ไตรจีวร
ไตรจีวร คือ ผ้าจีวร 3 ผืน คนไทยเรียกสั้น ๆ ว่า ผ้าไตร เป็นชื่อเรียกผ้านุ่งผ้าห่มที่พระสงฆ์ใช้สอย หมายถึงผ้า 3 ผืน ซึ่งมีทั้งผ้านุ่งและผ้าห่ม อันได้แก่ สังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่า) อุตราสงค์ (ผ้าจีวรสำหรับห่ม) และอันตรวาสก (ผ้าสบงสำหรับนุ่ง) แต่นิยมเรียกรวมกันว่า ไตรจีวร ไตรจีวรเป็นปัจจัยหรือบริขารของพระสงฆ์อย่างหนึ่งในจำนวน 8 อย่าง
นอกจากนี้ยังมีอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกไตรจีวรทั้งนิกายเถรวาทและมหายานคือคำว่า กาสาวะ กาสายะ หรือ กาษายะ (บาลี: kasāva kasāya กาสาว กาสาย; สันสกฤต: काषाय kāṣāya กาษาย; จีน: 袈裟; พินอิน: jiāshā; ญี่ปุ่น: 袈裟; ทับศัพท์: kesa; เกาหลี: 가사; ฮันจา: 袈裟; อาร์อาร์: gasa; เวียดนาม: cà-sa) ซึ่งหมายเอาตามชื่อสีที่ใช้ย้อมทำจีวรเป็นหลัก โดยผ้ากาสาวะ หมายถึงผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด ซึ่งก็คือผ้าไตรจีวรทั้งสามผืนนั่นเอง
ความเป็นมาของจีวร
แก้ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช ก็มีหลักฐานว่า ทรงใช้ผ้านุ่งห่มที่เรียกว่าจีวร แต่ในช่วงต้นพุทธกาล พระภิกษุยังคงใช้ผ้าที่หาได้มาเย็บต่อ ๆ กัน ไม่เป็นระเบียบ หรือบางครั้งภิกษุบางรูปได้รับถวายผ้าอย่างดีจากคหบดีก็มีการถูกลักขโมยบ่อยครั้ง เนื่องด้วยผ้าเป็นสิ่งที่หายากในสมัยพุทธกาล
ลายคันนาบนจีวร
แก้จนต่อมาพระพุทธเจ้าได้ทอดพระเนตรนาของชาวมคธ จึงทรงดำริให้ตัดผ้าจีวร เป็นสี่เหลี่ยมผืนเล็ก ๆ มาต่อกัน จึงมีลักษณะเป็นผ้าที่เศร้าหมอง คือผู้อื่นมักไม่ต้องการไปตัดเย็บอีก เหมาะสมกับสมณะ ผ้าสี่เหลี่ยมผืนเล็ก ๆ ที่เย็บต่อกันนั้น ปรากฏลวดลายเป็นลายคันนา ออกแบบโดยพระอานนท์ ดังปรากฏข้อความในพระวินัยปิฎก ว่า
"อานนท์ เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่าง ๆ ด้วยคันนาสั้น ๆ พูนคันนาเชื่อมกันทาง 4 แพร่ง ตามที่ซึ่ง คันนากับคันนา ผ่านตัดกันไปหรือไม่? ... เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลาย ให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่?"
พระอานนท์ตอบว่า "สามารถ พระพุทธเจ้าข้า"
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ กลับมาพระนครราชคฤห์อีก ครั้งนั้นท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุหลายรูป ครั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้กราบทูลว่า
"ขอพระผู้มีพระภาคจงทอดพระเนตรจีวรที่ข้าพระพุทธเจ้าแต่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า"
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
"ภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด อานนท์ได้ซาบซึ้ง ถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวย่อได้โดยกว้างขวาง ...จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้ว เศร้าหมองด้วยศัสตรา สมควรแก่สมณะ และพวกศัตรูไม่ต้องการ"
ไตรจีวร
แก้หลังจากพระอานนท์ถวายจีวรที่ตัดแต่งแล้ว ให้ทอดพระเนตร พระพุทธองค์ทรงพอพระทัย และอนุญาตให้ใช้ ผ้า 3 ผืน คือ สังฆาฏิชั้นเดียว จีวร และสบง
