ผีของเปปเปอร์

เทคนิคภาพลวงตา

ผีของเปปเปอร์ (อังกฤษ: Pepper's ghost) เป็นเทคนิคภาพลวงตาที่ใช้ในโรงละคร โรงภาพยนตร์ สวนสนุก พิพิธภัณฑ์ โทรทัศน์ และคอนเสิร์ต ภาพลวงตาแสดงโดยสะท้อนภาพของวัตถุนอกเวทีเพื่อให้ดูเหมือนว่าวัตถุนั้นอยู่ต่อหน้าผู้ชม[1]

การจัดเวทีสำหรับเทคนิคผีของเปปเปอร์ ร่างที่สว่างไสวด้านล่างของเวทีที่ผู้ชมมองไม่เห็นสะท้อนอยู่ในบานกระจกที่กั้นระหว่างนักแสดงและผู้ชม ทำให้ผู้ชมมองเห็นราวกับว่าผีปรากฏอยู่บนเวที

เทคนิคนี้ตั้งชื่อตามนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ จอห์น เฮนรี เปปเปอร์ (ค.ศ. 1821–1900) ซึ่งเริ่มทำการสาธิตในโรงละครใน ค.ศ. 1862[2] สิ่งนี้นำมาซึ่งกระแสความนิยมระดับนานาชาติสำหรับบทละครแนวผีซึ่งใช้เทคนิคที่แปลกใหม่นี้ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1860 และหลายทศวรรษต่อมา

เทคนิคภาพลวงตานี้ถูกใช้อย่างกว้างขวางเพื่อจุดประสงค์ด้านความบันเทิงและการประชาสัมพันธ์ สิ่งเหล่านี้รวมถึงมายากล "หญิงสาวกับกอริลลา" ที่มักพบแสดงร่วมอยู่ในการแสดงของคณะละครสัตว์ยุคเก่า[3] หรือการปรากฏตัวของ "ผี" ที่คฤหาสน์ผีสิง และ "นางฟ้าสีน้ำเงิน" ในเครื่องเล่น Pinocchio's Daring Journey ในสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ แคลิฟอร์เนีย เครื่องบอกบท (Teleprompter) เป็นการประยุกต์ใช้งานในสมัยใหม่ของเทคนิคนี้ การสร้างภาพลวงตานี้ถูกใช้เพื่อแสดงภาพขนาดเท่าตัวจริงของเคท มอสส์ ที่งานแสดงการเดินแบบสำหรับคอลเลกชัน The Widows of Culloden ของอเล็กซานเดอร์ แม็กควีนใน ค.ศ. 2006[4]

ในคริสต์ทศวรรษ 2010 มีการใช้เทคนิคนี้เพื่อทำให้ศิลปินเสมือนจริงปรากฏตัวบนเวทีในคอนเสิร์ต "แสดงสด" ตัวอย่างได้แก่ เอลวิส เพรสลีย์ ทูพัค ชาเคอร์ และไมเคิล แจ็กสัน โดยมักถูกอธิบายอย่างผิด ๆ ว่าเป็นเทคนิค "ฮอโลแกรม"[5][6] อุปกรณ์เพื่อแสดงเทคนิคดังกล่าวประกอบด้วยเครื่องฉายภาพ เครื่องเซิร์ฟเวอร์สำหรับประมวลผลสื่อ และแผ่นฟิล์มแบบพิเศษที่ขึงในพื้นที่ใช้แสดงภาพ[7] การติดตั้งอาจเป็นแบบทำขึ้นเฉพาะงาน หรือใช้ระบบที่มีผู้ผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ เช่น Cheoptics360 หรือ Musion Eyeliner

อุปกรณ์อีกแบบหนึ่งได้รับการออกแบบโดยใช้พีระมิดพลาสติกใส และหน้าจอสมาร์ทโฟน เพื่อสร้างภาพลวงตาของวัตถุ 3 มิติ[7]

เทคนิค

แก้
 
ผู้ดูที่มองผ่านกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงเห็นผีลอยอยู่ข้างโต๊ะ ภาพลวงตานี้เกิดจากชิ้นกระจกขนาดใหญ่ เพล็กซิกลาส หรือฟิล์มพลาสติกที่ตั้งทำมุมระหว่างผู้ชมกับฉาก (กรอบสีเขียว) กระจกสะท้อนห้องที่ซ่อนอยู่จากผู้ชม (ซ้าย) ซึ่งบางครั้งเรียกว่า "ห้องสีฟ้า" โดยสร้างเป็นภาพสะท้อนกลับข้างกับฉาก
 
หากห้องที่เป็นภาพกลับด้าน (ซ้าย) มืดลง ภาพจะสะท้อนในแผ่นกระจกได้ไม่ดีนัก ห้องว่าง (ขวาบน) ถูกทำให้สว่าง ทำให้ผู้ชมมองเห็นได้อย่างชัดเจน
 
เมื่อไฟในห้องที่เป็นภาพกลับด้านสว่างขึ้น (โดยที่ห้องว่างถูกหรี่แสงลงเล็กน้อยเพื่อชดเชย) ผีจะปรากฏตัวขึ้นจากความว่างเปล่า

ภาพลวงตาหลักสร้างโดยใช้เวทีที่จัดไว้เป็นพิเศษโดยแบ่งพื้นที่เป็นสองห้อง ห้องหนึ่งผู้ชมสามารถมองเห็นได้ และห้องที่สอง (บางครั้งเรียกว่า "ห้องสีฟ้า") ที่ซ่อนอยู่ด้านข้าง แผ่นกระจกใส (หรือเพล็กซิกลาส หรือฟิล์มพลาสติก) วางไว้ที่จุดใดจุดหนึ่งในห้องหลักในมุมที่สะท้อนภาพจากห้องสีฟ้าไปยังผู้ชม โดยทั่วไปจะจัดห้องสีฟ้าไว้ที่ด้านหนึ่งของเวที และแผ่นกระจกบนเวทีจะวางทำมุมกับแกนแนวตั้งที่ 45 องศา[3] ต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อทำให้กระจกมองไม่เห็นมากที่สุด โดยปกติแล้วจะซ่อนขอบด้านล่างโดยใช้ลวดลายบนพื้น และจัดการให้แสงไม่สะท้อนออกมา แผ่นกระจกจับแสงสะท้อนจากนักแสดงที่จัดแสงให้สว่างในพื้นที่ที่ซ่อนจากผู้ชม โดยที่ไม่สังเกตเห็นแผ่นกระจกผู้ชมจะเข้าใจผิดคิดว่าภาพสะท้อนนี้เป็นร่างผีที่อยู่ท่ามกลางนักแสดงบนเวที การจัดแสงของนักแสดงในบริเวณที่ซ่อนอยู่สามารถปรับให้ค่อย ๆ สว่างขึ้นหรือจางลงเพื่อทำให้ภาพผีค่อย ๆ เลือนหายไปจากการมองเห็น

