วิกิพีเดียภาษาไทย
วิกิพีเดียภาษาไทย คือรุ่นภาษาไทยของวิกิพีเดีย เว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์เนื้อหาเสรีและเปิดให้ทุกคนสามารถแก้ไขได้ เว็บไซต์ดำเนินการโดยมูลนิธิวิกิมีเดียและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 ในเดือนพฤศจิกายน 2567 วิกิพีเดียภาษาไทยมี 168,539 บทความ เป็นวิกิพีเดียขนาดใหญ่สุดอันดับที่ 56[1]
โฮมเพจวิกิพีเดียภาษาไทย | |
ประเภท | โครงการสารานุกรมอินเทอร์เน็ต |
---|---|
ภาษาที่ใช้ได้ | ภาษาไทย |
เจ้าของ | มูลนิธิวิกิมีเดีย |
สร้างโดย | ชุมชนวิกิภาษาไทย |
ยูอาร์แอล | th.wiki.x.io |
เชิงพาณิชย์ | ไม่ใช่ |
ลงทะเบียน | ไม่จำเป็น |
ข่าว
กิจกรรม
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2554 มีข่าวว่า จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า มอบหมายให้กสท โทรคมนาคมนำเงิน 10.7 ล้านบาทจ้างแปลบทความวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ 3 ล้านบทความเป็นภาษาไทย โดยใช้เทคโนโลยี Statistical Machine Translation เนื้อหาที่แปลแล้วจะอยู่บน www.asiaonline.com[2] แต่กระทั่ง พ.ศ. 2555 พบว่าเว็บไซต์ www.asiaonline.com ปิดตัวลงโดยไม่ทราบสาเหตุโดยไม่ทราบว่าเว็บไซต์ดังกล่าวหยุดให้บริการตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ [3]
วันที่ 11 ตุลาคม 2555 ดีแทคเปิดบริการวิกิพีเดียซีโร่ (Wikipedia Zero) ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเปิดตัวครั้งแรกในงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (Educa 2012)[4]
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2557 ดีแทคเปิดตัวกิจกรรม "เพิ่มพูนความรู้ให้สังคมไทยกับวิกิพีเดีย" เชิญชวนให้พนักงานแปลบทความวิกิพีเดียภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย โดยตั้งเป้าช่วยสร้างบทความภาษาไทย 5,000 เรื่อง จำนวนชั่วโมงอาสารวมกว่า 10,000 ชั่วโมง ด้านทวีธรรม ลิมปานุภาพ ผู้ประสานงานอาสาสมัครวิกิพีเดียในประเทศไทย กล่าวว่า วิกิพีเดียภาษาไทยยังมีบทความน้อยมากเมื่อเทียบกับวิกิพีเดียภาษาอื่น และบทความส่วนใหญ่ยังสั้นและข้อมูลไม่ครบถ้วน นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ การที่มีอาสาสมัครเพิ่มขึ้นจะทำให้วิกิพีเดียภาษาไทยสามารถบริหารเนื้อหาให้มีคุณภาพทัดเทียมวิกิพีเดียในประเทศที่พัฒนาแล้ว[5]
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2557 ช่วงบ่าย มีรายงานว่าเมื่อเข้ายูอาร์แอลวิกิพีเดียภาษาไทยแล้ว หน้าจอปรากฏข้อความจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระบุว่า "มีเนื้อหาและข้อมูลที่ไม่เหมาะสม" เครือข่ายที่ไม่สามารถเข้าถึงได้มี 3BB และทรู แต่ยังสามารถเข้าได้ทางยูอาร์แอล https ตลอดจนรุ่นสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่[6][7]
ในปี 2562 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มีการจัดการแข่งขันในหัวข้อ "โปรแกรมถามตอบจากคลังข้อมูลวิกิพีเดียภาษาไทย (Question answering program from Thai Wikipedia)"[8]
เนื้อหา
ในปี 2552 หนังสือพิมพ์ผู้จัดการลงว่าในบทความประเทศไทยระบุระบอบการปกครองผิดเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[9]
