โจยอย (ค.ศ. 204 หรือ ค.ศ. 205 - 22 มกราคม ค.ศ. 239) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เฉา รุ่ย (จีน: 曹叡; พินอิน: Cáo Rùi; การออกเสียง) ชื่อรอง ยฺเหวียนจ้ง (จีน: 元仲; พินอิน: Yuánzhòng) เป็นจักพรรดิลำดับที่ 2 ของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน เกี่ยวกับบิดามารดาของโจยอยนั้นเป็นที่ถกเถียง เนื่องจากมารดาของโจยอยคือเอียนซี เป็นภรรยาของอ้วนฮี แต่ภายหลังแต่งงานใหม่กับโจผี จักรพรรดิลำดับแรกของวุยก๊ก เผย์ ซงจือวิเคราะห์บนพื้นฐานว่าโจยอยเป็นโอรสของโจผี ว่าโจยอยไม่ควรมีพระชนมายุเกิน 33 พรรษา (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ขณะสวรรคตตามที่มีบันทึกไว้ พระชนมายุที่มีบันทึกไว้จึงผิดพลาด หลู ปี้ และ Mou Guangsheng บัณฑิตสมัยปลายราชวงศ์ชิงโต้แย้งว่าโจยอยควรเป็นบุตรของอ้วนฮี

โจยอย (เฉา รุ่ย)
曹叡
เว่ย์หมิงตี้
魏明帝
ภาพวาดโจยอยจากนวนิยายภาพสามก๊ก (ค.ศ. 1957)
จักรพรรดิแห่งวุยก๊ก
ครองราชย์29 มิถุนายน ค.ศ. 226 – 22 มกราคม ค.ศ. 239
ก่อนหน้าโจผี
ถัดไปโจฮอง
รัชทายาทแห่งวุยก๊ก
ดำรงตำแหน่งกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. 226[a] – 29 มิถุนายน ค.ศ. 226
ถัดไปโจฮอง
เพงงวนอ๋อง (平原王 ผิงยฺเหวียนหวาง)
ดำรงตำแหน่ง30 มีนาคม ค.ศ. 222 – มิถุนายน ค.ศ. 226
เจ๋ก๋ง (齊公 ฉีกง)
ดำรงตำแหน่งค.ศ. 221 – 30 มีนาคม ค.ศ. 222[b]
ประสูติ204[c] หรือ ค.ศ. 205[d]
สวรรคต22 มกราคม พ.ศ. 239 (33 หรือ 35 ปี)
ลกเอี่ยง (ลั่วหยาง) วุยก๊ก
ฝังพระศพสุสานโกเบงเหลง (高平陵 เกาผิงหลิง) ลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน
มเหสียฺหวีชื่อ
มอซือ
โกยฮุยหยิน (กวยทายเฮา)
พระราชบุตรเฉา อิน อ๋องแห่งอันเป๋ง
เฉา จฺหย่ง อ๋องแห่งชิงเหอ
เฉา มู่ อ๋องแห่งฝานหยาง
องค์หญิงอี้แห่งเพงงวน
องค์หญิงฉี
พระนามเต็ม
ชื่อสกุล: โจ/เฉา (曹)
ชื่อตัว: ยอย/รุ่ย (叡)
ชื่อรอง: ยฺเหวียนจ้ง (元仲)
รัชศก
พระสมัญญานาม
หมิงตี้ (明帝)
วัดประจำรัชกาล
เลี่ยจู่ (烈祖)
ราชวงศ์ราชวงศ์โจ (เฉา)
พระราชบิดาโจผี
พระราชมารดาเอียนซี
โจยอย
ภาษาจีน曹叡

การครองราชย์ของโจยอยถูกมองในหลายแง่มุม พระองค์ทุ่มเทราชทรัพย์ในการสร้างพระราชวังและศาลบรรพชน ในรัชสมัยของพระองค์มีภาวะยันกันระหว่างวุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊ก โดยวุยก๊กมีฐานะเป็นฝ่ายตั้งรับ โครงการก่อสร้างและความปรารถนาจะมีสนมจำนวนมาก (มีจำนวนนับพัน) ทำให้ทุนทรัพย์ในท้องพระคลังร่อยหรออย่างมาก

ขณะประชวรใกล้สวรรคต โจยอยไม่มีโอรสทางสายพระโลหิต จึงโอนราชบัลลังก์ให้กับโจฮองโอรสบุญธรรม และฝากฝังให้โจซองและสุมาอี้เป็นผู้สำเร็จราชการ หลังสวรรรคตพระองค์ได้รับสมัญญานามว่า "หมิงตี้" และนามวัดว่า "เลี่ยจู่"

