ประเทศไนจีเรีย
ไนจีเรีย (อังกฤษ: Nigeria) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย (อังกฤษ: Federal Republic of Nigeria) เป็นประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก อาณาเขตตั้งอยู่ระหว่างทิศเหนือของรอยต่อซาเฮล และทิศใต้ของอ่าวกินีบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก ดินแดนทั้งหมดครอบคลุมพื้นที่ 923,769 ตารางกิโลเมตร (356,669 ตารางไมล์) และมีประชากรมากกว่า 230 ล้านคน จึงถือเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปแอฟริกา และมากที่สุดอันดับ 6 ของโลก ไนจีเรียมีพรมแดนติดกับไนเจอร์ทางทิศเหนือ, ติดชาดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ, ติดแคเมอรูนทางทิศตะวันออก และติดเบนินทางทิศตะวันตก ไนจีเรียถือเป็นสหพันธรัฐซึ่งแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 36 รัฐ และเขตปกครองพิเศษอีกหนึ่งแห่งในชื่อ เฟเดอรัลแคพิทอลเทร์ริทอรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาบูจา เมืองหลวงของประเทศ ในขณะที่เมืองที่ใหญ่ที่สุดคือเลกอสซึ่งยังเป็นหนึ่งในเขตเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก
สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย | |
---|---|
คำขวัญ: Unity and Faith, Peace and Progress (เอกภาพและศรัทธา สันติและความก้าวหน้า) | |
เมืองหลวง | อาบูจา 9°4′N 7°29′E / 9.067°N 7.483°E |
เมืองใหญ่สุด | เลกอส |
ภาษาราชการ | ภาษาอังกฤษ |
การปกครอง | สหพันธ์สาธารณรัฐ |
โบลา ตินูบู | |
คาชิม เชตทิมา | |
เอกราชจากสหราชอาณาจักร | |
• ประกาศ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2503 |
พื้นที่ | |
• รวม | 923,769 ตารางกิโลเมตร (356,669 ตารางไมล์) (อันดับที่ 32) |
1.4 | |
ประชากร | |
• 2564 ประมาณ | 211,400,708[1] (อันดับที่ 7) |
• สำมะโนประชากร 2549 | 140,431,691 |
218 ต่อตารางกิโลเมตร (564.6 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 42) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | 2564 (ประมาณ) |
• รวม | $1.116 ล้านล้าน[2] (อันดับที่ 25) |
• ต่อหัว | $5,280 (อันดับที่ 129) |
จีดีพี (ราคาตลาด) | 2564 (ประมาณ) |
• รวม | $514.049 พันล้าน[2] (อันดับที่ 27) |
• ต่อหัว | $2,432 (อันดับที่ 137) |
จีนี (2563) | 35.1[3] ปานกลาง |
เอชดีไอ (2562) | 0.539[4] ต่ำ · อันดับที่ 161 |
สกุลเงิน | ไนรา (Naira, ₦) (NGN) |
เขตเวลา | UTC+1 |
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง) | UTC+2 |
รหัสโทรศัพท์ | 234 |
โดเมนบนสุด | .ng |
ดินแดนของไนจีเรียเป็นที่ตั้งของรัฐและอาณาจักรในยุคก่อนอาณานิคมหลายแห่งตั้งแต่สหัสวรรษที่สองก่อนคริสต์ศักราช โดยมีอารยธรรมนก (Nok) ซึ่งเป็นสังคมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในแอฟริกาตะวันตก เป็นชาวพื้นเมืองกลุ่มแรกที่รวมตัวกันในช่วงศตวรรษที่ 15[5] รัฐสมัยใหม่ของไนจีเรียมีจุดเริ่มต้นจากอาณานิคมไนจีเรียภายใต้อาณัติของจักรวรรดิบริติชในศตวรรษที่ 19 การรวมตัวกันของรัฐอารักขาบริเวณตอนเหนือและตอนใต้ของไนจีเรียใน ค.ศ. 1914 ถือเป็นจุดกำเนิดดินแดนทั้งหมดในปัจจุบัน แต่ยังอยู่ภายใต้จักรวรรดิบริติชโดยมอบอำนาจการปกครองให้แก่ประมุขผ่านการปกครองโดยอ้อม[6] ไนจีเรียกลายเป็นสหพันธ์อิสระอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1960 และต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองใน ค.ศ. 1967–70 และอยู่ภายใต้การปกครองโดยเผด็จการทหารเป็นเวลาเกือบสามทศวรรษ ก่อนที่จะได้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่มั่นคงใน ค.ศ. 1999 โดยผู้ชนะการเลือกตั้งอย่าง โอลูเซกุน โอบาซานโจ จากพรรคประชาธิปไตยประชาชนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสองสมัยจนถึง ค.ศ. 2007 อย่างไรก็ตาม ไนจีเรียยังเผชิญปัญหาการโกงเลือกตั้งและการทุจริตทางการเมืองซึ่งเป็นปัญหาสำคัญมาถึงปัจจุบัน
ในทางรัฐศาสตร์ อาจถือได้ว่าไนจีเรียมีสถานะเป็นรัฐข้ามชาติ โดยเป็นที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างน้อย 250 กลุ่ม และมีการใช้ภาษาแตกต่างกันอย่างน้อย 500 ภาษาในประเทศซึ่งส่งผลให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดแห่งหนึ่ง[7][8] โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่ที่สุดสามอันดับได้แก่: ชาวฮาอูซา อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ, ชาวโยรูบา อาศัยอยู่ทางทิศตะวันตก และชาวอิกโบทางทิศตะวันออก ซึ่งเมื่อรวมจำนวนประชากรทั้งสามกลุ่มแล้วคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของประชากรในประเทศ ภาษาอังกฤษมีสถานะเป็นภาษาราชการของไนจีเรีย ซึ่งถูกกำหนดเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบการใช้ภาษาของประชากรในระดับชาติ รัฐธรรมนูญของประเทศไม่จำกัดเสรีภาพในการนับถือศาสนาของพลเมืองโดยนิตินัย[9] และเนื่องจากการมีประชากรจำนวนมาก ไนจีเรียจึงเป็นที่อาศัยของชาวมุสลิมและคริสต์ศาสนิกชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก[10] มีการแบ่งแยกจำนวนประชากรประมาณกึ่งหนึ่งระหว่างชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือ และคริสต์ศากนิกชนซึ่งอาศัยทางตอนใต้ของประเทศ นอกจากนี้ ศาสนาและความเชื่อพื้นเมืองยังพบเห็นในบางภูมิภาค อาทิ โอดินาลา และโยรูบาในพลเมืองชนกลุ่มน้อย
ไนจีเรียเป็นประเทศอำนาจนำภูมิภาค และประเทศอำนาจปานกลางในระดับนานาชาติ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ในทวีปแอฟริกา และอันดับ 53 ของโลกวัดตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และอันดับ 27 ของโลกหากวัดตามภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ ไนจีเรียมีระบบเศรษฐกิจแบบผสม รายได้หลักมาจากอุตสาหกรรมการผลิต, อัญมณี, แก๊สธรรมชาติ, ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ, โลหะ และไม้แปรรูป ไนจีเรียมักถูกมองเป็นมหาอำนาจในทวีป จากการมีจำนวนประชากรมากที่สุดและมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ และได้รับการพิจารณาโดยธนาคารโลกในฐานะหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพเป็นเศรษฐกิจใหม่ ไนจีเรียเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งของสหภาพแอฟริกา และเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศหลายแห่งซึ่งรวมถึงสหประชาชาติ, เครือจักรภพแห่งประชาชาติ, ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด, ประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก, องค์การความร่วมมืออิสลาม และโอเปก