เมื่อแสงไฟสว่างในห้องหลักและมืดในห้องสีฟ้า ภาพที่สะท้อนจะไม่สามารถมองเห็นได้ เมื่อแสงในห้องสีฟ้าเพิ่มขึ้น มักจะมีการหรี่แสงของห้องหลักเพื่อทำให้ผลของเทคนิคเด่นชัดขึ้น แสงสะท้อนจะมองเห็นได้และวัตถุในห้องสีฟ้าที่ซ่อนอยู่ จะดูเหมือนปรากฏขึ้นจากอากาศธาตุในพื้นที่ที่ผู้ชมมองเห็น รูปแบบอื่นที่พบได้บ่อยจะใช้ห้องสีฟ้า 2 ห้อง ห้องหนึ่งอยู่ด้านหลังกระจกในห้องหลัก และอีกห้องหนึ่งอยู่ด้านข้าง เนื้อหาของห้องสามารถสลับระหว่างสถานะ 'มองเห็นได้' และ 'มองไม่เห็น' ได้โดยการปรับแสงในห้องนั้น[3]

ห้องที่ซ่อนอยู่อาจเป็นภาพสะท้อนกลับด้านของห้องหลัก เพื่อให้ภาพที่สะท้อนนั้นตรงกับเค้าโครงของห้องหลักทุกประการ วิธีการนี้มีประโยชน์ในการทำให้วัตถุดูเหมือนปรากฏขึ้นหรือหายไป ภาพลวงตานี้ยังสามารถใช้เพื่อทำให้วัตถุหรือบุคคลซึ่งสะท้อนในกระจกเงาดูเหมือนเปลี่ยนรูปไปเป็นอีกวัตถุหนึ่ง (หรือกลับกัน) นี่คือหลักการเบื้องหลังของมายากล "หญิงสาวกับกอริลลา" ที่พบในการแสดงโชว์ละครสัตว์ยุคเก่า รูปแบบอื่น เช่น ห้องที่ซ่อนอยู่อาจทาสีดำโดยมีเพียงวัตถุสีอ่อนเท่านั้น ในกรณีนี้ เมื่อมีแสงส่องเข้ามาในห้อง วัตถุที่เป็นสีอ่อนจะสะท้อนแสงนั้นอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงปรากฏเป็นภาพผีและโปร่งแสงบนบานกระจก (ที่มองไม่เห็น) ในห้องที่ผู้ชมมองเห็นได้ สามารถใช้เพื่อทำให้วัตถุดูเหมือนลอยอยู่ในอวกาศ

ประเภทของละครที่ใช้ภาพลวงตาซึ่งจอห์น เฮนรี เปปเปอร์ เป็นผู้บุกเบิกและจัดแสดงซ้ำ ๆ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1860 คือละครสั้นที่มีการแสดงผีซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับนักแสดงคนอื่น ๆ[8][9] รายการที่เป็นที่นิยมในยุคแรก ๆ แสดงให้เห็นนักแสดงคนหนึ่งพยายามใช้ดาบต่อสู้กับผีที่ไม่มีตัวตน[10] ในการออกแบบท่าเต้นของนักแสดงคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผี เปปเปอร์ใช้เครื่องหมายที่ซ่อนบนพื้นเวทีสำหรับตำแหน่งที่พวกเขาควรวางเท้า เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถมองเห็นตำแหน่งที่ชัดเจนของภาพผีได้[11] หนังสือของเปปเปอร์ ใน ค.ศ. 1860 มีคำอธิบายโดยละเอียดเกี่ยวกับความลับของละครเวทีของเขา และมีการเปิดเผยในเอกสารร่วมกับ เฮนรี เดิกส์ (Henry Dircks) ผู้ประดิษฐ์ร่วมใน ค.ศ. 1863 เพื่อจดสิทธิบัตรเทคนิคภาพลวงตาผีนี้[12]

โดยหลักการแล้วพื้นที่ที่ซ่อนอยู่จะอยู่ด้านล่างของส่วนที่มองเห็นได้ของเวที แต่ในการจัดฉากแบบอื่น ๆ สามารถให้พื้นที่ซ่อนอยู่ด้านบน หรือที่ใช้กันโดยทั่วไปจะติดกับพื้นที่ที่ผู้ชมมองเห็นได้[13] ขนาดอาจเล็กลงมาก เช่นใช้สำหรับการแสดงถ้ามองขนาดเล็ก แม้กระทั่งเป็นของเล่นแบบถือด้วยมือ[14] ในการจัดการฉากแบบเริ่มต้นของเปปเปอร์มีเป้าหมายให้สามารถมองเห็นภาพผีได้จากทุกที่ทั่วโรงละคร

สามารถสร้างเทคนิคพิเศษมากมายผ่านเทคนิคนี้ เนื่องจากแผ่นกระจกใสสะท้อนแสงน้อยกว่ากระจกเงา จึงไม่สะท้อนวัตถุสีดำด้านซึ่งอยู่ในบริเวณที่ซ่อนจากผู้ชม ดังนั้นบางครั้งจึงใช้นักแสดงชุดดำที่มองไม่เห็นในพื้นที่ซ่อนเพื่อควบคุมวัตถุที่มีแสงจ้าและมีสีอ่อน ซึ่งอาจดูเหมือนลอยอยู่ในอากาศได้ การแสดงภาพลวงตาผีในที่สาธารณะครั้งแรกของเปปเปอร์ ใช้โครงกระดูกนั่งอยู่ในผ้าห่อศพสีขาวซึ่งถูกควบคุมโดยนักแสดงที่มองไม่เห็นในชุดคลุมกำมะหยี่สีดำ[15] นักแสดงในที่ซ่อนถูกโรยผงสีขาวบนศีรษะเพื่อสะท้อนแสงแต่เสื้อผ้าของพวกเขาเป็นสีดำด้าน ซึ่งภาพจะปรากฏเป็นศีรษะที่ไม่มีร่างได้เมื่อมีแสงสว่างจ้าและสะท้อนจากฉากกระจกใสที่ตั้งทำมุม[16]

เทคนิคผีของเปปเปอร์ สามารถปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้นักแสดงปรากฏตัวขึ้นจากที่ไหนก็ได้หรือหายไปในพื้นที่ว่างเปล่า บางครั้งเปปเปอร์จะทักทายผู้ชมด้วยการปรากฎตัวขึ้นกลางเวทีอย่างกะทันหัน[17] ภาพลวงตายังสามารถเปลี่ยนวัตถุหรือบุคคลหนึ่งให้กลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งได้ ตัวอย่างเช่น ในบางครั้งเปปเปอร์แขวนตะกร้าส้มไว้บนเวทีซึ่งต่อมาก็ "เปลี่ยน" เป็นขวดแยมผิวส้ม[17]

