สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (9 มีนาคม พ.ศ. 2281 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2369) พระนามเดิม นาค เป็นอรรคชายาเดิม[1]ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นสมเด็จพระพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
สมเด็จพระพันปีหลวง
ดำรงพระยศ7 กันยายน พ.ศ. 2353 - 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367
ก่อนหน้ากรมพระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง)
ถัดไปกรมพระศรีสุลาลัย
พระราชสมภพ9 มีนาคม พ.ศ. 2281
บ้านอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม อาณาจักรอยุธยา
สวรรคต25 พฤษภาคม พ.ศ. 2369 (88 พรรษา)
พระราชวังหลวง กรุงเทพพระมหานคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์
ถวายพระเพลิง2 พฤษภาคม พ.ศ. 2371
พระเมรุมาศ ทุ่งพระเมรุ
บรรจุพระอัฐิหอพระธาตุมณเฑียร
คู่อภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระราชบุตร
ราชสกุลณ บางช้าง (โดยพระราชสมภพ)
ราชวงศ์จักรี(สถาปนา)
พระราชบิดาทอง ณ บางช้าง
พระราชมารดาสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี
ศาสนาเถรวาท

พระราชประวัติ

ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี มีพระนามเดิมว่า นาค เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ แรม 5 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง นพศก จ.ศ. 1099 ตรงกับวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2281 (เมื่อเทียบปฏิทินสุริยคติแล้ว) ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งอาณาจักรอยุธยา เป็นพระธิดาของพระชนกทอง ณ บางช้าง และสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี (พระนามเดิม สั้น หรือมาก) เป็นคหบดีเชื้อสายมอญ[2]ทั้งสองเป็นญาติใกล้ชิดกัน

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี มีพระภราดาพระภคินีร่วมพระชนกพระชนนีทั้งสิ้น 10 คน โดยทุกคนล้วนได้รับพระราชทานยศเป็น "เจ้าคุณ"[3] ได้แก่

  1. เจ้าคุณหญิงแวน (บางแห่งว่าแว่น[4])
  2. เจ้าคุณหญิงทองอยู่ (เรียกกันว่าเจ้าคุณผู้ใหญ่) สมรสกับขุนทอง ราชินิกุลบางช้าง มีบุตร 2 คน คือ
    1. เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (สังข์)
    2. เจ้าจอมหงส์ ในรัชกาลที่ 1
  3. เจ้าคุณชายชูโต เป็นต้นราชินิกุลชูโต สมรสกับคุณทองดี มีบุตร 1 คน คือ
    1. คุณหญิงม่วง สมรสกับพระยาสมบัติบาล (เสือ) มีบุตร 6 คน คือ
      1. ท่านผู้หญิงน้อย สมรสกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)
      2. คุณหญิงเพ็ง ชูโต
      3. เจ้าพระยาพลเทพ (เอี่ยม ชูโต)
      4. คุณหญิงหว้า ชูโต
      5. เจ้าพระยาสุรเสนา (สวัสดิ์ ชูโต)
      6. พระยาสมบัติยาธิบาล (นาค ชูโต)
  4. สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี อภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1
  5. เจ้าคุณชายแตง
  6. เจ้าคุณหญิงชีโพ มีบุตรคนเดียว คือ
    1. หงส์ (ถูกชาวพม่าจับไปเป็นเชลย)[4]
  7. เจ้าคุณชายพู
  8. เจ้าคุณหญิงเสม
  9. เจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล (เรียกกันว่าเจ้าคุณโต) สมรสกับเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เป็นต้นราชินิกุลบุนนาค
  10. เจ้าคุณหญิงแก้ว สมรสกับพระยาสมุทรสงคราม (ศร) เป็นต้นลราชินิกุล ณ บางช้าง

ร่วมพระชนกต่างพระชนนี คือ เจ้าจอมมารดามา สมรสกับสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก

พระราชนิพนธ์ "ปฐมวงศ์" ระบุว่า คุณนาคมีสิริโฉมงดงามเป็นที่ร่ำลือ เมื่อข้าหลวงสอดแนมของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์กราบบังคมทูลทรงทราบ จึงรับสั่งให้กรมมหาดไทยออกท้องตราสู่ขอมาเป็นนางใน แต่พระชนกพระชนนีและพระประยูรญาติไม่สมัครใจ จึงขอให้สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกซึ่งขณะนั้นดูแลการออกท้องตราในกรมมหาดไทยช่วยป้องกันแก้ไข สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกจึงขอให้ข้าหลวงช่วยกราบบังคมทูลว่าตนได้สู่ขอนาคให้บุตรชายที่สี่ซึ่งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ได้นัดหมายวันวิวาห์แล้ว เมื่อทรงทราบก็พระราชทานพระอนุญาต หลวงยกกระบัตรจึงได้คุณนาคมาเป็นภริยาในครั้งนั้น[5]