ต่อมาทรงอนุญาต ไตรจีวร คือ ผ้าสังฆาฏิสองชั้น จีวร และสบง ทั้งนี้เพื่อให้พระสงฆ์ ใช้ป้องกันความหนาวเย็น และรับสั่งว่า ภิกษุไม่พึงมีจีวรมากกว่านี้ (รูปใดมีมากกว่านี้ เป็นอาบัติ)
อติเรกจีวร คือ จีวรที่มีเกินกว่าผ้าที่อธิษฐานเป็นไตรจีวร ตามพระวินัย ภิกษุสามารถเก็บไว้ได้ไม่เกิน 10 วัน และสามารถทำเป็น วิกัปอติเรกจีวร คือ ทำให้เป็นจีวรที่มี 2 เจ้าของ เพื่อจะได้ไม่ต้องอาบัติ เพราะเก็บไว้เกินกำหนด
ความเป็นมาของเรื่องอติเรกจีวรนี้ เนื่องจากมีผู้ถวายจีวรแก่พระอานนท์ แล้วท่านประสงค์จะเก็บไว้ ถวายพระสารีบุตร ซึ่งขณะนั้นอยู่ต่างเมือง ประมาณ 10 วัน จึงจะเดินทางมาถึง พระอานนท์ได้เข้าไป ทูลถามพระพุทธองค์ว่า จะปฏิบัติอย่างไร กับอติเรกจีวรดี จึงทรงมีพุทธบัญญัติ ให้เก็บรักษาอติเรกจีวร ไว้ได้ไม่เกิน 10 วัน
ผ้าที่ใช้ทอจีวร
แก้สมัยต่อมา มีจีวรหลายประเภทเกิดขึ้น ภิกษุทั้งหลายไม่แน่ใจว่า จีวรชนิดใดที่ทรงอนุญาต จึงกราบทูลเรื่องนั้นต่อพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงอนุญาตจีวร 6 ชนิด คือ
- จีวรทำด้วยเปลือกไม้
- ทำด้วยฝ้าย
- ทำด้วยไหม
- ทำด้วยขนสัตว์
- ทำด้วยป่าน
- ทำด้วยของเจือกัน
สีจีวร
แก้ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 บันทึกว่า แต่เดิมนั้นพระภิกษุย้อมสีจีวรต่างกันไป พระโคตมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า[1]
"ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำย้อม 6 อย่าง คือ น้ำย้อมเกิดแต่รากหรือเหง้า 1 น้ำย้อมเกิดแต่ต้นไม้ 1 น้ำย้อมเกิดแต่เปลือกไม้ 1 น้ำย้อมเกิดแต่ใบไม้ 1 น้ำย้อมเกิดแต่ดอกไม้ 1 น้ำย้อมเกิดแต่ผลไม้ 1"
ส่วนสีที่ทรงห้ามมี 7 สี คือ สีเขียวครามเหมือนดอกผักตบชวา, สีเหลืองเหมือนดอกกรรณิการ์, สีแดงเหมือนชบา, สีหงสบาท (สีแดงกับเหลืองปนกัน), สีดำเหมือนลูกประคำดีควาย, สีแดงเข้มเหมือนหลังตะขาบ และสีแดงกลายเหมือนสีดอกบัว[2]
บางแห่งระบุว่า สีต้องห้าม คือ สีดำ สีคราม สีเหลือง สีแดง สีบานเย็น สีแสด และสีชมพู[2]
กาสาวะของพุทธศาสนายุคแรก
แก้การครองจีวร หรือ กาสาวะในช่วงพุทธศาสนายุคแรก หรือในยุคที่พุทธศาสนายังรุ่งเรืองในอินเดีย (Indian Buddhism) มีความแตกต่างหลากหลายไปตามคณะนิกายต่าง ๆ ความแตกต่างนี้ไม่เพียงสื่อถึงสำนักนิกายในสังกัดเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงความแตกต่างในพระวินัยอีกด้วย ระหว่างปี ค.ศ. 148 - 170 อันซื่อเกา (安世高) พระภิกษุชาวปาร์เตีย (Parthia) จาริกมาถึงแผ่นดินจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่าน ได้แปลปกรณ์วิเศษเกี่ยวกับการครองผ้า และสีสันจีวรของ 5 นิกายหลักของพุทธศาสนาในอินเดีย ปกรณ์วิเศษที่ว่านี้มีชื่อว่า "มหาภิกษุเสขิยวัตร 3,000 ประการ" (大比丘三千威儀) อีกปกรณ์ที่พรรณนาถึงการครองผ้าและสีจีวรในลักษณะเดียวกันคือคัมภีร์ศาริปุตรปริปฤจฉา ข้อแตกต่างระหว่าง 2 คัมภีร์ก็คือ สีจีวรของนิกายสรวาสติวาทกับนิกายธรรมคุปตกะสลับกัน
นิกาย | มหาภิกษุเสขิยวัตร | ศาริปุตรปริจจฉา |
---|---|---|
สรวาสติวาท | แดงเข้ม | ดำ |
ธรรมคุปตกะ | ดำ | แดงเข้ม |
มหาสังฆิกะ | เหลือง | เหลือง |
มหีศาสกะ | น้ำเงิน | น้ำเงิน |
กาศยปียะ | สีจำปา | สีจำปา |
กาสาวะของพุทธศาสนามหายาน