ศัพทมูลวิทยา
แก้ชื่อประเทศไนจีเรีย "Nigeria" มีที่มาจากชื่อแม่น้ำไนเจอร์ แม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านประเทศ ชื่อนี้ได้รับการนิยามครั้งแรกโดย ฟลอรา ชอว์ นักข่าวชาวอังกฤษในวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1897 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันอย่างสาธารณรัฐไนเจอร์ ก็ใช้ชื่อนี้เป็นชื่อประเทศเช่นกัน โดยที่มาของชื่อ ไนเจอร์ (Niger) ซึ่งแต่เดิมใช้เฉพาะบริเวณตอนกลางของแม่น้ำไนเจอร์นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเป็นการแผลงมาจากคำในภาษาของ ชาวทัวเร็ก "n-igerewen" ซึ่งเป็นกลุ่มชนเร่ร่อนดำรงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์และค้าขายในทิมบักตูทางตอนเหนือของประเทศมาลี และข้ามพรมแดนไปยังไนเจอร์ในเวลาต่อมา โดยอาศัยอยู่ในช่วงก่อนการล่าอาณานิคมของยุโรปในศตวรรษที่ 19[11]
ก่อนหน้าที่ชอว์จะเสนอชื่อ "Nigeria" มีชื่ออื่น ๆ อีกหลายชื่อถูกเสนอเป็นชื่อประเทศ เช่น Royal Niger Company Territories, Central Sudan, Niger Empire, Niger Sudan, and Hausa Territories[12]
ภูมิศาสตร์
แก้ภูมิประเทศ
แก้ไนจีเรียตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกบนอ่าวกินีและมีพื้นที่รวม 923,768 ตารางกิโลเมตร (356,669 ตารางไมล์)[13] ทำให้เป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 32 ของโลก มีพรมแดนครอบคลุมพื้นที่ 4,047 กิโลเมตร (2,515 ไมล์) และมีพรมแดนร่วมกับเบนิน (773 กม. หรือ 480 ไมล์), ไนเจอร์ (1,497 กม. หรือ 930 ไมล์), ชาด (87 กม. หรือ 54 ไมล์) และแคเมอรูน (รวมถึงรัฐแบ่งแยกดินแดนแอมบาโซเนีย) 1,690 กม. หรือ 1,050 ไมล์ และแนวชายฝั่งมีความยาวอย่างน้อย 853 กม. (530 ไมล์) ไนจีเรียตั้งอยู่ระหว่างละติจูด 4° ถึง 14°N และลองจิจูด 2° ถึง 15°E จุดที่สูงที่สุดคือภูเขาชาปาล วาดี ที่ความสูง 2,419 เมตร (7,936 ฟุต) แม่น้ำสายหลักคือแม่น้ำไนเจอร์และแม่น้ำเบนู ซึ่งมาบรรจบกันและไหลลงสู่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ นี่คือหนึ่งในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นที่ตั้งของป่าชายเลนขนาดใหญ่ในภูมิภาคแอฟริกากลาง
ภูมิประเทศที่กว้างขวางที่สุดของไนจีเรียคือช่องเขาของหุบเขาแม่น้ำไนเจอร์และเบนู (ซึ่งผสานกันเป็นรูปตัว Y) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของไนเจอร์เป็นพื้นที่สูง "ขรุขระ" ในขณะที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเบนู มีลักษณะเป็นเนินเขาและเทือกเขาซึ่งก่อตัวเป็นที่ราบสูงแมมเบียซึ่งเป็นที่ราบสูงที่สูงที่สุดในไนจีเรีย ที่ราบสูงนี้ทอดยาวผ่านพรมแดนติดกับแคเมอรูนซึ่งพื้นที่ภูเขาเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบสูงบาเมนดาของแคเมอรูน
โดยทั่วไปแล้ว ไนจีเรียมีภูมิอากาศแบบป่าดิบชื้น โดยปริมาณน้ำฝนอยู่ที่ 1,500 ถึง 2,000 มิลลิเมตร (60 ถึง 80 นิ้ว) ต่อปี พื้นที่บริเวณใกล้ชายแดนติดกับแคเมอรูนใกล้กับชายฝั่ง เป็นป่าฝนอันอุดมสมบูรณ์และเป็นส่วนหนึ่งของเขตนิเวศป่าชายฝั่ง Cross-Sanaga-Bioko ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นที่อยู่อาศัยของลิงดริลล์ซึ่งพบได้ในป่าเฉพาะในบริเวณนี้และข้ามพรมแดนในแคเมอรูน พื้นที่โดยรอบเมืองคาลาบาร์ รัฐครอสริเวอร์ ในป่าแห่งนี้ เชื่อกันว่ามีผีเสื้อหลากหลายชนิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก พื้นที่ทางตอนใต้ของไนจีเรียระหว่างแม่น้ำไนเจอร์และแม่น้ำครอสได้สูญเสียพื้นที่ป่าไปเกือบทั้งหมด เนื่องจากการพัฒนาและการเก็บเกี่ยวโดยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และถูกแทนที่ด้วยทุ่งหญ้า
การเมือง
แก้รัฐบาล
แก้ไนจีเรียเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐที่มีรูปแบบการปกครองตามอย่างสหรัฐอเมริกา โดยแบ่งการปกครองในระดับย่อยออกเป็น 36 รัฐและเมืองหลวงคืออาบูจาซึ่งมีฐานะเป็นเมืองอิสระ อำนาจบริหารถูกสั่งการโดยประธานาธิบดีซึ่งเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและหัวหน้าการปกครองรัฐบาลกลาง ประธานาธิบดีได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่งสูงสุดสองวาระคราวละ 4 ปี เช่นเดียวกับตำแหน่งผู้ว่าการรัฐซึ่งจะได้รับการเลือกตั้งเป็นเวลาสี่ปีและอาจดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินสองวาระ อำนาจของประธานาธิบดีได้รับการตรวจสอบโดยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรซึ่งรวมกันเรียกว่าสมัชชาแห่งชาติไนจีเรีย สมาชิกวุฒิสภาประกอบด้วย 109 ที่นั่ง โดยมีสมาชิกสามคนเป็นผู้แทนจากแต่ละรัฐทั่วประเทศ และหนึ่งคนจากเขตเมืองหลวงของอาบูจา สมาชิกได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี สมัชชารวมที่นั่ง 360 ที่นั่ง โดยพิจารณาจากจำนวนประชากรแต่ละรัฐ
การคัดเลือกประธานาธิบดีเป็นรูปแบบการลงคะแนนสองรอบ ผู้สมัครจะต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากเพื่อชนะการเลือกตั้ง และต้องมากกว่า 25% ของคะแนนเสียงอย่างน้อย 24 จาก 36 รัฐ[14] หากไม่มีผู้สมัครรายใดทำคะแนนถึงเกณฑ์ดังกล่าว จะเข้าสู่การลงคะแนนในรอบที่สองโดยผู้สมัครที่มีคะแนนนำ และผู้สมัครที่มีคะแนนรองลงมาคนถัดไป โดยทั่วไปแล้ว ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะลงสมัครพร้อมผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีอีกหนึ่งคนซึ่งโดยตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว จะต้องมีเป็นผู้นับถือศาสนาหรือมีเชื้อชาติที่ต่างจากตนเอง และแม้จะไม่มีระบุอยู่ในข้อบังคับ ทว่าประธานาธิบดีทุกคนนับตั้งแต่สาธารณรัฐที่ 4 ของไนจีเรียยังยึดธรรมเนียมปฏิบัตินี้เรื่อยมา อย่างไรก็ตาม จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดใน ค.ศ. 2023 ผู้ชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งคนปัจจุบันอย่างโบลา ตินูบู ซึ่งเป็นชาวมุสลิม ได้คัดเลือก คาชิม เชตตินา ซึ่งเป็นชาวมุสลิมเช่นกันให้ลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้ปัจจุบันประเทศไนจีเรียแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 36 รัฐ และ 1 เขตปกครองพิเศษที่เรียกว่า เฟเดอรัลแคพิทอลเทร์ริทอรี (Federal Capital Territory: FCT) อันเป็นที่ตั้งของเมืองอาบูจา เมืองหลวงของไนจีเรีย รัฐของไนจีเรียทั้ง 36 รัฐ[15] มีดังนี้
|
|
กฎหมาย
