สไบ หรือ ผ้าแถบ เป็นผ้าผืนยาวแคบสำหรับคาดอกสตรีต่างเสื้อ พบได้ในภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะใน ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ในขณะที่บริเวณชายฝั่งสุมาตรากับคาบสมุทรมลายูจะใช้คำนี้กับผ้าคลุมไหล่[1]:410 สไบมีที่มาจากส่าหรีอินเดีย ซึ่งคลุมทับไหล่ข้างหนึ่ง[1]:153 ในกลุ่มวัฒนธรรมอื่นนอกจากวัฒนธรรมไทย ผู้ชายยังใช้สไบในกิจกรรมทางศาสนา[2] สไบสามารถห่มได้หลายรูปแบบ เช่น คาดหน้าอก พาดเฉวียงบ่าปล่อยชาย ตะเบ็งมาน ผ้าห่ม เพลาะ และสะพายแพร เป็นอาทิ

หญิงไทยห่มสไบที่พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน

ในราชสำนักไทย สไบเป็นเครื่องแต่งกายที่ใช้แสดงฐานานุศักดิ์ของเจ้านายฝ่ายใน (เจ้านายผู้หญิง) มาช้านาน โดยมีการบัญญัติการแต่งกายของฝ่ายในไว้มาตั้งแต่อาณาจักรอยุธยา[3][4] ตั้งแต่พระอัครมเหสี พระราชชายา พระราชธิดา หรือบาทบริจาริกา ล้วนห่มสไบ ต่อมาในยุคหลังมีการสวมเสื้อแขนกระบอกก็จะต้องห่มสไบทับอยู่ด้วยเสมอ[5] โดยการห่มสไบของหญิงฝ่ายในและชาววังจะคู่กับการนุ่งจีบ ส่วนหญิงสามัญชนจะห่มสไบคู่กับนุ่งโจงกระเบน[6] ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชนิยมให้ห่มสไบทับเสื้อแขนกระบอก คู่กับนุ่งโจงกระเบนแทน[5]

ศัพทมูลวิทยา

 
ปูนปั้น "ปัญจดุริยนารี" รูปนักดนตรีหญิงยุคทวารวดีห่มผ้าแถบ

สไบ ในภาษาไทยเป็นคำนาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายไว้ว่า ผ้าผืนยาว ๆ แคบ ๆ ใช้ห่มคาดหน้าอกต่างเสื้อ รวมทั้งหมายถึง ผ้าสะพัก หรือผ้าทรงสะพัก[7] มีรากศัพท์เดิมมาจากคำในตระกูลภาษาโปรโต-ออสโตรนีเซียนว่า *cahebay[8] แปลว่า พาด แขวน ซึ่งกระจายเข้ามายังกลุ่มภาษาอื่น ๆ เมื่อ 4,000–3,500 ปีก่อนคริสตกาลมาแล้ว

หลักฐานเกี่ยวกับสไบในดินแดนประเทศไทยที่เก่าที่สุดคือ ปูนปั้นปัญจดุริยนารี เป็นปูนปั้นประดับสถูปสถานในศาสนาพุทธ สมัยทวารวดี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12–13 เป็นปูนปั้นสตรีทั้ง 5 คน สวมใส่สไบเล่นดนตรี[9] พบที่นอกโบราณสถานเมืองคูบัวทางทิศตะวันตก จังหวัดราชบุรี รวมทั้งประติมากรรมรูปคน เทวดา และนักดนตรีอายุสมัยทวารวดีพบที่รอบฐานสถูปเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐมแสดงให้เห็นว่าสตรีสมัยทวารวดีสวมสไบหรือผ้าแถบคาดไหล่[10] เมื่อพิจารณาการไหลของวัฒนธรรมพบว่าเครื่องแต่งกายของไทยได้แบบอย่างจากส่าหรีของอินเดียมาประยุกต์ใช้เฉพาะส่วนบนของร่างกายผ่านมลายูขึ้นมาสู่ทวารวดีที่มีการห่มสไบระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11–16[9][11][12] คำ สไบ ในภาษาไทยจึงน่าจะเป็นคำยืมมาจากคำภาษามลายูว่า sbai[13] หรือ sĕbai[14] ในกลุ่มภาษามลายู-พอลินีเชียมากกว่า ในขณะที่ สไบ (spāi) ในภาษาเขมรที่ระบุชนิดเป็นผ้าคลุมไหล่และผ้าพันคอแบบสไบ พบในจารึกระเบียงนครวัด (Grande Inscription Moderne d'Angkor) หลักที่ IMA 39 อายุคริสต์ศตวรรษที่ 18 (ค.ศ. 1747) เท่านั้น[15]

รากศัพท์เดิมของคำว่า สไบ กำเนิดมาจากตระกูลภาษาโปรโต-ออสโตรนีเซียนคือ *cahebay*cahbay*cahpay*capay[16][8] แล้วกระจายเป็นคำยืมและคำแผลงตามกลุ่มภาษาอื่น ๆ เป็นทั้งคำนาม คำอกรรมกริยาและสกรรมกริยา ดังนี้

