พระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร)
พระยาชัยสุนทรหรือพระยาไชยสุนทร[1] บ้างออกพระนามพระยาไชยสุนทอน หรือ พระยาไชสุนธรสมพมิษ เดิมพระนามเจ้าโสมพะมิตรหรือท้าวโสมพะมิตร พื้นเมืองเวียงจันทน์ออกพระนามว่าพระยาสมะบพิตรเจ้า[2] หรือพะยาสมพะมิดเจ้า[3] หรือพระยาสมพมิตรเจ้า[4] พงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์และเมืองกมลาสัยออกพระนามว่าพระยาสมพมิษ เป็นเจ้าองค์ครองเมืองกาฬสินธุ์ (กาละสินธ์ หรือ กาลสิน) องค์แรก[5] และผู้สร้างเมืองกาฬสินธุ์ (พ.ศ. 2336)[6] ปัจจุบันคือจังหวัดกาฬสินธุ์ เดิมรับราชการในราชสำนักเวียงจันทน์ที่พญาโสมพะมิตรกองถวายส่วยผ้าขาวแด่กษัตริย์เวียงจันทน์ ภายหลังรัชกาลที่ 1 ของไทยสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าเมืองกาฬสินธุ์คนแรกในฐานะหัวเมืองประเทศราช พระยาชัยสุนทรเป็นต้นสกุล ณ กาฬสินธุ์ (พระราชทานสมัยรัชกาลที่ 6) วงศ์กาฬสินธุ์ บริหาร เกษทอง ฟองกำแหง กำแหงมิตร ศรีกาฬสินธุ์ พลเยี่ยม ทองเยี่ยม พิมพะนิตย์ ไชยสิทธิ์ อาษาไชย ทองทวี วงศ์กมลาไสยหรือวงษ์กาไสย(เดิม) ศิริกุล เป็นต้น
พระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร) | |
---|---|
เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2336 – พ.ศ. 2349 | |
ก่อนหน้า | ไม่มี |
ถัดไป | พระยาชัยสุนทร (หมาแพง) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | พ.ศ. 2275 อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ |
เสียชีวิต | พ.ศ. 2349 อายุ 73 ปีเศษ เมืองกาฬสินธุ์ |
บุตร | 1.พระยาไชยสุนทร(หมาแพง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 2 2.พระธานี(หมาป้อง) อุปฮาดเมืองสกลนคร 3.พระไชยสุนทร(หมาสุ่ย) อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ 4.พระยากำแหงมหึมา(หมาฟอง) เจ้าเมืองกบินทร์บุรี ลำดับที่ 1 |
ประวัติ
แก้ราชตระกูล
แก้พระยาชัยสุนทร(เจ้าโสมพะมิตร) ประสูติราว พ.ศ. 2275 เป็นพระโอรสในเจ้าองค์ลอง กษัตริย์อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์องค์ที่ 2 เป็นพระราชนัดดา (หลานปู่) ในสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (พระไชยองค์เว้ ครองราชย์ราว พ.ศ. 2250-2273) กษัตริย์ราชอาณาจักรล้านช้างองค์ที่ 36 และปฐมกษัตริย์ราชอาณาจักรเวียงจันทน์สมัย 3 อาณาจักร ฝ่ายพระมารดาเป็นพระสนมผู้ซึ่งเป็นนัดดาเจ้าผ้าขาว (เจ้าปะขาว) ผู้ครองเมืองเมืองผ้าขาวและเมืองพันนา (เมืองพนาง) ในสกลนคร สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 เป็นพระราชนัดดา (หลานอา) ในพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชมหาราชและเป็นพระราชนัดดา (หลานปู่) ในพระเจ้าต่อนคำ กษัตริย์ราชอาณาจักรล้านช้างองค์ที่ 31 ดังนั้นตระกูลพระยาชัยสุนทรจึงเป็นเจ้านายลาวจากราชวงศ์เวียงจันทน์สายหนึ่ง ส่วนเครือญาติบุตรหลานได้ปกครองหัวเมืองลาวจนปฏิรูปการปกครองหลายเมือง เช่น เมืองผ้าขาว (ปัจจุบันคือบ้านผ้าขาวหรือบ้านปะขาว) เมืองพันนา (ปัจจุบันคือบ้านพันนา) เมืองกาฬสินธุ์ เมืองกมลาสัย (เมืองกมลาไสย) เมืองสหัสขันธ์ เมืองสกลนคร (บ้านธาตุเชียงชุม) บ้านกลางหมื่น เป็นต้น[7]
อพยพไพร่พล
แก้พระยาไชยสุนทร(เจ้าโสมพะมิตร) รับราชการในราชสำนักเวียงจันทน์จนได้รับความชอบ กษัตริย์เวียงจันทน์โปรดเกล้าฯ เลื่อนยศเป็นที่พญาโสมพะมิต ต่อมา พ.ศ. 2320 พญาโสมพะมิตรและญาติพี่น้องคืออุปฮาดเมืองแสนฆ้องโปงและเมืองแสนหน้าง้ำขัดแย้งกับสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 แห่งเวียงจันทน์ (พระเจ้าสิริบุนสาน ครองราชย์ราว พ.ศ. 2294-2322) จึงรวบรวมผู้คนเป็นสมัครพรรคพวกประมาณหนึ่งหมึ่นข้ามน้ำโขงผ่านทางหนองบัวลำภูตั้งเป็นชุมชนใหญ่ที่บ้านผ้าขาวและบ้านพันนา (เมืองผ้าขาวพันนา) เมืองเก่าในแขวงมณฑลอุดร[8] บริเวณพระธาตุเชิงชุม ฝ่ายพระเจ้าสิริบุนสานส่งทัพหลวงติดตามมากวาดต้อนผู้คนที่อพยพหลบหนีให้กลับคืนเวียงจันทน์[9] พญาโสมพะมิตรจึงอพยพไพร่พลผ่านกุดสิมคุ้มเก่า เมืองบัวขาว ถอยลงใต้ไปทางบ้านเชียงเครือท่าเดื่อ[10] จนเหลือไพร่พลราว 5,000 เส้นทางการตั้งบ้านเรือนเพื่อหนีความวุ่นวายทางการเมืองจากนครเวียงจันทร์ผ่านทางหนองบัวลำภูแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ
- กลุ่มพระยาชัยสุนทร พระยาอุปชา เมืองแสนฆ้องโปง และเมืองแสนหน้า ตั้งเมืองสกลนคร
- กลุ่มเจ้าพระวอ เจ้าพระตา แยกตั้งบ้านเรือนที่ดอนมดแดง เวียงฆ้อนกลอง ดงอู่ผึ้ง บ้านแจละแม ตั้งเป็นเมืองอุบลราชธานี
- กลุ่มพระครูโพนเสม็กอธิการวัดหรือพระอรหันต์ภายสร้อย แยกตั้งบ้านเมือง ณ เมืองจามปามหานครซึ่งเป็นเมืองร้างโดยตั้งเจ้าสร้อยศรีสมุทร์เชื้อพระวงศ์กษัตริย์เวียงจันทน์เป็นกษัตริย์นครจำปาศักดิ์[11]
การก่อตั้งเมืองกาฬสินธุ์
แก้เมื่อกองทัพเวียงจันทน์ยกมารบกวนพญาโสมพะมิตรจึงยกไพร่พลข้ามสันเขาภูพานลงทิศใต้ สร้างพระพุทธรูปใหญ่ไว้ข้างสิมหนองเทาเก่าตั้งบ้านเรือนหนาแน่นและเป็นใหญ่ปกครองเมืองอยู่บ้านกลางหมื่น (ตำบลกลางหมื่น อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน) เป็นอิสระไม่ขึ้นแก่เมืองใด[12] ด้วยจำนวนไพร่พล 5,000 ต่อมาพระยาอุปชาและเมืองแสนฆ้องโปงถึงแก่กรรมพระเจ้าสิริบุนสานส่งทัพมารบกวน พญาโสมพมิตรจึงขึ้นไปสมทบกับเจ้าพระวอเจ้าพระตาขอไพร่พลร่วมสมทบอีกราว 3,000 คน ราวปีเศษ พ.ศ. 2325 จึงอพยพผู้คนย้อนกลับมาตั้งบ้านเรือนใหม่ที่แก้งส้มโฮง (แก่งสำโรง) ดงสงเปือยริมฝั่งน้ำปาวรวมไพร่พลราว 4,000 คน[13] เหลือไพร่พลที่บ้านกลางหมื่น 1,000 คน และได้ส่งบรรณาการได้แก่ “น้ำรัก สีผึ้ง นอแรด และงาช้าง” เป็นส่วยเพื่อนำทูลเกล้าถวายต่อกรุงเทพมหานคร ผ่านทางเวียงจันทน์ มีความว่า “ข้าพเจ้าก็แต่งแสนท้าวพระยาลาวมีชื่อคุมแสนดาบขวา แสนไชยสวัสดีลงไปแต่ก่อนนั้นก็กลับคือมาถึงแล้วให้การว่า พระบรมมีของตอบแทนงาช้าง ๕ กิ่ง จันทร์ ๗ ท่อน ดีบุก ๑๐ ทะลา ฝ่ายโสมพะมิตรมีของตอบแทน รัก ๕๐ กระบอก สีผึ้ง ๑๐ ชั่ง งาช้าง ๒ กิ่ง นอระมาดยอด ๑”[14]เพื่อขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารในฐานะข้าขอบขัณฑสีมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ราวปีพ.ศ. 2336 พญาโสมพะมิตเดินทางไปกรุงเทพมหานครเจริญไมตรีกับกษัตริย์สยาม โดยนำเครื่องเจริญสัมพันธไมตรีมีค่าเป็นกาน้ำสำริดหรือกาทองที่นำติดตัวมาแต่สมัยรับราชการ ณ เวียงจันทน์มอบแด่รัชกาลที่ 1 พร้อม “ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ผูกส่วยผลเรว สีผึ้ง กระวาน น้ำรัก และเงิน” ราชสำนักสยามจึงยกฐานะบ้านแก้งส้มโฮง ซ่งเปือย ริมน้ำปาว ขึ้นเป็นเมืองกาฬสินธุ์ตามนามมงคลนิมิตของกาน้ำสำริด[15] สถาปนาพญาโสมพะมิตขึ้นเป็นพระยาไชยสุนทรเจ้าองค์ครองเมืองกาฬสินธุ์องค์แรก[16] ในฐานะประเทศราช (ต่อมาถูกลดฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอกแต่ยังไม่มีหัวเมืองขึ้น) แต่นั้นเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ยึดถือนามยศพระยาชัยสุนทรไว้สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนี้โดยเฉพาะ พระยาชัยสุนทรครองเมืองด้วยความสงบเรียบร้อยโดยลำดับ พ.ศ. 2345 ทรงชราภาพจึงมอบหมายราชการให้ท้าวหมาแพงดูแลรักษา[17]
