สวนสาธารณะ (อังกฤษ: parks หรือ public parks) หมายถึงบริเวณสาธารณะที่ภาครัฐ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จัดให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชนตามชุมชนและเมืองต่าง ๆ โดยรัฐเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดูแลรักษา ปัจจุบัน การจัดที่พักผ่อนหย่อนใจถือเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่สวนสาธารณะในความหมายนี้ อาจจัดสร้างโดยเอกชนแล้วอุทิศให้แก่ประชาชนก็ได้

สวนลุมพินี สวนสาธารณะใจกลางกรุงเทพมหานคร

ความเป็นมาของสวนสาธารณะ

แก้

สวนสาธารณะในความหมายปัจจุบันเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกในประเทศอังกฤษในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ตรงกับช่วงระหว่างกลางสมัยกรุงธนบุรีถึงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ การพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้แรงงานมากมายจากชนบทอพยพมาทำงาน และอยู่ในเมืองกันอย่างแออัดในบริเวณ "สลัม" ที่ขาดสุขลักษณะ กรรมกรเหล่านี้จึงบุกรุกไปใช้ที่ว่างเปล่าเพื่อพักผ่อนและเล่นกีฬาและบางครั้งลุกล้ำเข้าไปใช้สวนส่วนตัวของขุนนางและกษัตริย์จนถูกลงโทษอยู่เนือง ๆ จนลุกลามเป็นจลาจลรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และเกิดการเรียกร้องที่กลายเป็น "ขบวนการอุทยานเพื่อประชาชน" (People’s Parks Movement) ที่เริ่มจากการยอมให้ประชาชนเข้าไปใช้อุทยานอย่างมีเงื่อนไข ไปจนถึงช่วงที่มีการบุกพังรั้วเข้าไปใช้อุทยานไฮด์หรือไฮด์ปาร์ก (Hyde Park) เพื่อทำกิจกรรมการพักผ่อนตามความพอใจ

ตั้งแต่นั้นมาอุทยานต่าง ๆ ที่ยอมเปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้จะถูกเรียกว่า "อุทยานประชาชน" (people's parks) เพื่อให้แตกต่างอุทยานของขุนนางและกษัตริย์และได้กลายเป็น อุทยานหรือสวนสาธารณะ (public parks) ในปัจจุบัน

สวนสาธารณะเบอร์ก็นเฮด (Birkenhead Park) ใกล้เมืองลิเวอร์พูล ในประเทศอังกฤษถือเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของโลกที่สร้างด้วยเงินภาษีของประชาชน เปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2390 จากนั้นมา แนวคิดการจัดทำสวนสาธารณะได้แพร่หลายไปตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก รวมทั้ง "เซ็นทรัลปาร์ก" ในนครนิวยอร์ก (ออกแบบโดย เฟรเดอริก ลอว์ ออล์มสเตด พ.ศ. 2401 ใช้เวลาสร้างมากกว่า 10 ปี) ปัจจุบัน สวนสาธารณะได้กลายเป็นมาตรฐานในการวางแผนและพัฒนาเมือง

การแบ่งสวนสาธารณะตามกิจกรรม

แก้

ด้านรูปแบบ สวนสาธารณะจะเน้นหนักกิจกรรมนันทนาการ หรือการพักผ่อนหย่อนใจเท่ากับหรือมากกว่าด้านความสวยงาม ซึ่งแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่การพักผ่อนหรือนันทนาการแบบผ่อนคลาย (passive recreation) และนันทนาการแบบกระฉับกระเฉง (active recreation) ปกติกิจกรรมทั้งสองประเภทนี้มักขัดแย้งกัน การจัดแบ่งเขตหรือโซนจึงมีความจำเป็น อย่างไรก็ดีการแบ่งโซนเด็ดขาดมักสร้างปัญหา และการกำหนดชนิดของกิจกรรมเองก็มักมีปัญหาไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ สวนสาธารณะที่ดีจึงต้องสนองประโยชน์ใช้สอยสูงสุดและต้องสวยงามด้วย การออกแบบสวนสาธารณะจึงมีความสำคัญ

ประเภทสวนสาธารณะตามขนาด

แก้

การจัดประเภทสวนสาธารณะตามขนาด อ้างอิงจากสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2553 ได้แบ่งประเภทสวนสาธารณะตามลักษณะพื้นที่และ วัตถุประสงค์ของการใช้งานไว้ 5 ประเภทได้แก่[1]

