กีฬาตะวันออกไกล
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
กีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกล (อังกฤษ: The Far Eastern Championship Games) หรือที่รู้จักในชื่อ กีฬาตะวันออกไกล (Far East Games) เป็นการแข่งขันกีฬาหลายประเภท ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ของทวีปเอเชีย จัดขึ้นโดย สมาคมกีฬาแห่งตะวันออกไกล (Far Eastern Athletic Association) อันมีหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในอารักขาของสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐจีน และจักรวรรดิญี่ปุ่น เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง มีการแข่งขันในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2456 - พ.ศ. 2477 ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นพัฒนาไปสู่กีฬาเอเชียนเกมส์ในปัจจุบัน
ตราประจำการแข่งขันกีฬาตะวันออกไกล | |
ชื่อย่อ | FECG |
---|---|
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) (112 ปีมาแล้ว) |
ครั้งล่าสุด | ครั้งที่ 10 ที่กรุงมะนิลา หมู่เกาะฟิลิปปินส์ฯ |
วัตถุประสงค์ | กีฬาสำหรับภูมิภาคเอเชียบางส่วน |
ประธาน | เอลวูด เอส. บราวน์ |
หมายเหตุ | ยกเลิกเมื่อ พ.ศ. 2480 |
ประวัติ
แก้ในปี พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) เอลวูด เอส. บราวน์ (Elwood S. Brown) ประธานสมาคมกีฬาแห่งหมู่เกาะฟิลิปปินส์ฯของสหรัฐอเมริกา (The Philippine Islands Athletic Association) ผู้จัดการแข่งขันกีฬาคาร์นิวัลแห่งมะนิลา (Manila Carnival Games) เสนอแนวคิดในการจัดแข่งขัน กีฬาโอลิมปิกแห่งตะวันออกไกล (Far Eastern Olympic Games) ต่อสาธารณรัฐจีน (ชื่อประเทศในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2455-พ.ศ. 2492; ปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาชนจีน) และจักรวรรดิญี่ปุ่น (ปัจจุบันคือประเทศญี่ปุ่น) ในขณะเดียวกัน วิลเลียม แคเมรอน ฟอร์บส์ (Governor-General William Cameron Forbes) ซึ่งเป็นประธานสมาคมกีฬาสมัครเล่นแห่งหมู่เกาะฟิลิปปินส์ฯ (The Philippine Islands Amateur Athletic Association) เป็นผู้ก่อตั้ง สมาคมโอลิมปิกแห่งตะวันออกไกล (The Far Eastern Olympic Association)
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกแห่งตะวันออกไกล ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่สนามกีฬาคาร์นิวัล (ปัจจุบันคือ ศูนย์กีฬาไรซัลอนุสรณ์ หรือ Rizal Memorial Sports Complex) เขตมาลาเต ในกรุงมะนิลา บนหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในอารักขาของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456 (ค.ศ. 1913) โดยฟอร์บส์เป็นผู้ประกาศเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีทั้งสิ้น 8 วัน และ 6 ประเทศเข้าร่วม ประกอบด้วย หมู่เกาะฟิลิปปินส์ฯ สาธารณรัฐจีนฯ จักรวรรดิญี่ปุ่น หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของบริเตน (British East Indies Islands; ปัจจุบันคือ มาเลเซีย) ราชอาณาจักรสยาม (ชื่อประเทศจนถึง พ.ศ. 2482; ปัจจุบันคือราชอาณาจักรไทย) และ หมู่เกาะฮ่องกงของบริเตน (ปัจจุบันคือ เขตปกครองพิเศษฮ่องกงของสาธารณรัฐประชาชนจีน) ต่อมาในปี พ.ศ. 2458 (ค.ศ. 1915) สมาคมฯ เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมกีฬาแห่งตะวันออกไกล และเปลี่ยนชื่อการแข่งขันมาเป็นกีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกล โดยเริ่มใช้ครั้งแรกในการแข่งขันครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นที่นครเซียงไฮ ของสาธารณรัฐจีนฯ
ทั้งนี้แต่เดิมกำหนดจัดการแข่งขันในทุกสองปี จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) จักรวรรดิญี่ปุ่นตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันครั้งที่ 9 ไปจัดในปีถัดจากนั้น (พ.ศ. 2473; ค.ศ. 1930) สมาคมฯ จึงเปลี่ยนแปลงกำหนดจัดการแข่งขันเป็นทุกสี่ปี โดยในปี พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1934) กรุงมะนิลาของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ฯ เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันครั้งที่ 10 ซึ่งหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Dutch East Indies Islands; ปัจจุบันคือ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย) เข้าร่วมเป็นครั้งแรก จากนั้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) จักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ารุกรานสาธารณรัฐจีน จากเหตุการณ์สะพานมาร์โค โปโล อันเป็นสาเหตุของสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ซึ่งต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยเหตุนี้ การแข่งขันครั้งที่ 11 ซึ่งกำหนดจัดขึ้น ที่นครโอซากาของจักรวรรดิญี่ปุ่น ในปีถัดจากนั้น (พ.ศ. 2481; ค.ศ. 1938) จึงต้องยกเลิกไป
ข้อมูลการแข่งขัน
