ยอดสนั่น 3เคแบตเตอรี่
ยอดสนั่น 3เคแบตเตอรี่ มีชื่อจริงว่า ธีรปภัสร์ พงษ์วันกิตติคุณ[1] (ชื่อเดิม : ธีระ พงษ์วัน) ชื่อเล่น จักร นักมวยสากลและนักศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานชาวไทย อดีตแชมป์โลก WBA รุ่นซูเปอร์เฟเธอร์เวท
ยอดสนั่น 3เคแบตเตอรี่ | |
---|---|
เกิด | ธีรปภัสร์ พงษ์วันกิตติคุณ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2517 |
ประวัติ
แก้ยอดสนั่นเป็นนักมวยประเภทหมัดหนักมาก มีฉายาแรกว่า "เงาปิศาจ" แต่ในช่วงเริ่มต้นมีชั้นเชิงไม่ค่อยสวยงาม อาศัยพลังหมัดน็อกคู่ต่อสู้มาโดยตลอด ยอดสนั่นเคยชกมวยไทยมาก่อน ก่อนจะบ่มเชิงชกเป็นมวยสากลแท้ ๆ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยอยู่ที่ค่ายศิษย์ยอดธงของ "ครูตุ๊ย" ยอดธง เสนานันท์ และมีทรงชัย รัตนสุบรรณ เป็นโปรโมเตอร์ เมื่อหันมาชกมวยสากลมุ่งสู่บัลลังก์แชมป์โลก ยอดสนั่นชกคู่ชกแพ้น็อกกว่า 20 ราย มีรอดครบยกอยู่เพียงรายสองรายเท่านั้น ความรุนแรงของกำปั้นเข้าตานายกว้าง รอบคอบ อดีตอธิบดีกรมพลศึกษา-สามัญศึกษา จึงตั้งฉายาให้เป็น "ไมก์ ไทสันเมืองไทย" เสริมกำลังใจกันหมายให้ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับอดีตแชมป์โลกไมก์ ไทสัน
ซึ่งก่อนจะมาชกมวยสากลอาชีพนั้น ยอดสนั่นเคยชกมวยสากลสมัครเล่นมาก่อน และสามารถเอาชนะ ประยุทธ ณพินทร ได้ในแบบที่ประยุทธต้องบอบช้ำมากจนต้องเข้าผ่าตัดสมองกลายเป็นบุคคลทุพพลภาพ ไปหลังการชกครั้งนั้น
ยอดสนั่นได้ขึ้นชิงแชมป์ PABA รุ่นจูเนียร์ไลท์เวท เริ่มด้วยการได้แชมป์เฉพาะกาลที่ว่างด้วยการชนะทีเคโอต่อ รัน ตังกิลิซัน นักชกชาวอินโดนีเซีย ในยกที่สอง เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2540 ต่อมาในการชิงแชมป์ PABA (ที่ว่าง) ยอดสนั่นได้ครองแชมป์ โดยชนะคะแนนแบบไม่สวยนักเหนือต่อ ซูครีย์ เนเมกบาร์ยา นักมวยรองแชมป์ PABA รุ่นจูเนียร์ไลท์เวท อันดับ 1 ชาวมองโกเลีย เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2541 จากนั้นป้องกันตำแหน่งเอาไว้ได้ 19 ครั้ง รวมทั้งเสมอกับคู่ปรับเก่าอย่างเนเมกบาร์ยาครั้งหนึ่งด้วย
ต่อมายอดสนั่นได้โอกาสชิงแชมป์โลก WBA รุ่นซูเปอร์เฟเธอร์เวท (ที่ว่าง) กับนักมวยมองโกเลียรองแชมป์โลก WBA อันดับ 1 รุ่นซูเปอร์เฟเธอร์เวท ณ ขณะนั้น และอดีตแชมป์โลก WBA ในรุ่นเดียวกันคนก่อนอย่าง ลักวา ซิม ยอดสนั่นต้องใช้ฝีมือดักทำคะแนนได้งามจะแจ้งจนครบ 12 ยก และได้ครองแชมป์ไปได้อย่างสวยงาม เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2545 ยอดสนั่นป้องกันกันตำแหน่งเอาไว้ได้ 2 ครั้ง ก่อนจะกลายเป็นแชมป์โลกรุ่นนี้แต่เพียงผู้เดียว (ภายหลังอาเซลีนู เฟรย์ตัส ได้สละแชมป์โลก WBA รุ่นซูเปอร์เฟเธอร์เวท (ซูเปอร์แชมป์) และเลื่อนรุ่นเพื่อไปชกในพิกัดที่ใหญ่กว่า คือ ซูเปอร์ไลท์เวท และได้แชมป์องค์กรมวยโลกในรุ่นเดียวกันไปแล้ว)
เมื่อเป็นแชมป์โลกแล้วมีรายการชกน้อยนิดได้แต่อุ่นเครื่องธรรมดา ๆ 3 ไฟท์ จึงมีเรื่องผิดใจกันระหว่างผู้จัดการ เวลานั้น ยอดธง เสนานันท์ มีลูกศิษย์ลูกหาในอเมริกาสามารถหารายการชกให้ได้ จึงเข้าปรึกษากับ นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ผู้จัดการร่วมอีกคน นำยอดสนั่นไปเซ็นสัญญาให้อาร์ท เพลูโญ แห่ง แบนเนอร์ โปรโมชั่นส์ ของสหรัฐอเมริกาจัดป้องกันแชมป์โลก 4 ครั้ง ลดบทบาทของทรงชัยไปทันที และไปป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 3 ชนะคะแนน สตีฟ ฟอร์บส์ ที่อเมริกามาแล้ว 1 ไฟท์ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี พ.ศ. 2547 ยอดสนั่นกลับไม่มีรายการชกป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 2 ตามสัญญา ไม่มีแม้แต่รายการชกอุ่นเครื่อง
