โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ

โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ (ญี่ปุ่น: 豊臣 秀吉โรมาจิToyotomi Hideyoshi; 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1537 – 18 กันยายน ค.ศ. 1598) เป็นชาวญี่ปุ่นที่เป็นทั้งซามูไรและไดเมียว(เจ้านายศักดินา) ในช่วงปลายยุคเซ็งโงกุซึ่งถือว่าเป็น "ผู้รวบรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด" คนที่สองของญี่ปุ่น

โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ
豊臣秀吉
ภาพวาดของโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ, ค.ศ. 1601
คัมปะกุ
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 1585 – ค.ศ. 1591
กษัตริย์โองิมาจิ
โกะ-โยเซ
ก่อนหน้านิโจ อากิซาเนะ
ถัดไปโทโยโตมิ ฮิเดสึงุ
ไดโจไดจิง
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 1587 – ค.ศ. 1598
กษัตริย์โกะ-โยเซ
ก่อนหน้าโคโนเอะ ซากิฮิซะ
ถัดไปโทกูงาวะ อิเอยาซุ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1536(1536-02-02)
หรือ 26 มีนาคม ค.ศ. 1537
นากามูระ-คุ นาโงยะ แคว้นโอวาริ
เสียชีวิต18 กันยายน ค.ศ. 1598(1598-09-18) (61 ปี)
ปราสาทฟุชิมิ เกียวโต
คู่สมรสเนเนะ
โยะโดะ โดะโนะ
บุตรโทโยโตมิ ฮิเดโยริ

ฮิเดโยชิได้ลุกขึ้นมาจากภูมิหลังครอบครัวชาวนาในฐานะผู้ติดตามรับใช้ของโอดะ โนบูนางะที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เพื่อเป็นหนึ่งในผู้ชายที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในญี่ปุ่น ฮิเดโยชิได้สืบทอดอำนาจต่อจากโนบูนางะภายหลังจากเหตุการณ์วัดฮนโนจิในปี ค.ศ. 1582 และสานต่อการทัพของโนบูนางะต่อไปเพื่อรวบรวมแผ่นดินญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งจนนำไปสู่การปิดฉากยุคสมัยเซ็งโงกุ ฮิเดโยชิได้กลายเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของญี่ปุ่นและได้รับตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีแห่งอาณาจักรอันทรงเกียรติและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปลายปี ค.ศ. 1590 ฮิเดโยชิได้เปิดฉากการบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1592 เพื่อความสำเร็จในขั้นแรก แต่ในท้ายที่สุด หนทางตันทางการทหารได้ทำลายศักดิ์ศรีของเขาก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1598 ลูกชายคนเล็กของฮิเดโยชิและผู้สืบทอดอำนาจของโทโยโตมิ ฮิเดโยชิได้ถูกปลดโดยโทกูงาวะ อิเอยาซุที่ยุทธการที่เซกิงาฮาระในปี ค.ศ. 1600 ซึ่งจะนำไปสู่การก่อตั้งรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ

การปกครองของฮิเดโยชิได้ครอบคลุมยุคสมัยอาซูจิ–โมโมยามะของญี่ปุ่น โดยบางส่วนถูกตั้งชื่อตามปราสาทของเขาคือ ปราสาทโมโมยามะ ฮิเดโยชิได้ทอดทิ้งมรดกที่ทรงอิทธิพลและยั่งยืนในญี่ปุ่น รวมทั้งปราสาทโอซากะ ระดับชนชั้นทางสังคมโทกูงาวะ ข้อจำกัดในการครอบครองอาวุธของซามูไร และการก่อสร้างและบูรณะวัดหลายแห่งซึ่งบางส่วนยังมองเห็นได้ในเกียวโต

ปฐมวัย

แก้

โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ เกิดเมื่อ ค.ศ. 1537 ในแคว้นโอวาริ (尾張) ในบริเวณในเขตนากามูระ เมืองนาโงยะในปัจจุบัน มีชื่อว่า ฮิโยะชิมะรุ (日吉丸) บิดาชื่อว่า คิโนชิตะ ยะเอะมง (木下弥右衛門) เป็นอะชิงะรุ หรือชาวนาทหาร มารดาชื่อว่า นากะ (Naka) มีพี่สาวคนหนึ่งชื่อว่า โตะโมะ (Tomo) ใน ค.ศ. 1543 ยะเอะมงผู้เป็นบิดาได้เสียชีวิตลง มารดาชื่อนางนะกะได้แต่งงานใหม่กับนายชิกุอะมิ (竹阿弥) ฮิโยะชิมะรุมีความสัมพันธ์ไม่สู้ดีนักกับบิดาเลี้ยงของตน จึงได้หนีออกจากบ้านไปผจญภัยเสี่ยงโชค โดยใช้ชื่อว่า คิโนชิตะ โทกิชิโร (木下藤吉郎) ได้เป็นข้ารับใช้ของ มัตสึชิตะ ยุกิสึนะ (松下之綱) ผู้ซึ่งเป็นซะมุไรที่รับใช้อยู่กับตระกูลอิมะงะวะ (今川) อีกทอดหนึ่ง ฝ่ายมารดาคือนางนะกะ มีบุตรกับสามีใหม่สองคน คือ นางซะโตะ (Sato) หรือต่อมาคือ นางอะซะฮี (朝日姫) และโคตาเกะ (Kōtake) หรือต่อมาคือโทโยโตมิ ฮิเดนางะ (豊臣秀長)