เดือนธันวาคม 2556 สื่อรายงานว่า มีผู้เข้าไปแก้ไขเนื้อหาบทความกรมสอบสวนคดีพิเศษ อ้างว่า ธาริต เพ็งดิษฐ์ ถึงแก่กรรมแล้ว และแก้ไขชื่อเป็น "ธาริตสีดวง" มีผลงาน "เป่านกหวีด" ฝ่ายธาริตกล่าวว่าจะไม่ฟ้องร้อง[10]
เดือนสิงหาคม 2557 มีข่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกระบุชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนหน้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติเลือก[11]
ในปี 2563 มีการสอบถามถึงไอพีที่เข้ามาแก้ไขในบทความแก้วสรร อติโพธิ และทวงถามผู้รับผิดชอบ[12] ไพศาล พืชมงคลโพสต์ว่า มีผู้ไม่หวังดีแก้ไขบทความโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาระบุชื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นผู้ก่อตั้ง และลบชื่อหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล[13]
ในปี 2564 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ดำเนินการสืบสวนและจับกุมผู้ที่ได้แก้ไขในบทความยง ภู่วรวรรณโดยเพิ่มข้อมูลว่า "เป็นเชลล์ขาย Sinovac ให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ตามที่ได้รับแจ้งว่ามีการนำข้อมูลที่เป็นเท็จมาเผยแพร่และก่อให้เกิดความเสียหาย[14][15]
สถิติ
จำนวนบัญชีผู้ใช้ | จำนวนบทความ | จำนวนไฟล์ | จำนวนผู้ดูแลระบบ |
---|---|---|---|
488,599 | 168,539 | 18,965 | 17 |
ขนาดบทความทั้งหมด | ขนาดบทความเฉลี่ย | บทความที่ใหญ่กว่า 2KB | ค่าเฉลี่ยการเข้าถึงบทความ |
350.2 MB[16] | 35.1 KB | 47% | 42.4 ครั้ง/บทความ/เดือน |
การเข้าใช้
อันดับการเข้าชมเว็บไซต์ | |
---|---|
เทียบกับ วิกิพีเดียภาษาอื่น |
เทียบกับเว็บไซต์ ในประเทศไทย |
23 | 12 |
( ตุลาคม 2563) | ( 3 อันดับ ตุลาคม 2563) |
สูงสุด 15 เมื่อ กรกฎาคม 2556 |
สูงสุด 7 เมื่อ มกราคม 2556 |
ข้อมูลเมื่อ 30 ตุลาคม ค.ศ. 2020[update] |
เว็บไซต์วิกิพีเดีย (รวมทุกภาษา) เป็นเว็บไซต์ที่มีผู้ใช้จากประเทศไทยเข้ามากเป็นอันดับที่ 8[17] โดยการจัดอับดับของอเล็กซา และเมื่อเทียบกับวิกิพีเดียภาษาอื่น ๆ วิกิพีเดียภาษาไทยมีผู้ใช้ทั่วโลกเข้ามากเป็นอันดับที่ 19[18] จากฐานข้อมูลสถิติของวิกิมีเดีย
จากการสำรวจด้วยแบบสอบถามโดย มนัสชล หิรัญรัตน์ นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในราว พ.ศ. 2549-2550 จากกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้วิกิพีเดียภาษาไทยและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทย 400 คน ร้อยละ 80 เปิดดูวิกิพีเดียภาษาไทยอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง และร้อยละ 48 เปิดอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง โดยร้อยละ 54 เข้าสู่เว็บไซต์โดยตรง (ผ่านทางที่อยู่ th.wiki.x.io) และร้อยละ 51 เข้าผ่านทางเสิร์ชเอนจิน (หนึ่งคนสามารถตอบได้มากกว่าหนึ่งช่องทาง) และมีประมาณร้อยละ 27 ที่ตอบว่าเคยมีส่วนร่วมในการปรับปรุงเนื้อหาในวิกิพีเดียภาษาไทย[19]
ใน พ.ศ. 2555 มีการเปิดเผยคำค้นที่มีผู้ค้นหามากที่สุด พบว่าคำค้นสามอันดับแรกที่มีผู้ค้นหาในวิกิพีเดียภาษาไทยมากที่สุด ได้แก่ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เศรษฐกิจพอเพียงและประเทศไทยตามลำดับ[20]
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 มี 5,704 บัญชีที่มีการแก้ไขอย่างน้อย 10 ครั้ง มีบัญชีที่แก้ไขมากกว่า 5 ครั้งในเดือนนั้น 347 บัญชี และแก้ไขมากกว่า 100 ครั้ง 52 บัญชี[21]
ขนาด
