สภาสามัญชนสหราชอาณาจักร
สภาสามัญชน[2][c] (อังกฤษ: House of Commons) เป็นสภาล่างของรัฐสภาสหราชอาณาจักร และประชุม ณ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เช่นเดียวกับสภาขุนนางซึ่งเป็นสภาสูง
คณะสามัญชนผู้ทรงเกียรติแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือในที่ประชุมรัฐสภา The Honourable the Commons of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland in Parliament assembled | |
---|---|
รัฐสภาชุดที่ 59 | |
ตราสัญลักษณ์สภาสามัญชน | |
ธงสภาสามัญชน | |
ประเภท | |
ประเภท | เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร |
ผู้บริหาร | |
เซอร์ ลินด์เซย์ ฮอยล์ ตั้งแต่ 4 พฤษจิกายน ค.ศ. 2019 | |
นัส กานี, อนุรักษนิยม ตั้งแต่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 | |
เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์, แรงงาน ตั้งแต่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 | |
ลูซี พาวเวลล์, แรงงาน ตั้งแต่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 | |
เซอร์ อลัน แคมป์เบลล์, แรงงาน ตั้งแต่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 | |
ริชี ซูแน็ก, อนุรักษนิยม ตั้งแต่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 | |
คริส ฟิลิป, อนุรักษนิยม ตั้งแต่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 | |
สจวต แอนดรูว์, อนุรักษนิยม ตั้งแต่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 | |
โครงสร้าง | |
สมาชิก | 650 |
กลุ่มการเมือง | รัฐบาลในสมเด็จฯ
|
ระยะวาระ | ไม่เกินห้าปี[a] |
การเลือกตั้ง | |
แบ่งเขตคะแนนสูงสุด | |
การเลือกตั้งครั้งล่าสุด | 4 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 |
การเลือกตั้งครั้งหน้า | ก่อน 15 สิงหาคม ค.ศ. 2029 |
การกำหนดเขตเลือกตั้ง | ทุก ๆ 8 ปี เสนอโดยคณะกรรมการเขตเลือกตั้ง |
ที่ประชุม | |
ห้องประชุมสภาสามัญชน พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ นครเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร | |
เว็บไซต์ | |
House of Commons |
สภาสามัญชนมีสมาชิกรัฐสภา (Member of Parliament; MP) 650 คน ได้รับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดเพื่อเป็นตัวแทนของแต่ละเขต และดำรงตำแหน่งจนมีการยุบสภาโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการยุบและเรียกประชุมรัฐสภา ค.ศ. 2022
สภาสามัญชนแห่งอังกฤษเริ่มมีวิวัฒนาการตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 13 และ 14 โดยในปี ค.ศ. 1707 หลังจากประเทศอังกฤษเข้าร่วมสหภาพทางการเมืองกับสกอตแลนด์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "สภาสามัญชนแห่งบริเตนใหญ่" ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เมื่ออังกฤษเข้าร่วมสหภาพทางการเมืองกับไอร์แลนด์จึงกลายเป็น "สภาสามัญชนแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์" จากปี ค.ศ. 1800 นั้น "สหราชอาณาจักร" เริ่มหมายถึง สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ และกลายเป็นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือเมื่อเสรีรัฐไอริชประกาศอิสรภาพในปี ค.ศ. 1922 ทำให้สภาสามัญชนได้ชื่อที่คงอยู่จนถึงปัจจุบัน
ภายใต้พระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. 1911 และ ค.ศ. 1949 นั้น ได้ลดอำนาจของสภาขุนนางที่สามารถปัดตกร่างกฎหมายได้ ให้เหลืออำนาจในการยับยั้งกฎหมายชั่วคราวเท่านั้น
รัฐบาลขึ้นตรงต่อสภาสามัญชนแต่เพียงผู้เดียว และนายกรัฐมนตรีสามารถดำรงตำแหน่งตราบใดที่ยังสามารถรักษาความไว้วางใจของเสียงข้างมากในสภาได้
บทบาท
แก้ความสัมพันธ์กับรัฐบาลในสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน
แก้แม้ว่าในทางกฎหมายสภาสามัญชนไม่ได้เลือกนายกรัฐมนตรีนั้น แต่โดยธรรมเนียมปฏิบัตินายกรัฐมนตรีขึ้นตรงกับสภาสามัญชน จึงต้องได้รับการสนับสนุนจากสภาด้วย ดังนั้นจุดยืนของพรรคการเมืองในสภาจึงมีผลต่อการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้นหากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่างลง พระมหากษัตริย์จึงแต่งตั้งผู้ที่ได้รับการสนับสนุนของสภา หรือผู้ที่มีแนวโน้มได้รับการสนับสนุนของสภาซึ่งโดยปกติคือหัวหน้าของพรรคที่มีที่นั่งมากที่สุดในสภา และหัวหน้าพรรคที่มีที่นั่งลำดับรองจะได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าฝ่ายค้าน โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963 นั้น นายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกสภาสามัญชนโดยธรรมเนียม มิได้แต่งตั้งจากสภาขุนนาง
สภาอาจแสดงเจตนารมณ์ว่าไม่สนับสนุนรัฐบาลโดยการไม่สนับสนุนญัตติไว้วางใจ หรือโดยการผ่านญัตติไม่ไว้วางใจ ญัตติทั้งสองมีการใช้ถ้อยคำแตกต่างกัน เช่น "...โดยที่สภานี้ไม่มีความไว้วางใจในรัฐบาลในสมเด็จฯ" มีร่างกฎหมายหลายประเภทในอดีตที่ถือว่าเกี่ยวข้องกับความไว้วางใจด้วย ถึงแม้ว่าไม่มีการกล่าวถึงอย่างโจ่งแจ้งก็ตาม โดยมักเป็นร่างกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปียังถือว่าเป็นพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความไว้วางใจในรัฐบาล เมื่อสภาไม่ไว้วางใจในรัฐบาลอีกต่อไป นายกรัฐมนตรีย่อมต้องลาออกจากตำแหน่ง หรือขอให้พระมหากษัตริย์ยุบรัฐสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไป
ก่อนปี ค.ศ. 2011 รัฐสภาอาจดำรงวาระได้ไม่เกิน 5 ปี แต่นายกรัฐมนตรีสามารถเลือกให้มีการยุบสภาก่อนครบวาระได้โดยรับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตั้งแต่มีการตราพระราชบัญญัติการยุบและเรียกประชุมรัฐสภา ค.ศ. 2022 หรือก่อนหน้านั้นคือพระราชบัญญัติกำหนดวาระรัฐสภา ค.ศ. 2011 ได้มีการกำหนดให้รัฐสภาดำรงวาระ 5 ปี แต่สมาชิกรัฐสภาจำนวน 2 ใน 3 ของจำนวนที่นั่งรัฐสภาทั้งหมด (ไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าจะมีที่นั่งว่างลงหรือมีสิทธิออกเสียงหรือไม่) สามารถเห็นชอบให้มีการเลือกตั้งทั่วไปได้ หรือการผ่านญัตติไม่ไว้วางใจที่ไม่มีการผ่านญัตติไว้วางใจภายใน 14 วันหลังจากนั้น (ซึ่งอาจจะเป็นการไว้วางใจรัฐบาลชุดเดิมหรือชุดใหม่ก็ได้) ซึ่งหากใช้กลไกสุดท้ายที่กล่าวมา รัฐบาลสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้โดยไม่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป หากอิงตามข้อมูลในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2022 นั้น นายกรัฐมนตรี 4 คนจาก 11 คนล่าสุดนั้นได้รับตำแหน่งโดยตรงหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป ส่วนคนอื่น ๆ ได้รับตำแหน่งจากการลาออกของนายกรัฐมนตรีคนก่อน[d]
นายกรัฐมนตรีย่อมลาออกทันทีหากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมได้หรือจัดให้มีข้อตกลงไว้วางใจและสนับสนุนพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือหากมีการผ่านญัตติไม่ไว้วางใจ หรือโดยเหตุผลส่วนตัว ซึ่งหากมีการลาออก ผู้ที่ได้รับตำแหน่งต้องเป็นผู้ที่สามารถได้รับความไว้วางใจจากเสียงส่วนมากในสภาได้ แต่หากสภาอยู่ในสภาวะปริ่มน้ำ โดยธรรมเนียมผู้ที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ของพรรคที่อดีตนายกรัฐมนตรีสังกัด ในปัจจุบันพรรคการเมืองใหญ่ ๆ มักนิยมเขียนธรรมนูญพรรคให้มีวิธีการเลือกหัวหน้าพรรคใหม่โดยตายตัว[e]ก่อนปี ค.ศ. 1965 พรรคอนุรักษนิยมไม่มีกลไกเลือกหัวหน้าพรรคใหม่อย่างเป็นทางการ ในปี ค.ศ. 1957 เมื่อแอนโทนี อีเดนลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยที่ไม่ได้แนะนำผู้ที่ให้มาแทนที่เขานั้น พรรคไม่สามารถเลือกผู้ให้เป็นหัวหน้าพรรคต่อได้ สมเด็จพระราชินีนาถจึงต้องแต่งตั้งแฮโรลด์ แมคมิลแลนเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรี
สมาชิกเป็นรัฐมนตรี
แก้โดยธรรมเนียม รัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาสามัญชนหรือสมาชิกสภาขุนนาง โดยมีไม่กี่คนที่เป็นบุคคลภายนอก แต่ถึงกระนั้นก็ได้เข้าสภาผ่านการเลือกตั้งซ่อมหรือการแต่งตั้งให้เป็นขุนนาง โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1902 นายกรัฐมนตรีทุกคนเป็นสมาชิกสภาสามัญชน โดยไม่ได้เป็นอย่างนั้นเพียงช่วงเดียวคือเมื่อช่วงระหว่างสมัยประชุมหน้าร้อนปี ค.ศ. 1963 เมื่ออเล็ก ดักลาส-โฮม (เอิร์ลแห่งโฮมที่ 14 ณ เวลานั้น) ออกจากสถานะการเป็นขุนนางสามวันหลังจากเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ การเปิดสมัยประชุมรัฐสภาถูกเลื่อนออกไปเพื่อรอผลการเลือกตั้งซ่อมที่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งในขณะนั้นเสียชีวิต แต่เขาก็ชนะการเลือกตั้งตามคาด โดยชนะด้วยสัดส่วนคะแนนเสียงสูงที่สุดในสกอตแลนด์ภายในพรรคของเขา ซึ่งถ้าหากเขาไม่ชนะ ก็ต้องลาออกตามหน้าที่ทางรัฐธรรมนูญ
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 รัฐมนตรีเกือบทั้งหมดมาจากสภาสามัญชน ยกเว้นสามตำแหน่งที่ผูกพันกับสภาขุนนาง
มีขุนนางดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเพียงไม่กี่ครั้ง (ยกเว้น ลอร์ดปริวีซีล ประธานฝ่ายตุลาการอังกฤษ และผู้นำสภาขุนนาง) ในกาลปัจจุบัน ซึ่งมีตัวอย่างที่สำคัญ เช่น ปีเตอร์ แคริงตัน ลอร์ดแคริงตันที่ 6 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 ถึงปี ค.ศ. 1982 เดวิด แคเมอรอน อดีตนายกรัฐมนตรีที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เดวิด ยัง ลอร์ดยังแห่งแกรฟแฮม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงจัดหางานในปี ค.ศ. 1985 ลอร์ดแมนเดลสันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธุรกิจ ลอร์ดอโดนิสดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บารอนเนสอาโมสดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนานานาชาติ บารอนเนสมอร์แกนแห่งโคตส์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และลอร์ดโกล์ดสมิธแห่งริชมอนด์พาร์คที่กำลังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อสิ่งแวดล้อม อาหาร และกิจการชนบท และรัฐมนตรีเพื่อการพัฒนานานาชาติ
เนื่องจากสมาชิกสภาสามัญชนขึ้นตรงกับสภาสามัญชนและมาจากการเลือกตั้งไม่เหมือนกับสมาชิกสภาขุนนางที่มาจากการแต่งตั้งหรือการตกทอดแห่งตำแหน่ง จึงทำให้รัฐมนตรีมีความรับผิดชอบต่อสภา นายกรัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งและไล่รัฐมนตรีออกได้ตามอัธยาศัย แต่ในทางกฎหมายผู้ที่แต่งตั้งและไล่รัฐมนตรีออกคือองค์อธิปัตย์
การตรวจสอบรัฐบาล
แก้สภาสามัญชนสามารถตรวจสอบรัฐบาลผ่านคณะกรรมาธิการต่าง ๆ และการตั้งกระทู้ถามต่อนายกรัฐมนตรี และอาจมีการตั้งกระทู้ถามต่อรัฐมนตรีในโอกาสอื่น โดยการตั้งกระทู้ถามต่อนายกรัฐมนตรีมีขึ้นเป็นระยะเวลาครึ่งชั่วโมงในวันพุธทุกสัปดาห์ การตั้งคำถามต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในรัฐบาลของรัฐมนตรี ต้องไม่เกี่ยวกับการกระทำในฐานะหัวหน้าพรรค หรือในฐานะสมาชิกรัฐสภา โดยธรรมเนียมนั้น ประธานสภาจะเลือกให้สมาชิกรัฐสภาฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านถามคำถามผลัดกัน สมาชิกรัฐสภาอาจตั้งกระทู้ถามเป็นลายลักษณ์อักษรได้เช่นกัน
ในความเป็นจริงแล้วการตรวจสอบรัฐบาลในทางนี้ไม่ค่อยเป็นผล เนื่องจากมีการใช้ระบบเลือกตั้งแบ่งเขตคะแนนสูงสุด ทำให้พรรคฝ่ายรัฐบาลมีเสียงข้างมากอย่างล้นหลาม อีกทั้งรัฐมนตรีและกระทรวงต่าง ๆ ใช้กลวิธีปกป้องตัวเองโดยการแบ่งงานสำคัญ ๆ ไปยังบุคคลที่สาม ถ้ารัฐบาลมีเสียงข้างมากอย่างล้นหลาม ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเจรจากับพรรคอื่นแต่อย่างใด แต่ว่าการตรวจสอบจากคณะกรรมาธิการเฉพาะมักมีผลมากกว่า
พรรคการเมืองใหญ่ในปัจจุบันมักมีการควบคุมจนสมาชิกรัฐสภาภายในพรรคทำสิ่งใด ๆ ตามที่ตนเองอยากกระทำได้ยากมาก มีสมาชิกรัฐสภาในพรรครัฐบาลจำนวนหนึ่งที่ได้รับเงินเดือนจากการดำรงตำแหน่งในรัฐบาล ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 รัฐบาลแพ้ญัตติไว้วางใจสามครั้งด้วยกัน โดยแพ้ 2 ครั้งในปี ค.ศ. 1924 และครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1979 แต่ว่าการที่สมาชิกรัฐสภาผู้น้อยภายในพรรคขู่ว่าจะไม่สนับสนุนก็สามารถทำให้รัฐบาลต้องยอมจำนนในบางเรื่อง (เช่นเรื่องโรงพยาบาลมูลนิธิช่วงสมัยรัฐบาลร่วมแคเมอรอน-เคลก และเรื่องการจ่ายค่าเล่าเรียนเพิ่มเติม การจัดสรรงบประมาณเพื่อเงินบำนาญสำหรับผู้ที่ได้ผลกระทบจากบริษัทล้มเหลวภายใต้รัฐบาลพรรคแรงงาน) และในบางคราวก็มีร่างพระราชบัญญัติที่ต้องตกไปเนื่องจากมีสมาชิกรัฐสภาผู้น้อยไม่ลงคะแนนเสียงเห็นชอบด้วย เช่น พระราชบัญญัติก่อการร้าย ค.ศ. 2006
ในทางกฎหมายนั้น สภาสามัญชนมีอำนาจฟ้องร้องรัฐมนตรี (หรือผู้ใดก็ตามแม้มิได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) ทางอาญาได้ โดยจัดให้มีการดำเนินการในสภาขุนนาง และตัดสินว่ามีความผิดจริงเมื่อสมาชิกสภาขุนนางกึ่งหนึ่งเห็นด้วย แม้ว่าอำนาจนี้จะไม่ได้ใช้มาเป็นเวลานานแล้ว แต่สภาสามัญชนได้ใช้อำนาจอื่น ๆ เพื่อตรวจสอบรัฐบาลเช่นญัตติไม่ไว้วางใจ การฟ้องร้องโดยสภาขุนนางครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องร้องเฮนรี ดันดาส ไวสเคาท์ที่ 1 แห่งเมลวิลล์ในปี ค.ศ. 1806
หน้าที่ทางนิติบัญญัติ
แก้ร่างพระราชบัญญัติอาจมีการเสนอในสภาใดก็ได้ แต่ร่างพระราชบัญญัติที่มีความสำคัญมักเสนอในสภาสามัญชน พระราชบัญญติรัฐสภาให้อำนาจสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติอยู่กับสภาสามัญชน ทำให้ร่างพระราชบัญญัติบางประเภทสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาขุนนาง สภาขุนนางมิอาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติการเงิน (ร่างพระราชบัญญัติที่ประธานสภาเห็นว่าเกี่ยวข้องเพียงแต่เรื่องการภาษีหรืองบประมาณแผ่นดินแต่อย่างเดียว) เกิน 1 เดือนได้ อีกทั้งมิสามารถยับยั้งร่างพระราชบัญญัติอื่น ๆ เกินสมัยประชุมสองสมัย หรือเป็นเวลา 1 ปีปฏิทิน ทั้งนี้ ข้อบังคับเหล่านี้บังคับเฉพาะร่างพระราชบัญญัติที่เสนอในสภาสามัญชนเท่านั้น และการขยายวาระสภาสามัญชนต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาขุนนาง
โดยธรรมเนียมที่มีปฏิบัติมาก่อนออกพระราชบัญญัติรัฐสภาอีกนั้น สภาสามัญชนเป็นสภาเดียวที่สามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับภาษีและงบประมาณรายจ่ายได้ นอกจากนี้สภาขุนนางมิสามารถแก้ไข้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายได้ และแก้ไขร่างพระราชบัญญัติอื่น ๆ ให้มีมาตราเกี่ยวกับการเงินหรืองบประมาณรายจ่ายมิได้เช่นกัน แต่สภาสามัญชนมักยกเว้นธรรมเนียมนี้เพื่อให้ขุนนางสามารถแก้ไขกฎหมายด้วยเนื่อหาที่มีผลทางการเงินได้ และโดยธรรมเนียมซัลส์เบอร์รีนั้น สภาขุนนางมิอาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคำแถลงนโยบายทางการเมืองของพรรครัฐบาลได้ และเนื่องจากสภาขุนนางถูกจำกัดอำนาจทั้งในทางธรรมเนียมปฏิบัติและในทางกฎหมาย ทำให้สภาสามัญชนเป็นสภาที่อำนาจสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ประวัติ
แก้โดยส่วนใหญ่แล้วนั้น ลักษณะต่าง ๆ ของรัฐสภาสหราชอาณาจักรในปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นจากรัฐสภาอังกฤษ แต่สนธิสัญญาสหภาพและพระราชบัญญัติสหภาพทั้งสองฉบับที่ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญานั้นทำให้มีรัฐสภาแห่งบริเตนใหญ่เพื่อมาแทนที่รัฐสภาอังกฤษและรัฐสภาสกอตแลนด์ โดยเพิ่มสมาชิกรัฐสภา 45 คนและขุนนาง 16 คนเพื่อเป็นการให้สกอตแลนด์มีเสียงในสภา หลังจากนั้นได้มีพระราชบัญญัติร่วมว่าด้วยสหภาพ ค.ศ. 1800 ทำให้รัฐสภาไอร์แลนด์ถูกยกเลิกและเพิ่มสมาชิกรัฐสภาจากไอร์แลนด์จำนวน 100 คน ทำให้เกิดรัฐสภาสหราชอาณาจักรแห่งบริเตนและไอร์แลนด์เหนือ
คำว่า common หรือ commune ในภาษาอังกฤษสมัยกลางซึ่งนำมาจาก commune ในภาษาแองโกล-นอร์มัน มีความหมายว่า "เป็นสาธารณะ" หรือ "โดยทั่วไป" เมื่อใช้เป็นคำวิเศษณ์ และเมื่อใช้เป็นคำนามจะมีความหมายว่า "องค์กรของบุคคลใด ๆ ซึงเป็นชุมชนหรือมีความคล้ายคลึงกัน" เมื่อใช้เป็นคำพหูพจน์มีความหมายว่า "ประชาชนทั่วไป หรือบุคคลที่อยู่ชนชั้นต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผู้มียศถาบรรดาศักดิ์"[3] ซึ่งคำนี้ยังมีการใช้ในปัจจุบัน โดยมีรูปแบบเป็นวลีภาษาแองโกล-นอร์มันว่า soit baillé aux communes (let it be sent to the commons; ให้ได้ส่งไปยังสภาสามัญชน) เมื่อมีการส่งร่างพระราชบัญญัติจากสภาสามัญชนไปยังสภาขุนนาง[4]
ในปี ค.ศ. 1920 นักประวัติศาสตร์ อัลเบิร์ต พอลลาร์ด มีมุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับต้นกำเนิดของคำนี้ เขาเห็นด้วยว่า commons มีต้นกำเนิดมาจาก commune ในภาษาแองโกล-นอร์มัน แต่เห็นว่ามีความหมายที่เกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มของประชาชนหรือการแบ่งเขตเทศมณฑล[5] ทั้งนี้ พจนานุกรมภาษาอังกฤษออกซ์ฟอร์ดสามารถยืนยันได้แค่ความหมายที่พอลลาร์ดสนับสนุนตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และ 20 เป็นต้นไป และไม่ได้มีการกล่าวถึงแหล่งที่อ้างถึงความหมายอื่นในช่วงยุคกลางตอนปลาย นั่นคือช่วงเวลาที่มีการจัดตั้งสภาสามัญชนนั่นเอง[6]
การออกแบบและสถาปัตยกรรม
แก้การออกแบบที่ประชุมสภาขุนนางในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากการใช้โบสถ์เซนต์สตีเฟนในพระราชวังเวสต์มินสเตอร์เป็นที่ประชุมเดิม[7]
ทรงสี่เหลี่ยมของห้องประชุมนั้นออกแบบตามรูปร่างเดิมของโบสถ์ และได้จัดให้มีที่นั่งในรูปแบบเดียวกับที่นั่งสำหรับคณะประสานเสียงในโบสถ์ ให้ฝ่ายรัฐบาลและผ่ายค้านหันหน้าเข้าหากัน การจัดที่นั่งแบบนี้จึงทำให้เข้ากับรูปแบบการเมืองรัฐสภาในอังกฤษที่พรรคการเมืองปฏิบัติเป็นปรปักษ์ต่อกัน[8]
ที่นั่งฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านห่างกัน 3.96 เมตร (13 ฟุต) หรือความยาวประมาณดาบสองเล่ม แต่มีการคาดเดาว่าเป็นแค่การออกแบบเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เนื่องจากมิได้มีการอนุญาตให้นำอาวุธเข้าสู่ห้องประชุมมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว[9][10]
ศตวรรษที่ 19
แก้สภาสามัญชนผ่านช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปที่สำคัญในช่วงศตวรรษที่ 19 เนื่องจากมีความผิดปกติในการแทนเสียงเขตเลือกตั้งที่เกิดจากการไม่ได้เปลี่ยนแปลงเส้นแบ่งเขตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1660 จึงทำให้เมืองหลายเมืองที่ความสำคัญค่อย ๆ ลดหลั่นลงไปยังคงได้รับสิทธิ์ตามประเพณีโบราณว่าสามารถเลือกตั้งสมาชิกสองคนได้ ร่วมถึงเขตเลือกตั้งที่ไม่เคยมีความสำคัญอยู่แล้วเช่นแกตตัน[11]
หนึ่งในเขตเลือกตั้งที่ไม่เหมาะสม (rotten borough) นี้คือ โอลด์ซารัม ที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 6 คนเลือกสมาชิกรัฐสภา 2 คนและเขตดันวิชที่พื้นที่ส่วนใหญ่หายไปเพราะการกัดเซาะชายฝั่ง ในเวลาเดียวกันนั้น เมืองใหญ่เช่นแมนเชสเตอร์ไม่ได้สมาชิกรัฐสภาเป็นของตนเองโดยเฉพาะ แต่ผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งในขณะนั้นสามารถเลือกที่นั่งตามเทศมณฑลได้ และยังมีเขตเลือกตั้งใต้อิทธิพลที่ควบคุมโดยเจ้าของที่ดินและขุนนางที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาเสมอ[ต้องการอ้างอิง]
สภาสามัญชนพยายามแก้ไขความผิดปกติเหล่านี้โดยการผ่านร่างพระราชบัญญัติปฏิรูปในปี ค.ศ. 1831 ซึ่งในตอนแรกสภาขุนนางมีความประสงค์ไม่อยากให้ร่างกฎหมายผ่าน แต่ต้องยอมให้ผ่านเพราะนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ชาลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ 2 ขู่ว่าจะขอให้พระเจ้าวิลเลียมที่ 4แต่งตั้งขุนนางที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปจนชนะเสียงสมาชิกสภาขุนนางเดิมให้ขาด เพื่อป้องกันการนี้ไม่ให้เกิดขึ้น สภาขุนนางจึงยอมผ่านกฎหมายในปี ค.ศ. 1832 โดยพระราชบัญญัติปฏิรูป ค.ศ. 1832 หรือที่เรียกว่า "พระราชบัญญัติปฏิรูปครั้งใหญ่" ยกเลิกเขตเลือกตั้งที่ไม่เหมาะสม กำหนดเกณฑ์การเลือกตั้งให้เหมือนกันหมดทุกเขตเลือกตั้ง จัดให้มีสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้แทนเมืองที่มีประชากรมาก แต่ยังคงความผิดปกติไว้อยู่บางประการ[12]
ในปีต่อ ๆ มาสภาสามัญชนเริ่มขยายอำนาจตนให้มากขึ้น และอิทธิพลของสภาขุนนางลดลงเนื่องจากวิกฤตที่เกิดจากร่างพระราชบัญญัติปฏิรูปจนทำให้อำนาจของสมาชิกสภาขุนนางลดลง สภาขุนนางเริ่มไม่ค่อยประสงค์ปัดตกร่างพระราชบัญญัติที่สภาสามัญชนเห็นชอบด้วยเสียงจำนวนมาก จึงกลายเป็นหลักการทางการเมืองที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่ารัฐบาลต้องการแค่ความไว้วางใจจากสภาสามัญชนเท่านั้น[ต้องการอ้างอิง]
การปฏิรูปนั้นมีต่อมาเรื่อย ๆ ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 โดยมีพระราชบัญญัติปฏิรูปปี ค.ศ. 1867 ที่ผ่อนผันข้อกำหนดการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้งในเขตเลือกตั้งบุรีต่าง ๆ ลดจำนวนสมาชิกรัฐสภาในเขตเลือกตั้งที่มีประชากรน้อย และเพิ่มจำนวนสมาชิกรัฐสภาสำหรับเมืองเกิดใหม่ทั้งหลาย พระราชบัญญัติการแทนราษฎร ค.ศ. 1884 ขยายจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งโดยการผ่อนผันข้อกำหนดการเป็นเจ้าของที่ดินในเขตเทศมณฑล พระราชบัญญัติแบ่งที่นั่งใหม่ ค.ศ. 1885 เปลี่ยนเขตที่มีสมาชิกรัฐสภาแทนหลายคนเป็นสมาชิกรัฐสภาแทนคนเดียวเกือบทั้งหมด[13]
ศตวรรษที่ 20
แก้ในปี ค.ศ. 1908 รัฐบาลพรรคเสรีนิยมภายใต้ เอช. เอช. แอสควิท เสนอแผนงานสวัสดิการสังคมหลายอย่าง รวมถึงการแข่งขันในทางอาวุธ ทำให้รัฐบาลต้องเก็บภาษีมากขึ้น ในปี 1909 สมุหคลัง เดวิด ลอยด์ จอร์จ เสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย "ของประชาชน" (People's Budget) ซึ่งเล็งที่จะเก็บภาษีเจ้าของที่ดินที่ร่ำรวยเพิ่มเติม ร่างนี้ต้องตกไปเพราะสภาขุนนางที่เต็มไปด้วยสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมไม่เห็นชอบ ทำให้รัฐบาลต้องลาออก
การเลือกตั้งทั่วไปที่ตามมาทำให้เกิดรัฐสภาเสียงปริ่มน้ำ แต่แอสควิทยังคงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคเล็ก แอสควิทเสนอให้ลดอำนาจของสภาขุนนางอย่างมาก หลังจากการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1910 รัฐบาลแอสควิทสามารถผ่านกฎหมายจำกัดอำนาจของสภาขุนนาง หลังจากที่แอสควิทขู่จะแต่งตั้งขุนนาง 500 คนจากพรรคของตนเพื่อให้ร่างกฎหมายผ่านได้อย่างแน่นอน
พระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. 1911 จึงได้บังคับใช้ และทำลายความเท่าเทียมในอำนาจของทั้งสองสภา สภาขุนนางอาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติได้ชั่วคราวเป็นเวลามากสุดเท่ากับสมัยประชุมสภา 3 สมัยหรือ 2 ปีปฏิทินเท่านั้น (ลดเหลือสมัยประชุม 2 สมัยหรือ 1 ปีปฏิทินในพระราชบัญญัติรัฐสภา พ.ศ. 1949) หลังจากมีการผ่านกฎหมายเหล่านี้ สภาสามัญชนจึงกลายเป็นสภาที่มีอำนาจเหนือกว่าในรัฐสภา
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 รัฐมนตรีได้รับเงินเดือน ส่วนสมาชิกรัฐสภาอื่น ๆ ไม่ได้รับเงินเดือน ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งส่วนใหญ่มีรายได้จากภาคเอกชนอยู่แล้ว และมีส่วนไม่กี่คนที่พึ่งพาการสนับสนุนทางการเงินจากผู้สนับสนุนที่ร่ำรวย สมาชิกรัฐสภาพรรคแรงงานช่วงแรก ๆ ได้รับเงินเดือนจากสหภาพแรงงาน แต่สภาขุนนางตัดสินว่าการรับรายได้เช่นนี้ผิดกฎหมายในปี ค.ศ. 1909 จึงมีการผ่านข้อมติสภาสามัญชนในปี ค.ศ. 1911 เพื่อเริ่มให้มีจ่ายเงินเดือนให้สมาชิกรัฐสภา
ในปี ค.ศ. 1918 ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 30 ปีที่เป็นเจ้าของที่ดินและผู้ชายอายุมากกว่า 21 ปีที่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินสามารถเลือกตั้งได้ หลังจากนั้นมีการกฎหมายผ่านกฎหมายเพื่อให้ผู้หญิงสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ในอายุ 21 ปี ซึ่งในปีนั้นมีผู้หญิงคนเดียวที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาคือคอนสแตนส์ มาร์เคียวิกส์ สมาชิกพรรคซินน์เฟน แต่เนื่องจากซินเฟนน์มีนโยบายไม่เข้าร่วมประชุมรัฐสภาที่เวสต์มินสเตอร์ เธอจึงไม่เคยได้เข้าประชุมสภาแต่อย่างใด[14]
ศตวรรษที่ 21
แก้ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ค.ศ. 2009 มีการเปิดเผยการเบิกค่าใช้จ่ายทุจริตโดยสมาชิกรัฐสภา ซึ่งทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาวครั้งใหญ่และทำให้สาธารณชนสูญเสียความไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริตของสมาชิกรัฐสภา[15] ซึ่งทำให้ประธานสภาถูกบีบบังคับให้ลาออกเป็นครั้งแรกในรอบ 300 ปี[16][17]
