วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร

พระอารามหลวงสำคัญประจำจังหวัดนครปฐม
(เปลี่ยนทางจาก พระปฐมเจดีย์)

วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร[1] ตั้งอยู่ที่ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม มีจุดเด่นที่สำคัญคือ พระปฐมเจดีย์ หรือ พระธมเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ที่ใหญ่และสูงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย (120.45 เมตร)

วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร
พระปฐมเจดีย์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระปฐมเจดีย์
ที่ตั้งตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานพระศิลาขาว
พระพุทธรูปสำคัญพระร่วงโรจนฤทธิ์ พระพุทธนรเชษฐ์
เจ้าอาวาสพระพรหมเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม)
ความพิเศษพระปฐมเจดีย์
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

องค์พระปฐมเจดีย์ปัจจุบันนี้ เป็นพระเจดีย์ทรงลังกา แบบสุโขทัย สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสร้างครอบเจดีย์เดิมถึงสององค์ ได้แก่ เจดีย์ทรงสถูปสาญจีตามแบบอินเดียยุคพระเจ้าอโศกมหาราช และเจดีย์ทรงขอมโบราณ

นอกจากองค์พระปฐมเจดีย์แล้ว ในลานชั้นลดด้านทิศใต้องค์พระปฐมเจดีย์และพระอุโบสถมีพระประธาน พระพุทธรูปศิลาขาว ซึ่งเป็นสองในสี่พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท ปางแสดงธรรม ที่สร้างขึ้นในยุคทวารวดี[2]

พระปฐมเจดีย์

แก้

องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นปูชนียสถานอันสำคัญของประเทศไทย อยู่ภายในวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร มีประวัติความเป็นมายาวนาน เชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระโคตมพุทธเจ้า

องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นเจดีย์ใหญ่ รูประฆังคว่ำ ปากผายมหึมา โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นมหึมา ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ประกอบด้วยวิหาร 4 ทิศ กำแพงแก้ว 2 ชั้น ถือเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นที่เคารพสักการบูชาของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทางวัดกำหนดให้มีงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึงวันแรม 5 ค่ำ เดือน 12 รวม 9 วัน 9 คืน เป็นประจำทุกปี

ประวัติ

แก้
องค์พระปฐมเจดีย์
พระธมเจดีย์
 
ภาพถ่ายองค์พระปฐมเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ 8
 
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทมหาธาตุเจดีย์/พระปรางค์
สถาปัตยกรรม
  • องค์แรก: ทรงบาตรคว่ำ หรือทรงสถูปสาญจีตามแบบอินเดีย
  • องค์ที่สอง: ทรงขอมโบราณ
  • องค์ปัจจุบัน: ทรงระฆังคว่ำแบบลังกา
เมืองอำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ประเทศ  ประเทศไทย
เริ่มสร้าง
  • องค์แรก: ราวปี พ.ศ. 1100[3]
  • องค์ที่สอง: ราวปี พ.ศ. 1800[3]
  • องค์ปัจจุบัน: พ.ศ. 2396[4]
ผู้สร้าง
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างก่ออิฐถือปูนประดับด้วยกระเบื้อง
เจดีย์องค์แรกและองค์ที่สองถูกครอบด้วยเจดีย์องค์ปัจจุบัน

พระปฐมเจดีย์ หรือเดิมเรียกว่า พระธมเจดีย์ มีฐานะเป็นมหาธาตุหลวง ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัยว่า พระธมเจดีย์องค์นี้อาจเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อคราวที่พระสมณทูตในพระเจ้าอโศกมหาราชเดินทางมาเผยแผ่ศาสนายังสุวรรณภูมิก็เป็นได้ เพราะเจดีย์เดิมมีลักษณะทรงโอคว่ำหรือทรงมะนาวผ่าซีกแบบเดียวกับพระสถูปสาญจี แต่ปรากฏว่ามียอดเป็นแบบปรางค์ ซึ่งพระองค์ฯ มีพระราชวินิจฉัยว่า อาจมีเจ้านายพระองค์ใดมาบูรณะไว้ก็เป็นได้ ซึ่งตรงกับความใน ศิลาจารึกหลักที่ 2 (ศิลาจารึกวัดศรีชุม) ของพระมหาเถรศรีศรัทธา อันได้กล่าวไว้ว่า พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ท่านทรงได้แวะมาบูรณะพระธมเจดีย์องค์นี้ ก่อนที่ท่านจะเดินทางกลับเมืองราด เมื่อคราวที่ท่านเสด็จกลับจากศึกษาศาสนาพุทธในประเทศศรีลังกา ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานนามใหม่ว่า พระปฐมเจดีย์

ในเรื่องนี้นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีบางท่านได้ระบุว่า พระปฐมเจดีย์ไม่ได้เป็นเจดีย์ที่เก่าที่สุดของสุวรรณภูมิ แต่เป็นพระมหาธาตุหลวงในยุคทวารวดีมากกว่า เนื่องด้วยเหตุผลประกอบหลายประการ โดยเฉพาะการค้นพบเจดีย์ที่มีอายุเก่าแก่กว่าพระธมเจดีย์และหลักฐานลายลักษณ์อักษร ที่ระบุว่า "พระเจดีย์องค์นี้เดิมขอมเรียก พระธม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชาวขอมจริง ๆ หรือชาวลวรัฐ ซึ่งสมัยนั้นเราก็เรียกว่าขอม เช่น ขอมสบาดโขลญลำพง คำว่า ธม สำหรับชาวขอมนั้นแปลว่า ใหญ่ ตรงกับคำเมืองว่า หลวง ซึ่งเราก็เรียกพระนครธม ว่า พระนครหลวง ด้วยเหตุผลเดียวกัน

นอกจากนี้วัดพระปฐมเจดีย์ยังเป็นที่พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสรีรางคารพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 และพระสรีรางคารสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งบรรจุไว้ที่ผนังเบื้องหลังพระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่พระวิหารทิศเหนือองค์พระปฐมเจดีย์

พระร่วงโรจนฤทธิ์

แก้

ปี พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ ได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปโบราณเป็นอันมาก แต่มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ศรีสัชนาลัย (จังหวัดสุโขทัย) ประกอบด้วยพระลักษณะงามเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย แต่ชำรุดมากเหลืออยู่แต่พระเศียร พระหัตถ์และพระบาท จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วให้ช่างปั้นสถาปนาขึ้นมาบริบูรณ์เต็มพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีเททองหล่อขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร

พระร่วงโรจนฤทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วไป ชื่อเต็มคือ พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร ตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2466 แต่ประชาชนทั่วไปจะเรียกว่า หลวงพ่อพระร่วง หรือ พระร่วงโรจนฤทธิ์

พระร่วงโรจนฤทธิ์ มีขนาดความสูงวัดจากพระบาทถึงพระเกศ 7.42 เมตร หรือราว 12 ศอก 4 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ศิลปะแบบสุโขทัย ประทับยืนอยู่บนฐานทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย ทำวงพระพักตร์ตามยาว พระหนุเสี้ยมนิ้วพระหัตถ์และพระบาทไม่เสมอกัน ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้นยื่นออกไปข้างหน้าระดับพระอุระ เป็นกิริยาห้าม มีพระอุทรพลุ้ยออกมา ห่มจีวรบางคลุมแนบติดพระวรกาย บ่ายพระพักตร์สู่ทิศเหนือ ทำด้วยโลหะทองเหลืองหนัก 100 หาบ

การอัญเชิญพระร่วงโรจนฤทธิ์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2457 จำเป็นต้องแยกชิ้นมาและมาประกอบเข้าด้วยกันที่จังหวัดนครปฐม แล้วเสร็จเป็นองค์สมบูรณ์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้วตามความในพระราชพินัยกรรมของพระองค์ระบุว่า ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ไว้ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่องค์พระปฐมเจดีย์ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2469 จึงได้ทำพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ณ ผนังเบื้องหลังพระร่วงโรจนฤทธิ์ ตามพระราชประสงค์ทุกประการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 หลังจากการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าให้อัญเชิญพระสรีรางคาร มาประดิษฐานไว้เคียงข้างพระบรมราชสรีรางคารของพระสวามี และในปี พ.ศ. 2555 หลังจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงโปรดเกล้าให้อัญเชิญพระสรีรางคาร มาประดิษฐานไว้เคียงข้างพระบรมราชสรีรางคารของพระชนกนาถ และพระสรีรางคารของพระชนนี

ลำดับเจ้าอาวาส

แก้

เท่าที่มีบันทึกไว้ ลำดับเจ้าอาวาสมีดังนี้[7]

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 เจ้าอธิการแป้น ก่อน พ.ศ. 2400 พ.ศ. 2408
2 พระสนิทสมณคุณ (แก้ว) พ.ศ. 2408 พ.ศ. 2411
3 พระปฐมเจติยานุรักษ์ (กล่ำ) พ.ศ. 2411 พ.ศ. 2447
4 พระราชโมลี (ช้อน โสณุตฺตโร) พ.ศ. 2453 พ.ศ. 2455
5 พระพุทธรักขิต (พลอย) พ.ศ. 2455 พ.ศ. 2462
6 พระธรรมวโรดม (โชติ ธมฺมปฺปโชติโก) พ.ศ. 2465 พ.ศ. 2497
7 พระธรรมสิริชัย (ชิต ชิตวิปุโล) พ.ศ. 2497 พ.ศ. 2527
8 พระราชสิริชัยมุนี (โชติ) พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2535
9 พระพรหมเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม) พ.ศ. 2536 ปัจจุบัน

ระเบียงภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๒๘๔
  2. พระพุทธรูปศิลาขาว (ทวารวดี) จากนครปฐม ถูกขนย้ายไปอยุธยา, สุจิตต์ วงษ์เทศ (มติชนออนไลน์) .วันที่ 13 กันยายน 2560
  3. 3.0 3.1 3.2 พระปฐมเจดีย์ที่เห็น ไม่ใช่องค์แรก!! ยังมีอีก ๒ ซ้อนกันอยู่ภายใน รวมมีถึง ๓ องค์!, ผู้จัดการออนไลน์ .วันที่ 3 ตุลาคม 2559
  4. องค์พระปฐมเจดีย์เมื่อ'ด้านข้างเป็นด้านหน้า', คมชัดลึกออนไลน์ .วันที่ 9 พ.ย. 2555
  5. พระปฐมเจดีย์, http://www.jedeethai.com/ .สืบค้นเมื่อ 13/04/2561
  6. นมัสการ...พระปฐมเจดีย์, https://travel.kapook.com/ .สืบค้นเมื่อ 13/04/2561/
  7. สุธี สูงกิจบูลย์. ประวัติ - วัตถุมงคล พระธรรมวโรดม (โชติ ธมฺมปฺปโชติกเถระ). นครปฐม : เพชรเกษมการพิมพ์, 2557. 215 หน้า. หน้า 64.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°49′01″N 100°03′36″E / 13.816930°N 100.059980°E / 13.816930; 100.059980