สมัยของโอดะ โนบูนางะ

แก้
 
โทกิชิโร ปีนเขาอินาบะ

โทกิชิโรเดินทางกลับมายังแคว้นโอวาริบ้านเกิดใน ค.ศ. 1557 และเข้ารับใช้ตระกูลโอดะ ซึ่งในขณะนั้นมีผู้นำคือโอดะ โนบูนางะ โดยมีหน้าที่เป็นผู้ดูแลรองเท้าของโนบูนางะ ในค.ศ. 1561 โทกิชิโรได้แต่งงานกับนางเนเนะ (寧々) บุตรสาวบุญธรรมของอาซาโนะ นางากัตสึ (浅野長勝) การรับใช้ตระกูลโอดะทำให้โทกิชิโรได้รู้จักกับมาเอดะ โทชิอิเอะ (前田利家) อันจะเป็นพันธมิตรคนสำคัญที่สุดของฮิเดโยชิในอนาคต ต่อมาโทกิชิโรจึงได้สร้างผลงานชิ้นแรกใน ค.ศ. 1567 คือการเข้ายึดปราสาทกิฟุบนยอดเขาอินาบะ จังหวัดกิฟุในปัจจุบัน โดยโทกิชิโรเป็นผู้ค้นพบเส้นทางลัดขึ้นสู้ยอดเขา ทำให้ทัพของโอดะ โนบูนางะ สามารถเข้ายึดปราสาทได้ และใน ค.ศ. 1568 ได้ติดตามทัพของโอดะ โนบูนางะ ในการเข้ายึดเมืองเกียวโต ในเวลาต่อมาภายหลัง โทกิจิโรได้เปลี่ยนชื่อและนามสกุลใหม่เป็น ฮาชิบะ ฮิเดโยชิ (羽柴秀吉) โดยชื่อสกุลใหม่นำมาจากขุนพลเอกของโนบูนางะสองคน ได้แก่ นิวะ นางาฮิเด (丹羽長秀) และชิบาตะ คัตสึอิเอะ (柴田勝家) ฮิเดโยชิได้รับฉายาว่า "ลิง" จากโอดะ โนบูนางะ ด้วยหน้าตาของฮิเดโยชิที่คล้ายกับลิง

ฮิเดโยชิได้เป็นขุนพลทหารครั้งแรกในยุทธการอาเนงาวะ (姉川の戦い) ซึ่งโอดะ โนบูนางะ ได้เอาชนะอาซากูระ โยชิกาเงะ (朝倉義景) และอาซาอิ นะงะมะสะ (浅井長政) ใน ค.ศ. 1570 หลังจากศึกอาเนงาวะแล้ว ฮิเดโยชิจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นไดเมียว โดยปกครองดินแดนในแคว้นโอมิ (近江) อันเป็นดินแดนแต่เดิมของตระกูลอาซาอิ และได้รับใช้โอดะ โนบูนางะ ในศึกสงครามอีกหลายครั้ง

จนกระทั่งใน ค.ศ. 1576 โอดะ โนบูนางะได้มอบหมายให้ฮาชิบะ ฮิเดโยชิ ร่วมกับอาเกจิ มิตสึฮิเดะ (明智光秀) ยกทัพไปทางตะวันตกสู่ภูมิภาคชูโงะกุ ซึ่งตระกูลโมริ นำโดยโมริ เทรูโมโตะ (毛利輝元) กำลังเรืองอำนาจอยู่ทางฝั่งตะวันตก ฮิเดโยชิได้พบกับ คุโรดะ โยชิตากะ ซึ่งต่อมาคือ คุโระดะ คัมเบ (黒田官兵衛) อันจะเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของฮิเดโยชิในอนาคต ฮิเดโยะค่อยๆ พิชิตดินแดนที่ละแคว้น ใช้เวลาร่วมหกปีจนกระทั่งในค.ศ. 1582 ฮิเดโยะได้เข้าล้อมปราสาททะกะมะสึ (高松) ของตระกูลโมริ ในเวลาเดียวกันนั้นเอง ฮิเดโยชิได้ทราบข่าวว่า โอดะ โนบูนางะ ได้ถูกอาเกจิ มิตสึฮิเดะ ลอบสังหารที่วัดฮนโน (本能寺) ใกล้กับเมืองเกียวโต

