ตำนานเจ้าหญิงไม้ไผ่จากดวงจันทร์
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ตำนานเจ้าหญิงไม้ไผ่จากดวงจันทร์ หรือ ทาเกโตริ โมโนงาตาริ (ญี่ปุ่น: 竹取物語; โรมาจิ: Taketori Monogatari; แปลว่า "ตำนานคนตัดไผ่") เป็น โมโนงาตาริ (ตำนาน) ประกอบด้วยองค์ประกอบของคติชาวบ้านญี่ปุ่นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 หรือ 10 ในยุคเฮอัง ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน ตำนานเจ้าหญิงไม้ไผ่จากดวงจันทร์ เป็นหนึ่งในผลงานในรูปแบบโมโนงาตาริที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่บันทึกได้
เรื่องเล่าเรื่องของคางุยะฮิเมะ เจ้าหญิงจากพระจันทร์ที่ถูกค้นพบในปล้องไม้ไผ่เรืองแสง หลังจากที่เติบโตเป็นผู้หญิงขึ้น ความงามของเธอดึงดูดชายหนุ่ม 5 คน มาขออภิเษกสมรส เจ้าหญิงคางุยะปฏิเสธทั้ง 5 อย่างอ้อม ๆ ด้วยการให้ทำภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้เสร็จ ภายหลังจักรพรรดิญี่ปุ่นหลงใหลในตัวเธอ ในตอนท้ายของตำนาน เจ้าหญิงคางุยะเปิดเผยว่าเธอมาจากสวรรค์และต้องกลับไปยังพระจันทร์[1] เรื่องเล่านี้ยังเป็นที่รู้จักในชื่อ ตำนานเจ้าหญิงคางุยะ หรือ คางุยะฮิเมะ โนะ โมโนงาตาริ (ญี่ปุ่น: かぐや姫の物語; โรมาจิ: Kaguya-hime no Monogatari) ตามชื่อของตัวละครเอก
พื้นหลัง
แก้ตำนานเจ้าหญิงไม้ไผ่จากดวงจันทร์ นับได้ว่าเป็นผลงานโมโนงาตาริที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังเหลือรอดอยู่ แม้วันประพันธ์ของตำนานนี้ไม่สามารถรู้ชัดได้[a] บทกวีในยามาโตะโมโนงาตาริ ผลงานที่พรรณาชีวิตในราชสำนักช่วงคริสต์ศควรรษที่ 10 อ้างถึงงานสังสรรค์ชมพระจันทร์ที่จัดขึ้นในพระราชวังใน ค.ศ. 909 การกล่าวถึงควันที่ล่องลอยขึ้นสู่ฟ้าจากภูเขาฟูจิในคำนานเจ้าหญิงคางูยะ เสนอว่าภูเขาไฟยังคุกรุ่นอยู่ ณ เวลาที่ประพันธ์ตำนานเรื่องนี้ โคกินวากาชูระบุว่า ภูเขาเลิกปล่อยควันไฟใน ค.ศ. 905 หลักฐานอื่น ๆ อธิบายว่ามีการประพันธ์ตำนานนี้ขึ้นระหว่าง ค.ศ. 871 ถึง ค.ศ. 881[3]
ไม่ปรากฏชื่อผู้ประพันธ์ตำนานเจ้าหญิงไม้ไผ่จากดวงจันทร์ นักวิชาการเสนอผู้ประพันธ์หลายคน ได้แก่ มินาโมโตะ โนะ ชิตาโง (ค.ศ. 911–983) เจ้าอาวาสเฮ็นโจ สมาชิกตระกูลอิมเบะ นักการเมืองที่ขัดแย้งกับจักรพรรดิเท็มมู และนักกวีคันชิ คิ โนะ ฮาเซโอะ (ค.ศ. 842–912) นอกจากนี้ยังมีการโต้เถียงว่าตำนานนี้ประพันธ์โดยคนเพียงคนเดียวหรือหลายคนเป็นคณะ อีกทั้งยังโต้เถียงอีกว่าตำนานเขียนด้วยคัมบุง อักษรคานะญี่ปุ่น หรือแม้แต่กระทั่งอักษรจีน[3]