การพระราชทานสัญญาบัตรตราตั้งเป็นเจ้าเมือง
แก้พระขัติยะวงศา(ทน)เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ได้กราบบังคมทูลเบิกตัว เจ้าโสมพะมิตร เข้าถวายตัวกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ ขอตั้งเมืองและทำราชการปฏิบัติงานขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ในระยะแรกนั้น ได้ประชุมกันเพื่อพิจารณานำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาฯเพื่อตั้งเมืองและสถาปนาตำแหน่งผู้ครองเมืองนั้น ดังนี้
คณะลูกขุน ณ ศาลา ประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้แก่
พระยาพิพัฒน์โกษา ๑
พระยาราชภักดี ๑
พระยาราชสุภาวดี ๑
พระมหาอำมาตย์ ๑
พระยาสุรเสนี ๑
ได้ประชุมกันเพื่อพิจารณานำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อเสนอนามบรรดาศักดิ์ดังนี้
“พระยาไชยรังสรรค์ ๑ พระยาไชยวงษา ๑ พระยาไชยสุริยวงษา ๑ พระยาไชยานุชิต ๑”
ในที่สุดคณะลูกขุน ณ ศาลา ได้ลงความเห็นเลือกนามบรรดาศักดิ์นำทูลเกล้าถวายเพื่อพระราชทานสัญญาบัตรแต่งตั้ง โดยยุบรวมนามตามความเหมาะสมเป็นที่
"พระยาไชยสุนทร บวรภักดี ธานีศรีอุตระนิคมเขตร์ "
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯพระราชทานเครื่องยศตามฐานะตำแหน่ง พระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ดังสัญญาบัตรตราตั้ง ซึ่งประกอบด้วย
ครอบถมเครื่องในพร้อม ๑ สำหรับ, คนโทเงินถมยาคำ ๑ ใบ, ลูกประคำทอง ๑ สาย, กระบี่บั้งเงิน ๑ เล่ม, สัปทนปัตตู ๑ คัน, เสื้อเข้มขาบริ้วดี ๑ ผืน, แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผืน, ชวานปักทอง ๑ ผืน, แพรขาวห่ม ๑ ผืน, ผ้าปูม ๑ ผืน[18]
ประวัติจากเอกสารชั้นต้น
แก้ในพื้นเวียงจันทน์
แก้เอกสารพื้นเวียงจันทน์อย่างน้อย 3 ฉบับระบุตรงกันว่าเมื่อพระยาชัยสุนทรขึ้นปกครองเมืองกาฬสินธุ์ ก่อนเหตุการณ์สงครามเวียงจันทน์-สยามในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าไชยเชฏฐาธิราชที่ 5 (เจ้าอนุวงศ์ ครองราชย์ราว พ.ศ. 2348-2371) สยามส่งนายกองมาสักเลกรุกล้ำแผ่นดินลาวจนชาวเมืองกาฬสินธุ์เดือดร้อน พระยาชัยสุนทรจึงอพยพไพร่พลไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารเจ้าอนุวงศ์ที่เมืองสกลนครซึ่งเป็นเมืองเดิมที่ทรงปกครองมาก่อน ดังข้อความ
แต่นั้น พอเมื่อหมดเขตต์แล้วม้มแห่งฤดูฝน ฝูงหมู่นายกองสักออกมามิช้า เขาก็ไปอยู่ตั้งทัพที่กาฬสินธุ์ จัดหัวเมืองเฮ่งมาโฮมหั้น แต่นั้น เลยเหล่าขำเขือกฮ้อนอุบาทว์หลายประการ เสนาเขาแหกเมืองหนีเจ้า เขาก็หมายเพิ่งเจ้ายั้งขม่อมเวียงจันทน์ เขาก็ขนครัวไปเพิ่งบุญจอมเจ้า ชื่อว่าพญาสมะบพิตรเจ้าแหกจากกาฬสินธุ์ เวียนกินเมืองเอกโทนจริงแท้ เจ้าก็มาอยู่สร้างทันที่หนองหาร ชื่อว่าเมืองสกลนครพื้นปฐพีพระธาตุใหญ่ ฯ[19]
พอเมื่อเหมิดเขดแล้วม้มแห่งระดูฝน ฝูงหมู่นายกองสักออกหลำซ้ำ เขาก็ไปอยู่ตั้งทันที่กาละสิน จัดหัวเมืองเล่งมาโฮมหั้น แต่นั้น เลยเล่าขำเขือดฮ้อนอุบาดหลายปะกาน เสนาเขาแหกเมืองหนีเจ้า เขาก็หมายเพิ่งเจ้าหยั้งขม่อมเวียงจัน เขาก็ขนคัวมาเพิ่งบุนจอมเจ้า ซื่อว่าพะยาสมพะมิดเจ้าแหกจากกาละสิน เลียนกินเมืองเอกโทนจิงแท้ เจ้าก็มาอยู่ส้างแทนที่หนองหาน ซื่อว่าเมืองสะกลนะคอนแผ่นดินพระทาดใหย่[20]
พอเมื่อเหมิดเขตแล้วม้มแห่งฤดูฝน ฝูงหมู่นายกองสักออกมาหล่ำซ้ำ เขาก็ไปอยู่ตั้งทันที่กาฬสินธุ์ จัดหัวเมืองเร่งมาโฮมหั้น แต่นั้น เลยเล่าขำเขือกฮ้อนอุบาทว์หลายประการ เสนาเขาแหกเมืองหนีเจ้า เขาก็หมายเพิ่งเจ้ายั้งขม่อมเวียงจันทน์ เขาก็ขนครัวมาเพิ่งบุญจอมเจ้า ชื่อว่าพระยาสมพมิตรเจ้าแหกจากกาฬสินธุ์ เลียนกินเมืองเอกโทนจริงแท้ เจ้าก็มาอยู่สร้างแทนที่หนองหาน ชื่อว่าเมืองสกลนครแผ่นดินพระธาตุใหญ่ ฯ[21]
ในพงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์และเมืองกมลาสัย: เอกสารฝ่ายท้องถิ่น
แก้เอกสารพงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์ฉบับพระราษฎรบริหาร(ทอง) เจ้าเมืองกมลาสัย (เมืองกระมาลาไสย) เขียนด้วยลายมือภาษาลาวอักษรไทยบนสมุดข่อย (สมุดไทยขาวหมึกดำ) สมบัติเดิมของนางรำไพ อัมมะพะ (สกุลเดิม บริหาร) บุตรีของนายทองบ่อ บริหาร ทายาท ถ่ายสำเนาเมื่อ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2534 โดยธีรชัย บุญมาธรรม อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ สถาบันราชภัฏมหาสารคาม ต่อมานายบุญมี ภูเดช (เปรียญ) พิมพ์รวมในหนังสือพงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์และประวัติเมืองขึ้นในยุคเก่า ที่โรงพิมพ์จินตภัณฑ์การพิมพ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เมื่อ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2525 จำนวน 1,000 ฉบับ คำปรารภหนังสือระบุว่าได้ต้นฉบับจากพระราชพรหมจริยคุณ วัดกลาง เมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งพิมพ์จากหนังสือที่พระราษฎรบริหาร(ทอง) เรียบเรียงไว้ เอกสารระบุพระประวัติพระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร) โดยละเอียดดังนี้
