สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิม อาจ ดวงมาลา ฉายา อาสโภ (8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2532) เป็นสมเด็จพระราชาคณะ อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช นอกจากนี้ท่านยังเป็นบุคคลแรกที่นำการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่ (หรือแบบพองหนอ-ยุบหนอ) จากพม่ามาเผยแพร่ในประเทศไทย
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) | |
---|---|
คำนำหน้าชื่อ | ท่านเจ้าประคุณ |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ประเทศสยาม (86 ปี) |
มรณภาพ | 8 ธันวาคม พ.ศ. 2532 โรงพยาบาลสยาม กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
นิกาย | มหานิกาย |
การศึกษา | น.ธ. เอก, ป.ธ. 8 |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | 18 มิถุนายน พ.ศ. 2466 |
พรรษา | 66 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช |
ประวัติ
แก้ชาติกำเนิด
แก้สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามเดิมว่า คำตา ดวงมาลา เป็นบุตรคนโตของนายพิมพ์ และนางแจ้ ดวงมาลา เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 แรม 4 ค่ำเดือน 12 ณ บ้านโต้น ต.บ้านโต้น อ.เมือง จังหวัดขอนแก่น มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งสิ้น 4 คนท่านเป็นบุตรคนโต น้องอีกสามคนคือ นางบี้ นายเพิ่ม และนางเอื้อ ตามลำดับ[1] เมื่อย้ายมาอยู่วัดมหาธาตุฯ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เจ้าอาวาสขณะนั้น) ได้เปลี่ยนชื่อท่านจาก คำตา เป็น อาจ เพื่อให้เหมาะกับบุคลิก องอาจ แกล้วกล้า ของท่าน[2]
การบรรพชาอุปสมบท
แก้เมื่ออายุ 14 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น โดยมีอาจารย์พระหน่อ วัดศรีจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาท่านย้ายมาอยู่กรุงเทพฯเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
จนอายุครบ 20 ปี ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในวันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2466 ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 8 ณ พัทธสีมาวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมีสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมไตรโลกาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสมโพธิ (สวัสดิ์ กิตฺติสาโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) ขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระศรีสมโพธิ เป็นพระอนุสาวนาจารย์[1] ได้รับนามฉายาว่า อาสโภ[2]
การศึกษา
แก้ท่านได้ศึกษาอักษรลาวตั้งแต่บวชเป็นเณรที่ขอนแก่น
- พ.ศ. 2461 สอบได้วิชาครู เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนขอนแก่นวิทยาคาร (ปัจจุบันคือโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน)
- พ.ศ. 2464 สอบได้นักธรรมชั้นตรี สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
- พ.ศ. 2465 สอบได้นักธรรมชั้นโท
- พ.ศ. 2466 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค
- พ.ศ. 2467 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค
- พ.ศ. 2468 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค
- พ.ศ. 2469 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค (ได้รับพระราชทานพัดหน้านางพื้นแพรเหลืองล้วนปักดิ้นเลื่อม[3] ในการตั้งเปรียญวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2471[4])
- พ.ศ. 2471 สอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค
- พ.ศ. 2472 สอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค
การบริหารงานคณะสงฆ์
แก้- พ.ศ. 2476 เป็นรองเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- พ.ศ. 2476 เป็นพระอุปัชฌาย์วิสามัญ ประจำเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระคณาจารย์โทในทางคันถธุระ
- พ.ศ. 2477 เป็นเจ้าคณะตำบลสำเภาล่ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- พ.ศ. 2478 เป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร และ เป็นเจ้าคณะแขวงบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- พ.ศ. 2482 เป็นรองเจ้าคณะมณฑลอยุธยา
- พ.ศ. 2484 เป็นพระคณาจารย์เอกในทางคันถธุระ[5] และเป็นสมาชิกสังฆสภา
- พ.ศ. 2486 เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค 4 ซึ่งเป็นพระคณาธิการองค์แรกในตำแหน่งนี้
- พ.ศ. 2488 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา และเป็นแม่กองธรรมสนามหลวง และเป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- พ.ศ. 2489 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา
- พ.ศ. 2490 เป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร และเป็นทุติยสภานายกสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- พ.ศ. 2493 เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง[6]
- พ.ศ. 2494 เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง สมัยที่ 2[7]
- พ.ศ. 2498 เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง สมัยที่ 3[8]
