ชาวไทยในกัมพูชา

ชาวไทยในกัมพูชา คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเชื้อสายเดียวกับชาวไทยสยามในประเทศไทย ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา โดยมากอาศัยอยู่ในจังหวัดเกาะกง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก ติดชายแดนประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งจังหวัดเมื่อ พ.ศ. 2551[1] พวกเขายังคงอัตลักษณ์ด้านประเพณี ภาษา และวัฒนธรรมอย่างไทย และถูกเรียกว่า "ไทยเกาะกง/สยามเกาะกง" (เขมร: សៀមកោះកុង, ออกเสียง "เซียมเกาะฮ์กง") ในอดีตพวกเขาถูกกดขี่ทางวัฒนธรรม ปัจจุบันพวกเขาได้รับสัญชาติเขมรตามกฎหมาย แต่ก็มีบุคคลเชื้อสายไทยบางส่วนลี้ภัยเป็นผู้พลัดถิ่นในไทย[3][4]

ชาวไทยในกัมพูชา
ประชากรทั้งหมด
ชาวไทยในเกาะกง 48,340 คน (พ.ศ. 2551)[1]
บุคคลสัญชาติไทยในกัมพูชา 9,043 คน (พ.ศ. 2564)[2]
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
 กัมพูชา34,930 (พ.ศ. 2551)[1][หมายเหตุ ก]
 ไทย13,410 (พ.ศ. 2551)[1]
ภาษา
ไทย (ตราด · ไทเบิ้ง· เขมร
ศาสนา
พุทธนิกายเถรวาท
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
ไทยสยาม · ไทยเชื้อสายจีน · กัมพูชาเชื้อสายจีน

ประวัติ

แก้
ภาพกองรบของ "เสียมกุก"[5] บนผนังระเบียงปราสาทนครวัด ช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 12

ชาวไทยหรือชาวสยามอพยพเข้าสู่เขตอิทธิพลของเขมรช้านาน มีหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึง "เสียม" ในศิลาจารึกอังกอร์โบเร็ย จารึกใน พ.ศ. 1154 เขียนไว้ว่า กุ สฺยำ ("นาง [ทาส] เสียม")[6] ส่วนในบันทึกของโจว ต้ากวาน ทูตจีนผู้เดินทางไปเมืองพระนคร ได้บันทึกถึงการดำรงอยู่ของชาวสยามว่าเป็นคนละกลุ่มกับชาวเขมร ชาวเขมรซื้อหม่อนและหนอนไหมจากชาวสยาม เพราะชาวสยามรู้จักการทอเครื่องนุ่งห่ม ชาวเขมรจึงต้องจ้างชาวสยามซ่อมแซมเสื้อผ้าให้[7] และยังพบภาพสลักกองทหาร "เสียมกุก" บนผนังระเบียงปราสาทนครวัด โดยมีจารึก เนะ สฺยำ กุกฺ ("นี่ เสียมกุก")[8] และ อฺนก ราชการฺยฺย ภาค ปมญฺ เชฺง ฌาล ด นำ สฺยำ กุก ("ข้าราชการฝ่ายทหารพรานแห่งเมืองเชงฌาล ซึ่งนำชาวเสียมกุก")[9] แต่จารึกดังกล่าวถูกมือดีลบออกไปแล้ว[10] ใน เขมรแบ่งเป็นสี่ภาค พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ว่า ชาวไทยและชาวเขมรอาศัยอยู่ปะปนกันมาแต่ยุคโบราณ โดยเฉพาะบ้านเมืองในแถบทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน ทรงยกตัวอย่างนามเมืองเสียมราฐ ที่ว่าแปลว่าเมืองคนไทยทำปลาแห้ง ซึ่งตั้งอยู่รอบนอกเมืองพระนคร[11] ในหนังสือ ฝั่งขวาแม่น้ำโขง (2490) ระบุว่า ชนชาติขอมปะปนกับคนไทยมากขึ้น "...มีภูมิลำเนาอยู่ในดินแดนตะวันออกแห่งอ่าวสยาม คือทางลุ่มแม่น้ำโขงทางตอนใต้ ซึ่งบัดนี้ได้มาปะปนกับไทยมากขึ้น ส่วนที่อยู่ทางลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้จนกลายเป็นเขมรหรือจามไป"[12]

ปรากฏการแย่งชิงทรัพยากรมนุษย์ระหว่างสยามกับเขมรสู่ดินแดนตนเองอยู่เนือง ๆ[13] ในรัชสมัยพระรามาธิบดี (คำขัด) ซึ่งตรงกับช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ยกทัพไปตีเมืองจันทบูรและบางคาง ก่อนกวาดต้อนคนกลับกรุงจตุมุข (ปัจจุบันคือบริเวณแถบบาสาณ อุดง ละแวก ศรีสันทร และพนมเปญ)[14] และทรงยกทัพมาพร้อมกับเจ้าพญาแก้วฟ้า กวาดต้อนราษฎรปลายแดนอยุธยาไปอีก[15] รัชสมัยเจ้าพญายาต ทรงยกทัพไปตีเมืองจันทบูร[15] รัชสมัยพระบรมราชาที่ 4 (นักพระสัตถา) โปรดให้พระทศราชาและพระสุรินทราชายกทัพกวาดต้อนคนไทยบริเวณชายแดนภาคตะวันออกใน พ.ศ. 2125[16] ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ระบุว่า ใน พ.ศ. 2164 ระบุว่าเจ้าฝ่ายหน้าของสยามยกทัพไปภูเขาจังกางเพื่อตีเขมร แต่สมเด็จพระไชยเชษฐา กษัตริย์เขมร เคลื่อนพลไปตีทัพสยามแตก เจ้าฝ่ายหน้าหลบหนีไปได้ ส่วนไพร่พลถูกจับเป็นเชลย เชลยสยามเหล่านี้ถูกเรียกว่า "ไทยจังกาง"[17] ใน พ.ศ. 2173 รัชสมัยพระศรีธรรมราชา พระราชสมภาร ทรงแต่งทัพไปกวาดต้อนชาวนครราชสีมากลับกัมพูชา[16][18] นอกจากนี้ยังมีหญิงสยามเข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกาของเจ้านายเขมรจำนวนหนึ่ง[19][20] หนึ่งในนั้นคือธิดาเจ้าเมืองบางคาง มารดาของเจ้าพระยาญาติ[21]

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของชาวไทยคืออีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของการเสื่อมสลายของเมืองพระนครในหลายด้านที่ค่อย ๆ แผ่อิทธิพลเข้ามาอย่างช้า ๆ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ทั้งด้านศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งไม่สนับสนุนการสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ โดยในเวลานั้นชาวเขมรชนชั้นไพร่และทาสที่ถูกกดขี่ ล้วนเบื่อหน่ายการสร้างสถาปัตยกรรมขนาดมหึมาแก่ชนชั้นปกครอง เมื่ออยุธยายกทัพไปตีเมืองนครธม เหล่าไพร่ทาสจึงพร้อมใจกันหลบหนีไม่เข้าร่วมสงคราม ทำให้เมืองนครธมล่มสลาย[22] และกัมพูชาย้ายศูนย์กลางการปกครองลงทางตอนใต้ด้วยมุ่งหวังการค้ากับจีนอย่างเต็มใจ[23] กัมพูชาเปลี่ยนสถานะจากจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ กลายเป็นบ้านเล็กเมืองน้อยไปในที่สุด[22]

ในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง มีคลื่นผู้อพยพชาวสยามลี้ภัยมายังเมืองเขมรและพุทไธมาศจำนวนมาก[24] ในเวลาต่อมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกทัพเข้ามาไปยังเมืองพุทไธมาศและเมืองเขมรเมื่อ พ.ศ. 2314 เพื่อกำจัดเจ้านาย ขุนนาง และข้าหลวงจากอยุธยาที่ลี้ภัยเหล่านี้ให้สิ้นซาก ดังปรากฏใน จดหมายรายวันทัพสมัยธนบุรี เนื้อหาระบุว่า "...มาบัดนี้จะส่งเจ้าองค์รามขึ้นไปราชาภิเษก ณ กรุงกัมพูชาธิบดี…ตัวเจ้าเสสังข์ เจ้าจุ้ย แลข้าหลวงชาวกรุงฯ ซึ่งไปอยู่เมืองใดจะเอาให้สิ้น..."[25][26]