แนวเรื่องของตำนานเจ้าหญิงไม้ไผ่จากดวงจันทร์ เป็นบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์แบบดั้งเดิม (proto-science fiction) ในโครงเรื่องบางส่วนมีองค์ประกอบของบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์อยู่ อาทิ การที่เจ้าหญิงคางูยะมาจากพระจันทร์ การที่สิ่งมีชีวิตนอกโลกได้รับการเลี้ยงดูโดยมนุษย์บนโลก และการที่เธอถูกพากลับไปยังพระจันทร์โดยครอบครัวสิ่งที่มีชีวิตนอกโลกจริง ภาพวาดต้นฉบับยังพรรณาให้เห็นถึงวัตถุทรงกลมบินได้คล้ายจานบิน[4] ตำนานยังมีความคล้ายคลึงกับเรื่องเล่าซูเปอร์ฮีโรในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซูเปอร์แมน[5]
เนื้อเรื่อง
แก้วันหนึ่งขณะที่เดินอยู่กลางป่า ชายแก่ผู้มีอาชีพตัดไผ่ชื่อ ทาเกโตริ โนะ โอกินะ (竹取翁) มองเห็นปล้องไผ่ที่ส่องแสงเรืองรองเข้า ด้วยความสงสัยก็ไปตัดปล้องไผ่ดู พบว่าภายในมีเด็กทารกผู้หญิงขนาดเท่าหัวแม่มือ นอนอยู่ ทาเกโตริ โนะ โอกินะ มีความดีใจที่ได้พบทารกน้อยน่ารักก็นำกลับบ้านให้ภรรยาเลี้ยงอย่างลูก และตั้งชื่อให้ว่า คางุยะฮิเมะ (かぐや姫, "เจ้าหญิงแห่งราตรีอันเรืองรอง")
ตั้งแต่นั้นมา ทาเกโตริ โนะ โอกินะ ก็พบว่าเมื่อใดที่ตนตัดไผ่ ก็จะพบก้อนทองก้อนเล็ก ๆ อยู่ภายในปล้องไผ่ที่ตัด ไม่นานนักทาเกโตริ โนะ โอกินะ ก็มีฐานะร่ำรวยขึ้นมา คางุยะฮิเมะเองก็เติบโตขึ้นมาเป็นสตรีที่มีรูปลักษณ์ร่างกายปกติและมีความสวยงามเป็นอันมาก ในระยะแรกทาเกโตริ โนะ โอกินะ พยายามกันไม่ให้ลูกสาวได้พบกับคนแปลกหน้า แต่ไม่นานนักความสวยงามของคางุยะก็เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว จนกระทั่งมีเจ้าชายห้าพระองค์เสด็จมาขอตัวเจ้าหญิงคางุยะต่อทาเกโตริ โนะ โอกินะ และทรงพยายามหว่านล้อมให้ทาเกโตริ โนะ โอกินะ ไปบอกให้เจ้าหญิงคางุยะเลือกเจ้าชายองค์ใดองค์หนึ่ง เมื่อทราบว่ามีผู้หมายปองเจ้าหญิงคางุยะจึงคิดแผนป้องกันตนเอง โดยเจ้าหญิงคางุยะประกาศว่าจะยอมแต่งงานกับเจ้าชายองค์ใดที่สามารถนำสิ่งที่ตนขอมากลับมาได้ ซึ่งเป็นบททดสอบที่ยากเกินกว่าที่จะทำให้สำเร็จได้
คืนนั้นทาเกโตริ โนะ โอกินะ ทูลเจ้าชายแต่ละพระองค์ถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เจ้าหญิงคางุยะขอให้แต่ละองค์ต้องทรงนำกลับมา เจ้าชายองค์แรกต้องไปทรงนำบาตรหินของพระโคตมพุทธเจ้ามาจากอินเดียกลับมาให้ องค์ที่สองต้องทรงนำกิ่งไม้ประดับอัญมณีจากเกาะเกาะโฮไรในประเทศจีน[6] องค์ที่สามต้องทรงไปนำเสื้อคลุมของหนูไฟจากเมืองจีนกลับมาให้ องค์ที่สี่ต้องทรงไปถอดอัญมณีจากคอมังกรมาให้ และองค์ที่ห้าต้องทรงไปหาหอยมีค่าของนกนางแอ่นกลับมา
เมื่อเจ้าชายองค์แรกทรงทราบว่าสิ่งที่ต้องทรงนำกลับมาเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก พระองค์ก็ทรงนำบาตรอันมีค่ามาให้ แต่เมื่อเห็นว่าบาตรมิได้ส่องแสงเรืองรองตามที่บาตรศักดิ์สิทธิ์ควรจะเป็น เจ้าหญิงคางุยะก็ทราบพระองค์ทรงหลอกลวง เจ้าชายอีกสองพระองค์ก็ทรงพยายามหลอกลวงเช่นกันแต่ก็ไม่สำเร็จ เจ้าชายองค์ที่สี่ทรงเลิกพยายามเมื่อทรงประสบกับลมมรสุม ส่วนเจ้าชายองค์สุดท้ายสิ้นพระชนม์ขณะที่ทรงพยายามที่จะแสวงหาสิ่งที่เจ้าหญิงคางุยะต้องการมาให้
