รัฐสภาสหราชอาณาจักร
รัฐสภาสหราชอาณาจักร หรือ รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (อังกฤษ: Parliament of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland หรือ Parliament of the United Kingdom) เป็นสถาบันฝ่ายนิติบัญญัติสูงสุดในสหราชอาณาจักรและดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร โดยมีประมุขเป็นพระมหากษัตริย์สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3
รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ Parliament of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland | |
---|---|
รัฐสภาสหราชอาณาจักรชุดที่ 58 | |
โลโก้ที่ใช้กับรัฐสภาตั้งแต่ ค.ศ. 2018 | |
ประเภท | |
ประเภท | |
องค์ประกอบ | สภาขุนนาง สภาสามัญชน |
ประวัติ | |
สถาปนา | 1 มกราคม ค.ศ. 1801 |
ก่อนหน้า | รัฐสภาบริเตนใหญ่ และรัฐสภาไอร์แลนด์ |
ผู้บริหาร | |
สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ตั้งแต่ 8 กันยายน ค.ศ. 2022 | |
ลอร์ดแมคฟอลแห่งอัลคลุยธ์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 | |
ลินด์เซย์ ฮอยล์ ตั้งแต่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 | |
โครงสร้าง | |
สมาชิก | สภาขุนนาง: 762 สภาสามัญชน: 650 |
กลุ่มการเมืองใน สภาขุนนาง[1] | ขุนนางฝ่ายศาสนจักร
ขุนนางฝ่ายอาณาจักร
ฝ่ายค้านอันภักดีในสมเด็จฯ
ฝ่ายค้านอื่น ๆ
|
กลุ่มการเมืองใน สภาสามัญชน[2] | รัฐบาลในสมเด็จฯ
ฝ่ายค้านอันภักดีในสมเด็จฯ
ฝ่ายค้านอื่น ๆ
ประธานในที่ประชุม
คว่ำบาตรการประชุม
|
การเลือกตั้ง | |
การเลือกตั้งสมาชิกสภาสามัญชน[2]ครั้งล่าสุด | 4 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 |
การเลือกตั้งสมาชิกสภาสามัญชน[2]ครั้งหน้า | ภายในเดือนสิงหาคมค.ศ. 2029 |
ที่ประชุม | |
พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ เวสต์มินสเตอร์, ลอนดอน บริเตนใหญ่ | |
เว็บไซต์ | |
www |
รัฐสภาสหราชอาณาจักรเป็นระบบสองสภา (Bicameralism) ซึ่งประกอบไปด้วย “สภาสูง” หรือ สภาขุนนาง (House of Lords) และ “สภาล่าง” หรือ สภาสามัญชน (House of Commons) [3] พระมหากษัตริย์เป็นองค์ประกอบที่สามของรัฐสภา[4]
- สภาขุนนาง สภาขุนนางประกอบด้วยสมาชิกสองประเภท: ขุนนางฝ่ายศาสนจักร (Lords Spiritual) ประกอบด้วยบิชอปอาวุโสของคริสตจักรแห่งอังกฤษ และขุนนางฝ่ายอาณาจักร (Lords Temporal) สมาชิกสภาขุนนางเป็นสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลเดิมและรัฐบาลปัจจุบัน[5]
- สภาสามัญชน สภาสามัญชนประกอบด้วยสมาชิกผู้ได้รับเลือกจากประชาชนอย่างน้อยทุก 5 ปึ[6]
สภาทั้งสองสภาประชุมแยกกันในห้องประชุมรัฐสภาภายในพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ตึกรัฐสภา” ที่นครเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน ตามปกติแล้วรัฐมนตรีของรัฐบาลทั้งหมดรวมทั้งนายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกสภาสามัญชน แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางกรณีที่เป็นสมาชิกของสภาขุนนาง
รัฐสภาสหราชอาณาจักรก่อตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1707 เพื่อแทนที่รัฐสภาอังกฤษ และ รัฐสภาแห่งสกอตแลนด์หลังจากการลงนามในพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ซึ่งรวมราชอาณาจักรอังกฤษและและ ราชอาณาจักรสกอตแลนด์เข้าด้วยกัน ซึ่งก็เป็นรัฐสภาอังกฤษเดิมที่มาเพิ่มสมาชิกจากสภาสามัญชนและสภาขุนนางของรัฐสภาแห่งสกอตแลนด์ รัฐสภาอังกฤษวิวัฒนาการมาจากสภาของต้นสมัยกลางซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อพระมหากษัตริย์อังกฤษ[7] ระบบรัฐสภาของอังกฤษได้รับการขนานนามว่าเป็น “แม่แห่งรัฐสภา”[8] ซึ่งเป็นระบบประชาธิปไตยที่เป็นรากฐานของมาตรฐานในการก่อตั้งระบบรัฐสภาทั่วโลก[9] นอกจากนั้นรัฐสภาสหราชอาณาจักรในปัจจุบันยังเป็นระบบรัฐสภาของประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ (Anglophone) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก[10]
ตามทฤษฎีแล้วอำนาจนิติบัญญัติเป็นอำนาจภายใต้ “รัฐสภากษัตริย์” (Queen-in-Parliament หรือ King-in-Parliament) แต่ในสมัยปัจจุบันอำนาจที่แท้จริงอยู่กับสภาสามัญชน พระมหากษัตริย์โดยทั่วไปมีหน้าที่ให้คำแนะนำต่อนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ส่วนอำนาจของสภาของสภาขุนนางเป็นอำนาจที่มีเพียงจำกัด[11]
ประวัติ
แก้ในสมัยกลางและต้นสมัยใหม่ราชอาณาจักรอังกฤษ ราชอาณาจักรสกอตแลนด์ และราชอาณาจักรไอร์แลนด์ ต่างก็มีรัฐสภาเป็นของตนเอง พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 รวมรัฐสภาอังกฤษและ รัฐสภาแห่งสกอตแลนด์เป็นรัฐสภาแห่งบริเตนใหญ่[12] และ พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800 รวมไอร์แลนด์เป็น รัฐสภาสหราชอาณาจักร[13]
รัฐสภาอังกฤษ
แก้รัฐสภาอังกฤษมีรากฐานมาจากสภาวิททัน (Witenagemot) ของ แองโกล-แซ็กซอน ใน ค.ศ. 1066 พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 หลังจากที่ทรงได้รับชัยชนะต่ออังกฤษทรงนำระบบเจ้าขุนมูลนาย (feudal system) เข้ามาในอังกฤษ ระบบศักดินาของพระเจ้าวิลเลียมเป็นระบบที่พระองค์ต้องปรึกษาสภาราชสำนัก (crown council) ของขุนนางผู้ปกครองที่ดิน (tenants-in-chief) ภายในราชอาณาจักรและทางคริสตจักรก่อนที่จะออกกฎหมายได้ หลังจากนั้นสภาราชสำนักก็กลายมาเป็น สภาองคมนตรี (Curia Regis) ในอังกฤษเป็นสภาของขุนนางผู้มีที่ดินและนักบวชอาวุโสที่มีหน้าที่ในการถวายคำปรึกษาต่อพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับนิติบัญญัติ สภาองคมนตรี
ขุนนางผู้ปกครองที่ดินมักจะมึความขัดแย้งกันทางอำนาจกับพระเจ้าแผ่นดิน ใน ค.ศ. 1215 ขุนนางเหล่านี้ก็บังคับให้พระเจ้าจอห์น ลงนามในมหากฎบัตร (Magna Carta) ซึ่งกำหนดห้ามมิให้พระมหากษัตริย์เรียกเก็บภาษีที่นอกเหนือไปจากปกติได้ตามใจชอบนอกจากว่าจะได้รับการเห็นชอบจากสภาองค์มนตรีซึ่งค่อยกลายมาเป็นรัฐสภาในที่สุด
รัฐสภาแรกที่ตั้งขึ้นในอังกฤษตั้งขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ใน ค.ศ. 1265 ซีมง เดอ มงฟอร์ เอิร์ลที่ 6 แห่งเลสเตอร์ ปฏิปักษ์ของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 เรียกประชุมรัฐสภาของผู้สนับสนุนโดยมิได้รับพระราชานุญาตจากพระเจ้าเฮนรีล่วงหน้า อาร์ชบิชอป บิชอป อธิการอาราม เอิร์ล และบารอนต่างก็ถูกเรียกตัวมาประชุม และอัศวินสองคนจากแต่ละไชร์ (shire) และคหบดีสองคนจากแต่ละบุรี (borough) ระบบการเลือกผู้แทนมาประชุมของมองท์ฟอร์ทเรียกกันว่า ระบบรัฐสภา ค.ศ. 1295 (Model Parliament) และเป็นที่ยอมรับโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1
พระราชบัญญัติผนวกดินแดนเวลส์ ค.ศ. 1535–1542 รวมเวลส์มาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษ รัฐสภาอังกฤษจึงมีผู้แทนจาก เวลส์
เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 เสด็จสวรรคต พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ก็ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ แต่ถึงแม้ว่าราชอาณาจักรอังกฤษ และ ราชอาณาจักรสกอตแลนด์ แต่แต่ละราชอาณาจักรก็ยังคงมีรัฐสภาแยกจากกัน พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ผู้ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ทรงมีปัญหาขัดแย้งกับรัฐสภาอังกฤษ และทรงทำให้เกิดสงครามสามอาณาจักร (Wars of the Three Kingdoms) ซึ่งบานปลายออกไปเป็น สงครามกลางเมืองอังกฤษ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงถูกสำเร็จโทษเมื่อ ค.ศ. 1649 อังกฤษกลายมาเป็นเครือจักรภพอังกฤษ ปกครองโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ผู้ยุบสภาขุนนาง และสภาสามัญชนมาอยู่ภายใต้อำนาจของครอมเวลล์ หลังจาก ริชาร์ด ครอมเวลล์ (ลูกของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์) เสียชีวิตก็ได้มีการฟื้นฟูการปกครองกลับไปเป็นระบบราชาธิปไตยใน ค.ศ. 1660 และรื้อฟื้นสภาขุนนางอย่างที่เคยเป็นมา
ความที่กลัวว่าอังกฤษจะถูกปกครองโดยผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกของผู้สืบเชิ้อสายจากพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์จึงทรงยกทัพจากเนเธอร์แลนด์มาอังกฤษตามคำอัญเชิญของผู้อัญเชิญทั้งเจ็ด ใน ค.ศ. 1688 เพื่อโค่นราชบัลลังก์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ใน การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ เมื่อสำเร็จพระองค์และเจ้าหญิงแมรีก็ขึ้นครองราชย์ร่วมกันเป็นพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และ สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 ตามข้อตกลงในพระราชปฏิญญาสิทธิซึ่งเป็นการเริ่มเข้าสู่ระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแต่อำนาจสูงสุดยังอยู่ที่พระมหากษัตริย์ หลังจากนั้นก็ได้มีการเรียกประชุมรัฐสภากันเป็นครั้งที่สามเพื่อการกำหนดผู้มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์
รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์