ภูมิหลังครอบครัว

แก้

เมื่อโจยอยเกิด (ประมาณปี ค.ศ. 205) โจโฉผู้เป็นปู่ของโจยอยเป็นขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ฮั่น ผู้ควบคุมพระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นจักรพรรดิหุ่นเชิด โจผีบิดาของโจยอยเป็นบุตรชายที่ยังมีชีวิตอยู่ที่มีอายุมากที่สุดของโจโฉและเป็นทายาทโดยชอบธรรม มารดาของโจยอยคือเอียนซีเดิมเป็นภรรยาของอ้วนฮีบุตรชายของอ้วนเสี้ยว แต่เมื่อถูกกองทัพโจโฉควบคุมตัวในเดือนกันยายนถึงตุลาคม ค.ศ. 204[e] โจผีบังคับให้เอียนซีแต่งงานกับตน และให้กำเนิดโจยอยในเวลาเพียง 8 เดือนหลังจากแต่งงาน-นำไปสู่ทฤษฎีที่ว่าแท้จริงแล้วโจยอยอาจเป็นบุตรชายของอ้วนฮี ไม่ใช่บุตรชายของโจผี หลังจากโจโฉเสียชีวิตในเดือนมีนาคม ค.ศ. 220 โจผีบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้สละราชบัลลังก์ให้ตนและสถาปนารัฐวุยก๊กในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เอียนซีไม่ได้ติดตามโจผีไปยังลกเอี๋ยง (洛陽 ลั่วหยาง) อันเป็นนครหลวงแห่งใหม่ และในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 221 โจผีก็บังคับให้เอียนซีฆ่าตัวตาย

เนื่องด้วยเหตุที่เกิดขึ้นกับเอียนซีและต้นกำเนิดที่ไม่ชัดเจนของโจยอย แม้ว่าโจยอยจะเป็นพระโอรสองค์โตของโจผี แต่ก็ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาทในช่วงต้นรัชสมัยของโจผีผู้เป็นพระบิดา เพียงแต่แต่งตั้งให้เป็นเพงงวนอ๋อง (平原王 ผิงยฺเหวียนหวาง) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 222[3] ในช่วงเวลาที่โจยอยเป็นเพงงวนอ๋องได้อภิเษกสมรสกับชายาแซ่งี (虞 ยฺหวี) ที่เป็นบุตรสาวขุนนาง โจยอยมีความผูกพันกับกุยฮุย ชายาคนหนึ่งของโจผีซึ่งต่อมาได้ขึ้นเป็นจักรพรรดินี (ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 222) และเนื่องจากกุยฮุยไร้พระโอรส สถานะของโจยอยในฐานะรัชทายาทจึงไม่มีคู่แข่งอย่างจริงจัง กล่าวกันว่าพระดำริของโจผีว่าไม่ต้องการตั้งให้โจยอยเป็นรัชทายาทได้น้อยลงไปจากเหตุการณ์การประพาสล่าสัตว์ครั้งหนึ่่ง เมื่อโจผีและโจยอยพบเข้ากับกวางแม่ลูกคู่หนึ่ง โจผียิงเกาทัณฑ์ฆ่ากวางตัวแม่ และมีรับสั่งให้โจยอยฆ่ากวางตัวลูก โจยอยทรงพระกรรแสงตรัสว่า "ฝ่าบาททรงฆ่าแม่ไปแล้ว กระหม่อมไม่อาจทำใจฆ่าลูกได้ลง" โจผีได้ฟังก็ทรงทิ้งพระแสงเกาทัณฑ์ลงและรู้สึกโทมนัส[4]

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 226 โจผีทรงพระประชวร ในที่สุดจึงตั้งให้โจยอยเป็นรัชทายาท โจผีสวรรคตในเวลาไม่นานหลังจากนั้น โจยอยขึ้นเป็นจักรพรรดิขณะชนมายุ 21 พรรษา