แก้รัฐธรรมนูญแห่งไนจีเรียถือเป็นกฎหมายสูงสุดโดยนิตินัย ไนจีเรียมีระบบกฎหมายที่แตกต่างกันสี่ระบบ ซึ่งรวมถึงกฎหมายอังกฤษ กฎหมายทั่วไป กฎหมายจารีตประเพณี และกฎหมายชะรีอะฮ์:
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แก้นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. 1960 รัฐบาลไนจีเรียมุ่งเน้นไปที่ความเป็นเอกภาพของชาวแอฟริกาอันเป็นนโยบายหลักด้านการต่างประเทศ ไนจีเรียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิสราเอลนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนการก่อสร้างอาคารรัฐสภาของไนจีเรีย[16] นโยบายด้านการต่างประเทศของไนจีเรียถูกทดสอบในทศวรรษ 1970 หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลชนกลุ่มน้อยผิวขาวในแอฟริกาใต้ ไนจีเรียให้การสนับสนุนพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกาด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวต่อรัฐบาลแอฟริกาใต้ ไนจีเรียเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพแอฟริกา และเป็นประเทศมีอิทธิพลสูงในแอฟริกาตะวันตก และทวีปแอฟริกา ไนจีเรียส่งเสริมความพยายาม และความร่วมมือระดับภูมิภาคในแอฟริกาตะวันตก โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำประชาคมเศรษฐกิจรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) และ ECOMOG (โดยเฉพาะในช่วงสงครามกลางเมืองไลบีเรียและเซียร์ราลีโอน)
ภายหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง ไนจีเรียมีส่วนร่วมในวิกฤตการณ์คองโกตามบัญชาของสหประชาชาติ และตามนโยบายหลักในการธำรงซึ่งเอกภาพในทวีปแอฟริกา ไนจีเรียยังสนับสนุนกลุ่มแอฟริกันอเมริกัน และกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลตนเองหลายแห่งในทศวรรษ 1970 รวมถึงให้การสนับสนุนประเทศแองโกลา และขบวนการประชาชนเพื่อการปลดปล่อยแองโกลา และช่วยเหลือการต่อต้านรัฐบาลชนกลุ่มน้อยของโปรตุเกส, โมซัมบิกและโรดีเซีย ไนจีเรียเป็นสมาชิกเหนียวแน่นของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2006 มีการจัดการประชุมสุดยอดแอฟริกา-อเมริกาใต้ใอาบูจาเพื่อส่งเสริมความเป็นเอกภาพระหว่างภูมิภาค[17] ไนจีเรียยังเป็นสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ และ เครือจักรภพแห่งประชาชาติ แม้จะพ้นจากสมาชิกภาพเป็นการชั่วคราวใน ค.ศ. 1995 ในยุคเผด็จการอย่างซานิ อาชาชา
ไนจีเรียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทหลักในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมระดับนานาชาติ ยาวนานตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และยังคงความเป็นสมาชิกองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก ตั้งแต่กรกฎาคม ค.ศ. 1971 ปัจจุบันไนจีเรียคงสถานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกปิโตรเลียมรายใหญ่ของโลก แม้ความสัมพันธ์กับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐและประเทศกำลังพัฒนาจะผันผวนในบางช่วงเวลา[18]
นับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและไนจีเรียได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัฐ มีการเพิ่มขึ้นของการค้าโดยรวมกว่า 10.3 พันล้านดอลลาร์ระหว่างทั้งสองประเทศตั้งแต่ ค.ศ. 2000 ถึง 2016 อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีน-ไนจีเรียได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่สำคัญสำหรับรัฐบาล การส่งออกของจีนคิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของปริมาณการค้าทวิภาคีทั้งหมด[19] นำมาซึ่งความไม่สมดุลทางการค้า โดยตัวเลขการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมายังไนจีเรีย น้อยกว่าตัวเลขการส่งออกถึง 10 เท่า ผู้เกี่ยวข้องแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ โดยเศรษฐกิจของไนจีเรียเริ่มพึ่งพาการนำเข้าสินค้าราคาถูกมากเกินไปเพื่อรักษาเศรษฐกิจของประเทศ ทว่ากลับส่งผลให้ศักยภาพอุตสาหกรรมของไนจีเรียลดลงอย่างชัดเจนภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว
ไนจีเรียเป็นผู้ริเริ่มความคิดการใช้สกุลเงินร่วมกันของประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกในสกุลเงิน "อีโค" (Eco) ซึ่งป้ัจจุบันแผนดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปใน ค.ศ. 2025[20]
กองทัพ
แก้กองทัพไนจีเรียก่อตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1960 ประกอบด้วยกองทัพบก, กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ประธ่านาธิบดีมีอำนาจในฐานะผู้บัญชาการสูงสุด โดยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญผ่านกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการกองทัพและบุคลากร กองทัพไนจีเรียยังมีผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดรองลงมาคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ด้วยกำลังพลประจำการมากกว่า 223,000 นาย กองทัพไนจีเรียจึงถือเป็นหนึ่งในกองทัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแอฟริกา[21] ไนจีเรียมีทหารในบัญชาการจำนวน 143,000 นาย (กองทัพบก 100,000 นาย, กองทัพเรือ 25,000 นาย และกองทัพอากาศ 18,000 นาย) และกำลังพลอื่น ๆ อีก 80,000 นายใน ค.ศ. 2020 ตามข้อมูลของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษากลยุทธ์ ไนจีเรียใช้งบประมาณเพียงไม่ถึงร้อยละ 0.4 หรือ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในด้านกลาโหมใน ค.ศ. 2017 โดยใน ค.ศ. 2022 รัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณ 2.26 กว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับกองทัพไนจีเรีย ซึ่งมากกว่าหนึ่งในสามของงบประมาณด้านกลาโหมของเบลเยียม (5.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
เศรษฐกิจ
แก้โครงสร้าง
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
สถานการณ์เศรษฐกิจ
แก้ไนจีเรียเองก็เป็นประเทศหนึ่งในแอฟริกาที่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีระบบการเงิน, กฎหมาย, สังคม, การคมนาคม และตลาดหลักทรัพย์ ที่พัฒนาเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ไนจีเรียในฐานะประเทศที่มีอาณาเขตใหญ่เป็นอันอับสองของทวีปแอฟริกา ยังมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (อำนาจซื้อ) สูงเป็นอันดับที่ 30 ของโลก ในปี พ.ศ. 2555 และไนจีเรีย ยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดอนุภูมิภาคซาฮาร่าของสหรัฐอเมริกา
