พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (อังกฤษ: People's Alliance for Democracy, PAD) หรือเรียกว่า กลุ่มพันธมิตรกู้ชาติ หรือ กลุ่มคนเสื้อเหลือง เป็นกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยที่มีบทบาทสำคัญในช่วง พ.ศ. 2548-2552 โดยเป็นการรวมตัวจากหลายองค์กรทั่วประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ภายใต้จุดประสงค์ในการขับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และแสดงความต้องการให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนอย่างเปิดเผย[1] กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีแกนนำคนสำคัญ ได้แก่ สนธิ ลิ้มทองกุล และพลตรีจำลอง ศรีเมือง
กลุ่มชุมนุมคนเสื้อเหลือง | |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2548 |
---|---|
ยุติ | 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556 |
ประเภท | กลุ่มอิทธิพล กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง |
ที่ตั้ง |
|
บุคลากรหลัก | สนธิ ลิ้มทองกุล จำลอง ศรีเมือง พิภพ ธงไชย สมศักดิ์ โกศัยสุข สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ |
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ |
พรรคการเมืองหลักที่เกี่ยวข้อง
|
การเมืองไทย • ประวัติศาสตร์ไทย |
สัญลักษณ์หลักของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีการใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์หลัก และมีการใส่เสื้อสีเหลืองพร้อมผ้าโพกศีรษะที่มีข้อความว่า "กู้ชาติ" และผ้าพันคอสีฟ้า[2] และมีมือตบเป็นเครื่องมือสัญลักษณ์
ในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายซึ่งมีความเห็นว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ควรออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล จนกระทั่งลงเอยด้วยเหตุการณ์รัฐประหาร ส่งผลให้ฝ่ายทหาร คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ก้าวขึ้นสู่อำนาจ และเข้ามามีบทบาททางการเมือง ส่งผลให้ไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ซึ่งมีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่าง พ.ศ. 2549-2550
ต่อมาผลการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2550 พรรคพลังประชาชน ซึ่งถูกมองว่าเกี่ยวข้องทางผลประโยชน์ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลผสม ทำให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเคยดำเนินการเคลื่อนไหวก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร กลับมาชุมนุมอีกครั้งในปี พ.ศ. 2551 เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชและสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่ง[3] ส่งผลให้มีการปิดล้อมท่าอากาศยานนานาชาติหลายแห่ง จนกระทั่งเที่ยวบินทุกเที่ยวหยุดทำการนั้น นายเกษม พันธ์รัตนมาลา นักเศรษฐศาสตร์ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสูญเสียเงินกว่า 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการปิดสนามบินครั้งนี้[4] อันส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล
ภายหลังจากมีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรค อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ในวันรุ่งขึ้นแกนนำพันธมิตรฯ ได้ประกาศยุติการชุมนุมทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศยุติบทบาทตัวเองที่ห้องส่งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เอเอสทีวี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556[5]
สาเหตุที่นำมาสู่การชุมนุม
กรณีการขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป
ในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2549 ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นที่ครอบครองอยู่ทั้งหมดในกลุ่มบริษัทชินคอร์ป ให้แก่บริษัทเทมาเส็ก รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 73,000 ล้านบาท[6] กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549[7] ซึ่งทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมองว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน[8]
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของทักษิณ ชินวัตร
ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ถูกนักวิชาการบางกลุ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าอยู่ภายใต้ "ระบอบทักษิณ" คือ ไม่ใส่ใจต่อเจตนารมณ์ประชาธิปไตย ข้องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการฉ้อราษฎร์บังหลวง[9] นอกจากนี้ยังไม่สามารถควบคุมความรุนแรงที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการกวาดล้างขบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน[10] ทั้งนี้ ประชาชนบางกลุ่มได้ใช้คำว่า "ระบอบทักษิณ" สร้างความชอบธรรมในการขับ พ.ต.ท. ทักษิณ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
กรณีเมืองไทยรายสัปดาห์
กลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 ฝ่ายบริหารของอสมท. มีมติให้ระงับการออกอากาศรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวีอย่างไม่มีกำหนด[11][12] เนื่องจากนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ดำเนินรายการ ได้อ่านบทความเรื่อง "ลูกแกะหลงทาง" ซึ่งมีเนื้อหาโดยอ้อมกล่าวหารัฐบาลทักษิณและเชื่อมโยงไปถึงสถาบันเบื้องสูง นายสนธิจึงเปลี่ยนเป็นการจัดรายการนอกสถานที่แทน และเป็นช่วงเดียวกับที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก[13]
อุดมการณ์
การเสนอแนวคิดการเมืองใหม่
ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2551 นายสุริยะใส กตะศิลา ได้กล่าวต่อสื่อมวลชนว่าทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีแนวคิดใหม่โดยหวังเพื่อลดจำนวนนักการเมืองหน้าเดิมที่คอร์รัปชั่นและดำเนินนโยบายประชานิยม[14] คือ เสนอให้มีการจัดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 70% มาจากการคัดสรรจากภาคและส่วนอื่น แทนการเลือกตั้ง โดยได้ให้สาเหตุว่าการดำเนินงานรัฐสภาปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเมืองได้[15][16][17] โดยมีจุดประสงค์ที่จะพยายามให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีส่วนร่วม และพยายามให้มีตัวแทนสาขาอาชีพที่มาจากการเลือกสรรของกลุ่มอาชีพแต่ละอาชีพโดยตรง จึงเสนอสูตร 30/70
การเมืองใหม่ ซึ่งเป็นแนวคิดที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสนอ มีเป้าหมายดังนี้:
- ปกป้องเทิดทูนราชวงศ์จักรีให้เข้มแข็งและปลอดภัย เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงทศพิศราชธรรม
- สนับสนุนให้คนดีมาปกครองบ้านเมือง ป้องกันไม่ให้คนไม่ดีมีอำนาจ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมทุกภาคส่วน ทั้งในด้าน เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
- ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง การเมืองใหม่จะไม่จำกัดอยู่เพียงนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในพื้นที่เท่านั้น แต่จะยังเปิดกว้างให้ภาคประชาชนที่หลากหลาย ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองทุกระดับ เช่น ผู้แทนจากกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ ผู้แทนจากภาคประชาชนที่หลากหลาย ผู้แทนจากภาคสังคมที่แตกต่าง เป็นต้น
ในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงข่าวถึงแนวคิดเรื่องการเมืองใหม่ ที่ห้องผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กล่าวว่า การเลือกตั้งแบบ 100 เปอร์เซ็นต์จะให้มีการเลือกตั้งได้ 2 ทาง คือ ผู้แทนพื้นที่เขต 50% และผู้สมัครนามกลุ่มอาชีพอีก 50%[18][19][20]
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้าสู่การเมืองไทยด้วยการจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว[21] จากนั้นในวันที่ 6 ตุลาคม ปีเดียวกัน ทางพรรคได้จัดประชุมกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรครวมทั้งหมด 9,000 คน ที่เมืองทองธานี และได้มีการลงคะแนนเสียงเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน[22]