ความบันเทิงอื่น ๆ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ใช้เทคนิคผีของเปปเปอร์ เช่น การแสดงตัวละครที่บินรอบฉากหลังของโรงละครที่วาดเป็นท้องฟ้า นักแสดงที่ซ่อนอยู่ซึ่งนอนอยู่หน้าแสงไฟบนโต๊ะสีดำด้านที่หมุนได้ สวมเครื่องแต่งกายที่มีเกล็ดโลหะเพื่อเพิ่มการสะท้อนแสงบนฉากกระจกที่ซ่อนอยู่[18] สิ่งนี้เป็นเค้าลางของเทคนิคพิเศษของภาพยนตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20

ประวัติ

แก้

ผู้บุกเบิก

แก้

จัมบัตติสตา เดลลา ปอร์ตา (Giambattista della Porta) นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการชาวเนเปิลในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องจากนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์มากมาย ผลงานของเขาใน ค.ศ. 1589 Magia Naturalis (มายากลธรรมชาติ) ได้รวมคำอธิบายของภาพลวงตาชื่อ "เราอาจเห็นสิ่งต่าง ๆ ในห้องโดยที่ไม่ได้อยู่ในนั้นได้อย่างไร" ซึ่งเป็นคำอธิบายแรกที่ทราบซึ่งเกี่ยวกับเทคนิคพิเศษแบบเดียวกับผีของเปปเปอร์[19]

คำอธิบายของปอร์ตาจากฉบับแปลภาษาอังกฤษใน ค.ศ. 1658 (หน้า 370) มีดังต่อไปนี้

ให้มีห้องที่ไม่มีแสงอื่นส่องเข้ามา เว้นแต่ทางประตูหรือหน้าต่างที่ผู้ชมมองเข้ามา ขอให้หน้าต่างทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นกระจกเหมือนที่เราเคยทำเพื่อป้องกันความหนาวเย็น แต่ให้ขัดเงาเสียส่วนหนึ่ง คืออาจมีกระจกเงาอยู่ทั้งสองด้าน คนดูต้องมองเข้าไป ส่วนที่เหลือไม่ต้องทำอะไร ให้วางรูปภาพไว้ตรงหน้าต่างนี้ รูปปั้นหินอ่อน และอื่น ๆ ที่คล้ายกัน เพราะสิ่งที่อยู่ภายนอกดูเหมือนจะอยู่ภายใน และสิ่งที่อยู่ข้างหลังผู้ชมเขาจะคิดว่าอยู่ตรงกลางบ้าน ไกลจากกระจกด้านใน เมื่อยืนมองจากภายนอกเข้าไป ชัดเจนและแน่นอนว่า เขาจะคิดว่าเขาไม่เห็นอะไรนอกจากความจริง แต่เพื่อไม่ให้ทราบถึงการทำขึ้น ให้ทำส่วนนั้นในที่ซึ่งประดับไว้เพื่อผู้ชมจะไม่เห็นเช่น ถ้าอยู่เหนือศีรษะให้มีวัสดุบุอยู่ระหว่างส่วนนั้น และถ้าผู้ทำมีความแยบยล ก็เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ชมจะคิดว่าเขาถูกหลอก

ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เทคนิคภาพลวงตาผีของเปปเปอร์ ได้รับการพัฒนาอย่างกว้างขวางสำหรับหารายได้จากความบันเทิงบนเวทีท่ามกลางการโต้แย้ง ข้อพิพาทด้านสิทธิบัตร และการดำเนินการทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิบัตรของผู้จดทะเบียนเทคนิคนี้ ประเภทของความบันเทิงที่ได้รับความนิยมคือการสาธิตทางวิทยาศาสตร์ที่แปลกใหม่บนเวที การจำลองปรากฏการณ์คล้ายผีผ่านเทคโนโลยีทางแสงที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้เหมาะสมอย่างยิ่ง[20] การแสดง "Phantasmagoria" ซึ่งจำลองปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติก็เป็นความบันเทิงที่ประชาชนทั่วไปคุ้นเคยเช่นกัน ก่อนหน้านี้ มีการใช้เทคนิคตะเกียงวิเศษที่ซับซ้อนมาก เช่นเทคนิคที่สมบูรณ์แบบของ เอเตียน-กัสปาร์ รอแบร์ (Étienne-Gaspard Robert) หรือชื่อทางการแสดง โรแบร์ซอน (Robertson) ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ในปารีส มีการใช้เครื่องฉายหลายเครื่อง เครื่องฉายภาพเคลื่อนที่ และการฉายภาพบนกระจกและควัน สำหรับเทคนิคภาพลวงตาใหม่ที่ต่อมามีชื่อว่าผีของเปปเปอร์ นำเสนอวิธีการสร้างภาพผีที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยใช้การสะท้อนกลับไม่ใช่การฉายภาพ

การอ้างว่าเป็นผู้ใช้เทคนิคภาพลวงตาใหม่ในโรงภาพยนตร์เป็นคนแรกมาจากนักมายากลละครเวทีชาวดัตช์ เฮนริก โยเซฟ ดนเกิล (Henrik Joseph Donckel) ซึ่งโด่งดังในฝรั่งเศสภายใต้ชื่อบนเวทีว่า อองรี โรแบง (Henri Robin) โรแบงกล่าวว่าเขาใช้เวลาสองปีในการพัฒนาภาพลวงตาก่อนที่จะลองใช้ใน ค.ศ. 1847 ระหว่างการแสดงมายากลและเรื่องเหนือธรรมชาติบนเวทีที่แสดงเป็นประจำในเมืองลียง อย่างไรก็ตาม เขาพบว่าการแสดงเทคนิคพิเศษภาพผีในช่วงต้นนี้สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมเพียงเล็กน้อย เขาเขียนว่า: "ภาพลวงตาผีล้มเหลวในการบรรลุผล ซึ่งข้าพเจ้าได้ปรับปรุงให้สมบูรณ์แบบในเวลาต่อมา" ข้อบกพร่องของเทคนิคดั้งเดิมของเขา "ทำให้ข้าพเจ้าลำบากใจมาก ข้าพเจ้าพบว่าตัวเองถูกบีบให้เลิกใช้ไประยะหนึ่ง"[21]