 
หญิงชาวบาหลีห่มผ้าใกล้เคียงกับผ้าแถบ
  • กลุ่มภาษาออสโตรนีเซียน
    • ภาษาออสโตรนีเซียนดั้งเดิม คือ *cahbayłahpay, cahfay, cabfay[16] (คำแปล: น. คลุมทับไหล่)
  • กลุ่มภาษาเกาะฟอร์โมซา
  • กลุ่มภาษามลายู-พอลินีเชีย
  • กลุ่มภาษาอินโด-ยูโรเปียน
  • กลุ่มภาษาขร้า–ไท
    • ภาษาไทย สไบย (จารึกเจ้าเถรศรีเทพคิริมานนท์ 1 พ.ศ. 1956 ภาษาไทย อักษรไทสมัยอยุธยา)[19] สไบ
  • กลุ่มภาษาออสโตรเอเชียติก
    • ภาษากูย phìai
    • ภาษามอญโบราณสมัยทวารวดีและภาษาญัฮกุร *lɓak[20]
    • ภาษามอญสมัยกลาง cambāy
    • ภาษามอญสมัยใหม่ *jbaay หยาดฮะหริ่มโต่ะ[21]
    • ภาษาเขมรสมัยก่อนเมืองพระนครและสมัยเมืองพระนคร spāi, spāiphyah (คำปริวรรตภาษาฝรั่งเศส: spāy) พบในแผ่นศิลาจารึกปราสาทพระโค หมายเลข K.713B อายุ ค.ศ. 893 และจารึกเกาะแกร์ หมายเลข 188 บรรทัด 3 อายุ ค.ศ. 929 สมัยก่อนเมืองพระนคร[22] ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นผ้าคลุมไหล่ชนิดใด[23]
    • ภาษาเขมรสมัยหลังเมืองพระนคร spāi[15] (ស្បៃ, spāi, คำแปล: ผ้าคลุมไหล หรือผ้าพันคอแบบสไบ) พบในจารึกระเบียงนครวัด (Grande Inscription Moderne d'Angkor) หลักที่ IMA 39 บรรทัด 68 อายุ ค.ศ. 1747[24] ระบุชนิดว่าเป็นผ้าคลุมไหล่และผ้าพันคอแบบสไบ
    • ภาษาเขมรสมัยใหม่ spiey (ស្ពាយ)[25]
  • กลุ่มภาษาอินโด-อิเรเนียน
    • ภาษาสันสกฤต spāy (spāy phyah) พบคำจารึกภาษาสันสกฤตปะปนกับภาษาเขมรสมัยก่อนเมืองพระนครบนหม้อทองเหลือง Tāmrakumbha หมายเลข K.669C บรรทัดที่ 18 อายุ ค.ศ. 972[26] พบที่ปราสาทพระวิหารแต่ไม่สามารถระบุว่าเป็นผ้าคลุมไหล่ชนิดใด[23]
 
เจ้านายฝ่ายในสยามสะพายแพรที่ดัดแปลงจากการห่มสไบ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ยังระบุไว้ว่าเป็นคำยืมมาจากภาษาเขมรว่า "ไสฺบ" (ស្បៃ) มีความหมายว่า "ผ้าแถบ ผ้าคาดอกผู้หญิง" ขณะที่สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช (2563) อธิบายว่าคำดังกล่าวอาจมีที่มาหรือมีความเกี่ยวข้องกับคำว่า ซาปัย (Sapay) อันเป็นคำในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนดั้งเดิม ซึ่งมีความหมายว่า "การพาดแขวนบนบ่า" หรือ "ราวเชือก"[27] นอกจากนี้ในไทยยังเรียกสไบอีกชื่อว่า ผ้ากะแสง, กระแสง หรือกรรแสง[28] และบัญญัติการห่มผ้าแถบอีกแบบหนึ่งเรียกว่า "ตะเบ็งมาน" หรือ "ตะแบงมาน" แปลว่า "วิธีห่มผ้าแถบแบบหนึ่ง โดยคาดผ้าอ้อมตัวจากด้านหลังไขว้ขึ้นมาด้านหน้า แล้วเอาชายทั้ง ๒ ไขว้ไปผูกที่ต้นคอ"

สไบอีกชนิดหนึ่งสำหรับสตรีชั้นสูงในราชสำนักไทย เรียกว่า "ผ้าสะพัก" หรือ "ผ้าทรงสะพัก" มีลักษณะเป็นผ้าแพรหรือผ้าสไบอย่างหนาใช้คลุมทับสไบหรือเสื้ออีกชั้นหนึ่ง[29] ต่อมาราชสำนักกัมพูชานำไปใช้ เรียกว่า "พระสุภาก"[30] และมีสไบอีกอย่างหนึ่งคือ "ผ้าห่ม" มีวิธีห่มหลากหลาย เช่น ห่มผ้าคล้องไหล่ ห่มผ้าคล้องคอ หรือห่มคลุมซึ่งใช้ในฤดูหนาว มีการต่อผ้าให้หน้ากว้างขึ้นจะเรียกว่า "เพลาะ" ใช้ห่มไหล่กันลมหนาว หรือห่มนอนก็ได้[31] ส่วนผ้าห่มอย่างสไบ จะเป็นสไบหน้าแคบกลายเป็นผ้าเฉวียงซ้าย[4]

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการพัฒนาการการห่มสไบเป็นการ "สะพายแพร" คือการนำผ้าแพรจีบขวางเอวมาจีบตามยาวอีกครั้ง จนเหลือผืนแคบ แล้วตรึงให้แน่น สะพายบนบ่าซ้าย รวบชายไว้ที่เอวด้านขวาเพื่อสะดวกแก่การเดินทาง[32] หากเป็นผ้าโปร่งบางไม่จับจีบ จะเรียกว่า "แพรฝรั่ง"[33] และการสะพายแพรถูกยกเลิกไปในรัชกาลถัดมา[34]

การแบ่งกลุ่ม

ชาวกวย

ในอดีตชาวกวยในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรืออีสานใต้ของประเทศไทย จะคล้องผ้าสไบและนุ่งโจงกระเบนเป็นเครื่องแต่งกายพื้นเมือง ปัจจุบันชาวกวยจะสวมเครื่องแต่งกายเช่นนี้ในช่วงประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อเท่านั้น[35]

ชาวเขมร

 
เหล่านางห้ามของสมเด็จพระแก้วฟ้า แต่งกายตามขนบนิยมอย่างสยามในรัชกาลที่ 5

ราชสำนักกัมพูชายุคหลังมีการรับอิทธิพลจากสยามไปค่อนข้างมาก โดยนำวิธีการห่มผ้าทรงสะพักในราชสำนักสยามไปใช้ด้วย เรียกว่า "พระสุภาก"[30] ในรัชสมัยของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี มีการแต่งตั้งให้ภรรยาของขุนนางจตุสดมภ์และขุนนางที่ถือศักดินา 9,000 ไร่เป็นต้นไป ให้มีบรรดาศักดิ์เป็น "ชุมท้าว" (ជំទាវ, จ็อมเตียว) เทียบท่านผู้หญิงของไทย ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สตรีเหล่านี้นุ่งผ้าลายมีเชิง และห่มสไบมีสีตามฐานานุศักดิ์[36]

