หวัง ยฺหวิ่น ตามสำเนียงมาตรฐาน หรือ อ้องอุ้น ตามสำเนียงฮกเกี้ยน (จีน: 王允; พินอิน: Wáng Yǔn; ค.ศ. 137–192)[1] ชื่อรองว่า จื่อชือ (子師) เป็นข้าราชการชาวจีนปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการศึกษา (司徒) ในรัชกาลจักรพรรดิฮั่นเซี่ยน หรือหองจูเหียบ เข้าสู่อำนาจโดยวางแผนให้ขุนศึกลิโป้ (呂布) สังหารอุปราชตั๋ง โต๊ะ (董卓) แต่ในไม่ช้า ผู้ใต้บัญชาของตั๋ง โต๊ะ ก็ก่อการกำเริบ เป็นผลให้อ้องอุ้น ถูกประหารพร้อมครอบครัว

หวัง ยฺหวิ่น (มาตรฐาน)
อ้องอุ้น (ฮกเกี้ยน)
王允
ผู้ว่าราชการสำนักราชเลขาธิการ (錄尚書事)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 192
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้ (หองจูเหียบ)
เจ้ากรมการศึกษา (司徒)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 190 – ค.ศ. 192
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้ (หองจูเหียบ)
ราชเลขาธิการ (尚書令)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 189 – ค.ศ. 192
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้ (หองจูเหียบ)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 137
เสียชีวิตค.ศ. 192 (54–55 ปี)

ในนวนิยายเรื่อง สามก๊ก (三國演義) อ้องอุ้นเป็นบิดาบุญธรรมของ เตียว เสี้ยน (貂蟬) ซึ่งเขาใช้ไปยุแยงให้ลิโป้ และตั่งโต๊ะ บาดหมางกัน จนลิโป้ สังหารตั่งโต๊ะ

ประวัติ

แก้

ตาม โฮ่วฮั่นชู (後漢書; "บันทึกปลายฮั่น") หวัง ยฺหวิ่น มาจากอำเภอฉี (祁縣) ปัจจุบันอยู่ในมณฑลชานซี (山西省) คนในครอบครัวเป็นข้าราชการภูมิภาคสืบกันมาหลายรุ่น หวัง ยฺหวิ่น เข้ารับราชการเมื่ออายุได้ 19 ปี ได้เป็นผู้ว่ามณฑลยฺวี่ (豫州刺史) ในคราวกบฏโพกผ้าเหลือง (黃巾之亂) ต่อมาเกิดขัดแย้งกับขันทีจาง ร่าง/เตียวเหยียง (張讓) จึงละทิ้งราชการไปเร้นกายในชนบท ครั้นจาง ร่าง เสียชีวิต ขุนศึกเหอ จิ้น/โฮจิ๋น (何進) เข้าสู่อำนาจ หวัง ยฺหวิ่น จึงได้เลื่อนเป็นผู้ว่าเหอหนาน (河南尹)

ใน ค.ศ. 189 เหอ จิ้น ตาย พระนครลั่วหยาง/ลกเอี๋ยง (洛陽) เป็นจลาจล เพราะการขัดกันด้วยอาวุธระหว่างขันทีกับข้าราชการการ ต่ง จั๋ว/ตั๋งโต๊ะ ขุนศึกจากมณฑลเหลียง (凉州) นำกำลังเข้าพระนครและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ จึงสถาปนาหลิว เสีย ขึ้นเป็นจักรพรรดิ แล้วตั้งตัวเป็นอัครมหาเสนาบดี เชิดจักรพรรดิออกทำการต่าง ๆ ตามอำเภอใจ สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว เวลานั้น หวัง ยฺหวิ่น เป็นราชเลขาธิการ (尚書令) คิดกันกับข้าราชการคนอื่น ๆ วางแผนกำจัดต่ง จั๋ว

แผนการของหวัง ยฺหวิ่น ได้รับความร่วมมือจากลฺหวี่ ปู้/ลิโป้ บุตรบุญธรรมของต่ง จั๋ว คนเหล่านั้นจึงปฏิบัติการในคราวที่ต่ง จั๋ว เข้าเฝ้า โดยนำกำลังมาปิดล้อมต่ง จั๋ว ที่นอกประตูวัง แล้วลฺหวี่ ปู้ ก็ลงมือฆ่าต่ง จั๋ว ผู้เป็นบิดา ด้วยตนเอง