ชาตินิยม
กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถูกอธิบายว่าเป็น "พวกชาตินิยม" และต่อต้านอย่างรุนแรงในการละเมิดอธิปไตยของชาติไทยซึ่งทางกลุ่มได้กล่าวอ้าง[23] และคัดค้านการตัดสินใจสนับสนุนการจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นแหล่งมรดกโลกของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้แจ้งความดำเนินคดีต่อรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลสมัคร ซึ่งคาดว่าเป็นการทำรายได้ให้กับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเพื่อแลกกับข้อตกลงในการยกปราสาทเขาพระวิหารให้กัมพูชาจดทะเบียนมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว[24] ทางกลุ่มยังได้เรียกร้องให้นักลงทุนไทยถอนการลงทุนออกจากกัมพูชา การปิดด่านจุดตรวจบริเวณพรมแดนไทย-กัมพูชา 40 แห่ง การยกเลิกเที่ยวบินทุกเที่ยวจากประเทศไทยไปยังพนมเปญและเสียมราฐ การสร้างฐานทัพเรือที่เกาะกูดใกล้กับแนวชายแดน และการล้มล้างคณะกรรมการซึ่งดูแลการปักปันพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลและการประกาศแผนที่นาวิกโยธินไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว[25]
การเสนอรูปแบบรัฐบาลใหม่
นายสนธิ ลิ้มทองกุลมีความเห็นสนับสนุนต่อต้านวัตถุนิยม และเสนอ "สังคมมีเหตุผล" ความต้องการเพียงแค่ลดระดับหนี้สาธารณะเท่านั้น ในขณะที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ต้องการยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องการจำกัดการลงทุนจากต่างชาติ ต่อต้านการซื้อกิจการรัฐวิสาหกิจของเอกชน และสงสัยต่อการลงทุนจากต่างชาติในประเทศไทย[14]
ขณะที่นโยบายของรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลสมัครได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนในเขตชนบทและผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจซึ่งผสมผสานแนวคิดประชานิยมอย่างมาก ได้แก่ การรักษาพยาบาลทั้งประเทศโดยมีส่วนร่วมต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ส่วนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสนอให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดหนี้สาธารณะ และลดค่าใช้จ่ายในโครงการสังคมสงเคราะห์ทั้งหลาย ซึ่งมีแนวคิดประชานิยม[26]
แกนนำและผู้ประสานงาน
แกนนำของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่นแรก ได้แก่
- นายสนธิ ลิ้มทองกุล
- นายสมศักดิ์ โกศัยสุข
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
- พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
- นายพิภพ ธงไชย[27]
ต่อมาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงได้มีการประกาศแกนนำชุดที่สองประกอบด้วย
- นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
- นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
- นายสำราญ รอดเพชร อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และพิธีกรช่อง ASTV
- นางมาลีรัตน์ แก้วก่า เป็นผู้แทนของผู้หญิง
- นายศรัณยู วงษ์กระจ่าง เป็นตัวแทนของศิลปิน[28]
- ศาสตราจารย์ ดร. ภูวดล ทรงประเสริฐ อดีตรองหัวหน้าภาคประวัติศาสตร์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นตัวแทนนักวิชาการ
- รองศาสตราจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย เป็นตัวแทนนักวิชาการ
และในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้มีการประกาศรายชื่อเพิ่มเติมแกนนำชุดที่สอง[29]ประกอบด้วย
ส่วนผู้ประสานงานของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือ นายสุริยะใส กตะศิลา
ประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมือง
การชุมนุม พ.ศ. 2549
การประท้วงขับทักษิณ ชินวัตร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุการณ์ในประเทศไทยที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2547 ในช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ 1 เมื่อมีการรวมตัวของกลุ่มคนในนาม กลุ่มประชาชนเพื่อชาติและราชบัลลังก์ และมีการชุมนุมปราศรัยเพื่อขับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2547 เป็นครั้งแรก และเริ่มขยายเป็นวงกว้างขึ้นเมื่อถึงปลายปี พ.ศ. 2548 ส่วนหนึ่งจากการนำของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี และขยายตัวในวงกว้างไปยังบุคคลในหลายสาขาอาชีพในเวลาต่อมา
ในการรณรงค์ขับนี้ มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ในกลุ่มที่แสดงความคิดเห็นสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีลาออกก็มีความเห็นที่แตกต่างกันเป็นหลาย ๆ กลุ่ม ในเรื่องกระบวนการและประเด็นในการขับ ส่วนในกลุ่มที่สนับสนุน ซึ่งประกอบด้วยประชาชนจำนวนไม่น้อย รวมไปถึงกลุ่มคาราวานคนจน และขบวนรถอีแต๋นเดินทางมาจากต่างจังหวัด ก็ได้รวมตัวชุมนุมเพื่อสนับสนุนให้นายทักษิณ ชินวัตรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยปักหลักอยู่ที่สวนจตุจักร และตามจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย
ผลจากการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่อดีตพรรคฝ่ายค้าน 3 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชนและพรรคชาติไทยไม่ได้ร่วมลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ปรากฏว่าพรรคไทยรักไทย ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรค ยังคงได้รับคะแนนเสียงข้างมาก (56.45% ในผลการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ)[30] แต่ในหลายพื้นที่ได้เกิดปรากฏการณ์ "ไม่เอาทักษิณ" ด้วยการที่ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยได้คะแนนน้อยกว่าผู้ไม่ออกเสียงและบัตรเสีย แต่ในท้ายที่สุดการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้เป็นโมฆะ และได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549
ในวันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้มีกลุ่มเครือข่ายแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และอาจารย์มหาวิทยาลัย 43 องค์กร 11 มหาวิทยาลัย ล่าชื่อกว่า 92 คน ปลุกกระแส "ต้านทักษิณ" และออกแถลงการณ์ให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ยุติบทบาทจากการดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีทันที ซึ่งในการเสวนาโต๊ะกลมเรื่องการร่วมกันแก้ไขวิกฤตปัญหาของบ้านเมือง ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการรวมตัวกันครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของแกนนำเครือข่ายการต่อต้าน
การประท้วงขับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สิ้นสุดลง ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 หลังจากการก่อรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก่อนวันที่จะมีการชุมนุมอย่างยืดเยื้อของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเครือข่ายในวันที่ 20 กันยายน
การชุมนุม พ.ศ. 2551
การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 เป็นการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านพรรคพลังประชาชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2553 ซึ่งการชุมนุมยังคงมีเป้าหมายที่จะต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
หลังจากรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำรัฐบาลบริหารประเทศมาระยะเวลาหนึ่ง กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เริ่มชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 28 มีนาคม โดยการจัดสัมมนาที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และได้ประกาศชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม โดยเป็นการรวมตัวจากหลายองค์กรทั่วประเทศ ซึ่งมีจุดประสงค์ในการขับสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐบาลทั้งสองชุดถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นาย สนธิ ลิ้มทองกุลได้เปิดคลิปพระสุรเสียงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงโดยไม่ได้ระบุว่าได้มาได้อย่างไรสร้างความตกใจให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะข้าราชการทหารตำรวจ[31]
ในเดือนพฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เข้าปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อต่อรองกับนายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งส่งผลให้เที่ยวบินทุกเที่ยวหยุดทำการ[32] โดยนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กล่าว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสูญเสียรายได้ไปกว่า 350 ล้านบาท นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศยังสูญเสียรายได้กว่า 25,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมความเสียหายของสายการบินต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ก่อนหน้านี้ ในเดือนสิงหาคม ผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ปิดท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานกระบี่ รวมทั้งปิดการเดินทางทางรถไฟสายใต้เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ลาออกมาแล้ว[33]
ต่อมาสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกไปจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองอย่างสงบ และกล่าวว่าการชุมนุมประท้วงกำลังทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหายอย่างมาก แถลงการณ์จากเอกอัครราชทูตอียูประจำประเทศไทยยังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมแก้ไข วิกฤตการณ์ทางการเมืองในไทยอย่างสันติ เคารพในกฎหมาย และสถาบันประชาธิปไตยของประเทศ และอียูเคารพสิทธิในการประท้วงและปราศจากการแทรกแซงปัญหาการเมืองภายในของไทย แต่เห็นว่าการกระทำของกลุ่มผู้ประท้วงในครั้งนี้เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของนานาประเทศ
ภายหลังจากมีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรค อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ในวันรุ่งขึ้นแกนนำพันธมิตรฯ ได้ประกาศยุติการชุมนุมทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง[34]
พ.ศ. 2553
วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553 นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ อ่านแถลงการณ์จุดยืนชัดเจนต่อต้านการเคลื่อนไหวของเสื้อแดง และให้พันธมิตรฯ ทั่วประเทศออกมาเคลื่อนไหวด้วย[35] ส่วนที่รัฐสภา กลุ่ม 40 ส.ว. เสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้เร่งปฏิรูปประเทศและจัดการกลุ่มเสื้อแดงอย่างเด็ดขาด[36] ต่อมาวันที่ 29 เมษายน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ พร้อมทั้งแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนมากได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อ รศ.ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนรัฐบาล และ พล.ต.จิรเดช สิทธิประณีต เลขานุการกองทัพบก ในฐานะตัวแทนผู้บัญชาการทหารบก ณ บริเวณด้านหน้ากรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ซึ่งการยื่นหนังสือเพื่อต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาบ้านเมือง และเร่งรัดให้ทหารออกมาจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว ส่วนในภูมิภาคจะให้เครือข่ายพันธมิตรฯ ยื่นหนังสือกดดันทหารตามหน่วยที่ตั้งพร้อมกันวันนี้ด้วย[37]
หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงแนวทางกระบวนการปรองดองแห่งชาตินั้น ทางกลุ่มพันธมิตรฯได้ออกแถลงการณ์ว่า นายกรัฐมนตรียังขาดความชัดเจน การประกาศการเลือกตั้งใหม่ถือว่าเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรมหลัก นิติรัฐอย่างย่อยยับ ทั้งนี้ยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้ผู้ที่สามารถจัดการกับปัญหาเข้ามาแก้ไขปัญหาต่อไป[38]
การชุมนุมในปี พ.ศ. 2554
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้กลับมาชุมนุมอีกครั้งบริเวณสะพานมัฆวานและหน้าทำเนียบรัฐบาล เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554 จากกรณีความขัดแย้งไทย-กัมพูชา (ครั้งแรกจะให้เริ่มการชุมนุมวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553 แต่ได้เลื่อนมา)[39] โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามมติของกลุ่มพันธมิตรฯ 3 ข้อ คือ 1. ยกเลิก บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 2. ผลักดันชาวกัมพูชาที่อพยพและรุกล้ำเข้ามาอาศัยและสร้างสิ่งก่อสร้างในเขตแดนไทย 3. ให้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก[40] แต่ทว่ารัฐบาลก็มิได้มีท่าทีสนองตอบ และได้ออกพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมาใช้รักษาความปลอดภัยระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2554[41]
การชุมนุมในครั้งนี้ปรากฏว่า แนวร่วมผู้ชุมนุมลดลงไปเป็นจำนวนมาก[42][43][44] ประกอบกับบุคคลที่เคยขึ้นเวทีปราศรัยหลายคนก็มิได้เข้าร่วมอีก เช่น รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, อัญชะลี ไพรีรัก[45], สมณะเพาะพุทธ จนฺทเสฏฺโฐ เป็นต้น ซึ่งทางกลุ่มผู้ชุมนุมที่เหลือและแกนนำเมื่อได้ขึ้นเวทีปราศรัยก็ได้โจมตีและกล่าวหาบุคคลเหล่านี้อย่างรุนแรงหลายต่อหลายครั้ง[46][47]
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ตำรวจได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญํติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เข้ายึดพื้นที่ผู้ชุมนุมบางส่วนเพื่อเปิดพื้นผิวจราจรและตำรวจได้จับกุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 2 รายที่พกอาวุธปืนสั้นในที่ชุมนุม[48]
และเมื่อรัฐบาลมีท่าทีว่าจะยุบสภาภายในต้นเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกันนี้ และกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ทางกลุ่มพันธมิตรฯก็ได้มีมติให้ทำการโหวตโน คือ รณรงค์ให้กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใครในบัตรเลือกตั้ง[49]
ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554 มีคนร้ายปาระเบิดเข้าไปในที่ชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย[50]
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 แต่การชุมนุมยุติจริงในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 18.00 น.[51] โดยในวันที่ 1 กรกฎาคม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดินทางไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประเทศไทย)เพื่อให้ยุบ 5 พรรคการเมืองได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน โดยพรรคเพื่อฟ้าดิน ซึ่งมีกลุ่มสันติอโศกสนับสนุนได้ส่งแก่นฟ้า แสนเมือง ลงเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อในครั้งนี้ และได้ออกป้ายหาเสียง อย่าปล่อยสัตว์เข้าสภา เป็นสโลแกนการรณรงค์โหวตโนทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2554 ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพอใจกับการตัดสินใจของการถอนตัวออกจากสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกของรัฐบาลในการประชุมครั้งที่ 35 ที่ประเทศฝรั่งเศส
การถอนตัวของแกนนำและสมาชิกบางคน
ในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554 ได้มีมติของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ซึ่งถือเป็นกลุ่มแนวร่วมที่สำคัญของกลุ่มพันธมิตรฯ ให้นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายสาวิทย์ แก้วหวาน ซึ่งเป็นแกนนำรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ถอนตัวออกมาจากการเป็นแกนนำ โดยอาจจะไปร่วมชุมนุมด้วยเฉพาะในประเด็นที่สำคัญเท่านั้น และจะไม่ขึ้นเวทีปราศรัย สืบเนื่องมาจากการเห็นต่างกันในเรื่องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 ของทางพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ทางกลุ่มพันธมิตรฯก่อตั้งขึ้นมา โดยมีนายสมศักดิ์เป็นหัวหน้าพรรค[52] ซึ่งในเรื่องนี้ทำให้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำรุ่นที่ 1 ได้โจมตีนายสมศักดิ์อย่างรุนแรงในเวลาต่อมา[53] โดยที่ทางกลุ่มพันธมิตรฯมีมติให้รณรงค์โหวตโน คือ การกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใคร ในการเลือกตั้งครั้งนี้[54]
ปฏิกิริยาของแต่ละฝ่าย
ฝ่ายรัฐบาล
จากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ บริเวณถนนราชดำเนินนั้น รัฐบาลมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเจรจาเพื่อให้กลุ่มพันธมิตรฯ ย้ายสถานที่ชุมนุมไปอยู่ในที่ที่ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งการชุมนุมเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้แต่การชุมนุมที่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นนั้นไม่ควรกระทำและการชุมนุมนั้นส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ต่างประเทศระงับการลงทุนเพราะไม่สามารถเชื่อมั่นในการลงทุนได้[55]
นอกจากนี้ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าหากการประท้วงดังกล่าวประสบความสำเร็จในการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ก็จะสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ ทำลายโอกาสของงานและเงินที่ควรจะได้จากการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติ[56] รวมทั้ง กลุ่ม ส.ส. และอดีต ส.ส. พรรคพลังประชาชน ยังได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยุติการชุมนุมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสายตานานาชาติและเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของประเทศ[57]
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษถาคม นายจักรภพ เพ็ญแข ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากที่โดนข้อกล่าวหาว่าหมิ่นเบื้องสูง ซึ่งนายจักรภพได้คาดหวังว่าการลาออกในครั้งนี้จะทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยุติการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันรัฐบาล [58] อย่างไรก็ตาม กลุ่มพันธมิตรฯ จึงประกาศยกระดับการชุมนุมเป็นการขับไล่รัฐบาลนายสมัครแทน นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จึงประกาศจะสลายการชุมนุมด้วยกำลังตำรวจและทหารผ่านทางรายการพิเศษทางช่อง 9 และ NBT แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
หลังจากเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างกลุ่ม นปช. กับกลุ่มพันธมิตรฯ ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมจากกลุ่ม นปช. เสียชีวิต 1 คน รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในเขตกรุงเทพมหานคร จนกระทั่ง วันที่ 14 กันยายน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้ร่วมกันแถลงยกเลิกประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในเขตกรุงเทพมหานคร พร้อมกันนี้นายสมชายยังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน เพื่อยุติความรุนแรงและความขัดแย้ง [59]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ฝ่ายที่สนับสนุน
วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2549 สมัชชาคนจน เข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย[60]
วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2551 พนักงานเดินรถไฟการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยสหภาพท่าเรือ สหภาพการบินไทย สหภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สหภาพการประปาและสหภาพขสมก. นัดหยุดงานเพื่อกดดันให้รัฐบาลลาออก ขณะเดียวกัน กลุ่มพันธมิตรฯ จังหวัดภูเก็ต สงขลา และกระบี่ ร่วมกันปิดสนามบินภูเก็ต หาดใหญ่ และกระบี่ งดเที่ยวบินขึ้น-ลง ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ มีผลให้ผู้ที่กำลังเดินทางขึ้นเครื่องบินต้องกลับไปยังที่พักเพื่อรอดูสถานการณ์[61]
วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2551 เครือข่ายเยาวชนกู้ชาติ เดินขบวนจากที่ชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประกาศต่อต้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช และใช้แนวทางต่อสู้แบบอารยะขัดขืนโดยหยุดเรียนเป็นเวลา 3 วัน และหยุดติดต่อกันไปจนกว่ารัฐบาลจะลาออก การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีนิสิตและนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า 80 สถาบัน[62]
วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551 กลุ่ม 40 ส.ว.ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ชุมนุมกันอย่างสันติ จากนั้นเรียกร้องให้เลื่อนการประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม หลังจากรัฐบาลสั่งให้สลายการชุมนุม และได้ประท้วงด้วยการไม่เข้าร่วมประชุมรัฐสภา เนื่องจากไม่ต้องการเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับการแถลงนโยบายของรัฐบาล ขณะที่ประชาชนถูกทำร้ายอยู่หน้ารัฐสภา รวมถึงการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในปัญหาความรุนแรงดังกล่าว และเรียกร้องทุกภาคส่วนทั้งในและนอกประเทศร่วมกันกดดันรัฐบาลไทย ให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน รวมทั้งยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้ไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อหยุดยั้งการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลโดยทันที ตลอดจนเรียกร้องให้สอบสวน และดำเนินการทางกฎหมายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนไทย ฉะนั้น ในฐานะที่ OHCHR เป็นหน่วยงานสำคัญขององค์การสหประชาชาติที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและเป็นสำนักเลขาธิการของคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กลุ่ม 40 ส.ว.จึงขอเรียกร้องให้ OHCHR ใช้ความพยายามในการกระทำอย่างเหมาะสมเพื่อหยุดยั้งและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย[63]
วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551 สภาทนายความได้ออกแถลงการณ์สภาทนายความ เรื่องอำนาจพนักงานสอบสวนที่ขัดรัฐธรรมนูญและขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่า ด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จากกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในคดีที่กล่าวหาแกนนำ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นกบฏและข้ออื่น ๆ เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงการใช้อำนาจที่เหลื่อมล้ำและไม่ชอบธรรมกับประชาชนที่สุจริต ซึ่งเรื่องนี้สภาทนายความไม่คัดค้านให้ความเห็นแย้งมาโดยตลอดว่ากระบวนการ ใช้อำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณความอาญาที่พนักงานสอบสวนมักอ้างเสมอว่าจะขออำนาจศาลให้คุมตัวผู้ต้องหา เป็นกรณีที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมและขัดกับหลักกฎหมายโดยชัดแจ้ง สภาทนายความจึงขอแถลงการณ์มาเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโปรดพิจารณาไตร่ตรอง และดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้สมจริงตามหลักนิติธรรมและมาตรฐานสากลทั่วโลก 7 ข้อ[64]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
วันที่ 30 มีนาคม 2549 บางส่วนของกลุ่มคาราวานคนจนมาปิดล้อมสำนักงานหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ในเครือเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป เนื่องจากกล่าวหาว่ามีการตีพิมพ์ข่าวไม่เหมาะสม เกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งหมิ่นเบื้องสูง โดยอ้างอิงถึงคลิปวิดีโอการให้สัมภาษณ์[65] จากการออกมาปฏิเสธของหนังสือพิมพ์คมชัดลึก จึงทำให้เหตุการณ์บานปลายออกไปจนถึงขั้นมีเหตุการณ์ชุลมุน และมีการสันนิษฐานว่ากลุ่มเดียวกันนี้ เป็นขบวนรถมอเตอร์ไซด์หลายร้อยคันไปชุมนุมที่บ้านพระอาทิตย์ สำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการในวันเดียวกัน แต่การชุลมุนก็จบลงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงแต่อย่างใด
สำหรับผู้ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ เห็นพ้องว่า การที่มีการชุมนุมขนาดใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งยาวนานต่อเนื่องกลางกรุงเทพมหานครนั้น เป็นการสร้างปัญหาขึ้นมากมาย เช่น ปัญหาจราจรทั้งยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งเป็นเหตุให้เศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศหยุดชะงัก และเศรษฐกิจภายในประเทศพังทลาย