ไนจีเรียเป็นสมาชิกขององค์กรความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆมากมาย หนึ่งในนั้นคือเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน โอเปค ซึ่งในทศวรรษที่ 1970 ที่เกิดการตื่นตัวด้านพลังงานน้ำมัน ไนจีเรียได้ก่อหนี้สาธารณะต่างประเทศไว้มากมายเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ จนกระทั่งเกิดภาวะน้ำมันล้นตลาดในทศวรรษที่ 1980 ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันตกต่ำทั่วโลก แม้ว่าไนจีเรียได้พยายามจะชำระหนี้เงินกู้ให้ทันตามกำหนด แต่ในที่สุดก็เกิดการผิดนัดชำระหนี้ ทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ย
เกษตรกรรม
แก้ใน ค.ศ. 2021 ประมาณ 23.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมาจากภาคการเกษตร ป่าไม้ และการประมง[22] ไนจีเรียเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก[23] พืชผลสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ข้าวโพด, ข้าว, ข้าวฟ่าง, มันเทศ โกโก้เป็นสินค้าส่งออกทางการเกษตรที่สำคัญ และเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ปิโตรเลียมที่สำคัญที่สุดของประเทศ ไนจีเรียยังเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุด 20 อันดับแรกของโลก โดยสร้างรายได้ 20.9 ล้านดอลลาร์ในปี 2019[24]
ก่อนช่วงสงครามกลางเมืองไนจีเรีย และยุครุ่งเรื่องของอุตสาหกรรมน้ำมัน ไนจีเรียสามารถพึ่งพาตนเองทางอาหาร[25][26] ผลิตภัณฑ์อาหารจากภาคเกษตรไม่เพียงพอต่อความต้องการในปัจุบัน สืบเนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากร และไนจีเรียต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างชาติเป็นส่วนใหญ่[27] มีการใช้จ่ายเงิน 6.7 พันล้านดอลลาร์ต่อปีสำหรับการนำเข้าอาหาร ซึ่งมากกว่ารายได้จากการส่งออกอาหารถึงสี่เท่า[28] รัฐบาลไนจีเรียยังส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในทศวรรษ 1970
การผลิตข้าวของไนจีเรียเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2017/18 จนถึง 2021/22 เป็น 5 ล้านตันต่อปี[29] แต่แทบจะไม่ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ อัตราการนำเข้าข้าวจึงยังทรงตัวอยู่ที่ 2 ล้านตันต่อปี ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2019 ไนจีเรียปิดพรมแดนกับเบนินและประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เพื่อป้องกันการลักลอบนำข้าวเข้าประเทศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเพิ่มการผลิตในท้องถิ่น[30] แม้ไนจีเรียจะมีศักยภาพในการส่งออกข้าวเปลือก แต่ในขณะเดียวกันประเทศนี้ยังต้องนำเข้าข้าวเปลือกจากต่างชาติซึ่งเป็นอาหารหลักของประเทศ - โรงสีข้าวในอิโมตา ใกล้กับเลกอส จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการกับกระบวนการแปรรูป รวมถึงปรับปรุงสมดุลการค้าและตลาดแรงงาน และประหยัดต้นทุนที่ไม่จำเป็นสำหรับการขนส่งและการผ่านพ่อค้าคนกลาง จากข้อมูลเมื่อโรงงานเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2022 คาดว่าจะมีอัตราการจ้างพนักงานกว่า 250,000 คน และมีศักยภาพผลิตข้าวถุงปริมาณ 50 กิโลกรัมได้ 2.5 ล้านถุงต่อปี[31]
พลังงาน
แก้ไนจีเรียมีอัตราการใช้พลังงานสูงกว่าอัตราการผลิตพลังงานในประเทศ พลังงานส่วนใหญ่มาจากเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ซึ่งคิดเป็น 73% ของการผลิตขั้นต้นทั้งหมด ส่วนที่เหลือมาจากไฟฟ้าพลังน้ำ (27%) นับตั้งแต่ได้รับเอกราช ไนจีเรียได้พยายามพัฒนาอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ในประเทศเพื่อพลังงาน ไนจีเรียเปิดเครื่องปฏิกรณ์วิจัยที่มีต้นกำเนิดจากจีนในปี 2004 ที่มหาวิทยาลัยอาหมัดูเบลโล และร้องขอการสนับสนุนจากทบวงการงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาแผนการผลิตนิวเคลียร์สูงถึง 4,000 MWe ภายในปี 2027 ตามโครงการระดับชาติเพื่อการปรับใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อการผลิตไฟฟ้า ประธานาธิบดี อูมารู ยาร์อาดัว เรียกร้องให้ประเทศหันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น
ในปี 2017 ไนจีเรียได้ลงนามในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์[32] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2015 ไนจีเรียเริ่มเจรจากับหน่วยงานด้านพลังงานปรมาณูแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (Rosatom) เพื่อร่วมกันออกแบบ, ก่อสร้าง และดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สี่แห่งภายใน ค.ศ. 2035 โดยโรงไฟฟ้าแห่งแรกจะเริ่มดำเนินการภายใน ค.ศ. 2025 ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2015 ไนจีเรียได้คัดเลือกสถานที่สองแห่งสำหรับการวางแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งรัฐบาลไนจีเรียและรัสเซียจะไม่เปิดเผยตำแหน่งสถานที่ดังกล่าว แต่เชื่อกันว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะถูกสร้างขึ้นในรัฐอากวาอิโบม และรัฐโคกี
การท่องเที่ยว
แก้การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไนจีเรีย มีจุดเด่นในการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย การทำกิจกรรม และการสำรวจธรรมชาติรวมถึงป่าฝน สะวันนา และน้ำตกจากการมีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมาก และมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่น ๆ อาบูจาเมืองหลวงยังเป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวหลายแห่ง มิลเลนเนียมพาร์คเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในอาบูจา เปิดอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2003
ภายหลังจากโครงการปรับปรุงใหม่หลายโครงการซึ่งประสบความสำเร็จโดยฝ่ายบริหารของผู้ว่าการรัฐอย่างบาบาทุนเด แฟชอลา เลกอสก็ค่อย ๆ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในภูมิภาค ปัจจุบันกำลังก้าวสู่การเป็นเมืองระดับโลก และเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางธุรกิจ และเป็นศูนย์รวมความเป็นอัตลักษณ์ของชาวแอฟริกันและประชากรผิวสี[33] เลกอสมีหาดทรายสวยงามตั้งอยู่ริมมหาสมุทรแอตแลนติกรวมถึงหาดเอเลกุชี และหาดอัลฟา เลกอสมีโรงแรมหลากหลายตั้งแต่โรงแรมระดับ 3 ดาวถึง 5 ดาว เช่น โรงแรมเอโก, โรงแรมเฟเดอรัล พาเลซ รวมถึงสาขาของโรงแรงชื่อดังหลายแห่ง เช่น โรงแรมเชอราตัน และอินเตอร์คอนติเนนตัล
ประชากรศาสตร์
แก้ภาษา