การขึ้นสู่อำนาจ

แก้

เมื่อทราบข่าวการลอบสังหารโอดะ โนบูนางะแล้ว ฮิเดโยชิจึงรีบเจรจาสงบศึกกับตระกูลโมริ และยกทัพมาจากภูมิภาคชูโงะกุอย่างรวดเร็วมาสู่เมืองเกียวโตโดยใช้เวลาเพียงสองสัปดาห์ เพื่อแก้แค้นให้แก่นายของตน โดยสามารถเอาชนะอาเกจิ มิตสึฮิเดะได้ในยุทธการยามาซากิ (山崎の戦い) มิตสึฮิเดะเสียชีวิตในที่รบ

ในฐานะผู้ที่สามารถแก้แค้นให้แก่โอดะ โนบูนางะได้สำเร็จ ทำให้ฮิเดโยชิได้รับการยกย่องและขึ้นมามีอำนาจในตระกูลโอดะ เมื่อโนบูนางะถูกลอบสังหารไปแล้ว โอดะ โนบูกัตสึ (織田信雄) บุตรชายคนที่สองของโนบูนางะ และโอดะ โนบูตากะ (織田信孝) บุตรชายคนที่สาม ได้แข่งขันกันเพื่อที่จะเป็นผู้สืบทอดตระกูลโอดะ ฮิเดโยชิจึงจัดการประชุมที่ปราสาทคิโยะสุ (清洲) ในแคว้นโอวาริ เพื่อตกลงหาผู้สืบทอดตระกูลโอดะ ด้วยความเห็นชอบจากขุนพลอาวุโสเช่น นิวะ นางาฮิเดะ ฮิเดโยชิจึงประกาศว่าให้ซัมโปชิ (三法師) หรือต่อมาคือ โอดะ ฮิเดโนบุ (織田秀信) บุตรชายของโอดะ โนบูตาดะ หลานชายของโนบูนางะซึ่งมีอายุเพียงสองขวบ เป็นผู้สืบทอดตระกูลโอดะต่อมา การตัดสินใจในครั้งนี้ เป็นที่ต่อต้านอย่างมากจากขุนพลคนอื่นๆ ของตระกูลโอดะ โดยเฉพาะชิบาตะ คัตสึอิเอะ ผู้ซึ่งเห็นว่าการที่ฮิเดโยชิให้เด็กสองขวบขึ้นมาปกครองตระกูลโอดะนั้น ก็เพื่อที่จะเป็นหุ่นเชิดแก่ตนในการเข้ายึดอำนาจในตระกูลโอดะ

ขุนพลตระกูลโอดะเริ่มที่จะแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่สนับสนุนฮิเดโยชิ และฝ่ายที่ต่อต้านฮิเดโยชิ นำโดยชิบาตะ คัตสึอิเอะ ใน ค.ศ. 1583 ฮิเดโยชิจึงต้องทำสงครามกับชิบาตะ คัตสึอิเอะ โดยนำกำลังเข้าบุกแคว้นเอะจิเซ็ง (越前) ซึ่งคัตสึอิเอะปกครองอยู่ จังหวัดฟุกุอิในปัจจุบัน และเอาชนะคัตสึอิเอะในยุทธการชิซุงะตะเกะ (賤ヶ岳の戦い) และเข้ายึดปราสาทคิตะโนะโช (北圧城) อันเป็นฐานที่มั่นของคัตสึอิเอะได้สำเร็จ คัตสึอิเอะจึงทำเซ็ปปุกุเสียชีวิตไปพร้อมกับนางอิจิภรรยา (น้องสาวของโอดะ โนบูนางะ) ฮิเดโยชิจึงรับเอาบุตรสาวทั้งสามของนางอิจิมาเป็นบุตรบุญธรรม

เมื่อกำจัดชิบาตะ คัตสึอิเอะ ออกไปได้สำเร็จแล้ว ปรากฏว่าโอดะ โนะบุคัตสึ ได้ร้องขอให้โทกูงาวะ อิเอยาซุ ไดเมียวแห่งแคว้นมิกาวะ ช่วยเหลือให้ตนได้ขึ้นครองตระกูลโอดะ ฮาชิบะ ฮิเดโยชิ และ โทกูงาวะ อิเอยาซุ สองผู้ปกครองญี่ปุ่นในอนาคต จึงต้องทำสงครามกัน ในยุทธการที่โคะมะกิและนะงะกุเตะ (小牧・長久手の戦い) ในค.ศ. 1584 ปรากฏว่าไม่สามารถเอาชนะกันได้ จนต้องเจรจาสงบศึก โดยฮิเดโยชิได้ส่งน้องสาวต่างมารดาของตน คือนางอะซะฮี ไปเป็นภรรยาเอกของอิเอยาซุ และส่งมารดาของตนคือนางนะกะ ไปเป็นตัวประกันที่แคว้นมิกาวะ