ในฐานะจักรพรรดิ

แก้

จักรพรรดิโจยอยทรงมีบุคลิกที่ขัดแย้งกันหลาย ๆ ด้าน พระองค์เป็นจักรพรรดิที่ฉลาดและความสามารถ แต่พระองค์ไม่มีศักยภาพอย่างถึงที่สุดทั้งในด้านการปกครองรัฐและการสงคราม บางครั้งพระองค์แสดงออกซึ่งความเมตตากรุณาอย่างมาก แต่บางครั้งพระองค์ก็แสดงออกด้านที่โหดร้ายอย่างมากเช่นกัน พระองค์ทรงกระทำราชกิจหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ แต่หลายครั้งก็ทรงกระทำสิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ แม้ว่าโจสิดที่เป็นพระปิตุลา (อา) ของพระองค์จะยื่นฎีกาขอตำแหน่งทางราชการหลายครั้ง แต่พระองค์ก็ยังคงสั่งห้ามอย่างเข้มงวดที่จะมอบตำแหน่งให้พระปิตุลาของพระองค์ตามที่โจผีผู้พระบิดาได้กำหนดไว้แต่เดิม นักประวัติศาสตร์โดยทั่วไปมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการล่มสลายของวุยก๊กในภายหลัง เมื่อตระกูลสุมาเข้ายึดอำนาจปกครองหลังการสวรรคตของโจยอยโดยที่เหล่าราชนิกูลของวุยก๊กไม่มีความสามารถจะไปต่อต้านตระกูลสุมา

การปฏิบัติต่อขุนนาง

แก้

โจยอยเมื่อขึ้นเป็นจักรพรรดิในวัยหนุ่ม ในเวลาไม่นานก็ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในการหาขุนนางผู้มีความสามารถมาเสริมพระราชอำนาจโดยยังทรงคงควบคุมขุนนางเหล่านั้นได้อย่างมั่นคง โจผีพระบิดาของโจยอยได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการสามคนให้โจยอย ได้แก่ โจจิ๋น พระญาติห่าง ๆ ของพระองค์, ตันกุ๋น นักบริหารผู้มั่นคง และสุมาอี้ นักยุทธศาสตร์ผู้ชาญฉลาด เมื่อโจยอยขึ้นเป็นจักรพรรดิ พระองค์ตระหนักถึงคุณค่าของคำแนะนำจากขุนนางผู้ใหญ่เหล่านี้ และทรงเลือกวิธีการที่ดีที่สุดในการปฏิบัติต่อขุนนางเหล่านี้ ได้แก่การให้เกียรติและแต่งตั้งให้เป็นเจ้ามณฑลซึ่งมีอำนาจเต็มในมณฑลที่ปกครอง ด้วยการดำเนินการเช่นนี้จึงแสดงให้เห็นว่าโจยอยเป็นจักรพรรดิที่มีความคิดของตนเองแต่ก็ยังรับคำแนะนำจากเหล่าขุนนางที่ปรึกษาของพระองค์

ตลอดรัชสมัยของโจยอย พระองค์แสดงออกซึ่งความวิริยะอุตสาหะอย่างมากในการขอคำแนะนำจากขุนนางหลายคนก่อนจะตัดสินพระทัยในเรื่องสำคัญ โดยทั่วไปแล้วพระองค์เป็นผู้รอบคอบและไม่ต้องการจะกระทำการเสี่ยง แต่ขณะเดียวกันก็สามารถหลีกเลี่ยงหายนะใหญ่ต่อรัฐได้

การทัพต่อจ๊กก๊ก

แก้

ภัยคุกคามหนึ่งที่โจยอยต้องรับมือหลังจากขึ้นเป็นจักรพรรดิคือการโจมตีจากจูกัดเหลียง อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐจ๊กก๊ก ช่วงแรกหลังจากการสวรรคตของเล่าปี่จักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐจ๊กก๊ก จูกัดเหลียงแสดงท่าทีทางการทหารอย่างสงบนิ่งที่ชายแดนจ๊กก๊กและวุยก๊ก ในขณะที่สร้างความเป็นพันธมิตรกับง่อก๊กของซุนกวนอีกครั้ง เพื่อให้ราษฎรและทหารพักฟื้นจากการศึก ในปี ค.ศ. 227 จูกัดเหลียงเห็นว่าจ๊กก๊กเป็นรัฐที่อ่อนแอกว่าวุยก๊ก หากเอาแต่นิ่งไม่ทำอะไรในที่สุดก็จะถูกวุยก๊กกลืนไป จูกัดเหลียงจึงเริ่มการทัพบุกเหนือ 5 ครั้ง