แก้มีการประมาณการว่า ภาษาอย่างน้อย 525 ภาษาถูกใช้ในไนจีเรีย โดยจาก 525 ภาษาเหล่านี้ ปัจจุบันมีแปดภาษาที่ตายไปแล้ว ในบางพื้นที่ของไนจีเรีย กลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่นสามารถพูดได้มากกว่าหนึ่งภาษา[34] ภาษาราชการของไนจีเรียคือภาษาอังกฤษ ได้รับเลือกเพื่อส่งเสริมความสามัคคีทางวัฒนธรรมและการใช้ภาษาของประเทศเนื่องจากอิทธิพลของการล่าอาณานิคมของอังกฤษซึ่งสิ้นสุดใน ค.ศ. 1960 ภาษาไนจีเรียนพิดจินถูกใช้ครั้งแรกโดยทาสชาวอังกฤษและแอฟริกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าทาสในมหาสมุทรแอตแลนติกในช่วงปลายศตวรรษที่ 17[35] ได้เข้ามาแทนที่ภาษาพื้นเมืองของชาวไนจีเรียหลายภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญนับแต่นั้น ประชากรไนจีเรียจำนวนหนึ่งสื่อสารด้วยภาษาฝรั่งเศส อันเป็นผลมาจากจากประเทศโดยรอบซึ่งมีอิทธิพลครอบงำต่อการพูดภาษาอังกฤษในพื้นที่ชายแดนของไนจีเรีย และพลเมืองไนจีเรียบางคนสามารถใช้ภาษาฝรั่งเศสได้คล่องแคล่วในบริบทการทำงาน ภาษาฝรั่งเศสที่ถูกใช้ในไนจีเรียอาจผสมกับภาษาพื้นเมืองและภาษาอังกฤษบ้าง แตกต่างกันไปตามภูมิภาค
แม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่จะมักสื่อสารในภาษาของตน ทว่าภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาราชการก็ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในบริบทการศึกษา การทำธุรกรรม และทางธุรกิจ และในบริบททางการ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกที่ถูกใช้ในกลุ่มชนชั้นสูงในเมืองของประเทศ และไม่มีการใช้เลยในบางพื้นที่ในชนบท ภาษาถิ่นอย่าง เฮาซา เป็นภาษาที่พูดกันอย่างแพร่หลายที่สุดในสามภาษาหลักที่พูดในประเทศไนจีเรีย และเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของไนจีเรียอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท ภาษาหลักในการสื่อสารในประเทศจึงยังเป็นภาษาพื้นเมือง ภาษาพิดจินมีสถานะเป็นหนึ่งใน ภาษากลาง โดยพฤตินัยในภูมิภาคต่าง ๆ[36]
ศาสนา
แก้ประเทศไนจีเรียเป็นหนึ่งในสังคมที่มีพหุวัฒนธรรม รวมถึงความหลากหลายทางศาสนาสูง โดยศาสนาอิสลาม (ประชากรนับถือทางตอนเหนือเป็นส่วนใหญ่) และศาสนาคริสต์ (ทางตอนใต้เป็นส่วนใหญ่) เป็นศาสนาที่มีผู้นับถืออย่างกว้างขวางที่สุด ชาวไนจีเรียถูกแบ่งออกเป็นมุสลิมและคริสเตียนเกือบเท่า ๆ กัน โดยมีผู้นับถือศาสนาแอฟริกันดั้งเดิมและศาสนาอื่น ๆ บ้างส่วนน้อย อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งของประชากรคริสต์ศาสนิกชนในไนจีเรียลดลงอย่างมาก อันเนื่องจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับชาวมุสลิมในประเทศ[37] เช่นเดียวกับในภูมิภาคอื่น ๆ ของทวีปแอฟริกาที่ศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์มีอิทธิพลครอบงำสังคม ศาสนาอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับศาสนาหรือคำสอนของชาวแอฟริกันแบบดั้งเดิมพบเห็นได้ทั่วไป[38]
อ้างอิงจากสำนักวิจัยพิว ระบุว่าใน ค.ศ. 2010 ประชากรไนจีเรียกว่า 49.3% แสดงตนว่าเป็นคริสเตียน และ 48.8% เป็นชาวมุสลิม และ 1.9% นับถือศาสนาพื้นเมืองและศาสนาอื่น ๆ (เช่น โบรีทางตอนเหนือ) หรือไม่นับถือศาสนาใด ๆ เลย[39] อย่างไรก็ตาม ในรายงานที่เผยแพร่โดยสำนักดังกล่าว ระบุเพิ่มเติมว่าเมื่อ ค.ศ. 2015 ประชากรมุสลิมคาดว่าจะอยู่ที่ 50% และภายใน ค.ศ. 2060 ตามรายงานดังกล่าวชาวมุสลิมจะมีสัดส่วนประมาณ 60% ของการนับถือศาสนาในประเทศ การสำรวจสำมะโนประชากรปี 2010 ของคลังข้อมูลสมาคมศาสนายังรายงานด้วยว่า 48.8% ของประชากรทั้งหมดเป็นชาวคริสเตียนซึ่งมากกว่าประชากรมุสลิมเล็กน้อยที่ 43.4% ในขณะที่ 7.5% เป็นผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ[40] อย่างไรก็ตาม การประมาณการเหล่านี้ยังไม่อาจเชื่อถือได้นัก เนื่องจากข้อมูลตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รวบรวมจากเขตเมืองสำคัญทางตอนใต้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์[41][42]
นอกจากนี้ จากการประมาณการโดยเดอะเวิลด์แฟกต์บุ๊ก ค.ศ. 2018 ชี้ให้เห็นว่า ประชากรชาวมุสลิมคิดเป็นสัดส่วน 53.5% ตามมาด้วยคริสเตียนอีก 45.9% (โรมันคาทอลิก 10.6% และโปรเตสแตนต์ 35.3% และคริสเตียนอื่น ๆ ) และ 0.6% เป็นผู้นับถือศาสนาอื่น[43] ศาสนาอิสลามมีอิทธิพลครอบงำชาวไนจีเรียทางตะวันตกเฉียงเหนือ และไนจีเรียทางตะวันออกเฉียงเหนือตลอดหลายทศวรรษ (คานูรี ฟูลานี และกลุ่มอื่น ๆ) ทางทิศตะวันตก ชาวโยรูบาส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม โดยมีชาวคริสเตียนเป็นชนกลุ่มน้อยรองลงมา นอกเหนือจากผู้ที่นับถือศาสนาดั้งเดิมเพียงไม่กี่คน[44] ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ และคริสต์ศาสนาที่เจริญในท้องถิ่นนั้นมีการฝึกฝนกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่ภาคตะวันตก ในขณะที่นิกายโรมันคาทอลิกเป็นสาขาที่โดดเด่นกว่าในภูมิภาคไนจีเรียตะวันออกเฉียงใต้ เขตมิดเดิลเบลท์ แถบกลางของไนจีเรียประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยจำนวนมากที่สุดในประเทศ พบว่าส่วนใหญ่เป็นชาวคริสเตียนและสมาชิกของศาสนาดั้งเดิม โดยมีชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาวมุสลิมอีกจำนวนมาก[45]
สาธารณสุข
แก้การกำกับดูแลด้านสาธารณสุขในประเทศไนจีเรียเป็นความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นพร้อมกันของรัฐบาลสามระดับในประเทศ และภาคเอกชน รัฐบาลไนจีเรียได้จัดระบบสาธาณสุขใหม่นับตั้งแต่โครงการริเริ่มบามาโกใน ค.ศ. 1987 ซึ่งส่งเสริมวิธีการในชุมชนอย่างเป็นทางการ ในการเพิ่มการเข้าถึงยารักษาโรค และบริการดูแลสุขภาพให้กับประชากร โดยมีการเก็บค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง[46] กลยุทธ์ใหม่ของรัฐบาลในการเพิ่มการเข้าถึงการดูแลสุขภาพตามชุมชน ส่งผลให้การให้บริการมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกันมากขึ้น กลยุทธ์แนวทางที่ครอบคลุมได้ขยายไปยังทุกด้านของการดูแลสุขภาพ โดยมีการปรับปรุงตัวบ่งชี้การดูแลสุขภาพในระยะหลัง[47]
เกือบ 48% หรือกึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดระบุว่า ตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวอย่างน้อยหนึ่งรายเจ็บป่วยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มาลาเรียเป็นโรคติดเชื่อสำคัญที่คุกคามสาธารณสุขของประชากร คิดเป็น 88% ของอาการเจ็บป่วยทั้งหมด รวมถึงไข้รากสาดน้อยอีก 32%[48] ภาวะความดันโลหิตสูงอยู่ในอันดับที่สามด้วยร้อยละ 8 และสำหรับการป่วยด้วยโรคมาลาเรีย พบว่าชาวไนจีเรีย 41% เลือกรักษาตัวที่โรงพยาบาล ในขณะที่ 22% ไปร้านขายยา 21% และ 11% รับการรักษาโดยใช้สมุนไพร[49] อัตราการเกิดเอชไอวีในประเทศไนจีเรียต่ำกว่าประเทศอื่นในทวีปแอฟริกา เช่น บอตสวานาหรือแอฟริกาใต้ ซึ่งอัตราความชุกของการเกิดโรค (เปอร์เซ็นต์) อยู่ในเลขสองหลักโดยในปี 2019 พบว่าอัตราความชุกของเอชไอวีในประชากรผู้ใหญ่อายุ 15-49 ปีอยู่ที่เพียงร้อยละ 1.5 อย่างไรก็ตาม อัตราคาดหมายคงชีพเฉลี่ยของประชากรไนจีเรียอยู่ที่เพียง 54.7 ปี[50] ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ปัญหาหลักอีกหลายประการมาจากการสูบบุหรี่ และมลพิษในเมืองใหญ่ และระบบสาธารณสุขในพื้นที่ชนบท