การรวบรวมญี่ปุ่น

แก้
 
ปราสาทโอซากะ

ในค.ศ. 1583 ฮิเดโยชิได้สร้างปราสาทโอซากะให้เป็นที่พำนักของตน ให้ยิ่งใหญ่กว่าปราสาทอะซุจิอันเป็นที่พำนักของโอดะ โนบูนางะ

ฮิเดโยชิมีความทะเยอทะยานอยากที่จะเป็นผู้ปกครองญี่ปุ่นทั้งหมด และต้องการตำแหน่งโชกุน ฮิเดโยชิจึงสร้างสัมพันธ์อันดีกับราชสำนักเกียวโต แต่ฮิเดโยชิไม่สามารถรับตำแหน่งโชกุนได้เนื่องจากไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลมินาโมโตะ ใน ค.ศ. 1585 ฮาชิบะ ฮิเดโยชิ ร่วมกับฮาชิบะ ฮิเดนางะ น้องชาย และไดเมียวจากภูมิภาคชูโงะกุอีกสองคนคือ อุกิตะ ฮิเดอิเอะ (宇喜多秀家) และโคบายากาวะ ทากากาเงะ (小早川隆景) เข้ารุกรานเกาะชิโกกุ ซึ่งในขณะนั้นปกครองโดยโจโซะคะเบะ โมะโตะจิกะ (長宗我部 元親) โดยที่ตระกูลโจโซะคะเบะก็ได้ยอมจำนนแต่โดยดี

 
โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ในชุดคัมปะกุ

ใน ค.ศ. 1586 ฮาชิบะ ฮิเดโยชิ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "คัมปะกุ" (関白) หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระจักรพรรดิ รวมทั้งได้รับพระราชทานนามสกุลใหม่จากพระจักรพรรดิว่า โทโยโตมิ และในปีเดียวกันนั้นเอง คัมปะกุฮิเดโยชิได้สร้างคฤหาสน์จูระกุได (聚楽第) ไว้เป็นที่พำนักของตนในเมืองเกียวโตและเป็นที่รับรององค์พระจักรพรรดิ

การรุกรานคีวชู

แก้

ฝ่ายทางเกาะคีวชูนั้น ตระกูลชิมะซุแห่งแคว้นซะสึมะทางตอนใต้ของเกาะคีวชู นำโดย ชิมะซุ โยะชิฮิสะ (島津義久) ได้เข้ารุกรานและมีชัยชนะเหนือตระกูลโอโตะโมะ (大友) ทางตอนเหนือของเกาะคีวชู ใน ค.ศ. 1585 ตระกูลโอโตะโมะจึงได้ขอความช่วยเหลือไปยังฮิเดโยชิ ฮิเดโยชิได้ออกคำสั่งในฐานะคัมปะกุว่า ให้ตระกูลชิมะซุหยุดการขยายอาณาเขต แต่ชิมะซุ โยะชิฮิสะ ไม่เชื่อฟัง ใน ค.ศ. 1586 คัมปะกุฮิเดโยชิจึงนำทัพขนาดมหึมาพร้อมกับฮิเดนางะน้องชายของตน เข้ารุกรานเกาะคีวชู (九州の役) เพื่อปราบปรามตระกูลชิมะซุ ผลคือความพ่ายแพ้ของตระกูลชิมะซุ โดยชิมะซุ โยะชิฮิสะยอมโกนศีรษะบวชเป็นพระภิกษุเพื่อแสดงความพ่ายแพ้และรักษาแคว้นซะสึมะไว้

เมื่อคัมปะกุฮิเดโยชิเดินทางมาถึงเกาะคีวชู ก็พบว่าดินแดนแห่งนี้เต็มไปด้วยชาวคริสเตียนและมิชชันนารีชาวโปรตุเกส ที่ได้เข้ามายังญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยเซงโงะกุ ใน ค.ศ. 1587 คัมปะกุฮิเดโยชิจึงได้ออกประกาศขับไล่ชาวคริสเตียนและมิชชันนารีออกจากญี่ปุ่น (バテレン追放令) นับว่าเป็นผู้นำญี่ปุ่นคนแรกที่ออกนโยบายกดขี่ชาวคริสเตียน แต่ประกาศในครั้งนี้ยังไม่เป็นที่ใส่ใจมากนัก และใน ค.ศ. 1588 ได้ออกกฎหมายริบอาวุธ (刀狩) เพื่อริบอาวุธคือจากชาวนาและอะชิงะรุหรือชาวนานักรบทั้งหลาย เพื่อป้องกันการลุกฮือหรือการเลี่อนชั้นจากชาวนามาเป็นซะมุไร อย่างเช่นตัวฮิเดโยชิเองได้กระทำ และกำหนดว่าชนชั้นซะมุไรเท่านั้นที่มีสิทธิถือครองอาวุธได้ กฎหมายนี้ยังคงมีผลต่อไปในสมัยเอโดะ