ในขณะที่โรแบงมีชื่อเสียงในเวลาต่อมาจากการนำเทคนิคผีของเปปเปอร์ มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์ และมีความซับซ้อนมากมาย ที่โรงละครของเขาเองในปารีส การแสดงดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อกลางปี 1863 หลังจากที่จอห์น เฮนรี เปปเปอร์ ได้แสดงวิธีการแสดงภาพลวงตาของเขาเองที่สถาบันโพลีเทคนิคลอนดอน ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1862[20] ฌอง-ยูจีน โรแบร์-ฮูแด็ง (Jean-Eugene Robert-Houdin) ปรมาจารย์ด้านละครเวทีชาวฝรั่งเศสร่วมสมัย ยกย่องการแสดงของโรแบงและการแสดงภาพผีอื่น ๆ ในปารีส ค.ศ. 1863 ว่าเป็น "นักลอกเลียนแบบ" นวัตกรรมของเปปเปอร์[22] จิม สไตน์เมเยอร์ (Jim Steinmeyer) ผู้ตรวจพิจารณาด้านเทคนิคและประวัติศาสตร์สมัยใหม่เกี่ยวกับเทคนิคผีของเปปเปอร์ ได้แสดงความสงสัยเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของคำกล่าวอ้างของโรแบงสำหรับการแสดงของเขาใน ค.ศ. 1847[23] อะไรก็ตามที่โรแบงทำในปี 1847 ในชื่อของเขาเอง มันไม่ได้สร้างอะไรที่เหมือนกับเทคนิคบนเวทีที่เปปเปอร์และต่อมาโรแบงได้ใช้เอง ซึ่งสร้างความประหลาดใจและตื่นเต้นให้กับผู้ชมในช่วงปี 1863

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1852 ศิลปิน ปิแยร์ เซแก็ง ได้จดสิทธิบัตรของเล่นพกพาสำหรับเด็กคล้ายการแสดงถ้ำมองในฝรั่งเศส ซึ่งเขาตั้งชื่อว่า "โพลิโอสโคป (polyoscope)"[24] สิ่งนี้ใช้ภาพลวงตาแบบเดียวกันโดยอิงจากภาพสะท้อน ซึ่งอีกสิบปีต่อมาเปปเปอร์และเดิกส์ ได้จดสิทธิบัตรในอังกฤษภายใต้ชื่อของพวกเขา แม้ว่าการสร้างภาพลวงตาภายในกล่องเล็ก ๆ จะแตกต่างจากการแสดงภาพลวงตาบนเวทีอย่างเห็นได้ชัด แต่สิทธิบัตรของเซแก็งในปี 1852 ก็นำไปสู่การเอาชนะความพยายามของเปปเปอร์ในปี 1863 ในการควบคุมและอนุญาตการใช้เทคนิค "ผีของเปปเปอร์" ในฝรั่งเศสและในอังกฤษ[22]

เปปเปอร์อธิบายถึงโพลิสโคปของเซแก็ง:

"มันประกอบด้วยกล่องที่มีแผ่นกระจกเล็ก ๆ วางทำมุม 45 องศา และมันสะท้อนโต๊ะที่ซ่อนอยู่ มีหุ่นพลาสติก วิญญาณที่ปรากฏอยู่ด้านหลังกระจก และวัยรุ่นคนไหนที่ครอบครอง ของเล่นจะเชิญชวนให้เพื่อน ๆ นำมันออกมาจากกล่อง ซึ่งมันจะละลายอยู่ในมือของพวกเขาแล้วเลือนหายไป”[14]

ใน ค.ศ. 1863 อองรี โรแบง ยืนยันว่ากล้องโพลีสโคปของเซแก็ง ได้รับแรงบันดาลใจจากการแสดงภาพลวงตาบนเวทีในรุ่นดั้งเดิมของเขาเอง ซึ่งเซแก็ง ได้เห็นขณะวาดภาพสไลด์ของตะเกียงวิเศษสำหรับการแสดงส่วนอื่นของโรแบง[23]

เดิกส์และเปปเปอร์

แก้

เฮนรี เดิกส์ เป็นวิศวกรชาวอังกฤษและนักประดิษฐ์เชิงปฏิบัติการ ซึ่งตั้งแต่ ค.ศ. 1858 เขาพยายามค้นหาโรงละครซึ่งจะนำเทคนิคทางภาพของเขาไปใช้ในละครแนวใหม่ที่น่าตื่นเต้นโดยมีการแสดงการปรากฏตัวซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับนักแสดงบนเวที[25] เขาสร้างแบบจำลองที่คล้ายการแสดงถ้ำมองซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสะท้อนบนฉากกระจกสามารถสร้างภาพลวงตาได้อย่างไร[26] นอกจากนี้ เขายังเสนอบทละครชุดหนึ่งที่มีเทคนิคพิเศษภาพผี ซึ่งอุปกรณ์ของเขาสามารถใช้งานได้และสร้างภาพลวงตาที่ซับซ้อน เช่น การแปลงร่าง สามารถทำสำเร็จได้ด้วยเทคนิคนี้[27] แต่ในแง่ของการใช้เทคนิคในโรงละคร ดูเหมือนเดิกส์ไม่สามารถคิดนอกเหนือไปจากการปรับปรุงโรงละครให้คล้ายกับแบบจำลองคล้ายการแสดงถ้ำมองของเขาได้ เขาสร้างงานออกแบบสำหรับโรงละครซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูง โดยต้องสร้างหอประชุมขึ้นใหม่เพื่อจัดแสดงภาพลวงตาซึ่งเป็นไปไม่ได้[28] โรงละครที่เขาเสนองานต่างไม่สนใจ ในการเสนอแบบเพื่อดึงดูดความสนใจอีกครั้งเขาได้โฆษณาแบบจำลองของเขาเพื่อขาย และในปลายปี 1862 ผู้ผลิตแบบจำลองได้เชิญจอห์น เฮนรี เปปเปอร์ มาดูแบบจำลอง[29]

จอห์น เฮนรี เปปเปอร์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่รอบรู้หลายด้าน เป็นทั้งนักการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่ชาญฉลาด มีสำนึกสาธารณะ และเป็นนักโฆษณา[30] ใน ค.ศ. 1854 เขาได้กลายเป็นผู้อำนวยการและดำเนินการแต่เพียงผู้เดียวของ รอยัลโปลีเทคนิค (Royal Polytechnic) ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์[31] โรงเรียนโปลีเทคนิคเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์ศึกษาและการแสดงนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่สนใจต่อสาธารณะ[30]