ประชากรกว่า71% และ 39% สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำที่ได้รับการปรับปรุง และสุขาภิบาลที่ดีขึ้นตามลำดับ ในปี 2019 อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดอยู่ที่ 74.2 รายต่อ 1,000 ราย[51] ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในอันดับท้าย ๆ ของโลก ใน ค.ศ. 2012 มหาวิทยาลัยไนจีเรียเปิดตัวโครงการใหม่สำหรับผู้บริจาคไขกระดูก เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียวเพื่อรักษาช่วยชีวิต ไนจีเรียกลายเป็นประเทศที่สองในแอฟริกาที่ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดดังกล่าว ระบบการดูแลสุขภาพของไนจีเรียต้องเผชิญกับการขาดแคลนแพทย์ที่เรียกว่าภาวะ "สมองไหล" อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการอพยพของแพทย์ชาวไนจีเรียผู้มีทักษะไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรป ในปี 1995 มีแพทย์ชาวไนจีเรียประมาณ 21,000 คนปฏิบัติงานเฉพาะในสหรัฐเพียงประเทศเดียว ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนแพทย์ที่ทำงานในหน่วยงานบริการสาธารณะของไนจีเรีย การรักษาผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ไว้ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของรัฐบาล[52]
การศึกษา
แก้การศึกษาในประเทศไนจีเรียอยู่ภายใต้การดูแลโดยกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานท้องถิ่นมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินนโยบายการศึกษาสาธารณะที่ควบคุมโดยรัฐ และโรงเรียนของรัฐในระดับภูมิภาค ระบบการศึกษาแบ่งออกเป็น โรงเรียนอนุบาล, ประถมศึกษา, มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา หลังจากการเฟื่องฟูของเศรษฐกิจจากการส่งออกน้ำมันในทศวรรษ 1970 การศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้รับการปรับปรุงเพื่อที่จะเข้าถึงทุกภูมิภาคของไนจีเรีย 68% ของประชากรไนจีเรียสามารถอ่านออกเขียนได้ และอัตราการรู้หนังสือสำหรับเพศชาย (75.7%) สูงกว่าเพศหญิง (60.6%)[54]
รัฐบาลไนจีเรียรับรองให้มีการศึกษาโดยไม่เสียค่าเล่าเรียนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ไม่มีการบังคับเข้าเรียนในทุกระดับ และกลุ่มประชาบางกลุ่ม เช่น คนเร่ร่อน และผู้พิการ ไม่ได้รับบริการเท่าที่ควร เด็กชาวไนจีเรียเกือบ 10.5 ล้านคนที่มีอายุระหว่าง 5-14 ปีไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียน และมีเพียง 61% ของเด็กอายุ 6-11 ปีเท่านั้นที่เข้าโรงเรียนประถมศึกษาอย่างถาวร ระบบการศึกษาประกอบด้วยโรงเรียนประถมศึกษาซึ่งใช้เวลา 6 ปี, มัธยมศึกษาตอนต้นใช้เวลา 3 ปี, มัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี และการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย 4, 5 หรือ 6 ปีในระดับปริญญาตรีแล้วแต่สาขาวิชา รัฐบาลมีอำนาจควบคุมการศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่ การศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไนจีเรียประกอบด้วยมหาวิทยาลัย (ภาครัฐและเอกชน) โรงเรียนโปลีเทคนิค, โมโนเทคนิค และวิทยาลัยการศึกษา ประเทศนี้มีมหาวิทยาลัยทั้งหมด 138 แห่ง โดยเป็นของรัฐบาลกลาง 40 แห่ง และเอกชน 59 แห่ง ไนจีเรียอยู่ในอันดับที่ 113 ในดัชนีนวัตกรรมระดับโลกในปี 2024[55]
อาชญากรรม
แก้แม้ไนจีเรียจะปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยหลายทศวรรษ ทว่าการขาดเสถียรภาพทางการเมือง และการทุจริตส่งผลต่อการปราบปรามอาชญากรในประเทศตลอดหลายปี จากผลสำรวจพบว่ากว่า 68% ของประชากรรู้สึก "ไม่ปลอดภัย" ในการดำรงชีวิต และกว่า 77% ไม่ทราบหมายเลขโทรศัพท์เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่เมื่อเกิดเหตุร้าย[56] จากการสำรวจข้างต้นยังพบว่า ชาวไนจีเรียจำนวนมากเกรงกลัวการถูกปล้นหรือจี้ชิงทรัพย์ (24%) หรือถูกลักพาตัว (24%) รวมทั้งตกเป็นเหยื่อของกลุ่มโจรติดอาวุธ หรือการลักเล็กขโมยน้อย (8%) หรือถูกทำร้ายจากความขัดแย้งระหว่างคนเลี้ยงสัตว์และเกษตรกร (8% เช่นกัน) อัตราการฆาตกรรมในไนจีเรียแตกต่างกันไปอย่างมากในแต่ละรัฐ เมืองใหญ่อย่างเลกอส, คาโน และอิบาดัน ดูเหมือนว่าจะปลอดภัยกว่าพื้นที่ชนบท คาโนมีสถิติด้านการฆาตรกรรมที่ดีกว่าสหราชอาณาจักร
วัฒนธรรม
แก้เทศกาล
แก้มีเทศกาล และงานฉลองประจำชาติมากมายในไนจีเรีย บางเทศกาลนั้นมีประวัติเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการมาถึงของศาสนาหลักในสังคม ซึ่งล้วนแต่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม เทศกาลหลักของชาวมุสลิมและชาวคริสเตียนมักมีการเฉลิมฉลองในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ในท้องถิ่น บริษัทพัฒนาการท่องเที่ยวไนจีเรียกำลังทำงานร่วมกับรัฐประเทศต่าง ๆ เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้แก่งานฉลองเทศกาลดั้งเดิมซึ่งอาจกลายเป็นแหล่งรายได้จากการท่องเที่ยวที่สำคัญ[57]
แฟชั่น
แก้อุตสาหกรรมแฟชั่นในไนจีเรียมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เครื่องแต่งกายลำลองมักใช้สวมใส่ในโอกาสทั่วไป ในขณะที่สไตล์ที่เป็นทางการ และแบบดั้งเดิมพบเห็นได้ตามโอกาส ไนจีเรียไม่เพียงเป็นที่รู้จักในด้านสิ่งทอและเสื้อผ้าที่ทันสมัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักออกแบบแฟชั่นที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้นอีกด้วย ประมาณการว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นของไนจีเรียจะคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 15% ของตลาดในแอฟริกาใต้สะฮาราซึ่งมีมูลค่ารวม 31 พันล้านดอลลาร์[58] ไนจีเรียไม่เพียงเป็นที่รู้จักในเรื่องสิ่งทอ และเสื้อผ้าสำเร็จอันสะท้อนอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมเท่านั้น พวกเขายังเป็นประเทศผู้ส่งออกนักออกแบบแฟชั่นจำนวนมากซึ่งพัฒนาเทคนิคและธุรกิจมากมายไปพร้อมกัน
ภาพยนตร์