สงครามกับตระกูลโฮโจ

แก้

เมื่อขยายอำนาจไปจนสุดทางตะวันตกของญี่ปุ่นแล้ว ก็เหลือไดเมียวที่ทรงอำนาจเพียงตระกูลเดียวหลงเหลืออยู่ นั่นคือตระกูลโฮโจในภูมิภาคคันโตทางตะวันออก แต่ทว่าตระกูลโฮโจนั้น เป็นพันธมิตรกับโทกูงาวะ อิเอยาซุ แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่คัมปะกุฮิเดโยชิก็ยังคงยืนกรานที่จะขอความช่วยเหลือจากอิเอยาซุในการปราบปรามตระกูลโฮโจ ใน ค.ศ. 1590 คัมปะกุฮิเดโยชิได้ส่งทัพไปทางตะวันออกนำโดยอิเอยาซุเข้าปราบปรามตระกูลโฮโจ ท่ามกลางความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน อิเอยาซุได้นำทัพเข้าล้อมปราสาทโอดะวะระ (小田原征伐) และสามารถหักตีเอาปราสาทได้ในที่สุด โฮโจ อุจิมะสะ (北条氏政) ผู้นำตระกูลโฮโจ ทำเซ็ปปุกุเสียชีวิตไป คัมปะกุฮิเดโยชิได้ตอบแทนโทกูงาวะ อิเอยาซุ โดยการยึดแคว้นมิกาวะ อันเป็นแคว้นของตระกูลโทกูงาวะแต่เดิมคืนมา แล้วให้ไปปกครองภูมิภาคคันโตอันเป็นดินแดนที่เคยเป็นของตระกูลโฮโจ เพื่อเป็นการขับไล่อิเอยาซุอันเป็นคู่แข่งคนสำคัญของฮิเดโยชิไปอยู่ทางตะวันออกอันห่างไกล อิเอยาซุจึงย้ายฐานที่มั่นไปยังปราสาทเอโดะ (เมืองโตเกียวในปัจจุบัน)

ชัยชนะเหนือตระกูลโฮโจทำให้ตระกูลโทโยโตมิปราศจากผู้ท้าทายอำนาจอีกต่อไป เมื่อดาเตะ มาซามูเนะ ไดเมียวแห่งภูมิภาคโทโฮกุทางตะวันออกเฉียงเหนือสุดของเกาะฮอนชูเข้าสวามิภักดิ์ต่อฮิเดโยชิ จึงเท่ากับว่าการรวบรวมอาณาจักรญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียวตั้งแต่สมัยของโอดะ โนบูนางะนั้น เป็นอันเสร็จสมบูรณ์

อีกทั้งยังได้ขุนพลนาริตะ นากาจิกะ และ คาอิฮิเมะ เข้ามาเป็นพวก

การรุกรานเกาหลี

แก้
 
ลายมือชื่อ (Kaō) ของฮิเดโยชิ
 
คาโต คิโยะมะสะ ล่าเสือในเกาหลี

ใน ค.ศ. 1589 นางโยะโดะ โดะโนะ (淀殿) ภรรยาน้อยคนโปรดของท่านคัมปะกุ (บุตรสาวของอาซาอิ นะงะมะสะ กับนางอิจิ และเป็นหลานสาวของโอดะ โนบูนางะ ซึ่งฮิเดโยชิได้รับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมในค.ศ. 1583) ได้ให้กำเนิดบุตรชายแก่ฮิเดโยชิชื่อว่า สึรุมะสึ (鶴松) แต่ทว่าสึรุมะสึได้เสียชีวิตลงใน ค.ศ. 1591 ด้วยอายุเพียงสามปี ฝ่ายคัมปะกุฮิเดโยชิอายุมากแล้วและยังไม่มีทายาท จึงได้รับโทโยโตมิ ฮิเดซึงุ (豊臣秀次) ผู้เป็นหลานชาย (บุตรชายของนางโตะโมะ พี่สาวของฮิเดโยชิ) เป็นบุตรบุญธรรมและแต่งตั้งให้เป็นทายาทสืบทอดตระกูลโทโยโตมิต่อไป รวมทั้งน้องชายคือ โทโยโตมิ ฮิเดนางะ ก็ได้เสียชีวิตลงใน ค.ศ. 1591 เช่นกัน ทำให้ฮิเดโยชิเศร้าโศกเป็นอย่างมาก จึงตัดสินใจสละตำแหน่งคัมปะกุให้แก่ฮิเดซึงุผู้ป็นหลานชาย ส่วนตนเองนั้นดำรงตำแหน่งเป็นไทโค (太閤) หรือผู้สำเร็จราชการที่สละตำแหน่งแล้ว

