฮือง อย่าเห็นแก่เงินแสนไถ ให้เห็นแก่ไพร่แสนเมือง ได้ขึ้นเฮือนแล้ว อย่าลืมแพป้องไม้ไผ่ ได้เป็นใหญ่แล้วอย่าลืมข้าผู้พลอย ได้กินพาคำอย่าลืมกะเบียนฮ้าง ได้ขึ้นขี่ช้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าลืมประชาผู้ขี่ควายเกาฮิ้น แลอุปราชพร้อมไพร่พลได้คุ้มกันนำพระศพของพระวรราชปิตาเข้ามายังหนองบัวลุ่มภู

พระนามในประวัติศาสตร์

แก้

ตำนานพื้นเมืองอุบล

แก้

อันว่า เมืองอุบลนี้ มีแต่คนเวียงเกี้ยงอ่อยฮ่อย แต่หากเป็นไพร่น้อย อยู่ตามบ้านเขตแขวง พระตามีเดชกล้า คนยอย้องว่าดี ได้เป็นนายกองนอก เป็นผู้ตุ้มไพร่น้อยนาขึ้นซ่อยเวียง พระก็สถิตย์แห่งห้อง หินโง่มเป็นบ้านใหญ่ เป็นผู้มีเดชกล้า คนสะดุ้งกระเดื่องดิน พระตานั้นได้ลูกเต้า ผู้จักสืบแทนแนว มีอยู่เพียงเจ็ดคน สะอาดตาปานแต้ม หากเป็นชายล้วน สามคนสิทธิเดช เหลือกว่านั้น เป็นหญิงแท้คนย้องฮูปงามˈ.........พร้อมว่าเจ้าคึดแล้ว จึงได้ฮ้องเฮียกเอิ้น ลูกฮักทั้งสามคน คือว่า พระวอ ท้าวคำผง ท้าวทิดพรม ฮีบสั่งการเดี๋ยวนี้ ดูรา บุตรราชเจ้า ทั้งสามลูกพ่อเอย พวกเฮาอยู่บ่ได้ เมืองนี้ฝืดเคือง พ่อแล้ว.........

พงศาวดารอีสาน

แก้

หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เป็นผู้เรียบเรียงในประชุมพงศาวดาร ภาค 4 เกี่ยวกับเรื่องราวของเจ้าพระตา และเจ้าพระวอ (หน้า 42-43) ว่า "เมื่อ พ.ศ. 2310 พระเจ้าองค์หล่อ ผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตถึงแก่พิลาลัย ไม่มีโอรสสืบสกุล แสนท้าวพระยา และนายวอนายตา จึงพร้อมกันอันเชิญกุมารทั้งสอง ซึ่งเป็นเชื้อววงศ์ของพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตองค์เก่า อันได้หนีไปอาศัยอยู่กับนายวอนายตา เมื่อครั้งพระเจ้าองค์หล่อยกกำลังมาจับพระยาเมืองแสนฆ่านั้น ขึ้นครองกรุงศรีสัตนาคนหุต แล้วนายวอนายตาจะขอเป็นที่มหาอุปราชฝ่ายหน้า กุมารทั้งสองเห็นว่า นายวอนายตามิได้เป็นเชื้อเจ้า"

เรื่องวินิจฉัยประวัติพระประทุมราชวงศา

แก้

ขุนวรรณรักษ์วิจิตร ในศิลปากร ปีที่ 1 เล่ม 1 หน้า 91 พ.ศ. 2540 ตอนหนึ่งว่า "...สรุปผลของการสอบสวนตอนนี้เป็นอันได้ความว่า ท้าวคำผงบุตรพระวอ และพระตาก็เป็นเชื้อเจ้าหรือราชสกุลลาวล้านช้างจริง..."

สถานที่อันเนื่องมาจากพระนาม

แก้

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
ก่อนหน้า เจ้าพระตา ถัดไป
เจ้าอุปราชนอง (เจ้าปางคำ)   เจ้าผู้ครองนคร
(พ.ศ. 2311-2314)
  พระวรราชภักดี (เจ้าพระวอ)