  1. สวนหย่อมขนาดเล็กย่านชุมชน (pocket park หรือ mini park) มีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่ และมีรัศมีบริการเป็นวงรอบประมาณ 1 กิโลเมตร ประชาชนใช้บริการได้ในระยะเดินเข้าถึงใช้เวลา 5 – 10 นาที
  2. สวนละแวกบ้าน (neighborhood park) มีพื้นที่มากกว่า 2 ไร่ แต่ไม่เกิน 25 ไร่ และรัศมีบริการเป็นวงรอบประมาณ 1 – 3 กิโลเมตร
  3. สวนชุมชน (community park) มีพื้นที่มากกว่า 25 ไร่ แต่ไม่เกิน 125 ไร่ และมีรัศมีบริการเป็นวงรอบประมาณ 3 – 8 กิโลเมตร
  4. สวนสาธารณะระดับย่าน (district park) หรือสวนสาธารณะขนาดกลาง (regional park) มีพื้นที่มากกว่า 125 ไร่ แต่ไม่เกิน 500 ไร่ และมีรัศมีเป็นบริการวงรอบมากกว่า 8 กิโลเมตรขึ้นไป
  5. สวนสาธารณะระดับเมือง (regional park) หรือสวนสาธารณะขนาดใหญ่ (metro park) มีพื้นที่มากกว่า 500 ไร่ขึ้นไป และมีรัศมีบริการเป็นวงรอบแก่คนทั้งเมืองและพื้นที่ใกล้เคียงในเขตอิทธิพลของเมือง

สวนสาธารณะในประเทศไทย

แก้

ประเทศไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมมาแต่โบราณ แม้ในเมืองก็ยังมีที่โล่งว่างไม่แออัดมาก จึงไม่มีความต้องการสวนสาธารณะดังความหมายปัจจุบัน อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานที่ดิน 360 ไร่ ณ ทุ่งศาลาแดงสำหรับสร้างสยามรัฐพิพิธภัณฑ์และจัดให้เป็น "วนสาธารณะ" ให้ประชาชนใช้พักผ่อนอย่างต่างประเทศ และพระราชทานนามว่า "สวนลุมพินี" จึงถือกันว่าสวนลุมพินีเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย แม้ก่อนหน้านั้นจะมีการสร้างอุทยานหรือสวนหลายแห่งมาก่อน เช่น สวนดุสิต สวนสุนันทา หรือ อุทยานสราญรมย์ เป็นต้น แต่ไม่ถือเป็นสวนสาธารณะ สมัยรัชกาลที่ 7-8 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกและมีสงครามโลกครั้งที่สองจึงไม่มีการสร้างสวนสาธารณะหรืออุทยานเกิดขึ้นอีก

สวนลุมพินีก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 7 ดูแลโดยกรมนคราทร (กรมโยธาธิการและผังเมืองปัจจุบัน) ต่อมาได้โอนให้เทศบาลนครกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น การใช้สวนลุมพินีในช่วงแรกๆ มีการใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์กันมาก เช่น ใช้เป็นที่จัดงานต่างๆ รวมทั้งใช้เป็นที่สร้างโรงไฟฟ้า โรงเรียน ทั้งไทยและจีน ให้เช่าทำภัตตาคารทั้งบนบกและในน้ำ รวมถึงภัตตาคารกินรีนาวา ผู้ใช้ที่ใช้สวนเพื่อพักผ่อนออกกำลังกายจริงๆ จังๆ มักเป็นชาวต่างประเทศ คนไทยจำนวนน้อยที่ใช้ มักเป็นคนยากจนใช้เป็นที่พักผ่อนและหารายได้จากการขายของ ส่วนคนไทยมีอันจะกินมักเข้าไปใช้ภัตตาคาร การใช้ในทางที่ผิดทำให้สวนลุมพินีทรุดโทรม ไม่ปลอดภัย ไม่เหมาะกับการเป็นสวนสาธารณะตามความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ประมาณปี พ.ศ. 2514 เทศบาลนครหลวงได้ตั้งกรรมการปรับปรุงสวนลุมพินีขึ้น เนื่องจากการมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนและองค์กรเอกชน ต่อมา เทศบาลฯ จึงเริ่มให้ความสำคัญในการจัดเพิ่มสวนสาธารณะ เช่น การปรับปรุงสถานเพาะชำฝั่งธนบุรีให้เป็นสวนธนบุรีรมย์ ปรับปรุงอุทยานสราญรมย์ที่ถูกใช้เป็นที่ทำการของคณะราษฎรและที่จัดงานวชิราวุธ รวมทั้งสวนสาธารณะพระนครที่ลาดกระบังเดิมที่มีสภาพทรุดโทรมให้มีสภาพใช้งานได้ แต่งานส่วนใหญ่เน้นการสร้างอย่าง "สวนหย่อม" ซึ่งไม่ถือเป็นสวนสาธารณะ สำหรับในต่างจังหวัด เทศบาลต่างๆ เริ่มตื่นตัวสร้างสวนสาธารณะมากขึ้น เช่น การปรับปรุงพรุบาโกยจังหวัดยะลาและการสร้างและปรับปรุงที่ว่างให้เป็นสวนสาธารณะในจังหวัดอื่นๆ หลายแห่ง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการสร้างสวนสาธารณะเพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ

ขบวนการสวนสาธารณะของประเทศไทย

แก้

ประเทศไทยก็มี "ขบวนการสวนสาธารณะ" เช่นกัน แต่มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนประเทศอื่นใดในโลก คือเกิดด้วยพระราชดำริและพระบารมีของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2516 เวลาประมาณ 9.40 น. ท่ามกลางเรียงเรียกร้องหาสวนสาธารณะที่ไร้ผลของสาธารณชน หม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ได้โทรศัพท์แจ้งการรถไฟแห่งประเทศไทยความว่า