แก้กาสาวะในจีน พุทธจักรในจีน เรียกจีวร หรือผ้ากาสาวะว่า "เจียซา" (袈裟) ในสำเนียงมาตรฐานปัจจุบัน แต่ในสำเนียงจีนโบราณออกเสียงว่า "เกียซา" หรือ "กาซา" ในช่วงแรกที่พุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่แผ่นดินจีนนั้น พระภิกษุครองจีวรสีแดงเป็นหลัก แต่ต่อมาคณะนิกายมีความแตกต่างหลากหมายมากขึ้นสีสันจึงมีความแตกต่างมากขึ้น ดังเช่นคณะนิกายในอินเดีย อย่างไรก็ตาม ในกรณีของจีนนั้น สีของกาสาวะมักแตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ต่าง ๆ เป็นสำคัญ มากกว่าที่จะใช้แยกแยะความแตกต่างระหว่างคณะนิกาย โดยในแถบเจียงหนาน ทางภาคใต้ มักครองสีดำเข้ม ขณะที่แถบไคเฟิง ทางภาคกลางมักครองสีกรัก เป็นต้น
ในเวลาต่อมาสายการอุปสมบทในจีนเหลือเพียงสายที่อิงกับพระวินัยของนิกายธรรมคุปตกะเท่านั้น ดังนั้นความแตกต่างระหว่างสีกาสาวะกับคณะนิกายจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป โดยเหตุนี้ในสมัยราชวงศ์ถังเป็นต้นมา พระภิกษุในจีนมักครองกาสาวะสีเทาเหลือบดำ ผู้คนจึงเรียกพระภิกษุว่า "จืออี" (緇衣) หรือผู้ห่มผ้าดำ ซึ่งเป็นสีกาสาวะของนิกายธรรมคุปตกะนั่นเอง
นอกจากสีดำแล้ว ในสมัยราชวงศ์ถังยังมีธรรมเนียมการถวายจีวรสีม่วงให้กับพระภิกษุสงฆ์ผู้ประกอบด้วยคุณงามความดีอันยอดยิ่ง โดยธรรมเนียมนี้มีที่มาจากตำนานเล่าขานเกี่ยวกับพระศาณะวาสิน ศิษย์ของพระอานนท์ ที่ถือกำเนิดมาพร้อมกับจีวร ต่อมาในแผ่นดินจีนมีเรื่องราวคล้ายคลึงกัน โดยพระภิกษุรุปหนึ่ง นามว่า ฮุ่ยเหลิง (慧稜) ถือกำเนิดมาพร้อมกับจีวรเช่นกัน แต่เป็นจีวรสีม่วง ประจวบเหมาะกับสีม่วงเป็นสีเครื่องแบบของขุนนางชั้นสูง ด้วยเหตุนี้ ตามธรรมเนียมจีนกาสาวะม่วงจึงไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดมาเพื่อดดำรงสมณะเพศแต่กำเนิดเท่านั้น ยังหมายถึงสมณะผู้มีคุณงามความดีความอันโดดเด่นด้วย ซึ่งการถวายจีวรสีม่วงแก่พระเถระ เกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของพระนางเจ้าอู๋เจ๋อเทียน หรือพระนางบูเช็กเทียน ในสมัยราชวงศ์ถัง
อย่างไรก็ตาม พระภิกษุที่เคร่งครัดในสมัยราชวงศ์ถังไม่ยินดีนักกับการครองกาสาวะม่วง อันเป็นสัญลักษณ์ที่ยังข้องอยู่กับทางโลก กระนั้นก็ตาม เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง ทางการขาดแคลนรายได้อย่างหนัก ถึงกับประกาศขายกาสาวะสีม่วง (หรือนัยหนึ่งคือสมณะศักดิ์) แก่พระภิกษุ หรือผู้ที่ปรารถนาจะซื้อแล้วถวายแก่พระภิกษุ ตราบนั้นเป็นต้นมา กาสาวะสีม่วงจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเสื่อมโทรมของพุทธจักร
กาสาวะในเกาหลี พุทธจักรในเกาหลีเรียกจีวรว่า กาซา หรือ คาซา (อักษรฮันจา 袈裟 อักษรฮันกึล 가사) นับตั้งแต่พุทธศาสนาเผยแพร่เข้าสู่คาบสมุทรเกาหลี การครองจีวรส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากจีน ซึ่งแตกต่างไปตามนานานิกาย อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ราชวงศ์โชซอน (1392–1910) เป็นต้นมา ภิกษุส่วนใหญ่ครองกาสาวะสีเทาครองสังฆาติสีแดง ต่อมาหลังการปฏิรูปพุทธศาสนาครั้งใหญ่ระหว่างปี 1947 - 1962 พุทธจักรในเกาหลีแยกเป็น 2 นิกาย คือนิกายแทโก (อักษรฮันจา 太古宗 อักษรฮันกึล 태고종) ซึ่งครองอุตราสงค์สีเทา หรือสีน้ำเงิน สังฆาฏิสีแดง ขณะที่นิกายโชเก (อักษรฮันจา 曹溪宗 อักษรฮันกึล 조계종) ครองอุตราสงค์สีเทา หรือสีน้ำเงิน สังฆาฏิสีกรัก