ครั้นในยุคธนบุรีและรัตนโกสินทร์ มีการไปมาหาสู่ระหว่างเขตแดนของชาวไทยและเขมร ในช่วง พ.ศ. 2325 เป็นต้นมา มีกลุ่มชาวไทยอพยพลงไปตั้งชุมชนและสร้างเมืองขึ้นในเขตขอมแปรพักตร์ ได้แก่ เมืองมงคลบุรี เมืองศรีโสภณ เมืองวัฒนานคร เมืองอรัญประเทศ เมืองพระตะบอง และเมืองเสียมราฐ ซึ่งชาวไทยกลุ่มนี้ยังได้สร้างป้อมและกำแพงเมืองไว้อย่างมั่นคง[11] อีกทั้งยังมีคณะละครชาวสยามข้ามไปทำการแสดงยังฝั่งเขมร ตัวละครทั้งชายและหญิงผู้มีฝีมือหลายคนเข้ารับราชการในราชสำนักของเขมร บางคนก็เข้าไปเป็นครูละคร[27][28] ใน จดหมายมองซิเออร์วิลแมง ถึงมองซิเออร์เดคูร์วีแยร์ ระบุว่าช่วง พ.ศ. 2328–2329 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สยามทำสงครามแพ้กัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มกราคม ทำให้มีคนไทยจำนวน 500 คน และคนเข้ารีตอีก 16 คน ตกค้างอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงในแดนของกัมพูชา ครั้นเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ก็มีทหารสยามหนีทัพจากเขมรหนีกลับเข้ามากรุงเทพมหานคร[29] อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวไทยจำนวนไม่น้อยเข้าไปในกัมพูชาด้วยความสมัครใจ เช่นไปเป็นเจ้าพนักงาน และหลายคนเข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกากษัตริย์เขมร[30][31] ในราชสำนักสยามและราชสำนักเขมร มีการเกี่ยวดองทางเครือญาติด้วยการเสกสมรส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในราชสำนักฝ่ายในของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารซึ่งทรงคุ้นเคยกับชีวิตในราชสำนักสยามมาโดยตลอด ก็มีสตรีสยามหรือหญิงลูกครึ่งสยามถวายงานอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น คุณพระนางสุชาติบุปผา พระชนนีของพระองค์เจ้าดวงจักร[32] บาทบริจาริกาชาวสยามเหล่านี้ มีทั้งหญิงสามัญและเจ้านายจากราชวงศ์จักรี เช่น หม่อมราชวงศ์ตาด ปาลกะวงศ์ ภรรยาพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร[33] หม่อมเจ้าพัชนี (ไม่ทราบราชสกุลเดิม) และหม่อมเจ้าปุก อิศรศักดิ์ เป็นพระเทพีของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารเช่นกัน[34] การส่งอิทธิพลของราชสำนักรัตนโกสินทร์ในด้านต่าง ๆ ทำให้ชนชั้นสูงของกัมพูชาเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นสยาม (Siamization)[35][36]

นอกจากกลุ่มนางละครชาวสยามที่เข้าไปยังแดนกัมพูชา ก็คือกองทหารสยามที่แตกทัพในสงครามอานามสยามยุทธ พวกเขาอาศัยปะปนอยู่กับชาวเขมรกรอมแถบปากแม่น้ำโขง ประกอบอาชีพกสิกรรม ปัจจุบันอยู่ในเมืองสักซ้า (หรือกระมวนสอ) ประเทศเวียดนาม โดยยังหลงเหลือนามภูมิ คือ บ้านซแรเซียมจะส์ (ស្រែសៀមចាស់, "นาสยามเก่า") บ้านซแรเซียม-ทเม็ย (ស្រែសៀថ្មី, "นาสยามใหม่") และบ้านเซียมจอด (សៀមចត, "สยามจอด [เรือ]")[6] และยังมีกลุ่มพระภิกษุสงฆ์จากสยามเข้าไปเผยแผ่ศาสนาพุทธ และจำพรรษาในกัมพูชา ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[37] เพื่อแพร่อิทธิพลทางวัฒนธรรมของสยาม[35] และภาวะทันสมัย ถือเป็นความก้าวหน้าและพัฒนาเชิงกายภาพของพระศาสนา[38]

การแบ่งกลุ่ม

แก้

จังหวัดเกาะกง

แก้

นอกจากชาวไทยยุคเก่าที่อพยพเข้าไปกัมพูชา ยังมีชาวไทยพื้นเมืองที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มก้อนมาช้านานในเขตจังหวัดเกาะกง เดิมเป็นเมืองปัจจันตคิรีเขตรขึ้นกับกรุงสยาม มีรากเหง้าเดียวกันกับคนเชื้อสายไทยในจังหวัดตราด พวกเขามีบรรพบุรุษมาจากบ้านลาดพลี เมืองราชบุรี มีมุขปาฐะอธิบายไว้ว่าอพยพหนีสงครามกับพม่า แต่ไม่แจ้งชัดว่าในยุคกรุงศรีอยุธยาหรือธนบุรี เข้าสู่เมืองตราดหลายร้อยครัวและกระจายตัวออกไปตั้งถิ่นฐาน[39] ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ตามคลองและลุ่มแม่น้ำ เช่น ลุ่มแม่น้ำเกาะปอ, แม่น้ำครางครืน, แม่น้ำตาไต, แม่น้ำบางกระสอบ, แม่น้ำตะปังรุง, แม่น้ำคลองพิพาท, อ่าวเกาะกะปิ, คลองแพรกกษัตริย์, อ่าวยายแสน, อ่าวพลีมาศ, อาหนี และอาจเลยไปถึงนาเกลือ[40] และทั้งหมดล้วนมีเชื้อสายจีนประสมอยู่ด้วย[1]

ทว่าหลังรัฐบาลสยามยอมยกเมืองตราดและปัจจันตคิรีเขตรแก่ฝรั่งเศสตามพิธีสารลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2447 เพื่อให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรี ต่อมามีการทำหนังสือลงนามระหว่างสยามกับฝรั่งเศสอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 โดยยอมยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณแก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองด่านซ้าย กับเมืองตราด แต่ฝรั่งเศสไม่ได้ยกเมืองปัจจันตคิรีเขตรคืนมาด้วย ชาวไทยที่ตกค้างในนั้นจึงเปลี่ยนสภาพเป็นคนพลัดถิ่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน[1] ก่อน พ.ศ. 2514 มีชาวไทยที่อาศัยในเกาะกงราว 40,000 คน แต่เมื่อเข้าสู่ยุคเขมรแดง ชาวไทยในเกาะกงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว บ้างก็โยกย้ายไปฝั่งไทย บ้างก็ถูกเขมรแดงสังหาร ทำให้ พ.ศ. 2528 เหลือชาวไทยในเกาะกงอยู่ราว 8,000 คน[41] สมัยนโรดม สีหนุเป็นกษัตริย์-รัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้นเคยห้ามคนเกาะกงพูดภาษาไทย หากฝ่าฝืนจะถูกตำรวจจับ และบางรายโชคร้ายก็จะถูกฆ่า โดยในสมัยนั้นนายพลลอน นอลที่ทำงานใกล้ชิดกับสีหนุขณะนั้นเคยพูดไว้ว่า "คนไทเกาะกง แม้ว่าจะตายไปสักห้าพันคน ก็ไม่ทำให้แผ่นดินเขมรเอียง"[42] จากการกดขี่ดังกล่าว ชาวไทยในเกาะกงจึงอพยพเข้าสู่ประเทศไทยถึงสี่ระลอก ได้แก่ ระลอกที่หนึ่ง (พ.ศ. 2502–2512) ตรงกับยุคนโรดม สีหนุ ระลอกที่สอง (พ.ศ. 2513–2518) ตรงกับยุคลอน นอล ระลอกที่สาม (พ.ศ. 2518–2520) ในช่วงที่เวียดนามยึดครองกัมพูชา และระลอกที่สี่ (พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา) ถือว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง[1] ปัจจุบันชาวไทยในเกาะกงล้วนมีเครือญาติอยู่ในประเทศไทย นิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในประเทศไทย และมีจิตสำนึกว่าตนเองเป็นคนไทย[43] และมีชาวไทยเกาะกงจำนวนไม่น้อยที่ยังตกค้างอยู่ประเทศไทยไม่อพยพกลับกัมพูชา จำนวนมากถึง 13,410 คน ใน พ.ศ. 2551[1]

ชาวไทยจากเกาะกงหลายคนมีบทบาททางการเมืองของกัมพูชา เช่น ใส่ ภู่ทอง จา เรียง (หรือ จำเรียง ศิริวงษ์) และเตีย บัญ (หรือ สังวาลย์ หินกลิ้ง) เพราะชาวไทยในเกาะกงตระหนักถึงความเป็นอื่นในกัมพูชา จึงรวมเป็นกลุ่มคณะอิสระ และพลพรรคไทยเกาะกง ด้วยมุ่งหวังความปลอดภัยและอำนาจอิสระในการปกครองตนเองของคนไทย[44] หลังสิ้นสุดยุคเขมรแดงใน พ.ศ. 2522 รัฐบาลกลางกัมพูชาประกาศยอมรับชาวไทยในเกาะกงเป็นชนชาติส่วนน้อย เป็นประชาชนกัมพูชาโดยนิตินัยเสมอภาคเท่าเทียมกับชาวเขมร มีอิสรภาพปกครองตนเอง มีสิทธิในการกำหนดนโยบายในการบริหารท้องถิ่นโดยยึดขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นหลัก[45] ในรัฐบาลฮุน เซน มีชาวไทยขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ยุทธ ภู่ทอง, บุญเลิศ พราหมณ์เกษร, รุ่ง พราหมณ์เกษร และมิถุนา ภู่ทอง[46] ทั้งนี้ชาวไทยเกาะกงที่เป็นชนชั้นปกครองนี้ ล้วนเป็นเครือญาติกันผ่านการสมรส[47]