จำนวนบทความ
ปัจจุบันวิกิพีเดียภาษาไทยมีทั้งหมด 1,119,081 หน้า โดยเป็นบทความ 168,539 หน้า ส่วนที่เหลือเป็นหน้าโครงการ แม่แบบ วิธีใช้ หน้าพิเศษ และหน้าอภิปราย
จำนวนผู้ลงทะเบียน
ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้ที่ลงทะเบียนแล้ว 488,599 บัญชี เป็นผู้ดูแล 17 บัญชี อัตราส่วนผู้ใช้ต่อผู้ดูแลเท่ากับประมาณ 28,740 : 1
- 30 พฤศจิกายน 2548 - 2,000 บัญชี
- 7 กุมภาพันธ์ 2549 - 3,000 บัญชี
- 6 เมษายน 2549 - 4,000 บัญชี
- 15 พฤษภาคม 2549 - 5,000 บัญชี
- 2 กันยายน 2549 - 10,000 บัญชี
- 3 ธันวาคม 2549 - 15,000 บัญชี
- 3 มีนาคม 2550 - 20,000 บัญชี
- 9 มิถุนายน 2550 - 25,000 บัญชี
- 2 กันยายน 2550 - 30,000 บัญชี
- 4 ธันวาคม 2550 - 35,000 บัญชี
- 4 มีนาคม 2551 - 40,000 บัญชี
- 14 มิถุนายน 2551 - 45,000 บัญชี
- 30 สิงหาคม 2551 - 50,000 บัญชี
- 18 กุมภาพันธ์ 2552 - 60,000 บัญชี
จำนวนสื่อภาพและเสียง
ปัจจุบันมีจำนวนไฟล์ภาพและสื่อทั้งหมด 18,965 ไฟล์ ไม่รวมภาพที่เชื่อมโยงมาจากวิกิมีเดียคอมมอนส์
- 25 มีนาคม 2550 - 10,000 ไฟล์
- 30 ธันวาคม 2551 - 20,000 ไฟล์
จำนวนการแก้ไข
ปัจจุบันมีการแก้ไขทั้งหมดรวม 11,912,651 ครั้ง หรือ 10.645 ครั้งต่อหนึ่งหน้าโดยเฉลี่ย
- 8 เมษายน 2550 - 500,000 ครั้ง
- 1 มิถุนายน 2550 - 600,000 ครั้ง
- 12 สิงหาคม 2550 - 700,000 ครั้ง
- 15 ตุลาคม 2550 - 800,000 ครั้ง
- 20 ธันวาคม 2550 - 900,000 ครั้ง
- 22 กุมภาพันธ์ 2551 - 1,000,000 ครั้ง
- 13 เมษายน 2551 - 1,100,000 ครั้ง
- 27 พฤษภาคม 2551 - 1,200,000 ครั้ง
- 28 มิถุนายน 2551 - 1,300,000 ครั้ง
- 28 สิงหาคม 2551 - 1,400,000 ครั้ง
- 27 มิถุนายน 2552 - 2,000,000 ครั้ง
- พ.ศ. 2555 - 4,000,000 ครั้ง
การประเมินคุณภาพภายใน
โดยรวมวิกิพีเดียใช้การควบคุมคุณภาพภายในซึ่งใช้จัดระเบียบการสนับสนุนและพัฒนาเนื้อหาแก่ผู้ใช้ พิสัยการประเมินควบคุมคุณภาพเริ่มจากการประเมินขั้น "โครง" ซึ่งจากนั้นจะมีการขัดเกลาและพัฒนาเป็น "พอใช้" และ "ดี" ตามลำดับ กระทั่งถึงมาตรฐานคุณภาพที่ประเมินภายในสูงสุดในขั้น "บทความคัดสรร" ในบรรดา 80,000 กว่าบทความในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 มี 110 บทความที่เป็นบทความคัดสรร (ประมาณ 0.0012% ของทั้งหมด)
คู่แข่ง
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนคือเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์ภาษาไทยภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ความแตกต่างระหว่างสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนและวิกิพีเดียคือเนื้อหาในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนถูกสร้างขึ้นโดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาและได้รับการสงวนลิขสิทธิ์ ขณะที่เนื้อหาในวิกิพีเดียถูกสร้างขึ้นโดยผู้ใช้หลายคนแจกจ่ายได้อย่างเสรีภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0[22]
การล้อเลียน
ไร้สาระนุกรมภาษาไทยเปิดใช้งานในเดือนมกราคม 2549[23] โดยมีการจัดรูปแบบเว็บไซต์คล้ายกับวิกิพีเดียภาษาไทยแต่มุ่งเน้นไปที่บทความในลักษณะตลกขบขันและไร้สาระ[24]
อ้างอิง
- ↑ List of Wikipedias
- ↑ "ไอซีทีรับลูกบรอดแบนด์นายกฯ ลั่น 8ม.ค.เว็บไทยติดเบอร์2โลก". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2014-06-25.