ในคืนวันที่ 19 มิถุนายน กลุ่มต่อต้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติได้เคลื่อนขบวนจากสนามหลวงมาหยุดอยู่ที่บริเวณสี่แยก จ.ป.ร. และเผชิญหน้ากับตอนท้ายขบวนของพันธมิตรฯ โดยยังไม่มีเหตุปะทะกัน ด้านตำรวจได้จับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง[66][67]
จากนั้น วันจันทร์ที่ 1 กันยายน กลุ่มนปช.จำนานหลายพันคนบุกผ่านแยกจปร.และหน้าสถานีตำรวจนางเลิ้งเข้าปะทะกับการ์ดของฝ่ายพันธมิตร โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ห้ามปราม โดยอ้างว่าต้องการจะยึดทำเนียบคืน จึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ขณะเดียวกันทหารจากกองทัพภาคที่ 1 ได้เสริมกำลังด้วยโล่ และกระบองมากั้นระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย
วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ที่สนามหลวงก็มีการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งก็เป็นไปอย่างสงบเช่นเดียวกัน โดยก่อนหน้านี้ แกนนำ นปช.ได้ปราศรัยถึงการทำหน้าที่ของตำรวจในการสลายการชุมนุมว่าถูกต้องแล้ว ขณะเดียวกันก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ที่จะบุกยึดทำเนียบรัฐบาลคืนมา[68]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ปฏิกิริยาจากต่างชาติ
คณะกรรมมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) ได้ระบุถึงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรว่าไม่ใช่การเรียกร้องอย่างสันติ และเจตนาของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่ามีลักษณะของฟาสซิสต์[69] โดยระบุถึงการที่กลุ่มพันธมิตรโจมตีความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยและเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภามาจากการแต่งตั้งเป็นส่วนใหญ่[70][15][16] สื่อต่างประเทศระบุว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมและนโยบายการกระจายอำนาจทางการเมืองออกจากศูนย์กลาง รวมทั้งโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์[71][72][73] และเปิดโอกาสให้นายทหารและข้าราชการระดับสูงมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น[74]
รัฐบาลของประเทศ จีน, ฝรั่งเศส, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ต่างได้เตือนพลเมืองของประเทศให้หลีกเลี่ยงที่จะเดินทางมายังประเทศไทย และหลีกเลี่ยงผู้ชุมนุมที่สนามบิน[75]
สหภาพยุโรป ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกไปจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองอย่างสงบ และกล่าวว่าผลกระทบจากการชุมนุมประท้วง ทำให้มีผู้โดยสารตกค้างถึงกว่า 100,000 คน กำลังทำให้ภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศไทยเสียหายอย่างมาก[76][77]
กอร์ดอน ดูกิด โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "การปิดสนามบินไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องในการประท้วง" และพันธมิตรฯ ควรเดินออกจากสนามบินอย่างสงบ[78][79]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
การดำเนินคดีอาญา
ศาลอาญามีคำสั่งจำคุก 5 การ์ดพันธมิตร ในข้อหามีอาวุธปืนและระเบิด เพื่อใช้ข่มขู่บังคับพนักงานรถเมล์และผู้โดยสารรถเมล์ให้ไปยังรัฐสภาโดยร่วมกันใช้อาวุธจี้ มีความผิด ฐานร่วมกันข่มขืนใจและกักขักหน่วงเหนี่ยว มีอาวุธปืนและระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้ในที่สาธารณะ รวมจำคุก 2 ปี ปรับ 66 บาท และฐานมีวิทยุสื่อสารในโดยไม่ได้รับอนุญาต (คนเดียว) รวมจำคุก 2 ปี ปรับเพิ่มอีก 2000 บาท ผู้ต้องหาขอประกันตัวและยื่นต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอนุญาต[80]
ศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก เนื่องจากนายปรีชา ตรีจรูญ เข้าร่วมชุมนุม และผู้ชุมนุมบางคนมีอาวุธ จึงมีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป แต่เห็นว่า ขณะตำรวจเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร มีตำรวจบางนายมีพฤติกรรม แสดงออกยั่วยุกลุ่มผู้ชุมนม ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ลุแก่อำนาจ ซึ่ง นายปรีชา ตรีจรูญก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส สูญเสียตาข้างขวา และถูกข่มเหงร้ายแรง ย่อมเป็นเหตุให้บันดาลโทสะ กระทำผิดต่อผู้เสียหาย ซึ่งเป็นตำรวจทั้ง 5 นาย และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้ให้จำคุก นายปรีชา จำคุก 4 ปี แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือ จำคุก 2 ปี 8 เดือน และให้จำคุกในความผิดฐานมั่วสุมอีก 8 เดือน รวมโทษจำคุก นายปรีชา เป็น 3 ปี 4 เดือน[81]
ด้านคดีอาญาคดีหมายเลขดำ ที่ อ.973/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวกจำนวน 98 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ กรณีพวกจำเลยบุกเข้าไปในสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี พ.ศ. 2551 ศาลได้มีคำสั่งเลื่อนฟ้องศาลได้เลื่อนตรวจพยานหลักฐานไปอีกครั้งวันที่ 1 ก.พ. 2559 เวลา 09.00 น.เนื่องจากการตรวจพยานหลักฐานยังไม่เรียบร้อย[82]
วันที่17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.4486/2551 ที่กลุ่มนักรบศรีวิชัย การ์ดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุกรุกอาคารสำนักงานสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 17 พ.ย.51 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 22-25 ส.ค.51 จำเลยทั้ง 82 คน กับพวกอีก 3 คน ซึ่งเป็นเยาวชน ร่วมกันบุกรุกอาคารสำนักงานสถานี NBT พร้อมพกอาวุธจำนวนมาก จากนั้นจำเลยได้ร่วมกันทำลายทรัพย์สิน รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นกว่า 6 แสนบาท ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของทางราชการ โดยจำเลยที่ 1 มีเครื่องรับและส่งวิทยุคมนาคม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่จำเลยที่ 39 , 80 มีใบกระท่อม ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 รวมจำนวน 18 ใบไว้ในครอบครอง ในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ในข้อหา พกพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 39 ให้การรับสารภาพ เฉพาะข้อหามีใบกระท่อมไว้ในครอบครองแต่ภายหลังกลับให้การปฏิเสธ ส่วนข้อหาอื่นจำเลยที่ 1-85 ให้การปฏิเสธ
ศาลเห็นว่า แม้จำเลยจะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่การที่บุกรุกให้หยุดเสนอข่าวต้องมีกฎหมายรองรับ พฤติการณ์แห่งคดีและการกระทำของจำเลยเป็นการมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และนายธเนศ จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืน แต่อย่างไรก็ตาม ทางนำสืบของโจทก์ยังไม่ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการในฐานะเป็นหัวหน้าหรือไม่ เช่นเดียวกับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์นั้นโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยคนใดเป็นผู้กระทำผิด
สำหรับความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นฯ โจทก์ มีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ขณะนั้นเป็นผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ได้เบิกความว่า คืนเกิดเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ กลุ่มจำเลยได้พกอาวุธเข้ามาในสำนักงาน พร้อมกับให้พนักงานทุกคนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ศาลเห็นว่า การกระทำที่บุกรุกเข้าไปโดยมีอาวุธแล้วสั่งให้เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติงาน ย่อมทำให้พนักงานเกิดความหวาดกลัวและยอมทำตามคำสั่งของพวกจำเลย การกระทำของพวกจำเลย จึงเป็นความผิด
ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยไม่มีเหตุนั้น รับฟังได้จากคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ว่า เป็นผู้ครอบครองอาวุธโดยมีใบอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 2 รับสารภาพว่า พกเครื่องกระสุนปืน ขนาด .22 จำนวน 1 นัด และขนาด .38 จำนวน 5 นัด ซึ่งการกระทำดังกล่าว ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยอื่นจะมีส่วนรู้เห็นความผิดนี้ด้วย อีกทั้งพยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจ เบิกความว่าเห็นจำเลยที่ 1 กับพวก พกอาวุธปืนและไม้ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของใคร พยานที่นำสืบมาจึงยังไม่อาจฟังได้ชัดเจนว่าจำเลยอื่น ร่วมกระทำผิดฐานพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะด้วย
แต่ที่จำเลยขอให้ศาลรอการลงโทษนั้น เห็นว่า ลักษณะการชุมนุมของจำเลยเป็นการชุมนุมทางการเมือง ก่อความไม่สงบวุ่นวาย สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมือง และบุกรุกสำนักงานของผู้อื่น ที่ศาลชั้นต้นไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จากพยานหลักฐานที่วินิจฉัยมา การกระทำของจำเลย ถือเป็นการกระทำกรรมเดียวต่อเนื่องกัน ซึ่งผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษบทหนักสุดฐานบุกรุก ซึ่งแม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องความผิดดังกล่าว แต่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจนำมาวินิจฉัยได้ตามกฎหมาย
จึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1-29 , 31-41 , 42 - 46 , 48 - 80 และ 82 มีความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและข่มขู่จะใช้กำลังประทุษร้าย ให้จำคุกคนละ 1 ปี ซึ่งจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดฐานพกพาอาวุธปืนและมีเครื่องวิทยุสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ให้จำคุกอีก 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 1 ปี 4 เดือน
ส่วนจำเลยที่ 30,47 และ 81 ขณะก่อเหตุอายุไม่เกิน 20 ปี จึงให้จำคุกคนละ 8 เดือน และจำเลยที่ 83-85 ขณะเกิดเหตุอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้จำคุกคนละ 6 เดือน
โดยคำให้การจำเลยประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอบยู่บ้าง จึงเห็นควรลดโทษ ให้จำเลยที่ 1-29 , 31-41 , 42 - 46 , 48 - 80 และ 82 คนละกึ่งหนึ่งคงจำคุกคนละ 6 เดือน และลดโทษกึ่งหนึ่งให้จำเลยที่ 1 ฐานพกพาอาวุธ คงจำคุกอีก 2 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 8 เดือน
ส่วนจำเลยที่ 30 ,47 และ 81 ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 6 เดือน โดยจำเลยที่ 30, 47 , 81 , 83-85 ขณะกระทำผิดเป็นเยาวชน จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ ส่วนความผิดฐานซ่องโจรนั้นให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ภายหลังนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความจำเลย กล่าวว่า วันนี้เตรียมหลักทรัพย์เป็นเงินสด และกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ มาพร้อมยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งหมด คนละ 200,000 บาท เพื่อจะฎีกาสู้คดีต่อไปและมีผู้ไม่มาฟังคำสั่งศาล 6 ราย ซึ่งดำเนินการออกหมายจับต่อไป[83]
การดำเนินคดีแพ่ง
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ได้ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวก รวม 14 คน กรณีนำกลุ่มพันธมิตรฯ ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองโดยเรียกค่าเสียหายจำนวน 103,483,141.80 บาท จากนั้นวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2552 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 36 คน ในข้อหาความผิดละเมิดเรียกค่าเสียหาย 575,229,059 บาท[84] ในส่วน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องเมื่อ พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เป็นคดีหมายเลขแดง 1117/2558 ,และคดีหมายแดง 1118/2558 ศาลแพ่งได้ตัดสินให้แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ 13 คน ชดใช้ค่าเสียหายทั้งกายภาพและทางพาณิชย์ 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าทนายความโจทก์ 8 หมื่นบาท นับจากวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2551 คดีอยู่ระหว่างฎีกา[85]โดยเมื่อวันที่ 9 ก.ค.58 นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่มพันธมิตร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา พร้อมทั้งยื่นฎีกาต่อศาลในคดีดังกล่าวแล้ว โดยอ้างเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในขณะที่นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฏีกา ช่วยทำงานช่วยคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฏีกา โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า จากการตรวจสอบทราบว่า คดีดังกล่าวถึงที่สิ้นสุดแล้วตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์[86]ต่อมาในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560 ศาลฎีกายกคำร้อง 13 แกนนำ พธม. ขยายฎีกาคดีแพ่ง ในคดีที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง , นายสนธิ ลิ้มทองกุล , นายพิภพ ธงไชย , นายสุริยะใส กตะศิลา , นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ,นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ , นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ , นายอมร อมรรัตนานนท์ , นายนรัญยู หรือศรัณยู วงษ์กระจ่าง , นายสำราญ รอดเพชร , นายศิริชัย ไม้งาม , นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และนายเทิดภูมิ ใจดี แกนนำ พธม. ทั้ง 13 คน ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ในคดีหมายเลขดำที่ 6453/2551 เป็นเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธ.ค.51 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561 น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบทรัพย์สินของ 13 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อดำเนินการยึดอายัดไปชดใช้ความเสียหายให้แก่ บริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้ 13 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องถูกฟ้องร้องให้เป็นบุคคลล้มละลายทางกฎหมาย
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรียังเข้าแจ้งความต่อแกนนำพันธมิตร 6 คนที่ร่วมกันบุกรุกทำเนียบรัฐบาลทำให้สวนหย่อมด้านหน้าเสียหาย เป็นมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท ซึ่งคดีกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา[87]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
สื่อ
สถานีโทรทัศน์ที่ทำการถ่ายทอดสดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ทั้งปี พ.ศ. 2549 พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2554 คือสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี โดยแบ่งเป็นช่องต่างๆ ดังนี้
- ASTV News(News 1 เดิม) สถานีข่าว 24 ชั่วโมง เป็นช่องหลักที่ถ่ายทอดสดการชุมนุมตลอด 24 ชั่วโมง
- TAN NETWORK (Thai-Asean News NETWORK) สถานีข่าวภาคภาษาอังกฤษ
- Super บันเทิง สถานีข่าวบันเทิง
- esan TV สถานีโทรทัศน์วัฒนธรรมอีสาน
- SHOP at HOME ช่องรวมโฆษณาสินค้าประเภทสั่งทางโทรศัพท์(สินค้าไม่ใช่ของเอเอสทีวีโดยตรง)
- เถ้าแก่ ช่องธุรกิจ
- FMTV สถานีโทรทัศน์เพื่อมนุษยชาติ (สันติอโศกเป็นผู้ผลิตรายการ)
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 ASTV ได้เปลี่ยนช่องรายการ โดยสลับช่อง TAN NETWORK เป็นช่องรายการแรกจากจานรับสัญญาณดาวเทียม และช่อง ASTV News เป็นช่องรายการที่ 2 SHOP at HOME เป็นช่องรายการที่ 3 จากนั้นจึงเป็นช่อง Super บันเทิง, esan TV และช่องเถ้าแก่ตามลำดับ
เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน ออกจำหน่ายทุกวันจันทร์-วันเสาร์ (โดยฉบับวันเสาร์จะควบวันอาทิตย์ไปด้วย) เสนอข่าวธุรกิจ และการเมือง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังมีหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์, นิตยสารผู้จัดการ 360° รายเดือน และเว็บไซต์ข่าวเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ อีกด้วย
อ้างอิง
- ↑ Bloomberg, Oxford Graduate Abhisit Elected in Thai Power Shift, 19 December 2008
- ↑ คำนูณ สิทธิสมาน. (2549). ปรากฏการณ์สนธิ จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า. สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์. ISBN 974-94609-7-9
- ↑ Airports still shut, trains not running Bangkok Post. August 31, 2008.