จังหวัดพระตะบองและบันทายมีชัย

แก้

ส่วนกลุ่มชาวไทยและไทยโคราชที่อาศัยในจังหวัดบันทายมีชัยและพระตะบอง กลุ่มชาวไทยที่พูดภาษาไทยกลางมีประวัติการอยู่อาศัยมานานจากการที่เขมรตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยามตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 24–25 เพราะช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีเจ้านายเขมรเข้าไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์สยามหลายครั้งก่อนกลับไปเสวยราชย์กรุงกัมพูชา พวกเขาก็ได้นำประเพณีในราชสำนักสยามกลับไปราชสำนักเขมรด้วย มีการส่งพระสงฆ์เขมรมาบวชเรียนในสยาม เพื่อสั่งสอนศาสนา รวมทั้งนำรูปแบบศิลปกรรมกลับไปใช้ โดยมีพระสงฆ์ชาวสยามเข้าไปเผยแผ่ศาสนาและจำพรรษาในกัมพูชาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังพบพุทธศาสนสถานมีก่อสร้างสร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมไทยตามแบบพระราชนิยมอยู่ดาษดา[37]

มีชาวไทยหลายคนเคยมีถิ่นพำนักในพระตะบอง เช่น สกุลอภัยวงศ์ หลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) และจิตร ภูมิศักดิ์ ปัจจุบันคนไทยกลุ่มนี้กลมกลืนไปกับชาวเขมรเสียมาก ผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไปยังสามารถใช้ภาษาไทยได้ดี[48] แต่ผู้สืบเชื้อสายสกุลอภัยวงศ์ที่อาศัยในพระตะบอง พวกเขาเลือกที่จะไม่ใช้นามสกุลอภัยวงศ์แบบไทย เพราะเกรงผลกระทบทางการเมือง ด้วยฝ่ายกัมพูชามองว่าการกระทำของเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นการทรยศ ทั้ง ๆ ที่ตระกูลนี้ก็มีบรรพชนเป็นเขมร[49] หลังไทยได้ดินแดนจังหวัดพระตะบองและพิบูลสงครามคืนจากฝรั่งเศสในรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ. 2484 เบื้องต้นดินแดนใหม่นี้ยังไม่มีกองทหารเข้าไปประจำการ มีเพียงตำรวจไทยเข้าประจำการเท่านั้น หลังจากนั้นก็มีผู้อพยพชาวไทยอพยพเข้าไปตั้งรกรากในดินแดนใหม่ โดยเฉพาะเมืองพระตะบองที่มีค่าอุปโภคบริโภคราคาเยา เพราะเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ และรัฐบาลไทยยังไม่ประกาศกฎหมายภาษีอากร ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีสำหรับการฆ่าสัตว์หรือการประมง[50] หลังไทยคืนดินแดนสี่จังหวัดคืนให้กับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2489 รัฐบาลไทยเริ่มส่งตัวข้าราชการไทยพร้อมสิ่งของกลับกรุงเทพมหานครตั้งแต่เดือนตุลาคม ราษฎรไทยพร้อมด้วยชาวเขมรและญวนบางส่วน ขออพยพติดตามข้าราชการไทยข้ามไปอาศัยในฝั่งไทยแถบอำเภออรัญประเทศ[51] แม้ดินแดนจะกลับคืนสู่การปกครองของฝรั่งเศสและกัมพูชาตามลำดับ แต่การไปมาหาสู่ของชาวไทยทั้งสองฝั่งยังดำเนินต่อไป ดังพบว่าช่วง พ.ศ. 2513 มีคนไทยจำนวนหนึ่งขับรถยนต์เข้าไปซื้อของที่ตลาดศรีโสภณ ซึ่งไกลจากชายแดนไทยราว 50 กิโลเมตร[52]

ส่วนชาวไทยอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ชาวไทยโคราช เริ่มอพยพสู่กัมพูชาทั้งก่อนและหลัง พ.ศ. 2484 ครั้นไทยพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ได้คืนดินแดนเขมรส่วนในแก่ฝรั่งเศส ชาวไทยเหล่านี้จึงแปรสภาพเป็นคนพลัดถิ่น ปัจจุบันพวกเขาสมรสข้ามชาติพันธุ์กับชาวเขมร ลาว และกุลา อัตลักษณ์ที่โดดเด่นเพียงอย่างเดียวคือการใช้ภาษาไทย ก็พบผู้ใช้น้อยลงทุกขณะ[53]

วัฒนธรรม

แก้

ภาษา

แก้
 
ปืนใหญ่สองกระบอกด้านหน้าศาลากลางเมืองพระตะบองหลังเก่า ยังหลงเหลือจารึกอักษรไทยให้เห็น

ในอดีตสยามมีอิทธิพลเหนือกัมพูชามายาวนาน ในราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารจะใช้ภาษาไทยเป็นหลัก แต่ถัดมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ตรัสภาษาไทยได้ แต่พูดภาษาเขมรเป็นหลัก และชนชั้นผู้ดีเก่าในพนมเปญโดยมากพูดไทยได้คล่อง หรืออย่างต่ำก็ฟังไทยพอเข้าใจ แต่หลังกัมพูชาตกเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส คนชั้นหลังพูดภาษาฝรั่งเศส และใช้ภาษาไทยลดลง[54] การนับเลขเขมรตั้งแต่จำนวน 30 เป็นต้นไปก็ยืมมาจากการนับเลขของภาษาไทยทั้งหมด[55] คำราชาศัพท์เขมรในปัจจุบันมีการรับคำไทยเข้าไปใช้[56] เช่น ขึมขาต (เข็มขัด), จุตหมาย (จดหมาย), พระสุภาก (สไบห่ม มาจากคำว่า "สะพัก"), ทด (ดู มาจากคำว่า "ทอด"), พระทีนัง (พระที่นั่ง), ทรงเตีน (ตื่น) และยาง (เดิน มาจากคำว่า "ย่าง") เป็นต้น[57] ทั้งยังมีร่องรอยอักษรไทยตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ภาพจิตรกรรมเรื่อง รามเกียรติ์ ที่วัดบูร์ จังหวัดเสียมราฐ ที่มีการเขียนอักษรไทยกำกับภาพหลายแห่ง รวมทั้งได้สอดแทรกตราแผ่นดินสยาม และเครื่องแต่งกายแบบสยามไว้อย่างครบถ้วน[58] และพบอักษรไทยเขียนคำว่า พระตะบอง ที่เรือนของหลวงเสน่หาพิมล ข้าราชการของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ในเมืองพระตะบอง[59]

ชาวไทยในกัมพูชาในปัจจุบันสามารถพูดได้ทั้งภาษาไทยและเขมร แบ่งเป็นชาวไทยในจังหวัดบันทายมีชัยและพระตะบองมีผู้พูดทั้งภาษาไทยถิ่นกลางและกลุ่มภาษาไทยโคราช[60] แต่ลูกหลานบางส่วนเริ่มไม่ใช้ภาษาไทยแล้ว เพราะต้องใช้ภาษาเขมรในการสื่อสารเป็นหลัก[53] และพบว่าน้อยคนที่จะใช้ภาษาไทยได้[49] ขณะที่ชาวไทยในเกาะกงพูดภาษาไทยถิ่นกลางสำเนียงแบบเดียวกับจังหวัดตราด[61] และยังสื่อสารด้วยภาษาไทยเป็นหลัก[1] แต่เดิมเกาะกงในปี พ.ศ. 2506 เคยออกกฎห้ามชาวเกาะกงพูดภาษาไทย[62] โดยจะปรับเป็นคำละ 25 เรียล ห้ามมีเงินไทย และห้ามมีหนังสือไทยอยู่ในบ้าน หากเจ้าหน้าที่พบจะถูกทำลายให้สิ้นซาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 ค่าปรับการพูดภาษาไทยเพิ่มขึ้นเป็น 50 เรียล หากไม่ปฏิบัติจะถูกแขวนป้ายประจาน ในหนังสือ รัฐบาลทมิฬ และ ปัตจันตคีรีเขตร์ เมืองแห่งความหลัง กล่าวถึงนางหล็อง หญิงไทยบ้านบางกระสอบ ทะเลาะกับสามีชื่อนายเห่ง นางหล็องหลุดปากด่าสามีเป็นภาษาไทย จนเรื่องไปถึงคณะกรรมการหมู่บ้าน จึงให้ลงโทษนางหล็องด้วยการใช้แรงงานหนัก นางหล็องไม่ยอมรับจึงดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย สร้างความสะเทือนใจแก่ชาวไทยในเกาะกงที่ไม่สามารถใช้ภาษาบรรพบุรุษของตนได้[63] แต่ทุกวันนี้ภาษาไทยมีความสำคัญมาก ชาวกัมพูชาไม่ว่าไทยหรือเขมรนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในไทยเพื่อประโยชน์ด้านภาษา หลายคนต้องไปเรียนร่วมชั้นเรียนกับนักเรียนไทยรุ่นน้อง เมื่อใช้ภาษาไทยได้คล่องแคล่วแล้วก็จะลาออกกลางคันกลับไปทำงานที่กัมพูชา[64]