- ↑ "พบเว็บแปล "วิกิพีเดีย" เป็นภาษาไทยโดยงบรัฐบาล ปิดตัวแล้ว". prachatai.com. สืบค้นเมื่อ 10 March 2023.
- ↑ "ดีแทคผุด 'วิกิพีเดียซีโร่' สืบค้นข้อมูลผ่านมือถือ หนุน นร.-ครูใช้". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2015-12-14.
- ↑ "อาสาสมัครต่อยอดคลังความรู้ เพิ่มบทความภาษาไทยบนวิกิพีเดีย". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2014-06-06.
- ↑ ICT บล็อกเว็บสารานุกรมเสรี 'วิกิพีเดียภาษาไทย' ระบุ “เนื้อหาไม่เหมาะสม"
- ↑ ชาวเน็ตงง เปิดเว็บวิกิพีเดียไทย เจอโดนบล็อก
- ↑ NSC 21 ข้อมูลรายละเอียดการแข่งขัน
- ↑ "มือบอน! เปลี่ยนข้อมูล "ประเทศไทย" ในวิกิพีเดีย ทะลึ่งระบุปกครองด้วย "ระบอบราชาธิปไตย"". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2020-09-16.
- ↑ "มือดีแก้เนื้อหา'ดีเอสไอ'ในวิกิพีเดีย อ้าง'ธาริต'ตายแล้ว". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2014-06-06.
- ↑ "Thai Wikipedia jumps gun to name Prayuth 29th PM of Thailand". The Nation (ภาษาอังกฤษ). 2014-08-21. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-22. สืบค้นเมื่อ 2014-08-22.
- ↑ "ใครคือ ผู้ใช้นิรนาม 14.14.4.230 เพิ่มเติมประวัติ 'แก้วสรร' ทำแผน19 ก.ย.63 ในวิกิพีเดีย". สำนักข่าวอิศรา. 16 September 2020. สืบค้นเมื่อ 16 September 2020.
- ↑ "ซัดอุบาทว์! ไพศาลแฉไอ้โม่งกุข้อมูล"ไอดอลแก๊งล้มเจ้า"ตั้งโรงเรียนเตรียมอุดม". สยามรัฐ. 12 November 2020. สืบค้นเมื่อ 13 November 2020.
- ↑ "เตรียมดำเนินคดี 50 ราย เฟกนิวส์วัคซีนโควิด ปลอมแปลงข้อมูลวิกิพีเดีย". ผู้จัดการออนไลน์. 12 July 2020. สืบค้นเมื่อ 12 July 2020.
- ↑ "รวบหนุ่มวิศวะป้ายแดง ม.ดัง แก้ไขโปรไฟล์ "หมอยง" ในวิกิพีเดีย ใส่ร้ายเป็นเซลล์ขายวัคซีนชิโนแวคให้รัฐบาล". ผู้จัดการออนไลน์. 12 July 2020. สืบค้นเมื่อ 12 July 2020.
- ↑ "Dthwiki dump progress on 20200801". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-15. สืบค้นเมื่อ 2020-08-09.
- ↑ อเล็กซา Top Sites in Thailand เก็บถาวร 2012-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรียกดู 11 มีนาคม 2555
- ↑ อเล็กซา Wikipedia Statistics, เรียกดู 29 มาราคม 2013
- ↑ มนัสชล หิรัญรัตน์. สารานุกรมวิกิพีเดียภาษาไทยและการสื่อสารความรู้สู่สาธารณะ เก็บถาวร 2021-09-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. วิทยานิพนธ์ นศ.ม. (นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต วารสารสนเทศ). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- ↑ "วิกิพีเดีย"เผยท็อป 10 คำค้นแห่งปี "เฟซบุ๊ก"แชมป์ภาษาอังกฤษ "อาเซียน"อันดับ1ภาษาไทย
- ↑ "Wikipedia Statistics - Chart Thai". Stats.wikimedia.org. สืบค้นเมื่อ 2014-07-04.
- ↑ มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. "ความเป็นมาโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว". สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2020.
- ↑ ไร้สาระนุกรมภาษาไทย. "หน้าหลัก". สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2020.
- ↑ สนุก.คอม (14 กุมภาพันธ์ 2009). "พบเว็บไซต์ "ไร้สาระนุกรมเสรี" ฮิตในหมู่วัยรุ่น ดัดแปลงศัพท์ "ใหม่" โพสต์ข้อความผิดเพี้ยนจากพจนานุกรม". สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2020.
แหล่งข้อมูลอื่น