หลังจากได้เห็นแบบจำลองการแสดงถ้ำมองของเดิกส์ในปี 1862 เปปเปอร์ก็คิดพลิกแพลงอย่างแยบยลโดยการเพิ่มแผ่นกระจกทำมุมและแผ่นปิดหลุมออเคสตรา โรงละครหรือห้องโถงเกือบทุกแห่งสามารถทำให้ผู้ชมจำนวนมากมองเห็นภาพลวงตาได้[32] การแสดงต่อสาธารณะครั้งแรกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1862 เป็นฉากจากเรื่อง The Haunted Man ของชาลส์ ดิกคินส์ ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้ชมและนักข่าว[33] ข้อตกลงระหว่าง เปปเปอร์และเดิกส์ เกิดขึ้นโดยพวกเขาร่วมกันจดสิทธิบัตรภาพลวงตา เดิกส์ตกลงที่จะสละส่วนแบ่งกำไรจากความพึงพอใจที่ได้เห็นแนวคิดของเขาดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ[34] พวกเขาได้รับสิทธิบัตรฉบับชั่วคราวในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1863 และได้รับอนุมัติสิทธิบัตรในเดือนตุลาคมของปีนั้น

ก่อนที่เดิกส์จะร่วมเป็นหุ้นส่วนกับเปปเปอร์ครบหนึ่งปี เดิกส์ได้ตีพิมพ์หนังสือซึ่งกล่าวหาว่าเปปเปอร์วางแผนที่จะสร้างการรับรู้ถึงชื่อของเปปเปอร์เพียงคนเดียวในผลงานที่สร้างร่วมกัน[35] จากข้อมูลของเดิกส์ในขณะที่เปปเปอร์ ให้ความสำคัญกับการให้เครดิตเดิกส์ในการสื่อสารใด ๆ ต่อชุมชนวิทยาศาสตร์ แต่ทุกสิ่งที่เข้าถึงประชาชนทั่วไป เช่น รายงานในหนังสือพิมพ์ โฆษณา และโปสเตอร์ละคร ล้วนกล่าวถึงเปปเปอร์เพียงผู้เดียว เมื่อใดก็ตามที่เดิกส์บ่น เขากล่าวว่าเปปเปอร์ จะตำหนินักข่าวหรือผู้จัดการโรงละครที่ประมาท อย่างไรก็ตาม การละเว้นการให้เครดิตเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเดิกส์เชื่อว่าเปปเปอร์จงใจพยายามแก้ไขให้มีแต่ชื่อของเขาเพียงคนเดียวในความคิดของประชาชนทั่วไป[36] ส่วนใหญ่ของหนังสือขนาด 106 หน้าของเดิกส์เรื่อง The Ghost ประกอบไปด้วยการกล่าวหาดังกล่าว พร้อมตัวอย่างอย่างละเอียดว่าเปปเปอร์ซ่อนชื่อของเดิกส์ไว้อย่างไร[35]

บทความก่อนหน้านี้ในปี 1863 ของ Spectator ได้นำเสนอความร่วมมือของ เดิกส์/เปปเปอร์ ดังนี้:

“ผีที่น่าชื่นชมนี้เป็นลูกหลานของบิดาทั้งสอง… สำหรับคุณเดิกส์ถือเป็นเกียรติที่ได้ประดิษฐ์เขาขึ้นมา…. และศาสตราจารย์เปปเปอร์มีความชอบจากการปรับปรุงเขาให้ดีขึ้น ทำให้เขาเหมาะสมสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์กับโลก และแม้กระทั่งสั่งสอนเขาสำหรับการแสดงบนเวที"[37]

ความนิยม

แก้

บทละครสั้นที่ใช้ภาพลวงตาผีแบบใหม่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เปปเปอร์จัดแสดงการสาธิตที่น่าทึ่งและสร้างผลกำไรมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงละครสำหรับการบรรยายของรอยัลโปลีเทคนิคในลอนดอน[38] ช่วงปลายปี 1863 ชื่อเสียงของภาพลวงตาได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางจากการแสดงละครที่มีผีเป็นศูนย์กลาง ในสถานที่หลายแห่งในลอนดอน แมนเชสเตอร์ กลาสโกว์ ปารีส และนิวยอร์ก[39] และได้รับพระบรมราชินูปถัมภ์[40] มีแม้กระทั่งการขาดแคลนแผ่นกระจกเนื่องจากความต้องการฉากแก้วของโรงละคร[41] เพลงยอดนิยมเพลงหนึ่งของปี 1863 มีเนื้อร้องที่ยกย่อง "Patent Ghost":[40]

At Music Halls, Theatres too,
This 'Patent Ghost' they show.
The Goblin novelty to view,
Some thousands nightly go.

จากรายการบัญชีของเขา เปปเปอร์ซึ่งมีสิทธิ์ได้รับผลกำไรทั้งหมด สร้างรายได้จำนวนมากจากสิทธิบัตร[42] เขาจัดให้มีการแสดงของตัวเองและให้สิทธิ์โดยคิดค่าใช้จ่ายกับผู้ประกอบการรายอื่น ในอังกฤษในตอนแรกเขาประสบความสำเร็จในการฟ้องร้องผู้ลอกเลียนแบบที่ไม่ได้รับอนุญาต ขัดขวางผู้อื่นด้วยการคุกคามทางกฎหมาย และเอาชนะคดีในศาลในเดือนกันยายน ค.ศ. 1863 ในคดีกับเจ้าของหอแสดงดนตรีที่คัดค้านสิทธิบัตร[43] อย่างไรก็ตาม ขณะอยู่ในปารีสในฤดูร้อนปี 1863 เพื่อช่วยเหลือการแสดงที่มีลิขสิทธิ์ เปปเปอร์ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถหยุด อองรี โรแบง และผู้อื่นอีกหลายคนที่กำลังแสดงโดยไม่มีใบอนุญาตได้ โรแบงประสบความสำเร็จในการอ้างถึงสิทธิบัตรกล้องโพลิโอสโคปที่มีอยู่แล้วของเซแก็ง ซึ่งเปปเปอร์ไม่รู้เรื่องนี้เลย[44] ในช่วงสี่ปีถัดมา โรแบงได้พัฒนางานภาพลวงตาในปารีสที่น่าประทับใจและเป็นต้นฉบับ รายการของโรแบงที่มีชื่อเสียงรายการหนึ่งบรรยายภาพของปากานีนี นักไวโอลินผู้ยิ่งใหญ่ที่กำลังมีปัญหาในการหลับโดยนักไวโอลินผี ซึ่งปรากฏตัวและหายตัวไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า[23]

