สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้

สงครามระหว่างราชวงศ์ตองอูกับอาณาจักรอยุธยา พ.ศ. 2090–2092

สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ หรือ สงครามคราวเสียสมเด็จพระสุริโยทัย[7] เป็นสงครามครั้งแรกระหว่างราชวงศ์ตองอูแห่งพม่ากับอาณาจักรอยุธยา และเป็นสงครามพม่า–ไทยครั้งแรกซึ่งจะดำเนินมาจนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 สงครามนี้ขึ้นชื่อว่านำมาซึ่งการสงครามสมัยใหม่ตอนต้นในภูมิภาค และขึ้นชื่อในประวัติศาสตร์ไทยว่าสมเด็จพระสุริโยทัยสมเด็จพระราชินีสวรรคตในยุทธหัตถี

สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้

เส้นทางการเดินทัพของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้
วันที่พ.ศ. 2090–2092
สถานที่
ภาคตะวันออกและใต้ของพม่า ภาคตะวันตกและภาคกลางของอาณาจักรอยุธยา
ผล

พม่าชนะ

  • พระมหาจักรพรรดิยอมเข้าสวามิภักดิ์พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เพื่อแลกกับพระราชบุตรเขยและพระราชบุตรที่ถูกจับตัว
คู่สงคราม

ราชวงศ์ตองอู

  • กองทัพอังวะ
  • กองทัพแปร
  • กองทัพมอญ
  • กองทัพหงสาวดี
  • ทหารรับจ้างโปรตุเกส

อาณาจักรอยุธยา

  • กองทัพอยุธยา
  • กองทัพพิษณุโลก
  • ทหารรับจ้างโปรตุเกส
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
หน่วยที่เกี่ยวข้อง
กองทัพพม่า
ทหารรับจ้างโปรตุเกส
กองทัพไทย
ทหารรับจ้างโปรตุเกส
กำลัง

2090–2092[3][note 1] 12,000 นาย

  • ทัพบก: ทหาร 8000 นาย, ม้า 200 ตัว, ช้าง 20 เชือก
  • ทัพเรือ: ทหาร 4000 นาย (เรือรบ 30 ลำ, เรือใหญ่ 10 ลำ)

2091–2092

  • เริ่ม: ทหาร 12,000 นาย, ม้า 1680 ตัว, ช้าง 48 เชือก[4]
  • ยุทธการที่อยุธยา: ทหาร 10,000+ นาย, ม้า 200+ ตัว, ช้าง 20+ เชือก[5]
  • ยุทธการที่กำแพงเพชร: ทหาร 11,500 นาย, ม้า 500 ตัว, ช้าง 25 เชือก[6]

2090–2091[note 2]
6000 นาย


2091–2092

ไม่ทราบ

เหตุแห่งสงครามมีว่าพม่าพยายามขยายดินแดนไปทางทิศตะวันออกหลังมีความวุ่นวายทางการเมืองในอยุธยา ตลอดจนพยายามหยุดการรุกล้ำเข้าชายฝั่งตะนาวศรีตอนบนของอยุธยา พม่าว่าสงครามนี้เริ่มในเดือนมกราคม 2090 เมื่อกำลังของอยุธยาพิชิตเมืองชายแดนทวาย ในปีเดียวกันกองทัพพม่านำโดยแม่ทัพเจ้าลครอิน ยึดฝั่งตะนาวศรีตอนบนลงไปถึงทวายคืนได้ ในปีถัดมาคือ ตุลาคม 2091 กองทัพพม่าสามกองโดยมีพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และอุปราชบุเรงนองเป็นผู้นำบุกอยุธยาทางด่านเจดีย์สามองค์ กองทัพพม่าเจาะลึกถึงพระนครอยุธยาแต่ไม่อาจหักเอานครที่มีป้อมปราการหนาแน่นได้ หนึ่งเดือนหลังเริ่มล้อม การตีโต้ตอบของอยุธยาแก้การล้อมได้และขับกำลังฝ่ายบุกครอง แต่พม่าเจรจาการถอยทัพอย่างปลอดภัยโดยแลกกับการคืนองค์เจ้านายสำคัญสองพระองค์ คือ พระราเมศวร พระรัชทายาท และสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชแห่งพิษณุโลก ที่ถูกจับเป็นเชลย

อย่างไรก็ตาม ชัยชนะครั้งนี้เป็นชัยชนะที่ไม่เด็ดขาด จึงได้นำไปสู่การบุกครองอีกครั้งในสงครามช้างเผือก รัชกาลพระเจ้าบุเรงนอง ใน พ.ศ. 2106 และสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง ใน พ.ศ. 2112 ตามลำดับ

เบื้องหลัง

แก้

ความรุ่งเรืองของราชวงศ์ตองอู

แก้

พม่าในคริสต์ศตวรรษที่ 15 แบ่งออกเป็นสี่ศูนย์อำนาจ ได้แก่ ราชอาณาจักรอังวะในพม่าตอนกลาง อาณาจักรหงสาวดี ณ ชายฝั่งทิศใต้ อาณาจักรมเยาะอู้ (อาระกัน) ทางทิศตะวันตก และรัฐฉานต่าง ๆ ทางทิศตะวันออกและทิศเหนือ เริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1480 (ประมาณ พ.ศ. 2023) อังวะเริ่มแตกสลายเป็นราชอาณาจักรที่เล็กลง เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 โมนยีน อดีตเมืองขึ้นของอังวะ และพันธมิตร สมาพันธ์รัฐฉานทางทิศเหนือและอาณาจักรปยี (แปร) ทางทิศใต้ ตีโฉบฉวยดินแดนของอดีตเจ้าบรรณาการอยู่เป็นนิจโดยบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้น[8]

