กะพรุนน้ำจืด

(เปลี่ยนทางจาก แมงกะพรุนน้ำจืด)
แมงกะพรุนน้ำจืด
แมงกะพรุนน้ำจืดชนิด C. sowerbyii
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
อาณาจักรย่อย: Eumetazoa
ไฟลัม: Cnidaria
ไฟลัมย่อย: Medusozoa
ชั้น: Hydrozoa
อันดับ: Hydroida
อันดับย่อย: Limnomedusae
วงศ์: Olindiidae
สกุล: Craspedacusta
Lankester, 1880
ชนิด
ดูในเนื้อหา
ชื่อพ้อง[1]
  • Microhydra Potts, 1885

กะพรุนน้ำจืด หรือ แมงกะพรุนน้ำจืด เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังสกุลหนึ่ง จัดอยู่ในพวกแมงกะพรุนที่อยู่ในชั้นไฮโดรซัว ต่างจากแมงกะพรุนที่พบในทะเลที่ส่วนมากจะอยู่ในชั้นไซโฟซัว ใช้ชื่อสกุลว่า Craspedacusta (/คราส-พี-ดา-คัส-ต้า/)

ลักษณะ

แก้

มีลักษณะโดยรวมคล้ายกับแมงกะพรุนที่พบในทะเล มีลักษณะโปร่งแสง ใส สีขาว มีเส้นผ่าศูนย์กลางลำตัวเพียง 1-2 เซนติเมตรเท่านั้น เมื่อจับขึ้นมาพ้นน้ำแล้ว จะมองเผิน ๆ เหมือนคอนแทคเลนส์ จัดเป็นแมงกะพรุนขนาดเล็กมาก บริเวณขอบร่างกายมีหนวดเล็ก ๆ ซึ่งมีผิวเป็นปุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเป็นเข็มพิษ จำนวนมาก ที่เมื่อจับต้องถูกตัวจะให้เกิดอาการคันหรือปวดแสบปวดร้อนได้ บริเวณกลางลำตัวมีปากที่ยื่นยาวคล้ายแตรที่ขยายออกบริเวณช่องเปิดด้านล่าง บริเวณขอบลักษณะเป็นรอยหยัก 3 แฉก ปากดังกล่าวจะเชื่อต่อถึงกระเพาะอาหารโดยตรง บริเวณด้านในของร่างกายที่มีลักษณะคล้ายร่ม มีเนื้อเยื่อบาง ๆ ทอดผ่านไปบริเวณขอบในแนวรัศมี 4 ส่วนเท่า ๆ กัน โดยแนวเหล่านี้จะมีอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ ที่มีลักษณะสีขาวขุ่นหรือสีส้มพาดไปในแนวรัศมีเช่นกัน บริเวณขอบด้านในของร่างกายที่มีลักษณะคล้ายร่ม มีกล้ามเนื้อบาง ๆ เรียงตัวในแนววงแหวนโดยรอบ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้แมงกะพรุนน้ำจืดอยู่จัดอยู่ชั้นไฮโดรซัว

วงจรชีวิตและการขยายพันธุ์

แก้

มีวงจรชีวิตแบบสลับ โดยเวลาส่วนใหญ่ในรอบปีจะดำรงชีวิตแบบยึดเกาะกับวัสดุต่าง ๆ ใต้น้ำ เช่น ขอนไม้ มีลักษณะคล้ายไฮดรา แต่มีหนวดสั้นไม่เกินสองเส้น และมีการแตกแขนงเป็นกลุ่ม การเพิ่มจำนวนใช้วิธีการแบบแตกหน่อ จัดเป็นการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ มักขยายพันธุ์ในช่วงฤดูแล้งที่ปริมาณน้ำในแหล่งอาศัยลดลง แมงกะพรุนวัยอ่อนจะเคลื่อนที่ไปมาในน้ำอย่างอิสระ โดยปรกติจะอยู่บริเวณพื้นน้ำโดยหงายส่วนปากขึ้นด้านบนและแผ่นหนวดขึ้นรอบตัวคล้ายดอกไม้ทะเล ใช้หนวดดังกล่าวจับอาหารกิน ได้แก่ ไรน้ำ เป็นต้น เมื่ออายุได้ 1-2 เดือน จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และผลิตเซลล์สืบพันธุ์เพื่อปฏิสนธิ โดยในช่วงนี้จะเข้าสู่วงจรชีวิตการขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ[2]

ชนิด

แก้

เดิมนั้น ได้มีการจำแนกแมงกะพรุนน้ำจืดไว้ 3 ชนิด คือ

แต่ปัจจุบันได้มีการศึกษาเพิ่มเติม และประกาศเป็นชนิดใหม่ขึ้นอีก ได้แก่[3]

ในชนิด C. sowerbyi สามารถพบได้ในแหล่งน้ำบางแห่งในสหรัฐอเมริกาและที่ราบลุ่มภาคกลางในประเทศไทย และพบเป็นจำนวนมากที่ลำน้ำเข็กภายในอุทยานแห่งชาติเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน ซึ่งตรงกับช่วงที่ขยายพันธุ์ ในส่วนของชนิด C. sinensis พบได้ตั้งแต่ทางตอนใต้ของจีน ในประเทศไทยพบรายงานหลายที่ เช่น แม่น้ำป่าสัก, จังหวัดลพบุรี, บึงบอระเพ็ด และหลายแห่งในภาคอีสาน โดยมักพบในแหล่งน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง หรือโบก หรือกุมภลักษณ์ (แอ่งน้ำที่เป็นหลุมอยู่บนแก่งหินพบมากที่ภาคอีสาน) รวมถึงมีรายงานพบปนมากับน้ำประปาในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2016 เพราะเชื่อว่าโดยปกติอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำภูเขาที่อยู่ห่างออกไปราว 3 กิโลเมตร ซึ่งใช้สำหรับผลิตน้ำประปาในท้องที่นี้[4] ขณะที่ชนิด C. iseana นักวิทยาศาสตร์บางส่วนเชื่อว่าเป็นชนิดเดียวกับ C. sinensis ขณะที่บางส่วนเชื่อว่าทั้ง 3 ชนิดนั้น เป็นชนิดเดียวกันทั้งหมด คือ C. sowerbyi[5]

แมงกะพรุนน้ำจืด มีชื่อเรียกในภาษาอีสานและภาษาลาวว่า "แมงยุ้มแยะ" หรือ "แมงยุ้มวะ" ตามลักษณะตามการเคลื่อนไหวที่หุบเข้าและบานออก

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "Craspedacusta". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ July 19, 2016.
  2. ชัยวุฒิ กรุดพันธ์, "แมงยุ้มแยะ" กะพรุนน้ำจืด แห่งเมืองอุบล คอลัมน์ Aqua Life หน้า 45-47 นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 1 ฉบับที่ 10 ประจำเดือนเมษายน 2011
  3. "Craspedacusta". WoRMS. สืบค้นเมื่อ July 19, 2016.
  4. "ชาวบ้านผวาพบแมงกะพรุนในน้ำประปา". วอยซ์ทีวี. July 5, 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-06. สืบค้นเมื่อ July 19, 2016.
  5. เสน่ห์แมงกะพรุนน้ำจืด

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Craspedacusta ที่วิกิสปีชีส์