เมื่อต่ง จั๋ว สิ้นแล้ว เกิดข่าวลือทั่วไปว่า ราชสำนักเตรียมประหารข้ารับใช้ของต่ง จั๋ว ในมณฑลเหลียงให้ตายตกตามกันไป ประกอบกับไม่มีพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษให้บุคคลดังกล่าวเสียที ผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวนหนึ่งของต่ง จั๋ว ซึ่งมีหลี่ เจว๋/ลิฉุย (李傕) กับกัว ซื่อ/กุยกี (郭汜) เป็นหัวหน้า จึงนำกำลังเข้าพระนครเพื่อยึดอำนาจการปกครอง พวกเขาเอาชนะขุนศึกลฺหวี่ ปู้ ได้ ลฺหวี่ ปู้ จึงคิดหลบหนีจากพระนครไป

ก่อนหลบหนี ลฺหวี่ ปู้ มาชวนหวัง ยฺหวิ่น ให้ไปด้วยกัน แต่หวัง ยฺหวิ่น บอกปัด เพราะไม่อาจทิ้งจักรพรรดิไว้ลำพังได้ กลุ่มกบฏยึดอำนาจสำเร็จ และจับหวัง ยฺหวิ่น พร้อมครอบครัว ไปประหารกลางพระนคร แต่หลานชายคนหนึ่งของหวัง ยฺหวิ่น คือ หวัง หลิง (王淩) เล็ดรอดไปได้ เขาหนีไปพึ่งขุนศึกเฉา เชา/โจโฉ (曹操) และภายหลังได้เป็นแม่ทัพใหญ่ให้เฉา เชา

ใน สามก๊ก

แก้
 
หวัง ยฺหวิ่น/อ้องอุ้น ปรึกษาแผนสังหารต่ง จั๋ว/ตั๋งโต๊ะ กับเตียวฉัน/เตียวเสียน
 
หวัง ยฺหวิ่น กระโจนลงจากประตูเซวียนผิงมอบตัวต่อกบฏ

สามก๊ก นวนิยายจีนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 ของหลัว กวั้นจง/ล่อกวนตง (羅貫中) เอาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จีนสมัยสามก๊กไปแต่งเติมเพิ่มอรรถรส โดยพรรณนาว่า หวัง ยฺหวิ่น ใช้เล่ห์เพทุบายต่าง ๆ เพื่อกำจัดทรราชต่ง จั๋ว/ตั๋งโต๊ะ ซึ่งควบตำแหน่งอุปราช (司徒) และราชครู (太師) เรียกแผนของหวัง ยฺหวิ่น ว่า "แผนสาวงาม" (美人計) และ "แผนห่วงสัมพันธ์" (連環計) จัดเข้าในสามสิบหกยุทธศาสตร์ (三十六計)

บทที่ 8 ของนิยาย (ฉบับมาตรฐาน) ระบุว่า หวัง ยฺหวิ่น คิดแผนสังหารต่ง จั๋ว อยู่จนดึกดื่น เวลานั้น ได้ยินเสียงหญิงสาวร้องคร่ำครวญอยู่ในสวน จึงออกมาดู พบเตียวฉัน/เตียวเสียน หญิงขับร้องซึ่งตนเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ร้องไห้อยู่ จึงเกิดความคิดจะใช้เตียวฉันเป็นกุญแจไขสู่ความบาดหมางระหว่างต่ง จั๋ว และลฺหวี่ ปู้/ลิโป้ บุตรบุญธรรมของต่ง จั๋ว

วันหนึ่ง หวัง ยฺหวิ่น จึงเชิญลฺหวี่ ปู้ มาบ้าน และให้เตียวฉันปรนนิบัติรับรอง ขุนศึกหนุ่มเช่นลฺหวี่ ปู้ ครั้นเห็นเตียวฉันรูปโฉมงดงามสุดจะบรรยาย ก็มีใจปฏิพัทธ์ทันที หวัง ยฺหวิ่น จึงตกปากจะยกเตียวฉันให้ลฺหวี่ ปู้

ไม่กี่วันให้หลัง หวัง ยฺหวิ่น ก็เชิญต่ง จั๋ว บิดาบุญธรรมของลฺหวี่ ปู้ มาบ้าน และให้เตียวฉันปรนนิบัติรับรองอย่างเดียวกัน ก็บังเกิดผลเสมือนกัน คือ ต่ง จั๋ว มีใจเสน่หาในเตียวฉัน ต่ง จั๋ว จึงพานางกลับบ้านไปเป็นอนุภริยาทันที