หลังจากนั้นจักรพรรดิมิกาโดะ จักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น ก็เสด็จมาทอดพระเนตรสตรีผู้มีข่าวร่ำลือว่ามีความสวยงาม เมื่อทรงได้เห็น พระองค์ก็ทรงตกหลุมรักเจ้าหญิงคางุยะและทรงขออภิเษกสมรสด้วย แม้ว่าจะไม่ต้องทรงผ่านการทดสอบเช่นเดียวกับเจ้าชายห้าองค์ก่อนหน้านั้น แต่เจ้าหญิงคางุยะก็ยังคงปฏิเสธ โดยทูลว่านางนั้นเป็นสตรีผู้มาจากแดนไกลที่ทำให้ไม่สามารถที่จะเข้าไปในพระราชฐานของพระองค์ได้ แต่เจ้าหญิงคางุยะก็ยังคงดำเนินการติดต่อกับมิกาโดะตลอดมา และก็ยังคงปฏิเสธคำขอของพระองค์ทุกครั้ง
ระหว่างฤดูร้อนปีนั้น เมื่อใดเห็นพระจันทร์เต็มดวง นัยน์ตาของเจ้าหญิงคางุยะก็จะคลอไปด้วยน้ำตา ทั้งทาเกโตริ โนะ โอกินะ และภรรยาก็พยายามถามถึงสาเหตุแต่เจ้าหญิงคางุยะก็ไม่สามารถจะบอกได้ว่ามีอะไรผิดปกติ พฤติกรรมของเจ้าหญิงคางุยะยิ่งแปลกขึ้นจนกระทั่งในที่สุดก็ยอมเปิดเผยว่าเธอนั้นไม่ได้มาจากโลกนี้ และถึงเวลาแล้วจะต้องเดินทางกลับไปยังบ้านเมืองที่อยู่บนจันทรประเทศ[b]
เมื่อวันที่จะต้องกลับใกล้เข้ามา จักรพรรดิมิกาโดะทรงส่งทหารมาล้อมบ้านเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวจันทรประเทศมาเอาตัวเจ้าหญิงคางุยะไปได้ แต่เมื่อทูตจาก "สรวงสวรรค์" มาถึงประตูบ้านของทาเกโตริ โนะ โอกินะ ทหารที่มารักษายามต่างก็ตาบอดไปตาม ๆ กันเพราะความแรงของแสงที่เรืองออกมา เจ้าหญิงคางุยะประกาศว่าแม้ว่าตนเองจะมีความรักเพื่อนหลายคนบนโลกมนุษย์ แต่ก็จำต้องเดินทางกลับไปยังจันทรประเทศซึ่งเป็นบ้านเมืองที่แท้จริงของตนเอง จากนั้นเจ้าหญิงคางุยะก็เขียนจดหมายร่ำลาขออภัยต่อ ทาเกโตริ โนะ โอกินะ และภรรยา และต่อจักรพรรดิมิกาโดะ และมอบเสื้อคลุมให้บิดามารดาเลี้ยงไว้เป็นที่ระลึก จากนั้นก็นำยาอายุวัฒนะ (elixir of life) แนบไปกับจดหมายให้แก่ทหารยามไปถวายพระจักรพรรดิ เมื่อยื่นจดหมายให้แล้วและเอาเสื้อคลุมขนนกพาดไหล่เสร็จ เจ้าหญิงคางุยะก็ลืมความคิดถึงและทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับโลกมนุษย์จนหมดสิ้น ขบวนชาวทูตสวรรค์นำเจ้าหญิงคางุยะกลับไปยังจันทรประเทศ ทิ้งทาเกโตริ โนะ โอกินะและภรรยาไว้กับความโศกเศร้าในที่สุด