ศาสนา

แก้

ชาวเขมรรับศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจากสยาม หลังอิทธิพลของศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธนิกายมหายานเสื่อมลงไป[65] ในระยะหลังมีกลุ่มพระภิกษุสงฆ์จากสยามเข้าไปเผยแผ่ศาสนาพุทธ และจำพรรษาในกัมพูชา ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[37] นับเป็นกลไกทางอิทธิพลจากราชสำนักสยามที่เรียกว่าการทำให้เป็นสยาม (Siamization)[35] และในรัชสมัยของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ซึ่งเป็นพระราชโอรสบุญธรรมของพระมหากษัตริย์สยาม ทรงมองว่า การปฏิรูปศาสนาพุทธในสยามถือเป็นความก้าวหน้าและพัฒนาเชิงกายภาพของพระศาสนา นับว่าเป็นภาวะทันสมัย (Modernization) ที่ทรงปรารถนาให้เกิดขึ้นในกัมพูชา[38] แต่การเข้ามาของธรรมยุติกนิกายเผยแผ่แก่ชาวเขมร ทำให้คณะสงฆ์เขมรแตกออกเป็นสองกลุ่ม คือ คณะมหานิกาย และธรรมยุต เช่นเดียวกับสยาม คณะมหานิกายกลับมีบทบาทโดดเด่นกว่า ส่วนคณะธรรมยุตก็มีบทบาทในการต่อต้านฝรั่งเศสร่วมกับชาวเขมร[66] แต่คณะธรรมยุตก็ไม่ได้นำความทันสมัยสู่สังคมเขมร อย่างที่เคยเกิดขึ้นในสยาม[67]

ขณะชาวไทยในเกาะกงหรือในขณะนั้นคือเมืองปัจจันตคิรีเขตรนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเช่นกัน แต่ก็มีอิทธิพลจากศาสนาชาวบ้านหรือเคยมีความเชื่อแปลก ๆ ด้วย เพราะช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีนักบวชอลัชชีเชื้อสายญวนคนหนึ่ง ชื่อ องค์โด้ มาตั้งสำนักอยู่ริมแม่น้ำเกาะปอ (ปัจจุบันคือบ้านเสาธง จังหวัดเกาะกง) ซึ่งอ้างต้วว่ามีวิชาอาคม และประกอบพิธีกรรมแปลก ๆ เช่น เปลือยกายและแสดงตนว่าเป็นพระยาควายทรพี คลานสี่เท้า ไปดมก้น และขี่หลังแม่ชีสาว ๆ ในสำนักที่เปลือยกายเช่นกัน ภายหลังรัฐบาลสยามได้ส่งทหารไปจับตัวลูกศิษย์องค์โด้ แต่องค์โด้หลบหนีหายไป ลัทธิประหลาดนี้ก็สาบสูญไปด้วย หลงเหลือเพียงภูมินามต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องราวองค์โด้ในจังหวัดเกาะกง[68] ทุกวันนี้ชาวไทยในจังหวัดเกาะกงยังคงสวดมนต์ด้วยบาลีสำเนียงไทยและภาษาไทยอย่างเดียวกับในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ในรัฐบาลนโรดม สีหนุ เคยบังคับให้พระภิกษุไทยสวดมนต์ด้วยสำเนียงเขมรและใช้ภาษาเขมร สร้างความอึดอัดใจแก่ชาวไทยเกาะกงมาก[1] นอกจากนี้พวกเขาให้ความสำคัญกับการเทศน์มหาชาติ และยังบูชาเจ้าแม่ทับทิมตามคติจีน เพราะพวกเขามีเชื้อสายจีนมาประสม[1]

นอกจากกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธแล้ว ยังมีกลุ่มคนไทยที่นับถือศาสนาคริสต์ในกัมพูชาอีกจำนวนหนึ่ง เดิมชาวไทยเข้ารีตกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในเขตแดนของเวียดนาม แต่ถูกกองทัพเขมรเกณฑ์มาไว้ในฝั่งกัมพูชา ต่อมามองซิเออร์ ปีแยร์ ลังเกอนัว ได้พาคนเข้ารีตจำนวน 450 คน และทาสชาวเขมรเข้ารีตอีก 100 คน เข้ามายังกรุงเทพมหานครในช่วง พ.ศ. 2328–2329 เหลือคนไทยเข้ารีตตกค้างอยู่ในเมืองเขมรอีก 270 คน[29]

นาฏกรรม

แก้
 
เนียงเซดาและกรงเรียบ ถ่ายที่พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล พนมเปญ ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19

อาณาจักรอยุธยาตอนต้นได้รับอิทธิพลการแสดงประเภทคำพากย์จากเขมรสมัยพระนครและหลังพระนคร[69] สังเกตได้จากรูปลักษณ์และการแต่งกายของโขน ซึ่งใกล้เคียงกับรูปแกะสลักในปราสาทขอมโบราณ[70] แต่เมื่อเข้าสู่สมัยอยุธยาตอนปลาย วรรณคดีที่ใช้ในการแสดงเปลี่ยนแปลงไปมาก รวมถึงพัฒนาการด้านการแต่งกายของตนเอง[71][28] เพราะการแสดงประเภทละคร ได้แก่ ละครนอก และละครใน กลายเป็นเครื่องราชูปโภคอย่างหนึ่งของราชสำนักอยุธยา ซึ่งมีได้แต่พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ก่อนตกทอดสู่ราชสำนักยุครัตนโกสินทร์ ความนิยมต่อละครในราชสำนักรัตนโกสินทร์คงจะส่งอิทธิพลต่อเจ้านาย และเชื้อพระวงศ์เขมรที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์สยามในยุคนั้นไม่น้อย[69]

ในยุครัตนโกสินทร์ มีคณะละครไทยไปจัดการแสดงที่กัมพูชา ในรัชสมัยสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีได้ครูละครผู้ชายจากกรุงเทพฯ ไปเป็นละครนอก[27] ต่อมามีคณะละครผู้หญิงชาวสยามของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ไปเมืองเขมรช่วงที่รบกับญวน และได้กลายเป็นครูละครหญิงของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี[27] ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารทรงหานางละครสยามจากกรุงเทพฯ ไปชุบเลี้ยง โดยมากได้นางละครจากเจ้านายวังหน้าไปเป็นครูละครในเมืองเขมรหลายคน[72] ได้แก่ ครูละครคณะเจ้าคุณจอมมารดาเอม ละครพระองค์เจ้าดวงประภา และละครพระองค์เจ้าสิงหนาท มาฝึกหัดในราชสำนักเขมร[73] การแสดงในช่วงนั้นนิยมแสดงเป็นภาษาไทยเพียงอย่างเดียว[27] ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ ทรงนำคณะละครนอกและละครในมาเล่นประสมโรง และเล่นเป็นภาษาไทยและเขมร[27] ฮิเดโอะ ซาซางาวะ จากสถาบันวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยโซเฟีย ระบุว่าการแสดงละโคนโขลของกัมพูชา รับอิทธิพลการแสดงโขนของไทยเป็นต้นแบบ[74][75]

ตัวละครชาวสยามมีชื่อเสียงหลายคน บางคนเข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกากษัตริย์กัมพูชา เช่น หม่อมเหลียง และนักนางมะปรางหวาน ในสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร นักนางมะเฟือง และนักหนูน้ำ ในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์[30] และแพน เรืองนนท์ ในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์[31] นอกจากนี้ สตรีสยามบางคนที่มีความสามารถด้านการแสดงเป็นทุนเดิม ได้เป็นนักแสดงภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง เช่น แม่เมือน[76] เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จเยือนกัมพูชาราว พ.ศ. 2467 ทรงพบหญิงไทยจากกรุงเทพฯ ที่เข้าไปรับราชการเป็นครูละครหรือเจ้าพนักงานในราชสำนักกัมพูชามาเข้าเฝ้า บางคนออกจากไทยมาทำงานในกัมพูชานานกว่าสี่สิบปี[77]