ต่อมายอดสนั่นแพ้คะแนนเสียแชมป์ให้กับ บิเซนเต โมสเกรา นักชกปานามาไปแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2548 หรือตรงกับเช้าวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ตามเวลาประเทศไทย ที่ เมดิสันสแควร์การ์เดน, นครนิวยอร์ก ชนิดที่ถูกนับในยกที่ 1, 3, และ 11 ตัวเองได้คืนนับเดียวในยกที่ 3 หลังจากนั้นกลับมาชกอุ่นเครื่องที่เมืองไทยชนะคะแนน 6 ยก นักมวยฟิลิปปินส์ 2 ไฟท์แล้ว และรอเวลาขึ้นชิงแชมป์โลกอีกครั้ง อย่างไรก็ดียอดสนั่นใช้เวลาว่างในช่วงนี้เป็นทั้งผู้ช่วยเทรนเนอร์และพี่เลี้ยงของ พรสวรรค์ ป.ประมุข แชมป์ PABA รุ่นสตอร์วเวท และรองแชมป์อันดับสูงของ WBA ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ยอดสนั่นได้ย้ายมาชกในสังกัด เพชรยินดี บ๊อกซิ่ง โปรโมชั่น ของวิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ แต่เนื่องจากเป็นมวยรุ่นใหญ่ จึงไม่ค่อยมีรายการชกเท่าใดนัก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ยอดสนั่นได้เปลี่ยนแนวการชก โดยเข้าร่วมการแข่งขันในศิลปะการต่อสู้แบบผสม (MMA) ครั้งแรก ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยพบกับ ดาเนียล มาชาเมท จากแอฟริกาใต้ ซึ่งยอดสนั่นเป็นฝ่ายชนะได้ในยกที่สอง[2] จากนั้นก็ได้ขึ้นชกอีกสองครั้ง ที่ประเทศสิงคโปร์ และได้หยุดไป เนื่องจากว่ามีความรุนแรงเกินไป แต่ในปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 ยอดสนั่นก็ได้กลับมาชกอีกครั้งที่ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมรายการเดียวกับ เดชดำรงค์ ส.อำนวยศิริโชค ป้องกันตำแหน่งแชมป์โลก ซึ่งนับเป็นการจัดการแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบผสมครั้งแรกในประเทศไทย โดยยอดสนั่นชนะน็อก เชรช โค ซาล นักต่อสู้ชาวกัมพูชา ไปได้ในยกแรก[3]
ชีวิตส่วนตัว
แก้หลังเสียแชมป์โลกไปแล้ว ในปี พ.ศ. 2552 ยอดสนั่นได้เดินทางไปเป็นเทรนเนอร์สอนมวยสากลและมวยไทยอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์[4]
ในปลายปี พ.ศ. 2553 ยอดสนั่นได้รับปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ[4]
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ยอดสนั่นได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จังหวัดศรีสะเกษ เขต 3 สังกัดพรรคครูไทยเพื่อประชาชน[1] แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
เกียรติประวัติ
แก้- แชมป์ PABA รุ่นจูเนียร์ไลท์เวท (2540-2545)