...พระราษฎรบริหารเจ้าเมืองกมลาสัยได้ลำดับพงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์และเมืองกมลาสัยและเมืองขึ้นไว้สำหรับบ้านเมืองต่อไป เดิมปู่ย่าตายายเจ้านายได้สืบตระกูลต่อ ๆ มานั้นตั้งบ้านเรือนอยู่หนองหานพระเจดีย์เชียงชุมที่เป็นเมืองเก่า ครั้นอยู่มาจะเป็นปีใดไม่กำหนดครั้งนั้นพระครูโพนเสม็ดเจ้าอธิการวัดที่เรียกว่าพระอรหันตาพายสร้อยได้ต่อยอดพระธาตุพนม และเมื่อเกิดเหตุต่าง ๆ ได้พาครอบครัวพวกเจ้านายท้าวเพี้ยราษฎรยกไปตั้งทะนุบำรุงอยู่ ณ เมืองจำปามหานครที่เป็นเมืองเก่าร้างอยู่ ซึ่งโปรดฯ ตั้งเป็นเมืองนครจำปาศักดิ์เดี๋ยวนี้นั้น ตั้งเจ้าสร้อยศรีสมุทซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์พระเจ้าเมืองเวียงจันทน์นั้นขึ้นเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ครั้นอยู่มาช้านานหลายชั่วก็เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นต่าง ๆ เจ้านายท้าวเพี้ยจึงพร้อมกันพาครัวบุตรภรรยาบ่าวไพร่กลับคืนหนีมาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่ที่หนองหานพระเจดีย์เชียงชุมตำบลบ้านผ้าขาวพรรณาตามเดิม แต่ครอบครัวผู้คนยังค้างอยู่เมืองนครจำปาศักดิ์ก็ยังมาก ครั้นต่อมาภายหลังจะปีและศักราชหลวงเท่าใดไม่มีกำหนดแจ้ง ครั้งนั้นพระยาโสมพะมิต พระยาอุปชา เมืองแสนฆ้อนโปง เมืองแสนหน้าง้ำ ๔ คน เป็นผู้ใหญ่พากันควบคุมท้าวเพี้ยบ่าวไพร่บุตรภรรยาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่บ้านผ้าขาวพรรณาและหนองหานพระเจดีย์เชียงชุมซึ่งเป็นเมืองสกลนครเดี๋ยวนี้ มีท้าวเพี้ยบ่าวไพร่รวมประมาณสัก ๕,๐๐๐ เศษ รับราชการทำส่วยผ้าขาวขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์ ครั้นอยู่มาพระยาอุปชากับเมืองแสนฆ้อนโปงถึงแก่กรรมไปแล้ว เจ้าเมืองเวียงจันทน์คิดก่อเหตุเกิดวิวาทบาดหมางขึ้นกับพวกพระยาโสมพะมิต เมืองแสนหน้าง้ำ ๆ อพยพพาครัวบุตรภรรยาท้าวเพี้ยบ่าวไพร่ประมาณ ๒,๐๐๐ เศษ หนีลงมาบรรจบอยู่ด้วยกับพวกพระวอที่แตกหนีอพยพครอบครัวมาแต่หนองบัวลำภูมาตั้งอยู่ ณ บ้านแจละแม ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเมืองอุบลราชธานี แต่พระยาโสมพะมิตนั้นอพยพพาครัวบุตรภรรยาท้าวเพี้ยบ่าวไพร่ประมาณสัก ๓,๐๐๐ เศษ ไปตั้งอยู่ริมน้ำปาวที่เรียกว่าแก่งสำโรง แล้วพระยาโสมพะมิตลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระยาโสมพะมิตเป็นที่พระยาชัยสุนทรเจ้าเมือง ขนานนามแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมืองกาฬสินธุ์ แต่ ณ วันปีจอ จัตวาศก (จุ) ลศักราช ๑๑๖๔ พระยาชัยสุนทรโสมพะมิตเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ชรา มีอายุสัก ๗๐ ปีเศษ หลงลืมสติจึงมอบราชการเมืองให้กับท้าวหมาแพงบุตรของพระยาอุปชานั้นเป็นผู้ว่าราชการเมืองกาฬสินธุ์ต่อมา แล้วพระยาชัยสุนทรโสมพะมิตกับท้าวหมาแพงผู้รับว่าราชการเมืองต่างนั้นปรึกษาพร้อมกันทำแผนที่เมืองกาฬสินธุ์ แบ่งเขตแดนต่อกันกับเมืองเวียงจันทน์ตั้งแต่แม่น้ำลำพองข้างเหนือมาตกชีข้างตะวันตก ตะวันออกนั้นตั้งแต่น้ำลำพองตัดลัดไปห้วยสายบาทไปถึงห้วยไพรจาน ไปเขาภูทอกซอกดาวตัดไปบ้านผ้าขาวพรรณาบ้านเดิม ยอดลำน้ำสงครามตกแม่น้ำโขง เขตฝ่ายตะวันออกต่อแดนเมืองนครพนมและเมืองมุกดาหาร ผ่าเขาภูพานตัดมายังภูเขาหลักทอดยอดยัง ๆ ตกแม่น้ำลำน้ำชีเป็นเขตข้างใต้ ข้างตะวันตกแม่น้ำลำน้ำชีต่อแดนเมืองร้อยเอ็ดและต่อแดนเมืองยโสธรแต่ยังไม่ได้ตั้งเป็นเมืองเป็นบ้านสิงห์โคกสิงห์ท่าอยู่ แล้วส่งแผนที่ลงไปทูลเกล้าฯ ถวาย...พระยาโสมพะมิตเป็นเจ้าเมืองกาฬสินธุ์อยู่ได้สามปีก็ถึงแก่กรรม ครั้นถึง ณ ปีขาล อัฐศก ศักราช ๑๑๖๘ ปี ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้า ฯ ตั้งท้าวหมาแพงขึ้นเป็นพระยาชัยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์...[22][23]
ในพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ: เอกสารฝ่ายสยาม
แก้เอกสารพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ เรียบเรียงดัดแปลงแก้ไขจากพงศาวดารเมืองอุบลราชธานีโดยหม่อมอมราชวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) ภาคที่ 1 (ในภาคที่ 1-10) ซึ่งเป็นหนังสือตีพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์เรื่องต่าง ๆ ของไทยทั้งเอกสารในประเทศและที่แปลจากภาษาต่างประเทศ โดยโบราณคดีสโมสร หอสมุดพระวชิรญาณ และหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร อนุญาตให้จัดพิมพ์ในวาระต่างๆ มีทั้งหมด 82 ภาค กล่าวถึงพระประวัติพระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร) โดยละเอียดดังนี้
...ลุจุลศักราช ๑๑๕๕ ปีฉลูเบญจศก ท้าวโสมพมิตร ท้าวอุปชา ซึ่งเดิมอยู่บ้านผ้าขาวแขวงเมืองศรีสัตนาคนหุต แลพาครอบครัวยกมาตั้งอยู่บ้านท่าแก่งสำโรงริมน้ำปาวนั้น ได้พาพวกญาติพี่น้องมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารควบคุมบ่าวไพร่ตัวเลขเก็บผลเร่วส่งทูลเกล้าฯ ถวาย จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท้าวโสมพมิตรเปนพระยาไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ท้าวคำหวาเปนที่อุปฮาด ยกบ้านแก่งสำโรงขึ้นเปนเมืองกาฬสินธุ์ทำราชการขึ้นกรุงเทพฯ อาณาเขตรเมืองกาฬสินธุ์ครั้งนั้นมีว่า ทิศตวันออกลำพยังตกลำน้ำชี ทิศเหนือเฉียงตวันตกภูเหล็กยอดลำน้ำสงครามมาลำไก่เขี่ย ตัดลงคูไชเถ้าเกาะจนกระทั่งห้วยสายบาทตกลำพวง ทิศเหนือเฉียงตวันออกภูศรีถานยอดลำห้วยหลักทอดตกลำพยัง แต่ภูศรีถานเฉียงเหนือยอดห้วยก้านเหลืองลงน้ำก่ำเมืองหนองหาร เฉียงเหนือภูเหล็กยอดลำน้ำสงครามมาลำน้ำยามถึงลำน้ำอุ่น ตัดมาหนองบัวส้างยอดน้ำลาดตกน้ำหนองหาร ครั้นพระยาไชยสุนทร (โสมพมิตร) อุปฮาด (คำหวา) ถึงแก่กรรมแล้ว จึ่งโปรดตั้งให้ท้าวหมาแพงบุตรท้าวอุปชา เปนพระยาไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ท้าวหมาสุยเปนอุปฮาด ให้ท้าวหมาพวงเปนราชวงษ์ ทั้งสองคนนี้เปนบุตรพระยาไชยสุนทร (โสมพมิตร) เปนผู้รักษาเมืองกาฬสินธุ์ต่อไป แลโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงขึ้นไปสักตัวเลขเปนเลขขึ้นเมืองกาฬสินธุ์มีจำนวนครั้งนั้นรวม ๔๐๐๐ คน แบ่งเปนส่วนขึ้นกับเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงษ์ตามสมควร ฝ่ายราชวงษ์ (พอง) นั้น กระทำการเกี่ยงแย่งหาเปนสามัคคีกับพระยาไชยสุนทรไม่ จึ่งอพยพครอบครัวแยกไปตั้งอยู่ณบ้านเชียงชุมแล้วไปยอมสมัคขึ้นอยู่กับเมืองเวียงจันท์ (ศรีสัตนาคนหุต)...[24]
การพระศาสนา
แก้พระยาไชยสุนทร (เจ้าโสมพะมิตร) เป็นผู้เลื่อมใสในบวรพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง และได้สร้างวัดไว้ในตัวเมืองกาฬสินธุ์มากถึง 3 วัด ได้แก่
•วัดศรีบุญเรือง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2336 (ปัจจุบันเป็นวัดเหนือ)
•วัดกลาง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2337 (ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวง)