ระหว่างการทัพ โจยอยเสด็จไปยังนครเตียงฮัน นครที่มีความสำคัญทางการเมืองที่วุยก๊กไม่อาจสูญเสียไปได้ จากนั้นจึงมีรับสั่งให้เหล่าขุนพลไปไปยังแนวหน้าเพื่อป้องกันการโจมตีของจูกัดเหลียง ยุทธวิธีนี้มีผลช่วยเสริมขวัญกำลังใจของเหล่าทหารและทำให้การสื่อสารไปยังแนวหน้าดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุที่สามารถทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแนวหน้าได้อย่างรวดเร็ว โจยอยจึงสามารถสังเกตการณ์ทั่วทั้งพื้นที่ภาคกลางได้ ในที่สุดการทัพของจูกัดเหลียงก็ล้มเหลวหลังจูกัดเหลียงเสียชีวิตในปี ค.ศ. 234 แผนการของจูกัดเหลียงก็ถูกยกเลิกไปโดยเจียวอ้วนและบิฮุยที่เป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากจูกัดเหลียง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดสันติภาพที่ชายแดนกับจ๊กก๊ก เนื่องจากยังมีการสู้รบระหว่างสองรัฐเกือบทุกปี อย่างไรก็ตามก็ไม่มีการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ในระดับการทัพของจูกัดเหลียงอีกตลอดรัชสมัยของโจยอย

การทัพต่อง่อก๊ก

แก้

ในรัชสมัยของโจยอย มียุทธการหลายครั้งกับง่อก๊กที่เป็นอีกหนึ่งรัฐอริ ยุทธการครั้งแรกเกิดขึ้นเพียง 2 เดือนหลังจากโจยอยขึ้นเป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ. 226 ในระหว่างการทัพ โจยอยแสดงออกซึ่งพระปฏิภาณในการประเมินสถานการณ์อย่างถูกต้อง โดยทรงเห็นว่าในเวลาที่กำลังเสริมอาจส่งมาได้ ซุนกวนผู้ปกครองง่อก๊กก็อาจจะถอนทัพไปแล้ว การส่งกำลังเสริมจึงไม่จำเป็น ตลอดรัชสมัยของพระองค์ โจยอยทรงมีท่าทีในการทัพต่อง่อก๊กที่คล้ายคลึงกับการทัพจ๊กก๊ก คือทรงเสด็จไปยังตะวันออกด้วยพระองค์เองเพื่อให้ใกล้กับสมรภูมิ โดยยังคงห่างจากแนวหน้าไประยะหนึ่ง ซึ่งให้ผลดีในการศึก พระองค์ยังมอบหมายการรักษาชายแดนด้านตะวันออกเฉียงใต้ให้กับหมันทอง ความสามารถในการรักษาชายแดนของหมันทองช่วยป้องกันเหตุร้ายได้หลายครั้ง

ความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดของโจยอยเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 228 เมื่อจิวหองขุนพลของง่อก๊กหลอกให้โจฮิวที่เป็นพระญาติของโจยอยให้เข้าใจว่าตนพร้อมจะยอมจำนนต่อวุยก๊ก แต่กลับลวงกองกำลังของโจฮิวมาติดกับ โจยอยอนุมัติแผนของโจฮิวโดยไม่ทรงตระหนักว่าการสวามิภักดิ์ของจิวหองเป็นอุบายลวง จึงนำไปสู่การพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ แต่กองกำลังของโจฮิวก็ได้กากุ๋ยช่วยเหลือไม่ให้ถูกกวาดล้างจนสิ้น

วิกฤตการณ์ร้ายแรงอีกครั้งที่เกิดจากง่อก๊กเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 234 เมื่อง่อก๊กพยายามจะประสานกับจ๊กก๊กในการโจมตีวุยก๊กพร้อมกันกับการบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียง ในเวลานั้นนายทหารในแนวหน้าหลายคนเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมครอบครัว หมันทองจึงทูลขอโจยอยให้มีรับสั่งเรียกนายทหารเหล่านั้นกลับมารบต้านซุนกวน โจยอยทรงปฏิเสธที่จะยกเลิกการกลับไปเยี่ยมบ้านของนายทหารใต้บังคับบัญชาและมีรับสั่งให้หมันทองมุ่งเน้นไปที่การป้องกัน แล้วโจยอยจึงนำทัพหลวงด้วยพระองค์เองเป็นกำลังหนุนช่วย และทรงทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานของกองกำลังต่าง ๆ ของวุยก๊กที่ชายแดนง่อก๊กได้เป็นอย่างดี ง่อก๊กจึงไม่สามารถทำประโยชน์ใด ๆ ได้มาก