แก้การแข่งขันในครั้งที่ 1 เป็นครั้งเดียวที่ใช้ชื่อว่า "กีฬาโอลิมปิกแห่งตะวันออกไกล" โดยตั้งแต่ครั้งที่ 2 เป็นต้นไปจนถึงครั้งสุดท้าย มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "กีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกล" ทั้งนี้ ในการแข่งขันครั้งที่ 6 ลู ซัลวาดอร์ (Lou Salvador) นักกีฬาบาสเกตบอลของฟิลิปปินส์ เป็นผู้ทำลายสถิติตลอดกาล (ในขณะนั้น) ด้วยการเป็นผู้เดียวที่ทำคะแนนมากที่สุด ในการแข่งขันบาสเกตบอลระดับนานาชาตินัดเดียว ซึ่งเขาทำได้ถึง 116 คะแนน จนกระทั่งสามารถคว้าเหรียญทองไปครองในที่สุด ด้วยการนำทีมชนะเลิศเหนือทีมของสาธารณรัฐจีนฯ[1]
ครั้งที่ | วัน/เดือน/พ.ศ.(ค.ศ.) | เจ้าภาพ | กีฬา | ประเทศเข้าร่วม |
---|---|---|---|---|
1 | 4-11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456 (ค.ศ. 1913) |
กรุงมะนิลา | กรีฑา ว่ายน้ำ ฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส เบสบอล |
หมู่เกาะฟิลิปปินส์ อาณานิคมช่องแคบ (หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของบริเตน) หมู่เกาะฮ่องกงของบริเตน (ฮ่องกงของจีน) จักรวรรดิญี่ปุ่น สาธารณรัฐจีน ราชอาณาจักรสยาม |
2 | 15-22 พฤษภาคม พ.ศ. 2458 (ค.ศ. 1915) |
นครเซี่ยงไฮ้ | กรีฑา ว่ายน้ำ จักรยาน ฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส เบสบอล | |
3 | พฤษภาคม พ.ศ. 2460 (ค.ศ. 1917) |
กรุงโตเกียว | ไม่มีข้อมูล | หมู่เกาะฟิลิปปินส์ อาณานิคมช่องแคบ (หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของบริเตน) หมู่เกาะฮ่องกงของบริเตน (ฮ่องกงของจีน) จักรวรรดิญี่ปุ่น สาธารณรัฐจีน ราชอาณาจักรสยาม |
4 | พฤษภาคม พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) |
กรุงมะนิลา | ||
5 | 30 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921) |
นครเซียงไฮ | ||
6 | พฤษภาคม พ.ศ. 2466 (ค.ศ. 1923) |
นครโอซากา | จักรวรรดิญี่ปุ่น หมู่เกาะฟิลิปปินส์ฯ สาธารณรัฐจีนฯ | |
7 | พฤษภาคม พ.ศ. 2468 (ค.ศ. 1925) |
กรุงมะนิลา | ||
8 | สิงหาคม พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) |
นครเซียงไฮ | เครือรัฐฟิลิปปินส์ อาณานิคมช่องแคบ (หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของบริเตน) หมู่เกาะฮ่องกงของบริเตน (ฮ่องกงของจีน) จักรวรรดิญี่ปุ่น สาธารณรัฐจีน ราชอาณาจักรสยาม | |
9 | 24-31 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 (ค.ศ. 1930) |
กรุงโตเกียว | กรีฑา บาสเกตบอล เบสบอล มวยสากล จักรยาน ฮอกกี้ ฟุตบอล ยิมนาสติก ว่ายน้ำ เทนนิส |
เครือรัฐฟิลิปปินส์ อาณานิคมช่องแคบ (หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของบริเตน) หมู่เกาะฮ่องกงของบริเตน (ฮ่องกงของจีน) จักรวรรดิญี่ปุ่น สาธารณรัฐจีน ราชอาณาจักรสยาม |
10 | พฤษภาคม พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1934) |
กรุงมะนิลา | กรีฑา ว่ายน้ำ ฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส เบสบอล |
หมู่เกาะฟิลิปปินส์ฯ อาณานิคมช่องแคบ (หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของบริเตน) หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ (อินโดนีเซีย) จักรวรรดิญี่ปุ่น สาธารณรัฐจีนฯ ราชอาณาจักรสยาม |
11 | พ.ศ. 2481 (ค.ศ. 1938) |
นครโอซากา | ยกเลิกการแข่งขัน หลังจากเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. 2480 |
- หมายเหตุ - ในช่อง "ประเทศเข้าร่วม" ประเทศซึ่งเป็นเจ้าเหรียญทอง แสดงด้วยตัวหนา ประเทศซึ่งได้เหรียญทองเป็นอันดับสอง แสดงด้วยตัวเอน หากไม่มีการแสดงตัวหนาหรือตัวเอน หมายถึงไม่มีข้อมูลในส่วนนั้น
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Bocobo, Christian; Beth Celis (2004). Legends and Heroes of Philippine Basketball. Philippines: Christian Bocobo. pp. 131. ISBN 0-9763202-0-7.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- กีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกล เก็บถาวร 2014-02-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (อังกฤษ)
- ประวัติสมาคมกีฬาแห่งตะวันออกไกล (อังกฤษ)
- ประวัติโดยสังเขปของการแข่งขันกีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกล เก็บถาวร 2012-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- ประมวลภาพการแข่งขันกีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกล เก็บถาวร 2011-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- ญี่ปุ่นและจีน กับการแข่งขันกีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกล (อังกฤษ)
- การแข่งขันกีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกล ครั้งที่ 6 เก็บถาวร 2012-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- บัญชีรายชื่อนักกีฬาบาสเกตบอลฟิลิปปินส์ ในกีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกล เก็บถาวร 2011-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- ข้อมูลสังเขปของผลการแข่งขันบาสเกตบอล (อังกฤษ)