•วัดใต้โพธิ์ค้ำ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2341
ปัจฉิมวัย
แก้เมื่อปี พ.ศ.2345 พระยาไชยสุนทร(เจ้าโสมพะมิตร)เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ชราภาพ มีอายุสัก ๗๐ ปีเศษ หลงลืมสติจึงมอบราชการเมืองให้กับท้าวหมาแพงบุตรนั้นเป็นผู้ว่าราชการเมืองกาฬสินธุ์ต่อมา จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชราในปี พ.ศ.๒๓๔๙ สิริรวมอายุได้ ๗๓ ปีเศษและทางกรมการเมืองกาฬสินธุ์จึงไว้ทุกข์มีใบบอกขอพระราชทานเพลิงศพ ดังนี้
หมายรับสั่ง เรื่อง พระราชทานหีบศิลาหน้าเพลิงและสิ่งของขึ้นไปเผาศพพระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ จ.ศ. ๑๑๗๒
“ด้วย เจ้าพระยาภูธราภัยฯ รับพระราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า อุปฮาดท้าวเพียเมืองกาฬสินธุ์ บอกลงมาว่า พระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ป่วยถึงแก่กรรม กำหนดจะได้เผาศพ ณ เดือน ๔ ข้างแรม ปีมะเมีย โทศก โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงาน จัดหีบศิลาหน้าเพลิง สิ่งของพระราชทานขึ้นไปเผาศพให้สมแก่เกียรติยศ นั้นให้เจ้าพระคลังในซ้ายเบิกหีบคำเปลวต่อพระคลังข้างในหีบ ๑ ส่งให้พระคลังวิเสทเย็บถุงใส่หีบ เร่งเบิกแต่ ณ วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ อนึ่ง ให้พระคลังรับหีบคำเปลว ต่อพระคลังในซ้ายมาเย็บถุงใหญ่ใส่หีบ ถุงเล็กใส่ศิลาหน้าเพลิง รับศิลาหน้าเพลิงต่อกรมแสง รับธูปเทียน ดอกไม้จันทน์ต่อท่านข้างในใส่หีบให้พร้อม ส่งให้กรมวัง อนึ่ง ให้มหาดเล็ก รับศิลาหน้าเพลิงต่อกรมวัง ทูลเกล้าฯ แล้วส่งให้กรมวัง แต่ ณ วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ อนึ่ง ให้กรมแสงจัด หีบศิลาหน้าเพลิงสำรับ ๑ ผ้าไตร ๓ ไตร ผ้าขาว ๕ พับ ร่ม ๕๐ คัน รองเท้า ๕๐ คู่ ทองอังกฤษ ๔ กุลี กระดาษเงิน ๒๐ พับ กระดาษทอง ๒๐ พับ กระดาษแดง ๓ พับ กระดาษเขียว ๓ พับ กระดาษเส้น ๓ พับ กระดาษบัว ๓ พับ กระดาษฟาง ๕ พับ ชาห่อใหญ่ ๑ ห่อ ฝุ่น ๒ ห่อ หรดาน ๒ ห่อ ดินแดง ๕๐ เฟื้อง กาว ๒ ชั่ง รง ๑ ชั่ง
พระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ เทียบเอาอย่างเจ้าเมืองชนบท
วัน เดือน ปีมะเมีย โทศก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ ออกว่าราชการอยู่ที่วังได้นำจำนวน สิ่งของเผาศพพระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ขึ้นกราบทูลฯ รับสั่ง ให้หมายไปตามนี้ฯ”[25]
ทายาท
แก้พระยาไชยสุนทร (เจ้าโสมพะมิตร) มีบุตร 4 คนเท่าที่ปรากฏนามคือ
1. ท้าวหมาแพง ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นที่”พระยาไชยสุนทร”เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2349-2369 เป็นหมันไม่มีบุตรจึงขอบุตรชายของเจ้านางหวดผู้เป็นพี่สาวกับเจ้าราชวงศ์เมืองจำปาศักดิ์ (ฮวด) มาเป็นบุตรบุญธรรม 1 คน คือ
1.1 ท้าวเซียงโคตร ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นที่“ราชวงศ์เมืองกาฬสินธุ์”เมื่อ พ.ศ. 2365-2369 สมรสกับใครสืบไม่ได้ มีบุตร 1 คนเท่าที่ปรากฏ คือ 1)พระราษฎรบริหาร(เกษ) เจ้าเมืองกมลาไสย ลำดับที่ 1 เป็นต้น
2. ท้าวหมาป้อง ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นที่”พระธานี”อุปฮาดเมืองสกลนคร เมื่อ พ.ศ. 2365-2369 สมรสกับใครสืบไม่ได้ มีบุตร 4 คนเท่าที่ปรากฏคือ
2.1 ท้าวเจียม ได้รับโปรดเกล้าฯการแต่งตั้งเป็นที่”พระยาไชยสุนทร”เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2370-2381 สมรสกับอัญญานางทองคำ มีบุตร 7 คน คือ 1)นางพัน 2)ท้าวทอง 3)ท้าวด่าง 4)ท้าวสุริยะ 5)ท้าวบุญมา 6)นางดา 7)นางหลอด เป็นต้น
2.2 ท้าวลาว ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นที่”พระประเทศธานี”อุปฮาดเมืองสกลนคร เมื่อ พ.ศ. 2381-2393 สมรสกับอัญญานางแก้ว มีบุตร 10 คน คือ 1)ท้าวพิมพา 2)ท้าวแสง 3)ท้าวโส 4)ท้าวพู 5)ท้าวชิน 6)ท้าวโชด 7)นางตื้อ 8)นางแท่ง 9)นางทองแดง 10)นางกัณหา เป็นต้น
2.3 ท้าวละ (จารย์ละ) ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นที่”พระยาไชยสุนทร”เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2395-2396 สมรสกับอัญญานางจันทร์ มีบุตร 7 คน คือ 1)ท้าวพรหม 2)ท้าวเทพ 3)ท้าวบัว 4)นางเบ้า 5)ท้าวคาน 6)ท้าวคม 7)นางอุด เป็นต้น
2.4 ท้าวหล้า ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นที่”พระยาไชยสุนทร”เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2381-2389 สมรสกับอัญญานางคำแดง มีบุตร 7 คน คือ 1)นางขาว 2)ท้าวโคตร 3)ท้าวสี 4)ท้าวไชย 5)ท้าวสีน 6)ท้าวคำ 7)นางหมอก เป็นต้น
3. ท้าวหมาสุ่ย ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นที่”พระไชยสุนทร”อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ เมื่อ พ.ศ. 2349-2370 สมรสกับใครสืบไม่ได้ มีบุตร 3 คนเท่าที่ปรากฏคือ
3.1 ท้าวเกษ ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นที่”พระสุวรรณ”อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ เมื่อ พ.ศ. 2381-2383 สมรสกับใครสืบไม่ได้ มีบุตร 6 คน คือ 1)ท้าวแสน 2)ท้าวพรหม 3)ท้าวคำไภย 4)ท้าวแสง 5)ท้าวขูลู 6)ท้าวขำ เป็นต้น
3.2 ท้าวกิ่ง ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นที่”พระยาไชยสุนทร”เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2400-2413 สมรสกับคุณหญิงสุวรรณ มีบุตร 4 คน คือ 1)นางแพงสี 2)นางพา 3)ท้าวพั้ว 4)นางขำ เป็นต้น
3.3 ท้าวหนูม้าว ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นที่”พระยาไชยสุนทร”เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 8 เมื่อ พ.ศ. 2413-2420 สมรสกับคุณหญิงบัว มีบุตร 1 คนเท่าที่ปรากฏ คือ 1)ท้าวงวด ราชบุตรเมืองกาฬสินธุ์ เป็นต้น
4. ท้าวหมาฟอง ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นที่“ราชวงศ์เมืองกาฬสินธุ์และสกลนคร” เมื่อ พ.ศ. 2349-2370 ภายหลังทำราชการแก้ตัวอาสารบทัพญวนที่เมืองโพธิสัตว์ จึงได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น”พระยากำแหงมหึมา”เจ้าเมืองกบินทร์บุรี ลำดับที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2370-2379 สมรสกับใครสืบไม่ได้ มีบุตร 4 คนเท่าที่ปรากฏคือ