ระหว่างสมัยความวุ่นวายนี้ เมงจีโยซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการตองอู ภูมิภาคเล็ก ๆ ซึ่งตั้งอยู่ตะวันออกเฉียงใต้ของราชอาณาจักรอังวะประกาศอิสรภาพใน พ.ศ. 2033 และหลบการสู้รบภายใน ปีต่อ ๆ มาเมื่ออังวะเสียแก่กำลังผสมของสมาพันธ์รัฐฉานและปยีใน พ.ศ. 2070 ประชาชนจำนวนมากหลบหนีไปตองอูซึ่งเป็นภูมิภาคเดียวในพม่าตอนบนที่ยังสงบอยู่[9][10]

ใน พ.ศ. 2074 พระเจ้าเมงจีโยเสด็จสวรรคต พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้สืบราชสมบัติจากพระราชบิดาเป็นพระมหากษัตริย์ตองอู เสถียรภาพของตองอูยังดึงดูดกำลังคนจากภูมิภาคแวดล้อม โดยเฉพาะหลัง พ.ศ. 2076 เมื่อสมาพันธ์รัฐฉานโจมตีปยี (แปร) อดีตพันธมิตร บัดนี้ตองอูที่ขนาดยังเล็กเป็นราชอาณาจักรที่มีชาติพันธุ์พม่าเป็นผู้นำเพียงแห่งเดียว รายล้อมด้วยราชอาณาจักรที่ใหญ่กว่ามาก โชคดีแก่ตองอูที่สมาพันธ์รัฐฉานถูกรบกวนจากข้อพิพาทผู้นำภายใน และราชอาณาจักรหงสาวดี ซึ่งขณะนั้นเป็นราชอาณาจักรทรงพลังที่สุดในบรรดาราชอาณาจักรยุคหลังราชวงศ์พุกามมีผู้นำอ่อนแอ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ตัดสินพระทัยไม่คอยที จนราชอาณาจักรใหญ่เป็นฝ่ายหันความสนใจมายังพระองค์

ใน พ.ศ. 2077 พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และอุปราชาบุเรงนองซึ่งขณะนั้นมีอายุ 18 ปีทั้งคู่เปิดฉากการทัพแรกต่อราชอาณาจักรหงสาวดี การทัพนั้นเป็นชุดสงครามโดยกองทัพตองอูซึ่งจะดำเนินสืบเนื่องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ทางตะวันตกและกลางไปอีก 80 ปีข้างหน้า ใน พ.ศ. 2081–2082 ตองอูที่เพิ่งตั้งตนยึดกรุงพะโคเมืองหลวงของราชอาณาจักรหงสาวดีได้ และยังยึดเมืองมะตะบันและมะละแหม่งได้อีกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2084[11][12] จึงเป็นครั้งแรกที่พม่าและอยุธยามีพรมแดนติดต่อกันในชายฝั่งตะนาวศรีตอนบน

อีกหกปีถัดมา ตองอูง่วนสู้รบกับพันธมิตรของอาณาจักรหงสาวดี ได้แก่ ปยี (แปร) (พ.ศ. 2085) สมาพันธ์รัฐฉาน (พ.ศ. 2085–2087) และพันธมิตรของปยีคือ มรัคอู (อาระกัน) (พ.ศ. 2089–2090) ในปี พ.ศ. 2090 ก่อนสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ตองอูควบคุมภูมิภาคพม่าตอนล่างตั้งแต่พุกามทางทิศเหนือจดมะละแหม่งในทิศใต้[11][12]

ความวุ่นวายในอยุธยา

แก้
 
ซากปรักหักพังของพระราชวังในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีเจดีย์พระอุโบสถ วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยู่ด้านหลัง

สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งชิงอำนาจมาจากราชวงศ์อู่ทองใน พ.ศ. 1952 พระองค์เสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2076 หลังจากทรงแย่งชิงราชบัลลังก์จากพระรัษฎาธิราชพระชนมายุ 5 พรรษา ซึ่งทรงครองราชย์เพียง 4 เดือน[13] ยุวกษัตริย์นั้นถูกสำเร็จโทษ[14] พระราชบิดาของพระรัษฎาธิราช คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ทรงเป็นกึ่งพระเชษฐาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตใน พ.ศ. 2089 หลังจากทรงครองราชย์มาเป็นระยะเวลา 13 ปี พระมหากษัตริย์รัชกาลต่อมา คือ พระยอดฟ้า[15]

เนื่องจากพระยอดฟ้าเสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระราชมารดา ท้าวศรีสุดาจันทร์ จึงทรงสำเร็จราชการแทน โดยพระองค์ทรงสืบเชื้อสายจากราชวงศ์อู่ทอง พระอุปราชและกึ่งพระเชษฐาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระเฑียรราชา ก็ทรงมีสิทธิ์ในอำนาจผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในราชสำนักกับท้าวศรีสุดาจันทร์จึงทรงออกผนวชเสีย[15] มีผู้กล่าวว่าแม้ก่อนสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต ท้าวศรีสุดาจันทร์ทรงผิดประเวณีกับขุนชินราช ผู้ซึ่งเป็นผู้รักษาหอพระข้างในหรือหอพระเทพบิดรในพระบรมมหาราชวังของกรุงศรีอยุธยา เฟอร์เนา เมนเดส ปินโต นักสำรวจชาวโปรตุเกสร่วมสมัย บันทึกข่าวลือซึ่งอ้างว่าท้าวศรีสุดาจันทร์ทรงลอบวางยาพิษพระสวามีของตนเพื่อยึดราชบัลลังก์ และอาจเป็นไปเพื่อฟื้นฟูราชวงศ์อู่ทองที่ล่มไปแล้วใหม่ หลักฐานซึ่งสนับสนุนการกล่าวอ้างนี้ คือ การที่พระนางทรงประหารชีวิตขุนนางที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก รวมทั้งพระยามหาเสนา และทรงแต่งตั้งคนที่พระนางโปรดแทน[16] มีบันทึกเช่นกันว่า พระนางมีพระครรภ์แก่แล้วและอีกไม่ช้าจะประสูติพระธิดา เมื่อทรงเห็นว่าไม่อาจเก็บความลับนี้ได้แล้ว ใน พ.ศ. 2091 พระนางจึงรัฐประหาร ถอดพระโอรสของพระองค์ออกจากราชบัลลังก์และยกชู้รักของตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทน เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 1548[16] ทรงพระนามว่า สมเด็จพระวรวงศาธิราช มีการกล่าวว่าพระยอดฟ้าทรงถูกสำเร็จโทษหรือถูกพระราชมารดาวางยาพิษด้วย[17]

