ข้าวโพด
ข้าวโพด | |
---|---|
ข้าวโพดชนิดต่าง ๆ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Liliopsida |
อันดับ: | Poales |
วงศ์: | Poaceae |
สกุล: | Zea |
สปีชีส์: | Z. mays |
ชื่อทวินาม | |
Zea mays L. |
ข้าวโพด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Zea mays Linn.) ชื่ออื่น ๆ ข้าวสาลี สาลี (เหนือ) คง (กระบี่) โพด (ใต้) บือเคเส่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ยาฆง (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) เป็นพืชตระกูลเดียวกับหญ้ามีลำต้นสูง โดยเฉลี่ย 2.2 เมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น 0.5–2.0 นิ้ว เมล็ดจากฝักใช้เป็นอาหารคนและสัตว์
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
แก้ข้าวโพดเป็นพืชจำพวกบาสซ่า รากชั่วคราว เรียกว่า ไพรี หลังจากข้าวโพดเจริญเติบโตได้ประมาณ 7–10 วัน รากถาวรจะงอกขึ้นรอบ ๆ ข้อปลาในระดับใต้พื้นดินประมาณ 1–2 นิ้ว รากถาวรนี้ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะแผ่ออกไปโดยรอบประมาณ 100 เซนติเมตร รากของข้าวโพดเป็นระบบรากฝอย (fibrous root system) นอกจากรากที่อยู่ใต้ดินแล้ว ยังมีรากยึดเหนี่ยว (brace root) ซึ่งเกิดขึ้นรอบ ๆ ข้อที่อยู่ใกล้ผิวดิน มีลำต้นตั้งตรงแข็งแรง เนื้อภายในฟ่ามคล้ายฟองน้ำสูงประมาณ 1.4 เมตร ลำต้นมีข้อ (node) และปล้อง (internode) ปล้องที่อยู่ในดินและใกล้ผิวดินสั้น และจะค่อย ๆ ยาวขึ้นไปทางด้านปลาย ปล้องเหนือพื้นดินจะมีจำนวนประมาณ 8–20 ปล้อง ลำต้นสดมีสีเขียว ใบ ยาวรี เป็นเส้นตรงปลายแหลม ยาวประมาณ 30–100 ซม. เส้นกลางของใบจะเห็นได้ชัด ตรงขอบใบมีขนอ่อน ๆ มีเขี้ยวใบ ลักษณะของใบรวมทั้งสีของใบแตกต่างกันไป แล้วแต่ชนิดของพันธุ์ บางพันธุ์ใบสีเขียว บางพันธุ์ใบสีม่วงและบางพันธุ์ใบลาย จำนวนใบก็เช่นเดียวกันอาจมีตั้งแต่ 8–48 ใบ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน ช่อดอกตัวผู้อยู่ส่วนยอดของลำต้น ช่อดอกตัวเมียอยู่ต่ำลงมาอยู่ระหว่างกาบของใบ และลำต้น ช่อดอกตัวผู้ (tassel) อยู่ตอนบนสุดของลำต้น ดอกตัวผู้ดอกหนึ่งจะมีอับเกสร (anther) 3 อับ ส่วนดอกตัวเมียอยู่รวมกันเป็นช่อ เกิดขึ้นตอนข้อกลาง ๆ ลำต้น ฝักเกิดจากดอกตัวเมียที่เจริญเติบโตแล้ว ฝักอ่อนจะมีสีเขียว พอแก่เป็นสีนวล
ถิ่นกำเนิด
แก้เป็นที่ยอมรับกันว่า ข้าวโพดมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา อาจจะเป็นอเมริกากลางเช่นในประเทศเม็กซิโก หรืออาจจะเป็นอเมริกาใต้ ในปี พ.ศ. 2035 เมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา ยังไม่พบการปลูกข้าวโพดในทวีปอื่น ๆ ต่อมาปี พ.ศ. 2036 โคลัมบัสจึงนำข้าวโพดกลับไปยังยุโรปแล้วข้าวโพดจึงได้เกิดการขยายพันธุ์ต่อไป[1] ปัจจุบันนิยมปลูกแพร่หลายในแถบอเมริกา แคนาดา สามารถปลูกได้ในสภาพที่ภูมิอากาศแตกต่างกันมาก ๆ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ เพราะสามารถนำมาเลี้ยงสัตว์ได้ทั้งต้น ใบ และเมล็ด
การนำเข้ามาในประเทศไทย
แก้สำหรับประเทศไทย คนไทยมักจะ นำข้าวโพดมาเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดย หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ได้นำข้าวโพดพันธุ์ที่ใช้เลี้ยงสัตว์มาปลูกและทดลองใช้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นที่รู้จักกันน้อย จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การใช้ข้าวโพดเริ่มแพร่หลายขึ้นเนื่องจาก หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้นำการเลี้ยงไก่แบบการค้ามาเริ่มสาธิต และกระตุ้นให้ประชาชนปฏิบัติตาม ผู้เลี้ยงไก่จึงรู้จัก และใช้ข้าวโพดมากขึ้นกว่าเดิม แต่เนื่องจากในเวลานั้นข้าวโพดมีราคาสูงและหายาก การใช้ข้าวโพดจึงใช้เป็นเพียงส่วนประกอบของอาหารหลัก ซึ่งมีรำและปลายข้าวเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันข้าวโพดเป็นที่รู้จักและใช้เลี้ยงสัตว์ อย่างแพร่หลาย เพราะปัจจุบันประเทศไทยได้ผลผลิดจากข้าวโพด เป็นจำนวนมาก
