ปาล พนมยงค์

นักกฎหมาย

ปาล พนมยงค์ (12 ธันวาคม พ.ศ. 2474 - 9 กันยายน พ.ศ. 2524) เป็นนักกฎหมาย บุตรชายคนโตของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย กับ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (สกุลเดิม: ณ ป้อมเพชร์)

ปาล พนมยงค์

ปาล (ผู้ชายตรงกลางฝั่งซ้าย) ขณะกำลังสวมกอดท่านผู้หญิงพูนศุข มารดา หลังจากพันโทษกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2500
เกิดปาน พนมยงค์
12 ธันวาคม พ.ศ. 2474
บ้านป้อมเพชร์ อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต9 กันยายน พ.ศ. 2524 (49 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สัญชาติไทย
การศึกษา
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (น.บ.)
อาชีพ
  • นักกฎหมาย
  • นักเคลื่อนไหว
  • นักวิชาการ
  • ข้าราชการ
คู่สมรสงามชื่น นีลวัฒนานนท์ (หย่า)
เลิศศรี จตุรพฤกษ์ (สมรส 2517)
บุตร
  • ชัยวัฒน์
  • ตุลยา
  • ปรีดิวิชญ์
บิดามารดา
ญาติศุขปรีดา พนมยงค์ (น้องชาย)
ดุษฎี พนมยงค์ (น้องสาว)

ประวัติ

แก้

ปาล พนมยงค์ เกิดวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2474 ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเพียง 6 เดือน ที่ "บ้านป้อมเพชร์" ถนนสีลม ซึ่งเป็นบ้านของมหาอำมาตย์ตรี พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) กับคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตฯ ผู้เป็นตา-ยาย เดิมมีชื่อจริงสะกดว่า "ปาน" เพราะเมื่อเกิดมีปานแดงที่หน้าผาก แต่ปานแดงได้หายไปจึงเปลี่ยนการสะกดเป็น "ปาล"[1] ซึ่งมีความหมายว่าการปกครอง

ปาลเป็นบุตรชายคนโตของ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน คือ

ปาลเริ่มเรียนระดับชั้นประถมที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จากนั้นจึงย้ายมาเรียนในระดับชั้นมัธยม 1 อยู่เพียงไม่นานที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย แล้วจึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จนจบชั้นมัธยม 6 จึงสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมปริญญาแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) รุ่นที่ 8 หรือเรียกกันว่า รุ่น 500 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายของโรงเรียนเตรียมแห่งนี้ โดยมีเพื่อนร่วมรุ่น อาทิ นายพิศาล มูลศาสตรสาทร, ศ.ดร.เกษม สุวรรณกุล, พล.ต.อ.สนั่น ตู้จินดา, ดร.สุชาติ จุฑาสมิต, นายโอฬาริก พยัคฆาภรณ์, นายชัยรัตน์ คำนวณ ในขณะเดียวกับที่บิดาของท่านดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองและเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองด้วย[2]

บทบาททางการเมือง

แก้

ในปี พ.ศ. 2490 ระหว่างที่กำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ของโรงเรียน ต.ม.ธ.ก. ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองโดยมีคณะบุคคลก่อการรัฐประหาร เป็นเหตุให้นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ปาลได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนสำเร็จได้ปริญญานิติศาสตรบัณฑิต เริ่มชีวิตการงานด้วยการรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศเพียงช่วงระยะสั้นๆ ก็ถูกมรสุมการเมืองเล่นงาน

ในปี พ.ศ. 2495 มีการกวาดล้างผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ท่านผู้หญิงพูนศุข และ ปาล ถูกจับในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "กบฏสันติภาพ" ในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุมครั้งนี้มีทั้งนักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ อาทิ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) ปัญญาชน นักการเมือง ไปจนถึงพระภิกษุสงฆ์ ท่านผู้หญิงพูนศุขถูกคุมขังอยู่ 84 วัน แต่เนื่องด้วยกรมอัยการได้พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีหลักฐานพอที่จะฟ้องจึงได้รับการปล่อยตัว ในขณะที่ปาลถูกส่งฟ้องศาลและพิพากษาจำคุกในข้อหากบฏเป็นเวลา 20 ปี และได้รับการลดหย่อนโทษเหลือ 13 ปี 4 เดือน แต่จำคุกอยู่ได้ 5 ปีก็ได้รับการนิรโทษกรรมใน พ.ศ. 2500[3]

ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2500 ปาลได้อุปสมบทที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากลาสิกขาแล้วจึงเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อทำวิทยานิพนธ์ "Doctorat de 3e Cycle" ในระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้นก็ได้เข้าร่วมสัมมนาและอภิปรายกับแวดวงวิชาการในหลายประเทศ และได้ทำการสมรสครั้งแรกกับ งามชื่น นีลวัฒนานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2507 มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 2 คน คือ ชัยวัฒน์ และ ตุลยา พนมยงค์