ในปี ค.ศ. 2011 มีการทำประชามติว่าจะให้เปลี่ยนจากการเลือกตั้งแบบระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดเป็นการลงคะแนนแบบหลายรอบในทันทีหรือไม่ ซึ่งผลของประชามติออกมาว่าประชาชนไม่เห็นด้วย 67.9% โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 42% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด
รัฐบาลร่วมพรรคอนุรักษนิยม-เสรีประชาธิปไตยผ่านพระราชบัญญัติกำหนดวาระสภาตายตัว ค.ศ. 2011 ซึ่งโอนอำนาจจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนครบวาระจากนายกรัฐมนตรีไปยังรัฐสภา โดยกำหนดให้สมาชิกรัฐสภาต้องเห็นด้วยกับญัตติให้มีการเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ซึ่งเทรีซา เมย์ได้ใช้กลไกนี้ครั้งแรกเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนครบวาระในปี ค.ศ. 2017[18]
ในปี ค.ศ. 2019 สมาชิกรัฐสภาใช้คำสั่งประจำที่ 24 (เป็นกลไกทางสภาที่ทำให้เปิดอภิปรายฉุกเฉินได้) เพื่อคุมวาระการประชุมในวันถัดไป และผ่านกฎหมายโดยรัฐบาลไม่ต้องเห็นชอบ กระบวนการที่ผิดธรรมดานี้ทำได้โดยการยื่นญัตติแก้ไข "ญัตติในทางเป็นกลาง" ซึ่งเป็นถ้อยแถลงการณ์ที่ไม่มีผลทางกฎหมายของรัฐสภาหลังจากอภิปรายเสร็จแล้ว วิธีการใหม่ในถูกใช้ในการผ่านพระราชบัญญัติสหภาพยุโรป (ถอนตัว) ค.ศ. 2019 ในเดือนมีนาคม และพระราชบัญญัติหมายเลข 2 ในเดือนกันยายน ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับเกี่ยวข้องกับเบร็กซิต[19]
ในปี 2020 มีการบังคับใช้ข้อบังคับการประชุมเพิ่มเติมเพื่อให้มีการประชุมแบบผสมผสานได้ ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ โดยมีการจำกัดให้สมาชิกรัฐสภาอยู่ในห้องประชุมได้คราวละ 50 คน การเว้นระยะห่างทางกายภาพและการเข้าร่วมประชุมทางไกล[20] การประชุมแบบผสมผสานยกเลิกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2021[21]
ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมเผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติกำหนดวาระรัฐสภาตายตัว (ยกเลิก) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นร่างพระราชบัญญัติการยุบและเรียกประชุมรัฐสภาเมื่อเสนอต่อสภาสามัญชนในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021[22] ซึ่งยกเลิกพระราชบัญญัติกำหนดวาระรัฐสภาตายตัวทั้งหมด และคืนพระราชอำนาจการยุบรัฐสภาเมื่อนายกรัฐมนตรีร้องขอ และบัญญัติว่ารัฐสภาหมดวาระหลังจาก 5 ปี และให้มีการเลือกตั้ง 25 วันทำการหลังจากรัฐสภาหมดวาระ[23] ร่างพระราชบัญญัติได้รับพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2022 กลายเป็นพระราชบัญญัติการยุบและเรียกประชุมรัฐสภา[24]
สมาชิกและการเลือกตั้ง
แก้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 ทุกเขตการเลือกตั้งมีสมาชิกรัฐสภาเป็นตัวแทน 1 คน ทั้งนี้ยังมีการแบ่งประเภทระหว่างเขตเลือกตั้งแบบบุรี (borough) และเขตเลือกตั้งแบบเทศมณฑล (county) ซึ่งมีผลต่อจำนวนเงินที่ผู้ลงสมัครเลือกตั้งสามารถใช้ในการหาเสียงได้ และชื่อเรียกเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งจะไม่เหมือนกัน มีคณะกรรมการเขตเลือกตั้งที่อิสระและถาวร 4 คณะสำหรับประเทศอังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือเพื่อกำหนดเส้นแบ่งเขตการเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการจะศึกษาการแบ่งเขตใหม่ทุก ๆ 8 ถึง 12 ปี และอาจมีการศึกษาระหว่างกาลด้วย ในการแบ่งเขตนั้น คณะกรรมการต้องยึดหลักการแบ่งเขตขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลักตามกฎหมาย เว้นแต่ว่าถ้าการยึดตามนั้นจะทำให้มีการแบ่งจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ยุติธรรม สภาสามัญชนต้องรับรองการแบ่งเขตของคณะกรรมการเขตเลือกตั้ง แต่มิสามารถแก้ไขให้เป็นการอื่นได้ ในปัจจุบันสหราชอาณาจักรมี 650 เขต โดยประเทศอังกฤษมี 533 เขต ประเทศเวลส์มี 40 เขต สกอตแลนด์มี 59 และไอร์แลนด์เหนือมี 18 เขต
การเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นเมื่อมีการยุบรัฐสภา ในอดีตนั้นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกเวลาที่ให้มีการยุบสภา (ดูส่วน ความสัมพันธ์กับรัฐบาล) แต่เมื่อมีพระราชบัญญัติกำหนดวาระรัฐสภา ค.ศ. 2011 บังคับใช้จึงทำให้รัฐสภาหมดวาระภายใน 5 ปี ยกเว้นถ้าสภาไม่ไว้วางใจในรัฐบาลหรือผ่านญัตติให้มีการเลือกตั้งก่อนครบวาระด้วยความเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 2 ใน 3[25] หรือถ้ามีการผ่านพระราชบัญญัติมอบอำนาจพิเศษเช่นในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งลบล้างพระราชบัญญัติกำหนดวาระรัฐสภาเป็นการชั่วคราว ครั้งแรกที่มีการใช้พระราชบัญญัติมอบอำนาจพิเศษคือเมื่อสมาชิกรัฐสภาเลือกให้มีการเลือกตั้งก่อนครบวาระในเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 2017
แม้ว่าพระราชบัญญัติกำหนดวาระรัฐสภาจะถูกยกเลิกไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2022 นั้น พระราชบัญญัติการยุบและเรียกประชุมรัฐสภา ค.ศ. 2022 ที่มาแทนนั้นก็ยังคงให้รัฐสภาหมดวาระภายใน 5 ปี นับตั้งแต่เริ่มสภาชุดใหม่วันแรก
การเลือกตั้งในครั้งที่ผ่าน ๆ มาหลายทศวรรษได้จัดขึ้นในวันพฤหัส ซึ่งตัวคณะกรรมการการเลือกตั้งเองก็ไม่แน่ใจว่าเหตุใดจึงกำหนดให้เป็นวันนี้ แต่มีข้อสันนิธานว่าเป็นเหตุที่ปรากฏในปี ค.ศ. 1931 ว่าจัดขึ้นให้ตรงกับวันที่มีตลาดนัดเพื่อให้การเลือกตั้งสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางเข้าไปในตัวเมืองทำได้ง่ายขึ้น[26]
ผู้สมัครเลือกตั้งต้องส่งเอกสารเสนอชื่อที่ลงนามโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อย 10 คนและชำระค่าธรรมเนียม 500 ปอนด์ (ประมาณ 21,500 บาท) ซึ่งจะได้คืนถ้าผู้สมัครได้คะแนนอย่างน้อย 5% ของคะแนนทั้งหมด ที่ต้องมีค่าธรรมเนียมนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ที่สมัครเพื่อความตลกคะนอง และไม่ให้รายชื่อผู้สมัครยาวเกินไปเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนสับสันจนทำให้เสียงแตก เขตเลือกตั้งยังถูกเรียกว่าเขตที่นั่งอีกด้วย เนื่องจากเขตเลือกตั้งหนึ่งเขตสามารถเลือกสมาชิกรัฐสภาได้ 1 คนภายใต้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด โดยผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดแต่ไม่จำเป็นต้องถึงกึ่งหนึ่งของเสียงทั้งหมดเป็นผู้ชนะ เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สมาชิกสภาขุนนาง และนักโทษมิอาจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ ผู้ที่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งต้องเป็นพลเมืองสหราชอาณาจักร หรือเป็นผู้ถือสัญชาติบริเตน ดินแดนโพ้นทะเลของบริเตน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ หรือประเทศในเครือจักรภพ โดยผู้ถือสัญชาติบริติชอาจเลือกตั้งได้เป็นเวลา 15 ปีหลังจากที่ไม่ได้พำนักอยู่ในสหราชอาณาจักร การใช้สิทธิ์เพื่อเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภามากกว่า 1 เขตถือว่าเป็นความผิดทางอาญา แต่ก่อนปี ค.ศ. 1948 ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเนื่องจากมีการเลือกตั้งหลายเขตได้โดยดูจากการเป็นเจ้าหรืออาศัยอยู่ในที่พักพิงใดก็ตาม รวมถึงการใช้สิทธิ์ในเขตเลือกตั้งมหาวิทยาลัยถ้าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนั้น ๆ
เมื่อได้รับการเลือกตั้งแล้ว สมาชิกรัฐสภาย่อมดำรงตำแหน่งจนถึงการยุบรัฐสภาครั้งถัดไป แต่ถ้าสมาชิกตายลงหรือขาดคุณสมบัติ (ดูส่วน คุณสมบัติ) ในการเป็นสมาชิกรัฐสภา ที่นั่งของสมาชิกรัฐสภาผู้นั้นย่อมว่างลง ทั้งนี้สภาสามัญชนมีอำนาจในการขับไล่สมาชิกออกได้ แต่อำนาจนี้จะใช้ต่อเมื่อสมาชิกนั้นประพฤติมิชอบร้ายแรงหรือกระทำสิ่งที่เป็นความผิดทางอาญาเท่านั้น ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ที่นั่งที่ว่างลงจะทำให้มีการเลือกตั้งซ่อมตามมา โดยใช้วิธีการเดียวกับการเลือกตั้งทั่วไป คำว่า "สมาชิกรัฐสภา" โดยขนบธรรมเนียมในปัจจุบันนั้นให้หมายถึงสมาชิกสภาสามัญชน โดยสมาชิกเหล่านี้สามารถใช้อักษรท้ายนามว่า "MP" ได้
นับแต่วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2022 สมาชิกรัฐสภามีรายได้ 84,144 ปอนด์[27] (ประมาณ 3.6 ล้านบาท) ต่อปี และอาจรับรายได้จากตำแหน่งอื่นก็ได้ เช่นตำแหน่งประธานสภา อีกทั้งสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ยังเรียกเก็บค่าชดเชยที่เกี่ยวกับกิจของสมาชิกต่าง ๆ เช่นค่าว่าจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ ค่าเดินทาง ฯลฯ และถ้าสมาชิกรัฐสภามีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตพื้นที่กรุงลอนดอน สมาชิกนั้นสามารถเรียกเก็บค่าชดเชยการเช่าที่อยู่อาศัยในกรุงลอนดอนได้
คุณสมบัติ
แก้การเป็นสมาชิกรัฐสภามีคุณสมบัติหลายประการ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปี (อายุขั้นต่ำเคยเท่ากับ 21 ปี จนกระทั่งมีการแก้ไขโดยบท 17 แห่งพระราชบัญญัติบริหารจัดการการเลือกตั้ง ค.ศ. 2007) และต้องเป็นพลเมืองสหราชอาณาจักร ดินแดนโพ้นทะเลของบริเตน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ หรือประเทศในเครือจักรภพ โดยคุณสมบัติที่ว่ามาเกิดขึ้นเนื่องจากการตราพระราชบัญญัติสัญชาติบริติช ค.ศ. 1981 ซึ่งในอดีตคุณสมบัติมีความรัดกุมมากกว่านี้ภายใตพระราชบัญญัติการสืบราชสันตาไปรษณียากร การติวงศ์ ค.ศ. 1701 ที่ให้พลเมืองโดยกำเนิดสามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาได้เท่านั้น สมาชิกสภาขุนนางมิอาจเป็นสมาชิกสภาสามัญชนในเวลาเดียวกันได้ และมิสามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งรัฐสภาได้ (เหมือนกับที่พระมหากษัตริย์มิสามารถเลือกตั้งได้) อย่างไรก็ตามสมาชิกสภาขุนนางสามารถร่วมการประชุมสภาสามัญชนได้ แตกต่างจากพระมหากษัตริย์ซึ่งมิสามารถเข้าห้องประชุมได้เด็ดขาด
ผู้ใดที่ถูกคำสั่งจำกัดเนื่องจากล้มละลาย (ในประเทศอังกฤษและเวลส์เท่านั้น) ถูกศาลตัดสินให้เป็นบุคคลล้มละลาย (ในไอร์แลนด์เหนือเท่านั้น) หรือถูกยึดทรัพย์สินเพื่อใช้หนี้ (ในสกอตแลนด์เท่านั้น) มิสามารถดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาได้ ก่อนหน้านี้สมาชิกที่ถูกกักขังภายใต้พระราชบัญญัติสุขภาพจิต ค.ศ. 1983 เป็นเวลามากกว่า 6 เดือนจะพ้นสภาพการเป็นสมาชิกถ้ามีแพทย์ 2 คนให้ความเห็นต่อประธานสภาสามัญชนว่าสมาชิกดังกล่าวป่วยเป็นโรคทางจิต แต่การทำให้พ้นสภาพในทางนี้ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติสุขภาพจิต (การเลือกปฏิบัติ) ค.ศ. 2011 อีกทั้งยังมีบรรทัดฐานทางกฎหมายจารีตประเพณีจากศตวรรษที่ 18 ว่าคนหนวกใบ้ไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาได้[28] ถึงแม้ไม่มีการบรรทัดฐานนี้นำมาใช้ในทางปฏิบัติในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาก็ตาม
ผู้ใดที่กระทำความผิดอาญาฐานกบฏไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาได้เว้นแต่ถูกจำคุกจนพ้นโทษหรือได้รับการพระราชทานอภัยโทษ และผู้ใดที่ต้องจำคุกมากกว่า 1 ปีไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาได้เช่นกันตามพระราชบัญญัติการแทนราษฎร ค.ศ. 1981 สมาชิกรัฐสภาที่ต้องจำคุกมากกว่า 1 ปีย่อมพ้นจากการเป็นสมาชิกรัฐสภา สมาชิกในเซเนดด์ (สภาเวลส์) และสภาไอร์แลนด์ถูกกำหนดให้ขาดคุณสมบัติตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 มาตรา 159 บท 2 แห่งพระราชบัญญัติการแทนราษฎร ค.ศ. 1983 เคยกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดที่ทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 10 ปี แต่ข้อกำหนดนี้ได้ยกเลิกไปแล้วในปี ค.ศ. 2001 สิ่งที่ทำให้บุคคลขาดคุณสมบัติอื่น ๆ อีกหลายประการได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการขาดคุณสมบัติสภาสามัญชน ค.ศ. 1975 ได้แก่ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางตุลาการ ข้าราชการ และผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความถึงรัฐมนตรีแม้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
มีการใช้บทบัญญัติที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางตำแหน่งมิสามารถดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาได้เพื่อหลีกเลี่ยงข้อมติที่ได้ตกลงกันในปี ค.ศ. 1623 ว่าสมาชิกรัฐสภาไม่สามารถลาออกจากตำแหน่งได้ โดยถ้ามีสมาชิกประสงค์ที่จะลาออกนั้น เขาสามารถขอให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นจางวางและปลัดดูแลเขตพื้นที่ที่ไม่มีอยู่แล้ว แต่ตำแหน่งยังมีอยู่เพราะไม่เคยมีการยกเลิกตำแหน่ง จึงทำให้ตำแห่งเหล่านี้ไม่มีอำนาจหน้าที่ใด ๆ ทั้งสิ้น โดยปกติจะต้องขอสมุหพระคลัง (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) ให้แต่งตั้ง และโดยธรรมเนียมรัฐมนตรีมิอาจปฏิเสธการแต่งตั้งได้เมื่อได้รับการทาบถามจากสมาชิกที่ต้องการลาออก
เจ้าพนักงาน
แก้เมื่อรัฐสภาเริ่มวาระใหม่ สภาสามัญชนจะเลือกสมาชิกของตนคนหนึ่งเพื่อเป็นเจ้าพนักงานนำการประชุม เรียกว่าประธานสภา หากประธานสภาประสงค์ที่จะดำรงตำแหน่งต่ออีกวาระ สภาสามารถเลือกให้บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งต่อได้โดยการผ่านญัตติธรรมดา แต่ถ้ามิได้เป็นอย่างนั้น ก็จะมีการเลือกตั้งประธานสภาใหม่โดยลงคะแนนเสียงลับ ในทางพิธีนั้นว่าที่ประธานสภาจะยังไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากองค์อธิปัตย์ มีรองประธานสามคนคอยช่วยเหลือประธานสภา ซึ่งรองประธานสภาผู้ที่อาวุโสที่สุดจะได้รับชื่อตำแหน่งว่าประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ โดยชื่อตำแหน่งเหล่านี้มาจากคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการที่รองประธานสภาเคยเป็นผู้นำการประชุม ถึงแม้ว่าคณะกรรมาธิการนี้จะถูกยกเลิกไปแล้วในปี ค.ศ. 1967 แต่ตำแหน่งก็ยังมีการคงไว้อยู่ตามเดิม ประธานสภาและรองประธานสภาต้องเป็นสมาชิกสภาสามัญชนเท่านั้น
เวลานำการประชุมนั้น ประธานและรองประธานสภาจะใส่ชุดดั้งเดิมตามประเพณี และประธานสภาอาจใส่วิกด้วย แต่ประธานสภา เบ็ตตี บูธรอยด์ เริ่มละเลิกธรรมเนียมนี้ ตามด้วยไมเคิล มาร์ติน และ จอห์น เบอร์โคว์ ซึ่งจอห์น เบอร์โคว์เลือกที่จะไม่ใส่ชุดดั้งเดิมของประธานสภาด้วย แต่ใส่เสื้อคลุมทับชุดสูทแทน ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารย์จากเบ็ตตี บูธรอยด์
ประธานหรือรองประธานสภานำการประชุมจากเก้าอี่ที่ด้านหน้าของห้องประชุม โดยออกัสตัส พิวจินเป็นผู้ออกแบบเก้าอี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาได้ทำต้นแบบเก้าอี้ในโรงเรียนกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่เบอร์มิงแฮม โดยเก้าอี้มีชื่อเรียก Sapientia (เป็นภาษาละตินแปลว่า "ปัญญา") ซึ่งเป็นที่นั่งสำหรับผู้อำนวยการโรงเรียน ประธานสภายังเป็นประธานคณะกรรมาธิการสภาสามัญชนซึ่งดูแลการดำเนินงานภายในสภา และประธานสภายังควบคุมการอภิปรายโดยขานชื่อสมาชิกที่ให้อภิปรายได้ สมาชิกที่เห็นว่ามีการกระทำผิดขัดข้อบังคับสภาสามารถประท้วงกับประธานได้ ซึ่งประธานย่อมมีคำวินิจฉัยที่ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ประธานสภาอาจสั่งให้มีการลงโทษสมาชิกที่กระทำผิดข้อบังคับ และยังเป็นผู้เลือกว่าให้อภิปรายญัตติเสนอให้แก้ไขใด จึงทำให้ประธานสภาสามัญชนมีอำนาจกว่าประธานสภาขุนนางที่ไม่สามารถสั่งลงโทษหรือเลือกญัตติได้อย่างมาก โดยธรรมเนียมนั้น ประธานและรองประธานไม่สังกัดพรรคการเมืองและเป็นกลาง ไม่เข้าร่วมกิจกรรมของพรรคการเมืองใด ๆ และไม่ลงคะแนนเสียง เว้นว่าถ้าคะแนนเสียงเสมอกัน ในกรณีนั้นประธานสภาก็จะลงคะแนนเสียงตามกฎของเดนิสัน โดยธรรมเนียมประธานสภาที่ประสงค์ดำรงตำแหน่งในฐานะสมาชิกสภาต่อจะไม่มีพรรคการเมืองเสนอรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประธานสภาเป็นกลางแม้จะไม่เป็นสมาชิกสภาสามัญชนแล้วก็ตาม
เลขาธิการสภาสามัญชนเป็นทั้งที่ปรึกษาสูงสุดเกี่ยวกับประเด็นวิธีดำเนินการต่าง ๆ และเป็นผู้บริหารสูงสุดของสภาสามัญชน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาเสียเอง เลขาธิการเป็นผู้ให้คำแนะนำประธานเกี่ยวกับข้อบังคับและวิธีดำเนินการของสภา ลงนามคำสั่งและประกาศทางการ และลงนามและสลักหลังร่างกฎหมาย เลขาธิการยังเป็นประธานคณะกรรมการการบริหารซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าแผนกทั้งหกของสภา ผู้ที่เป็นรองเลขาธิการเรียกว่าผู้ช่วยเลขาธิการ พนักงานเจ้าหน้าที่อีกตำแหน่งหนึ่งคือซาร์เจินต์แอตอามส์ (serjeant-at-arms) ซึ่งมีหน้าที่รักษากฎหมาย ระเบียบ และความปลอดภัยในสภา ซาร์เจินต์แอตอามส์นั้นยังถือคทาทางพิธีอีกด้วย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจและอำนาจแห่งสภาสามัญชน เข้าไปในห้องประชุมสภาทุกวัน โดยประธานสภาเดินตามหลัง และวางคทาลงบนโต๊ะก่อนการประชุมทุกครั้ง อีกทั้งยังมีหัวหน้าบรรณารักษ์ห้องสมุดสภาสามัญชน ซึ่งเป็นหน่วยงานสำหรับการค้นคว้าข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลของสภา
การดำเนินการประชุม
แก้สภาสามัญชนมีที่ประชุม ณ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์เหมือนกับสภาขุนนาง ห้องประชุมของสภาสามัญชนมีการตกแต่งเล็กน้อยและมีการใช้สีเขียวเป็นหลัก ไม่เหมือนกับห้องประชุมสภาขุนนางที่มีการตกแต่งค่อนข้างเยอะและใช้สีแดงเป็นหลัก สภาสามัญชนมีที่นั่งของสมาชิกทั้งสองฝั่งของห้องประชุมโดยมีช่องทางเดินแบ่งระหว่างกลาง การแบ่งที่นั่งแบบนี้เป็นการออกแบบตามโบสถ์เซนต์สตีเฟน ซึ่งเคยเป็นที่ประชุมสภาสามัญชนจนกระทั่งโบสถ์ถูกทำลายเพราะไฟไหม้ในปี ค.ศ. 1834 เก้าอี้ของประธานสภาอยู่ที่ขอบหนึ่งของห้องประชุม และมีโต๊ะประจำสภาซึ่งมีการวางคทาไว้ เลขาธิการทั้งหลายนั่งตรงโต๊ะใกล้ ๆ กับประธานสภา เพื่อเมื่อเวลาต้องแนะนำประธานสภาต่อวิธีการดำเนินการจะสามารถทำได้อย่างสะดวก
ผู้ที่เป็นสมาชิกรัฐบาลนั่งทางฝั่งขวาของประธานสภา และสมาชิกฝ่ายค้านนั่งทางซ้ายของประธานสภา ข้างหน้าที่นั่งแถวหน้ามีเส้นแดงบนพื้น ซึ่งโดยประเพณีแล้วสมาชิกมิอาจเดินข้ามได้ระหว่างการอภิปราย นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รวมถึงหัวหน้าฝ่ายค้านและหัวหน้าคณะรัฐมนตรีเงานั่งแถวหน้า และเรียกว่า สมาชิกสภาแถวหน้า (frontbencher) ส่วนสมาชิกรัฐสภาอื่น ๆ เรียกว่าสมาชิกสภาแถวหลัง (backbencher) สมาชิกรัฐสภาทุกคนไม่สามารถอยู่ในห้องประชุมได้พร้อมกันทั้งหมด เนื่องจากห้องประชุมรัฐสภามีที่นั่งพอสำหรับสมาชิก 2 ใน 3 เท่านั้น ถ้าอิงตาม โรเบิร์ต โรเจอร์สซึ่งเคยเป็นเลขาธิการสภาสามัญชนนั้น เขาประมาณว่าสภามีที่นั่งพอสำหรับสมาชิก 427 คนเท่านั้น[29] สมาชิกที่มาสายต้องยืนใกล้กับทางเข้าถ้าประสงค์ฟังการอภิปราย การประชุมมีทุกวันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี โดยบางครั้งอาจมีการประชุมวันศุกร์ด้วยก็ได้ และถ้ามีสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ สภาอาจประชุมช่วงวันหยุดก็ได้
การประชุมสภาเปิดให้สาธารณชนเข้าชมการประชุมได้ แต่สภาอาจลงมติให้ประชุมลับก็ได้ ซึ่งเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งถ้าเริ่มนับจากปี ค.ศ. 1950 โดยประเพณีดั้งเดิมนั้น สมาชิกที่ประสงค์ให้ประชุมลับสามารถตะโกนว่า "ข้าพเจ้าเห็นคนแปลกหน้า!" (I spy strangers!) เพื่อให้มีการลงมติให้ประชุมลับทันที[30] ในอดีตช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างสภาสามัญชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ค่อยดีนัก สภาใช้วิธีนี้เวลาที่ต้องการให้การอภิปรายเป็นความลับ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลไกนี้มักใช้เพื่อทำให้การประชุมติดขัดหรือล่าช้าลงเท่านั้น จึงถูกยกเลิกในปี ค.ศ. 1998 ในปัจจุบันหากสมาชิกประสงค์ให้ประชุมลับ ต้องเสนอญัตติอย่างเป็นทางการเท่านั้น
การอภิปรายที่เป็นสาธารณะมีการบันทึกและเก็บไว้ในแฮนซาร์ด (Hansard) ซึ่งเป็นชื่อของรายงานการประชุมรัฐสภาอังกฤษ มีการติดตั้งไมโครโฟนในห้องประชุมสภาเมื่อมีการออกแบบใหม่ในปี ค.ศ. 1950 และมีการอนุญาตให้ถ่ายทอดการอภิปรายผ่านวิทยุในปี ค.ศ. 1975[31] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 ยังมีการถ่ายทอดสดบนโทรทัศน์อีกด้วย โดยมี บีบีซีรัฐสภาเป็นผู้รับผิดชอบ[32]
การประชุมสภาสามัญชนถูกก่อกวนโดยผู้ชุมนุมที่ปาสิ่งของลงไปในห้องประชุมจากที่นั่งดูการประชุมข้างบนเป็นบางครั้ง โดยตัวอย่างวัตถุที่ปามีใบปลิว มูลสัตว์ และระเบิดแก๊สน้ำตาเป็นต้น แม้สมาชิกรัฐสภาเองก็เคยก่อกวนการประชุม เช่นในปี ค.ศ. 1976 ที่สมาชิกรัฐสภาพรรคอนุรักษนิยม ไมเคิล เฮสเซลไทน์ เดินไปยกคทาประจำรัฐสภาและเดินไปยังที่นั่งสมาชิกฝั่งรัฐบาลระหว่างที่มีการอภิปรายอย่างดุเดือด แต่การก่อกวนการประชุมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือเมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ก้าวเข้าห้องประชุมรัฐสภาพร้อมทหารเพื่อจับกุมสมาชิกรัฐสภา 5 คนที่ก่อกบฎ โดยการกระทำนี้ถือว่าเป็นการละเมิดเอกสิทธิ์ของสภา จึงทำให้เกิดธรรมเนียมขึ้นว่าพระมหากษัตริย์มิอาจเข้าห้องประชุมสภาสามัญชนได้
ทุกปีนั้น สมัยประชุมสภาเริ่มด้วยรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นพิธีในห้องประชุมสภาขุนนางที่องค์อธิปัตย์แถลงนโยบายทางนิติบัญญัติของรัฐบาลโดยมีสมาชิกจากทั้งสองสภาเป็นพยาน ผู้เบิกคทาดำ (พนักงานเจ้าหน้าที่สภาขุนนาง) มีหน้าที่เบิกสมาชิกรัฐสภาให้ไปฟังคำแถลงที่ห้องประชุมสภาขุนนาง ซึ่งเมื่อคทาดำเดินถึงหน้าห้องประชุมสภาสามัญชน จะมีเจ้าหน้าที่คอยปิดประตูอย่างจัง เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าสภามีสิทธิ์ในการอภิปรายโดยปราศจากสิ่งก่อกวนทั้งปวง พอประตูปิดแล้ว เขาก็จะเคาะประตูด้วยคทาที่ถืออยู่สามครั้ง ประตูจึงเปิดให้เดินเข้าไปแจ้งสมาชิกรัฐสภาได้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงคอยอยู่ หลังจากนั้นสมาชิกก็จะเดินไปยังสภาขุนนางเพื่อฟังพระบรมราชโองการ (King's Speech)
ระหว่างการประชุม สมาชิกอาจพูดได้ต่อเมื่อประธานหรือรองประธานสภาขานชื่อเท่านั้น โดยประเพณีแล้วประธานสภาจะขานชื่อสมาชิกจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านสลับกัน นายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคอื่น ๆ จะได้รับความสำคัญกว่าสมาชิกอื่น อีกทั้งผู้ที่เป็นสมาชิกสภาองคมนตรียังเคยได้รับความสำคัญสูงกว่า แต่การทำให้สภาเหมาะกับกาลปัจจุบันในปี ค.ศ. 1998 ทำให้ยกเลิกธรรมเนียมนี้
การอภิปรายต้องพูดกับประธาน โดยเรียกประธานว่า "Mr Speaker", "Madam Speaker", "Mr Deputy Speaker" หรือ "Madam Deputy Speaker" การพูดถึงสมาชิกอื่นต้องกล่าวถึงในลักษณะบุคคลที่สาม เช่น "สมาชิกผู้ทรงเกียรติเขต[ชื่อเขตเลือกตั้ง]" หรือถ้าเป็นสมาชิกที่อยู่ในสภาองคมนตรีด้วยให้เรียกว่า "สมาชิกผู้ทรงเกียรติมากเขต[ชื่อเขตเลือกตั้ง]" สมาชิกที่อยู่พรรคการเมืองเดียวกันหรือเป็นพันธมิตรต่อกันจะเรียกว่า "เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติของข้าพเจ้า"[33] ผู้ที่รับใช้ราชการทหารในปัจจุบันหรืออดีตให้เรียกว่า "สมาชิกผู้ทรงเกียรติและกล้าหาญ" (สมาชิกที่เป็นทนายความเคยเรียกว่า "สมาชิกผู้ทรงเกียรติและทรงคุณวุฒิ"[34]) แต่เมื่อสมาชิกพูดจริง ๆ อาจไม่เป็นไปตามรูปแบบนี้ก็ได้ เพราะการจำชื่อเขตเลือกตั้งที่เฉพาะเจาะจงทำได้ยาก แต่แฮนซาร์ดจะบันทึกชื่อเขตเลือกตั้งเสมอ ประธานสภาเป็นผู้บังคับใช้กฎ และอาจตักเตือนหรือทำโทษสมาชิกที่ไม่ทำตาม การไม่ทำตามคำสั่งประธานสภาถือเป็นการทำผิดกฎของสภา และอาจทำให้สมาชิกนั้น ๆ ถูกพักไม่ให้ประชุมชั่วคราว ในกรณีที่มีความวุ่นวายอย่างรุนแรง ประธานสภาอาจสั่งพักการประชุมโดยไม่ต้องลงมติได้
คำสั่งประจำแห่งสภาสามัญชนไม่ได้ตั้งกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดเวลาอภิปราย แต่ประธานสภาสามารถสั่งสมาชิกที่อภิปรายวกวนหรือนอกประเด็นให้หยุดอภิปรายได้ เวลาที่กำหนดให้สำหรับการอภิปรายญัตติหนึงมักจำกัดโดยการตกลงเรื่องเวลาแบบไม่เป็นทางการระหว่างพรรค การอภิปรายอาจถูกจำกัดเวลาด้วยญัตติกำหนดเวลา ซึ่งรู้จักกันเป็นทั่วไปในนาม "ญัตติกิโยตีน" อีกทางเลือกหนึ่งคือสภาอาจหยุดการอภิปรายทันทีโดยผ่านญัตติปิดอภิปราย ประธานสภามีอำนาจยับยั้งมิให้ยื่นญัตติได้หากเห็นว่าการปิดอภิปรายจะเป็นการย่ำยีสิทธิ์เสียงข้างน้อย ในปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติเสนอผ่านญัตติกำหนดตารางเวลาซึ่งทั้งสภาเห็นชอบล่วงหน้า ทำให้ไม่ต้องใช้ญัตติกิโยตีน
เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลงแล้ว หรือเมื่อมีการผ่านญัตติปิดอภิปราย จะมีการขอมติต่อญัตติที่อภิปราย โดยสภาจะลงมติโดยวาจาก่อน ซึ่งประธานหรือรองประธานสภาก็จะขอมติ และสมาชิกสามารถตะโกนว่า "Aye!" (เห็นด้วยกับญัตติ) หรือ "No!" (ไม่เห็นด้วยกับญัตติ) หลังจากนั้นเจ้าพนักงานนำการประชุมจะประกาศผล แต่ถ้ามีสมาชิกไม่เห็นด้วยกับผล หรือถ้าผลไม่ชัดเจนนั้น ก็จะมีการลงมติแบบบันทึกคะแนนเรียกว่าการแบ่งแยกเพื่อลงมติ (division) แต่ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่นำการประชุมเชื่อว่าผลลงคะแนนด้วยวาจาชัดเจน สามารถยืนยันผลตามเดิมได้ เมื่อมีการแบ่งแยกเพื่อลงมติ สมาชิกจะเดินเข้าโถงสองโถง (โถงเห็นด้วยและโถงไม่เห็นด้วย) ที่อยู่ทั้งสองฝั่งของห้องประชุม ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยบันทึกชื่ออยู่ สมาชิกที่เห็นควรงดออกเสียงสามารถทำได้โดยการลงคะแนนเสียงทั้งโถงเห็นด้วยและโถงไม่เห็นด้วย ที่โถงทั้งสองมีกรรมการนับคะแนนเสียง 2 คนซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาเช่นกันคอยนับคะแนนเสียง
เมื่อการแบ่งแยกเพื่อลงมติสิ้นสุดลงแล้ว กรรมการนับคะแนนเสียงจะรายงานผลต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นำการประชุม ซึ่งรายงานผลนั้นต่อสภาอีกครั้ง ถ้าผลลงมติเสมอกัน ประธานหรือรองประธานสภาสามารถออกเสียงได้ โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้วนั้น การลงคะแนนเสียงนี้ต้องทำให้เกิดการอภิปรายเพิ่มเติมถ้าเป็นไปได้ หรือออกเสียงไม่เห็นด้วยในกรณีร่างพระราชบัญญัติที่พิจารณาอยู่ในวาระที่สามเพื่อหลีกเลี่ยงการตัดสินใจโดยไร้เสียงข้างมาก มติเสมอกันเกิดขึ้นได้ยาก โดยมติเสมอกัน 2 ครั้งล่าสุดเกิดห่างกัน 25 ปีระหว่างกรกฎาคมปี ค.ศ. 1993 และเมษายน ค.ศ. 2019 การลงมติทุกครั้งให้องค์ประชุมสภาสามัญชนเท่ากับ 40 คน และให้นับประธานสภากับคณะกรรมการนับคะแนนเสียงรวมด้วย ถ้ามีสมาชิกลงมติน้อยกว่า 40 คน มิอาจใช้ผลมตินั้นได้
ในอดีตนั้น ถ้าสมาชิกต้องการที่จะประท้วงกับประธานเกี่ยวกับข้อบังคับของรัฐสภาระหว่างมีการแบ่งแยกเพื่อลงมตินั้น สมาชิกต้องสวมหมวกเพื่อส่งสัญญาณว่าไม่ได้จะร่วมอภิปราย โดยมีหมวกทรงสูงหุบได้เก็บไว้ในห้องประชุมเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ก่อนที่ธรรมเนียมนี้จะยกเลิกในปี 1998
ผลการลงมติส่วนใหญ่นั้นส่วนใหญ่ทราบผลล่วงหน้า เนื่องจากพรรคการเมืองที่มีคำสั่งให้สมาชิกพรรคลงมติอย่างไร โดยพรรคการเมืองนั้นให้สมาชิกบางคนทำหน้าที่ดูแลให้สมาชิกลงมติตามที่พรรคต้องการ สมาชิกเหล่านี้เรียกว่าวิป สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ไม่ลงมติสวนมติของพรรค เนื่องจากถ้าลงมติสวนอาจมีผลต่อตำแหน่งหน้าที่การงานในพรรค หรืออาจไม่ได้รับเลือกให้เป็นผู้รับสมัครเลือกตั้งของพรรคในการเลือกตั้งครั้งถัดไป รัฐมนตรี รัฐมนตรีผู้น้อยและเลขานุการส่วนตัวประจำรัฐสภาที่ลงมติสวนคำสั่งวิปส่วนใหญ่แล้วต้องลาออก ความเป็นอิสระของสมาชิกรัฐสภาจึงมีต่ำ แต่ก็มี "การกบฎโดยสมาชิกรัฐสภาผู้น้อย" (backbench rebellion) เมื่อสมาชิกรู้สึกไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายพรรค ตามธรรมเนียมนั้นสมาชิกสามารถลงมติเป็นอื่นได้บ้างถ้าเป็นประเด็นที่ขัดกับผลประโยชน์เขตเลือกตั้งของสมาชิกนั้น ๆ โดยตรง ทั้งนี้พรรคการเมืองอาจประกาศให้มีการลงมติเป็นอิสระได้ ซึ่งเป็นการอนุญาตให้สมาชิกลงมติตามอัธยาศัย การลงมติเกี่ยวกับเรื่องมโนธรรม เช่นการทำแท้งหรือการระวางโทษประหารชีวิต มักให้ลงมติอิสระได้
การจับคู่สมาชิกเกิดขึ้นเมื่อพรรคสองพรรคตกลงที่จะให้สมาชิกไม่ลงมติด้วยกัน ทำให้สมาชิกทั้งสองไม่ต้องเดินทางมายังสภาเพื่อลงมติ[35][36] อีกทั้งยังมีการอนุญาตให้ลาประชุมโดยวิป เพื่อให้เดินทางไปดูแลพื้นที่ของตนหรือเพื่อเหตุอื่น เรียกว่า bisque (บิสก์)[37]
คณะกรรมาธิการ
แก้รัฐสภาสหราชอาณาจักรมีการตั้งกรรมาธิการเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งการพิจารณานั้นทำอย่างละเอียด และอาจมีการแก้ไขด้วย ร่างพระราชบัญญัติที่มีความสำคัญทางรัฐธรรมนูญอย่างมากและมาตรการทางการเงินที่สำคัญบางอย่างจะถูกส่งไปยังกรรมาธิการของรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งมีสมาชิกจากทั้งสองสภา และประธานสภาไม่ได้เป็นผู้นำการประชุม แต่เป็นประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีหารายได้ คณะกรรมาธิการนี้จะประชุมในห้องประชุมสภาสามัญชน
ร่างพระราชบัญญัติส่วนใหญ่ก่อนปี ค.ศ. 2006 พิจารณาโดยคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 16 ถึง 50 คน สัดส่วนสมาชิกในคณะกรรมาธิการมักสะท้อนสัดส่วนพรรคในสภา สมาชิกคณะในกรรมาธิการมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมีสมาชิกเข้ามาใหม่เวลาคณะกรรมาธิการต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติใหม่ จำนวนคณะกรรมาธิการสามัญไม่ได้จำกัด แต่มักมีแค่ 10 คณะ นานครั้งจะมีร่างพระราชบัญญัติที่ถูกส่งไปยังคณะกรรมาธิการสามัญพิเศษซึ่งสอบสวนและเปิดการนั่งพิจารณาประเด็นที่อยู่ในร่าง ในเดือนพฤษจิกายน ค.ศ. 2006 คณะกรรมาธิการสามัญถูกเปลี่ยนเป็นคณะกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติสาธารณะ
นอกจากนี้สภาสามัญชนยังมีคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำกระทรวงต่าง ๆ ด้วย โดยสัดส่วนสมาชิกในคณะกรรมาธิการเหล่านี้ใช้วิธีแบ่งตามสัดส่วนพรรคเหมือนคณะกรรมาธิการสามัญ เมื่อเปิดสมัยประชุมแรกของรัฐสภานั้น ๆ หรือเมื่อตำแหน่งว่างลงจะมีการเลือกผู้ที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการโดยการลงคะแนนเสียงลับ โดยการแบ่งสัดส่วนตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการจะดูตามขนาดของพรรคการเมือง และมีการตกลงลงคะแนนเสียงให้เป็นไปตามที่ตกลงไว้ล่วงหน้าระหว่างพรรค หน้าที่หลักของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำกระทรวงคือการตรวจสอบและสอบสวนการทำงานของกระทรวงนั้น ๆ ซึ่งกรรมาธิการอาจเปิดการนั่งพิจารณาและรวบรวมหลักฐานเพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ร่างพระราชบัญญัติอาจส่งให้คณะกรรมาธิการวิสามัญประจำกระทรวงได้ แต่กลไกนี้ไม่ได้ใช้บ่อยครั้งนัก
มีคณะกรรมาธิการวิสามัญอีกประเภทคือคณะกรรมาธิการภายในซึ่งดูแลการบริหารสภาและบริการต่าง ๆ ที่มีให้แก่สมาชิก คณะกรรมาธิการอื่น ๆ ของสภานั้นมีคณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภาซึ่งมีสมาชิกจากสภาขุนนางด้วย คณะกรรมาธิการมาตรฐานทางจริยธรรมและเอกสิทธิ์ซึ่งพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอกสิทธิ์ของรัฐสภาหรือความประพฤตของสมาชิกรัฐสภา และคณะกรรมาธิการสรรหาซึ่งสรรหาสมาชิกสำหรับคณะกรรมาธิการอื่น ๆ
ตราเครื่องหมายสภาสามัญชน
แก้ตราเครื่องหมายที่ใช้โดยสภาสามัญชนนั้นประกอบด้วยประตูปราสาทที่มีมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดวางอยู่ข้างบน ในอดีตตรานี้จะแสดงเป็นสีทอง แต่ในปัจจุบันใช้หลากสี ส่วนใหญ่เป็นสีดำหรือสีเขียว
เชิงอรรถ
แก้- ↑ กฎหมายที่ผ่านโดยรัฐสภาในปัจจุบันให้สภาสามัญชนดำรงวาระได้นานสุด 5 ปี แต่เนื่องจากรัฐสภามีอำนาจอธิปไตยในตนเอง จึงทำให้รัฐสภาขยายวาระของตนเองได้ตามที่ต้องการ[1] ครั้งล่าสุดที่รัฐสภาขยายวาระของตนเองคือเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อรัฐสภาลงมติขยายวาระของตนเองหลายครั้งจนสงครามจบลง ทำให้รัฐสภาดำรงวาระ 10 ปีจากปกติ 5 ปี
- ↑ สมาชิกสามารถได้รับการรับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาอิสระหรือออกจากพรรคการเมืองที่สังกัดตอนได้รับการเลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภาที่ถูกสั่งพักจากพรรคที่ตนสังกัดให้ถือว่าเป็นอิสระเช่นกัน สมาชิกรัฐสภาทั้ง 6 คนในหมู่นี้ได้รับการเลือกตั้งในฐานะสมาชิกรัฐสภาอิสระในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2024
- ↑ ชื่ออย่างเป็นทางการคือ คณะสามัญชนผู้ทรงเกียรติแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือในที่ประชุมรัฐสภา หรืออีกแบบคือ อัศวิน ประชาชน และพลเมืองผู้ทรงเกียรติแห่งสภาสามัญชนสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือในที่ประชุมรัฐสภา
- ↑ คนอื่น ๆ ที่กล่าวถึงคือ เจมส์ คัลลาฮาน (แพ้การเลือกตั้งครั้งถัดไป) จอห์น เมเจอร์ (ชนะการเลือกตั้งครั้งถัดไป) กอร์ดอน บราวน์ (แพ้การเลือกตั้งครั้งถัดไป) เทรีซา เมย์ (ชนะการเลือกตั้งครั้งถัดไป) และ บอริส จอห์นสัน พวกเขาเริ่มดำรงตำแหน่งหลังจาก แฮโรลด์ วิลสัน มาร์กาเรต แทตเชอร์ โทนี แบลร์ เดวิด แคเมอรอน และเทรีซา เมย์
- ↑ ก่อนปี ค.ศ. 1965 พรรคอนุรักษนิยมไม่มีกลไกเลือกหัวหน้าพรรคใหม่อย่างเป็นทางการ ในปี ค.ศ. 1957 เมื่อแอนโทนี อีเดนลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยที่ไม่ได้แนะนำผู้ที่ให้มาแทนที่เขานั้น พรรคไม่สามารถเลือกผู้ให้เป็นหัวหน้าพรรคต่อได้ สมเด็จพระราชินีนาถจึงต้องแต่งตั้งแฮโรลด์ แมคมิลแลนเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรี
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Christopher Forsyth (2011). "The definition of Parliament after Jackson: Can the life of Parliament be extended under the Parliament Acts 1911 and 1949?". Oxford University Press and New York University School of Law.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน พิมพ์คำว่า House of Commons
- ↑ Oxford English Dictionary. Second edition, volume III: Cham – Creeky. Clarendon, Oxford 1989, pp. 564–567 (article common, a.), 567 (article common, sb.) and 572 seq. (article commons, sb. pl.).
- ↑ Companion to Standing Orders.
- ↑ Pollard, A.F. (1920). The Evolution of Parliament. Longmans. pp. 107–08.
Not that the house of commons was ever that house of the common people which it is sometimes supposed to have been. For "commons" means "communes"; and while "communes" have commonly been popular organizations, the term might in the thirteenth and fourteenth centuries be applied to any association or confederacy.
- ↑ Oxford English Dictionary. Second edition, volume III: Cham – Creeky. Clarendon, Oxford 1989, p. 576 (article commune, sb.).
- ↑ "The Commons Chamber in the 16th Century". Parliament of the United Kingdom. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 November 2011. สืบค้นเมื่อ 14 October 2011.
- ↑ Rush, Michael (2005). Parliament Today. Manchester University Press. p. 141. ISBN 9780719057953. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 January 2021. สืบค้นเมื่อ 6 November 2020.
- ↑ "Parliamentum". 28 July 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 October 2017. สืบค้นเมื่อ 2 June 2017.
- ↑ "700th anniversary of the ban on MPs carrying weapons into Parliament". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 June 2019. สืบค้นเมื่อ 3 June 2019.
- ↑ Constituency boundary reviews and the number of MPs Contributing Authors, Elise Uberoi, Social and General Statistics https://researchbriefings.files.parliament.uk/documents/SN05929/SN05929.pdf
- ↑ "Surveys 1820-1832 | History of Parliament Online". www.historyofparliamentonline.org. สืบค้นเมื่อ 2022-10-14.
- ↑ Arnold-Baker, Charles (2001). The Companion to British History (2nd ed.). Routledge – โดยทาง Credo Reference.
- ↑ "Women in parliament". BBC News. 31 October 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2009. สืบค้นเมื่อ 30 January 2009.
- ↑ Nicholas Allen; Sarah Birch (5 February 2015). Ethics and Integrity in British Politics. Cambridge University Press. p. 145. ISBN 978-1-107-05050-1. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 December 2019. สืบค้นเมื่อ 6 December 2017.
- ↑ "Speaker quits 'for sake of unity'". BBC News. 19 May 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 September 2017. สืบค้นเมื่อ 10 June 2017.
- ↑ "Speaker Michael Martin resigns over MPs' expenses". The Daily Telegraph. 19 May 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 June 2017. สืบค้นเมื่อ 10 June 2017.
- ↑ "The three routes that could lead to a snap General Election". Evening Standard. 14 November 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2019. สืบค้นเมื่อ 7 September 2019.
- ↑ European Union (Withdrawal) (No. 6) Bill.
- ↑ Return of the House of Commons: update on first steps to a virtual House, UK Parliament, 20 April 2020, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 April 2020, สืบค้นเมื่อ 22 April 2020
- ↑ Webber, Esther. "Crowded, dirty, more efficient? UK scraps COVID restrictions for MPs". Politico. สืบค้นเมื่อ 28 August 2021.
- ↑ "Dissolution and Calling of Parliament Bill". parliament.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 December 2021. สืบค้นเมื่อ 26 March 2022.
- ↑ Kelly, Richard (23 March 2022). "Dissolution and Calling of Parliament Bill 2021–22: Progress of the Bill" (PDF). House of Commons Library. สืบค้นเมื่อ 26 March 2022.
- ↑ "Tried and tested system for calling elections restored". GOV.UK (Press release). 24 March 2022. สืบค้นเมื่อ 26 March 2022.
- ↑ "Fixed-term Parliaments Act". Legislation.gov.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 May 2013. สืบค้นเมื่อ 15 April 2013.
- ↑ Wilson, Peter (8 May 2010). "Archaic electoral biases must go". The Australian. Sydney, Australia: News Limited. สืบค้นเมื่อ 9 May 2010.
- ↑ "UK Parliament – Pay and expenses for MPs". Parliament.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 March 2014. สืบค้นเมื่อ 14 April 2014.
- ↑ Simeon, Sir John (1789). A Treatise on the Law of Elections: In All Its Branches – John Simeon – Google Books. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 January 2021. สืบค้นเมื่อ 8 April 2014.
- ↑ "An insider's guide to the House of Commons". parliament.uk. 19 October 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 September 2017. สืบค้นเมื่อ 1 September 2017.
- ↑ "Strangers – Glossary page". Parliament.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 March 2019. สืบค้นเมื่อ 25 March 2019.
- ↑ "Hansard of the air". parliament.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 December 2015. สืบค้นเมื่อ 1 December 2015.
- ↑ "20 years of TV cameras in the Commons". BBC Politics. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 January 2021. สืบค้นเมื่อ 1 December 2015.
- ↑ For example: Plaid Cymru, Scottish National Party, the Green Party of England and Wales, and sometimes the Socialist Campaign Group. See e.g. [1] เก็บถาวร 26 พฤศจิกายน 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, [2] เก็บถาวร 26 พฤศจิกายน 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, [3] เก็บถาวร 26 พฤศจิกายน 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Samuel, Herbert (May 1935). "The Pageantry of Parliament". The Rotarian. 46 (5): 22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 November 2015. สืบค้นเมื่อ 14 April 2015.
- ↑ "Pairing – Glossary page – UK Parliament". Parliament.uk. 21 April 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 December 2011. สืบค้นเมื่อ 28 December 2011.
- ↑ "Pairing". BBC News. 16 October 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 April 2010. สืบค้นเมื่อ 12 December 2010.
- ↑ "Bisque". BBC News. 6 August 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 March 2012. สืบค้นเมื่อ 12 December 2010.