เช้าถัดมา ลฺหวี่ ปู้ ทราบเรื่องก็รุดไปดูด้วยตาถึงในห้องนอนของต่ง จั๋ว เตียวฉันนั่งสางผมอยู่ พอเห็นลฺหวี่ ปู้ มา ก็แสร้งร่ำไห้คร่ำครวญ ราวกับถูกบังคับขืนใจ ทำให้ลฺหวี่ ปู้ เกิดคืองแค้นต่ง จั๋ว

ราวหนึ่งเดือนให้หลัง ต่ง จั๋ว จับได้ว่า ลฺหวี่ ปู้ ลอบชำเลืองเตียวฉันผู้เป็นเมียน้อยของตัวอยู่เสมอ จึงสั่งห้ามลฺหวี่ ปู้ เข้ามาบ้านแห่งนี้อีก แต่เมื่อต่ง จั๋ว ไปเฝ้าพระมหากษัตริย์ ลฺหวี่ ปู้ ก็ลอบเข้ามาหาเตียวฉันที่ซุ้มเฟิ่งอี๋ (鳳儀亭; "ซุ้มการะเวก") แล้วโอ้โลมนาง ฝ่ายต่ง จั๋ว เมื่อเห็นว่า ลฺหวี่ ปู้ หายไป ก็สังหรณ์ใจ จึงรีบกลับบ้านมาพบคนทั้งสองอยู่ด้วยกัน ต่ง จั๋ว ก็เอาทวนของลฺหวี่ ปู้ ซัดลฺหวี่ ปู้ แต่ลฺหวี่ ปู้ กระโจนหนีไปได้ ยิ่งทำให้รอยร้าวของทั้งสองหยั่งลึกลงอีก ลฺหวี่ ปู้ จึงมาปรับทุกข์กับหวัง ยฺหวิ่น

หวัง ยฺหวิ่น เห็นได้ทีก็ชวนลฺหวี่ ปู้ ฆ่าต่ง จั๋ว เพื่อปราบปรามภัยให้แผ่นดิน เมื่อแรก ลฺหวี่ ปู้ อิดเอื้อน เพราะเกรงผู้คนจะครหาว่า ฆ่าบิดา หวัง ยฺหวิ่น จึงว่า คนละแซ่กัน จะเป็นบุตรบิดากันได้อย่างไร โดยกล่าวว่า "ตัวแม่ทัพแซ่ลฺหวี่ ตัวราชครูแซ่ต่ง ตอนซัดทวนใส่ท่าน มันนึกถึงเรื่องพ่อลูกไหม" (將軍自姓呂,太師自姓董,擲戟之時,豈有父子情耶?) ลฺหวี่ ปู้ พอได้ฟังก็ตกลงใจจะร่วมสังหารต่ง จั๋ว

แต่เมื่อแผนกำจัดต่ง จั๋ว สำเร็จแล้ว ลูกน้องของต่ง จั๋ว คือ หลี่ เจว๋/ลิฉุย และกัว ซื่อ/กุยกี นำกำลังมาล้อมพระราชวัง จะเอาตัวหวัง ยฺหวิ่น ไปฆ่าแก้แค้นให้ต่ง จั๋ว ผู้เป็นนาย หวัง ยฺหวิ่น จึงเชิญพระเจ้าหลิว เสีย หรือหองจูเหียบ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระเยาว์ เสด็จขึ้นยังประตูเซวียนผิง (宣平門; "ประตูสันติขจร") กลุ่มกบฏก็พากันไปล้อมอยู่เบื้องล่าง เมื่อได้คำมั่นจากพวกกบฏว่า จะไม่ทำอันตรายต่อพระมหากษัตริย์แล้ว หวัง ยฺหวิ่น ก็ยอมมอบตัวต่อกบฏ โดยกระโจนลงจากประตูเซวียนผิง เหล่ากบฏก็รุมฟันแทงหวัง ยฺหวิ่น ขาดใจตาย หลี่ เจว๋ กับกัว ซื่อ ก็ได้อำนาจการปกครองต่อไป

อ้างอิง

แก้
  1. de Crespigny, Rafe (2007). A biographical dictionary of Later Han to the Three Kingdoms (23–220 AD). Brill. p. 841. ISBN 978-90-04-15605-0.