ในช่วงสองทศวรรษต่อมา การแสดงโดยใช้ภาพลวงตาได้แพร่หลายไปยังหลายประเทศ ใน ค.ศ. 1877 มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกา[45] ในสหราชอาณาจักร ผู้สร้างละครเวทีใช้เทคนิคผีของเปปเปอร์ ออกแสดงตามเขตนอกเมืองใหญ่ นักแสดงเดินทางโดยนำฉากกระจกของตนเองไปด้วยและกลายเป็นที่รู้จักในนาม "บริษัทโอเปราสเปกตรัม"[9] มีบริษัทโรงละครที่มีความเชี่ยวชาญประมาณสิบแห่งในอังกฤษ การแสดงโดยทั่วไปจะประกอบด้วยบทละครจำนวนมากที่มีผีเป็นศูนย์กลางของโครงเรื่อง เช่น การดัดแปลงเพลง A Christmas Carol ของชาลส์ ดิกคินส์ โดยตามด้วยการ์ตูนสั้นที่ใช้เทคนิคภาพลวงตาผี บริษัทอย่างเช่น The Original Pepper's Ghost and Spectral Opera Company มีละครแนวผี 11 เรื่องในชุดการแสดงของตน[9] อีกบริษัทหนึ่งในเพียงช่วงปีเดียวคือ ค.ศ. 1877 ทำการแสดงในสถานที่ต่าง ๆ 30 แห่งในอังกฤษ โดยปกติแต่ละที่จะแสดงเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์แต่บางครั้งก็นานถึงหกสัปดาห์[9] อย่างไรก็ตาม ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1890 ความแปลกใหม่ได้จืดจางไปและความนิยมในโรงละครดังกล่าวก็ลดลงอย่างมาก[9] แต่เทคนิคผีของเปปเปอร์ก็ยังคงมีการใช้งานอยู่ในเครื่องเล่นเพื่อความบันเทิงที่โลดโผนเช่น "dark ride" หรือ "ghost train" ในงานแสดงสินค้าและสวนสนุกสมัยใหม่ มีบันทึกเรื่องราวโดยละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของผู้ชมในความบันเทิงที่น่ากลัวสองรายการ ซึ่งทั้งคู่ใช้เทคนิคผีของเปปเปอร์ในการแสดง Tavern of the Dead ที่จัดขึ้นที่ปารีสและนิวยอร์ก ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1890[46]

ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1860 "ผีของเปปเปอร์" ได้กลายเป็นคำสากลสำหรับภาพลวงตาที่เกิดจากการสะท้อนบนฉากกระจกที่ไม่มีใครสังเกตเห็นฉาก มีการใช้เป็นประจำกับภาพลวงตาทุกแบบ ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างพบได้ทั่วไปในการจัดแสดง การแสดงถ้ำมอง และการติดตั้งในพิพิธภัณฑ์ และสวนสนุกในคริสต์ศตวรรษที่ 21 อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์เฉพาะทางแสงในการแสดงสมัยใหม่เหล่านี้มักเป็นไปตามการออกแบบก่อนหน้าของเซแก็ง หรือเดิกส์ มากกว่าการดัดแปลงเฉพาะสำหรับโรงละครซึ่งทำให้ชื่อของเปปเปอร์ถูกนำมาใช้เรียกเทคนิคนี้อย่างยาวนาน[47]

การใช้งานในยุคใหม่

แก้
 
"เครื่องฉายภาพฮอโลแกรม" ทำจากพลาสติกใสรูปทรงฟรัสตัม (frustum) ใช้หลักการภาพลวงตาผีของเปปเปอร์

ระบบ

แก้

มีระบบที่มีลิขสิทธิ์หลายระบบที่สร้างเทคนิคภาพลวงตาผีของเปปเปอร์ เช่น "Musion Eyeliner" จะใช้ฟิล์มเคลือบโลหะบาง ๆ ติดตั้งไว้ด้านหน้าเวทีโดยทำมุม 45 องศาเข้าหาผู้ชม ช่องด้านล่างฉากจะเป็นภาพที่สว่างจากหน้าจอแอลอีดี หรือภาพจากโปรเจ็กเตอร์กำลังสูง เมื่อมองจากมุมมองของผู้ชม ภาพที่สะท้อนจะปรากฏเหมือนอยู่บนเวที ส่วนระบบ "Cheoptics360" ของบริษัทแรมโบล (Ramboll)[48] แสดงภาพเคลื่อนไหว 3 มิติแบบหมุนหรือลำดับภาพวีดิทัศน์พิเศษภายในพีระมิดโปร่งใสสี่ด้าน[49] ระบบนี้มักใช้สำหรับกิจกรรมการค้าปลีกและการจัดนิทรรศการ[50]

สวนสนุก

แก้

การนำเทคนิคภาพลวงตานี้ไปใช้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกสามารถพบได้ที่เครื่องเล่น The Haunted Mansion และ Phantom Manor ในสวนสนุกดิสนีย์หลายแห่ง ซึ่งมีฉากยาว 90 ฟุต (27 เมตร) มีเทคนิคภาพลวงตาผีของเปปเปอร์หลายแบบรวมอยู่ในฉากเดียว ผู้ชมจะเดินทางไปตามชั้นลอยที่ยกสูง มองผ่านบานกระจกสูง 30 ฟุต (9.1 เมตร) เข้าไปในห้องบอลรูมที่ว่างเปล่า ภาพผีซึ่งเป็นหุ่นจำลองที่มีกลไก (Animatronic) เคลื่อนไหวในห้องสีดำที่ซ่อนอยู่ใต้และเหนือชั้นลอย เทคนิคขั้นสูงของภาพลวงตาผีของเปปเปอร์ยังถูกใช้ในเครื่องเล่น The Twilight Zone Tower of Terror อีกด้วย

เครื่องเล่น Turbidite Manor ที่ผู้ชมเดินผ่านได้ในแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี สหรัฐ ใช้เทคนิคคลาสสิกรูปแบบต่าง ๆ ทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นวิญญาณต่าง ๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ซึ่งสามารถชมได้ในระยะใกล้มากขึ้น The House at Haunted Hill สถานที่ท่องเที่ยวฮาโลวีนในวูดแลนด์ฮิลส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ใช้รูปแบบที่คล้ายกันในหน้าต่างด้านหน้าเพื่อแสดงตัวละครจากโครงเรื่อง

 
การฉายภาพบนพื้นและสะท้อนภาพในบานกระจกทำให้นักแสดง (ซ้าย) สามารถโต้ตอบกับ "ภาพลวงตา" ที่ฉายได้

เครื่องเล่น Hogwarts Express ที่ยูนิเวอร์แซลสตูดิโอส์ รัฐฟลอริดา ใช้เทคนิคภาพลวงตาผีของเปปเปอร์ เพื่อให้ผู้ชมที่เข้าสู่ "ชานชาลา 9 34" ดูเหมือนหายไปในกำแพงอิฐเมื่อมองจากผู้ที่ต่อคิวอยู่ด้านหลัง

พิพิธภัณฑ์

แก้

พิพิธภัณฑ์จัดแสดงโดยใช้เทคนิคผีของเปปเปอร์มากขึ้นเพื่อดึงดูดผู้เข้าชม ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1970 เจมส์ การ์เดนเนอร์ ได้ออกแบบศิลปการจัดวาง Changing Office ในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ลอนดอน ซึ่งประกอบด้วยสำนักงานในแบบคริสต์ทศวรรษ 1970 ที่เปลี่ยนเป็นสำนักงานในแบบทศวรรษ 1870 ขณะที่ผู้ชมเฝ้าดู

ตัวอย่างใหม่ ๆ ที่ใช้เทคนิคนี้ สามารถพบได้ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในสหราชอาณาจักรและยุโรป ตัวอย่างเช่น ภาพลวงตาของ แอนนี แม็กคลาวด์ (Annie McLeod) ที่แหล่งมรดกโลก นิวลานาร์ก, ภาพลวงตาของ จอห์น แม็กเอนโร ที่พิพิธภัณฑ์ลอนเทนนิสวิมเบิลดัน ซึ่งเปิดในสถานที่ใหม่เมื่อ ค.ศ. 2006 และภาพลวงตาของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในพิพิธภัณฑ์แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ในเปิดแสดงใน ค.ศ. 2007[51]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2008 ภาพลวงตาด้วยเทคนิคนี้ขนาดเท่าตัวจริงของเชน วาร์น ถูกเปิดที่พิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติในเมลเบิร์น ออสเตรเลีย[52]

อีกตัวอย่างหนึ่งสามารถพบได้ที่ Our Planet Center ในแคสตรีส์ เซนต์ลูเซีย ซึ่งเปิดในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2011 โดยเป็นภาพลวงตาที่ประกอบด้วยพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ขนาดเท่าพระองค์จริงและผู้สำเร็จราชการของเซนต์ลูเซีย ปรากฏบนเวทีเพื่อสนทนาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ[53]

โทรทัศน์และภาพยนตร์

แก้

เครื่องอ่านบท (teleprompter) เป็นการนำเทคนิคผีของเปปเปอร์ มาใช้ในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ โดยการสะท้อนบทพูดหรือลำดับของรายการ มักใช้สำหรับการถ่ายทอดสดเช่น รายการข่าว

ในภาพยนตร์เรื่องโดดเดี่ยวผู้น่ารัก (Home Alone) ในปี 1990 มีการใช้เทคนิคนี้เพื่อแสดงให้แฮร์รีเห็นศีรษะของเขาลุกเป็นไฟ อันเป็นผลมาจากคบเพลิงจากสถานการณ์การบุกรุกบ้านที่เลวร้าย ซึ่งเทคนิคการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer-generated imagery, CGI) ไม่สามารถให้ผลลัพธ์ที่ต้องการได้[54] ภาพยนตร์เรื่องเจมส์ บอนด์ ตอน 007 เพชรพยัคฆราช (Diamonds are Forever) มีภาพมายากลหญิงสาวกับกอริลลาที่ใช้เทคนิคนี้ในฉากหนึ่ง[3]

คอนเสิร์ต

แก้
การแสดงสด "ฮอโลแกรม" ของฮัตสึเนะ มิกุ

ภาพลวงตาที่สร้างจากเทคนิคผีของเปปเปอร์ ถูกนำมาใช้ในการแสดงคอนเสิร์ต โดยในการนำเสนอทางการตลาดมักใช้คำแบบไม่ถูกต้องว่า "ฮอโลแกรม"[6]

ในงานประกาศผลรางวัลแกรมมี ปี 2006 เทคนิคผีของเปปเปอร์ ถูกนำมาใช้เพื่อฉายภาพของมาดอนนา กับสมาชิกเสมือนจริงของวงกอริลลาซ (Gorillaz) บนเวทีในการแสดงสด ระบบประกอบด้วยเครื่องฉาย (ปกติเป็นชนิดดีแอลพี (DLP) หรือจอแสดงผลแอลอีดี) ที่มีความละเอียด 1280×1024 หรือสูงกว่า และความสว่างอย่างน้อย 5,000 ลูเมน[55]

ระหว่างการแสดงของ ดร. เดร และสนูป ด็อกก์ ในเทศกาลดนตรีและศิลปะโคเชลลาแวลลีย์ ปี 2012 มีการฉายภาพของทูพัค ชาเคอร์ แร็ปเปอร์ผู้ล่วงลับ มาปรากฏตัวและแสดงเพลง "Hail Mary" และ "2 of Amerikaz Most Wanted"[6][56][57][58]

วันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 2013 ในการแสดงรอบที่ 19 ของทัวร์คอนเสิร์ตของ เจย์ โจว นักร้องเพลงแมนโดป็อป ที่ไทเปอารีนา (台北小巨蛋) ไต้หวัน มีช่วงการแสดงพิเศษขับร้องเพลงคู่กับภาพของเติ้ง ลี่จวิน ศิลปินที่มีชื่อเสียงชาวจีน ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้านั้น 18 ปี โดยได้แสดงเพลง 你怎么说,紅塵客棧 และ 千里之外[59][60]

ในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2014 ระหว่างงานประกาศผลรางวัลบิลบอร์ดมิวสิกอะวอดส์ ภาพลวงตาของศิลปินผู้ล่วงลับ ไมเคิล แจ็กสัน และคณะนักเต้นรวมถึงฉากทั้งหมดถูกฉายขึ้นบนเวทีสำหรับการแสดงเพลง สเลฟทูเดอะริทึม (Slave to the Rhythm)[61][62] จากอัลบั้ม เอ็กซ์สเคป (Xscape) ซึ่งเผยแพร่หลังมรณกรรมของเขา[63][64]

สุนทรพจน์ทางการเมือง

แก้

บริษัท Nchant 3D ออกอากาศสดสุนทรพจน์ความยาว 55 นาทีของนเรนทระ โมที ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐคุชราตในขณะนั้น ไปยังสถานที่ 53 แห่งทั่วรัฐคุชราตในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 2012 ระหว่างการเลือกตั้งรัฐสภา[65][66][67] ในเดือนเมษายน 2014 ได้มีการฉายภาพของโมที อีกครั้งในสถานที่ 88 แห่งทั่วอินเดีย[68]

ในปี 2014 เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน นายกรัฐมนตรีตุรกีในขณะนั้น กล่าวสุนทรพจน์ผ่านการใช้เทคนิคนี้ในเมืองอิซมีร์[5]