หลังเสียกรุงศรีอยุธยาและในสมัยกรุงธนบุรี

พระบรมราชินีแห่ง
ราชวงศ์จักรี
 สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
 สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
 สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
 สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา

เมื่อพ.ศ. 2310 พม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตก หลวงยกกระบัตรจึงตัดสินใจอพยพครอบครัวเข้าไปอยู่ในป่าลึก ในระหว่างนี้แก้ว (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์) พี่สาวของหลวงยกกระบัตรได้ให้กำเนิดธิดานามว่าบุญรอด (ต่อมาคือสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี) ครั้นพระยาวชิรปราการ (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ได้รวบรวมกำลังขับไล่พม่าออกไปหมดแล้ว ได้ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ หลวงยกกระบัตรจึงได้อพยพครอบครัวกลับภูมิลำเนาเดิม ในช่วงนี้เองนาคได้ให้กำเนิดบุตรคนที่สี่ชื่อฉิม (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) หลังจากนั้นหลวงยกกระบัตรกลับเข้ารับราชการอยู่กับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์ต่อมาจนเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในเวลาต่อมา

ในสมัยกรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้รับสตรีชาวเวียงจันทน์ชื่อแว่น (ต่อมาคือเจ้าจอมแว่น ในรัชกาลที่ 1) มาเป็นอนุภรรยา ท่านผู้หญิงไม่พอใจอย่างยิ่ง จึงใช้ดุ้นแสมตีศีรษะนางแว่น เจ้าพระยาทราบก็โกรธมาก ทั้งสองจึงได้แยกกันอยู่นับแต่นั้น[6]

ในรัชกาลที่ 1

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น ท่านผู้หญิงนาคก็ไม่เคยเข้ามาอาศัยอยู่ในพระบรมมหาราชวังเลย แต่อาศัยอยู่ที่พระราชวังเดิมกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระราชโอรส และจะมาเยี่ยมพระราชธิดาในพระบรมมหาราชวังแต่เพียงครั้งคราวเท่านั้น ซึ่งจะออกจากวังก่อนประตูปิดทุกครั้งไป ทั้งนี้เธอไม่ยอมใช้ราชาศัพท์กับสามีหรือพระราชโอรสกับพระราชธิดาแต่อย่างใด แต่เรียกสามีว่าเจ้าคุณ เรียกพระราชโอรสว่า พ่อ และเรียกพระราชธิดาว่า แม่ โดยเธอยินดีที่จะใช้ภาษาสามัญ[7] ส่วนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็มิได้สถาปนาท่านผู้หญิงนาคขึ้นเป็นเจ้าแต่อย่างใด ดังใน "ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม" พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุว่า[8]

...ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธ​ยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ เป็นท่านผู้หญิงเดิม มีพระราชโอรส พระราชธิดาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมใหญ่ ถึง ๔ พระองค์ ก็ไม่เห็นท่านยกย่องตั้งแต่งอย่างไร แต่คนทั้งปวงเข้าใจว่า ท่านเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้า ก็นับถือว่าเป็นพระมเหสี...

สมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ 2

ถึงปีมะเมีย วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2353 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสถาปนาพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเป็นสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์[9] เทียบกับกรมพระเทพามาตย์ตามโบราณราชประเพณีเก่าตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา[10]

ในช่วงปลายรัชกาลที่ 2 พระองค์ได้ทรงย้ายจากพระนิวาสสถานเดิมริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี เข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

สวรรคต

สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดี แรม 5 ค่ำ เดือน 6 อัฐศก จ.ศ. 1188 ตรงกับวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2369 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนัดดา สิริพระชนมายุ 89 พรรษา พระบรมศพประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท[11] พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระโกศทองใหญ่ทรงพระบรมศพ และโปรดให้สร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่ขึ้น ถึงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2371 จึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง แล้วนำพระบรมอัฐิไปประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง[12]

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเฉลิมพระนามาภิไธยว่ากรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเฉลิมพระนามาภิไธยใหม่เป็น สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี [13]

พระราชกรณียกิจ

 
พระปรางค์ของวัดอัมพวันเจติยาราม นิวาสสถานเดิมของพระองค์

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีทรงสร้างวัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม ขึ้นในบริเวณนิวาสสถานเดิมของพระองค์เพื่ออุทิศถวายแด่พระชนนี (สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี) ไว้ที่องค์พระปรางค์ด้วย

พระราชบุตร

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีทรงอภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งยังเป็นหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี ประมาณ พ.ศ. 2301 - พ.ศ. 2304 มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 9 พระองค์[14] ได้แก่