- ↑ Thai economy braces for fresh blow
- ↑ มติชนออนไลน์. พันธมิตรฯประกาศยุติบทบาท เคลื่อนไหวไม่ออกติดเงื่อนไขคดี-จวกปชป.ไม่เสียสละลาออกมาร่วมสู้. เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556
- ↑ Bloomberg. Thai Prime Minister Thaksin's Family Sells Shin Corp. (Update2). สืบค้นเมื่อ 27-12-2552.
- ↑ "วันก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-11. สืบค้นเมื่อ 2009-09-20.
- ↑ Thai PM Thaksin Sells Stake In Shin Telco
- ↑ แก้วสรร อติโพธิ. หยุดระบอบทักษิณ เก็บถาวร 2006-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ค้นเมื่อ 27-12-2552.
- ↑ Thailand War on Drugs Turns Murderous, 600 Killed This Month. StoptheDrugWar.org. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2553.
- ↑ "Ch 9 drops Sondhi for royal references". The Nation. 2005-09-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-07. สืบค้นเมื่อ 2010-04-21.
- ↑ "Monastic feud could lead to a schism". The Bangkok Post. 2005-03-05.
- ↑ Jonathan Head. Rifts behind Thailand's political crisis. BBC News. สืบค้นเมื่อ 30-12-2552.
- ↑ 14.0 14.1 Newsweek, All Politics Isn’t Local, 6 September 2007
- ↑ 15.0 15.1 IHT, On 5th day of Thai protests, a carnival atmosphere เก็บถาวร 2008-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 30 August 2008
- ↑ 16.0 16.1 BBC, Rifts behind Thailand's political crisis, 27 August 2008
- ↑ ไทยรัฐ, แนวคิดการเมืองใหม่ เลือกส.ส.30%- สรรหา70%
- ↑ PAD Announcement Number 20/2008
- ↑ Matichon, ตร.เล็งลดกำลังดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม หลังเหตุการณ์สงบ พันธมิตรถก"การเมืองใหม่"ยังไม่ยุตินัดใหม่27ก.ย., 22 กันยายน พ.ศ. 2551
- ↑ "พันธมิตรพลิกสูตรการเมืองใหม่เลือกตั้งตรง-อ้อม100%". Komchadluek. 22 September 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-10-19.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ตั้งพรรคการเมืองใหม่ สมศักดิ์รั้งห้วหน้า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-19. สืบค้นเมื่อ 2022-01-17.
- ↑ พรรคการเมืองใหม่ตั้งโต๊ะโหวตสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นหัวหน้า รู้ผลบ่ายวันนี้
- ↑ Michael K. Connors, Bloomberg, Playing with the rules of the game: states of emergency, 2 September 2008
- ↑ Agence France-Presse via ThaiNewsLand.com, Ex-Thai PM Thaksin plans 'modern city' in Cambodia: official, 27 May 2008
- ↑ Prachatai, Sondhi Limthongkul’s solution to the Preah Vihear dispute เก็บถาวร 2008-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2 August 2008
- ↑ Giles Ji Ungphakorn, Prachatai, A briefing on the continuing crisis in Thailand เก็บถาวร 2008-09-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 4 September 2008
- ↑ เปิดประวัติ 9 แกนนำพันธมิตรฯ
- ↑ "จำลอง"โยนแกนนำรุ่น 2 ตัดสินหลีกทางเสด็จฯหรือไม่ ก่อนโดดนั่งกลางวงม็อบอาศัยฝูงชนเป็นกำแพงอีกแล้ว!
- ↑ ""ลุงจำลอง" จับโกหก "แม้ว" ยันไม่เคยบอกรวยกี่หมื่นล้าน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-10. สืบค้นเมื่อ 2012-06-07.
- ↑ ย้อนดูวิกฤติเลือกตั้งในอดีต
- ↑ อัญเชิญพระสุรเสียงราชินีกึกก้องมัฆวานวันอาสาฯ
- ↑ พธม.ยอมปล่อยผู้โดยสารติดค้าง 3 พันคน ในอาคารสุวรรณภูมิ หลังขาดแคลนน้ำ-อาหาร เหตุร้านปิดบริการ เก็บถาวร 2011-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข่าวจากมติชน
- ↑ Airports still shut, trains not running Bangkok Post. August 31, 2008.
- ↑ เอเอสทีวีผู้จัดการ, พันธมิตรฯ แถลงประกาศชัยชนะ-ยุติชุมนุมทุกจุด 3 ธ.ค. เก็บถาวร 2011-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรียกข้อมูลวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551
- ↑ ไทยรัฐ, พธม.แถลงจี้รัฐบาล ปราบแดง 29 เม.ย.บุกราบ11 เรียกข้อมูลวันที่ 26 เมษายน 2553
- ↑ ไทยรัฐ, กลุ่ม 40 ส.ว.บีบรัฐเร่งปราบเสื้อแดง เรียกข้อมูลวันที่ 26 เมษายน 2553
- ↑ โพสทูเดย์, จำลองนำพันธมิตรจี้รัฐฟันนปช.[ลิงก์เสีย] เรียกข้อมูลวันที่ 29 เมษายน 2553
- ↑ "พันธมิตรแถลงประณาม โรดแมปนายกฯ ขาดความชัดเจน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-09. สืบค้นเมื่อ 2010-05-06.
- ↑ ถอย!พธม.เลื่อนม็อบไป 25 ม.ค. จากไทยโพสต์[ลิงก์เสีย]
- ↑ ข้อเรียกร้องระหว่างไทย-กัมพูชา จากแนวหน้า
- ↑ พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
- ↑ พธม.แผ่ว-มวลชนหาย! ด่ากราดทุกคนที่คิดต่าง 'เทพ'จี้ให้ฟังเสียงคนอื่น จะทำตัวเหนือก.ม.ไม่ได้
- ↑ พธม.แผ่วล้มแผนล้อมสภา[ลิงก์เสีย] จากไทยโพสต์
- ↑ ด้วย 'รักและหวังดี' เสียดาย 'พลัง' พธม.เก็บถาวร 2011-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากกรุงเทพธุรกิจ
- ↑ หึ่ง!ผู้จัดASTVนับ10แห่ลาออก!ฉุน'เจ๊กลิ้ม'บีบขึ้นเวทีพธม.เก็บถาวร 2011-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากประชาทรรศน์
- ↑ “ประพันธ์” โต้บทความ “เจิมศักดิ์” เตือนอยากมีอนาคตดีเลิกรับใช้ “อภิสิทธิ์” ได้แล้วเก็บถาวร 2011-04-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากผู้จัดการออนไลน์
- ↑ ""สนธิ" เผยเบื้องหลัง "อัญชะลี" ปัดร่วมพันธมิตรฯ-แนะพูดกันตรงๆ พี่น้องพร้อมอภัย จากผู้จัดการออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-29. สืบค้นเมื่อ 2011-04-30.