ฝ่ายทหารยามเมื่อได้รับสาส์นและยาอายุวัฒนะแล้ว ก็นำกลับไปถวายและทูลรายงานถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อพระจักรพรรดิ เมื่อพระองค์ก็ทรงอ่านจดหมายแล้วก็ทรงโทมนัส และตรัสถามข้าราชบริพารว่า "ภูเขาลูกใดที่สูงที่สุดที่ใกล้สรวงสวรรค์ที่สุด?" ซึ่งข้าราชบริพารก็ทูลว่าเป็นมหาภูเขาแห่งแคว้นซูรูงะ พระองค์ก็มีพระบรมราชโองการให้นำจดหมายของเจ้าหญิงคางุยะไปยังยอดเขาและเผา ด้วยความหวังว่าความคิดคำนึงถึงนางของพระองค์จะล่องลอยตามสายควันขึ้นไปถึงเจ้าหญิงคางุยะได้ นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีพระบรมราชโองการให้เผาผอบยาอายุวัฒนะ(ผู้ใดได้กิน ก็จะเป็นอมตะ) เพราะไม่มีพระราชประสงค์ที่จะดำรงชีวิตไปตลอดกาลโดยปราศจากเจ้าหญิงคางุยะ
ตำนานกล่าวต่อไปว่าคำว่า (ญี่ปุ่น: 不死; โรมาจิ: fushi; ทับศัพท์: หรือ “fuji”; (อมตะ)) หรือ “ฟูจิ” จึงกลายมาเป็นชื่อของภูเขา และคำในอักษรคันจิสำหรับภูเขาคือ 富士山 ซึ่งแปลตรงตัวว่า "ภูเขาที่เต็มไปด้วยนักรบ" นั้นหมายถึง กองทัพของพระจักรพรรดิเดินขึ้นไปบนภูเขาเพื่อปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ และกล่าวกันว่าควันจากการเผาจดหมายและยาอายุวัฒนะยังคงลอยละล่องขึ้นไปบนสรวงสวรรค์มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ (ในอดีตภูเขาฟูจิเป็นภูเขาที่คุกรุ่นมากกว่าในปัจจุบัน)
ความสัมพันธ์ทางวรรณกรรม
แก้เนื้อหาของตำนานมาจากเรื่องราวที่เล่าขานกันมาก่อนหน้าที่จะเขียนเป็นเรื่องราวขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ชื่อตัวเอกของเรื่อง ทาเกโตริ โนะ โอกินะ ปรากฏในกวีนิพนธ์ชุด มันโยชู (万葉集) ที่รวบรวมขึ้นราว ค.ศ. 759 (โคลงที่ 3791) ในสมัยนาระ ในโคลงนี้ ทาเกโตริ โนะ โอกินะ พบกลุ่มสตรีที่ขับกลอนให้ฟัง ซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ว่าเรื่องราวเกี่ยวกับคนตัดไผ่และสตรีลึกลับเป็นเรื่องราวที่เล่าขานกันมาก่อนหน้านั้น[7][8]
การนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ก็มาเกิดขึ้นอีกในราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 ใน คนจากุโมโนงาตาริชู (เล่มที่ 31, บทที่ 33) แต่ความเกี่ยวข้องกับตำนานยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่[9]
Banzhu Guniang
แก้เมื่อหนังสือ "Jinyu Fenghuang" (金玉凤凰) ซึ่งเป็นหนังสือจีนเกี่ยวกับตำนานทิเบตได้รับการตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1957[10] เมื่อต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 นักค้นคว้าวรรณกรรมญี่ปุ่นพบว่า "Banzhu Guniang" (班竹姑娘) ซึ่งเป็นตำนานเรื่องหนึ่งในหนังสือที่ว่ามีความคล้ายคลึงกับ "ตำนานเจ้าหญิงไม้ไผ่จากดวงจันทร์"[11][12] แต่นักค้นคว้าบางคนก็ไม่เห็นด้วยว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกันจริง
แต่การศึกษาเรื่องนี้ในคริสต์ทศวรรษ 1980 พบว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวมิใช่ความสัมพันธ์กันอย่างง่าย ๆ ตามที่เชื่อกันมาแต่เดิม โอะกุสึ (Okutsu) [13] ให้คำอธิบายอย่างยืดยาวถึงการค้นคว้าและให้ความเห็นว่าหนังสือ “Jinyu Fenghuang” เป็นหนังสือที่เขียนสำหรับเด็ก ฉะนั้นบรรณาธิการก็อาจจะถือโอกาสปรับให้เหมาะสมกับผู้อ่าน นอกจากนั้นแล้วหนังสือรวมตำนานทิเบตเล่มอื่นก็ไม่มีเรื่องใดที่คล้ายคลึงกับ “ตำนานเจ้าหญิงไม้ไผ่จากดวงจันทร์”[13]