โดยทั่วไปข้าวโพดจัดออกเป็น 6 กลุ่ม คือ
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือข้าวโพดไร่ (Field Corn) ที่รู้จักในปัจจุบันเช่นข้าวโพดหัวบุ๋ม (Dent Corn) และข้าวโพดหัวแข็ง (Flint Corn) ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะเมล็ดข้าวโพดหัวบุ๋มหรือหัวบุบ ข้าวโพดชนิดนี้เมื่อเมล็ดแห้งแล้วตรงส่วนหัวบนสุดจะมีรอยบุ๋มลงไป ซึ่งเป็นส่วนของแป้งสีขาว ข้าวโพดชนิดนี้สำคัญมากและนิยมปลูกกันมากใน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะทางแถบคอร์นเบลท์ สีของเมล็ดมีตั้งแต่ขาวไปจนถึงเหลือง เนื่องจากมีหลายสายพันธุมีโปรตีนน้อยกว่าพวกข้าวโพดหัวแข็ง ข้าวโพดหัวแข็ง ข้าวโพดพันธุ์นี้ส่วนบนสุดของเมล็ดมักมีสีเหลืองจัดและเมื่อแห้งจะแข็งมาก ภายในเมล็ดมีสารที่ทำให้ข้าวโพดมีสีเหลืองจัดเป็นสารให้สีที่ชื่อ คริปโทแซนทิน (Cryptoxanthin) สารนี้เมื่อสัตว์ได้รับร่างกายสัตว์จะเปลี่ยนสารนี้ให้เป็นวิตามินเอ นอกจากนี้สารนี้ยังช่วยให้ไข่แดงมีสีแดงเข้ม ช่วยให้ไก่มีผิวหนัง ปาก เนื้อ และแข้งมีสีเหลืองเข้มขึ้น เป็นที่นิยมของตลาดโดยเฉพาะแถบอเมริกาส่วนอังกฤษนั้นนิยมใช้ข้าวโพดขาว ประเทศไทยนิยมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบที่มีสีเหลืองเข้ม มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เกือบตลอดทั้งปี กระจายในพื้นที่ภาคกลาง ตอนกลางของประเทศ ภาคอีสานตอนบน และภาคเหนือ พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวนมากได้แก่ น่าน แพร่ เลย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ลพบุรี เชียงใหม่
- ข้าวโพดหวาน (Sweet Corn) เป็นข้าวโพดที่คนใช้รับประทาน ไม่มีการแปรรูป เมล็ดมักจะใสและเหี่ยวเมื่อแก่เต็มที่ เพราะมีน้ำตาลมาก ก่อนที่จะสุกจะมีรสหวานมากกว่าชนิดอื่น ๆ จึงเรียกข้าวโพดหวาน มีหลายสายพันธุ์
- ข้าวโพดคั่ว (Pop Corn) เป็นข้าวโพดที่คนใช้รับประทาน ไม่มีการแปรรูป เมล็ดค่อนข้างแข็ง สีดีและขนาดแตกต่างกัน สำหรับต่างประเทศ ถ้าเมล็ดมีลักษณะแหลมเรียกว่า ข้าวโพดข้าว (Rice Corn) ถ้าเมล็ดกลม เรียกว่า ข้าวโพดไข่มุก (Pearl Corn)
- ข้าวโพดแป้ง (Flour Corn) เมล็ดมีสีหลายชนิด เช่น ขาว (ขุ่น ๆ หรือปนเหลืองนิด ๆ) หรือสีน้ำเงินคล้ำ หรือมีทั้งสีขาวและสีน้ำเงินคล้ำในฝักเดียวกัน เนื่องจากกลายพันธุ์ พวกที่มีเมล็ดสีคล้ำและพวกกลายพันธุ์เรียกว่าข้าวโพดอินเดียนแดง (Squaw Corn) หรือเรียกได้อีกชื่อว่าข้าวโพดพันธุ์พื้นเมือง (Native Corn) พวกข้าวโพดสีคล้ำนี้จะมีไนอาซิน สูงกว่าข้าวโพดที่มีแป้งสีขาว
- ข้าวโพดเทียน (Waxy Corn) เป็นข้าวโพดที่คนใช้รับประทาน จะมีแป้งที่มีลักษณะเฉพาะคือ นุ่มเหนียว เพราะในเนื้อแป้งจะประกอบด้วยแป้งพวกอะไมโลเพกทิน (Amylopectin) ส่วนข้าวโพดอื่น ๆ มีแป้งแอมิโลส (Amylose) ประกอบอยู่ด้วย จึงทำให้แป้งค่อนข้างแข็ง