รัชกาลขุนวรวงศาธิราชสั้นมาก ภายใน 42 วัน เจ้านายและขุนนางของรัฐจำนวนมากวางแผนถอดพระองค์ออกจากราชบัลลังก์ ผู้สมคบคิดนำโดยขุนพิเรนทรเทพ ผู้สืบเชื้อสายพระมหากษัตริย์สุโขทัยจากฝั่งพระบิดา และมีความสัมพันธ์กับสมเด็จพระไชยราชาธิราชทางพระมารดา[17] แผนลอบปลงพระชนม์เป็นการล่อขุนวรวงศาธิราชจากพระราชวังไปยังป่าโดยกราบทูลว่าจะไปจับช้าง และเมื่อพระมหากษัตริย์ ท้าวศรีสุดาจันทร์และพระธิดาของทั้งสองเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือประทับ ขุนพิเรนทรเทพและผู้สมคบคิดก็ลอบปลงพระชนม์ทั้งสามเสีย[18][19] พระเฑียรราชาได้ทรงรับเชิญให้สึกและสืบราชบัลลังก์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ[20] พระราชกรณียกิจแรก ๆ ของพระองค์ คือ ทรงสถาปนาขุนพิเรนทรเทพเป็นพระมหากษัตริย์สุโขทัย (ขณะนั้นเป็นรัฐบรรณาการของอยุธยา) ให้ไปประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ไม่นานหลังจากนั้น ขุนพิเรนทรเทพทรงได้รับสมัญญานามสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และทรงได้รับพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีย์เป็นอัครมเหสี[21][22]

ตะนาวศรี (พ.ศ. 2090–2091)

แก้

สงครามอุบัติใน พ.ศ. 2090[23] เหตุแห่งสงครามระบุว่าเป็นความพยายามของราชวงศ์ตองอูแห่งพม่าเพื่อขยายอาณาเขตไปทางทิศตะวันออกหลังวิกฤตการณ์การเมืองในกรุงศรีอยุธยา[22] ตลอดจนความพยายามหยุดการรุกล้ำของอยุธยาเข้าชายฝั่งตะนาวศรีตอนบน พงศาวดารพม่าระบุว่า ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2090[note 3] ทหารอยุธยา 6,000 นายยึดเมืองทวายในชายฝั่งตะนาวศรีตอนบนซึ่งพระองค์ถือเป็นพระราชอาณาเขตของพระองค์ เมื่อชายแดนในยุคก่อนสมัยใหม่มีการนิยามน้อยกว่าและมักทับซ้อนกัน[24] "การยึดครอง" ดังกล่าวนี้จึงอาจเป็นความพยายามของอยุธยาที่จะเสริมกำลังเมืองชายแดนที่ตองอูอ้างสิทธิ์ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงส่งทหารขนาดใหญ่พอสมควร 12,000 นาย (ทัพบก 8,000 ทัพเรือ 4,000) โดยมีเจ้าลครอิน อุปราชแห่งมะตะบัน เป็นผู้นำมาชิงทวายเมื่อประมาณเดือนตุลาคม–พฤศจิกายน พ.ศ. 2090[note 4] การโจมตีร่วมทัพบก-ทัพเรือต่อทวายขับกองทัพอยุธยาซึ่งมีเจ้าเมืองกาญจนบุรีเป็นผู้นำไปตะนาวศรีตอนล่าง[25]

การบุกครองอาณาจักรอยุธยา (พ.ศ. 2091–2092)

แก้
 
แผนที่ภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศไทย แสดงเมืองที่ถูกกองทัพพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยึด ผังเมืองกรุงศรีอยุธยาและคลองที่แวดล้อมอยู่ทางด้านขวาล่าง

แผนการรบพม่า

แก้

พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยังไม่สมพระทัย และทรงวางแผนการบุกครองอาณาจักรอยุธยา ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2091 พระองค์ทรงรวบรวมกองทัพอีก 12,000 นาย[4] ซึ่งมีทหารรับจ้างโปรตุเกสรวมอยู่ด้วยประมาณ 400 นาย ซึ่งมีดิเอโก โซอาริส (Diogo Soares) เป็นผู้นำ[26] ส่วนพงศาวดารอยุธยาระบุว่ากองทัพพม่ามีกำลังพลทหารราบ 300,000 นาย ม้า 3,000 ตัว และช้างศึก 700 เชือก[27] กำลังบุกครองใช้อาวุธตามแบบในสมัยนั้น ได้แก่ ดาบ ธนูและหอก[28] ส่วนทหารยอดฝีมือจะถือปืนคาบชุดหรือปืนคาบศิลา[29] ชาวโปรตุเกสเป็นผู้นำอาวุธสมัยใหม่ตอนต้นเหล่านี้มายังราชอาณาจักรทั้งสองไม่กี่ทศวรรษก่อนหน้านี้

พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงบังคับบัญชากองทัพด้วยพระองค์เองและประชุมพลที่มะตะบัน (เมาะตะมะ)[30] กำลังบุกครองมีการจัดระเบียบเป็นสามกองทัพหลัก ได้แก่ ทัพหน้ามีบุเรงนองเป็นผู้นำ ทัพหลวงมีพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เป็นผู้นำ และทัพหลังมีพระตะโดธรรมราชาและเมงจีสเวเป็นผู้นำ แต่ละกองมีกำลัง 4,000 นาย[4] เส้นทางบุกครองคือผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ไปกาญจนบุรี แล้วไปกรุงศรีอยุธยา