ในปี พ.ศ. 2515 ปาลเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อประกอบอาชีพทนายความและทำสำนักพิมพ์ จัดพิมพ์งานเขียนของบิดาเพื่อจำหน่ายจ่ายแจก นอกจากนี้ยังเป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายปรีดี พนมยงค์ ในการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้ที่ละเมิดและบิดเบือนข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ โดยนำทีมทนายความต่อสู้ในคดีต่างๆ เพื่อแสดงความจริงให้ประจักษ์ ซึ่งศาลก็ตัดสินให้ชนะทุกคดี

ปาลได้ทำการสมรสครั้งที่สองกับ เลิศศรี พนมยงค์ (จตุรพฤกษ์) เมื่อ พ.ศ. 2519 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์

ต่อมาเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 รัฐบาลได้ทำการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนอย่างหนัก ปาลเกรงว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยจึงเดินทางไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นระยะเวลาปีเศษ รอจนสถานการณ์คลี่คลายจึงเดินทางกลับ ระหว่างที่พักอยู่ในฝรั่งเศสปาลเริ่มมีอาการป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลถึง 2 เดือนเต็ม ต่อมาแพทย์ได้ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งในลำไส้ใหญ่ จึงต้องเข้ารับการผ่าตัดและรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สลับกับการเดินทางไปช่วยงานบิดาที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นระยะๆ

วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2524 นายปาล พนมยงค์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งในลำใส้ใหญ่ สิริรวมอายุได้ 49 ปี 9 เดือน[4]

เรื่องเล่า

แก้

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เคยกล่าวกับนายปาล พนมยงค์ หลังจากที่ได้รับนิรโทษกรรมและได้มาลาบวชกับจอมพล ป. ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2500 โดยจอมพล ป. ฝากข้อความไปยังนายปรีดีว่า

บอกคุณพ่อของหลานด้วยนะว่า ลุงอยากให้กลับมาช่วยลุงทำงานให้ชาติ ลุงคนเดียวสู้ศักดินาไม่ไหวแล้ว[5]

ในขณะที่ปาลกำลังป่วยด้วยโรคมะเร็ง หมอบอกว่าคงจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดคนหนึ่งของนายปรีดี ได้บรรยายถึงภาพชีวิตของผู้ที่เป็นอาจารย์ของเขาไว้ว่า...

ตอนนั้นท่านผู้หญิง (พูนศุข) บินกลับเมืองไทยเพื่อดูแลลูกชายซึ่งป่วยหนัก ผมกำลังจะส่งวิทยานิพนธ์เลยได้ไปอาศัยอยู่กับท่าน (ปรีดี) ที่ปารีส ช่วงบ่ายวันหนึ่งเราไปเดินเล่นในสวน ท่านเดินอยู่กับผมสองคน แล้วมีเด็กๆ วิ่งเล่นอยู่ในบริเวณนั้น เมื่อมีเด็กคนหนึ่งเข้ามาใกล้ ท่านก้มลงเอามือลูบหัว หลังจากเด็กไปแล้ว ท่านแหงนหน้ามองฟ้า และหันมาพูดกับผมว่า 'ปาลนี่ไม่น่าอายุสั้นเลย ยังไม่ได้มีโอกาสทำประโยชน์ให้ประเทศชาติคุ้มกับที่เกิดมา' ผมได้ฟังแล้วน้ำตาไหล นึกถึงว่าคนที่อยู่ห่างไกลลูกชายซึ่งป่วยหนัก ไม่รู้จะมีชีวิตรอดถึงวันไหน สิ่งทีท่านนึกถึงกลายเป็นว่า ลูกชายยังไม่ได้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติอย่างคุ้มค่า ผมไม่แน่ใจว่า ผมจะได้ยินคำพูดแบบนี้จากคนอื่นในตลอดชั่วชีวิตที่เหลือ ผมประทับใจมาก และรู้สึกว่า นี่คือความผูกพันที่ท่านมีต่อประเทศไทยของเรา[6]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

ลำดับสาแหรก

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ลิขิตชีวิต ลิขิตประสบการณ์ - ปรีดี-พูนศุข
  2. หนังสือ 50 ปี ต.ม.ธ.ก. รุ่น 8
  3. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙
  4. อนุสรณ์ นายปาล พนมยงค์, อมรินทร์การพิมพ์, 2525
  5. ประจวบ อัมพะเศวต, สัมภาษณ์ปาล พนมยงค์, พลิกแผ่นดิน : ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 24 มิถุนายน 2475 – 14 ตุลาคม 2516, กรุงเทพฯ : สุภาพใจ, หน้า 410
  6. วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, ร้อยปีของสามัญชนนามปรีดี พนมยงค์, สารคดี, 2542

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้