ส่วนผู้ชายชาวไทยเชื้อสายเขมรในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรืออีสานใต้ของประเทศไทย จะคล้องผ้าขาวม้ายกขิต เรียกว่า สไบรือเจียร์ คู่กับนุ่งผ้าโสร่งหรือนุ่งผ้าสมปรต ส่วนผู้หญิงจะห่มสไบทอยกดอกลายลูกแก้วคู่กับนุ่งซิ่นซึ่งได้ต้นแบบมาจากผ้าไทย เรียกว่า อันลุยซีม[35]

ในงานแต่งงานของชาวเขมรในปัจจุบัน จะให้เจ้าสาวใส่ชุดนางนาค และเจ้าบ่าวใส่ชุดพระทอง ตามอย่างตำนานท้องถิ่นเรื่อง พระทองนางนาค ซึ่งมีเนื้อหาว่า "นางนาคชื่อทาวดีเป็นลูกนาคราชอาศัยอยู่ใต้บาดาล และพระทองเป็นเจ้าชายจากแดนไกล วันหนึ่งนางนาคแปลงกายเป็นมนุษย์ขึ้นมาเล่นน้ำ เป็นจังหวะที่พระทองเดินทางมาพบจึงเกิดหลงรักนางนาคและแต่งงานกัน บิดานางนาคจึงเนรมิตเมืองขึ้นให้ชื่อว่า ‘กัมพูชา’ ให้แก่พระทองและลูกสาวของตน พระทองจึงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกัมพูชา ต่อมาพระทองต้องการลงไปเมืองบาดาลแต่เป็นมนุษย์ไม่สามารถเดินทางไปได้ นางนาคจึงให้พระทองจับสไบเพื่อจะสามารถตามไปยังถ้ำใต้บาดาลได้" ด้วยเหตุนี้ในงานแต่ง เจ้าบ่าวจะต้องจับสไบของเจ้าสาวตามความเชื่อดังกล่าวด้วย[37]

ชาวไทย

คนสามัญ

 
การห่มสไบและนุ่งโจงกระเบนของหญิงสามัญ

ในสมัยอาณาจักรอยุธยา มีบันทึกเรื่องราวการแต่งกายของชาวสยามในสมัยนั้นโดยซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีเมื่อ พ.ศ. 2230 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความว่า "นอกจากผ้านุ่งแล้ว ผู้หญิงก็ปล่อยล่อนจ้อน ด้วยธรรมเนียมสตรีไม่มีเสื้อครุย (ฝรั่งเรียกเสื้อเชิ้ต) ชั่วแต่คนที่มั่งมีศรีสุขจึ่งจะใช้สะไบห่มอีกผืนหนึ่ง บางที่ห่มคาดนมปัดชายสะไบเฉียงบ่า แต่สตรีที่สุภาพราบเรียบ มักใช้สะไบตะแบงมานพันขนองกลางสะไบ ปัดชายทั้งสองมาสพักอุระ พาดสองบ่าปล่อยชายห้อยเฟื้อยปลิวลงไปข้างหลัง (อย่างผ้าห่มนางละครรำ)" โดยผู้หญิงจะนุ่งผ้านุ่งปล่อยผ้ายาวมาถึงหน้าแข้งคล้ายกระโปรง ปกปิดแต่ส่วนอุจาดด้วยการ "ปกสะเอวและขาลงไปกระทั่งหัวเข่าด้วยท่อนผ้าผืนลาย ๆ ยาวราว 5 แขน" เดินเท้าเปล่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนชาติอื่น ๆ ก็แทบจะเหมือนคนเปลือยกาย ส่วนเด็ก ๆ จะเปลือยกายจนถึงอายุ 4-5 ขวบ จึงจะใส่จะปิ้ง[38] เมื่อครั้งออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) เป็นราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีที่ประเทศฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2229 ขณะที่ออกพระวิสุทธสุนทรร่วมการประชุมที่สำนักเดอแบร์นี ขณะนั้นมีผู้ร่วมประชุมท่านหนึ่งขอความเห็นออกพระวิสุทธสุนทรเกี่ยวกับการแต่งกายของหญิงตะวันตก ออกพระวิสุทธสุนทรก็ตอบว่า "เครื่องแบบแหม่มนี้เหมาะดีมาก แต่ว่าถ้าแหม่มแต่งอย่างผู้หญิงไทย แล้วจะเพิ่มความสวยงามอีกเป็นกอง" ผู้ร่วมประชุมรายนั้นจึงถามว่าอีกว่า "เออ อย่างนั้นเจียวหรือ ? ก็ผู้หญิงชาวสยามเขาแต่งกันอย่างไร ?" ออกพระวิสุทธสุนทรจึงตอบว่า "หญิงเมืองไทยนั้นหรือท่าน [...] เขาผิดกันกับแหม่มตรงที่ว่าแหม่มนั้นช่างปิดตัวมิดชิด แทบจะไม่แลเห็นผิวเนื้อเลย นอกจากวงหน้านิดหน่อย แต่ผู้หญิงเมืองไทยนั้น หาเป็นเช่นนั้นไม่ แทนที่เขาจะนุ่งห่มปกปิดร่างกายให้มิดชิด ตั้งแต่เท้าขึ้นไปถึงศีรษะนั้น เขาห่มปิดแต่บางส่วนของร่างกายเท่านั้น อีกบางส่วนเขาทิ้งให้ปรากฏเปิดเผย ฉะนี้ลักษณะงดงามของสตรีในเมืองไทยจึงมีภาษีกว่าในเมืองนี้ ถ้าแหม่มจะเอาอย่างนี้บ้างแล้วก็เข้าใจว่าผู้หญิงเมืองฝรั่งนี้จะงามขึ้นอีกเป็นหลายเท่า"[39]