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระราชดำริว่า พระองค์มีพระราชทรัพย์อยู่จำนวน 1,000,000 บาท มีพระราชประสงค์จะสร้างสวนสาธารณะสักแห่งในบริเวณกรุงเทพมหานคร เพื่อประชาชนได้ใช้เป็นที่พักผ่อนในยามว่าง ทรงเห็นว่าการรถไฟมีพื้นที่มาก เช่น ย่านพหลโยธิน จึงใคร่ขอให้การรถไฟฯ ได้พิจารณาและให้ความร่วมมือในด้านนี้ด้วย

การรถไฟฯ จึงได้จัดที่ดินจำนวน 93 ไร่ที่ใช้ทำเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟอยู่แล้วจัดสร้างสวน ซึ่งต่อมาคือสวนจตุจักรที่เทศบาลนครหลวงและการรถไฟฯ ร่วมกันสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวาระพระชนมายุครบ 4 รอบ ซึ่งต่อมามีการขยายพื้นที่เพิ่มอีก 100 ไร่ ในสมัยท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติสิริ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า สวนจตุจักรคือจุดเริ่มของขบวนการสวนสาธารณะสมัยใหม่ของประเทศไทยและเกิดจากพระราชดำริ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้มีการสร้างสวนสาธารณะอีกมากมายหลายแห่งทั่วประเทศเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนอย่างแท้จริงในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2523 มีการเริ่มทยอยสร้างสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ตามเขตการศึกษาต่างๆ 12 แห่งโดยเริ่มต้นที่จังหวัดศรีสะเกษ นอกจากนี้ยังมีหน่วยของรัฐและท้องถิ่นรวมทั้งองค์กรเอกชนต่างร่วมมือร่วมใจกันสร้างสวนสาธารณะและสวนสุขภาพมากมายทั่วประเทศเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จย่าฯ ในวาระพระชนมายุครบ 80 พรรษา

 
สวนหลวง ร.๙ มองไปยังอาคารเทอดพระเกียรติ

ในวาระมหามงคลพระชนมายุ 60 พรรษาของทั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (2530) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (2535) ก็ได้มีการสร้างสวนสาธารณะที่สำคัญและสวยงามอีกหลายแห่ง เช่น สวนหลวง ร.9 อุทยานเบญจสิริ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนรมณีนาถ สวนเบญจกิติ (บึงยาสูบ) สวนสันติชัยปราการ สวนวชิรเบญจทัศ รวมทั้งสวนภัทรมหาราชินีที่จังหวัดสุพรรณบุรี และในวาระครบรอบ 72 พรรษา (พ.ศ. 2542) ก็ได้มีการสร้างสวนสาธารณะอีกเพื่อเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบเป็นจำนวนมาก เช่น ที่เชิงสะพานพระราม 9 ฝั่งพระนครและในที่อื่นๆ หลายแห่ง รวมทั้งสวนสาธารณะเชิงสะพานพระราม 8 ทั้งนี้ยังไม่นับถึงต่างจังหวัดที่ทั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนจังหวัดสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวาระต่างๆ รวมแล้วน่ามีสวนสาธารณะทั้งเล็กและใหญ่รวมทั้งสวนสุขภาพที่สืบเนื่องจากพระราชดำริทั่วประเทศซึ่งน่าจะมากกว่า 100 แห่ง

สวนที่อาจไม่นับเป็นสวนสาธารณะ

แก้

สวนบางประเภท แม้เปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้ฟรีแต่ก็ไม่นับรวมไว้ในประเภทของสวนสาธารณะในความหมายของบทความนี้ เช่น สวนพฤกษศาสตร์ (botanic garden) สวนรุกขชาติ (arboretum) อุทยานสาธารณะ (public garden) สวนสนุก (amusement park) สวนสัตว์ (zoological gardens) อุทยานแห่งชาติ (national park) และวนอุทยาน (forest park) รวมทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (wildlife sanctuary) และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า (non-hunting Area) ทั้งนี้ เนื่องจากสวนหรือสถานที่ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เฉพาะและมีข้อจำกัดในการใช้งาน มีการบริหารจัดการและแหล่งงบประมาณจัดสร้างแตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมี สวนหย่อม ตามถนนหรือสวนสัตว์จำลองตามบาทวิถีต่างๆ ในกรุงเทพมหานครในยุคปัจจุบันที่ไม่นับเป็นสวนสาธารณะ แต่ถือเป็นเป็นพื้นที่สีเขียวของเมือง

การออกแบบและการวางแผนสวนสาธารณะ

แก้

เนื่องจากสวนสาธารณะซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณสูงจึงมักประสบความล้มเหลวในการใช้งานบ่อยขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปกติทั้งโลก ดังนั้น การออกแบบและวางแผนจึงมีความสำคัญและมีข้อพิจารณามากขึ้น

อ้างอิง

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  1. สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร. (2564). จำแนกตามประเภทสวน 7 ประเภท. เก็บถาวร 2022-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน