มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (อังกฤษ: Rajamangala University of Technology Thanyaburi) ได้รับการสถาปนาขึ้นในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548[2] โดยรวม 2 หน่วยงานหลักเข้าไว้ด้วยกัน คือ ศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลและวิทยาเขตปทุมธานี จัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ครุศาสตร์อุตสาหกรรม เกษตรศาสตร์ บริหารธุรกิจ คหกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศึกษาศาสตร์ เทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ศิลปศาสตร์ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยและสาขาวิชาทางด้านนาฏศิลป์ ดุริยางค์และพยาบาลศาสตร์ ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตสายวิชาชีพที่มีคุณภาพให้สอดคล้องกับการพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีการจัดการเรียนด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่เน้นการปฏิบัติ ทำการสอน ทำการวิจัย การผลิตครูวิชาชีพ ให้บริการทางวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทะนุบำรุงศิลปและวัฒนธรรม โดยให้ผู้สำเร็จอาชีวศึกษามีโอกาสในการศึกษาต่อ ด้านวิชาชีพเฉพาะทางระดับปริญญาเป็นหลัก
Rajamangala University of Technology Thanyaburi | |
ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย | |
ชื่อเดิม | สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี |
---|---|
ชื่อย่อ | มทร.ธัญบุรี / RMUTT |
คติพจน์ | ราชมงคลสร้างคนสู่งาน เชี่ยวชาญเทคโนโลยี |
ประเภท | สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ |
สถาปนา | 18 มกราคม พ.ศ. 2548 |
สังกัดการศึกษา | กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม |
สังกัดวิชาการ |
|
งบประมาณ | 1,490,168,200 บาท (พ.ศ. 2568)[1] |
นายกสภาฯ | พลเอก ธงชัย เกื้อสกุล |
อธิการบดี | รองศาสตราจารย์ สมหมาย ผิวสอาด (รักษาราชการแทน) |
อาจารย์ | 1,023 คน (พ.ศ. 2567) |
บุคลากรทั้งหมด | 2,110 คน (พ.ศ. 2567) |
ผู้ศึกษา | 24,326 คน (พ.ศ. 2567) |
ที่ตั้ง |
|
วิทยาเขต | ศูนย์การศึกษา |
เพลง | มาร์ชมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี |
ต้นไม้ | ต้นบัวสวรรค์ |
สี | ██ สีน้ำเงิน |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย |
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีมีสถานที่ตั้ง 2 แห่ง คือ ศูนย์กลางมหาวิทยาลัย ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี และวิทยาเขตปทุมธานี ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี
ประวัติ
แก้สืบเนื่องมาจากวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 เป็นวันที่พระราชบัญญัติวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา[3] ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ เพื่อผลิตครูอาชีวศึกษาระดับปริญญาตรี เนื่องจากขณะนั้นวิทยาลัยฯ มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีให้สามารถดำเนินการได้อย่างประหยัดทั้งเวลา และทรัพยากรทุกประเภท วิทยาลัยฯ จึงได้พยายามที่จะจัดให้คณะต่าง ๆ ที่เปิดสอนในระดับปริญญาได้มารวมกันอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง เพื่อให้สามารถขยายการเรียนการสอนระดับปริญญาด้านเทคโนโลยีออกไปให้กว้างขึ้น แต่การดำเนินงานต้องเจอกับปัญหาอุปสรรคทางด้านนโยบายและแนวทางการปฏิบัตินานาประการ จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดตั้งศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญาขึ้นได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
จนกระทั่ง พ.ศ. 2527 วิทยาลัยฯ ได้รับการอนุเคราะห์จากกรมธนารักษ์ โดยการจัดสรรที่ดินคลองหกฝั่งตะวันตก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โฉนดเลขที่ 706 เนื้อที่ 610-3-40 ไร่ และแปลงเลขที่ 109-3-04 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 720-2-45 ไร่ ให้ใช้เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญาตรีของวิทยาลัยฯ
แต่สถานการณ์ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้นเนื่องจากที่ดินผืนนี้ กรมประชาสงเคราะห์ได้แสดงความจำนงขอใช้จัดสรรที่ดินเพื่อการเคหะต่อเนื่องจากหมู่บ้านใช้ทำนาอยู่จึงไม่สามารถเข้าไปปรับปรุงพื้นที่ได้ ต่อมาทางวิทยาลัยฯ ร่วมกับกรมธนารักษ์ดำเนินการเจรจากับกรมประชาสงเคราะห์ใหเอนการใช้ที่ดินผืนนี้ให้แก่วิทยาลัยฯ ต้องเวลาในการดำเนินการถึง 6 เดือน วิทยาลัยฯ จึงเริ่มเข้าไปใช้สิทธิในที่ดินผืนนี้ได้ แต่ปัญหายังไม่สิ้นสุด เนื่องจากชาวบ้านยังมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ และที่ดินส่วนใหญ่ยังใช้ปลูกข้าวอยู่ ทางวิทยาลัยฯ พยายามหาข้อยุติโดยแต่งตั้งคณะกรรมการเข้าไปเจรจากับชาวบ้านและผู้ที่ทำนา จึงได้ข้อตกลงร่วมกัน โดยวิทยาลัยฯ จะเข้าไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นเพื่อสร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่น ชดเชยค่าเสียหายในการขนย้ายข้าวของ พืชผลทางการเกษตรที่ปลูกไว้ ตลอดจนยินดีรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่เป็นพนักงานพร้อมจัดหาที่พักให้ตามสมควร นอกจากนี้วิทยาลัยฯ ยังให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่บุตรหลานของผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินนั้นด้วย
การดำเนินการก่อสร้างได้เริ่มขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา จนกระทั่งเมื่อดำเนินการต่อเนื่องมาจนปลายปี พ.ศ. 2530 วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ได้ขอพระราชทานอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญา ซึ่งสำนักราชเลขาธิการได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ วางศิลาฤกษ์ศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญาวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ในวันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2531 เวลา 16.09 น. ยังความปลาบปลื้มปิติยินดีมาสู่คณจารย์ ข้าราชการ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยฯ เป็นล้นพ้น
ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล[4] อันมีความหมายว่า "สถาบันอันเป็นมิ่งมงคลแห่งพระราชา" และสืบเนื่องจากแนวทางการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจ การบริหารจัดการสู่สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาของรัฐดำเนินการโดยบริหารจัดการได้โดยอิสระ และมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการภายใต้การกำกับดูแลของสภาการศึกษาแห่งชาติ ดังนั้นเพื่อให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการและยกระดับสถานะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งสามารถจัดการศึกษาได้ถึงระดับสูง ปริญญาโท เอก จึงได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่งขึ้น โดยมีการรวมวิทยาเขตที่อยู่ใกล้เคียงกันจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน 9 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีจึงได้รับการจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548
รายชื่ออธิการบดี
แก้ลำดับ | รายชื่ออธิการบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | อ้างอิง |
---|---|---|---|
รองศาสตราจารย์ ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ | 15 สิงหาคม พ.ศ. 2548 – 14 สิงหาคม พ.ศ. 2552 (วาระที่ 1) | [5] | |
15 สิงหาคม พ.ศ. 2552 – 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556 (วาระที่ 2) | [6] | ||
รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ | 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556 – 14 สิงหาคม พ.ศ. 2560 (วาระที่ 1) | [7] | |
27 สิงหาคม พ.ศ. 2560 – 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 (วาระที่ 2) | [8] | ||
รองศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด | 8 มีนาคม พ.ศ. 2563 – ปัจจุบัน | [9] |
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
แก้ตราประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
แก้ตราประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีเป็นตรารูปวงกลมมีรูปดอกบัวบาน 8 กลีบล้อมรอบดอกบัวบาน 8 กลีบ หมายถึง ทางแห่งความสำเร็จ มรรค 8 และความสดชื่นเบิกบาน ก่อให้เกิดปัญญาแผ่ขจรไปทั่วสารทิศ ภายใต้ดอกบัวเป็นดวงตราพระราชลัญจกรบรรจุอยู่อันเป็นสัญลักษณ์ และเครื่องหมายประจำองค์พระมหากษัตริย์ของรัชกาลที่ 9ซึ่งพระองค์ได้เป็นผู้พระราชทาน นามว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล” บนตรารูปวงกลมมีพระมหาพิชัยมงกุฎครอบและมีเลข 9 บรรจุอยู่ซึ่งหมายถึงรัชกาลที่ 9 ด้านล่างของตราวงกลมทำเป็นกรอบโค้งรองรับมีชื่อ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี” คั่นปิดหัวท้ายของกรอบด้วยลวดลายดอกไม้พิมพ์ประจำยามทั้งสองข้าง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง แจ่มใส เบิกบาน