เมื่อรวบรวมญี่ปุ่นได้แล้ว ไทโคฮิเดโยชิก็มีความทะเยอทะยานอยากที่จะพิชิตจีนราชวงศ์หมิง จึงได้ส่งทูตไปยังราชสำนักเกาหลีราชวงศ์โชซอนเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ไทโคฮิเดโยชิจึงตัดสินใจที่จะเข้ารุกรานเกาหลีเพื่อเป็นทางผ่านในการเข้ารุกรานจีนต่อไป ไทโคจึงได้ระดมขุนพลที่เก่งกล้าสามารถของตนทั้งหมดไปรุกรานเกาหลีใน ค.ศ. 1592 เรียกว่า การรุกรานปีบุงระกุ (文禄の役) ประกอบด้วย อุกิตะ ฮิเดอิเอะ เป็นแม่ทัพใหญ่ และขุนพลคนอื่นๆ ได้แก่ โคะนิชิ ยุกินะงะ (小西行長), คะโต คิโยะมะซะ (加藤清正), คุโระดะ นะงะมะสะ (黒田長政 บุตรชายของคุโระดะ คัมเบ), ชิมะซุ โยะชิฮิโระ (島津義弘 น้องชายของชิมะซุ โยะชิฮิสะ), ฟุกุชิมะ มะซะโนะริ (福島正則), โคบายากาวะ ทากากาเงะ, และโมริ เทรูโมโตะ โดยที่ท่านไทโคคอยบัญชาการอยู่ที่เมืองฟุกุโอกะบนเกาะคีวชู โคะนิชิ ยุกินะงะ ได้นำทัพแรกขึ้นฝั่งที่เมืองปูซาน และสามารถนำทัพเข้ายึดเมืองฮันซอง (โซลในปัจจุบัน) โดยใช้เวลาเพียงสองสัปดาห์เท่านั้น พระเจ้าซอนโจกษัตริย์เกาหลีได้เสด็จหนีไปอยู่เมืองเปียงยาง ทัพญี่ปุ่นจึงติดตามไปเข้าบุกยึดเมืองเปียงยาง จนกษัตริย์เกาหลีต้องเสด็จหนีไปเมืองปักกิ่งเพื่อทูลขอความช่วยเหลือจากจักรพรรดิว่านลี่ จักรพรรดิว่านลี่จึงทรงส่งแม่ทัพจีนชื่อว่า หลี่หรู้ซ้ง (Li Ruzong) นำทัพจีนเข้ามาขับไล่ทัพญี่ปุ่นกลับไป ฝ่ายทัพญี่ปุ่นซึ่งอ่อนกำลังลงและไม่สามารถต้านทานทัพจีนได้ จึงต้องเจรจาสงบศึกในที่สุดใน ค.ศ. 1593

ใน ค.ศ. 1593 นางโยโดได้ให้กำเนิดบุตรชายอีกคนให้แก่ท่านไทโค มีชื่อว่า ฮิโระอิมะรุ (拾丸) ทำให้ไทโคฮิเดโยชิเกิดความต้องการที่จะให้บุตรชายของตนเป็นผู้สืบทอดแทนที่ฮิเดสึงุหลานชายที่ได้แต่งตั้งไปแล้ว จึงได้มีคำสั่งให้ปลดคัมปะกุฮิเดสึงุออกจากตำแหน่งทายาทและเนรเทศไปยังเขาโคยะ (高野) สองปีต่อมาใน ค.ศ. 1595 ฮิเดโยชิจึงมีคำสั่งให้ฮิเดสึงุทำเซ็ปปุกุเสียชีวิตไป และนำตัวภรรยาเอกภรรยาน้อยและบุตรทั้งหมดของฮิเดสึงุร่วมหลายสิบชีวิตมาประหารชีวิตในเมืองเกียวโต