ชาวทิเบตเองที่เกิดในทิเบตก็เขียนว่าไม่ทราบว่าเรื่องราวของคนตัดไผ่[14] นักค้นคว้าผู้เดินทางไปเสฉวนพบว่านอกไปจากผู้ที่อ่าน “Jinyu Fenghuang” แล้ว นักค้นคว้าท้องถิ่นในเฉิงตูก็ไม่มีผู้ใดทราบเรื่องคนตัดไผ่[15] และชาวทิเบตในเขตปกครองตนเองทิเบตและเชียง งาวา ก็ไม่มีผู้ใดทราบเรื่องเช่นกัน[15]
คนตัดไผ่ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
แก้ความที่ตำนานเรื่องคนตัดไผ่เป็นตำนานที่เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายจึงทำให้มีผู้นำโครงเรื่องไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ภาพยนตร์
แก้- ค.ศ. 1987: ภาพยนตร์เรื่อง "Taketori Monogatari" (เจ้าหญิงจันทรา) โดย คง อิจิกาวะ
- บิกเบิร์ด (ตัวละครในเรื่อง เดอะมัปเปตส์) ไปดูละครที่แสดงโดยเด็กเรื่อง "ตำนานเจ้าหญิงไม้ไผ่จากดวงจันทร์" ในภาพยนตร์สำหรับโทรทัศน์เรื่อง "บิกเบิร์ดในญี่ปุ่น" นอกจากนั้นแล้วบิกเบิร์ดก็ยังได้รับความช่วยเหลือจากสตรีใจดีชื่อคางูยะฮิเมะ เมื่อถูกแยกจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไปด้วยกันจนตลอดเรื่อง
วรรณกรรม
แก้- ในหนังสือ "Mikrokosmos" โดย อาซูกะ ฟูจิโมริ เจ้าหญิงคางูยะเป็นลูกสาวของจ้าชายโชโตกุ ที่เป็นผู้มีความโหดร้ายและตามใจตนเอง ครั้งหนึ่งคางูยะเห็นแก่ความสนุกก็เอาก้อนทองชิ้นเล็กจากท้องพระคลังไปซ่อนไว้ในปล้องไผ่เพื่อให้คนตัดไผ่มาพบ คนตัดไผ่ก็โดนกล่าวหาว่าขโมยสมบัติของท้องพระคลังและถูกลงโทษโดยการประหารชีวิต ซึ่งเค้าเรื่องตรงกับเมื่อทาเกโตริ โนะ โอะกินะไปพบทารกคางูยะฮิเมะในปล้องไผ่
อนิเมะ และ มังงะ
แก้- ในซีรีส์อนิเมะ/มังงะ “เทพอสูรจิ้งจอกเงิน” ตัวเอกในเรื่องอินุยาฉะสวมฮาโอะริที่ทำด้วยขนของหนูไฟ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่มาจากตำนานเจ้าหญิงไม้ไผ่จากดวงจันทร์ โครงเรื่องในภาพยนตร์ “เทพอสูรจิ้งจอกเงิน” เรื่องที่สอง “The Castle Beyond the Looking Glass” เป็นเรื่องที่เนื้อเรื่องส่วนใหญ่แล้วมาจากโครงเรื่องของตำนานเจ้าหญิงไม้ไผ่จากดวงจันทร์โดยตรง
- ชื่อเต็มของชุดเลย์จิ มัตซึโมโตะ และภาพยนตร์ “ราชินีพันปี” คือ “Shin Taketori Monogatari: Sennen Joō” ที่แปลว่า “ตำนานคนตัดไผ่เรื่องใหม่: ราชินีพันปี”
- มังงะ “คะงุยะฮิเมะ” โดย เรโกะ ชิมิซุ ก็มีพื้นฐานมาจากเรื่องราวของเจ้าหญิงคางูยะ
- “Planet Ladder” โดย ยูริ นารุชิมะเป็นเรื่องราวที่คล้ายคลึงกับตำนานเจ้าหญิงไม้ไผ่จากดวงจันทร์ใหม่ที่เป็นเรื่องของเด็กหญิงชื่อคางูยะผู้พบว่าตนเองเป็นเจ้าหญิงผู้มีหน้าที่ที่จะต้องเป็นผู้คุ้มครองหนึ่งในเก้าโลก
