สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี (21 เมษายน พ.ศ. 2424 – 15 สิงหาคม พ.ศ. 2424) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา | |
---|---|
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 5 เจ้าฟ้าชั้นเอก | |
ประสูติ | 21 เมษายน พ.ศ. 2424 พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพพระมหานคร |
สิ้นพระชนม์ | 15 สิงหาคม พ.ศ. 2424 (0 ปี 116 วัน) พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพพระมหานคร |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระมารดา | สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า |
ธรรมเนียมพระยศของ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา | |
---|---|
การทูล | ใต้ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พ่ะย่ะค่ะ/เพคะ |
พระประวัติ
แก้พระชนม์ชีพช่วงต้น
แก้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารีเป็นพระราชบุตรลำดับที่ 33 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อเวลา 14.52 น.[1] ของวันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเส็ง ตรีศก จ.ศ. 1243 ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2424[2] หรือหลังงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีเพียงเดือนเศษ[1] พระองค์เป็นพระราชบุตรร่วมพระชนกชนนีพระองค์ที่สาม จากพี่น้องทั้งหมดแปดพระองค์คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร,[3] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์,[4] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์,[5] สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร,[6] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี,[7] สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก[8] และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (ไม่มีพระนาม)[9]
ใน จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ 5 ได้บันทึกเรื่องราวของพระราชธิดาพระองค์นี้ว่า "วันนี้ [21 เมษายน พ.ศ. 2424] สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเป็นพระบุตรี เวลาบ่าย ๒ โมง ๕๒ มินิต" ต่อมาวันที่ 24 เมษายนได้จัดให้การสมโภชเจ้าฟ้าประสูติใหม่ขณะมีพระชันษาสามวัน และวันที่ 29 พฤษภาคมปีเดียวกันจึงมีการสมโภชเดือนและตั้งพระนาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา[1]
สิ้นพระชนม์
แก้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารีสิ้นพระชนม์เมื่อวันจันทร์ แรม 5 ค่ำ เดือน 9 ปีมะเส็ง ตรีศก จ.ศ. 1243 ตรงกับวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2424 ขณะพระชนมายุ 3 เดือน 24 วัน แต่สิ้นพระชนม์ด้วยเหตุอันใดนั้น ไม่เป็นที่ปรากฏ[10] พระศพถูกบรรจุไว้ในอนุสรณสถานรังษีวัฒนาภายในสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์[10] ดังหลักฐานที่มีรายละเอียดหลังการสิ้นพระชนม์คือ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ 5 ความว่า "...จนเวลา ๓ โมงเศษเสด็จทรงพระดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระนางเธอและข้าราชการฝ่ายในไปตามถนน ข้ามสะพานหกไปประทับณวัดราชบพิธ เสด็จเข้าในพระอุโบสถ ทรงจุดเทียนนมัสการหม่อมเจ้าพระอรุณนิภาคุณากรถวายศีลแล้วถวายพระพรจบแล้วทรงประเคน พระสงฆ์รับพระราชทานฉันทั้งวัด ในการถวายผ้าวรรษาวาสิกพัสตรสำหรับวันนี้เกณฑ์พระเจ้าลูกเธอทำทั้งสิ้น พระฉันแล้วลูกเธอทรงถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์แล้ว ท้าวอินทรสุริยาถวายผ้าวรรษาสาวิกพัสตร ซึ่งเป็นของเกณฑ์เจ้าจอมแผ่นดินปัตยุบันนี้ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปที่ข้างวัดที่ฝังพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา ทรงทอดผ้าสดัปกรณ์และสมเด็จพระนางเจ้าทรงทอดแล้วเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง"[10]
การระลึกถึง
แก้21 ธันวาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเททองหล่อพระพุทธรูป ณ พระที่นั่งอาภรณพิโมกขปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ทรงอุทิศพระราชกุศลพระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา และพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์[11] ซึ่งพระพุทธรูปที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่ออุทิศแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภาเป็นพระพุทธรูปสมาธิประดิษฐานไว้ในวัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[12]
ทุกวันที่ 31 พฤษภาคมจะมีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เชิญพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ พระรูปสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ พระอัฐิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง พระรูปสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา และพระอัฐิพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ออกตั้งด้วย[13]
พงศาวลี
แก้อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5, หน้า 207
- ↑ ราชสกุลวงศ์, หน้า 88-89
- ↑ ราชสกุลวงศ์, หน้า 86
- ↑ ราชสกุลวงศ์, หน้า 87
- ↑ ราชสกุลวงศ์, หน้า 91
- ↑ ราชสกุลวงศ์, หน้า 94
- ↑ ราชสกุลวงศ์, หน้า 98
- ↑ ราชสกุลวงศ์, หน้า 101
- ↑ ราชสกุลวงศ์, หน้า 104
- ↑ 10.0 10.1 10.2 พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5, หน้า 211-213
- ↑ "การหล่อพระพุทธรูป" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 4 (36): 287. 21 ธันวาคม 2430.
- ↑ "การพระราชกุศลที่พระราชวังบางปอิน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 6 (32): 272. 10 พฤศจิกายน 2432.
- ↑ "การพระราชกุศล วันที่ ๓๑ พฤษภาคม". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
- บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2017-05-15.
- จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, นายแพทย์. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ลายคำ, 2552