เริ่มบุกครอง

แก้

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2091 กองทัพพม่าสามกองออกจากมะตะบันเพื่อเริ่มการบุกครอง กองทัพเลาะแม่น้ำอัตทะรันมุ่งด่านเจดีย์สามองค์ เข้าสู่อาณาจักรอยุธยาตามแม่น้ำแควน้อยถึงเมืองไทรโยค แล้วยกตัดแผ่นดินมุ่งแม่น้ำแควใหญ่ จากที่นั่น กองทัพล่องเรือมุ่งเมืองกาญจนบุรี[31] พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เสด็จพระราชดำเนินโดยมีข้าราชบริพารและช้างจำนวนมหาศาล ช้างเหล่านี้หลายเชือกบรรทุกปืนคาบศิลาและปืนใหญ่บรอนซ์ซึ่งเก็บรักษาใกล้องค์พระมหากษัตริย์ ช้างหลวงถูกขนแพข้ามแม่น้ำ ส่วนช้างศึกธรรมดาเดินทวนน้ำไปบริเวณจุดข้าม พระองค์ทรงมีบุเรงนอง มกุฎราชกุมาร และนันทบุเรง พระโอรสวัย 13 พรรษาของบุเรงนอง และขุนนางที่แต่งกายหรูหราหลายคนตามเสด็จ คนงานหลายร้อยคนเดินล่วงหน้าข้าราชบริพารของพระมหากษัตริย์ เพื่อตั้งค่ายไม้ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม มีการลงสีและเลื่อนสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงใช้ และมีการรื้อและตั้งค่ายที่ตำแหน่งใหม่ทุกวัน[26]

การบุกครองทีแรกเผชิญการต้านทานเพียงเล็กน้อย เพราะกองทัพพม่าใหญ่เกินด่านยามเล็ก ๆ ตามพรมแดน[20] เมื่อทรงทราบข่าวการบุกครองของพม่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงระดมพลราชอาณาจักรของพระองค์ แล้วประชุมทัพที่เมืองสุพรรณบุรีที่อยู่ทิศตะวันตกติดกับกรุงศรีอยุธยา[32] เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และทัพของพระองค์มาถึงเมืองกาญจนบุรีที่มีกำแพงล้อม ก็พบว่าเมืองถูกทิ้งร้าง[33] ประมาณหนึ่งเดือนหลังบุกครอง กลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2091[note 5] พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ก็เคลื่อนทัพต่อไปทางทิศตะวันออก ยึดบ้านทวน กะพังตรุและจรเข้สามพัน[33] พม่ายังรุกต่อและยึดเมืองโบราณอู่ทอง ตลอดจนหมู่บ้านดอนระฆังและหนองสาหร่ายและประชิดสุพรรณบุรี เมื่อพม่าโจมตีเมือง ฝ่ายอยุธยาที่ป้องกันต้านทานไว้ไม่อยู่และถอยกลับกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงสั่งให้กองทัพยกไปตะวันออกเฉียงใต้ตามสองคลอง และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับพงแพง จากที่นั้นพระองค์ทรงตั้งค่ายเหนือพระนครกรุงศรีอยุธยาโดยตรงในทุ่งที่เรียก ทุ่งลุมพลี[33]

ยุทธการที่กรุงศรีอยุธยา

แก้

ชานพระนคร

แก้
 
ภาพสมเด็จพระสุริโยทัย (กลาง) บนหลังช้างทรง ขับช้างเข้าระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ขวาหลัง พระคชาธารมีฉัตร) และพระเจ้าแปร (ซ้าย) เป็นการเล่าตามประเพณีไทย จิตรกรรมโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ฝ่ายอยุธยามีอุบายตั้งรับภายในกำแพงพระนคร โดยกวาดต้อนพลเมืองที่อยู่บริเวณนอกเมืองให้เข้ามาอยู่ในพระนครให้ได้มากที่สุด และจัดทหารขึ้นประจำป้อมรอบกำแพง ซึ่งบนกำแพงมีป้อม 16 ป้อม และยังส่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกไปตั้งค่ายรอบเมืองอีก 4 ค่าย

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิตัดสินพระทัยยกทัพออกนอกพระนครเข้าประจัญกับพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และเพื่อลองกำลังของพม่า คราวนี้ พระองค์ทรงพระคชาธารส่วนพระองค์ โดยมีพระอัครมเหสี สมเด็จพระสุริโยทัย พร้อมด้วยพระราชธิดาอ่อนพระองค์หนึ่ง พระบรมดิลก ตามเสด็จด้วย และทั้งสองทรงช้างศึกเชือกเล็กกว่า สตรีทั้งสองพระนางทรงเครื่องเป็นทหารอย่างชาย (หมวกเกราะและชุดเกราะ) โดยสมเด็จพระราชินีแต่งเครื่องแบบอุปราช นอกจากนี้ พระราเมศวร พระอุปราชและทายาทผู้มีสิทธิ์โดยตรง และพระมหินทร ราชโอรสอีกพระองค์ ก็ตามเสด็จด้วย[33][27]

เกิดการยุทธ์ตามมาแต่สองบันทึกเล่าต่างกัน พงศาวดารพม่าว่า แม่ทัพพม่าจัดกองทัพซึ่งมีพระตะโดธรรมราชา อุปราชปยี (แปร) เป็นตัวล่อ และสองกองทัพคืบเข้าทางปีกเพื่อล้อมกองทัพอยุธยาที่ล้ำเกิน ซึ่งเป็นไปตามแผน ทหารทัพหน้าของอยุธยาไล่กองทัพของพระตะโดธรรมราชา ทำให้กองทัพของบุเรงนองที่คอยอยู่ทางปีกซ้ายล้อมทัพอยุธยาซึ่งต่อมาถูกกวาดสิ้น กองทัพของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ที่อยู่ปีกขวาขับทัพอยุธยาที่เหลือกลับเข้าพระนคร[34]