ด้วยความที่ศิลปะการแสดงมีอิทธิพลจากสยามอย่างสูง พระนางกุสุมะ นารีรัตน์ สิรีวัฒนา ทรงอุปถัมภ์คณะละครหลวงในราชสำนักเขมร[78] พระนางกุสุมะพยายามสร้างอัตลักษณ์ทางนาฏศิลป์เขมรคือระบำอัปสรา โดยมีการดัดแปลงชุดตามอย่างภาพเทวดาและอัปสรในนครวัด เพื่อปลดเปลื้องอิทธิพลนาฏศิลป์ไทยออก[79] สมเด็จพระเรียมนโรดม บุปผาเทวี เจ้านายฝ่ายใน และนางละครกัมพูชา ทรงสัมภาษณ์กับ Khmer Dance Project ไว้ว่า "...ตั้งแต่ยุคนักองค์ด้วง กษัตริย์นโรดม และกษัตริย์สีสุวัตถิ์ อิทธิพลจากไทยมีสูงมาก เพราะเราขาดแคลนครู ครูจากไทยเดินทางมาถึงราชสำนักเขมร บางทีครูเขมรก็ไปที่ราชสำนักไทย นี่เป็นช่วงเวลาของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างราชสำนักไทยและราชสำนักเขมร..." และทรงตรัสอีกว่า "...มันคือการผสมผสานที่แท้จริง..."[80] กระนั้นท่ารำ และเพลงในระบำอัปสรา ก็ยังเป็นโครงสร้างท่ารำแบบไทย ไม่ได้นำมาจากภาพจำหลักในปราสาทขอม ที่นางอัปสรจะแอ่นตัวสูง วงสูง หรือยกขาสูง แต่กลับมีการจีบ วง เหลี่ยมเท้า และกระดกเท้าแบบรำไทย เพลงที่ใช้ก็มีลักษณะเดียวกับเพลงไทย คือ เพลงสมอ เพลงสีนวล เพลงจีนหน้าเรือ และเพลงเชิด[81] อย่างไรก็ตามการแต่งกายของนางละครเขมรยังเห็นอิทธิพลของสยามให้เห็นอยู่ จากการศึกษาของสุรัตน์ จงดา (2564) พบว่า การแต่งกายของนาฏศิลป์เขมรในปัจจุบัน รับอิทธิพลจากละครวังหน้าของสยาม ได้แก่ มงกุฎสตรีที่มีกระบังหน้า และเกี้ยวยอดแบบหุ่นวังหน้า เจียระบาดของตัวยักษ์แบบหุ่นวังหน้า รวมทั้งการทัดอุบะแบบวังหน้า ยังคงได้รับการสืบทอดอยู่ในนาฏศิลป์เขมรจนถึงปัจจุบัน[82]

ด้วยวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันระหว่างสองชาติ คือ ไทยและกัมพูชา มักถูกใช้เพื่อปลุกกระแสชาตินิยมกัมพูชา สร้างความเกลียดชังแก่ไทย ด้วยกล่าวหาว่าคนไทยเป็นชาติขี้ขโมย ผู้ฉกฉวยวัฒนธรรมกัมพูชา โดยเฉพาะเมื่อกัมพูชามีการหาเสียงเลือกตั้ง กระแสนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อย ๆ[80]

วรรณกรรม

แก้

หลังการรับครูละคร และตัวละครชาวสยามเข้าไปในราชสำนักเขมร ในยุคแรกเริ่มนั้นจะใช้บทละครที่ได้รับมาจากราชสำนักรัตนโกสินทร์ที่มีภาษาไทยเป็นหลัก ก่อนแปลเป็นบทละครภาษาเขมรในชั้นหลัง เพื่อใช้ในการแสดงละครในโดยเฉพาะ โดยเฉพาะเรื่อง รามเกียรติ์ และ อิเหนา[83] ศานติ ภักดีคำ ราชบัณฑิต ระบุว่า เมื่อนำ เรียมเกรติ์ ภาค 2 ซึ่งเป็นรามายณะฉบับเขมร มาเปรียบเทียบกับรามเกียรติ์ ฉบับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และฉบับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พบว่า เรียมเกรติ์ ภาค 2 ของกัมพูชา มีเนื้อหาคล้ายกับรามเกียรติ์ ฉบับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตรงกันแบบบทต่อบท จนกล่าวได้ว่า เรียมเกรติ์ของเขมร เป็นการแปลรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์ไปเป็นภาษาเขมรอย่างชัดเจน[84] สาวรส เพา (2525) อ้างว่า เรียมเกรติ์ ภาค 2 ได้รับอิทธิพลมาจากอุตตรกาณฑ์ในมหากาพย์ รามายณะ ที่แต่งโดยฤๅษีวาลมีกิ ส่วนศานติ ภักดีคำ อธิบายว่า จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าเขมรสมัยหลังพระนครไม่น่าจะได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีสันสกฤตโดยตรงอีก แต่อาจจะได้รับผ่านแหล่งอื่นมากกว่า เพราะเรียมเกรติ์ของกัมพูชานั้น ญุก แถม นักวรรณคดีชาวเขมร สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในช่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ จนถึงสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี[85] ส่วน อิเหนาคำเขมร เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ อิเหนา ฉบับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พบว่า มีเนื้อความตรงกันทุกบท และตรงกันบทต่อบท แม้จะมีคำที่ใช้ต่างกันอยู่บ้าง[86]

นอกจากนี้ยังมีการแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาเขมรอีก โดยเฉพาะผลงานของสุนทรภู่ ได้แก่ พระอภัยมณี ไม่ปรากฏผู้แปล ลักษณวงศ์ แปลโดยออกญาปราชญาธิบดี (แยม) และ จันทโครพ แปลโดยสอาต[87] สุนทรภู่เองก็ได้รับความนิยมในเขมรมาก พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารทรงตั้งราชทินนามแก่ขุนนางชื่อมุก ซึ่งชำนาญด้านวรรณกรรมว่า ออกญาสันธรโวหาร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า สันธรมุก แบบเดียวกับ สุนทรภู่[88] นอกจากนี้งานประพันธ์ของสุนทรภู่ยังส่งอิทธิพลการใช้สัมผัสนอก สัมผัสใน เพื่อเพิ่มความไพเราะอันเป็นคุณสมบัติเด่นของสุนทรภู่ลงในการแต่งคำประพันธ์เขมร ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวรรณกรรมเขมร[89]

ส่วนวรรณกรรมไทยที่ถูกแปลเป็นภาษาเขมรอีกเรื่องคือ สุภาษิตสอนหญิง แปลโดยออกญาสุตตันตปรีชา (อินท์) เพราะมีเนื้อหาคล้ายกันหลายประการ[90] และ กากีคำกลอน แปลโดยสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี แต่ลาง หาบอาน นักวิชาการชาวกัมพูชาอ้างว่าพระองค์ไม่ได้คัดลอกเนื้อหามาทั้งหมด รวมถึงวรรณกรรมที่แปลจากไทยเรื่องอื่น ๆ ด้วย[91]

ชาวไทยในเกาะกงมีวรรณกรรมของตนเอง คือ พลเมืองเกาะกง ประพันธ์แบบร่าย และอีกเรื่องคือ ปัจจันตนคโรปมคาถา เป็นพระธรรมเทศนา ทั้งสองเรื่องเป็นการสร้างจิตสำนึกแก่ชาวไทยเกาะกงที่แปรสถานภาพเป็นประชากรของอีกประเทศหนึ่ง และเตือนตนให้รู้สำนึกถึงความเป็นคนไทยผ่านวรรณกรรมทางศาสนาพุทธ[1]

สถาปัตยกรรม

แก้
 
วัดด็อมเร็ยซอ หรือวัดช้างเผือก เมืองพระตะบอง

สถาปัตยกรรมไทยส่งอิทธิพลต่อการสร้างศาสนสถานของชาวเขมร ซึ่งได้มาจากการรับอิทธิพลจากราชสำนักสยามโดยตรง กับการรับผ่านพระภิกษุสงฆ์ที่เข้าไปเผยแผ่ศาสนาในกัมพูชา โดยรับรสนิยมการก่อสร้างแบบสยามเข้ามา ดังจะพบสิ่งก่อสร้างที่ได้รับอิทธิพลจากสยามปรากฏในเห็นอยู่ดาษดื่น[37] และเกิดการผสมผสานรูปแบบศิลปกรรมโดยหยิบยืมจากลักษณะนิยมของสถาปัตยกรรมสยาม กับศิลปกรรมสกุลช่างท้องถิ่น จากพลวัตทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม[92] ดังกรณี วัดด็อมเร็ยซอ (หรือวัดช้างเผือก) จังหวัดพระตะบอง มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเดียวกันกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร[93] และจำหลักภาพรามเกียรติ์ด้วยศิลานูนต่ำแบบเดียวกันกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร[94] ภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดบูร์ จังหวัดเสียมราฐ ที่นอกจากจะมีการเขียนอักษรไทยกำกับภาพหลายแห่งแล้ว ยังได้สอดแทรกตราแผ่นดินสยาม และเครื่องแต่งกายแบบสยามไว้อย่างครบถ้วน[58] โดยการแทรกตราแผ่นดินสยาม เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า ชาวเขมรอยู่ภายใต้พระบารมีของพระมหากษัตริย์สยาม[95] นอกจากนี้สถาปัตยกรรมไทยยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างพระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล และวัดพระแก้วมรกต ในกรุงพนมเปญ[96][97][98] โดยเฉพาะจิตรกรรมเรื่องเรียมเกรติ์ที่พระระเบียงวัดพระแก้วมรกต ซึ่งถอดแบบมาจากภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์จากพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร[99]