ลำดับ พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ พระชันษา พระโอรส-ธิดา
1. เจ้าฟ้าหญิง
(ไม่ปรากฏพระนาม)
ไม่มีข้อมูล สิ้นพระชนม์แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา -
2. เจ้าฟ้าชาย
(ไม่ปรากฏพระนาม)
ไม่มีข้อมูล สิ้นพระชนม์แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา -
3. เจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่
(พระสนมในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)
ไม่มีข้อมูล 29 กันยายน พ.ศ. 2322 ไม่มีข้อมูล หม่อมเหม็น
(พระนามเดิม สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต)
4. เจ้าฟ้าชายฉิม
(พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)
24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2311 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 57 พรรษา 73 พระองค์
(พระราชสันตติวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)
5. เจ้าฟ้าหญิงแจ่ม
(กรมหลวงศรีสุนทรเทพ)
พ.ศ. 2313 7 สิงหาคม พ.ศ. 2351 38 พรรษา -
6. เจ้าฟ้าหญิง
(ไม่ปรากฏพระนาม)
ไม่มีข้อมูล สิ้นพระชนม์แต่ครั้งกรุงธนบุรี -
7. เจ้าฟ้าชายจุ้ย
(สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์)
29 มีนาคม พ.ศ. 2315 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2360 45 พรรษา 40 พระองค์
(ราชสกุลวงศ์ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์)
8. เจ้าฟ้าหญิง
(ไม่ปรากฏพระนาม)
ไม่มีข้อมูล สิ้นพระชนม์แต่ครั้งกรุงธนบุรี -
9. เจ้าฟ้าหญิงประไพวดี
(กรมหลวงเทพยวดี)
14 มกราคม พ.ศ. 2320 23 สิงหาคม พ.ศ. 2366 46 พรรษา -

พระอิสริยยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
การทูลใต้ฝ่าละอองพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพระพุทธเจ้าข้า/เพคะ
  • นาค (9 มีนาคม พ.ศ. 2280 - 7 กันยายน พ.ศ. 2353)
  • กรมพระอมรินทรามาตย์ (7 กันยายน พ.ศ. 2353 - รัชกาลที่ 4)

หลังสวรรคต

  • กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (รัชกาลที่ 4 - รัชกาลที่ 5)
  • สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (รัชกาลที่ 6 - ปัจจุบัน)

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

มีนักแสดงผู้รับบท สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ได้แก่

พงศาวลี

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. ปฐมวงศ์, หน้า 8
  2. โครงกระดูกในตู้
  3. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544. 490 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-222-648-2
  4. 4.0 4.1 จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (หม่อมหลวงศรีฟ้า ลดาวัลย์ มหาวรรณ). เวียงวัง เล่ม ๑. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์เพื่อนดี บริษัท อักษรโสภณ จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2551. 300 หน้า. หน้า หน้าที่ 60. ISBN 978-974-253-061-7
  5. ปฐมวงศ์, หน้า 7-8
  6. ลูกแก้วเมียขวัญ, หน้า 138
  7. ลูกแก้วเมียขวัญ, หน้า 138-139
  8. ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม
  9. พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒:๑๙-เรื่องสถาปนากรมสมเด็จพระพันปีหลวง
  10. ราชสกุลวงศ์, หน้า 209
  11. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓ : ๒๐. สมเด็จพระอมรินทรามาตย์สวรรคต
  12. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓ :๔๑. งานพระบรมศพสมเด็จพระอมรินทรามาตย์
  13. ราชสกุลวงศ์, หน้า 11 (เชิงอรรถ)
  14. ราชสกุลวงศ์, หน้า 9-11
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 ลำดับราชินิกูลบางช้าง. พระนคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร. 2501.
  16. พงษาวดารราชินิกูลบางช้าง (PDF). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทย สพานยศเส. 2457.
บรรณานุกรม
  • คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว.. โครงกระดูกในตู้. กรุงเทพฯ : สยามรัฐ, พิมพ์ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2547. 109 หน้า. ISBN 974-690-131-1
  • จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (หม่อมหลวงศรีฟ้า ลดาวัลย์ มหาวรรณ). เวียงวัง เล่ม ๑. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์เพื่อนดี บริษัท อักษรโสภณ จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2551. 300 หน้า. หน้า หน้าที่ 256. ISBN 978-974-253-061-7
  • พระบาทสมเด้จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ปฐมวงศ์. [ม.ป.ท.] : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2470. 57 หน้า.
  • สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554. 296 หน้า. หน้า 68. ISBN 978-974-417-594-6

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ถัดไป
กรมพระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง)
(กรุงธนบุรี)
   
สมเด็จพระพันปีหลวง
(3 กันยายน พ.ศ. 2353 - 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367)
  สมเด็จพระศรีสุลาลัย
พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี   กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี
(3 กันยายน พ.ศ. 2353 – 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2369)
  พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี