สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ (4 กันยายน พ.ศ. 2422 — 25 กันยายน พ.ศ. 2422) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นพระโสทรานุชาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระโสทรเชษฐภาดาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และเป็นพระปิตุลาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 5
เจ้าฟ้าชั้นเอก
ประสูติ4 กันยายน พ.ศ. 2422
พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพพระมหานคร
สิ้นพระชนม์25 กันยายน พ.ศ. 2422 (0 ปี 21 วัน)
พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพพระมหานคร
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระประวัติ

แก้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ ประสูติวันพฤหัสบดี แรม 4 ค่ำ เดือน 10 ปีเถาะ เอกศก จ.ศ. 1241 ตรงกับวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2422 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ บรมนริศรสมบัติเทวราช จุฬาลงกรณ์นาถปรมางกูร สมบูรณอุกฤษฐศักดิ์ อุโภตปักษ์วิสุทธิพงศ์ มหามกุฎราชรวิวงศ์วราวัตรลักษณสมบัติ ขัตติยราชกุมาร

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ สิ้นพระชนม์ในเขตพระราชฐานชั้นใน เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 11 ปีเถาะ เอกศก จ.ศ. 1241 ตรงกับวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2422 พระชันษา 21 วัน ได้เชิญพระศพออกทางประตูพรหมศรีสวัสดิ์ไปตั้งยังหอธรรมสังเวช[1]

หลังพระองค์สิ้นพระชนม์ครบ 100 วัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชเทวีทรงสถาปนาพระพุทธรูปปางสมาธิ เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ โดยโปรดให้ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นั้นไว้ที่ศาลาการเปรียญ วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร[2] ปัจจุบันอัญเชิญไปไว้ในพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[3]

ในการบำเพ็ญพระราชกุศลทุกวันที่ 31 พฤษภาคม เพื่ออุทิศถวายสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เชิญพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย พระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ พระอัฐิสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง พระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา พระอัฐิพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ออกตั้งด้วย[4] ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันว่า[5]

"...เจ้าพนักงานเชิญพระอังคารขึ้นยานุมาศมีกระบวนแห่เทวดาเครื่องสูงกลองชะนะไปลงท่าพระ เชิญพระอังคารลงเรือชัย ๒ ลำมีเรือแห่ไปลอยที่หน้าวัดปทุมคงคาตามอย่างโบราณประเพณี แล้วกระบวนแห่ซึ่งเชิญพระอังคารไปส่งลงเรือ แล้วกลับเข้ามารับพระบรมอัฏฐิจากพระบรมมหาราชวัง เชิญออกพระที่นั่งทรงธรรมสดับปกรณ์ดังเช่นแต่ก่อน พระบรมอัฏฐิที่เชิญออกมาวันนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๑ สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ๑ เชิญสถิตย์บนบุษบกทองคำเปลวกลางพระที่นั่งทรงธรรม สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร พระองค์เจ้านภางค์พิพัทธพงศ์ เชิญสถิตย์ในบุษบกห้ายอดแล้วพระราชทานรางวัลเจ้านายข้าราชการที่ถวายของในการพระเมรุ แล้วเสด็จขึ้นข้างใน…"

พระเกียรติยศ

แก้
ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ

แก้
  • สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ (4 กันยายน พ.ศ. 2422 - 25 กันยายน พ.ศ. 2422)

ภายหลังสิ้นพระชนม์

  • สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478)
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478)

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. หอธรรมสังเวช หอนิเพทพิทยา และ หออุเทศทักษิณา ที่ตั้งสำหรับตั้งพระศพเจ้านายฝ่ายใน หอบรรณสารสนเทศ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  2. สมบัติ จำปาเงิน. รัชกาลที่ ๕ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช. กรุงเทพฯ : 2020 เวิลด์ มีเดีย จำกัด, 2541.[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
  3. ประมวลจารึกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2517, 95-96
  4. การพระราชกุศล วันที่ ๓๑ พฤษภาคม หอสมุดพระวชิรญาณ
  5. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ฉบับประจำวันที่ ๔๕๐๔ วันพฤหัสบดีแรม ๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๒๔๒[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]