การทัพต่อเลียวตั๋ง

แก้

ผลได้ทางการทหารที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียวของวุยก๊กในรัชสมัยของโจยอยคือการสิ้นสุดอำนาจปกครองของตระกูลกองซุน (公孫 กงซุน) เหนือแดนเลียวตั๋ง (遼東 เหลียวตง; ปัจจุบันคือตอนกลางและตะวันออกของมณฑลเหลียวหนิง) ซึ่งเริ่มโดยกงซุน ตู้ในปี ค.ศ. 190 ครั้นในปี ค.ศ. 228 กองซุนเอี๋ยนหลานชายของกงซุน ตู้ยึดอำนาจและปลดกองซุนก๋งผู้อาจากการปกครองเลียวตั๋งและทูลขอการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากโจยอย โจยอยไม่ทรงฟังคำแนะนำของเล่าหัว (劉曄 หลิว เย่) ที่ให้โจมตีตระกูลกองซุนในขณะที่มีความขัดแย้งภายใน พระองค์กลับแต่งตั้งให้กองซุนเอี๋ยนเป็นเจ้าเมืองเลียวตั๋งอย่างเป็นทางการแทน

ในปี ค.ศ. 232 กองซุนเอี๋ยนติดต่อกับง่อก๊กหลายครั้งรวมถึงขายม้าให้กับง่อก๊ก ทำให้โจยอยทรงกริ้ว มีรับสั่งให้ขุนพลเตียวอี้ (田豫 เถียน ยฺวี่) และหวาง สฺยง (王雄) ให้โจมตีเลียวตั๋ง โดยไม่ทรงฟังคำทัดทานของเจียวเจ้ (蔣濟 เจี่ยง จี้) การโจมตีไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าเตียวอี้จะสามารถสกัดกั้นและทำลายกองเรือซื้อม้าของง่อก๊กลงได้ หลังจากเหตุการณ์นี้ แม้ว่ากองซุนเอี๋ยนจะยังคงความเป็นข้าราชบริพารของวุยก๊กอย่างเป็นทางการ แต่ความสัมพันธ์ก็เสียหายไป

ปีถัดมา กองซุนเอี๋ยนกลัวการโจมตีอีกครั้งจากวุยก๊กจึงส่งทูตไปยังง่อก๊กเพื่อยอมสวามิภักดิ์ต่อซุนกวนอย่างเป็นทางการ ซุนกวนพอพระทัยมากจึงตั้งให้กองซุนเอี๋ยนเป็นเอียนอ๋อง (燕王 เยียนหวาง) และพระราชทานเครื่องยศเก้าประการให้กองซุนเอี๋ยน อย่างไรก็ตามกองซุนเอี๋ยนตระหนักในภายหลังว่าง่อก๊กสามารถช่วยเหลือได้เพียงเล็กน้อยในการต้านการบุกของวุยก๊ก กองซุนเอี๋ยนจึงหักหลังง่อก๊ก สังหารเหล่าทูตของซุนกวนที่เดินทางมาถึงเลียวตั๋งและยึดกองกำลังของทูตเหล่านั้นไว้ โจยอยจึงแต่งตั้งให้กองซุนเอี๋ยนเป็นเล่อล่างกง (樂浪公) จากการกระทำดังกล่าว (กองกำลังส่วนหนึ่งของง่อก๊กสามารถหลบหนีและกลับมายังง่อก๊กได้ในที่สุดด้วยความช่วยเหลือของอาณาจักรโคกูรยอ ที่เป็นศัตรูของตระกูลกองซุน)

ในปี ค.ศ. 237 โจยอยดำริจะโจมตีเลียวตั๋งอีกครั้ง ด้วยทรงกริ้วจากรายงานที่ว่ากองซุนเอี๋ยนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซ้ำแล้วซ้ำแล้ว จึงมีรับสั่งให้บู๊ขิวเขียมเตรียมการโจมตี จากนั้นจึงมีรับสั่งให้กองซุนเอี๋ยนเดินทางมาเข้าเฝ้าที่ลกเอี๋ยง กองซุนเอี๋ยนปฏิเสธไม่ทำตามรับสั่งและประกาศตั้งตนเป็นอิสระจากวุยก๊ก บู๊ขิวเขียมนำกองกำลีงเข้าโจมตีกองซุนเอี๋ยน แต่ก็การเดินทัพก็ต้องหยุดลงเพราะฝนตกหนัก จากนั้นกองซุนเอี๋ยนจึงสถาปนาตนเป็นเอียนอ๋องและเข้าเป็นพันธมิตรกับชนเผ่าเซียนเปย์เพื่อก่อกวนชายแดนของวุยก๊ก