4.1 ท้าวสาย ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นที่“หลวงสุรอาสาปลัด”ปลัดเมืองกบินทร์บุรี เมื่อ พ.ศ. 2370-2378 สมรสกับใครสืบไม่ได้ มีบุตร 2 คนเท่าที่ปรากฏ คือ 1)หมื่นหาญประจันศึก(ไม่ทราบนามเดิม) 2)หมื่นศรีสำแดงอาสา(ไม่ทราบนามเดิม) เป็นต้น
4.2 ท้าวหลง ได้รับรับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นที่“พระกำแหงมหึมา”เจ้าเมืองกบินทร์บุรี ลำดับที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2379-2415 บรรดาศักดิ์เดิม”หลวงสุรกำแหง”สมรสกับใครสืบไม่ได้ มีบุตร 1 คนเท่าที่ปรากฏ คือ 1)หลวงกำแหงมหึมา(เขียน) นายอำเภอเมืองกบินทร์บุรี เป็นต้น
4.3 ท้าวพลัด ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นที่“พระกำแหงมหึมา”เจ้าเมืองกบินทร์บุรี ลำดับที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2415-2433 บรรดาศักดิ์เดิม”หลวงสำแดงฤทธา”สมรสกับใครสืบไม่ได้ มีบุตร 1 คนเท่าที่ปรากฏ คือ 1)หลวงฤทธิ์กำแหง(เกตุ) ปลัดเมืองกบินทร์บุรี เป็นต้น
4.4 นางหงษ์ สมรสกับ ชาวไทยเชื้อสายจีน(ไม่ปรากฏนาม) มีบุตร 3 คน คือ 1)นางเง็ก 2)หม่อมแจ่ม(ชายาเจ้าอุปราชศรีสุราช(คำพันธ์) ณ จำปาศักดิ์) 3)นางหนูพัด เป็นต้น
- เนื่องจากท้าวหมาแพงเป็นบุตรของท้าวอุปชาที่เจ้าโสมพะมิตรได้ขอมาเป็นบุตรบุญธรรม เพราะว่า”ท้าวอุปชาเป็นน้องชายของชายาเจ้าโสมพะมิตร”
สายสกุลทายาทและเครือญาติ
แก้สายสกุลเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ที่เป็นเครือญาติกับเจ้าโสมพะมิตรที่สำคัญมีดังนี้
- ณ กาฬสินธุ์ ต้นสกุลคือ“พระไชยสุนทร(หมาสุ่ย)อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์”ซึ่งเป็นบุตรของพระยาไชยสุนทร (โสมพะมิตร) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 1 โดยมีบุตรผู้เป็นต้นเชื้อสายคือ พระยาไชยยสุนทร (หนูม้าว) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 8 สมรสกับ คุณหญิงบัวทอง ซึ่งมีบุตรด้วยกันคือ ท้าวงวด(ราชบุตรเมืองกาฬสินธุ์) สมรสกับ อัญญานางแข มีบุตร 4 คน คือ 1)ท้าวเก 2)นางบุหงา 3)นางบุนนาค 4)นางเบ้า เป็นต้น อาเช่น พระยาไชยสุนทร(เก)เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 11 สมรสกับ คุณหญิงมั่น มีบุตรด้วยกัน 8 คน ได้แก่ 1)นางโคมแก้ว 2)นายคำเคน 3)นายสัมฤทธิ์ 4)นางโสมนัส 5)นางทองคำ 6)นายเกษม 7)นายสินทร 8)นางรัศมี 9)นายทองดี(กับหม่อมอุ้ย)ส.ส.คนแรกของจังหวัดกาฬสินธุ์ 10)นางทับทิม(กับหม่อมทุม) 11)นายภูสินธ์(กับหม่อมทองนาค) เป็นต้นและท่านเหล่านี้คือผู้ใช้นามสกุล”ณ กาฬสินธุ์”รุ่นแรกโดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตัวอำเภอเมืองของจังหวัดกาฬสินธุ์
- วงศ์กาฬสินธุ์ ต้นสกุลคือ“พระธานี(หมาป้อง)อุปฮาดเมืองสกลนคร” ซึ่งเป็นบุตรของพระยาไชยสุนทร (โสมพะมิตร) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 1 โดยมีบุตรผู้เป็นต้นเชื้อสายคือ พระยาไชยสุนทร(หล้า)เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 4 สมรสกับ อัญญานางคำแดง มีบุตร 7 คน ได้แก่ 1)นางขาว 2)พระยาไชยสุนทร(โคตร) 3)พระศรีวรวงศ์(สี) 4)พระไชยราช(ไชย) 5)พระอุปสิทธิ์(สีน) 6)พระโพธิสาร(คำ) 7)นางหมอก เป็นต้น อาทิเช่น พระยาไชยสุนทร(โคตร) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 9 สมรสกับ คุณหญิงพา บุตรีคนที่ 2 ของพระยาไชยสุนทร (กิ่ง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 4 มีบุตร 10 คน คือ 1)ท้าวหนูแดง 2)พระสุริยมาตย์(สุรินทร์) ราชบุตรเมืองกาฬสินธุ์ 3)พระไชยแสง(ทองอินทร์) นายกองเมืองกาฬสินธุ์ 4)พระศรีธงไชย(คำตา) กรมการเมืองพิเศษสกลนคร 5)หลวงไชยสวัสดิ์(คำแสน) เสมียนตราเมืองกาฬสินธุ์ 6)ขุนไชยสาร(จารย์เฮ้า) 7)นางข่าง 8)นางคะ 9)นางบัวสา 10)ท้าวคำหวา เป็นต้นและท่านเหล่านี้คือผู้ใช้นามสกุล”วงศ์กาฬสินธุ์”รุ่นแรกโดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตัวอำเภอเมืองของจังหวัดสกลนคร
- บริหาร ต้นสกุลคือ “พระยาไชยสุนทร (หมาแพง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 2 ” ได้ขอท้าวเซียงโคตร มาเป็นบุตรบุญธรรม รับราชเป็นราชวงศ์เมืองกาฬสินธุ์ โดยมีบุตรผู้เป็นต้นเชื้อสายคือพระราษฎรบริหาร (เกษ) เจ้าเมืองกมลาไสย ลำดับที่ 1 (เดิมเป็นที่ราชวงษ์เมืองกาฬสินธุ์) ได้สมรสกับอัญญานางแพงศรี มีบุตรด้วยกัน 5 คน ได้แก่ 1) พระราษฎรบริหาร (ทอง) เจ้าเมืองกมลาไสย ลำดับที่ 2 2)พระประชาชนบาล(บัว) เจ้าเมืองสหัสขันธ์ 3)พระประชาชนบาล(แสน) เจ้าเมืองสหัสขันธ์ 4)หลวงชาญวิไชยุทธ(นวน) ราชวงศ์เมืองกมลาไสย 5)หลวงกมเรศ(ธรรม) ราชบุตรเมืองกมลาไสย เป็นต้น โดย พระราษฎรบริหาร (ทอง) เจ้าเมืองกมลาไสย ลำดับที่ 2 สมรสกับอัญญานางอ่อน มีบุตร 5 คน คือ 1) นางเหลี่ยม ณ ร้อยเอ็จ 2) หลวงชาญวิชัยยุทธ (เหม็น เกษทอง) 3) นางเพชร พลวิจิตร์ 4) หลวงกมลาพิพัฒน์(เทศ บริหาร) 5)นางทองคำ(กับนางทรัพย์) ซึ่งต่อมาหลวงกมลาพิพัฒน์(เทศ บริหาร)ได้จัดตั้งนามสกุล“บริหาร”ขึ้น โดยมีบุตร 6 คน ได้แก่ 1)นางคำกอง(กับนางคำอา) 2)นายทองบ่อ(กับนางบุญนาค) 3)นายสมบูรณ์(กับนางบุญนาค) 4)นางเล็ก(กับนางอินทวา) 5)นายบุญเหลือ(กับนางอินทรา) 6)นายไว/เจริญ(กับนางจันทร์แดง) เป็นต้นและท่านเหล่านี้คือผู้ใช้นามสกุล”บริหาร”รุ่นแรกโดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอำเภอกมลาไสยของจังหวัดกาฬสินธุ์
- เกษทอง ต้นสกุลคือ “พระยาไชยสุนทร (หมาแพง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 2” ได้ขอท้าวเซียงโคตร มาเป็นบุตรบุญธรรม รับราชเป็นราชวงศ์เมืองกาฬสินธุ์ โดยมีบุตรผู้เป็นต้นเชื้อสายคือพระราษฎรบริหาร (เกษ) เจ้าเมืองกมลาไสย ลำดับที่ 1 (เดิมเป็นที่ราชวงษ์เมืองกาฬสินธุ์) ได้สมรสกับอัญญานางแพงศรี มีบุตรด้วยกัน 5 คน ได้แก่ 1)พระราษฎรบริหาร (ทอง) เจ้าเมืองกมลาไสย ลำดับที่ 2 2)พระประชาชนบาล(บัว) เจ้าเมืองสหัสขันธ์ 3)พระประชาชนบาล(แสน) เจ้าเมืองสหัสขันธ์ 4)หลวงชาญวิไชยุทธ(นวน) ราชวงศ์เมืองกมลาไสย 5)หลวงกมเรศ(ธรรม) ราชบุตรเมืองกมลาไสย เป็นต้น โดย พระราษฎรบริหาร (ทอง) เจ้าเมืองกมลาไสย ลำดับที่ 2 สมรสกับอัญญานางอ่อน มีบุตร 5 คน คือ 1) นางเหลี่ยม ณ ร้อยเอ็จ 2) หลวงชาญวิชัยยุทธ (เหม็น เกษทอง) 3) นางเพชร พลวิจิตร์ 4) หลวงกมลาพิพัฒน์(เทศ บริหาร) 5)นางทองคำ(กับนางทรัพย์) ซึ่งต่อมาหลวงชาญวิชัยยุทธ (เหม็น เกษทอง)จัดตั้งนามสกุล“เกษทอง”ขึ้น โดยมีบุตร 3 คนกับนางศักดิ์ ได้แก่ 1)นางมั่น 2)นางพัน 3)นางเกาะ และ มีบุตร 2 คนกับนางขวัญ ได้แก่ 4)นายธน 5)น.