- เรื่องที่สิบเอ็ดของ “เซเลอร์มูน” มีพื้นฐานมาจากเรื่องราวของเจ้าหญิงคางูยะ[16] ในภาพยนตร์อนิเมะ “เซเลอร์มูน” ตัวละครเอกห้าตัวต่างก็มีหน้าที่ที่จะต้องหาและพิทักษ์เจ้าหญิงจันทรา ผู้ทรงถูกส่งตัวมายังมนุษยโลกเพื่อให้ทรงได้รับความปลอดภัยจากสงครามที่เกิดขึ้นบนจันทรประเทศ
- ในอนิเมะเรื่อง "ลิลพรี สามสาวไอดอลป๊อป" ก็มีตัวละครหลักในเรื่องอย่าง นัทสึกิ ซาซาฮาร่า ที่มีการใช้ชีวิตที่คล้ายคลึงกับเจ้าหญิงคางูยะ และเมื่ออยู่ในดินแดนเทพนิยาย จะอยู่ในฐานะของเจ้าหญิงคางูยะอีกด้วย
- ตอนหนึ่งของ “โดราเอมอน” ห้างสรรพสินค้าของคริสต์ศตวรรษที่ 22 ส่ง “ชุดหุ่นยนต์คางูยะ” มาให้ “โดราเอมอน”
- ภาพยนตร์อนิเมะซีรีส์ “Oh! Edo Rocket” นอกจากจะมีพื้นฐานมาจากเรื่องราวของเจ้าหญิงคางูยะแล้วก็ยังใช้เนื้อเรื่องด้วยอย่างจงใจ อนิเมะแปลงมาจากบทละครเวที
- มังงะ “Mangetsu Monogatari” โดย นากามูระ ชุงิกุ ก็มีพื้นฐานมาจากเรื่องราวของเจ้าหญิงคางูยะอยู่บ้าง
- ในภาพยนตร์อนิเมะแชมเปี้ยนขนมปัง สูตรดังเขย่าโลกใช้เรื่องนี้ในปฏิกิริยาขนมปังตอนหนึ่ง
- ตอนที่ 14 ของ มุชิชิชื่อ “ในกรง” มีพื้นฐานมาจากเรื่องของเจ้าหญิงคางูยะ ในตอนนี้คู่สมรสที่ไม่มีลูกก็มีลูกขึ้นมาเมื่อได้ไม้ไผ่สีขาวมันมาเป็นเจ้าของ ลูกที่เกิดมาก็เกิดมาในกระบอกไม้ไผ่
- ใน “ซากูระ ฮิเมะ คาเดน” ซากูระตัวเอกของเรื่องก็สืบเชื้อสายมาจากเจ้าหญิงคางูยะ
- "The Tale of Princess Kaguya" โดย "สตูดิโอจิบลิ" ในปี 2014 ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของโปรดิวเซอร์ "เซอิจิโร อุจิอิเอะ" และผลงานการกำกับของ "อิซาโอะ ทาคาฮาตะ"
- ในมังงะเรื่อง "จะยังไงภรรยาของผมก็น่ารัก" ภูมิหลังของนางเอกอย่าง "ยูซากิ สึคาสะ" เป็นการเล่าต่อจากตำนานเจ้าหญิงไม้ไผ่จากดวงจันทร์ โดยเธอเป็นลูกสาวของคนตัดไผ่ เมื่อเธอป่วยและกำลังจะสิ้นใจ พ่อของเธอจึงนำยาอายุวัฒนะที่ความจริงควรจะถูกเผามาให้เธอกิน ก่อนที่เธอจะฟื้นและพบว่าตนมีความสามารถในการฟื้นฟูร่างกายอย่างรวดเร็ว เธอจึงได้รับความจริงจากพ่อ สึคาสะถูกตามล่าแต่ก็สามารถเอาตัวรอดมาได้ และได้ตะโกนเรียกหาเจ้าหญิงคางูยะให้กลับมาทำให้เธอเป็นมนุษย์ปกติ แต่ก็ไม่เป็นผล เธอจึงอยู่อย่างโดดเดี่ยวตลอด 1400 ปีจนได้พบกับ "ยูซากิ นาสะ" นาสะสัญญาว่าจะทำให้เธอเป็นมนุษย์ปกติให้ได้ ก่อนที่จะแต่งงานกัน นาสะจึงเป็นคนรักคนแรก และคนเดียวของเธอในตลอด 1400 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งคางูยะก็ได้กลับมาบนโลกอีกครั้งในฐานะลูกศิษย์ของนาสะ
หมายเหตุ
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Katagiri et al. 1994: 81.