แก้สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1 มกราคม ค.ศ.1801 โดยการรวมตัวของบริเตนใหญ่กับไอร์แลนด์ภายใต้พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800 โดยหลักการด้านความรับผิดชอบต่อสภาสามัญชน (สภาล่าง) ยังไม่ได้รับการพัฒนาจนถึงช่วงปีศตวรรณที่ 19 ดังนั้นสภาขุนนางในสมัยนั้นจึงมีบทบาทและมีอำนาจมากกว่าทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ การเลือกตั้งในสมัยนั้นยังคงเป็นระบบเก่าซึ่งขนาดของเขตเลือกตั้งนั้นแตกต่างกันในขนาดอย่างมาก ดังนั้น เขตโอลด์ซารัมซึ่งมีผู้ลงคะแนนเจ็ดคนสามารถออกเสียงเลือกผู้แทนได้ถึงสองคน ซึ่งมีผู้แทนเท่ากับเขตดันวิคซึ่งแทบจะไม่หลงเหลือแผ่นดินอยู่เนื่องมาจากปัญหาด้านการพังทลายของหน้าดินลงไปในทะเล
ยังมีเขตเลือกตั้งขนาดเล็กอีกจำนวนมากซึ่งควบคุมโดยสมาชิกสภาขุนนางซึ่งควบคุมผลการเลือกตั้งได้ผ่านผู้สนับสนุนและสมาชิกในครอบครัวของตน ในช่วงสมัยการปฏิรูปในศตวรรษที่ 19 ซึ่งผ่านโดยพระราชบัญญัติปฏิรูป ค.ศ. 1832 ทำให้มีการจัดระเบียบระบบการลงคะแนนสำหรับสภาสามัญชนอย่างครอบคลุมขึ้น โดยทำให้สมาชิกสภาสามัญชนนั้นไม่ต้องพึ่งพาเหล่าขุนนางในการเลือกตั้งอีกต่อไป
อำนาจสูงสุดในสภาสามัญชนบริเตนใหญ่นั้นได้รับการยืนยันอีกครั้งหนึ่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในปีค.ศ.1909 สภาสามัญชนได้ผ่านกฎหมายที่เรียกว่า "งบประมาณของปวงชน" (People's Budget) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีอย่างมีนัยสำคัญโดยผู้เสียประโยชน์จากกฎหมายนี้คือเหล่าเจ้าของที่ดินที่ร่ำรวย สภาขุนนางซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมากได้รวมตัวกันตีร่างกฎหมายนี้ตกไป ผลของความสนใจของประชาชนเรื่องกฎหมายนี้พร้อมทั้งความไม่พึงพอใจต่อสภาขุนนางที่มีเพิ่มมากขึ้นทำให้พรรคเสรีนิยมชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปีค.ศ. 1910 ทั้งสองครั้ง
เมื่อชนะการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว นายกรัฐมนตรีเฮอร์เบิร์ท เฮนรี แอสควิธได้ถือว่าชัยชนะในการเลือกตั้งนั้นถือเป็นอาณัติของปวงชน ได้ทำการเสนอร่างกฎหมายรัฐสภาขึ้นเพื่อให้จำกัดบทบาทและอำนาจของสภาขุนนาง สภาขุนนางจึงตีตกร่างกฎหมายนี้ไปเช่นกัน แอสควิธจึงตอบโต้ด้วยคำสัญญาที่ทำไว้กับพระมหากษัตริย์อย่างลับๆ ก่อนการได้รับชัยชนะเป็นครั้งที่สองในการเลือกตั้งทั่วไปในปีค.ศ.1910 และได้ขอให้มีการเพิ่มตำแหน่งขุนนางจากพรรคเสรีนิยมอีกหลายร้อยคนเพื่อจะได้มีเสียงข้างมากในสภาขุนนางซึ่งมากกว่าฝั่งพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งแผนการนี้ทำให้สภาขุนนางยอมผ่านกฎหมายนี้ไป
ร่างกฎหมายนี้ ต่อมาคือพระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. 1911 ห้ามมิให้สภาขุนนางกระทำการใดๆ เพื่อจะเป็นการระงับกฎหมายงบประมาณ (ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านภาษีอากร) และยินยอมให้สภาขุนนางยืดระยะเวลาการพิจารณาร่างกฎหมายอื่นๆ ได้อย่างช้าสุดถึงสามสมัยประชุม (ต่อมาลดลงเหลือสองสมัยในปีค.ศ. 1949) ซึ่งหลังจากนั้นจะถือว่าร่างกฎหมายนั้นมีผลบังคับใช้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับการเห็นชอบ อย่างไรก็ตามในการบังคับใช้พระราชบัญญัติรัฐสภาทั้งสองฉบับนี้ สภาขุนนางก็ยังสามารถใช้อำนาจที่มีไม่จำกัดในการยับยั้งร่างกฎหมายใดๆ ทันทีที่เข้าพิจารณาเพื่อเป็นความตั้งใจในการยืดอายุของรัฐสภาให้นานขึ้น[14]
รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ
แก้พระราชบัญญัติรัฐบาลแห่งไอร์แลนด์ ค.ศ. 1920 ได้ก่อตั้งรัฐสภาแห่งไอร์แลนด์เหนือและไอร์แลนด์ใต้ขึ้นและลดจำนวนผู้แทนของทั้งสองส่วนนี้ในรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ลง ต่อมาได้มีการเพิ่มที่นั่งผู้แทนในส่วนของไอร์แลนด์เหนืออีกครั้งหนึ่งภายหลังจากการปกครองโดยตรงในปีค.ศ. 1973 เสรีรัฐไอริชได้กลายเป็นประเทศเอกราชในปีค.ศ. 1922 และในปีค.ศ. 1927 รัฐสภาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ
สืบเนื่องต่อจากการปฏิรูปสภาสามัญชนในศตวรรษที่ 20 ได้มีพระราชบัญญัติขุนนางตลอดชีพ ค.ศ. 1958 เพื่ออนุญาตให้มีการก่อตั้งบรรดาศักดิ์ขุนนางตลอดชีพขึ้น ภายในช่วงปีค.ศ. 1960 การพระราชทานบรรดาศักดิ์สืบตระกูลได้ถูกยกเลิกลงเกือบทั้งหมด โดยต่อมาขุนนางใหม่นั้นเกือบทั้งหมดเป็นขุนนางตลอดชีพ
พระราชบัญญัติสภาขุนนาง ค.ศ. 1999 ได้ยกเลิกสิทธิโดยชอบธรรมของขุนนางสืบตระกูลในการเป็นสมาชิกสภาขุนนางโดยอัตโนมัติ แต่ยังคงอนุโลมให้มีขุนนางสืบตระกูลจำนวน 92 คน โดยมาจากการเลือกตั้งโดยขุนนางสืบตระกูลทั้งหมดซึ่งสามารถเลือกตั้งใหม่ได้หากมีสมาชิกที่ถึงแก่กรรม สภาขุนนางนั้นขณะนี้จึงกลายเป็นสภาที่เป็นรองต่อสภาสามัญชน นอกจากนี้พระราชบัญญัติปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ค.ศ.2005 ยังเพิกถอนอำนาจหน้าที่ด้านศาลยุติธรรมของสภาขุนนางอันสืบเนื่องมาจากการจัดตั้งศาลสูงสุดแห่งสหราชอาณาจักรในปีค.ศ. 2009
องค์ประกอบและอำนาจ
แก้ตามหลักอำนาจนิติบัญญัติภายใต้ “รัฐสภากษัตริย์” มีองค์ประกอบสามประการ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ สภาขุนนาง และสภาสามัญชน ไม่มีผู้ใดสามารถเป็นสมาชิกได้ทั้งสองสภา และสมาชิกสภาขุนนางตามกฎหมายไม่สามารถออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาสามัญชนได้ ในอดีตนั้นสมาชิกรัฐสภาไม่สามารถได้รับตำแหน่งทางการเมืองได้เพื่อคงไว้ซึ่งหลักการแบ่งแยกอำนาจแต่ข้อจำกัดนี้ค่อยๆ ลดลง จนกระทั่งค.ศ. 1919 สมาชิกรัฐสภาซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีจะต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาสามัญชนและจะต้องลงเลือกตั้งใหม่ในสมัยถัดไป ซึ่งกฎข้อนี้ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อค.ศ. 1926 โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ตามพระราชบัญญัติการตัดสิทธิ์สภาสามัญชน ค.ศ. 1975
กฎหมายใดๆ จะบังคับใช้ได้ตามกฎหมายจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ ซึ่งยังคงไว้ซึ่งอำนาจบริหารซึ่งแยกออกจากรัฐสภา คือ พระราชอำนาจ ได้แก่ อำนาจในการลงนามสนธิสัญญา ประกาศสงคราม พระราชทานบรรดาศักดิ์ และแต่งตั้งข้าราชการ ในทางปฏิบัติแล้วพระราชอำนาจนั้นจะกระทำผ่านคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นๆ ภายในคณะรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลนั้นจะต้องมีความรับผิดชอบต่อรัฐสภาผ่านการควบคุมด้านการคลังสาธารณะ และต่อปวงชนผ่านทางการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา
พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลจากสมาชิกรัฐสภา โดยผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสามารถเป็นผู้ใดก็ได้ที่สามารถควบคุมเสียงข้างมากและได้รับความไว้วางใจในสภาสามัญชนได้ ในอดีตนั้นพระมหากษัตริย์บางคราวได้ใช้พระราชอำนาจนี้ เช่นในคราวที่ทรงแต่งตั้งอเล็ก ดักลัส-ฮิวม์ในปีค.ศ. 1963 เมื่อนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ฮาโรลด์ แมคมิลแลน ได้ล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนั้นนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ถวายคำแนะนำว่าบุคคลใดควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลต่อไป
สภาขุนนาง เรียกแบบเต็มว่า "คณะขุนนางฝ่ายศาสนจักรและอาณาจักรผู้ทรงเกียรติแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือในที่ประชุมรัฐสภา" (อังกฤษ: The Right Honourable the Lords Spiritual and Temporal of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland in Parliament assembled) โดยประกอบด้วยขุนนางฝ่ายศาสนจักรซึ่งได้แก่เหล่ามุขนายกในคริสตจักรอังกฤษ และขุนนางฝ่ายอาณาจักรซึ่งเป็นผู้ครองบรรดาศักดิ์ในอาณาจักร โดยขุนนางทั้งสองประเภทถือว่าอยู่ต่างฐานันดรแต่นั่งอยู่ในสภาสูงด้วยกัน อภิปรายร่วมกัน และลงมติร่วมกัน
ภายหลังจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. 1911 และ 1949 อำนาจของสภาขุนนางได้ถูกลดทอนลงให้น้อยกว่าสภาสามัญชน โดยร่างกฎหมายทั้งหมดยกเว้นร่างกฎหมายงบประมาณจะได้รับการอภิปรายและลงมติโดยสภาขุนนาง อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีมติไม่เห็นชอบในร่างกฎหมายใดๆ สภาขุนนางสามารถประวิงเวลารอได้ไม่เกินสองสมัยประชุม ซึ่งภายหลังจากนั้นแล้วสภาสามัญชนสามารถลงมติผ่านร่างกฎหมายนี้ได้โดยไม่ต้องผ่านการลงมติโดยสภาขุนนาง สภาขุนนางยังสามารถกำกับดูแลการทำงานของรัฐบาลได้ผ่านทางการตั้งกระทู้ถามในรัฐสภาต่อคณะรัฐมนตรี และผ่านทางกลไกการตรวจสอบโดยคณะกรรมาธิการย่อยต่างๆ ได้ ศาลสูงสุดในอังกฤษและเวลส์รวมทั้งไอร์แลนด์เหนือนั้นในอดีตเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการในสภาขุนนาง แต่ต่อมาในภายหลังได้ถูกแยกออกมาจัดตั้งเป็นศาลสูงสุดในปีค.ศ. 2009