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย
แก้ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ ต้นบัวสวรรค์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gustavia gracillima Miers
ชื่อวงศ์ : Lecythidaceae
ต้นบัวสวรรค์ เป็นไม้พุ่มสูง 2 - 5 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม ใบเวียนเรียงสลับเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ใบเป็นมัน ไม่ผลัดใบ กลีบดอกหนา ซ้อนเหลื่อมกัน ดอกคล้ายดอกบัวหลวงแต่ใหญ่และสวยกว่ามาก ดอกมักออกซ่อนอยู่ภายในทรงพุ่ม นักศึกษาสามารถสัมผัสกับความสวยงามได้ที่บริเวณลานอนันต์รังสรรค์ด้านหน้าหอประชุมมหาวิทยาลัย จะออกดอกในช่วงฤดูหนาว
สีประจำมหาวิทยาลัย
แก้ประติมากรรมประจำมหาวิทยาลัย
แก้บัวเหล็ก ประติมากรรมสัญลักษณ์รูปดอกบัว เป็นเครื่องหมายแห่งความคิดความรู้สึกร่วมในอันที่จะ ช่วยกันพัฒนาการศึกษาด้านวิชาชีพให้เจริญก้าวหน้า รูปดอกบัวซ้อนกัน 3 ชั้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกโปร่งเบาและยังมีกลีบบัว 8 เส้น หมายถึง มรรค 8 ประการ ส่วนยอดแหลมแทรกขึ้นสู่ฟ้า หมายถึง ผู้จะพบความสำเร็จได้จะต้องใช้ความพยายามอย่างสูงสุดในการผ่านแต่ละขั้นตอนการเรียนรู้
การจัดการศึกษา
แก้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดการศึกษาทางวิชาชีพที่เน้นการปฏิบัติทั้งในระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอกโดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยฯ มีหน่วยงานรับผิดชอบจัดการเรียนการสอน ประกอบด้วยคณะต่าง ๆ 12 คณะ ดังต่อไปนี้
คณะ
แก้- คณะวิศวกรรมศาสตร์
- คณะบริหารธุรกิจ
- คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์
- คณะศิลปกรรมศาสตร์
- คณะเทคโนโลยีการเกษตร
- คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
- คณะศิลปศาสตร์
- คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
- คณะการแพทย์บูรณาการ
- คณะพยาบาลศาสตร์
โรงเรียนสาธิต
แก้- โรงเรียนสาธิตนวัตกรรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 - ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6)
- โรงเรียนสาธิตอนุบาลราชมงคลธัญบุรี (ระดับอนุบาลปีที่ 1-3)
พื้นที่จัดการศึกษา
แก้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีพื้นที่จัดการศึกษา 3 แห่งคือ
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ศูนย์คลองหก
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ศูนย์รังสิต
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ศูนย์นวัตกรรมและความรู้
การเดินทาง
แก้ระบบขนส่งมวลชน
แก้-
รถประจำทางสาย 538 (1-24E) มทร.ธัญบุรี - โทลล์เวย์ - รพ.สงฆ์ ให้บริการโดย บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด (ให้บริการในนาม บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด)
-
รถมินิบัสสาย 1156 ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต - มทร.ธัญบุรี (ประตู 1) ให้บริการโดย บริษัท ธัญบุรีขนส่ง จำกัด
-
รถตู้สาย 1156 ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต - มทร.ธัญบุรี (ประตู 3) ให้บริการโดย บริษัท ธัญบุรีขนส่ง จำกัด
-
รถ Shuttle Bus เชื่อมระหว่างศูนย์คลองหกกับศูนย์รังสิต (ให้บริการเฉพาะบุคลากร มทร.ธัญบุรี (รวมถึงนักศึกษา) เท่านั้น)
มีรถโดยสารประจำทางหลายสายที่ผ่านบริเวณถนนเลียบคลองหก รถเมล์ สาย 538 และรถตู้โดยสารชานเมือง สาย 1156 จาก ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และภายในประตู 3 รถมินิบัส สาย 1156 จาก ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต รวมไปถึงรถ Shuttle Bus เชื่อมระหว่างศูนย์คลองหกกับศูนย์รังสิต (ให้บริการเฉพาะบุคลากร มทร.ธัญบุรี (รวมถึงนักศึกษา) เท่านั้น) มีให้บริการฝั่งละ 4 เที่ยว ดังนี้ ศูนย์คลองหก 06.30 น. / 07.30 น. / 12.00 น. / 17.00 น. และศูนย์รังสิต 07.30 น. / 12.00 น. / 17.00 น. / 18.30 น.