- ชิง (ที่ว่าง) , 29 มิถุนายน 2540 ชนะน็อกโดยเทคนิคยกที่ 2 รัน ตังกิลิซัน ( อินโดนีเซีย) ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง, จังหวัดราชบุรี, ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1 , 16 เมษายน 2541 ชนะคะแนน ซูกห์บายาร์ เนเมกบาร์ยา ( มองโกเลีย) ที่ หาดหัวหิน, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2 , 31 กรกฎาคม 2541 ชนะน็อกโดยเทคนิคยกที่ 1 การิม อับดุลลาห์ ( อินโดนีเซีย) ที่ โรงเรียนอนุบาลควนโดน, จังหวัดสตูล, [5] ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 3 , 17 ตุลาคม 2541 ชนะน็อกยกที่ 2 เจฟฟรี โอนาเต้ ( ฟิลิปปินส์) ที่ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล ลาดพร้าว กรุงเทพ, กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 4 , 20 กุมภาพันธ์ 2542 ชนะน็อกยกที่ 1 ควินตัน โดนาฮิว ( ออสเตรเลีย) ที่ หาดเฉวง, จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 5 , 20 มิถุนายน 2542 เสมอกับ ซูกห์บายาร์ เนเมกบาร์ยา ( มองโกเลีย) ที่ เขตบางบอน, กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 6 , 26 กันยายน 2542 ชนะน็อกยกที่ 1 ริชาร์ด พิทท์แมน ( หมู่เกาะคุก) ที่ เขตบางแค, กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 7 , 28 พฤศจิกายน 2542 ชนะโดยเทคนิคยกที่ 5 คานัท ซิคิมบายิฟ ( คาซัคสถาน) ที่ ศาลาว่าการเมืองพัทยา, ชลบุรี, ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 8 , 20 กุมภาพันธ์ 2543 ชนะน็อกโดยเทคนิคยกที่ 4 คานัท ซิคิมบายิฟ ( คาซัคสถาน) ที่ พระนารายณ์ราชนิเวศน์, จังหวัดลพบุรี, [6] ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 9 , 2 เมษายน 2543 ชนะน็อกโดยเทคนิคยกที่ 2 ชุน วันโบ ( เกาหลีใต้) ที่ กรุงเทพการประมูลรถยนต์, กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 10 , 12 พฤษภาคม 2543 ชนะน็อกโดยเทคนิคยกที่ 6 โฆเซ ลุยส์ ตูลา ( เม็กซิโก) ที่ สนามกีฬาจังหวัดมุกดาหาร, จังหวัดมุกดาหาร, [7] ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 11 , 15 กรกฎาคม 2543 ชนะน็อกโดยเทคนิคยกที่ 2 เร็กซ์ มาซาน ( ฟิลิปปินส์) ที่ ฟิวเจอร์ปาร์คบางแค, กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 12 , 19 สิงหาคม 2543 ชนะน็อกยกที่ 4 อลัน วิซายัส ( ฟิลิปปินส์) ที่ ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย, จังหวัดสุโขทัย, [8] ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 13 , 8 ตุลาคม 2543 ชนะน็อกโดยเทคนิคยกที่ 3 โรลันโด พรีโตส ( ฟิลิปปินส์) ที่ วิทยาลัยการอาชีพโพนทอง, จังหวัดร้อยเอ็ด, [9] ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 14 , 10 ธันวาคม 2543 ชนะน็อกยกที่ 2 ธีโอดอร์ ลูแอนดา ( แทนซาเนีย) ที่ ทุ่งทานตะวันเขาจีนแล, จังหวัดลพบุรี,[10] ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 15 , 2 มกราคม 2544 ชนะน็อกโดยเทคนิคยกที่ 3 โฮเซลีโต รีเบรา ( ฟิลิปปินส์) ที่ สนามกีฬาจังหวัดระยอง, จังหวัดระยอง, ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 16 , 27 เมษายน 2544 ชนะน็อกโดยเทคนิคยกที่ 1 กุสตาโบ ฟาเบียน กูเอโย ( อาร์เจนตินา) ที่ อำเภอบางสะพานน้อย, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 17 , 8 กันยายน 2544 ชนะน็อกยกที่ 4 เฟร์นันโด โมนติลยา ( ฟิลิปปินส์) ที่ห้างเดอะมอลล์งามวงศ์วาน, จังหวัดนนทบุรี, ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 18 , 9 พฤศจิกายน 2544 ชนะน็อกโดยเทคนิคยกที่ 9 เฆซุส ซาตาริน ( เม็กซิโก) ที่ ที่ห้างเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน, จังหวัดนนทบุรี, ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 19 , 5 ธันวาคม 2544 ชนะน็อกโดยเทคนิคยกที่ 4 วัลเตร์ อูโก โรดริเกซ ( อาร์เจนตินา) ที่ ท้องสนามหลวง, กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย
- มีนาคม 2545 สละแชมป์
- แชมป์โลก WBA รุ่นซูเปอร์เฟเธอร์เวท (2545 - 2548)
- ชิง (ที่ว่าง) , 13 เมษายน 2545 ชนะคะแนน ลักวา ซิม ( มองโกเลีย) ที่ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดนครราชสีมา, ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1 , 5 ธันวาคม 2545 ชนะน็อกยกที่ 9 ลามอนท์ เพียร์สัน ( สหรัฐ) ที่ ท้องสนามหลวง, กรุงเทพมหานคร, [11] ประเทศไทย
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2 , 8 กุมภาพันธ์ 2547 ชนะน็อกโดยเทคนิคยกที่ 7 รีวเฮ ซูงิตะ ( ญี่ปุ่น) ที่ กิฟุ เมมโมเรียล เซ็นเตอร์, กิฟุ, ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 3 , 7 สิงหาคม 2547 ชนะคะแนน สตีฟ ฟอร์บส์ ( สหรัฐ) ที่ ฟอกซ์วูด รีสอร์ต คาสิโน, เขตอนุรักษ์เผ่ามาแชนทักเก็ต,[12] สหรัฐ
- เสียแชมป์โลก , 30 เมษายน 2548 แพ้คะแนน บิเซนเต โมสเกรา ( ปานามา) ที่ เมดิสันสแควร์การ์เดน, นครนิวยอร์ก[13] สหรัฐ
- แชมป์ IBF Australasian รุ่นจูเนียร์เวลเตอร์เวท
- ชิง , 12 กุมภาพันธ์ 2552 ชนะน็อกยกที่ 3 โจนาธาน ซิมาโมรา ( อินโดนีเซีย) ที่ สมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์, กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย
ชื่ออื่น
แก้- ยอดสนั่น ส.นันทชัย
- ยอดสนั่น ศิษย์ยอดธง
- ยอดสนั่น 3เคแบตเตอรี่
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 อดีตแชมป์โลกจับมือกำนันดังสมัคร ส.ส.ศรีสะเกษ เก็บถาวร 2019-02-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น
- ↑ ย้อนอดีตสู่ปัจจุบัน. โอ๋ อัปเปอร์คัท. นิตยสารมวยสยามรายสัปดาห์. ปีที่ 27 ฉบับที่ 1981. วันที่ 5-11 ตุลาคม 2554. ISSN 15135438. หน้า 6-7
- ↑ ""เดชดำรงค์" เจอ "ยุ่น" ล็อกจนแพ้น็อก ยก 4 เสียแชมป์ MMA "วัน แชมเปียนชิพ"". ผู้จัดการออนไลน์. 27 May 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-31. สืบค้นเมื่อ 28 May 2016.
- ↑ 4.0 4.1 ""ไมก์ ไทสัน เมืองไทย" ปลื้ม "มรภ.ศรีสะเกษ" มอบปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์". ผู้จัดการออนไลน์. 4 July 2016. สืบค้นเมื่อ 25 November 2010.[ลิงก์เสีย]
- ↑ การป้องกันแชมป์พาบากับ อับดุลลาห์ การิม
- ↑ การป้องกันแชมป์พาบากับ คานัท ซิคิมบายิฟ
- ↑ การป้องกันแชมป์พาบากับ โฆเซ ลุยส์ ตูลา
- ↑ การป้องกันแชมป์พาบากับ อลัน วิซายัส
- ↑ การป้องกันแชมป์พาบากับ โรลันโด พรีโตส
- ↑ การป้องกันแชมป์พาบากับ ธีโอดอร์ ลูแอนดา
- ↑ เทปการชกยอดสนั่น ส.นันทชัย (3 เคแบตเตอรี่) vs ลามอนท์ เพียร์สัน ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1 (ตอนที่1-5).
- ↑ การป้องกันแชมป์โลกกับ สตีฟ ฟอร์บส์
- ↑ การป้องกันแชมป์โลกกับ บิเซนเต โมสเกรา
- "ไมก์ ไทสันเมืองไทย" ยอดสนั่น สามเคแบตเตอรี่" คอลัมน์ ฉายาชาวยุทธ โดย สว่าง สวางควัฒน์ นสพ.ข่าวสด ฉบับที่ 5179 ปีที่ 14 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548
- สถิติการชก boxrec.com (อังกฤษ)