ทว่า ตามประเพณีไทย พระตะโดธรรมราชาและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิชนช้างกัน[note 6] พระคชาธารของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียทีหันหนีจากข้าศึก พระตะโดธรรมราชารีบไล่หลังมา สมเด็จพระสุริโยทัยเกรงว่าพระสวามีจะเสด็จสวรรคต จึงขับช้างเข้าขวางระหว่างพระเจ้าแผ่นดินและอุปราชแปร ทำให้ไม่สามารถไล่ต่อได้[27][35] จากนั้นอุปราชแปรหันมาต่อสู้กับสมเด็จพระสุริโยทัยในการสู้รบเดี่ยว อุปราชแปรใช้ของ้าวฟันพระนางตั้งแต่พระอังสา (ไหล่) ถึงพระหฤทัยสวรรคต ทั้งทำให้พระราชธิดาบาดเจ็บด้วย ทั้งมารดาและธิดาเสียชีวิตบนหลังคชาธารเชือกเดียวกัน[22][26][35] เล่ากันว่า อุปราชแปรไม่ทรงทราบว่าพระองค์กำลังรบกับสตรีอยู่จนพระองค์ทรงฟัน เมื่อพระนางสิ้นใจล้มลงนั้นหมวกเกราะที่ทรงอยู่หลุดออกเผยให้เห็นผมยาว พระราเมศวรและพระมหินทร์ทรงขับช้างเข้าต่อสู้กับอุปราช ขับอุปราชและทัพที่เหลืออยู่ออกจากทุ่ง แล้วนำพระบรมศพสมเด็จพระราชชนนีและพระขนิษฐภคินีกลับเข้ากรุง ขณะเดียวกันสมเด็จพระมหาจักรพรรดิรวบรวมกองทัพแล้วจึงถอยกลับพระนครอย่างมีระเบียบเช่นกัน[27][35] ทว่า พงศาวดารพม่ามิได้เอ่ยถึงการสู้รบใด ๆ ของอุปราชแปรเลย (ไม่ว่าบนหลังช้างหรืออย่างอื่น)[note 7]

ไม่ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ทัพอยุธยาที่เหลือถอนกลับไป พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงเตรียมกองทัพสำหรับล้อมกรุงศรีอยุธยา ค่ายของพระองค์ตั้งอยู่ทางเหนือของพระนครที่บ้านกุ่มดอง และแม่ทัพของพระองค์ตั้งค่ายอยู่ตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญโดยรอบกำแพงนคร โดยมหาอุปราชบุเรงนองตั้งค่ายที่พะเนียด พระเจ้าแปรตั้งค่ายที่บ้านใหม่มะขามหย่อง และพระยาพสิมตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งประเชด[35] ทว่า พม่าไม่สามารถหักเอาพระนครได้โดยง่าย[36]

การล้อม

แก้

กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่บนเกาะซึ่งมีแม่น้ำสามสายล้อมรอบ ได้แก่ แม่น้ำลพบุรีทางเหนือ แม่น้ำเจ้าพระยาทางตะวันตกและใต้ และแม่น้ำป่าสักทางตะวันออก ถือว่าเป็นคูเมืองธรรมชาติที่มั่นคง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้นเป็นที่ราบลุ่มและเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลากเมื่อน้ำเชี่ยวกรากไหลปริมาณมากจากทิศเหนือตามแม่น้ำลพบุรี น้ำท่วมนี้จะเริ่มประมาณเดือนรกฎาคมและสิ้นสุดลงระหว่างเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ทำให้พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงมีเวลาห้าเดือนหักเอากรุงศรีอยุธยา หรือมิฉะนั้นพื้นที่ตั้งค่ายและเส้นทางส่งเสบียงจะถูกน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่น้ำท่วมดังกล่าวจะทำให้กองทัพของพระองค์ติดกับ[32] พื้นที่ลุ่มเป็นหนองน้ำโดยรอบกรุงศรีอยุธยามีการขุดคลองเป็นจำนวนมาก ทำให้เรือปืนที่ติดปืนใหญ่สามารถยิงขับไล่ความพยายามใด ๆ ที่จะโจมตีพระนคร[32] นอกจากนี้ ฝ่ายพม่านำเพียงปืนใหญ่ขนาดเล็กติดมา ขณะที่กรุงศรีอยุธยามีปืนใหญ่ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่บนกำแพงนคร[32][37]

พม่าล้อมนคร แต่ไม่สามารถข้ามแม่น้ำหรือเจาะกำแพงนครด้วยการยิงปืนใหญ่ ทำให้ต้องไปตั้งค่ายโดยรอบพระนครแทน ในขณะที่ทางน้ำซึ่งเชื่อมถึงกันจากเหนือถึงใต้ ทำให้การหากำลังบำรุงฝ่ายป้องกันในนครค่อนข้างง่าย ทหารรับจ้างชาวโปรตุเกส 50 นาย โดยมีกาลิโอเต เปเรราเป็นนายกอง ป้องกันส่วนที่อ่อนแอที่สุดของกำแพงนครให้พระมหากษัตริย์อยุธยา เนื่องจากฝ่ายพม่าไม่สามารถหักนครได้ตามแบบธรรมดา พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จึงทรงเสนอติดสินบนทหารรับจ้างเหล่านี้ แต่ทหารรับจ้างโปรตุเกสดูถูกและปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เมื่อแม่ทัพอยุธยาทราบข่าว ก็เปิดประตูนครท้าพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ให้นำเงินมา แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง[37]