ส.ละมุด มีบุตร 1 คนกับนางจวง ได้แก่ 6)นางแก้ว ต่อมาหลวงชาญวิชัยยุทธ (เหม็น) อพยพพาภรรยาลำดับสุดท้าย คือนางขาว(บิดามารดาชื่อนายบุญและนางคำภา) พร้อมบุตรธิดาข้าทาสย้ายถิ่นฐานตั้งบ้านเรือนถาวรอยู่ ณ บ้านหนองขี้เบ้า หรือบ้านโคกเบ้า ตำบลโคกกะเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี และมีบุตรกับนางขาว 9 คน ได้แก่ 7) นางพิฆาตเศิกสงบ (ทองหล่อ โกมลจันทร์) (เดิมชื่อคำเบ้า เกษทอง) ภริยาพันตรี หลวงพิฆาตเศิกสงบ (เจิม โกมลจันทร์) 8) นางทองใบ สงวนชาติ ภริยานายโรเบิร์ต ชวิษฐ์ สงวนชาติ 9) นางทองดี พัดทอง 10) นายทองอินทร์ เกษทอง 11) นายสุบิน เกษทอง (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง) 12) นางประหยัด จันทรเกษม 13) นางประยูร ตุลเตมีย์ ภริยานายจำลอง ตุลเตมีย์ อดีตรองวิศวกรรถไฟไทย 14) นางมณี จันทรเกษม 15) นางผะอบ วัจนะพุกกะ ภริยานายสัตวแพทย์จินดา วัจนะพุกกะ เป็นต้น ทายาทที่เกิดจากภรรยาแรกๆบางท่านยังใช้นามสกุล”บริหาร”โดยยังอาศัยอยู่ในอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ในส่วนของทายาทที่ใช้นามสกุล”เกษทอง”หลายท่านอาศัยอยู่จังหวัดลพบุรี
- ฟองกำแหง ต้นสกุลคือ“พระยากำแหงมหึมา(หมาฟอง) เจ้าเมืองกบินทร์บุรี ลำดับที่ 1” ซึ่งเป็นบุตรของพระยาไชยสุนทร (โสมพะมิตร) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 1 โดยมีบุตรคือ พระกำแหงมหึมา(หลง) เจ้าเมืองกบินทร์บุรี ลำดับที่ 2 ซึ่งต่อมีบุตรคือ หลวงกำแหงมหึมา(เขียน) (นายอำเภอเมืองกบินทร์บุรี) สมรสกับใครสืบไม่ได้ มีบุตร 3 คน ได้แก่ 1)นายโชติ 2)นางถมยา 3)นายพัด เป็นต้นและต่อมาทายาทได้จัดตั้งนามสกุลขึ้นและทายาทผู้ใช้นามสกุล”ฟองกำแหง“เหล่านี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอำเภอกบินทร์บุรีของจังหวัดปราจีนบุรี
- กำแหงมิตร ต้นสกุลคือ“พระยากำแหงมหึมา(หมาฟอง) เจ้าเมืองกบินทร์บุรี ลำดับที่ 1” ซึ่งเป็นบุตรของพระยาไชยสุนทร (โสมพะมิตร) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 1 โดยมีบุตรคือ พระกำแหงมหึมา(พลัด) เจ้าเมืองกบินทร์บุรี ลำดับที่ 3 ซึ่งต่อมีบุตรคือ หลวงฤทธิ์กำแหง(เกตุ) (ปลัดเมืองกบินทร์บุรี) สมรสกับใครสืบไม่ได้ มีบุตร 3 คน ได้แก่ 1)นายต่วน 2)นายเทศ 3)เป็นหญิงไม่ทราบนาม เป็นต้นและต่อมาทายาทได้จัดตั้งนามสกุลขึ้นและทายาทผู้ใช้นามสกุล”กำแหงมิตร”เหล่านี้ส่วนใหญ่ได้อพยพมาจากอำเภอกบินทร์บุรีของจังหวัดปราจีนบุรีมาอาศัยอยู่ในอำเภอเมืองของจังหวัดกาฬสินธุ์
- ศรีกาฬสินธุ์และพลเยี่ยม(เดิมเขียนว่า”พรมเยี่ยมกับพรหมเยี่ยม) ต้นสกุลคือ“ท้าวสุวรรณสาร(โสน้อย)” กำนันคนแรกตำบลบ้านแวง สมรสกับ นางหลอด บุตรี พระยาไชยสุนทร (เจียม) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 3 มีบุตร 1 คนคือ ท้าวมหาโคตรแก้ว สมรสกับใครสืบไม่ได้ มีบุตร 9 คน ได้แก่ 1)นางพัน 2)ท้าวจันฑกุมาร 3)ท้าวสุริยะวงศา(ฝ่าย)(อดีตกำนันตำบ้านแวง อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ดและเป็นผู้ตั้งนามสกุล“พลเยี่ยม”)4)นางทองศรี 5)นางสีดา 6)ท้าวบุญมา 7)หลวงสุนทรวุฒิรักษ์(มี) (อดีตข้าราชการกระทรวงคมนาคม แขวงเมืองกาฬสินธุ์) 8)นางหลอด 9)ท้าวคำตา เป็นต้น ต่อมาหลวงสุนทรวุฒิรักษ์(มี)ได้จัดตั้งนามสกุล“ศรีกาฬสินธุ์”และสมรสกับ นางเบ้า ณ กาฬสินธุ์ (บุตรี ท้าวงวด ราชบุตรเมืองกาฬสินธุ์ กับอัญญานางแขและเป็นน้องสาวของพระยาไชยสุนทร(เก) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 11 ) มีบุตร 10 คน ได้แก่ 1)ท้าวหวาด 2)นางอ่อง 3)นางทอง 4)รองอำมาตย์ตรีผลมัย 5)ขุนสรรพบรรณกิจ(สายทอง)(อดีตหัวหน้างานสรรพกรจังหวัดสกลนครและนครพนม)6)ท้าวอัมพร 7)นางทองดำ 8)นางทองใบ 9)นางมะละ 10)นางมาลัย เป็นต้น ลูกหลานท่านเหล่านี้คือผู้ใช้นามสกุล”ศรีกาฬสินธุ์และพลเยี่ยม”รุ่นแรกโดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตัวอำเภอโพนทองของจังหวัดร้อยเอ็ดและบางส่วนของจังหวัดกาฬสินธุ์
- ทองเยี่ยม ต้นสกุลคือ“พระยาไชยสุนทร (เจียม) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 3 “ซึ่งเป็นบุตร พระธานี(หมาป้อง)อุปฮาดเมืองสกลนคร” และเป็นบุตรของพระยาไชยสุนทร (โสมพะมิตร) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 1 โดยมีผู้เป็นต้นเชื้อสายคือ พระไชยสุนทร(หนูหมี) อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ เมื่อปี พ.ศ.2426-2433 บุตรคนที่ 3 ของพระยาไชยสุนทร(ทอง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 5 สมรสมกับ นางขำ บุตรีคนที่ 4 พระยาไชยสุนทร (กิ่ง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 4 มีบุตร 6 คน ได้แก่ 1)นางเสริม 2)นางบู่ทอง 3)ท้าวทับ (ผู้ตั้งนามสกุล“ทองเยี่ยม”) 4)ท้าวตัน 5)นางเสริม 6)นางทิพคลี(ประคีย์) ลูกหลานท่านเหล่านี้คือผู้ใช้นามสกุล”ทองเยี่ยม”รุ่นแรกโดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตัวอำเภอเมืองของจังหวัดกาฬสินธุ์
- พิมพะนิตย์ ต้นสกุลคือท้าวธิดิษา สมรสกับนางเงินยวง มีบุตรคือ ท้าวขัตติยะ(เฟือง) ราชวงศ์เมืองกาฬสินธุ์ เมื่อปี พ.ศ. 2435 สมรสกับ นางเจียงคำ มีบุตร 4 คน ได้แก่ 1)ท้าวพู 2)หลวงโพธิษา(อยู่) 4)ท้าวพุก 5)ท้าวพิม เป็นต้น อาทิเช่น ท้าวพู สมรสกับ นางเต้า ไชยสิทธิ์ บุตรีคนที่ 3 พระยาไชยสุนทร(พั้ว) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 10 กับคุณหญิงพลูเงิน มีบุตร 7 คน ได้แก่ 1)นายจวง 2)นายใจ(อดีตปลัดขวาเมืองกาฬสินธุ์และผู้ตั้งนามสกุล“พิมพะนิตย์”) 3)นายมาย 4)นางกอง 5)นางแสง 6)นายดี 7)นายทอง เป็นต้น ลูกหลานท่านเหล่านี้คือผู้ใช้นามสกุล”พิมพะนิตย์”รุ่นแรกโดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตัวอำเภอเมืองของจังหวัดกาฬสินธุ์
- ไชยสิทธิ์ ต้นสกุลคือ“พระยาไชยสุนทร(พั้ว) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 10“สมรสกับ คุณหญิงพลูเงิน มีบุตร 8 คน ได้แก่ 1)นางสิงห์ 2)ท้าวเบ้า (ผู้ตั้งนามสกุล“ไชยสิทธิ์”)3)นางเต้า 4)ท้าวเฮือง 5)นางเชือง 6)นางเคือง 7)นางเหลื่อม 8)นางหล้า เป็นต้น ลูกหลานท่านเหล่านี้คือผู้ใช้นามสกุล”ไชยสิทธิ์”รุ่นแรกโดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตัวอำเภอเมืองของจังหวัดกาฬสินธุ์