รัตนโกสินทร์ตอนต้น สตรีไทยนุ่งผ้าจีบและห่มสไบ เมื่ออยู่บ้านจะห่มเหน็บแบบผ้าแถบ เมื่อออกจากบ้านจึงเปลี่ยนเป็นสไบเฉียง หากทำงานจะเปลี่ยนเป็นตะแบงมานทั้งแบบปล่อยชายหรือผูกชาย ครั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวก็จะห่มผ้าแพรเพลาะคลุมไหล่ ในกรณีที่เป็นหญิงสมรสแล้วเวลาอยู่บ้านจะไม่ห่มสไบ สตรีที่มีฐานะดีจะนุ่งผ้ายกทอด้วยไหม มีสีสันสวยงาม หากเป็นสตรีที่มีอายุแล้วก็จะห่มผ้าสีเรียบเป็นพื้น โดยเฉพาะผ้าตาดขาวดำ เพราะเป็นสีสุภาพเหมาะกับวัย[40]

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หญิงชาวบ้านทั่วไปยังนุ่งโจงกระเบนและห่มผ้าแถบอยู่กับบ้าน[41] สตรีในราชสำนักเริ่มการสะพายแพรที่พัฒนาการจากการห่มสไบ คือการนำผ้าแพรจีบขวางเอวมาจีบตามยาวอีกครั้ง จนเหลือผืนแคบ แล้วตรึงให้แน่น สะพายบนบ่าซ้าย รวบชายไว้ที่เอวด้านขวาเพื่อสะดวกแก่การเดินทาง[32] และเพื่อเผยให้เห็นเสื้อลูกไม้ซึ่งอยู่ภายใน[42] โดยในงานเขียนของนายแพทย์ มัลคอล์ม สมิท ได้กล่าวถึงเครื่องแต่งกายของหญิงสยามในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ว่า

 
การห่มสไบของหญิงสามัญช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

"เครื่องแต่งกายประจำชาติของสตรีในสมัยนั้นมีอยู่เพียงสองชิ้น คือ ผ้านุ่ง เป็นผ้าผืนยาวปกปิดช่วงท้องกับสะโพก ใช้นั่งแบบเดียวกับโธตี (Dhoti) ของอินเดียซึ่งเป็นต้นกำเนิดอย่างไม่ต้องสงสัย กับอีกผืนหนึ่งคือ ผ้าห่ม หรือ ผ้าสไบเฉียง ชิ้นหลังเป็นผ้าคลุมง่าย ๆ ใช้พาดหน้าอกและทำให้อยู่กับที่ด้วยการพับชาย เป็นเครื่องแต่งกายที่เปลี่ยนแปลงไปได้ร้อยแปดพันเก้า เพราะจะแก้ออกเมื่อไรก็ได้ จนลุล่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ การนุ่งห่มแบบนี้ก็ไม่ได้กำหนดไว้เป็นการตายตัว เครื่องแต่งตัวสองชิ้นนี้ใช้กับสตรีไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไร..."[43]

แต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สตรียังนุ่งโจงกระเบน ต่อมาได้เปลี่ยนไปนุ่งซิ่นและสวมเสื้ออย่างฝรั่งตามสมัยนิยม การสะพายแพรที่พัฒนาจากการห่มสไบเฉียงถูกยกเลิกไปโดยปริยาย[34] ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เครื่องแต่งกายแบบตะวันตกที่จำหน่ายโดยห้างชาวยุโรปในกรุงเทพมหานครก็เริ่มแพร่หลายสู่คนสามัญชนแล้ว[44]

ในรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม มีการจัดระเบียบการแต่งกายของประชาชนตามรูปแบบรัฐนิยม ใน พ.ศ. 2484 คือผู้หญิงควรไว้ผมยาว สวมเสื้อชั้นนอกให้สะอาดเรียบร้อย นุ่งผ้าถุงยาว รวมทั้งให้สวมหมวก โดยมิให้สตรีเปลือยท่อนบนหรือใช้ผ้าแถบคาดอกในที่สาธารณะ[45][46] และครั้นเมื่อเลิกใช้กฎหมายดังกล่าวไปแล้ว ประชาชนเลิกสวมหมวก แต่ชนนิยมแต่งกายอย่างตะวันตกไปแล้ว คือผู้ชายนิยมนุ่งกางเกง และผู้หญิงนิยมนุ่งกระโปรง แม้จะมีบางส่วนยังนุ่งโจงกระเบนอยู่บ้าง[44] แต่สตรีก็นิยมนุ่งผ้าถุงมากกว่าโจงกระเบนเพราะราคาถูกกว่า[45] ส่วนผ้าแถบหรือสไบนั้นไม่ใคร่ปรากฏผู้ใช้ในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ ๆ แต่พอหลงเหลือคนห่มผ้าแถบและโจงกระเบนบ้างบางท้องถิ่น[47]

ส่วนชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสในกรุงเทพมหานคร หญิงจะนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อเข้ารูป คล้องผ้าคลุมไหล่ซึ่งเป็นผ้าแพรปังลิ้นมาอัดกลีบอย่างสไบ และจะดึงผ้าคลุมไหล่ดังกล่าวมาคลุมศีรษะเมื่อมีการรับศีลในโบสถ์คริสต์ แต่ปัจจุบันไม่มีใครแต่งกายเช่นนี้แล้ว[48][49]

ราชสำนักไทย

 
สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ฉลองพระองค์ตามอย่างโบราณราชประเพณี

ในราชสำนักไทย ปรากฏหลักฐานการห่มสไบและห่มผ้าสะพักทับอีกทีหนึ่งมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา เพราะมีหลักฐานการนุ่งบัญญัติไว้สำหรับการแต่งกายในราชสำนัก[3][4] มีการประเมินค่าจากลวดลาย เนื้อผ้า กรรมวิธีการผลิต โดยมากเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ และทำมาจากวัสดุมีค่าราคาแพง[50] บ่งบอกถึงฐานานุศักดิ์ของผู้นุ่ง ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับเจ้านายฝ่ายในและสตรีชั้นสูงในสมัยนั้น[3] ซึ่งจะห่มสะพักก็ต่อเมื่อเข้าร่วมในพระราชพิธีสำคัญที่มีการแต่งกายเต็มยศเท่านั้น เพราะเป็นธรรมเนียมที่แสดงถึงความสุภาพต่อธารกำนัลมาแต่โบราณ[51] เจ้านายฝ่ายในและหญิงชาววังจะมีธรรมเนียมว่าจะเป็นสาวเองไม่ได้ แต่จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ดูแลเสียก่อน หลังพระราชพิธีโสกันต์ ผู้ดูแลจะมีรับสั่งให้เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นผ้าสะพัก เพราะฉะนั้นการห่มผ้าทรงสะพักจึงเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นสาวของหญิงชาววัง[52]