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่สามารถขับพม่าออกไปได้ จึงทรงส่งสารถึงพระมหาธรรมราชาที่พิษณุโลก มีพระบรมราชโองการให้ยกทัพลงใต้มาช่วย และหากเป็นไปได้ให้ประจัญบานข้าศึกในการรบด้วย พระมหาธรรมราชาระดมพลอย่างรวดเร็วและด้วยความช่วยเหลือของเจ้าเมืองสวรรคโลก กองทัพพิษณุโลกขนาดใหญ่เคลื่อนลงใต้เพื่อโจมตีกองทัพพม่าทางด้านหลัง พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงทราบข่าว และด้วยการกราบบังคมทูลแนะนำของบุเรงนอง พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงตัดสินพระทัยถอนทัพ ละทิ้งความตั้งใจที่จะหักเอากรุงศรีอยุธยา[37] การตัดสินพระทัยของพระองค์ยังเกี่ยวเนื่องกับข่าวจากพม่าว่าพวกมอญซึ่งไม่เคยถูกราชวงศ์ตองอูปราบปรามทั้งหมด ก่อกบฏระหว่างที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับ[27] ปัจจัยอื่นรวมไปถึงการขาดแคลนเสบียงและการเจ็บป่วยในกองทัพ ซึ่งมิได้เตรียมการรับการล้อมระยะยาว[36] และภายในหนึ่งเดือนหลังจากการล้อมเริ่มต้นขึ้น (ราวเดือนเมษายน) พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ถอนทัพ[38][37][39]

การถอยทัพ

แก้
 
ภาพจากจังหวัดตากมองไปยังหุบเขาของรัฐฉาน ไม่ไกลจากด่านแม่ละเมา ซึ่งกองทัพพม่าใช้เป็นเส้นทางถอยทัพ

ทัพพม่าเลือกถอยไปทางด่านแม่ละเมา (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) ระหว่างการถอย ทัพพม่าพยายามปล้นเมืองกำแพงเพชรที่เก่าแก่และมั่งคั่ง แต่เมืองนั้นมีการป้องกันหนาแน่นเกินไป ด้วยการช่วยเหลือของทหารรับจ้างโปรตุเกส เจ้าเมืองก็ขับทัพพม่าด้วยกระสุนเพลิงที่บีบให้พม่าเลือกใช้ปืนใหญ่และป้องกันโดยใช้หนังสัตว์ชื้นคลุม[37]

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเห็นว่าการถอยทัพของพม่าเป็นโอกาสฉวยโอกาสในยามอ่อนแอ จึงรับสั่งให้พระราเมศวรและพระมหาธรรมราชาติดตามและก่อกวนข้าศึกออกจากแผ่นดินอยุธยา[36] เป็นเวลาสามวัน ทัพอยุธยาขับไล่ผู้รุกราน และทำให้พม่าสูญเสียใหญ่หลวง[38][39] เมื่อทัพพระราเมศวรและพระมหาธรรมราชาเข้ามาใกล้ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงปักหลักใกล้กำแพงเพชร โดยแบ่งทัพออกถนนสองข้าง ฝ่ายอยุธยาที่กำลังระเริงตกหลุมพราง พม่าจับทั้งพระราเมศวรและพระมหาธรรมราชาเป็นเชลยศึกได้ทั้งสองพระองค์[38][37][40]

การได้ตัวทั้งสองพระองค์เป็นการบีบบังคับให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องเจรจากับพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ พระองค์ทรงมอบช้างศึกสองเชือก ได้แก่ ช้างพลายศรีมงคลและช้างพลายมงคลทวีปเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน[41] จากนั้น กองทัพพม่าจึงได้ถอยทัพกลับโดยสันติ นอกเหนือจากนั้น พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยังได้ปล่อยตัวเชลยศึกอีกจำนวนมากที่ได้ถูกจับตัวไว้ระหว่างการทัพ[40][42] การทัพดังกล่าวเริ่มต้นและสิ้นสุดลงในเวลาห้าเดือน[38]

การพักรบ

แก้

การจับองค์พระราเมศวรและพระมหาธรรมราชาบังคับให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจรจากับพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ฝ่ายอยุธยาพลันส่งทูตที่นำของกำนัลเสนอการถอยทัพอย่างสันติแลกกับเจ้าสองพระองค์[40][43] เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิถูกบังคับให้ทรงมอบพระคชาธารสองเชือกแก่พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ คือ พลายศรีมงคลและพลายมงคลทวีปซึ่งเป็นช้างชนะงา[41] เมื่อมีการส่งมอบช้างแล้ว ทัพพม่าจึงถอยไปอย่างสงบ นอกเหนือจากเจ้าสองพระองค์แล้ว พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยังทรงปล่อยเชลยอีกหลายคนที่ถูกจับระหว่างการทัพด้วย[40][43] ตามบันทึกของพม่า พระมหากษัตริย์อยุธยายังทรงตกลงให้ของกำนัลเป็นช้าง 30 เชือก เงินจำนวนหนึ่งและอากรศุลกากรจำนวนหนึ่ง[44]

หลังสนธิสัญญา พระมหากษัตริย์พม่าทรงพักแปดวัน แล้วเสด็จกลับพะโค พระองค์เสด็จถึงเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2082[45]

หลังสงคราม

แก้
 
พระเจดีย์ศรีสุริโยทัยซึ่งได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ ที่วัดสวนหลวงสบสวรรค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ตามพงศาวดารพม่า พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เมื่อเสด็จกลับถึงพระนคร ก็เสวยแต่น้ำจัณฑ์และละทิ้งการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ[38][42] ทำให้พระมหาอุปราชาบุเรงนองจำเป็นต้องทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน[40] ใน พ.ศ. 2092 เมื่อบุเรงนองออกจากเมืองหลวงเพื่อปราบปรามกบฏมอญทางใต้ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงถูกลอบปลงพระชนม์และได้มีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน[46] ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ แข็งข้อขึ้น ซึ่งทำให้บุเรงนองต้องใช้เวลากว่าห้าปีในการรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น จนเสร็จสิ้นเมื่ออังวะถูกยึดใน พ.ศ. 2097[47]

สงครามนี้เป็นสงครามแรกระหว่างพม่ากับไทยซึ่งยืดเยื้อมาจนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่กรุงศรีอยุธยาถูกข้าศึกต่างด้าวโจมตี[41]