แก้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศเป็นที่รู้จักในชื่อ "Nollywood" (เกิดจากการหลอมคำระหว่าง Nigeria และ Hollywood)[59] และปัจจุบันเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์รายใหญ่อันดับสองของโลก แซงหน้าฮอลลีวูด และเป็นรองเพียงอินเดีย (Bolly Wood)
สตูดิโอภาพยนตร์ของไนจีเรียตั้งอยู่ในเมืองใหญ่อย่างเลกอส, กาโน และเอนูกู และเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจท้องถิ่นของเมืองเหล่านี้ โรงภาพยนตร์ไนจีเรียเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของทวีปแอฟริกาทั้งในด้านมูลค่าและจำนวนภาพยนตร์ที่ผลิตต่อปี แม้ว่าภาพยนตร์ของไนจีเรียจะมีการผลิตมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศได้รับความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีการถ่ายทำและตัดต่อดิจิทัลที่มีราคาไม่แพง ภาพยนตร์ระทึกขวัญปี 2009 เรื่อง The Figurine มีอิทธิพลต่อการปฏิวัติวงการภาพยนตร์ไนจีเรียยุคใหม่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวางในด้านรายได้ และยังเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติอีกด้วย[60]
ภายในสิ้นปี 2013 มีรายงานว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.72 ล้านล้านวอน (4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2014 อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่า 853.9 พันล้านวอน (5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้เป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับสามของโลกรองจากสหรัฐและอินเดีย มีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจของไนจีเรียประมาณ 1.4% อัยเป็นผลจากการเพิ่มจำนวนภาพยนตร์คุณภาพที่ผลิต และวิธีการจำหน่ายอย่างเป็นทางการมากขึ้น
อาหาร
แก้อาหารไนจีเรียได้รับอิทธิพลเช่นเดียวกับอาหารในชาติแอฟริกาตะวันตกทั่วไป ขึ้นชื่อในเรื่องความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของวัตถุดิบ เครื่องเทศ สมุนไพร และเครื่องปรุงรสต่าง ๆ มากมายถูกนำมาใช้ร่วมกับน้ำมันปาล์มหรือ น้ำมัน และถั่วลิสงเพื่อก่อให้เกิดซอสและซุปที่มีรสชาติเข้มข้น ซึ่งมักจะปรุงด้วยพริกรสเผ็ด อาหารไนจีเรียเน้นการตกแต่งด้วยสีสัน ในขณะที่ขนมหรืออาหารว่างมักมีกลิ่นหอม สามารถพบเห็นได้ตามตลาดและร้านข้างทางทั่วไป กรรมวิธีการปรุงบาร์บีคิว หรือการทอดในน้ำมันยังพบเห็นได้มากและหลากหลาย อาหารที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง ซูยา มักขายในเขตเมืองโดยเฉพาะในเวลากลางคืน[61]
กีฬา
แก้ฟุตบอลได้รับการยอมรับให้เป็นกีฬาที่เป็นที่นิยมที่สุด และมีสถานะเป็นกีฬาประจำชาติโดยพฤตินัย ไนจีเรียมีการแข่งขันฟุตบอลลีกเป็นของตนเองในชื่อ ไนจีเรียโปรเฟสชันนัลฟุตบอลลีก ทีมชาติไนจีเรียเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดทีมหนึ่งของทวีป ลงแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 6 ครั้ง (ค.ศ. 1994, 1998, 2002, 2010, 2014 และ 2018) มีฉายาภาษาไทยคือทีม "อินทรีมรกต" หรือ Super Eagle ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1994 ไนจีเรียขึ้นถึงอันดับ 5 ของโลกซึ่งเป็นสถิติสูงสุดของชาติจากทวีปแอฟริกา ไนจีเรียชนะเลิศแอฟริกาคัพออฟเนชันส์ 3 สมัยจากการเข้าชิงชนะเลิศ 8 ครั้ง และเคยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี และรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ไนจีเรียคว้าเหรียญทองในฟุตบอลชายโอลิมปิกฤดูร้อน 1996 ด้วยการชนะอาร์เจนตินา และกลายเป็นชาติแรกของทวีปแอฟริกาที่ชนะเลิศฟุตบอลในกีฬาโอลิมปิก
ไนจีเรียยังมีส่วนร่วมในกีฬาอื่น ๆ เช่น บาสเกตบอล คริกเกต และกรีฑา ทีมบาสเกตบอลแห่งชาติไนจีเรียเคยเป็นข่าวพาดหัวในระดับนานาชาติ เมื่อเป็นชาติในแอฟริกาทีมแรกที่เอาชนะทีมชายสหรัฐอเมริกาได้ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ ไนจีเรียผ่านเข้ารอบการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 โดยเอาชนะทีมชั้นนำของโลกที่เป็นที่ชื่นชอบอย่างกรีซและลิทัวเนียได้ ไนจีเรียเป็นบ้านของนักบาสเกตบอลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติจำนวนมากในลีกชั้นนำของโลก รวมถึงสหรัฐ, ยุโรป และเอเชีย ผู้เล่นเหล่านี้รวมถึง ฮาคีม โอลาจูวอน ผู้ได้รับการบรรจุชื่อเข้าสู่หอเกียรติยศโดยสมาคมบาสเกตบอลแห่งชาติซึ่งรู้กันในชื่อ NBA ลีกอาชีพของไนจีเรียพรีเมียร์ลีกได้กลายเป็นการแข่งขันบาสเกตบอลที่ใหญ่ที่สุดและมีผู้รับชมมากที่สุดในทวีปแอฟริกา การแข่งขันดังกล่าวออกอากาศทาง Kwese TV และมีผู้ชมเฉลี่ยมากกว่าหนึ่งล้านคน ทีมชาติหญิงและชายของไนจีเรียในการแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดได้เข้าร่วมการแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดคอนติเนนตัลคัพ ค.ศ. 2018–2020
อ้างอิง
แก้- ↑ "Nigeria Population Growth Rate 1950-2021". macrotrends. สืบค้นเมื่อ 21 June 2021.
- ↑ 2.0 2.1 "World Economic Outlook Database, October 2020 – Nigeria". International Monetary Fund. สืบค้นเมื่อ 15 October 2020.
- ↑ "Poverty and Inequality Index". National Bureau of Statistics. สืบค้นเมื่อ 2020-06-08.
- ↑ Human Development Report 2020 The Next Frontier: Human Development and the Anthropocene (PDF). United Nations Development Programme. 15 December 2020. pp. 343–346. ISBN 978-92-1-126442-5. สืบค้นเมื่อ 16 December 2020.
- ↑ "Nigeria - Colonialism, Independence, Civil War | Britannica". www.britannica.com (ภาษาอังกฤษ). 2024-11-02.
- ↑ "The female king of colonial Nigeria : Ahebi Ugbabe | WorldCat.org". search.worldcat.org.
- ↑ "Linguistic diversity in Africa and Europe". Languages Of The World (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2011-06-16.
- ↑ "Linguistic diversity in Africa and Europe". Languages Of The World (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2011-06-16.
- ↑ "Constitution of the Federal Republic of Nigeria". www.nigeria-law.org.
- ↑ Diamant, Jeff (2019-04-01). "The countries with the 10 largest Christian populations and the 10 largest Muslim populations". Pew Research Center (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Niger | Etymology of the name Niger by etymonline". www.etymonline.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Kperogi, Farooq A. "Natasha H. Akpoti's Wildly Inaccurate History of Nigeria". Notes From Atlanta.