- พ.ศ. 2524 คืนสู่ตำแหน่งอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
- พ.ศ. 2528 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง
- พ.ศ. 2531 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช[9]
- พ.ศ. 2532 เป็นเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก
เกียรติคุณ
แก้- พ.ศ. 2497 เป็นอัครมหาบัณฑิตโดยรัฐบาลพม่าได้ถวายเกียรติคุณครั้งนี้ในโอกาสที่เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปร่วมงานอัฏฐสังคายนา ที่ประเทศพม่า นับเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่ได้รับฐานันดรศักดิ์นี้
- พ.ศ. 2498 เป็นผู้ริเริ่มในการสร้างอาคารมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยได้รับเงินจากศาสนสมบัติกลาง เป็นทุนเริ่มแรก และเงินงบประมาณแผ่นดิน กับเงินบริจาคจากสาธุชนทั่วไป
- พ.ศ. 2500 เป็นผู้ริเริ่มการตรวจชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับ "มหาจุฬาเตปิฎกํ" เพื่อสนองพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่โปรดเกล้าฯ ให้พระภิกษุสามเณรได้เล่าเรียนพระไตรปิฎก
- พ.ศ. 2522 ได้รับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามานุษยสงเคราะห์ศาสตร์ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย
- พ.ศ. 2528 เป็นสังฆปาโมกข์ ฝ่ายพระอภิธรรมปิฎก ในการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎกฉบับเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2530
สมณศักดิ์
แก้- พ.ศ. 2477 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีสุธรรมมุนี[10]
- พ.ศ. 2482 เป็นพระราชาคณะชั้นราชในราชทินนามเดิม
- พ.ศ. 2489 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที ตรีปิฎกคุณสุนทรธรรมภูษิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[11]
- พ.ศ. 2490 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์ ปรีชาญาณดิลก ตรีปิฎกคุณาลงกรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[12]
- พ.ศ. 2492 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏที่ พระพิมลธรรม มหันตคุณ วิบุลปรีชาญาณนายก ตรีปิฎกคุณาลังการภูษิต ยติกิจสาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[13]
- พ.ศ. 2503 ถูกถอดจากสมณศักดิ์[14]
- พ.ศ. 2518 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์กลับคืน[15]
- พ.ศ. 2528 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ สมถวิปัสสนาญาณปรีชา อรัญญิกมหาปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณสุนทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี[16]
การต้องอธิกรณ์
แก้ใน พ.ศ. 2503 เมื่อครั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรม ท่านได้ถูกกล่าวหาว่าเสพเมถุนทางเวจมรรคกับลูกศิษย์ และมีข่าวว่าพระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี) อยู่กับสีกาสองต่อสองในที่ลับหูลับตาหลายครั้ง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภโณ) จึงมีพระบัญชาให้ทั้งสองรูปพ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาส แต่ทั้งสองรูปปฏิเสธ โดยตั้งใจจะต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน[17] คณะสังฆมนตรีของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) จึงมีมติว่าทั้งสองรูปฝ่าฝืนพระบัญชา ไม่ควรอยู่ในสมณศักดิ์ต่อไป พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงโปรดให้ถอดทั้งสองรูปออกจากสมณศักดิ์ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503[14]
ต่อมาใน พ.ศ. 2505 พระมหาอาจได้ถูกทางการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงถูกบังคับสึกเป็นฆราวาส และจำคุกอยู่ที่กองบังคับการตำรวจสันติบาลอยู่หลายปี จนกระทั่งศาลทหารสามารถพิสูจน์ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความเท็จ และตัดสินยกฟ้องเมื่อ พ.ศ. 2509[18] พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงโปรดให้พระเถระทั้งสองรูปคืนสู่สมณศักดิ์เดิมตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2518[15] คดีดังกล่าวนี้นับเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของไทย ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้แก่ศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง[19]
มรณภาพ
แก้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) อาพาธ และได้ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบด้วยภาวะหัวใจวาย เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2532 เวลา 11.15 น. ณ โรงพยาบาลสยาม กรุงเทพมหานคร สิริชนมายุได้ 86 ปี 1 เดือน พรรษา 66[2]
ในการนี้ ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นเวลา 100 วัน ครบเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2533 โดยมีคณะเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายทุกคืนทุกวัน บางวันมีคณะเจ้าภาพหลายคณะร่วมบำเพ็ญกุศล และตลอดมาจนถึงวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2533 ได้ทรงพระกรุณาโปรดออกเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