ขุนนางฝ่ายศาสนจักรในอดีตรวมถึงเหล่านักบวชอาวุโสในคริสตจักรอังกฤษ เช่น อัครมุขนายก มุขนายก เจ้าอาวาส เป็นต้น โดยหลังจากการยุบอารามในสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 เหล่าเจ้าอาวาสและนักบวชในไพรออรีจึงสูญเสียสิทธิในการเป็นสมาชิกในสภาขุนนางในรัฐสภา มุขนายกประจำมุขมณฑลยังคงมีสิทธิในความเป็นสมาชิกในรัฐสภา แต่ภายหลังจากพระราชบัญญัติมุขมณฑลแมนเชสเตอร์ ค.ศ. 1847 บัญญัติให้มีเพียงมุขนายกอาวุโสที่สุดจำนวนเพียง 26 องค์ ถือเป็นขุนนางฝ่ายศาสนจักร ซึ่งจะประกอบด้วยสมาชิกในมุขมณฑลใหญ่ทั้งห้า ได้แก่ อัครมุขนายกแห่งแคนเทอร์เบอรี อัครมุขนายกแห่งยอร์ก มุขนายกแห่งลอนดอน มุขนายกแห่งเดอรัม และมุขนายกแห่งวินเชสเตอร์ ส่วนอีก 21 องค์ ประกอบด้วยมุขนายกประจำมุขมณฑลต่างๆ เรียงตามลำดับอาวุโส ถึงแม้ว่าความในพระราชบัญญัติขุนนางฝ่ายศาสนจักร (สตรี) ค.ศ. 2015 นั้นอนุญาตให้มุขนายกสตรีเข้าร่วมในสภาขุนนางได้ในกรณีที่มีตำแหน่งว่างลง
กระบวนการนิติบัญญัติ
แก้ทั้งสองสภาในรัฐสภาสหราชอาณาจักรในการประชุมมีประธานคือ ประธานสภาสามัญชน สำหรับสภาสามัญชน และประธานสภาขุนนาง สำหรับสภาขุนนาง
สำหรับสภาสามัญชน การเลือกตั้งประธานจะมีผลได้ตามทฤษฎีจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ก่อน แต่ในทางจารีตรัฐธรรมนูญนั้นจะได้รับพระบรมราชานุญาตโดยอัตโนมัติ บทบาทประธานสภานั้นอาจจะปฏิบัติราชการแทนโดยประธานฝ่ายพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ รองประธานคนที่หนึ่ง หรือรองประธานคนที่สอง (ตำแหน่งทั้งสามนี้มาจากคณะกรรมาธิการรัฐสภาฝ่ายพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ ซึ่งเคยมีอยู่ในอดีต)
ก่อนเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2006 สภาขุนนางมีประธานในที่ประชุมคือลอร์ดชานเซลเลอร์ ซึ่งเป็นสมาชิกในคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีบทบาทในสภาค่อนข้างจำกัด (ในขณะที่อำนาจและบทบาทของประธานสภาสามัญชนนั้นมีมหาศาล) อย่างไรก็ตาม ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 2005 มีผลให้ตำแหน่งประธานในสภาขุนนางเป็นตำแหน่งที่แยกออกจากลอร์ดชานเซลเลอร์ (ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลงานกิจการด้านศาลยุติธรรม) โดยสิ้นเชิง แต่อย่างไรก็ดีนั้นในสภาขุนนางค่อนข้างจะมีระเบียบแบบแผนในการปกครองตนเองได้ อำนาจการตัดสินใจต่างๆ ด้านกฎระเบียบข้อบังคับในสภารวมทั้งบทบาทการลงโทษสมาชิกนั้นจะถูกตัดสินโดยทั้งสภา ในขณะที่สภาสามัญชนนั้นมีประธานมีหน้าที่รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว การอภิปรายต่างๆ ในสภาขุนนางต่อหน้าสภาจะใช้คำนำว่า "ท่านลอร์ดทั้งหลาย" (My Lords) ในขณะที่การอภิปรายในสภาสามัญชนนั้นจะใช้คำนำถึงประธานแต่เพียงผู้เดียวว่า "ท่านประธาน" (Mr. Speaker / Madam Speaker)