โดยการห่มสะพักหรือห่มสไบซึ่งทำจากผ้าแพรหรือผ้าไหม มีวิธีการห่มสองรูปแบบคือ[31]

  1. ผ้าสะพักหรือสไบห่มเฉียง มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหน้าแคบ พันรอบอกหนึ่งรอบ แล้วเฉวียงขึ้นบ่าปล่อยชายไว้หลัง แลเห็นรอยต่อระหว่างผ้าห่มกับผ้านุ่ง ใช้สวมในงานพระราชพิธีต่าง ๆ
  2. ผ้าสะพักหรือสไบแบบสองบ่า ผ้าจะมีลักษณะยาวกว่าสไบห่มเฉียง พันรอบอกหนึ่งรอบ ทับเฉียงไขว้ที่อก แล้วจึงสะพักบนไหล่ทั้งสอง ปล่อยชายไปข้างหลังทั้งสองชาย สำหรับพระภรรยาเจ้าและนางบาทบริจาริกาสวมใส่ในพระราชพิธี โดยพระภรรยาเจ้าจะทรงสะพักที่ทำจากไหมทองทั้งผืน หรืออาจใช้ผ้าตาดหรือผ้ากรองทอง

ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีการห่มสไบให้มีความประณีตซับซ้อนขึ้น กลายเป็นเครื่องแสดงสถานะทางสังคมอย่างหนึ่ง ได้แก่ การห่มสไบสองชั้น เรียกว่า ผ้าทรงสะพัก รวมไปถึงการอัดกลีบสไบให้มีความสวยงาม[5] ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจนถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สตรีในราชสำนักจะห่มสไบตามโฉลกสีและมงคลฤกษ์ และเริ่มการนุ่งยกห่มตาด[4] โดยมากจะห่มสไบคู่กับนุ่งจีบหน้านาง ส่วนการห่มสไบพร้อมกับนุ่งโจงกระเบนไม่ต้องพระราชนิยม[5] ต่อมาราชสำนักกัมพูชาในยุคหลังจึงนำวิธีการห่มผ้าทรงสะพักไปใช้ด้วย เรียกว่า "พระสุภาก"[30] ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชนิยมให้สตรีในราชสำนักสวมเสื้อผ้าแพรแขนกระบอกแล้วห่มสไบทับ และมีพระราชนิยมให้นุ่งโจงกระเบนแทนนุ่งจีบ[5] โดยเจ้านายฝ่ายในขณะนั้นจึงมีการดัดแปลงฉลองพระองค์โดยมีการสะพักไว้อยู่ เช่น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์แขนหมูแฮม และห่มสะพักตาดทับฉลองพระองค์ ส่วนสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงฉลองพระองค์แขนกระบอกห่มด้วยสะพักตาดปัก เป็นต้น[50]

ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีการฟื้นฟูธรรมเนียมการแต่งกายโบราณขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงประยุกต์การห่มสไบเป็นชุดไทยพระราชนิยมสามแบบ คือ ชุดไทยจักรพรรดิ ชุดไทยจักรี และชุดไทยศิวาลัย[50]

ชาวมลายู

ชาวมลายูในประเทศมาเลเซีย เรียกผ้าอย่างเดียวกันนี้ว่า "เซอไบ" (มลายู: Sebai, سباي) ใช้พาดบริเวณลำคอเพื่อปิดไหล่โดยให้ปลายทั้งสองข้างปิดบริเวณหน้าอก ลักษณะคล้ายกับผ้าพันคอ[53] ส่วนชาวไทยเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย จะใช้ผ้าปล่อยที่เรียกว่าผ้าชายรามูลักษณะคล้ายผ้าขาวม้า หญิงมุสลิมใช้คลุมศีรษะหรือไหล่ (ทำนองเดียวกับผ้าห่มของไทย) บ้างก็ทำเป็นสไบคล้องคอ ส่วนกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธจะทำเป็นผ้าพาดเฉียงสำหรับไปทำบุญที่วัด[54]

ชาวมอญ

 
หญิงมอญในรัฐมอญ ประเทศพม่า ห่มหยาดโด๊ด

ชาวมอญเรียกสไบว่า "หยาดโด๊ด" (มอญ: ယာတ္ေဍာတ္) ชาวมอญในจังหวัดสมุทรสาครเรียก "หยาดฮะเหริ่มโตะ" (ယာတ္ဓရုီတု္) หรือ "หยาดหมิ่นโตะ" (ယာတ္မိန္တု္)[55] ถือเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของคนมอญ[56] ใช้สำหรับพาดไหล่เมื่อเข้าไปยังพุทธศาสนสถาน ใช้ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ผ้ามีขนาดกว้างหนึ่งศอก ยาวสี่ศอก[55] ซึ่งชุมชนมอญแต่ละกลุ่มจะมีลวดลายตกแต่งแตกต่างกันออก เช่น ลักษณะการใช้ผ้าซึ่งในประเทศไทยมีอยู่หกรูปแบบ คือ แบบผ้าแพรเรียบ, แบบสไบจีบ, แบบไหมพรมถัก, แบบลูกไม้, แบบผ้าขาวม้า และแบบสไบปัก[56]

วิธีการห่มคือนำผ้ามาพับตามยาวให้ได้สี่ทบให้เหลือเศษหนึ่งส่วนสี่ของความกว้างผืนผ้า จากนั้นให้พาดจากไหล่ซ้ายไปด้านหลัง อ้อมรักแร้ขวา แล้วขึ้นไปพับบนไหล่ซ้าย เอาด้านที่มีลวดลายออก หากไปเที่ยวงานรื่นเริงก็จะคล้องคอหรือพาดตรงบนไหล่ซ้าย[55] โดยการคล้องมี 4 ลักษณะคือ[56]