วิปัสสนากรรมฐานแบบพองหนอ-ยุบหนอ (สติปัฏฐาน 4)
แก้ปี พ.ศ. 2495 พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ได้ส่งพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) ขณะเป็นพระมหาโชดกไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานสายของมหาสีสยาดอที่สำนักศาสนยิสสา ประเทศพม่า เป็นเวลา 1 ปี แล้วนำกลับมาสอน พร้อมทั้งพระพม่าสองรูป คือพระภัททันตะ อาสภเถระ ปธานกัมมัฏฐานาจริยะ และพระอินทวังสเถระ กัมมัฏฐานาจริยะ โดยเปิดสอนครั้งแรกที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในปี พ.ศ. 2496 จากนั้นจึงขยายไปเปิดสอนที่สาขาอื่นทั่วราชอาณาจักร มีการตั้งกองการวิปัสสนาธุระที่วัดมหาธาตุฯ ต่อมาถูกยกสถานะเป็นสถาบันวิปัสสนาธุระ สังกัดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 และได้เผยแพร่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแบบยพองหนอ-ยุบหนอ จนแพร่หลายดังปัจจุบัน[1]
อ้างอิง
แก้- พระเทพสิทธิมุนี, ผจญมาร : บันทึกชีวิต 5 ปี ในห้องขังของพระพิมลธรรม (อาสภมหาเถร), บัณฑิตการพิมพ์, 2530
- ↑ 1.0 1.1 1.2 พระโสภณมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต, หลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน, จำรูญ ธรรมดา ผู้แปล, กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546, หน้า 9 - 21
- ↑ 2.0 2.1 2.2 กรมศิลปากร, เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒, กรุงเทพ : กรมศิลปากร, 2545, หน้า 162 - 6
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระสงฆ์สามเณรที่สอบไล่พระปริยัติธรรมได้ ในพุทธศักราช ๒๔๖๙ และ ๒๔๗๐, เล่ม 45, ตอน ง, 13 พฤษภาคม 2471, หน้า 435
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชพิธีการพระราชกุศลวิสาขบูชา, เล่ม 45, ตอน ง, 13 พฤษภาคม 2471, หน้า 430-431
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ เรื่อง ตั้งพระคณาจารย์เอก, เล่มที่ 58, ตอน 0 ง, วันที่ 29 กรกฎาคม 2484, หน้า 2325
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งสังฆมนตรี, เล่มที่ 67, วันที่ 8 สิงหาคม 2493, หน้า 3384-6
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งสังฆมนตรี, เล่มที่ 68, วันที่ 19 มิถุนายน 2494, หน้า 2593-5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งสังฆมนตรี, เล่มที่ 72, วันที่ 13 สิงหาคม 2498, หน้า 18-20
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, เล่มที่ 105, ตอน 144 ฉบับพิเศษ, วันที่ 31 สิงหาคม 2531, หน้า 7
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความพระราชทานสมณศักดิ์, เล่มที่ 51, วันที่ 18 พฤศจิกายน 2477, หน้า 3141
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่มที่ 61, ตอนที่ 15, วันที่ 19 มีนาคม 2489, หน้า 151
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่มที่ 64, ตอนที่ 27, วันที่ 17 มิถุนายน 2490, หน้า 1526
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่มที่ 66, ตอนที่ 66, วันที่ 6 ธันวาคม 2492, หน้า 876
- ↑ 14.0 14.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดพระสมณศักดิ์, เล่มที่ 77, ตอนที่ 94, วันที่ 13 พฤศจิกายน 2503, หน้า 2380
- ↑ 15.0 15.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสมณศักดิ์กลับคืน, เล่มที่ 92, ตอนที่ 106, วันที่ 6 มิถุนายน 2518, หน้า 13
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่มที่ 103, ตอนที่ 165, วันที่ 25 กันยายน 2529, หน้า 3
- ↑ ผจญมาร, หน้า 41-43
- ↑ พระปลัดระพิน พุทธิสาโร. (2561). ”การล้อมปราบจากรัฐสู่ศาสนา : จับพระพิมลธรรมสึก มายาคติว่าด้วยความเป็นลาว ความก้าวหน้า และคอมมิวนิสต์”. การประชุมวิชาการระดับชาติ พื้นถิ่นโขง ชี มูล ราชภัฏอุดรธานี ครั้งที่ ๓ ศูนย์การเรียนรู้พุทธศิลป์ถิ่นอีสาน สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ถ.ทหาร ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี ระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคม 2561 [อ้างอิง แหล่งข้อมูลเดิม http://ntbac2018.udru.ac.th// ] Ebook https://anyflip.com/kffkc/ibxf
- ↑ "ผจญมาร บันทึกชีวิต ๕ ปีในห้องขังของพระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถระ).pdf". Google Docs.
ก่อนหน้า | สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ) | ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช (พ.ศ. 2531 — 2532) |
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) | ||
พระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีโร) | เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก (พ.ศ. 2532) |
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) | ||
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ) | สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พ.ศ. 2528 — 2532) |
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) |