กาสาวะในญี่ปุ่น พุทธจักรในญี่ปุ่นเรียกกาสาวะว่า เกสะ (袈裟) นับแต่พุทธศาสนาเผยแพร่เข้าสู่ดินแดนนี้ ลักษณะการครองและสีสันของผ้าแตกต่างกันไปตามนิกายที่มีอยู่หลากหลาย อีกทั้งยังมีการจำแนกแยกย่อยกาสาวะตามคุณลักษณะการใช้งาน เช่นการครองผ้าตามวัตรปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และการครองผ้าสำหรับงานพิธีกรรม อย่างน้อยมีการแบ่งกาสาวะตามลักษณะต่าง ๆ ดังที่ว่านี้ ด้วยชื่อเรียกถึง 20 ชื่อ นอกจากนี้ ยังมี "วะเกสะ" หรือกาสาวะครึ่งแบบ และ "ฮังเกสะ" หรือกาสาวะเล็ก สำหรับอุบาสกผู้รับศีล
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่แล้วมักครองผ้าสีดำหรือสีเทาในยามปกติ นอกจากนี้ ยังรับธรรมเนียมการถวายกาสาวะสีม่วงจากสมัยราชวงศ์ถังมาด้วย แต่ธรรมเนียมนี้ถูกยกเลิกไปในศตวรรษที่ 17 ในรัชสมัยโชกุนตระกูลโทะกุงะวะ การประกาศยกเลิกธรรมเนียมยังผลให้พระจักพรรดิทรงขัดเคืองพระทัยอย่างหนัก ถึงกับทรงสละราชสมบัติ เมื่อพระราชาคณะชั้นสูงประท้วงคำสั่งและไม่กระทำการตามประกาศ ภายหลังเหตุการณ์ที่เป็นข้อขัดแย้งสิ้นสุด พระภิกษุส่วนหนึ่งได้ถูกทางการเนรเทศ
กาสาวะในเวียดนาม พุทธจักรในเวียดนามครองกาสาวะ หรือ กาสะ (cà-sa) ใกล้เคียงกับในจีน มีสีเหลือง สีส้ม สีกรัก สีแดง
กาสาวะในทิเบต พุทธจักรในทิเบตถือตามพระวินัยของนิกายมูลสรวาสติวาท กาสาวะส่วนใหญ่ของคณะนิกายต่าง ๆ ในทิเบตจึงมีสีแดงตามนิกายมูลสรวาสติวาท แต่ส่วนประกอบอื่น ๆ มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปตามแต่ละนิกาย
ตัวอย่างการห่มจีวร
แก้-
การห่มจีวรแบบห่มคลุมของพระภิกษุมหานิกายเถรวาท (ที่ประพฤติแบบธรรมยุติ) สายหนองป่าพง ที่ใช้การย้อมจีวรด้วยแก่นขนุน เพื่อให้สีใกล้เคียงกับสมัยพุทธกาล
-
การห่มคลุมของพระสงฆ์ในนิกายธรรมยุติ
-
การห่มจีวรของพระภิกษุในนิกายเถรวาทแบบพม่า
-
การห่มจีวรของพระภิกษุนิกายฉาน (เซน) แบบจีน
-
การห่มจีวรของพระภิกษุนิกายฉาน (เซน) แบบญี่ปุ่น
-
การห่มจีวรของพระภิกษุนิกายวัชรยานแบบทิเบต
-
การห่มจีวรของพระภิกษุนิกายมหายานแบบเกาหลี
-
การห่มจีวรของพระภิกษุนิกายมหายานแบบเวียดนาม
อ้างอิง
แก้- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, [วัดราชโอรสาราม] กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
- สุรีย์-วิเชียร มีผลกิจ " พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา "
- มหาวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิธีการห่มจีวรของนิกายเถรวาท เก็บถาวร 2009-02-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒". โปรแกรมตรวจหาและเทียบเคียงพุทธวจน. ม.ป.ป. สืบค้นเมื่อ 2556-01-16.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ 2.0 2.1 "ทำไมสีจีวรของพระจึงต่างกัน เพราะอะไร". สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพะเยา. ม.ป.ป. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2556-01-16.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)