ตามหลักฐานของไทย ฝ่ายอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสุริโยทัยที่สวนหลวง แล้วสร้างวัดอุทิศพระราชกุศลพระราชทาน คือ วัดสบสวรรค์ สถูปขนาดใหญ่ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเก็บพระอัฐิของสมเด็จพระสุริโยทัย ถูกเรียกว่า เจดีย์พระศรีสุริโยทัย[35] แต่ถึงแม้ว่าจะมีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเฉลิมพระเกียรติพระองค์ขึ้นหลายแห่งในประเทศไทย แต่ตัวตนและความเสียสละของพระองค์ยังเป็นหัวข้อที่ยังเป็นที่โต้เถียงกันอยู่ เนื่องจากความจริงที่ว่าพระนามของพระองค์มิได้ถูกกล่าวถึงหรือบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์พม่าเลย[48] และข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับชีวิตของพระองค์ถูกคัดมาจากบางตอนของจดหมายเหตุกรุงศรีอยุธยาและการบรรยายของนักสำรวจชาวโปรตุเกส โดมิงโก ซีซัส[49]

 
อนุสรณ์สถานสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ทรงช้างออกรบสงคราม

ผลของสงครามทำให้มีการเสริมการป้องกันของอยุธยาให้เข้มแข็งขึ้น เช่น กำแพงและป้อมแข็งแกร่งขึ้น และปรับปรุงกิจการทหารและทำนุบำรุงสภาพบ้านเมืองให้แข็งแกร่ง โดยมีการก่อกำแพงอิฐรอบตัวพระนครกรุงศรีอยุธยาแทนเชิงเทินดินปักไม้แบบเดิม กำหนดหัวเมืองขึ้นใหม่ 3 หัวเมือง โดยยกบ้านตลาดขวัญเป็นเมืองนนทบุรี ยกบ้านท่าจีนเป็นเมืองสาครบุรี และรวมดินแดนบางส่วนของราชบุรีกับเมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองนครชัยศรี ทรงเตรียมเรือเพิ่ม และจัดการคล้องช้างป่าเพื่อใช้ในการสงครามเพิ่มเติม[50] โดยในเวลา 3 ปี สามารถจับช้างเผือกได้ถึง 6 ช้าง ทำให้อยุธยามีช้างเผือกรวม 7 ช้าง[51] รวมทั้งการทำบัญชีบันทึกทหารทั้งปวง และขนาดของกองทัพเรือยังได้เพิ่มมากขึ้นด้วย[52][53]

ชัยชนะของอยุธยาครั้งนี้ทำให้พม่าได้ประสบการณ์สำคัญในการยุทธ์กับอยุธยาในอนาคต การบุกครองครั้งต่อไปเกิดในรัชกาลพระเจ้าบุเรงนอง ผู้คุ้นเคยกับการรบกับชาวอยุธยาและการเคลื่อนทัพผ่านภูมิประเทศของอาณาจักรอยุธยา[54] ความไม่สงบภายในพม่าชะลอการบุกครองครั้งต่อไปออกไป 15 ปี จนสงครามช้างเผือก (พ.ศ. 2106–2107)[41]

ในสื่อ

แก้

สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ชื่อว่า "สุริโยไท" ออกฉายในปี พ.ศ. 2544 กำกับโดยหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เนื้อหาในภาพยนตร์กล่าวถึงตั้งแต่การสวรรคตของสมเด็จพระไชยราชาธิราช เหตุการณ์ซึ่งนำไปสู่สงครามและยุทธหัตถีซึ่งนำไปสู่การสวรรคตของสมเด็จพระสุริโยทัย ภาพยนตร์ใช้ต้นทุนสร้าง 350 ล้านบาท

เชิงอรรถ

แก้
  1. The figures here are reduced by an order of magnitude from those given in the Burmese chronicles per (Harvey 1925: 333–335).
  2. Per Burmese chronicles (Hmannan Vol. 2 2003: 238), reduced by an order of magnitude per (Harvey 1925: 333–335)
  3. Burmese chronicles (Hmannan Vol. 2 2003: 238) say Tabinshwehti learned of the Siamese occupation of Tavoy before he agreed to a truce with King Min Bin of Mrauk-U on 31 January 1547 (9th waxing of Tabodwe 908 ME).
  4. The invasion likely began in late October/early November 1547 although Burmese chronicles (Hmannan Vol. 2 2003: 238–239) simply say the attack on Tavoy began in 909 ME (30 March 1547 to 28 March 1548). The attack probably did not take place in early 1547 since Tabinshwehti's troops evacuated southern Arakan only on 26 March 1547 (5th waxing of Late Tagu 908 ME). The troops would have arrived back only in mid-to-late April, leaving just about a month for a military campaign before the rainy season began in June. The invasion, like most wars by the Burmese kings, probably began toward the end of rainy season and after the end of Buddhist Lent, which ended on 13 October 1547 (New moon of Thadingyut 909 ME) that year.
  5. The Hmannan Yazawin chronicle (Hmannan Vol. 2 2003: 241) uses the term လပြည့်, [la̰bjḛ], which can be translated as either full moon or full month (completion of a month), to describe when he began the march to Ayutthaya. If it was full moon, the date of departure from Kanchanaburi would be 15 November 1548 (Full moon of Natdaw 910 ME). If it was full month, it would be 13 November 1548 (13th waxing of Natdaw 910 ME).
  6. The custom of the time was for two commanders/leaders of the same status to fight in single combat. It is unclear as to why the Siamese king would have accepted to face someone of lesser rank. If he did issue the challenge, he would have challenged his counterpart Tabinshwehti and accepted to face only Tabinshwehti.
  7. Burmese chronicles (Maha Yazawin Vol. 2 2006: 181–192) and (Hmannan Vol. 2 2003: 238–248) devote a detailed account of the invasion, down to the names of war elephants the high royalty rode on. Thado Dhamma Yaza rode the war elephant named Ye Htut Mingala (Hmannan Vol. 2 2033: 244). If he was victorious in combat against any enemy of significance, such a story with a favorable outcome would likely have been included in the chronicles.