ปีถัดมา โจยอยให้สุมาอี้นำทัพ 40,000 นายไปโจมตีเลียวตั๋ง กองซุนเอี๋ยนทราบข่าวจึงขอความช่วยเหลือจากง่อก๊กอีกครั้ง ซุนกวนโกรธกองซุนเอี๋ยนจากการหักหลังก่อนหน้านี้จึงแสร้งทำเป็นตกลงจะไปช่วย แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้ส่งกองกำลังใด ๆ ไปช่วยกองซุนเอี๋ยน แม้ว่าในช่วงต้นการเดินทัพสุมาอี้จะถูกขัดขวางโดยฝนตกหนักเช่นเดียวกับที่บู๊ขิวเขียมเคยประสบ แต่สุมาอี้ก็รอจนฝนหยุดและในที่สุดก็เข้าล้อมเซียงเป๋ง (襄平 เซียงผิง; ปัจจุบันอยู่ในนครเหลียวหยาง มณฑลเหลียวหนิง) นครหลวงของกองซุนเอี๋ยน ทำให้กองทหารของกองซุนเอี๋ยนหิวโหย หลังจากปิดล้อมเกือบสามเดือนเซียงเป๋งก็แตก กองซุนเอี๋ยนหนีไปแต่ภายหลังถูกสุมาอี้จับตัวได้และถูกประหารชีวิต เลียวตั๋งจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในอาณาจักรของวุยก๊ก

โครงการก่อสร้างและเพิ่มสนม

แก้

เกือบจะในทันทีหลังจากที่โจยอยขึ้นครองบัลลังก์ พระองค์เริ่มโครงการสร้างพระราชวังและศาลขนาดใหญ่ ส่วนหนึ่งที่คาดว่าเป็นพระราชวังลกเอี๋ยงส่วนที่เหลือรอดจากการทำลายโดยตั๋งโต๊ะและศาลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษของพระองค์ อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงทำเกินความจำเป็น ยังคงสร้างวัดและพระราชวังตลอดรัชสมัยที่เหลือของพระองค์ ซึ่งทำให้สมบัติในท้องพระคลังสมบัติร่อยหรอไปเป็นอย่างมาก แม้ว่าบางครั้งพระองค์จะทรงหยุดโครงการตามคำทัดทานของขุนนาง แต่โครงการจะเริ่มต้นใหม่หลังจากพักในช่วงเวลาสั้น ๆ พระองค์ไม่เพียงแต่สร้างพระราชวังในลกเอี๋ยงเท่านั้น แต่ยังสร้างพระราชวังในฮูโต๋อีกด้วย ในปี ค.ศ. 237 พระองค์โปรดให้ย้ายประติมากรรมอันหรูหราจำนวนมากที่จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้โปรดให้สร้างขึ้นจากเตียงฮันไปยังลกเอี๋ยง ซึ่งใช้ค่าใช้จ่ายและแรงงานคนจำนวนมาก นอกจากนี้โจยอยยังโปรดให้สร้างประติมากรรมสัมฤทธิ์ขนาดมหึมาเป็นของพระองค์เองและตั้งไว้บนเนินเขาที่สร้างโดยมนุษย์ภายในเขตพระราชวังของพระองค์ ล้อมรอบด้วยต้นไม้และพืชหายากและมีสัตว์หายากอาศัยอยู่

โจยอยยังโปรดให้หาหญิงมาเป็นสนมเพิ่มเติม ขณะนั้นสนมและนางสนองพระโอษฐ์ของพระองค์มีจำนวนหลายพันคน โครงการสร้างพระราชวังของพระองค์อาจมีเจตนาเพื่อเป็นที่อาศัยของสนมเหล่านี้ ยฺหวี ฮฺว่านนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกล่าวว่าในปี ค.ศ. 237 โจยอยถึงกับออกพระราชโองการให้คุมตัวหญิงงามที่แต่งงานแล้วทุกคนมา (เว้นแต่สามีของหญิงจะสามารถนำทรัพย์มาไถ่ตัวได้) และให้แต่งงานกับเหล่าทหาร แต่คนที่งามที่สุดในหมู่หญิงเหล่านั้นจะกลายเป็นสนมของพระองค์ แม้จะมีการคัดค้านโดยขุนนางบางคน แต่นี้การดำเนินการตามพระราชโองการก็ยังคงกระทำต่อไป ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรเป็นอย่างมาก