เศรษฐกิจ

แก้

สื่อบันเทิง

แก้

ไทยมีการลงทุนด้านสื่อบันเทิงในประเทศกัมพูชาจำนวนมาก ตั้งแต่ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ซีรีส์ และเพลง โดยกัมพูชาได้นำสื่อบันเทิงของไทยไปเผยแพร่ ทำซ้ำ และดัดแปลง ทั้งถูกลิขสิทธิ์และละเมิดลิขสิทธิ์[100] โดยชาวเขมรจะนิยมละครโทรทัศน์แบบย้อนยุคมียศถาบรรดาศักดิ์ ไม่นิยมละครที่แย่งชิงสามีภรรยา หรือละครจักร ๆ วงศ์ ๆ แบบไทย[101] กรณีที่มีชื่อเสียงที่สุดคือละครโทรทัศน์เรื่อง ดาวพระศุกร์ (2537) มีสุวนันท์ คงยิ่ง เป็นนักแสดงนำ ซึ่งชาวเขมรชื่นชอบมาก ทว่าเวลาต่อมามีหนังสือพิมพ์กัมพูชารายหนึ่ง รายงานข่าวว่าสุวนันท์พูดว่า "กัมพูชาขโมยหรือช่วงชิงปราสาทหินนครวัดไปจากประเทศไทย และเธอปฏิเสธที่จะเดินทางไปเยือนกัมพูชา จนกว่ากัมพูชาจะมอบนครวัดคืนให้ประเทศไทย" จากนั้น ฮุน เซนมีคำสั่งให้ระงับการฉายละคร ลูกไม้ไกลต้น (2543) ซึ่งสุวนันท์แสดงนำทันที โดยกล่าวว่า "นางเอกสาวชาวไทยอย่าได้สำคัญตนผิดไป เพราะเธอไม่มีค่าเท่ากับต้นหญ้าที่ขึ้นอยู่รอบนครวัดด้วยซ้ำ" พร้อมทั้งตำหนิชาวเขมรที่แขวนรูปนักแสดงไทยแทนที่จะแขวนพระฉายาลักษณ์กษัตริย์กัมพูชา[102] ความไม่พอใจยิ่งทวีขึ้นจนก่อให้เกิดเหตุจลาจลในพนมเปญ พ.ศ. 2546 มีการเผาทำลายสถานทูตไทยในพนมเปญ รวมทั้งปล้นชิงทรัพย์สินของชาวไทยในกัมพูชา[100][102] และปัจจุบันนี้ละครโทรทัศน์ไทยถูกจำกัดไม่ให้ฉายในช่องหลัก ตามคำสั่งของรัฐบาลกัมพูชา[103]

ชาวไทยเกาะกงที่มีชื่อเสียง

แก้
 
สมเด็จพิชัยเสนา (เตีย บัญ) ทหารและนักการเมืองกัมพูชาเชื้อสายไทยจากเกาะกง

หมายเหตุ

แก้

หมายเหตุ ก เป็นจำนวนผู้มีเชื้อสายไทยในจังหวัดเกาะกงเท่านั้น มิได้นับรวมบุคคลผู้มีเชื้อสายไทยในภูมิภาคอื่น เช่น พนมเปญ พระตะบอง และบันทายมีชัย ที่มีชุมชนไทยอาศัยอยู่[60]