อ้างอิง

แก้
  1. e Aganduru Moriz, Rodrigo (1882). Historia general de las Islas Occidentales a la Asia adyacentes, llamadas Philipinas. Colección de Documentos inéditos para la historia de España, v.78–79. Madrid: Impr. de Miguel Ginesta.
  2. Barangay: Sixteenth Century Philippine Culture and Society. Quezon City: Ateneo de Manila University Press. ISBN 971-550-135-4.
  3. Hmannan Vol. 2 2003: 238
  4. 4.0 4.1 4.2 Hmannan Vol. 2 2003: 240–241
  5. Hmannan Vol. 2 2003: 242–243
  6. Hmannan Vol. 2 2003: 240–244
  7. ดนัย ไชยโยธา. (2543). พัฒนาการของมนุษย์กับอารยธรรมในราชอาณาจักรไทย เล่ม ๑. โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์. หน้า 216.
  8. Harvey 1925: 100–109
  9. Fernquest 2005: 20–50
  10. Harvey 1925: 124–125
  11. 11.0 11.1 Harvey 1925: 153–158
  12. 12.0 12.1 Htin Aung 1967: 106–112
  13. Wood p. 100
  14. Wood p. 101
  15. 15.0 15.1 Wood p. 108
  16. 16.0 16.1 Wood p. 109
  17. 17.0 17.1 Wood p. 110
  18. Wood p. 111
  19. Damrong Rajanubhab p. 14
  20. 20.0 20.1 Damrong Rajanubhab p. 15
  21. Damrong Rajanubhab p. 13
  22. 22.0 22.1 22.2 Wood p. 112
  23. Harvey 1925: 158
  24. Fernquest 2005: 286
  25. Hmannan Vol. 2 2003: 238–239
  26. 26.0 26.1 26.2 Harvey 1925: 158–159
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 27.4 Wood p. 113
  28. Quaritch Wales p.145
  29. Quaritch Wales 1952: 189
  30. Phayre 1967: 100
  31. Damrong Rajanubhab 2001: 16
  32. 32.0 32.1 32.2 32.3 Damrong Rajanubhab 2001: 17
  33. 33.0 33.1 33.2 33.3 Damrong Rajanubhab 2001: 18
  34. Hmannan Vol. 2 2003: 241–242
  35. 35.0 35.1 35.2 35.3 35.4 Damrong Rajanubhab 2001: 19
  36. 36.0 36.1 36.2 Damrong Rajanubhab p. 20
  37. 37.0 37.1 37.2 37.3 37.4 37.5 Harvey p. 159
  38. 38.0 38.1 38.2 38.3 38.4 Phayre p. 101
  39. 39.0 39.1 Cocks p. 44
  40. 40.0 40.1 40.2 40.3 40.4 Cocks p. 45
  41. 41.0 41.1 41.2 41.3 Damrong Rajanubhab p. 21
  42. 42.0 42.1 Harvey p. 160
  43. 43.0 43.1 Harvey 1925: 160
  44. Htin Aung 1967: 113
  45. Sein Lwin Lay 2006: 232
  46. Harvey p. 162
  47. Harvey p. 164
  48. A Historical Divide เก็บถาวร 2010-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Subhatra Bhumiprabhas. Retrieved 2010-03-04
  49. Suriyothai: The Sun and The Moon.Retrieved 2010-03-04 เก็บถาวร 2006-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  50. ดนัย ไชยโยธา. (2543). พัฒนาการของมนุษย์กับอารยธรรมในราชอาณาจักรไทย เล่ม ๑. โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์. หน้า 216-217.
  51. ดนัย ไชยโยธา. (2543). พัฒนาการของมนุษย์กับอารยธรรมในราชอาณาจักรไทย เล่ม ๑. โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์. หน้า 217.
  52. Damrong Rajanubhab p. 22-24
  53. Wood p. 114
  54. Damrong Rajanubhab p. 22

บรรณานุกรม

แก้
  • Cocks, S. W. (1919). A Short History of Burma (at www.archive.org) (Second ed.). London: Macmillan and Co.
  • Damrong Rajanubhab, Prince Disuankumaan (2001) [1917]. Our Wars with the Burmese: Thai-Burmese Conflict 1539–1767. แปลโดย Baker, Chris. Thailand: White Lotus Co. Ltd. ISBN 974-7534-58-4.
  • Fernquest, Jon (Autumn 2005). "Min-gyi-nyo, the Shan Invasions of Ava (1524–27), and the Beginnings of Expansionary Warfare in Toungoo Burma: 1486–1539". SOAS Bulletin of Burma Research. 3 (2). ISSN 1479-8484.
  • Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824. London: Frank Cass & Co. Ltd.
  • Htin Aung, Maung (1967). A History of Burma. New York and London: Cambridge University Press.
  • Jirattikorn, Amporn (August 2003). "Suriyothai: Hybridizing Thai National Identity Through Film". Inter-Asia Cultural Studies. 4 (2): 296–308. doi:10.1080/1464937032000113015. S2CID 145109859.
  • Phayre, Lt. Gen. Sir Arthur P. (1883). History of Burma (1967 ed.). London: Susil Gupta.
  • Quaritch Wales, Horace Geoffrey (1952). Ancient South-east Asian Warfare. London: Bernard Quaritch Ltd.
  • Royal Historical Commission of Burma (1832). Hmannan Yazawin (ภาษาพม่า). Vol. 1–3 (2003 ed.). Yangon: Ministry of Information, Myanmar.
  • Sein Lwin Lay, Kahtika U (1968). Mintaya Shwe Hti and Bayinnaung: Ketumadi Taungoo Yazawin (ภาษาพม่า) (2006, 2nd printing ed.). Yangon: Yan Aung Sarpay.
  • Wood, William A. R. (1924). History of Siam. Thailand: Chalermit Press. ISBN 1-931541-10-8.
  • หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า โดย สำนักพิมพ์แสงดาว-สร้อยทอง (พ.ศ. 2544) ISBN 974-87895-7-8