ทั้งสองสภาอาจใช้การลงมติต่างๆ ร่วมกันผ่านการลงมติด้วยเสียง โดยสมาชิกทั้งหลายจะตะโกนว่า "Aye!" (อัย!) และ "No!" (โน!) ในสภาสามัญชน หรือ "คอนเทนท์!" (Content!) และ "น็อต-คอนเทนท์" (Not-Content!) ในสภาขุนนาง และประธานในการประชุมจะตัดสินผลการลงมติ คำวินิจฉัยของประธานอาจจะถูกท้าทายผลการลงมติและจะต้องทำการนับคะแนน แต่ประธานสภาสามัญชนมีอำนาจปฏิเสธคำขอจากสภาในการนับคะแนนใหม่ได้ แต่ประธานสภาขุนนางไม่มีอำนาจนี้ ในกรณีการขอนับคะแนนใหม่นั้น แต่ละสภาจะต้องให้สมาชิกของแต่ละสภาเข้าแถวในห้องโถงด้านข้างทั้งสองฝั่งของห้องประชุมสภา โดยพนักงานจะทำการบันทึกชื่อ และการลงมติจะถูกนับทีละคนในขณะที่สมาชิกแต่ละคนเดินเข้าสภาทีละคน ประธานสภาสามัญชนจะต้องไม่สังกัดพรรคการเมือง และจะต้องออกเสียงลงคะแนนยกเว้นในกรณีเสียงเสมอกัน อย่างไรก็ตามประธานสภาขุนนางนั้นสามารถลงมติร่วมกับสมาชิกในสภาขุนนางได้
ทั้งสองสภาสามารถประชุมและอภิปรายได้โดยสาธารณะ โดยในระหว่างการประชุมสภาสามารถให้บุคคลทั่วไปเข้าฟังการอภิปรายได้
เชิงอรรถ
แก้- ↑ ขุนนางฝ่ายศาสนจักรนั่งกับขุนนางอาณาจักรฝ่ายรัฐบาล
- ↑ สมาชิกสามารถได้รับการรับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาอิสระหรือออกจากพรรคการเมืองที่สังกัดตอนได้รับการเลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภาที่ถูกสั่งพักจากพรรคที่ตนสังกัดให้ถือว่าเป็นอิสระเช่นกัน สมาชิกรัฐสภาทั้ง 6 คนในหมู่นี้ได้รับการเลือกตั้งในฐานะสมาชิกรัฐสภาอิสระในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2024
อ้างอิง
แก้- ↑ "Lords by party, type of peerage and gender". UK Parliament.
- ↑ "Current State of the Parties". UK Parliament. สืบค้นเมื่อ 10 May 2021.
- ↑ "Legislative Chambers: Unicameral or Bicameral?". Democratic Governance. United Nations Development Programme. สืบค้นเมื่อ 2008-02-10.
- ↑ "Parliament and Crown". How Parliament works. Parliament of the United Kingdom. สืบค้นเมื่อ 2008-02-10.
- ↑ "Different types of Lords". How Parliament works. Parliament of the United Kingdom. สืบค้นเมื่อ 2008-02-10.
- ↑ "How MPs are elected". How Parliament works. Parliament of the United Kingdom. สืบค้นเมื่อ 2008-02-10.
- ↑ "Parliament: The political institution". History of Parliament. Parliament of the United Kingdom. สืบค้นเมื่อ 2008-02-10.
- ↑ "Messers. Bright And Scholefield At Birmingham", The Times, p. 9, January 19, 1865
{{citation}}
: CS1 maint: date and year (ลิงก์) - ↑ Jenkin, Clive. "Debate: 30 Jun 2004: Column 318". House of Commons debates. Hansard. สืบค้นเมื่อ 2008-02-10.
- ↑ "Escort Notes" (pdf). New Hampshire. สืบค้นเมื่อ 2008-02-17.
- ↑ "Queen in Parliament". The Monarchy Today: Queen and State. Monarchy of the United Kingdom. สืบค้นเมื่อ 2008-02-19.
- ↑ "Act of Union 1707". United Kingdom Parliament. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-31. สืบค้นเมื่อ 2008-02-17.
- ↑ "Act of Union (Ireland) 1800 (c.38) : Article Third". UK Statute Law. Ministry of Justice. สืบค้นเมื่อ 2008-02-17.
- ↑ "The Parliament Acts". Parliament of the United Kingdom. สืบค้นเมื่อ 17 May 2013.