- ↑ "ตร.รวบสามีภรรยา-พกปืนใกล้ที่ชุมนุมพันธมิตรฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-11. สืบค้นเมื่อ 2013-01-04.
- ↑ พธม.เตรียมรณรงค์โหวตโน ที่แรกขอนแก่น17เมย.เก็บถาวร 2012-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากวอยซ์ทีวี
- ↑ ปาบึ้มหลังเวที พธม.เจ็บ 3ราย
- ↑ "ประกาศยุติการชุมนุม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-06. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
- ↑ "สรส."ตัดหางพันธมิตรฯ สั่ง"สมศักดิ์-สาวิทย์"ถอนตัวแกนนำ จากข่าวสด[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สนธิ" ถาม "สมศักดิ์" รับงานใครมาทำลายพธม. ลั่นสั่งสอนก.ม.ม. "โหวตโน- ยึดพรรคคืน"เก็บถาวร 2015-06-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากผู้จัดการออนไลน์
- ↑ พธม.รณรงค์โหวตโน,จี้รัฐบาลสอบเหตุการณ์ 10 เม.ย.53-คดีลอบสังหารสนธิ
- ↑ "โฆษกรัฐบาลเตือนพันธมิตรฯ อย่าใช้กฎหมู่ เหนือกฎหมาย". คม ชัด ลึก. 7 มิถุนายน 2551. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2552.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "นพดลชี้การชุมนุมพันธมิตรฯ ส่งผลเสียต่อการพัฒนาประเทศ". คม ชัด ลึก. 7 มิถุนายน 2551. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2552.
{{cite web}}
:|first=
ไม่มี|last=
(help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์) - ↑ สุภโกศล, นภาเพ็ญ (22 มิถุนายน 2551). "กลุ่ม ส.ส. และอดีต ส.ส. พรรคพลังประชาชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชน". สำนักข่าวแห่งชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-28. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2552.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ""เพ็ญ" แถลงลาออกแล้ว อ้างเพื่อ "รักษาขุนให้อยู่รอด"". เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์. 30 พฤษภาคม 2551. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-13. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2552.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินมีผลวันนี้ สมชาย วอนยุติความขัดแย้ง". กระปุกดอตคอม. 14 กันยายน 2551. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2552.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ""สมัชชาคนจน" เคลื่อนทัพสมทบ พันธมิตรฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-19. สืบค้นเมื่อ 2010-04-21.
- ↑ "สนามบินภูเก็ตปิดไม่มีกำหนด-สนามบินสุราษฎร์ฯ วุ่นอีกแห่ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-03. สืบค้นเมื่อ 2010-04-21.
- ↑ Sanook.com, ใครเป็นใครใน Young PAD, เข้าถึงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551
- ↑ เอเอสทีวีผู้จัดการ, ส.ว.ร้องยูเอ็น! ค้าน รบ.โจรตั้ง คกก.สอบโจรเหตุ 7 ตุลาทมิฬ เก็บถาวร 2011-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 10 ตุลาคม 2551
- ↑ เอเอสทีวีผู้จัดการ, สภาทนายฯ ตั้งคณะทำงาน กม.ช่วยประชาชนถูกตำรวจทำร้าย เก็บถาวร 2011-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 10 ตุลาคม 2551
- ↑ คาราวานคนจนมาปิดล้อมสำนักงานหนังสือพิมพ์คมชัดลึก คลิปวิดีโอ
- ↑ มติชน, พันธมิตรเตรียมเคลื่อนบุกทำเนียบ'จำลอง' ย้ำห้ามพกอาวุธ ตร.ระดมกำลัง5พันรับมือ เก็บถาวร 2011-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 19 มิถุนายน 2551
- ↑ ประชาไท, สถานการณ์การชุมนุม มัฆวาน – สนามหลวง คืนก่อนวันทุบหม้อข้าว, 19 มิถุนายน 2551
- ↑ "พล.ต.อ.สล้าง ยืนยันยึดทำเนียบฯ คืนจากพันธมิตรฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-27. สืบค้นเมื่อ 2009-03-01.
- ↑ Asian Human Rights Committee, THAILAND: Watershed moment for democracy and rule of law เก็บถาวร 2008-12-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 26 November 2008
- ↑ ไทยรัฐ, แนวคิดการเมืองใหม่ เลือกส.ส.30%- สรรหา70%
- ↑ ABC, Thai PM threatens protestors over slogans, 5 August 2008
- ↑ Al Jazeera, Thai PM: 'I will never resign', 31 August 2008
- ↑ The Financial Times, Protesters besiege Thai state buildings เก็บถาวร 2008-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 27 August 2008
- ↑ AFP Thai PM consults king over escalating protests เก็บถาวร 2009-04-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 20 August 2008
- ↑ AFP, Defiant Thai PM rejects army pressure to quit[ลิงก์เสีย], 26 November 2008
- ↑ "EU Says Airport Protests Damaging Thailand's Image". Deutsche Welle. 2008-11-29. สืบค้นเมื่อ 2008-11-29.
- ↑ Ringborg, Maria (2008-11-29). "Polis borttvingad från Bangkoks flygplats" (ภาษาสวีเดน). Dagens Nyheter. สืบค้นเมื่อ 2008-11-29.
- ↑ "Blast Prompts Thai Protesters to Seek Police Patrols". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2009-02-19.
- ↑ "US : PAD should walk away from airports". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-17. สืบค้นเมื่อ 2009-02-19.
- ↑ "ศาลอาญามีคำสั่งจำคุก 5 การ์ดพันธมิตร ในข้อหามีอาวุธปืนและระเบิด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-11. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
- ↑ "ศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก เนื่องจากนายปรีชา ตรีจรูญ เข้าร่วมชุมนุม และผู้ชุมนุมบางคนมีอาวุธ จึงมีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-07-20.
- ↑ ด้านคดีอาญาคดีหมายเลขดำ ที่ อ.973/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9[ลิงก์เสีย]
- ↑ อุทธรณ์ลดโทษ'79นักรบศรีวิชัย'บุกNBT
- ↑ ""การบินไทย" ฟ้องพันธมิตรฯ เรียก 575 ล้าน!". เอเอสทีวีผู้จัดการ. 9 ธันวาคม 2552. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-13. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2552.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ทนายชี้ยึดทรัพย์แกนนำพธม.และฟ้องล้มละลายได้ หากคดีถึงที่สุด
- ↑ นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่มพันธมิตร ชี้แจงต่อศาลฎีกา
- ↑ "พันธมิตรฯ ปฏิเสธคดีทำหญ้าทำเนียบตายเสียหาย 6 ล้าน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-13. สืบค้นเมื่อ 2012-01-01.
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บพันธมิตร พิทักษ์ชาติ และ ราชบัลลังก์
- เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออนไลน์ เก็บถาวร 2008-12-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย เก็บถาวร 2011-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- The Bangkok Post, Protests: the reasons and the reasoning