ในขณะที่ไทโคฮิเดโยชิพำนักอยู่บนเกาะคีวชูนั้น ได้สังเกตว่าชาวคริสเตียนและมิชชันนารียังคงดำเนินกิจกรรมของตนต่อไปตามปกติ แม้จะมีประกาศขับไล่ออกไปใน ค.ศ. 1587 แล้วก็ตาม ใน ค.ศ. 1597 ไทโคฮิเดโยชิจึงมีคำสั่งให้นำตัวชาวญี่ปุ่นที่เป็นคริสเตียนและมิชชันนารีชาวโปรตุเกสที่เมืองนะงะซะกิรวมทั้งหมดจำนวนยี่สิบหกคน มาประหารชีวิตด้วยการตรึงกางเขน เรียกว่า เหตุการณ์ยี่สิบหกมรณสักขี (日本二十六聖人) นับว่าเป็นการสังหารชาวคริสเตียนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ไทโคฮิเดโยชิได้ยื่นข้อเสนอต้องการที่จะนำพระธิดาของพระจักรพรรดิจีนมาเป็นภรรยา ทำให้ไม่เป็นที่พอใจของราชสำนักจีน แต่ราชสำนักจีนก็ได้แต่งตั้งให้ไทโคฮิเดโยชิเป็น "กษัตริย์แห่งญี่ปุ่น" (日本国王) เข้าสู่ระบบบรรณาการของจีน แต่ไทโคฮิเดโยชิไม่ต้องการที่จะส่งบรรณาการให้แก่ราชวงศ์หมิง และเท่ากับเป็นการละเลยองค์พระจักรพรรดิที่เกียวโตด้วย (ซึ่งจีนและเกาหลีไม่ทราบว่ามี) การเจรจาจึงไม่ประสบความสำเร็จและไทโคฮิเดโยชิได้ส่งทัพเข้ารุกรานเกาหลีอีกครั้งใน ค.ศ. 1597 เรียกว่า การรุกรานปีเคโจ (慶長の役) แต่ทว่าทางฝ่ายจีนและเกาหลีนั้นได้เตรียมการรับมือไว้เป็นอย่างดี ทำให้ทัพญี่ปุ่นไม่ประสบความสำเร็จเหมือนการรุกรานปีบุงระกุ อีกทั้งยังพ่ายแพ้ที่ยุทธนาวีโนรยาง (Battle of Noryang) ด้วยการนำของขุนพลลีซุนชิน (Yi Sunsin) ในค.ศ. 1598

สิ้นสุดการปกครอง

แก้

ไทโคฮิเดโยชิหลังจากที่ได้จัดงานดอกซะกุระบานที่วัดไดโง (醍醐の花見) ในเมืองเกียวโตใน ค.ศ. 1598 ได้ล้มป่วยลงในฤดูร้อนปีนั้น ในขณะที่สงครามในเกาหลียังไม่คลี่คลาย ท่านไทโคแม้ว่าจะมีผู้สืบทอดแล้ว คือฮิโระอิมะรุ หรือ โทโยโตมิ ฮิเดโยริ (豊臣秀頼) ซึ่งอายุเพียงห้าปี ไทโคฮิเดโยชิเกรงว่าหากว่าตนเสียชีวิตไปโดยที่บุตรชายอายุยังน้อยอาจถูกไดเมียวผู้ทรงอำนาจคนอื่นแย่งชิงอำนาจไป จึงได้ก่อตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนขึ้น ได้แก่ โงะไทโร (五大老) หรือผู้อาวุโสทั้งห้า ประกอบด้วยไดเมียวผู้ทรงอำนาจที่สุดในเวลานั้นจำนวนห้าท่าน ได้แก่

และยังมีคณะผู้บริหารที่ทำหน้าที่บริหารงานหลังจากที่ท่านไทโคถึงแก่อสัญกรรม จำนวนห้าคน เรียกว่า โงะบุเกียว (五奉行) ประกอบด้วย

  • อิชิดะ มิตสึนะริ (石田三成)
  • อะสะโนะ นะงะมะสะ (浅野長政)
  • มะชิตะ นะงะโนะริ (増田長盛)
  • นะงะสึกะ มะซะอิเอะ (長束正家)
  • มาเอดะ เง็นอิ (前田玄以)

ไทโคฮิเดโยชิ ได้ถึงแก่อสัญกรรมลงในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1598 ที่ปราสาทฟุชิมิ (伏見) หรือปราสาทโมะโมะยะมะ (桃山) ในเมืองเกียวโต ด้วยอายุ 61 ปี ได้มีคำสั่งสุดท้ายให้ถอนทัพญี่ปุ่นทั้งหมดกลับคืนมาจากเกาหลี และให้ปิดบังการถึงแก่อสัญกรรมของท่านไทโคไม่ให้เหล่าทหารได้ทราบด้วยเกรงว่าจะเสียกำลังใจ ในปีต่อมาใน ค.ศ. 1599 จึงได้มีการประกาศการถึงแก่อสัญกรรมของไทโคฮิเดโยชิอย่างเป็นทางการ

โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ นับเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น มีกำเนิดจากชนชั้นชาวนา แต่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นซะมุไรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง บรรลุภารกิจการรวบรวมประเทศญี่ปุ่นที่แตกออกเป็นแคว้นต่างๆ ในยุคเซงโงะกุได้สำเร็จ สืบสานเจตนารมณ์ของโอดะ โนบูนางะ