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 "ไทยพลัดถิ่น". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-20. สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2021.
  2. "สถิติจำนวนคนไทยใน ตปท. ประจำปี 2564" (PDF). กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ. 28 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2022.
  3. ฐานิดา บุญวรรโณ (1 กุมภาพันธ์ 2012). "ใครคือคนไทยพลัดถิ่นเชื้อสายไทยจากเกาะกง". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2021.
  4. กรกนก วัมนภูมิ (19 มิถุนายน 2012). "ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง เรื่องเล่าบนเส้นทางการบังคับใช้กฎหมายใหม่ พ.ร.บ. สัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2021.
  5. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, หน้า 26–27
  6. 6.0 6.1 ศานติ ภักดีคำ, รศ. (2 สิงหาคม 2022). "จาก "เสียม (สยาม)" สู่ "ไถ (ไทย)" : บริบทและความหมายในการรับรู้ของชาวกัมพูชา". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2022.
  7. "บันทึกเรื่องขนบธรรมเนียมของกัมพูชา". หนังสือเก่าชาวสยาม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 เมษายน 2021. สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2021.
  8. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, หน้า 28
  9. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, หน้า 30
  10. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, หน้า 29
  11. 11.0 11.1 ศานติ ภักดีคำ. ยุทธมรรคา เส้นทางเดินทัพไทย-เขมร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557, หน้า 131-132
  12. ฝั่งขวาแม่น้ำโขง, หน้า 2
  13. Trudy Jacobson (2008). Lost goddesses : the denial of female power in Cambodian history (PDF). Copenhagen: NIAS Press. p. 110.
  14. ชุด "อาเซียน" ในมิติประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์กัมพูชา, หน้า 155
  15. 15.0 15.1 ยรรยงค์ สิกขะฤทธิ์ (2016). การศึกษาเปรียบเทียบราชาศัพท์ในภาษาไทยและภาษาเขมรจากมุมมองข้ามสมัย (PDF). คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 84.
  16. 16.0 16.1 ยรรยงค์ สิกขะฤทธิ์ (2016). การศึกษาเปรียบเทียบราชาศัพท์ในภาษาไทยและภาษาเขมรจากมุมมองข้ามสมัย (PDF). คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 85.
  17. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 100-101
  18. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 102
  19. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 120
  20. กรมศิลปากร (2481). ประชุมพงศาวดารภาคที่ 71 (PDF). พระนคร: กรุงเทพบรรณาคาร. p. 26.
  21. อมรวงศ์วิจิตร, หม่อม. "พงษาวดารเมืองลแวก". ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 4. พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร. 2458, หน้า 23
  22. 22.0 22.1 กำพล จำปาพันธ์ (มกราคม–เมษายน 2560). "สงครามระหว่างอโยธยากับนครธม (พุทธศตวรรษที่ 19-20) จากเอกสารประวัติศาสตร์ ไทย กัมพูชา และชาติตะวันตก". Journal of Mekong Societies. 13(1), หน้า 102
  23. กำพล จำปาพันธ์ (มกราคม–เมษายน 2560). "สงครามระหว่างอโยธยากับนครธม (พุทธศตวรรษที่ 19-20) จากเอกสารประวัติศาสตร์ ไทย กัมพูชา และชาติตะวันตก". Journal of Mekong Societies. 13(1), หน้า 103
  24. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 174
  25. ปรามินทร์ เครือทอง (15 เมษายน 2566). "ตามติดปฏิบัติการ พระเจ้าตาก "ตามล่า" รัชทายาทกรุงศรีอยุธยา". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  26. "ชะตากรรม "เจ้าศรีสังข์" พระราชนัดดา "พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ" ลี้ภัยการเมืองสู่เขมร". ศิลปวัฒนธรรม. 4 พฤศจิกายน 2566. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 27.4 เอนก นาวิกมูล. นักเดินทางชาวสยาม. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562, หน้า 85–91
  28. 28.0 28.1 อดิเทพ พันธ์ทอง (7 มิถุนายน 2016). ""โขนไทย" มาจาก "เขมร" ?". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2019.
  29. 29.0 29.1 "จดหมายเรื่องไทยส่งทัพไปเมืองญวน พม่ายกทัพมาเมืองไทยอีก จดหมายมองซิเออร์วิลแมง ถึงมองซิเออร์เดคูร์วีแยร์". ประชุมพงศาวดาร เล่ม 23, หน้า 188–190
  30. 30.0 30.1 อภิญญา ตะวันออก (3 กันยายน 2019). "ฤๅเคยมี "เจ้าคุณพระ" ในราชสำนักเขมร?". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2021.
  31. 31.0 31.1 สุภัตรา ภูมิประภาส (2009). "กษัตริย์กัมพูชา นางละครสยาม และข่าวที่ถูกห้ามเขียน" (PDF). ศิลปวัฒนธรรม (30:10). p. 106.
  32. Trudy Jacobson (2008). Lost goddesses : the denial of female power in Cambodian history (PDF). Copenhagen: NIAS Press. p. 175.
  33. ศานติ ภักดีคำ (กันยายน 2554–สิงหาคม 2555). ผนวช "กษัตริย์กัมพูชา" สมัยรัชกาลที่ 4 : พระพุทธศาสนากับการเมืองสองราชสำนักสยาม-กัมพูชา. หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมไทย (8:1), หน้า 383.
  34. "นิราสนครวัด (8. อยู่เมืองพนมเพ็ญครั้งหลัง)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2021.
  35. 35.0 35.1 35.2 ระพิน พุทฺธิสาโร, พระปลัด (n.d.). ธรรมยุติกนิกายในกัมพูชา : ความสัมพันธ์ทางการเมืองและศาสนาของไทยและกัมพูชา (PDF). ศูนย์บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. p. 2.
  36. Maurel, Frédéric (2002). "A Khmer "nirat", 'Travel in France during the Paris World Exhibition of 1900': influences from the Thai?". South East Asia Research. 10 (1): 99–112. doi:10.5367/000000002101297026. JSTOR 23749987. S2CID 146881782.
  37. 37.0 37.1 37.2 37.3 พุทธศิลป์ไทยในอาเซียน, หน้า 175
  38. 38.0 38.1 ระพิน พุทฺธิสาโร, พระปลัด (n.d.). ธรรมยุติกนิกายในกัมพูชา : ความสัมพันธ์ทางการเมืองและศาสนาของไทยและกัมพูชา (PDF). ศูนย์บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. p. 3.
  39. ศิริพร แดงตุ้ย (2010). พัฒนาการทางเศรษฐกิจพลอยในเขตอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด (PDF). มหาวิทยาลัยบูรพา. p. 34-35. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-09-17. สืบค้นเมื่อ 2021-05-20.
  40. "การพลัดถิ่นของคนเชื้อสายไทยจากเกาะกงสู่ประเทศไทยในยุคเขมรแดง". สามก๊กวิว. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2013.
  41. อดิศักดิ์ ศรีสม (18 เมษายน 2015). "คนไทยในเกาะกง". ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 กันยายน 2021. สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2021.
  42. จรัญ โยบรรยง. รัฐบาลทมิฬ. กรุงเทพฯ : จิตติกานต์, 2528, หน้า 122
  43. สุนิดา ศิวปฐมชัย (มกราคม–มิถุนายน 2554). "การศึกษาข้ามแดนไทย-กัมพูชา : ภาระ หรือโอกาส". วารสารภาษาและวัฒนธรรม (30:1), หน้า 69
  44. จุตินันท์ ขวัญเนตร (กรกฎาคม–ธันวาคม 2018). การก้าวขึ้นสู่โครงสร้างอำนาจระดับชาติของคนไทยเกาะกงในกัมพูชา. วารสารวิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง (7:2). p. 92-93.
  45. จุตินันท์ ขวัญเนตร (กรกฎาคม–ธันวาคม 2018). การก้าวขึ้นสู่โครงสร้างอำนาจระดับชาติของคนไทยเกาะกงในกัมพูชา. วารสารวิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง (7:2). p. 94.
  46. "เปิดวาร์ป ผู้ว่าหญิงเขมร สายคลองใหญ่". คมชัดลึก. 13 มิถุนายน 2020. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2022.
  47. คนสองแผ่นดิน, หน้า 33
  48. ประวัติศาสตร์ นอกตำรา (3 มีนาคม 2021). เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กับการอพยพสู่สยาม หลังการแลกดินแดนพระตะบอง สมัย ร.5. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2021 – โดยทาง ยูทูบ.
  49. 49.0 49.1 "พระตะบอง เสียมเรียบ ศรีโสภณ "รอยสยาม" และ "สามจังหวัด"กัมพูชา". สารคดี. 22 ตุลาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2022.
  50. ประวัติเมืองอรัญ ตอนที่ 1, หน้า 30
  51. ประวัติเมืองอรัญ ตอนที่ 1, หน้า 32
  52. ประวัติเมืองอรัญ ตอนที่ 1, หน้า 40
  53. 53.0 53.1 โมไนย-พจน์ (13 กันยายน 2013). "ไทย (โคราช) พลัดถิ่นที่บ้านไพรขะปั๊ว (ឃុំព្រៃខ្ពស់ ป่าสูง) พระตะบอง กัมพูชา". OK Nation. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2021.
  54. นิราศนครวัด, หน้า 234
  55. Jacob, Judith M.; Smyth, David. Cambodian Linguistics, Literature and History (PDF). Rootledge & University of London School of Oriental and African Studies. pp. 28–37. ISBN 0-7286-0218-0.
  56. ยรรยงค์ สิกขะฤทธิ์ (2016). การศึกษาเปรียบเทียบราชาศัพท์ในภาษาไทยและภาษาเขมรจากมุมมองข้ามสมัย (PDF). คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 173.
  57. ยรรยงค์ สิกขะฤทธิ์ (2016). การศึกษาเปรียบเทียบราชาศัพท์ในภาษาไทยและภาษาเขมรจากมุมมองข้ามสมัย (PDF). คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 181.
  58. 58.0 58.1 พุทธศิลป์ไทยในอาเซียน, หน้า 196
  59. "แกะรอยไทย ในพระตะบอง". โพสต์ทูเดย์. 10 มีนาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2022.
  60. 60.0 60.1 หทัยรัตน์ จตุรภัทรวงศ์และคณะ (กรกฎาคม–ธันวาคม 2016). การจัดสำเนียงย่อยของกลุ่มภาษาพวนในจังหวัดบันทายมีชัย และจังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา. วารสารช่อพะยอม (27:2). p. 34.
  61. คนสองแผ่นดิน, หน้า 27
  62. นิติภูมิ นวรัตน์ (1 ตุลาคม 2001). วัฏจักรโลก : รุ่งเรือง และ พินาศ (ต่อจากฉบับที่ ๑๓๖) (Speech). พุทธสถานปฐมอโศก.
  63. คนสองแผ่นดิน, หน้า 87
  64. สุนิดา ศิวปฐมชัย (มกราคม–มิถุนายน 2554). "การศึกษาข้ามแดนไทย-กัมพูชา : ภาระ หรือโอกาส". วารสารภาษาและวัฒนธรรม (30:1), หน้า 74
  65. ปิลันธน์ ไทยสรวง (3 กุมภาพันธ์ 2016). "สรุปงานเสวนาเรื่อง ถลกทูตเขมร เรื่องประวัติศาสตร์พระวิหาร". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 ตุลาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2022.
  66. ระพิน พุทฺธิสาโร, พระปลัด (n.d.). ธรรมยุติกนิกายในกัมพูชา : ความสัมพันธ์ทางการเมืองและศาสนาของไทยและกัมพูชา (PDF). ศูนย์บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. p. 6.