- อาษาไชยและทองทวี ต้นสกุลคือ“พระยาไชยสุนทร (เจียม) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 3“ซึ่งเป็นบุตร พระธานี(หมาป้อง)อุปฮาดเมืองสกลนคร” และเป็นบุตรของพระยาไชยสุนทร (โสมพะมิตร) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 1 โดยมีผู้เป็นต้นเชื้อสายคือ พระอินทิสาร(ขี่) ราชบุตรเมืองสกลนครและราชวงศ์เมืองกาฬสินธุ์ บุตรคนที่ 1 ของพระยาไชยสุนทร(ทอง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 5 และสมรสกับใครสืบไม่ได้ มีบุตรด้วยกัน 5 คน ได้แก่ 1)นางเกษี 2)นางแก้ว 3)นางเหนี่ยว 4)นางเจียง 5)นางกระแต 6)ท้าวอินที(ใช้นามสกุล“วงศ์กาฬสินธุ์”) 7)ท้าวทา(ผู้ตั้งนามสกุล“อาษาไชย”) 8)ท้าวเปลี่ยน(ผู้ตั้งนามสกุล“ทองทวี”) ลูกหลานท่านเหล่านี้คือผู้ใช้นามสกุล”อาษาไชยและทองทวี”รุ่นแรกโดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตัวอำเภอเมืองของจังหวัดกาฬสินธุ์
- ศิริกุล ต้นสกุลคือ“พระยาไชยสุนทร(จารย์ละ) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 6” ซึ่งเป็นบุตรพระธานี(หมาป้อง)อุปฮาดเมืองสกลนคร” และเป็นบุตรของพระยาไชยสุนทร (โสมพะมิตร) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 1 โดยมีผู้เป็นต้นเชื้อสายคือ ท้าวบัว สมรสกับใครสืบไม่ได้ มีบุตรคือ ท้าวโง่น สมรสกับใครสืบไม่ได้มีบุตรคือ ขุนแก้วไกรสร(เทพสอน) สมรสกับนางจันที มีบุตร 5 คน ได้แก่ 1)นายสุมา 2)นายจันทร์ 3)นายพัน 4)นายสุวิช(หนู)(อดีตนายอำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร)5)นายต่วน เป็นต้น และลูกหลานท่านเหล่านี้คือผู้ใช้นามสกุล”ศิริกุล”รุ่นแรกโดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตัวอำเภอเมืองของจังหวัดกาฬสินธุ์
- พูลวัฒน์และอักขราสา ต้นสกุลคือ“ท้าวพรหมจักร”มีบุตรคือ 1)ท้าวกอ 2)ท้าวโพธิสาร เป็นต้น โดยมีผู้เป็นต้นเชื้อสายสกุล”พูลวัฒน์“คือ ท้าวกอ มีบุตรคือ ท้าวอาน(ผู้ตั้งนามสกุล“พูลวัฒน์”) สมรสกับใครสืบไม่ได้ มีบุตร 8 คน ได้แก่ 1)นางทองคำ 2)นางแพงศรี 3)นางบุญมี 4)นางแก้ว 5)นายคำ 6)นายอนุกูล 7)นางระเบียบ 8)นางระพีพรรณ เป็นต้น ส่วนผู้เป็นต้นเชื้อสายสกุล“อักขราสา”คือ ท้าวโพธิสาร มีบุตรคือ ขุนอักษรสุริยันต์(สิงห์) (ผู้ตั้งนามสกุล“อักขราสา”) สมรสกับนางเคื่อง ไชยสิทธิ์ บุตรี 6 คนที่ พระยาไชยสุนทร(พั้ว) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 10 กับคุณหญิงพลู มีบุตร 5 คน ได้แก่ 1)นายเจื่อง(อดีตปลัดอำเมืองกาฬสินธุ์) 2)นางเปรื่อง 3)นายเนื่อง 4)นางฟุ้ง 5)พ.ต.ต.หอมสิน เป็นต้น ลูกหลานท่านเหล่านี้คือผู้ใช้นามสกุล”พูลวัฒน์และอักขราสา”รุ่นแรกโดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตัวอำเภอเมืองของจังหวัดกาฬสินธุ์
- วงศ์กมลาไสยและวงษ์กาไสย(เดิม) ต้นสกุลคือ“ท้าวปุย” มีบุตรคือ ท้าวจันทร์ สมรสกับ นางเทียม มีบุตร 1 คน คือ ขุนอาจเอาธุระ(เลื่อม) (อดีตนายอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธรและผู้ตั้งนามสกุล“วงษ์กาไสย”) สมรสครั้งแรกกับนางสอน ประทุมทิพย์ มีบุตร 1 คนได้แก่ 1)นายเกตุ(ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม) ต่อมาสมรสครั้งที่ 2 กับนางคำกอง บริหาร บุตรี หลวงกมลาพิพัฒน์(เทศ บริหาร)กับนางคำอา มีบุตร 4 คน ได้แก่ 2)นางตลับทอง 3)นางลำไย 4)นายอุทัย 5)นายอุทร เป็นต้น ลูกหลานท่านเหล่านี้คือผู้ใช้นามสกุล”วงศ์กมลาไสยและวงษ์กาไสย(เดิม)”รุ่นแรกโดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดยโสธรและจังหวัดกาฬสินธุ์
นามสกุลเหล่านี้ล้วนเป็นนามสกุลที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ผู้คนที่ใช้นามสกุลเหล่านี้คือผู้มีสายเลือดเจ้าเมือง
ราชตระกูล
แก้พงศาวลีของพระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร) | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อนุสรณ์
แก้- อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร) ตั้งอยู่ ณ ถนนกาฬสินธุ์ หน้าที่ทำการไปรษณีย์ ตำบลกาฬสินธุ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ หล่อด้วยสัมฤทธิ์เท่าองค์จริง สูง 175 เซนติเมตร ประทับบนพระแท่น หัตถ์ขวาทรงกาน้ำหรือกลศ หัตถ์ซ้ายทรงดาบอาญาสิทธิ์ ชาวกาฬสินธุ์ร่วมกันก่อสร้างเพื่อแสดงกตเวทิตาต่อพระองค์
- วันบวงสรวงอนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร) หล่อเมื่อ 13 กันยายน พ.ศ. 2524 ชาวกาฬสินธุ์จึงยึดถือวันที่ 13 กันยายนของทุกปีเป็นวันบวงสรวงอนุสาวรีย์
- ถนนโสมพะมิตร ตั้งอยู่ใกล้โฮงเดิมของเจ้าเมืองและอุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ในอดีต[26]
ก่อนหน้า | พระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
- | เจ้าเมืองกาฬสินธุ์, ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ (พ.ศ. 2336 - 2349) |
พระยาชัยสุนทร (หมาแพง) |
อ้างอิง
แก้- ↑ กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย อักษร ฉ ช ซ, (กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2536), หน้า 101-75
- ↑ ทองพูล ครีจักร (พ. ครีจันทร์), "บั้นต้น: พญาไกรหนีเมือง", ใน เพ็ชร์พื้นเมืองเวียงจันทน์ พงศาวดารลาวตอนเวียงจันทน์แตก: คำกลอน เริ่มกล่าวแต่สมเด็จพระเจ้าอนะเรศศรทราธิราชทรงสถาปนานครเวียงจันทน์ แล้วยกทัพไปตีสยาม ๆ ยกพลขึ้นมา ตีได้ครั้งที่ 1 และที่ 2 จนเป็นเหตุเกิดสงครามญวน, (พระนคร: อาารเรียน 2559), หน้า 35
- ↑ Komany, Sphaothong , หนังสือพื้นเวียงจัน กอน 7: พงสาวะดานเจ้าอะนุวง เวียงจัน, ตรวจแก้และถ่ายออกจากภาษาไทยมาเป็นภาษาลาวโดย สะเพาทอง กอมะนี, (Buffalo, New York: โรงเรียนอุดมศึกษา Grover Cleveland High School, 1998 (พ.ศ. 2541)), หน้า 26
- ↑ Phannoudej, Cham, พื้นเมืองเวียงจันทน์ กอน 7 พงสาวะดานเจ้าอะนุวงส์ เวียงจันทน์: หนังสือพื้นเวียง (กลอน 7) พงศาวดารเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์, (Le Plessis-Trévise: จาม พันนุเดช, 1992 (พ.ศ. 2535)), หน้า 22
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย: ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (แก้ไขเพิ่มเติม) อักษร ก เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2549), หน้า 349
- ↑ มูลนิธิเอเซีย, บันทึกการเมืองไทย (Profiles of Thai politics): โครงการวิจัย "บันทึกการเมืองไทย" สนับสนุนโดย มูลนิธิเอเซีย, ชาติชาย เย็นบำรุง และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (บรรณาธิการ), (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเอเซีย, 2530), หน้า 377