  1. คล้องให้ชายทั้งสองห้อยมาข้างหน้า ใช้สำหรับงานรื่นเริงที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ เช่น ขบวนแห่หางหงส์ธงตะขาบ และสงกรานต์
  2. แบบสไบเฉียง พาดจากแขนซ้ายอ้อมใต้รักแร้ขวา เอาปลายทับบนไหล่ซ้ายอีกที ใช้สำหรับการทำบุญในศาสนาพุทธ ใช้ได้ทั้งหญิงชาย
  3. พาดปล่อยชายสองข้าง พาดสไบไว้ด้านหลัง สำหรับผู้ชายในงานรื่นเริง
  4. พาดไหล่ซ้าย พาดสไบที่ไหล่ซ้ายแล้วทิ้งชายทั้งสองข้าง ใช้สำหรับการร่ายรำ หรือเซ่นสรวง

ชาวไทยวน

 
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ฉลองพระองค์ด้วยผ้าสะหว้ายแล่งและนุ่งซิ่นอย่างสตรีไทยวน พร้อมด้วยเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ หรือเจ้าคุณจอมมารดาแพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร

ชาวไทยวนเป็นประชากรหลักของอาณาจักรล้านนา ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน จะเรียกสไบว่า "ผ้าสะหว้ายแล่ง" หรือ "ผ้าเบี่ยงบ้าย" มีลักษณะเป็นผ้าพันหน้าอกและพาดบ่าเฉียง นุ่งซิ่นลายขวางเกือบกรอมเท้า มีผ้าผืนหนึ่งคล้องคอ และเกล้ามวยผมกลางศีรษะแล้วเอาปิ่นปักและยังแต่งกายเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชนิยมให้สตรีสวมเสื้อ ชาวไทยวนเมืองเชียงใหม่จึงสวมเสื้อแล้วห่มผ้าสะหว้ายแล่งทับ แต่ยังคงนุ่งซิ่นอย่างโบราณ[57]

ชาวลาว

ชาวลาวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักของประเทศลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เรียกสไบว่า "ผ้าเบี่ยง" (ลาว: ຜ້າບ່ຽງ) หรือ "ผ้าเบี่ยงบ้าย" เช่นเดียวกับชาวไทยวน ใช้สวมใส่หรือใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา[58] ใช้ได้ทั้งชายและหญิงในงานพิธีสำคัญ โดยเป็นผ้าสำหรับพาดไหล่หรือห่มพาดเฉียงหรือเฉวียงบ่าอย่างสไบ ถือเป็นเครื่องแต่งกายที่แสดงความสุภาพและความเคารพอย่างสูงของสตรี ปัจจุบันนิยมห่มทับเสื้ออีกชั้นหนึ่ง หรืออาจใช้เป็นผ้ากราบพระด้วย[59]

ผ้าเบี่ยงทำจากผ้าฝ้ายหรือผ้าไหม มีลวดลายทั้งแบบจกและขิด ตกแต่งด้วยลวดลายมงคล หรือสัตว์หิมพานต์ต่าง ๆ[59]

นุ่งผ้าสีมงคลประจำวัน

หญิงชาววังในราชสำนักไทยช่วงต้นรัตนโกสินทร์มีการเลือกสีผ้านุ่งและผ้าห่มให้ตัดกันสวยงาม และอบร่ำให้ผ้ามีกลิ่นหอม โดยถือเป็นคติสีมงคลประจำวัน ดังนี้[60]

 
หญิงสยามห่มสไบนางหนึ่ง
  • วันจันทร์ นุ่งเหลืองอ่อนห่มน้ำเงินอ่อนหรือบานเย็น, นุ่งน้ำเงินนกพิราบห่มจำปาแดง
  • วันอังคาร นุ่งสีปูนหรือม่วงเม็ดมะปรางห่มโศก, นุ่งโศกหรือเขียวอ่อนห่มม่วงอ่อน
  • วันพุธ นุ่งสีถั่วหรือสีเหล็กห่มจำปา
  • วันพฤหัสบดี นุ่งเขียวใบไม้ห่มแดงเลือดนก หรือ นุ่งแสดห่มเขียวอ่อน
  • วันศุกร์ นุ่งน้ำเงินแก่ห่มเหลือง
  • วันเสาร์ นุ่งเม็ดมะปรางห่มโศก หรือนุ่งผ้าลายพื้นม่วงห่มโศก
  • วันอาทิตย์ แต่งเหมือนวันพฤหัสบดี หรือ นุ่งผ้าลายพื้นสีลิ้นจี่หรือเลือดหมู แล้วห่มโศก

ส่วนใน สวัสดิรักษาคำกลอน อธิบายเกี่ยวกับการนุ่งห่มผ้าตามสีมงคลประจำวัน ดังนี้[61]

๏ อนึ่งภูษาผ้าทรงณรงค์รบ ให้มีครบเครื่องเสร็จทั้งเจ็ดสี
วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล
เครื่องวันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว จะยืนยาวชันษาสถาพร
อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี
เครื่องวันพุธสุดดีด้วยสีแสด กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี
วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม
วันเสาร์ทรงดำจึงล้ำเลิศ แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม
หนึ่งพาชีขี่ขับประดับงาม ให้ต้องตามสีสันจึงกันภัย ฯ