  67. ชุด "อาเซียน" ในมิติประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์กัมพูชา, หน้า 39
  68. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล (18 กรกฎาคม 2021). "องค์โด้ นารี ทรพี และพิธีไล่เสือที่เกาะช้าง ผีบุญฉบับเพลย์บอยที่ตราด-เกาะกงสมัยร.4". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2022.
  69. 69.0 69.1 ศานติ ภักดีคำ (มกราคม–มิถุนายน 2019). บทละครเรื่องรามเกียรติ์ และบทละครเรื่องอิเหนาในภาษาเขมร : กับความสัมพันธ์วรรณคดีการแสดงไทย-กัมพูชา (PDF). ดำรงวิชาการ 8 (1). p. 53-54.
  70. "ชาวเน็ตกัมพูชาแห่แชร์ 'โขนเป็นของกัมพูชา ไม่ใช่ไทย'". วอยซ์ทีวี. 6 มิถุนายน 2016. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2019.
  71. "โขนไทย-กัมพูชา ต่างกันตรงไหน". The Bangkok Insight. 30 พฤศจิกายน 2018. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2019.
  72. "เสวนาเรื่อง โขน : รามายณะ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมร่วมในอาเซียน". กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. 9 มิถุนายน 2016. ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กันยายน 2021. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2019.
  73. ศานติ ภักดีคำ (มกราคม–มิถุนายน 2019). บทละครเรื่องรามเกียรติ์ และบทละครเรื่องอิเหนาในภาษาเขมร : กับความสัมพันธ์วรรณคดีการแสดงไทย-กัมพูชา (PDF). ดำรงวิชาการ 8 (1). p. 65.
  74. ""โขนไทย - โขลกัมพูชา" ความต่างในมรดกโลก". โพสต์ทูเดย์. 30 พฤศจิกายน 2018. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2019.
  75. "ชำแหละที่มา "โขนเขมร" มาจาก "ราชสำนักไทย"". โพสต์ทูเดย์. 3 กันยายน 2018. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2019.
  76. ชัยวัฒน์ เสาทอง (12 พฤศจิกายน 2019). ""แม่เมือน" นางละครไทยคนสุดท้ายในราชสำนักกัมพูชา และโลกนาฏศิลป์หลังเขมรแดง". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2019.
  77. นิราศนครวัด, หน้า 236
  78. อภิญญา ตะวันออก (4 มกราคม 2017). "สมเด็จพระพี่นาง-ดอกไม้ของทวยเทพ ในรักที่สังเวยแด่…ความอาดูร". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2018.
  79. "อัตลักษณ์ 'อัปสรา' ในนาฏศิลป์เขมร". มติชนสุดสัปดาห์. 26 มกราคม 2017. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2018.
  80. 80.0 80.1 "ดราม่า! วัยรุ่นกัมพูชาฮิตแต่งชุดไทยเที่ยวโบราณสถาน จนรัฐบาลต้องสั่งเบรก". ผู้จัดการออนไลน์. 14 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2022.
  81. สุรัตน์ จงดา (พฤษภาคม–สิงหาคม 2021). อิทธิพลละครวังหน้าในนาฏศิลป์กัมพูชา. วารสารพิพิธพัฒนศิลป์ 1 (2). p. 48.
  82. สุรัตน์ จงดา (พฤษภาคม–สิงหาคม 2021). อิทธิพลละครวังหน้าในนาฏศิลป์กัมพูชา. วารสารพิพิธพัฒนศิลป์ 1 (2). p. 34.
  83. ศานติ ภักดีคำ (มกราคม–มิถุนายน 2019). บทละครเรื่องรามเกียรติ์ และบทละครเรื่องอิเหนาในภาษาเขมร : กับความสัมพันธ์วรรณคดีการแสดงไทย-กัมพูชา (PDF). ดำรงวิชาการ 8 (1). p. 65.
  84. ศานติ ภักดีคำ (มกราคม–มิถุนายน 2019). บทละครเรื่องรามเกียรติ์ และบทละครเรื่องอิเหนาในภาษาเขมร : กับความสัมพันธ์วรรณคดีการแสดงไทย-กัมพูชา (PDF). ดำรงวิชาการ 8 (1). p. 56.
  85. ศานติ ภักดีคำ (มกราคม–มิถุนายน 2019). บทละครเรื่องรามเกียรติ์ และบทละครเรื่องอิเหนาในภาษาเขมร : กับความสัมพันธ์วรรณคดีการแสดงไทย-กัมพูชา (PDF). ดำรงวิชาการ 8 (1). p. 55.
  86. ศานติ ภักดีคำ (มกราคม–มิถุนายน 2019). บทละครเรื่องรามเกียรติ์ และบทละครเรื่องอิเหนาในภาษาเขมร : กับความสัมพันธ์วรรณคดีการแสดงไทย-กัมพูชา (PDF). ดำรงวิชาการ 8 (1). p. 61.
  87. กุสุมา รักษมณี และคณะ (2014). สุนทรภู่ : อาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว (PDF). กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์. p. 204.
  88. กุสุมา รักษมณี และคณะ (2014). สุนทรภู่ : อาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว (PDF). กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์. p. 202-203.
  89. กุสุมา รักษมณี และคณะ (2014). สุนทรภู่ : อาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว (PDF). กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์. p. 221.
  90. กุสุมา รักษมณี และคณะ (2014). สุนทรภู่ : อาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว (PDF). กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์. p. 208.
  91. ศานติ ภักดีคำ (1998). การศึกษาเปรียบเทียบกากีเขมรฉบับพระหริรักษ์รามา (พระองค์ด้วง) และกากีคำกลอนฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) (PDF). คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 46-47. ...เรื่องกากีของเขมรไม่ได้ลอกเอาตามเรื่องเสียมทั้งหมดตรง ๆ เลย เรื่องกากีของพระบาทองค์ด้วง มหากวีกษัตริย์เขมรแน่นอนว่าเป็นเรื่องมีลักษณะเป็นเขมรนิยมจริง ๆ เรื่องกากีเขมรมีอุดมคติพิเศษคือ การอบรมสตรีเพศซึ่งมีจริยาไม่งาม ส่วนเรื่องของเสียมเป็นเรื่องซึ่งคล้อยตามไปกับจิตใจคนชักจูงนำเสียมซึ่งเจริญแต่เป็นมนุษย์โลภ ใจดุร้าย ปล้นฆ่าพยาบาท อุกอาจไม่ยำเกรงเขา (เสด็จคนธรรพ์ ใจดำไปประหารเสด็จหงสาวัตถีเอานางกากีที่ตนทำบาปทิ้งขว้างในตอนแรกมาเป็นมเหสีอีก) ก็ลักษณะเรื่องเสียมอันเป็นแบบนี้แล้ว จึงเป็นพยานว่า เรื่องกากีแบบเสียมเขมรไม่เอามาเป็นครูเลย [...] ตามความจริง (ถ้าคิดตามประวัติศาสตร์) เห็นว่ากระบวนขนาดเดิมของเสียมไม่สมบูรณ์เลย ได้ความว่าเสียมไม่ได้เป็นผู้ก่อสร้างวัฒนธรรม อักษรศาสตร์ของตนก่อนใครในแหลมสุวรรณภูมินี้เลย เพราะว่าประเทศเสียม (ซึ่งเรียกว่าไทยแลนด์) และประชาชนเสียมนี้เกิดขึ้นในสมัยหลังประเทศกัมพูชาเป็นเวลายาวไกลมาก กล่าวคือประเทศกัมพูชาซึ่งได้เกิดขึ้นตั้งแต่ในศตวรรษที่ 1 สมัยพระนางหลิวเย่-ฮุนเทียนนั้น ถ้าเช่นนี้ ประเทศเขมรซึ่งมีอายุเก่ากว่าอย่างนี้สมควรหรือไม่ที่จะไปรับอารยธรรมจากประเทศเสียม ซึ่งเห็นรัศมีพระอาทิตย์หลังกัมพูชา [...] สรุปความได้ว่า แม้ว่าเรื่องแบบไหนก็ตามซึ่งกวีนิพนธ์ปรารภว่า ได้เก็บออกจากเรื่องเสียมนั้น คือไม่ถูกต้องทั้งหมดเลย
  92. อิสรชัย บูรณะอรรจน์ และปองพล ยาศรี (กรกฎาคม–ธันวาคม 2016). ธรรมยุติกนิกายในกัมพูชา : ความสัมพันธ์ทางการเมืองและศาสนาของไทยและกัมพูชา (PDF). สังคมวิทยามานุษยวิทยา 35 (2). p. 140.
  93. อิสรชัย บูรณะอรรจน์ และปองพล ยาศรี (กรกฎาคม–ธันวาคม 2016). ธรรมยุติกนิกายในกัมพูชา : ความสัมพันธ์ทางการเมืองและศาสนาของไทยและกัมพูชา (PDF). สังคมวิทยามานุษยวิทยา 35 (2). p. 128.
  94. อิสรชัย บูรณะอรรจน์ และปองพล ยาศรี (กรกฎาคม–ธันวาคม 2016). ธรรมยุติกนิกายในกัมพูชา : ความสัมพันธ์ทางการเมืองและศาสนาของไทยและกัมพูชา (PDF). สังคมวิทยามานุษยวิทยา 35 (2). p. 135.
  95. อิสรชัย บูรณะอรรจน์ และปองพล ยาศรี (กรกฎาคม–ธันวาคม 2016). ธรรมยุติกนิกายในกัมพูชา : ความสัมพันธ์ทางการเมืองและศาสนาของไทยและกัมพูชา (PDF). สังคมวิทยามานุษยวิทยา 35 (2). p. 138.
  96. เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 131
  97. ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล (19 พฤศจิกายน 2019). "วัดอุโบสถรตนาราม วัดพระแก้วในวังหลวงพนมเปญ ที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตคริสตัลฝรั่งเศส". The Cloud. สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2021.
  98. "รามเกร์-รามเกียรติ์ ที่พระราชวัง "จตุมุข" กรุงพนมเปญ". Matichon Academy. สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2021.
  99. เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 139
  100. 100.0 100.1 สกาว แซ่ซุย (10 สิงหาคม 2018). "ความนิยมสื่อบันเทิงไทยในอาเซียนยังพุ่ง แม้เคยสร้างความขัดแย้ง-กลืนกลายทางวัฒนธรรม". ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2022.
  101. "อิทธิพล"ไทยป๊อป"ในอาเซียน". โพสต์ทูเดย์. 27 กุมภาพันธ์ 2014. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2022.
  102. 102.0 102.1 "ละครไทยไปเขมร เรื่อง 'น้ำเน่า' ไร้พรมแดน". ผู้จัดการออนไลน์. 20 พฤศจิกายน 2009. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2022.
  103. "เสรีภาพของสื่อในกัมพูชา". วอยซ์ทีวี. 27 มิถุนายน 2013. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2022.
  104. Visit to Japan by Gen. Tea Banh, Deputy Prime Minister and Minister of National Defense of Cambodia
  105. "Election results". Cambodia National Election Committee. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-30. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2008.
  106. venus thammasiri (15 พฤษภาคม 2008). "พัด สุภาภา " เจ้าของบ่อนเกาะกง เบนเข็มสู่ธุรกิจการค้า - ท่องเที่ยว". นาวี 22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กันยายน 2012.
บรรณานุกรม
  • จิตร ภูมิศักดิ์ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. กรุงเทพฯ : ชนนิยม, 2556. 440 หน้า. ISBN 978-974-9747-21-6
  • จำรูญ พัฒนศร. ประวัติเมืองอรัญ ตอนที่ 1. พระนคร : ประเสริฐศิริ, 2515. 78 หน้า.
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยานิราศนครวัด. พระนคร : บรรณาคาร, 2515. 244 หน้า.
  • เติม สิงหัษฐิต. ฝั่งขวาแม่น้ำโขง. พระนคร : คลังวิทยา, 2490. 618 หน้า.
  • ธิบดี บัวคำศรี. ชุด "อาเซียน" ในมิติประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์กัมพูชา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555. 188 หน้า. ISBN 978-974-7727-58-6
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. 632 หน้า. ISBN 978-974-323-056-1
  • เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 336 หน้า. ISBN 978-616-514-668-5
  • รุ่งมณี เมฆโสภณ. คนสองแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : บ้านพระอาทิตย์, 2551. 208 หน้า. ISBN 978-974-05-7842-0.
  • ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พุทธศิลป์ไทยในอาเซียน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563. 360 หน้า. ISBN 978-974-02-1728-2.
  • ศานติ ภักดีคำ. เขมรสมัยหลังพระนคร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. 224 หน้า. ISBN 978-974-02-1147-1.
  • ประชุมพงศาวดาร เล่ม 23. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2511. 348 หน้า.