- ข้าวโพดป่า (Pod Corn) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส ทูนิกา (Zea mays tunica) มีลักษณะใกล้เคียงข้าวโพดพันธุ์ป่า มีลำต้น และฝักเล็กกว่าข้าวโพดธรรมดา ขนาดเมล็ดค่อนข้างเล็กเท่าๆ กับเมล็ดข้าวโพดมีขั้วเปลือกหุ้มทุกเมล็ด และยังมีเปลือกหุ้มฝักอีกชั้นหนึ่งเหมือนข้าวโพดธรรมดาทั่วๆ ไป เมล็ดมีลักษณะต่างๆ กัน ข้าวโพดชนิดนี้ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ปลูกไว้เพื่อการศึกษาเท่านั้น
ข้าวโพดที่ใช้เลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ ที่นิยมปลูกในประเทศไทยได้แก่ พันธุ์กัวเตมาลา พียี 12 (Rep.1) กัวเตมาลา พีบี 12 (Rep.2) พีบี 5 ข้าวโพดเหนียว และโอเปค-2 มีเมล็ดตั้งแต่สีขาว สีเหลืองไปจนถึงสีแดง ขนาดของเมล็ดขึ้นอยู่กับพันธุ์ โดยทั่วไปจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ในช่วง 0.5–0.8 ซม. ก่อนนำมาเลี้ยงสัตว์จึงต้องบดก่อนเพื่อช่วยให้การย่อยและการผสมได้ผลดีขึ้น ที่บดแล้วจะมีขนาดประมาณ 1–8 มม.
คุณค่าทางโภชนาการ
แก้ข้าวโพด 100 กรัม จะให้พลังงาน 86 กิโลแคลอรี่ (คิดเป็น 10–19% ของพลังงานที่รางกายต้องการใน 1 วัน) และยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย ดังแสดงในตาราง
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม (3.5 ออนซ์) | |
---|---|
พลังงาน | 360 กิโลจูล (86 กิโลแคลอรี) |
18.7 กรัม | |
แป้ง | 5.7 กรัม |
น้ำตาล | 6.26 กรัม |
ใยอาหาร | 2 กรัม |
1.35 กรัม | |
3.27 กรัม | |
ทริปโตเฟน | 0.023 กรัม |
ทรีโอนีน | 0.129 กรัม |
ไอโซลิวซีน | 0.129 กรัม |
ลิวซีน | 0.348 กรัม |
ไลซีน | 0.137 กรัม |
เมไธโอนีน | 0.067 กรัม |
ซิสตีน | 0.026 กรัม |
ฟีนิลอะลานีน | 0.150 กรัม |
ไทโรซีน | 0.123 กรัม |
วาลีน | 0.185 กรัม |
อาร์จินีน | 0.131 กรัม |
ฮิสทิดีน | 0.089 กรัม |
อะลานีน | 0.295 กรัม |
กรดแอสปาร์ติก | 0.244 กรัม |
กลูตาเมต | 0.636 กรัม |
ไกลซีน | 0.127 กรัม |
โพรลีน | 0.292 กรัม |
ซีรีน | 0.153 กรัม |
วิตามิน | |
วิตามินเอ | (1%) 9 μg644 μg |
ไทอามีน (บี1) | (13%) 0.155 มก. |
ไรโบเฟลวิน (บี2) | (5%) 0.055 มก. |
ไนอาซิน (บี3) | (12%) 1.77 มก. |
(14%) 0.717 มก. | |
วิตามินบี6 | (7%) 0.093 มก. |
โฟเลต (บี9) | (11%) 42 μg |
วิตามินซี | (8%) 6.8 มก. |
แร่ธาตุ | |
เหล็ก | (4%) 0.52 มก. |
แมกนีเซียม | (10%) 37 มก. |
แมงกานีส | (8%) 0.163 มก. |
ฟอสฟอรัส | (13%) 89 มก. |
โพแทสเซียม | (6%) 270 มก. |
สังกะสี | (5%) 0.46 มก. |
องค์ประกอบอื่น | |
น้ำ | 75.96 กรัม |
ประมาณร้อยละคร่าว ๆ โดยใช้การแนะนำของสหรัฐสำหรับผู้ใหญ่ แหล่งที่มา: USDA FoodData Central |
ปริมาณข้าวโพด
แก้ข้าวโพดเลี้ยงสัตวมีการปลูกกันมากทั่วโลก และมีปริมาการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นทุกปีมากกว่าธัญพืชชนิดอื่น ๆ ประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถผลิตข้าวโพดมากถึง 40% ของโลก และประเทศอื่นที่สามารถผลิตข้าวโพดได้มาก เช่น จีน, บราซิล, เม็กซิโก, อินโดนีเซีย, อินเดีย, ฝรั่งเศสและอาร์เจนตินา ในปี ค.ศ. 2009 สามารถผลิตข้าวโพดได้ 817 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าข้าวและข้าวสาลีที่ผลิตได้ 678 และ 682 ล้านตัน ตามลำดับ ในปี ค.ศ. 2009 มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากกว่า 3,900 ล้านไร่
สิบอันดับประเทศผู้ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์[3] | |
---|---|
ประเทศ | ปริมาณ (ตัน) |
สหรัฐ | 353,699,441 |
จีน | 217,730,000 |
บราซิล | 80,516,571 |
อาร์เจนตินา | 32,119,211 |