- ↑ "The World Factbook". web.archive.org. 2014-02-09.
- ↑ Akpan, Samuel (2022-09-04). "Patrick Obahiagbon: Labour Party won't get 25% of votes in 24 states". TheCable (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ ราชบัณฑิตยสภา. ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 (หน้า 30-31)
- ↑ Burkett, Elinor (2009) Golda, HarperCollins, ISBN 0-06-187395-0, p. 202.
- ↑ "ASAS". web.archive.org. 2011-05-18.
- ↑ Timothy, Shaw (1984). "The State of Nigeria: Oil Prices Power Bases and Foreign Policy". Canadian Journal of African Studies. 18 (2): 393–405. doi:10.2307/484337. JSTOR 484337
- ↑ LeVan, Carl; Ukata, Patrick (2018). The Oxford Handbook of Nigerian Politics. Oxford: Oxford University Press. p. 756. ISBN 978-0-19-880430-7.
- ↑ Smith, Elliot (2020-09-29). "West Africa's new currency could now be delayed by five years". CNBC (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "World Bank Open Data". World Bank Open Data.
- ↑ "World Bank Open Data". World Bank Open Data.
- ↑ "Nigeria at a glance | FAO in Nigeria | Food and Agriculture Organization of the United Nations". www.fao.org.
{{cite web}}
: no-break space character ใน|title=
ที่ตำแหน่ง 20 (help) - ↑ "Rubber in Nigeria". The Observatory of Economic Complexity (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Okotie, Sylvester (2018-01-01), Ndimele, Prince E. (บ.ก.), "Chapter 5 - The Nigerian Economy Before the Discovery of Crude Oil", The Political Ecology of Oil and Gas Activities in the Nigerian Aquatic Ecosystem, Academic Press, pp. 71–81, ISBN 978-0-12-809399-3, สืบค้นเมื่อ 2024-11-04
- ↑ Ekpo, Akpan H. (1986). "Food dependency and the Nigerian economy: an ex-post analysis, 1960-80". The Nigerian Journal of Economic and Social Studies (ภาษาอังกฤษ). 28 (2): 257–273.
- ↑ "Why Nigeria has restricted food imports" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2019-08-16. สืบค้นเมื่อ 2024-11-04.
- ↑ "Nigeria at a glance | FAO in Nigeria | Food and Agriculture Organization of the United Nations". www.fao.org.
{{cite web}}
: no-break space character ใน|title=
ที่ตำแหน่ง 20 (help) - ↑ Nigeria, Guardian (2022-04-22). "Rice pyramids and Nigeria's production puzzle". The Guardian Nigeria News - Nigeria and World News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Nigeria closes part of border with Benin to check rice smuggling - Reuters". web.archive.org. 2019-08-29.
- ↑ Writer, Guest (2022-05-04). "Lagos today: Like Tinubu like Sanwo-Olu". TheCable (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "United Nations Treaty Collection". treaties.un.org (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Appiah, Anthony; Gates (Jr.), Henry Louis (2010). Encyclopedia of Africa (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. ISBN 978-0-19-533770-9.
- ↑ Ebihard, David M.; Simons, Gary F.; Fennig, Charles D., eds. (2019). "Nigeria". Ethnologue: Languages of the World (22th ed.). Dallas, TX: SIL International Publications. Archived from the original on 12 September 2019.
- ↑ "BBC starts Pidgin digital service for West Africa audiences". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2017-08-21. สืบค้นเมื่อ 2024-11-03.
- ↑ Adegbija, Efurosibina E. (2004). Multilingualism: A Nigerian Case Study (ภาษาอังกฤษ). Africa World Press. ISBN 978-1-59221-173-9.
- ↑ McKinnon, Andrew (2021-06-01). "Christians, Muslims and Traditional Worshippers in Nigeria: Estimating the Relative Proportions from Eleven Nationally Representative Social Surveys". Review of Religious Research (ภาษาอังกฤษ). 63 (2): 303–315. doi:10.1007/s13644-021-00450-5. ISSN 2211-4866.
- ↑ Chitando, Ezra (editor: Afe Adogame), African Traditions in the Study of Religion, Diaspora and Gendered Societies, Routledge (2016), p. 31, ISBN 9781317184188 [2] Archived 27 June 2024 at the Wayback Machine
- ↑ "Global Religious Landscape Table - Percent of Population - Pew Forum on Religion & Public Life". web.archive.org. 2013-01-01.
- ↑ "The Association of Religion Data Archives | National Profiles". web.archive.org. 2018-10-16.
- ↑ Author, No (2013-06-04). "Regional Categorization". Pew Research Center (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
{{cite web}}
:|last=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ Author, No (2011-01-27). "The Future of the Global Muslim Population". Pew Research Center (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
{{cite web}}
:|last=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ "Nigeria", The World Factbook (ภาษาอังกฤษ), Central Intelligence Agency, 2024-10-23, สืบค้นเมื่อ 2024-11-03
- ↑ academic.oup.com https://academic.oup.com/view-large/35408497?login=false.
{{cite web}}
:|title=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ "Nigeria", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2024-10-31, สืบค้นเมื่อ 2024-11-03
- ↑ "Health Systems Resource Guide: user fees". web.archive.org. 2006-11-28.
- ↑ "Effect of the Bamako-Initiative drug revolving fund on availability and rational use of essential drugs in primary health care facilities in south-east Nigeria -- Uzochukwu et al. 17 (4): 378 -- Health Policy and Planning". web.archive.org. 2007-08-28.
- ↑ NOIPolls (2023-05-15). "Malaria Disease: A Worrisome Health Challenge in Nigeria". NOIPolls (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ NOIPolls (2023-05-15). "Malaria Disease: A Worrisome Health Challenge in Nigeria". NOIPolls (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Nations, United. "Country Insights" (ภาษาอังกฤษ).
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ "World Bank Open Data". World Bank Open Data.
- ↑ "BRAIN DRAIN THE NIGERIAN EXPERIENCE". web.archive.org. 2011-05-27.
- ↑ "Lagos State University". Times Higher Education (THE) (ภาษาอังกฤษ). 2021-11-12.
- ↑ "About this Collection | Country Studies | Digital Collections | Library of Congress". Library of Congress, Washington, D.C. 20540 USA.
- ↑ "Global Innovation Index 2024". www.wipo.int (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ NOIPolls (2022-05-27). "7 In 10 Nigerians find "state of security" dreadful". NOIPolls (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ The Report: Nigeria 2010 (ภาษาอังกฤษ). Oxford Business Group. ISBN 978-1-907065-14-9.
- ↑ "Stears: Explore data-driven insights on Africa". www.stears.co.
- ↑ "Lights, camera, Africa". The Economist. ISSN 0013-0613. สืบค้นเมื่อ 2024-11-04.
- ↑ "Jane Thorburn - Research - NOLLYWOOD 2 Doing It Right". www.janethorburn.co.uk (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Nigerian roadside barbecue shacks thrive in the midst of Islamist insurgency - Raw Story". www.rawstory.com (ภาษาอังกฤษ).
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Nigeria
- รัฐบาล
- เว็บไซต์ทางการ
- Nigeria entry at The World Factbook
- Nigeria เก็บถาวร 2010-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน from UCB Libraries GovPubs
- เศรษฐกิจ
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Banknotes of Nigeria
- การศึกษา
- ด้านการท่องเที่ยว
- คู่มือการท่องเที่ยว Nigeria จากวิกิท่องเที่ยว (ในภาษาอังกฤษ)
- ข้อมูลทั่วไป
- ประเทศไนจีเรีย ที่เว็บไซต์ Curlie
- Nigeria profile from the BBC News
- Wikimedia Atlas of Nigeria
- Know More About Nigeria
- Key Development Forecasts for Nigeria from International Futures