ใน ค.ศ. 2017 ฌ็อง-ลุก เมล็องชง (Jean-Luc Mélenchon) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวสุนทรพจน์โดยใช้เทคนิคภาพลวงตานี้ในการหาเสียงที่เมืองโอแบวีลีเย[69]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "Science of Pepper's Ghost illusion". cosmosmagazine.com (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 13 สิงหาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2023.
  2. "Timeline for the history of the University of Westminster". University of Westminster. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 พฤษภาคม 2006. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2009.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Nickell, Joe (2005). Secrets of the Sideshows. University Press of Kentucky. p. 288-291. ISBN 978-0-8131-2358-5.
  4. Bethune, Kate (2015). "Encyclopedia of Collections: The Widows of Culloden". The Museum of Savage Beauty. Victoria and Albert Museum. สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2022.
  5. 5.0 5.1 O'Reilly, Quinton (29 มกราคม 2014). "Explainer: Did the Turkish PM actually give a speech via hologram?". TheJournal.ie. Journal Media Ltd. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2020.
  6. 6.0 6.1 6.2 "Holographic Projection". AV Concepts.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 พฤษภาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2013.
  7. 7.0 7.1 "Interactive "holographic" tabletop platform Holus heads to Kickstarter". www.gizmag.com. 10 มิถุนายน 2015.
  8. Pepper, pp. 29, 30
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 Burdekin, Russell (2015) 'Pepper's Ghost at the Opera', Theatre Notebook, Vol 69, Issue 3, pp. 152–164
  10. Dircks, p. 25
  11. Pepper, p. 11
  12. Pepper, pp. 6–12
  13. Hopkins, pp. 58, 59
  14. 14.0 14.1 Pepper, p. 24
  15. Pepper, p. 29
  16. Hopkins, p. 60
  17. 17.0 17.1 'Professor Pepper'The Mercury. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2012.
  18. Hopkins, pp. 60, 61
  19. "Australian Web Archive". webarchive.nla.gov.au. 23 สิงหาคม 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 มีนาคม 2004. สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2013.
  20. 20.0 20.1 Lachapelle, Sofie (2015) Conjuring Science: A History of Scientific Entertainment and Stage Magic in Modern France. New York: Palgrave Macmillan, pp. 11–35
  21. Histoire des Projections Lumineuses website
  22. 22.0 22.1 Robert-Houdin, pp. 93–95
  23. 23.0 23.1 23.2 Steinmeyer, Hiding the Elephant, p. 41–42
  24. Robert-Houdin, Jean-Eugene (1885) Magie et Physique Amusante. Paris: Calmann Levy p. 112
  25. Dircks, p. 37
  26. Dircks, p. 46
  27. Dircks, pp. 65–70
  28. Dircks, p. 55
  29. Steinmeyer, Hiding the Elephant, p. 26
  30. 30.0 30.1 Steinmeyer, Hiding the Elephant, pp. 26–28
  31. Secord, J.A. (2002) 'Quick and magical shaper of science'. Science, Vol. 297, Issue 5587, pp. 1648–1649
  32. Pepper, p. 3
  33. Dircks, p. 6
  34. Dircks, p. 7
  35. 35.0 35.1 Dircks, pp. 1–23 & 71–102
  36. Dircks, pp. 10–11 & 17–20
  37. 'The Patent Ghost', The Mercury, 21 กรกฎาคม 1863
  38. Pepper, p. 35
  39. Dircks, p. 24
  40. 40.0 40.1 Dircks, p. 26
  41. Dircks, pp. 22–23
  42. Pepper, p. 12
  43. Pepper, pp. 30–34
  44. Pepper, pp. 24–25
  45. Steinmeyer, Hiding the Elephant, p. 40
  46. Hopkins, p. 54
  47. Gbur, Gregory J. (2016) 'Dircks and Pepper: a Tale of Two Ghosts' Skulls in the Stars website, final page
  48. "Cheoptics360: the future of 3D video is here". Engadget. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2013.
  49. "Cheoptics360 - What's inside?". viZoo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 ตุลาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2020.
  50. "Cheoptics 360". Fractal Systems. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2013. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2013.
  51. "Meet Sir Alex – the hologram". Manchester United. 19 ธันวาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2015.
  52. "Shane Warne – Cricket Found Me". National Sports Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2015.
  53. "Breakthrough environmental conservation visitor attraction opens". St Lucia Now.org. 20 มิถุนายน 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2015.
  54. Siegel, Alan (16 พฤศจิกายน 2015). "Home Alone Hit Theaters 25 Years Ago. Here's How They Filmed Its Bonkers Finale". Slate.
  55. Johnson, David. "Peppaz Ghost". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 เมษายน 2012. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2012.
  56. Jauregai, Andres (16 เมษายน 2012). "Tupac hologram: AV concepts brings late rapper to life at Coachella". The Huffington Post. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2012.
  57. Anderson, Kyle. "Tupac lives (as a hologram) at Coachella!". Entertainment Weekly. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2012.
  58. Rowell, David (10 กรกฎาคม 2021). "The Spectacular, Strange Rise of Music Holograms". The Washington Post Magazine. washingtonpost.com. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2021.
  59. "เมื่อ "เติ้ง ลี่จวิน" ร้องเพลงคู่กับ "เจย์ โชว" (ชมคลิป)". ผู้จัดการออนไลน์. 8 กันยายน 2013.
  60. Pai Wang (December 2020). "Disembodied Performance, Embodied Archive: Reviving Teresa Teng in Hologram". The Journal of Popular Culture. Wiley Periodicals. 53 (6): 1435–1455. doi:10.1111/jpcu.12968. eISSN 1540-5931.
  61. Marco della Cava (22 พฤษภาคม 2014). "Meet the conjurers of Michael Jackson's ghost". usatoday.com. USA Today. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2021. "It's not a hologram," says Pulse Executive Chairman John Textor, sitting in the room where the Jackson effect was crafted with Patterson and visual effects supervisor Stephen Rosenbaum, who worked on Avatar.
  62. Kim Lachance Shandrow (2 กรกฎาคม 2014). "Smoke and Mirrors: Why We Aren't Seeing More Digital Zombies Like Michael Jackson". nbcnews.com. NBC News. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2021. Pulse Evolution Corporation, a Port St. Lucie, Fla.-based digital human animation and production startup launched last October
  63. Giardina, Carolyn (21 พฤษภาคม 2014). "Why Billboard Music Awards' Michael Jackson Can't Be Called a 'Hologram'". The Hollywood Reporter. สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2014.
  64. Vincent, Peter (21 พฤษภาคม 2014). "Michael Jackson not a hologram at Billboard Music Awards 2014". สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2014.
  65. "Modi's 3-D show enters Guinness Book". The Indian Express. 15 มีนาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2013.
  66. "Shri Modi's 3D Interaction enters Guinness World Records". Narendra Modi.in. 14 มีนาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2013.
  67. "Modi's 3D speeches during 2012 polls enter Guiness [sic] Book". Hindustan Times. 14 มีนาคม 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 เมษายน 2014. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2013.
  68. "India Elections: Narendra Modi leads with massive hologram campaign A". tvmix.com. 12 เมษายน 2014.
  69. "L'hologramme de Mélenchon : et surgit un fantôme". France Culture. 6 กุมภาพันธ์ 2017. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2021.

บรรณานุกรม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้