บุคคลจากมหาวิทยาลัย
แก้- ด้านศาสนา
- สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์
- ด้านวงการบันเทิง
- อนุวัฒน์ ชูเชิดรัตนา (กอล์ฟ) นักแสดง จบการศึกษาปริญญาตรี คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน สาขาวิชาการถ่ายภาพและภาพยนตร์
- ฟ้ารุ่ง ยุติธรรม มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2550, นางแบบ, นักแสดง จบการศึกษาปริญญาตรี ที่คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล
- ธงไชย แมคอินไตย์ (เบิร์ด) นักร้อง นักแสดง นักแต่งเพลง
- ชนัทธา สายศิลา (แน็ป retrospect) นักร้อง
- ปทิตตา อัธยาตมวิทยา นักแสดง พิธีกร จบการศึกษาปริญญาตรี คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
- พรวิทย์ โสนุตมางค์ มือกลอง วง Air Borne
- มรกต หทัยวสีวงศ์ นักแสดง พิธีกร
- ชัชฎาภรณ์ ธนันทา (ต่าย) นักแสดง ผู้ประกาศ
- สมพล รุ่งพาณิชย์ (แหลม) นักร้องนำวง 25 hours จบการศึกษาปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชาจิตรกรรม
- ชัชฎาภรณ์ ธนันทา นักแสดง จบการศึกษาปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ ภาควิชาสารสนเทศส่วนกลาง
- เลซีล็อกซี นักร้อง แร็ปเปอร์ชาวไทย จบการศึกษาปริญญาตรีคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดนตรีสากล
- ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์
- ด้านการเมือง
- ดร.เกียรติศักดิ์ ส่องแสง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี
- ประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ
- เรวดี รัศมิทัต อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ
- สมัคร ชาลีกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 11
- สัมพันธ์ แป้นพัฒน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช 2 สมัย จบการศึกษาปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการโรงแรม
- ด้านบุคคลากรทางการศึกษา
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์
- รองศาสตราจารย์ ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
- ศาสตราจารย์ อนันต์ กรุแก้ว อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
- ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์
- ด้านวงการผู้ประกาศข่าว
- สายสวรรค์ ขยันยิ่ง ผู้ประกาศข่าว
- ด้านวงการพิธีกร
- จีระพันธ์ เพชรขาว (หมอปลา มือปราบสัมภเวสี) จบการศึกษาปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
- ด้านวงการเอกชน
- นุสรา ทองบ่อ (ครูนุส) ครูสอนสถาบันบางกอกแดนซ์
- สิริพรรณ มาลีแย้ม (ครูอิ๋ว) ครูสอนสถาบันบางกอกแดนซ์
- คุณนวพร อังสนารักษ์ (ครูลินดา) ครูสอนสถาบันบางกอกแดนซ์
- นพรัตน์ กุลหิรัญ ครูโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์
- บุคคลทั่วไป
- ประกายฟ้า พูลด้วง (ฟ้า) อดีตนักร้องนำวง Pastel Season Band, พิธีกร, ยูทูบเบอร์ จบการศึกษาปริญญาตรี คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน สาขาวิชาการถ่ายภาพและภาพยนตร์
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๓๒, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
- ↑ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๔๘
- ↑ พระราชบัญญัติวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พ.ศ. ๒๕๑๘
- ↑ พระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๓๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศวำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน 9 ราย เก็บถาวร 2015-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจานุเบกษา เล่ม 122 ตอน 88ง วันที่ 20 ตุลาคม 2548
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศวำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ราชกิจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนพิเศษ 120ง วันที่ 24 สิงหาคม 2552
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศวำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ราชกิจานุเบกษา เล่ม 130 ตอนพิเศษ 100ง วันที่ 14 สิงหาคม 2556
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ราชกิจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 219ง วันที่ 5 กันยายน 2560
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศวำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ราชกิจานุเบกษา เล่ม 130 ตอนพิเศษ 100ง วันที่ 14 สิงหาคม 2556