- ↑ Katagiri et al. 1994: 95.
- ↑ 3.0 3.1 Keene, Donald (1999). Seeds in the Heart: Japanese Literature from Earliest Times to the Late Sixteenth Century. Columbia University Press. pp. 434–441. ISBN 978-0-231-11441-7.
- ↑ Richardson, Matthew (2001). The Halstead Treasury of Ancient Science Fiction. Rushcutters Bay, New South Wales: Halstead Press. ISBN 978-1-875684-64-9. (cf. "Once Upon a Time". Emerald City (85). September 2002. สืบค้นเมื่อ 2008-09-17.)
- ↑ "The Tale of the Princess Kaguya". The Source Weekly. Bend, Oregon. 2014. สืบค้นเมื่อ 11 May 2020.
- ↑ McCullough, Helen Craig (1990). Classical Japanese Prose. Stanford University Press. pp. 30, 570. ISBN 0-8047-1960-8.
- ↑ Horiuchi (1997:345-346)
- ↑ Satake (2003:14-18)
- ↑ Yamada (1963:301-303)
- ↑
田海燕 (ed.) (1957). 金玉凤凰 (ภาษาจีน). Shanghai: 少年儿童出版社.
{{cite book}}
:|author=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ 百田弥栄子 (1971). "竹取物語の成立に関する一考察". アジア・アフリカ語学院紀要 (ภาษาญี่ปุ่น). 3.
- ↑ 伊藤清司 (1973). かぐや姫の誕生―古代説話の起源 (ภาษาญี่ปุ่น). 講談社.
- ↑ 13.0 13.1 奥津 春雄 (2000). 竹取物語の研究 (ภาษาญี่ปุ่น). 翰林書房. ISBN 4-87737-097-8.
- ↑ テンジン・タシ (ed.); 梶濱 亮俊 (trans.) (2001). 東チベットの民話 (ภาษาญี่ปุ่น). SKK.
{{cite book}}
:|author1=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ 15.0 15.1 繁原 央 (2004). 日中説話の比較研究 (ภาษาญี่ปุ่น). 汲古書院. ISBN 4-7629-3521-2.
- ↑ [1]
บรรณานุกรม
แก้- Donald Keene (translator), The Tale of the Bamboo Cutter, ISBN 4-7700-2329-4
- Japan at a Glance Updated, ISBN 4-7700-2841-5, pages 164—165 (brief abstract)
- Fumiko Enchi, "Kaguya-hime", ISBN 4-265-03282-6 (in Japanese hiragana)
- Horiuchi, Hideaki; Akiyama Ken (1997). Shin Nihon Koten Bungaku Taikei 17: Taketori Monogatari, Ise Monogatari (ภาษาญี่ปุ่น). Tōkyō: Iwanami Shoten. ISBN 4-00-240017-4.
- Satake, Akihiro; Yamada Hideo; Kudō Rikio; Ōtani Masao; Yamazaki Yoshiyuki (2003). Shin Nihon Koten Bungaku Taikei 4: Man'yōshū (ภาษาญี่ปุ่น). Tōkyō: Iwanami Shoten. ISBN 4-00-240004-2.
- Taketori monogatari, Japanese Text Initiative, Electronic Text Center, University of Virginia Library
- Yamada, Yoshio; Yamda Tadao; Yamda Hideo; Yamada Toshio (1963). Nihon Koten Bungaku Taikei 26: Konjaku Monogatari 5 (ภาษาญี่ปุ่น). Tōkyō: Iwanami Shoten. ISBN 4-00-060026-5.