- ↑ วัชรวร วงศ์กัณหา, "เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ รอยจารึกประวัติศาสตร์ 220 ปี อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร (ท้าวโสมพะมิตร) เจ้าเมืองคนแรก (Kalasin City Municipality: The historical inscription Praya Chai-sunton Monument (Tao Some-pa-mit), The First Governor)", ใน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่น แผนบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560, ร้อยภาพเล่าเรื่องเมืองกาฬสินธุ์ (Arranɡinɡ The Pictures for Tellinɡ story of Kalasin City), สุชานาถ สิงหาปัด, อาจารย์ ดร. (บรรณาธิการ), แปลและเรียบเรียงภาษาอังกฤษโดยนิตย์ บุหงามงคล, รองศาสตราจารย์ ดร., (ขอนแก่น: บริษัท ศิริภัณฑ์ (2497) จำกัด, 2560), หน้า 98-99
- ↑ กรรมาธิการสถาปนิกอีสาน สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, สัมมนาเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมอีสานงานนิทรรศการวัสดุก่อสร้างและผลงานสถาปัตยกรรมอีสาน สถาปัตยกรรมอีสานสัญจร: วันที่ 29 ต.ค. - 1 พ.ย. 2530 ณ โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น, (กรุงทพฯ: สมาคมสถาปนิกสยาม, 2530), หน้า 91.
- ↑ สำนักผังเมือง, ผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ 2528, (พระนคร: สำนักผังเมือง, 2528), หน้า 20-21
- ↑ สอน เพชรเจียรไน, (2019 (พ.ศ. 2562)) "ลำล่องประวัติเมืองกาฬสินธุ์", มูลมัง ดนตรีอีสาน [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=mmDX49LWT7I [๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔].
- ↑ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์, "เอกสารหมายเลข 2 /2559" ใน ประกาศจังหวัดกาฬสินธุ์: สรุปผลการดำเนินงาน การประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์การจัดงานกาฬสินธุ์ 222 ปี ใต้ร่มพระบารมี (กาฬสินธุ์ 222 ปี (222 nd KALASIN Anniversary)), (กาฬสินธุ์: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ฝ่ายบริหารทั่วไป, 2558), หน้า 1
- ↑ ดูรายละเอียดใน สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ (ประเทศไทย) สำนักวัฒนธรรมทางวรรณกรรม, งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เล่มที่ 12-17, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการประชาสัมพันธ์และพิมพ์เอกสารการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2500, 2500), ไม่ปรากฏจำนวนหน้า
- ↑ สมาคมชาวอีสาน, อีสาน เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี ของสมาคมชาวอีสาน, ธวัชชัย จักสาน (บรรณาธิการ), (กรุงเทพฯ: สมาคมชาวอีสาน, 2534), หน้า 117
- ↑ หอสมุดแห่งชาติ,จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๑ เลขที่ ๗/ก.
- ↑ สถานีหมอลำ สถานีของคนรักหมอลำ (นามแฝง), (2021 (2564)) "ลำกลอน ชุดประวัติศาสตร์ไทยอีสาน หมอลำศรีพร แสงสุวรรณ บุญแต่ง เคนทองดี", บริษัท ราชบุตรเอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=PelrmiNBLe0 [7 พฤษภาคม 2564]
- ↑ ประยูร ไพบูลย์สุวรรณ, โบราณวัตถุสถานในจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง: กรมศิลปากรจัดพิมพ์ ในงานเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น 20 ธันวาคม 2515, (พระนคร: กรมศิลปากร, 2515), หน้า 25
- ↑ ดูรายละเอียดใน กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดกาฬสินธุ์, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, 2542), 254 หน้า.
- ↑ ๒๐๐ปีราชวงศ์จักรีกับประวัติศาสตร์เมืองกาฬสินธุ์.จัดพิมพ์โดยจังหวัดกาฬสินธุ์,หน้า ๖๖
- ↑ ทองพูล ครีจักร (พ. ครีจักร์), "บั้นต้น: พญาไกรหนีเมือง", ใน เพ็ชร์พื้นเมืองเวียงจันทน์ พงศาวดารลาวตอนเวียงจันทน์แตก: คำกลอน เริ่มกล่าวแต่สมเด็จพระเจ้าอนุรุทธาธิราชทรงสถาปนานครเวียงจันทน์ แล้วยกทัพไปตีสยาม ๆ ยกพลขึ้นมา ตีได้ครั้งที่ 1 และที่ 2 จนเป็นเหตุเกิดสงครามญวน, หน้า 35
- ↑ Komany, Sphaothong , หนังสือพื้นเวียงจัน กอน 7: พงสาวะดานเจ้าอะนุวง เวียงจัน, หน้า 25-26
- ↑ Phannoudej, Cham, พื้นเมืองเวียงจันทน์ กอน 7 พงสาวะดานเจ้าอะนุวงส์ เวียงจันทน์: หนังสือพื้นเวียง (กลอน 7) พงศาวดารเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์, หน้า 22
- ↑ ธวัช ปุณโณทก (เรียบเรียง), "พงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์", ใน มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 8: ประจันตประเทศธานี, พระยา - พงศาวดารเมืองสกลนคร, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542), หน้า 2549-2853
- ↑ ดูรายละเอียดใน บุญมี ภูเดช (เปรียญ), พงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์และประวัติเมืองขึ้นในยุคเก่า, (กาฬสินธุ์: โรงพิมพ์จินตภัณฑ์การพิมพ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์, 2525), 90 หน้า. และ Pu-dech, Bunme, Kalasin City Annals and History of Ancient Age Colony, (Kalasin: Jintapan Printing, 1932), 90 p..
- ↑ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), (2458) "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง ภาคที่ 1: คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 4 อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.4 พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. 2458", พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ: หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A9%E0%B8%B2%[ลิงก์เสีย] [๙ มกราคม ๒๕๖๓].
- ↑ ประชุมหมายรับสั่ง ภาคที่ ๓ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
- ↑ ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร สำนักวิทยบริการ และภาควิชาบรรณารักษ์ศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, งานวิจัยเกี่ยวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: บทคัดย่อ เล่ม 11, (มหาสารคาม: ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร สำนักวิทยบริการ และภาควิชาบรรณารักษ์ศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2540), หน้า 61.