ยูเครน | 30,949,550 |
อินเดีย | 23,290,000 |
เม็กซิโก | 22,663,953 |
อินโดนีเซีย | 18,511,853 |
ฝรั่งเศส | 15,053,100 |
แอฟริกาใต้ | 12,365,000 |
ทั้งโลก | 1,016,431,783 |
ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ
แก้ข้าวโพดสามารถส่งเสริมการย่อยสลายพีเอเอชที่ปนเปื้อนในดิน เช่นย่อยสลาย ฟีแนนทรีน ไพรีนได้ 90% ที่ความเข้มข้นเริ่มต้น 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม[4] และยังส่งเสริมการย่อยสลาย แอนทราซีน[5] เอนโดซัลแฟน ซัลเฟต[6]ได้ด้วย จึงมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ฟื้นฟูดินที่ปนเปื้อนสารมลพิษอินทรีย์
อ้างอิง
แก้- ↑ อุดมแก้ว, อารีย์ลักษณ์ (2012). หงสาภินันทน์, ทวีศักดฺ์ (บ.ก.). การปลูกข้าวโพดในประเทศไทย. ประเทศไทย: Something to read Co. p. 3. ISBN 978-616-241-212-7.
- ↑ "ข้าวโพด".ศูนย์องค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สืบค้นเมือ 2567-06-17
- ↑ "FAOSTAT". Food and Agriculture Organization of the United Nations. สืบค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2014.
- ↑ Chouychai W, Thongkukiatkul A, Upatham S, Lee H, Pokethitiyook P, Kruatrachue M (มกราคม 2009). "Plant-enhanced phenanthrene and pyrene biodegradation in acidic soil" (PDF). Journal of Environmental Biology. 30 (1): 139–144. ISSN 0254-8704. PMID 20112876.
- ↑ K. Somtrakoon, W. Chouychai, H. Lee. Comparing Anthracene and Fluorene Degradation in Anthracene and Fluorene-Contaminated Soil by Single and Mixed Plant Cultivation. International Journal of Phytoremediation. 2014. 16: 415–428. doi:10.1080/15226514.2013.803024
- ↑ K. Somtrakoon, M. Kruatrachue, H. Lee. Phytoremediation of Endosulfan Sulfate-Contaminated Soil by Single and Mixed Plant Cultivations. Water, Air, & Soil Pollution. 2014. 225 (1886). doi:10.1007/s11270-014-1886-0.
ดูเพิ่ม
แก้- พันทิพา พงษ์เพียจันทร์. "หลักการอาหารสัตว์ หลักโภชนศาสตร์และการประยุกต์". ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2547. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. ISBN 974-97-1215-3.
- "ข้าวโพด". มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 มกราคม 2007.
- "ข้าวโพด เก็บถาวร 2007-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". เว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- "Tracking the Ancestry of Corn Back 9,000 Years". New York Times. 25 พฤษภาคม 2010.
- "Crop Wild Relatives Gap Analysis Portal". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 เมษายน 2011. reliable information source on where and what to conserve ex-situ, regarding Zea genepool
- Growing Corn Information on the uses and starting of corn seed
- Zea mays เก็บถาวร 2011-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ที่ Plants For A Future
- Maize Genetics and Genomics Database project
- The Maize Genome Sequence Browser
- Corn ที่เว็บไซต์ Curlie
- Zea mays, corn taxonomy, facts, life cycle, kernel anatomy เก็บถาวร 2015-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ที่ GeoChemBio.com
- Major topic "Zea mays": free full text articles ที่ National Library of Medicine