ระเบียงภาพ

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 Maxwell, Robyn J.; Gittinger, Mattiebelle (2003). Textiles of Southeast Asia: Tradition, Trade and Transformation. Periplus Editions. ISBN 9780794601041.
  2. "លក្ខណៈពិសេសនៃពណ៌ស្បង់ចីវររបស់ព្រះសង្ឃពុទ្ធសាសនា". Radio Free Asia (ภาษาเขมร). 2015-01-21. สืบค้นเมื่อ 2019-09-07.
  3. 3.0 3.1 3.2 "การห่มผ้าสะพัก". Thai Style Studio 1978. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ""ผ้ากับชีวิตในราชสำนักฝ่ายใน" ย้อนที่มาการ "นุ่งโจง" และทำไมต้อง "นุ่งห่ม"". ศิลปวัฒนธรรม. 20 มิถุนายน 2562. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 "เล่าเรื่องเจ้านายกับชุดไทย ชุดแต่ละสมัยรับอิทธิพลมาจากไหนบ้าง". ศิลปวัฒนธรรม. 30 มีนาคม 2565. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "ประวัติแต่งกายสุภาพ เปลือยอกถึง "เสื้อลูกไม้" และที่มาสมัยร.3 "สวมเสื้อเข้ามาก็ไม่โปรด"". ศิลปวัฒนธรรม. 1 กันยายน 2564. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. สงวน อั้นคง. (2507). ราชาศัพท์ ฉบับสมบูรณ์. พระนคร: ก้าวหน้า. หน้า 68. OCLC 880720845
  8. 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 8.13 8.14 8.15 8.16 8.17 Wolff, John U et al. (2010). Proto-Austronesian Phonology with Glossary Vol. II. Ithaca, NY: Cornell Southeast Asia Program Publications. p. 838. ISBN 978-087727-533-6
  9. 9.0 9.1 องค์ บรรจุน. "สังวาล สายสะพาย และสไบมอญ," ศิลปวัฒนธรรม 39(6)(เมษายน 2561): 44.
  10. วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (2531). ผ้าไทย. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 14. ISBN 978-974-0-05026-1 :— "แสดงให้เห็นว่าคนในสมัยทวารวดีนุ่งผ้ายาวกรอมเท้า ไม่สวมเสื้อ ถ้าเป็นหญิงจะมีผ้าสไบหรือผ้าแถบคาดไหล่ แต่ถ้าเป็นรูปเทวดาซึ่งอาจจะปั้นเลียนแบบมาจากการแต่งกายของชนชั้นสูงจะนุ่งผ้าเป็นริ้วแบบพันกาย ๆ"
  11. โคริน เฟื่องเกษม และคณะ. (2540). การสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับอินเดียในทศวรรษปัจจุบันและลู่ทางความร่วมมือในอนาคต. กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์และศูนย์อินเดียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. หน้า 97. OCLC 773418285
  12. สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2533). เอกสารการสอนชุดวิชาศิลปะกับสังคมไทย หน่วยที่ 6-10: ศิลปะกับสังคมไทย. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช. หน้า 270. ISBN 978-974-6-13354-8
  13. 13.0 13.1 Shellabear, William Girdlestone. (1916). An English-Malay Dictionary. Singapore: Methodist Publishing House. p. 446.:— "Scarf (skarf), s. (round the neck) sapu-targan lehir, sbai;* (round the waist) bngkorg; (over shoulder to carry children) ambin,* slendang."
    • Raffles, Thomas Stamford. (1817). "APPENDIX E. No. I. A Comparative Vocabulary of The Malàyu, Jàvan, Madurese, Bàli, and Lampùng Languages, arranged under the following heads, viz.," The History of Java Volume II: With a Map and Plates. London: Cox and Bailey Limited. p. 97.:— "(ENGLISH) Linen robe or cloth, (MALÁYU) slindang ; sbai, (Jáva) kemben, (Bása kráma) kasemékan, (Súnda) karémbong, (Madúra) ..........., (Sumenáp) sa-ung-sa-ung, (BÁLI) tangkálong, (LAMPUNG) kakámban".
  14. 14.0 14.1 Wilkinson, Richard James. (1908). An Abridged Malay-English Dictionary (Romanized). Kuala Lumpur: The F.M.S. Government Press. p. 194.:— "sĕbai, a kind of scarf passing behind the neck and with the ends hanging down over the chest."
  15. 15.0 15.1 POU, Saveros. "Couverture fascicule Inscriptions modernes d'Angkor 35, 36, 37 et 39," Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient 61(1974): 321. doi:10.3406/befeo.1974.5198
  16. 16.0 16.1 Wolff, John U et al. (2010). Proto-Austronesian Phonology with Glossary Vol. I. Ithaca, NY: Cornell Southeast Asia Program Publications. pp. 215, 217, 522. ISBN 978-087727-532-9
  17. 17.0 17.1 Blust, Robert. (2022). A Dictionary of Austronesian Monosyllabic Roots (Submorphemes). Berlin ; Boston: De Gruyter Mouton. p. 210. ISBN 978-311-0-78169-4
  18. Wolff, John U. "PROTO-AUSTRONESIAN *c, *z, *g, AND *T," Pacific Linguistics Series C (75). in Halim, A., Carrington, L. and Wurm, S.A. Papers from the Third International Conference on Austronesian Linguistics, Vol. 2: Tracking the travellers. Pacific Linguistics, The Australian National University, 1982. doi:10.15144/PL-C75. p. 14.:— "M; sampai 'hang loose',..."
  19. สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช. (2563) ‘สไบ’ คำเขมร ที่ (อาจ) ไม่เขมร. GotoKnow. สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2567.
  20. Diffloth, Gérard. (1984). The Dvaravati Old Mon language and Nyah Kur. Bangkok: Chulalongkorn University Printing House. p. 166. ISBN 9789745637832 :— "V42. *lɓak NyK: to wear (cloth) across the shoulder [v.tr]; /ne̫ec - /: cloth for bathing, wrapping around the head... Mon: to wear around the neck; (Ri): to hang (cloth) on shoulder, on a line, in order to dry…"
  21. องค์ บรรจุน. "ความงามตามอุดมคติของผู้หญิงมอญ จีน ยุโรป และอื่นๆ," ศิลปวัฒนธรรม 37(4) (กุมภาพันธ์ 2559): 32.
  22. Coedès, George. (1937). Inscriptions du Cambodge Vol. 1," Collection de textes et documents sur l'Iodochine. Hanoi: École française d'Extrême-Orient. p. 50. "{3} añ z lo 1 gāyatriya vnak 1 śveta 1 spāiphyah".
  23. 23.0 23.1 "ស្បៃ". SEAlang Dictionary. Retrieved on 9 November 2024.
  24. Chevance, Jean-Baptiste. "[Inscriptions du Phnom Kulen Corpus existant et inscriptions inédites, une mise en contexte]," Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient 100(2014): 212, footnote 37. doi:10.3406/befeo.2014.6173
  25. Headley Robert K., Rath Chim, and Ok Soeum. (1997). Modern Cambodian-English Dictionary. Kensington, MD: Dunwoody Press. p. 1,385. ISBN 978-093-1-74578-2