ชีวิตสมรส ประเด็นเรื่องการสืบราชบัลลังก์ และสวรรคต

แก้

เมื่อโจยอยขึ้นเป็นจักรพรรดิ เป็นที่คาดกันทั่วไปว่าองค์หญิงงี (虞氏 ยฺหวีชื่อ) พระชายาของพระองค์จะได้เป็นจักรพรรดินี แต่กลับไม่ใช่ พระองค์ตั้งให้มอซือสนมคนโปรดเป็นจักรพรรดินีในปี ค.ศ. 227 องค์หญิงงีถูกส่งกลับไปยังวังเดิม โจยอยทรงรักจักรพรรดินีมอซืออย่างสุดมาก ญาติของมอซือจำนวนหนึ่ง รวมถึงพ่อและพี่ชายของพระนางก็กลายเป็นขุนนางผู้ทรงเกียรติ (แต่ไม่มีอำนาจที่แท้จริง)

อย่างไรก็ตาม แม้โจยอยทรงมีสนมหลายคน แต่ก็ไม่มีพระโอรสองค์ใดที่รอดชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก พระองค์ทรงรับโอรสบุญธรรมสองพระองค์คือโจฮองและเฉา สฺวิน (曹詢) และตั้งให้ทั้งสองพระองค์เป็นอ๋องในปี ค.ศ. 235 (โดยทั่วไปยอมรับว่าทั้งสองพระองค์เป็นพระโอรสของพระญาติของโจยอย แม้ว่าตัวตนของบิดามารดาจะไม่แน่ชัดก็ตาม)

ในปี ค.ศ. 237 จักรพรรดินีมอซือไม่ใช่คนโปรดของโจยอยอีกต่อไป กลับเป็นโกยฮุยหยินที่เป็นสนมคนโปรด ครั้งหนึ่งเมื่อโจยอยทรงเข้าร่วมงานเลี้ยงที่โกยฮุยหยินจัดขึ้น โกยฮุยหยินทูลเสนอให้จักรพรรดินีมอซือเข้าร่วมงานเลี้ยงด้วย แต่โจยอยทรงปฏิเสธและม่ีรับสั่งเพิ่มเติมว่าอย่าให้ข่าวเรื่องงานเลี้ยงรู้ไปถึงมอซือ แต่ข่าวกลับรั่วไหล มอซือจึงมาทูลเรื่องงานเลี้ยงกับโจยอยในภายหลัง โจยอยกริ้วมากจึงทรงสังหารผู้ร่วมงานเลี้ยงหลายคนที่พระองค์สงสัยว่าเป็นผู้ปล่อยข่าวไปถึงมอซือ และมีรับสั่งบังคับให้มอซือกระทำอัตวินิบาตกรรม แต่มอซือก็ยังได้รับการฝังศพอย่างสมเกียรติจักรพรรดินีและครอบครัวของมอซือก็ยังคงได้รับเกียรติ

ในปี ค.ศ. 238 โจยอยประชวรหนัก พระองค์กำหนดให้โกยฮุยหยินเป็นว่าที่พระพันปีหลวงหลังพระองค์สวรรคต ในตอนแรกพระองค์ต้องการฝากฝังโจฮองโอรสบุญธรรมของพระองค์ผู้เป็นเจอ๋อง (齊王 ฉีหวาง) ให้กับโจฮูผู้เป็นพระปิตุลาของพระองค์ให้ทำหน้าที่หัวหน้าผู้สำเร็จราชการร่วมกับเซี่ยโหฺว เซี่ยน (夏侯獻), โจซอง, เฉา เจ้า (曹肇) และจีนล่ง (秦朗 ฉิน หล่าง) แต่เล่าฮอง (劉放 หลิว ฟ่าง) และซุนจู (孫資 ซุน จือ) ขุนนางคนสนิทที่ไม่ถูกกันกับเซี่ยโหฺว เซี่ยนและเฉา เจ้า กังวลเรื่องที่จะให้สองคนนี้เป็นผู้สำเร็จราชการ จึงทูลโน้มน้าวให้ตั้งโจซอง (ซึ่งเป็นมิตรกับเล่าฮองและซุนจู) และสุมาอี้เป็นผู้สำเร็จราชการร่วมแทน โจฮู, เฉา เจ้า และจีนล่งถูกกีดกันจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 239 โจยอยทรงตั้งโจฮองที่ขณะนั้นมีพระชนมายุ 7 พรรษาขึ้นเป็นรัชทายาท โจยอยสวรรคตในวันเดียวกันกับการแต่งตั้งโจฮอง โจฮองขึ้นสืบราชสมบัติเป็นจักรพรรดิ