แต่ทว่าการปกครองของตระกูลโทโยโตมิหลังจากการอสัญกรรมของฮิเดโยชิแล้วนั้นอยู่ได้เพียงไม่นาน ใน ค.ศ. 1599 มาเอดะ โทชิอิเอะ ไทโรผู้อาวุโสที่สุดได้ถึงแก่อสัญกรรมลง ทำให้โทกูงาวะ อิเอยาซุกลายเป็นไดเมียวผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในญี่ปุ่น แต่ก็ยังเป็นที่ต่อต้านของผู้ที่จงรักภักดีต่อตระกูลโทโยโตมิ อันประกอบด้วยอิชิดะ มิตสึนะริ (石田三成) คนรับใช้คนสนิทของฮิเดโยชิ และไทโรอีกสามคนที่เหลือ จนกระทั่งนำไปสู่ยุทธการเซะกิงะฮะระ (関ヶ原の戦い) ซึ่งเป็นความพ่ายแพ้ของอิชิดะ มิตสึนะริผู้ซึ่งถูกประหารชีวิตไป ชัยชนะของอิเอยาซุทำให้เขาได้อำนาจเป็นผู้ปกครองญี่ปุ่นโดยแท้จริงอย่างเบ็ดเสร็จ และได้รับการแต่งตั้งเป็นโชกุนใน ค.ศ. 1603 อันเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐบาลเอโดะ

ฝ่ายโทโยโตมิ ฮิเดโยริ ยังคงมีชีวิตเติบใหญ่อยู่ในปราสาทโอซากะ ภายใต้การดูแลของนางโยโดผู้เป็นมารดา ได้ถูกโชกุนอิเอยาซุลดฐานะลงเป็นเพียงไดเมียวธรรมดา ใน ค.ศ. 1614 ฮิเดโยริได้สมคบคิดกับมารดาของตน ซ่องสุมกำลังพลเตรียมก่อการกบฏเพื่อคืนอำนาจให้แก่ตระกูลโทโยโตมิ ทำให้อิเอยาซุตัดสินใจที่จะกำจัดตระกูลโทโยโตมิให้สิ้นซาก นำไปสู่การล้อมปราสาทโอซากะ (大坂の陣) ในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวใน ค.ศ. 1615 เมื่อทัพของฝ่ายโทโยโตมิพ่ายแพ้และทัพโทกูงาวะสามารถเข้ายึดปราสาทได้ ฮิเดโยริจึงกระทำเซ็ปปุกุเสียชีวิตไปพร้อมกับมารดา เป็นการอวสานของตระกูลโทโยโตมิ

ครอบครัว

แก้
  • บิดา: คิโนชิตะ ยะเอะมง (木下弥右衛門 ? - ค.ศ. 1543)
  • มารดา: นางนะกะ (Naka) ค.ศ. 1513 - 1592 ต่อมาดำรงตำแหน่งเป็น โอมันโดโกโระ (大政所)
  • บิดาเลี้ยง: นายชิกุอะมิ (Chikuami)
  • พี่น้อง
    • นางโทะโมะ (Tomo) หรือนิชโช-นิ (日秀尼) ค.ศ. 1534 - 1625 พี่สาวบิดาเดียวกัน สมรสกับมิโยะชิ โยะชิฟุสะ (三好吉房)
      • โทโยโตมิ ฮิเดสึงุ (豊臣秀次 ค.ศ. 1568 - 1595) คัมปะกุ
      • โทโยโตมิ ฮิเดกัตสึ (豊臣秀勝 ค.ศ. 1569 - 1592)
      • โทโยโตมิ ฮิเดยาซุ (豊臣秀保 ค.ศ. 1579 - 1595)
    • โทโยโตมิ ฮิเดนางะ (豊臣秀長 ค.ศ. 1540 - 1591) น้องชายต่างบิดา
    • อะซะฮิ-ฮิเมะ (朝日姫 ค.ศ. 1543 - 1590) น้องสาวต่างบิดา สมรสกับโทกูงาวะ อิเอยาซุ
  • ภรรยาเอก: นางเนเนะ (寧々) ค.ศ. 1547 - 1624 บุตรสาวบุญธรรมของอาซาโนะ นางากัตสึ (浅野長勝) ต่อมาดำรงตำแหน่งเป็น คิตะ-โนะ-มันโดะโกะโระ (北政所)
  • ภรรยาน้อย: มินะมิ-โดะโนะ (南殿)
    • อิชิมะสึ-มะรุ (Ishimatsu-maru) หรือ ฮาชิบะ ฮิเดกัตสึ (羽柴秀勝 ค.ศ. 1570 - 1576)
  • ภรรยาน้อย: ชาจะ (Chacha) หรือ โยโด-โดะโนะ (淀殿) บุตรสาวของอาซาอิ นะงะมะซะ หลานสาวของโอดะ โนบูนางะ