  26. Soutif, Dominique and Estève, Julia. "TEXTS AND OBJECTS Exploiting the Literary Sources of Medieval Cambodia," in Hendrickson, Mitch ; Stark, Miriam T. ; and Evans, Damian. (2023). The Angkorian World. London ; New York, NY: Routledge. p. 31. ISBN 978-081-5-35595-3, 978-135-1-12894-0 doi:10.4324/9781351128940
  27. สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช (29 มิถุนายน 2563). "'สไบ' คำเขมร ที่ (อาจ) ไม่เขมร". Academia. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  28. "การจำแนกลักษณะของผ้าที่ใช้ในกลุ่มบุคคลชั้นสูงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์". สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-24. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  29. ""ผ้าทอง" เจ้าจอมเอี่ยม ในรัชกาลที่ 5". ฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรี. 10 พฤศจิกายน 2563. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  30. 30.0 30.1 30.2 ยรรยงค์ สิกขะฤทธิ์ (2559). การศึกษาเปรียบเทียบราชาศัพท์ในภาษาไทยและภาษาเขมรจากมุมมองข้ามสมัย (PDF). คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 181.
  31. 31.0 31.1 "ข้อกำหนดของการใช้ฉลองพระองค์สำหรับฝ่ายในและชนชั้นสูงในราชสำนัก". สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-06. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  32. 32.0 32.1 กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร (2525). สมุดภาพ วิวัฒนาการการแต่งกายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์. p. 48. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-09. สืบค้นเมื่อ 2021-06-09.
  33. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร (2525). สมุดภาพ วิวัฒนาการการแต่งกายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์. p. 58. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-09. สืบค้นเมื่อ 2021-06-09.
  34. 34.0 34.1 สมุดภาพ วิวัฒนาการการแต่งกายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. 2525. p. 33. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-09. สืบค้นเมื่อ 2021-06-09.
  35. 35.0 35.1 "ผ้าทอพื้นเมืองอีสานในจังหวัดสุรินทร์". คลังเอกสารสาธารณะ. 31 กรกฎาคม 2551. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  36. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 270
  37. "พิธีแต่งงานชาวกัมพูชา ความสัมพันธ์กับตำนานเขมรโบราณ "พระทอง-นางนาค"". ศิลปวัฒนธรรม. 31 มกราคม 2564. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  38. "ค้นหลักฐาน "ชุดไทย" สมัยพระนารายณ์ สตรีเปิดหน้าอก หรือแต่งอย่างไร ?". ศิลปวัฒนธรรม. 30 เมษายน 2563. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  39. มองซิเออร์ เดอ วีเซ (เขียน) เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ (แปล). จดหมายเหตุโกศาปานไปฝรั่งเศส. นนทบุรี : ศรีปัญญา. 2560, หน้า 51-52
  40. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร (2525). สมุดภาพ วิวัฒนาการการแต่งกายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์. p. 4-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-09. สืบค้นเมื่อ 2021-06-09.
  41. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร (2525). สมุดภาพ วิวัฒนาการการแต่งกายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์. p. 32. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-09. สืบค้นเมื่อ 2021-06-09.
  42. "เล่าเรื่องเจ้านายกับชุดไทย แต่ละสมัยรับอิทธิพลจากไหนกันบ้าง". ศิลปวัฒนธรรม. 17 ธันวาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  43. มัลคอล์ม สมิธ (เขียน), พิมาน แจ่มจรัส (แปล). หมอฝรั่งในวังสยาม. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2566, หน้า 137
  44. 44.0 44.1 "วัฒนธรรมการแต่งกาย". Museum Thailand. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  45. 45.0 45.1 "ย้อนดู "การแต่งกาย" สมัยจอมพล ป. รณรงค์ให้นุ่งผ้าถุง ชี้ทั่วโลกกำลังนิยม". ศิลปวัฒนธรรม. 1 ธันวาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  46. "บทบาทสตรี และ New Normal ฉบับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม". สารคดี. มิถุนายน 2557. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  47. "ผ้าขาว (ผ้าขาวม้า)". ชุมชนวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  48. "Spirit of Asia : มะละกา และกุฏีจีน สายเลือดลูกผสมโปรตุเกส". ไทยพีบีเอส. 15 เมษายน 2561. สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  49. "มรดกแห่งความหลัง ณ ชุมชนกุฎีจีน". ไทยพีบีเอส. 1 กุมภาพันธ์ 2564. สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  50. 50.0 50.1 50.2 อนุชา ทีรคานนท์, ดร. (11 สิงหาคม 2563). "ย้อนรอยประวัติศาสตร์การใช้ 'ผ้านุ่งผ้าห่ม' วัฒนธรรมบ่งบอกฐานะแห่งราชสำนักไทยโบราณ". Vogue Thailand. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  51. "ห่มสะพัก : อาภรณ์กินชีวิต". Minimore. 30 กรกฎาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  52. "ธรรมเนียมการเป็นสาวของสตรีชาววัง". ศิลปวัฒนธรรม. 12 มีนาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  53. "Carian Umum - Sebai". prpm.dbp.gov.my (ภาษามาเลย์). สืบค้นเมื่อ 2020-11-15.
  54. "ผ้าจวนปัตตานี". กระทรวงวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-24. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  55. 55.0 55.1 55.2 องค์ บรรจุน. "ภูมิปัญญาชาวไทยเชื้อสายมอญ". องค์การบริหารส่วนตำบลบางขันหมาก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  56. 56.0 56.1 56.2 "ถักสไบมอญ". สถานที่ท่องเที่ยวในบางกระดี่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-23. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  57. "เอกลักษณ์การแต่งกายของคนเมืองล้านนา". เชียงใหม่นิวส์. 7 เมษายน 2560. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  58. "ผ้าไทลาวในอาณาจักรล้านช้าง". ธนาคารแห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  59. 59.0 59.1 "ผ้าเบี่ยง : ผ้าทอที่แสดงออกซึ่งความเคารพ ในวัฒนธรรมชาวอีสาน". ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  60. "จากบ้านสู่วัง เรียนรู้ขนบชาววังผ่าน 'สี่แผ่นดิน'". Helena. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  61. "สวัสดิรักษาคำกลอน". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

  •   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สไบ