ชื่อศักราช

แก้

พระราชวงศ์

แก้

มเหสีและโอรสธิดา:

  • ชายาจากตระกูลงี (王妃 虞氏 หวางเฟย์ ยฺหวีชื่อ)
  • มอซือ หรือจักรรพรรดินีหมิงเต้าจากตระกูลมอ (明悼皇后 毛氏 หมิงเต้าหฺวางโฮฺ่ว เหมาชื่อ; สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 237)
    • เฉา อิน อ๋องอายแห่งอันเป๋ง (安平哀王 曹殷 อานผิงอายหวาง เฉา อิน; ค.ศ. 231–232)
  • โกยฮุยหยิน/กวยทายเฮา หรือจักรพรรดินีหมิง-ยฺเหวียนจากตระกูลกุย/โกย/กวย (明元皇后 郭氏 หมิงยฺเหวียนหฺวางโฮฺ่ว กัวชื่อ; สิ้นพระชนม์ 264)
    • องค์หญิงอี้แห่งเพงงวน (平原懿公主 ผิงยฺเหวียนอี้กงจู่; สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 232) มีชื่อตัวว่า ชู ()
  • สนมไม่ทราบตระกูล
    • เฉา จฺย่ง อ๋องแห่งชิงเหอ (清河王 曹冏 ชิงเหอหวาง เฉา จฺย่ง; สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 226)
    • เฉา มู่ อ๋องแห่งฝานหยาง (繁陽王 曹穆 ฝานหยางหวาง เฉา มู่; สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 229)
    • องค์หญิงฉี (齊公主 ฉีกงจู่)
      • สมรสกับหลี่ เทา (李韜; เสียชีวิต ค.ศ. 254) บุตรชายของลิฮอง (李豐 หลี่ เฟิง) มีบุตรชายด้วยกัน 3 คน
      • แต่งงานกับเริ่น ข่าย (任愷; ค.ศ. 223–284)

พงศาวลี

แก้
โจโก๋ (เสียชีวิต 193)
โจโฉ (ค.ศ. 155–220)
ติงชื่อ
โจผี (ค.ศ. 187–226)
เปี้ยน กว่าง
เปี้ยน ยฺเหวียน
โจฺวชื่อ
เปียนซี (ค.ศ. 161–230)
โจยอย (ค.ศ. 204–239)
เจิน อี้ (เสียชีวิต 185)
เอียนซี (ค.ศ. 183–221)
จางชื่อ (เสียชีวิต 228)

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. ศักราชอ้วยโช่ (หฺวางซู) ปีที่ 7 เดือน 5 ตามบทชีวประวัติโจยอยในจดหมายเหตุสามก๊ก เดือนนี้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 226 ตามปฏิทินจูเลียน
  2. ศักราชอ้วยโช่ปีที่ 3 เดือน 3 วันอี๋โฉฺ่ว ตามบทชีวประวัติโจโฉในจดหมายเหตุสามก๊ก
  3. ตันซิ่ว ผู้เขียนจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าโจยอยสวรรคตขณะพระชนมายุ 36 พรรษา ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก[1]
  4. เผย์ ซงจือ ผู้เขียนอรรถาธิบายประกอบจดหมายเหตุสามก๊ก แทรกว่าโจยอยเกิดในศักราชเจี้ยนอันปีที่ 10 (ค.ศ. 205) ในรัชสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[2]
  5. เดือน 8 ของศักราชเจี้ยนอันปีที่ 9 เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 12 กันยายนถึง 11 ตุลาคม ค.ศ. 204ในปฏิทินจูเลียน

อ้างอิง

แก้
  1. (即日,帝崩于嘉福殿,時年三十六。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  2. (臣松之桉:魏武以建安九年八月定鄴,文帝始納甄后,明帝應以十年生,計至此年正月,整三十四年耳。時改正朔,以故年十二月爲今年正月,可彊名三十五年,不得三十六也。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  3. (黃初二年爲齊公,三年爲平原王。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  4. (魏末傳曰:帝常從文帝獵,見子母鹿。文帝射殺鹿母,使帝射鹿子,帝不從,曰:「陛下已殺其母,臣不忍復殺其子。」因涕泣。文帝即放弓箭,以此深奇之,而樹立之意定。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.

บรรณานุกรม

แก้
ก่อนหน้า โจยอย ถัดไป
โจผี   จักรพรรดิจีน
วุยก๊ก

(ค.ศ. 226 - 239)
  โจฮอง